นิทานไทย/เรื่องที่ 4
ในกาลก่อน มีพระเจ้าแผ่นดินพระองค์หนึ่ง ทรงพระนามว่า พระเจ้าอุสภราช ทรงราชย์ในเมืองคิริราชนคร ท้าวเธอมีอัครมเหสีพระองค์ ทรงพระนามว่า พระนางกุสุมภะ และมีพระราชธิดาพระองค์หนึ่ง ทรงพระนามว่า พระนางสุวรรณโสภา มีพระชนม์ได้ ๑๖ ปี ทรงรูปโฉมงดงามยิ่งนัก หาสตรีอื่นที่เสมอเหมือนได้ยาก.
เมื่อกษัตริย์ในประเทศต่าง ๆ ที่ยังไม่มีคู่ครองได้ทราบข่าวว่า พระราชธิดาของพระเจ้าอุสภราชงดงามเช่นนั้น ต่างก็เสด็จมาพร้อมด้วยอำมาตย์ นำเครื่องราชบรรณาการไปถวายพระเจ้าอุสภราช แจ้วจึ่งทูลขอพระราชธิดา.
ฝ่ายพระเจ้าอุสภราชได้ทรงฟังดั่งนั้น ก็ทรงยินดี จึ่งตรัสว่า "ขอเชิญท่านทั้งหลายไปพูดจากับธิดาของเราเองเถิด ถ้าเธอพูดกับท่านแล้ว เราจะยกให้แก่ท่าน" เมื่อกษัตริย์ทั้งหลายได้ทรงฟังพระเจ้าอุสภราชตรัสดั่งนั้น ต่างก็พากันยินดีเป็นที่สุด และพัก ณ ที่อันสมควรแล้ว ปรึกษากันตกลงผลัดเปลี่ยนกันไปพบพูดจากับพระราชธิดาบนปราสาทที่เธอประทับอยู่ กษัตริย์เหล่านั้นต่างก็ตรัสปราศรัยกับพระราชธิดาอยู่จนราตรี ก็หาได้รับคำตอบของเธอแม้สักคำเดียวไม่ ต่างพากันขึ้นเฝ้าทูลลาพระเจ้าอุสภราช พระเจ้าอุสภราชจึ่งรับสั่งให้คืนเครื่องราชบรรณาการแก่กษัตริย์ทั้งหลาย แล้วพระองค์ก็ประทานพรแก่กษัตริย์เหล่านั้นให้เสด็จไปโดยสวัสดีตามธรรมเนียม กษัตริย์เหล่านั้นต่างก็พากันเสียพระทัย เสด็จกลับไปยังพระนคร.
ในครั้งนั้น ยังมีกษัตริย์พระองค์หนึ่ง ทรงพระนามว่า พระเจ้าวิชัยราช ทรงราชย์อยู่ ณ กรุงอลิกะนคร พระองค์ทรงตั้งอยู่ในทศพิธราชธรรมทุกประการ ท้าวเธอมีอัครมเหสีพระองค์หนึ่ง ทรงพระนามว่า พระนางอุบลเทวี มีพระราชโอรสซึ่งพราหมณ์ได้ทำนายไว้แต่ครั้งประสูติว่า เมื่อเจริญวัย จะเป็นผู้รู้ศิลปวิทยา ทั้งประกอบด้วยสติปัญญาเฉลียวฉลาดมาก และทรงพระรูปโฉมงดงามยิ่งนัก พระเจ้าวิชัยราชพระราชบิดาจึ่งพระราชทานพระนามว่า "สรรพสิทธิ์" เมื่อทรงศึกษาวิชาอยู่นั้น สามารถทรงเรียนรู้วิชาถอดดวงจิตได้
