คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 14/2562/ส่วนที่ 2
- ความเห็นส่วนตน
- ของนายนุรักษ์ มาประณีต ประธานศาลรัฐธรรมนูญ
ประเด็นวินิจฉัย
สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของผู้ถูกร้องสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๐๑ (๖) ประกอบมาตรา ๙๘ (๓) หรือไม่ และนับแต่เมื่อใด
ความเห็น
รัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๐๑ บัญญัติว่า สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลงเมื่อ... (๖) มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๙๘
มาตรา ๙๘ บัญญัติว่า บุคคลผู้มีลักษณะดังต่อไปนี้เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร... (๓) เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใด ๆ
มาตรา ๘๒ บัญญัติว่า สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของแต่ละสภามีสิทธิเข้าชื่อร้องต่อประธานแห่งสภาที่ตนเป็นสมาชิกว่า สมาชิกภาพของสมาชิกคนใดคนหนึ่งแห่งสภานั้นสิ้นสุดลงตามมาตรา ๑๐๑ (๓) (๕) (๖) (๗) (๘) (๙) (๑๐) หรือ (๑๒) หรือมาตรา ๑๑๑ (๓) (๔) (๕) หรือ (๗) แล้วแต่กรณี และให้ประธานแห่งสภาที่ได้รับคำร้องส่งคำร้องนั้นไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยว่า สมาชิกภาพของสมาชิกผู้นั้นสิ้นสุดลงหรือไม่
เมื่อได้รับเรื่องไว้พิจารณา หากปรากฏเหตุอันควรสงสัยว่า สมาชิกผู้ถูกร้องมีกรณีตามที่ถูกร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้สมาชิกผู้ถูกร้องหยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย และเมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยแล้ว ให้ศาลรัฐธรรมนูญแจ้งคำวินิจฉัยนั้นไปยังประธานแห่งสภาที่ได้รับคำร้องตามวรรคหนึ่ง ในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า สมาชิกภาพของสมาชิกผู้ถูกร้องสิ้นสุดลง ให้ผู้นั้นพ้นจากตำแหน่งนับแต่วันที่หยุดปฏิบัติหน้าที่ แต่ไม่กระทบต่อกิจการที่ผู้นั้นได้กระทำไปก่อนพ้นจากตำแหน่ง
มิให้นับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาซึ่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ตามวรรคสองเป็นจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎรหรือวุฒิสภา
ในกรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้งเห็นว่า สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาคนใดคนหนึ่งมีเหตุสิ้นสุดลงตามวรรคหนึ่ง ให้ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยตามวรรคหนึ่งได้ด้วย
พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ผู้ถูกร้องเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด หมายเลขหุ้น ๑๓๕๐๐๐๑–๒๐๒๕๐๐๐ จำนวน ๖๗๕,๐๐๐ หุ้น ตั้งแต่วันที่ ๑๒ มกราคม ๒๕๕๘ เป็นต้นมา และในวันที่ ๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒ พรรคอนาคตใหม่ได้จัดส่งบัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อต่อผู้ร้อง โดยมีชื่อผู้ถูกร้องอยู่ในบัญชีรายชื่อดังกล่าวในลำดับที่ ๑ ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยเบื้องต้นมีว่า ผู้ถูกร้องได้โอนหุ้นดังกล่าวในบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ในวันที่ ๘ มกราคม ๒๕๖๒ ดังที่ผู้ถูกร้องกล่าวอ้าง หรือในวันที่ ๒๑ มีนาคม ๒๕๖๒ ตามข้อกล่าวหาของผู้ร้องที่ว่า ผู้ถูกร้องยังคงเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ในวันสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ ผู้ถูกร้องจึงเป็นผู้ถือหุ้นในกิจการสื่อมวลชน อันเป็นลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๙๘ (๓)
