งานแปล:สอดส่องหลายท้องถิ่น: สยาม/บทที่ 7
พุทธประวัติ
ศาสนาของชาวสยาม คือ ศาสนาพุทธ ศาสนาพุทธได้รับนามเช่นนั้นตามพระพุทธเจ้า ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งและเป็นผู้แรกที่เผยแผ่ศาสนานี้ พระพุทธเจ้ามีพระชนม์อยู่ในอดีตกาลนานแสนนานมาแล้ว จนเรารู้เรื่องราวของพระองค์เพียงน้อยนิดเหลือเกิน หลายร้อยปีหลังพระองค์นิพพาน จึงมีการเล่าขานเรื่องน่าอัศจรรย์เกี่ยวกับพระอานุภาพ พระเมตตาการุญ และพระปัญญาอันยิ่งใหญ่ของพระองค์ เนื่องจากเรื่องเหล่านี้ส่งต่อกันจากปากสู่ปาก จึงกลายเป็นเรื่องเหลือเชื่อขึ้นเรื่อย ๆ และในยุคปัจจุบัน นิทานเกี่ยวกับพระองค์นั้นมีมากมาย แต่มีค่ากว่าเทพนิยายนิดเดียว ในการเล่าต่อไปนี้ถึงบุรุษผู้ยิ่งใหญ่และน่าเลื่อมใส ข้อเท็จจริงอันเป็นที่รับรู้เกี่ยวกับพระชนมชีพของพระองค์ก็ดี ตำนานบางเรื่องเกี่ยวกับพระองค์เองและพระจริยวัตรของพระองค์ก็ดี ล้วนผสมปนเปกันอยู่ จึงต้องจำไว้ว่า พระพุทธเจ้าทรงเป็นบุรุษที่มีชีวิตอยู่จริงบนโลก และถึงแม้นิทานเกี่ยวกับพระองค์จะไม่น่าเชื่อถือสำหรับเรา แต่นิทานเหล่านี้ก็มีประโยชน์ในแง่ที่แสดงให้เราเห็นว่า คนอื่นเขาคิดอย่างไรเกี่ยวกับบรมครูผู้ชาญฉลาดและเป็นดั่งนักบุญของตน
ราว 500 ปีก่อนพระคริสต์ประสูติ พระพุทธเจ้าเสด็จสมภพ ณ หมู่บ้านเล็ก ๆ ในอินเดีย ซึ่งมีระยะเดินทางห่างจากพนารส[1] นครศักดิ์สิทธิ์ของชาวฮินดู เพียงไม่กี่วัน พระบิดาของพระองค์เป็นราชาของเผ่าศากยะ พระตระกูลของเจ้าชายน้อยมีนามว่า โคตมะ และในบทนี้เราจะใช้ชื่อนี้เรียกขานพระองค์บ่อยครั้งที่สุด แต่สาวกของพระองค์ไม่เรียกพระองค์ด้วยชื่อ โคตมะ ด้วยมองว่า เป็นกันเองและสนิทสนมเกินไป พวกเขาจะกล่าวถึงพระองค์ทุกครั้งด้วยฉายาบางอย่าง เช่น "ศากยสิงห์", "ภควันต์", "ชินราช", "โลกนาถ", "ธรรมราชา", และอื่น ๆ ในตอนที่พระองค์มีพระชนม์เพียง 7 วัน พระมารดาของพระองค์สิ้นพระชนม์ และพระเจ้าน้าของพระองค์จึงทรงเลี้ยงดูพระองค์สืบมา
