คำสั่งนายกรัฐมนตรี ให้ประหารชีวิตนายศุภชัย ศรีสติ
ด้วยเมื่อวันที่ ๒๐ มิถุนายน ศกนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งทำความพยายามสืบสวนมาช้านานได้จับกุมนายศุภชัย ศรีสติ กับพวก พร้อมด้วยเครื่องมือประกอบการร้ายมากมายหลายอย่าง การสอบสวนผู้ต้องหาซึ่งเจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่ฝ่ายตำรวจได้กระทำอย่างรอบคอบและเที่ยงธรรม และตัวข้าพเจ้าเองก็ได้มีส่วนในการสอบสวนซักถามด้วยตนเอง ปรากฏแน่ชัดปราศจากข้อสงสัยว่า นายศุภชัย ศรีสติ เป็นตัวแทนคอมมิวนิสต์อยู่ในประเทศไทย รับหน้าที่สำคัญถึงกับมีเครื่องมือพรักพร้อม ซึ่งทางคอมมิวนิสต์จัดให้มีตำแหน่งหน้าที่อยู่ในคณะบัญชาการคอมมิวนิสต์ ดำเนินการตามคำสั่งขององค์การคอมมิวนิสต์ในต่างประเทศ กระทำการร้ายเพื่อบ่อนทำลายความมั่นคงของราชอาณาจักรและราชบัลลังก์ คุกคามความสงบภายในประเทศไทย พฤติการณ์ทุกอย่างแสดงว่า เป็นการขายชาติ ซึ่งถ้าจับไม่ได้และปล่อยไว้เนิ่นนานไป อาจมีผลถึงกับเอาอำนาจภายนอกเข้ามาแทรกแซงภายในประเทศไทยได้
อาศัยอำนาจตามมาตรา ๑๗ แห่งธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร และโดยมติของคณะรัฐมนตรี จึงให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยจัดการประหารชีวิตนายศุภชัย ศรีสติ โดยเร็วที่สุด เพื่อรักษาไว้ซึ่งความมั่นคงของราชอาณาจักรและราชบัลลังก์ และเพื่อให้เป็นตัวอย่างป้องกันการกระทำที่จะเป็นภัยร้ายแรงแก่ประเทศชาติในภายหน้า
การประหารชีวิตครั้งนี้ให้ทำในบริเวณเรือนจำบางขวาง และให้กระทำอย่างไม่เปิดเผย เมื่อได้ปฏิบัติแล้วในวันใดเวลาใด ให้รีบแจ้งให้ข้าพเจ้าทราบ.
- สั่ง ณ วันที่ ๖ กรกฎาคม ๒๕๐๒
- (ลงนาม) จอมพล ส. ธนะรัชต์
- นายกรัฐมนตรี
บรรณานุกรม
แก้ไข- สภาร่างรัฐธรรมนูญ. (2502). รายงานการประชุมสภาร่างรัฐธรรมนูญ ครั้งที่ 26 วันพฤหัสบดีที่ 9 กรกฎาคม พุทธศักราช 2502. สภาร่างรัฐธรรมนูญ: พระที่นั่งอนันตสมาคม. หน้า 1147–1148.
งานนี้ ปัจจุบันเป็นสาธารณสมบัติแล้ว เพราะลิขสิทธิ์ได้หมดอายุตามมาตรา 19 และมาตรา 20 ของพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ซึ่งระบุว่า
- ถ้ารู้ตัวผู้สร้างสรรค์ ในกรณีที่ผู้สร้างสรรค์เป็นบุคคลธรรมดา
- ลิขสิทธิ์หมดอายุเมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ผู้สร้างสรรค์ถึงแก่ความตาย
- ถ้ามีผู้สร้างสรรค์ร่วม ลิขสิทธิ์หมดอายุ
- เมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ผู้สร้างสรรค์ร่วมคนสุดท้ายถึงแก่ความตาย หรือ
- เมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ได้โฆษณางานนั้นเป็นครั้งแรก ในกรณีที่ไม่เคยโฆษณางานนั้นเลยก่อนที่ผู้สร้างสรรค์ร่วมคนสุดท้ายจะถึงแก่ความตาย
- ถ้ารู้ตัวผู้สร้างสรรค์ ในกรณีที่ผู้สร้างสรรค์เป็นนิติบุคคล หรือถ้าไม่รู้ตัวผู้สร้างสรรค์
- ลิขสิทธิ์หมดอายุเมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ได้สร้างสรรค์งานนั้นขึ้น
- แต่ถ้าได้โฆษณางานนั้นในระหว่าง 50 ปีข้างต้น ลิขสิทธิ์หมดอายุเมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ได้โฆษณางานนั้นเป็นครั้งแรก