คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 626/2563
คำพิพากษา |
ในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์
วันที่ ๔ เดือนกุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๖๓
ระหว่าง | พนักงานอัยการจังหวัดสมุทรปราการ | โจทก์ | |||
โจทก์ร่วม | |||||
จำเลย | |||||
เรื่อง | หมิ่นประมาท |
จำเลยฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค ๑ ลงวันที่ ๒๙ เดือนมกราคม พุทธศักราช ๒๕๖๒ ศาลฎีการับวันที่ ๑๗ เดือนกันยายน พุทธศักราช ๒๕๖๒
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า เมื่อระหว่างวันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๙ ถึงวันที่ ๒๖ เมษายน ๒๕๕๙ เวลากลางคืนก่อนเที่ยงต่อเนื่องกัน วันเวลาใดไม่ปรากฏชัด จำเลยซึ่งมีบัญชีผู้ใช้ในเว็บไซต์เฟซบุ๊ก (www.facebook.com) ๒ บัญชี ชื่อบัญชี " " และ " " ตั้งค่าการอ่านข้อความเป็นสาธารณะซึ่งประชาชนทั่วไปที่ใช้อินเทอร์เน็ตสามารถเข้าถึงและเห็นข้อความได้ จำเลยนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์โดยเขียนหรือโพสต์ข้อความอันหมิ่นประมาทนาง ผู้เสียหาย โฆษณาเผยแพร่สู่ประชาชนผ่านทางอินเทอร์เน็ต โดยลงในเฟซบุ๊กบัญชี " " ว่า "ลูกกะหรี่ ลูกอีบังอร" และ "อีกะหรี่ ตอแหล เหมือนอีบังอร อีดอกทองเปิ้ล" และ "อีดอกบังอร กับอีดอกทอง อีแม่ส่งลูกเรียนเพื่อขายหี แต่งตัว สักหลัง โชนม กระโปรงสั้น ร่าน มีผัวก็แอบคุยกับผู้ชายคนอื่น ๕๕๕๕๕ อีบังอรจะรู้ป่ะนะว่า ลูกดอกทองขนาดไหน กะหรี่เทศบาล เรียกร้องหาความเห็นใจ คนในเฟสไม่รู้หรอก สันดานดอก ๆ ของอีเปิ้ลเป็นยังไง คนในเทศบาลเค้าตีสองหน้าคุยกับมึงไปงั้นแหละ เค้านินทาหีระเบิด ๕๕๕ รวยเพราะแม่สร้างไว้ อายุ ๓๘ แล้ว สมองยังหีหมาอยู่ อีบังอรตอนสาว ๆ คงเป็นกะหรี่ ผัวถึงทิ้ง ไม่ก็ผัวตาย มีลูก ๓ คน แต่งกันไปสองคน ส่วนอีเปิ้ลชะตาหีไม่ถึง ถึงขึ้นคลานแบบนี้ ๕๕๕๕๕๕ ขี้เกลียด ทำอะไรไม่เป็น จะไปนอนบ้านผู้ชายที ต้องโกหกแม่ไปต่างจังหวัด ๕๕๕๕๕ค กูอะคนใกล้ตัวมึง อีดอกเปิ้ล" และ "หรอคับ อีดอก กะหรี่เทศบาล อีบังอรคงเป็นกะหรี่มาก่อน ผัวทิ้งหรือผัวตาย มีลูกตั้งสามคน แต่งงานกันหมด ชะตาหีมึงไม่ถึงอะสิอีเปิ้ล ปากสดจริง ๆ เลยนะคับ หาพวกช่วยด่าหรอคับ เจอกันเมื่อไหร่ กูจะชกให้ปากแตกเลย ไม่ก็ลากไปลงแขกอะ หีเหี่ยว ๆ ของมึงคงเน่าหน้าดู นิสัยเอาแต่ใจตัวเอง ผัวคนไหนจะอยู่กับมึงได้คับ ผมถามหน่อย ปากบอกไม่ใช่เรื่องจริง คนในเฟสไม่รู้สันดานจริง ๆ มึงหลอกสร้างภาพคนดี แต่จริง ๆ ดอกทองมาก ๕๕๕๕๕ค กูขำคับ ไอ้สัส คนนรกแบบมึง เรียนสูงไปก็เท่านั้นแหละ เรียกเอาหน้า ไม่ต้องสาปแช่งกูนะ เพราะกูสาปแช่งมึงทุกวัน โครตเหง้ามึงก็ดอกทองเหมือนกับมึง ไม่ทุกก็เรื่องของมึงนะคับ ผมชอบ ลุยด่ามาเลย เพราะมึงอ่ะขี้ขาด หาแต่พวก ๕๕๕๕๕๕๕๕๕ น่าหี คนนรก อีดอกกันดาวดี ฝากเบอร์โทรด้วยคับ ๐๙๐๙๖๙๗๑๒๑ กะหรี่แต่งตัวทำงานแบบนี้ ไปขายหีนะคับ" และจำเลยโพสต์ข้อความในเว็บไซต์เฟซบุ๊กบัญชี ว่า "๕๕๕๕๕ อยากเป็นก็ต้องบอกแม่มึงสิคะ แม่จะได้ฝากมึงให้เป็นกะหรี่" ซึ่งจำเลยรู้อยู่แล้วว่า ข้อความดังกล่าวที่ลงเป็นข้อมูลในคอมพิวเตอร์ เป็นเท็จ เป็นการใส่ความผู้เสียหายต่อบุคคลที่สาม ทำให้ประชาชนที่เข้าไปอ่านข้อความแล้วเข้าใจว่า ผู้เสียหายเป็นคนไม่ดี โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้เสียหายเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง เหตุเกิดที่ตำบลเทพารักษ์ อำเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๒๖, ๓๒๘
จำเลยให้การรับสารภาพ
ระหว่างพิจารณา ผู้เสียหาย ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
โจทก์ร่วมยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท
