นิทานโบรานคดี/นิทานที่ 1
เมื่อฉันเปนเสนาบดีกะซวงมหาดไทย ขึ้นไปตรวดราชการมนทลพายัพครั้งแรกเมื่อ พ.ส. 2441 เวลานั้นยังไม่ได้ทำรถไฟสายเหนือ ต้องไปทางเรือแต่กรุงเทพฯ จนถึงเมืองอุตรดิถ แล้วฉันขึ้นเดินทางบกไปเมืองแพร่ เมืองน่าน เมืองนครลำปาง เมืองลำพูน เดินทางเกือบเดือนหนึ่งจึงถึงเมืองเชียงไหม่ ขากลับลงเรือล่องลำแม่น้ำพิงแต่เมืองเชียงไหม่ลงมาทางเมืองตาก เมืองกำแพงเพชร มาร่วมทางขาไปที่ปากน้ำโพเมืองนครสวรรค แต่นั้นก็กลับตามทางเดิมจนถึงกรุงเทพฯ
ฉันเคยได้ยินว่า ทางเมืองเหนือ ทั้งไนมนทลพิสนุโลกอันเคยเปนเมืองพระร่วง และมนทลพายัพอันเปนแหล่งช่างเชียงแสน มีพระพุทธรูปโบรานหย่างงาม ๆ มากกว่าทางอื่น คนหาพระพุทธรูปมักเที่ยวเสาะหาทางนั้น นับถือกันว่า ต่อเปนพระพุทธรูปนั่งขัดสมาธิ์เพชรจึงจะดี ถ้าหาได้พระขัดสมาธิ์เพชรหย่างย่อม ขนาดหน้าตักไนระหว่าง 6 นิ้วจน 10 นิ้วด้วย ยิ่งดีขึ้น แต่ฉันขึ้นไปครั้งนั้น ตั้งไจจะไปเสาะหาพระพุทธรูปที่ลักสนะงามเปนสำคัน ไม่เลือกว่าจะต้องเปนพระนั่งขัดสมาธิ์เพชรหรือขัดสมาธิ์ราบ ปราถนาจะไคร่ได้พระขนาดเขื่อง หน้าตักราวสอกเสส เพราะเห็นว่า ขนาดนั้นฝีมือช่างทำได้งามกว่าพระขนาดเล็กเช่นเขาหากัน
เมื่อขึ้นไปถึงเมืองอุตรดิถ วันหนึ่งฉันไปเที่ยวที่เมืองทุ่งยั้ง แวะดูวัดพระมหาธาตุอันเปนวัดโบรานแต่ครั้งสมัยกรุงสุโขทัย และพระเจ้าบรมโกถครั้งกรุงสรีอยุธยาได้ซงปติสังขรน์ มีพระสถูปมหาธาตุกับพระวิหารหลวงเปนสิ่งสำคันหยู่ไนวัด พระมหาธาตุองค์เดิมพัง มีผู้ส้างไหม่แปลงรูปเสียแล้ว แต่วิหารหลวงยังคงหยู่หย่างที่พระเจ้าบรมโกถซงปติสังขรน์ ไนวิหารหลวงนั้นมีพระพุทธรูปปั้นองค์ไหย่ ขนาดหน้าตักสัก 8 สอก ตั้งเปนประธาน เมื่อฉันเข้าไปบูชา เห็นมีพระพุทธรูปอีกองค์หนึ่งวางนอนหยู่ไนพระหัถพระประธาน แปลกตา จึงถามพวกกรมการว่า เหตุไฉนจึงเอาพระพุทธรูปไปวางทิ้งไว้ไนพระหัถพระประธานเช่นนั้น เขาเล่าไห้ฟังว่า พระพุทธรูปองค์เล็กนั้นเดิมหยู่ที่วัดอื่น ดูเหมือนชื่อว่า วัดวังหมู หรือวัดอะไรฉันจำไม่ได้แน่ แต่เปนพระมีปาติหารย์หย่างแปลกประหลาด