จดหมายเหตุเรื่องทูตไทยไปประเทศอังกฤษ/ตอนที่ 10

ตอนที่ ๑๐ ว่าด้วยกวีนตั้งขุนนาง แลราชทูตเข้าเฝ้าทูลลา ราชทูตไปดูที่ขังคนบ้า แลบริติชมิวเซียม

แก้ไข

รุ่งขึ้นวันพฤหัสบดี เดือน ๔ ขึ้น ๖ ค่ำ กวีนรับสั่งให้เยนเนอรัลกัศต์ มาเชิญพวกราชทูตไปเฝ้าที่วังเซนต์เยมส์ เปนวันกำหนดพวกขุนนางเข้าเฝ้า แล้วจะโปรดตั้งขุนนางด้วย เวลาบ่าย ๒ โมงเศษ พวกราชทูตก็ขึ้นรถไปคอยอยู่ที่วัง ถึงเวลาบ่าย ๓ โมงกวีนเสด็จมา ให้เปิดประตู ขุนนางก็เข้าไปคำนับทุกคน แต่ขุนนางซึ่งจะรับเปนที่เซอร์นั้น เข้าไปนั่งคุกเข่าอยู่ตรงพระพักตร์ กวีนจึงเอาพระแสงดาบวางลงบนบ่าซ้าย แล้วยกมาวางลงบนบ่าขวา แล้วยื่นพระหัตถ์ออกมา ขุนนางคนนั้นจึงเอามือของตัวรองลงใต้ฝ่าพระหัตถ์ เอาปากจุบธำมรงค์ทีหนึ่ง แล้วลุกขึ้นเดินถอยหลังออกไปไกลประมาณ ๓ วาแล้วจึงกลับหน้าเดินออกไป แต่ฝ่ายขุนนางหัวเมืองเข้าไปถึงคุกเข่าลง ข้างหนึ่งส่งหนังสือถวาย กวีนทรงรับเอาแล้วยื่นพระหัตถ์ให้ ทำเหมือน เช่นว่ามาแล้วทุก ๆ คน จนบ่าย ๔ โมงเศษกวีนจึงเสด็จขึ้น เลอรด์กลาเรนดอนจึงบอกราชทูตว่า กวีนกำหนดให้พวกราชทูตเข้าเฝ้าทูลลาในวันพรุ่งนี้

วันศุกร เดือน ๔ ขึ้น ๗ ค่ำ เวลาบ่าย ๓ โมง ราชทูตทั้ง ๓ หม่อมราโชทัย จมื่นราชามาตย์ นายพิจารณ์สรรพกิจ ขุนปรีชาชาญสมุทล่าม ๗ คนพร้อมกันขึ้นรถไปเฝ้าที่วังบักกิงฮัม กวีนโปรดให้พวกราชทูตเข้าไปเฝ้าในห้องเรียกว่าห้องจีน ห้องนั้นตกแต่งล้วนแต่ของจีน เครื่องประดับประดาแลเครื่องใช้โต๊ะเก้าอี้เปนของจีนทั้งสิ้น กวีนกับปรินส์อาลเบิตยืนเคียงกันอยู่ ครั้นพวกราชทูตคำนับ พร้อมกันแล้ว กวีนจึงตรัสเรียกหม่อมราโชทัยเข้าไปแล้วตรัสว่า พวกราชทูตมาอยู่ในเมืองลอนดอนเราได้ยินว่ามีความสุขอยู่ แต่เสียดายนักที่ต้องมากถูกฤดูหนาว ราชทูตให้ทูลว่า ความหนาวนั้นไม่สู้เปนไรนัก ด้วยมาอยู่นานก็เคยไป กวีนจึงรับสั่งว่า เราปราร์ถนาให้พวกท่านทั้งปวงไปจงดีมีความสุขตลอดถึงบ้านถึงเมืองเถิด เมื่อท่านทั้งปวงไปถึงแล้วจงกราบทูลพระเจ้ากรุงสยามด้วย ว่าเราขอให้ทรงพระชนมายุยืนยาวอยู่ในราชสมบัติทั้งสองพระองค์ อนึ่งกิจกรรมอันใดที่ท่านได้เห็นได้ยิน จงกราบทูลถวายชี้แจงให้ทรงทราบด้วย หม่อมราโชไทยก็บอกราชทูตตามรับสั่งแล้วจึงทูลว่า ถ้าพวกข้าพเจ้าได้กลับไปถึงกรุงเทพ ฯ แล้ว จะกราบทูลให้ถี่ถ้วนว่าพระองค์ทรงพระเมตตาโปรดปรานรับรองให้มีความสุขสบายอย่างไร แลการอันใดที่พวกข้าพเจ้าได้เห็นได้ยิน ก็จะกราบทูลให้เสร็จสิ้นทุกประการ กวีนจึงรับสั่งว่าดีแล้ว ปรินส์อาลเบิตจึงตรัสบ้าง ความก็คล้ายกับกวีนรับสั่ง แล้วพวกราชทูตก็ทูลลาออกมาขึ้นรถกลับไปโฮเต็ล

วันเสาร์ เดือน ๔ ขึ้น ๗ ค่ำ พวกเลอรด์ที่เปนขุนนางผู้ใหญ่เอาตราสำหรับที่ไปคืนถวายแก่กวีน (๑) ทูลลาออกนอกราชการ ด้วยเกิดความขึ้นเพราะรับธุระฝ่ายฝรั่งเศส