เจ้าชายน้อยทรงเงียบขรึมและช่างคิด ทั้งดูจะไม่ทรงสำราญในการล่าสัตว์หรือฝึกฝนใช้กำลังอย่างใด ๆ อันจะยังให้พระองค์เหมาะสมต่อการเป็นผู้นำเผ่าของพระองค์ในการรบ ญาติสนิทมิตรสหายของพระองค์ และขุนนางผู้ใหญ่ในเผ่าศากยะ ไม่พึงใจในเรื่องนี้เป็นอย่างยิ่ง เพราะกริ่งเกรงว่า เมื่อศัตรูมาโจมตีพวกตน คงจะได้พบว่า เจ้าชายผู้เยาว์ทรงสู้เขาไม่ได้ในอันที่จะเป็นผู้นำของพวกตนในการณรงค์ ฉะนั้น พวกเขาจึงไปเฝ้าพระบิดาของพระองค์ และทูลความคับข้องใจว่า เจ้าชายน้อยไม่ทรงทำอันใด นอกจากปล่อยพระองค์ไปตามพระอัธยาศัย และไม่ทรงเล่าเรียนสิ่งใดที่เป็นประโยชน์เลย เมื่อโคตมะทรงทราบเรื่องนี้ ก็ทรงขอให้พระราชา ผู้เป็นพระบิดาของพระองค์ ทรงกำหนดวันที่พระองค์จะได้แสดงเรี่ยวแรงและทักษะในศิลปะอันสมชายชาตรีทั้งปวง ในวันนัดหมายนั้น ผู้คนนับพันมากันคับคั่งยังสถานที่เลือกไว้ชมการอันเจ้าชายจะทรงกระทำ เจ้าชายทรงทำให้ทุกคนประหลาดใจ เพราะทรงสามารถขี่อาชาตัวดุร้ายที่สุดและซัดหอกเล่มหนักที่สุดได้ พระองค์ยังทรงยิงเกาทัณฑ์ด้วยคันธนูที่บุรุษพันนายก็งอไม่ได้ และเสียงที่ทรงดึงเกาทัณฑ์นั้นได้ยินไกลออกไปถึง 7,000 ไมล์ หลังจากนี้แล้ว ผู้คนก็สงบปากสงบคำ เหลือแต่ความพิศวงงงงัน
ครั้นพระชนม์ได้ 19 ปี พระองค์ก็เสกสมรสกับลูกพี่ลูกน้องของพระองค์เอง ซึ่งเป็นหญิงสาวผู้งดงามและดีงามอย่างวิเศษ ส่วน 10 ปีหลังจากนั้น เราไม่ทราบอันใดเกี่ยวกับพระองค์เลย แต่เรามั่นใจว่า จะทรงมีชีวิตที่เงียบสงบ ทรงปฏิบัติต่อผู้คนรอบข้างด้วยความสุภาพอ่อนน้อม และไม่ทรงตระหนักมากมายถึงโรคภัยและความโศก วันหนึ่งในช่วงที่มีพระชนม์ราว 29 ปี ทรงราชยานไปถึงสนามหย่อนพระทัย ทรงเห็นชายผู้หนึ่งทรุดโทรมด้วยอายุ ทั้งอ่อนแอ ยากเข็ญ และลำเค็ญ และทรงขอให้ผู้ขับราชยานอธิบายภาพที่ทรงเห็น สารถีทูลตอบในเรื่องนี้ว่า คนทั้งปวงที่มีชีวิตมาจนสูงวัยย่อมอ่อนแอลงทั้งใจและกาย ดุจเดียวกับซากเก่าน่าสมเพชที่ได้เห็นในถนน อีกวันหนึ่ง ทรงเห็นชายผู้หนึ่งกำลังประสบโรคภัย และสารถีก็ทูลอธิบายอีกว่า คนทั้งหลายต้องประสบความเจ็บปวด ไม่กี่วันถัดมา ทรงเห็นศพ และทรงเข้าพระทัยเป็นครั้งแรกว่า มนุษย์ทุกคนต้องตาย อันเป็นข้อความจริงที่ทรงถูกปิดบังไว้ในช่วงที่ทรงพระเยาว์และเจริญพระชนม์ตลอดมาจนกระทั่งถึงชั่วโมงนั้น
โคตมะเศร้าพระทัยนักเมื่อตระหนักถึงความทุกข์ตรมที่มีอยู่ในโลก และทรงเริ่มตั้งคำถามว่า จะขจัดปัดเป่าสิ่งเหล่านั้นไปได้ทั้งหมดหรือไม่ จึงตัดสินพระทัยว่า จะต้องหลบลี้หนีไปอย่างลับ ๆ แล้วกลับกลายพระองค์เป็นฤๅษี จะทรงอยู่ห่างจากธานีและฝูงชน แล้วเฝ้าดูว่า จะทรงพบหนทางลดทอนความโทมนัสของเพื่อนมนุษย์ได้หรือไม่
