จดหมายเหตุเก่า เรื่องฯ ทูตไทยไปนมัสการพระมาลัยเจดีย์เมืองหงสา/จดหมายเหตุ

จดหมายเหตุ
เรื่อง ทูตไทยไปนมัสการพระมาไลยเจดีย์ที่เมืองหงสาวดี

วันพฤหัส เดือนสี่ แรมสิบสองค่ำ จุลศักราชล่วงแล้ว ๑๒๒๕ ปีมะโรง สัมฤทธิศก ยังมีท้าวอู่ทองพระองค์หนึ่งอยู่ในเมืองหงสาวดี ให้ข่าวสารมาถึงกรุงศรีอยุธยาให้กราบทูลสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวว่า ยังมีเมืองหนึ่งเฉลียงข้างตวันตกทิศเหนือ นามชื่อว่า หงสาธิราช ยังมีอธิยพระองค์หนึ่งกล่าวว่า เปนเมืองสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวของเรา แลเมอพระองค์เจ้าเสด็จอยู่ในเมืองลังกาทวีปนั้น ยังมีพระภิกษุสองพระองค์วิวาทแก่กัน แลพระมหากรุณาธิคุณเจ้ามีพระพุทธฎีกากรุณาห้าม พระภิกษุสองพระองค์นั้นยังมิฟัง แลสมเด็จพระพุทธเจ้าจึงเสด็จพระราชดำเนิรมายังเมืองหงสาวดี ยังมีพระยาองค์หนึ่ง ทรงพระนามชื่อว่า พระศรีธรรมาโศกราช เธอจึงสร้างพระมาไลยเจดีย์ถวายแก่สมเด็จพระพุทธเจ้า แลเมื่อจะก่อพระมาไลยเจดีย์นั้น พญาเธอให้ตั้งประตูสี่ประตู เข้านั้นสองประตู ออกนั้นสองประตู แลพญาเธอให้เอาทองมากองไว้เปนอันมากให้แก่คนซึ่งจะไปทพการนั้นให้เสมอกันคนละตำลึงทอง ถ้าแลผู้ใดมิได้รับทอง ก็มิให้เข้าไปทำการเลย

แลเมื่อเจ้ากรุงศรีอยุธยาแจ้งประพฤติข่าวสารแล้ว จึงพระราชโองการมาณบัณฑูรสุรสิงหนาทดำรัสตรัสใช้ให้พระศรีธรรมราช แลขุนการะเวกยกระบัตร แลนายภูดาดเฉลียงเมืองอินทร์เมืองพรหมนั้น แลนายจำเพลิงกำจาย นายจำพลายกำจัด แลนายหาญใจเพ็ชร นายจ่าเกร็จสงคราม แลชาวสงฆ์องครักษ์สมุห ให้คุมไพร่ขึ้นไปห้าร้อยคนทั้งตัวนายให้ไปดูชัณศูจน์ว่า จะมีมาไลยเจดีย์จริงฤๅ ๆ หามิได้

แลพระศรีธรรมราชกับข้าหลวงผู้มีชื่อจึงกราบถวายบังคมลาสมเด็จบรมจักรพรรตราธิราช แล้วยกออกจากกรุงศรีอยุธยามาถึงเมืองสุพรรณบุรี ยกออกจากเมืองสุพรรณบุรี (ไปบ้านสบ้า) ยกออกจากบ้านสบ้าไปเอานายก ออกจากบ้านนายกไปเอายางเจ็ดต้น ยกจากยางเจ็ดต้นไปตาลงาม ยกจากตาลงามไปถึงตำบลบ่อหิน ยกจากบ่อหินไปถึงแม่น้ำชมเกลียว ยกออกจากนั้นไปถึงพระนอนสัมฤทธิ์องค์หนึ่งยาวได้สี่เส้น ยกแต่พระสัมฤทธิไปถึงยางหิน ยกแต่บางหินไปถึงเขาหลวง ยกออกจากเขาหลวงไปก็สิ้นแดนเมืองศรีอยุธยา แต่นั้นไป หาบ้านมิได้เลย ทางนั้นก็กว้างได้สิบห้าวา แลหนทางนั้นมีต้นไม้ใหญ่ แต่ปลายย่อมอ่อนเข้าหากัน ร่มรื่นไปทั้งกลางคืนแลกลางวัน แต่หนทางนั้นประดุดังหน้ากลอง แลมีกลิ่นดอกไม้หอมระรื่นไปตามหนทางนั้น แลต้นไม้ผลล้วนกินได้ แลหนทางนั้นสนุกเปนอันยิ่งหนักหนาหาที่จะอุปมามิได้เลย แต่ทางเดิรนั้นนับได้ถึงเดือนหนึ่งกับเจ็ดวัน แต่นั้นถึงบ้านอันหนึ่งชื่อว่า บ้านนารายณ์สังหาร แลเห็นยอดพระมาไลยเจดีย์อยู่ลิบ ๆ จำเดิมแต่นั้น เดิรเข้าไปสามวันจึงถึงเมืองหงสาวดี