จำเลยให้การในคดีส่วนแพ่งว่า โจทก์ร่วมเรียกค่าสินไหมทดแทนสูงเกินไป ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๒๖, ๓๒๘ (ที่ถูก ไม่ต้องปรับบทลงโทษตามมาตรา ๓๒๖) ขณะเกิดเหตุ จำเลยอายุ ๑๙ ปีเศษ รู้ผิดชอบชั่วดีแล้ว จึงไม่ลดมาตราส่วนโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๖ สำหรับความผิดฐานหมิ่นประมาทกับความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาซึ่งเป็นกฎหมายที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๐ (ที่ถูก เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา ไม่ใช่กรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท) จำคุก ๒ เดือน และปรับ ๖๐,๐๐๐ บาท จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ คงจำคุก ๑ เดือน และปรับ ๓๐,๐๐๐ บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด ๓ ปีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๕๖ ไม่ชำระค่าปรับ ให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙, ๓๐ กับให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ๔๐,๐๐๐ บาทแก่โจทก์ร่วม ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์ร่วมอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๑ พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำคุกจำเลย ๔ เดือน จำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก ๒ เดือน ไม่ปรับ และไม่รอการลงโทษ แต่ให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นโทษกักขังมีกำหนด ๒ เดือนแทนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๓ นอกจากที่แก้ ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาตรวจสำนวน ประชุมปรึกษาแล้ว ที่จำเลยฎีกาขอให้รอการลงโทษนั้น เห็นว่า จำเลยกระทำความผิดโดยการใส่ความโจทก์ร่วมต่อบุคคลที่สาม ด้วยการโฆษณาลงในระบบคอมพิวเตอร์โดยประการที่น่าจะทำให้โจทก์ร่วมเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง เป็นการกระทำที่ไม่คำนึงถึงความเสียหายที่โจทก์ร่วมจะได้รับ อาจทำให้บุคคลอื่นเข้าใจผิดว่า โจทก์ร่วมและบุตรสาวเป็นคนไม่ดี ขายบริการทางเพศ ซึ่งไม่เป็นความจริง พฤติการณ์แห่งคดีเป็นเรื่องที่ร้ายแรง แม้จะปรากฏว่า จำเลยไม่เคยกระทำความผิดมาก่อน หรือได้ชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ร่วมไปบ้างแล้ว หรือมีเหตุอื่นดังที่จำเลยอ้างในฎีกา ก็ไม่มีเหตุเพียงพอที่จะรับฟังเพื่อรอการลงโทษให้แก่จำเลย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๑ ใช้ดุลพินิจไม่รอการลงโทษจำคุก โดยให้เปลี่ยนโทษเป็นกักขังจำเลยนั้น เหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดีแล้ว ไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะเปลี่ยนแปลงแก้ไข ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น แต่โทษที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๑ กำหนดมานั้นหนักเกินไป เห็นสมควรกำหนดโทษใหม่ให้เหมาะสมแก่คดี
พิพากษาแก้เป็นว่า ลงโทษจำคุก ๒ เดือน ลดโทษกึ่งหนึ่ง แล้วคงจำคุก ๑ เดือน เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นกักขังแทน มีกำหนด ๑ เดือน นอกจากที่แก้ ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค ๑.
นายจักษ์ชัย เยพิทักษ์
นางสาวนันทวัน เจริญชาศรี
บรรณานุกรม
แก้ไข- ศาลฎีกา. (2563, 4 กุมภาพันธ์). คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 626/2563 ในความอาญาและคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ระหว่าง พนักงานอัยการจังหวัดสมุทรปราการ โจทก์ [ปกปิด] โจทก์ร่วม [ปกปิด] จำเลย เรื่อง หมิ่นประมาท ลงวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2563. สืบค้นจาก https://www.facebook.com/ReabProsecutor/posts/1282058668813228
งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตามมาตรา 7 (4) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า
- "มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
- (1)ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
- (2)รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
- (3)ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
- (4)คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
- (5)คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"