จดหมายเหตุเรื่องทูตไทยไปประเทศอังกฤษ/ตอนที่ 9

ตอนที่ ๙ ว่าด้วยกวีนให้เจ้าหญิงลูกเธอ ปรินเซสกับปรินซเฟรดดริกวิลเลียมลาไปเมืองปรูเซีย แลราชทูตไปดูคุก ดูคลัง แลดูแม่น้ำเทมส์

แก้ไข

วันเสาร์ เดือน ๓ แรมค่ำ ๑ กวีนให้เชิญพวกราชทูตไปที่วังชื่อ เซนต์เยมส์ เปนราชวังเก่า เดี๋ยวนี้กวีนไม่ได้เสด็จอยู่ โปรดให้ ดุ๊กแกมบริชอยู่วังนั้น กวีนจะให้เจ้าหญิงลูกเธอปรินเสศรอยัลกีบปรินส์ เฟรดดริกวิลเลียมซึ่งเปนสามีลาไปอยู่ด้วยกันที่เมืองปรูชา คือเมืองของ เจ้าเฟรดดริกวิลเลียม ถึงเวลาบ่ายโมงเศษมิศเตอร์เฟาล์ กัปตันเกล เวอริง ก็พาพวกราชทูตขึ้นรถไปถึงวัง เจ้าพนักงานจึงให้พวกราชทูต คอยอยู่ที่ห้องใหญ่กับด้วยพวกขุนนางอังกฤษทั้งภรรยาพร้อมกัน จนบ่าย ๒ โมงกวีนเสด็จออก เจ้าพนักงานเปิดประตู พวกเลอดร์แลพวก ขุนนาง กับพวกราชทูต ก็เดินตามกันเข้าไปเปนแถว กวีนเสด็จยืน อยู่ตรงหน้าพระที่นั่งโธรน ถัดไปข้างซ้ายปรินส์อาลเบิต ต่อไปปรินเสศ รอยัล แล้วปรินส์เฟรดดริกวิลเลียมแลดัชเชสเกนต์มารดากวีนยืนเรียง กันไป แต่พวกพระญาติพระวงศ์นอกนั้น ยืนเรียงกันอยู่ข้างหลังกวีน อิกแถวหนึ่งประมาณ ๒๑ คน ๒๒ คน เมื่อขุนนางเดินเข้าไปใกล้ที่ กวีนทรงยืนอยู่นั้น ขุนนางผู้เข้าไปจึงส่งก๊าด คือกระดาษที่เขียนชื่อแลตำแหน่งของตัวให้กับขุนนางผู้หนึ่ง ซึ่งยืนอยู่ริมกวีน อ่านถวาย ว่าคนนั้นเปนขุนนางตำแหน่งนั้น แล้วจึงเดินเข้าไปตรงกวีนก้มศีร์ษะลงคำนับ กวีนก็ก้มพระเศียรย่อพระองค์ลงรับ แล้วต่อไปปรินส์อาลเบิต แลเจ้าซึ่งยืนเรียงกันอยู่ทุก ๆ องค์ แล้วก็เลยมาออกประตูข้างหนึ่งไป คอยอยู่ข้างนอก แต่พวกราชทูต กวีนโปรดให้ดูอยู่ข้างในจนสำเร็จ พวกขุนนางกับภรรยาซึ่งเข้าไปนั้นประมาณ ๑,๐๐๐ คน กวีนเสด็จมา ยืนรับคำนับกับปรินส์อาลเบิต ปรินเสศรอยัล ปนิรส์เฟรดดริกวิลเลียม ดัชเชสเกนต์แลพระวงศานุวงศ์ แต่เวลาบ่าย ๑ โมงจนถึงบ่าย ๔ โมงเศษจึงเสด็จขึ้น (๑)

วันอังคาร เดือน ๓ แรม ๔ ค่ำเวลาเที่ยง ปรินส์เฟรดดริก วิลเลียมพาปรินเสศรอยัลกลับไปเมืองปรูชา ทางที่เจ้าทั้งสองจะลงไป เรือนั้น แต่บรรดาราษฎรทุกบ้านทุกเรือนจัดแจงตกแต่งปักดอกไม้กิ่งไม้ ยกธงทั้งสองฟากถนนจนตลอดถึงท่าที่จะลงเรือ แต่พวกราชทูตหาได้ ไปดูไม่ ด้วยมีธุระไปเยี่ยมญาติฮารีปากษ์เอศแควร์ (๒) ในวันนั้นน้ำค้าง แขงตกยังค่ำ ที่บนถนนหนาประมาณ ๕ นิ้ว ๖ นิ้ว แลดูขาวสอาด เหมือนนาเกลือ

วันจันทร์ เดือน ๓ แรม ๑๐ ค่ำ เวลาเช้า ๒ โมง ราชทูต ไปดู (คุกขังนักโทษ แลวันที่ไปดูนั้นมี ) คนโทษถึงสิ้นชีวิต เขาผูก ฅอแขวนที่หน้าคุก คนนั้นเปนโทษเพราะยิงคนตาย

วันศุกร์ เดือน ๓ แรม ๔ ค่ำ มิศเตอร์เฟาล์พาพวกราชทูตไปดู คลังเงินคลังทอง (๓) ที่คลังนั้นทำแน่นหนา ก่อด้วยศิลาแผ่นใหญ่ ๆ มีผู้รักษากวดขันมั่นคง ทองแลเงินซึ่งเก็บไว้ในคลังทำเปนลิ่ม ๆ ประมาณ ยาวศอกคืบ หน้าใหญ่ ๒ นิ้ว หน้าน้อยนิ้วกึ่ง วางลำดับซ้อนกันขึ้นไปเหมือนกองอิฐ เปนหลายกอง.

