งานแปล:รัฐธรรมนูญฝรั่งเศส (ค.ศ. 1852)/ส่วนที่ 2

รัฐธรรมนูญฝรั่งเศส (ค.ศ. 1852) โดย นโปเลียนที่ 3, แปลจากภาษาฝรั่งเศส โดย วิกิซอร์ซ
2. รัฐธรรมนูญ


จัดทำ
โดยอาศัยอำนาจที่ประชาชนชาวฝรั่งเศส
มอบหมายให้แก่ลุย-นาปอเลอง บอนาปาร์ต
ด้วยการออกเสียงเมื่อวันที่ 20 และ 21 ธันวาคม 1851[1]

ประธานาธิบดีสาธารณรัฐ

โดยที่พิเคราะห์ว่า ประชาชนชาวฝรั่งเศสได้รับการเรียกให้มาประกาศมติดังต่อไปนี้แล้ว

"ประชาชนประสงค์ให้ธำรงอำนาจหน้าที่ของลุย-นาปอเลอง บอนาปาร์ต ไว้ และให้เขาผู้นี้มีอำนาจอันจำเป็นแก่การจัดทำรัฐธรรมนูญตามหลักการรากฐานที่สถาปนาไว้ในประกาศของเขา ลงวันที่ 2 ธันวาคม"

โดยที่พิเคราะห์ว่า หลักการรากฐานที่เสนอให้ประชาชนยอมรับนั้น คือ

"1. ประมุขผู้รับผิดชอบนั้น ย่อมแต่งตั้งขึ้นเป็นเวลา 10 ปี

2. เสนาบดีนั้น ย่อมขึ้นกับอำนาจบริหารแต่ฝ่ายเดียว

3. คณะมนตรีแห่งรัฐซึ่งจัดตั้งขึ้นจากผู้โดดเด่นที่สุดนั้น ย่อมจัดเตรียมกฎหมายและสนับสนุนการอภิปรายในองค์กรนิติบัญญัติ

4. องค์กรนิติบัญญัติซึ่งอภิปรายและออกเสียงในเรื่องกฎหมายนั้น ย่อมแต่งตั้งขึ้นด้วยการออกเสียงเป็นการทั่วไป โดยไม่มีการเลือกตามบัญชี[2] ซึ่งบิดเบือนการเลือกตั้ง

5. สมัชชาแห่งที่สองซึ่งจัดตั้งขึ้นจากบรรดาผู้เลื่องลือนามในประเทศนั้น ย่อมเป็นอำนาจถ่วงดุล และเป็นผู้อารักขากติกาพื้นฐานและเสรีภาพสาธารณะ"

โดยที่พิเคราะห์ว่า ปวงประชาได้ตอบรับด้วยคะแนนเสียง 7,500,000 เสียงแล้ว

จึงประกาศใช้รัฐธรรมนูญอันมีเนื้อความดังต่อไปนี้


มาตราแรก รัฐธรรมนูญรับรู้ รับรอง และรับประกันหลักการยิ่งใหญ่ซึ่งประกาศไว้ในปี 1789 และซึ่งเป็นหลักการรากฐานแห่งกฎหมายมหาชนของชาวฝรั่งเศส


ม. 2 การปกครองสาธารณรัฐนั้น ให้มอบไว้กับเจ้าชายลุย-นาปอเลอง บอนาปาร์ต ประธานาธิบดีคนปัจจุบันของสาธารณรัฐ เป็นเวลา 10 ปี

ม. 3 ประธานาธิบดีสาธารณรัฐปกครองโดยทางเสนาบดี คณะมนตรีแห่งรัฐ วุฒิสภา และองค์กรนิติบัญญัติ

ม. 4 ประธานาธิบดีสาธารณรัฐ วุฒิสภา และองค์กรนิติบัญญัติ ย่อมร่วมกันใช้อำนาจนิติบัญญัติ


ม. 5 ประธานาธิบดีสาธารณรัฐรับผิดชอบต่อประชาชนชาวฝรั่งเศส ผู้ซึ่งประธานาธิบดีมีสิทธิจะวิงวอนถึงได้ทุกเมื่อ[3]

ม. 6 ประธานาธิบดีสาธารณรัฐเป็นประมุขแห่งรัฐ ประธานาธิบดีบัญชาการกองทัพบกและเรือ ประกาศสงคราม กระทำสนธิสัญญาทางสันติ พันธมิตร และการค้า แต่งตั้งตำแหน่งหน้าที่ทั้งมวล จัดทำระเบียบและกฤษฎีกาอันจำเป็นต่อการบังคับใช้กฎหมาย

