นิทานเวตาลเรื่องที่ ๘

เวตาลกล่าวว่า ข้าแต่พระราชาผู้ทรงคุณอันประเสริฐ ข้าพเจ้ามีภักดีต่อพระองค์ เพระทรงพยายามมิได้ย่อหย่อน และความมีพระเศียรดื้อเช่นนี้ บางทีก็ได้ผลสมหมาย จึ่งเป็นคุณที่บุคคลพึงอุดหนุนมิให้เสื่อมคลายไปได้ ข้าพเจ้ามีประสงค์จะฝึกฝนความเพียรของพระองค์ให้ทวียิ่ง ๆ ขึ้น จึ่งจะเล่านิทานเรื่องจริงถวายอีกเรื่องหนึ่งเป็นเครื่องบำรุงพระเศียรดื้อแลพระปัญญา

ในแคว้นองค (องคราษฎร์) มีพระราชาองค์หนึ่งทรงนาม พระยศเกตุ ปรากฎพระรูปประหนึ่งพระอนงค์มาครององค์ เป็นเครื่องเพลินตานางทั้งหลาย แลนางงามทั้งหลายก็เป็นเครื่องเพลินพระเนตรพระราชา เพราะเธอทรงหมกไหม้ใฝ่ฝันในกามารมณ์ พระเนตรคอยจะเพลินอยู่ง่าย ๆ แลเพราะพระเนตรเพลินง่าย จำนวนนางข้างในจึ่งไม่น้อยแลเพิ่มร่ำไป

พระยศเกตุมีมุขมนตรีชื่อ ทีรฆะทรรศิน เป็นคนเฉลียวฉลาด รับราชการเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัย ไม่ใช่เพราะพระราชหฤทัยเป็นสิ่งที่ทรงไว้วางง่าย ๆ เป็นเพราะมุขมนตรีเป็นคนมีปรีชาสามารถ เหมือนสารถีซึ่งเมื่อรู้ทางที่นายจะไปแล้ว ก็อาจขับรถไปให้ถึงที่ได้ดังประสงค์

กล่าวความสามารถปฏิบัติราชการ บุคคลพึงสมมติว่า ข้าราชการทุกคนรู้ปฏิบัติ มิฉะนั้น ไม่เป็นข้าราชการได้ แต่ความสามารถนั้นย่อมจะต่างกันตามตัวคน และพระองค์คงจะทราบประเภทที่กวีกล่าวแยกไว้กว้าง ๆ ว่า

ธรรมดาข้าราชการหลาย

อาจจำหน่ายจำแนกแยกเป็นสอง

เสนามาตย์มนตรีมีเนืองนอง

อยู่ในสองประเภทสังเกตไว้

ประเภทหนึ่งสามารถรับราชกิจ

เมื่อต่อติดกันอยู่กับผู้ใหญ่

รู้วิธีย่อหย่อนผ่อนปรนไป

ความรู้ใจนายตนได้ผลดี

ประเภทสองสามารถรับราชกิจ

โดยชะนิดวิชาสารถี

อาจขับรถชักม้าพาจรลี

ไปถึงที่ได้ผลเพราะตนเองฯ

ทีรฆะทรรศินเป็นข้าราชการชะนิดสารถี ทราบวิถีที่ตนจะต้องขับรถ คือ พระราชประสงค์แห่งพระราชาจะให้บ้านเมืองจำเริญสุข แลสามารถขับรถไปได้โดยวิถีนั้น พระราชาจึ่งพระราชทานอำนาจให้ดูแลราชการบ้านเมืองได้กว้างขวาง อยู่มาไม่ช้า พระราชาทรงสำราญในศฤงคารยิ่ง ๆ ขึ้น จึ่งทรงมอบการเมืองให้ทีรฆะทรรศินว่าราชการแทนพระองค์ทีเดียว พระองค์เองทรงรื่นรมย์อยู่ในหมู่นางสนม หาเวลาเสด็จออกว่าราชการมิได้ ฝ่ายทีรฆะทรรศิน ครั้นได้รับมอบให้ว่าราชการแทนพระองค์พระราชา ก็ปฏิบัติการโดยทางที่ชอบ ได้ความเหน็ดเหนื่อยทั้งกลางวันแลกลางคืน มิได้แสวงลาภยิ่งกว่าที่ได้รับพระราชทานอยู่แล้วโดยปกติ หรือแสวงอำนาจเกินที่จำเป็นจะต้องมีสำหรับว่าราชการในตำแหน่งสูง แต่ถึงกระนั้น ก็ไม่พ้นคำคนนินทา เพราะการนินทาเป็นของเหลือที่มนุษย์จะเว้นได้ คนบางคนเมื่ออยู่ข้างขวา ก็ชมมือขวา นินทามือซ้าย เมื่ออยู่ข้างซ้าย ก็ย้ายไปนินทามือขวา

มียุตติธรรมในข้อที่นินทาหมดไม่เลือกหน้า สุดแต่ว่าอยู่ลับหลังแล้วเป็นใช้ได้ พระองค์ผู้เป็นพระราชาได้ทรงฟังคนทั้งหลายยกยอพระองค์ คือ เจ้าบทเจ้ากลอนที่เรียกแก้วทั้งเก้าเป็นต้น แต่ในขณะที่ถูกยอมากนั้น ถ้าทรงคิดว่า ถูกนินทาน้อย พระองค์ก็คิดผิดไกลทีเดียว

ส่วนทีรฆะทรรศินผู้เป็นมุขมนตรีนั้น ครั้นได้ว่าราชการต่างพระองค์พระราชาไม่นาน ก็มีคำกล่าวเลื่องลือกันว่า ทีรฆะทรรศินแกล้งชักให้พระราชาหมกมุ่นในกามคุณจนทรงละเลยราชการบ้านเมือง พอพระหฤทัยเป็นพระราชาแต่ชื่อเพื่ออิ่มในศฤงคาร เป็นเหตุให้ทีรฆะทรรศินมีอำนาจเสมอพระเจ้าแผ่นดิน แลเหตุที่ทีรฆะทรรศินชักพระราชาให้เป็นไปดังนั้น ก็คือ ความประสงค์อำนาจนั้นเอง