ในลำดับนี้ สรรพสิทธิ์กุมารได้ทรงสดับข่าวพระราชธิดาพระเจ้าอุสภราช ก็อยากจะใคร่ได้มาเป็นมเหสี จึ่งขึ้นเฝ้าพระราชบิดาทูลเล่าเหตุการณ์ให้ทรงทราบ ทูลขออนุญาตไปเมืองคิริราชเพื่อได้พูดกับพระราชธิดาพระเจ้าอุสภราชอย่างกษัตริย์ทั้งหลาย พระราชบิดาก็ทรงอนุญาตให้ แล้วจึ่งพร้อมด้วยจตุรงคเสนาและเครื่องราชบรรณาการออกจากพระนครอลิกะไปสิ้นระยะทาง ๒๕ โยชน์ บรรลุถึงกรุงคิริราช เข้าเฝ้าถวายเครื่องราชบรรณาการแก่พระเจ้าอุสภราช แล้วทูลขอพระราชธิดาแก่พระเจ้าอุสภราช พระเจ้าอุสภราชตรัสถามว่า "เจ้ามาแต่ไหน และชื่อเรียงเสียงไร?" สรรพสิทธิ์กุมารจึ่งกราบทูลว่า "ข้าแต่พระองค์ มาแต่เมืองอลิกะ ชื่อว่า สรรพสิทธิ์" พระเจ้าอุสภราชจึ่งตรัสว่า "ดีละ! ถ้าเช่นนั้น เจ้าจงไปพูดจาตกลงกับลูกเราเถิด ถ้าลูกเราพูดกับเจ้าแล้ว เราจะยกลูกเราให้กับเจ้า" พอถึงเวลาราตรี สรรพสิทธิ์กุมารก็พาอำมาตย์ผู้หนึ่งขึ้นไปบนปราสาทของพระราชธิดานั้น ประทับอยู่ภายนอกพระทวาร ตรัสอยู่กับอำมาตย์ผู้นั้น ครั้นย่างเข้ายามที่หนึ่ง พระองค์ก็ทรงถอดเอาดวงจิตของอำมาตย์นั้นไปวางไว้ที่ชวาลา[1] แล้วพระองค์ก็เสด็จออกมาประทับที่เดิม แล้วตรัสถามดวงจิตของอำมาตย์นั้นว่า "พ่อมหาจำเริญ เราจะขอถามปัญหาอะไรสักข้อหนึ่ง ยังมีพ่อค้า ๔ คนเป็นเพื่อนกัน คืนวันหนึ่ง พากันมาจอดเรือ ณ ที่แห่งหนึ่ง เอาเชือกผูกกับหลักเรียบร้อยแล้ว ต่างพากันนอนอยู่ที่ใกล้เชือกผูกหลัก ในไม่ช้า ต่างก็หลับไป ครั้นเวลาดึก พ่อค้าคนหนึ่งตื่นขึ้นแลเห็นท่อนจันทน์ท่อนหนึ่งลอยมาตามกระแสน้ำ มากระทบเรือเข้า จึ่งเก็บเอาไว้ แล้วก็แกะและปลุกเสกด้วยเวทมนตร์ให้เป็นหญิงมีรูปสวยงามยิ่งนัก, ต่อนั้นไป พ่อค้าอีกคนหนึ่งเห็นเข้า จึงตกแต่งรูปหญิงนั้นด้วยเครื่องนุ่งห่มและเครื่องประดับต่าง ๆ ให้งดงามยิ่งขึ้น, ต่อนั้นไป พ่อค้าอีกคนหนึ่งเห็นรูปหญิงคนนั้นมีเครื่องตกแต่งงดงาม ก็เกิดความรักใคร่ เชื้อเชิญรูปหญิงนั้นให้นั่งบนเตียงด้วยความยินดี, ต่อนั้นไป พ่อค้าอีกคนหนึ่งได้เห็นรูปหญิงนั้น ก็นั่งสนทนาปราศรัยกับหญิงนั้น, พ่อค้าทั้ง ๔ คนนั้นต่างก็มีจิตรักใคร่ อยากได้รูปหญิง พูดจาโตเถียงกันว่า ใครควรจะได้หญิงนั้นเป็นภริยา⟨"⟩ เมื่อสรรพสิทธิ์กุมารเล่ามาถึงเพียงนี้แล้ว จึ่งถามว่า "นี่แน่ พ่อชวาลา พ่อค้าทั้ง ๔ คนนั้น ใครเล่าจะเป็นผู้ได้รูปหญิงนั้นเป็นภริยาโดยถูกต้อง." จึ่งมีเสียงทูลตอบมาจากชวาลาว่า "พ่อค้าที่ได้แก่นจันทน์นั้นแล้วเอามาแกะและปลุกเสกให้เป็นรูปหญิงนั้นแหละ เป็นผู้ควรได้ พระเจ้าข้า."
