คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6083/2546

◯ (๓๑ ทวิ)
สำหรับศาลใช้
 
ตราครุฑ
ตราครุฑ
คำพิพากษา

ในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์
ที่ ๖๐๘๓/๒๕๔๖
ศาลฎีกา
วันที่ ๑๖ เดือนกันยายน พุทธศักราช ๒๕๔๖
 
ความอาญา
ระหว่าง พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด โจทก์
นางสุดา ปรัชญาภัทร โจทก์ร่วม
นายเสริม สาครราษฎร์ จำเลย
เรื่อง ความผิดต่อชีวิต ความผิดต่อเจ้าพนักงานในการยุติธรรม ความผิดต่อพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ลักทรัพย์ ลหุโทษ

โจทก์ร่วมและจำเลยฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ลงวันที่ ๓ เดือนกรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๔๔ ศาลฎีการับวันที่ ๒๕ เดือนเมษายน พุทธศักราช ๒๕๔๕

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า เมื่อระหว่างวันที่ ๑ มกราคม ๒๕๔๑ ถึงวันที่ ๒๘ มกราคม ๒๕๔๑ วันเวลาใดไม่ปรากฏชัด จำเลยกระทำความผิดต่อกฎหมายหลายบทหลายกรรมต่างกัน กล่าวคือ จำเลยมีอาวุธปืนสั้น ขนาด .๓๘ จำนวน ๑ กระบอก หมายเลขทะเบียน ร.ย. ๑๗๗ ของผู้อื่นที่มีทะเบียน และกระสุนปืน ขนาด .๓๘ จำนวน ๓ นัด ไว้ในครอบครอง โดยจำเลยไม่ได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้จากนายทะเบียนท้องที่ จำเลยพาอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนดังกล่าวติดตัวไปในถนนสาธารณะและในเมืองโดยไม่ได้รับใบอนุญาตให้มีอาวุธปืนติดตัวและไม่ใช่กรณีที่มีเหตุจำเป็นและเร่งด่วนตามสมควรแก่พฤติการณ์ จำเลยใช้อาวุธปืนดังกล่าวยิงโดยใช่เหตุจำนวน ๒ นัดในเขตเมือง หมู่บ้าน และชุมนุมชน เหตุเกิดที่ตำบลบางปลาสร้อย อำเภอเมืองชลบุรี จังหวัดชลบุรี และแขวงถนนพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร เกี่ยวพันกัน และเมื่อระหว่างวันที่ ๒๖ มกราคม ๒๕๔๑ ถึงวันที่ ๒๘ มกราคม ๒๕๔๑ วันเวลาใดไม่ปรากฏชัด จำเลย โดยเจตนาฆ่าและโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ใช้อาวุธปืนดังกล่าวยิงนางสาวเจนจิรา พลอยองุ่นศรี จำนวน ๑ นัดที่ขมับซ้ายผ่านสมองทะลุออกที่ขมับขวา แล้วจำเลยใช้มีดเฉือนชำแหละอวัยวะต่าง ๆ ของนางสาวเจนจิราออกเป็นชิ้น ๆ จำนวนหลายชิ้น ตัดศีรษะ ควักลูกตาออกทั้งสองข้าง ตัดหู ตัดจมูก กรีดริมฝีปาก และเฉือนเอาหนังศีรษะออก จนเป็นเหตุให้นางสาวเจนจิราถึงแก่ความตาย อันเป็นการฆ่าโดยทรมานและโดยกระทำทารุณโหดร้าย ตามรายงานการตรวจพิสูจน์บุคคลและรายงานการตรวจศพท้ายฟ้อง เมื่อจำเลยฆ่าผู้ตายแล้ว จำเลยได้นำศีรษะ แขน ขา และกระดูกส่วนต่าง ๆ อันเป็นส่วนของศพผู้ตาย ไปโยนทิ้งที่แม่น้ำบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา นำเศษชิ้นเนื้อ อวัยวะภายใน และหนังศีรษะ อันเป็นส่วนของศพผู้ตาย ทิ้งลงในโถส้วม เพื่อปิดบังการตายและเหตุแห่งการตายของผู้ตาย และจำเลยได้ลักเอาเงินจำนวน ๒,๐๐๐ บาท กระเป๋าสะพายผ้าลายสายเดียว ราคา ๓,๐๐๐ บาท นาฬิกาข้อมือ ราคา ๖,๐๐๐ บาท สร้อยคอสามกษัตริย์ หนัก ๑ สลึง ราคา ๑,๔๐๐ บาท สร้อยข้อมือรูปสัตว์ต่าง ๆ หนัก ๒ สลึง ราคา ๓,๐๐๐ บาท วิทยุติดตามตัว ราคา ๔,๐๐๐ บาท เครื่องเล่นแผ่นซีดี ราคา ๕,๐๐๐ บาท พจนานุกรมอังกฤษแบบมีเสียงหรือทอล์กกิ้งดิกชันนารี ราคา ๙,๕๐๐ บาท กระเป๋าใส่สตางค์ ราคา ๕๕๐ บาท รวมเป็นเงิน ๓๔,๔๕๐ บาท ของผู้ตายไปโดยทุจริต เหตุเกิดที่แขวงถนนพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร ตำบลลาดขวาง อำเภอบ้านโพธิ์ จังหวัดฉะเชิงเทรา และตำบลบางปลาสร้อย อำเภอเมืองชลบุรี จังหวัดชลบุรี เกี่ยวพันกัน วันที่ ๒๘ มกราคม ๒๕๔๑ เจ้าพนักงานตำรวจพบกะโหลกศีรษะของผู้ตาย วันที่ ๕ มีนาคม ๒๕๔๑ เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยได้ พร้อมยึดอาวุธปืนสั้น จำนวน ๑ กระบอก ลูกกระสุนปืน จำนวน ๑ นัด ปลอกกระสุนปืน ขนาด .๓๘ จำนวน ๒ ปลอก ผ้าปูที่นอนลายดอก จำนวน ๑ ผืน ปี๊บสี่เหลี่ยมมีรอยเผา จำนวน ๑ ใบ และกระเป๋าผ้าสีดำ จำนวน ๑ ใบ เป็นของกลาง ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓, ๙๑, ๑๙๙, ๒๘๘, ๒๘๙, ๓๓๔, ๓๓๕, ๓๗๑, ๓๗๕ พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. ๒๔๙๐ มาตรา ๗, ๘ ทวิ, ๗๒, ๗๒ ทวิ ริบอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนของกลาง

จำเลยให้การปฏิเสธ แต่ระหว่างสืบพยานโจทก์ จำเลยแถลงให้การรับสารภาพฆ่าผู้ตายจริง แต่ปฏิเสธว่า มิได้ฆ่าโดยไตร่ตรองไว้ก่อน โดยทรมาน หรือโดยกระทำทารุณโหดร้าย

ระหว่างพิจารณา นางสุดา ปรัชญาภัทร มารดาของนางสาวเจนจิรา พลอยองุ่นศรี ผู้ตาย ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต (ที่ถูกเฉพาะข้อหาความผิดต่อชีวิตและลักทรัพย์)

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๙๙, ๒๘๙ (๔), ๓๓๔, ๓๗๖ พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. ๒๔๙๐ มาตรา ๗, ๗๒ วรรคสาม การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๑ ฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนและฐานยิงปืนโดยใช่เหตุในเมืองเป็นกรรมเดียวกันเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนอันเป็นบทหนัก ลงโทษประหารชีวิต ฐานทำลายศพหรือส่วนของศพ จำคุก ๑ ปี ฐานลักทรัพย์ จำคุก ๒ ปี ฐานมีอาวุธปืนมีทะเบียนของผู้อื่น จำคุก ๑ ปี คำให้การรับสารภาพของจำเลยในชั้นจับกุม ชั้นสอบสวน และชั้นพิจารณา เป็นการให้ความรู้แก่ศาลอันเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้จำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ ประกอบด้วยมาตรา ๕๒ (๑) หนึ่งในสาม ฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน จำคุกตลอดชีวิต ฐานทำลายศพหรือส่วนของศพ จำคุก ๘ เดือน ฐานลักทรัพย์ จำคุก ๑ ปี ๔ เดือน ฐานมีอาวุธปืนมีทะเบียนของผู้อื่น จำคุก ๘ เดือน เมื่อศาลลงโทษจำคุกจำเลยตลอดชีวิตในความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนแล้ว จึงลงโทษจำคุกตลอดชีวิตสถานเดียว ส่วนคำขอและข้อหาอื่น ให้ยก

