ร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับพระยากัลยาณไมตรี (พ.ศ. 2469), แปลจากภาษาอังกฤษ โดย วิกิซอร์ซ
4. พระบันทึก ลงวันที่ 1 สิงหาคม ค.ศ. 1926 (พ.ศ. 2469)โดย พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระดำรงราชานุภาพ
บันทึก

1.ข้าพระพุทธเจ้าได้อ่านพระราชบันทึกของพระองค์ กับทั้งบันทึกของพระยากัลยาณฯ โดยถี่ถ้วนแล้ว พระราชบันทึกของพระองค์นั้น ข้าพระพุทธเจ้ามีแต่จะแสดงความเห็นชอบด้วย แต่สำหรับบันทึกของพระยากัลยาณฯ แม้ข้าพระพุทธเจ้าจะชมชอบการแสดงทัศนะของเขา และเห็นด้วยในบางส่วน แต่ข้าพระพุทธเจ้าเสียใจที่พบว่า ตนเห็นต่างจากเขาในส่วนอื่น ๆ กระนั้น เวลาที่ได้รับมาสำหรับเรียบเรียงคำตอบนั้นมีน้อย และความลำบากในข้างข้าพระพุทธเจ้าซึ่งจำต้องออกความเห็นเป็นภาษาอังกฤษแทนที่จะเป็นภาษาสยามนั้นก็บีบให้ข้าพระพุทธเจ้าต้องเขียนแต่สั้น ๆ อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอที่พระยากัลยาณฯ มีในบันทึกของเขานั้นมีอยู่สองประการ คือ ข้อเสนอว่าด้วยเรื่องที่จะต้องดำเนินการทันที กับข้อเสนอว่าด้วยเรื่องที่จะต้องพิจารณากันต่อไป ข้าพระพุทธเจ้าจะวิจารณ์แต่ประการแรก

2.ข้อเสนอสำคัญที่สุดตามความรู้สึกของข้าพระพุทธเจ้า คือ การเปลี่ยนระบบบริหารราชอาณาจักรด้วยการแต่งตั้งอัครมหาเสนาบดีซึ่งมีอำนาจที่จะเลือกสรรและถอดถอนเสนาบดีแห่งรัฐ กับทั้งมีอำนาจแต่ผู้เดียวที่จะจัดทำนโยบายและบังคับบัญชาคณะบริหารราชอาณาจักร ซึ่งแน่นอนว่าจะอยู่ภายใต้พระบรมราชานุมัติของพระเจ้าแผ่นดินและการควบคุมอยู่หลังม่านโดยอภิรัฐมนตรีสภา ข้าพระพุทธเจ้าจำต้องยอมรับว่า ตัวมีข้อจำกัดทั้งในการศึกษาและในความรู้เกี่ยวกับคณะบริหารประเทศทางยุโรป ความรู้สึกของข้าพระพุทธเจ้ามีอยู่ว่า ในการปกครองแบบมีรัฐสภา[1] นั้น จะขาดอัครมหาเสนาบดีเสียมิได้ แต่ในประเทศที่สมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นใหญ่ ดังเช่น รัสเซีย ตุรกี และเปอร์เซีย เป็นต้นนั้น ระบบเช่นนี้ดูจะไม่เป็นประโยชน์มากมายถ้าไร้พระมหากษัตริย์ที่ทรงพระปรีชา และไม่อาจจะคุ้มกันพระราชาที่ด้อยความสามารถให้พ้นจากความวินาศได้เป็นแน่ กระนั้น ข้าพระพุทธเจ้าขอกล่าวย้ำว่า ข้าพระพุทธเจ้ามิได้มองว่า ตนเองเก่งกล้าสามารถที่จะตัดสินเรื่องที่มีลักษณะแบบยุโรปได้ ฉะนั้น ข้าพระพุทธเจ้าจะจำกัดคำวิจารณ์ทั้งหมดอยู่แต่สิ่งที่ข้าพระพุทธเจ้าเห็นว่าจะกระทบกระเทือนสยามและชาวสยาม

