คำแนะนำในการเลือกตั้งผู้แทนราษฎร
- ก่อนที่ท่านจะไปทำการเลือกตั้ง
- ผู้แทนของท่าน โปรดอ่าน
- คำแนะนำในสมุดเล่มนี้
เนื่องจากที่ได้มีพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พุทธศักราช ๒๔๘๑ และรัฐบาลได้ประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาให้ดำเนินการเลือกตั้งผู้แทนราษฎรใหม่ ซึ่งทางราชการได้กำหนดให้กระทำการเลือกตั้งพร้อมกันทั่วทั้งประเทศสยามในวันเสาร์ที่ ๑๒ พฤศจิกายน ศกนี้ สำนักงานโฆษณาการจึ่งเห็นสมควรจัดทำคำแนะนำแก่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งขึ้น ทั้งนี้ ก็เพื่อจะช่วยให้ประชาชนชาวสยามได้มีความเข้าใจในการปกครองตามระบอบประชาธิปไตย และรู้จักใช้สิทธิเลือกตั้งผู้แทนราษฎรของตนซึ่งมีอยู่ตามรัฐธรรมนูญให้ได้ผลดีสมตามความมุ่งหมายของทางราชการ
หนังสือนี้ได้จัดทำขึ้นโดยมิได้มุ่งที่จะให้เป็นคำแนะนำสำหรับผู้ที่มีความรู้ในการปกครองของประเทศดีอยู่แล้ว หรือสำหรับบรรดากรรมการเจ้าหน้าที่ผู้ดำเนินการเลือกตั้งครั้งนี้ ซึ่งทางกระทรวงมหาดไทยได้เรียบเรียงข้อแนะนำโดยฉะเพาะสำหรับเป็นระเบียบปฏิบัติอยู่แล้ว หนังสือนี้ได้จัดทำขึ้นโดยประสงค์ที่จะให้เป็นคำแนะนำและชี้แจงให้ความรู้แก่ประชาชนโดยทั่วไป ซึ่งยังมิใคร่จะมีความเข้าใจในเรื่องการเลือกตั้งผู้แทนราษฎรดี ฉะนั้น จึ่งได้ทำเป็นคำอธิบายอย่างย่อฉะเพาะที่สำคัญควรรู้พอที่สามัญชนจะอ่านเข้าใจได้ และพิมพ์ขึ้นแจกจ่ายเพื่อให้แพร่หลายเป็นจำนวน ๑๐๐,๐๐๐ เล่ม
สำนักงานโฆษณาการหวังว่า หนังสือคำแนะนำนี้คงจะเป็นประโยชน์แก่บรรดาผู้มีสิทธิเลือกตั้ง และคงจะเป็นเครื่องช่วยให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้ไปลงคะแนนเป็นจำนวนมากขึ้น ทั้งได้ใช้สิทธินั้นไปด้วยความเข้าใจในหน้าที่และความรู้สึกรับผิดชอบในความเจริญก้าวหน้าของบ้านเมืองด้วยอย่างพร้อมบูรณ์
สภาผู้แทนราษฎรคืออะไร?
ประเทศสยามได้เปลี่ยนการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ (คือ การปกครองที่พระมหากษัตริย์ทรงมีอำนาจสูงสุดในการปกครองบ้านเมือง และใช้อำนาจนั้นได้โดยเด็ดขาด) มาเป็นระบอบประชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นรูปการปกครองที่ถือว่า อำนาจสูงสุดในแผ่นดินหรืออำนาจในการปกครองประเทศนั้นมาแต่ปวงชนชาวสยาม แต่เมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๗๕ ฉะนั้น ชาวสยามทุกคนจึ่งมีสิทธิมีส่วนร่วมในกิจการงานของประเทศชาติ แต่เนื่องจากเหตุทว่าพลเมืองทั้งประเทศมีจำนวนไม่น้อยกว่า ๑๔ ล้านคน ไม่สามารถจะไปประชุมร่วมกันเพื่อปรึกษาหารือกิจการของชาติได้เองโดยตรง เพราะความลำบากอันจะพึงบังเกิดขึ้นด้วยประการต่าง ๆ เช่น จะหาสถานที่ซึ่งใหญ่โตสำหรับจะให้พวกเราเข้าประชุมพร้อมกันไม่ได้ และพวกเราทุกคนก็คงไม่มีเวลาว่างพอที่จะมาประชุมร่วมกันได้ในคราวเดียว เป็นต้น ดั่งนี้ พลเมืองชาวสยามจึ่งต้องเลือกตั้งผู้แทนราษฎรของตนขึ้นไปดำเนินกิจการอันเกี่ยวด้วยการออกกฎหมายและควบคุมราชการแผ่นดินเพื่อความสุขความเจริญของบานเมืองและของราษฎรทั้งหลาย การปกครองของประเทศสยามในปัจจุบันนี้จึ่งต้องมีสภาผู้แทนราษฎรควบคุมกิจการงานของชาติ สภาผู้แทนราษฎรนี้ประกอบด้วยสมาชิกซึ่งเป็นผู้แทนราษฎรที่ราษฎรได้เลือกตั้งขึ้น
แต่อย่างไรก็ดี เนื่องจากประเทศสยามของเราเพิ่งย่างเข้าสู่การปกครองเช่นนี้ใหม่ ๆ ราษฎรโดยทั่วไปยังไม่มีความเข้าใจและความเคยชินต่อการปกครองประชาธิปไตยดี รัฐธรรมนูญจึ่งได้กำหนดเวลาชั่วคราวไว้ว่า ในระหว่างนี้ ให้สภาผู้แทนราษฎรประกอบด้วยสมาชิก ๒ ประเภท ประเภทที่ ๑ ราษฎรเป็นผู้เลือกตั้งขึ้น ประเภทที่ ๒ พระมหากษัตริย์ผู้เป็นหัวหน้าของประเทศทรงตั้งขึ้นให้ดำเนินกิจการงานแผ่นดินร่วมกัน
ต่อไปนี้ จะได้กล่าวถึงเรื่องผู้แทนราษฎร ประเภทที่ ๑ ซึ่งราษฎรเลือกตั้งขึ้นโดยฉะเพาะเท่านั้น
กันอีกในปีนี้?