ก็ประมาณช่วงนี้เองที่พระโอรสของพระองค์มีประสูติการ พระองค์ทรงรักพระโอรสนี้อย่างสุดพระทัยยิ่ง แต่ก็ทรงเห็นว่า ถ้าจะค้นหาหนทางสู่ความสุขแล้ว ก็ต้องปลดเปลื้องพระองค์เองจากเยื่อใยและความผูกพันทั้งหมดในทางโลก คืนหนึ่ง ทรงเข้าไปในห้องที่พระชายานอนบรรทมอยู่ ณ ที่นั้น ท่ามกลางแสงเหลืองสลัวของตะเกียง พระองค์ทรงเห็นพระโอรสและพระนางผู้มารดา พระหัตถ์ของพระนางวางอยู่บนทารกน้อยอย่างรักใคร่ มีดอกไม้โปรยปรายอยู่บนพื้นและรอบพระแท่น พระองค์ทรงประสงค์จะยกกุมารน้อยเข้ามาสู่อ้อมพระพาหาแล้วจุมพิตเขาก่อนเสด็จหนีไป แต่ก็ทรงเกรงว่า จะเป็นการปลุกผู้หลับใหลคนหนึ่งคนใดให้ตื่นขึ้นเสีย จึงทรงมองดูคนทั้งคู่อยู่นานสองนานเป็นกาลครั้งสุดท้ายด้วยสายพระเนตรเปี่ยมรัก และแล้ว ก็เสด็จลี้หนีไปในราตรี มีเพียงฉันนะ ราชสารถี โดยเสด็จ ภายใต้แสงเดือนเพ็ญเดือนกรกฎาคม พระองค์ทรงเร่งตะบึงไป ละทิ้งไว้ซึ่งบ้าน สมบัติ และผู้เป็นที่รัก เพื่อจักได้กลายพระองค์เป็นผู้ไร้วรรณะและคนเร่จร
และแล้ว มารผู้ชั่วร้ายก็ปรากฏกายต่อพระองค์ โดยล่อลวงพระองค์ให้ล้มเลิกแผนการไปสู่ชีวิตสันโดษ มารสัญญาต่อพระองค์ว่า ถ้าทรงหันกลับไปสู่สมบัติพัสถานและความสุขสบายในทางโลกไซร้ จะบันดาลให้พระองค์ได้ทรงครองโลกแต่ผู้เดียวภายใน 7 ทิวา ทว่า หาอาจโน้มน้าวโคตมะได้ไม่ และมารร้ายก็พ่ายแพ้ไป
เจ้าชายและสารถีขับขี่พาหนะกันต่อไปอีกหลายไมล์จนกระทั่งถึงริมฝั่งแม่น้ำแห่งหนึ่ง โคตมะทรงหยุดอยู่ตรงนั้น ชักพระขรรค์ออกตัดปอยผมยาวสลวยแล้วมอบให้ฉันนะ รับสั่งให้เขานำพาพระเกศา ม้าขี่ และเครื่องทรง มุ่งตรงกลับไปยังบ้านเกิดเมืองนอนของพระองค์ เพื่อที่พระญาติวงศ์และมิตรสหายจะได้รู้กันแน่ชัดว่า เกิดอันใดขึ้นกับพระองค์ ฉันนะตัดใจทิ้งนายไม่ลง แต่ก็จำต้องเชื่อฟังพระองค์
เมื่อฉันนะผละไปแล้ว โคตมะทรงเสาะหาถ้ำที่ฤๅษีพำนักกัน พระองค์ประทับอยู่ที่นั่นชั่วเวลาหนึ่ง โดยทรงอดอาหารและกระทำทุกรกิริยาด้วยหวังว่า วิธีนี้จะช่วยให้ทรงพบหนทางที่แท้จริงในการไปสู่ความสุขและความถูกต้องตามคลองธรรม พระองค์ทรงดำเนินพระชนม์ไปโดยไร้อาหารอยู่นานนัก และการทรมานที่ทรงกระทำต่อพระองค์เองนั้นก็รุนแรงหนัก จนวันหนึ่งถึงกับทรงล้มลงโดยไร้เรี่ยวแรง ทุกคนคิดว่า พระองค์สิ้นพระชนม์แล้ว แต่ผ่านไปสักครู่ก็ทรงฟื้นคืน เมื่อทรงได้พระสติกลับมาอีกครั้ง