คำสั่งศาลอาญา ในคดีหมายเลขแดงที่ พศ 76/2564

(๓๑)
สำหรับศาลใช้
 
ตราครุฑ
ตราครุฑ
คำสั่ง
คดีหมายเลขดำที่ พศ ๗๖/๒๕๖๔
คดีหมายเลขแดงที่ พศ ๗๖/๒๕๖๔

ในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์
ศาลอาญา
วันที่ ๘ เดือนกุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๖๔
 
ความอาญา
กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ผู้ร้อง
ระหว่าง
นายธนากร จึงรุ่งเรืองกิจ ผู้คัดค้าน
เรื่อง ร้องขอให้ศาลมีคำสั่งระงับการทำให้แพร่หลายซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์

คดีนี้ สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ ๒๙ มกราคม ๒๕๖๔ ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ระงับการทำให้แพร่หลายซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์จำนวน ๓ URL (Uniform Resource Locator) ดังนี้ ๑. http://fb.watch/3aiaDnGJTi/ ๒. http://progressivemovement.in.th/article/3258 ๓. http://youtube/Oq7KPO5TBc8

อ้างว่า มีเนื้อหาเข้าข่ายเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร โดยเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๒ ซึ่งเป็นความผิดตามมาตรา ๑๔ (๓) แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. ๒๕๕๐ และขอให้ศาลมีคำสั่งตามมาตรา ๒๐

ศาลไต่สวนพยานผู้ร้องแล้วมีคำสั่งให้ระงับการทำให้แพร่หลายซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ตามขอ

ผู้คัดค้านยื่นคำร้อง ลงวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔ ขอให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าว อ้างว่า คำร้องของผู้ร้องไม่ชัดเจน เนื้อหาของข้อมูลคอมพิวเตอร์มิได้เป็นความผิดตามมาตรา ๑๔ (๓) แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. ๒๕๕๐ ผู้คัดค้านใช้สิทธิในการวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาล ซึ่งเป็นสิทธิในการแสดงความคิดเห็นตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และการพิจารณาของพนักงานเจ้าหน้าที่และศาลมิได้มีการให้โอกาสผู้คัดค้านที่จะโต้แย้ง อันขัดต่อหลักการฟังความทั้งสองฝ่าย

ศาลรับคำคัดค้านและเรียกไต่สวน

ทางไต่สวน ผู้คัดค้านนำสืบว่า ผู้คัดค้านเคยเป็นหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ต่อมา พรรคถูกยุบ ผู้คัดค้านก่อตั้งองค์การประชาสังคม ชื่อ คณะก้าวหน้า มีวัตถุประสงค์ในการรณรงค์ทางการเมืองในวาระที่เกี่ยวกับการสร้างประชาธิปไตยและทำงานการเมืองท้องถิ่น ซึ่งงานดังกล่าวรวมถึงการรณรงค์ในทางการสาธารณสุขด้วย ผู้คัดค้านเป็นผู้เผยแพร่ข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่ผู้ร้องขอให้ระงับการทำให้แพร่หลายทั้งสามรายการ ผู้คัดค้านแสดงข้อความดังกล่าวโดยเห็นว่า รัฐบาลบริหารการจัดหาวัคซีนให้ประชาชนไม่เหมาะสม คือ น้อยเกินไป และแผนการฉีดวัคซีนให้ประชาชนล่าช้าเกินไป ซึ่งจะก่อความเสียหายทางเศรษฐกิจ กลยุทธ์ในการจัดหาวัคซีนของรัฐบาลผูกพันไว้กับบริษัท แอสตราเซเนกา (AstraZeneca) เพียงบริษัทเดียว ครอบคลุมวัคซีนสำหรับประชากรเพียงประมาณร้อยละ ๒๐ ของประชากรทั้งประเทศ และมีวัคซีนของบริษัทอื่นเพียงประมาณร้อยละ ๒๐ ของประชากรทั้งประเทศ และมีวัคซีนของบริษัทอื่นเพียงเล็กน้อย นั้น ไม่เหมาะสม ควรกระจายความเสี่ยงไปยังผู้ผลิตวัคซีนอื่น สำหรับข้อความที่พาดพิงถึงบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ (Siam Bioscience) จำกัด ผู้รับจ้างจากบริษัท แอสตราเซเนกา นั้น ผู้คัดค้านยืนยันข้อเท็จจริงว่า บริษัทดังกล่าวมีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นผู้ถือหุ้นทั้งหมด ตามสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น เอกสารหมาย รค.๑ หากมีความผิดพลาดในการจัดหาวัคซีน อาจกระทบต่อพระเกียรติของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งควรได้รับการปกป้อง จึงไม่ควรดึงบริษัทที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวถือหุ้นดังกล่าวมาเกี่ยวข้องกับการจัดการที่มีความเสี่ยงเช่นนี้ ซึ่งนายกรัฐมนตรีต้องรับผิดชอบ