ตามปกติ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรให้อยู่ในตำแหน่งได้คราวละ ๔ ปี เมื่อครบ ๔ ปีแล้ว ก็เป็นอันพ้นจากหน้าที่ ราษฎรจะต้องเลือกตั้งผู้แทนราษฎรขึ้นมาใหม่
การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของเรานั้นได้ทำกันไปแล้ว ๒ คราว คราวแรก เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๖ และคราวหลังสุด คือ เมื่อวันที่ ๗ พฤศจิกายน ปีกลายนี้ ถ้าพูดกันถึงเหตุปกติแล้ว ผู้แทนราษฎรชุดที่ได้รับการเลือกตั้งไปเมื่อปีที่แล้ว ก็จะต้องดำรงตำแหน่งไป ๔ ปี คือ จะยังไม่หมดอายุใน พ.ศ. ๒๔๘๑ นี้ แต่การสิ้นสุดแห่งสมาชิกภาพแหงสภาผู้แทนราษฎรนั้นย่อมเป็นไปได้ด้วยเหตุหลายประการ ตามความในรัฐธรรมนูญ ตำแหน่งหน้าที่ของผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลงเมื่อ
๑.ถึงคราวออกตามวาระ (คือ ครบ ๔ ปี) หรือยุบสภา
๒.ตาย
๓.ลาออก
๔.ขาดคุณสมบัติของผู้สมัครรับเลือกตั้งตามกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (เช่น เป็นบ้า หรือติดฝิ่น เป็นต้น)
๕.สภาผู้แทนราษฎรวินิจฉัยให้ออกจากตำแหน่ง โดยเห็นว่า มีความประพฤติในทางจะนำมาซึ่งความเสื่อมเสียแก่สภา แต่จะกระทำได้ต่อเมื่อสองในสามของจำนวนสมาชิกสภาที่มาประชุมกันเห็นด้วย
ตามน เราจะเห็นได้ว่ ผู้แทนราษฎรอาจขาดจากตำแหน่งได้ถึง ๕ ประการ ที่เราต้องมีการเลือกตั้งผู้แทนราษฎรกันใหม่อีกในปีนั้น ก็เพราะสภาผู้แทนราษฎรถูกยุบ (ข้อ ๑) เมื่อวันที่ ๑๑ กันยายน ศกนี้ เพื่อให้ราษฎรทำการเลือกตั้งผู้แทนขึ้นมาใหม่ภายในเวลา ๙๐ วันนับจากวันที่สภาถูกยุบ ซึ่งทางการได้กำหนดเอาวันที่ ๑๒ พฤศจิกายน ศกนี้ ตรงกับวันเสาร์ แรม ๕ ค่ำ เดือน ๑๒ เป็นวันเลือกตั้งผู้แทนราษฎรพร้อมกันทั่วทั้งประเทศ
เลือกตั้งผู้แทนของตน
การปกครองตามแบบทุกวันนี้เป็นการปกครองที่เปิดโอกาสให้ราษฎรได้ปกครองกันเอง ราษฎรทุกคนมีสาวนเกี่ยวข้องในการที่จะหาความเจริญก้าวหน้ามาสู่ประเทศชาติของเรา แต่เนื่องจากไม่สามารถที่จะให้ราษฎรทั้งประเทศไปประชุมร่วมกันได้ดั่งที่อธิบายมาแล้ว จึ่งต้องจัดให้มีการเลือกตั้งผู้แทนของราษฎรขึ้น สิทธิในการเลือกตั้งผู้แทนนี้ เมื่อว่าโดยทั่วไปแล้ว ราษฎรทุกคนย่อมได้รับทั่วหน้ากัน ไม่ว่าเป็นหญิงหรือชาย ต่ำจเป็นต้องมีข้อยกเว้นสำหรับบุคคลบางจำพวกซึ่งไม่มีความสามารถที่จะใช้สิทธินี้ให้ถูกต้องและให้ได้ผลดี เช่น เด็ก คนบ้า หรือนักโทษในเรือนจำ เป็นต้น
สิทธิเลือกตั้งนเป็นสิทธิอันสูงและสำคัญยิ่ง กฎหมายก็ได้ให้ความคุ้มกันและอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ไว้แล้ว เช่น นายจ้างทั้งปวงจะต้องให้ความสะดวกตามสมควรแก่ลูกจ้างในการไปใช้สิทธิเลือกตั้ง และผู้ใดมิได้มีอำนาจจะกระทำได้โดยชอบด้วยกฎหมาย กระทำด้วยประการใด ๆ โดยเจตนาขัดขวางหรือหน่วงเหนี่ยวมิให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไปณที่เลือกตั้ง หรือเข้าไปณที่ลงคะแนน หรือมิให้ไปถึงณที่ดั่งว่านั้นภายในกำหนดเวลาที่จะลงคะแนนเลือกตั้งได้ ก็จะต้องมีความผิด ซึ่งอาจจะถูกปรับหรือจำคุก หรือทั้งปรับทั้งจำก็ได้
อนึ่ง ในการที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งจะไปทำการลงคะแนนเลือกตั้งนั้น ก็ย่อมได้รับความสะดวกในเรื่องการเดินทางอีก คือ จะมีการเลือกตั้งเป็นตำบล ๆ ไป ราษฎรตำบลไหน ก็ไปเลือกตั้งในตำบลนั้น ซึ่งโดยปกติมีระยะการเดินทางพอที่จะไปและกลับในวันเดียวกันได้ อนึ่ง ถ้าตำบลที่มีเขตต์ต่อเนื่องใกล้ชิดกันในอำเภอเดียวกัน มีจำนวนราษฎรรวมกันได้ไม่เกินสี่พันคน ทางราชการก็ย่อมรวมตำบลเหล่านั้นเข้าเป็นหน่วยหรือที่ลงคะแนนเดียวกัน แต่การรวมนี้ไม่รวมเกินสามตำบล
