อธิบายเรื่องธงไทย




๑. ตามที่สืบสวนได้ความว่า แต่โบราณมา เมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยายังเป็นราชธานี ใช้ธงสีต่าง ๆ เป็นเครื่องหมายสำหรับกองทัพกองละสี ใช้ในเวลาเมื่อจัดกองทัพไปทำสงคราม ส่วนเรือกำปั่นเดินทะเลใช้ธงสีแดงเป็นเครื่องหมาย ยังหามีธงชาติอย่างเช่นเข้าใจกันในทุกวันนี้ไม่

๒. ถึงรัชกาลที่ ๒ กรุงรัตนโกสินทร์ ระหว่าง พ.ศ. ๒๓๖๐ ถึง พ.ศ. ๒๓๖๖ เมื่ออังกฤษตั้งสถานีการค้าที่เมืองสิงคโปร์แล้ว พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยโปรดให้สร้างเรือกำปั่นหลวงขึ้น ๒ ลำ สำหรับการค้าของรัฐบาล คือ หาเครื่องศัสตราวุธเป็นต้น ไปมาในระหว่างกรุงเทพฯ กับเมืองสิงคโปร์และเมืองมาเก๊า เรือทั้ง ๒ ลำนั้นก็ชักธงแดง อังกฤษเจ้าเมืองสิงคโปร์บอกให้นายเรือเข้ามากราบทูลว่า เรือทะเลของพวกชวามลายูที่ไปมาค้าขาย ณ เมืองสิงคโปร์ก็ชอบชักธงแดงเหมือนกัน ขอให้พระเจ้าอยู่หัวกรุงสยามใช้ธงอย่างอื่นเสีย จะได้จัดการรับรองเรือหลวงได้สะดวก ในสมัยนั้น พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยได้ช้างเผือกไว้ ๓ ตัวซึ่งนับถือในประเพณีไทยว่า เป็นเกียรติยศอย่างสูง จึงโปรดให้ทำรูปช้างสีขาวอยู่ในวงจักรสีขาวติดไว้กลางธงแดง หมายความว่า พระเจ้าแผ่นดินอันมีช้างเผือก (รูปช้างอยู่ในวงจักร ได้เอามาใช้เป็นตราด้านหลังเงินเหรียญครั้งรัชกาลที่ ๔) แต่ธงตราช้างอยู่ในวงจักรใช้แต่เรือหลวง เรือพ่อค้าไทยยังใช้ธงแดงอยู่อย่างเดิม

๓. ถึงรัชกาลที่ ๔ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๙๘ ทำหนังสือสัญญาเปิดการค้าขายกับชาวตะวันตก มีเรือกำปั่นชาวยุโรปและอเมริกาเข้ามาค้าขายในกรุงเทพฯ กงสุลต่างประเทศก็เข้ามาตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ เขาชักธงชาติของเขา ความจำเป็นที่จะต้องมีธงชาติของสยามเกิดขึ้นด้วยเหตุนั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดให้ใช้ธงช้างที่ประดิษฐ์ขึ้นในรัชกาลที่ ๒ เป็นธงชาติ แต่ให้เอารูปจักรออกเสีย ด้วยจักรเป็นเครื่องหมายสำหรับพระเจ้าแผ่นดิน ให้คงแต่มีรูปช้างเผือกอยู่กลางธงแดง แล้วทรงประดิษฐ์ธงขึ้นอีก ๒ อย่าง อย่างหนึ่งเรียกว่า "ธงมหามงกุฎ" สำหรับประจำพระองค์พระเจ้าแผ่นดิน พื้นสีแดงเหมือนธงชาติ อีกอย่างหนึ่งเรียกว่า "ธงไอราพต" พื้นแดงเหมือนธงชาติ มีรูปช้าง ๓ เศียรสีขาวผูกเครื่องยืนแท่น มีบุษบกตั้งบนหลังช้าง และมีรูปฉัตรตั้งข้างหน้าและข้างหลังข้างละ ๔ คัน อยู่กลางธง สำหรับรัฐบาลสยาม

๔. ถึงรัชกาลที่ ๕ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๔ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้ตั้งพระราชบัญญัติแบบอย่างธงขึ้นใหม่สำหรับใช้ในราชการ และแก้ไขเปลี่ยนแปลงเพิ่มเติมต่อมาจนถึงรัชกาลที่ ๖ ดังจะกล่าวต่อไปตามลำดับหมวดของธง คือ


หมวดธงประจำพระองค์


ธงบรมราชธวัชมหาสยามินทร์ สำหรับประจำพระองค์พระเจ้าแผ่นดิน พื้นนอกสีแดงพื้นในสีขาบ กลางมีโล่ตราแผ่นดินภายใต้มหาพิชัยมงกุฎ และมีเครื่องสูง ๗ ชั้นสองข้าง (อย่างธงพระมหามงกุฎประจำพระองค์รัชกาลที่ ๔) ในโล่ตราแผ่นดินนั้น ช่องบนรูปช้างไอราพตสามเศียรพื้นเหลืองบอกนามสยามเหนือ สยามใต้ สยามกลาง ช่องล่างขวานั้นเป็นรูปช้างเผือกพื้นชมพู เป็นนามสัญญาแห่งลาวประเทศ ช่องล่างข้างซ้ายนั้นเป็นรูปกริชคดและตรง ๒ อันไขว้กันพื้นแดง บอกสัญญานามมลายูประเทศ และมีแท่นรองโล่และเครื่องสูง ๗ ชั้นพื้นเหลืองรวมสัญญานามที่หมายเหล่านี้ทั้งสิ้น จึงเป็นบรมราชธวัชมหาสยามินทร์สำหรับใช้ในเรือพระที่นั่งและชักขึ้นบนเสาในพระบรมมหาราชวัง

ถึง พ.ศ. ๒๔๔๐ โปรดให้เปลี่ยนนามเรียกว่า "ธงมหาราช" ได้ใช้ต่อมาจนถึงรัชกาลที่ ๖ เมื่อพ.ศ. ๒๔๕๔ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้สร้าง