คล้ายกับมีผีพระยามารคอยผจนหยู่เสมอ ถ้าไครไปถวายเครื่องสักการะบูชาเมื่อได ไนไม่ช้าก็มักเกิดเหตุวิวาทบาดทเลาะกันไนตำบนนั้น จนคนครั่นคร้าม ไม่มีไครกล้าไปบูชา แต่พวกเด็กลูกสิสวัดที่เปนคนคนองเห็นสนุก พอรู้ว่า จะมีการประชุมชนที่วัดนั้น เช่น บวดนาค เปนต้น ลอบเอาเครื่องสักการะ เช่น หมากเมี่ยง ไปถวายพระพุทธรูปองค์นั้น ก็มักเกิดวิวาทบาดทเลาะกันเนือง ๆ หยู่มาคืนวันหนึ่ง พระพุทธรูปองค์นั้นหายไป ต่อมาพายหลัง เห็นมานอนหยู่ไนพระหัถพระประธานไนวิหารหลวงวัดทุ่งยั้ง ไม่รู้ว่าไครเปนผู้เอามา แต่พวกชาวบ้านก็ไม่มีไครสมัคจะรับเอากลับไปไว้ที่วัดเดิม จึงทิ้งหยู่หย่างนั้น ฉันได้ฟังเล่าเห็นขันกลั้นหัวเราะไม่ได้ สั่งไห้เขายกพระองค์นั้นลงมาตั้งดูที่ถานชุกชีตรงหน้าพระประธาน พอเห็นชัดก็ชอบ ด้วยเปนพระปางมารวิชัย ฝีมือแบบสุโขทัย ทำงาม และได้ขนาดที่ฉันหาด้วย จึงว่าแก่พวกกรมการเมืองทุ่งยั้งว่า เมื่อไม่มีไครสมัคจะรับพระพุทธรูปองค์นั้นไปแล้ว ฉันจะขอรับเอาลงมากรุงเทพฯ เขาก็ยอมอนุญาตด้วยยินดี และดูเหมือนจะประหลาดไจที่ฉันไม่เชื่อคำของเขาด้วย ฉันจุดธูปเทียนบูชาแล้วสั่งไห้เชินพระพุทธรูปองค์นั้นลงมายังที่ทำเนียบจอดเรือไนวันนั้น พอค่ำ ถึงเวลาจะกินอาหาร พวกข้าราชการที่ไปด้วยมากินพร้อมกันตามเคย แต่วันนั้น สังเกตเห็นเขาหัวเราะต่อกะซิกกันแปลกกว่าปรกติ ฉันถามว่า มีเรื่องอะไรขบขันหรือ เขาบอกว่า เมื่อฉันไปวัดพระมหาธาตุ ฝีพายไปเกิดวิวาทชกกันขึ้นที่นั่นคู่หนึ่ง ฉันก็รู้เท่าว่า เขาพากันลงความเห็นว่า เปนเพราะฉันไปถวายเครื่องสักการะบูชาพระพุทธรูปองค์นั้นโดยไม่เชื่อคำพวกกรมการ แต่ฉันกลับเห็นขันที่ผเอินเกิดเหตุเข้าเรื่อง ไม่เห็นเปนอัสจรรยอันได ก็สั่งไห้เชินพระพุทธรูปองค์นั้นลงเรือที่ขึ้นไปส่งกลับลงมากรุงเทพฯ