ฉะนั้น เมื่อถึงวันที่ ๑๒ พฤศจิกายน ๒๔๘๑ ตรงกับวันเสาร์ แรม ๕ ค่ำ เดือน ๑๒ ปีขาล ตั้งแต่เวลา ๗.๐๐ นาฬิกาถึง ๑๗.๐๐ นาฬิกา (๑ โมงเช้าถึง ๕ โมงเย็น) ซึ่งเป็นวันและเวลากำหนดเลือกตั้งผู้แทนราษฎร ขอให้บรรดาผู้มีสิทธิเลือกตั้งไปทำการเลือกตั้งให้จงได้ แม้ว่าในวันนั้นจะมีความจำเป็นในเรื่องส่วนตัวประการใด เช่น ในการทำนา ทำสวน หรือการค้าก็ตาม ควรพยายามหาโอกาสปลีกตัวไปให้จงได้ การเลือกตั้งผู้แทนราษฎรเป็นกิจของชาติ ซึ่งนาน ๆ จึงจะมีสกครั้งหนึ่ง ฉะนั้น ขอจงพากันไปประกอบกิจในวันงานสำคัญของชาติเช่นนี้ เมื่อสิทธิเลือกตั้งเป็นของเรา และถึงโอกาสที่จะได้ใช้แล้ว ก็ไม่ควรเพิกเฉยเสีย
ที่ว่า “เสียผล” ในที่นี้ไม่หมายความถึงเงินทอง แต่หมายความว่า การที่มีคนไปลงคะแนนเลือกตั้งมาก ๆ นั้น จะทำให้เราได้ผู้แทนราษฎรที่ถูกต้องตรงกับความประสงค์อันแท้จริงของราษฎรแน่นอนขึ้น
ในต่างประเทศบางแห่ง เขาถึงกับออกกฎหมายบังคับว่า ถ้าราษฎรคนใดเพิกเฉยเสียไม่ไปลงคะแนนเลือกตั้งผู้แทนโดยไม่มีเหตุผลแก้ตัวได้แล้ว จะต้องถูกปรับ ถ้าทำบ่อย ๆ เข้า เขาก็ประกาศชื่อให้คนทั่วไปรู้ เพื่อให้รู้สึกอับอายขายหน้าว่า คนนั้นไม่รักชาติ ไม่เอาใจใส่ในความเป็นอยู่ของประเทศบ้านเมือง แต่ในประเทศสยามของเรานี้ไม่บังคับให้ราษฎรไปลงคะแนนเลือกตั้ง แต่ราษฎรก็ไม่ควรถือว่า การเลือกตั้งเป็นสิทธิของตน ซึ่งจะไปใช้หรือไม่ก็ได้ แต่ควรถือว่า เป็นหน้าที่ต่อประเทศชาติอันควรปฏิบัติด้วยความเต็มใจ เมื่อเราต้องการผู้แทนราษฎรที่ดีสมความประสงค์ของเรา เราก็ต้องไปลงคะแนนเลือกตั้งผู้แทน มิฉะนั้น เราจะต้องเสียใจภายหลัง และจะไปบ่นว่าใครไม่ได้
เมื่อเรารู้ว่า ผู้มีสิทธิเลือกตั้งควรต้องไปทำการลงคะแนนเลือกตั้งบุคคลที่ตนพอใจให้เป็นผู้แทนแล้ว ก็ควรทราบต่อไปด้วยว่า ใครเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งบ้าง หรือผู้มีสิทธิเลือกตั้งจะต้องมีคุณสมบัติอย่างไร?
ผู้ซึ่งมีสิทธิทำการเลือกตั้งผู้แทนราษฎรได้นั้นจะต้องประกอบด้วยคุณสมบัติและลักษณะดั่งนี้ คือ
๑.ไม่เป็นผู้ต้องคุมขังอยู่โดยหมายของศาลในวันเลือกตั้ง
๒.มีสัญชาติเป็นไทยตามกฎหมาย แต่ผู้มีสัญชาติเป็นไทยคนใด
ก.ถ้าบิดาเป็นคนต่างประเทศซึ่งได้สมรสกับมารดาโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ก็ตาม ต้องเป็นผู้ที่ได้เรียนภาษาไทยจนได้รับประกาศนียบัตรไม่ต่ำกว่าชั้นมัธยมปีที่ ๓ ตามหลักสูตรของกระทรวงธรรมการ หรือได้รับราชการประจำการตามกฎหมายรับราชการทหาร หรือเป็นข้าราชการ พนักงานเทศบาล พนักงานสุขาภิบาล หรือครูโรงเรียนประชาบาล โดยมีเงินเดือนประจำมาแล้วไม่น้อยกว่า ๕ ปี
ข.ถ้าเป็นบุคคลแปลงชาติเป็นไทย ต้องมีคุณสมบัติอย่างใดอย่างหนึ่งอันกำหนดไว้ใน (ก) หรือมีภูมิลำเนาในประเทศสยามติดต่อกันนับแต่เมื่อแปลงชาติมาแล้วไม่น้อยกว่า ๑๐ ปี
๓.มีอายุไม่ต่ำกว่ายี่สิบปีบริบูรณ์ในวันแรกแห่งระยะเวลาซึ่งกำหนดให้มีการเลือกตั้ง
๔.ไม่เป็นบุคคลวิกลจริต หรือจิตต์ฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ
๕.ไม่เป็นบุคคลหูหนวกและเป็นใบ้ซึ่งไม่สามารถอ่านและเขียนหนังสือได้
๖.ไม่เป็นภิกษุ สามเณร นักพรต หรือนักบวช
๗.ไม่เป็นผู้อยู่ในระหว่างถูกศาลพิพากษาให้เพิกถอนสิทธิเลืิอกตั้ง