ธงมหาราชใหญ่ พื้นสีเหลือง กว้าง ๑ ส่วน ยาว ๑ ส่วน ที่ศูนย์กลางมีรูปครุฑพ่าห์สีแดง สำหรับใช้ประจำพระองค์ เมื่อนายทหารคลี่เชิญไปในกระบวนใด เป็นที่หมายว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จโดยกระบวนนั้น หรือชักขึ้นในที่แห่งใด ก็เป็นที่หมายว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวประทับอยู่ ณ ที่นั้น ถ้าประทับอยู่ในเรือพระที่นั่งหรือเรือลำหนึ่งลำใด ให้ชักธงมหาราชใหญ่ขึ้นไว้ที่ยอดเสาเป็นเครื่องหมาย

ในคราวเดียวกันนี้ได้ทรงสร้างธงประจำพระองค์ขึ้นอีก ๒ อย่าง อย่าง ๑ เรียกว่า

ธงมหาราชน้อย เป็นคู่กับธงมหาราชใหญ่ ตอนต้นมีลักษณะและสัณฐานเหมือนกับธงมหาราชใหญ่ กว้างไม่เกินกว่า ๖๐ เซนติเมตร และมีชายต่อสีขาว แปลงเป็นรูปธงยาวเรียวปลาย รวมทั้งธงกว้างข้างต้น ๑ ส่วน ข้างปลายกึ่งส่วน ยาว ๑๔ ส่วน ชายตัดเป็นแฉกรูปหางนกแซงแซว ลึกเพียง ๒ ส่วนแห่งด้านยาว สำหรับชักขึ้นที่เสาใหญ่ในเรือพระที่นั่งหรือเรือลำหนึ่งลำใดเช่นธงมหาราชใหญ่ แต่ถ้าเวลาใดโปรดเกล้าฯ ให้ชักธงมหาราชน้อยแทนธงมหาราชใหญ่แล้ว ห้ามมิให้เจ้าหน้าที่ยิงสลุตถวายคำนับ

อีกอย่าง ๑ เรียกว่า "ธงกระบี่ธุชและธงพระครุฑพาหะน้อย"

ธงกระบี่ธุชนั้น มีรูปวานรทรงเครื่องบนพื้นผ้าแดง และธงครุฑพาหะน้อย มีรูปครุฑแดงบนพื้นผ้าเหลือง โปรดให้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๓ คราวเสด็จไปสมโภชพระปฐมเจดีย์ และพระราชมนเทียร ณ พระที่นั่งสนามจันทร์ จังหวัดนครปฐม ราษฎรขุดได้แผ่นสัมฤทธิ์รูปกระบี่ ๑ รูปครุฑ ๑ คู่กัน เป็นของประจำธงชัยสำหรับกษัตริย์แต่โบราณ เจ้าพระยาศรีวิชัยชนินทร์ (ชม สุนทราชุน) เมื่อยังเป็นพระยาสุนทรบุรี สมุหเทศาภิบาลมณฑลนครชัยศรี นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย จึงโปรดให้ประกอบเป็นธงกระบี่ธุช และธงพระครุฑพาหะน้อย สำหรับนายทหารเชิญนำเสด็จพระราชดำเนินโดยกระบวนราบ ธงกระบี่ธุชไปข้างขวา ธงพระครุฑพาหะน้อยไปข้างซ้าย หรือเสด็จพระราชดำเนินโดยกระบวนรถพระที่นั่ง มีนายทหารเชิญขึ้นม้านำข้างหน้าข้างขวาและข้างซ้ายอย่างกระบวนราบ

ธงราชินี พื้นนอกสีแดงกว้าง ๑๐ ส่วน ยาว ๑๕ ส่วน ชายตัดเป็นแฉกรูปอย่างหางนกแซงแซว ลึกเพียงส่วนที่ ๔ แห่งด้านยาว พื้นในถัดมุมแฉกเข้ามาส่วนหนึ่งสีขาบกว้าง ๖ ส่วน ยาว ๘ ส่วน รูปเครื่องหมายที่ในพื้นที่ขาบเหมือนกับธงมหาราช (รัชกาลที่ ๕) เป็นเครื่องหมายในองค์พระอัครมเหสี สำหรับชักขึ้นบนเสาธงใหญ่ในเรือพระที่นั่งซึ่งสมเด็จพระอัครมเหสีได้เสด็จโดยพระราชอิสริยยศเป็นที่หมายให้ปรากฏว่า ได้เสด็จอยู่ในเรือลำนั้น

ถึงรัชกาลที่ ๖ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๔ โปรดให้สร้าง

ธงราชินีใหญ่ พื้นสีเหลือง กว้าง ๑๐ ส่วน ยาว ๑๕ ส่วน ชายตัดเป็นแฉกอย่างรูปหางนกแซงแซว ลึกเพียงส่วนที่ ๔ แห่งด้านยาว ที่ศูนย์กลางมีรูปครุฑพ่าห์สีแดงเหมือนกับธงมหาราชใหญ่ เป็นเครื่องหมายประจำพระองค์สมเด็จพระราชินี สำหรับชักขึ้นบนเสาใหญ่เรือพระที่นั่งซึ่งสมเด็จพระราชินีได้เสด็จโดยพระราชอิสริยยศ เป็นที่หมายให้ปรากฏว่า ได้เสด็จในเรือลำนั้น และทรงสร้าง

ธงราชินีน้อย ขนาดและส่วนเหมือนกับธงมหาราชน้อย ต่างกันแต่ชายธงเป็นสีแดง ใช้แทนธงราชินีใหญ่สำหรับประจำพระองค์สมเด็จพระบรมราชินี ในขณะที่โปรดให้ใช้ธงราชินีน้อยนี้ ห้ามมิให้เจ้าหน้ายิงสลุตถวายคำนับ