ทีรฆะทรรศินได้ทราบคำลือดังนี้ ก็เกิดความน้อยใจ ครั้นกลับไปถึงบ้าน จึ่งกล่าวแก่นางเมธาวดีผู้ภริยาว่า "ดูกร นางผู้เป็นเมียรักของข้า พระราชาทรงเพลินในทางบำรุงกาม ละเว้นราชการบ้านเมือง ไม่ทรงหันหาเลย ข้าเป็นผู้รับมอบให้ดูแลราชการต่างพระองค์ ก็ปฏิบัติการโดยสุจริต มิได้คิดแก่เหน็ดเหนื่อย แต่บัดนี้ มีผู้เป็นอริของข้าจัดให้เกิดเลื่องลือทั่วไปว่า ข้าได้รวบเอาอำนาจพระราชาเข้าไว้เพื่อประโยชน์ของตนเสียแล้ว การลือว่าชั่วนั้น ถึงจะเป็นการใส่ไคล้ ก็ยังให้โทษแก่ผู้ลือได้ แม้คนมีเกียรติโด่งดัง ยังไม่พ้นโทษแห่งความลือเท็จ พระรามต้องสละนางสีดาเพราะความเลื่องลือว่าชั่วหรือมิใช่ เมื่อการเป็นเช่นนี้ ข้าจะควรทำประการใด"

นางเมธาวดีไม่ได้ชื่อว่าเมธาวดีเปล่า ๆ ฉลาดจริง ๆ ด้วย ครั้นได้ยินสามีกล่าวดังนั้น ก็ตอบว่า "ข้าแต่ท่านผู้มีใจสุจริต ท่านจงทูลลาพระราชาไปเสียจากพระนคร อ้างเหตุว่า จะไปยังท่าน้ำอันเป็นบุณยสถานต่าง ๆ เพื่ออาบน้ำล้างบาป เมื่อท่านท่องเที่ยวไปต่างประเทศเสียแล้ว คนทั้งหลายก็จะเห็นได้ว่า ท่านมิได้มุ่งหมายจะหาอำนาจ คำเล่าลือก็จะหมดไปเอง อนึ่ง เมื่อท่านไม่อยู่ พระราชาจำต้องทรงดูแลราชการบ้านเมืองเอง เพราะไม่มีใครอื่นจะเป็นผู้ต่างพระองค์ได้ เมื่อได้ทรงว่าราชการจนเต็มที่ ความหมกมุ่นในกายก็จำต้องสร่าง เพราะเวลาไม่มีพอเสียแล้ว เมื่อท่านกลับมา พระราชาอาจเปลี่ยนเป็นอย่างอื่น แลท่านจะคืนเข้ารับราชการตามตำแหน่งเดิมได้ปราศจากความนินทา"

ทีรฆะทรรศินได้ฟังนางเมธาวดีกล่าวดังนั้นก็เห็นชอบ จึ่งเข้าไปเฝ้าพระราชาทูลว่า "ข้าแต่พระมหากษัตริย์ ข้าพจ้าขอทูลลาไปต่างประเทศ เพื่ออาบน้ำตามท่าบุญต่าง ๆ น้ำใจข้าพเจ้าปลงในการอันนี้แล้ว"

พระยศเกตุตรัสว่า "ท่านอย่าต้องไปจากพระนครเลย การทำบุญ ท่านอาจทำได้ในเรือนของท่าน คือ การทำทาน เป็นต้น ซึ่งจะพาท่านไปสู่สวรรค์เมื่อพ้นโลกนี้"

ทีรฆะทรรศินทูลตอบว่า "ความบริสุทธ์อันเกิดได้ด้วยการจ่ายทรัพย์นั้น บุคคลพึงแสวงด้วยวิธีทำทาน เป็นต้น แต่การอาบน้ำที่ท่าบุญนั้น ให้ความบริสุทธิ์อันมิรู้เสื่อมคลาย ผู้มีปัญญาพึงไปสู่ท่าบุญก่อนความชรามาเบียดเบียนตน มิฉะนั้น ไม่รู้แน่ได้ว่าจะไปถึง เพราะจะไว้ใจร่างกายไม่ได้เสียแล้ว พระองค์จงโปรดประทานอนุญาตแก่ข้าพเจ้าในบัดนี้เถิด"

ทีรฆะทรรศินทูลดังนั้น พระราชายังมิได้รับสั่งตอบประการใดเด็ดขาด ปรากฏแต่ว่า ไม่เต็มพระหฤทัยให้ไป แลยังไม่ได้ประทานอนุญาต พอเจ้าพนักงานห้องสรงเข้ามาทูลว่า "ข้าแต่พระราชา พระอาทิตย์กำลังตกลงณะกลางทะเลสาบแห่งฟ้าอยู่แล้ว เวลานี้ เป็นโมงที่กำหนดเวลาสรง แลโมงก็จะล่วงไป เชิญเสด็จเข้าที่สรงเถิด"

เมื่อพระราชาได้ทรงฟังดังนั้น ก็ลุกขึ้นเสด็จสู่ที่สรง ทีรฆะทรรศินก็ถวายบังคมแล้วกลับบ้าน ครั้นถึงบ้าน ก็สั่งภริยาให้อยู่ดูการเย่า แล้วลอบเดินทางออกจากพระนครไป แม้แก่บ่าวในเรือนก็มิให้ทราบ ครั้นพ้นพระนครไปแล้ว ก็เที่ยวไปตามท่าน้ำต่าง ๆ จนแคว้นเปาณฑระ ถึงกรุง ๆ หนึ่งซึ่ออยู่ใกล้ฝั่งทะเล มีศาลพระศิวะเป็นที่คนไปบูชามาก ทีรฆะทรรศินไปถึงศาลนั้น ก็เข้าไปบูชาแลนั่งพักอยู่ เพอินพ่อค้าคนหนึ่งชื่อ นิธิทัตต์ ไปบูชาพระศิวะที่ศาลนั้น ครั้นเห็นทีรฆะทรรศินนั่งพักอยู่ เห็นได้ว่า อ่อนเพลียเพราะความร้อนด้วยแสงพระอาทิตย์ กายก็มัวด้วยฝุ่นที่เกาะตามทางเดิน นิธิทัตต์พ่อค้าเป็นคนใจอารี ครั้นเห็นคนเดิรทางมีอาการดังนั้น ทั้งเห็นสวมสังวาลพราหมณ์ แลเป็นผู้มีลักษณะดี เห็นได้ว่า เป็นพราหมณ์มีเกียรติ์ นิธิทัตต์จึ่งเชิญให้ไปบ้านของตน ทีรฆะทรรศินรับเชิญออกจากศาลตามไปยังบ้านนิธิทัตต์ ครั้นไปถึง เจ้าของบ้านก็ต้อนรับเป็นอันดี เชิญให้อาบน้ำ แลเลี้ยงอาหารอย่างดี เสร็จแล้วนิธิทัตต์ก็ถามว่า "ท่านชื่อไร มาแต่ไหน แลจะไปไหนต่อไป"

ทีรฆะทรรศินตอบความว่า "ข้าพเจ้าเป็นพราหมณ์ชื่อ ทีรฆะทรรศิน มาจากองคราษฎร์ เที่ยวอาบน้ำตามท่าบุญ"

