งานแปล:สอดส่องหลายท้องถิ่น: สยาม/บทที่ 2
ตลาดน้ำ บางกอก หน้า 7 |
ในเวนิสตะวันออก
บางกอก ราชธานีปัจจุบันของสยาม ได้รับการขนามนามว่า "เวนิสตะวันออก" ด้วยเหตุที่มีทางน้ำเหลือคณานับ พื้นที่ทั้งหมดนั้นทะลุผ่านด้วยลำคลองทุกขนาดและลักษณะที่สามารถจะมีได้ มีคลองที่เป็นเหมือนถนนหลวงสายใหญ่ซึ่งอาจเห็นเรือขนาดยักษ์ขนถ่ายข้าว ผลไม้ และผลิตภัณฑ์อื่นจากนาไร่และเรือกสวน ผ่านเข้าและออก ทั้งมีตรอกน้ำเล็กจิ๋วซึ่งมีใบกว้างใหญ่ของต้นมะพร้าวพริ้งเพราแผ่ลาดลงมาเหนือลำน้ำเอื่อยเฉื่อย ที่ซึ่งนกแก้วสีหยกจากหมู่กิ่งไม้เขียวชอุ่มจะรุมกรีดร้องใส่ท่าน และจระเข้ดำขลับอัปลักษณ์จะพักผ่อนนอนหลับอยู่ในโคลนหนาหนืด
ตามข้าง "ถนน" นั้นมีเรือนแพซึ่งผู้คนอยู่อาศัยเป็นแถวเป็นแนวเหยียดยาว เรือนแต่ละหลังนี้ลอยอยู่บนแพใหญ่ทำจากมัดไผ่ซึ่งแยกกันได้ต่างหาก ดังนั้น เมื่อพื้นลอยน้ำนี้เริ่มเน่าเปื่อย ก็เอาไผ่มัดใหม่มาเปลี่ยนได้เป็นอัน ๆ ไปโดยไม่กระทบถึงผู้คนบนแพ แพนี้ผูกไว้อย่างลวก ๆ กับเสาไม้ท่อนใหญ่ซึ่งปักลึกลงไปถึงพื้นน้ำ ด้วยเหตุนั้น ตัวเรือนจึงเคลื่อนขึ้นและลงไปตามกระแสชล ที่หน้าเรือนจะมีชานหรือเฉลียงเล็ก ๆ เสมอ ผู้คนจะใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ตรงนั้น และถ้าเขาทำเป็นเปิดร้านรวงสักอย่าง เขาก็จะแสดงข้าวของที่ตนใคร่ขายเอาไว้ตรงนั้น ก็ตรงชานนี้เองที่สมาชิกทุกคนในครอบครัวจะอาบน้ำกัน เขาจะจุ่มขันหรือกระป๋องลงน้ำ ชักขึ้น แล้วจึงราดสิ่งที่ตักได้ลงบนหัวตน
เมื่อผู้พักอาศัยในเคหสถานลอยน้ำหลังใดหลังหนึ่งเหล่านี้มีความประสงค์จะโยกย้าย เขาไม่ต้องส่งใครไปเรียกรถหรือเกวียนมาขนเครื่องเรือน แต่เขาจะเพียงสับเปลี่ยนเรือน เครื่องเรือน และครอบครัวไปพร้อมกันทีเดียว ถ้าเขามีอันจะกินอยู่บ้าง เขาจะว่าจ้างเรือกลไฟมา และนาวาลำน้อยนี้จะลอยล่องและกู่ร้องขึ้นหรือลงไปตามแม่น้ำหรือลำคลอง แล้วแต่กรณี โดยชักลากเรือโนอาห์ย่อส่วนนั้นตามไปด้วย ในขณะเดียวกัน จะเห็นคนตัวเล็กตัวน้อยจากครอบครัวนั้นอยู่กันบนชานเรือน มีอารมณ์เกลื่อนไปด้วยความครื้นเครงที่ได้สัมผัสประสบการณ์ใหม่ ถ้าเจ้าของเรือนยากไร้กินกว่าจะว่าจ้างเรือกลไฟได้ เขาจะเรียกญาติสนิทมิตรสหายกล้ามโตมาช่วยสักพวกหนึ่ง และแล้ว เขาเหล่านั้นจะจัดการให้เรือนไปสู่ที่ตั้งใหม่ด้วยแรงสงเคราะห์ของไม้พายอันใหญ่รูปร่างอย่างพลั่ว
