งานแปล:แรงงานรับจ้างและทุน/บทที่ 9
เราจึงเห็นว่ามีการขยายตัวและการปฏิวัติทั้งวิถีและปัจจัยการผลิตอยู่ตลอดเวลา ว่าการแบ่งงานจำต้องนำมาซึ่งการแบ่งงานมากขึ้น การใช้เครื่องจักรกลจำต้องนำมาซึ่งการใช้เครื่องจักรกลมากขึ้น งานระดับใหญ่จำต้องนำมาซึ่งงานในระดับใหญ่ขึ้น นี่เป็นกฎที่คอยกระชากการผลิตแบบทุนนิยมออกจากความเคยชินเก่า ๆ และบังคับให้ทุนต้องเค้นแรงการผลิตของแรงงานออกมา ด้วยเหตุเดียวกันที่เค้นมันอยู่——กฎซึ่งไม่ผ่อนผัน และตะโกนกรอกหูมันไม่หยุดว่า: เดิน! เดิน!
ใช่กฎอื่นใดนอกเสียจากกฎซึ่งมิอาจเลี่ยงได้ ท่ามกลางความผันผวนเป็นช่วง ๆ ของการค้าขาย ที่จะปรับราคาสินค้าตามต้นทุนการผลิตของมัน
ไม่ว่าปัจจัยการผลิตที่นายทุนเอาลงสนามจะทรงพลังเพียงใด การแข่งขันจะทำให้มีใช้โดยทั่วไป; และถึงจุดซึ่งมีใช้โดยทั่วไปแล้ว ผลิตภาพของทุนที่มากขึ้นส่งผลเดียวเท่านั้น คือเขาต้องจัดเตรียมมากกว่าเดิมสิบ ยี่สิบ หรือร้อยเท่า ที่ราคาเดิม แต่เพราะเขาอาจต้องหาตลาดมามากกว่าเดิมเป็นพันเท่า เพื่อถ่วงดุลราคาขายที่ต่ำลงด้วยยอดขายที่สูงขึ้น เพราะบัดนี้ไม่เพียงต้องขายเยอะ ๆ ให้ได้กำไรสูง ๆ แต่ยังต้องทำเพื่อทดแทนต้นทุนการผลิต (อุปกรณ์การผลิตเองแพงขึ้นอยู่เสมอ ดังที่เราเห็น) และเพราะการขายเยอะ ๆ กลายเป็นความเป็นความตาย ไม่ใช่ของเขาเท่านั้น แต่ของคู่แข่งเขาด้วย การต่อสู้ครั้งเก่าต้องเริ่มขึ้นใหม่ และยิ่งปัจจัยการผลิตซึ่งประดิษฐ์ขึ้นแล้วทรงพลังเท่าใดก็ยิ่งรุนแรงเท่านั้น การแบ่งงานและการใช้เครื่องจักรกลจึงเริ่มต้นใหม่จากศูนย์ บนฐานที่ยิ่งใหญ่กว่าเดิม
ปัจจัยการผลิตที่ใช้จะทรงพลังขนาดไหน การแข่งขันจะริบผลไม้ทองคำจากพลังนี้ไปด้วยการลดราคาสินค้าตามต้นทุนการผลิต ในระดับเดียวกับที่การผลิตถูกลง ในระดับเดียวกับที่สามารถผลิตได้มากขึ้นด้วยแรงงานเท่าเดิม กฎที่มิอาจต้านทานได้บังคับให้การผลิตถูกลง ให้ขายสินค้ามากขึ้นที่ราคาต่ำลง นายทุนจึงพยายามไปแล้วจะไม่ได้อะไรกลับมามากไปกว่าข้อผูกมัดให้ต้องจัดเตรียมผลผลิตมากกว่าเดิมด้วยเวลาแรงงานเท่าเดิม กล่าวคือ เงื่อนไขการใช้ทุนทำกำไรที่ลำบากกว่าเดิม ดังนั้น ในขณะที่การแข่งขันไล่ล่าเขาด้วยกฎแห่งต้นทุนการผลิต แล้วฟันหลังเขาด้วยคมดาบทุกด้ามที่ตีไว้สู้ศัตรู นายทุนกระวนกระวายหาทางเอาชนะคู่แข่งด้วยการแบ่งงานย่อยลงไปและเครื่องจักรรุ่นใหม่ ซึ่งถึงจะแพงกว่า ก็ทำให้ผลิตได้ถูกลง แทนที่จะนั่งรอให้เครื่องจักรรุ่นใหม่ตกรุ่นไปจากการแข่งขัน