ธงเยาวราชธวัช สำหรับราชตระกูลนั้นเหมือนอย่างธงบรมราชธวัช พื้นสีแดง กลางมีโล่ตราแผ่นดินและจักรี ยกแต่มหาพิชัยมงกุฎ เครื่องสูงแท่นและพื้นน้ำเงินเท่านั้น สำหรับชักขึ้นที่เสาใหญ่ในเรือรบและเรือพระที่นั่งซึ่งราชตระกูลพระองค์นั้นได้เสด็จไปโดยอิสริยยศทางราชการ เป็นที่หมายว่า ราชตระกูลนั้นอยู่เรือรบหรือเรือพระที่นั่งลำนั้น ธงเยาวราชนี้เฉพาะใช้ได้แต่พระบรมราชเทวี พระราชเทวี พระราชโอรส พระราชธิดาของพระเจ้าแผ่นดิน และพระบรมวงศ์กรมสมเด็จ กรมพระ กรมหลวง กรมขุน กรมหมื่น และพระองค์เจ้าในพระบรมมหาราชวัง เป็นต้น ซึ่งมีอิสริยยศสมควรที่จะรับสลุตอย่างหลวง ในเรือรบทหารยืนเพลาและยิงสลุต ๒๑ นัด ทหารบกยืนแถวคลี่ธงจุฑาธุชธิปไตย ธงชัยเฉลิมพล แตรเป่าเพลงสรรเสริญพระบารมี ถวายคำนับเป็นเกียรติยศ ราชตระกูลนอกนั้นถ้ามีราชการต้องได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตเป็นพิเศษก่อนจึงจะใช้ได้

ธงนี้ได้ใช้ต่อมาถึง พ.ศ. ๒๔๔๐ โปรดให้เลิก และทรงสถาปนาธงเยาวราชขึ้นใหม่ พื้นสีขาบ กว้าง ๕ ส่วน ยาว ๖ ส่วน เครื่องหมายกลางธงเหมือนอย่างธงมหาราช เว้นแต่เครื่องสูง ๒ ข้างโล่เป็น ๕ ชั้น ใช้เป็นธงเครื่องหมายเฉพาะพระองค์ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชมกุฎราชกุมาร สำหรับชักขึ้นบนเสาใหญ่ในเรือพระที่นั่งหรือเรือรบลำใดลำหนึ่งซึ่งสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฎราชกุมารเสด็จโดยพระราชอิสริยยศ เป็นที่หมายให้ปรากฏว่า เสด็จอยู่ในเรือลำนั้น

ถึงรัชกาลที่ ๖ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๔ โปรดให้เปลี่ยนธงเยาวราชเป็นธงเยาวราชใหญ่ สำหรับใช้เป็นเครื่องหมายในพระองค์สมเด็จพระเยาวราช พื้นนอกสีขาบกว้าง ๑ ส่วน ยาว ๑ ส่วน พื้นในสีเหลือง กว้างยาวกึ่งส่วนของพื้นนอก ที่ศูนย์กลางพื้นในมีรูปครุฑพ่าห์สีแดง สำหรับชักขึ้นบนเสาใหญ่ในเรือพระที่นั่งหรือเรือลำหนึ่งลำใดซึ่งสมเด็จพระเยาวราชเสด็จโดยอิสริยยศ เป็นที่หมายให้ปรากฏว่า ได้เสด็จอยู่ในเรือลำนั้น และทรงสร้าง

ธงเยาวราชน้อย เพิ่มขึ้นสำหรับเป็นเครื่องหมายในพระองค์สมเด็จพระเยาวราช คือ ตอนต้นมีลักษณะสัณฐานเหมือนธงเยาวราชใหญ่ กว้างไม่เกินกว่า ๖๐ เซนติเมตร มีชายต่อสีขาว แปลงเป็นรูปธงยาวเรียวปลาย รวมทั้งธงกว้างข้างต้น ๑ ส่วน ข้างปลายกึ่งส่วน ยาว ๑๔ ส่วน ชายตัดเป็นรูปหางนกแซงแซว ลึกเพียงส่วนที่ ๒ แห่งด้านยาว สำหรับใช้แทนธงเยาวราชใหญ่ ในขณะที่ใช้ธงนี้ ห้ามมิให้เจ้าหน้าที่ยิงสลุตถวายคำนับ

ธงพระวรราชชายาแห่งพระเยาวราช พื้นสีขาบ มีรูปเครื่องหมายเหมือนกับธงเยาราช แต่ตัดชายเป็นรูปอย่างหางนกแซงแซว สำหรับพระองค์วรชายาแห่งมกุฎราชกุมาร

ถึงรัชกาลที่ ๖ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๔ ได้ทรงสร้าง

ธงพระวรชายาแห่งพระเยาวราชใหญ่ เหมือนกับธงเยาวราชใหญ่ แต่ตัดชายเป็นแฉกรูปอย่างหางนกแซงแซว สำหรับประจำพระองค์พระวรชายาแห่งพระเยาวราช และได้ทรงสร้าง

ธงพระวรชายาแห่งพระเยาวราชน้อย เหมือนกับธงเยาวราชน้อย ผิดกันแต่ชายเป็นสีแดง สำหรับใช้แทนธงพระวรชายาแห่งพระเยาวราชใหญ่ ในขณะที่ใช้ธงนี้ ห้ามมิให้มีการยิงสลุตถวาย

ธงราชวงศ์ฝ่ายหน้า พื้นสีขาบ กลางมีโล่ตราแผ่นดิน เบื้องบนแห่งโล่มีรูปจักรีไขว้กัน และมีมหามงกุฎสวมบนจักรี กว้าง ๕ ส่วน ยาว ๖ ส่วน สำหรับชักบนเสาใหญ่ในเรือพระที่นั่งหรือเรือลำหนึ่งลำใดซึ่งพระราชวงศ์องค์ใดองค์หนึ่งเสด็จโดยอิสริยยศทางราชการ พระราชวงศ์ผู้ซึ่งจะใช้ธงนี้ได้เฉพาะแต่พระราชวงศ์ผู้ใหญ่ซึ่งมีอิสริยศสมควรที่จะรับสลุตอย่างหลวง ๒๑ นัด ในเรือรบมีทหารยืนเพลาใบ และทหารบกยืนแถวคลี่ธงชัย แตรทำเพลงสรรเสริญพระบารมีถวายคำนับเป็นเกียรติยศ พระราชวงศ์อันมีอิสริยยศต่ำกว่านั้นนับว่า เป็นพระราชวงศ์ผู้น้อย ถ้ามีราชการไปต้องได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตเป็นพิเศษก่อนจึงจะใช้ธงนี้ได้

