คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 20/2564/ส่วนที่ 8

ความเห็นส่วนตน
ของนายจิรนิติ หะวานนท์ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
คำวินิจฉัยที่ ๒๐/๒๕๖๔
เรื่องพิจารณาที่ ๓๐/๒๕๖๓
 
วันที่ ๑๗ เดือนพฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๖๔
ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง ผู้ร้อง
ระหว่าง
ผู้ถูกร้อง

ประเด็นวินิจฉัย

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๔๔๘ ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๕ มาตรา ๒๖ และมาตรา ๒๗ วรรคหนึ่ง วรรคสอง และวรรคสาม หรือไม่

ความเห็น

คดีนี่ ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางยื่นคําร้องขอให้ศาลรัฐธรรมบูญวินิจฉัยตามคําโต้แย้งของผู้ร้องทั้งสองในคดีแพ่งหมายเลขดําที่ ยชพ ๑๐๕๒/๒๕๖๓ ว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๔๔๘ ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา ๔ มาตรา ๕ มาตรา ๒๕ มาตรา ๒๖ และ มาตรา ๒๗ หรือไม่ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ผู้ร้องทั้งสองมีเพศสภาพโดยกําเนิดเป็นหญิง ยื่นคําร้องขอจดทะเบียนสมรสต่อพบักงานเจ้าหน้าที่ แต่ถูกปฏิเสธเนื่องจากเป็นบุคคลที่มีเพศกําเนิดเดียวกัน จึงไม่สามารถจดทะเบียนสมรสได้ เนื่องจากประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๔๔๘ บัญญัติให้การจดทะเบียนสมรสเป็นสิทธิของชายและหญิง บุคคลเพศเดียวกันไม่สามารถจดทะเบียนสมรสได้ ผู้ร้องทั้งสองยื่นคําร้องต่อศาลเยาวชนและครอบครัวกลางให้ศาลมีคําสั่งให้เจ้าหน้าที่รับจดทะเบียนสมรส โดยโต้แย้งว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๔๔๘ ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ทําให้ผู้ร้อง ทั้งสองเสียสิทธิอันพึงมีพึงได้จากสถานะคู่สมรส เช่น การให้ความยินยอมในการรักษา การได้รับ สวัสดิการของคู่สมรส การได้รับประโยชน์จากกรมธรรม์ หรือสิทธิในการเรียกค่าสินไหมทดแทนจากการละเมิด หรือสิทธิการรับมรดกในฐานะทายาทโดยธรรม

เห็นว่า กฎหมายเป็นเครื่องมือที่ทำให้สังคมอยู่ร่วมกันได้ด้วยความสงบสุข พื้นฐานของกฎหมาย นอกจากจะเป็นไปตามกฎแห่งธรรมชาติแล้ว ยังเป็นไปตามขนบธรรมเนียมและจารีตประเพณีของแต่ละสังคม กฎหมายจะบังคับใช้ได้อย่างยั่งยืนต้องเป็นที่ยอมรับและไม่ขัดกับความรู้สึกของคนในประเทศนั้น ๆ กฎหมายอันเป็นพื้นฐานตามธรรมชาติ เช่น การฆ่าคนตายย่อมเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายเสมอ บิดามารดาย่อมมีหน้าที่อุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ เป็นต้น เพราะเป็นพื้นฐานตามธรรมชาติของความเป็น มนุษย์ อย่างไรก็ดี ขนบธรรมเนียมและจารีตประเพณีที่แตกต่างกันของแต่ละสังคมย่อมเป็นที่มาของกฎหมายที่แตกต่างกันด้วย กฎหมายตามขนบธรรมเนียมและจารีตประเพณีในแต่ละประเทศจึงอาจต่างกันได้