บรรดาผู้มีสิทธิไปทำการเลือกตั้งผู้แทนราษฎรได้นั้นจะต้องเป็นผู้ที่มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งอีกด้วย เพราะฉะนั้น เพื่อความแน่นอนและไม่ต้องลำบากในการไปโต้เถียงกับเจ้าหน้าที่ว่า ตนเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งหรือไม่ ผู้ซึ่งรู้สึกว่า ตนประกอบด้วยคุณสมบัติและลักษณะของผู้มีสิทธิเลือกตั้งดั่งกล่าวแล้ว ก็ควรจะต้องไปตรวจดูชื่อของตนในบัญชีซึ่งคณะกรมการอำเภอได้จัดทำและปิดประกาศไว้ให้ราษฎรทราบในที่เปิดเผยมองเห็นได้ง่าย และปิดไว้ณสถานที่ซึ่งจะทำการเลือกตั้งอีกด้วย
คณะกรมการอำเภอจะประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งสำหรับหน่วยลงคะแนนแต่ละหน่วยให้ทราบก่อนวันเลืิอกตั้งไม่น้อยกว่า ๓๐ วัน
ในบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง
เมื่อผู้ใดได้ตรวจดูบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งในหน่วยลงคะแนนใด แต่ไม่ปรากฏว่า มีชื่อของตนอยู่ในบัญชีนั้น และรู้ว่า ตนสมควรมีชื่อในบัญชีเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้ในหน่วยเลือกตั้งนั้น ก็มีสิทธิที่จะทำคำร้องยื่นต่อคณะกรมการอำเภอขอให้เติมชื่อของตนในบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งก่อนวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่า ๑๕ วัน ถ้าคณะกรมการอำเภอได้สอบสวนพิจารณาหลักฐาน ปรากฏข้อเท็จจริงพึงฟังได้ว่า ผู้ยื่นคำร้องมีสิทธิ ก็จะได้เติมชื่อให้ แต่ถ้าเห็นว่า หลักฐานไม่เพียงพอ ก็จะยกคำร้องนั้นเสีย ถึงแม้ว่าคณะกรมการอำเภอจะได้มีคำสั่งให้ยกคำร้องนั้นแล้วก็ดี แต่ผู้ยื่นคำร้องยังเห็นว่า ตนควรมีชื่ออยู่ในบัญชีผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ก็อาจยื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดได้อีกโดยไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม และเมื่อศาลจังหวัดสั่งอย่างไร ก็ให้เป็นไปตามนั้น คำสั่งของศาลนี้เป็นที่สุด จะอุทธรณ์ต่อไปอีกไม่ได้ การร้องขอให้เติมชื่อลงในบัญชีรายชื่อผู้มีิสทธิเลือกตั้งนั้นเป็นสิทธิฉะเพาะตัว จะร้องขอแทนบุคคลอื่นไม่ได้
นอกจากผู้มีสิทธิเลือกตั้งจะยื่นคำร้องขอให้เติมชื่อของตนลงในบัญชีรายชื่อได้ตามที่กล่าวแล้ว ผู้มีสิทธิเลือกตั้งยังมีสิทธิยื่นคำร้องคัดค้านผู้อื่นที่มีชื่อในบัญชีรายชื่อนั้นได้อีก กล่าวคือ ผู้มีสิทธิเลือกตั้งคนใดเห็นว่า ตามบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งซึ่งคณะกรมการอำเภอได้ประกาศนั้น มีบุคคลซึ่งไม่สมควรมีสิทธิเลือกตั้งปนอยู่ด้วย ก็มีสิทธิจะยื่นคำร้องต่อคณะกรมการอำเภอขอให้ถอนชื่อบุคคลนั้นออกจากบัญชี คำร้องนี้จะต้องยื่นต่อคณะกรมการอำเภอก่อนวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่า ๑๕ วัน เมื่อคณะกรมการอำเภอมีคำสั่งให้ถอนชื่อตามคำร้องก็ดี หรือให้ยกคำร้องนั้นเสียก็ดี จะต้องแจ้งให้บุคคลทั้งสองนั้นทราบผลด้วย และถ้าผู้ถูกถอนชื่อหรือผู้ยื่นคำร้องไม่พอใจในคำสั่งของคณะกรมการอำเภอ ก็มีสิทธิจะยื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดได้อีกโดยไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม
ตามปกติ จังหวัดหนึ่งจะต้องมีการเลือกตั้งผู้แทนราษฎรอย่างน้อยคนหนึ่ง แต่บางจังหวัดอาจมีการเลือกตั้งผู้แทนราษฎรมากกว่าคนหนึ่งได้ จำนวนผู้แทนราษฎรนั้นจะเพิ่มขึ้นได้ตามเกณฑ์ของจำนวนราษฎรในจังหวัดนั้น ๆ โดยถือเอาราษฎร ๒๐๐,๐๐๐ คนต่อผู้แทนราษฎรคนหนึ่ง การเพิ่มจำนวนผู้แทนราษฎรได้มากกวาคนหนึ่งนั้น ถือเกณฑ์ดั่งนี้ คือ จังหวัดใดมีพลเมืองเกินกว่าสองแสนคน จังหวัดนั้นก็มีการเลือกตั้งผู้แทนราษฎรเพิ่มขึ้นได้อีกคนหนึ่งทุก ๆ สองแสน แต่เศษของสองแสนนั้น ถ้าถึงหนึ่งแสนหรือเกินกว่าหนึ่งแสน ก็ให้นับเป็นสองแสนได้