แลขุนการะเวกกับพระศรีธรรมราชกับข้าหลวงทั้งปวงจึงพากันเข้าไปในกำแพงนั้น ก็พบตาปะขาวนั้นองค์หนึ่ง ตาปะขาวนั้นจึงถามว่า นี้มาแต่ไหน มาประสงค์สิ่งอันใด ข้าหลวงทั้งปวงบอกว่า ข้าพเจ้ามาทั้งนี้มาแต่กรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระบรมบพิตรเจ้าอยู่หัวใช้ให้มาชัณศูจน์ดูพระมาไลยเจดีย์ว่า จะมีจริงฤๅ ๆ หามิได้ ใช้ข้าพเจ้ามาตามกฎหมายเอาภูมมะสถานประมาณคนในพระมาไลยเจดีย์เจ้าไปทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายแก่สมเด็จพระมหากรุณาเจ้าอยู่หัวแห่งตัวข้าพระพุทธเจ้า

แลครั้งนั้น ตาปะขาวนำพวกข้าหลวงผู้มีชื่อทั้งปวงเข้าไปหาสมเด็จพระสังฆราชา ๆ จึงถามว่า อุบาสกทั้งปวงนี้มาจะประสงค์สิ่งอันใด มาแต่บ้านใดเมืองใด แลขุนการะเวกยกระบัตร พระศรีธรรมราช กับข้าหลวงผู้มีชื่อ จึงกราบทูลเรียนว่า ข้าพระพุทธเจ้าทั้งปวงนี้มาแต่ศรีอยุธยา สมเด็จพระมหากระษัตราธิราชเจ้าตรัสใช้ให้มาดูพระมาไลยเจดีย์ พระสังฆราชาจึงให้ตาประขาวคนหนึ่ง เปนคนเฉลียวดฉลาดเข้าใจการ จึงให้นำข้าหลวงทั้งปวงไปดูพระระเบียงเถิด

ตาปะขาวนั้นจึงพาข้าหลวงทั้งปวงไปนมัสการที่พระระเบียง พื้นพระเบียงนั้นดาษด้วยเงินหนาสามนิ้ว วัดได้กว้างเส้นหนึ่งกับสิบห้าวา วัดโดยยาวได้สองเส้น เสาสูงนั้นได้เส้นหนึ่งกับสี่วา เหลี่ยมเสาแต่ละเหลี่ยมนั้นวัดได้เก้าศอกคนเพรง คือพระระเบียงนั้นแต่ล้วนศิลาทั้งแท่ง แลพระพุทธรูปอยู่ในพระระเบียงนั้น ที่นั่งสูงได้ห้าวา ที่ยืนอยู่นั้นสูงได้หกวา แลขุนการะเวกยกระบัตร พระศรีธรรมราช กับข้าหลวงทั้งปวง จึงทักษิณพระระเบียงได้ด้านหนึ่งแต่เช้าพอค่ำดี ถ้าจะทักษิณไปให้รอบทั้งสี่ด้านนั้น สี่วันจึงรอบพระระเบียงนั้น แลขุนการะเวกยกระบัตรกับข้าหลวงทั้งปวงไปนมัสการแล้วก็พากันไปหาพระสังฆราช ๆ จึงว่า พรุ่งนี้ไปไหว้พระปรางค์ ครั้นรุ่งขึ้น เวลาเช้า ตาปะขาวจึงนำข้าหลวงทั้งปวงไปไหว้พระปรางค์ แลขุนการะเวกยกระบัตรจึงว่า ปรางค์นี้สูงต่ำใหญ่น้อยสักเท่าไร ตาปะขาวจึงบอกว่า โดยสูงขึ้นไปได้ร้อยเส้น ในพระปรางค์นั้นกว้างยี่สิบเส้น เหลี่ยมพระปรางค์แต่ละเหลี่ยมนั้นกว้างยี่สิบเส้น เหลี่ยมพระปรางค์แต่ละเหลี่ยมนั้นก็กว้างยี่สิบเส้น บันไดนั้นฉัตรทองแดงร่มอยู่ทั้งสองข้าง จึงขึ้นไปถึงราวบันได ๆ นั้นย่อมแล้วไปด้วยเหล็กใหญ่เจ็ดกำ ลูกบันไดนั้นทำด้วยทองแดงใหญ่ได้สามกำ เสาฉัตรทองแดงนั้นใหญ่ได้เก้ากำ แลขุนการะเวกกับข้าหลวงทั้งปวงก็พากันขึ้นไปแต่เช้าจนเที่ยง จึงถึงท่ามกลางพระปรางค์นั้น ที่กลางพระปรางค์นั้นมีหงส์สี่ตัว เอาหัวไปทั้งสิ่ทิศ เอาหางมาประชุมกัน พระพุทธรูปเจ้านั้นหล่อดว้ยทองคำทั้งแท่ง ข้าหลวงจึงวัดแต่ตีนหงส์นั้นใหญ่ร้อยแปดกำ วัดแต่หงส์ขึ้นไปสูงได้ร้อยแปดศอก ตัวหงส์สี่ตัวนั้นท่านหล่อด้วยทองคำทั้งแท่ง แลพระพุทธรูปหล่อด้วยทองคำสูงองค์ละศอกอยู่หางหงส์ทั้งสี่ตัวเปนพระพุทธรูปถึงสองร้อยพระองค์ แลขุนการะเวกยกระบัตรกับข้าหลวงก็กลับลงมาพอได้เพลา