3.แรกสุด ข้าพระพุทธเจ้าจะใคร่ครวญถึงความรู้สึกที่ระบบนี้น่าจะก่อให้เกิดขึ้นทั่วไปในบ้านเมือง เพราะอัครมหาเสนาบดีอย่างที่พระยากัลยาณฯ เสนอมานั้น หรืออัครมหาเสนาบดีในแง่ยุโรปโดยทีเดียวนั้น เป็นเจ้าพนักงานที่ไม่มีผู้ใดในสยามรู้จัก และการจะจัดให้มีขึ้นสักคนนั้นก็เป็นการรังสรรค์สิ่งใหม่ซึ่งโดยสภาพแล้วคงจะเป็นชนวนให้เกิดความคาดเดาทุกรูปแบบ แน่นอนว่าจะเขียนคำอธิบายที่เข้าทีไว้ในคำปรารภพระราชกฤษฎีกาก็ได้ แต่จะเป็นไปได้หรือที่จะทำให้ผู้คนคล้อยตาม? ข้อเท็จจริงที่ว่า พระเจ้าแผ่นดินทรงแต่งตั้งผู้อื่นซึ่งคนเขาไม่เคารพเท่าพระเจ้าแผ่นดินเองมาปกครองแว่นแคว้นแทนพระองค์นั้น เป็นธรรมดาที่สุดอยู่แล้วที่จะทำให้ผู้คนตั้งคำถามว่า ทำไม? เป็นเพราะพระเจ้าแผ่นดินไม่สนพระทัยจะปฏิบัติราชกิจอันพระเจ้าแผ่นดินพึงปฏิบัติ หรือเพราะอภิมนตรีสภา[2] เห็นว่า พระเจ้าแผ่นดินด้อยพระปรีชาเกินกว่าจะปกครองเอง จึงแนะนำให้ทรงแต่งตั้งอัครมหาเสนาบดี? ไม่ว่ากรณีใด ทั้งพระเดชและพระเกียรติของพระเจ้าแผ่นดินก็จะเสียหายในสายตาของปวงประชา การรังสรรค์สิ่งใหม่นี้อาจเป็นที่สดุดีของชาวสยามหัวตะวันตกบางคน แต่คนพวกนี้จะมีสักกี่มากน้อยเมื่อเทียบกับชาวสยามทั้งหมด? กล่าวโดยรวบรัด คือ ข้าพระพุทธเจ้ามีความเห็นว่า การรังสรรค์สิ่งใหม่จะก่อให้เกิดความรู้สึกที่ไม่เป็นคุณขึ้นทั่วไปในบ้านเมือง เราต้องไม่ลืมว่า ความรู้สึกของคนทั่วไปมีความหมายมากในประเทศนี้ ดังที่พิสูจน์มาแล้วด้วยผลของพระราชกิจประการแรกของพระองค์ในการจัดตั้งอภิรัฐมนตรีสภา

4.ทีนี้ ข้าพระพุทธเจ้าจะพิเคราะห์ถึงผลลัพธ์ที่การรังสรรค์สิ่งใหม่นี้น่าจะก่อให้เกิดแก่ชนชั้นนำ โดยจะนำผลลัพธ์ที่เห็นกันมาแล้วในการจัดตั้งอภิสภา[2] มาเป็นเกณฑ์การตัดสิน เป็นไปได้อย่างยิ่งว่า เรื่องนี้จะก่อความรู้สึกสามประการ คือ

(ก)บรรดาที่สรรเสริญและเต็มใจสนับสนุนการรังสรรค์สิ่งใหม่นี้ จะด้วยความเชื่อฝังใจก็ดี หรือโดยยอมให้ความจงรักภักดีต่อพระเจ้าแผ่นดินอยู่เหนือความเชื่อฝังใจตนก็ดี และบรรดาที่สรรเสริญเพราะหวังประโยชน์ส่วนตัวจากการรังสรรค์สิ่งใหม่นั้น

(ข)บรรดาที่วางเฉยแต่ก็แคลงใจอยู่ เพราะไม่มีผลประโยชน์ของตนมาเกี่ยวข้องด้วยก็ดี หรือเพราะเป็นนักฉวยโอกาสที่เพียงรอกอบโกยจากผลลัพธ์ใด ๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการรังสรรค์สิ่งใหม่นั้นก็ดี