โจทก์ร่วมและจำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๙ (๕) อีกบทหนึ่งด้วย ความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน และฆ่าผู้อื่นโดยทรมานหรือโดยกระทำทารุณโหดร้าย กับฐานยิงปืนโดยใช่เหตุในเมือง เป็นกรรมเดียวกันเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน และฆ่าผู้อื่นโดยทรมานหรือโดยกระทำทารุณโหดร้าย อันเป็นบทหนัก ลงโทษประหารชีวิต ลดโทษให้จำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ ประกอบด้วยมาตรา ๕๒ (๑) หนึ่งในสาม คงจำคุกตลอดชีวิต เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้ว คงจำคุกตลอดชีวิตสถานเดียว นอกจากที่แก้ ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

โจทก์ร่วมและจำเลยฎีกา

ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่จังหวัดชลบุรี สำเร็จการศึกษาปริญญาตรีสาขาวิศวกรรมศาสตร์ ขณะเกิดเหตุ จำเลยอายุ ๒๒ ปี นางสาวเจนจิรา พลอยองุ่นศรี ผู้ตาย อายุ ๒๓ ปี จำเลยและผู้ตายต่างเป็นนักศึกษาคณะแพทยศาสตร์ โดยจำเลยเรียนชั้นปีที่ ๒ และผู้ตายเรียนชั้นปีที่ ๕ จำเลยกับผู้ตายรู้จักกันและมีความชอบพอกันฉันชู้สาว ตามวัน เวลา และสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง จำเลยพาผู้ตายไปที่ห้องพักที่เกิดเหตุของจำเลยที่อาคาร พี. เอส. เฮาส์ ซึ่งเป็นห้องเช่า จำเลยฆ่าผู้ตายโดยใช้อาวุธปืนยิงศีรษะผู้ตาย แล้วใช้มีดตัดคอผู้ตาย และชำแหละศพผู้ตายออกเป็นชิ้น ๆ จำเลยทิ้งชิ้นส่วนของผู้ตายบางส่วนที่เป็นเนื้อ หนัง และอวัยวะภายใน ลงในส้วมชักโครกในห้องพักที่เกิดเหตุ นำชิ้นส่วนศพของผู้ตายที่เป็นกระดูกและศีรษะไปทิ้งที่แม่น้ำบางปะกง นำรถยนต์ของผู้ตายไปจอดไว้ที่หมู่บ้านเมืองทองธานี นำอาวุธปืน มีด และทรัพย์ของผู้ตายไปซ่อน และนำเสื้อผ้าของผู้ตายไปเผาทำลาย วันที่ ๕ มีนาคม ๒๕๔๑ เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลย คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ร่วมว่า ศาลไม่ควรลดโทษให้จำเลยเพราะคดีไม่มีเหตุบรรเทาโทษหรือไม่ และตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยฆ่าผู้ตายโดยทรมานหรือโดยกระทำทารุณโหดร้ายหรือไม่ และจำเลยฆ่าผู้ตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อนหรือฆ่าผู้ตายเพราะเหตุบันดาลโทสะหรือไม่ ศาลฎีกาเห็นควรวินิจฉัยปัญหาตามฎีกาของโจทก์ร่วมก่อน

สำหรับปัญหาตามฎีกาของโจทก์ร่วมนั้น เห็นว่า คดีนี้ ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๙ (๔) วางโทษประหารชีวิต ลดโทษให้จำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ ประกอบด้วยมาตรา ๕๒ (๑) หนึ่งในสาม คงจำคุกตลอดชีวิต ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๙ (๕) อีกบทหนึ่งด้วย ลงโทษฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน และฆ่าผู้อื่นโดยทรมานหรือโดยกระทำทารุณโหดร้าย อันเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด วางโทษประหารชีวิต ลดโทษให้จำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๗๘ ประกอบด้วยมาตรา ๕๒ (๑) หนึ่งในสาม คงจำคุกตลอดชีวิต เป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้จากความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๙ (๔) มาเป็นความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน และฆ่าผู้อื่นโดยทรมานหรือโดยกระทำทารุณโหดร้าย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๙ (๔) และ ๒๘๙ (๕) และยังคงจำคุกตลอดชีวิต เป็นการแก้ไขเล็กน้อย และให้ลงโทษจำคุกจำเลยเกิน ๕ ปี คดีต้องห้ามมิให้โจทก์ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๑๘ วรรคสอง ข้อห้ามฎีกาดังกล่าวนี้ย่อมใช้บังคับโจทก์ร่วมด้วย เพราะประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒ (๑๔) ได้นิยามศัพท์คำว่า "โจทก์ หมายความถึง พนักงานอัยการ หรือผู้เสียหาย ซึ่งฟ้องคดีอาญาต่อศาล หรือทั้งคู่ในเมื่อพนักงานอัยการและผู้เสียหายเป็นโจทก์ร่วมกัน" ที่โจทก์ร่วมฎีกาว่า จำเลยควรได้รับโทษประหารชีวิต ศาลล่างทั้งสองไม่ควรลดโทษให้จำเลย เพราะคดีไม่มีเหตุบรรเทาโทษนั้น ล้วนเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงทั้งสิ้น จึงต้องห้ามมิให้โจทก์ร่วมฎีกาตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว แม้ศาลชั้นต้นจะรับฎีกาของโจทก์ร่วมมา ก็เป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้