หากเราพิจารณาอาการกระสับกระส่ายอยู่ไม่สุขอย่างที่ดำเนินไปในตลาดทั่วโลก เราอยู่ในจุดที่จะเข้าใจว่าการเติบโต สะสม และรวมศูนย์ของทุนจูงพาการแบ่งงานที่ยิบย่อยกว่าเดิม การพัฒนาเครื่องจักรเก่าให้ดีกว่าเดิม และการนำเครื่องจักรใหม่มาใช้เสมอมากับมัน——กระบวนการซึ่งดำเนินไปไม่ขาดสาย อย่างกระวีกระวาด และมหึมากว่าเดิม
แต่เงื่อนไขเหล่านี้ ที่แยกจากการเติบโตของทุนการผลิตไม่ได้ ส่งผลอะไรต่อการกำหนดค่าจ้าง?
การแบ่งงานมากขึ้นทำให้กรรมกรคนเดียวสามารถทำงานของกรรมกรห้า สิบ หรือยี่สิบคนได้ จึงเพิ่มการแข่งขันระหว่างกรรมกรไปห้า สิบ หรือยี่สิบเท่า กรรมกรนอกจากต้องแข่งขันด้วยการขายตนให้ถูกกว่าคนอื่นเท่านั้น แต่ยังต้องทำงานของห้าคน สิบคน หรือยี่สิบคน การแบ่งงานทำให้เขาต้องแข่งขันแบบนี้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ทุนนำมาใช้และพัฒนาอย่างสม่ำเสมอ
นอกจากนี้ แรงงานจะเรียบง่ายลงในระดับเดียวกับที่การแบ่งงานเพิ่มขึ้น ทักษะพิเศษของกรรมกรหมดค่า เขากลายร่างเป็นพลังการผลิตที่ง่ายและจำเจ ไร้ความยืดหยุ่นทางกายและใจ งานเขาทุกคนเข้าถึงได้ คู่แข่งจึงเบียดเข้ามาจากรอบด้าน เรายังต้องระลึกว่ายิ่งงานง่ายเท่าใด ยิ่งเรียนรู้ง่ายเท่าใด ต้นทุนการผลิตของมัน ค่าใช้จ่ายการศึกษา ค่าจ้างดังนั้นก็จะยิ่งน้อยลง——เพราะไม่ต่างจากราคาของสินค้าอื่นใด ต้นทุนการผลิตเป็นตัวกำหนด เหตุฉะนี้ แรงงาน ยิ่งไม่พึงประสงค์ ยิ่งน่าขยะแขยงเท่าใด การแข่งขันยิ่งเพิ่มขึ้น และค่าจ้างยิ่งต่ำลงเท่านั้น กรรมกรพยายามคงค่าจ้างทั้งหมด ด้วยการทำงานมากขึ้น ไม่ว่าจะทำชั่วโมงเยอะขึ้น หรือจะทำให้เยอะขึ้นในชั่วโมงเท่าเดิม ความต้องการเร่งเร้าเขา เช่นนี้เขาเองทวีคูณความวินาศสันตะโรจากการแบ่งงาน ผลคือ: ยิ่งทำงาน ค่าจ้างยิ่งน้อยลง ด้วยเหตุผลง่าย ๆ : ยิ่งทำงาน ยิ่งต้องแข่งขันกับสหายคนงาน ยิ่งบังคับให้พวกเขาต้องแข่งกับเขาเอง และเสนอขายพวกตนด้วยเงื่อนไขที่น่าเวทนาไม่แพ้ไปกว่าเขา จนในตอนสุดท้ายวิเคราะห์ได้ว่า เขาแข่งขันกับตัวเขาในฐานะสมาชิกของชนชั้นแรงงาน
