นิทานเวตาล/เรื่องที่ 1
เช้าวันหนึ่ง พระวัชรมุกุฏ กับสหายชื่อ พุทธิศริระ พากันขี่ม้าออกเที่ยวล่าเนื้อในป่า พุทธิศริระเป็นบุตรของประธาน คือ หัวหน้าอำมาตย์ในพระนครนั้น ชายหนุ่มทั้งสองขี่ม้าไปในป่า พบสระใหญ่สระหนึ่งมีกำแพงล้อมรอบ ริมสระเป็นที่ร่มรื่น ตระหลบด้วยกลิ่นดอกไม้ ฝูงนก คือ หงส์และนกจากพราก เป็นต้น ลงลอยอยู่ในสระ ในหมู่ดอกบัวอันชูก้านขึ้นมาพ้นน้ำเป็นที่ชวนชม แมลงภู่ทั้งหลายพากันร่อนอยู่เหนือน้ำ แลกินรสดอกบัวในสระนั้น
พระราชบุตรและสหายไม่เคยไปพบสระนั้นในป่า ต่างก็พิศวง จึ่งลงจากหลังม้า ผูกม้าไว้แทบใต้ต้นไม้ แล้วเดินเข้าไปริมสระ ชำระพระพักตร์แลหัตถ์ แล้วก็เข้าไปในศาลพระมหาเทพซึ่งอยู่ใกล้ฝั่งสระ ต่างคนกระทำการนอบน้อมแลสวดมนต์
สักครู่หนึ่ง มีหญิงสาวเป็นอันมากห้อมล้อมด้วยทาสีพากันมาที่ริมสระนั้นข้างขอบสระทางโน้น ครั้นมาถึง ก็ยืนสนทนาและสำรวลกันอยู่ที่ขอบสระ บางนางก็ลงอาบน้ำ แต่นางผู้เป็นหัวหน้า คือ พระราชบุตรีนั้น มิได้ลงสระน้ำ เสด็จเดินเที่ยวเล่นใต้ร่มไม้กับนางอีกคนหนึ่งห่างฝูงนางออกไป
ฝ่ายพระราชบุตรปล่อยให้พุทธิศริระนั่งสวดมนต์อยู่ในศาลพระมหาเทพคนเดียว พระองค์เสด็จออกจากศาลเดินเที่ยวไปในหมู่ไม้ มิช้าพระราชบุตรและพระราชธิดาก็สบพระเนตรกัน นางสะดุ้งเหมือนหนึ่งตกพระหฤทัย พระราชบุตรทรงใฝ่ฝันในทันทีที่ทอดพระเนตรเห็นนาง และตรัสออกมาว่า "กามเทพเอย เหตุไรท่านจึ่งมารบกวนเราเช่นนี้"
พระราชธิดาได้ยินก็ทรงยิ้ม หยุดยืนดูกิริยาพระราชบุตร เพราะเธอตกประหม่า มิรู้จะกล่าวและทำประการใดได้ นางนิ่งดูอยู่ครู่หนึ่งก็ทำอาการเหมือนพิโรธตรัสแก่หญิงสหายซึ่งแสร้งหันหลังเก็บดอกมะลิว่า เหตุไรจึ่งปล่อยให้ชายหนุ่มมายืนจ้องดูนางอยู่เช่นนี้ ฝ่ายหญิงสหายเมื่อได้ยินดังนั้นก็หันมากล่าวคำเกรี้ยวกราดขับไล่ให้พระราชบุตรไปเสียจากที่และให้พาความละลาบละล้วงไปเสียด้วย มิฉะนั้น จะเรียกทหารมาจับตัวทิ้งลงไปในสระให้สมแก่โทษ ฝ่ายพระราชบุตรยืนตลึงดูนาง มิได้ยินคำที่หญิงสหายกล่าวขู่ นางทั้งสองเห็นดังนั้นก็พากันเดินห่างออกไป ครั้นถึงขอบสระฟากข้างโน้น พระราชธิดาก็เหลียวมาดูว่า ชายหนุ่มผู้ตกประหม่ายังนิ่งอยู่กับที่หรือทำอย่างไรต่อไป ครั้นเห็นพระราชบุตรยังยืนจ้องดูอยู่ นางก็ทรงยิ้ม แล้วเสด็จลงไปที่ขอบสระ เก็บดอกบัวดอกหนึ่งชูขึ้นไหว้ฟ้า แล้วเอาเสียบเกศา แล้วทัดที่กรรณ์ แล้วกัดด้วยทนต์ แล้วทิ้งลงเหยียบด้วยบาท แล้วกลับหยิบขึ้นปักที่อุระ ครั้นทำเช่นนี้แล้ว นางก็เสด็จไปขึ้นยานกลับคืนสู่นิเวศน์แห่งนาง
ฝ่ายพระราชบุตร ครั้นนางไปแล้ว ก็เร่าร้อนในพระหฤทัย เสด็จกลับไปยังศาลพระมหาเทพ พบพุทธิศริระเดินออกมาจากศาล พระราชบุตรก็รับสั่งว่า "สหายเอย ข้าได้เห็นนางหนึ่งงามนัก จะเป็นนางดนตรีของพระอินทร์ในสวรรค์ หรือจะเป็นนางมาจากทะเล หรือธิดาแห่งนาคราช หรือบุตรีพระราชาในแผ่นดิน ก็หาทราบไม่"
พุทธิศริระ ผู้จะเป็นอำมาตย์มีปัญญาในภายหน้า ทูลว่า "พระองค์จงกล่าวโฉมหน้านางให้ข้าพเจ้าฟังเถิด"
พระราชบุตรตรัสว่า "พักตร์นางเหมือนพระจันทร์ยามเพ็ญ ผมเหมือนหมู่ผึ้งอันเกาะห้อยอยู่บนช่อดอกไม้ ปลายโขนงยาวจรดถึงกรรณ์ โอษฐ์มีรสเหมือนจันทรามฤต เอวเหมือนเอวสิงห์ ทรงดำเนินเหมือนราชหงส์ กล่าวเทียบเครื่องแต่งกายนางคือสีขาว กล่าวเทียบฤดูนางคือวสันต์ฤดู กล่าวเทียบดอกไม้นางคือพุทชาต กล่าวสำเนียงนางคือนกกระเหว่า กล่าวความหอมนางคือชะมดเชียง กล่าวความงามนางคือพระศรี กล่าวความเป็นนางคือความรัก ถ้าข้ามิได้นางมา ข้าจะไม่ทรงชีวิตไปเป็นอันขาด ข้าได้ตกลงในใจเช่นนี้แล้ว"
พุทธิศริระได้ฟังพระราชบุตรตรัสดังนั้น ก็มิได้ร้อนใจเกรงจะปลงพระชนม์ลงในกลางป่า เพราะเคยได้ยินพระราชบุตรตรัสอย่างเดียวกันทุกครั้งที่ได้เห็นนางงาม มิได้คิดว่า จะเป็นไปลึกซึ้งยิ่งกว่าคราวก่อน ๆ พุทธิศริระจึ่งทูลว่า ถ้าไม่ขึ้นม้าเดี๋ยวนี้ คงจะค่ำอยู่กลางป่า ไม่กลับถึงนครได้ในเวลาอันควร พุทธิศริระกล่าวดังนั้นแล้ว เจ้าและข้าก็ชวนกันขึ้นม้าหันกลับเข้าเมือง ในเวลาเดินทางอยู่ประมาณ ๓ ชั่วโมงนั้น ชายหนุ่มทั้งสองเกือบจะมิได้สนทนากันเลย พระวัชรมุกุฏนิ่งนึกถึงนาง มิได้รับสั่งประการใด เมื่อพุทธิศริระทูลอะไร ก็ต้องทูลดัง ๆ ถึงสามสี่ครั้ง จึ่งจะตรัสตอบคำเดียวหรือสองคำเป็นอย่างมาก
ฝ่ายพุทธิศริระ เมื่อเห็นพระราชบุตรนิ่งอยู่ดังนั้น ก็มิได้ทูลอันใดต่อไป คิดในใจว่า ถ้าพระราชบุตรอยากได้ความเห็นและความแนะนำ ก็ให้หารือมาเถิด พุทธิศริระคิดดังนี้เพราะดำเนิรความคิดตามวิธีของบิดาผู้เป็นอำมาตย์มีปัญญาซึ่งมิได้ให้ปัญญาแก่ผู้ใดที่มิได้ขอนั้นเป็นอันขาด ถึงแม้ผู้ที่ขอปัญญาบางทีก็ได้เห็นสิ่งตรงกันข้ามอันผู้ฉลาดไม่เรียกว่า ปัญญา เป็นอันขาด
ฝ่ายพุทธิศริระ เมื่อขี่ม้านิ่ง ๆ เวลานั้นก็ตรึกตรองข้อความลึกลับอันหนึ่งซึ่งขึ้นต้นไว้แต่เวลาเช้า เพราะชายหนุ่มคนนี้มีวิธีฝึกฝนปัญญาให้คมกล้า คือ เมื่อตื่นขึ้นเช้า ก็คิดตั้งปัญหาถามตัวเองข้อหนึ่งซึ่งมีใจความลึกลับ และตรึกตรองตอบปัญหานั้นทุกขณะที่มีเวลาว่าง ข้อความที่ลึกลับและละเอียด ถ้าเกี่ยวกับปัญหานั้น ก็นำเอามาตรึกตรองจนสิ้นเชิง และเมื่อได้ทำเช่นนี้มาสองสามปี ก็ควรเป็นที่เชื่อได้ว่า ชายหนุ่มคนนี้มีปัญญารุ่งโรจน์มาก