วันเสาร์ เดือน ๔ ขึ้นค่ำ ๑ พวกราชทูตไปหาเลอรด์ปามิศ ตอน (๔) ซึ่งเปนที่ผู้สำเร็จราชการทั่วทั้งเมือง แลเลอรด์กลาเรนดอน เปนผู้สำเร็จราชการฝ่ายกรมท่า บอกว่าจะขอลากลับคืนเข้ามากรุงเทพ ฯ เลอรด์กลาเรนดอนก็รับคำว่า แล้วจะกำหนดวันให้

วันพุธ เดือน ๔ ขึ้น ๕ ค่ำ มิศเตอร์เฟาล์พาพวกราชทูตไปลงเรือกลไฟเที่ยวดูตามลำแม่น้ำเทมส์ แม่น้ำนี้อยู่ในกลางเมืองลอนดอน เหมือนอย่างแม่น้ำเจ้าพระยาที่อยู่ในกรุงเทพ ฯ นี้ แม่น้ำนั้นมีตะพาน ข้าม ๘ แห่ง บางตะพานทำด้วยเหล็ก บางตะพานก่อด้วยศิลา ในจังหวัดที่ทำตะพาน เมื่อน้ำขึ้นลึก ๑๑ ศอก ลงลึก ๗ ศอกเศษ พ้นตะพานลงไปน้ำลึกมาก กำปั่นใหญ่เข้าออกได้ แม่น้ำนั้นบางแห่ง กว้าง บางแห่งเท่ากันกับแม่น้ำในกรุงเทพ ฯ บางแห่งก็แคบกว่า ตามริม ตลิ่งทั้ง ๒ ฟากลงเขื่อนเหล็กบ้าง เขื่อนศิลาบ้าง เขื่อนไม่บ้าง มีตึก แลอู่ตลอดไปตามลำน้ำ แต่กำปั่นที่อยู่ในอู่ แลกำปั่นขึ้นล่องไปมาทั้งใหญ่ทั้งเล็ก เปนเรือกลไฟบ้าง เรือใบบ้าง มากกว่า ๑๐,๐๐๐ ลำ ราชทูตดู ลงไปตามลำแม่น้ำทางประมาณ ๖๐๐ เส้น แล้วจึงกลับขึ้นมาแวะดู กำปั่นเหล็กลำใหญ่ที่ต่อใหม่ เจ้าของเรือเห็นพวกราชทูตขึ้นไปบนกำปั่น ก็มีความยินดีมาต้อนรับ นำไปเที่ยวดูบอกกล่าวชี้แจงจนตลอดลำ แล้ว ราชทูตก็ลงเรือกลไฟกลับมาโฮเต็ล.


(๑) เสด็จออกอย่างนี้เปนงานปีตามฤดู มิใช่การพิเศษ

(๒) ฮารีปากษ์นี้ เคยเปนทูตนำสัญญาไทยทำกับอังกฤษมาแลก ภายหลังได้เปน เซอร์ แฮรีปากษ์ เปนผู้มีชื่อเสียงทางเมืองจีน

(๓) ที่ว่าคลังนี้ คือ แบงก์ออฟอิงแคลนด์ ธนาคารเมืองอังกฤษ

(๔) เปนอรรคมหาเสนาบดี


 

งานนี้เป็นสาธารณสมบัติ เนื่องจากต้องด้วยหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๓๗

  • (๑) เป็นภาพถ่าย โสตทัศนวัสดุ ภาพยนตร์ สิ่งบันทึกเสียง หรืองานแพร่เสียงแพร่ภาพ ที่มีอายุมากกว่าหรือเท่ากับห้าสิบปี นับแต่วันสร้างสรรค์ขึ้นครั้งแรก (หรือวันที่มีการเผยแพร่งานครั้งแรก) แล้วแต่ว่ากรณีใดปรากฏก่อน
  • (๒) เป็นงานศิลปประยุกต์ ที่มีอายุมากกว่าหรือเท่ากับยี่สิบห้าปี นับแต่วันสร้างสรรค์หรือเผยแพร่ครั้งแรก
  • (๓) เป็นงานโดยผู้ไม่เปิดเผยชื่อหรือผู้ใช้นามแฝง ที่มีอายุมากกว่าหรือเท่ากับห้าสิบปี นับแต่วันสร้างสรรค์หรือเผยแพร่ครั้งแรก
  • (๔) เป็นงานในหมวดหมู่อื่น ๆ ที่ไม่เข้าเกณฑ์ข้างต้น และผู้สร้างสรรค์คนสุดท้ายถึงแก่ความตายมากว่าห้าสิบปีแล้ว
  • (๕) เป็นกรณีที่ผู้สร้างสรรค์งานนี้ไม่ปรากฏ ผู้สร้างสรรค์งานนี้เป็นนิติบุคคล หรือตายก่อนการเผยแพร่งาน ประกอบกับงานนี้มีอายุอย่างน้อยห้าสิบปี นับแต่วันเผยแพร่งานครั้งแรก