นิธิทัตต์พ่อค้าเป็นคนยินดีในการรับแขก แลเมื่อเห็นแขกมีลักษณะดี ก็ยิ่งชอบใจ จึ่งกล่าวว่า "ข้าพเจ้ากำลังจะไปค้าขายที่เกาะชื่อ สุวรรณทวีป ท่านจงพักอยู่ที่บ้านข้าพเจ้านี้จนข้าพเจ้ากลับ มีเวลาพอที่ท่านจะผ่อนกายให้สิ้นความเหน็ดเหนื่อย แล้วท่านจึ่งเดินทางต่อไป"

ทีรฆะทรรศินตอบว่า "ถ้าท่านเต็มใจให้ข้าพเจ้าไปด้วย ข้าพเจ้าอยากจะไปสุวรรณทวีปกับท่านยิ่งกว่าที่จะคอยท่านอยู่ในเรือนนี้ แม้เรือนของท่านเป็นที่อยู่สบาย ข้าพเจ้าก็ใคร่จะเที่ยวดูที่ต่าง ๆ มากกว่าพักอยู่กับที่"


นิธิทัตต์พ่อค้าได้ยินดังนั้น ก็ยอมตามประสงค์ ทีรฆะทรรศินก็พักอยู่ในเรือนนั้นคืนหนึ่ง รุ่งขึ้น นิธิทัตต์ก็พาแขกไปลงเรือซึ่งบรรทุกด้วยสินค้าอันมีค่า แล้วออกแล่นใบไปในทะเล ทีรฆะทรรศินได้เห็นสมุทซึ่งเป็นที่น่ากลัวแลน่าพิศวง

มีคำถามว่า มุขมนตรีของพระราชาครองกรุงใหญ่ มีกิจอะไรเกี่ยวข้องกับการเดิรเรือค้าขายทางทเล ถ้าไม่มีไซร้ การเดินทางครั้งนั้นก็ไม่ใช่การที่ทีรฆะทรรศินพึงทำ แต่มีคำตอบว่า แม้ผู้เป็นใหญ่ ถ้าถูกเอาความร้ายบ้ายชื่อ ก็อาจทำนอกทางถึงเช่นที่ทีรฆะทรรศินทำครั้งนั้นได้

ครั้นไปถึงสุวรรณทวีป นิธิทัตต์ก็ทำการค้าขายตามธรรมเนียม พักอยู่ที่เกาะนั้นจนเสร็จการจำหน่ายสินค้า แลซื้อสินค้าบรรทุกเรือขากลับ ครั้นเสร็จกิจแล้ว ก็ออกจากเกาะแล่นเรือกลับมาตามทาง วันหนึ่ง ทีรฆะทรรศินเห็นคลื่นลูกหนึ่งเกิดขึ้นในทะเล แล้วมีต้นกัลปพฤกษ์ผุดขึ้นมาจากน้ำ กิ่งก้านเป็นทองทั้งต้น มีแก้วประพาลประดับเป็นช่อ ๆ ลูกแลดอกล้วนแล้วด้วยมณีมีค่า ความงามที่เหลือจะพรรณนาได้ บนกิ่ง ๆ หนึ่งมีอาสนะประดับด้วยแก้ว บนอาสนะมีนางนั่งเอนพิงอยู่ นางนั้นงามเป็นที่พิศวง ทีรฆะทรรศินตกตลึงอยู่ครู่หนึ่ง นางก็หยิบพิณขึ้นดีดแลขับด้วยสำเนียงไพเราะจับใจ

อันปวงกรรมทำไว้แต่ปางหลัง

เป็นพืชยังปางนี้ให้มีผล

หว่านพืชดีผลดีมีแก่ตน

หว่านพืชชั่วกลั้วผลที่ข่นแค้น

อันความจริงข้อนี้มีมาแล้ว

ไม่คลาดแคล้วเป็นอนทุกหมื่นแสน

จะเปลี่ยนชั่วให้ดีมีมาแทน

ถึงแม้นแมนแม่นไม่เปลี่ยนได้เอย ฯ

เมื่อนางทิพย์ขับกลอนดังนั้นแล้ว ก็กลับจมลงในทเลทั้งต้นไม้แลอาสนะอันงาม ทีรฆะทรรศินยืนตะลึงดูน้ำในทเลเหมือนหนึ่งว่า มีอะไรที่พึงดูยังผุดขึ้นมาเด่นอยู่ พลางรำพึงว่า "วันนี้ เราได้เห็นสิ่งน่าพิศวงนัก ใครบ้างคิดว่า จะได้เห็นต้นไม้ขึ้นจากทเล มีนางทิพย์นั่งขับกลอนอยู่บนต้นไม้นั้น แล้วจมหายไปทันที ไม่มีอะไรเหลืออยู่เป็นที่หมาย ทเลนี้เป็นคลังใหญ่อยู่ตามเคย เป็นที่อยู่แห่งสิ่งประเสริฐทั้งหลาย พระลักษมี พระจันทร์ ต้นปาริชาต และของเลิศหลายอย่างได้ขึ้นมาจากทเลนี้"

ทีรฆะทรรศินยืนตรึกตรองอยู่เช่นนี้ด้วยได้เห็นของประหลาด แต่นายท้ายแลลูกเรือทั้งหลายที่ได้เคยเดินทเลทางนั้นไม่เห็นประหลาดเลย จึ่งกล่าวแก่ทีรฆะทรรศินว่า "นางงามผุดขึ้นจากทเลบนต้นไม้นั้นเสมอ แลกลับจมลงไปเช่นเดียวกันทุกครั้ง ท่านพึ่งเคยเห็นจึ่งพิศวง พวกเราเคยเห็นบ่อย ๆ"