ฝ่ายพระราชธิดาได้ทรงฟังถ้อยคำดวงจิตอำมาตย์ซึ่งพระนางสำคัญว่า ชวาลาพูดได้ และทรงเห็นว่า พูดเช่นนั้นไม่ถูก พระนางจึ่งทรงค้านว่า "คำที่ท่านกล่าวนั้นไม่ถูก ที่ถูกต้องเป็นดั่งนี้ คือ พ่อค้าที่ได้แก่นจันทน์แล้วเอามาแกะและปลุกเสกเป็นรูปหญิงนั้นควรเป็นบิดา, พ่อค้าคนที่ได้ไปสนทนาปราศรัยกับรูปหญิงนั้น ควรเป็นพี่ชาย, พ่อค้าคนที่ได้แสดงความรักใคร่เชื้อเชิญรูปหญิงนั้นให้นั่งบนเตียงด้วยความยินดีนั้น ควรเป็นมารดา, พ่อค้าคนที่ได้ตกแต่งรูปหญิงนั้นด้วยผ้าและเครื่องประดับต่าง ๆ นั้นแหละ ควรเป็นภัสดา."
ในขณะนั้น พวกอำมาตย์ได้ฟังพระนางตรัสดั่งนั้น ก็ให้ประโคมดนตรีขึ้นพร้อมกันเป็นครั้งแรก.
ครั้นถึงมัชฌิมยาม สรรพสิทธิ์กุมารจึงเอาดวงจิตของอำมาตย์นั้นไปวางไว้ที่ขาเตียงบรรทมของพระราชธิดา แล้วพระองค์ก็เสด็จกลับมา ณ ที่เดิม เริ่มเล่านิยายต่อไป ยังมีพระราชกุมาร ๔ พระองค์พากันไปเมืองตักกศิลาเพื่อเรียนวิชาศิลปศาสตร์ในสำนักทิศาปาโมกข์[2] แห่งหนึ่ง พระราชกุมารองค์หนึ่งเรียนวิชายิงธนู, องค์หนึ่งเรียนวิชาทำสัตว์ตายให้กลับเป็นขึ้นได้, องค์หนึ่งเรียนวิชาประดาน้ำ คือ ดำน้ำอดทน, องค์หนึ่งเรียนวิชาโหราศาสตร์. ครั้นพระราชกุมารทั้ง ๔ องค์นั้นเรียนสำเร็จแล้ว ต่างก็พากันกลับมาเมืองของตน ครั้นมาถึงเมืองหนึ่ง จึ่งพากันไปนั่งใต้ร่มไม้ไทรใหญ่ต้นหนึ่งซึ่งอยู่ริมแม่น้ำ พระราชกุมารพระองค์หนึ่งพูดขึ้นว่า "เมื่อไรหนอ พวกเราจึ่งจะมีลาภ" ครั้นแล้ว พระราชกุมาร ๓ พระองค์จึ่งพากันถามพระราชกุมารองค์ที่เรียนวิชาโหราศาสตร์ให้คำนวณดูว่า เมื่อไรจึ่งจะมีลาภ. ฝ่ายพระราชกุมารองค์นั้นจึ่งคำนวณตามวิธีโหราศาสตร์ แล้วทายว่า จะมีนกหัสดีลึงค์[3] ตัวหนึ่งพาหญิงคนหนึ่งบินมาทางอากาศ แล้วบอกแก่พระราชกุมารผู้เรียนวิชายิงธนูแม่นว่า ให้โก่งธนูไว้คอยยิง.