ม. 7 การประสาทความยุติธรรม ย่อมกระทำในนามประธานาธิบดี

ม. 8 ประธานาธิบดีมีสิทธิริเริ่มกฎหมายแต่ผู้เดียว

ม. 9 ประธานาธิบดีมีสิทธิอภัยโทษ

ม. 10 ประธานาธิบดีอนุมัติและประกาศใช้กฎหมายและคำสั่งวุฒิสภา

ม. 11 ทุกปี ให้ประธานาธิบดีนำเสนอสภาวการณ์ของสาธารณรัฐต่อวุฒิสภาและต่อองค์กรนิติบัญญัติโดยใช้สาร[4]

ม. 12 ประธานาธิบดีมีสิทธิประกาศภาวะปิดล้อม[5] ในจังหวัดหนึ่งแห่งหรือกว่านั้น แต่ต้องแจ้งวุฒิสภาโดยพลันทันที[6]

ผลสืบเนื่องจากภาวะปิดล้อม ย่อมเป็นไปตามที่กฎหมายวางระเบียบไว้

ม. 13 เสนาบดีย่อมไม่ขึ้นกับผู้ใดนอกจากประมุขแห่งรัฐ เสนาบดีแต่ละคนรับผิดชอบก็แต่ในการกระทำทางการปกครองเฉพาะเท่าที่เกี่ยวข้องกับตน ไม่มีความรับผิดชอบร่วมกันในระหว่างเสนาบดี วุฒิสภาเท่านั้นที่สามารถตั้งข้อกล่าวหาต่อเสนาบดี

ม. 14 เสนาบดี สมาชิกของวุฒิสภา ขององค์กรนิติบัญญัติ และของคณะมนตรีแห่งรัฐ ทหารบกและเรือ ผู้พิพากษา และผู้ปฏิบัติกิจหน้าที่สาธารณะ ย่อมกระทำสัตย์สาบานดังนี้

"ข้าขอสาบานว่า จะปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ และซื่อสัตย์ภักดีต่อประธานาธิบดี"

ม. 15 คำสั่งวุฒิสภาย่อมกำหนดจำนวนเงินที่จัดสรรเป็นรายปีให้แก่ประธานาธิบดีสาธารณรัฐสำหรับตลอดระยะเวลาแห่งการปฏิบัติกิจหน้าที่

ม. 16 ถ้าประธานาธิบดีสาธารณรัฐตายก่อนสิ้นวาระตน ให้วุฒิสภาเรียกประชุมประชาชาติเพื่อเลือกตั้งใหม่

ม. 17 เพื่อประโยชน์ของฝรั่งเศส ประมุขแห่งรัฐมีสิทธิกำหนดชื่อพลเมืองที่ตนจะเสนอให้ประชาชนไว้วางใจและออกเสียงให้ โดยใช้ตราสารอันเป็นความลับและฝากไว้กับหอเอกสารวุฒิสภา

ม. 18 จนกว่าจะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีคนใหม่ของสาธารณรัฐ ให้ประธานวุฒิสภาปกครอง [ประเทศ] ไปพร้อมกับรัฐมนตรีที่ยังอยู่ในกิจหน้าที่ โดยให้ประกอบกันเป็นคณะมนตรีการปกครอง และให้ประชุมปรึกษาโดยเสียงข้างมาก


ม. 19 จำนวนสมาชิกวุฒิสภาจะเกินกว่า 150 คนมิได้ สำหรับปีแรก กำหนดไว้ที่ 80 คน

ม. 20 วุฒิสภาประกอบด้วย

1. การ์ดีนาล[7] มาเรชาล[8] และอามีราล[9]

2. พลเมืองผู้ที่ประธานาธิบดีสาธารณรัฐเห็นควรยกขึ้นสู่ยศศักดิ์สมาชิกวุฒิสภา

ม. 21 สมาชิกวุฒิสภาจะถูกโยกย้ายมิได้ และจะเป็นไปชั่วชีวิต

ม. 22 กิจหน้าที่ของวุฒิสภาย่อมไม่มีค่าตอบแทน กระนั้น ประธานาธิบดีสาธารณรัฐจะมอบเงินอุดหนุนรายบุคคลให้สมาชิกวุฒิสภาโดยคำนึงถึงราชการที่เขาจัดทำและสถานะทางทรัพย์สินของเขาก็ได้ แต่จะเกินกว่า 30,000 ฟรังก์ต่อปีมิได้