ครั้นกลับถึงวังในตอนค่ำ พระราชบุตรก็บรรธมกระสับกระส่ายอยู่ตลอดคืน และเป็นเช่นนั้นอยู่ตลอดวันรุ่ง ครั้นวันที่สอง ถึงแก่ประชวร มีอาการเป็นไข้ การเขียน การอ่าน การกิน การนอน ก็งดหมด ราชการซึ่งพระราชบิดามอบฉะเพาะพระองค์ก็งด การอื่น ๆ ก็งด เพราะรับสั่งว่า จะสิ้นพระชนม์อยู่แล้ว ครั้นพระชนม์ยังไม่สิ้น ก็ทรงเขียนรูปนางงามผู้เก็บดอกบัวมาทำแปลก ๆ จนฝังอยู่ในพระหฤทัย กล่าวกันว่า เขียนเหมือนอย่างที่สุด ครั้นเขียนแล้วก็บรรธมพิศดูรูปด้วยพระเนตรอันฉ่ำด้วยน้ำ อีกครู่หนึ่ง ลุกทลึ่งขึ้นฉีกรูปนั้นเสีย แล้วชกพระเศียรประหนึ่งว่าพระเศียรได้กระทำความผิดเป็นข้อใหญ่ แล้วก็เขียนรูปนางอีกรูปหนึ่งงามยิ่งกว่ารูปก่อน
อีกวันสองวัน พระราชบุตรตรัสให้เรียกพุทธิศริระเข้าไปเฝ้า พุทธิศริระทราบอยู่หลายวันแล้วว่า คงจะเรียก ครั้นเข้าไปเฝ้าถึงที่บรรธม เห็นพระราชบุตรพระพักตร์เผือด และทรงบ่นว่า ปวดพระเศียร พุทธิศริระทราบอยู่แล้วว่า จะรับสั่งเรื่องอะไร แต่ยังไม่กล้ารับสั่ง เพราะราชบุตรและสหายคนนี้ได้สนทนาเรื่องผู้หญิงหลายครั้งแล้ว พระราชบุตรตรัสครั้งไร พุทธิศริระก็ยิ้มเย้ยและกล่าวลบหลู่หญิงอย่างเรี่ยวแรง และยังกล่าวติเตียนชายที่หลงรักหญิงอย่างเรี่ยวแรงยิ่งไปกว่าติเตียนหญิงเสียอีก เหตุดังนี้ พระราชบุตรจึ่งอ้ำอึ้ง ยังไม่กล่าวเรื่องที่อยู่ในพระหฤทัย พุทธิศริระรู้ทีและอยากให้ตรัสออกมา จึงทูลว่า "โรคชะนิดนี้ต้องเสวยยาขมและอดของแสลงให้จริง มิฉะนั้น โรคไม่บันเทาได้"
พระราชบุตรได้ฟังพุทธิศริระสำแดงความร้อนใจดังนั้น ก็สิ้นความอ้ำอึ้ง พระหัตถ์จับมือพุทธิศริระ น้ำพระเนตรตก ตรัสว่า "ชายใดเข้าเดินในทางแห่งความรัก ชายนั้นจะรอดชีวิตไปมิได้ หรือถ้ายังไม่สิ้นชีวิต ชีวิตก็มิใช่อื่น คือความทุกข์ที่ยืดยาวออกไปนั้นเอง"
พุทธิศริระทูลว่า "พระองค์รับสั่งถูกเป็นแน่แล้ว กวีโบราณย่อมกล่าวว่า วิถีแห่งความรักนั้นไม่มีต้นและไม่มีปลาย บุรุษพึงตรึกตรองให้ถ่องแท้แล้วจึ่งวางเท้าลงในวิถีนั้น ผู้มีปัญญารู้สิ่งทั้งสาม คือ ความใคร่หญิง หนึ่ง กระดานสกา หนึ่ง การดื่มน้ำเมา หนึ่ง อาจให้ผลแก่คนในทางที่ไม่อาจทำนายได้ เหตุดังนั้น วิธีที่จะปฏิบัติการทั้งสามสิ่งนี้ดีที่สุด ก็คือ ไม่ปฏิบัติเสียเลย กล่าวอีกนัยหนึ่ง ก็คือ เว้นให้ขาด แต่วิธีของโลกนี้ ถ้าไม่มีงัวตัวเมีย ก็ต้องรีดนมงัวตัวผู้แทน"
คำสอนของผู้มีปัญญากล่าวเช่นนี้จะแปลว่ากระไรก็ตาม พระราชบุตรย่อมจะทรงเห็นว่า เป็นคำสอนที่กล่าวช้าไป ไม่ทันการเสียแล้ว เธอนิ่งอยู่สักครู่หนึ่งจึ่งตรัสว่า "ข้าได้ย่างเท้าเดินทางนั้นเสียแล้ว ที่สุดแห่งทางจะเป็นความทุกข์หรือความสุขก็ตามบุญตามกรรม" ตรัสดังนั้นแล้วก็ทรงถอนใจใหญ่
ฝ่ายพุทธิศริระเห็นพระราชบุตรมีอาการดังนั้น ก็ให้คิดสงสาร จึ่งทูลถามว่า "นางนั้นคือนางซึ่งพบที่สระในป่านั้นหรือ"
พระราชบุตรพยักพระพักตร์
พุทธิศริระทูลถามว่า "เมื่อนางจะไปนั้น นางได้กล่าวอะไรแก่พระองค์หรือเปล่า หรือพระองค์ได้กล่าวอะไรแก่นางบ้าง"
พระราชบุตรตรัสว่า "ไม่ได้กล่าวอะไรแก่กันเลย"
พุทธิศริระกล่าวว่า "ถ้าเช่นนั้น ก็ยากที่สุดที่จะได้นางมา"
พระราชบุตรตรัสว่า "ถ้าเช่นนั้น ข้าก็ใกล้เวลาตาย และชีวิตเป็นความทุกข์ตั้งแต่บัดนี้ไปจวบเวลาขาดลมหายใจ"
พุทธิศริระคิดขัดใจที่พระราชบุตรพูดนอกเรื่อง เพราะการกล่าวถึงความตายไม่ใช่ทางที่จะได้นางมาเป็นอันขาด พุทธิศริระนิ่งอยู่ครู่หนึ่งจึ่งทูลถามว่า "นางไม่ได้ให้สัญญาอะไรบ้างหรือ พระองค์จงเล่าให้ข้าพเจ้าฟังให้ละเอียด คนไข้ที่บอกอาการโรคครึ่ง ๆ กลาง ๆ ไม่มีประโยชน์เลย"
ครั้นพุทธิศริระทูลดังนั้น พระราชบุตรก็ตรัสเล่าตั้งแต่ต้นจนปลาย กล่าวโทษพระองค์เองที่ตกตะลึงและสะทกสะท้านมิได้กล่าวอันใดแก่นาง ในที่สุด เล่าถึงกิริยาที่นางเก็บดอกบัวมาทำท่าต่าง ๆ
พุทธิศริระได้ยินดังนั้น ก็นิ่งตรองอยู่สักครู่หนึ่ง แล้วทูลพระราชบุตรสำแดงคุณชั่วแห่งแห่งความสะทกสะเทิ้นในขณะที่อยู่ใกล้หญิง ถ้าพระราชบุตรจะเป็นผู้มีความสุข ต้องสำแดงพระองค์เป็นคนกล้าในคราวหน้าที่พบนาง จึงจะสำเร็จประสงค์ พระราชบุตรตรัสสัญญาว่า ถ้าได้พบนาง ก็จะเป็นคนกล้าตามคำสอนนั้น แต่เมื่อไม่พบ จะกล้าอย่างไรได้
พุทธิศริระกล่าวว่า "พระองค์จงสงบลงบ้างเถิด ข้าพเจ้ารู้ชื่อนางและที่อยู่ของนางแล้ว เมื่อนางเก็บดอกบัวขึ้นชูไหว้ไปในฟ้านั้น คือ นางสำแดงความยินดีต่อเทวดาที่ได้อำนวยให้นางได้พบพักตร์อันประเสริฐของพระองค์"
พระราชบุตรได้ทรงฟังก็ยิ้มออกมาได้ และยิ้มครั้งแรกในเวลาหลายวัน
พุทธิศริระทูลต่อไปว่า "เมื่อนางยกดอกบัวขึ้นทัดหูนั้น เป็นที่หมายให้ทราบว่านางเป็นชาวเมืองกรรณาฏกะ และเมื่อนางกัดดอกบัวด้วยทนต์นั้น นางทำสัญญาณให้ทรงทราบว่า นางเป็นราชธิดาท้าวทันตวัต พระองค์ย่อมทราบว่า ท้าวทันตวัตนี้เป็นอริใหญ่ของพระราชบิดาแห่งพระองค์ ไม่มีท่าทางจะปรองดองกันได้เป็นอันขาด"
พระราชบุตรได้ยินดังนั้นก็ครางด้วยความเศร้าพระหฤทัย
พุทธิศริระกล่าวต่อไปว่า "เมื่อนางเหยียบดอกบัวนั้น นางให้สัญญาว่า นางชื่อ ปัทมาวดี และเมื่อนางเอาดอกบัวปักที่อุระนั้น เป็นที่หมายว่า พระองค์สิงอยู่ในหฤทัยแห่งนาง"
