คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 21/2561
ตามที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติได้มีความเห็นและข้อเสนอแนะมายังคณะรักษาความสงบแห่งชาติเกี่ยวกับประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เรื่อง กำหนดตำแหน่งของผู้มีหน้าที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินตามมาตรา ๑๐๒ พ.ศ. ๒๕๖๑ ที่กำหนดให้กรรมการและผู้บริหารสูงสุดของหน่วยงานอื่นของรัฐทุกแห่งต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. โดยเฉพาะการกำหนดตำแหน่งตามมาตรา ๑๐๒ (๗) ผู้ดำรงตาแหน่งระดับสูง ซึ่งได้มีการนิยามความหมายไว้ในมาตรา ๔ ให้ ผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูง หมายความรวมถึง กรรมการและผู้บริหารสูงสุดของหน่วยงานอื่นของรัฐ จึงส่งผลให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ไม่สามารถใช้ดุลพินิจกำหนดตำแหน่งเฉพาะหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งให้เป็นผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงได้ แต่เนื่องจากการที่ประกาศดังกล่าวกำหนดให้กรรมการและผู้บริหารสูงสุดในหน่วยงานอื่นของรัฐทุกแห่งต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ส่งผลให้การบริหารจัดการภายในหน่วยงานบางแห่งประสบปัญหา ดังนั้น เพื่อให้การตรวจสอบทรัพย์สินและหนี้สิน รวมถึงการป้องกันการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวม เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพตามหลักธรรมาภิบาล และเป็นไปตามหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ซึ่งควรให้เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติในการพิจารณาใช้ดุลยพินิจกำหนดตำแหน่งซึ่งมีหน้าที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ จึงจำเป็นต้องมีการปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๖๑ เพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายเป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญอันเป็นส่วนสำคัญของการปฏิรูปประเทศด้านกฎหมาย
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๒๖๕ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ประกอบกับมาตรา ๔๔ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๕๗ หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ โดยความเห็นชอบของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ จึงมีคำสั่ง ดังต่อไปนี้
ข้อ๑ให้ยกเลิกความในบทนิยามคำว่า "ผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูง" ในมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๖๑ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
""ผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูง" หมายความว่า ผู้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าส่วนราชการระดับกระทรวง ทบวง กรม หรือส่วนราชการที่มีฐานะเป็นนิติบุคคล ซึ่งมิใช่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองสำหรับข้าราชการพลเรือน และปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการเหล่าทัพ สำหรับข้าราชการทหาร และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และให้หมายความรวมถึง ผู้ว่าราชการจังหวัด ปลัดกรุงเทพมหานคร กรรมการและผู้บริหารสูงสุดของรัฐวิสาหกิจ หัวหน้าหน่วยงานขององค์การอิสระตามรัฐธรรมนูญ แต่ไม่รวมถึง ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ผู้ดำรงตำแหน่งอื่นตามที่กฎหมายกำหนด ผู้บริหารสูงสุดของหน่วยงานอื่นของรัฐตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนด หรือผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งเทียบเท่าตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนด"
ข้อ๒ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นวรรคสองของมาตรา ๘ แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๖๑
"ในกรณีที่มีปัญหาการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีอำนาจในการตีความและวินิจฉัย ทั้งนี้ มติในการวินิจฉัยของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ต้องมีคะแนนเสียง ไม่น้อยกว่าสองในสามของกรรมการทั้งหมดเท่าที่มีอยู่"
ข้อ๓ให้ยกเลิกข้อ ๕ แห่งประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เรื่อง กำหนดตำแหน่งของผู้มีหน้าที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินตามมาตรา ๑๐๒ พ.ศ. ๒๕๖๑
ข้อ๔เพื่อประโยชน์ของการกำหนดตำแหน่งของผู้มีหน้าที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน ให้สำนักงาน ป.ป.ช. เร่งดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติเสียใหม่ให้ถูกต้องและสอดคล้องกับพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๖๑ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งนี้ เสนอต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อประกาศใช้ต่อไป
ข้อ๕ในกรณีที่เห็นสมควร นายกรัฐมนตรีอาจเสนอให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติแก้ไขเปลี่ยนแปลงคำสั่งนี้ได้
ข้อ๖คำสั่งนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
- สั่ง ณ วันที่ ๑๑ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๖๑
- พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
- หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ
บรรณานุกรม
แก้ไข- "คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 21/2561 เรื่อง การแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามทุจริต ลงวันที่ 11 ธันวาคม 2561". (2561, 11 ธันวาคม). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 135, ตอน พิเศษ 314 ง. หน้า 42–43.
งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตาม แม่แบบผิดพลาด: โปรดระบุประเภทของงานนี้ (ดูวิธีใช้) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า
- "มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
- (1)ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
- (2)รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
- (3)ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
- (4)คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
- (5)คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"