คำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ ๖/๒๕๕๓
หน้านี้ควรจัดทำเป็นแบบพิสูจน์อักษร เนื่องจากมีต้นฉบับสแกนอยู่ที่ https://ratchakitcha2.soc.go.th/pdfdownload/?id=1867039 |
ที่ ๖/๒๕๕๓
ตามที่นายกรัฐมนตรี ได้อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๙ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๓๕ มีคำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ ๒/๒๕๔๑ ลงวันที่ ๒๒ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๑ มอบอำนาจให้ผู้ว่าราชการจังหวัดปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี เพื่อระงับการเพาะเลี้ยงกุ้งกุลาดำระบบความเค็มต่ำในพื้นที่น้ำจืดภายในเขตจังหวัด เนื่องจากการเลี้ยงกุ้งกุลาดำระบบความเค็มต่ำในพื้นที่น้ำจืด เป็นเหตุให้เกิดภาวะมลพิษ ทั้งทางน้ำและมลพิษในดิน เกิดสภาวะขาดความสมดุลตามธรรมชาติ ก่อให้เกิดผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของประชาชน และก่อให้เกิดผลเสียหายต่อทรัพย์สินของรัฐและของประชาชน โดยเฉพาะบริเวณภาคกลางอันเป็นพื้นที่ที่เหมาะสมต่อการเกษตรกรรม และเป็นอู่ข้าวอู่น้ำของประเทศ ทั้ง ๆ ที่รัฐได้ลงทุนในด้านสาธารณูปโภค สาธารณูปการต่าง ๆ ไปแล้วเป็นจำนวนมหาศาลเพื่อส่งเสริมการเพาะปลูกและการประมงน้ำจืด โดยปัจจุบันได้มีการนำสัตว์น้ำประเภทอื่นที่ต้องใช้ความเค็มในการเพาะเลี้ยงเช่นเดียวกันกับกุ้งกุลาดำมาเพาะเลี้ยงในพื้นที่ดังกล่าวแทน ซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสร้างความเสียหายต่อทรัพย์สินของรัฐและของประชาชนมิได้แตกต่างไปจากการเลี้ยงกุ้งกุลาดำ ฉะนั้น เพื่อให้การควบคุมการใช้ความเค็มในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำครอบคลุมยิ่งขึ้น จึงเห็นควรยกเลิกคำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ ๒/๒๕๔๑ ลงวันที่ ๒๒ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๑
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๙ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๓๕ อันเป็นกฎหมายที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา ๒๙ ประกอบกับมาตรา ๓๓ มาตรา ๓๘ มาตรา ๔๑ และมาตรา ๔๓ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย นายกรัฐมนตรีจึงมีคำสั่ง ดังต่อไปนี้
ข้อ ๑ ให้ยกเลิกคำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ ๒/๒๕๔๑ ลงวันที่ ๒๒ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๑ เรื่อง มอบอำนาจให้ผู้ว่าราชการจังหวัดปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี
ข้อ ๒ ในคำสั่งนี้
“สัตว์น้ำ” หมายความว่า สัตว์น้ำตามที่กำหนดนิยามไว้ตามกฎหมายว่าด้วยการประมง
ข้อ ๓ มอบอำนาจให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดมีอำนาจออกคำสั่งตามความในมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๓๕ เพื่อระงับการใช้ความเค็มในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในพื้นที่น้ำจืดในเขตกรุงเทพมหานคร และในเขตท้องที่จังหวัดนั้น ๆ แล้วแต่กรณี ซึ่งในการสั่งระงับหากกำลังอยู่ในระหว่างช่วงของการเพาะเลี้ยง ให้ดำเนินการได้ในแต่ละช่วงและจับสัตว์น้ำให้แล้วเสร็จภายใน ๑๒๐ วัน นับแต่วันที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร หรือผู้ว่าราชการจังหวัด แล้วแต่กรณี ออกคำสั่ง ทั้งนี้ ให้ยกเว้นการเลี้ยงสัตว์น้ำในโรงเพาะฟักสัตว์น้ำ บ่อเลี้ยงสัตว์น้ำของทางราชการ และสถานแสดงพันธุ์สัตว์น้ำที่มีอยู่แล้วในปัจจุบัน โดยไม่ให้มีการขยายพื้นที่เพิ่มขึ้นและต้องจัดให้มีระบบการบำบัดและควบคุมการปล่อยน้ำทิ้ง ตลอดจนมีการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพเพื่อมิให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและพื้นที่ใกล้เคียงด้วย
ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
นายกรัฐมนตรี
คำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ ๗/๒๕๕๙ เรื่อง แก้ไขคำสั่งมอบอำนาจให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และผู้ว่าราชการจังหวัดปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี
ข้อ ๒ คำสั่งนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตาม แม่แบบผิดพลาด: โปรดระบุประเภทของงานนี้ (ดูวิธีใช้) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า
- "มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
- (1)ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
- (2)รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
- (3)ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
- (4)คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
- (5)คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"