ทีรฆะทรรศินได้ฟังคนประจำเรือบอกดังนั้น ก็ไม่หายพิศวง นิ่งตรึกตรองอยู่ตลอดเวลาที่เรือเดินทาง ครั้นถึงฝั่งซึ่งเป็นท่าเรือของนิธิทัตต์พ่อค้า นิธิทัตต์ก็ขนสินค้าขึ้นบก พาทีรฆะทรรศินกลับบ้าน แลมีการเลี้ยงดูกันตามเคย อยู่มาไม่ช้า ทีรฆะทรรศินก็ลานิธิทัตต์จะกลับเมืองแห่งตน ต่างคนอวยพรแลแสดงความอาลัยแก่กันแล้ว ทีรฆะทรรศินก็ออกเดินทางบ่ายหน้าสู่แคว้นองคะ ครั้นเข้าไปใกล้กรุง กองคอยเหตุของพระราชาเห็นทีรฆะทรรศินมาแต่ไกล ก็รีบเข้าไปเฝ้าทูลให้พระมหากษัตริย์ทรงทราบ พระยศเกตุได้รับความลำบากในราชการเป็นอันมากในเวลาที่มุขมนตรีไม่อยู่ ครั้นได้ทราบว่า ทีรฆะทรรศินกลับมาใกล้จะถึง ก็เสด็จออกไปรับถึงนอกพระนคร ทรงแสดงพระหฤทัยยินดีที่มุขมนตรีกลับมาถึง แล้วเสด็จคืนเข้ากรุง ตรัสให้ทีรฆะทรรศินซึ่งมีร่างกายซูบผอมแลเปื้อนด้วยฝุ่นแลเปือกตมตามเสด็จเข้าไปถึงพระราชวัง แล้วตรัสว่า "เหตุไรท่านจึ่งกระทำการปราศจากกรุณาแก่เราถึงเช่นนี้ ท่านทิ้งเราไป เราก็ได้ความลำบากต่าง ๆ แลตัวท่านเองก็ได้ความเดือดร้อนเพราะทรมานร่างกายจนเห็นได้ถึงปานฉนี้ แต่การที่ท่านออกเที่ยวเดินทางเตร็ดเตร่ไปเช่นนี้ ก็เป็นด้วยเทพดาบัญญัติไว้ มนุษย์จะแก้ไขให้เป็นไปอย่างอื่นนั้นไม่ได้ ท่านจงเล่าให้เราฟังว่า ท่านได้ไปถึงเมืองไหนบ้าง แลได้เห็นอะไรแปลกประหลาดในเมืองต่าง ๆ แลระหว่างเดินทาง"

ทีรฆะทรรศินได้ฟังรับสั่งถามดังนั้น ก็ทูลเล่าตลอดตั้งแต่ออกจากพระนครไปจนถึงแลกลับจากสุวรรณทวีป แลเล่าถึงนางทิพย์อันเป็นมณีของโลกทั้งสามซึ่งนั่งบนต้นกัลปพฤกษ์ผุดขึ้นมาจากทเลนั้นด้วย

ฝ่ายพระราชา ครั้นได้ทรงยินทีรฆะทรรศินมุขมนตรีเล่าถึงนางทิพย์ ก็มีพระหฤทัยใคร่ทราบยิ่งขึ้น จึ่งตรัสไล่เลียงลักษณะความงามแห่งนาง แล้วเกิดความรักรุมรึงในพระหฤทัย ทรงพระดำริห์ว่า ชีวิตแลราชัยปราศจากนางเป็นสิ่งไม่มีค่าเสียแล้ว ความสุขประการต่าง ๆ จะมีไม่ได้ เว้นแต่นางจะเป็นผู้ยังให้เกิด

เวตาลกล่าวต่อไปว่า ความรักเป็นของมีอำนาจยิ่งยวด แม้บุรุษผู้ทรงไว้ซึ่งอำนาจ ก็ไม่พ้นความข่มขี่แห่งความรักไปได้ ชายบางคนมียศ มีเกียรติ์ มีทรัพย์ แลมีคุณความดีทุกประการ เป็นผู้ทรงไว้ซึ่งความเป็นไทยแก่ตน จะประพฤติอย่างไร ประพฤติได้ที่ไม่ผิดคลองธรรม จะทำอะไร ทำได้ที่ไม่ผิดกฎหมาย ชายเช่นนี้จะเลือกมิตรเลือกสหาย ก็เลือกได้ตามใจชอบ หรือเมื่อเลือกไม่ได้ดังนึก ก็คงจะเป็นด้วยฝ่ายโน้นปราศจากลักษณะที่จะเป็นเพื่อนสนิทกันได้ ไม่มีอันใดเป็นเครื่องเสื่อมเสียความเป็นไทยแก่ตน ชายที่มีอิศระเช่นนี้ เมื่อความรักเข้ามาครอบงำ ก็กลับกลายไปหมด ความเป็นไทยแก่ตนก็เสื่อมถอย เพราะหัวใจไปถูกมัดตรึงตราเสียแล้ว แม้คนที่ไม่กลัวเทวดา แลไม่เกรงเดชพระอินทร์ เพราะไม่ได้ทำอะไรที่พระสวรรค์บดีจะตำหนิโทษได้ ก็กลับมากลัวสัตรีตัวนิดเดียวซึ่งเป็นที่รักของตน ไม่ใช่เพราะหญิงมีอำนาจวาศนายิ่งกว่าเทวดาแลพระอินทร์ เป็นเพราะตกเป็นทาสแห่งความรัก หัวใจถูกล่ามโซ่ไว้แน่นหนา ตัวเป็นไทย ใจเป็นทาสเสียแล้ว

คติแห่งความรักมีเช่นนี้ แม้พระยศเกตุเป็นพระราชาทรงศักดิ์ใหญ่ เป็นที่นิยมของนางทั้งหลาย เพราะชาติ เพราะทรัพย์ แลเพราะอำนาจ ก็ยังตกเป็นทาสแห่งความรัก ไม่อาจหักห้ามความรุมรึงในพระหฤทัยได้ จึ่งรับสั่งให้ทีรฆะทรรศินเลื่อนเข้าไปใกล้พระองค์ แล้วตรัสว่า "ข้าจำเป็นจะต้องไปให้เห็นนางองค์นั้น เพราะถ้าจะอยู่เช่นนี้ต่อไป ก็จะทรงชีวิตไว้ไม่ได้ ข้าจะไปตามทางที่ท่านไป แลท่านอย่าคิดเลยที่จะห้ามข้าหรือคิดที่จะตามข้าไปด้วย ข้าจะปลอมตัวไปโดยลำพัง แลท่านต้องอยู่รักษาราชการบ้านเมืองไว้ ความประสงค์ของข้าดังกล่าวนี้ ท่านจะขัดขืนทัดทานนั้นไม่ได้เป็นอันขาด"

เมื่อพระราชารับสั่งแก่มุขมนตรีเด็ดขาดดังนี้แล้ว ก็ตรัสให้ออกจากที่เฝ้า ทีรฆะทรรศินถวายบังคมลาไปบ้าน นำความยินดีมาสู่บุตร ภริยา แลญาติพี่น้อง ซึ่งตั้งใจคอยท่ามาช้านาน แต่ทีรฆะทรรศินก็มิได้แสดงอาการรื่นเริงในเวลามีการรื่นเริงในบ้าน เพราะอำมาตย์ที่ดีไม่อาจเพลิดเพลินใจได้ในเวลาที่จรรยาแห่งพระราชาของตนไม่เป็นไปในทางที่ควร