ม. 23 ประธานและรองประธานวุฒิสภามาจากการแต่งตั้งของประธานาธิบดีสาธารณรัฐ และเลือกมาจากในหมู่สมาชิกวุฒิสภา

เขาเหล่านี้ย่อมแต่งตั้งขึ้นเป็นเวลา 1 ปี

ค่าตอบแทนของประธานวุฒิสภานั้น ย่อมกำหนดด้วยกฤษฎีกา

ม. 24 ประธานาธิบดีสาธารณรัฐย่อมเรียกประชุมและปิดประชุมวุฒิสภา ประธานาธิบดีย่อมกำหนดระยะเวลาของสมัยประชุมวุฒิสภาด้วยกฤษฎีกา

การประชุมวุฒิสภานั้น มิได้เป็นไปโดยเปิดเผย

ม. 25 วุฒิสภาเป็นผู้อารักขากติกาพื้นฐานและเสรีภาพสาธารณะ ไม่ว่ากฎหมายใดก็ไม่อาจประกาศใช้โดยไม่เสนอต่อวุฒิสภาก่อน

ม. 26 วุฒิสภาย่อมคัดค้านการประกาศใช้

1. กฎหมายที่อาจขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ศาสนา ศีลธรรม เสรีภาพทางศาสนา[10] เสรีภาพของปัจเจกบุคคล ความเสมอภาคในกฎหมายของพลเมือง ความละเมิดมิได้ของกรรมสิทธิ์ และหลักการห้ามโยกย้ายผู้พิพากษา

2. สิ่งทั้งหลายที่อาจเป็นอันตรายต่อการป้องกันดินแดน

ม. 27 วุฒิสภาย่อมใช้คำสั่งวุฒิสภาวางระเบียบ

1. การก่อตั้งอาณานิคมและอาลเฌรี[11]

2. บรรดาสิ่งที่รัฐธรรมนูญมิได้บัญญัติไว้ และที่จำเป็นต่อการดำเนินไปของรัฐธรรมนูญ

3. ความหมายของมาตราในรัฐธรรมนูญที่ก่อให้เกิดการตีความต่าง ๆ กัน

ม. 28 คำสั่งวุฒิสภา ให้เสนอต่อประธานาธิบดีสาธารณรัฐเพื่อการอนุมัติ และให้ประธานาธิบดีประกาศใช้

ม. 29 วุฒิสภาย่อมรักษาไว้หรือเพิกถอนเสียซึ่งการกระทำ[12] ทั้งปวงที่รัฐบาลเสนอมาว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญ หรือที่พลเมืองร้องเรียนมาด้วยสาเหตุเดียวกัน

ม. 30 ในรายงานที่มีต่อประธานาธิบดีสาธารณรัฐ วุฒิสภาจะระบุหลักการรากฐานของร่างกฎหมายที่เป็นประโยชน์ต่อชาติอย่างยิ่งไว้ก็ได้

ม. 31 วุฒิสภายังสามารถเสนอแก้ไขเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ ถ้าอำนาจบริหารตกลงรับข้อเสนอนั้น ให้ตราการแก้ไขเปลี่ยนแปลงนั้นด้วยคำสั่งวุฒิสภา

ม. 32 กระนั้น การแก้ไขเปลี่ยนแปลงใด ๆ ในหลักการรากฐานอันเป็นพื้นฐานของรัฐธรรมนูญ ดังที่ระบุไว้ประกาศ ลงวันที่ 2 ธันวาคม และที่ประชาชนชาวฝรั่งเศสได้ตกลงรับแล้วนั้น ให้เสนอเข้าสู่การออกเสียงเป็นการทั่วไป

ม. 33 ในกรณีที่องค์กรนิติบัญญัติถูกยุบ และจนกว่าจะมีการเรียกประชุมขึ้นใหม่ ให้วุฒิสภาจัดให้มีทุกสิ่งที่จำเป็นให้การปกครองดำเนินไปได้ โดยใช้มาตรการฉุกเฉินตามข้อเสนอของประธานาธิบดีสาธารณรัฐ