เมื่อฉันขึ้นไปถึงเมืองเชียงไหม่ วันหนึ่ง ไปที่วัดพระสิงห์ เห็นเขารวมพระพุทธรูปหล่อของโบรานทั้งที่ดีและชำรุดตั้งไว้บนถานชุกชีที่ไนวิหารหลวงมากมายหลายสิบองค์ ฉันปีนขึ้นไปเที่ยวพิจารนาดู เห็นพระพุทธรูปขัดสมาธิ์เพชรแบบเชียงแสนองค์หนึ่ง ลักสนะงามต้องตา และได้ขนาดที่ฉันปราถนา ไห้ยกลงมาตั้งพิจารนาดูต่างหาก ก็ยิ่งเห็นงาม จึงขอต่อเจ้าเชียงไหม่เชินลงมากรุงเทพฯ แล้วไปว่าวานพระพุทธาจารย (มา) วัดจักรวัดิราชาวาส เมื่อท่านยังเปนที่พระมงคลทิพมุนี ไห้ช่วยปติสังขรน์ขัดสี เพราะท่านมีช่างสำหรับหล่อและแต่งพระพุทธรูปหยู่ที่วัดนั้น และตัวท่านเองก็ชอบพอกับฉันมาแต่ก่อน พระพุทธรูป 2 องค์นั้น องค์ที่มาจากเมืองทุ่งยั้ง ลงรักปิดทองคำเปลว องค์ที่มาจากเมืองเชียงไหม่ เดิมเปนแต่ขัด ไม่ได้ปิดทอง ช่างวัดจักรวัดิฯ ลงมือขัดพระองค์ที่มาจากเมืองเชียงไหม่ก่อน พอเปลื้องผ้าถนิมออก ก็แลเห็นเนื้อทองที่หล่อสีสุกปลั่งงามแปลกกับพระพุทธรูปองค์อื่น ๆ ที่เคยเห็นมาแต่ก่อน พระพุทธาจารยท่านจึงไห้ปติสังขรน์พระองค์นั้นก่อน มีคนโจทกันตั้งแต่พระองค์นั้นยังหยู่ที่วัดจักรวัดิฯ ว่า เปนพระพุทธรูปงามหย่างประหลาด เมื่อปติสังขรน์สำเหร็ดแล้ว ฉันรับมาตั้งไว้บูชาไนท้องพระโรงเมื่อฉันยังหยู่วังเก่าไกล้กับสพานดำรงสถิต ไคร ๆ ไปเห็น ก็ชมทุกคนว่า เปนพระพุทธรูปงามหย่างประหลาดมาก
ก็ไนสมัยนั้น พระบาทสมเด็ดพระจุลจอมเกล้าเจ้าหยู่หัวกำลังซงส้างวัดเบญจมบพิตร ซงพระราชดำหริว่า พระพุทธรูปที่จะตั้งไนวัดนั้น จะหาพระหล่อของโบรานแบบต่าง ๆ มาตั้ง ทำนองหย่างเมื่อพระบาทสมเด็ดพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกซงส้างวัดพระเชตุพนฯ โปรดไห้ฉันเปนพนักงานเสาะหาพระพุทธรูปถวาย วันหนึ่ง ตรัดแก่ฉันว่า ต้องพระราชประสงค์พระพุทธรูปตั้งเปนพระประธานที่การปเรียญสักองค์หนึ่ง ไห้เปนพระขนาดย่อมกว่าพระพุทธรูปที่ตั้งพระระเบียง แต่จะต้องไห้งามสมกับที่เปนพระประธาน ฉันจะหาถวายได้หรือไม่ ฉันกราบทูนว่า เมื่อขึ้นไปเมืองเชียงไหม่ ได้พระพุทธรูปขนาดนั้นมาไว้ที่บ้านองค์หนึ่ง "ถ้าโปรด จะถวาย" (หมายความว่า ถ้าไม่ถูกพระราชหรึทัย ก็ไม่ถวาย) ไม่ตรัดตอบว่ากะไรไนเวลานั้น ต่อมาอีกสักสองสามวัน มีพระราชกิจจะสเด็ดลงไปเมืองสมุทปราการเพื่อรับพระบรมสารีริกธาตุที่รัถบาลอินเดียถวาย