หลักพื้นฐานสำคัญของการดำรงอยู่ของสังคมมนุษย์คือการอยู่ร่วมกันเพื่อการสืบเผ่าพันธุ์ของมนุษย์ หน่วยที่เล็กที่สุดของสังคมคือครอบครัว โดยธรรมชาติการเริ่มต้นของครอบครัวประกอบด้วยชายและหญิงที่จะอยู่ร่วมกันฉันสามีภรรยา ครอบครัวในความหมายตามธรรมชาติเริ่มต้นจากชายและหญิง กฎหมายตั้งแต่อดีตจึงบัญญัติให้การสมรสหมายถึงชายกับหญิงเท่านั้น กฎหมายครอบครัวเป็นบทบัญญัติที่เป็นไปตามธรรมชาติ และต้องสอดคล้องกับสภาพของขนบธรรมเนียมและจารีตประเพณีของสังคม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ ๕ เกี่ยวกับครอบครัว บัญญัติให้ชายและหญิงเท่านั้นที่มีสิทธิสมรสกันตามกฎหมาย แม้จะดูเหมือนเป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล แต่เป็นบทบัญญัติที่เป็นไปตามสภาพธรรมชาติของบุคคล และเป็นไปตามขนบธรรมเนียมและจารีตประเพณีของสังคมไทย นอกจากให้สิทธิชายและหญิงเท่านั้นที่จะสมรสกันได้ตามกฎหมายแล้ว ยังมีบทบัญญัติอื่น ๆ ที่ดูเหมือนเป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพ เช่น การกำหนดให้ชายหญิงที่จะหมั้นหรือสมรสกันต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า ๑๗ ปีบริบูรณ์ตามมาตรา ๑๔๓๕ และมาตรา ๑๔๔๘ หรัพย์สินของหมั้นและสินสอดจะมีได้แต่เฉพาะชายหมั้นหญิงตามมาตรา ๑๕๓๗ การห้ามขายหญิงที่เป็นญาติ สืบสายโลหิตสมรสกัน ตามมาตรา ๑๔๕๐ การห้ามจดทะเบียนซ้อน ตามมาตรา ๑๔๕๒ การท้ามหญิงหม้ายสมรสใหม่ภายใน ๓๑๐ วันตามมาตรา ๑๔๕๓ แท้จริงแล้ว บทบัญญัติดังกล่าวมิใช่การจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล การห้ามบุคคลที่มีอายุต่ำกว่า ๑๗ ปีหมั้นและสมรสกันเป็นความเหมาะสมของสภาพร่างกายตามธรรมชาติ ของหมั้นเป็นไปตามขนบธรรมเนียมและจารีตประเพณี การห้ามชายหญิงที่เป็นญาติสืบสายโลหิตสมรสกัน นอกจากเป็นไปตามขนบธรรมเนียมและจารีตประเพณีแล้ว ยังมีผลให้บุตรที่เกิดขึ้นอาจไม่สมบูรณ์ การห้ามหญิงหม้ายสมรสภายใน ๓๑๐ วันเพราะเป็นระยะเวลาที่อาจตั้งครรภ์กับสามีคนก่อนได้

รัฐธรรมนูญและกฎหมายบัจจุบันมิได้ห้ามบุคคลเพศเดียวกันใช้ชีวิตคู่ร่วมกันและมีเพศสัมพันธ์กัน มิได้ห้ามการจัดพิธีแต่งงาน ทรัพย์สินที่ทำมาหาได้ร่วมกันก็เป็นกรรมสิทธิ์รวม มิได้ห้ามทำประกันชีวิตระบุให้คู่ชีวิตเป็นผู้รับประโยชน์ มิได้ห้ามทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกแก่คู่ชีวิต สำหรับข้อโต้แย้งของผู้ร้องทั้งสองที่อ้างว่า ไม่ได้รับสิทธิในฐานะคู่สมรส เช่น การให้ความยินยอมในการรักษาพยาบาล การได้รับสวัสดิการของคู่สมรส การได้รับประโยชน์จากกรมธรรม์ หรือสิทธิในการเรียกค่าสินไหมทดแทนจากการละเมิด หรือสิทธิในฐานะทายาทโดยธรรมนั้น เห็นว่า สิทธิดังกล่าวมิได้เกิดจากสถานภาพการสมรสโดยตรง แต่เป็นสิทธิที่เกิดขึ้นตามที่กฎหมายบัญญัติ ปัญหาดังกล่าวจึงสามารถแก้ไขได้โดยบทบัญญัติของกฎหมายเฉพาะ ดังเช่นที่มีการยกร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิต พ.ศ. .... เพื่อให้สิทธิกับบุคคลเพศเดียวกันที่จะใช้ชีวิตร่วมกันให้มีสิทธิต่าง ๆ ดังกล่าว ชายและหญิงจึงเสมอกันในกฎหมาย มีสิทธิเท่าเทียมกัน ไม่ถูกเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๔๔๘ บัญญัติขึ้นตามธรรมชาติของมนุษย์ การดำรงอยู่ของสังคม และขนบธรรมเนียมประเพณีที่สังคมยึดถือ ไม่ขัดต่อหลักนิติธรรม ไม่เป็นการเพิ่มภาระหรือจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลเกินสมควรแก่เหตุ ไม่กระทบต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ใช้บังคับเป็นการทั่วไป ช่วยส่งเสริมความมั่นคงของรัฐและสังคม ช่วยเสริมสร้างความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน และไม่ได้ละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่น จึงไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ

ด้วยเหตุผลข้างต้น จึงเห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๔๔๘ ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๕ มาตรา ๒๖ และมาตรา ๒๗ วรรคหนึ่ง วรรคสอง และวรรคสาม

จิรนิติ หะวานนท์
(นายจิรนิติ หะวานนท์)
ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