แลขุนการะเวกจึงถามตาปะขาวว่า พระปรางค์คือผู้ใดสร้าง แลตาปะขาวจึงบอกว่า พระศรีธรรมโศกราชสร้างถวายสมเด็จพระพุทธเจ้า เมื่อสร้างนั้น เธอให้ตั้งประตูสี่ประตู เข้านั้นสองประตู ออกนั้นสองประตู พญาเธอให้เอาทองมากองไว้เปนค่าจ้างแก่คนซึ่งเข้าไปทำการนั้น ถ้าผู้ใดเอาทองคำตำลึงหนึ่งนี้ จึงให้เข้าไปทำการ แลตาปะขาวจึงบอกว่า เมื่อสร้างพระพุทธรูปบนพระปรางค์นั้น ขึ้นไปทำการนั้น ตกลงมาตายได้ประมาณเก้าโกฏิ แต่บันดาคนตกลงมาตายนั้น ได้ขึ้นไปสวรรค์สิ้นทุกคน ขุนการะเวกจึงถามตาปะขาวว่า พระปรางค์นี้ก่อด้วยอิฐฤๅ ๆ ก่อด้วยหิน ตาปะขาวจึงบอกว่า ก่อด้วยอิฐ แลย่อมเอารักกนับทุกแผ่นแล ตาปะขาวจึงพาขุนการะเวกยกระบัตรได้ไปดูแผ่นอิฐที่ยังเหลืออยู่ร้อยแผ่นนั้น ขุนการะเวกจึงให้นายหาญใจเพ็ชร์ วัดแผ่นอิฐนั้นดูโดยยาวได้ห้าวา แลโดยสกัดนั้นได้ห้าศอก แลโดยหนาสี่ศอกหกนิ้ว แลตาปะขาวจึงบอกว่า แก้วอยู่ในยอดพระปรางค์นั้นใหญ่ห้าอ้อมคนเพรง แท่งเหล็กร้อยแก้วไว้นั้นใหญ่ได้สิบกำคนเพรง แลท่านเอาทองคำตีเปนแผ่นหนาสามนิ้ว กว้างศอกหนึ่ง ยาวห้าศอก หุ้มแต่ยอดนั้นลงมาถึงท่ามกลางพระปรางค์นั้น แล้วจึงแผ่นากหนาสามนิ้วเหมือนกันกับทองนั้นหุ้มแต่ท่ามกลางนั้นลงมาชุกชีบนนั้น แล้วจึงแผ่ทองหนาสามนิ้ว แล้วแผ่เงินหนาสามนิ้ว หุ้มแต่ชุกชีลงมาตีนพระปรางค์นั้น แล้วจึงแผ่ทองแดงหนาสามนิ้วดาดแต่พื้นพระปรางค์ออกไปเต็มรอบบริเวณพระปรางค์ชั้นใน ชั้นนอกเต็มไปด้วยทองแดงสิ้นทั้งนั้น