วันจันทร์ เดือน ๔ ขึ้น ๑๐ ค่ำ พวกราชทูตไปดูที่ขังคนบ้า ทำเปนตึกใหญ่กว้างขวาง ในนั้นมีที่สำหรับสั่งสอนสาสนา เทศน์ให้คนบ้าฟังทุกวันอาทิตย์ ที่ในตึกเปนห้องใหญ่บ้าง ห้องเล็กบ้าง แต่บ้าที่คลั่งมาก ไม่ได้สติ ดิ้นโดดโลดโผนโดนเสาโดนไม้ทำร้ายแก่คนอื่นดังนั้น ขังไว้ ในห้องมีเบาะมีนวมตามพื้นแลฝา ถึงจะดิ้นรนประการใดเนื้อตัวก็ไม่เจ็บช้ำ ในตึกนั้นทำสอาดหมดจดงดงามประหนึ่งว่าเรือนเศรษฐี มีหมอแลคนคอยปรนิบัติรักษาประจำอยู่มิได้ขาด บ้าผู้ชายก็เอาไว้ส่วนผู้ชาย บ้าผู้หญิงก็เอาไว้ตามผู้หญิง มิให้ปนปะคละกัน ผู้ปรนิบัตินั้นพูดจาสิ่งใดล้วนอ่อนหวานปลอบโยน มิให้คนบ้าเคืองใจเลย

วันพุธ เดือน ๔ ขึ้น ๑๒ ค่ำ มิศเตอร์เฟาล์เชิญพระราชสาส์นของกวีนกับสำเนาฉบับหนึ่งมาส่งให้ราชทูต

วันพฤหัสบดี เดือน ๔ ขึ้น ๑๓ ค่ำ พวกเลอรด์คนใหม่เข้ารับตราสำหรับที่ว่าราชการแทนเลอรด์คนเก่า

วันศุกร เดือน ๔ ขึ้น ๑๔ ค่ำ พวกราชทูตไปดูที่บริติชมิวเซียม เปนที่ไว้รูปสัตว์ต่าง ๆ คือสัตว์บก สัตว์น้ำ แต่เปนรูปสัตว์ตายแล้ว ผ่าท้องเอายาใส่ไม่เน่าเปื่อยเสียไป ดูเหมือนยังมีชีวิตอยู่ เวลาค่ำไปดูอิกแห่งหนึ่ง ที่นั่นเรียกมาดำตุศซอรด์ ชั้นล่างเปนที่ขายของ ชั้น ๒ ชั้น ๓ ทำเปนรูปปั้นด้วยขี้ผึ้งประสม มีรูปกวีน รูปปรินส์อาลเบิต แลเจ้าลูกเธอทั้ง ๙ องค์ กับพระวงศานุวงศ์ แลรูปกษัตริย์ต่างเมืองต่างชาติก็มีมาก รูปดุ๊ก รูปเลอรด์ รูปคนอื่น ๆ ยืนบ้าง นั่งบ้าง บางรูปก็กลอกหน้ากลอกตาได้ รูปผู้หญิงคนหนึ่งนอนหายใจดูเหมือนคนนอนหลับ รูปทั้งปวงแต่งตัวด้วยเสื้อผ้าแลของอื่นตามยศ ล้วนของจริง ๆ ทั้งสิ้น ดูผิวพรรณสัณฐานเหมือนคนเปน นั่งพูดจาปราไสตามมิตรสหายไปมาเยี่ยมเยียนซึ่งกันแลกัน

วันเสาร์ เดือน ๔ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เวลายาม ๑ กับ ๑๐ นาฑี มีจันทรอุปราคา จับข้างทิศอาคเณย์


(๑) คือการเปลี่ยนรัฐบาล พวกลิเบอรัลออกจากตำแหน่ง พวกคอนเซอเวติฟเข้าเปนรัฐบาล


 

งานนี้เป็นสาธารณสมบัติ เนื่องจากต้องด้วยหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๓๗

  • (๑) เป็นภาพถ่าย โสตทัศนวัสดุ ภาพยนตร์ สิ่งบันทึกเสียง หรืองานแพร่เสียงแพร่ภาพ ที่มีอายุมากกว่าหรือเท่ากับห้าสิบปี นับแต่วันสร้างสรรค์ขึ้นครั้งแรก (หรือวันที่มีการเผยแพร่งานครั้งแรก) แล้วแต่ว่ากรณีใดปรากฏก่อน
  • (๒) เป็นงานศิลปประยุกต์ ที่มีอายุมากกว่าหรือเท่ากับยี่สิบห้าปี นับแต่วันสร้างสรรค์หรือเผยแพร่ครั้งแรก
  • (๓) เป็นงานโดยผู้ไม่เปิดเผยชื่อหรือผู้ใช้นามแฝง ที่มีอายุมากกว่าหรือเท่ากับห้าสิบปี นับแต่วันสร้างสรรค์หรือเผยแพร่ครั้งแรก
  • (๔) เป็นงานในหมวดหมู่อื่น ๆ ที่ไม่เข้าเกณฑ์ข้างต้น และผู้สร้างสรรค์คนสุดท้ายถึงแก่ความตายมากว่าห้าสิบปีแล้ว
  • (๕) เป็นกรณีที่ผู้สร้างสรรค์งานนี้ไม่ปรากฏ ผู้สร้างสรรค์งานนี้เป็นนิติบุคคล หรือตายก่อนการเผยแพร่งาน ประกอบกับงานนี้มีอายุอย่างน้อยห้าสิบปี นับแต่วันเผยแพร่งานครั้งแรก