เวตาลกล่าวต่อไปว่า ข้อที่กล่าวว่า พระราชจรรยาไม่เป็นไปในทางที่ควรนั้น ไม่ใช่ติเตียนความรักหญิง ความรักหญิงเป็นสิ่งที่บุคคลผู้ไม่ได้ถือพรตพรหมจรรย์พึงแสวงแลพึงสงวนไว้มิให้เสื่อมคลายไปได้ บุรุษควรมีความรักเป็นเครื่องนำความมีภริยา ไม่ใช่มีภริยาเป็นเครื่องนำความรัก เพราะวิธีที่สองนี้มีทางแคล้วคลาดมาก แลชายผู้มีใจสอาดย่อมจะอยากมอบหัวใจให้แก่ภริยาตน เหตุฉะนั้น ที่กล่าวว่า พระราชจรรยาของพระยศเกตุเป็นไปในทางที่ไม่ควรนั้น ก็เล็งความเพียงว่า ทรงลุ่มหลงนางมีจำนวนมากอยู่แล้ว ยังจะแสวงต่อไปอีกเล่า

ครั้นกลางคืนวันรุ่งขึ้น พระยศเกตุแต่งพระองค์เป็นดาบส เสด็จออกเดินทางไปพระองค์เดียวตามทางที่ทีรฆะทรรศินได้ทูลไว้ ได้พบฤษีองค์หนึ่งชื่อ กุศนาภะ พระยศเกตุก็เข้าไปกระทำการเคารพ เล่าความประสงค์ที่เดินทางให้ฤษีทราบ แลขอความรู้เพื่อสำเร็จหมาย ฤษีกุศนาภะตอบว่า "ท่านจงตั้งหน้าเดินทางไปด้วยความกล้า แลเมื่อท่านลงเรือเดินทเลไปกับพ่อค้าชื่อ ลักษมีทัตต์ ท่านจะได้เห็นนาง แลได้นางสำเร็จประสงค์"

คำที่ฤษีกล่าวนี้นำความเบิกบานมาสู่หฤทัยพระราชาเป็นอันมาก จึ่งทรงนอบน้อมลาฤษี ออกเดินทางผ่านแคว้นต่าง ๆ หลายแคว้น แลทั้งได้ข้ามแม่น้ำแลเขาเป็นอันมากจนถึงฝั่งทเล ได้พบลักษมีทัตต์พ่อค้ากำลังเตรียมการจะเดินทางไปค้าขายที่เกาะสุวรรณทวีป พระยศเกตุซึ่งปลอมเป็นดาบสก็เสด็จเข้าไปหาลักษมีทัตต์พ่อค้า ลักษมีทัตต์ได้เห็นดาบสมีพระลักษณะเป็นพระราชา คือ รอยบาทมีกงจักร์ เป็นต้น ก็กระทำการเคารพรับรองเป็นอันดี แล้วเชิญให้พระยศเกตุเสด็จลงเรือไปด้วย ครั้นไปถึงกลางทเล พระยศเกตุได้ทอดพระเนตรเห็นต้นกัลปพฤกษ์ผุดขึ้นมา มีนางนั่งอยู่บนกิ่ง เธอทอดพระเนตรดูนางเหมือนนกจะโกระเพ่งแสงเดือน นางถือพิณดีดและขับเพลง

อันปวงกรรมทำไว้แต่ปางหลัง

เป็นพืชยังปางนี้ให้มีผล

หว่านพืชดีผลดีมีแก่ตน

หว่านพืชชั่วกลั้วผลที่ข่นแค้น

อันความจริงข้อนี้มีมาแล้ว

ไม่คลาดแคล้วเป็นอื่นทุกหมื่นแสน

จะเปลี่ยนชั่วให้ดีมีมาแทน

ถึงแม้นแมนแม่นไม่เปลี่ยนได้เอย

พระราชาได้ฟังนางขับกล่าวคติแห่งกรรมดังนี้ ก็เกิดความรักกลัดกลุ้มในพระหฤทัยยิ่งขึ้น ทรงยืนตลึงพิศดูนางอยู่ครู่หนึ่ง จึ่งตรัสบูชาทเลว่า "ข้าแต่พระสมุทผู้เป็นคลังแห่งมณีทั้งหลาย ผู้มีน้ำใจอันลึก บุคคลไม่อาจหยั่งได้ เพราะเมื่อพระองค์ซ่อนนางนี้ไว้ในทเล ก็คือ อนนางลักษมีไว้มิให้พระวิษณุเห็น ข้าพเจ้าขอเอาพระองค์เป็นที่พึ่งเพื่อสำเร็จประสงค์ของข้าพเจ้า" พระราชาตรัสยังไม่ทันขาดคำ ต้นกัลปพฤกษ์แลนางทิพย์ก็จมลงไปในทเล พระราชาก็ทรงโจนตามลงไป ประหนึ่งจะดับไฟราคด้วยน้ำในมหาสมุท ในทันใดนั้น ได้ทอดพระเนตรเห็นแลเสด็จไปถึงเมือง ๆ หนึ่งงามนัก มีแสงระยับจากเรือนซึ่งมีมณีเป็นเสา ทองเป็นผนัง หน้าต่างแลม่านล้วนแต่มุกดา มีสวนซึ่งมีสระอันงาม มีคั่นบันไดทำด้วยมณีสีต่าง ๆ สำหรับเดิรลงสระ แลมีต้นกัลปพฤกษ์หลายต้น พระราชาทรงเดิรจากเรือนนี้สู่เรือนโน้นในเมืองนั้นจนได้เที่ยวเกือบจะทั่วทุกเรือน แต่เรือนเหล่านั้ นแม้จะงดงามประกอบด้วยความมั่งคั่งทุกประการ ก็ปราศจากคนอยู่ แลพระราชาจะหานางซึ่งเป็นที่รักแห่งพระองค์ก็หาไม่พบ ครั้นทรงเดิรเที่ยวค้นต่อไปอีกครู่หนึ่ง พบวังสูงใหญ่ประดับด้วยมณีอันงาม พระยศเกตุจึ่งเสด็จเปิดประตูเข้าไปเที่ยวทอดพระเนตรข้างใน พบคน ๆ หนึ่งนอนอยู่บนเตียง มีผ้าคลุมอยู่ตลอดตัว พระองค์ทรงเปิดผ้าขึ้นดู ก็เห็นนางผู้เป็นที่รัก พักตร์แห่งนางซึ่งเหมือนเพ็ญจันทร์นั้นมีเค้าเหมือนยิ้ม ในขณะที่ผ้าคลุมหลุดพ้นไป เหมือนความมืดหลบแสงพระจันทร์ พระราชาได้ทอดพระเนตรดังนั้น ก็มีพระหฤทัยเหมือนหนึ่งคนที่ได้เดิรผ่านทเลทรายในฤดูร้อนไปพบแม่น้ำซึ่งเป็นที่ชุ่มชื่น ฝ่ายนางนั้น เมื่อลืมเนตรขึ้นเห็นบุรุษงามประกอบด้วยลักษณะดีเข้าไปยืนอยู่ข้างที่บรรธมดังนั้น ก็ลุกขึ้นด้วยอาการฉับไว แลแสดงเคารพเชื้อเชิญเป็นอันดี พระพักตร์นางก้มดูพื้น เหมือนหนึ่งให้เกียรติแก่พระบาทพระราชา ด้วยเอาบัว คือ พระเนตร ลงปกคลุม แล้วนางตรัสถามว่า "ท่านนามอะไร เป็นอะไร แลมาในที่อันมาถึงได้ด้วยยากนี้โดยประสงค์อะไร อนึ่ง กายท่านมีลักษณะเครื่องหมายอย่างกษัตริย์ เหตุใดจึ่งแต่งเป็นดาบส ขอท่านจงชี้แจงให้ข้าพเจ้าทราบ"