สำหรับปัญหาตามฎีกาของจำเลยข้อแรกว่า จำเลยฆ่าผู้ตายโดยทรมานหรือโดยกระทำทารุณโหดร้ายหรือไม่นั้น เห็นว่า ปืนเป็นอาวุธโดยสภาพมีอำนาจทำลายล้างรุนแรง สามารถทำอันตรายบุคคลและสัตว์ให้ถึงแก่ชีวิตได้โดยง่าย จำเลยใช้อาวุธปืนยิงศีรษะผู้ตายซึ่งเป็นอวัยวะส่วนสำคัญของร่างกาย กระสุนปืนเข้าทางขมับซ้ายทะลุออกขมับขวา แสดงให้เห็นว่า จำเลยมีเจตนาฆ่าผู้ตายให้ตายทันที ดังนี้ แม้จะฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ผู้ตายไม่ได้ถึงแก่ความตายทันทีหลังจากถูกยิง และจำเลยใช้มีดตัดศีรษะผู้ตายขณะที่ผู้ตายยังไม่ถึงแก่ความตาย แต่พยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมไม่ปรากฏว่า จำเลยมีเจตนาทำให้ผู้ตายได้รับความลำบากทรมานสาหัสก่อนตาย และไม่ได้ความแจ้งชัดว่า จำเลยได้กระทำการอย่างไรอันเป็นการทรมานหรือทารุณโหดร้ายผู้ตาย การที่จำเลยใช้อาวุธปืนยิงศีรษะผู้ตาย หลังจากนั้น จึงใช้มีดตัดคอผู้ตาย ประกอบกับจำเลยได้ใช้มีดชำแหละศพผู้ตายออกเป็นชิ้น ๆ แล้วทิ้งชิ้นส่วนศพบางส่วนลงในส้วมชักโครก กับนำชิ้นส่วนศพบางส่วนไปทิ้งที่แม่น้ำบางปะกง น่าเชื่อว่า จำเลยกระทำไปโดยมีเจตนาทำลายศพเพื่อปิดบังการตายหรือเหตุแห่งการตายของผู้ตายเท่านั้น มิใช่เพื่อให้ผู้ตายได้รับความเจ็บปวดทรมานจนกระทั่งขาดใจตาย ถือไม่ได้ว่า จำเลยฆ่าผู้ตายโดยทรมานหรือโดยกระทำทารุณโหดร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๙ (๕) ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมานั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้น

