นิทานเวตาล/เรื่องที่ 10
เวตาลกล่าวว่า ครั้งนี้ ข้าพเจ้าให้เกิดกระเหม่นตาซ้าย หัวใจเต้นแรง แลตาก็มืดมัว เป็นลางไม่ดีเสียแล้ว แต่ข้าพเจ้าก็จะเล่าเรื่องจริงถวายอีกเรื่องหนึ่ง แลเพราะเหตุข้าพเจ้าเบื่อหน่ายการถูกแบกสะพายไปมาเป็นหลายเที่ยวแล้ว แม้พระองค์ไม่ทรงเบื่อเป็นผู้แบกก็จริง ข้าพเจ้าจะตั้งปัญหาที่ยากทูลถามสักที ถ้าทรงตอบได้ พระปัญญาก็มากยิ่งที่ข้าพเจ้าคิดว่า จะมีในพระราชาพระองค์ใด
ในโบราณกาล มีเมืองใหญ่เมืองหนึ่งชื่อ กรุงธรรมปุระ พระราชาทรงนาม ท้าวมหาพล มีมเหสีซึ่งแม้มีพระราชธิดาจำเริญวัยใหญ่แล้วก็ยังเป็นสาวงดงาม ถ้าจะเปรียบกับพระราชบุตรี ก็คล้ายพี่กับน้องยิ่งกว่าแม่แลลูก ที่เป็นเช่นนี้ไม่ใช่เพราะพระราชธิดามีอาการแก่เกินอายุ ที่จริงเป็นด้วยพระราชมารดาเป็นสาวไม่รู้จักแก่ แลความสาวของพระนางเป็นเครื่องประหลาดของคนทั้งหลาย
เมื่อท้าวมหาพลจะสิ้นบุญนั้น เกิดศึกขึ้นที่กรุงธรรมปุระ ข้าศึกมีกำลังมาก แลชำนาญการศึก ใช้ทั้งทองคำแลเหล็กเป็นอาวุธ คือ ใช้ทองคำซื้อน้ำใจนายทหารแลไพร่พลของพระราชาให้เอาใจออกหากจากพระองค์ แลใช้เหล็กเป็นอาวุธฆ่าฟันคนที่ซื้อน้ำใจไม่ได้ ข้าศึกใช้ทองคำบ้าง เหล็กบ้าง เป็นอาวุธดังนี้ จนในที่สุด รี้พลของท้าวมหาพลหรอร่อยย่อยยับไป ท้าวมหาพลเห็นจะรักษาชีวิตพระองค์ไว้ไม่ได้ด้วยวิธีรบ ก็คิดจะรักษาด้วยวิธีหนี จึ่งพาพระมเหสีแลพระราชธิดาออกจากกรุงไปในเวลาเที่ยงคืนจำเพาะสามพระองค์ พระราชาทรงพานางทั้งสองเล็ดลอดพ้นแนวทัพข้าศึกไปแล้ว ก็ตั้งพระพักตร์มุ่งไปยังเมืองซึ่งเป็นเมืองเดิมของพระมเหสี
วันรุ่งขึ้น พระราชานำนางทั้งสองเดินไปจนเวลาสาย ถึงท้องทุ่ง เห็นหมู่บ้านหมู่หนึ่งแต่ไกล ไม่ทรงทราบว่า เป็นหมู่บ้านโจร แต่ทรงสงสัยไม่วางพระหฤทัย จึ่งตรัสให้พระมเหสี และพระราชธิดาหยุดนั่งกำบังอยู่ในแนวไม้ พระองค์ทรงถืออาวุธเดินตรงเข้าไปสู่หมู่บ้านเพื่อจะหาอาหารเสวยแลสู่นางทั้งสององค์
ฝ่ายพวกภิลล์ซึ่งอยู่ในหมู่บ้านนั้นประพฤติตัวเป็นโจรอยู่โดยปกติ ครั้นเห็นชายคนเดียวแต่งตัวด้วยของมีค่าเดินเข้าไปเช่นนั้น ก็คุมกันออกมาจะเข้าชิงทรัพย์ในพระองค์พระราชา ท้าวมหาพลทรงเห็นดังนั้น ก็ทรงพระแสงธนูยิงพวกโจรล้มตายลงเป็นอันมาก ฝ่ายนายโจรได้ทราบว่า มีผู้มีทรัพย์มาฆ่าฟันพวกตนลงไปเป็นอันมากดังนั้น ก็กระทำสัญญาเรียกพลโจรออกมาทั้งหมด แล้วเข้าล้อมรบพระราชา ท้าวมหาพลองค์เดียวเหลือกำลังจะต่อสู้ป้องกันอาวุธพวกโจรได้ ก็สิ้นพระชนม์ลงในที่นั้น พวกภิลล์ก็ช่วยกันปลดเปลื้องของมีค่าออกจากพระองค์ แล้วพากันคืนเข้าสู่บ้านแห่งตน