เห็นว่า การที่ผู้ถูกร้องกล่าวอ้างว่า ได้โอนหุ้นในบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด หมายเลขหุ้น ๑๓๕๐๐๐๑–๒๐๒๕๐๐๐ จำนวน ๖๗๕,๐๐๐ หุ้น ให้นางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ ในวันที่ ๘ มกราคม ๒๕๖๒ นั้น
เอกสารตราสารการโอนหุ้นของบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ในวันที่ ๘ มกราคม ๒๕๖๒ ซึ่งเป็นเอกสารที่ระบุว่า ผู้ถูกร้องได้โอนหุ้นให้แก่นางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ บุคคลที่เกี่ยวข้องในการจัดทำเอกสารดังกล่าวล้วนเป็นบุคคลที่มีความสัมพันธ์กับผู้ถูกร้องทั้งสิ้น การจัดทำเอกสารดังกล่าวอาจจะดำเนินการที่สถานที่แห่งใดหรือในวันเวลาใดในภายหลังก็ได้ โดยไม่มีบุคคลภายนอกรับรู้เห็น และไม่มีความจำเป็นที่ผู้ถูกร้องจะต้องรีบเร่งเดินทางออกจากภารกิจปราศรัยหาเสียงที่จังหวัดบุรีรัมย์เพื่อมาทำเอกสารดังกล่าว เนื่องจากการจัดทำตราสารการโอนหุ้นที่ว่านี้มีช่วงระยะเวลาที่สามารถดำเนินการได้ก่อนที่พรรคอนาคตใหม่ได้จัดส่งบัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อต่อผู้ร้อง
กรณีที่ผู้ถูกร้องอ้างว่า ได้เดินทางกลับจากการปราศรัยที่อำเภอสตึก จังหวัดบุรีรัมย์ ในวันที่ ๘ มกราคม ๒๕๖๒ ด้วยรถยนต์ กลับมายังบ้านพักของผู้ถูกร้องเพื่อโอนหุ้นของบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ให้แก่นางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ เห็นว่า ไม่มีความจำเป็นใดที่ผู้ถูกร้องจะต้องรีบร้อนลำบากเดินทางด้วยรถยนต์ทั้งที่มีเครื่องบินจากจังหวัดอุบลราชธานีในวันดังกล่าวไปกรุงเทพมหานคร ซึ่งจากข้อเท็จจริงปรากฏว่า มีสายการบินหลายสานและมีที่นั่งว่างที่จะกลับได้ในวันนั้น ประกอบกับการโอนหุ้นของผู้ถูกร้องมีแต่บุคคลภายในครอบครัวและผู้ที่ปฏิบัติงานกับผู้ถูกร้อง ซึ่งจะทำเวลาใด ล่าช้าค่ำคืนก็ได้
การแจ้งเปลี่ยนแปลงรายชื่อผู้ถือหุ้นบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ในวันที่ ๘ มกราคม ๒๕๖๒ ต่อนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานคร กรมพัฒนาธุรกิจการค้า มิได้มีการดำเนินการเหมือนดังเช่นการปฏิบัติเป็นประจำ กล่าวคือ หนังสือบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ลงวันที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๒ ซึ่งส่งสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นในวันประชุมวิสามัญครั้งที่ ๑/๒๕๕๒ เมื่อวันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๒ หนังสือบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ลงวันที่ ๑๒ มกราคม ๒๕๕๘ ซึ่งส่งสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นในวันประชุมวิสามัญครั้งที่ ๑/๒๕๕๘ เมื่อวันที่ ๑๒ มกราคม ๒๕๕๘ และหนังสือบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ลงวันที่ ๒๑ มีนาคม ๒๕๖๒ ซึ่งส่งสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นโดยคัดจากสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นเมื่อวันที่ ๒๑ มีนาคม ๒๕๖๒ แม้ผู้ถูกร้องจะได้ชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาว่า บริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ได้เลิกจ้างพนักงานบริษัทไปแล้วทั้งหมดตั้งแต่วันที่ ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๖๑ จึงไม่มีนักบัญชีที่คอยดำเนินการติดตามจัดการเอกสารทางทะเบียน และคำเบิกความของนางสาวลาวัลย์ จันทร์เกษม พยานของศาล ได้ความว่า เนื่องจากการโอนหุ้นในวันที่ ๘ มกราคม ๒๕๖๒ เป็นการโอนหุ้นภายในครอบครัวจึงรุ่งเรืองกิจ จึงไม่ได้มีการจัดทำทันที และบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ได้มีการปลดพนักงานออกตั้งแต่ปี ๒๕๖๑ จึงไม่มีหน่วยงานจะมารับผิดชอบรับงานที่จะแจกจ่ายจากตนเองไปดำเนินการต่อก็ตาม แต่การเปลี่ยนแปลงรายชื่อผู้ถือหุ้นของบริษัทนั้น ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงรายชื่อผู้ถือหุ้นของบุคคลภายในครอบครัวหรือไม่ก็ตาม การส่งสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นไปยังนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานคร กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ย่อมเป็นพยานหลักฐานที่ถูกต้องและน่าเชื่อถือ และเป็นเอกสารมหาชนที่บุคคลทั่วไปสามารถตรวจสอบได้ว่า บริษัทนั้น ๆ ได้มีการโอนหุ้นกันจริงหรือไม่ ซึ่งมีน้ำหนักได้ดีกว่าสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นของบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ที่สามารถจัดทำขึ้นในเวลาใดก็ได้ เพราะเป็นการกระทำของบุคคลภายในครอบครัวและพนักงานของผู้ถูกร้อง และเป้นเพียงข้อสันนิษฐานไว้ก่อนว่า เป็นพยานหลักฐานอันถูกต้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๑๔๑ เท่านั้น ประกอบกับที่ผู้ถูกร้องได้ชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาว่า ไม่มีนักบัญชีที่คอยดำเนินการติดตามจัดการเอกสารทางทะเบียน ย่อมขัดกับข้อเท็จจริงที่นางสาวลาวัลย์ จันทร์เกษม เบิกความว่า สามารถดำเนินการได้ และได้ดำเนินการไปแล้วในวันที่ ๒๑ มีนาคม ๒๕๖๒ ดังนั้น คำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาของผู้ถูกร้องจึงไม่มีน้ำหนักที่จะรับฟังได้
เช็คที่นางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ ได้สั่งจ่ายค่าหุ้นบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด เป็นจำนวนเงิน ๖,๗๕๐,๐๐๐ บาท ให้แก่ผู้ถูกร้องในวันที่ ๘ มกราคม ๒๕๖๒ นางรวิพรรณ จึงรุ่งเรืองกิจ ภริยาของผู้ถูกร้อง นำไปเข้าบัญชีที่ธนาคารกรุงศรีอยุธยา สาขาเมกาบางนา เมื่อวันที่ ๑๖ พฤษภาคม ๒๕๖๒ ซึ่งเป็นเวลาหลังจากวันออกเช็คเป็นจำนวน ๑๒๘ วัน และเป็นเวลาหลังจากที่ผู้ร้องได้แจ้งข้อกล่าวหาแก่ผู้ถูกร้องแล้ว แม้นางรวิพรรณ จึงรุ่งเรืองกิจ จะเบิกความถึงเหตุผลที่นำเช็คไปเข้าบัญชีล่าช้า เนื่องจากต้องเลี้ยงดูบุตร และทีมทนายความได้นำเช็คดังกล่าวไปใช้ชี้แจงต่อผู้ร้องก็ตาม แต่ก็ไม่มีน้ำหนักรับฟังได้ เนื่องจากนางรวิพรรณ จึงรุ่งเรืองกิจ สามารถนำเช็คเข้าบัญชีได้ตลอดเวลา หรือให้บุคคลอื่นนำสมุดบัญชีและเช็คไปเข้าบัญชีเมื่อใดก็ได้ และการชี้แจงข้อเท็จจริงต่อผู้ร้องย่อมสามารถใช้สำเนาเช็คหรือเอกสารการรับรองจากธนาคารแทนได้ อีกทั้งเอกสารหลักฐานต้นขั้วเช็คปรากฏว่า มีการสั่งจ่ายเช็คก่อนหน้าฉบับที่สั่งจ่ายการโอนหุ้นครั้งนี้ คือ วันที่ ๘ พฤศจิกายน ๒๕๖๑ ทำให้เจ้าของเช็คสามารถจะระบุวันที่เมื่อใดก็ได้ การเก็บเช็คที่มีการสั่งจ่ายเงินจำนวนมากเป็นเวลานานย่อมเป็นที่ผิดปกติวิสัยวิญญูชนทั่วไป การสั่งจ่ายเช็คดังกล่าว จึงน่าเชื่อว่า ได้มีการสั่งจ่ายในภายหลังวันที่ ๘ มกราคม ๒๕๖๒
