ชุมนุมพระนิพนธ์ (บางเรื่อง)/๖๗
พระบรมรูปทรงม้านั้นเกิดแต่กรณีสองเรื่องประกอบกัน กรณีที่หนึ่ง เมื่อสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงจะเสด็จไปยุโรปครั้งหลังเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๐ เวลานั้น ทรงสร้างถนนราชดำเนินเสร็จแล้ว และได้ลงมือสร้างพระที่นั่งอนันตสมาคม ทั้งคิดแผนผังสนามใหญ่เชื่อมถนนราชดำเนินกับบริเวณพระที่นั่งอนันตสมาคมแล้ว กรณีที่สอง เวลานั้น ยังอีกปีเศษจะถึงอภิลักขิตมงคลซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงเป็นพระเจ้าแผ่นดินนับได้สี่สิบสองปี รัชกาลยืนนานยิ่งกว่าพระมหากษัตริย์พระองค์อื่นบรรดาได้ปกครองประเทศสยามแต่ปางก่อนทั้งสิ้น กำหนดว่า จะมีการสมโภชเป็นงานใหญ่ ดำรัสสั่งสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช (คือ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว) ซึ่งเป็นผู้สำเร็จราชการรักษาพระนคร ให้ทรงปรึกษากับเสนาบดีคิดกะโครงการพิธีรัชมงคลว่าจะทำอย่างเสียแต่ในเวลาเสด็จไม่อยู่ แล้วกราบทูลไป อย่ารอให้เสียเวลา สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชจึงตรัสให้ปรึกษาในที่ประชุมเสนาบดี มีความเห็นพร้อมกันว่า "การสมโภช" เช่นเมื่อเสด็จกลับจากยุโรปคราวแรกเป็นต้นก็ดี และ "การฉลอง" เช่นเมื่อกรุงรัตนโกสินทร์อายุครบหนึ่งร้อยปีเป็นต้นก็ดี ได้ทำมาในรัชกาลที่ ๕ แล้วหลายอย่าง แต่ล้วนเป็นการที่รัฐบาลหรือบุคคลต่างจำพวกช่วยกันทำแทบทั้งสิ้น งานฉลองราชสมบัติรัชมงคลครั้งนี้ผิดกับงานอื่นที่ได้เคยทำมาแต่ก่อน ด้วยเป็นมงคลอันพึงประสบได้ด้วยยากยิ่งนัก ควรให้ผิดกับงานแต่ก่อน ๆ เห็นว่า ควรถือเหตุที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในทรงปกครองทำนุบำรุงประเทศและประชาชนชาวสยามให้เจริญรุ่งเรืองและไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินเป็นสุขสำราญมาช้านานกว่าพระมหากษัตริย์แต่ปางก่อน ข้อนี้เป็นหลักชักชวนชาวสยามทุกชาติทุกภาษาทั่วพระราชอาณาเขตให้บริจาคทรัพย์ตามกำลัง รวมเงินนั้นทูลเกล้าถวายเป็นของชาวสยามรายตัวทั่วหน้าพร้อมใจกันสนองพระเดชพระคุณอย่างที่เรียกกันเป็นสามัญว่า "ทำขวัญ" แล้วแต่จะทรงใช้สอยเงินนั้นตามพระราชหฤทัย ให้กระทรวงนครบาลเป็นเจ้าหน้าที่บอกบุญในกรุงเทพฯ และกระทรวงมหาดไทยบอกบุญตามหัวเมือง กำหนดเป็นข้อสำคัญในการบอกบุญนั้น คือ ๑. อย่าให้เป็นการกะเกณฑ์อย่างไร แล้วแต่ใจใครสมัครให้เท่าใด แม้เพียงเป็นจำนวนสตางค์ก็ได้ แต่ ๒. ให้พยายามบอกทั้งเหตุและการที่ทำบุญนั้นให้รู้ทั่วทุกตัวคนบรรดาอยู่ในพระราชอาณาเขต เวลาเมื่อปรึกษากันนั้น มีเสนาบดีบางคนเห็นว่า ควรจะสร้างสิ่งอันใดไว้เป็นอนุสรณ์เฉลิมพระเกียรติด้วยสักสิ่งหนึ่ง แต่ข้อนี้ตกลงกันว่า ควรจะรอไว้ลงมติต่อเมื่อรู้เค้าว่า จะได้เงินเฉลิมพระขวัญสักเท่าใดก่อน
ในเวลาเมื่อกำลังบอกบุญอยู่นั้น ได้ทราบข่าวมาแต่ยุโรปว่า เมื่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จไปทอดพระเนตรนครวังแวซายในประเทศฝรั่งเศส โปรดพระรูปพระเจ้าหลุยที่ ๑๔ ทรงม้าหล่อด้วยทองสัมฤทธิ์อันตั้งไว้ในลานข้างหน้าพระราชวัง ทรงปรารภว่า ถ้ามีพระบรมรูปของพระองค์ทรงม้าตั้งไว้ในสนามที่ถนนราชดำเนินต่อกับบริเวณพระที่นั่งอนันตสมาคม จะเป็นสง่างามดีเหมือนเช่นเขามักมีกันตามประเทศต่าง ๆ ในยุโรป สืบราคาสร้างพระบรมรูปเช่นว่านั้นราวสองแสนบาท ได้ข่าวที่กล่าวมาประจวบกับเวลาที่ได้เค้าว่า มีคนยินดีถวายเงินเฉลิมพระขวัญแพร่หลาย จะได้เงินมาก ที่ประชุมเสนาบดีจึงลงมติ แล้วสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชกราบทูลขอถวายพระบรมรูปทรงม้านั้นเป็นของประชาชนชาวสยามสนองพระเดชพระคุณในงานรัชมงคล ก็โปรดพระราชทานพระบรมราชานุญาต จึงเกิดมีพระบรมรูปทรงม้าขึ้นด้วยประการฉะนี้ ควรกล่าวเพิ่มเติมต่อไปอีกสักหน่อยว่า เงินเฉลิมพระขวัญครั้งนั้น เมื่อจ่ายใช้ในการสร้างพระบรมรูปทรงม้าแล้ว ยังเหลือตัวเงินอยู่กว่าล้านบาท สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายตามมติเดิม สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริว่า จะเอาเงินนั้นใช้สถาปนาการอย่างใดอย่างหนึ่งให้เกิดประโยชน์แก่ชาวสยามสนองคุณความกตัญญูกตเวทีที่ได้มีต่อพระองค์นั้น แต่ยังไม่ทันตกลงว่า จะทำอะไร สมเด็จพระปิยมหาราชเจ้าเสด็จสวรรคตเสียก่อน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงดำเนินการตามพระราชประสงค์ของสมเด็จพระบรมชนกนาถ โปรดให้ใช้เงินเฉลิมพระขวัญที่ยังเหลืออยู่นั้นตั้งมหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์
เรื่องถวายพระบรมรูปทรงม้า รายการพิธี ทั้งคำที่ทูลถวาย และพระราชดำรัสตอบ มีอยู่ในหนังสือราชกิจจานุเบกษาโดยพิสดาร