ขณะนั้น นกหัสดีลึงค์ตัวหนึ่งเห็นพระอัครมเหสีของพระเจ้าแผ่นดินในเมืองนั้นทรงสะพักสีดง ก็สำคัญว่า ก้อนเนื้อ จึ่งโผลงมาโฉบเอานางด้วยกรงเล็บของตน แล้วพานางมาในอากาศ. ฝ่ายพระราชกุมารผู้เรียนวิชาธนูเห็นดังนั้น ก็ยิงธนูขึ้นไป นกนั้นได้ยินเสียงธนู ก็ตกใจ ปล่อยนางตกลงไปในแม่น้ำ. ฝ่ายพระราชกุมารผู้เรียนวิชาประดาน้ำก็ดำน้ำลงไปค้นเอานางขึ้นมาได้ แต่นางได้หมดพระอัสสาสะปัสสาสะ คือ หมดลมหายใจเสียแล้ว, จึ่งพระราชกุมารที่เรียนวิชาชุบสัตว์ตายให้เป็นได้ก็ร่ายมนตร์ทำให้นางกลับฟื้นขึ้นมาได้ดั่งเดิม. ต่อนี้ไป พระกุมารทั้ง ๔ พระองค์ต่างอยากได้นางนั้นเป็นภริยา จึ่งเกิดปัญหาทุ่มเถียงกันว่า ใครจะเป็นผู้สมควรได้นางนั้นเป็นภริยา. เมื่อสรรพสิทธิ์กุมารเล่ามาได้ถึงเพียงนี้แล้ว จึ่งตรัสถามดวงจิตของอำมาตย์ที่สิงอยู่ที่ขาเตียง "นางนั้นสมควรจะได้แก่ใคร?" ฝ่ายดวงจิตของอำมาตย์จึ่งกราบทูลว่า "สมควรจะได้แก่พระราชกุมารผู้ยิงธนูไป, เพราะว่า เธอยิงธนูขึ้นไป นกจึ่งปล่อยนางลงมา ให้ราชกุมารเหล่านี้ได้นาง."
ฝ่ายพระราชธิดาได้ทรงฟังถ้อยคำดวงจิตของอำมาตย์กล่าวดั่งนั้น ทรงเห็นว่า ไม่ถูก, จึ่งทรงค้านว่า ถ้อยคำที่ท่านกล่าวนั้นไม่ถูก, นางควรจะได้แก่พระราชกุมารผู้ดำน้ำ เพราะได้ลูบคลำจับต้องนางก่อนผู้อื่น.
ในขณะนั้น พวกอำมาตย์ได้ฟังพระราชธิดาตรัสดั่งนั้นแล้ว ก็ให้ประโคมดนตรีขึ้นพร้อมกันเป็นครั้งที่สอง.
ครั้นถึงยามที่สาม สรรพสิทธิ์กุมารจึ่งเอาดวงจิตของอำมาตย์ไปวางไว้ ณ ที่ผ้าคลุมบรรทม แล้วพระองค์ก็เสด็จกลับออกมาอยู่ ณ ที่เดิมดั่งเก่า แล้วจึ่งเล่านิยายอีกเรื่องหนึ่งว่า มีชาย ๔ คน หญิง ๔ คน ต่างคนเป็นชู้รักกัน ได้พากันไปนั่งใต้ร่มไม้ ชายหญิงทั้ง ๘ คนนั้นก็นั่งพูดจาเกี้ยวพาราสีกันอย่างฉันคู่รัก ฝ่ายชายต่างถามถึงบ้านเรือนหญิงที่เป็นชู้รักของตน. หญิงคนหนึ่งเอามือลูบที่ศีรษะบอกใบ้เป็นปริศนา แล้วบอกว่า "เรือนของตูข้าอยู่ที่นี่." หญิงคนที่สองเอามือลูบที่หน้าอกแล้วบอกว่า "เรือนของตูข้าอยู่ที่นี่" หญิงคนที่สามเอามือลูบที่แก้มแล้วบอกว่า "เรือนของตูข้าอยู่ที่นี่" หญิงคนที่สี่เอามือลูบที่คิ้วแล้วบอกว่า "เรือนของตูข้าอยู่ที่นี่" ครั้นนัดแนะกันด้วยอาการอย่างนี้แล้ว ต่างก็ลากันกลับไปบ้านเรือนของตน ฝ่ายชายทั้ง ๔ คนนั้นหาได้รู้อาการบอกใบ้ของหญิงคู่รักของตนไม่ ครั้นจะซักถาม ก็อาย, เมื่อกลับมาแล้ว ต่างคนต่างถามกัน ก็ไม่มีใครรู้ว่า หญิงคู่รักของตนบอกใบ้ว่ากระไร.