สำหรับปัญหาตามฎีกาของจำเลยข้อต่อไปว่า จำเลยฆ่าผู้ตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อน หรือฆ่าผู้ตายเพราะเหตุบันดาลโทสะหรือไม่ เห็นว่า จำเลยเป็นนักศึกษา ไม่ปรากฏว่า จำเลยมีทรัพย์ที่มีค่ามาก หรือมีผู้ปองร้ายหมายเอาชีวิตจำเลย แม้จะฟังข้อเท็จจริงตามที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยมีทรัพย์เป็นเครื่องคอมพิวเตอร์และรถยนต์ ก็เป็นทรัพย์ที่บุคคลมีกันโดยทั่วไป ถือไม่ได้ว่า เป็นทรัพย์ที่มีค่ามากถึงขนาดที่จำเลยต้องนำอาวุธปืนมาไว้สำหรับป้องกันทรัพย์ดังที่จำเลยฎีกา ห้องพักที่เกิดเหตุเป็นห้องเช่าซึ่งไม่มีห้องครัว ทั้งไม่ปรากฏว่า จำเลยทำครัวปรุงอาหารเอง จึงไม่มีความจำเป็นที่จำเลยต้องมีมีดทำครัวที่มีความคมถึงขนาดใช้ชำแหละศพได้ไว้ในห้องพักที่เกิดเหตุ การที่จำเลยมีอาวุธปืนและมีดดังกล่าวไว้ในห้องพักที่เกิดเหตุ จึงไม่อาจฟังเป็นอย่างอื่นนอกจากจำเลยตระเตรียมไว้สำหรับฆ่าผู้ตายและชำแหละศพผู้ตาย ส่วนของศพที่ชำแหละแล้วย่อมมีกลิ่นคาวและมีน้ำเลือดน้ำเหลืองไหลซึมออกมา การนำออกจากห้องพักที่เกิดเหตุไปทิ้งย่อมต้องใช้วัสดุสิ่งของสำหรับห่อหุ้มและบรรจุ เช่น ผ้า กระดาษ ถุงพลาสติก และกล่อง เป็นต้น เพื่อดูดซับน้ำเลือด น้ำเหลือง และกลิ่นคาว รวมทั้งปกปิดไม่ให้มีผู้พบเห็นว่า เป็นชิ้นส่วนของศพ การที่จำเลยสามารถนำชิ้นส่วนศพผู้ตายออกจากห้องพักที่เกิดเหตุไปทิ้ง นำอาวุธปืน มีด และทรัพย์ของผู้ตาย ไปซ่อนตามสถานที่ต่าง ๆ ตลอดจนนำเสื้อผ้าของผู้ตายไปเผาทำลาย ภายในระยะเวลาอันสั้นโดยไม่มีผู้พบเห็น แสดงว่า จำเลยได้วางแผนเกี่ยวกับสถานที่ที่จะนำชิ้นส่วนศพผู้ตายไปทิ้ง นำทรัพย์ของผู้ตายไปซ่อน และจัดเตรียมวัสดุต่าง ๆ ที่จำเป็นต้องใช้ในการนำชิ้นส่วนศพผู้ตายไปทิ้ง ไว้ล่วงหน้าก่อนแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า จำเลยฆ่าผู้ตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น ที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยถูกผู้ตายข่มเหงจิตใจอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม เพราะจำเลยกับผู้ตายมีความสัมพันธ์กันฉันคนรัก แต่ผู้ตายต้องการเลิกความสัมพันธ์กับจำเลยไปมีรักกับผู้ชายคนใหม่ จำเลยจึงบันดาลโทสะฆ่าผู้ตายนั้น เห็นว่า ความรักเป็นสิ่งที่เกิดจากใจ ไม่อาจบังคับกันได้ ความรักที่แท้จริง คือ ความปรารถนาดีต่อคนที่ตนรัก ความยินดีที่คนที่ตนรักมีความสุข การให้อภัยเมื่อคนที่ตนรักทำผิด และการเสียสละความสุขของตนเพื่อความสุขของคนที่ตนรัก จำเลยปรารถนาจะยึดครองผู้ตายเพื่อความสุขของจำเลยเอง เมื่อไม่สมหวัง จำเลยก็ฆ่าผู้ตาย เป็นความคิดและการกระทำที่เห็นแก่ตัวเห็นแก่ได้ของจำเลยโดยถ่ายเดียว มิได้คำนึงถึงจิตใจและความรู้สึกของผู้ตาย หาใช่ความรักไม่ ทั้งเป็นความเห็นผิดที่เป็นอันตรายต่อสังคมอย่างยิ่ง ดังนี้ แม้จะฟังข้อเท็จจริงตามที่จำเลยฎีกา ก็ถือไม่ได้ว่า จำเลยถูกผู้ตายข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม กรณีไม่มีเหตุจะลงโทษจำเลยน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้ ที่ศาลล่างทั้งสองลงโทษประหารชีวิต และลดโทษให้จำเลยแล้ว คงลงโทษจำคุกตลอดชีวิตสถานเดียวนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น.


นายกำธร โพธิ์สุวัฒนากุล

นายสุรชาติ บุญศิริพันธ์

นายกิติศักดิ์ กิติคุณไพโรจน์

บรรณานุกรม แก้ไข

  • ศาลฎีกา. (2546). คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6083/2546 ลงวันที่ 16 กันยายน 2546 ในคดีระหว่างพนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด โจทก์ นางสุดา ปรัชญาภัทร โจทก์ร่วม นายเสริม สาครราษฎร์ จำเลย เรื่อง ความผิดต่อชีวิต ความผิดต่อเจ้าพนักงานในการยุติธรรม ความผิดต่อพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ลักทรัพย์ ลหุโทษ. สืบค้นจาก http://www.library.coj.go.th/history/data/2546_6083.pdf.
 

งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตามมาตรา 7 (4) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า

"มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
(1) ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
(2) รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
(3) ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
(4) คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
(5) คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"