คำให้การขุนหลวงหาวัด/คำนำ

คำนำ

ด้วยนายพลตรี พระยาเทพาธิบดี (เจิ่น บุนนาค) จ.ม, ท.จ, ภ.ช, ว.ป.ร, ๓ ร.จ.ม. ตำแหน่งสมุหพระธรรมนูญทหารบก จะทำการปลงศพสนองคุณนายพันตรี หลวงพิทักษ์นฤเบศร์ (จร บุนนาค) ผู้บิดา มาแจ้งความต่อกรรมการหอพระสมุดวชิรญาณว่า มีความศรัทธาจะสร้างหนังสือในหอพระสมุดสำหรับพระนครเปนของแจกในงานศพเรื่องหนึ่ง ขอให้กรรมการช่วยเลือกเรื่องให้ แลพอใจจะให้เปนเรื่องข้างโบราณคดี เมื่อข้าพเจ้ารับเลือกเรื่องหนังสือ นึกได้ถึงเรื่องโบราณคดีเรื่องหนึ่งซึ่งกรรมการหอพระสมุดฯ อยากจะให้พิมพ์มานานแล้ว แต่ยังไม่มีโอกาศ คือ หนังสือเก่าเรื่องคำให้การขุนหลวงหาวัด หนังสือเรื่องนี้เปนที่นับถือของท่านผู้ศึกษาโบราณคดีมาแต่ในรัชกาลที่ ๔ ว่า เปนถ้อยคำของท่านผู้รู้แบบแผนการงานครั้งกรุงเก่าได้บอกให้จดไว้ ต้นฉบับเดิมจะมีกี่เล่มทราบไม่ได้ ได้พิมพ์ที่โรงพิมพ์หมอสมิธเปนครั้งแรกเมื่อปีมะแม พ.ศ. ๒๔๒๖ ฉบับที่หมอสมิธพิมพ์นั้นเปนที่นิยมนับถือกันครั้งหนึ่งเมื่อในรัชกาลที่ ๕ ด้วยยังไม่มีใครได้เห็นฉบับเดิมอยู่โดยมาก แต่ครั้นล่วงกาลนานมา เมื่อมีผู้ศึกษาโบราณคดีชั้นใหม่เอาใจใส่สอบสวนหนังสือมากขึ้น จึงตรวจเห็นว่า หนังสือเรื่องคำให้การขุนหลวงหาวัดฉบับที่หมอสมิธพิมพ์นั้น มีผู้อื่นได้แต่งเติมแทรกแซงลงใหม่มาก ไม่ใช่ตัวฉบับเดิมครั้งรัชกาลที่ ๔ แลยังมีข้อปัณหาต่อไปถึงเรื่องหนังสือที่เรียกว่า คำให้การขุนหลวงหาวัดนั้นเอง ได้เคยวินิจฉัยกันในโบราณคดีสโมสร ข้าพเจ้าเองเปนผู้นำปัณหาขึ้นกราบบังคมทูลแด่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า สงไสยว่า หนังสือเรื่องนี้จะเปนหนังสือที่แต่งขึ้นในเมืองไทย มิใช่คำของขุนหลวงหาวัด (คือ พระเจ้าอุทุมพรราชาที่ได้รับรัชทายาทครองกรุงศรีอยุทธยาต่อแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าบรมโกษฐ) ไปให้การแก่พม่า เหตุที่ทำให้สงไสยนั้น

ข้อ  คือ เรื่องราวทั้งพงษาวดารแลทำเนียบต่าง ๆ ที่เล่าในหนังสือคำให้การขุนหลวงหาวัดฉบับที่หมอสมิธพิมพ์ เมื่อมาสอบสวนดูในชั้นนี้ รู้ได้เปนแน่ว่า ผิดความจริงในที่สำคัญหลายแห่งมาก ถ้าเปนคำให้การขุนหลวงหาวัด พระองค์ย่อมทรงทราบราชการบ้านเมือง จะเล่าผิดอย่างนั้นไม่ได้

