งานแปล:สอดส่องหลายท้องถิ่น: สยาม/บทที่ 12

สอดส่องหลายท้องถิ่น: สยาม (พ.ศ. 2451) โดย เออร์เนสต์ ยัง, แปลจากภาษาอังกฤษ โดย วิกิซอร์ซ
บทที่ 12 อาหารและเครื่องแต่งกาย
บทที่ 12
อาหารและเครื่องแต่งกาย

ห้องที่ขาดไม่ได้เป็นแห่งที่สามในบ้านชาวสยาม คือ ครัว อันเป็นที่ตระเตรียมอาหารทั้งสองมื้อของแต่ละวัน ที่นั่นไม่มีชุดเตา[1] ประกอบอาหารและไม่มีที่ก่อไฟแบบยุโรป อาหารจะทำและน้ำจะต้มอยู่บนเตาถ่านเล็ก ๆ ซึ่งมักทำจากดินเผา เตาใบน้อยนี้มีรูปร่างอย่างถังน้ำ ตรงกลางมีถาดเจาะเป็นรู บนถาดนั้นเป็นที่ใส่ถ่าน ใต้ชั้นถาดนั้นมีโพรงอยู่ตรงด้านหนึ่งของเจ้าเครื่องครัวนี้ พัดจะโบกไปมาที่หน้าโพรงนั้นเพื่อให้มีลมมาโหมไฟ อากาศจะลอดผ่านโพรงนั้นขึ้นสู่รูทั้งหลายในถาด และฉะนั้น จึงช่วยให้ถ่านที่จุดแล้วยังคงลุกโพลง ขอบบนสุดขอบเตาจะรองรับหม้อดินเผาซึ่งใช้ทำอาหาร หม้อทุกใบต้องมีเตาเป็นของตนต่างหาก แต่เรื่องนี้ไม่เป็นที่ยุ่งยากนัก เพราะข้าวมักเป็นอาหารเพียงหนึ่งเดียวที่ต้องใช้ความร้อน อนึ่ง คงมีครัวไม่กี่แห่งที่มีที่ก่อไฟง่าย ๆ อย่างนี้เกินสองหรือสามจุด

ห้องที่ขาดไม่ได้เป็นแห่งที่สามในบ้านชาวสยาม คือ ครัว อันเป็นที่ตระเตรียมอาหารทั้งสองมื้อของแต่ละวัน ที่นั่นไม่มีชุดเตา[2] ประกอบอาหารและไม่มีที่ก่อไฟแบบยุโรป อาหารจะทำและน้ำจะต้มอยู่บนเตาถ่านเล็ก ๆ ซึ่งมักทำจากดินเผา เตาใบน้อยนี้มีรูปร่างอย่างถังน้ำ ตรงกลางมีถาดเจาะเป็นรู บนถาดนั้นเป็นที่ใส่ถ่าน ใต้ชั้นถาดนั้นมีโพรงอยู่ตรงด้านหนึ่งของเจ้าเครื่องครัวนี้ พัดจะโบกไปมาที่หน้าโพรงนั้นเพื่อให้มีลมมาโหมไฟ อากาศจะลอดผ่านโพรงนั้นขึ้นสู่รูทั้งหลายในถาด และฉะนั้น จึงช่วยให้ถ่านที่จุดแล้วยังคงลุกโพลง ขอบบนสุดขอบเตาจะรองรับหม้อดินเผาซึ่งใช้ทำอาหาร หม้อทุกใบต้องมีเตาเป็นของตนต่างหาก แต่เรื่องนี้ไม่เป็นที่ยุ่งยากนัก เพราะข้าวมักเป็นอาหารเพียงหนึ่งเดียวที่ต้องใช้ความร้อน อนึ่ง คงมีครัวไม่กี่แห่งที่มีที่ก่อไฟง่าย ๆ อย่างนี้เกินสองหรือสามจุด

ข้าวเป็นอาหารหลัก ข้าวนี้จะล้างสามหรือสี่ครั้งโดยเปลี่ยนน้ำใหม่ แล้วจึงใส่ลงในน้ำเย็นวางลงเหนือไฟถ่าน ทันใดที่น้ำเดือด จะเทน้ำทิ้ง และไอน้ำที่หลงเหลืออยู่จะเป็นตัวทำให้การหุงสำเร็จ เมื่อทุกสิ่งพร้อมสรรพ จะคดข้าวลงในจาน ข้าวแต่ละเมล็ดจะพองจนมีขนาดค่อนข้างใหญ่ มีเนื้อแห้ง และมีสีขาวราวหิมะ

แกงหลายชนิดกินกับข้าว แกงเหล่านี้ทำจากผัก ผลไม้ และปลา ในรายการอาหารยังปรากฏกบ กุ้งบูด[3] ปลาเน่า[4] และของกินชิ้นเล็กชิ้นน้อยอย่างอื่น แกงทั้งหมดแต่งรสอย่างหนักด้วยน้ำส้มสายชู พริกไทย และเครื่องเทศรสฉุน ชาวสยามคุ้นเคยกับอาหารที่แต่งรสแรงเหล่านี้มากเสียจนอาจมองว่า อาหารตุรกีและพุดดิงพลัมนั้นไร้รสชาติและจืดชืดอย่างสิ้นเชิง ซอสชนิดหนึ่งซึ่งใช้กันดาษดื่นประกอบด้วยพริก กุ้งเน่า[3] พริกไทยดำ กระเทียม หัวหอม น้ำมะนาว ขิง และน้ำเกลือ!