พระราชาตรัสตอบว่า "ข้าเป็นพระราชาครององคราษฎร์ ทรงนาม ยศเกตุ ข้าได้ยินจากเพื่อนผู้เป็นเชื่อถือว่า ถ้าใครเดิรทางไปมาในทเลนี้ ก็อาจได้เห็นนางผุดขึ้นจากทเลบนต้นกัลปพฤกษ์ ข้าจึ่งแต่งปลอมกายเช่นนี้ สละราชสมบัติ เพื่อจะได้เห็นนาง แลได้ตามนางลงมาในทเล ขอนางจงบอกข้าว่า นางเป็นอะไร"

นางทูลตอบด้วยความรู้สึกอาย รู้สึกรัก แลรู้สึกยินดีว่า "มีพระราชามีวาศนาองค์หนึ่งเป็นใหญ่ในหมู่วิทยาธร ข้าพเจ้าเป็นธิดาของพระราชาองค์นั้น พระบิดาของข้าพเจ้าเสด็จไปจากกรุงนี้พร้อมด้วยวิทยาธรทั้งหลาย ทิ้งข้าพเจ้าไว้ผู้เดียว ด้วยเหตุไรข้าพเจ้าหาทราบไม่ ข้าพเจ้าอยู่ผู้เดียว ก็มีความง่วงเหงา จึ่งผุดขึ้นในทเลแลนั่งร้องเพลงเล่นบนต้นกัลปพฤกษ์" พระราชาได้ทรงฟัง เพลิดเพลินสำเนียงนาง ทั้งรุมรึงรักรูปแลกิริยาทุกประการ จึ่งตรัสเชิญนางให้ยินยอมวิวาหะกับพระองค์ นางก็ตกลงตามพระประสงค์ แต่ขอให้พระราชาประทานคำมั่นข้อหนึ่งว่า เดือนละ ๔ วัน คือ วัน ๘ ค่ำแล ๑๔ ค่ำ นางจะไปไหนหรือทำอะไร พระราชาจะห้ามปรามหรือแม้แต่ทัดทานก็ไม่ได้ ถ้าพระราชาประทานคำมั่นดังนี้ นางจึ่งจะยอมวิวาหะด้วย เราท่านทั้งหลายเมื่อได้ทราบว่า การเป็นเช่นนี้ ก็ไม่ต้องสงสัยว่า พระราชาจะประทานคำสัญญาหรือไม่

พระยศเกตุได้อยู่กินกับนางวิทยาธรเป็นสุขเหลือที่จะพรรณนา จนวันหนึ่ง นางทูลพระราชาว่า "ข้าพเจ้ามีกิจจะต้องไปที่อื่น พระองค์จะต้องคอยอยู่ที่นี่ เพราะวันนี้เป็นวัน ๑๔ ค่ำ อนึ่ง ในเวลาที่ทรงคอยอยู่พระองค์เดียวนั้น อย่าเสด็จเข้าไปในห้องนี้เป็นอันขาด เพราะในห้องนี้มีอ่างแก้ว ซึ่งถ้าใครตกลงไป จะไปผุดขึ้นในโลกมนุษย์"

นางทูลพระราชาเช่นนี้แล้ว ก็ทูลลาออกไปนอกกรุง พระราชาทรงพระแสงดาบด้อมตามนางไปมิให้ทันรู้ ครั้นออกนอกนครไปหน่อยหนึ่ง พระราชาทอดพระเนตรเห็นรากษสตัวหนึ่ง กายใหญ่ รูปร่างน่ากลัว เหมือนนรกซึ่งสำแดงรูปเป็นสัตว์มีชีวิต อ้าปากใหญ่ดำเหมือนกลางคืน ครั้นเห็นนาง ก็ร้องด้วยเสียงอันดัง แล้วตรงเข้าจับนางใส่ปากกลืนเข้าไป พระราชาเห็นดังนั้น ก็พระองค์สั่นด้วยเพลิงแห่งความโกรธ ชักพระแสงดาบตรงเข้าฟันรากษสคอขาด ศีร์ษะตกจากตัว เลือดไหลนองไป เพลิงแห่งความโกรธของพระราชานั้นก็ดับด้วยเลือดแห่งอสูร แต่เพลิงแห่งความทุกข์ที่ไม่ได้นางคืนนั้นหาดับไม่ พระราชาเสียพระหฤทัยสิ้นสติ มิรู้จะทำประการใด พอนางออกมาจากกายรากษส ไม่มีอันตรายประการใด ปรากฏความงามตามเคยเหมือนหนึ่งแสงพระจันทร์ซึ่งส่องสว่างไปทั่ว พระราชาทอดพระเนตรเห็นนางคืนมาดังนั้น ก็ทรงยินดี วิ่งเข้าสวมกอดนาง พลางตรัสถามว่า การเป็นเช่นนี้เพราะเหตุไร เป็นความฝันหรือความเป็นจริง