เครื่องจักรกลส่งผลเดียวกัน แต่ในระดับใหญ่กว่า มันแทนที่กรรมกรทักษะด้วยกรรมกรไร้ทักษะ ชายด้วยหญิง ผู้ใหญ่ด้วยเด็ก แห่งใดนำมาใช้ คนงานจำนวนมากจะถูกทิ้งลงบนพื้นถนน และยิ่งพัฒนาชั้นสูง ยิ่งผลิตภาพสูง ก็จะทิ้งเพิ่มแม้จะน้อยลงไป
เราได้ร่างเค้าโครงกว้าง ๆ อย่างไว ๆ ของสงครามอุตสาหการในหมู่นายทุน สงครามนี้ประหลาดตรงที่แต่ละยุทธการนั้นเอาชนะกันด้วยการปลดมากกว่าการเกณฑ์กองทัพคนงาน แม่ทัพ (นายทุน) ประชันกันว่าใครจะปลดนายทหารอุตสาหการได้เยอะกว่ากัน
อย่างไรก็ดี นักเศรษฐศาสตร์บอกเราว่ากรรมกรที่ไม่จำเป็นแล้วเพราะเครื่องจักรกลจะหางานในภาคส่วนใหม่ได้ แต่ไม่กล้าพูดตรง ๆ ว่ากรรมกรคนเดียวกันที่โดนลอยแพจะไปเจอกับสถานการณ์เดียวกันในสายงานใหม่ ความจริงเสียงดังกลบคำโกหกเขา กล่าวให้รัดกุม เขาบอกว่าจะมีงานใหม่ให้ส่วนอื่นของชนชั้นแรงงานเท่านั้น อาทิส่วนของกรรมกรคนรุ่นใหม่ ที่กำลังจะเข้าทำงานในอุตสาหกรรมสาขาที่เพิ่งถูกยุบไปพอดี แน่นอนว่ากรรมกรผู้เสื่อมเสียจะพอใจอย่างยิ่ง ท่านสุภาพบุรุษนายทุนจะไม่มีวันขาดเลือดเนื้อสดใหม่ไว้ใช้งาน——ปล่อยให้คนตายฝังคนตายของเขาเองเถิด คำปลอบใจนี้ดูจะมีเจตนาไว้ให้กำลังใจนายทุนมากกว่ากรรมกร หากชนชั้นกรรมกรรับจ้างถูกเครื่องจักรกลทำลายล้างสิ้นแล้ว สำหรับทุนจะแย่แค่ไหน ซึ่งหากสิ้นแรงงานรับจ้าง ก็สิ้นความเป็นทุน!
แต่ถึงแม้เราจะสมมุติว่าทุก ๆ คนที่ตกงานเพราะเครื่องจักรกล รวมถึงคนรุ่นต่อไปที่รอโอกาสทำงานในอุตสาหกรรมสาขาเดียวกันนั้น ถึงจะเจองานใหม่บ้างก็ตาม:——เชื่อหรือว่างานใหม่จะได้ค่าจ้างสูงเท่างานที่เสียไป? ถ้าเป็นเช่นนั้น ก็จะขัดแย้งกับกฎทั้งปวงของเศรษฐศาสตร์การเมือง เราเห็นแล้วว่าอุตสาหกรรมสมัยใหม่มีแนวโน้มแทนที่งานที่ซับซ้อนและชั้นสูงด้วยงานที่ง่ายกว่าและเป็นรองเสมอ แล้วอย่างนี้ เหล่าคนงานที่ถูกลอยแพในอุตสาหกรรมสาชาหนึ่งจากเครื่องจักรกลจะลี้ภัยในสาขาอื่นได้อย่างไร เว้นแต่จะได้ค่าจ้างแสนต่ำต้อย?