ถึงรัชกาลที่ ๖ พ.ศ. ๒๔๕๔ โปรดให้สร้าง

ธงราชวงศ์ฝ่ายหน้า พื้นสีขาบ กว้าง ๑ ส่วน ยาว ๑ ส่วน ที่ศูนย์กลางมีวงกลมสีเหลือง เส้นตัดศูนย์กลางวงกลมมีขนาดเท่ากึ่งส่วนกว้างของธง ภายในวงกลมมีรูปครุฑพ่าห์สีแดง ใช้เป็นเครื่องหมายสำหรับพระราชโอรสในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ไม่ว่ารัชกาลใด ๆ เสด็จในเรือนั้นโดยอิสริยยศ และทรงสร้าง

ธงราชวงศ์น้อยฝ่ายหน้า ตอนต้นมีลักษณะและสัณฐานเหมือนกับธงราชวงศ์ใหญ่ฝ่ายหน้า กว้างไม่เกิน ๖๐ เซนติเมตร มีชายธงสีขาวแปลงเป็นรูปธงยาวเรียวปลาย รวมทั้งธงมีขนาดกว้างข้างต้น ๑ ส่วน ข้างปลายกึ่งส่วน ยาว ๑๔ ส่วน ชายตัดเป็นแฉกรูปหางนกแซงแซว ลึกเพียงส่วนที่ ๒ แห่งด้านยาว ใช้สำหรับแทนธงราชวงศ์ฝ่ายหน้า ในขณะใช้ ห้ามมิให้เจ้าหน้าที่ยิงสลุตถวาย

ธงราชวงศ์ฝ่ายใน พื้นสีขาบ รูปเครื่องหมายในธงเหมือนกับธงราชวงศ์ฝ่ายหน้า แต่ตัดชายเป็นแฉกรูปหางนกแซงแซว โปรดให้สร้างขึ้นในรัชกาลที่ ๕ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๒ สำหรับราชวงศ์ฝ่ายใน

ถึงรัชกาลที่ ๖ โปรดให้เปลี่ยนเครื่องหมายภายในธงราชวงศ์ฝ่ายใน เป็นรูปครุฑพ่าห์สีแดงเหมือนกับธงราชวงศ์ใหญ่ฝ่ายหน้า ผิดกันแต่ตัดชายเป็นแฉกรูปหางนกแซงแซว ใช้เป็นเครื่องหมายสำหรับพระราชธิดาในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไม่ว่ารัชกาลใด ๆ เสด็จในเรือนั้นโดยพระอิสริยยศ และทรงสร้าง

ธงราชวงศ์น้อยฝ่ายใน เหมือนกับธงราชวงศ์น้อยฝ่ายหน้า ผิดกันแต่ชายธงเป็นสีแดง ใช้สำหรับแทนธงราชวงศ์ใหญ่ฝ่ายใน ในเวลาที่ใช้ ห้ามมิให้มีการยิงสลุตถวายคำนับ


หมวดธงแผ่นดิน


ธงจุฑาธุชธิปไตย คือ ราชธวัชสำหรับรัฐบาลสยาม พื้นสีแดง มีรูปช้างไอราพตสามเศียรทรงเครื่องยืนแท่น มีบุษบกและเครื่องสูง ๗ ชั้น ๔ องค์ ในกลางบุษบกมีอักษร จ.ป.ร. (จุฬาลงกรณ์บรมราชาธิราช) ไขว้กัน เป็นพระนามาภิไธยในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และมีจุลมงกุฎ นัยหนึ่งว่า พระเกี้ยวยอด อยู่บนอักษรพระนาม (ที่หมายพระนามาภิไธยในบุษบกนั้นเปลี่ยนตามรัชกาล) สำหรับใช้ชักขึ้นในพระนคร เวลาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมิได้ประทับอยู่ในพระบรมมหาราชวัง และใช้เป็นราชธวัชสำหรับพลหลวงที่เรียกว่าทหารกรมต่าง ๆ ถ้าทหารกรมหนึ่งกรมใดจะไปราชการสงคราม แต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมิได้เสด็จพระราชดำเนินในกองทัพนั้น ต้องใช้ธงนี้เป็นเครื่องหมายสำคัญแทนพระองค์ หรือเวลาที่ออกยืนแถวรับเสด็จ หรือเจ้านายต่างประเทศให้เป็นเกียรติยศ ธงนี้ใช้ต่อมาถึง พ.ศ. ๒๔๔๐ จึงโปรดให้กลับใช้ธงสำหรับรัฐบาลสยามอย่างรัชกาลที่ ๔ และให้เรียกนามว่า "ธงไอราพต"

ถึงรัชกาลที่ ๖ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๖ ทรงสถาปนาธงแผ่นดินเพิ่มขึ้นใหม่อีกอย่างหนึ่ง เรียกว่า