ข้อ  ลักษณถามคำให้การชาวต่างประเทศถึงการบ้านเมืองนั้น ๆ เปนประเพณีที่มีมาแต่ก่อนเหมือนกันทุกประเทศ คือ ถ้าได้ชนต่างชาติมาไว้ในอำนาจก็ดี ฤๅแม้ชนชาติเดียวกันเองได้ไปเมืองต่างประเทศใดมาก็ดี ถ้าเห็นว่า ได้รู้เห็นการงานบ้านเมืองนั้น ๆ ก็เรียกตัวมาให้ข้าราชการซึ่งเปนเจ้าน่าที่หลาย ๆ คนพร้อมกันเปนทำนองกรรมการซักไซ้ไต่ถาม แลจดคำให้การไว้เปนความรู้ในราชการ ในเมืองไทยเราก็เคยถามคำให้การอย่างนี้ เช่น ถามแม่ทัพนายกองพม่าที่เราจับตัวมาได้ เปนต้น เรื่องพงษาวดารพม่าที่ปรากฎอยู่ในหนังสือพระราชพงษาวดาร โดยมากเรารู้ได้ด้วยกระบวนถามคำให้การอย่างว่านี้ ตั้งแต่ครั้งกรุงเก่า กรุงธนบุรี ตลอดมาจนกรุงรัตนโกสินทร เมื่อพม่าได้ไทยไป พระเจ้าอังวะก็คงจะตั้งข้าราชการพม่าซึ่งรู้แบบแผนขนบธรรมเนียมเปนกรรมการถามคำให้การทำนองเดียวกัน แต่การถามคำให้การอย่างนี้ ผู้ถามกับผู้ตอบพูดไม่เข้าใจภาษากัน ต้องใช้ล่ามแปลทั้งคำถามแลคำตอบ แล้วแต่ล่ามจะแปลว่ากะไร เมื่อล่ามแปลได้ความอย่างไร ก็จดลงเปนภาษาพม่า อย่างเราจดคำให้การพม่าลงเปนภาษาไทย เพราะฉนั้น หนังสือคำให้การขุนหลวงหาวัด ถ้ามีจริง ต้นฉบับเดิมคงเปนภาษาพม่า มิใช่ภาษาไทยที่หมอสมิธเอามาพิมพ์

ข้อ  ต้นฉบับคำให้การขุนหลวงหาวัดนั้น ถ้ามี คงจะมีอยู่ในหอหลวงเมืองพม่า ถ้าจะมีนอกจากฉบับหอหลวง ก็คงจะมีสำเนาอยู่ในกระทรวงเสนาบดีที่ได้มีน่าที่ถามคำให้การ เช่น กระทรวงมหาดไทยฤๅกระทรวงกระลาโหมของพม่า ว่าอย่างมากจะมีไม่เกิน ๔–๕ ฉบับ ทำไมจึงจะเข้ามาได้ถึงเมืองไทย แลมากลายเปนภาษาไทยอย่างวิปลาศเลอะเทอะเช่นหมอสมิธพิมพ์ ด้วยเหตุเหล่านี้ จึงสงไสยว่า หนังสือที่เรียกว่า “คำให้การขุนหลวงหาวัด” นี้ น่าจะเปนเรื่องราวที่ชาวกรุงเก่าผู้มีอายุอยู่มาจนในกรุงรัตนโกสินทร เรียบเรียงขึ้นไว้ตามรู้ตามเห็น ต่อมาเมื่อไม่รู้ว่าใครแต่งจึงไปเหมาให้เปนคำให้การของขุนหลวงหาวัดดอกกระมัง

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระบรมราชาธิบายในเรื่องนี้ว่า หนังสือเรื่องคำให้การขุนหลวงหาวัดนั้น ฉบับเดิมจะได้มาอย่างไรแลได้มาเมื่อไรไม่ทรงทราบ แต่ฉบับหอหลวงของเรามีจริง ได้เคยทอดพระเนตรเห็นมาแต่ก่อน แต่ไม่เหมือนฉบับที่หมอสมิธพิมพ์ แลทรงทราบว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเชื่อว่า เปนหนังสือมีหลักฐาน ในพระราชนิพนธ์หลายแห่ง คือ ในจาฤกฐานพระพุทธรูปปางต่าง ๆ ซึ่งทรงพระราชอุทิศถวายพระเจ้าแผ่นดินครั้งกรุงเก่า เปนต้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงใช้พระนามพระเจ้าแผ่นดินตามที่เรียกในหนังสือคำให้การของขุนหลวงหาวัดหลายพระองค์ หนังสือเรื่องนี้ ทรงพระราชดำริห์ว่า ฉบับเดิมคงมีหลักฐานอยู่อย่างไรเปนแน่ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงเชื่อถือ แต่ฉบับที่หมอสมิธพิมพ์ มีผู้ใดได้แทรกแซงเพิ่มเติมจนเลอะเทอะเต็มทีเสียแล้ว สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงได้พระราชทานพระบรมราชาธิบายเรื่องหนังสือคำให้การขุนหลวงหาวัดไว้ดังนี้