ตัวอย่างเช่น จังหวัดหนึ่งมีจำนวนราษฎร ๓๐๑,๐๐๐ คน ซึ่งเศษของสองแสนนั้นเกินกว่าหนึ่งแสน จึ่งมีผู้แทนราษฎร ๒ คน แต่อีกจังหวัดหนึ่งมีจำนวนราษฎร ๒๘๐,๐๐๐ คน ซึ่งเศษของสองแสนยังไม่ถึงหนึ่งแสน ก็มีผู้แทนราษฎรได้แต่เพียงคนเดียว
เมื่อจังหวัดใดจะต้องเลือกตั้งผู้แทนราษฎรได้มากกว่า ๑ คนแล้ว จังหวัดนั้นก็จำจะต้องจัดให้มีเขตต์เลือกตั้งเพิ่มขึ้นอีกเท่ากับจำนวนของผู้แทนราษฎรที่จังหวัดนั้นพึงมีได้ หรือจะกล่าวได้อีกทางหนึ่งว่า ถ้าจังหวัดใดจะมีจำนวนผู้แทนราษฎรได้เท่าใด จังหวัดนั้นก็ต้องมีเขตต์เลือกตั้งเท่านั้น เช่น จะต้องมีผู้แทนราษฎรสองคน ก็ต้องมีเขตต์เลือกตั้งสองเขตต์ ผู้ซึ่งจะสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้แทนราษฎรนั้นจะสมัครได้ฉะเพาะเขตต์เลือกตั้งเขตต์ใดเขตต์หนึ่งเท่านั้น และราษฎรผู้มีสิทธิเลือกตั้งอยู่ในเขตต์ใด ก็ไปทำการลงคะแนนเลือกตั้งผู้แทนราษฎรในเขตต์นั้น
ถ้าหากจังหวัดใดจะต้องแบ่งเขตต์เลือกตั้งหลายเขตต์แล้ว จะได้มีพระราชกฤษฎีกาประกาศแบ่งเขตต์และระบุว่า เป็นเขตต์เลือกตั้งที่เท่าใดในจังหวัดนั้น พระราชกฤษฎีกานี้จะได้ประกาศให้ราษฎรทราบก่อนวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่า ๖๐ วัน เช่น จังหวัดพระนคร มีผู้แทนราษฎรได้ ๓ คน ก็แบ่งเขตต์เลิือกตั้งออกเป็น ๓ เขตต์ คือ เขตต์ที่ ๑ เขตต์ที่ ๒ และเขตต์ที่ ๓
การเลือกตั้งผู้แทนราษฎรสำหรับปีนี้ (๒๔๘๑) ได้กำหนดวันที่ ๑๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๑ เป็นวันเลือกตั้ง ตรงกับวันเสาร์ แรม ๕ ค่ำ เดือน ๑๒ ปีขาล ตั้งแต่เวลา ๗.๐๐ นาฬิกา (๑ โมงเช้า) ถึง ๑๗.๐๐ นาฬิกา (๕ โมงเย็น)
คำว่า “หน่วยลงคะแนน” นี้ ตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้ง หมายความถึง ท้องถิ่นที่กำหนดไว้เพื่อการลงคะแนนเลือกตั้ง ถ้าจะพูดให้สั้นเข้าและเข้าใจได้ง่ายแล้ว “หน่วยลงคะแนน” ก็หมายถึง ตำบลซึ่งราษฎรไปเพื่อทำการลงคะแนนเลือกตั้งรวมกัน โดยปกติก็ใช้เขตต์ตำบลหนึ่งเป็นหน่วยลงคะแนนหน่วยหนึ่ง และในหน่วยลงคะแนนหน่วยหนึ่งนั้นก็ให้มีที่เลือกตั้งแห่งหนึ่ง เขตต์เลือกตั้งหนึ่ง ๆ ย่อมประกอบด้วยหน่วยลงคะแนนหลายหน่วย
หน่วยลงคะแนนหน่วยหนึ่งจะต้องมีที่ทำการเลือกตั้ง (คือ สถานที่ที่ราษฎรจะไปลงคะแนนเลือกตั้ง) อยู่ด้วยเสมอไป ซึ่งคณะกรมการอำเภอจะได้ประกาศระบุที่เลือกตั้งให้ราษฎรทราบก่อนวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่า ๓๐ วัน อนึ่ง สถานที่เลือกตั้งนั้นย่อมเป็นที่ซึ่งประชาชนเข้าออกได้เพื่อการเลือกตั้ง
ณสถานที่ทำการเลือกตั้งนี้ จะมีคูหาลงเครื่องหมาย (คือ ที่ที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งจะเข้าไปปิดเครื่องหมายในบัตรเลือกตั้ง) ซึ่งจะมีไม่น้อยกว่า ๕ คูหา มีหีบบัตรเลือกตั้ง โต๊ะกรรมการตรวจคะแนน ป้ายบอกที่ทำการเลือกตั้ง ป้ายปิดประกาศติดรูปถ่ายและเครื่องหมายประจำตัวผู้สมัครรับเลือกตั้ง และบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง
มีเครื่องหมายแสดงเขตต์โดยรอบ ๓๐ เมตร์วัดจากที่ทำการเลือกตั้ง เพื่อมิให้ผู้ใดชักชวนขอคะแนนหรือทำการโฆษณาเพื่อการเลือกตั้งภายในเขตต์นี้ ผู้ใดจะฝ่าฝืนไม่ได้
การที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งจะไปทำการเลือกตั้งยังหน่วยลงคะแนนใดนั้น ให้พึงสังเกตว่า ตนมีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งสำหรับหน่วยลงคะแนนใด ก็มีสิทธิลงคะแนนเลือกตั้งได้ฉะเพาะหน่วยลงคะแนนนั้น จะไปลงคะแนนเลือกตั้งในหน่วยอื่นไม่ได้ ถ้าไปทำเข้า จะต้องมีความผิด อนึ่ง ผู้มีสิทธิเลือกตั้งจะต้องไปทำการเลือกตั้งด้วยตนเอง จะมอบหมายให้ผู้อื่นไปกระทำแทนไม่ได้