และโปรดไห้เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) เมื่อยังเปนพระยาสุขุมนัยวินิจ ไปเชินมาจากอินเดียจนถึงเมืองสมุทปราการ เวลาซงรถไปสถานีรถไฟที่หัวลำโพง สเด็ดแวะที่บ้านฉัน ซงพระดำเนินไปทอดพระเนตรพระพุทธรูปที่ท้องพระโรง พอทอดพระเนตรเห็นก็โปรด ออกพระโอถว่า "พระองค์นี้งามแปลกจิง ๆ" ตรัดสั่งกรมวังไนขนะนั้นว่า ไห้จัดยานมาสกับขบวนแห่มีเครื่องสูงกลองชนะไปรับพระองค์นั้นเข้าไปยังพระบรมมหาราชวัง แล้วซงขนานพระนามถวายว่า "พระพุทธนรสีห์" ก็เปนพระพุทธรูปสำคันองค์หนึ่งแต่นั้นมา เมื่อส้างพระอุโบสถชั่วคราวที่วัดเบญจมบพิตรแล้ว โปรดไห้เชินพระพุทธนรสีห์แห่ขบวนไหย่ไปตั้งเปนพระประธานหยู่จนส้างพระอุโบสถไหย่แล้ว แต่พระประธานสำหรับพระอุโบสถไหย่นั้น ไห้เที่ยวตรวดพระโบรานตามหัวเมืองจนกะทั่งเมืองเชียงแสน ก็ไม่มีพระพุทธรูปงามถึงสมควนจะเชินมา จึงโปรดไห้หล่อจำลองพระพุทธชินราชเมืองพิสนุโลกมาเปนพระประธาน และโปรดไห้หล่อจำลองพระพุทธนรสีห์ตั้งไว้เปนพระประธานที่พระวิหารสมเด็ดไนวัดเบญจมบพิตรด้วยองค์หนึ่ง ส่วนองค์พระพุทธนรสีห์นั้น โปรดไห้เชินเข้าไปประดิสถานไว้ไนพระที่นั่งอัมพรสถาน ยังสถิตหยู่ไนพระราชมนเทียรนั้นจนบัดนี้ มีคนชอบพูดกันว่า พระพุทธนรสีห์เปนพระมีอภินิหารไห้เกิดสวัสดิมงคล อ้างว่า ตัวฉันผู้เชินลงมาไม่ช้าก็ได้เลื่อนยสจากกรมหมื่นขึ้นเปนกรมหลวง พระพุทธาจารย (มา) เมื่อยังเปนพระมงคลทิพมุนี ผู้อำนวยการปติสังขรน์ เปนพระราชาคนะสามัญ ก็ได้เลื่อนสมนะสักดิเปนพระราชาคนะผู้ไหย่ชั้นเทพ แม้พระภิกสุเปี่ยม ช่างหล่อผู้แต่งพระพุทธนรสีห์ ต่อมาไม่ช้า ก็ได้มีสมนะสักดิเปนที่พระครูมงคลวิจิตร เขาว่ากันดังนี้
พระพุทธรูปองค์ที่ได้มาจากเมืองทุ่งยั้งนั้น จะว่ามีอภินิหารก็ได้ แต่เปนไปอีกทางหนึ่งต่างหาก เมื่อฉันถวายพระพุทธนรสีห์ไปแล้ว พระพุทธาจารยท่านปติสังขรน์พระพุทธรูปองค์เมืองทุ่งยั้งเส็ด ก็ส่งมาไห้ฉัน ไห้ตั้งไว้ที่ท้องพระโรงบูชาแทนพระพุทธนรสีห์มาได้สักสองเดือน วันหนึ่ง ฉันไปหามารดาตามเคย ท่านถามว่า ได้ยินว่า ที่ไปได้พระมาจากเมืองเหนือองค์หนึ่ง