ม. 34 การเลือกตั้งย่อมอิงประชากร

ม. 35 ในองค์กรนิติบัญญัติ ให้มีผู้แทน 1 คนต่ออัตราผู้เลือกตั้ง 35,000 คน

ม. 36 ผู้แทนนั้นย่อมเลือกตั้งมาด้วยการออกเสียงเป็นการทั่วไป โดยไม่มีการเลือกตามบัญชี[2]

ม. 37 ผู้แทนมิได้รับค่าตอบแทนใด ๆ

ม. 38 ผู้แทนย่อมแต่งตั้งขึ้นเป็นเวลา 6 ปี

ม. 39 องค์กรนิติบัญญัติย่อมอภิปรายและออกเสียงในร่างกฎหมายและภาษีอากร

ม. 40 การแก้ไขเพิ่มเติมใด ๆ ซึ่งคณะกรรมการที่รับมอบหมายให้ตรวจสอบร่างกฎหมายได้ตกลงรับแล้วนั้น ให้ประธานองค์กรนิติบัญญัติส่งกลับไปยังคณะมนตรีแห่งรัฐโดยไม่ต้องอภิปราย

ถ้าคณะมนตรีแห่งรัฐไม่ตกลงรับการแก้ไขเพิ่มเติมนั้นด้วย จะเสนอการแก้ไขเพิ่มเติมนั้นเข้าสู่การประชุมปรึกษาขององค์กรนิติบัญญัติมิได้

ม. 41 สมัยประชุมสามัญขององค์กรนิติบัญญัตินั้น มีระยะเวลา 3 เดือน การประชุมขององค์กร ย่อมเป็นไปโดยเปิดเผย แต่คำเรียกร้องของสมาชิก 5 คนก็เพียงพอให้องค์กรจัดตั้งตนเองเป็นคณะกรรมาธิการลับได้[13]

ม. 42 รายงานการประชุมที่ลงไว้ในวารสารหรือการเผยแพร่ทางอื่นใด ให้มีแต่การนำบันทึกการประชุมมาถ่ายทอดไว้ โดยให้ร่างขึ้นภายใต้ความดูแลของประธานองค์กรนิติบัญญัติเมื่อสิ้นการประชุมแต่ละครั้ง

ม. 43 ประธานาธิบดีสาธารณรัฐย่อมแต่งตั้งประธานและรองประธานองค์กรนิติบัญญัติขึ้นเป็นเวลา 1 ปี บุคคลเหล่านี้ย่อมเลือกจากในหมู่ผู้แทน ค่าตอบแทนของประธานองค์กรนิติบัญญัตินั้น ย่อมกำหนดด้วยกฤษฎีกา

ม. 44 เสนาบดีจะเป็นสมาชิกองค์กรนิติบัญญัติมิได้

ม. 45 สิทธิในการร้องเรียนนั้น ให้ใช้ต่อวุฒิสภา จะมีการร้องเรียนใดต่อองค์กรนิติบัญญัติมิได้

ม. 46 ประธานาธิบดีสาธารณรัฐย่อมเรียกประชุม เลื่อนประชุม ปิดประชุม และยุบองค์กรนิติบัญญัติ ในกรณียุบนั้น ประธานาธิบดีสาธารณรัฐต้องเรียกประชุมองค์กรชุดใหม่ภายในกำหนด 6 เดือน


ม. 47 จำนวนมนตรีแห่งรัฐในราชการสามัญนั้น คือ ตั้งแต่ 40 ถึง 50 คน

ม. 48 ประธานาธิบดีสาธารณรัฐย่อมแต่งตั้งมนตรีแห่งรัฐ และอาจถอดถอนเขาเหล่านั้น

ม. 49 คณะมนตรีแห่งรัฐมีประธาน คือ ประธานาธิบดีสาธารณรัฐ และเมื่อประธานาธิบดีไม่อยู่ คือ บุคคลที่ประธานาธิบดีกำหนดให้เป็นรองประธานคณะมนตรีแห่งรัฐ

ม. 50 ภายใต้การอำนวยการของประธานาธิบดีสาธารณรัฐ คณะมนตรีแห่งรัฐย่อมรับมอบหมายให้จัดทำร่างกฎหมายและระเบียบการบริหารสาธารณะ และแก้ไขความยุ่งยากที่เกิดขึ้นในเรื่องการบริหาร