นางวิทยาธรได้ฟังรับสั่งถามดังนั้น ก็กลับรลึกความเดิมขึ้นมาได้ จึ่งเล่าถวายพระราชาว่า "ข้าแต่พระสามี การที่เกิดนี้มิใช่มายาแลมิใช่ความฝัน เป็นเพราะคำสาปของพระราชาผู้เป็นชนกแห่งข้าพเจ้า พระราชานั้น แต่ก่อนก็ทรงครองสมบัติอยู่ในกรุงนี้ พระองค์มีบุตรหลายองค์ แต่ไม่ทรงรักใครเท่าข้าพเจ้า แลในเวลาเสวย ถ้าข้าพเจ้าไม่ได้อยู่เสวยด้วย ก็ไม่เสวยเป็นอันขาด ส่วนข้าพเจ้านั้นนับถือพระศิวะด้วยความเลื่อมใสจริง ๆ เคยมาณที่นี้ทุกวัน ๘ ค่ำแล ๑๔ ค่ำ วันหนึ่ง ข้าพเจ้ามาบูชาพระเคารีเพลินไปตลอดวัน พระบิดาของข้าพเจ้าไม่ได้เสวยอาหาร ตั้งพระหฤทัยคอยข้าพเจ้าจนหิวโหย เกิดพิโรธเป็นกำลัง แม้ความรักข้าพเจ้า ก็ไม่อาจป้องกันไม่ให้การเป็นไปตามคติแห่งกรรมในปางก่อน ครั้นข้าพเจ้ากลับมาเฝ้าในเวลาค่ำ ก็ทรงสาปว่า เพราะเจ้าทำให้ข้าอดอาหารตลอดวัน ต่อไปข้างน่า เมื่อเจ้าออกไปนอกกรุงเพื่อจะบูชาพระศิวะในวัน ๘ ค่ำแล ๑๔ ค่ำ จงมีรากษสมาจับตัวเจ้ากลืนเข้าไปในท้อง แต่ให้เจ้ากลับออกมาได้ทางหัวใจรากษส อนึ่ง ไม่ให้เจ้าจำเรื่องแลคำสาปนี้ได้ ไม่ให้ความจำเจ็บปวดที่ได้ถูกกลืนเข้าไปในท้องรากษสนั้นได้ แลให้เจ้าอยู่ในกรุงนี้ต่อไปคนเดียว"

"เมื่อพระบิดาข้าพเจ้าสาปดังนี้แล้ว ข้าพเจ้าก็ค่อยอ้อนวอนจนเธอสงสารแลสาปเพิ่มเติมว่า 'เมื่อใดพระราชาครององคราษฎร์ ทรงนาม พระยศเกตุ ได้มาเป็นสามีของเจ้า เธอได้ทอดพระเนตรเห็นรากษสกลืนเจ้า แลเธอฆ่ารากษสตาย จนเจ้ากลับคืนออกมาจากหัวใจรากษสแล้ว เมื่อนั้น ให้สิ้นคำสาปนี้ ให้เจ้าระลึกเรื่องแลคำสาปของข้าได้ แลให้คืนความรู้วิทยาธรได้อย่างเก่า'

"เมื่อพระบิดาข้าพเจ้าได้สาปข้าพเจ้าเช่นนี้แล้ว ก็พาบริวารไปอยู่เขานิษธในโลกมนุษย์ ทิ้งข้าพเจ้าไว้ในเมืองนี้ แลการก็เป็นไปตามคำสาป แต่บัดนี้ คำสาปนั้นสิ้นแล้ว แลข้าพเจ้าก็กลับรำลึกเหตุการทั้งปวงได้ เพราะฉนั้น ข้าพเจ้าจะไปเฝ้าพระบิดาที่เขานิษธในทันที เพราะกฎของพวกวิทยาธรมีอยู่ว่า ผู้ใดถูกสาป เมื่อสิ้นสาปแล้ว ต้องกลับคืนไปเข้าพวกโดยเร็ว ส่วนพระองค์นั้นจะเสด็จอยู่ที่นี่ต่อไป หรือจะเสด็จคืนครองนครของพระองค์ก็แล้วแต่พระประสงค์"

เมื่อพระราชาทรงฟังดังนี้ ก็เดือดร้อนในพระหฤทัยเป็นกำลัง เพราะทุกข์วิโยคหญิงที่รักนั้นเป็นทุกข์หนักเหลือหนัก นับประสาแต่ใคร แม้พระมเหศวรเมื่อพรากจากพระอุมายังทรงกระวนกระวายยวดยิ่ง ไหนเลยมนุษย์เดินดินจะหักห้ามความโศกเสียได้ พระยศเกตุทรงรับทุกข์ใหญ่หลวงเพราะนางจะต้องพรากไป แต่ทรงเห็นอุบายจะยืดความสุขออกไปได้ จึ่งตรัสแก่นางว่า "ถ้าจำเป็นจะต้องพรากจากนางเพราะกรรมทำไว้ ก็เหลือที่จะแก้ไขได้ แต่ขอนางจงกรุณาแก่ข้าผู้สามี อย่าเพ่อไปในทันที อยุดอยู่ที่นี่อีก ๗ วัน ใช้เวลานั้นทำให้ความสุขยืดยาวออกไปบ้าง เมื่อครบ ๗ วันแล้ว นางจะไปเฝ้าพระบิดา ก็ตามแต่ปรารถนา ข้าก็จะคืนสู่นครของข้า"

พระราชาวิงวอนเช่นนี้จนนางสงสารยอมให้ยืดความสุขออกไปดังพระประสงค์ พระราชาก็ทรงสำราญอยู่กับนางตลอด ๖ วัน ครั้นวันที่ ๗ เธอทรงชวนนางเข้าไปในห้องซึ่งมีอ่างแก้วอันเป็นประตูคืนสู่โลกมนุษย์ เพื่อให้นางชี้ให้ทรงเห็น แลอธิบายให้ทรงทราบวิธีที่จะเสด็จกลับคืนพระนคร ครั้นพระองค์แลนางยืนโชงกดูอยู่ด้วยกันที่ปากอ่างแล้ว พระราชาก็กอดพระศอนางพาโจนลงในอ่าง ในทันใดนั้น สององค์ก็เสด็จผุดขึ้นในสระแห่งพระราชอุทยานในนครของพระยศเกตุ คนเฝ้าสวนเห็นพระราชาเสด็จกลับมา ก็มีความยินดี รีบส่งข่าวไปให้ทีรฆะทรรศินผู้รักษาพระนครทราบ ทีรฆะทรรศินกับหมู่เสนาอำมาตย์ก็พากันรีบไปรับเสด็จณะพระราชอุทยาน แล้วพากันแวดล้อมตามเสด็จเข้าพระราชวัง

ส่วนทีรฆะทรรศิน เมื่อได้เห็นพระราชาพานางทิพย์กลับมาด้วย ก็คิดประหลาด แลกล่าวแก่ตนเองว่า "พระราชาทำอย่างไรหนอ จึ่งพานางวิทยาธรมาได้ นางองค์นี้เจียวที่เราได้เห็นนั่งดีดพิณแลขับกลอนอยู่บนต้นกัลปพฤกษ์ซึ่งผุดขึ้นจากทเลแล้วกลับจมลงไปเร็วราวกับสายฟ้า การทั้งหลายแม้จะแปลกเกินที่ปัญญามนุษย์จะเข้าใจได้ ก็อาจเกิดแลอาจเป็นไปตามที่เทพยดาบัญญัติไว้ เหตุฉนั้น แม้มนุษย์จะได้นางวิทยาธรมาเป็นภริยา ก็ไม่ควรผู้อื่นจะกระวนกระวายใจ แต่ความกระวนกระวายใจนั้นเล่า ก็เกิดตามบัญญัติแห่งเทพยดาฉันเดียวกัน จะแก้ไขด้วยอุบายประการใด เราก็สิ้นปัญญาที่จะทราบได้เสียแล้ว ความอัดอั้นตันปัญญานี้เล่า ก็เป็นเพราะเทพยดาบัญญัติเหมือนกัน เพราะฉนั้น ฯลฯ ฯลฯ"

