คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 657/2563

◯ (๓๑)
สำหรับศาลใช้
 
ตราครุฑ
ตราครุฑ
คำพิพากษา

ในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์
ที่ ๖๕๗/๒๕๖๓
ศาลฎีกา
วันที่ ๕ เดือนกุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๖๓
 
ความอาญา
ระหว่าง พนักงานอัยการจังหวัดนครพนม โจทก์
  จำเลย
เรื่อง ความผิดเกี่ยวกับเอกสาร ฉ้อโกง ความผิดต่อพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยรามคำแหง

จำเลยฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค ๔ ลงวันที่ ๕ เดือนมีนาคม พุทธศักราช ๒๕๖๒ ศาลฎีการับวันที่ ๓ เดือนธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๖๒

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน กล่าวคือ

ก. เมื่อระหว่างเดือนเมษายน ๒๕๕๙ วันเวลาใดไม่ปรากฏชัด ถึงวันที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๕๙ เวลากลางวัน ทั้งเวลากลางวันและกลางคืนต่อเนื่องกัน วันเวลาใดไม่ปรากฏชัด จำเลยทำปลอมหนังสือรับรองสภามหาวิทยาลัยรามคำแหง อันเป็นเอกสารราชการ ขึ้นทั้งฉบับ โดยจำเลยใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ในการจัดทำเลียนแบบแบบพิมพ์และรอยตราของมหาวิทยาลัยรามคำแหง แล้วบันทึกข้อความ ตัวเลข อักษร และรอยตรา ลงบนแบบพิมพ์ดังกล่าว มีข้อความระบุรับรองการได้วุฒิปริญญารัฐศาสตร์บัณฑิต คณะรัฐศาสตร์ สาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ซึ่งผิดไปจากความเป็นจริง แล้วพิมพ์ข้อความดังกล่าวออกมาให้ปรากฏบนกระดาษเพื่อให้ปรากฏความหมายว่า จำเลยเป็นผู้สำเร็จการศึกษาหลักสูตรปริญญารัฐศาสตร์บัณฑิตจากมหาวิทยาลัยรามคำแหงเมื่อวันที่ ๒๘ มกราคม ๒๕๕๙ พร้อมกับลงลายมือชื่อปลอมของรองศาสตราจารย์สุวรรณี เดชวรชัย ผู้อำนวยการสำนักบริหารทางวิชาการและทดสอบประเมินผล และติดรูปถ่ายของจำเลยซึ่งใช้ครุยวิทยฐานะและติดเข็มวิทยฐานะของมหาวิทยาลัยรามคำแหงโดยไม่มีสิทธิที่จะใช้ เพื่อให้ผู้อื่นเชื่อว่า จำเลยมีสิทธิจะใช้หรือมีวิทยฐานะเช่นนั้น และจำเลยนำหนังสือรับรองสภามหาวิทยาลัยรามคำแหงดังกล่าวไปถ่ายสำเนาเอกสารและลงลายมือชื่อของจำเลยเพื่อรับรองสำเนาหนังสือรับรองสภามหาวิทยาลัยรามคำแหงดังกล่าว ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่า สำเนาเอกสารหนังสือรับรองสภามหาวิทยาลัยรามคำแหงที่จำเลยทำขึ้นเป็นสำเนาที่ถ่ายสำเนาจากต้นฉบับที่ออกให้จำเลย โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่มหาวิทยาลัยรามคำแหง รองศาสตราจารย์สุวรรณี ผู้อื่น หรือประชาชน

ข. เมื่อระหว่างเดือนเมษายน ๒๕๕๙ วันเวลาใดไม่ปรากฏชัด ถึงวันที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๕๙ เวลากลางวัน ทั้งเวลากลางวันและกลางคืนต่อเนื่องกัน วันเวลาใดไม่ปรากฏชัด จำเลยทำปลอมปริญญาบัตรมหาวิทยาลัยรามคำแหง อันเป็นเอกสารราชการ ขึ้นทั้งฉบับ โดยจำเลยใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ในการจัดทำเลียนแบบแบบพิมพ์และรูปสัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัยรามคำแหง แล้วบันทึกข้อความ ตัวเลข ตัวอักษร และรูปสัญลักษณ์ ลงบนแบบพิมพ์ดังกล่าว มีข้อความระบุให้ปริญญารัฐศาสตร์บัณฑิต มหาวิทยาลัยรามคำแหง ซึ่งผิดไปจากความเป็นจริง แล้วพิมพ์ข้อความดังกล่าวออกมาให้ปรากฏบนกระดาษเพื่อให้ปรากฏความหมายว่า จำเลยเป็นผู้สำเร็จราชการศึกษาหลักสูตรรัฐศาสตร์บัณฑิตจากมหาวิทยาลัยรามคำแหงเมื่อวันที่ ๒๘ มกราคม ๒๕๕๙ พร้อมกับลงลายมือชื่อปลอมของบุคคลผู้มีชื่อในช่องนายกสภามหาวิทยาลัย อธิการบดี และคณบดี และจำเลยนำปริญญาบัตรมหาวิทยาลัยรามคำแหงดังกล่าวไปถ่ายสำเนาเอกสารและลงลายมือชื่อของจำเลยเพื่อรับรองสำเนาปริญญาบัตรมหาวิทยาลัยรามคำแหงดังกล่าว ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่า สำเนาปริญญาบัตรมหาวิทยาลัยรามคำแหงที่จำเลยทำขึ้นเป็นสำเนาที่ถ่ายสำเนาจากต้นฉบับปริญญาบัตรมหาวิทยาลัยรามคำแหงที่แท้จริงของมหาวิทยาลัยรามคำแหงที่ออกให้จำเลย โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่มหาวิทยาลัยรามคำแหง ผู้อื่น หรือประชาชน