ก็ทรงให้รู้สึกว่า ชีวิตที่ต้องคอยข่มตนและผจญความทุกข์ทนเช่นนี้จะไม่นำไปสู่สิ่งที่กำลังทรงแสวงหาได้ ดังนั้น จึงทรงเลิกอดอาหาร และรับประทานข้าวปลาอีกครั้งดุจดังคนปรกติ ฉะนี้เป็นเหตุให้สาวกสองสามรายที่ได้มาอยู่กับพระองค์ในที่สันโดษเกิดความรังเกียจ และพวกเขาก็หนีหายไป ทิ้งให้ทรงอยู่ลำพังพระองค์เอง ครั้นเขาไปแล้ว พระองค์ก็ทรงเดินทอดพระชงฆ์ไปตามฝั่งแม่น้ำใกล้เคียง ก็ในขณะที่ทรงพระดำเนินไปนั้น บุตรีชาวบ้านคนหนึ่งมาถวายอาหารบางอย่างต่อพระองค์ พระองค์ทรงรับไว้ และเสด็จไปประทับนั่งใต้ร่มไม้ใหญ่ ต้นไม้นี้เป็นที่รู้จักว่าต้นโพในหมู่ชาวพุทธทั้งผอง และเป็นของศักดิ์สิทธิ์ต่อพวกเขาเท่า ๆ กับที่กางเขนเป็นสำหรับชาวคริสต์ ในเวลาที่ทรงนั่งใต้ต้นไม้นั้น โคตมะทรงครุ่นคำนึงถึงอดีตและอนาคตอย่างเป็นจริงเป็นจัง พระองค์ทรงรู้สึกผิดหวังกับความล้มเหลวและการสูญเสียเพื่อนฝูงผู้ล่วงลับ มารร้ายมาหาพระองค์อีกครา และพรรณนาต่อพระองค์ด้วยเสียงกระซิบกระซาบถึงความรักและอำนาจ ถึงราชทรัพย์และเกียรติยศ แล้วเร่งเร้าให้พระองค์ทรงมุ่งมองหาบ้าน ภรรยา และบุตร โคตมะทรงนั่งอยู่ใต้ต้นโพถึง 48 วัน 48 คืน มีพระทัยลังเลไปในเรื่องที่ว่า หน้าที่ของพระองค์คืออะไร ในบั้นปลายแห่งช่วงเวลานั้น ความสงสัยก็สิ้นสูญ ความกระจ่างก็เพิ่มพูนในพระทัย ภัยพายุก็ยุติ และพระองค์ก็ทรงกลายเป็น "พระพุทธเจ้า" กล่าวคือ "ผู้รู้แจ้ง" บัดนี้ ทรงรู้แล้วว่า เป็นหน้าที่ของพระองค์ที่จะต้องทรงจาริกไปเทศนาประชาชนถึงหนทางสู่ความสุขและสันติ แสดงให้เขาเห็นวิธีหลีกลี้จากทุกข์โศก และวิธีที่แม้กระทั่งจะพิชิตความตายนั้นเองก็ยังได้ ทีนี้ ถ้าจะให้บรรยายต่อท่านว่า พระพุทธเจ้าทรงเทศนาอะไรให้คนผู้มีใจจะรับฟังพระองค์บ้าง ก็คงจะใช้เวลายืดยาวเหลือเกิน บางทีเมื่อท่านโตขึ้น ท่านต้องหาอ่านเรื่องนี้เองในหนังสืออื่น
บัดนี้ โคตมะทรงกลับคืนสู่พนารส[1] และทรงปราศรัยต่อทวยเทพ หมู่มนุษย์ และส่ำสัตว์มากมาย แต่ละคนมาเป็นกลุ่มใหญ่ ไม่ว่าจะใช้ภาษาอันใด ก็สามารถเข้าใจถ้อยคำขององค์ปาฐก และกระทั่งนกบนฟ้า และสิงห์สาในทุ่ง ก็รับรู้ได้ดุจกันว่า ผู้ทรงปัญญากำลังกล่าวแก่ตน พระองค๋ทรงพำนักในแคว้นพนารสเป็นเวลานาน โดยทรงรวบรวมชายหญิงจำนวนหนึ่งซึ่งตั้งใจจะทำตามที่ตรัสไว้รอบ ๆ พระองค์ ครั้นฤดูฝนพ้นผ่าน พระองค์ก็ทรงกระจายพวกเขาออกไป