(ค)บรรดาที่ต่อต้าน เพราะความเชื่อฝังใจของตนก็ดี เพราะความริษยาส่วนตัวก็ดี หรือเพราะต้องเสียผลกำไรหรือผลประโยชน์ไปในการรังสรรค์สิ่งใหม่นี้ก็ดี

ที่จริง ไม่ว่าจะรับระบบปกครองใดมาใช้ ก็ไม่มีทางจะสร้างความพอใจโดยทั่วกันได้ และจะต้องเกิดความรู้สึกเป็นหลายแขนงทำนองที่ข้าพระพุทธเจ้าได้กล่าวมาแล้วนี้ สิ่งเดียวที่หวัง ก็คือ สัดส่วนของความรู้สึกที่เป็นคุณนั้นจะอยู่ในข้างมาก ซึ่งข้าพระพุทธเจ้าไม่คิดว่าจะเกิดขึ้นในการแต่งตั้งอัครมหาเสนาบดีตามที่เสนอกัน

5.พระองค์ตรัสไว้ในพระราชบันทึกได้อย่างถูกต้องว่า เมื่อเสด็จขึ้นทรงราชย์ ทรงได้รับมรดกอันชวนสลดใจ เพราะความเคารพศรัทธาในพระเดชานุภาพแห่งองค์พระประมุขนั้นตกต่ำลงมาก ท้องพระคลังแทบล้มละลาย ส่วนรัฐบาลก็ฉ้อฉล และราชการก็อลหม่านไม่มากก็น้อย การที่ทรงจัดตั้งอภิสภาขึ้นทันทีหลังจากที่ขึ้นเสวยราชย์ จึงเป็นผลงานชิ้นเอกของพระองค์ที่กอบกู้ศรัทธาทั่วไปในราชบัลลังก์ขึ้นโดยพลัน ทีนี้ มาพิจารณาถึงองค์ประกอบและการทำงานของอภิสภากัน สภานี้เป็นคณะกรรมการอันประกอบด้วยบุคคลห้าคนที่ทรงเกียรติคุณและประสบการณ์ โดยที่พระเจ้าแผ่นดินจะทรงเป็นประธานด้วยพระองค์เองเสมอ และพระเจ้าแผ่นดินแต่พระองค์เดียวที่จะดำเนินการตามมติทุกอย่างที่ลงในสภานั้น ในการกระทำใด ๆ จะไม่มีการเอ่ยอ้างถึงสมาชิกคนใดของสภาทั้งสิ้น และไม่เคยมีสมาชิกคนใดแทรกแซงการงานในกรมกองของกระทรวงเลย กระนั้น ข้อกล่าวหาว่า สภานี้ช่วงชิงพระเดชานุภาพและพระราชอำนาจของพระองค์ ทั้งพยายามยุ่งเกี่ยวกับความรับผิดชอบของกระทรวง ก็มีอยู่ไม่ขาด ข้าพระพุทธเจ้าจึงยินดีทีเดียวที่พระองค์ทรงหักล้างข้อกล่าวหาเหล่านี้ไว้ในพระราชบันทึกด้วยพระองค์เอง ทว่า ข้อเท็จจริงที่ว่า สามารถสร้างข้อกล่าวหาโดยมุ่งร้ายต่อสภาที่ประกอบด้วยบุคคลถึงห้าคน (ข้าพระพุทธเจ้าคงสามารถเรียกขานคนเหล่านี้ว่าเป็นผู้มีเกียรติคุณสูงส่งได้กระมัง) ก็เพียงพอแล้วที่จะทำให้ตระหนักถึงความยากลำบากอันอัครมหาเสนาบดีเพียงคนเดียวจะต้องเผชิญในการต่อต้านเล่ห์กลทุกรูปแบบ ขณะที่ในอีกแง่หนึ่ง อัครมหาเสนาบดีก็จะต้องรับผิดชอบในการบริหารบ้านเมืองให้ดี ณ จุดนี้ เราอาจมองออกว่า อาจมีความจำเป็นที่อัครมหาเสนาบดีจะจำใจอาศัยยุทธวิธีจะดีจะร้ายก็ตามเพื่อรักษาตำแหน่งของตัว หรือไม่อย่างนั้นก็คงจะทิ้งขว้างตำแหน่งหน้าที่ของตัวไปเสียสิ้น