กำหนดระยะเวลาสำหรับทำการเลือกตั้งนั้นจะเริ่มแต่ ๗.๐๐ นาฬิกาตรง และสิ้นสุดลงเมื่อเวลา ๑๗.๐๐ นาฬิกาตรง (คือ ตั้งแต่เช้า ๑ โมงถึงบ่าย ๕ โมง) จึ่งเป็นการสมควรยิ่งที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหลายจะต้องไปถึงที่เลือกตั้งเสียแต่เช้า ๆ
เมื่อถึงเวลา ๗.๐๐ นาฬิกาตรง กรรมการตรวจคะแนนจะได้กล่าวเปิดการลงคะแนน และเมื่อได้ประกาศเปิดการลงคะแนนแล้ว จึ่งเริ่มการลงคะแนนต่อไปตามระเบียบดั่งนี้ คือ
๑.ผู้มีสิทธิเลือกตั้งจะต้องเข้าไปแสดงตน คือ บอกชื่อ นามสกุล และที่อยู่ ต่อกรรมการตรวจคะแนน เพื่อกรรมการจะได้ตรวจบัญชีรายชื่อผู้มีิสิทธิเลือกตั้งดูว่า ผู้นั้นมีชื่ออยู่ในบัญชีหรือไม่
๒.เมื่อกรรมการตรวจคะแนนได้หมายเหตุในบัญชีรายชื่อว่า ผู้นั้นมาแล้ว ก็จะขานชื่อและที่อยู่ของผู้นั้นดัง ๆ เมื่อไม่มีผู้ใดทักท้วงว่า มิใช่เป็นบุคคลที่มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งแล้ว กรรมการตรวจคะแนนจะส่งบัตรเลือกตั้งหนึ่งฉะบับ กับเครื่องหมายประจำตัวผู้สมัครรับเลือกตั้งแห่งเขตต์เลือกตั้งนั้น ๆ ทุกคนครบตามจำนวนผู้สมัคร ให้แก่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งหนิงชุด
๓.เมื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้รับบัตรและเครื่องหมายประจำตัวแล้ว ก็ให้เข้าไปยังคูหาลงเครื่องหมายที่ยังไม่มีใครเข้าไป เพื่อทำการติดเครื่องหมายที่บัตร
ผู้ที่รับบัตรไปนั้นควรทำการตรวจบัตรและเครื่องหมายเสียก่อนว่า มีรอยชำรุด ขีด ฆ่า หรือลบเลือนประการใด บัตรและเครื่องหมายนั้นมีซ้อนกันมากกว่าหนึ่งแผ่นหรือไม่ ถ้ามีซ้อนกันมากกว่าหนึ่งแผ่น ก็ให้มอบคืนแก่กรรมการตรวจคะแนน ควรเอาไว้แต่หนึ่งแผ่นหรือหนึ่งชุด หรือถ้ามีรอยชำรุด ขีด ฆ่า หรือลบเลือน หรืออย่างอื่นใดแล้ว ซึ่งอาจจะแสดงได้ภายหลังว่า เป็นบัตรหรือเครื่องหมายที่ใช้ไม่ได้ ก็ให้คืนแก่กรรมการตรวจคะแนนเพื่อเปลี่ยนใบใหม่ต่อไป
๔.การติดเครื่องหมายลงที่บัตรนั้น ทำดั่งนี้ คือ เมื่อตนพอใจจะให้ผู้สมัครรับเลือกคนใดเป็นผู้แทนราษฎร ก็ให้ฉีกตามรอยปรุ เพื่อเอาเครื่องหมายประจำตัวผู้นั้นแต่เพียงเครื่องหมายเดียว แล้วทาด้วยน้ำ (ซึ่งมีอยู่ในคูหานั้น) ตรงด้านหลัง (เพราะทากาวแห้งไว้) แล้วปิดลงในบัตรเลือกตั้งด้านใน ตอนกลางภายในขอบเส้นดำสี่เหลี่ยมที่พิมพ์ไว้และมีอักษรข้างบนว่า “ที่ปิดเครื่องหมาย” วิธีติดนี้ก็คล้ายกับติดดวงตราไปรษณีย์ลงบนซองจดหมาย แล้วจึ่งพับบัตรเลือกตั้งนั้นตามเดิม ส่วนเครื่องหมายประจำตัวผู้สมัครรับเลือกตั้งคนอื่นที่มิได้ใช้ ก็ให้ทิ้งไว้ในภาชนะ (เช่น ตะกร้า) ซึ่งจัดไว้ในคูหา
เมื่อพับบัตรเรียบร้อยแล้ว จะมีรูปร่างดั่งที่แสดงไว้ในรูปที่ ๑ และที่ ๒
การเข้าไปติดเครื่องหมายลงบัตรเลือกตั้งในคูหานี้ ไม่ควรเข้าไปอยู่เป็นเวลานาน ควรรีบทำแล้วรีบออกมา เพื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งคนอื่นจะได้เข้าไปบ้าง
๕.เมื่อพับบัตรเรียบร้อยแล้ว ก็ออกมาจากคูหา มอบบัตรที่พับแล้วนั้นให้กรรมการตรวจคะแนน เพื่อหย่อนลงในหีบใส่บัตรเลือกตั้งต่อหน้าตนเสียก่อน จึ่งออกไปจากที่เลือกตั้ง
ผู้มีสิทธิเลือกตั้งคนใดรับบัตรและเครื่องหมายประจำตัวผู้สมัครรับเลือกตั้งไปจากกรรมการตรวจคะแนนแล้ว แต่ไม่ประสงค์ที่จะลงคะแนนเลือกผู้ใด ก็ต้องมอบบัตรและเครื่องหมายที่ได้รับนั้นส่งคืนแก่กรรมการตรวจคะแนน