ธงมหาไพชยนต์ธวัช พื้นนอกแดง พื้นในสีดำ กลางมีพานแว่นฟ้าสองชั้นรองวชิราวุธ มีฉัตร ๕ ชั้นสองข้าง เหตุที่สร้างธงนี้ ทรงพระราชปรารภว่ารูปครุฑสัมฤทธิ์หุ้มทองของโบราณที่ขุดได้ ณ ตำบลโคกพระในดงศรีมหาโพธิ์ จังหวัดปราจีนบุรี ซึ่งพระเจ้าบรมวงศ์กรมขุนมรุพงศ์ศิริพัฒน์ สมุหเทศาภิบาลมณฑลปราจีนได้นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเมื่อเสด็จถึงเมืองปราจีนในวันที่ ๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๕๕ นั้น เป็นโบราณวัตถุซึ่งสันนิษฐานว่าจะเป็นยอดธงสำหรับนำทัพของพระราชาธิบดีในสมัยโบราณ การที่มีผู้นำมาทูลเกล้าฯ ถวายก็นับว่าเป็นสิ่งประกอบด้วยสวัสดิมงคล และธงจุฑาธุชธิปไตย อันเป็นธงสำคัญสำหรับประจำกองทัพบกนั้น ในรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกนาถได้โปรดให้สร้างขึ้น และบรรจุเซ่นพระเจ้าแล้วพระราชทานไว้เพื่อประกองทัพบก สืบมาเป็นประเพณีอันดีงาม สมควรที่จะทรงปฏิบัติตามเยี่ยงสมเด็จพระบรมชนกนาถ จึงโปรดเกล้าฯ ให้ซ่อมแซมครุฑโบราณนั้นให้งดงามเพื่อติดบนยอดคันธง และโปรดให้ปักธงเป็นธงเป็นลายอย่างพระราชลัญจกรประจำพระองค์บนพื้นดำทับบนพื้นแดงอีกชั้นหนึ่ง พระราชทานนามว่า "ธงมหาไพชยนต์ธวัช" ตามนามแห่งธงท้าวอมรินทราธิราช ซึ่งได้ใช้นามเทพเสนาไปปราบอสูรเหล่าร้ายพ่ายแพ้แด่พระบารมี ใช้เป็นธงสำคัญประจำกองทัพบกเพิ่มเข้าอีกธงหนึ่ง อย่างจุฑาธุชธิปไตยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว


หมวดธงประจำกอง


ธงประจำกองทัพบก พื้นแดงขอบมีจักรสีขาวสามด้าน กลางเป็นรูปตราแผ่นดิน โปรดให้สร้างขึ้นในรัชกาลที่ ๕ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๗ และได้พระราชทานแก่กองทหาร ซึ่งจอมพล เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี (เจิม แสง-ชูโต) เมื่อยังเป็นพันเอก เจ้าหมื่นไวยวรนาถ ตำแหน่งแม่ทัพ ได้ใช้ธงนี้นำทัพไปปราบฮ่อซึ่งเข้ามาก่อการจลาจลในเขตหัวพันห้าทั้งหกและสิบสองปันนาเมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๘ ภายหลังพระราชทานนามธงนี้ว่า "จุฑาธุชธิปไตย" ถึงรัชกาลที่ ๖ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๖ โปรดให้สร้างธงมหาไพชยนต์ธวัช พื้นนอกสีแดง พื้นในสีดำ กลางมีรูปพานแว่นฟ้าสองชั้นรองวชิราวุธ มีเครื่องสูง ๕ ชั้น ข้างละ ๑ องค์ ดังได้กล่าวมาแล้วในหมวดธงสำหรับแผ่นดิน ก็ไม่ได้เลิกถอนธงจุฑาธุชธิปไตย ยังคงใช้ต่อมา

ธงประจำกองทหารบก โปรดให้สร้างขึ้นในรัชกาลที่ ๔ พื้นนอกสีแดง พื้นในสีขาบ กลางมีมหาพิชัยมงกุฎและเครื่องสูง ๗ ชั้นสองข้างดังได้กล่าวมาแล้วในหมวดธงประจำพระองค์ ใช้เป็นธงประจำกองทหารพระองค์ปืนทองปราย ซึ่งได้มีอยู่แล้วแต่ในรัชกาลที่ ๓ กอง ๑ กองทหารหน้าซึ่งได้ตั้งขึ้นในคราวเดียวกันนี้กอง ๑ กองทหารปืนใหญ่ซึ่งได้ตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๓๙๕ กอง ๑ กองทหารล้อมวังซึ่งได้ตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๓๙๗ กอง ๑ และกองทหารอย่างยุโรปซึ่งได้ตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๐๔ กอง ๑ รวม ๖ กอง ใช้ในเวลาเมื่อเสด็จประทับอยู่ในพระนคร แต่ถ้ามิได้เสด็จประทับอยู่ในพระนครแล้ว ถ้ากองทหารมีการจำเป็นที่จะต้องใช้ธงประจำกอง โปรดให้ใช้ธงสำหรับแผ่นดินรูปช้างไอราพตสามเศียรทรงเครื่องยืนแท่นหันหน้าไปข้างเสา มีบุษบกทรงอุณาโลมภายในตั้งอยู่บนหลัง มีเครื่องสูง ๗ ชั้นอยู่หน้าหลังข้างละ ๒ องค์ ดังกล่าวมาแล้วในหมวดธงสำหรับแผ่นดิน เป็นธงประจำกองแทนธงสำหรับพระองค์

ถึงรัชกาลที่ ๕ โปรดให้เปลี่ยนธงสำหรับประจำพระองค์ใหม่ ใช้ธงพื้นนอกแดง พื้นในสีขาบ กลางเป็นรูปโล่ตราแผ่นดิน มีจักรไขว้กันอยู่บนโล่ มหาพิชัยมงกุฎสวมอยู่บนจักรี มีเครื่องสูง ๗ ชั้นสองข้าง ดังกล่าวมาแล้วในหมวดธงประจำพระองค์แทน ส่วนธงสำหรับแผ่นดินคงใช้ธงไอราพตอย่างรัชกาลที่ ๔ ต่อมาถึง พ.ศ. ๒๔๓๒ โปรดให้เปลี่ยนตราธงประจำกองทหารบกต่าง ๆ ที่ใช้อยู่ในเวลานั้น เป็นธงตราแผ่นดินบนพื้นผ้าแดง แทนธงประจำพระองค์และธงสำหรับแผ่นดิน ได้พระราชทานแก่กองทหารเมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๕ คือ กองทหารม้าใน (ม้าหลวง) ๑ กองทหารปืนใหญ่นอก (ปืนใหญ่หลวง) ๑ กองทหารราบในมหาดเล็ก ๑ กองทหารราบนอกรักษาพระองค์ ๑ กองทหารราบนอกล้อมวัง ๑ กองทหารราบนอกฝีพาย ๑ รวม ๖ กอง