ค. เมื่อระหว่างเดือนเมษายน ๒๕๕๙ วันเวลาใดไม่ปรากฏชัด ถึงวันที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๕๙ เวลากลางวัน ทั้งเวลากลางวันและกลางคืนต่อเนื่องกัน วันเวลาใดไม่ปรากฏชัด จำเลยทำปลอมใบรับรองผลการศึกษาของมหาวิทยาลัยรามคำแหง ฉบับภาษาอังกฤษ อันเป็นเอกสารราชการ ขึ้นทั้งฉบับ โดยจำเลยใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ในการจัดทำเลียนแบบแบบพิมพ์ใบรับรองผลการศึกษาของมหาวิทยาลัยรามคำแหง แล้วบันทึกข้อความ ตัวเลข ตัวอักษร และรูปสัญลักษณ์ ลงบนแบบพิมพ์ดังกล่าว มีข้อความระบุรายละเอียดของวิชาที่ศึกษาและผลการศึกษาของแต่ละภาคการศึกษาตลอดทั้ง ๔ ปี ตั้งแต่ปี ค.ศ. ๒๐๑๒ ถึงปี ค.ศ. ๒๐๑๕ ซึ่งผิดไปจากความจริง แล้วพิมพ์ข้อความดังกล่าวออกมาให้ปรากฏบนกระดาษเพื่อให้ปรากฏความหมายว่า จำเลยได้สำเร็จการศึกษาหลักสูตรปริญญารัฐศาสตร์บัณฑิตจากมหาวิทยาลัยรามคำแหง พร้อมกับลงลายมือชื่อปลอมของบุคคลอื่นผู้มีชื่อในช่อง registrar และจำเลยนำใบรับรองผลการศึกษาของมหาวิทยาลัยรามคำแหง ฉบับภาษาอังกฤษดังกล่าว ไปถ่ายสำเนาเอกสารและลงลายมือชื่อของจำเลยเพื่อรับรองสำเนาใบรับรองผลการศึกษาของมหาวิทยาลัยรามคำแหง ฉบับภาษาอังกฤษดังกล่าว ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่า สำเนาที่ถ่ายจากต้นฉบับใบรับรองผลการศึกษาของมหาวิทยาลัยรามคำแหง ฉบับภาษาอังกฤษที่แท้จริงของมหาวิทยาลัยรามคำแหงที่ออกให้จำเลย โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่มหาวิทยาลัยรามคำแหง ผู้อื่น หรือประชาชน

ง. เมื่อวันที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๕๙ เวลากลางวัน ภายหลังเกิดเหตุดังกล่าว จำเลยนำสำเนาหนังสือรับรองสภามหาวิทยาลัยรามคำแหง สำเนาปริญญาบัตรมหาวิทยาลัยรามคำแหง และสำเนาใบรับรองผลการศึกษาของมหาวิทยาลัยรามคำแหง ฉบับภาษาอังกฤษ ซึ่งเป็นเอกสารที่จำเลยทำปลอมขึ้นดังกล่าว ไปใช้อ้างแสดงเป็นหลักฐานในการสมัครเข้าทำงานต่อสหกรณ์บริการชุมชนตำบลอุ่มเหม้านครพนม จำกัด ผู้เสียหาย โดยนายจันทิมา เมืองโคตร นางอนิษฎา คล้ำจีน และนางสาวมลฑา ตุ้มอ่อน คณะกรรมการคัดสรรเจ้าหน้าที่สหกรณ์ เพื่อให้สหกรณ์เชื่อว่า จำเลยสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาวิชารัฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง และรับจำเลยเข้าทำงานในตำแหน่งเจ้าหน้าที่การตลาดของสหกรณ์ อันเป็นการแสดงด้วยประการใด ๆ ว่า จำเลยมีปริญญาของมหาวิทยาลัยรามคำแหง โดยที่จำเลยไม่มี เพื่อให้ผู้อื่นเชื่อว่า จำเลยมีสิทธิจะใช้หรือมีวิทยฐานะเช่นนั้น ในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่มหาวิทยาลัยรามคำแหง นางจันทิมา นางอนิษฎา นางสาวมลฑา สหกรณ์ผู้เสียหาย ผู้อื่น หรือประชาชน