บัตรเลือกตั้งผู้แทนราษฎรนั้นเป็นกระดาษสีขาว ขนาดกว้าง ๙ เซ็นติเมตร ยาว ๑๘ เซ็นติเมตร พับสามตอน ทางด้านบนจะทำเป็นรูปสามเหลี่ยมในลักษณะเดียวกันกับซองจดหมาย ด้านนอกมีตราครุฑ และมีข้อความว่า “บัตรเลือกตั้งผู้แทนราษฎร” ด้านในตอนกลางมีเส้นดำพิมพ์เป็นรูปสี่เหลี่ยม มีข้อความอยู่เบื้องบนว่า “ที่ปิดเครื่องหมาย” ดั่งรูปที่ ๓, ๔
เพื่อความสะดวกแก่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่จะทำการเลือกตั้งให้ใครเป็นผู้แทนราษฎรนั้น ในการเลือกตั้งนี้ ทางราชการได้จัดทำเครื่องหมายประจำตัวผู้ที่จะสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้แทนราษฎรไว้ บรรทัดบนเป็นเลขไทย บรรทัดล่างเป็นจุดสีดำ มีจำนวนน้อยมากเรียงลำดับกันไป (เช่น เลข ๑ ก็มีหนึ่งจุด, เลข ๒ ก็มีสองจุด) ดั่งปรากฏตามตัวอย่างที่พิมพ์ไว้แล้วใน
คำแนะนำนี้ (ดูรูปที่ ๕) การที่พิมพ์จุดดำไว้นั้น ก็เพื่อประโยชน์แก่ผู้ที่อ่านตัวเลขไม่ออก จะได้นับจุดแทน เครื่องหมายนี้พิมพ์บนกระดาษสีขาว ขนาด ๔ เซ็นติเมตร จตุรัส (ยาวด้านละ ๔ เซ็นมิเตรเท่ากันทั้งสี่ด้าน)
คำว่า “บัตรเสีย” นี้ หมายความถึง บัตรเลือกตั้งที่ใช้ไม่ได้ ไม่นับเป็นคะแนน บัตรเสียนี้กรรมการตรวจคะแนนจะได้สลักหลังว่า “เสีย” และลงลายมือชื่อกำกับไว้ทุกคน และจะได้แยกออกไว้เป็นพวกหนึ่งเมื่อถึงเวลานับบัตร
ตามกฎหมายเลือกตั้ง บัตรเสียมีดั่งนี้ คือ
๑.บัตรปลอม
๒.บัตรซึ่งลงเครื่องหมายเลอะเลือน ไม่ได้ความชัดว่า เป็นเครื่องหมายของผู้สมัครรับเลือกตั้งคนใด
๓.บัตรซึ่งลงเครื่องหมายกว่าหนึ่งเครื่องหมาย
๔.บัตรซึ่งมิได้ลงเครื่องหมายเลย
๕.บัตรซึ่งปรากฏว่า มีบัตรซ่อนอยู่ในบัตรนั้นอีก
๖.บัตรซึ่งมีเครื่องหมาย เครื่องสังเกต หรือข้อความอื่นใดนอกจากที่กำหนดไว้ (เช่น ปิดเครื่องหมายภายนอกบัตร เป็นต้น)
ดั่งนี้ จึงเห็นได้ว่า บัตรเลือกตั้งที่ลงไปของผู้มีสิทธิเลือกตั้งอาจใช้ไม่ได้หลายประการ ฉะนั้น ในการลงคะแนนของท่าน ควรระมัดระวัง ทำให้เรียบร้อย มิฉะนั้น จะเป็นการเสียเวลาเปล่า ๆ ในการเลือกตั้งเมื่อเดือนพฤศจิกายน ปีกลาย ปรากฏว่า บางจังหวัดมีบัตรเสียคิดเฉลี่ยถึงร้อยละ ๑๗ ใบ
ภายใน ๓๐ วันนับตั้งแต่วันที่คณะกรรมการจังหวัดประกาศผลของการเลือกตั้ง ผู้มีิสิทธิเลือกตั้งหรือผู้สมัครรับเลือกตั้งในเขตต์เลือกตั้งใดเห็นว่า การเลือกตั้งในเขตต์นั้นมิได้เป็นไปโดยชอบ สมควรที่จะให้มีการเลือกตั้งเสียใหม่ ก็มีสิทธิที่จะยื่นคำร้องคัดค้านไปยังศาลจังหวัดซึ่งเขตต์เลือกตั้งนั้นตั้งอยู่ เป็นหน้าที่ของศาลตังหวัดที่ได้รับคำคัดค้านนั้นจะได้ดำเนินการพิจารณาแล้วทำความเห็นและส่งสำนวนไปยังศาลฎีกาเพื่อวินิจฉัย โดยฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลจังหวัดได้วินิจฉัยมาแล้ว เมื่อศาลฎีกาเห็นสมควร ก็ให้มีอำนาจสั่งให้เลือกตั้งใหม่ได้ แต่ในระหว่างที่ศาลฎีกายังมิได้มีคำสั่งเป็นอย่างอื่น จะต้องถือว่า ผู้แทนราษฎรซึ่งถึงแม้จะถูกคัดค้านนั้นเป็นผู้แทนราษฎรโดยชอบ
โดยเหตุที่ทางราชการประสงค์จะให้การเลือกตั้งได้เป็นไปโดยชอบธรรม ให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้ทำการเลือกตั้งด้วยความบริสุทธิใจ ให้มีเสรีภาพ และให้ได้รับความสะดวกในการไปลงคะแนนเลือกตั้ง จึ่งได้มีบทลงโทษผู้กระทำการฝ่าฝืนความประสงค์อันนี้ ซึ่งสมควรนำมากล่าวให้ทราบไว้แต่โดยย่อ คือ
๑.นายจ้างผู้มิให้ความสะดวกตามสมควรแก่ลูกจ้างในการใช้สิทธิเลือกตั้ง
๒.ผู้ที่มิได้มีอำนาจจะทำได้โดยชอบด้วยกฎหมาย กระทำด้วยประการใด ๆ โดยเจตนาขัดขวางหรือหน่วงเหนี่ยวมิให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไปณที่เลือกตั้ง หรือเข้าไปณที่ลงคะแนน หรือมิให้ไปถึงณที่ดั่งว่านั้นภายในกำหนดเวลาที่จะลงคะแนนเลือกตั้งได้