ครั้นต่อมาถึงรัชกาลปัตยุบันนี้ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๔ หอพระสมุดวชิรญาณได้หนังสือเรื่องคำให้การขุนหลวงหาวัดที่เปนตัวฉบับหลวงมาเล่มสมุดไทย ๑ ลายมืออาลักษณเขียนตัวรง รู้ได้เปนแน่ว่า เขียนในรัชกาลที่ ๔ ชื่อเรื่องก็ไม่ได้เรียกว่า “คำให้การขุนหลวงหาวัด” เรียกว่า “พระราชพงษาวดารแปลจากภาษารามัญ” ต่อมา พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นไชยนาทนเรนทร ประทานสมุดหนังสือเรื่องต่าง ๆ อันเปนของพระเจ้าบรมวงษ์เธอ กรมหลวงวงษาธิราชสนิท แก่หอพระสมุดสำหรับพระนคร มีเรื่องคำให้การขุนหลวงหาวัดอยู่ในหนังสือพวกนั้น ๔ เล่ม มีรอยตกแก้ เข้าใจว่า เปนลายพระหัดถ์กรมหลวงวงษาฯ ได้เอาฉบับซึ่งหอพระสมุดฯ ได้มาเหล่านี้สอบกับฉบับที่หมอสมิธพิมพ์ ก็ปรากฎแน่นอนว่า ฉบับพิมพ์นั้นมีผู้ใดแทรกแซงข้อความลง ตรงตามที่สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงรับสัง ในชั้นแรก จึงรู้ความได้เพียงว่า หนังสือคำให้การขุนหลวงหาวัดนั้นมีฉบับเดิมจริง แลฉบับเดิมแปลมาจากภาษารามัญ

ครั้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๓ กรรมการหอพระสมุดฯ ได้ทราบความว่า มีหนังสือพงษาวดารไทยภาษาพม่าอยู่ในหอสมุดของรัฐบาลที่เมืองร่างกุ้งฉบับ ๑ ได้ขอคัดมาแปลออกเปนภาษาไทย ได้ความว่า หนังสือเรื่องนั้นเปนเรื่องเดียวกับคำให้การขุนหลวงหาวัดนั้นเอง ได้ความมาจากเมืองพม่าว่า เมื่อเสียกรุงเก่า พระเจ้าอังวะจับพระเจ้าอุทุมพรแลข้าราชการไทยไปได้ ให้ถามคำให้การถึงพงษาวดารแลขนบธรรมเนียมเมืองไทยจดเก็บรักษาไว้ในหอหลวง อังกฤษได้ต้นฉบับมาเมื่อตีเมืองมันดะเล หนังสือคำให้การขุนหลวงหาวัด ฉบับแปลจากภาษาพม่า พระยาโชดึกราชเศรษฐี (มิ้น เลาหเศรษฐี) ได้พิมพ์แจกในงานศพท่านอิ่มผู้มารดาแล้ว เปนอันได้ความอิกชั้น ๑ ว่า เรื่องคำให้การขุนหลวงหาวัดนั้นมีมูลเปนความจริง แลรู้ได้ว่า เหตุใดฉบับเดิมเรื่องราวจึงคลาศเคลื่อน เพราะพวกไทยที่พม่าได้ตัวไปให้การได้ไปแต่ตัว ให้การเพียงเท่าที่จำได้ ทั้งเรื่องพระราชพงษาวดารแลขนบธรรมเนียมต่าง ๆ ให้การหลายคนด้วยกัน รู้มากบ้างน้อยบ้าง ซ้ำขุนนางพม่าซึ่งไม่รู้อะไรเลยเอาไปรวบรวมเข้าเรื่องอิกชั้น ๑ กรรมการจึงได้ให้เรียกชื่อหนังสือฉบับที่พระยาโชดึกฯ พิมพ์ว่า “คำให้การชาวกรุงเก่า”

