คำแถลงการณ์ เรื่อง การปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติกฎอัยยการศึกฯ พุทธศักราช 2487
ตามที่ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศใช้กฎอัยยการศึกทั่วราชอาณาจักร์ตั้งแต่วันที่ ๑๐ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๘๔ แล้วนั้น รัฐบาลปัจจุบันมาพิจารณาเห็นว่า การใช้กฎอัยยการศึกเป็นการบั่นทอนเสรีภาพของราษฎรซึ่งมีอยู่โดยปกติลงไปหลายประการ เพราะในระบอบการใช้กฎอัยยการศึก เจ้าหน้าที่ทั้งฝ่ายทหารและพลเรือนย่อมมีอำนาจเหนือราษฎรยิ่งกว่าในยามปกติเป็นอันมาก แต่ในขณะเดียวกัน ความจำเป็นแห่งสถานะสงครามก็บังคับให้รัฐบาลจำต้องใช้กฎอัยยการศึกต่อไปเพื่อประโยชน์ในการรักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชนและความมั่นคงของชาติ เมื่อประโยชน์ของรัฐและของราษฎรขัดกันอยู่เช่นนี้ รัฐบาลจึงได้เลือกดำเนินการเป็นสายกลาง คือ ยังคงให้ใช้กฎอัยยการศึกต่อไปทั่วประเทศ แต่ได้หาทางผ่อนผันความเข้มงวดแห่งกฎอัยยการศึกนั้นลง เพื่อให้ราษฎรได้รับความเดือดร้อนน้อยที่สุดที่อาจเป็นไปได้ จึงได้ดำเนินการปรับปรุงพระราชบัญญัติกฎอัยยการศึกและธรรมนูญศาลทหารเสียใหม่ ซึ่งได้รับความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร ดังปรากฏเป็นรูปพระราชบัญญัติกฎอัยยการศึก พุทธศักราช ๒๔๕๗ (ฉะบับที่ ๓) พุทธศักราช ๒๔๘๗ และพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พุทธศักราช ๒๔๗๗ (ฉะบับที่ ๒) พุทธศักราช ๒๔๘๗ ซึ่งได้ประกาศใช้เป็นกฎหมายไปนั้นแล้ว
การปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติกฎอัยยการศึกและพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหารครั้งนี้ มีหลักการใหญ่อยู่สองประการ คือ (๑) ให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารมีอำนาจเหนือเจ้าหน้าที่ฝ่ายพลเรือนฉะเพาะในการรักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชน ไม่ใช่ให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารมีอำนาจเหนือเจ้าหน้าที่ฝ่ายพลเรือนทุกตำแหน่งทุกกระทรวงดังที่เคยเป็นอยู่แต่ก่อน และ (๒) แก้ไขให้ศาลพลเรือนมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีอาญาต่อไปโดยปกติแม้ในเขตต์ที่ประกาศใช้กฎอัยยการศึก และให้ศาลทหารมีอำนาจพิจารณาพิพากษาพิพากษาคดีอาญาฉะเพาะที่มีผู้กระทำความผิดฐานประทุษร้ายต่อความมั่นคงของราชอาณาจักร์ ขัดขวางทางดำเนินการของราชการทหารในการป้องกันประเทศ หรือทำลายความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองในยามสงครามเท่านั้น ผลจึงเป็นว่า คดีอาญาประเภทอื่นนอกจากที่กล่าวนี้ ให้ศาลพลเรือนเป็นผู้พิจารณาพิพากษา แทนที่จะให้ศาลทหารเป็นผู้พิจารณาพิพากษาดังที่เคยเป็นมาแต่เดิม การที่คดีอาญาจะได้รับการพิจารณาพิพากษาในศาลทหารหรือพลเรือนนั้น มีผลแตกต่างกันตั้งแต่แรกดำเนินคดีจนถึงคดีถึงที่สุด ถ้าเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจศาลพลเรือน การจับกุมและสอบสวนผู้ต้องหาโดยเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และกำหนดเวลาที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งมีหลักประกันในเสรีภาพของผู้ต้องหาเป็นอย่างดี