การโอนหุ้นที่นางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ ได้โอนหุ้นของบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ให้แก่นายทวี จรุงสถิตพงศ์ หลานชาย ในวันที่ ๑๔ มกราคม ๒๕๖๒ และต่อมา นายทวี จรุงสถิตพงศ์ ได้โอนหุ้นกลับคืนไปยังนางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ ในวันที่ ๒๑ มีนาคม ๒๕๖๒ ซึ่งปรากฏข้อเท็จจริงจากคำเบิกความของนางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ ว่า ไม่มีค่าตอบแทน โดยอ้างความสัมพันธ์ในทางเครือญาติ แต่ในขณะเดียวกัน การโอนหุ้นระหว่างนางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ กับผู้ถูกร้อง ซึ่งมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดยิ่งกว่า กลับมีค่าตอบแทน แม้นางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ จะเบิกความว่า ต้องการให้นายทวี จรุงสถิตพงศ์ มาแก้ปัญหาหรือฟื้นฟูบริษัทฯ ก็ตาม แต่การโอนหุ้นให้แก่กันโดยไม่มีค่าตอบแทนย่อมทำให้ไม่สามารถที่จะตรวจสอบได้ว่า มีการโอนหุ้นกันจริงหรือไม่ คงมีเพียงพยานเอกสารที่ใช้อ้าง คือ ตราสารโอนหุ้น และสมุดทะเบียน และใบหุ้น ซึ่งต่างก็เป็นเอกสารที่บริษัทฯ สามารถจัดทำขึ้นเองได้ในภายหลัง ประกอบกับการที่นายทวี จรุงสถิตพงศ์ ได้โอนหุ้นดังกล่าวกลับคืนให้นางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ ในวันที่ ๒๑ มีนาคม ๒๕๖๒ ซึ่งเป็นระยะเวลาหลังจากได้รับโอนหุ้นไปเพียงสองเดือนกว่า ซึ่งผิดปกติวิสัยของคนนักลงทุนทั่วไปที่มีความประสงค์จะฟื้นฟูบริษัทฯ ที่ต้องใช้ระยะเวลาในการศึกษาพอสมควร และต้องลงมือทำงานตามแผนธุรกิจที่ศึกษาเสียก่อน ประกอบกับเมื่อพิจารณาจำนวนเงินที่ต้องลงทุนเพิ่ม หากเทียบกับฐานะทางเศรษฐกิจของนางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ แล้ว ถือว่า เป็นเงินจำนวนเพียงเล็กน้อย นอกจากนี้ การโอนหุ้นของนายทวี จรุงสถิตพงศ์ กลับคืนไปยังนางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ ในวันที่ ๒๑ มีนาคม ๒๕๖๒ ยังปรากฏจากรายงานการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ ๑/๒๕๖๒ เมื่อวันที่ ๑๙ มีนาคม ๒๕๖๒ ว่า นายทวี จรุงสถิตพงศ์ จะดำเนินการโอนหุ้นให้แก่นางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ ในวันที่ ๒๑ มีนาคม ๒๕๖๒ ซึ่งไม่สมเหตุผล เนื่องจากนายทวี จรุงสถิตพงศ์ สามารถที่จะโอนหุ้นคืนให้แก่นางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ ได้ตั้งแต่วันประชุมเป็นต้นไป ดังนั้น จึงเชื่อได้ว่า การจัดทำรายงานการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นดังกล่าวเป็นการทำเอกสารที่ไม่ตรงกับข้อเท็จจริงเพื่อให้เจือสมกับที่ปรากฏหลักฐานในสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น (แบบ บอจ. ๕) ซึ่งบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ได้ยื่นต่อนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานครในวันที่ ๒๑ มีนาคม ๒๕๖๒