ถึง พ.ศ. ๒๔๕๑ เมื่อทำการพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก โปรดให้เปลี่ยนธงประจำกองทหารบกใหม่ ใช้ธงรูปช้างเผือกทรงเครื่องยืนแท่นบนพื้นแดง ที่มุมธงข้างบนหน้าช้างมีอักษรพระบรมนามาภิไธยย่อ จ. สีเหลืองแก่ ป. สีน้ำเงิน ร. สีแดง และมีรัศมีและจุลมงกุฎสีเหลืองอยู่เบื้องบน เป็นธงประจำกองทหารบกกรมต่าง ๆ รวม ๑๒ กอง

ถึงรัชกาลที่ ๖ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๔ โปรดให้เปลี่ยนธงประจำกองทหารบกใหม่ ใช้ธงช้างเผือกทรงเครื่องยืนแท่นบนพื้นแดง ที่มุมธงข้างบนหน้าช้างมีอักษรพระบรมนามาภิไธยย่อ ว.ป.ร. สีน้ำเงิน มีรัศมีและมหาพิชัยมงกุฎเบื้องบนสีเหลือง ได้พระราชทานแก่ทหารบกกองต่าง ๆ เมื่องานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก


หมวดธงตำแหน่ง


ธงจอมทัพบก มีรูปคทาและพระแสงกระบี่ไขว้กัน มีจักรและมหาพิชัยมงกุฎสีขาวบนพื้นแดง สร้างขึ้นในรัชกาลที่ ๖ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๔ สำหรับตำแหน่งจอมทัพบก

ธงราชทูต ใช้ธงช้างเผือกทรงเครื่องยืนแท่นบนพื้นผ้าแดง ที่มุมธงข้างบนหน้าช้างมีโล่ตราแผ่นดิน และมีจักรมงกุฎ สำหรับราชทูตประจำต่างประเทศและข้าหลวงใหญ่ไปราชการพิเศษ ซึ่งผู้ที่ได้รับราชการนั้นอยู่ในสถานตำแหน่งผู้แทนพระองค์พระเจ้าแผ่นดิน หรือผู้แทนรัฐบาลจึงจะใช้ได้ เป็นที่หมายยศของผู้ที่รับราชการนั้น ชักขึ้นเสาหน้า

ถึง พ.ศ. ๒๔๕๔ ในรัชกาลที่ ๖ โปรดให้เปลี่ยนรูปโล่ตราแผ่นดินและจักรีมงกุฎในธงราชทูตเป็นรูปครุฑกางกรมีมหามงกุฎในวงกลม

ธงกงสุลสยาม ใช้ธงช้างเผือกทรงเครื่องยืนแท่น ที่มุมธงข้างบนหน้าช้างมีโล่ตราแผ่นดิน สำหรับตำแหน่งกงสุลสยามประจำต่างประเทศ ในคราวเดียวกับที่โปรดให้เปลี่ยนเครื่องหมายในธงราชทูตนั้นก็ได้โปรดให้เปลี่ยนเครื่องหมายในธงกงสุลเป็นรูปครุฑกางกรในวงกลมด้วย

ธงผู้ว่าราชการเมือง ใช้ธงช้างเผือกทรงเครื่องยืนแท่นบนพื้นผ้าแดง ที่มุมธงข้างบนมีวงกลมขาวโต ๑ ใน ๔ ส่วนของด้านกว้างแห่งธงนั้น ในกลางวงกลมมีตราตำแหน่งของผู้ที่ไปราชการนั้น

ถึงรัชกาลที่ ๖ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๔ โปรดให้ใช้ธงนี้สำหรับตำแหน่งสมุหเทศาภิบาลมณฑลอยุธยา มีเครื่องหมายในวงกลมเป็น ๕ ช่อง ช่องบนรูปปราสาท ภายในมีพานแว่นฟ้ารองสังข์ทักษิณาวัตร หลังปราสาทมีรูปต้นหมัน ช่องกลางข้างขวารูปอ่างทอง ข้างซ้ายรูปเขาแก้ว ช่องล่างข้างขวารูปสิงห์หมอบบนแท่น ข้างซ้ายรูปศร ๓ เล่ม ถ้าเป็นผู้ว่าราชการเมืองก็ให้ใช้ตรานามเมืองนั้นในวงกลมด้วย

ธงเสนาบดีกระทรวงทหารเรือ พื้นสีขาบ กลางมีรูปสมอไขว้กับจักรสีเหลือง ข้างบนมีมหามงกุฎ โปรดให้สร้างขึ้นในรัชกาลที่ ๕ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๐ สำหรับตัวเสนาบดีหรือรองเสนาบดีกระทรวงทหารเรือ เมื่อชักขึ้นบนเสาในเรือลำใด ให้พึงเข้าใจว่าเสนาบดีหรือรองเสนาบดีกระทรวงทหารเรือได้อยู่ในเรือลำนั้น ถ้าและพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ดี สมเด็จพระอัครมเหสีก็ดี สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชมงกุฎราชกุมารก็ดี ได้ประทับอยู่ในเรือหลวงลำหนึ่งลำใดอันได้ชักธงมหาราช ธงราชินี หรือธงเยาวราชขึ้นไว้บนเสาใหญ่ และได้ชักธงเสนาบดีไว้บนเสาหน้าด้วยแล้ว ก็ให้เจ้าหน้าที่ในเรือรบและป้อมทั้งปวงยิงสลุตตามประเพณี ถ้ามีแต่ธงมหาราช หรือธงราชินี หรือธงเยาวราช ชักขึ้นบนเสาใหญ่ ไม่มีธงเสนาบดีบนเสาหน้า ห้ามการยิงสลุตทุกหน้าที่

ถึงรัชกาลที่ ๖ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๔ โปรดให้ใช้ธงนี้เป็นเครื่องหมายสำหรับตัวเสนาบดีกระทรวงทหารเรือ ชักขึ้นไว้ ณ ที่ทำการของเสนาบดีกระทรวงทหารเรือ และใช้ชักขึ้นที่ยอดเสาใหญ่ในเรือ เป็นเครื่องหมายว่าเสนาบดีกระทรวงทหารเรือได้อยู่ในเรือลำนั้น และในเวลาที่ชักธงมหาราชใหญ่ หรือธงราชินีใหญ่ขึ้นที่เสาใหญ่เรือลำใด ให้ชักธงเสนาบดีนี้ขึ้นที่เสาหน้าเรือลำนั้นด้วยเสมอไป