ผู้ร้องนำสืบว่า เมื่อวันที่ ๒๐ มกราคม ๒๕๖๔ นายทศพร เพ็งส้ม ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นำความไปกล่าวโทษผู้คัดค้านต่อพนักงานสอบสวน กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๒ และมาตรา ๑๔ (๓) แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. ๒๕๕๐ เนื่องจากผู้คัดค้านเผยแพร่ข้อมูลคอมพิวเตอร์นี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ข้อความตามวิดิโอคลิป วัตถุพยานหมาย วร.๑ ช่วงนาทีที่ ๑๕ และ ๒๘ ทั้งนี้ รัฐบาลมิได้ว่าจ้างบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด แต่บริษัท แอสตราเซเนกา เป็นผู้จัดจ้าง ผู้คัดค้านให้ข้อความในเชิงว่า หากผลิตวัคซีนไม่มีคุณภาพหรือล่าช้า จะต้องมุ่งความรับผิดไปที่ผู้ถือหุ้นของบริษัท ซึ่งก็คือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทั้งที่ผู้รับผิดควรเป็นนิติบุคคล ภายหลังการเผยแพร่ข้อมูลคอมพิวเตอร์ของผู้คัดค้าน ส่งผลกระทบให้เกิดการแสดงความคิดเห็นในโลกโซเชียล ตามเอกสารหมาย ร.๓

พิเคราะห์แล้ว คดีมีข้อพิจารณาประการแรกว่า มีเหตุให้รับคำคัดค้านไว้พิจารณาหรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. ๒๕๕๐ มาตรา ๒๐ วรรคหนึ่ง บัญญัติให้อำนาจพนักงานเจ้าหน้าที่ โดยความเห็นชอบจากรัฐมนตรี ยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อให้มีคำสั่งระงับการทำให้แพร่หลายหรือลบข้อมูลคอมพิวเตอร์ได้ และมาตรา ๒๐ วรรคสี่ บัญญัติให้นำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาใช้แก่การพิจารณาคำร้องดังกล่าวโดยอนุโลม เห็นว่า เมื่อพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. ๒๕๕๐ ไม่ได้มีถ้อยคำที่แสดงให้เห็นว่า จะต้องนำบทบัญญัติส่วนใดในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาใช้ การที่ศาลจะนำกระบวนการไต่สวนฝ่ายเดียวทำนองเดียวกับการพิจารณาคำขอหมายค้นและหมายจับของเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๕๙ และบทมาตราอื่นที่เกี่ยวข้อง มาใช้บังคับ ไม่สอดคล้องกับเรื่องนี้ เพราะกระบวนพิจารณาในชั้นขอหมายค้นและหมายจับเป็นบทบัญญัติที่ให้อำนาจศาลเข้าไปควบคุมกระบวนการในชั้นสอบสวนของเจ้าพนักงาน ซึ่งตามกระบวนการ เมื่อมีการดำเนินการค้นและจับแล้ว คดีจะต้องเข้าสู่การพิจารณาของศาลอีก ซึ่งศาลย่อมมีโอกาสในการตรวจสอบความถูกต้องแท้จริงต่อไป อีกทั้งโดยสภาพของการค้นและจับ เป็นงานที่จะต้องกระทำโดยฉับไวเพื่อให้บรรลุผลในการปราบปรามอาชญากรรม แต่การออกคำสั่งระงับการทำให้แพร่หลายหรือลบข้อมูลคอมพิวเตอร์มีลักษณะเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพของบุคคลโดยชัดแจ้งและถาวร เมื่อสิ้นสุดกระบวนการแล้ว ไม่มีโอกาสให้ผู้ใดได้โต้แย้งอีกต่อไป การอนุโลมใช้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาที่ถูกต้องแก่คำร้องเช่นนี้ สมควรที่จะรับพิจารณาเสมือนหนึ่งเป็นคดีอาญาคดีหนึ่ง ซึ่งต้องให้โอกาสคู่ความทุกฝ่ายได้ต่อสู้คดีเท่าที่จะเป็นไปได้ ทั้งนี้ การให้โอกาสดังกล่าวยังเป็นหลักการสำคัญสำหรับการทำงานขององค์กรตุลาการตามหลักนิติธรรม ดังนั้น สำหรับคดีนี้ ผู้ร้องได้ยื่นคำร้องต่อศาลในวันที่ ๒๙ มกราคม ๒๕๖๔ และศาลไต่สวนพยานผู้ร้องฝ่ายเดียวแล้วมีคำสั่งในทันที เป็นกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบ จึงมีเหตุให้รับคำคัดค้านของผู้คัดค้านไว้เพื่อพิจารณา