ขุนการะเวกถามตาปะขาวในอารามนี้ยังมีอะไรอีกบ้าง ตาปะขาวจึงบอกว่า ยังมีสระน้ำมันงาสระหนึ่ง ยังมีสระน้ำมันหอมสระหนึ่ง ตาปะขาวนำไปดูที่สระทั้งสองนั้น แลขุนการะเวกให้นายเกร็ดสงครามวัดสระนั้นดู ปากสระนั้นกว้างเส้นหนึ่งกับห้าวา สี่เหลี่ยมจัตุรัสเท่ากัน แลขุนการเวกจึงถามว่า สระทั้งสองนี้ของผู้ใดสร้าง ตาปะขาวจึงบอกว่า สระน้ำมันงานั้นของสมเด็จอัมรินทราธิราชเจ้าประดิษฐานไว้ให้เปนทานแก่คนทั้งหลายแลพระสงฆเจ้าจะได้ตามบูชาพระพุทธเจ้า แลสระน้ำมันหอมนั้นพระพรหมมาประดิษฐานไว้แก่พระสงฆเจ้านั้นอันเปนโรคโรคาเจ็บหูเจ็บตาทั้งปวงก็หาย ตามเล่าหนังสือกลางคืนก็หายหาวนอนแล ขุนการะเวกกับข้าหลวงทั้งปวงก็พากันกลับมาหาพระสังฆราช ๆ จึงว่า พรุ่งนี้จะให้พาไปไหวัพระเชตุพน

ครั้นเพลาเช้า ตาปะขาวจึงนำขุนการะเวกกับข้าหลวงทั้งปวงไปตามมรคาแต่พระมาไลเจดีย์ไปถึงพระเชตุพนนั้น หนทางไกลได้สิบห้าเส้น ไปถึงพระเชตุพนแล้ว ข้าหลวงจึงวัดโดยสูงนั้นได้ห้าสิบเส้น โดยกว้างได้สิบแปดเส้น ข้าหลวงถามตาปะขาวว่า เราจะอยู่แต่นอกฤๅ ๆ จะเข้าไปถึงใน ตาปะขาวจึงว่า เราจะเข้าไปในพระเชตุพน แลพากันเข้าไป ขุนการะเวกจึงให้วัดโดยยาวได้เจ็ดสิบเส้น แลเหลี่ยมคือแต่ละเหลี่ยมวัดได้เจ็ดวา สองศอกคนเพรง จึงวัดแต่ปากประตูพระวิหารเข้าไปถึงแท่นพระพุทธเจ้าตรัสพระสธรรมเทศนานั้น ไกลได้สามสิบแปดเส้น แต่ฐานที่รองพระพุทธเจ้านั้น เต็มได้ห้องหนึ่ง แต่รัตนบัลลังก์พระเสด็จนั่งนั้น สูงขึ้นไปได้สามชั้น ๆ ละวา ย่อมแผ่เงินหุ้ม ชั้นสามแผ่ทองคำหุ้ม หนาสามนิ้วเหมือนกันทั้งสามชั้น แลขุนการะเวกกับข้าหลวงทั้งปวงก็พากันกลับออกมาถึงประตูพระเชตุพน แลขุนการะเวกจึงถามตาปะขาวว่า ท่านผู้ใดสร้าง ตาปะขาวจึงบอกว่า กระบิลมหาเศรษฐีสร้างถวายแก่สมเด็จพระพุทธเจ้า แลเมื่อสร้างนั้น เศรษฐีจ้างบ่าวทาษของเศรษฐีเองเสมอกันคนละตำลึงทอง แลบ้านเศรษฐีนั้นกำแพงแก้วถึงเจ็ดชั้น แลขุนการะเวกจึงถามตาปะขาวว่า พระเชตุพนนี้ใหญ่โตกว้างขวางดังนี้ เทพามนุษย์มานั่งฟังธรรมเทศนายังจะเต็มแลฤๅ ตาปะขาวจึงบอกว่า เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสพระธรรมเทศนาอยู่นั้น เทพยดาอินทร์พรหมแลเทพามนุษย์มานั่งฟังพระธรรมเทศนา ก็ย่อมเบียดเสียดกันประดุจดังว่าแป้งยัดทนาน