ธงหมายยศ


ธงจอมพลเรือ ใช้ธงช้างเผือกทรงเครื่องยืนแท่นบนผ้าสีขาบ ข้างหน้าช้างมีรูปสมอไขว้ ๒ ตัว กับมหามงกุฎสีเหลือง ทรงสร้างขึ้นในรัชกาลที่ ๖ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๓ โปรดให้ใช้สำหรับหมายตำแหน่งยศจอมพลเรือ ถ้าใช้ในเรือใหญ่ให้ชักขึ้นที่เสาใหญ่

ธงเกตุ เป็นรูปช้างเผือกทรงเครื่องยืนแท่นบนพื้นผ้าสีขาบ สำหรับหมายยศแม่ทัพเรือ ตำแหน่งนายพลเรือเอกชักขึ้นที่เสาใหญ่ ตำแหน่งนายพลเรือโทชักขึ้นที่เสาหน้า ตำแหน่งนายพลเรือตรีชักขึ้นที่เสาท้าย ต่อมาถึง พ.ศ. ๒๔๔๐ โปรดให้เรียกว่า "ธงฉาน" สำหรับนายพลเรือเอกชักขึ้นบนเสาใหญ่ สำหรับนายพลเรือโทเพิ่มรูปจักรสีขาวที่มุมธงข้างหน้าช้างจักร ๑ ชักขึ้นบนเสาหน้า สำหรับนายพลเรือตรีเพิ่มจักรสีขาวข้างมุมบนมุมล่างหน้าช้าง ๒ จักร ชักขึ้นบนเสาหลัง หรือถ้าเป็นเรือ ๒ เสาชักขึ้นบนเสาหน้า

ถึงรัชกาลที่ ๖ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๔ โปรดให้ใช้ธงพื้นสีขาบ กลางมีรูปช้างเผือกทรงเครื่องยืนแท่นหน้าเข้าข้างเสาไม่มีจักร เรียกว่า "ธงฉาน" สำหรับชักหน้าเรือหลวงทั้งปวง ซึ่งเป็นเรือพระที่นั่งหรือเรือรบในขณะที่อยู่ในราชการ ถ้าชักขึ้นที่ปลายพรวนเสาหน้าเรือลำใด เป็นเครื่องหมายว่าเรือลำนั้นเป็นเรือยามประจำอ่าว และใช้เป็นธงประจำกองสำหรับกองทหารเรือเวลาขึ้นบกด้วย

ส่วนธงฉานที่มีจักร เรียกว่า "ธงนายพลเรือ" ไม่มีจักรสำหรับยศนายพลเรือเอก ชักขึ้นที่เสาใหญ่ มีจักรดวง ๑ ข้างมุมบนสำหรับยศนายพลเรือโท ชักขึ้นเสาหน้า มีจักร ๒ จักรข้างมุมบนและมุมล่างสำหรับยศนายพลเรือตรี ถ้าเรือ ๓ เสาให้ชักขึ้นที่เสาหลัง ถ้า ๒ เสาให้ชักขึ้นที่เสาหน้า

ถึง พ.ศ. ๒๔๕๙ โปรดให้แก้ธงชาติเป็นพื้นสีแดงกลางมีรูปช้างเผือกทรงเครื่องยืนแท่นหันหน้าเข้าหาเสา สำหรับใช้เป็นธงราชการ ส่วนธงค้าขายใช้สำหรับสาธารณชนที่เป็นชาติชาวสยามทั่วไป เป็นรูปสี่เหลี่ยมพื้นแดง มีขนาดกว้าง ๑ ส่วน ยาวส่วนครึ่ง มีแถบขาว ๒ แถบ กว้าง ๑ ใน ๖ ส่วนของธง ทาบภายในติดตามยาว ห่างจากขอบล่างและบน ๑ ใน ๖ ส่วนของส่วนกว้างแห่งธง ได้ใช้อยู่หนึ่งปี ถึงพ.ศ. ๒๔๖๐ ทรงพระราชดำริว่าธงชาติสยามซึ่งได้ประดิษฐ์ขึ้นใหม่นั้นยังไม่สง่างามพอสำหรับประเทศ สมควรจะเพิ่มสีน้ำเงินแก่เข้าอีกสีหนึ่งให้เป็น ๓ สี ตามลักษณะธงชาติของนานาประเทศที่ใช้อยู่โดยมากนั้น และสีน้ำเงินก็เป็นสีประจำพระชนมวารเฉพาะพระองค์ด้วย จึงโปรดให้แก้ธงชาติสยามเป็นรูปสี่เหลี่ยมรีมีขนาดกว้าง ๒ ส่วน ยาว ๓ ส่วน มีแถบน้ำเงินแก่กว้าง ๑ ส่วน ซึ่งแบ่ง ๓ ของขนาดกว้างแห่งธงอยู่กลาง มีแถบขาวกว้าง ๑ ส่วน ซึ่งแบ่ง ๖ ของขนาดกว้างแห่งธง ข้างละแถบ แล้วมีแถบสีแดงกว้างเท่าแถบขาวประกอบชั้นนอกอีกข้างละแถบ ให้เรียกนามว่า "ธงไตรรงค์" สำหรับใช้ชักขึ้นในเรือพ่อค้าทั้งหลาย และในที่ต่าง ๆ ของสาธารณชนที่เป็นชาติชาวสยามทั่วไป ส่วนธงพื้นสีแดงกลางมีรูปช้างปล่อย ซึ่งใช้เป็นธงชาติสยามมาแต่ก่อนนั้นให้ยกเลิก

ในคราวเดียวกันนี้ได้โปรดให้แก้ธงฉานเหมือนธงไตรรงค์ แต่มีรูปสมอไขว้กับจักร และมีรูปพระมหามงกุฎสีเหลืองอยู่เบื้องบนตรงกลางพื้นธงด้วย