ประเด็นที่จะต้องพิจารณาต่อไปมีว่า มีเหตุสมควรระงับการเผยแพร่ข้อมูลคอมพิวเตอร์เรื่องนี้หรือไม่ คดีนี้ ผู้ร้องอ้างว่า เนื้อความที่เผยแพร่เข้าข่ายเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๒ ซึ่งเป็นความผิดตามมาตรา ๑๔ (๓) แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. ๒๕๕๐ เป็นเหตุให้ผู้ร้องขอให้ระงับการเผยแพร่ข้อมูลคอมพิวเตอร์ตามมาตรา ๒๐ แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. ๒๕๕๐ เห็นว่า ความตามคำร้องนี้อาจเป็นได้ทั้งกรณีตามมาตรา ๒๐ (๑) หรือมาตรา ๒๐ (๒) ซึ่งมีหลักการที่แตกต่างกัน กรณีตามอนุมาตรา ๑ ซึ่งเชื่อมโยงไปยังมาตรา ๑๔ (๓) นั้น เมื่ออ่านถ้อยคำในมาตรา ๑๔ (๓) ซึ่งกำหนดความผิดสำหรับการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรหรือความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญานั้น เห็นว่า ถ้อยคำที่ว่า “อันเป็นความผิด” แสดงว่า กฎหมายประสงค์จะลงโทษผู้ที่นำข้อมูลซึ่งได้มีการวินิจฉัยโดยชัดแจ้งแล้วว่าเป็นความผิดเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ทั้งนี้ เจตนารมณ์ของกฎหมายเพื่อมิให้ความผิดตามมาตรา ๑๔ (๓) นี้ซ้ำซ้อนกับความผิดประมวลกฎหมายอาญาที่มีโทษสูงกว่าอยู่แล้ว ดังนั้น เมื่อยังไม่มีการฟ้องเกี่ยวกับข้อมูลคอมพิวเตอร์ตามคำร้องนี้ให้รับผิดตามประมวลกฎหมายอาญา จึงไม่มีกรณีต้องวินิจฉัยตามมาตรา ๑๔ (๓) และไม่เข้าเหตุตามมาตรา ๒๐ (๑)