พระวัชรมุกุฏ ผู้พระราชบุตร ได้ทรงฟังดังนั้น ก็ผุดลุกขึ้นด้วยความยินดี อาการไข้ก็เปลื้องปลดไปทันที ทรงกำลังกระปรี้กระเปร่าเหมือนแต่ก่อน ตรัสชมความรอบรู้ของพุทธิศริระ พลางรับสั่งอ้อนวอนให้ช่วยทูลขออนุญาตพระราชบิดาไปยังนครอันเป็นที่อยู่แห่งนางนั้น ฝ่ายพุทธิศริระ โดยความภักดีต่อราชบุตร ก็เข้าไปทูลพระราชาธิบดีว่า พระราชบุตรไม่ใคร่สะบาย ควรเสด็จเที่ยวในประเทศต่าง ๆ เพราะพระกายต้องการเปลี่ยนน้ำ พระหฤทัยต้องการเปลี่ยนที่อยู่ ครั้นพระราชบิดาประทานอนุญาตแล้ว พระวัชรมุกุฏกับพุทธศิรระก็แต่งตัวเป็นคนเดินทางขึ้นม้าไปหลายวัน ถึงนครกรรณาฏกะ ก็หยุดพักอยู่ริมทาง แล้วพุทธิศริระก็นำพระราชบุตรออกเที่ยวถามหาหญิงผู้มีปัญญา โดยอธิบายว่า ต้องการจะให้ดูเคราะห์ร้ายเคราะห์ดีในอนาคต และชี้แจงต่อพระราชบุตรอีกชั้นหนึ่งว่า หญิงซึ่งเอาใจใส่ต่อกิจการในอนาคตนั้นย่อมจะเอื้อเฟื้อต่อกิจการปัจจุบันด้วย เหตุดังนั้น ควรสืบหาหญิงหมอดูเป็นผู้ช่วยให้สำเร็จกิจอันประสงค์
พุทธิศริระเที่ยวถามอยู่ครู่หนึ่ง มีผู้ชี้หญิงแก่ผู้หนึ่งซึ่งนั่งปั่นฝ้ายอยู่หน้ากระท่อม พุทธิศริระจึ่งเข้าไปหาหญิงแก่นั้น กระทำการเคารพเป็นอันดี แล้วพูดว่า "ข้าพเจ้าเป็นพ่อค้ามาจากเมืองไกลสองคนด้วยกัน สินค้าของเราตามมาข้างหลัง เราล่วงหน้ามาก่อนเพื่อจะหาที่พัก ถ้ามารดายอมให้เราพักในเรือนนี้ เราคงจะอยู่เป็นสุขและให้เงินแก่มารดาโดยอัตราอันสูง"
ฝ่ายหญิงแก่นั้น นอกจากเป็นหมอดู ยังเป็นผู้รู้ลักษณะคนอีกด้วย ครั้นเห็นเค้าหน้าชายหนุ่มทั้งสอง ก็ชอบ เพราะคิ้วกว้าง และปากมีลักษณะว่า ไม่ตระหนี่ จึ่งตอบพุทธิศริระว่า "กระท่อมนี้เหมือนหนึ่งเรือนของท่าน เชิญมาพักอยู่ให้สะบายเถิด" พูดเท่านั้นแล้วก็พาชายหนุ่มทั้งสองเข้าไปในเรือน กล่าวติเตียนความรุงรังของตนเอง แล้วเชิญให้ชายทั้งสองพักผ่อนกายอยู่ในเรือนนั้น
สักครู่หนึ่ง หญิงแก่กลับมายังห้องซึ่งชายหนุ่มทั้งสองพัก พุทธิศริระจึงถามว่า "มารดาอยู่ที่นี้มีความสุขอยู่หรือ ญาติวงศ์สหายอยู่พร้อมกันหรืออย่างไร และมารดาหากินทางไหน"
หญิงแก่ตอบว่า "ลูกชายของข้าเป็นคนใช้สนิทของท้าวทันตวัต ผู้เป็นพระราชาของเรา ข้าเป็นนางนมของนางปัทมาวดี พระราชธิดาองค์ใหญ่ ครั้นข้าแก่ชรา ก็มาอยู่ในเรือนนี้ ไม่ต้องกังวลการหากิน เพราะพระราชาประทานทุกอย่าง ข้าไปในวังเฝ้าพระราชบุตรีวันละครั้ง นางเป็นหญิงงามอย่างประหลาด เป็นคนดีมีปัญญาหาเสมอมิได้"
พระวัชรมุกุฏพักอยู่ที่เรือนหญิงแก่อันเป็นนางนมของพระราชธิดาหลายวัน และกระทำให้นางนมเอื้อเฟื้อรักใคร่ด้วยความไม่ตระหนี่ ด้วยวาจาอ่อนหวาน และด้วยรูปสมบัติของพระองค์ ครั้นคุ้นเคยและรู้ใจกันมากขึ้น พระวัชรมุกุฏก็ตรัสถึงพระราชธิดา และกล่าวแก่นางนมว่า เมื่อไปเฝ้านางปัทมาวดีคราวหน้า ขอให้ช่วยถือหนังสือไปถวายฉะบับหนึ่ง จะได้หรือไม่
นางนมมีความยินดี เพราะเป็นธุระของนางนมที่จะต้องยินดีตามแบบนิทานชะนิดนี้ จึ่งกล่าวแก่พระวัชรมุกุฏว่า "ลูกเอย ไม่จำเป็นจะต้องคอยถึงพรุ่งนี้ เจ้าจงเขียนหนังสือเถิด มารดาจะถือไปเดี๋ยวนี้"
พระวัชรมุกุฏพระองค์สั่นด้วยความยินดี รีบเสด็จไปหาพุทธิศริระซึ่งนั่งอ่านหนังสืออยู่นอกเรือน แล้วรับสั่งบอกว่า นางนมรับแล้วที่จะถือหนังสือไปถวายพระราชธิดา ปัญหายังมีแต่เพียงว่า จะเขียนหนังสืออย่างไรจึ่งจะดี จะผูกประโยคและใช้ศัพท์ชั้นไหนจึ่งจะถูกพระหฤทัยนาง จะใช้ศัพท์เรียกนางว่า "แก้วตา แห่งตู" จะเบาไป และศัพท์ "โลหิตในตับแห่งข้า" จะหนักไปดอกกระมัง อนึ่ง การแต่งหนังสือสำคัญเช่นนั้นจะทำให้แล้วเร็วทันในวันนั้นก็ยาก เป็นเรื่องที่หนักพระหฤทัยอยู่ ฝ่ายพุทธิศริระ เมื่อได้ยินดังนั้น ก็ทูลว่า อย่าให้ทรงเดือดร้อนเลย จะทำถวายให้เสร็จ แล้วพุทธิศริระก็ไปหยิบเครื่องเขียนมานั่งเขียนอยู่ครู่หนึ่ง ครั้นสำเร็จแล้ว ก็พับหนังสือนั้นปิดผนึก เขียนรูปดอกบัวลงบนหลังผนึกดอกหนึ่ง แล้วส่งถวายพระราชบุตร พระราชบุตรก็นำหนังสือนั้นไปส่งให้หญิงแก่นางนมถือไปถวายพระราชธิดา นางนมได้รับหนังสือแล้วก็รีบเข้าวังไปที่ตำหนักพระราชบุตรีตามเคย
ฝ่ายนางปัทมาวดี ครั้นเห็นนางนมเข้าไปเฝ้า ก็ตรัสเรียกให้นั่งและทรงสนทนาด้วย นางนมพูดถึงเรื่องอื่น ๆ อยู่สักครู่หนึ่งจึ่งทูลว่า "เมื่อนางยังอยู่ในความเป็นเด็กอ่อน ข้าได้เลี้ยงดูนางมาด้วยความภักดี บัดนี้ พระภัควานให้รางวัลแก่ข้าด้วยประทานความงาม ความไม่มีโรค แลความดีแก่นางในเวลาที่ทรง จำเริญเพียงนี้ หัวใจของข้าจะใคร่เห็นความสุขของนางยิ่ง ๆ ขึ้นไปตราบชีวิตข้าหาไม่ นางจงทรงอ่านหนังสือนี้ซึ่งมาจากชายหนุ่มงามที่สุดและดีที่สุดซึ่งข้าได้เคยเห็นเปนขวัญตา"
พระราชธิดาทรงรับหนังสือไป ทอดพระเนตรดอกบัวบนหลังผนึกแล้ว ทรงเปิดออกอ่าน พบอินทร์วิเชียรฉันท์ ดังนี้
๑๑ | ||
๏ได้เห็นพระเพ็ญโฉม | ดุจโสมสว่างหน | |
ราคเร้ากำเดาดล | จิตเดือดบ่เหือดลง | |
๏ศรทรงอนงค์[1] แผลง | พิษแสร้งจะเสียบองค์ | |
ปักในหทัยตรง | อุระแค้นเพราะแสนคม | |
๏วันพบประสพพักตร์ | ศุภลักษณ์มโนรมย์ | |
อิ่มใจจะใคร่ชม | บ่มิพริบกระหยิบตา | |
๏เพ็ญโสมบ่เพ็ญศรี | ดุจนี้ณะเวหา | |
แสงส่องบ่ผ่องปรา | กฏอย่างพระนางนวล | |
๏งอนงามอร่ามโรจน์ | ฉวิโชติประชันชวน | |
แข่งขันพระจันทร์บวรณ์ | ศศิแน่จะแพ้นาง | |
๏ยามยลพิมลโฉม | อุระโหมพระเพลิงนาง | |
ร้อนรักตระหนักกลาง | จิตข้าศิขาดูร | |
๏นางกลับและลับเนตร | ก็เทวศทวีคูณ | |
เร่าร้อนบ่ผ่อนภูล | พิษรักประจักษ์แด | |
๏คิดไปก็ใจหาย | เพราะกระต่ายจะหมายแข | |
เวียนหวังระวังแล | ศศิไซร้บ่ใยดี | |
๏อ้างนางสอางรัตน์ | วรขัติยะนารี | |
โปรดด้วยอำนวยชร | วะบ่ตัดสลัดตู ฯ |