โดยทรงส่งคนเหล่านั้นไปในทุกสารทิศเพื่อนำพาพระโอวาทของพระองค์ไปสู่ผู้ใดก็ตามที่ได้พบเจอ ส่วนพระองค์เองนั้นเสด็จไปยังประเทศถิ่นเดิมของพระองค์ ด้วยพระบิดาได้ส่งคนมาแจ้งว่า บัดนี้ ทวีพระชันษามากแล้ว และใคร่จะได้เห็นพระโอรสอีกสักหนก่อนวายพระชนม์ พระเจ้าอาของโคตมะโกรธกริ้วต่อโคตมะยิ่งนัก และเมื่อโคตมะเสด็จถึงเมืองที่พระบิดาทรงอาศัยอยู่ เหล่าพระเจ้าอาก็หาได้ถวายอาหารแก่โคตมะไม่ ฉะนั้น ครั้นเช้าตรู่ โคตมะก็ทรงบาตรและเสด็จออกไปขออาหารประจำวัน เมื่อพระบิดาได้สดับเรื่องนี้ ก็มีความพิโรธเป็นกำลัง ด้วยทรงเห็นว่า น่าอดสูที่ราชกุมารจะมาเดินดุจขอทานสามัญชนเที่ยวขอบริจาคจากบ้านหนึ่งสู่อีกบ้านหนึ่ง พระเจ้าแผ่นดินจึงทรงไปพบพระพุทธเจ้าและกล่าวบริภาษพระองค์ แต่แล้วไม่ช้า ความโมโหโกรธาก็ปลาสนาการไปในความรัก และพระบิดาก็ทรงนำพาพระราชบุตรมาสู่ราชวังพลางอุ้มบาตรของบุตรมาด้วย
ผู้คนในวังต่างออกันรอเข้าเฝ้า แต่พระชายาของโคตมะเล่ากลับประทับอยู่ในห้องของตนเพื่อรอพระองค์มาหายังที่ที่พระนางจะให้การต้อนรับได้โดยลำพัง ในไม่ช้าโคตมะก็ทรงถามถึงพระนาง และเมื่อทรงทราบว่า พระนางอยู่แห่งหนใด ก็เสด็จไปหาโดยมีสาวกไม่กี่รูปติดตามไปด้วย ทันทีที่พระชายาได้พบพระองค์ พระนางก็ล้มลงกันแสงกับพระบาท แทบไม่ต้องมองพระนางก็รู้สึกได้ด้วยอาการใดอาการหนึ่งว่า พระองค์ทรงเปลี่ยนไปแล้ว พระองค์ทรงมีปัญญาและน่าเลื่อมใสยิ่งกว่าบุรุษคนใดที่พระนางเคยได้พบพาน ผ่านไปสักขณะโคตมะจึงทรงนำข้อความที่มีถึงมวลมนุษย์มาตรัสต่อพระชายา และพระนางทรงรับฟังรับสั่งด้วยพระทัยจดจ่อ พระนางทรงยอมรับคำสอนของพระองค์ และทูลขอพระอนุญาตให้พระนางได้เป็นภิกษุณี ทีแรกพระพุทธเจ้าไม่ทรงใคร่จะอนุมัติเรื่องนี้ แต่ที่สุดก็ทรงยอมตามคำวิงวอนของพระนาง และพระชายาของพระพุทธองค์จึงได้ทรงเป็นหนึ่งในภิกษุณีรูปแรก ๆ แห่งศาสนาพุทธ
พระพุทธเจ้าทรงปฏิบัติกิจเป็นผู้เผยแผ่ศาสนาในหุบผาแม่น้ำคงคามา 45 ปี จนเวลาที่วาระสุดท้ายของพระองค์มาถึง และพระองค์ก็เสด็จล่วงลับไปจากโลก ในยามที่ทรงนอนอยู่ใกล้จะเสด็จดับขันธ์นั้น พระองค์ตรัสต่ออานนท์ ลูกพี่ลูกน้องผู้ได้กลายมาเป็นพระสาวกที่จงรักและภักดี ว่า "ดูกรอานนท์ อย่าเป็นกังวลไปเลย อย่าโศกาจาบัลย์ เราได้บอกเธอแล้วมิใช่หรือว่า