มีข้อพิจารณาต่อไปว่า กรณีตามคำร้องจะเข้าเหตุตามมาตรา ๒๐ (๒) หรือไม่ ซึ่งตามอนุมาตรานี้ให้อำนาจศาลระงับการทำให้แพร่หลายซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่อาจกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงตามประมวลกฎหมายอาญา ภาค ๒ ลักษณะ ๑ และลักษณะ ๑/๑ คำว่า “อาจ” แสดงว่า การห้ามตามมาตรานี้มีลักษณะคล้ายมาตรการเพื่อความปลอดภัยซึ่งกำหนดขึ้นเพื่อรักษาความปลอดภัยสาธารณะเท่านั้น แม้ถ้อยคำของกฎหมายจะอ้างอิงไปถึงประมวลกฎหมายอาญา แต่ในชั้นนี้ กฎหมายมีเจตนารมณ์ที่จะแยกเป็นคนละเรื่องกับการพิจารณาความรับผิดของบุคคลตามประมวลกฎหมายอาญา เพราะในการพิจารณาความรับผิดทางอาญาของบุคคล จะต้องมีการพิจารณาองค์ประกอบภายใน เช่น เจตนา สำคัญผิด รวมทั้งเหตุยกเว้นความผิด และเหตุยกเว้นโทษ ซึ่งไม่ข้อที่จะพิจารณาในชั้นนี้ อีกทั้งการพิจารณาคดีที่มีผลจะลงโทษทางอาญาแก่ผู้ใด กฎหมายกำหนดหลักเกณฑ์ไว้เพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้ต้องหาและจำเลยหลายประการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาและกฎหมายอื่น ซึ่งในชั้นนี้ไม่ต้องดำเนินการถึงขนาดนั้น สำหรับการพิจารณาในชั้นนี้ ศาลพิจารณาเฉพาะตัวข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่ปรากฎ ว่า เฉพาะข้อมูลนั้น ว่า อาจกระทบต่อความมั่นคงอันสืบเนื่องจากความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาหรือไม่ การวินิจฉัยคดีนี้จึงไม่เป็นการวินิจฉัยว่า ผู้ใดจะต้องรับผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๒ หรือไม่ ซึ่งเป็นเรื่องที่เจ้าพนักงานที่เกี่ยวข้องและศาลที่มีเขตอำนาจจักได้พิจารณาต่างหากไป และเมื่อมีคำพิพากษาให้บุคคลรับผิดทางอาญาแล้ว จึงมีผลให้ศาลอาจสั่งระงับการทำให้ข้อมูลคอมพิวเตอร์ตามมาตรา ๒๐ (๑) ประกอบมาตรา ๑๔ (๓) ต่อไป

คดีมีข้อพิจารณาต่อไปว่า คำว่า อาจกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรตามประมวลกฎหมายอาญา ภาค ๒ ลักษณะ ๑ หรือลักษณะ ๑/๑ นี้ ตามความในพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. ๒๕๕๐ มาตรา ๒๐ (๒) มีความหมายเพียงไร ซึ่งในการนี้ สมควรต้องแปลโดยพิจารณากรอบของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยด้วย ซึ่งในกรณีนี้ได้แก่ มาตรา ๓๔ วรรคหนึ่ง ซึ่งบัญญัติว่า “บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น การจำกัดเสรีภาพดังกล่าวจะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ตราขึ้นเฉพาะเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ เพื่อคุ้มครองสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่น เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อป้องกันสุขภาพของประชาชน” การที่รัฐธรรมนูญรับรองสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเช่นนี้ ย่อมมีความหมายว่า การห้ามหรือระงับการแพร่หลายซึ่งข้อมูลเป็นข้อยกเว้น ในขณะที่การเผยแพร่ข้อมูลโดยเสรีเป็นหลัก ในการนี้ ควรพิจารณาว่า สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเป็นสาระสำคัญของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยซึ่งเป็นระบอบการปกครองที่ยอมรับความหลากหลายและอดทนอดกลั้นต่อความเห็นต่าง สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นนี้จึงถือเป็นสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานที่ต้องได้รับความคุ้มครองโดยเคร่งครัด ทั้งนี้ ตามหลักสากลของการปกครองในระบบประชาธิปไตยที่มีนิติรัฐและมีพันธกรณีในการปกป้องสิทธิมนุษยชนตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติและกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองซึ่งประเทศไทยรับรองและเป็นภาคี ดังนั้น การจำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นจะกระทำได้เมื่อมีความจำเป็นอย่างยิ่งยวดและเร่งด่วนเพื่อคุ้มครองประโยชน์อันชอบธรรมของรัฐ และการจำกัดสิทธิเสรีภาพต้องได้สัดส่วนกับความจำเป็น โดยต้องใช้มาตรการที่เป็นภาระน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ของรัฐดังกล่าว การตีความคำว่า “อาจกระทบต่อความมั่นคงตามประมวลกฎหมายอาญา” ตามมาตรา ๒๐ (๒) ของพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. ๒๕๕๐ ตามหลักการของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยข้างต้น จึงต้องตีความอย่างเคร่งครัดและเป็นภาวะวิสัย