ม. 51 คณะมนตรีแห่งรัฐย่อมสนับสนุนการอภิปรายร่างกฎหมายในวุฒิสภาและองค์กรนิติบัญญัติในนามรัฐบาล

มนตรีแห่งรัฐผู้รับมอบหมายให้พูดในนามรัฐบาลนั้น ย่อมมาจากการแต่งตั้งของประธานาธิบดีสาธารณรัฐ

ม. 52 ค่าตอบแทนของมนตรีแห่งรัฐแต่ละคนนั้น คือ 25,000 ฟรังก์

ม. 53 ในคณะมนตรีแห่งรัฐ เสนาบดีย่อมมียศ มีที่นั่ง และมีสิทธิออกเสียงในการประชุมปรึกษา


ม. 54 ให้ศาลยุติธรรมชั้นสูงพิพากษาบรรดาบุคคลที่ถูกนำตัวมาต่อหน้าในฐานะผู้ถูกแจ้งข้อหาอาชญากรรม กระทำประทุษร้าย หรือคบคิดกันต่อต้านประธานาธิบดีสาธารณรัฐ และต่อต้านความมั่นคงภายในหรือภายนอกของรัฐ โดยไม่มีการอุทธรณ์ และไม่อาจอาศัยการกลับคำพิพากษา[14]

ศาลนี้จะรับคดี[15] ได้ก็แต่โดยอาศัยกฤษฎีกาของประธานาธิบดีสาธารณรัฐ

ม. 55 ให้คำสั่งวุฒิสภากำหนดการจัดองค์กรของศาลสูงแห่งนี้


ม. 56 บทบัญญัติของประมวลกฎหมาย กฎหมาย และระเบียบที่มีอยู่แล้ว ซึ่งไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญนี้ ให้ใช้บังคับต่อไป จนกว่าจะถูกยกเลิกเพิกถอนตามกฎหมาย

ม. 57 ให้กฎหมายกำหนดการจัดองค์กรเทศบาล นายกเทศมนตรีนั้น ให้มาจากการแต่งตั้งของอำนาจบริหาร และจะนำมาจากภายนอกคณะเทศมนตรีก็ได้

ม. 58 รัฐธรรมนูญนี้ ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันก่อตั้งองค์กรใหญ่ของรัฐซึ่งรัฐธรรมนูญนี้จัดองค์กรไว้

กฤษฎีกาที่ประธานาธิบดีสาธารณรัฐให้ไว้ตั้งแต่วันที่ 2 ธันวาคมจนถึงช่วงเวลาดังกล่าวนั้น ให้มีผลเป็นกฎหมาย

จัดทำ ณ วังตุยเลอรี วันที่ 14 มกราคม 1852

ลุย-นาปอเลอง
  • ได้ดูและประทับมหาลัญจกรแล้ว
  • ผู้อารักขาลัญจกร เสนาบดียุติธรรม
  • เออ. โรแอร์[16]

(คัดจาก มอนีเตอร์[17] ฉบับ 15 มกราคม 1852)

