เรื่องเครื่องม้าอะแซหวุ่นกี้




เรื่องเครื่องม้าอะแซหวุ่นกี้ถวายพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ นั้น ฉันได้เคยสืบเสาะมาช้านานตั้งแต่ยังเป็นนายทหารมหาดเล็ก ความดังจะเล่าให้ฟังต่อไป เมื่อเจ้าพระยาเทเวศร์วงศ์วิวัฒน์ยังเป็นพระยาว่าการกรมม้า ฉันเคยถามว่า เครื่องม้าอะแซหวุ่นกี้นั้นอยู่ที่กรมม้าหรือที่ไหน ฉันอยากจะเห็น เจ้าพระยาเทเวศร์ฯ บอกว่า ในสมัยเมื่อกรมพระพิทักษเทเวศร์ องค์พระอัยกาของตัวท่าน ทรงบัญชาการกรมม้าในรัชกาลที่ ๔ ข้าราชการเก่าในกรมม้าคนหนึ่งเขาเคยชี้แผงข้างเครื่องม้าให้ท่านดูคู่หนึ่ง บอกว่า แผงคู่นั้นเป็นแผงเครื่องม้าที่อะแซหวุ่นกี้ถวายพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ แต่เวลานั้น ตัวท่านยังเป็นเด็ก ก็ไม่ได้เอาใจใส่จำไว้ว่า คู่ไหน แต่สิ่งอื่นนอกจากแผงข้างท่านไม่เคยได้ยินว่า มีอยู่ในกรมม้า ฉันขอให้สืบถามถึงแผงข้างคู่นั้นก็ไม่ได้ความ เพราะคนชั้นเก่าที่เคยจำได้ก็ตายเสียหมดแล้ว ตัวท่านเองก็จำไม่ได้ ฉันลองพยายามถามคนอื่นต่อมาก็ไม่มีใครรู้ว่า เครื่องม้าที่อะแซหวุ่นกี้ถวายอยู่ไหน

มาถึงรัชกาลที่ ๗ สมัยเมื่อฉันเป็นนายกราชบัณฑิตยสภา รับพระราชดำรัสสั่งให้จัดพิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนคร หวนรำลึกขึ้นถึงแผงข้างเครื่องม้าอะแซหวุ่นกี้ที่เจ้าพระยาเทเวศร์ฯ (ซึ่งถึงอสัญกรรมเสียนานแล้ว) เคยบอกว่า อยู่ในกรมม้า คิดว่า แผงข้างคู่นั้นลวดลายที่เขียนคงเป็นอย่างพม่า ถึงเก็บปะปนอยู่กับแผงข้างเครื่องม้าของไทย พิจารณาลวดลายที่เห็นจะรู้ได้ว่า แผงข้างคู่ไหนเป็นของอะแซหวุ่นกี้ ฉันจึงขอให้กรมม้าส่งบรรดาแผงข้างที่มีอยู่มาให้ฉันดู ได้มากกว่าสิบคู่ แลเห็นว่า ผิดกันเป็นสองอย่าง อย่างหนึ่ง พื้นลงรักสีแดง เขียนลายทองล้วน อีกอย่างหนึ่ง เขียนลายด้วยสีต่าง ๆ มีอย่างละหลายคู่ด้วยกัน ครั้นพิจารณาต่อไปถึงลวดลาย ก็เกิดประหลาดใจ ด้วยแผงข้างเหล่านั้นเขียนลายแบบ เช่น รูปสิงห์ เป็นต้น อย่างพม่าทั้งนั้น ก็หมดทางที่จะสังเกตลวดลายให้รู้ว่า คู่ไหนเป็นของอะแซหวุ่นกี้ (เหตุใดแผงข้างในกรมม้าจึงเขียนลายแบบพม่าทั้งนั้น จะลองคิดวินิจฉัยกล่าวที่อื่นต่อไปข้างหน้า) การที่ฉันสืบหาเครื่องม้าอะแซหวุ่นกี้ด้วย "ค้นของ" ยุติเพียงเท่านี้

แต่ยังสืบด้วย "ค้นคิด" ต่อไป ในหนังสือพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา (ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๒ เล่ม ๒ หน้า ๔๒๓) พรรณนาถึงของซึ่งอะแซหวุ่นกี้ให้กำนัลแก่เจ้าพระยาจักรี แม่ทัพไทย (คือ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก) ครั้งนั้นมีของสี่สิ่งด้วยกัน คือ