พระราชธิดาทรงอ่านหนังสือตลอดแล้ว ก็สำแดงอาการพิโรธ ตรัสแก่นางนมด้วยสำเนียงอันขุ่นแค้นว่า "นี่แกเป็นอะไรไป จึ่งบังอาจนำหนังสือนี้มาให้ คนโง่ที่เขียนหนังสือนี้แต่งฉันท์ไม่เป็นก็แค่นจะแต่งกับเขาด้วย คนแต่งฉันท์เลว ๆ เช่นนี้ยังอาจจะมาแต่งถวายพระราชธิดา อยากรู้ว่า เรียนหนังสือมาแต่สำนักไหน จึ่งเลวถึงเท่านี้" นางตรัสพลางทรงฉีกหนังสือตอนที่ว่า "ศศิไซร้บ่ไยดี" ส่งให้นางนมแล้วตรัสว่า "แกจงนำเอาคำตอบนี้ไปให้ชายที่แต่งฉันท์ไม่เป็น และตัวแกเองจงอย่าทำเอื้อมอาจถือหนังสือเข้ามาเช่นนี้อีกเป็นอันขาด"
หญิงแก่นางนมได้ฟังพระราชธิดากริ้วถึงเพียงนั้น ก็เสียใจ รีบกลับไปบ้าน พบพระราชบุตรตามทาง ก็เล่าให้ฟังทุกประการ พระราชบุตรได้ทรงฟังและอ่านคำตอบแล้ว ก็เสียพระหฤทัยยิ่งนัก เมื่อทรงดำเนินกลับนั้น ทรงคิดถึงวิธีทำลายชีวิตตนเองหลายอย่าง เช่น กระโดดน้ำ ผูกคอตนเองแขวน แทงอกตนเองด้วยดาบ เป็นต้น ยังไม่ทันตกลงว่าอย่างไหนจะดี ก็พอถึงที่พัก พบพุทธิศริระนั่งอยู่หน้าเรือน ก็ตรัสเล่าให้ฟังและทรงสำแดงความเสียใจยิ่งนัก
พุทธิศริระนิ่งฟังตลอดแล้วทูลว่า "พระองค์อย่าเพ่อตีตนเองก่อนไข้ จงทรงตรึกตรองใจความที่นางตรัสให้ถ่องแท้ก่อน ต่อไปข้างหน้า เมื่อพระองค์ได้สมาคมกับหญิงมาก ๆ แล้ว จะทรงทราบว่า เมื่อหญิงกล่าวว่า ไม่ไยดี นั้น แปลว่า ใยดี เพราะฉะนั้น ตามที่เราทำมาเพียงนี้ นับว่า สำเร็จดังหมาย อนึ่ง เมื่อนางทรงถามว่า พระองค์ทรงเรียนหนังสือจากสำนักไหนนั้น ถ้าจะแปลเป็นภาษาผู้ชาย แปลว่า ท่านคือใคร"
พระวัชรมุกุฏได้ทรงฟังดังนั้นก็ยินดี ครั้นวันรุ่งขึ้น ก็ทรงบอกนางนมว่า พระองค์เป็นยุพราชกรุงพาราณสี ให้นางนมเข้าไปทูลพระราชธิดาเถิด ฝ่ายนางนมได้ทราบดังนั้น ก็ดีใจ แต่กล่าวว่า ทราบมาแต่แรกแล้ว เช้าวันนั้น ก็เข้าไปในวัง เฝ้าพระราชธิดา ทูลว่า "พระยุพราชซึ่งนางได้ทำให้มีใจใฝ่ฝันตั้งแต่วันที่ได้เห็นกันริมสระเมื่อวันขึ้น ๕ ค่ำเดือนก่อนนั้น เสด็จมาที่เรือนข้าพเจ้า และให้ข้าพเจ้ามาทูลว่า พระองค์เสด็จมาแล้ว นางทำกิริยาเป็นสัญญาณที่ริมสระอย่างไร ก็จงทำตามสัญญาณนั้นเถิด พระราชบุตรองค์นี้ทรงศักดิ์สมควรแก่นางแท้ นางจงฟังคำข้าพเจ้าเถิด"
นางปัทมาวดีได้ทรงฟังดังนั้น ก็สำแดงความโกรธยิ่งกว่าครั้งก่อน นางเสด็จลุกไปเอากระแจะจันทน์ละเลงบนพระหัตถ์ทั้งสองพระหัตถ์ แล้วตบเข้าที่แก้มนางนมทั้งสองแก้ม ตรัสว่า "แกจงรีบไปจากวังนี้โดยเร็ว มิฉะนั้น จะต้องรับโทษยิ่งกว่านี้ แกจำไม่ได้หรือว่า ข้าห้ามไม่ให้เอาเรื่องนี้มาพูดต่อไปเป็นอันขาด" นางนมอกจากวัง กลับไปทูลพระวัชรมุกุฏ ต่างคนเสียใจที่ไปหลงเชื่อพุทธิศริระ ครั้นเล่าความให้พุทธิศริระฟัง พุทธิศริระก็ทูลพระราชบุตรว่า "พระองค์อย่าทรงตกใจ การที่พระราชธิดาเอากระแจะจันทน์ทาแก้มนางนมด้วยนิ้ว ๑๐ นิ้วนั้น หมายความว่า กลางคืนยังมีแสงพระจันทร์อยู่อีก ๑๐ คืน เมื่อพ้น ๑๐ คืนไปแล้ว นางจะออกมาพบพระองค์ในที่มืด พระองค์จงหักความกระวนกระวายในพระหฤทัยคอยไปอีก ๑๐ วันเถิด"
พุทธศริระทูลแปลกิริยาแห่งพระราชธิดาแล้ว ก็ทูลต่อไปว่า นางองค์นี้เห็นจะฉลาดเกินที่จะเป็นความสุขแก่สามี เพราะฉะนั้น พระราชบุตรควรหยุดยั้งชั่งพระหฤทัยดูแต่ในขณะที่ยังมีเวลาจะถอนพระองค์ได้ คำตักเตือนอันนี้ พระวัชรมุกุฏไม่ทรงฟังเลย
ครั้นพ้นกำหนด ๑๐ วันไปแล้ว ชายหนุ่มทั้งสองก็ให้นางนมเข้าไปเฝ้าพระราชธิดา คราวนี้ นางเอาหญ้าฝรั่นทานิ้วพระหัตถ์ ๓ นิ้ว แล้วประไว้บนแก้มนางนม ครั้นนางนมกลับมาเล่า พุทธิศริระก็อธิบายว่า นางขอผัดอีก ๓ วัน เพราะยังประชวรพระโรคลำดับเดือน วันที่สี่เป็นวันนัดให้เสด็จ ครั้นวันที่สี่ นางนมเข้าไปเฝ้าอีกครั้งหนึ่ง คราวนี้ พระราชธิดากริ้วมาก เสด็จทรงฉุดตัวนางนมไปที่ประตูด้านตะวันตก ทรงผลักให้ออกประตูนั้น และตรัสว่า ถ้ากลับเข้าไปอีก จะตีด้วยแซ่ ครั้นนางนมกลับไปเล่าให้พุทธิศริระฟัง พุทธิศริระอธิบายว่า พระราชธิดาเชิญพระราชบุตรให้เสด็จไปพรุ่งนี้เวลากลางคืน และให้เข้าทางประตูด้านตะวันตก
ครั้นเวลากลางคืนวันรุ่งขึ้น พุทธิศริระทูลเตือนพระวัชรมุกุฏให้เตรียมพระองค์ พระวัชรมุกุฏไม่ต้องให้มีใครเตือน กำลังแต่งพระองค์อยู่แล้ว แท้จริงแต่งพระองค์อยู่หลายชั่วโมงจึงเสร็จ ครั้นเสร็จก็เสด็จออกมาถามพุทธิศริระว่า ใช้ได้หรือยัง พุทธิศริระทูลตอบว่า งามมาก แล้วทูลตักเตือนในเรื่องผู้หญิงตามปัญญาของตน และทั้งทูลเตือนอีกครั้งหนึ่งว่า สังเกตเห็นนางฉลาดเกินไป ถ้าจะได้เป็นเมีย เห็นจะไม่มีสุขอย่างเมียโง่ ๆ
ครั้นเวลาเที่ยงคืน ชายหนุ่มทั้งสองก็พากันออกเดิรไปยังประตูด้านตะวันตกแห่งพระราชวัง ครั้นถึงประตู เห็นปิดงับแงอยู่ พุทธิศริระก็ย่องเข้าไปดู เห็นนายประตูนั่งหลับอยู่ แลเห็นหญิงคนหนึ่งมีผ้าคลุมหัวยืนคอยอยู่ข้างใน พุทธิศริระก็ย่องกลับไปทูลพระราชบุตร พระราชบุตรก็เสด็จย่องเข้าประตูไป พุทธิศริระคอยอยู่สักครู่หนึ่งก็กลับไปที่พัก
ฝ่ายพระราชบุตร ครั้นเข้าไปในประตูแล้ว หญิงที่ยืนคอยอยู่ก็จับพระหัตถ์และทำสัญญาณให้เดินเบา ๆ แล้วนำไปตามทางที่มืด บางแห่งจุดไฟริบหรี่ สักครู่หนึ่ง ไปถึงบันไดศิลา ก็พากันขึ้นไปบนตำหนักพระราชธิดา