หมายเหตุ แก้ไข

  1. การลงประชามติในฝรั่งเศสเมื่อวันที่ 20 และ 21 ธันวาคม ค.ศ. 1851
  2. 2.0 2.1 CNRTL (2012k) ว่า "scrutin de liste" (แปลตรงตัวว่า "การเลือกแห่งบัญชี") เป็นการเลือกตั้งที่ผู้เลือกตั้งเลือกบัญชีรายชื่อบุคคล (แทนที่จะเลือกตัวบุคคลเป็นรายไป)
  3. ประกาศ ลงวันที่ 14 มกราคม ค.ศ. 1852 ว่า สิทธินี้ คือ สิทธิของประธานาธิบดีขอให้ประชาชนตัดสินใจว่า จะยังไว้วางใจในประธานาธิบดีอยู่หรือไม่
  4. CNRTL (2012i) ว่า "message" ที่แปลว่า "สาร" นั้น มีความหมายเจาะจงถึงเอกสารที่กษัตริย์หรือประธานาธิบดีฝรั่งเศสใช้ติดต่อสื่อสารกับรัฐสภา
  5. CNRTL (2012l) ว่า "état de siège" (แปลตรงตัวว่า "ภาวะแห่งการปิดล้อม") หมายถึง สถานการณ์ที่เมืองเมืองหนึ่งถูกปิดล้อมและเจ้าหน้าที่ทางทหารสามารถใช้อำนาจทุกอย่าง
  6. "Dans le plus bref délai" แปลตรงตัวว่า "ในความชักช้าที่น้อยที่สุด" CNRTL (2012g) ว่า เป็นสำนวน แปลว่า "ทันที" (immédiatement) หรือ "ในเวลาใกล้ชิดอย่างยิ่ง" (dans un temps très proche)
  7. CNRTL (2012c) ว่า "cardinal" คือ ผู้ดำรงตำแหน่งชั้นสูงในคณะสงฆ์ นุ่งผ้าสีม่วง และมีหน้าที่เลือกตั้งสันตะปาปาและช่วยเหลือสันตะปาปาในการปกครองศาสนจักร
  8. CNRTL (2012h) ว่า "maréchal" เป็นยศสูงสุดที่ให้แก่นายพลในกองทัพบก โดยทั่วไปมักให้เพราะความชอบชั้นสูงในยามสงคราม
  9. CNRTL (2012b) ว่า "amiral" เป็นยศสูงสุดในกองทัพเรือ
  10. CNRTL (2012f) ว่า "culte" แปลว่า (1) การบูชาทางศาสนาซึ่งกระทำต่อพระเจ้า เทพเจ้า นักบุญ ฯลฯ (2) การแสดงความเคารพซึ่งมีลักษณะทางศาสนา อันกระทำต่อบุคคล วัตถุ ฯลฯ (3) ศาสนา หรือนิกายทางศาสนา
  11. อาลเฌรี (Algérie) คือ แอลจีเรีย (Algeria) สมัยที่เป็นเมืองขึ้นฝรั่งเศส ดู French Algeria
  12. CNRTL (2012a) ว่า "acte" สามารถหมายถึง (1) การกระทำของบุคคล (2) คำวินิจฉัยที่เกิดจากอำนาจทางทหาร ตุลาการ การปกครอง ฯลฯ (3) ตราสารทางกฎหมาย นอกเหนือไปจากความหมายอื่น ๆ
  13. การจัดตั้งตนเอง "เป็นคณะกรรมาธิการลับ" (en comité secret) เป็นสำนวนกฎหมายฝรั่งเศส หมายถึง การประชุมลับ ดังที่ CNRTL (2012e) อธิบายว่า หมายถึง ไม่ให้บุคคลภายนอกเข้ามาประชุมด้วย ดูเพิ่มที่ comités secrets
  14. CNRTL (2012d) ว่า "cassation" หมายถึง คำตัดสินของศาลสูงที่ให้เพิกถอนคำตัดสินของศาลล่าง โดยเป็นการตัดสินในข้อกฎหมาย มิใช่ในรูปคดี ราชบัณฑิตยสภาบัญญัติศัพท์สำหรับคำนี้ว่า "การกลับคำพิพากษา" จึงนำศัพท์บัญญัตินี้มาใช้
  15. CNRTL (2012j) ว่า ในภาษากฎหมาย "saisir" หมายถึง นำ (คดี) เข้าสู่เงื้อมมือของกระบวนการยุติธรรม
  16. เออแฌน โรแอร์ (Eugène Rouher)
  17. เลอมอนีเตอร์อูว์นีแวร์แซล (Le Moniteur universel)

บรรณานุกรม แก้ไข

  • CNRTL (2012a). "Acte". Centre national de ressources textuelles et lexicales. 
  • CNRTL (2012b). "Amiral". Centre national de ressources textuelles et lexicales. 
  • CNRTL (2012c). "Cardinal". Centre national de ressources textuelles et lexicales. 
  • CNRTL (2012d). "Cassation". Centre national de ressources textuelles et lexicales. 
  • CNRTL (2012e). "Comité". Centre national de ressources textuelles et lexicales. 
  • CNRTL (2012f). "Culte". Centre national de ressources textuelles et lexicales. 
  • CNRTL (2012g). "Délai". Centre national de ressources textuelles et lexicales. 
  • CNRTL (2012h). "Maréchal". Centre national de ressources textuelles et lexicales. 
  • CNRTL (2012i). "Message". Centre national de ressources textuelles et lexicales. 
  • CNRTL (2012j). "Saisir". Centre national de ressources textuelles et lexicales. 
  • CNRTL (2012k). "Scrutin". Centre national de ressources textuelles et lexicales. 
  • CNRTL (2012l). "Siège". Centre national de ressources textuelles et lexicales.