มีการอ้างถึงข้อยกเว้นของกฎข้อนี้ คือคนงานผู้รับจ้างผลิตเครื่องจักรเหล่านั้นเอง ทันทีที่อุตสาหกรรมสาขาหนึ่งมีอุปสงค์และการบริโภคเครื่องจักรกลเพิ่มขึ้น กล่าวได้ว่าจำนวนเครื่องจักรจำต้องเพิ่มขึ้น การผลิตเครื่องจักรกล และฉะนั้นการว่าจ้างคนงานผลิตเครื่องจักรกลก็เช่นกัน——และคนงานผู้ทำงานในอุตสาหกรรมสาขานี้เป็นคนงานมีทักษะ ถึงกระทั่งเป็นผู้มีการศึกษา
นับแต่ปี 1840 คำกล่าวอ้างนี้ แม้ในตอนนั้นก็จริงเพียงครึ่งหนึ่ง บัดนี้แม้หน้าตาก็ไม่คล้ายความจริงเลย เพราะในการผลิตเครื่องจักรเองก็นำเครื่องจักรหลากหลายประเภทสุด ๆ มาใช้ แพร่หลายในระดับเดียวกับการผลิตด้ายฝ้าย ส่วนกรรมกรที่รับจ้างในโรงงานผลิตเครื่องจักรก็มีบทบาทเป็นแต่เพียงเครื่องจักรที่แสนจะโง่เขลาเคียงข้างเครื่องจักรที่เฉลียวฉลาด
แต่แทนที่จะเป็นผู้ชายที่โดนไล่ออกเพราะเครื่องจักร โรงงานอาจจ้างเด็กสามคนกับผู้หญิงอีกหนึ่งคนแทน! ค่าจ้างของชายคนนั้นไม่พอเลี้ยงเด็กสามคนกับผู้หญิงหนึ่งคนหรือ? ค่าจ้างขั้นต่ำก็พออนุรักษ์และสืบสานเผ่าพันธุ์แล้วไม่ใช่หรือ? วาทกรรมขวัญใจกระฎุมพีพวกนี้พิสูจน์อะไรเล่า? ใช่อื่นใดนอกจากว่าคราวนี้เราสูญชีวิตคนงานไปมากกว่าเก่าสี่เท่าเพื่อหาเลี้ยงครอบครัวแรงงานหนึ่งเรือน
สรุปว่า: ยิ่งทุนการผลิตเติบโต ยิ่งขยายการแบ่งงานและการใช้เครื่องจักรกล ยิ่งการแบ่งงานและการใช้เครื่องจักรกลขยายตัว การแข่งขันระหว่างคนงานยิ่งสูง ค่าจ้างยิ่งต่ำลงไปด้วยกัน
มากกว่านั้น ชนชั้นแรงงานจะถูกเกณฑ์มาจากชนชั้นที่สูงขึ้นไปในสังคม ผู้ประกอบการธุรกิจขนาดย่อม ผู้กินดอกจากทุนขนาดเล็ก จะตกตะกอนลงไปกองรวมกับชนชั้นแรงงาน และพวกเขาจะไม่เหลืออะไรให้ทำนอกเสียจากชูมือไปพร้อมกับคนงาน ด้วยประการนี้ ดงลำแขนที่เหยียดชี้ฟ้า อ้อนวอนของานทำไป ยิ่งรกยิ่งดก ยิ่งซูบยิ่งเหี่ยว
ชัดเจนว่ากิจการขนาดย่อมไม่มีทางรอดในการต่อสู้ ซึ่งเงื่อนไขความสำเร็จอันดับแรกคือการผลิตในระดับที่ใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ ชัดเจนว่ากิจการขนาดย่อมไม่มีทางเป็นกิจการขนาดใหญ่ได้ในเวลาเดียวกัน