ขณะนั้น ยังมีโจรผู้หนึ่งต้องโทษ เขามัดประจานไว้ในที่ใกล้กับชาย ๔ คนนั้น ครั้นได้ฟังคำของชาย ๔ คนพูดจากันดั่งนั้น จึ่งถามว่า "พวกท่านพูดอะไรกัน" ชายทั้ง ๔ คนบอกว่า "พวกเราถามถึงบ้านเรือนหญิงคู่รัก หล่อนบอกใบ้เป็นปริศนาให้ไว้" แล้วก็เล่าให้โจรฟังทุกประการ โจรถามว่า "พวกท่านรู้จักแล้วหรือ?" ชายทั้ง ๔ นั้นต่างตอบว่า "ไม่รู้จัก" โจรจึ่งพูดว่า "เรารู้จักแล้ว ถ้าท่านอยากรู้ ต้องไปเอาน้ำมาให้เรากินก่อน เราจึ่งจะบอกให้" ชายทั้ง ๔ คนก็ไปเอาน้ำมาให้โจรกินตามต้องการ ครั้นโจรได้กินน้ำแล้ว จึ่งบอกให้ทีละคนว่า ชู้รักคนที่เอามือลูบศีรษะนั้น หมายความว่า เรือนของหล่อนมีต้นไทรย้อยสำหรับนั่งเล่นอยู่ข้างทิศตะวันออก, ชู้รักคนที่เอามือลูบหน้าอกนั้น หมายความว่า เรือนของหล่อนนั้นมีต้นขนุนอยู่ข้างทิศตะวันตก, ชู้รักคนที่เอามือลูบแก้มนั้น หมายความว่า เรือนของหล่อนมีเตาเผาหม้อของช่างหม้ออยู่ทางทิศใต้, และชู้รักคนที่เอามือลูบนิ้วนั้น หมายความว่า เรือนของหล่อนมีสระสาหร่ายอนู่ข้างทิศเหนือ, ท่านจงพากันไปในตำบลว่านี้เถิด คงจะพบเป็นแน่นอน.
เมื่อชายทั้ง ๔ คนได้ฟังโจรบอกให้ดังนั้น ก็มีจิตยินดียิ่งนัก ต่างอำลาโจรไปเที่ยวแสวงหาบ้านเรือนชู้รักของตน ๆ ตามที่โจรบอกให้ ก็พบเรือนหญิงชู้รักของตนทุกคน ฝ่ายหญิงชู้รักทั้ง ๔ คนมีจิตยินดี จึ่งถามชายชู้รักว่า "เหตุไรท่านจึ่งรู้จักเรือนของพวกตูข้าเล่า?" ชายทั้ง ๔ คนก็เล่าเรื่องราวให้หญิงชู้รักของตนฟังทุกประการ. ฝ่ายหญิงเหล่านั้นต่างพูดว่า "ท่านทั้ง ๔ ไม่ได้มาด้วยความคิกและสติปัญญาของตนเอง ไม่ควรจะเป็นสามีของพวกตูข้า" ครั้นแล้ว ก็ขับไล่ชายทั้ง ๔ คนนั้นเสีย แล้วพากันไปรับโจรนั้นมาบำรุงรักษา ปันหน้าที่กันปฏิบัติโจรผู้นั้น ดั่งนี้
หญิงคนหนึ่งคอยปฏิบัติหาอาหารมาให้, หญิงคนหนึ่งตอยตักน้ำมาให้, หญิงคนหนึ่งคอยเอาน้ำร้อนมาให้, หญิงคนหนึ่งคอยจัดในเรื่องความสะอาดให้, จนโจรนั้นหายเจ็บป่วยเป็นปกติดี. เมื่อสรรพสิทธิ์กุมารเล่ามาถึงเพียงนี้แล้ว จึ่งถามขึ้นว่า หญิงทั้ง ๔ คนนั้น คนไหนควรจักได้โจรนั้นเป็นสามี ดวงจิตของอำมาตย์จึ่งกราบทูลว่า หญิงคนที่คอยจัดในเรื่องความสะอาดให้นั่นแหละควรได้โจรเป็นสามี.
ฝ่ายพระราชธิดาได้ทรงฟังดังนั้น ทรงเห็นว่า ไม่ถูก จึ่งทรงค้านว่า ถ้อยคำที่ท่านกล่าวนั้นไม่ถูก, หญิงที่นำอาหารมาปฏิบัตินั้นควรจะได้โจรเป็นสามี ดั่งนี้จึงจะถูก เพราะหน้าที่ของแม่เรือนจะต้องตกแต่งข้าวปลาอาหารให้สามี หน้าที่นอกนั้นเป็นหน้าที่คนใช้.