เมื่อข้อเท็จจริงที่ได้จากพยานหลักฐานของผู้ถูกร้องมีข้อพิรุธหลายประการยังไม่มีน้ำหนักเพียงพอที่จะรับฟังได้ว่า ผู้ถูกร้องโอนหุ้นของบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ให้แก่นางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ ในวันที่ ๘ มกราคม ๒๕๖๒ เชื่อว่า เอกสารสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น (แบบ บอจ. ๕) ในวันที่ ๒๑ มีนาคม ๒๕๖๒ ซึ่งบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ได้จัดส่งให้กับนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานคร ซึ่งปรากฏชื่อนางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ ได้รับหุ้นบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด หมายเลขหุ้น ๑๓๕๐๐๐๑–๒๐๒๕๐๐๐ จำนวน ๖๗๕,๐๐๐ หุ้น ซึ่งเป็นหมายเลขหุ้นเดิมของผู้ถูกร้องในวันที่ ๒๑ มีนาคม ๒๕๖๒ ดังนั้น ผู้ถูกร้องจึงเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ซึ่งประกอบกิจการสื่อมวลชน ในวันที่ ๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒ ซึ่งเป็นวันที่พรรคอนาคตใหม่ยื่นบัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อต่อผู้ร้อง โดยมีรายชื่อของผู้ถูกร้องในลำดับที่ ๑ อันเป็นลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๙๘ (๓) ทำให้สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของผู้ถูกร้องสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๐๑ (๖) ประกอบมาตรา ๙๘ (๓)
สำหรับข้อโต้แย้งของผู้ถูกร้องที่ว่า กระบวนการไต่สวนและยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญของผู้ร้องไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมายนั้น เห็นว่า รัฐธรรมนูญ มาตรา ๘๒ วรรคสี่ ได้บัญญัติให้คณะกรรมการการเลือกตั้งมีหน้าที่และอำนาจในการยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ในกรณีที่เห็นว่า สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมีเหตุสิ้นสุดลงตามมาตรา ๘๒ วรรคหนึ่ง ซึ่งคณะกรรมการการเลือกตั้งก็ได้มีมติในการประชุมครั้งที่ ๖๓/๒๕๖๒ เมื่อวันที่ ๑๔ พฤษภาคม ๒๕๖๒ และมีคำวินิจฉัยคณะกรรมการการเลือกตั้งที่ ๖๙/๒๕๖๒ ลงวันที่ ๑๔ พฤษภาคม ๒๕๖๒ ซึ่งเห็นว่า สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของผู้ถูกร้องสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๐๑ (๖) ประกอบมาตรา ๙๘ (๓) และได้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญแล้ว การยื่นคำร้องของผู้ร้องจึงชอบด้วยรัฐธรรมนูญแล้ว
ส่วนข้อโต้แย้งของผู้ถูกร้องที่ว่า บริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด มิได้ประกอบกิจการสื่อมวลชนนั้น เห็นว่า บริษัทดังกล่าวเดิมชื่อ บริษัท โซลิด มีเดีย (ประเทศไทย) จำกัด ได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลเมื่อวันที่ ๑๐ มกราคม ๒๕๕๑ โดยมีวัตถุประสงค์ตามหนังสือบริคณห์สนธิ ข้อ ๒๓ ที่ว่า ประกอบกิจการออหนังสือพิมพ์ โรงพิมพ์ รับพิมพ์หนังสือ พิมพ์หนังสือจำหน่าย และข้อ ๒๕ ที่ว่า ประกอบกิจการโฆษณาด้วยสื่อการโฆษณาทุกอย่าง เช่น โฆษณาในหนังสือพิมพ์ แผ่นป้ายโฆษณา สิ่งพิมพ์ ใบปลิว กระจายเสียงผ่านสื่อทางวิทยุ โทรทัศน์ โทรเลข เคเบิลทีวี โทรสาร การสื่อสารด้วยระบบดาวเทียม และสื่ออื่นใด นอกจากนี้ แบบนำส่งงบการเงิน (แบบ ส.