พวกเราต้องพรากจากสิ่งทั้งปวงที่พวกเราถือเป็นที่รักที่ชอบใจเป็นที่สุด นานแล้วอานนท์ที่เธอได้มาอยู่ใกล้ชิดเราด้วยความเอื้อเฟื้อในการกระทำ และคำพูด และความคิดคำนึงถึง เธอได้ทำดีแล้วมาตลอด"[2] และนอกจากนี้ เมื่อมีพระดำรัสต่อพระสาวกผู้เดียวกันนี้ ยังทรงเปล่งวจีว่า "บางทีเธออาจเริ่มคิดว่า ก็เมื่อศาสดาของเธอล่วงลับไปแล้ว ถ้อยคำ[3] ก็คงจบสิ้นไปด้วย แต่เธอต้องไม่คิดเช่นนั้น เมื่อสิ้นเราแล้ว จงให้กฎและวินัยแห่งนิกายที่เราได้สั่งสอนเธอไว้เป็นศาสดาของเธอเถิด"[4]
พระองค์ทรงล่วงลับไปโดยทิ้งผู้คนมากมายที่เศร้าใจในการดับขันธ์ของพระองค์ไว้เบื้องหลัง และแม้กาลทั้งปวงจะล่วงผ่านมานานปี ก็ยังมีการสร้างวัดให้เป็นเกียรติแก่พระองค์ เหล่าภิกษุก็ยังคงดำเนินตามวินัยที่ทรงวางไว้ และชายหญิงฆราวาสก็วางดอกไม้ไว้บนแท่นบูชาพระองค์ ยอบกายลงตรงหน้าพระรูปพระองค์ และดำรงคำสอนของพระองค์ไว้ในหัวใจ
หมายเหตุ
แก้ไข- ↑ 1.0 1.1 คือ พาราณสี
- ↑ น่าจะตรงกับที่พระไตรปิฎก (มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย 2560) ว่า "อย่าเลย อานนท์ เธออย่าเศร้าโศกอย่าคร่ำครวญเลย เราบอกไว้ก่อนแล้วมิใช่หรือว่า ความพลัดพราก ความทอดทิ้ง ความแปรเปลี่ยนเป็นอย่างอื่นจากของรักของชอบใจทุกอย่าง จะต้องมี...เธออุปัฏฐากตถาคตมาช้านานด้วยเมตตากายกรรมอันเกื้อกูลให้เกิดสุขเสมอต้นเสมอปลายไม่มีประมาณ ด้วยเมตตาวจีกรรมอันเกื้อกูลให้เกิดสุขเสมอต้นเสมอปลายไม่มีประมาณ ด้วยเมตตามโนกรรมอันเกื้อกูลให้เกิดสุขเสมอต้นเสมอปลายไม่มีประมาณ อานนท์ เธอได้ทำบุญไว้แล้ว"
- ↑ ต้นฉบับว่า "word" ("ถ้อยคำ") แต่อาจพิมพ์ผิดอาจ "world" ("โลก")
- ↑ น่าจะตรงกับที่พระไตรปิฎก (มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย 2560) ว่า "บางทีพวกเธออาจจะคิดว่า ปาพจน์มีพระศาสดาล่วงลับไปแล้ว พวกเราไม่มีพระศาสดา ข้อนี้พวกเธอไม่พึงเห็นอย่างนั้น ธรรมและวินัยที่เราแสดงแล้วบัญญัติแล้วแก่เธอทั้งหลาย หลังจากเราล่วงลับไป ก็จะเป็นศาสดาของเธอทั้งหลาย"
บรรณานุกรม
แก้ไข- มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (2560-12-22). "พระไตรปิฎก เล่มที่ 10 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 2 ทีฆนิกาย มหาวรรค". 84000.org. สืบค้นเมื่อ 2565-09-26. Check date values in:
|date=, |accessdate=
(help)