เมื่อสมาชิกในครอบครัวนั่งลงรับประทานอาหาร เขาจะนั่งยอง ๆ กันบนพื้น เอาข้าวถ้วยใหญ่วางไว้กลางวง แล้วเอาแกงชามน้อยเรียงรอบข้าวนั้น ทุกคนต้องช่วยเหลือตนเอง ดังนั้น ใครไวสุดก็ได้ส่วนแบ่งมากสุด มีไม่การใช้ส้อมหรือมีด และบ่อยครั้งเหลือเกินที่ช้อนก็ยังไม่พอใช้ ในกรณีเช่นนั้น จะใช้นิ้วมือแทนช้อน และนิ้วมือก็ดูจะสนองความต้องการได้เท่าเทียมช้อนเป็นอย่างดี แน่ล่ะ นิ้วย่อมจะมันเยิ้มและเหนียวหนืด แต่จะเอาเข้าปากและเลียให้หมดจดอีกครั้งก็ทำได้โดยง่ายและคล่องดี

สมาชิกแต่ละคนในครอบครัวทำอาหารเป็น ทั้งพ่อ แม่ และลูก เพราะอาหารที่ต้องเตรียมนั้นมีไม่กี่อย่าง และการเตรียมอาหารเหล่านี้เป็นศิลปะที่ไม่นานก็ชำนาญ แต่ละวันจะกินอาหารกันเพียงสองมื้อ มื้อแรกตอนเช้า ส่วนอีกมื้อตอนหัวค่ำ ระหว่างมื้อมีการดื่มชา สูบยา และเคี้ยวหมาก มื้ออาหารนั้นค่อนข้างจะไม่เป็นเวล่ำเวลา และเป็นประจำที่สมาชิกผู้ท้องหิวจะไม่รั้งรอคนที่ยังไม่ใคร่อยากอาหาร กระนั้น ทุกครั้งก็เริ่มมื้อกันทันที่ที่ข้าวสุก ในหมู่ผู้ร่ำรวย ผู้ชายจะกินก่อนและกินตามลำพัง สิ่งใดที่ผู้ชายกินเหลือจะนำมาให้เมียและลูกต่อ และเดนสุดท้ายจากอาหารทั้งหมดจะโยนให้สุนัข

สำหรับของว่างนั้น มีผลไม้หลายประเภท บางประเภทก็ไม่เป็นที่รู้จักในประเทศเรา ในเหล่าผลไม้ยอดนิยมนั้นมีมะพร้าวอ่อน, กล้วยสุกงอม, มะม่วง ซึ่งทีแรกรสชาติเหมือนน้ำมันสนปนกับแคร์รอต แต่ฝืนกินไปไม่กี่คำก็พบว่า บรรเจิดเลิศลิ้นเหมือนกินแอปเปิลหรือผลแพร์, มังคุด ซึ่งมีผลกลมหวานและขาวราวกับหิมะจัดวางอยู่ในตลับสีแดงก่ำ, ทุเรียน ซึ่งกลิ่นเยี่ยงท่อน้ำเน่า แต่รสชาตินั้นเล่า หากผู้ใดคุ้นชินแล้ว จะเหมือนมีสตรอว์เบอร์รี น้ำแข็ง น้ำผึ้ง และสรรพสิ่งอื่น ๆ ซึ่งกินแล้วรื่นรมย์ ประสมกันอยู่

เมื่อเสร็จมื้อ แต่ละคนจะล้างถ้วยข้าวของตน แล้วคว่ำไว้ในตะกร้าตรงมุมห้องเพื่อให้น้ำหยดและแห้งไป จนกว่าจำเป็นต้องใช้อีกครั้ง