จ. เมื่อวันที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๕๙ เวลากลางวัน ภายหลังจากจำเลยได้กระทำความผิดดังกล่าว จำเลยหลอกลวงสหกรณ์ผู้เสียหายด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อนางจันทิมา นางอนิษฎา และนางสาวมลฑา คณะกรรมการคัดสรรเจ้าหน้าที่สหกรณ์ โดยจำเลยยื่นใบสมัครงานซึ่งระบุว่า จำเลยสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาวิชารัฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง และนำหนังสือรับรองสภามหาวิทยาลัยรามคำแหง สำเนาปริญญาบัตรมหาวิทยาลัยรามคำแหง และสำเนาใบรับรองผลการศึกษาของมหาวิทยาลัยรามคำแหง ฉบับภาษาอังกฤษ ซึ่งเป็นเอกสารราชการที่จำเลยทำปลอมขึ้นดังกล่าว อ้างแสดงเป็นหลักฐานในการสมัครเข้าทำงานว่า จำเลยจบการศึกษาระดับปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยรามคำแหง ซึ่งเป็นความเท็จ ความจริงจำเลยไม่ได้จบการศึกษาในระดับปริญญาตรี สาขาวิชารัฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง โดยการหลอกลวงดังกล่าวทำให้สหกรณ์หลงเชื่อว่าเป็นความจริง จึงรับจำเลยเข้าทำงานในตำแหน่งเจ้าหน้าที่การตลาด และจำเลยได้รับเงินเดือนเดือนละ ๑๕,๐๘๐ บาท รวม ๑๒ เดือน รวมเป็นเงิน ๑๘๐,๙๖๐ บาท จากสหกรณ์ เหตุเกิดที่ตำบลอุ่มเหม้า อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๑, ๒๖๔, ๒๖๕, ๒๖๘, ๓๔๑ พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยรามคำแหง พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๔, ๕๕ และให้จำเลยคืนหรือชดใช้เงิน ๑๘๐,๙๖๐ บาทแก่สหกรณ์บริการชุมชนตำบลอุ่มเหม้านครพนม จำกัด ผู้เสียหาย

จำเลยให้การรับสารภาพ

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๖๔ วรรคหนึ่ง (เดิม), ๒๖๕ (เดิม), ๒๖๘ วรรคแรก และมาตรา ๓๔๑ (เดิม) พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยรามคำแหง พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๕๕ การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๑ ฐานปลอมหนังสือรับรองสภามหาวิทยาลัยรามคำแหง อันเป็นเอกสารราชการ และฐานใช้ครุยวิทยฐานะและเข็มวิทยฐานะโดยไม่มีสิทธิ ตามฟ้องข้อ ๑ ก. เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานปลอมหนังสือรับรองสภามหาวิทยาลัยรามคำแหง ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักสุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๐ ซึ่งความผิดฐานปลอมหนังสือรับรองสภามหาวิทยาลัยรามคำแหง ปลอมปริญญาบัตรมหาวิทยาลัยรามคำแหง ปลอมใบรับรองผลการศึกษานั้น เป็นความผิดหลายกรรมต่างกรรม ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๓ ส่วนความผิดฐานฉ้อโกง ตามฟ้องข้อ ๑ จ. และฐานใช้เอกสารราชการดังกล่าวปลอม ตามฟ้องข้อ ๑ ง. นั้น เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานใช้เอกสารราชการปลอม ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักสุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๐ แต่เมื่อจำเลยเป็นผู้ปลอมและใช้เอกสารดังกล่าว จึงให้ลงโทษฐานใช้หนังสือรับรองสภามหาวิทยาลัยรามคำแหงปลอม ใช้ปริญญาบัตรมหาวิทยาลัยรามคำแหงปลอม และใช้ใบรับรองผลการศึกษาปลอม ตามมาตรา ๒๖๘ วรรคแรก ประกอบมาตรา ๒๖๕ แต่กระทงเดียวตามมาตรา ๒๖๘ วรรคสอง รวม ๓ กระทง ให้จำคุกกระทงละ ๒ ปี รวมจำคุก ๖ ปี จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทา ลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ คงจำคุก ๓ ปี ส่วนที่โจทก์ขอให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ ๑๘๐,๙๖๐ บาทแก่ผู้เสียหายนั้น เมื่อจำเลยได้วางเงิน ๒๐,๐๐๐ บาทเพื่อชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้เสียหายต่อศาลแล้ว จึงให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์แก่ผู้เสียหายเป็นเงิน ๑๖๐,๙๖๐ บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค ๔ พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๖๕ (เดิม), ๒๖๘ วรรคแรก ประกอบมาตรา ๒๖๕ (เดิม), ๓๔๑ (เดิม) พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยรามคำแหง พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๕๕ การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท เมื่อจำเลยเป็นผู้ปลอมเอกสารราชการและใช้เอกสารราชการปลอม จึงให้ลงโทษในความผิดฐานใช้เอกสารราชการปลอมตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๖๘ วรรคแรก ประกอบมาตรา ๒๖๕ (เดิม) ตามมาตรา ๒๖๘ วรรคสอง ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๐ จำคุก ๒ ปี ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ แล้วคงจำคุก ๑ ปี นอกจากที่แก้ ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