การที่ทีรฆะทรรศินซัดเทพยดาไปทุกอย่าง ไม่เห็นท่าทางว่า จะหยุดเพียงไหน จนต้องกล่าว ฯลฯ ฯลฯ เช่นนี้ ก็อาจจูงเราท่านทั้งหลายไปในทางที่เห็นได้ว่า ทีรฆะทรรศินใกล้จะถึงอะไร ส่วนข้าราชการอื่น ๆ ตลอดถึงราษฎรพลเมืองนั้น ต่างก็รื่นเริงเอิกเกริกแสดงความสบายใจที่พระราชาเสด็จกลับสู่กรุง แลทั้งได้พานางวิทยาธรมาด้วย

ฝ่ายนางวิทยาธร ครั้นมาถึงนครของพระราชาผู้สามี แลพ้นกำหนด ๗ วันแล้ว ก็คำนึงจะกลับคืนไปสู่พวก แต่ครั้นจะเหาะ ก็เหาะไม่ขึ้น เพราะลืมวิชานั้นเสียแล้ว เมื่อนางรู้สึกว่า นางเสื่อมความรู้ ก็เดือดร้อนหฤทัย แสดงอาการเศร้าโศก พระสามีสังเกตเห็นก็ตรัสถามว่า เหตุไรจึ่งเป็นเช่นนั้น

นางทูลตอบว่า "เพราะข้าพเจ้ารักพระองค์ ยอมอยู่กับพระองค์นานเกินควร ไม่รีบกลับไปเข้าหมู่วิทยาธรในทันทีที่สิ้นสาป จึ่งถูกลงโทษ คือ ลืมวิชาเหาะเสียแล้ว ข้าพเจ้าจะกลับไปยังถิ่นทิพย์ก็กลับไม่ได้"

พระราชาได้ทรงฟังดังนั้น ก็ทรงยินดีนัก ตรัสว่า "ครั้งนี้ ข้าได้นางวิทยาธรไว้แน่แล้ว"

ฝ่ายทีรฆะทรรศิน เมื่อได้ทราบดังนั้น ก็ตรึกตรองต่อไปตามแนวความคิดที่เริ่มแต่วันที่ไปรับเสด็จพระราชาที่พระราชอุทยาน ครั้นกลับไปบ้าน ก็นอนคำนึงต่อไปอีกจนดับชีวิตไปด้วยความเสียใจ รุ่งเช้า มีผู้นำความเข้าไปทูล พระราชาก็ทรงเศร้าโศก แต่เมื่อไม่มีใครช่วยแบ่งเบาภาระปกครองราชการบ้านเมือง พระราชาก็ต้องทรงทำเอง ทรงพระชนม์ยืนยาว มีนางวิทยาธรเป็นที่รักร่วมพระหฤทัย

เวตาลเล่ามาดังนี้แล้ว ก็หยุดอยู่ครู่หนึ่ง แล้วทูลถามพระวิกรมาทิตย์ว่า "พระองค์ทรงทราบหรือไม่ว่า ทีรฆะทรรศินเสียใจตาย เพราะเหตุใด"

พระวิกรมาทิตย์ทรงนิ่งตรึกตรอง ยังมิได้ตรัสประการใด เวตาลจึ่งทูลซ้ำว่า "พระองค์จะทรงคิดว่า ทีรฆะทรรศินเสียใจตาย เพราะไม่ได้นางมาเป็นเมียตัวเองดอกกระมัง ถ้าทรงคิดดังนั้น ก็คงจะเป็นด้วยทรงเห็นว่า ทีรฆะทรรศินเสียใจเพราะตัวเองเห็นนางก่อน ถ้าไม่นำความมาเล่าถวายพระราชา แลถ้าตัวพากเพียรเอง ก็อาจได้นางมาเป็นเมีย"

พระวิกรมาทิตย์ไม่โปรดคำที่เวตาลทายพระหฤทัยผิด ๆ จึ่งตรัสว่า "ข้าไม่ได้คิดอย่างเอ็งว่า ทีรฆะทรรศินเป็นคนดี ไม่ใช่คนชนิดนั้น"

เวตาลทูลว่า "ถ้าเช่นนั้น คงจะเป็นด้วยทรงเห็นว่า ทีรฆะทรรศินเสียใจที่พระราชาเสด็จกลับมารับความเป็นใหญ่ในบ้านเมืองคืนไป ตัวทีรฆะทรรศินสิ้นอำนาจเสียแล้ว จึ่งเสียใจถึงชีวิต ธรรมดาคนเมื่อได้ชิมความมีอำนาจแล้ว ไหนเลยจะไม่เสียใจในเวลาที่ต้องลดตัวลงมา"

พระวิกรมาทิตย์ตรัสตอบว่า "ไม่ใช่อย่างนั้นเป็นอันขาด ข้าได้กล่าวแล้วว่า ทีรฆะทรรศินเป็นคนดี หาใช่คนชนิดนั้นไม่ เหตุที่ทำให้ทีรฆะทรรศินเสียใจจนตายนั้น ก็เพราะรำลึกว่า แต่นางมนุษย์พระราชายังลุ่มหลงละทิ้งราชการบ้านเมืองเสียแล้ว ก็เมื่อได้นางวิทยาธรมาเช่นนี้ จะเป็นอย่างไรต่อไปอีกเล่า ตัวทีรฆะทรรศินเองได้เหน็ดเหนื่อยมามาก จนถึงกับเที่ยวเดิรทางตรากตรำโดยหวังว่า พระราชาจะคืนดี การก็กลับตรงกันข้ามดังนี้ เป็นที่น่าเสียใจนัก ทีรฆะทรรศินคิดดังนี้ จึ่งตายด้วยความเศร้าใจ"

เวตาลหัวเราะทูลว่า "ถ้าพระองค์ต้องกลับไปต้นอโศกอีกหลายเที่ยว ก็อย่าทรงเศร้าโศกเสียพระชนม์เร็วนัก" เท่านั้นแล้ว ก็หลุดลอยกลับไปอยู่ต้นอโศกตามเดิม.

จบนิทานเวตาลเรื่องที่ ๘