พระวัชรมุกุฏเสด็จออกจากที่มืดเข้าไปที่สว่าง ก็มัวพระเนตรอยู่ครู่หนึ่ง ประเดี๋ยวทอดพระเนตรดูรอบห้องเป็นที่งดงาม แต่งด้วยเครื่องบำรุงความสำราญต่าง ๆ กลิ่นควันเผาเครื่องหอมและกลิ่นดอกไม้หอมกระหลบไปทั้งห้อง ตะเกียงเงินซึ่งจุดด้วยน้ำมันหอมก็ส่งกลิ่นอันพึงสูดดม ข้างหนึ่งมีดอกไม้กองรอบเตียงลาดผ้าขาวปักด้วยเส้นทองโรยด้วยดอกพุทชาตซึ่งเก็บใหม่ ๆ อีกข้างหนึ่งมีภาชนะรองหีบหมากและขวดน้ำไม้เทศ มีถาดรองเครื่องหอมต่าง ๆ และภาชนะรองเครื่องหวานหลายอย่าง มีนางกำนัลคอยรับใช้ประจำที่ บ้างก็มีหน้าที่อ่านกาพย์กลอน บ้างก็มีหน้าที่ฟ้อนรำและบรรเลงดนตรี รวมความว่า เครื่องสำราญตาสำราญใจมากอย่างมีอยู่ในห้องนั้น
สักครู่หนึ่ง พระราชธิดาเสด็จเข้ามาเปลื้องผ้าคลุมพระพักตร์ออกสำแดงพระองค์ให้เห็น พระวัชรมุกุฏสดุ้งด้วยความยินดี นางเชิญพระราชกุมารให้นั่ง นางทรงชะโลมพระองค์ด้วยกระแจะจันทน์ และโปรยน้ำกุหลาบถวาย ทั้งนางทรงโบกด้วยพัดอันทำด้วยขนนกยูงมีด้ามทอง
พระวัชรมุกุฏตรัสแก่นางว่า "พระหัตถ์อันอ่อนของนางนี้ไม่สมควรจะโบกพัด นางจงหยุดเสียเถิด ข้าได้เห็นนางก็มีความเอิบอิ่มในใจ แม้ไม่ต้องพัดก็เย็นพออยู่แล้ว นางจงประทานพัดให้ข้าเถิด"
นางปัทมาวดียิ้มพลางทูลว่า "พระองค์ทรงอุสาหะเสด็จเข้ามาถึงที่นี้ เป็นพระเดชพระคุณนักหนา สมควรข้าพเจ้าจะปฏิบัติพระองค์ด้วยความกตัญญู"
ขณะนั้น นางกำนัลคนโปรดเข้ามารับพัดไปถวายอยู่งาน ทูลว่า "หน้าที่ปฏิบัติของข้าพเจ้า สองพระองค์จงทรงสำราญเถิด"
เวตาลเล่ามาถึงเพียงนี้ ก็หยุดพักครู่หนึ่ง แล้วเล่าต่อไปว่า
ครั้นเวลารุ่งเช้า นางปัทมาวดีก็ซ่อนพระราชกุมารไว้ในที่ลับ ครั้นกลางคืน ก็ทรงสำราญอย่างคืนก่อน พระราชกุมารมีความสุขจะหาเสมอมิได้ โลกใหญ่กว้างก็ทรงลืมหมด คงเหลืออยู่แต่โลกในตำหนักนางเท่านั้น ฝ่ายนางปัทมาวดีเป็นหญิงเฉลียวฉลาด เมื่อได้สามีที่ปัญญาอ่อน ก็ยิ่งผูกรักแน่นขึ้น ดังคำโบราณกล่าวว่า คนตรงกันข้ามในเชิงปัญญาย่อมล่อใจกัน ในชั้นต้น นางตั้งแต่งให้พระสวามีเป็นปราชญ์เปรื่อง โดยอธิบายว่า น้ำนิ่งไหลลึก เมื่อพระราชกุมารไม่ใคร่ตรัส ก็นึกว่า คงจะมีความคิดรุ่งโรจน์นิ่งไว้ในพระหฤทัย คนมีคิ้วกว้างแลโค้งงามเช่นนี้จะไม่ฉลาดอย่างไรได้ คนมีหนวดน่าดูเช่นนั้นคงจะต้องเป็นผู้มีใจโอบเอื้ออยู่เอง คนมีตาเช่นพระราชกุมารจะไม่เป็นคนกล้านั้นไม่ได้ นางปัทมาวดีหลงคิดดังนี้ในชั้นต้น ครั้นต่อมา ก็เห็นพระสามีฉลาดเฉลียวน้อยลง แต่ความเสน่หาของนางมิได้ลดหย่อน กลับจะมากขึ้น เป็นต้นมาว่า เมื่อสอนให้ทรงท่องกาพย์กลอน เธอจำไม่ใคร่ได้ นางก็ทรงพระสรวล เห็นน่าเอ็นดู เมื่อเธอพูดสํสกฤตผิดไวยากรณ์ ก็เห็นน่ารัก เมื่อเธอสบถ ก็เห็นเพราะ
ต่อ ๆ มา นางก็สงสัยว่า จะมีใครอีกคนหนึ่งซึ่งล่วงรู้กับพระสามีในเรื่องลอบรักกับนางนี้ แต่นางก็มิได้ทูลถามตรง ๆ เป็นแต่สังเกตวาจาที่ตรัสและทูลไล่เลียงอ้อมค้อม จนในที่สุด พระวัชรมุกุฏทรงเล่าให้นางฟังถึงพุทธิศริระผู้มีปัญญา เริ่มแต่ความเห็นทับถมหญิงทั้งหลายตลอดจนแปลกิริยาต่าง ๆ ที่นางได้ทำเป็นเครื่องสัญญาณ ในที่สุด ตรัสเล่าความเห็นของพุทธิศริระว่า นางฉลาดเกินที่จะเป็นเมียที่เป็นความสุขแก่ผัว
นางปัทมาวดีทรงคิดในใจว่า "ถ้าเราไม่แก้แค้นชายคนนั้นได้ ขอให้เราเกิดเป็นฬาของคนทำสวนในชาติหน้าเถิด" ทรงคิดดังนี้แล้ว นางก็ตรัสชมความฉลาดของพุทธิศริระยอขึ้นไปถึงฟ้า ตรัสว่า ทรงรู้สึกบุญคุณของชายผู้นั้นที่ได้ช่วยให้นางถึงความสุข และสำแดงประสงค์จะใคร่พบพุทธิศริระสักครั้งหนึ่ง
ฝ่ายพระวัชรมุกุฏเสด็จซ่อนอยู่ในนิเวศน์นางประมาณเดือนหนึ่ง ก็รำลึกถึงโลกภายนอก เธอเสวยมากไป ผธมมากไป ไม่ได้ออกขี่ม้าล่าเนื้อบ่อย ๆ เหมือนแต่ก่อน ก็เกิดไม่สบาย พระพักตร์และพระเนตร์เหลือง มีอาการหาวดังซึ่งคนตับพิการมักจะเป็น บางเวลาก็ปวดพระเศียรและเสวยอาหารไม่ได้ จะซ่อนอยู่ก็ไม่เป็นสุข วันหนึ่ง อยู่พระองค์เดียว ทรงนึกดัง ๆ ว่า "เราได้ทิ้งเมืองมาก็นานแล้ว และสหายซึ่งได้ช่วยให้เราได้รับความสุขเช่นนี้ก็ไม่ได้พบกันมาตั้งเดือน สหายของเราจะบ่นอย่างไรบ้าง และจะอยู่เป็นสุขหรือไร เราก็ไม่ทราบได้เลย"
ขณะนั้น นางปัทมาวดีเข้าไปถึง ได้ยินหางเสียงที่ตรัส ก็เข้าใจตลอด นางเห็นเป็นช่องอันดีที่จะสำเร็จความคิด จึ่งตรัสหาความพระสามีว่า พระหฤทัยไม่ยั่งยืน อยากจะเปลี่ยนบ่อย ๆ ครั้นเห็นพระสามีตรัสปฏิเสธ นางก็กล่าวซ้ำจนเธอจวนจะกริ้วอยู่แล้ว เธอจึงตรัสอ้างคัมภีร์โบราณว่า ภริยาที่ไม่มีลูก สามีควรทิ้งไปหาใหม่ในปีที่แปด ภริยาที่มีลูกเกิดมาตายหมดในปีที่ ๑๐ ภริยาที่มีแต่ลูกหญิงในปีที่ ๑๑ และภริยาซึ่งกล่าวดุดันสามีนั้น ควรทิ้งไปหาใหม่ทันที นางได้ยินพระสามีตรัสดังนั้นก็อธิบายว่า คำที่นางกล่าวนั้นมิใช่กล่าวถึงความรักระหว่างระหว่างสองพระองค์ นางกล่าวถึงข้อที่พระสามีลืมพุทธิศริระผู้สหายนั้นดอก นางตรัสว่า "พระองค์เสด็จอยู่ที่นี่ พระหฤทัยออกไปอยู่กับสหายเช่นนี้ จะมีสุขอย่างไรได้ พระองค์ทรงซ่อนความในพระหฤทัยไว้ด้วยเหตุใด เกรงว่า ถ้าข้าพเจ้าทราบ ข้าพเจ้าจะเดือดร้อนฉะนั้นหรือ พระองค์จงเชื่อชายาของพระองค์ว่า คงจะไม่มีประสงค์ให้พระองค์เริศร้างจากสหายซึ่งมีคุณแก่เราทั้งสองนั้นเป็นอันขาด"
นางปัทมาวดีทูลเช่นนั้นแล้ว ก็แนะนำให้เสด็จออกไปหาพุทธิศริระในคืนวันนั้นเพื่อจะได้สิ้นห่วงถึงสหาย อนึ่ง นางจะฝากของออกไปแทนคุณพุทธิศริระบ้าง