เดี๋ยวนี้ในเรื่องคำให้การขุนหลวงหาวัด เปนอันได้พิมพ์แล้ว ๒ ฉบับ คือ ฉบับที่แปลจากภาษาพม่า ฉบับ ๑ กับฉบับที่แปลจากภาษารามัญ แต่ผู้ใดในไทยเราได้เอาไปแก้ไขแทรกแซงเสียจนเลอะเทอะนั้น ฉบับ ๑ แต่ฉบับที่ถูกต้องตามที่แปลจากภาษารามัญยังหาได้พิมพ์ไม่ จึงเห็นว่า ยังบกพร่องอยู่ แลอยากจะให้พิมพ์ให้บรรดาผู้ศึกษาโบราณคดีเวลานี้ได้สอบสวนทั่วกัน ถ้าหากพระยาเทพาธิบดีพิมพ์หนังสือคำให้การขุนหลวงหาวัดฉบับหลวงในรัชกาลที่ ๔ จะเปนการให้เกิดประโยชน์ในทางโบราณคดีถึง ๒ ประการ คือ ทำหนังสือซึ่งยังไม่เคยพิมพ์ให้ได้พิมพ์รู้กันแพร่หลาย แลรักษาฉบับไว้ให้ถาวร ประการ ๑ ช่วยโบราณคดีสโมสรที่ทำให้การวินิจฉัยหนังสือเรื่องคำให้การขุนหลวงหาวัดสำเร็จบริบูรณ์ ประการ ๑ ข้าพเจ้าได้ชี้แจงความเห็นทั้งนี้แก่พระยาเทพาธิบดี พระยาเทพาธิบดีเห็นชอบด้วย จึงได้รับพิมพ์สมุดเล่มนี้

กรรมการมีความเสียดายอยู่น่อยที่หาหนังสือเรื่องคำให้การขุนหลวงหาวัด ความฉบับหลวงครั้งรัชกาลที่ ๔ ไม่ได้ครบทีเดียว เพราะหนังสือเดิมมีน้อย แลแตกกระจัดกระจายไปเสียหมด ตรงไหนขาด ได้เอาความที่แปลจกฉบับหลวงภาษาพม่ามาลงไว้แทน แลได้บอกไว้เปนสำคัญทุกแห่ง

ข้าพเจ้ามีความยินดีเปนส่วนตัวที่ได้โอกาศจัดการพิมพ์หนังสือเรื่องนี้ ช่วยในงานศพหลวงพิทักษ์นฤเบศร์ ด้วยได้เปนเพื่อนทหารมากับข้าพเจ้า ตั้งแต่รับราชการอยู่ในกรมทหารมหาดเล็กด้วยกัน ได้คุ้นเคยแลชอบอัชฌาไศรยกันมาแต่ครั้งนั้น หลวงพิทักษ์นฤเบศร์มีประวัติดังนี้

หลวงพิทักษ์นฤเบศร์ ชื่อ จร บุนนาค เปนบุตรพระยาวรพงษ์พิพัฒน์ แย้ม เปนหลานสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาติ เกิดวัน ๕ เดือน ๑๐ แรม ๘ ค่ำ ปีขาล ฉศก จุลศักราช ๑๒๑๖ ตรงกับวันที่ ๑๐ กันยายน พ.ศ. ๒๓๙๗ ที่บ้านบิดา ตำบลปากคลองขนอน จังหวัดธนบุรี

เมื่ออายุได้ ๑๓ ปี ได้ศึกษาวิชาหนังสือไทยกับนายสิน ต่อมาได้ศึกษาวิชาเลขแลวิชาหนังสือไทยในสำนักพระสมุห์หลำ วัดพิไชยญาติการาม

ปีฉลู สัปตศก พ.ศ. ๒๔๐๘ ได้ถวายตัวเปนมหาดเล็กวิเศษในรัชกาลที่ ๔ อยู่เวรฤทธิ

ถึงรัชกาลที่ ๕ ปีมะเมีย โทศก พ.ศ. ๒๔๑๓ รับราชการในกรมทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ ได้เปนพลทหารอยู่ในหมวดที่ ๓ ได้ศึกษาวิชาทหารในสำนักนายพันตรี หลวงรัตนรณยุทธ (เล็ก)

ปีมะแม ตรีศก พ.ศ. ๒๔๑๔ ได้รับยศทหารเปนนายสิบโทในกองร้อยที่ ๕

ปีวอก จัตวาศก พ.ศ. ๒๔๑๕ ได้เลื่อนยศทหารเปนนายสิบเอก คงรับราชการอยู่ในกองนั้น

ปีจอ ฉศก พ.ศ. ๒๔๑๗ ได้กราบถวายบังคมลาอุปสมบทเปนภิกษุ สมเด็จพระวันรัต (ทับ) แต่เมื่อยังดำรงสมณะศักดิในที่พระพิมลธรรม วัดโสมนัศวิหาร เปนพระอุปัชฌาย์ พระพรหมมุนี (เหมือน) แต่ยังเปนพระอริยมุนี วัดบรมนิวาศ พระพุทธวิริยากร (น้อย) วัดพิไชยญาติการาม เปนพระกรรมวาจาจารย์ อยู่ในสำนักวัดพิไชยญาติการามพรรษาหนึ่ง