6.บัดนี้ ข้าพระพุทธเจ้าจะว่าด้วยตัวบุคคลและความรับผิดชอบของอัครมหาเสนาบดี ไม่ต้องสงสัยว่า พระองค์จะต้องทรงเลือกสรรบุคคลที่มีคุณสมบัติดีที่สุดในราชอาณาจักรมาเป็นอัครมหาเสนาบดีคนแรกของพระองค์ และเราจะลองสมมติว่า การเลือกสรรนั้นได้รับความเห็นชอบทั่วกัน ความรู้สึกแรกที่การแต่งตั้งอัครมหาเสนาบดีนั้นจะก่อให้เกิด คงเป็นความคาดหวังให้ผู้นั้นมาปรับปรุงการบริหารโดยวิธีการที่จะสร้างความพึงพอใจในทุกสถานให้แก่สาธารณชน หากผู้นั้นไม่ตระหนักในความคาดหวังของคนทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นความคาดหวังที่ไร้เหตุผลเพียงใดก็ตาม ผู้นั้นก็คงตกอยู่ในภาวะที่มีคำก่นด่ากองท่วมหัว ซึ่งจะทำให้อัครมหาเสนาบดียากที่จะรักษาความไว้เนื้อเชื่อใจของสาธารณชนได้ ไม่ว่าจะในระยะเวลาสั้นยาวเท่าใดก็ตาม นอกจากนั้น ต่อให้มีสติปัญญาและความสามารถอย่างใดก็ดี อัครมหาเสนาบดีก็ต้องดำเนินงานของตนโดยอาศัยพระบรมราชานุมัติของพระเจ้าแผ่นดินกับทั้งการสนับสนุนอย่างซื่อตรงและความช่วยเหลืออย่างมีสมรรถภาพจากเสนาบดีแห่งรัฐ แล้วอัครมหาเสนาบดีจะมั่นใจในเรื่องนี้ได้ฉันใด? มีการเสนอทีเดียวว่า ควรที่อัครมหาเสนาบดีจะมีอำนาจถอดถอนและเลือกสรรเสนาบดี แต่อำนาจเช่นว่านั้น มองกันตลอดมาว่า เป็นของพระเจ้าแผ่นดินแต่พระองค์เดียว และยังถือกันว่า เป็นเสาหลักสำหรับป้องกันแผนร้ายส่วนตัวของผู้อื่น การที่พระเจ้าแผ่นดินทรงใช้อำนาจนั้นในอภิสภา กับการที่ทรงให้อัครมหาเสนาบดีมาใช้อำนาจดังกล่าวภายใต้พระบรมราชานุมัตินั้น จะแตกต่างกันอย่างใหญ่หลวง หากมองกันว่า การมีคณะผู้ทรงอิทธิพลอยู่เบื้องหลังพระเจ้าแผ่นดินนั้นเป็นสิ่งน่าทุเรศ แล้วจะเป็นอย่างไรถ้าให้มีของอัครมหาเสนาบดีขึ้นมาอีกคณะ? ลองสมมติว่า การณ์ไม่ไปเป็นไปดังที่ข้าพระพุทธเจ้ากราบทูล ทีนี้ ถ้ามหาเสนาบดีเห็นว่า เสนาบดีแห่งรัฐคนหนึ่งหรือหลายคนเป็นผู้ไร้ความสามารถแล้วไซร้ ใครเล่าที่เขาจะเลือกสรรมาเป็นแทน? ตามธรรมดาเขาย่อมเลือกสรรคนที่เขาไว้ใจในความสามารถและความซื่อตรงต่อเขา ตรงนี้เราคงมองเห็นถึงลักษณะของการเริ่มการปกครองด้วยพรรคการเมืองในสยาม แต่ถ้าไร้การควบคุมจากรัฐสภาแล้ว ก็มีแนวโน้มที่ลักษณะอย่างนั้นจะกลายเป็นการปกครองด้วยกลุ่มก๊กไปได้ง่าย ๆ