พระวัชรมุกุฏทรงยินดี ตรงเข้าสวมกอดนาง กลับทำให้นางโกรธในใจ เพราะเห็นถนัดว่า ทรงยินดีที่จะทิ้งนางไปหาสหาย นางเกรงจะซ่อนความโกรธไว้ไม่ได้ ก็รีบหนีไปจัดของที่จะฝากไปประทานพุทธิศริระ สักครู่หนึ่ง นางเสด็จกลับมาในห้อง ถือถุงบรรจุของกินมาส่งถวาย ทูลว่า ขอให้ประทานแก่พุทธิศริระว่า เป็นของซึ่งนางทำด้วยพระหัตถ์ ถึงแม้คนมีปัญญาก็คงจะชมรสซึ่งมีในขนมนั้น
พระยุพราช เมื่อได้ล่ำลานาง สวมองค์แล้วสอดกรเล่า คำลาคำท้ายกลับเป็นคำต้นหลายครั้ง แล้วก็เสด็จเล็ดลอดออกจากวัง ครั้นผ่านพ้นประตูซึ่งนายประตูนั่งหลับตามเคย ถึงถนนใหญ่ก็รีบทรงดำเนินตรงไปบ้านหญิงนางนม เวลานั้นเป็นเวลาเที่ยงคืน แม้ฉะนั้น พุทธิศริระยังนั่งอยู่หน้าเรือน ครั้นพระยุพราชเสด็จไปถึง ต่างก็แสดงความยินดี พระวัชรมุกุฏตรัสแสดงความร้อนพระหฤทัยที่เห็นพุทธฺศริระมีอาการซูบซีด พุทธิศริระทูลว่า ไม่ได้ยินข่าวเจ้าช้านานก็ร้อนใจกินไม่ได้นอนไม่หลับ จึงมีอาการเช่นนี้ พระวัชรมุกุฏได้ทรงฟัง ก็อธิบายถึงความสำราญในวังซึ่งทรงคิดว่า ไม่ยิ่งหย่อนกว่าความสุขในสวรรค์ ทั้งยกนางปัทมาวดีเชิดชูขึ้นไปถึงฟ้า เทียบกับนางเทพธิดาซึ่งเป็นหมู่ชนที่ไม่เคยทรงพบเห็นก็จริงอยู่ แต่คงจะไม่ล้ำเลิศเกินนางปัทมาวดีไปได้ ทั้งในความงามและความเฉลียวฉลาดทุกประการ
พุทธิศริระได้ยินรับสั่งยอพระเกียรตินางยืดยาวเช่นนั้น ก็โคลงศีร์ษะยิ้ม มิได้กล่าวประการใด พระยุพราชทรงเห็นดังนั้นก็ตรัสว่า "อย่างเก่าอีกแล้ว ความสำราญของท่านอยู่ในความลบหลู่ปัญญาของผู้อื่น ไม่เปลี่ยนแปลงบ้างเลย ท่านคงจะคิดอิจฉานางเสียแล้ว อิจฉาว่า มีปัญญา และอิจฉาว่า นางรักข้า ท่านจงเชื่อข้าว่า นางองค์นี้ดีหาที่เปรียบมิได้ ถึงแม้ท่านเกลียดผู้หญิง เมื่อได้ทราบคำสรรเสริญที่นางกล่าวถึงท่านทราบ คำสั่งที่นางสั่งมาถึง และทราบรสแห่งของกินที่นางฝากมาประทาน ท่านก็เว้นที่จะชมนางไม่ได้เป็นแน่ นี่แนะ ท่านจงกินขนมนี้ซึ่งนางฝากมาให้ท่านโดยเฉพาะ เป็นขนมซึ่งนางทำด้วยพระหัตถ์นางเอง"
พุทธิศริระทูลว่า "นางสั่งมาถึงข้าพเจ้าอย่างไรได้ อย่างไรนางจึ่งฝากของมาประทาน นางไม่ทรงทราบว่า มีข้าพเจ้าอยู่ในโลกนี้ พระองค์ไปรับสั่งถึงข้าพเจ้าขึ้นแล้วกระมัง"
พระวัชรมุกุฏตรัสตอบว่า "คืนหนึ่ง ข้านั่งอยู่คนเดียว กำลังคิดถึงท่าน ก็มีอาการซึมเซาไป นางเข้ามาพบก็ถามว่า เหตุไรจึงเป็นเช่นนั้น ข้าก็ตอบนางตามจริง และเล่าให้ฟังถึงท่านและความฉลาดของท่าน นางได้ทราบก็อนุญาตให้ข้าออกมาหาท่าน และส่งขนมนี้มาให้ท่านกิน ท่านจงกินให้สมศรัทธาของนางผู้ทำและข้าผู้ถือมาเถิด"
พุทธิศริระทูลว่า "พระองค์จงประทานอภัยแก่ข้าพเจ้า และทรงฟังคำที่ข้าพเจ้าทูลนี้เถิด การที่รับสั่งบอกชื่อข้าพเจ้าแก่นางนั้นไม่ดีเลย ผู้ชายไม่ควรทำให้ผู้หญิงรู้ได้ว่า ความลับซึ่งนางบอกแก่มือซ้ายแห่งชายนั้นทราบไปถึงมือขวา ถึงยิ่งทราบไปถึงคนอื่นด้วยยิ่งร้ายใหญ่ อีกอย่างหนึ่ง การที่ทรงสำแดงให้นางทราบว่า ทรงพระเม็ตตาข้าพเจ้านั้น ก็ไม่เป็นทางดี เพราะผู้หญิงย่อมจะเกลียดเพื่อนของชายที่รัก"
พระยุพราชตรัสว่า "ข้าจะทำอย่างไรได้ เมื่อข้ารักนางข้า ก็ไม่อยากปกปิดข้อความอะไร เมื่อนางถาม ก็บอกตรง ๆ ทั้งนั้น"
พุทธิศริระทูลว่า "พระหฤทัยเช่นนี้ เมื่อพระองค์จำเริญพระชนม์ยิ่งขึ้น ก็คงจะเปลี่ยน เพราะจะทรงทราบได้ว่า ความรักระหว่างหญิงกับชายนั้นคือการเล่นซึ่งต้องใช้ปัญญาระหว่างคนสองคนที่มีเพศต่างกัน ฝ่ายหนึ่งเพียรจะเอาเปรียบมากที่สุด อีกฝ่ายหนึ่งเพียรจะเสียเปรียบน้อยที่สุดที่จะเป็นได้ คนทั้งสองต่อสู้กันบนกระดานสะกาเช่นนี้ ฝ่ายที่ปัญญาแหลมกว่าแลชำนาญกว่าย่อมชะนะเสมอ ความไม่พูดนั้นเป็นสิ่งที่หัดทำได้ ถ้าพระองค์ทรงซ้อมอยู่สักปีหนึ่ง จะทรงเห็นว่า การเปิดความลับนั้นยากกว่าการปิดไปเสียอีก ถ้าจะกล่าวถึงขนมที่นางประทานมานี้ ข้าพเจ้ายอมเอาชีวิตข้าพเจ้าเป็นสินพะนันกับชีวิตหมาว่า ขนมนี้ผสมด้วยยาพิษ"
พระวัชรมุกุฏตรัสว่า "เป็นไปไม่ได้เป็นอันขาด ไม่มีใครในโลกนี้จะทำอย่างที่ท่านว่า ถ้าคนไม่กลัวคนด้วยกัน ก็ต้องกลัวพระผู้เป็นเจ้าบ้าง"
พุทธิศริระกล่าวว่า "ข้าพเจ้าเกิดมายังไม่เคยรู้เลยว่า ผู้หญิงที่กำลังรักกลัวพระผู้เป็นเจ้าหรือกลัวอะไรบ้าง แต่ข้อที่ข้าพเจ้ากล่าวนั้นทดลองได้ง่าย ๆ (พูดพลางเรียกหมาที่นอนอยู่ข้างนั้น แล้วโยนขนมให้หน่อยหนึ่ง กล่าวว่า) "เอ้า เองไปหาญาติสามหัวของเองซึ่งเป็นผู้รับใช้มัจจุราชนั้นเกิด" หมาได้ยินก็ลุกขึ้นกินขนมที่พุทธิศริระโยนให้ ประเดี๋ยวก็ล้มลงขาดใจตาย
พระยุพราชเห็นดังนั้นก็ทรงเสียใจเป็นกำลัง ตรัสว่า "นางช่างเป็นเช่นนี้ได้ ไม่คิดเลยว่า จะชั่วช้าถึงปานนี้ ข้าหลงรักนางนักหนา ไม่รู้เลยว่าใจคอหยาบคายมาก ข้าจะกล้าอยู่กับนางไปอย่างไรได้"
พุทธิศริระทูลว่า "สิ่งใดเกิดแล้ว สิ่งนั้นย่อมเกิดแล้ว จะแก้ให้กลับไม่เกิดนั้นไม่ได้ ข้าพเจ้าคิดเกรงมาแต่แรกแล้วว่า พระราชกุมารีทรงปัญญาหลักแหลมนัก คงจะทำอะไรชะนิดนี้เป็นแน่ เพราะคนเราไม่มีใครจะทำอะไรผิด จะทำอะไรโง่ จะทำอะไรนอกคอกเหมือนหญิงสาวมีปัญญา แม้จะทำการที่มีโทษ ก็ทำให้สนิทสนมไม่ได้ ข้าพเจ้าขออยู่ห่างไกลปัญญาหญิง ขออยู่กับความโง่เขลา จึ่งจะเป็นสุข"
ในตอนนี้ พระราชบุตรมิได้ทรงยกย่องความฉลาดเลย พุทธิศริระจึงทูลต่อไปว่า "ข้าพเจ้าก็ได้ทูลกำชับแล้ วเพราะเกรงจะเป็นเช่นนี้ แต่บัดนี้ เมื่อได้เห็นฤทธิ์นาง แล้วก็เบาใจ นางคิดไม่สำเร็จครั้งนี้ นับว่า สิ้นโอกาสที่จะทำการเช่นเดียวกันอีก หรือถ้าทำ ก็ไม่ใช่ทำในเร็ววันนี้ ข้าพเจ้าขอทูลถามปัญหาข้อหนึ่ง คือ ถ้าไม่ได้อยู่กับนาง พระองค์จะมีความสุขได้หรือ"