แต่ถ้าคดีอยู่ในอำนาจศาลทหารแล้ว ตามวิธีการของกฎอัยยการศึก เจ้าหน้าที่ผู้ดำเนินการสอบสวนอาจขังผู้ต้องหาไว้ก่อนฟ้องศาลเป็นเวลานาน นอกจากนั้น ราษฎรผู้เป็นเจ้าทุกข์ไม่มีโอกาสนำคดีขึ้นฟ้องร้องยังศาลโดยตนเองได้ ต้องมอบคดีให้เจ้าพนักงานเป็นผู้ฟ้องร้อง ในชั้นพิจารณา จำเลยก็ไม่มีสิทธิแต่งทนายความเข้าช่วยแก้คดี และเมื่อศาลทหารตัดสินไปประการใดแล้ว คดีย่อมเสร็จเด็ดขาดไม่มีทางที่จะอุทธรณ์ฎีกาต่อไปได้ ซึ่งต่างกับคดีที่อยู่ในอำนาจศาลพลเรือนดังนี้
เมื่อได้ปรับปรุงแก้ไขกฎหมายว่าด้วยอำนาจศาลในยามสงครามดังว่านี้แล้ว ยังได้มีประกาศพระบรมราชโองการให้จัดแบ่งพื้นที่แห่งราชอาณาจักร์เกี่ยวแก่การศาลออกเป็น ๓ เขตต์ ในเขตต์ (๑) ซึ่งเป็นเขตต์สำคัญอันทางราชการทหารต้องระวังระไวมาก ได้ระบุประเภทคดีที่พลเมืองต้องอยู่ในอำนาจศาลทหารมากกว่าในเขตต์อื่น แต่ก็ยังน้อยกว่าจำนวนประเภทคดีที่เคยอยู่ในอำนาจศาลทหารมาแต่เดิม ในเขตต์ (๒) ได้ลดจำนวนประเภทคดีที่พลเมืองจะต้องอยู่ในอำนาจศาลทหารลงมาอีกชั้นหนึ่ง ส่วนในเขตต์ (๓) พลเมืองจะไม่ต้องอยู่ในอำนาจศาลทหารเลย ดังนี้ จึงเห็นได้ว่า รัฐบาลได้ให้หลักประกันในเสรีภาพแห่งชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สิน ของประชาชนในยามฉุกเฉินนี้อย่างมากที่สุดที่จะให้ได้ เป็นการช่วยปลดเปลื้องความเดือดร้อนของประชาชนซึ่งถูกกล่าวหาในคดีอาญาไปส่วนหนึ่ง ตรงตามนโยบายที่รัฐบาลคณะนี้ได้แถลงไว้ต่อสภาผู้แทนราษฎรเมื่อเข้ารับตำแหน่ง การให้หลักประกันแห่งเสรีภาพดังกล่าวแล้วนี้ ประดุจเป็นของขวัญอันดีที่รัฐบาลจะพึงให้แก่ประชาชนได้ในวาระดิถีแห่งวันขึ้นปีใหม่นี้ จึงหวังว่า จะเห็นเจตนาดีของรัฐบาลโดยทั่วกัน
บรรณานุกรม
แก้ไข- "คำแถลงการณ์ เรื่อง การปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติกฎอัยยการศึกและธรรมนูญศาลทหาร พุทธศักราช 2487". (2487, 31 ธันวาคม). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 61, ตอน 79 ก. หน้า 1256–1260.
งานนี้ ปัจจุบันเป็นสาธารณสมบัติแล้ว เพราะลิขสิทธิ์ได้หมดอายุตามมาตรา 19 และมาตรา 20 ของพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ซึ่งระบุว่า
- ถ้ารู้ตัวผู้สร้างสรรค์ ในกรณีที่ผู้สร้างสรรค์เป็นบุคคลธรรมดา
- ลิขสิทธิ์หมดอายุเมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ผู้สร้างสรรค์ถึงแก่ความตาย
- ถ้ามีผู้สร้างสรรค์ร่วม ลิขสิทธิ์หมดอายุ
- เมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ผู้สร้างสรรค์ร่วมคนสุดท้ายถึงแก่ความตาย หรือ
- เมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ได้โฆษณางานนั้นเป็นครั้งแรก ในกรณีที่ไม่เคยโฆษณางานนั้นเลยก่อนที่ผู้สร้างสรรค์ร่วมคนสุดท้ายจะถึงแก่ความตาย
- ถ้ารู้ตัวผู้สร้างสรรค์ ในกรณีที่ผู้สร้างสรรค์เป็นนิติบุคคล หรือถ้าไม่รู้ตัวผู้สร้างสรรค์
- ลิขสิทธิ์หมดอายุเมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ได้สร้างสรรค์งานนั้นขึ้น
- แต่ถ้าได้โฆษณางานนั้นในระหว่าง 50 ปีข้างต้น ลิขสิทธิ์หมดอายุเมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ได้โฆษณางานนั้นเป็นครั้งแรก