7.ความสัมพันธ์ระหว่างองค์พระประมุขและอัครมหาเสนาบดีนั้นเป็นเรื่องสำคัญที่สุดและละเอียดอ่อนที่สุดเช่นกัน คงเป็นความเพ้อฝันถ้าจะคาดหมายว่า พระเจ้าแผ่นดินกับอัครมหาเสนาบดีจะมีความเห็นลงรอยกันเสมอไป หรือถ้าจะคาดหมายทีเดียวว่า อัครมหาเสนาบดีทุกคนจะเป็นที่พอพระทัยและไว้วางพระทัยของพระเจ้าแผ่นดินในระดับเดียวกัน หากพระเจ้าแผ่นดินทรงประสงค์จะปลดอัครมหาเสนาบดี พระองค์ก็คงจะต้องหาเหตุผลที่ชวนคล้อยตามเพื่อจะกระทำเช่นนั้น แต่ถ้าไม่มีรัฐสภาแล้วไซร้ ใครเล่าจะคอยจัดหาเหตุผลที่น่าเชื่อถืออันจะเป็นการปกป้องพระบรมราชวินิจฉัยมิให้ถูกมองว่าอยุติธรรมและพลการ? อัครมหาเสนาบดีที่ถูกปลดคงไม่ป่าวประกาศความผิดของตัวเป็นธรรมดาอยู่แล้ว และเพราะอัครมหาเสนาบดีนั้นเป็นมหาบุรุษ เขาย่อมมีผู้นิยมชมชอบซึ่งเห็นคล้อยตามเขาอยู่ไม่มากก็น้อย และ ณ จุดนี้ เราจะเห็นลักษณะของการริเริ่มให้มีฝ่ายค้านอย่างเป็นทางการในสยาม ซึ่งก็ไร้การควบคุมจากรัฐสภาอยู่เหมือนเดิม แต่ความวิบัติคงอุบัติแน่ ถ้าพระเจ้าแผ่นดินทรงประสงค์จะปลดอัครมหาเสนาบดี และผู้นั้นได้รับความสนับสนุนจากประชาชนโดยทั่วกัน แม้ในกรุงเทพฯ เพียงแห่งเดียว

8.มีอีกสิ่งหนึ่งซึ่งในสยามยังแตกต่างจากประเทศทางยุโรปที่มีรูปแบบการปกครองด้วยอัครมหาเสนาบดี ในประเทศอย่างอังกฤษหรือฝรั่งเศสที่มีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลตามเจตจำนงของรัฐสภา หรือแม้ในรัสเซียสมัยก่อนที่มีการเปลี่ยนแปลงเสนาบดีตามพระราชประสงค์ขององค์กษัตริย์อยู่บ่อยครั้ง ในประเทศเหล่านั้น ได้จัดระเบียบกรมกองราชการให้ข้าราชการประจำเป็นผู้ขับเคลื่อนการงาน ส่วนเสนาบดีนั้นเพียงแต่กำกับนโยบาย ฉะนั้น การเปลี่ยนเสนาบดีจึงไม่กระทบกระเทือนการงานของกรมกอง ทีนี้ ในสยามเรา ไม่ว่าจะเป็นอย่างไรในสมัยปัจจุบันนี้ และข้าพระพุทธเจ้าเห็นว่า คงจะอีกสักช่วงในอนาคตด้วย เสนาบดีเป็นกระดูกสันหลังของกระทรวงที่ตนเป็นหัวหน้า ความสามารถของเสนาบดีนั้นยังเห็นได้ชัดว่ามีผลต่อการจัดระเบียบและการงานในกรมกองนั้น นั่นเป็นเหตุผลว่า ทำไมจึงหาผู้มีความสามารถจริง ๆ มาเป็นหัวหน้ากรมกองในกระทรวงได้ยาก แม้จะไม่เปลี่ยนตัวเสนาบดีอย่างสม่ำเสมอก็ตาม ถ้าเสนาบดีกลายเป็นตำแหน่งชั่วคราวก่อนที่จะมีการจัดระเบียบทั่วทั้งกระทรวงอย่างเดียวกับในประเทศทางยุโรปแล้ว ข้าพระพุทธเจ้าเกรงระเบียบวินัยท้องถิ่นเราคงพังทลายไปด้วย และเพราะจะไม่ได้จดจ่ออยู่กับผู้บังคับบัญชาคนเดียวเสมอ ๆ อีก การกะเก็งว่าใครจะมาเป็นหัวหน้าก็คงเกิดขึ้นอยู่เป็นนิจ อาจโต้แย้งได้ว่า เป็นที่คาดหมายอยู่แล้วว่า อัครมหาเสนาบดีจะแก้ไขความบกพร่องเหล่านั้นทั้งหมด แต่จากสภาพของสิ่งต่าง ๆ ที่มีในประเทศนี้ดังที่พรรณนามาข้างต้นแล้ว คนคนเดียวจะทำได้หรือ? อาจโต้แย้งอีกว่า เราจะรู้คำตอบก็ต่อเมื่อเราลองทำตามแนวคิดนั้นแล้ว แต่เราจะลองเสี่ยงเพียงเพื่อแนวคิดแนวเดียวไปทำไมในเมื่อไม่จำเป็นเลย