ฝ่ายพระมเหสีและพระราชธิดาทรงแอบดูอยู่ในแนวไม้ เห็นพวกโจรเข้ากลุ้มรุมรบพระราชา ก็ทรงตกใจเป็นกำลัง แต่ไม่รู้จะทำอย่างไรได้ ครั้นเห็นพวกภิลล์ทำลายพระชนม์พระราชาลงไปแล้ว สองนางพระองค์สั่น พากันหนีห่างออกไปจากหมู่บ้านโจร ทางจะไปทางไหนหาทราบไม่ ความมุ่งมาดมีอยู่แต่ว่า จะหนีให้พ้นมือพวกภิลล์ซึ่งเป็นคนชาติต่ำช้าเท่านั้น นางทั้งสองทรงกำลังน้อย แต่อำนาจความกลัวพาให้เสด็จเดินไปเป็นทางถึง ๔ โกรศ อ่อนเพลียพระกำลัง ทรงดำเนินต่อไปไม่ได้ ก็หยุดนั่งพักอยู่ใต้ร่มไม้ริมทาง
พะเอิญมีพระราชาอีกพระองค์หนึ่งทรงนาม ท้าวจันทรเสน เสด็จออกยิงสัตว์ป่ากับพระราชบุตรจำเพาะสองพระองค์ กษัตริย์ทั้งสองทรงม้าไปตามแนวป่า เห็นรอยเท้าหญิงสองคน ก็ทรงชักม้าหยุดดู พระราชบิดาตรัสว่า รอยเท้าคนทำไมมีอยู่ในป่าแถบนี้
พระราชบุตรทูลว่า "รอยเท้าเหล่านี้เป็นรอยเท้าหญิงสองคน รอยเท้าชายคงจะโตกว่านี้"
พระราชาตรัสว่า "เจ้าของรอยเท้าเหล่านี้เป็นหญิงจริงอย่างเจ้าว่า แลน่าประหลาดที่มีหญิงมาเดินอยู่ในป่า แต่ถ้าจะพูดตามเรื่องในหนังสือ หญิงที่พระราชาพบในป่ามักจะงามกว่าหญิงที่จะหาได้ในกรุง เหมือนดอกไม้ป่าที่งามกว่าดอกไม้ในสวน มา เราจะตามนางทั้งสองนี้ไป ถ้าพบนางงามจริงดังว่า เจ้าจงเลือกเอาเป็นเมียคนหนึ่ง"
พระราชบุตรทูลตอบว่า "รอยเท้านางทั้งสองนี้มีขนาดไม่เท่ากัน แม้เท้ามีขนาดย่อมทั้งสองนางก็ยังก็ยังใหญ่กว่ากันอยู่คนหนึ่ง ข้าพเจ้าจะเลือกนางเท้าเล็กเป็นภริยาข้าพเจ้า เพราะคงจะเป็นสาวน้อยตามขนาดแห่งเท้า ส่วนนางเท้าเขื่องนั้นคงจะเป็นสาวใหญ่ ขอพระองค์จงรับไว้เป็นราชชายา"
ท้าวจันทรเสนตรัสว่า "เหตุไฉนเจ้าจึ่งกล่าวดังนี้ พระราชมารดาของเจ้าสิ้นพระชนม์ไปไม่กี่วัน เจ้าจะอยากมีแม่เลี้ยงเร็วเท่านี้เจียวหรือ"
พระราชบุตรทูลตอบว่า "ขอพระองค์อย่ารับสั่งเช่นนั้น เพราะบ้านของผู้เป็นใหญ่ในครอบครัวนั้น ถ้าไม่มีแม่เรือน ก็เป็นบ้านที่ว่าง อนึ่ง พระองค์ย่อมจะทรงทราบคาถาซึ่งมูลเทวะบัณฑิตแต่งไว้ มีความว่า ใครผู้ไม่ใช่คนโง่ ไม่ยอมคืนสู่⟨เรือน⟩ซึ่งไม่มีนางที่รักผู้มีรูปงามคอยรับรองในขณะที่กลับถึงเรือนนั้น แม้เรียกว่า เรือน ก็ไม่ใช่อื่น คือ คุกซึ่งไม่มีโซ่เท่านั้นเอง พระองค์ย่อมทรงทราบได้ด้วยพระองค์เองว่า ความสุขแห่งพ่อบ้านซึ่งอยู่โดดเดี่ยวนั้นมีไม่ได้ในบ้าน แลมีไม่ได้นอกบ้าน เพราะไม่มีหวังว่า จะได้ความสุขเมื่อกลับมาสู่เรือนแห่งตน"
ท้าวจันทรเสนทรงนิ่งตรองอยู่ครู่หนึ่ง แล้วตรัสตอบพระราชบุตรว่า "ถ้านางเท้าเขื่องมีลักษณะเป็นที่พึงใจ ข้าก็จะทำตามคำเจ้าว่า"