เครื่องม้าทองสำรับหนึ่ง
ผ้าสักหลาดพับหนึ่ง
ดินสอแก้วสองก้อน
น้ำมันดินสองหม้อ

ที่เรียกว่า "เครื่องม้าทอง" นั้นที่จริงต้องเป็นแต่ "ปิดทองคำเปลว" จะเป็นอย่าง "หุ้มทองคำ" ไม่ได้ เพราะเครื่องม้าหุ้มทองคำมีแต่เครื่องม้าพระที่นั่ง ทางเมืองพม่าก็น่าจะมีประเพณีเช่นเดียวกัน แม้ตัวอะแซหวุ่นกี้เองก็จะขี่เครื่องม้าหุ้มทองคำไม่ได้ ยังมีข้อสำคัญอีกข้อหนึ่งซึ่งมิใคร่มีใครรู้ คือ การที่สบเสียทำทางไมตรีกับข้าศึกอาจมีโทษเทียบถึงเป็นกบฏ ข้อนี้ทำให้เชื่อได้แน่ว่า เจ้าพระยาจักรีคงรีบส่งของกำนัลที่อะแซหวุ่นกี้ให้มานั้นมาถวายพระเจ้ากรุงธนบุรี มิได้เอามาใช้สอยเอง และน่าจะเป็นมูลเหตุที่เครื่องม้าอะแซหวุ่นกี้ตกมาอยู่ในกรมม้า เพราะเห็นเป็นแต่เครื่องอย่างขุนนางพม่าใช้ เมื่ออยู่ในกรมม้านานมาหลายปี เครื่องส่วนอื่นผุพังหรือกระจัดกระจายไปหมด จึงเหลืออยู่แต่งแผงข้างดังเจ้าพระยาเทเวศร์ฯ ว่า

มีกรณีทำนองเดียวกันเกิดขึ้นในรัชกาลที่ ๔ อีกครั้งหนึ่ง พระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงศ์เมืองเชียงใหม่ให้เอาช้างไปขายที่เมืองพม่า ความทราบถึงพระเจ้ามินดง สั่งให้เลี้ยงดูอุปการะพวกท้าวพระยาชาวเชียงใหม่ แล้วส่งสังวาลเครื่องยศอย่างพม่ามาประทานพระเจ้ากาวิโลรส พวกชาวเชียงใหม่ที่ไม่ชอบกล่าวหาว่า พระเจ้ากาวิโลรสเอาใจออกหากไปเข้ากับพม่า พระเจ้ากาวิโลรสก็เอาสายสร้อยนั้นลงมาถวายพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ กราบทูลเล่าเรื่องตามจริงให้ทรงทราบ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ มีพระราชดำรัสว่า ไม่ทรงระแวงความซื่อสัตย์ของพระเจ้ากาวิโลรสอย่างไร แต่สายสร้อยนั้นไม่ทรงรับไว้ ด้วยทรงรังเกียจว่า จะเป็นรับเครื่องยศพม่า ฝ่ายพระเจ้ากาวิโลรสก็ไม่ยอมเอาสายสร้อยนั้นกลับไปเมืองเชียงใหม่ ด้วยเกรงจะเป็นมลทินว่า ยังปรารถนาจะคบหาพม่า ลงที่สุด พระเจ้ากาวิโลรสถวายสายสร้อยนั้นสมโภชพระเจ้าลูกเธอในเจ้าจอมมารดาเที่ยง พระสนมเอก ซึ่งประสูติใหม่เมื่อพระเจ้ากาวิโลรสอยู่ในกรุงเทพฯ ให้แก้ไขทำเป็นเครื่องแต่งพระองค์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ จึงพระราชทานพระนามว่า พระองค์เจ้าหญิงพวงสร้อยสอางค์ (มักเรียกกันแต่ว่า "พระองค์สร้อย") ยังดำรงพระชนม์อยู่ในบัดนี้ (พ.ศ. ๒๔๘๒) เหตุด้วยสร้อยพม่าสายนั้นเป็นนิมิต