๓.ผู้สมัครรับเลือกตั้งหรือผู้ที่ให้หรือให้คำมั่นว่าจะให้ทรัพย์สินหรือผลประโยชน์อย่างใด ๆ แก่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งคนใด โดยเจตนาจะจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งคนนั้นลงคะแนนเลือกตั้งให้แก่ตนเองก็ดี หรือให้แก่ผู้ใดก็ดี หรือให้งดเว้นมิให้ลงคะแนนให้แก่ผู้ใดก็ดี
๔.ผู้สมัครรับเลือกตั้งที่จัดรถหรือยานพาหนะใด ๆ นำผู้มีสิทธิเลือกตั้งไปยังที่เลือกตั้งเพื่อการเลือกตั้งหรือนำกลับจากที่เลือกตั้ง หรือจัดให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไปยังที่เลือกตั้งหรือกลับจากที่เลือกตั้งโดยไม่ต้องเสียค่าโดยสารยานพาหนะซึ่งต้องเสียตามปกติ หรือผู้ที่กระทำการเช่นว่านั้น เพื่อประโยชน์แก่ผู้สมัครรับเลือกตั้งคนใด
๕.ผู้มีสิิทธิเลือกตั้งที่เรียกหรือรับทรัพย์สินหรือผลประโยชน์อย่างใด ๆ เป็นประโยชน์แก่ตนเองหรือผู้อื่น เพื่อรับสัญญาว่า จะลงคะแนนเลือกตั้งหรืองดเว้นไม่ลงคะแนนเลือกตั้งผู้ใด
๖.ผู้ที่ลงคะแนนเลือกตั้งหรือผู้ที่พยายามลงคะแนนเลือกตั้งโดยรู้อยู่แล้วว่า ตนไม่มีสิทธิเลือกตั้งหรือไม่มีสิทธิลงคะแนนเลือกตั้งในหน่วยลงคะแนนนั้นได้ก็ดี หรือทอดบัตรหรือพยายามทอดบัตรมากกว่าบัตรหนึ่งก็ดี
๗.ผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่เจตนาทุจจริตในการเลือกตั้ง ไม่คืนบัตรเลือกตั้งให้กรรมการตรวจคะแนน
๘.ผู้ที่ก่อให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในที่เลือกตั้งหรือในที่ประชาชนชุมนุมกันอยู่เพื่อรอการเข้าไปลงคะแนนเลือกตั้ง
๙.ผู้ที่ชักชวนขอคะแนนหรือทำการโฆษณาเพื่อการเลือกตั้งภายในปริมณฑล ๓๐ เมตรแห่งที่ทำการเลือกตั้ง ฯลฯ
เหล่านี้ จะต้องมีความผิดต่าง ๆ กัน เช่น ถูกปรับ หรือถูกจำคุก หรือถูกทั้งปรับและจำ ตลอดจนถูกเพิกถอนสิทธิออกเสียงเป็นเวลาหลายปี
โทษเหล่านี้ย่อมมีไว้ป้องกันผู้ทุจริตและเพื่อคุ้มครองผู้ทำการเลือกตั้งโดยสุจริต
วันเสาร์ แรม ๕ ค่ำ เดือน ๑๒ ปีขาล
ฉะนั้น ขอท่านได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งของท่าน จงเลือกผู้ที่ท่านพอใจด้วยความบริสุทธิใจ เป็นผู้แทนของท่าน
บรรณานุกรม
แก้ไข- สำนักงานโฆษณาการ. (2481). คำแนะนำในการเลือกตั้งผู้แทนราษฎร. (พิมพ์ครั้งที่ 2). ม.ป.ท.: ม.ป.พ.
งานนี้ ปัจจุบันเป็นสาธารณสมบัติแล้ว เพราะลิขสิทธิ์ได้หมดอายุตามมาตรา 19 และมาตรา 20 ของพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ซึ่งระบุว่า
- ถ้ารู้ตัวผู้สร้างสรรค์ ในกรณีที่ผู้สร้างสรรค์เป็นบุคคลธรรมดา
- ลิขสิทธิ์หมดอายุเมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ผู้สร้างสรรค์ถึงแก่ความตาย
- ถ้ามีผู้สร้างสรรค์ร่วม ลิขสิทธิ์หมดอายุ
- เมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ผู้สร้างสรรค์ร่วมคนสุดท้ายถึงแก่ความตาย หรือ
- เมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ได้โฆษณางานนั้นเป็นครั้งแรก ในกรณีที่ไม่เคยโฆษณางานนั้นเลยก่อนที่ผู้สร้างสรรค์ร่วมคนสุดท้ายจะถึงแก่ความตาย
- ถ้ารู้ตัวผู้สร้างสรรค์ ในกรณีที่ผู้สร้างสรรค์เป็นนิติบุคคล หรือถ้าไม่รู้ตัวผู้สร้างสรรค์
- ลิขสิทธิ์หมดอายุเมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ได้สร้างสรรค์งานนั้นขึ้น
- แต่ถ้าได้โฆษณางานนั้นในระหว่าง 50 ปีข้างต้น ลิขสิทธิ์หมดอายุเมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ได้โฆษณางานนั้นเป็นครั้งแรก