แล้วข้าหลวงจึงถามตาปะขาวว่า ในอารามนี้ยังมีสิ่งอันใดอีกบ้าง ตาปะขาจึงบอกว่า ยังมีระฆังอยู่ใบหนึ่ง ปากกว้างได้ห้าวา โดยสูงขึ้นไปสิบแปดวา โดยหนาสิบเจ็ดนิ้ว ใหญ่ได้ร้อยแปดสิบกำ ไม้ติระฆังนั้นใหญ่ได้สิบแปดกำ ขุนการะเวกกับข้าหลวงทั้งปวงนั้นก็พากันกลับมาหาพระสังฆราชา ๆ จึงถามว่า อุบาสกทั้งปวงนี้มาไหว้พระเชตุพน แลพระมาไลยเจดีย์ยังจะสนุกอยู่ฤๅฉันใด ข้าหลวงจึงกราบทูลเรียนความว่า ข้าพเจ้าผู้มีชื่อไปเที่ยวนมัสการ แลภูมมะสถานสนุกยิ่งนักหนาหาที่เสมอบมิได้ ข้าหลวงจึงกราบเรียนพระสังฆราชาว่า พระสงฆ์อยู่ในอารามนี้มากน้อยสักเท่าไร พระสังฆราชามาเอาบาญชีพระสงฆ์มายื่นให้ ขุนการะเวกอ่านดูได้พระสงฆ์สองแสนกับสิบพระองค์ พระสังฆราชาจึงถามว่า ณเมืองศรีอยุธยานั้นยังมีพระสังโฆอยู่ฤๅ แลพระสงฆเจ้านั้นย่อมทรงผ้าอันใด ขุนการะเวกจึงบอกว่า พระสงฆ์ฝ่ายธุดงค์ทรงผ้าเหลือง ฝ่ายข้างบาเรียญทรงผ้าแดง พระสังฆราชาจึงว่า พระสงฆ์ทรงผ้าเหลืองท่านเปนลูกตถาคต แล้วข้าหลวงจึงนับห้องกุฎีพระสังฆราชดู นับได้สามร้อยเจ็ดสิบห้อง เสากุฎีแต่ละเสานั้นใหญ่ร้อยเจ็ดกำ แต่ล้วนศิลาทั้งแท่ง

แลพระสังฆราชจึงเขียนอักษรตัวหนึ่งแล้วแปลให้ข้าหลวงทั้งปวงฟังว่า ตามขอมแลแปลออกเปนคำไทยว่า เลขเจ็ดตัว จงโดยวิไสย จะได้ใช้ได้ทั้งสามตัว แลเลขเจ็ดตัวได้เมืองหงสาวดี ราชาตัวนี้ได้แก่เมืองลังกาทวีป โพนตัวใดได้แก่เมืองศรีอยุธยา ถ้าจะว่าไปตามจริงไซร้ เมืองหงสาวดีต่ำกว่าเมืองเชียงใหม่ร้อยสิบเส้น พระสังฆราชาแปลเปนคำไทยแล้วยื่นให้แก่ข้าหลวงให้เอาไปถวายแก่มหาบพิตรพระเจ้ากรุงศรีอยุธยา ขุนการะเวกจึงรับเอาอักษรแล้วจึงถามพระสังฆราชว่า สมเด็จพระพุทธเจ้าเสด็จมาแต่เมืองลังกาทวีปมาถึงเมืองหงสาวดีนั้นสักกี่ย่าง แต่หนทางไกลใกล้สักเท่าใด พระสังฆราชจึงบอกว่า หนทางไกลได้สองพันสองร้อยโยชน์ พระมหากรุณาธิคุณเจ้าเดิรเจ็ดย่างมาถึงเมืองหงสาวดี

แลขุนการะเวกยกระบัตรกับข้าหลวงทั้งปวงไปแรมอยู่เมืองหงสาวดีนั้นได้เดือนหนึ่งกับสิบห้าวัน แต่คนไปด้วยห้าร้อยนั้นตายเสียกลางทางสามร้อยคน ยังเหลือคนมาถึงเมืองหงสาวดีแต่สองร้อยคน ข้าหลวงจึงถามแก่สังฆราชว่า คนทั้งปวงเปนเหตุอันใดจึงมาตายเสียกลางทาง ไม่ทันได้มานมัสการพระมาไลยเจดีย์ พระสังฆราชจึงว่า คนทั้งหลายประมาทติเตียนพระมาไลยเจดีย์ว่า โตใหญ่ฉนี้จะได้มีหามิได้ อันหนึ่ง เปนคนบาปหนา กระทำปาณาิตบาตมาก จึงมาตายเสียกลางทางนี้มาก มิได้มานมัสการพระมาไลยเจดีย์ แต่บุญคนผู้นั้นได้ขึ้นไปสวรรค์สิ้นทุกคน ด้วยอานิสงส์ที่ได้ตั้งใจมานมัสการพระมาไลยเจดีย์ แลข้าหลวงที่ได้ไปถึงเมืองหงสาวดีสองร้อยคนนั้นก็หนีบวชอยู่ห้าสิบสองคน