เครื่องแต่งกายนั้นเป็นสิ่งของง่าย ๆ ยิ่งนัก สิ่งต่าง ๆ อย่างสมัยนิยมนั้นหามีไม่ เด็กเล็กสุดไม่สวมใส่ผ้าผ่อนสักชิ้น แต่บางทีก็มีสร้อยปะการังหรือลูกปัด ผ้าที่นุ่งหุ้มท่อนล่างของร่างกายนั้นเป็นแบบเดียวกันสำหรับทุกคน ทั้งเจ้าและไพร่ ทั้งหญิง ทั้งชาย และเด็ก ดังที่เห็นในรูปวาดและรูปถ่าย ผ้านี้คล้ายกับกางเกงกระสอบ[5] ป่อง ๆ ตัวหนึ่ง ประกอบด้วยริ้วผ้ายาวมีสี ขนาดและรูปลักษณ์โดยประมาณนั้นเหมือนผ้านุ่งอาบน้ำ วิธีสวมใส่ผ้านี้ไว้รอบกาย เขียนอธิบายบนกระดาษได้ไม่ง่าย แต่ก็พอจะกล่าวให้ฟังได้ดังนี้ เขาไม่มีเข็มหมุด สายผูก กระดุม หรือเครื่องรั้งอย่างใด ๆ เลย แต่จะบิดและพันเจ้าสิ่งที่เรียกว่า ผ้านุ่ง นั้นอย่างหลักแหลมกันเหลือเกิน ชนิดที่สวมใส่ได้ทุกเวลาและทุกสภาวะโดยไม่ต้องเกรงว่า จะเกิดหลุดลุ่ยได้ ท่านอาจใส่มันวิ่ง ใส่มันนอน หรือใส่มันว่ายน้ำ และท่านจะรู้สึกเย็นสบายอย่างเยี่ยมยอดตลอดเวลา นี่เป็นเครื่องนุ่มห่มแบบพื้นเมืองเพียงชิ้นเดียวที่ผู้ชายใช้ แต่ในราชธานี และในที่อื่น ๆ ที่พบเจอคนขาวได้ ผู้คนหัดสวมเสื้อนอกทำจากลินินสีขาวกันแล้ว เสื้อนอกนี้ติดกระดุมขึ้นมาถึงคอ และไม่จำเป็นต้องมีปกคอและเสื้อในแต่อย่างใด รองเท้ากับถุงเท้านั้นก็ไม่ปรากฏ เว้นแต่ในแหล่งที่ชาวยุโรปไปสอนให้ใช้ข้าวของเหล่านี้แล้ว ฝ่าเท้าจึงด้านหนักหนา จนเวลาผ่านไป ก็จะกลายเป็นเหมือนหนังเกือกเสียเอง อนึ่ง เท้าที่เป็นแผลหรือบาดเจ็บนั้นพบเห็นได้ไม่บ่อยนัก

ผู้หญิงสวมผ้าคลุมไหล่มีสี เรียกว่า ผ้าห่ม[6] ซึ่งพันไว้รอบกายท่อนบน นี่เป็นสิ่งเดียวที่แม่หญิงแห่งสยามได้คิดค้นเพิ่มเติมขึ้นจากเครื่องแต่งกายของชาย ส่วนหมวกนั้น ไม่มีของอะไรเช่นนั้นดอก เว้นแต่ของประดิษฐ์ไม่กี่อย่างที่สานด้วยฟางและดูคล้ายตะกร้าคว่ำ[7] ผู้หญิงสวมเจ้าสิ่งนี้ยามนั่งขายของในตลาด

ผ้านุ่งและผ้าห่มนั้นทำจากวัสดุสีสดใส ฝูงชนชาวสยามจึงเป็นทัศนียภาพสดสวยเหมือนแกล้งวาดอยู่เสมอ ตามความเชื่อโชคลางมากมายที่แพร่หลายในประเทศนี้มีแขนงหนึ่งว่า แต่ละวันในสัปดาห์นั้นอยู่ใต้อิทธิพลของดาวบางดวงอย่างเจาะจง และเพื่อจะมีโชคดีตลอดวัน เราต้องสวมเครื่องนุ่งห่มและอัญมณีสีเดียวกับดาวที่มีอิทธิพล คนรวยหลายคนยึดถือธรรมเนียมนี้เป็นจริงเป็นจัง และใส่ผ้าไหมสีแดงกับทับทิมในวันอาทิตย์เพื่อเชิดชูดวงอาทิตย์ ใส่สีขาวกับพลอยจันทรกานต์ในวันจันทร์ วันแห่งดวงจันทร์ ใส่สีแดงอ่อนกับปะการังในวันอังคาร วันแห่งดาวอังคาร ใส่สีเขียวกับมรกตในวันพุธ วันแห่งดาวพุธ ใส่ผ้าลายแถบกับแก้วตาแมวในวันพฤหัสบดีของดาวพฤหัสบดี ใส่สีน้ำเงินยวงกับเพชรในวันศุกร์ซึ่งดาวศุกร์มีอิทธิพล และใส่สีน้ำเงินเข้มกับไพลินในวันเสาร์ซึ่งดาวเสาร์เป็นดาวประธาน

หมายเหตุ

แก้ไข
  1. เรนจ์ คือ ชุดเตาไฟที่ประกอบด้วยเตาไฟย่อย ๆ อยู่ด้านบนและเตาอบอยู่ด้านล่าง ดู รูปที่ 1
  2. เรนจ์ คือ ชุดเตาไฟที่ประกอบด้วยเตาไฟย่อย ๆ อยู่ด้านบนและเตาอบอยู่ด้านล่าง ดู รูปที่ 1
  3. 3.0 3.1 อาจหมายถึง กะปิ
  4. อาจหมายถึง ปลาร้า
  5. นิกเกอร์บอกเกอส์ คือ กางเกงกระสอบแบบหนึ่ง ดู รูปที่ 2
  6. อาจหมายถึง สไบ
  7. อาจหมายถึง งอบ