9.ข้าพระพุทธเจ้าไม่ประสงค์จะให้เข้าใจว่า ข้าพระพุทธเจ้ามองว่า การปกครองแบบมีรัฐสภา และระบบปกครองแบบมีอัครมหาเสนาบดีนั้น จะไม่เหมาะแก่สยามเสมอไป ข้าพระพุทธเจ้าเพียงยืนยันว่า การปกครองทั้งสองอย่างนั้นไม่เหมาะและไม่เป็นที่ปรารถนาภายใต้สภาวการณ์และพฤติการณ์ที่เป็นอยู่ในสยามยามนี้ และผลลัพธ์คงจะหายนะ แม้แค่นำระบบปกครองโดยอัครมหาเสนาบดีมาใช้เพียงอย่างเดียว ณ ตอนนี้ สิ่งที่สยามต้องการโดยด่วนกว่าสิ่งอื่นใด คือ การแก้ไขเรื่องเลวร้ายที่มีมาตั้งแต่ก่อนพระองค์จะเสด็จสู่ราชสมบัติ และการจัดระเบียบการบริหารราชอาณาจักรให้มีประสิทธิภาพ ในเรื่องนี้ พระองค์เองได้ทรงบำเพ็ญพระราชกิจอันยิ่งใหญ่ ซึ่งจะสดุดีเช่นใดก็ไม่มีทางเกินเลยไปได้ ก็คือ การจัดตั้งอภิสภา และทรงร่วมงานกับสภานั้นด้วยพระองค์เองอย่างซื่อตรงและทรงพระวิริยะ จนเกิดผลลัพธ์น่าพึงใจ คือ ได้ฟื้นฟูศรัทธาในรัฐบาล สร้างสมดุลแก่งบประมาณของชาติ และยับยั้งการยักยอกและฝ่าฝืนระเบียบในวงราชการ ด้วยการขจัดบุคคลไม่พึงประสงค์ออกไปจากตำแหน่งหน้าที่ และนำคนที่มีความสามารถเข้ามาทำงานจัดระเบียบคณะบริหารเสียใหม่ เราไม่ควรลืมว่า การงานดี ๆ ทั้งหลายที่พระองค์ทรงยังให้สัมฤทธิ์ผลนั้นได้ลงมือทำ[3] ภายในสิบเดือนที่ผ่านมานี้ และมีงานอีกมากจะให้ทำกัน และ "โรมมิได้สร้างในวันเดียว" ถึงแม้จะนำสิ่งสร้างสรรค์ใหม่นั้นเข้ามา ข้าพระพุทธเจ้าก็ไม่แน่ใจว่า จะสัมฤทธิ์ผลได้รวดเร็วกว่ากัน หรือยิ่งไม่ต้องพูดถึงว่าจะดีกว่ากันหรือไม่ ข้าพระพุทธเจ้าเป็นคนแก่ และอาจมองว่า โดยสภาพแล้วเป็นคนหัวโบราณ แต่ข้าพระพุทธเจ้าขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตที่จะเอ่ยถามด้วยความเชื่อฝังใจจริงว่า ระบบปัจจุบันนี้ปรากฏข้อผิดพลาดหรือข้อเสียตรงไหนที่เป็นภัยต่อสวัสดิภาพหรือฉุดรั้งความก้าวหน้าของสยาม ถ้าให้ระบบนี้คงอยู่ต่อไป? มีความจำเป็นอย่างชัดเจนและชวนคล้อยตามว่าต้องแก้ไขเปลี่ยนแปลงแบบถึงรากเลยหรือไม่? ระบบปัจจุบันนี้ ถ้าพบว่าไม่มีประโยชน์อีกต่อไป หรือประสานประโยชน์ได้แล้วไซร้ ข้าพระพุทธเจ้าไม่คิดว่า จะมีสมาชิกคนใดในอภิสภารีรอที่จะแก้ไขเรื่องนั้น แม้ด้วยการยุบ[4] สภาของตัวลงก็ตาม แต่ถ้ายังมองว่าอภิสภามีประโยชน์อยู่ไซร้ ข้าพระพุทธเจ้าก็ใคร่ถวายคำแนะนำว่า ทรงมีพันธะที่จะต้องระงับการแต่งตั้งอัครมหาเสนาบดีดังที่เสนอกันนั้นเสีย ไม่ว่าข้อเสนอจะกำหนดไว้อย่างไรก็ตาม ตราบที่ความมีประโยชน์ของอภิสภายังเกี่ยวข้องอยู่ แม้กับช่วงชีวิตของชายชราทั้งหลายที่บัดนี้ทำหน้าที่ในสภานั้น[5]

