คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 5/2556/ส่วนที่ 6


เล่ม ๑๓๐ ตอนที่ ๗๕ ก

๓ กันยายน ๒๕๕๖
หน้า ๑๘
ราชกิจจานุเบกษา

ความเห็นในการวินิจฉัยคดีส่วนตน
ของ นายชัช ชลวร ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
คำวินิจฉัยที่ ๕/๒๕๕๖
เรื่องพิจารณาที่ ๕๗/๒๕๕๕
 
วันที่ ๑๖ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๕๖

ประเด็นวินิจฉัย

พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ มาตรา ๗๔ ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ มาตรา ๓๙ วรรคสอง หรือไม่

ความเห็น

ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยที่ ๑๒๒๕๕๕ กรณีพระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. ๒๕๔๕ มาตรา ๕๔ ซึ่งบัญญัติว่า ในกรณีที่ผู้กระทำความผิดซึ่งต้องรับโทษตามพระราชบัญญัตินี้เป็นนิติบุคคล ให้กรรมการผู้จัดการ ผู้จัดการ หรือบุคคลใดซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของนิติบุคคลนั้น ต้องรับโทษตามที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น ๆ ด้วย เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่า ตนมิได้มีส่วนในการกระทำความผิดของนิติบุคคลนั้น โดยศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า บทบัญญัติมาตรา ๕๔ ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา ๓๙ วรรคสอง เนื่องจากพระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. ๒๕๔๕ มาตรา ๕๔ เป็นข้อสันนิษฐานความรับผิดอาญาของบุคคล โดยกำหนดให้รับผิดจากสถานะของบุคคลที่มีตำแหน่งเกี่ยวข้องกับนิติบบุคล ไม่ต้องพิสูจน์ให้เห็นถึงการกระทำหรือเจตนาอย่างใดอย่างหนึ่งของกรรมการผู้จัดการ ผู้จัดการ หรือบุคคลใดซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของนิติบุคคลนั้นก่อน และเป็นการกำหนดให้รับโทษเนื่องจากการกระทำความผิดอาญาของบุคคลอื่น ซึ่งหมาถยึง นิติบุคคลที่กระทำความผิด

สำหรับประเด็นในคดีนี้ พิจารณาแล้ว พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ มาตรา ๗๔ บัญญัติว่า ในกรณีที่นิติบุคคลกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ ให้ถือว่า กรรมการหรือผู้จัดการทุกคนของนิติบุคคลนั้นเป็นผู้ร่วมกระทำความผิดกับนิติบุคคลนั้น เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่า การกระทำของนิติบุคคลนั้นได้กระทำโดยตนมิได้รู้เห็นหรือยินยอมด้วย มาตรา ๗๔ เป็นบทบัญญัติที่กำหนดให้กรรมการหรือผู้จัดการทุกคนของนิติบุคคลเป็นผู้ร่วมกระทำผิดกับนิติบุคคล เมื่อมีกรณีที่นิติบุคคลกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ ซึ่งหมายความว่า หากนิติบุคคลกระทำความผิดและรับโทษทางอาญา ให้สันนิษฐานว่า กรรมการหรือผู้จัดการทุกคนได้ร่วมกระทำผิดกับนิติบุคคลด้วย ซึ่งหมายถึง ต้องรับโทษทางอาญาเช่นเดียวกับนิติบุคคลนั้น ดังนี้ พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ มาตรา ๗๔ จึงเป็นบทบัญญัติที่กำหนดให้บุคคลต้องรับผิดทางอาญาจากการกระทำความผิดของบุคคลอื่นอันเนื่องมาจากสถานะของบุคคล โดยไม่ปรากฏว่า มีการกระทำหรือมีเจตนาร่วมกระทำความผิดกับนิติบุคคล แม้ว่าความในตอนท้ายของพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ มาตรา ๗๔ ที่บัญญัติให้กรรมการหรือผู้จัดการของนิติบุคคลไม่เป็นผู้ร่วมกระทำผิดกับนิติบุคคล หากพิสูจน์ได้ว่า ตนมิได้รู้เห็นหรือยินยอมในการกระทำของนิติบุคคลนั้นก็ตาม แต่ก็เป็นการผลักภาระการพิสูจน์โดยนำบุคคลเข้าสู่กระบวนพิจารณาทางอาญาในลักษณะของการสันนิษฐานว่า เป็นผู้มีความผิด ดังนั้น พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ มาตรา ๗๔ จึงเป็นบทบัญญัติที่มีหลักการกำหนดความรับผิดทางอาญาของบุคคลทำนองเดียวกันกับกรณีของบทบัญญัติพระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. ๒๕๔๕ มาตรา ๕๔ และเป็นบทบัญญัติที่มีการสันนิษฐานไว้ก่อนว่า กรรมการหรือผู้จัดการของนิติบุคคลมีความผิด ซึ่งขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา ๓๙ วรรคสอง

อาศัยเหตุผลดังกล่าวข้องต้น จึงเห็นว่า พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ มาตรา ๗๔ ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ มาตรา ๓๙ วรรคสอง

  • นายชัช ชลวร
  • ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