ที่ดอกเบี้ยทุนลดลงในอัตราส่วนเดียวกับที่มวลและจำนวนทุนเพิ่มขึ้น ที่มันลดลงไปกับการเติบโตของทุน และนายทุนน้อยจึงไม่สามารถกินดอกเลี้ยงชีพได้อีกต่อไป และจึงต้องไปรวมกับผู้ประกอบการขนาดย่อม แล้วไปเพิ่มจำนวนผู้ท้าชิงตำแหน่งกรรมาชีพด้วยการนั้น——เหล่านี้ไม่ต้องอธิบายเพิ่มแล้ว
สุดท้าย ยิ่งนายทุนถูกบีบบังคับจากกระบวนการดังกล่าวให้ต้องแสวงหาเอาจากปัจจัยการผลิตอันมหึมาที่มีอยู่แล้วในระดับที่สูงขึ้น และเพื่อการนี้เขาไขลานกลไกสินเชื่อ เขาก็ยิ่งเพิ่มจำนวนแผ่นดินไหวอุตสาหกรรม เป็นช่วงที่โลกการค้าจะรักษาตัวเองด้วยการเซ่นไหว้เทพเจ้าในยมโลก ยอมสละความมั่งคั่ง ผลผลิต และแม้แต่พลังการผลิตไปบางส่วน——สั้น ๆ ว่าวิกฤตจะเพิ่มขึ้น บ่อยขึ้น และรุนแรงขึ้น ถ้าไม่ใช่เพราะเหตุอื่น ก็เพราะเหตุเดียว ว่ายิ่งมวลของผลผลิตและฉะนั้นความต้องการตลาดที่ครอบคลุมเติบโตขึ้นเท่าใด ในระดับเดียวกัน ตลาดโลกจะหดลง และเหลือตลาดให้แสวงหาประโยชน์น้อยลง เพราะวิกฤตทุกครั้งที่ผ่านมาได้ทำให้ตลาดซึ่งจนถึงบัดนี้ยังไม่ถูกพิชิตหรือถูกแสวงหาประโยชน์แต่เพียงผิวเผินต้องประสบกับการค้าโลก ทว่าไม่เฉพาะทุนที่ชีวิตรอดด้วยแรงงาน เหมือนพวกเจ้านาย สูงศักดิ์และป่าเถื่อนในเวลาเดียวกัน พวกเขาลากศพทาสลงหลุมไปด้วยกันกับเขา ฆ่าสังเวยคนงาน ที่ตายไปในวิกฤต เราจึงเห็นว่ายิ่งทุนเติบโตรวดเร็วเท่าใด การแข่งขันระหว่างคนงานยิ่งเติบโตรวดเร็วยิ่งกว่า นั่นแปลว่าปัจจัยการจ้างงานและการยังชีพที่ให้กับชนชั้นแรงงานก็จะยิ่งลดลงเร็วกว่าเดิมตามสัดส่วน แม้กระนั้น การเติบโตอย่างรวดเร็วของทุนเป็นเงื่อนไขที่พึงปรารถนาที่สุดสำหรับแรงงานรับจ้าง
งานต้นฉบับ: | งานนี้เป็นสาธารณสมบัติทั่วโลก เนื่องจากเผยแพร่ก่อนวันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 1929 หรือผู้สร้างสรรค์ถึงแก่ความตายมาแล้วอย่างน้อย 100 ปี |
---|---|
งานแปล: | งานนี้เป็นงานที่เผยแพร่ภายใต้สัญญาอนุญาตครีเอทีฟคอมมอนส์ แบบแสดงที่มา-อนุญาตแบบเดียวกัน 4.0 ซึ่งอนุญาตให้เผยแพร่หรือดัดแปลงแก้ไขงานนี้ได้อย่างเสรี ตราบเท่าที่ยังมีการระบุถึงชื่อผู้สร้างสรรค์งาน หรือผู้ให้สัญญาอนุญาตของงานนี้ และผลงานดัดแปลงแก้ไขจากงานนี้ จะต้องอยู่ภายใต้สัญญาอนุญาตเดียวกับงานนี้ด้วยเช่นกัน |