10.ข้าพระพุทธเจ้าได้รับเกียรติอันยิ่งใหญ่และน่าชื่นชูใจจากการที่ทรงเอ่ยนามข้าพระพุทธเจ้าไว้ในพระราชบันทึกว่า เป็นหนึ่งในคนกลุ่มแรก ๆ ที่สนับสนุนแนวคิดของพระองค์อย่างหนักแน่นในการจัดตั้งอภิสภา ข้าพระพุทธเจ้ากระทำเช่นนั้นด้วยเชื่อถือหมดใจว่า มีแต่สภาเยี่ยงนั้นที่จะใช้การเพื่อบริหารสยามอย่างราบรื่นในพฤติการณ์ปัจจุบันนี้ได้ แม้เป็นเช่นนั้น ถ้าข้าพระพุทธเจ้าจำไม่ผิด ข้าพระพุทธเจ้ายังได้ถวายความเห็นต่อพระองค์ด้วยว่า ข้าพระพุทธเจ้าไม่คิดว่า ระบบการปกครองด้วยอัครมหาเสนาบดีนั้นจะใช้ได้ในสยาม ดังนั้น จึงเป็นความภาคภูมิใจและพึงพอใจอย่างหนึ่งของข้าพระพุทธเจ้าที่ได้เห็นผลลัพธ์จากการที่พระองค์ทรงจัดตั้งอภิสภา เพราะทำให้ข้าพระพุทธเจ้ารู้สึกว่า คิดถูกแล้วที่สนับสนุนพระองค์ และข้าพระพุทธเจ้าหวังจะให้พระองค์ได้ทรงทราบว่า เป็นความปลาบปลื้มของข้าพระพุทธเจ้าโดยแท้ที่เมื่อนั่งประชุมในสภานี้ ได้เห็นและสัมผัสว่า สมาชิกสภาทุกคนนับแต่พระเจ้าแผ่นดินลงมาพากันละทิ้งอัตตาส่วนตัวทุกประการแล้วประสานมือกันเพื่อประโยชน์ของสยามเพียงสิ่งเดียว