พระยุพราชทรงถอนใจใหญ่ ตรัสว่า "ไม่ได้เป็นแน่"
พุทธิศริระทูลว่า "ถ้าไม่ได้ ก็ต้องใช้ปัญญาด้วยมีความรู้ว่าไม่ได้นั้นเป็นบรรทัด เราจะต้องประชันหน้ากับนางในสนามรบ แลพเอาชัยในเชิงอาวุธที่นางใช้เอง อาวุธนั้นคือความหลอกล่อ ตามธรรมดาข้าพเจ้าไม่เต็มใจจะทำกลกับหญิง แต่นางองค์นี้เห็นจะเป็นชายาที่ดีต่อสามี แท้จริงการวางยาพิษนี้นางเพียรจะเอาชีวิตข้าพเจ้า มิใช่ชีวิตพระองค์ จะว่านางประทุษร้ายต่อพระองค์ไม่ได้ พระองค์เสด็จออกมาครั้งนี้ นางกำหนดให้เสด็จกลับเมื่อไร"
พระยุพราชตรัสว่า "เมื่อข้าสิ้นห่วงท่านแล้ว ให้กลับเข้าไป"
พุทธิศริระกล่าวว่า "ถ้าอย่างนั้น นางคอยท่าเสด็จกลับพรุ่งนี้กลางคืน เพราะจะเสด็จกลับเข้าวังก่อนนั้นไม่ได้ ข้าพเจ้าจะขอทูลลาไปเข้าที่นอน เพื่อจะได้ตรึกตรองหาทางที่จะทำการให้สำเร็จประสงค์" พุทธิศริระทูลดังนั้นแล้ว พระราชบุตรก็เข้าที่บรรทม พุทธิศริระก็ไปนอน
กลางคืนวันรุ่งขึ้น ครั้นถึงเวลา พระวัชรมุกุฏก็เสด็จเข้าวัง พุทธิศริระไปส่งเสด็จตามทาง ทูลว่า "ความประสงค์ของเรา คือ จะพาตัวพระราชกุมารีไป พระองค์จงรับตรีศูล (คือ สามง่าม) นี้ไปซ่อนในพระองค์ และเมื่อพบนาง จงสำแดงเสน่หาให้มาก อย่าตรัสเล่าถึงการที่เป็นไปเมื่อคืนนี้ นางคอยฟังไม่เห็นตรัสว่ากระไร ก็คงจะถามถึงข้าพเจ้า พระองค์จงตรัสบอกนางว่า ข้าพเจ้ากำลังไม่สบาย ยังไม่ได้กินขนมที่นางประทานออกมา ข้าพเจ้าเก็บขนมนั้นไว้ ว่าจะกินคืนวันนี้ ในกลางคืนเมื่อนางบรรทมหลับ พระองค์จงลอบถอดเครื่องเพ็ชร์พลอยที่ประดับองค์นาง แล้วเอาตรีศูลนี่แทงที่ชงฆ์ซ้ายแห่งนาง แล้วรีบเสด็จออกมาหาข้าพเจ้า ถ้านางบรรทมยังไม่หลับ จงประทานผงนี้ให้นางดม เมื่อดมผงนี้แล้ว อย่าว่าแต่คน ถึงช้างก็จะหลับเหมือนตายไปจนรุ่งสว่าง แม้นแทงด้วยตรีศูลก็ไม่ตื่น ส่วนพระองค์เองนั้น อย่าลองดมยานี้เป็นอันขาด"
พระวัชรมุกุฏทรงรับยาจากพุทธิศริระแล้ว ก็ทรงเล็ดลอดเข้าไปในวังในเวลาซึ่งนายประตูนั่งหลับตามเคย ครั้นถึงตำหนัก พบนางนั่งคอยท่าอยู่ สององค์ก็สำแดงยินดีต่อกันตามเยี่ยงอย่างหญิงชาย ฝ่ายนางปัทมาวดีแลดูพระเนตรและสังเกตกิริยาพระสามีเห็นยิ้มแย้มแจ่มใสดี นางก็หลอกผู้ซึ่งหญิงฉลาดชอบหลอก (คือ ตัวเอง) ว่า อุบายที่คิดไปนั้นสำเร็จประสงค์ พระสามีไม่รู้กล และตั้งแต่บัดนี้ นับว่า ไม่มีใครอื่นซึ่งพระสามีจะห่วงถึงต่อไป นางทรงนึกรื่นรมย์ในหฤทัยเช่นนี้จนบรรทมหลับไป
ฝ่ายพระวัชรมุกุฏ ครั้นนางหลับแล้ว เกรงจะหลับยังไม่สนิท ก็เอายาให้ดม แล้วถอดเครื่องเพ็ชร์พลอยซึ่งประดับองค์นางจนหมด เอาตรีศูลแทงที่ชงฆ์ซ้าย แล้วรีบพาเครื่องประดับหนีออกจากวังไปหาพุทธิศริระ พุทธิศริระตรวจดูของเหล่านั้นแล้ว ก็ฉวยย่ามห้อยบ่า เชิญให้ราชบุตรทรงดำเนินตามไปจนถึงป่าช้าแห่งหนึ่ง พุทธิศริระกับพระราชบุตรก็เปลี่ยนเครื่องแต่งกาย พุทุธิศริระเองแต่งเป็นโยคี พระราชบุตรแต่งเป็นศิษย์ แล้วซ่อนเสื้อผ้าซึ่งผลัดออกนั้น สำเร็จแล้ว พุทธิศริระผู้เป็นครูจึ่งกล่าวแก่พระราชกุมารผู้เป็นศิษย์ว่า "ท่านจงไปในตลาด แลเที่ยวบอกขายเครื่องเพ็ชร์พลอยเหล่านี้ สำแดงของให้คนเห็นมาก ๆ ด้วยกัน และถ้าใครจับกุมท่าน จงพาตัวมาหาข้าพเจ้า"
ครั้นรุ่งเช้า พระวัชรมุกุฏก็พาเครื่องประดับอันมีราคาเป็นอันมากนั้นไปเที่ยวบอกขายในตลาด ครั้นไปถึงร้านช่างทองร้านหนึ่ง ยื่นของให้ดู แลบอกขายทั้งถามราคาของเหล่านั้นด้วย ช่างทองนั้นเป็นคนค้าขายโดยสุจริตต่อเมื่อจำเป็นจะสุจริต ครั้นเห็นคนหนุ่มไม่รู้จักราคาของนำเอาของราคามากไปบอกขายเช่นนั้น ก็กล่าวว่า เป็นของเลว แลจะรับซื้อเป็นราคาเพียงหนึ่งในพันแห่งราคาจริง ราคาที่ช่างทองจะรับซื้อนี้ พระวัชรมุกุฏไม่ยอมขาย เพราะต้องการจะเที่ยวอวดของเหล่านั้นต่อไปอีก ครั้นจะเสด็จ ออกจากร้าน ช่างทองก็เข้ากั้นประตูไว้แล้วกล่าวว่า ถ้าไม่ยอมขาย จะเรียกตำรวจจับ เพราะของเหล่านั้นช่างทองถูกขะโมยไปเมื่อ ๒–๓ วันนั่นเอง ฝ่ายพระราชกุมาร เมื่อช่างทองกล่าวขู่ดังนั้น ก็ไม่ทรงหวาดหวั่น กลับทรงพระสรวล ช่างทองลังเลในใจ ไม่กล้าเรียกตำรวจมาจริง ๆ เพราะทราบว่า ถ้าเรียกตำรวจมา สิ่งของเหล่านั้นจะเป็นลาภแก่ตำรวจยิ่งกว่าเป็นลาภแก่ช่างทองหลายร้อยเท่า ช่างทองกำลังตรึกตรองยังไม่แน่ใจว่าทำอย่างไรจะดี พอมีคนอีกคนหนึ่งเข้ามาในร้าน คนที่มาใหม่นั้นเป็นช่างทองหลวง ครั้นเห็นเครื่องประดับเข้า ก็จำได้ แลกล่าวว่า "เครื่องประดับเพ็ชร์พลอยเหล่านี้เป็นของพระราชธิดา ข้าพเจ้าจำได้ถนัด เพราะได้เป็นผู้ทำเมื่อ ๒–๓ เดือนนี้เอง⟨"⟩ (พูดเท่านั้น แล้วช่างทองหลวงหันไปถามพระราชกุมารว่า) "เจ้าจงบอกแต่ตามจริงว่า เจ้าได้ของเหล่านี้มาแต่ไหน"
ในเวลาที่ไต่ถามกันอยู่เช่นนี้ มีคนมายืนมุงดูเป็นอันมาก จนข่าวทราบไปถึงผู้บังคับการตำรวจ ผู้บังคับการตำรวจจึ่งให้ตามตัวพระราชกุมารแลช่างทองทั้งสองคนไปไต่สวน ครั้นไปถึงพร้อมกันแลตรวจของกลางแล้ว ผู้บังคับการตำรวจก็ถามพระราชกุมารว่า "เจ้าได้ของเหล่านี้มาแต่ไหน จงให้การไปแต่ตามจริง"
พระวัชรกุมารแสร้งทำเป็นกลัว ตรัสตอบว่า "ครูของข้าพเจ้ามอบของเหล่านี้ให้ข้าพเจ้าไปเที่ยวขาย ในเวลานี้ ครูของข้าพเจ้ากระทำการบูชาอยู่ที่ป่าช้านอกเมือง จะได้ของเหล่านี้มาจากไหน ข้าพเจ้าหาทราบไม่ ข้าพเจ้าเป็นผู้ไม่มีความผิด ท่านจงปล่อยตัวข้าพเจ้าไปเถิด"