ในขณะนั้น พวกอำมาตย์ได้ฟังพระราชธิดาตรัสดั่งนั้น ก็ให้ประโคมดนตรีขึ้นพร้อมกันเป็นครั้งที่สาม.
ครั้นเวลาใกล้รุ่ง สรรพสิทธิ์กุมารจึ่งนำเอาดวงจิตของอำมาตย์ไปวางไว้ที่พระเขนย แล้วพระองค์ก็เสด็จกลับออกมาอยู่ที่เดิม แล้วตรัสถามว่า หญิงที่มีรูปร่างงดงาม มีสัมผัส[4] ละเอียดอ่อน ถ้าจะเอาสัมผัสของหญิงเห็นปานนี้มาเปรียบกับสัมผัสปุยนุ่นแล้ว ข้างไหนจะอ่อนกว่ากัน หรือจะมีสัมผัสอะไรละเอียดอ่อนกว่านี้อีก. ดวงจิตของอำมาตย์นั้นจึ่งกราบทูลว่า "สัมผัสปุยนุ่นอ่อนกว่าสัมผัสใด ๆ หมด."
ฝ่ายพระราชธิดาได้ฟังดั่งนั้น ก็ทรงเห็นว่า ไม่ถูกอีก จึ่งค้านว่า "คำที่ท่านกล่าวนั้นไม่ถูก, ดวงจิตของสามีที่อ่อนละมุนนั้นแหละมีสัมผัสอันละเอียดอ่อนที่สุด จึ่งจะถูก."
ในขณะนั้น พวกอำมาตย์ได้ฟังพระราชธิดาตรัสขึ้นอีกดั่งนั้น ก็ให้ประโคมดนตรีขึ้นพร้อมกันเป็นครั้งที่สี่.
เมื่อเจ้าพนักงานประโคมดนตรีครั้งที่สี่จบลงแล้ว สรรพสิทธิ์กุมารจึ่งเอาดวงจิตของอำมาตย์นั้นกลับมาไว้ในร่างกายเจ้าของดั่งเก่า แล้วพระองค์ก็เสด็จกลับมาประทับ ณ ที่ประทับเดิม. พอเวลารุ่งเช้า พระองค์ก็พาพวกบริวารเสด็จลงจากประสาทไปประทับ ณ ที่พักของพระองค์ ครั้นถึงเวลาพระเจ้าอุสภราชเสด็จออกขุนนางยังท้องพระโรงแล้ว พระองค์พร้อมด้วยบริวารทั้งปวงพากันขึ้นเฝ้า กราบทูลเล่าเรื่องราวให้ทรงทราบทุกประการ. ฝ่ายพระเจ้าอุสภราชได้ทรงฟังดั่งนั้น ก็ทรงเห็นเป็นอัศจรรย์ยิ่งนัก จึ่งปรึกษากับพระราชเทวีกุสุมภะว่า "เจ้าสรรพสิทธิ์กุมารนี้เป็นผู้ประเสริฐกว่ากษัตริย์ทั้งหลายในชมพูทวีป[5] เป็นแท้ พี่เห็นควรจะให้เป็นคู่ครองกับธิดาของเราได้ เจ้าจะเห็นเป็นประการใด?" พระนางก็ทรงเห็นชอบด้วย เมื่อพระเจ้าอุสภราชได้ทรงทราบพระทัยพระมเหสีว่า ทรงเห็นชอบด้วยพระองค์ ก็ทรงยินดี มีรับสั่งให้พราหมณ์หาดวงอภิเษก.
พระเจ้าอุสภราชเสด็จไปปราสาทพระราชธิดา ทรงเล่าเรื่องให้ทราบ และทรงเล้าโลมเอาพระทัยด้วยประการต่าง ๆ ฝ่ายพระราชธิดาก็ทรงยินยอมตามพระราชบิดาทุกประการ.
ครั้นแล้ว พระองค์ก็มีรับสั่งให้นายช่างจัดสร้างปราสาทขึ้นใหม่ ตกแต่งให้วิจิตรงดงามไว้พร้อมเสร็จ ครั้นถึงเวลากำหนด ก็ให้จัดการอภิเษกเจ้าสรรพสิทธิ์กุมารกับพระราชธิดาของพระองค์ ให้อยู่ครองกันด้วยพิธีอันเอิกเกริกตามประเพณี.