มักทำไห้เกิดทเลาะวิวาทกัน จิงหรือ ฉันไม่เคยเล่าเรื่องเดิมของพระองค์นั้นแก่ไคร ชะรอยจะมีคนไนพวกที่ได้ขึ้นไปเมืองเหนือกับฉันไนครั้งนั้นไปบอกไห้ท่านซาบ แต่เมื่อท่านรู้แล้ว ฉันก็เล่าเรื่องไห้ท่านฟังตามเขาบอกที่เมืองอุตรดิถ ท่านพูดต่อไปว่า แต่ก่อนมา คนที่ไนบ้านก็หยู่กันเปนปรกติ ตั้งแต่ฉันเอาพระองค์นั้นมาไว้ที่บ้าน ดูเกิดวิวาทบาดทเลาะกันไม่หยุด ท่านส่งเสสกะดาดชิ้นหนึ่งซึ่งท่านได้ไห้จดชื่อคนวิวาทมาไห้ฉันดู มีทั้งผู้ดีและไพร่วิวาทกันถึง 6 คู่ ท่านตักเตือนแต่ว่า ขอไห้ฉันคิดดูไห้ดี ฉันกลับมาคิดดู เห็นว่า ถ้าขืนเอาพระองค์นั้นไว้ที่บ้านต่อไป ก็คงขัดไจมารดา จึงไปเล่าเรื่องไห้พระพุทธาจารยฟัง แล้วถวายพระองค์นั้นไห้ท่านรับเอาไปไว้ที่วัดจักรวัดิฯ แต่นั้น เรื่องพระพุทธรูปองค์ที่ได้มาจากเมืองทุ่งยั้งก็เงียบไป ต่อมาอีกหลายเดือน กรมการเมืองอุตรดิถคนหนึ่งซึ่งได้เคยไปเมืองทุ่งยั้งด้วยกันกับฉัน ลงมากรุงเทพฯ ไปหาฉันที่บ้าน ฉันเล่าไห้เขาฟังถึงเรื่องพระองค์นั้น แล้วนึกขึ้นว่า ถ้าฝากไห้เขาเชินกลับขึ้นไปไว้ที่วัดพระมหาธาตุเมืองทุ่งยั้งหย่างเดิม จะดีกว่าเอาไว้ที่วัดจักรวัดิฯ จึงสั่งไห้คนไปขอพระองค์นั้นคืน พระพุทธาจารยตกไจ รีบมาหา บอกว่า สำคันว่า ฉันสิ้นอาลัย ไห้พระองค์นั้นเปนสิทธิแก่ท่าน ตั้งแต่พระองค์นั้นไปหยู่ที่วัดจักรวัดิฯ ท่านสังเกตเห็นมักมีเหตุวิวาทบาดทเลาะเกิดขึ้นไนวัดผิดปรกติ แม้จนเด็กลูกสิสซึ่งเคยเปนคนเรียบร้อยมาแต่ก่อน ก็ไปตีหัวเจ๊กขายเจี้ยมอี๋ ท่านรำคาญไจ แต่มิรู้ที่จะทำหย่างไร ผเอินพ่อค้าชาวหัวเมืองคนหนึ่งซึ่งเคยรู้จักกับท่านมาแต่ก่อน เข้ามาค้าขายทางเรือถึงกรุงเทพฯ เขาแวะไปหาท่าน พอเห็นพระพุทธรูปองค์นั้น ก็ชอบไจถึงออกปากขอ ท่านจึงไห้พระองค์นั้นแก่พ่อค้าคนที่ขอไปเสียแล้ว เขาจะพาไปทางไหนก็ไม่รู้ ก็เปนอันสิ้นกะแสความเรื่องพระพุทธรูปองค์ที่ได้มาจากเมืองทุ่งยั้งเพียงเท่านั้น ได้แต่หวังไจว่า เพราะพ่อค้าคนที่ได้พระไปไม่รู้เรื่องเดิมพระองค์นั้น บางทีจะไม่ไปเปนเหตุไห้เกิดวิวาทบาดทเลาะเหมือนหนหลัง