จะกล่าววินิจฉัยเหตุที่แผงข้างในกรมม้าเขียนเป็นลวดลายอย่างพม่าต่อไป เครื่องม้าที่ใช้กันในเมืองไทยมีสองอย่างมาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เป็นเครื่องม้าทหาร อย่างหนึ่ง เครื่องม้าพลเรือน อย่างหนึ่ง เครื่องม้าทหารทำตามแบบพม่า อานทำด้วยไม้มีแผงข้างและโกลน เครื่องม้าพลเรือนเป็นแบบไทย ใช้กันในพื้นเมือง อานทำเป็นเบาะ ไม่มีแผงข้าง และไม่มีโกลน มักเรียกเครื่องม้าสองอย่างนั้นต่างกันว่า "เครื่องแผง" และ "เครื่องเบา" สังเกตดูเครื่องแผงหนักกว่าและทำยากกว่าเครื่องเบาะ แต่เห็นจะนั่งกระชับตัวเวลารบพุ่งดีกว่าเครื่องเบาะ จึงใช้เป็นเครื่องสำหรับทหารม้าขี่ พวกกรมม้าแซงเป็นอย่างทหารม้ารักษาพระองค์ จึงใช้เครื่องแผงมาแต่เดิม แม้ในชั้นหลัง เช่น สมัยรัชกาลที่ ๕ เมื่อใช้อานม้าอย่างฝรั่งกันดาษดื่นแล้ว ในงานแห่สนานหรือขี่ม้าห้อแข่งกัน เมื่อแห่แล้ว พวกกรมม้ายังขี่เครื่องแผงในงานนั้น ๆ ข้อนี้เป็นมูลที่มีเครื่องแผงอยู่ในกรมม้ามาก พึงเห็นได้ด้วยจำนวนแผงข้างที่ยังเหลืออยู่ดังกล่าวมาแล้ว ข้อที่เขียนแผงข้างเป็นลวดลายอย่างพม่านั้น เห็นว่า จะเป็นได้ด้วยเหตุอย่างเดียว ด้วยแผงข้างที่อยู่ในกรมม้าโดยมากเป็นเครื่องบรรณาการเมืองประเทศราชในมณฑลพายัพถวาย ประเพณีโบราณเมืองประเทศราชต้องถวายต้นไม้ทองเงินกับสิ่งของซึ่งถนัดทำหรือหาได้ในเมืองนั้น ๆ มาใช้ราชการในกรุงเทพฯ เมืองแขกมลายูประเทศราชยังถวาย "ปิโส" (คือ โล่ทำด้วยหวายหรือเปลือกไม้) มาจนรัชกาลที่ ๕ ที่คิดเห็นว่า เครื่องแผง หรืออาจจะเป็นแต่เฉพาะตัวแผงข้าง (เอามาประกอบกับอานที่ทำในกรุงเทพฯ) เป็นเครื่องราชบรรณาการประเทศราชมณฑลพายัพนั้น เพราะศิลป์ในเมืองเหล่านั้นแต่ก่อนชอบใช้แบบพม่า ยังมีปรากฏอยู่จนทุกวันนี้มาก เช่น รูปสิงห์ปั้น และลายจำหลัก เป็นต้น แผงข้างเครื่องม้าเขียนลวดลายที่ชอบทำในพื้นเมืองจึงเป็นลายพม่า ที่ไทยในกรุงเทพฯ ไปถ่ายแบบอะไรของพม่ามาทำในสมัยกรุงธนบุรีหรือกรุงรัตนโกสินทร์ก่อนรัชกาลที่ ๕ เห็นจะไม่มี ด้วยยังแค้นพม่าทั้งบ้านทั้งเมือง ชวนให้เห็นต่อไปว่า เครื่องม้าที่อะแซหวุ่นกี้ถวายพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกนั้น แม้เมื่อรัชกาลที่ ๑ ก็น่าจะไม่ได้ถือว่า เป็นของสลักสำคัญอันควรจะเก็บเชิดชูไว้ต่างหาก เครื่องม้าทองคำที่เจ้าคุณ (พระยาอนุมานราชธน) เห็นในเครื่องราชูปโภคนั้น ฉันนึกว่า เห็นจะเป็นของเมื่อรัชกาลที่ ๑ คราวเดียวกับสร้างเครื่องราชูปโภคอย่างอื่นแทนของเดิมซึ่งสูญเสียเมื่อเสียกรุงศรีอยุธยา ฉันเคยเห็นผูกม้าพระที่นั่งจูงตามเสด็จในกระบวนแห่พยุหยาตรา แต่ไม่เคยพิจารณาดูถ้วยถี่