ครั้นกษัตริย์ทั้งสององค์ทรงกระทำสัญญาแบ่งนางกันดังนี้แล้ว ก็ทรงชักม้าตามรอยเท้านางเข้าไปในป่า สักครู่หนึ่ง เห็นสองนางนั่งพักอยู่ใต้ร่มไม้ กษัตริย์สององค์ก็เสด็จลงจากม้าเข้าไปถามทุกข์แห่งนางทั้งสอง นางก็เล่าเรื่องให้ทรงทราบทุกประการ พระราชากับพระราชบุตรก็เชิญนางทั้งสองขึ้นหลังม้าองค์ละองค์ นางพระบาทเขื่อง คือ พระราชธิดา ขึ้นทรงม้ากับท้าวจันทรเสน นางพระบาทเล็ก คือ พระมเหสี ขึ้นทรงม้ากับพระราชบุตร สี่องค์ก็เสด็จเข้ากรุง
กล่าวสั้น ๆ ท้าวจันทรเสนแลพระราชบุตรก็ทำการวิวาหะทั้งสองพระองค์ แต่กลับคู่กันไป คือ พระราชบิดาทรงวิวาหะกับพระราชบุตรี พระราชบุตรทรงวิวาหะกับพระมเหสี แลเพราะเหตุที่คาดขนาดเท้าผิด ลูกกลับเป็นเมียพ่อ แม่กลับเป็นเมียลูก ลูกกลับเป็นแม่เลี้ยงของผัวแม่ตัวเอง แลแม่กลับเป็นลูกสะใภ้ของผัวแห่งลูกตน แลต่อมา บุตรแลธิดาก็เกิดจากนางทั้งสอง แลบุตรแลธิดาแห่งนางทั้งสองก็ก็มีบุตรแลธิดาต่อ ๆ กันไป
เวตาลเล่ามาเพียงนี้ ก็หยุดอยู่ครู่หนึ่ง แล้วกล่าวต่อไปว่า บัดนี้ ข้าพเจ้าจะตั้งปัญหาทูลถามพระองค์ว่า ลูกท้าวจันทรเสนที่เกิดจากธิดาท้าวมหาพล แลลูกมเหสีท้าวมหาพลที่เกิดกับพระราชบุตรท้าวจันทรเสนนั้น จะนับญาติกันอย่างไร
พระวิกรมาทิตย์ได้ทรงฟังปัญหาเวตาล ก็ทรงตรึกตรองเอาเรื่องพ่อกับลูก แม่กับลูก แลพี่กับน้องมาปนกันยุ่ง แลมิหนำยังซ้ำมีเรื่องแม่เลี้ยงกับแม่ตัว แลลูกสะใภ้กับลูกตัวอีกเล่า พระราชาทรงตีปัญหายังไม่ทันแตก พอทรงนึกขึ้นได้ว่า การพาเวตาลไปส่งให้แก่โยคีนั้น จะสำเร็จได้ก็ด้วยไม่ทรงตอบปัญหา จึ่งเป็นอันทรงนิ่ง เพราะจำเป็นแลเพราะสะดวก แลรีบสาวก้าวทรงดำเนินเร็วขึ้น ครั้นเวตาลทูลเย้าให้ตอบปัญหาครั้งนี้แม้แต่กระแอมพระวิกรมาทิตย์ก็ไม่ทรงกระแอม เวตาลจึ่งกล่าวอีกครั้งหนึ่งว่า "เมื่อพระองค์ทรงจนปัญญาถึงเพียงนี้แล้ว บางทีพระราชบุตรซึ่งทรงปัญญาเฉลียวฉลาดจะทรงแก้ปัญหาได้บ้างกระมัง"
แต่พระธรรมธวัชพระราชบุตรทรงนิ่งสนิททีเดียว
เมื่อพระวิกรมาทิตย์ทรงนิ่งอึ้งมิได้ออกพระโอษฐ์ตรัสประการใดดังนั้น เวตาลก็แสดงวาจาอาการประหลาดใจเปนที่สุด กล่าวชมว่า ทรงตั้งมั่นพระหฤทัยดีนัก พระปัญญาราวกับเทวดาแลอมนุษย์อื่นที่มีปัญญา จะหามนุษย์เสมอมิได้ แต่ถึงเวตาลจะเห็นแล้วว่า พระราชาตั้งพระหฤทัยจะไม่รับสั่ง ก็ยังไม่ยอมสนิท ยังกล่าวยั่วโดยเพียรจะให้รับสั่งให้จงได้
เวตาลกล่าวว่า "ข้าพเจ้าขอถวายพระพรให้ทรงรับความสำราญ เปนผลแห่งการที่ทรงนิ่งครั้งนี้ พระองค์ได้ทรงเพียรมาหลายครั้งแล้วที่จะห้ามความช่างพูดในพระองค์ แต่ก็ไม่สำเร็จ ข้าพเจ้าจะไม่ทูลถามว่า การที่ทรงระงับความช่างพูดนั้นเปนด้วยความถ่อมพระองค์แลความสามารถกุมพระสติไว้ได้ หรือเปนด้วยความโง่แลไม่สามารถ