บางคนที่อาศัยอยู่บนน้ำหาได้พำนักในเรือนแพ แต่อยู่ในเรือ และด้วยเรือเหล่านี้ พวกเขาออกท่องไปทั่วได้เป็นระยะ ๆ สุดแล้วแต่ความเพ้อคิดหรือกิจธุระจะบัญชา หลายคนใช้ชีวิตทั้งชีวิตอยู่บนเรือ พวกเขาเกิดบนเรือ ได้รับการเลี้ยงดูอยู่บนเรือ ละเลยการเล่าเรียนอยู่บนเรือ เกี้ยวพานกันบนเรือ ตบแต่งกันบนเรือ และไม่มีวันจากสายน้ำไปจนชีวิตสิ้นสุด แล้วพวกเขาจะออกสู่หนทางยาวไกลอันชวนพิศวงนั้นซึ่งเรือหรือรถอันใดก็จะไม่อาจนำพาพวกเขากลับคืนมาได้อีก ในเรือไม่มีที่ว่างมากนัก แต่ผู้พำนักในเรือดูจะพอใจเป็นล้นพ้นกับพื้นที่ที่แบ่งให้ตน ที่จริง ชาวสยามดูจะมีความสุขและพอใจอย่างเปี่ยมล้นกันอยู่เสมอในทุกที่ พวกเขาเป็นหนึ่งในกลุ่มคนบนพื้นพิภพนี้ที่ครึกครื้นและชื่นมื่นเป็นที่สุด
ประชากรบนสายน้ำนั้นค่อนข้างสมบูรณ์พูนพร้อมในตนเองอยู่แล้ว และไม่ต้องอาศัยผู้อยู่บนบกให้ช่วยเหลือเกื้อกูลอันใดเลย บนน้ำใช่จะมีแต่เรือนแพ แต่ยังมีภัตตาคารลอยน้ำ โรงมหรสพลอยน้ำ และแม้กระทั่งเรือนจำลอยน้ำ ประชากรบนน้ำมีตลาดเป็นของตนอยู่ ณ ใจกลางอันกว้างใหญ่ของมหานาทีที่ถั่งโถมผ่านศูนย์กลางราชธานี ในตลาดนี้ ผู้ขายและผู้ซื้อเป็นหญิงโดยมาก เพราะหญิงนั้นหลักแหลมและกระฉับกระเฉงยิ่งกว่าชาย ตลาดจะตั้งต้นหลังพ้นเที่ยงคืนไปไม่ช้า และจะดำเนินไปจนถึงเจ็ดหรือแปดโมงเช้า ในยามดึกดื่นคืนค่ำ เรือจะประมวลกันอยู่ในลักษณะที่จะไม่เห็นห้วงน้ำว่างแม้สักนิ้วได้เลย[1] เรือเหล่านี้เพียบด้วยปลา ไข่ ข้าว และผลไม้ แต่ละลำมีตะเกียงดวงน้อยอยู่ตรงหัวเรือ และด้วยแสงสีเหลืองรำไรอันระยิบอยู่เหนือผิวน้ำงามวาวนี้ ท่านจะสามารถเหลือบเห็นหญิงผมดำผิวคล้ำง่วนอยู่กับการขายสินค้าของตน ทั้งยังหัวร่อและจ้อเจื้อยอยู่เรื่อยไปกับฝูงคนไร้กังวลที่เริงใจ พวกเขาช่างเหมือนกลุ่มเด็กครื้นเครงที่ได้ออกปิกนิกเป็นการใหญ่ ครั้นตะวันขึ้น พวกเขาจะออกจากบ้าน ทิ้งท้องน้ำซึ่งเคยมีหมู่เรือลำน้อยและสตรีงานวุ่นอยู่คลาคล่ำให้กลายเป็นเวิ้งว้างว่างเปล่า
นานทีปีหนจะมีใครสักคนตกเรือ และแม้จะมีคนตกลงไปในน้ำ ก็ไม่เป็นข้อสำคัญอันใดมากมาย เพราะไม่มีชาวสยามคนใดว่ายน้ำไม่เป็น ตอนที่เด็กยังตัวเล็กกระจ้อยร่อย แม่ ๆ จะผูกทุ่นสังกะสีขนาดใหญ่ไว้ใต้แขนลูกน้อย แล้วโยนเด็กเหล่านั้นลงไปในผืนน้ำอันอบอุ่นของลำคลองหรือแม่น้ำ ที่ซึ่งเด็กจะลอยตุ๊บป่องขึ้นลง ๆ ราวกับเศษไม้ก๊อกสีน้ำตาลหลายต่อหลายชิ้นที่ถูกทำให้มีชีวิตอยู่บนผิวน้ำ ทั้งนี้ เพราะเด็กก็เป็นแค่เด็ก
แน่นอนว่า มีหลายคนที่ใช้ชีวิตอยู่บนบก โดยเฉพาะในราชธานี และเราจะเล่าเรื่องบางเรื่องที่เนื่องด้วยบ้านเรือนพวกเขาในบทหลัง พื้นที่บกในราชธานีนั้นไม่ได้น่าสนใจมากนัก เว้นแต่ที่เป็นราชวังและวัดวา บ้านอิฐและถนนแบบใหม่ช่างทุเรศเหลือหลาย ส่วนบ้านไม้และถนนแบบเก่าก็เหม็นเน่าเหลือทน