ศาลฎีกาตรวจสำนวน ประชุมปรึกษาแล้ว ที่จำเลยฎีกาขอให้ลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยนั้น เห็นว่า ข้อเท็จจริงตามรายงานการสืบเสาะและพินิจจำเลยของพนักงานคุมประพฤติที่จำเลยไม่คัดค้าน ปรากฏว่า จำเลยไม่ได้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี แต่กลับหาคนทำปลอมหนังสือรับรองสภามหาวิทยาลัย ปลอมปริญญาบัตร และปลอมใบรับรองผลการศึกษา ของมหาวิทยาลัยรามคำแหง ให้แก่จำเลยเพื่อนำไปใช้ประกอบการสมัครงาน และจำเลยได้สมัครงานกับสหกรณ์บริการชุมชนตำบลอุ่มเหม้านครพนม จำกัด โดยอ้างเอกสารปลอมดังกล่าว จนสหกรณ์บริการชุมชนตำบลอุ่มเหม้านครพนม จำกัด หลงเชื่อว่า จำเลยสำเร็จการศึกษาหลักสูตรปริญญารัฐศาสตรบัณฑิต สาขารัฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยรามคำแหงจริง จึงรับจำเลยเข้าทำงานในตำแหน่งเจ้าหน้าที่การตลาด ทั้งที่จำเลยไม่มีคุณสมบัติตามเอกสารนั้น เป็นการกระทำที่ไม่เคารพยำเกรงต่อกฎหมาย เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัว และไม่คำนึงถึงความเสียหายที่จะเกิดขึ้นแก่มหาวิทยาลัยรามคำแหงและสหกรณ์บริการชุมชุนตำบลอุ่มเหม้านครพนม จำกัด พฤติการณ์แห่งคดีจึงเป็นเรื่องร้ายแรง แม้จำเลยไม่เคยกระทำความผิดมาก่อน มีภาระต้องดูแลบุคคลในครอบครัว หรือมีเหตุอื่นดังที่จำเลยยกขึ้นอ้างในฎีกา ก็ไม่เป็นเหตุเพียงพอที่จะรับฟังเพื่อรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๔ ลงโทษจำคุกจำเลย ๒ ปีก่อนลดโทษนั้น เหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดีแล้ว และยังลดโทษให้อีกกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ คงจำคุก ๑ ปี เป็นการลดโทษขั้นสูงสุดตามกฎหมายแล้ว ไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะลงโทษเบากว่านี้หรือรอการลงโทษให้ ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน.


นายอธิคม อินทุภูติ

นายพิชัย เพ็งผ่อง

นายจรัญ เนาวพนานนท์

บรรณานุกรม แก้ไข

  • ศาลฎีกา. (2563, 4 กุมภาพันธ์). คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 657/2563 ในความอาญา ระหว่าง พนักงานอัยการจังหวัดนครพนม โจทก์ [ปกปิด] จำเลย เรื่อง ความผิดเกี่ยวกับเอกสาร ฉ้อโกง ความผิดต่อพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยรามคำแหง ลงวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2563. สืบค้นจาก https://www.facebook.com/ReabProsecutor/posts/1286040595081702
 

งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตามมาตรา 7 (4) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า

"มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
(1) ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
(2) รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
(3) ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
(4) คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
(5) คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"