ผู้บังคับการตำรวจได้ยินดังนั้น ก็ให้ไปตามพุทธิศริระมาจากป่าช้า แล้วพาคนทั้งสองแลของกลางเข้าไปเฝ้าท้าวทันตวัต ทูลความให้ทรงทราบทุกประการ
ท้าวทันตวัตทรงฟังเรื่องตลอดแล้ว ก็ตรัสถามพุทธิศริระว่า ได้ของเหล่านั้นมาแต่ไหน พุทธิศริระได้ยินรับสั่งถาม ก็คลี่หนังโครำออกปูเป็นอาสนะ แล้วนั่งลงชักประคำท่องมนต์อยู่เกือบชั่วโมงหนึ่ง จึ่งทูลตอบว่า "ข้าพเจ้ากล่าวคำสัตย์ ด้วยมีพระมหาเทพเป็นพะยานว่าของเหล่านี้เป็นสมบัติของข้าพเจ้า คือ เมื่อวันแรมสิบสี่ค่ำกลางคืน ข้าพเจ้าไปที่ป่าช้าเผาศพเพื่อจะสวดมนต์เรียกแม่มด ข้าพเจ้าสวดเรียกอยู่ช้านานจึ่งเรียกมาได้ ครั้นแม่มดมาแล้ว ก็ทำกิริยากำเริบอุกอาจ ข้าพเจ้าจึ่งต้องลงโทษแทงด้วยตรีศูลอันนี้ถูกตรงขาซ้าย ถึงกระนั้นแล้ว ยังดื้อดึงอยู่อีก ข้าพเจ้าจึงปลดเอาของเหล่านี้ออกไว้เสีย แล้วไล่ให้ไปตามใจ แต่เช่นนั้นแล้ว ยังทำกิริยากำเริบอยู่อีกช้านาน ข้าพเจ้าไม่เคยเห็นแม่มดที่ดื้อดึงเช่นนั้นเลย ของเหล่านี้ข้าพเจ้าได้มาจากแม่มดนั้น โดยประการที่ทูลมาเช่นนี้" ท้าวทันตวัตได้ทรงฟังดังนั้น ก็ทรงเฉลียวใจขึ้นมา จึ่งตรัสให้โยคีคอยอยู่ที่ท้องพระโรง แล้วเสด็จขึ้นข้างใน พบพระราชมารดา ก็ทูลว่า "พระแม่จงเสด็จไปยังที่อยู่แห่งนางปัทมาวดี พระราชธิดาของข้าพเจ้า แลตรวจดูชงค์ซ้ายแห่งนางว่า มีรอยอันใดบ้าง แลเป็นรอยชะนิดไหน ข้าพเจ้าจะคอยฟังอยู่ที่นี่"
พระราชมารดาเสด็จไปครู่หนึ่ง ก็เสด็จกลับมาตรัสแก่ท้าวทันตวัตผู้พระราชบุตรว่า "แม่ได้ไปถึงห้องนางปัทมาวดีแล้ว นางนอนอยู่ในที่บรรทม มีแผลสามรอยอยู่ที่ชงฆ์ซ้าย มีอาการเหมือนหนึ่งเจ็บปวดมาก แม่ถามว่า ได้แผลนั้นมาอย่างไร นางตอบว่า ตะปูตำ แต่แม่ไม่เคยเห็นตะปูสามแหลมเช่นนี้ นางคงจะได้ทุกข์มากเพราะแผลนั้น แม่จะรีบกลับไปดูแลรักษา มิฉะนั้น อาจเป็นเหตุให้เกิดความเศร้าโศกในวงศ์ญาติ" พระราชมารดาตรัสดังนั้นแล้ว ก็เสด็จกลับไปยังที่อยู่แห่งพระราชธิดา
ฝ่ายท้าวทันตวัตได้ทรงฟังดังนั้น ก็อ้ำอึ้งในพระหฤทัย ทรงคิดว่า "การในเรือน หนึ่ง ความคิดในใจ หนึ่ง ความเสียหาย หนึ่ง ไม่ควรจะบอกให้ใครทราบ เมื่อนางปัทมาวดีเป็นแม่มดเช่นนี้ นางก็มิใช่บุตรีของเรา จำเราจะไปหารือโยคีดู" ตรัสเท่านั้นแล้ว ก็เสด็จออกไปที่ท้องพระโรง ตรัสให้ศิษย์ของโยคีถอยห่างออกไป แล้วตรัสถามโยคีว่า "ท่านผู้ทรงความรู้ จงบอกแก่ข้าว่า หญิงที่เป็นแม่มดนั้น ธรรมศาสตร์บัญญัติให้ลงโทษอย่างไร"
พุทธิศริระผู้เป็นโยคีทูลว่า "ข้าแต่พระมหาราชา ธรรมศาสตร์กล่าวว่า ถ้าพราหมณ์ หรืองัว หรือหญิง หรือเด็ก หรือผู้ที่อยู่ในปกครองของเรา กระทำความผิดอันนั้น ท่านให้ลงโทษไล่เสียจากบ้านเมือง ถึงแม้จะควรอย่างยิ่งที่จะลงโทษประหารชีวิต ก็ลงโทษถึงปานนั้นไม่ได้ เพราะพระลักษมีไม่โปรด"
พระราชาได้ทรงฟังดังนั้น ก็ประทานรางวัลแก่โยคีเป็นอันมาก แล้วเสด็จขึ้นจากท้องพระโรง ครั้นเวลาเที่ยงคืน ก็ตรัสให้ราชบุรุษซึ่งเป็นที่ไว้พระหฤทัยจับนางปัทมาวดีคุมตัวออกไปนอกเมือง แลปล่อยทิ้งไว้กลางป่าซึ่งมากด้วยภูตผีปีศาจแลสิงห์เสือร้ายทั้งปวง
ฝ่ายพุทธิศริระกับพระราชกุมารออกจากที่เฝ้า ก็รีบกลับไปป่าช้า ผลัดเครื่องแต่งกายตามเดิม แล้วก็กลับไปเรือนหญิงนางนม ให้รางวัลแก่หญิงนั้นมากมายจนแกนั่งร้องไห้ด้วยความยินดี แล้วชายทั้งสองก็ขึ้นม้าออกตามพวกราชบุรุษที่พานางไปปล่อย ครั้นพบนางกลางป่า ก็ชวนไปกรุงพราณสี เราท่านไม่ต้องสงสัยว่า เมื่อการเป็นเช่นนั้น นางจะยอมเที่ยวเตร็ดเตร่อยู่องค์เดียวในป่าหรือจะยอมไปกับพระราชกุมาร
เวตาลเล่ามาถึงเพียงนี้ ก็ทูลพระวิกรมาทิตย์ว่า "พระองค์ทรงนิ่งฟังมาช้านาน ยังมิได้ตรัสอะไรเลย ที่ทรงนิ่งฟังเช่นนี้ ก็คงจะเป็นด้วยเพลินเรื่องที่ข้าพเจ้าเล่า แต่เมื่อข้าพเจ้าเล่ามาจบเช่นนี้แล้ว ถ้าพระองค์ไม่อธิบายปัญหาที่ข้าพเจ้าจะถามเดี๋ยวนี้ พระองค์คงจะตกนรกเป็นแน่ ปัญหาของข้าพเจ้านั้น คือว่า ชายหนุ่ม หนึ่ง สหายของชายหนุ่ม หนึ่ง หญิงสาว หนึ่ง บิดาของหญิงสาว หนึ่ง ทั้งสี่นี้ ควรจะติโทษใครมากที่สุด"
พระวิกรมาทิตย์ทรงนิ่งตรึกตรอง ยังมิได้ตรัสประการใด เวตาลทูลเตือนว่า "พรองค์จนปัญญาแล้วหรือ"
พระวิกรมาทิตย์ตรัสว่า "ท้าวทันตวัตเป็นผู้ที่ควรได้รับความติเตียนมากกว่าคนอื่น"
เวตาลทูลถามว่า เพราะเหตุไร
พระวิกรมาทิตย์ตรัสว่า "พระวัชรมุกุฏนั้นอยู่ในเวลาที่ลุ่มหลงหญิง เหตุฉะนั้น เสมอกับคนบ้า จะให้รับผิดชอบความประพฤติของตนเองนั้นไม่ได้ พุทธิศริระเป็นข้ารับใช้เจ้า เมื่อทำการให้สำเร็จประสงค์เจ้าแล้ว ก็นับว่า กระทำการดีโดยหน้าที่ ส่วนนางปัทมาวดีนั้นนางเป็นหญิงสาว เพราะฉะนั้น อาจฆ่าคนได้อยู่เสมอ ไม่นับว่า ทำอะไรแปลกประหลาด แต่ท้าวทันตวัตนั้นเป็นเจ้าครองแผ่นดิน ชนมายุไม่น้อย ควรจะรอบรู้การงานทั้งปวง ไม่ควรจะหลงเชื่ออุบายที่ตื้น ๆ ยังมิทันได้ตรึกตรองให้ละเอียด ก็ให้นำพระราชธิดาไปปล่อยกลางป่าเช่นนี้ ควรติเตียนเป็นอันมาก"
เวตาลได้ยินรับสั่งก็หัวเราะด้วยเสียงอันดัง กล่าวว่า "ข้าพเจ้าจะกลับไปที่ต้นอะโศกเดี๋ยวนี้ ข้าพเจ้าเกิดมายังไม่เคยได้ยินพระราชาติเตียนพระราชาง่ายดายถึงเพียงนี้" เวตาลพูดเท่านั้นแล้วก็ออกจากย่าม หัวเราะก้องฟ้า ลอยกลับไปเกาะห้อยหัวอยู่ยังต้นอะโศกตามเดิม
- ↑ อนงค์ แปลว่า ไม่มีตัว เป็นชื่อกามเทพ เมื่อหญิงกับชายรักกัน กล่าวว่า เพราะกามเทพแผลงศรถูกหัวใจ