สำหรับข้อมูลคอมพิวเตอร์ตามคำร้องและที่ปรากฏตามวัตถุพยานหมาย วร.๑ มีความยาวประมาณ ๓๐ นาที ผู้คัดค้านนำเสนอเรื่องการจัดการวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ เนื้อความระบุว่า รัฐบาลประมาท ไม่เร่งรีบจัดหา ทำให้การจัดหารล่าช้า จัดหาน้อยเกินไป เพราะรัฐบาลมุ่งแสวงหาความนิยมมากเกินไป ผู้คัดค้านเปรียบเทียบการจัดหาวัคซีนของประเทศมาเลเซีย ไต้หวัน และฟิลิปปินส์ ซึ่งมีการเร่งจัดหาวัคซีนได้รวดเร็วกว่า จัดหาหลากหลายผู้ผลิตและครอบคลุมสัดส่วนของประชากรมากกว่า ขณะที่รัฐบาลฝากความหวังไว้กับบริษัทเดียว ต่างจากประเทศอื่น ผู้คัดค้านนำเสนอตัวเลือกวัคซีนจากผู้ผลิตอื่น แล้วนำเสนอโครงสร้างการบริหารจัดหาวัคซีนของรัฐ มีการกล่าวถึงบริษัท ซิโนแวค และการถือหุ้นบางส่วนของบริษัท ซีพี จำกัด กล่าวถึงวัคซีนของบริษัท แอสตราเซเนกา ซึ่งว่าจ้างบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด ผลิต ระบุว่า ว่า บริษัทดังกล่าวมีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นผู้ถือหุ้นทั้งหมด บรรยายประวัติการประกอบธุรกิจของบริษัทและบริษัทในเครือ กล่าวถึงลำดับแผนการเข้าถึงวัคซีน แสดงลำดับความก้าวหน้าในการทำงานของรัฐบาล โดยระบุว่า รัฐบาลไม่พยายามจะจัดหาวัคซีนให้ครอบคลุมประชากรให้มากกว่าร้อยละ ๒๑.๕ กล่าวหาว่า รัฐบาลมุ่งผลทางการเมืองมากกว่าดูแลประชาชน กล่าวว่า บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด ไม่อยู่ในแผนความมั่นคงด้านวัคซีนแห่งชาติ และกล่าวถึงองค์กรอื่นที่มีศักยภาพ รัฐบาลฝากความหวังไว้กับบริษัท แอสตราเซเนกา และบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด มากเกินไป ก่อนจะสรุปว่า หากเกิดความผิดพลาด นายกรัฐมนตรีจะรับผิดชอบไหวหรือไม่ เพราะประชาชนจะตั้งคำถามกับบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด ซึ่งมีผู้ถือหุ้น คือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เห็นว่า การพิจารณาว่า ข้อความใดจะเป็นข้อความที่อาจเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๒ จะต้องพิจารณาจากข้อความทั้งหมด มิใช่พิจารณาเฉพาะตอนหนึ่งตอนใด ดังจะเห็นจากข้อความที่ผู้คัดค้านนำเสนอนั้น เนื้อหาเกือบทั้งหมดมุ่งเน้นในเรื่องการกล่าวหารัฐบาลว่า บกพร่องในการจัดหาวัคซีน โดยมีการนำข้อมูลหลายอย่างมาสนับสนุน ซึ่งมีการบรรยายถึงบริษัทที่เกี่ยวข้องหลายบริษัท รวมทั้งกล่าวถึงผู้ถือหุ้นของบริษัทนั้นด้วย ข้อมูลที่เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ที่ระบุเกี่ยวกับการถือหุ้นเป็นเพียงข้อมูลส่วนน้อยและไม่ใช่ประเด็นหลักของการนำเสนอ เมื่อพิจารณาถึงข้อความที่กล่าวถึงพระมหากษัตริย์โดยเฉพาะเจาะจงตามที่ปรากฏในวัตถุพยานหมาย วร.๑ สองช่วงสั้น ๆ คือ ในนาทีที่ ๑๕.๐๕ และนาทีที่ ๒๘.๑๐ นั้น ในส่วนแรกเป็นการกล่าวถึงพระบาทสเมด็จพระเจ้าอยู่หัวว่า เป็นผู้ถือหุ้นทั้งหมดของบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด ซึ่งข้อความนี้ ผู้คัดค้านนำสืบบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น เอกสารหมาย รค.