11.ว่าด้วยเรื่องการปกครองแบบมีรัฐสภาไม่อาจมีได้ในสยาม จนกว่าประชาชนจะได้รับการศึกษาจนพอเข้าใจความรับผิดชอบของตนในการเลือกตั้งนั้น ข้าพระพุทธเจ้าเห็นพ้องกับพระยากัลยาณฯ ทุกประการ และคิดว่า เขากล่าวถูกต้องทีเดียว ข้าพระพุทธเจ้าเพียงใคร่เพิ่มเติมว่า เมื่อใดที่เห็นว่า สถาบันอภิสภาไม่มีประโยชน์อีก หรือเมื่อถึงกาลสมัยที่พระองค์จะทรงพิจารณาจัดตั้งการปกครองแบบมีรัฐสภาแล้ว ก็ค่อยยกคำถามเรื่องการปกครองด้วยอัครมหาเสนาบดีขึ้นพิจารณากัน

12.ว่าด้วยเรื่องก่อตั้งสถาบันเทศบาลนั้น[6] ข้าพระพุทธเจ้าไม่จำต้องวิจารณ์จุดเริ่มต้นการปกครองแบบมีผู้แทนไว้ในบันทึกนี้ เพราะเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ข้าพระพุทธเจ้าเห็นด้วยและสนับสนุนพระราชดำริของพระองค์มาตั้งแต่ก่อนพระองค์ขึ้นทรงราชย์แล้ว เฉกเช่นเดียวกับที่ข้าพระพุทธเจ้าสนับสนุนพระราชดำริในการจัดตั้งอภิสภา

1 สิงหาคม 1926

หมายเหตุ

แก้ไข
  1. อันที่จริง คำว่า "รัฐสภา" ดูเหมือนจะใช้อย่างเป็นทางการครั้งแรกในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2489 ส่วน ณ เวลาตามเอกสารนี้ (พ.ศ. 2469) เรียกหน่วยงานนี้กันอย่างไรในภาษาไทยก็ยังค้นไม่พบ พบแต่พระบรมราชาธิบายของรัชกาลที่ 5 เมื่อ พ.ศ. 2430 ทับศัพท์ว่า "ปาลิเมนต์" (จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ, 2470, น. 63) ในคำแปลนี้จึงใช้คำว่า "รัฐสภา" ไปก่อน
  2. 2.0 2.1 ชื่อเต็ม คือ "อภิรัฐมนตรีสภา" ภาษาอังกฤษใช้ว่า "Supreme Council of State" ดูเพิ่มเติมที่ สถานีย่อย:อภิรัฐมนตรีสภา
  3. คำว่า "done" อาจมองว่า เป็นคำคุณศัพท์ (แปลว่า สำเร็จ, เสร็จสิ้น ฯลฯ) หรือเป็นคำกริยา (ช่อง 3 ของ "do" แปลว่า ทำ, ลงมือทำ ฯลฯ) ก็ได้ ในที่นี้มองอย่างหลัง เพราะข้อความที่ตามมาเอ่ยถึงการมีงานมากมายให้ทำ
  4. ต้นฉบับว่า "desolution" ซึ่งคงเป็นการเขียนหรือพิมพ์ "dissolution" (ยุบ, ยุติ, เลิก ฯลฯ) ผิด ในที่นี้จึงแปลตามความหมายของ "dissolution"
  5. ข้อความส่วนหลัง ๆ นี้ ต้นฉบับเขียนหรือพิมพ์ผิดเยอะมากจนแทบอ่านไม่รู้เรื่อง การแปลจึงเป็นไปเท่าที่จับใจความได้
  6. หมายถึง การวางระบบเทศบาล หรือการจัดองค์การเทศบาล ซึ่งเมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว ปรากฏผลเป็นพระราชบัญญัติจัดระเบียบเทศบาล พุทธศักราช 2476 (2477)

บรรณานุกรม

แก้ไข

ต้นฉบับ

แก้ไข
  • ดำรงราชานุภาพ, พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระ. (2545). Memorandum of 1 August 1926. ใน แผนพัฒนาการเมืองไปสู่การปกครองระบอบ "ประชาธิปไตย" ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ. 2469–2475) (น. 193–197). (พิมพ์ครั้งที่ 4). นนทบุรี: สถาบันพระปกเกล้า. (สถาบันพระปกเกล้าจัดพิมพ์ในงานพิธีเปิดพิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว วันที่ 7 ธันวาคม พุทธศักราช 2545). ISBN 9743000372.

อ้างอิง

แก้ไข