เมื่อสรรพสิทธิ์กุมารได้อยู่ครองกับพระราชธิดาแห่งพระเจ้าอุสภราชโดยผาสุกเป็นเวลาสมควรแล้ว พระองค์จึ่งขึ้นเฝ้ากราบทูลพระเจ้าอุสภราชกับพระราชเทวีเพื่อขอทูลลาพาภริยากลับไปเมืองอลิกะนครซึ่งเป็นบ้านเมืองเดิมของพระองค์, พระเจ้าอุสภราชกับพระราชเทวีก็จำต้องฝืนพระทัยอนุญาตและทรงประสาทพรให้.
ฝ่ายสรรพสิทธิ์กุมารกับพระนางสุวรรณโสภา เมื่อกราบถวายบังคมลาพระราชบิดามารดาเสร็จแล้ว ก็เสด็จออกจากพระนครไปยังเมืองอลิกะนครพร้อมด้วยบริวารเป็นแันมาก ครั้นถึง จึ่งพระนางสุวรรณโสภาเข้าเฝ้าพระราชบิดามารดา กราบทูลเรื่องราวให้ทรงทราบตั้งแต่ต้นจนปลายทุกประการ. ฝ่ายพระราชบิดามารดา เมื่อได้ทรงเห็นพระราชโอรสพาะชายาอันทรงรูปโฉมงดงามมาถวายบังคมเช่นนั้น ก็ทรงโสมนัสยินดีเป็นอันมาก.
พระเจ้าอลิกะนครจึ่งมีรั่บสั่งให้จัดการพิธีอภิเษกกษัตริย์ทั้งสองตามประเพณี แต่ในเวลานั้น สรรพสิทธิ์กุมารหาได้รังครองราชสมบัติไม่ เพราะพระราชบิดายังทรงพระชนม์อยู่ ต่อเมื่อพระราชบิดาเสด็จสวรรคตแล้ว พระองค์จึ่งได้ครองราชสมบัติ ต่อมา พระองค์ก็ได้ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลต่าง ๆ ครั้นเสด็จสวรรคตแล้ว ก็ได้ไปบังเกิดในสุคติภพ. ฝ่ายประชาราษฎรของพระองค์ต่างก็มีความจงรักภักดีตั้งอยู่ในโอวาทของพระองค์ พากันเลี้ยงชีพโดยสุจริต มีความเมตตากรุณาต่อกัน ครั้นตายแล้ว ก็ไปเกิดในสุคติภพด้วยกันสิ้น.
- ↑ ชวาลาเป็นตะเกียงโบราณ รูปคล้ายคนโท แต่มีพวยเหมือนกาน้ำ เอาไส้ตะเกียงใส่ในพวยนั้น แล้วจุดไฟ โดยมากมักมี ๓ พวย คือ ชวาลาใบหนึ่งจุดไฟได้ ๓ ดวง
- ↑ ทิศาปาโมกข์ แปลว่า เป็นประธานในทิศ (ถิ่น) หมายความว่า อาจารย์ผู้สอนศิษย์มาจากทิศทั้ง ๔, โดยมากมักเป็นพราหมณ์ และอยู่เมืองตักกศิลา
- ↑ หัสดีลึงค์ แปลว่า มีเพศเหมือนช้าง เป็นชื่อนกชนิดหนึ่งในเรื่องนิยาย กล่าวว่า มีรูปร่างใหญ่โต อาจจะเอานิ้วเท้าตะครบคนแล้วพาบินไปได้.
- ↑ สัมผัส ในที่นี้หมายถึง การถูกต้องด้วยกาย คือ กายไปถูกสิ่งใดเข้า ก็รู้สึกร้อนเย็น, แข็งอ่อน ฯลฯ
- ↑ ชมพูทวีป คือ ประเทศอินเดียเดี๋ยวนี้ ซึ่งในครั้งโบราณถือกันว่า เป็นศูนย์กลางของโทษ มีความเจริญมาก มีประเทศใหญ่ ๆ ตั้งอยู่มากด้วยกัน.