ปีขาล สัมฤทธิศก พ.ศ. ๒๔๒๑ ได้รับพระราชทานสัญญาบัตรยศทหารเปนนายร้อยตรีประจำกองร้อยที่ ๕ แลได้ไปศึกษาวิชาแผนที่ในสำนักพระวิภาคภูวดล (แมกกาตี) ณพระราชวังบางปอิน

ปีมะเมีย จัตวาศก พ.ศ. ๒๔๒๕ ได้รับพระราชทานสัญญาบัตรยศทหารเลื่อนขึ้นเปนนายร้อยโท ประจำกองร้อยที่ ๕ ในกรมทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์นั้น

ปีชวด สัมฤทธิศก พ.ศ. ๒๔๓๑ ได้รับพระราชทานสัญญาบัตรยศทหารเลื่อนขึ้นเปนนายร้อยเอกในกรมทหารบก แลย้ายมารับราชการในตำแหน่งปลัดกอง ๆ ทหารราบนอก “รักษาพระองค์”

วันที่ ๑๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๓๕ ได้รับพระราชทานสัญญาบัตรบันดาศักดิเปนหลวงพิทักษ์นฤเบศร์ ศักดินา ๖๐๐

ปีมะเสง พ.ศ. ๒๔๓๖ ได้ว่าที่นายพันตรี แลย้ายไปรับราชการในตำแหน่งผู้บังคับการกองทหารเมืองนครนายก

ณเดือนมิถุนายน พ.ศ. ๒๔๓๖ นั้น ได้ไปราชการทัพ แลรับราชการในตำแหน่งปลัดกองทัพในกองทัพพระยาอนุชิตชาญไชย (สาย สิงห์เสนี) แต่ยังเปนนายพลจัตวา พระพิเรนทรเทพ ยกไปทางเขตรลาวกาว

ณวันที่ ๑๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๓๗ กองทัพกลับมาถึงกรุงเทพฯ คงมียศเปนว่าที่นายพันตรี รับราชการในตำแหน่งปลัดกอง ๆ ทหารราบนอก “รักษาพระองค์” ตามเดิม

ณวันที่ ๒๑ กันยายน พ.ศ. ๒๔๓๗ ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิศริยาภรณ์ เหรียญชื่อจักรมาลา แลเหรียญรัชฎาภิเศกมาลา

ปี พ.ศ. ๒๔๓๘ ย้ายไปรับราชการในตำแหน่งผู้บังคับการกองทหาร มณฑลพิศณุโลก

ปี พ.ศ. ๒๔๔๐ ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิศริยาภรณ์ช้างเผือก ชั้นที่ ๕ ทิพยาภรณ์ แลเหรียญประพาศมาลา

วันที่ ๗ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๔๑ ได้รับพระราชทานสัญญาบัตรยศทหารเปนนายพันตรี

ปี พ.ศ. ๒๔๔๒ ออกจากประจำการเปนกองหนุน

ปี พ.ศ. ๒๔๔๗ ได้รับพระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์รัชกาลที่ ๔ ชั้นที่ ๕

ครั้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๐ ได้รับพระราชทานเบี้ยบำนาญ

ครั้นถึง พ.ศ. ๒๔๕๔ ป่วยเปนลมอำมพาต มีอาการเรื้อรัง ทรุดบ้าง ทรงบ้าง

วันที่ ๑๔ เมษายน พ.ศ. ๒๔๕๘ ถึงแก่กรรม อายุได้ ๖๒ ปี หลวงพิทักษ์นฤเบศร์มีบุตรชายคน ๑ คือ นายพลตรี พระยาเทพาธิบดี ที่เปนเจ้าภาพงานศพแลพิมพ์หนังสือนี้

ข้าพเจ้าขออนุโมทนากุศลบุญราษี ซึ่งพระยาเทพาธิบดี ผู้อยู่ในฐานะที่โบราณบัณฑิตนับว่า เปนอภิชาตบุตร บำเพ็ญสนองคุณบิดาด้วยความกตัญญูกตเวที ตามสมควรแก่วิไสยแห่งสาธุชนผู้เปนสัปปรุส แลเชื่อว่า ท่านทั้งหลายผู้ได้รับแลอ่านหนังสือนี้คงจะอนุโมทนาเหมือนกันทั่วไป

  • ลายมือชื่อของกรมพระดำรงราชานุภาพ
  • จังหวัดพิศณุโลก
  • วันที่ ๒๔ มกราคม พระพุทธศักราช ๒๔๕๙