สักหลายปีก่อน มีรถรางเทียมคันเก่าเคยวิ่งจากราชวังไปยังสถานที่จอดเรือกลไฟ แต่วันหนึ่ง วิศวกรชาวยุโรปสักกลุ่มเข้ามาเปลี่ยนแปลงเรื่องนี้ไปทั้งหมด พวกเขาจัดตั้งสายไฟฟ้าและให้วิ่งรถรางไฟฟ้า ชาวบ้านชาวเมืองพิศวงงงงวยมิใช่น้อย พวกเขาเห็นรถวิ่งไปตามถนน แต่กระนั้น ก็ไม่มีม้าหรือมนุษย์คอยลากจูงเลย สุดจะเกินสติปัญญาของพวกเขาที่จะเข้าใจว่า เหตุใดรถรางจึงเคลื่อนไปมาได้ ที่สุด พวกเขาก็สรุปเอาว่า ต้องมีภูตผีขับเคลื่อนมันอยู่เป็นแน่ ฉะนั้น พวกเขาจึงคุกเข่าลงบนพื้นแล้วสวดภาวนาต่อภูตผีในล้อรถเมื่อล้อหมุนไปรอบ ๆ ได้อย่างรวดเร็วและราบรื่น แต่ในบรรดาคนเหล่านี้มีไม่กี่คนที่กล้าเสี่ยงเข้าไปในรถ เย็นวันหนึ่ง พระเจ้าแผ่นดินและพระมเหสีเสด็จออกจากราชวังมาประทับรถรางแบบใหม่ และสิ่งที่พระเจ้าแผ่นดินทรงยกย่องนั้นก็เป็นประโยชน๋มากพอต่อพสกนิกรของพระองค์ ทุกวันนี้ รถได้ขนส่งผู้คนนับพันในหลายสารทิศ เพราะได้วางเส้นทางรถรางไว้ทั่วท้องถนนหลักทุกสายในราชธานีแล้ว
ตามท้องถนนไม่มียวดยานแบบพื้นเมือง นอกราชธานีออกไปก็ไร้ซึ่งถนน และผู้คนสัญจรไปทุกหนแห่งด้วยแหล่งน้ำ ครั้นสร้างถนนขึ้นเป็นครั้งแรกในบางกอก และเกิดความต้องการรถ ชาวสยามก็รับเอายวดยานมาจากประเทศอื่น พวกเขาเอารถลากมาจากญี่ปุ่น เป็นรถลากจูงขนาดใหญ่ชนิดหนึ่งซึ่งมีคนจีนอยู่กลางหว่างคาน ม้าในร่างคนนี้เหยาะย่างไปตามทางอย่างเร็วรวด และจะขนเราท่านไปเป็นทางค่อนข้างไกลแลกกับเงินกึ่งเพ็นนี
พวกเขายังเอารถแกร์รี[2] มาจากอินเดีย เป็นรถสี่ล้ออย่างหนึ่งซึ่งติดหน้าต่างบานเลื่อนไว้เหมาะเจาะรอบด้าน ชนิดที่คล้ายกับหน้าต่างตรงประตูตู้รถไฟ เว้นเสียแต่ว่า ที่กรอบหน้าต่างนั้นมักนำบานเกล็ดแบบเวนิสมาใส่ไว้มากกว่าจะเป็นบานกระจก คนขับรถแกร์รีนั้นไม่เป็นคนมลายูก็เป็นคนสยาม เขาจะสวมหมวกเฟซ[3] สีแดงและแจ็กเกตลินินสีขาว ยามฝนพรำ เขาจะถอดชุดออกเก็บไว้ใต้ที่นั่งเพื่อให้ชุดแห้ง ทันทีที่สายฝนจากลาและดวงอาทิตย์ออกมาอีกครั้ง เขาจะหยุดรถแล้วสวมชุดอีกหนหนึ่ง บังเหียนเขาทำจากเชือก และแตกพังบ่อยครั้งเหลือเกิน ดังนั้น ท่านจำต้องรอเมื่อพ่อสารถีของท่านแวะร้านใกล้เรือนเคียงเพื่อขอเชือกสักนิดมาใช้ซ่อมแซมจุดเสียหาย
หมายเหตุ
แก้ไข- ↑ ต้นฉบับว่า "an inch or water" แต่น่าจะพิมพ์ผิดจาก "an inch of water" ในที่นี้แปลโดยแก้ไขให้ถูก
- ↑ แกร์รี คือ รถโดยสารชนิดหนึ่ง เทียมด้วยม้า ใช้กันในอินเดียและอียิปต์ มาจากภาษาฮินดีว่า "คารี" (Dictionary.com 2022b) ดู รูปที่ 1
- ↑ เฟซ เป็นหมวกขนสัตว์ ทรงกรวยปลายตัด มักมีสีแดง ประดับด้วยพู่ยาวสีดำ ชายในอียิปต์และอเมริกาเหนือสวมใส่กัน เดิมเป็นศิราภรณ์ประจำชาติของชาวเติร์ก (Dictionary.com 2022a) ดู รูปที่ 2