แลขุนการะเวกยกระบัตรกับข้าหลวงผู้มีชื่อก็กราบลามายังเมืองหงสาวดี แต่คนคงเหลือมานั้นร้อยสิบแปดคน ครั้นถึงกรุงศรีอยุธยาแล้ว พากันเข้าเฝ้าถวายบังคมบรมบพิตรสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในน่าพระลานหลวง สมเด็จพระมหากษัตราธิราชเจ้ามีพระราชโองการตรัสพระสุรสิงหนาทประภาษถามแก่ขุนการะเวกยกระบัตรแลพระศรีธรรมราชว่า ท่านไปเมืองหงสาวดีชัณศูจน์ดูพระมาไลยเจดีย์มีจริงหรือหามิได้ ฤๅว่าได้เห็นสิ่งใดประหลาดบ้าง ฤๅสลักสำคัญรูปพรรณสิ่งใดมาบ้าง แลขุนการะเวกยกกระบัตร พระศรีธรรมราช รับพระราชโองการใส่เกล้าใส่กระหม่อมแล้วจึงเอาเนื้อความแต่ต้นหนหลัง จดหมายรายชื่อสิ่งของ รูปพรรณพระมาไลยเจดีย์ แลพระเชตุพน แต่บรรดาที่ได้เห็นได้หัง แลอักษรที่พระสังฆราชให้มานั้น ก็กราบทูลพระกรุณาเล่าแจ้งถวายถ้วนถี่ทุกประการ

แลสมเด็จพระมหากระษัตราธิราชเจ้าผู้ประเสริฐ เมื่อพระองค์ได้ทรงฟังเรื่องราวพระมาไลยเจดีย์ แลอักษรพระสังฆราชให้มานั้น ก็ชื่นชมโสมนัสยินดี ก็อิ่มโอบในน้ำพระทัยเปนกำลัง จึงทรงพระมหากรุณาแก่นายไพร่ผู้มีชื่อซึ่งได้ไปเมืองหงสาวดี จึงพระราชทานเงินทองเสื้อผ้าเปนอันมาก แล้วก็โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมก็ปล่อยคนเหล่านั้นเสียให้ไปทำมาหากินโดยสบายเถิด อย่ากะเกณฑ์ใช้ราชการงารโยธาเลย ขุนการะเวกยกระบัตร แลพระศรีธรรมราช แลพลไพร่ที่ได้เมืองหงสาวดี ได้รับพระราชทานเงินทองเสื้อผ้าแล้ว ก็ชื่นชมยินดี ก็กราบถวายบังคมลาพระมหากระษัตราธิราช แล้วต่างคนต่างก็มาเย่าเรือนเคหาแห่งตน ที่ศรัทธาในพุทธสาสนาก็สละบุตรภรรยาลูกเมียออกไปบวชในพระสาสนาเปนอันมากยิ่งนักหนา ถ้าผู้ใดได้พบ ได้อ่าน ได้เขียนพงศาวดารเมืองหงสาวดีไว้ เหมือนหนึ่งได้พบสาสนาพระพุทธเจ้า ถ้าได้อ่านก็ดี ได้อานิสงส์มากยิ่งนักหนา ฟังแล้วบอกกันต่อ ๆ ไปเถิด จะได้บุญมากนักหนาหาที่จะอุปมามิได้เลย ถ้าเขียนไว้กับเรือน ได้บุญวันละแปดกัลป์มิได้ขาดเลย แล้วอาจคุ้มอุปัทวโทษเสนียดจัญไร จะเปนสิริมงคล จะมีตะบะเดชะแก่ผู้สร้างเขียนนั้น ถ้าแลผู้ไม่เชอสงสัยอยู่ จะตกจะไปนรก แล้วจะเปนบาปกรรมนักหนา