๑ ซึ่งเป็นเอกสารราชการ และผู้ร้องไม่ไดคัดค้าน จึงฟังว่า เป็นความจริง ข้อเท็จจริงเพียงว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวถือหุ้นบริษัทดังกล่าว มิได้ทำให้พระองค์เสื่อมเสีย ถูกดูหมิ่นหรือเกลียดชัง หรือไม่เป็นที่เคารพสักการะแต่อย่างใด สำหรับในส่วนที่สองซึ่งระบุว่า “ทั้งหมดมันนำมาซึ่งคำถามสุดท้ายว่า ผู้ถือหุ้นของสยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด คือ ในหลวงรัชกาลที่ ๑๐ ถือหุ้นโดยตรง คุณประยุทธ์ ในฐานะนายกรัฐมนตรี อนุมัติดีลอย่างนี้ขึ้น ถ้าดีลอย่างนี้มีอะไรผิดพลาด คุณประยุทธ์จะสามารถรับผิดชอบได้หรือไม่ ถ้าเกิดวัคซีนผลิตได้ช้ากว่ากำหนดเวลา ถ้าเกิดว่า การผลิตวัคซีนมีปัญหาในการแจกจ่ายกับประชาชนอย่างไม่เป็นธรรม ถ้าเถิดว่า ประชาชนเกิดอาการแพ้วัคซีนหรือวัคซีนมีประสิทธิภาพไม่ได้ตามเป้าหมาย คุณประยุทธ์จะรับผิดชอบไหวหรือไม่ เพราะประชาชนจะตั้งคำถามกับบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด ซึ่งมีผู้ถือหุ้นคือในหลวงรัชกาลที่ ๑๐” เห็นว่า ข้อความนี้ไม่อาจแปลความตามลำพังแยกขาดจากเนื้อความส่วนใหญ่ได้ ซึ่งส่วนนี้เป็นส่วนเสริมจากข้อมูลส่วนใหญ่ของการนำเสนอที่กล่าวหารัฐบาลว่า ผิดพลาดในการให้วัคซีนเกือบทั้งหมดถูกผลิตในบริษัทเดียว การกล่าวอ้างถึงคำถามต่อประชาชนต่อสยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด ซึ่งอาจกระทบต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนั้น ไม่ได้มีลักษณะเป็นการชักชวนให้ประชาชนกล่าวโทษพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แต่โดยลักษณะของข้อความที่สืบเนื่องกันมามีลักษณะเป็นการกล่าวหาว่า การกระทำของรัฐบาลจะกระทบถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อให้คนฟังรู้สึกว่า ความบกพร่องของรัฐบาลเป็นเรื่องร้ายแรง ด้วยลักษณะของการนำพระมหากษัตริย์มาอ้างเพื่อให้รัฐบาลรับผิดชอบมากขึ้น จึงไม่ได้มีการกล่าวถึงกรรมการผู้จัดการของบริษัท เพราะไม่ได้มุ่งเน้นความรับผิดชอบของบริษัทแต่อย่างใด ทั้งนี้ ดังที่กล่าวไว้แล้ว การแปลความข้อความที่กล่าวว่า อาจกระทบต่อความมั่นคง อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๒ จนเป็นเหตุให้ระงับการแพร่หลายซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์นี้ เป็นการแปลความในเชิงภาวะวิสัย กล่าวคือ ตามความหมายเท่าที่ปรากฎตามตัวอักษรทั้งหมด ไม่พึงนำข้อมูลเฉพาะตัวของผู้คัดค้านซึ่งรวมถึงประวัติหรือแนวทางการเมืองมาพิจารณา เพราะคดีนี้มิใช่การพิจารณาความผิดของผู้คัดค้าน และจักต้องพิจารณาอย่างเคร่งครัด คือ ข้อความที่สมควรถูกห้ามนั้นต้องมีความชัดแจ้งที่จะเป็นความผิด ซึ่งเมื่อพิจารณาแต่เฉพาะถ้อยคำตามตัวอักษร ข้อความที่ผู้คัดค้านกล่าวสืบเนื่องมาทั้งหมดของเรื่องนี้ยังไม่สามารถเห็นได้อย่างกระจ่างชัดเจนว่า จะทำให้ผู้ฟังรู้สึกดูหมิ่น เกลียดชัง องค์พระมหากษัตริย์แต่อย่างใด นอกจากนี้ ในส่วนการนำเสนอของผู้คัดค้านตามพยานวัตถุหมาย รค.๑ ยังมีข้อความหัวเรื่องว่า “วัคซีนพระราชทาน ใครได้ ใครเสีย” ซึ่งอาจเป็นเนื้อความประกอบนั้น ในเรื่องนี้ ผู้คัดค้านอ้างว่า เป็นคำพูดที่นายกรัฐมนตรีเคยพูดทำนองนี้ และหน่วยงานของรัฐบาลเคยใช้คำนี้ ซึ่งข้อเท็จจริงในส่วนนี้ ผู้ร้องมิได้โต้แย้งข้อเท็จจริง จึงฟังข้อเท็จจริงได้ตามที่ผู้คัดค้านนำสืบ ทั้งนี้ แม้ว่าถ้อยคำอาจไม่ตรงกันทั้งหมด แต่น่าจะแสดงว่า ก่อนหน้านี้ ทางรัฐบาลได้มีการใช้ถ้อยคำที่แสดงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวประกอบการจัดหาวัดซีนแล้วตาม วร.๒, ร.๔ การที่ผู้คัดค้านนำข้อความดังกล่าวมานำเสนอ จึงมิใช่ความเท็จ และลำพังข้อความดังกล่าว หากมิใช่ความเท็จ ก็ไม่ทำให้เกิดความเสื่อมเสียต่อพระองค์ จึงไม่ใช่การใส่ความ