บช. ๓) รอบปีบัญชี ๒๕๕๙–๒๕๖๑ รวม ๓ ฉบับ ที่บริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ยื่นต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ก็ระบุว่า มีรายได้จากการให้บริการโฆษณา ประกอบกับไม่ปรากฏหลักฐานว่า บริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ได้แจ้งยกเลิกเป็นผู้พิมพ์ ผู้โฆษณา บรรณาธิการ หรือเจ้าของกิจการ ตามพระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ. ๒๕๕๐ มาตรา ๑๘ ก่อนวันที่ ๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒ ซึ่งเป็นวันที่พรรคอนาคตใหม่ได้จัดส่งบัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อต่อผู้ร้อง โดยมีชื่อผู้ถูกร้องในรายชื่อลำดับที่ ๑ แม้ผู้ถูกร้องจะอ้างว่า ได้หยุดกิจการโดยยุติการผลิตนิตยสารและเลิกจ้างพนักงานบริษัทฯ ไปแล้วตั้งแต่วันที่ ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๖๑ เป็นต้นมา รวมทั้งได้แจ้งการเปลี่ยนแปลงข้อเท็จจริงของนายจ้างต่อสำนักงานประกันสังคมเรื่องหยุดกิจการชั่วคราวในวันที่ ๓๑ มกราคม ๒๕๖๒ ก็ตาม แต่บริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ก็ยังสามารถประกอบกิจการเมื่อใดก็ได้ ตราบที่ยังมิได้แจ้งยกเลิกเป็นผู้พิมพ์ ผู้โฆษณา บรรณาธิการ หรือเจ้าของกิจการ ดังนั้น บริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด จึงยังคงเป็นบริษัทที่ประกอบกิจการสื่อมวลชนอยู่ในวันที่พรรคอนาคตใหม่ได้จัดส่งบัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อต่อผู้ร้อง โดยมีชื่อผู้ถูกร้องในรายชื่อลำดับที่ ๑
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปว่า สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของผู้ถูกร้องสิ้นสุดลงนับแต่เมื่อใด
พิจารณาแล้วเห็นว่า รัฐธรรมนูญ มาตรา ๘๒ วรรคสอง บัญญัติว่า "เมื่อได้รับเรื่องไว้พิจารณา หากปรากฏเหตุอันควรสงสัยว่า สมาชิกผู้ถูกร้องมีกรณีตามที่ถูกร้อง ให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้สมาชิกผู้ถูกร้องหยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย... ในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า สมาชิกภาพของสมาชิกผู้ถูกร้องสิ้นสุดลง ให้ผู้นั้นพ้นจากตำแหน่งนับแต่วันที่หยุดปฏิบัติหน้าที่ แต่ไม่กระทบต่อกิจการที่ผู้นั้นได้กระทำไปก่อนพ้นจากตำแหน่ง" บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญมาตราดังกล่าวเป็นบทบัญญัติว่าด้วยการพ้นจากตำแหน่งของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งมิได้ให้อำนาจแก่ศาลรัฐธรรมนูญที่จะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า เมื่อวันที่ ๒๓ พฤษภาคม ๒๕๖๒ ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ผู้ถูกร้องหยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย ศาลรัฐธรรมนูญจึงต้องสั่งให้ผู้ถูกร้องพ้นจากตำแหน่งนับแต่วันที่หยุดปฏิบัติหน้าที่ ดังนั้น สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของผู้ถูกร้องจึงสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๘๒ วรรคสอง นับแต่วันที่ ๒๓ พฤษภาคม ๒๕๖๒ เป็นต้นไป
อาศัยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น จึงมีความเห็นว่า สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของผู้ถูกร้องสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๐๑ (๖) ประกอบมาตรา ๙๘ (๓) นับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ผู้ถูกร้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๘๒ วรรคสอง คือ วันที่ ๒๓ พฤษภาคม ๒๕๖๒ ส่วนตำแหน่งของผู้ถูกร้องว่างลงเมื่อใดนั้น เห็นว่า ว่างลงตั้งแต่วันที่ศาลมีคำวินิจฉัย
- นุรักษ์ มาประณีต
- (นายนุรักษ์ มาประณีต)
- ประธานศาลรัฐธรรมนูญ