ธงหางแซงแซว ข้างต้นพื้นแดง กลางเป็นวงจักรสีขาว ๔ ดวง ข้างปลายหางแซงแซวนั้นมีสีขาบ สำหรับหมายตำแหน่งยศนายพลเรือเอก ตำแหน่งยศนายพลเรือโทมีจักร ๓ ดวง ตำแหน่งยศนายพลเรือตรีมีจักร ๒ ดวง ตำแหน่งยศนายพลเรือจัตวามีจักรดวง ๑ ชักขึ้นที่เสาใหญ่

ถึง พ.ศ. ๒๔๔๐ โปรดให้ใช้ธงฉานตัดชายเป็นแฉกอย่างรูปหางนกแซงแซวแทน เรียกว่า ธงหางแซงแซวรับชัว สำหรับชักขึ้นบนเสาใหญ่ เป็นที่หมายว่านายพลเรือจัตวาอยู่ในเรือนั้น ใช้ต่อมาจนถึงรัชกาลที่ ๖ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๔ โปรดให้สร้างธงนายพลเรือเหมือนธงฉาน เป็นเครื่องหมายตำแหน่งยศนายพลเรือเอก ถ้าใช้ในเรือให้ชักขึ้นที่เสาใหญ่ ถ้าและธงนี้มีรูปจักรสีขาวจักร ๑ อยู่ที่มุมบนข้างหน้าช้าง เป็นธงหมายตำแหน่งยศนายพลเรือโท ถ้ามี ๒ จักรเป็นธงหมายตำแหน่งยศนายพลเรือตรี ธงนายพลเรือโทถ้าใช้ในเรือให้ชักขึ้นที่เสาหน้า ส่วนนายพลเรือตรีนั้น ถ้าเป็นเรือ ๓ เสา ให้ชักขึ้นที่เสาหลัง ถ้าเป็นเรือ ๒ เสาให้ชักขึ้นที่เสาหน้า ถ้านายพลเรือจัตวาให้คงใช้ธงฉานตัดชายเป็นแฉกอย่างรูปหางนกแซงแซวเป็นเครื่องหมายตำแหน่งยศ ถ้าใช้ในเรือให้ชักขึ้นบนเสาหลัง

ธงหางจระเข้ ข้างต้นพื้นแดง กลางเป็นวงจักรสีขาว ๔ ดวง ข้างปลายสีขาบ ยาว ๓๐ ฟิต กว้าง ๖ นิ้ว สำหรับใช้ในเรือรบ เป็นที่หมายตำแหน่งผู้บังคับการ มีจักร ๔ ดวงสำหรับนายเรือเอก ๓ ดวงสำหรับนายเรือโท ๒ ดวงสำหรับนายเรือตรี ดวง ๑ สำหรับนายเรือจัตวา

ถึง พ.ศ. ๒๔๔๐ โปรดให้ใช้ธงหางจระเข้ไม่มีรูปจักร สำหรับชักขึ้นบนเสา เป็นที่หมายเฉพาะนายเรือ ได้ใช้ต่อมาจนถึงรัชกาลที่ ๖ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๔ โปรดให้เรียกว่า "ธงนายเรือ" สำหรับชักขึ้นบนเสา เป็นที่หมายเฉพาะนายเรือ

ธงผู้ใหญ่ ข้างต้นกว้าง ๑๔ นิ้ว ยาวศอกคืบ เรียวปลายแหลม ส่วนหนึ่งข้างต้นพื้นสีขาบ สองส่วนข้างปลายพื้นสีขาว มีจักรสีขาวอยู่กลางพื้นสีขาบ ทรงสร้างขึ้นในรัชกาลที่ ๕ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๐ สำหรับใช้กับธงหางจระเข้เมื่อเรือหลวงทอดอยู่นอกพระมหานครตั้งแต่ ๒ ลำขึ้นไป อันได้ชักธงหางจระเข้ขึ้นไว้บนเสาใหญ่ทุกลำ ถ้าลำใดชักธงนี้ขึ้นบนเสา เป็นที่หมายว่านายเรือผู้ใหญ่อยู่ในเรือลำนั้น

ถึง พ.ศ. ๒๔๕๔ ในรัชกาลที่ ๖ โปรดให้ใช้เป็นเครื่องหมายสำหรับนายทหารผู้ใหญ่ในกระบวนเรือซึ่งอยู่ในลำนั้น เว้นไว้แต่ถ้านายทหารผู้ใหญ่เป็นนายพลจึงให้ใช้ธงนายพลตามตำแหน่งยศ

ธงนำร่องของกรุงสยาม เป็นรูปช้างเผือกเปล่าพื้นแดง ขอบนอกขาวทั้ง ๔ ด้าน สำหรับชักบอกเป็นที่หมาย ชักขึ้นในที่ใด นำร่องอยู่ที่นั้น ถึงรัชกาลที่ ๖ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๐ โปรดให้แก้ไขธงนำร่องเหมือนธงไตรรงค์ แต่มีขอบขาวโดยรอบ เป็นเครื่องหมายตำแหน่งพนักงานนำร่อง ให้ชักธงนี้ขึ้นบนเสาหน้าเป็นสัญญา และโปรดให้สร้างธงราชนาวีขึ้นใหม่ในคราวเดียวกันนี้ มีลักษณะเหมือนธงไตรรงค์ แต่มีวงกลมสีแดงอยู่กลาง ขอบจุดแถบสีแดงของพื้นธงภายในดวงกลมนั้นมีรูปช้างเผือกทรงเครื่องยืนแท่น หันหน้าเข้าข้างเสา สำหรับใช้ชักขึ้นที่ท้ายเรือและสถานที่ราชการต่าง ๆ ของราชนาวีด้วย

ส่วนธงตำแหน่งราชการสำหรับหน้าที่กระทรวงทบวงการต่าง ๆ ก็โปรดให้เปลี่ยนพื้นธงเหมือนธงไตรรงค์ แต่ต้องเติมเครื่องหมายอย่างหนึ่งอย่างใดลงที่กลางธงเป็นสำคัญ เจ้าพนักงานกรมใดจะใช้เครื่องหมายธงนั้นเป็นอย่างไร ต้องแจ้งความให้กระทรวงซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่รักษาพระราชบัญญัติธงนำความขึ้นกราบบังคมทูลขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตก่อนจึงจะใช้ได้