เมื่อพิจารณาข้อความทั้งหมดแล้ว แม้ว่าผู้คัดค้านจะบรรยายว่า องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด แต่ก็มิได้มีข้อความใดที่แสดงให้เห็นชัดเจนเป็นการกล่าวหา หรือตำหนิติเตียน หรือกล่าวให้สงสัยในความสุจริตต่อพระองค์ไม่ว่าในทางใด ๆ จึงไม่มีลักษณะชัดเจนและเห็นได้ในทางภาวะวิสัยที่แสดงว่า ข้อความนี้อาจมีผลกระทบต่อความมั่นคงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๒ อันจะเป็นเหตุให้ศาลสั่งระงับการทำให้แพร่หลายซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์แต่อย่างใด

อาศัยอำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๕ ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตร ๒๗ วรรคหนึ่ง ให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาตั้งแต่การไต่สวนและมีคำสั่งของศาล ซึ่งย่อมมีผลให้คำสั่งศาลในวันที่ ๒๙ มกราคม ๒๕๖๔ เป็นอันสิ้นผล และมีคำสั่งยกคำร้อง

นายมุขเมธิน กลั่นนุรักษ์

นายสันทัศน์ นิภาวงศ์

บรรณานุกรม

แก้ไข
  • ศาลอาญา. (2564, 8 กุมภาพันธ์). คำสั่งศาลอาญา ในคดีหมายเลขแดงที่ พศ 76/2564 ความอาญา ระหว่าง กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ผู้ร้อง นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ผู้คัดค้าน เรื่อง ร้องขอให้ศาลมีคำสั่งระงับการทำให้แพร่หลายซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์. สืบค้นจาก https://www.facebook.com/ThailandProgressiveMovement/posts/303674151268854
 

งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตามมาตรา 7 (4) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า

"มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
(1)ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
(2)รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
(3)ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
(4)คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
(5)คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"