บันทึกพระยาทรงสุรเดชเมื่อวันปฏิวัติ 24 มิถุนายน 2475/บทที่ 1
เมื่อกล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศไทยในปี ๒๔๗๕ ผู้สนใจเกี่ยวกับประวัติการเมืองไทยยุคปัจจุบันจะนึกถึง “สี่ทหารเสือ” อันมีนายพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา, นายพันเอก พระยาทรงสุรเดช, นายพันเอก พระยาฤทธิ์อัคเนย์ และนายพันโท พระประศาสน์พิทยายุทธ ทั้งสี่ท่านนี้เป็นนายทหารประจำการที่อาวุโส ซึ่งได้ร่วมเปลี่ยนแปลงการปกครองครั้งนั้น
ณ ที่นี้จะขอกล่าวถึงประวัติของบุคคลผู้หนึ่งใน “สี่ทหารเสือ” นี้ บุคคลผู้นั้นคือนายพันเอก พระยาทรงสุรเดช ผู้มีชื่อเดิมว่า เทพ อยู่ในสกุล พันธุมเสน
ว่าโดยภูมิลำเนา เจ้าคุณทรงสุรเดชเป็นชาวกรุงเทพพระมหานคร ครอบครัวของท่านเป็นครอบครัวนายทหาร บิดาของท่านคือนายร้อยโท ไท้ เป็นนายทหารกรมทหารปืนใหญ่ที่ ๑
เจ้าคุณทรงฯ หรือเด็กชายเทพ กำเนิดเมื่อวันที่ ๑๒ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๔๓๕ ที่บ้านของบิดา อยู่ริมสวนเจ้าเชษฐ์ ถนนเจริญกรุง เด็กชายเทพ ซึ่งในตอนนั้นกำพร้าทั้งบิดาและมารดา ได้เริ่มเข้าไปศึกษาในโรงเรียนนายร้อยทหารบก โดยได้รับความอุปการะจากพี่ชาย
อีก ๓ ปีต่อมา เด็กชายเทพได้เรียนสำเร็จจากโรงเรียนนายร้อย และได้รับทุนหลวงให้ไปศึกษาวิชาทหารต่อไปที่ประเทศเยอรมันนี การศึกษาต่อที่ประเทศเยอรมันนีของท่าน ถูก ‘เทพ วรรณรัต’ บันทึกเอาไว้ว่า
“. . .แห่งแรกที่เข้าเรียนคือวิชาทหารช่างในโรงเรียนคะเด็ด เรียนสำเร็จแล้วได้ออกเป็นนายสิบประจำกรมทหารช่างที่ ๔ อยู่ ณ เมืองมักเคเบอร์ก แล้วเข้าศึกษาต่อในโรงเรียนรบอีก สำเร็จแล้วเป็นนายร้อยตรีประจำกองทหารในเมืองมักเคเบอร์ก จนกระทั่งถึงปี พ.ศ. ๒๔๕๘ จึงเดินทางกลับประเทศไทย รวมเวลาที่อยู่ในเยอรมันเกือบ ๘ ปีเต็ม ๆ”[1]
พอเรียนสำเร็จกลับมา ก็ได้เข้ารับราชการจนได้ตำแหน่งเป็นนายร้อยเอก หลวงณรงค์สงคราม เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๑ ต่อมาได้ย้ายไปรับราชการในตำแหน่งผู้บังคับกองพันที่ ๒ ช่างรถไฟ กรมทหารบกที่ ๓ ในช่วงระยะเวลาที่รับงานทางด้านทหารช่าง ท่านได้ทำงานในการคมนาคมทางรถไฟไว้หลายประการ มีผู้กล่าวว่า งานที่ทำในสมัยที่ท่านรับผิดชอบทำอยู่ก็มี
“๑.ทางรถไฟสายเหนือจากถ้ำขุนตาลถึงเชียงใหม่
๒.ทางรถไฟสายตะวันออกจากแปดริ้วถึงอรัญประเทศ
๓.ทางรถไฟสายตะวันออกเฉียงเหนือจากสถานีโคราชถึงสถานีท่าช้าง”[2]
ในปี พ.ศ. ๒๔๖๗ ท่านได้รับยศเป็นนายพันโท มีบรรดาศักดิ์เป็นพระทรงสุรเดช รับราชการสืบต่อมาจนถึง พ.ศ. ๒๔๗๓ จึงได้ยศเป็นนายพันเอก และได้รับบรรดาศักดิ์สูงขึ้นเป็นพระยาทรงสุรเดช ในปี ๒๔๗๕ อันเป็นปีที่มีการปฏิวัติ พระยาทรงฯ มีตำแหน่งเป็นอาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิชาทหาร ท่านได้ร่วมมือกับเพื่อนนายทหารอาวุโส ๓ ท่าน และนายทหารผู้น้อย กับพลเรือน ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองได้สำเร็จเรียบร้อยเมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕[3] เป็นที่กล่าวกันมากว่า เจ้าคุณทรงฯ เป็น “มันสมอง” ของคณะผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองในการยึดอำนาจในวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕[4]
หลังจากเปลี่ยนแปลงการปกครองและเมืองไทยมีรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวใช้แล้ว คณะผู้ก่อการฯ ได้แต่งตั้งสมาชิกสภาผู้แทนเฉพาะกาลขึ้นชุดหนึ่งจำนวน ๗๐ นาย ในจำนวนนี้มีพระยาทรงสุรเดชร่วมอยู่ด้วย และเมื่อพระยามโนปกรณ์นิติธาดาเป็นประธานกรรมการราษฎร (นายกรัฐมนตรี) เจ้าคุณทรงฯ ก็ได้เข้าร่วมเป็นกรรมการราษฎร (รัฐมนตรี) ครั้นถึงวันที่ ๑๐ ธันวาคม ๒๔๗๕ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานรัฐธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรไทยฉบับถาวรฉบับแรกให้ปวงชนชาวไทย พระยามโนปกรณ์นิติธาดาได้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี พระยาทรงฯ ก็ได้เข้าร่วมรัฐบาลเป็นรัฐมนตรีลอยอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งได้เป็นครั้งสุดท้ายที่เจ้าคุณทรงฯ เป็นรัฐมนตรี[5] ในขณะที่ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นรัฐมนตรีลอย เจ้าคุณทรงฯ ยังดำรงตำแหน่งข้าราชการประจำฝ่ายทหารเป็นรองผู้บัญชาการทหารบก และมีพระยาพหลพลพยุหเสนาเป็นผู้บัญชาการทหารบก
ในตอนระยะต้น ๆ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ได้มีปัญหาถกเถียงกันมากเกี่ยวกับโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ[6] ด้วยปรากฏว่า สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้โจมตีรัฐบาลของพระยามโนปกรณ์นิติธาดามากในเรื่องที่ไม่ได้ดำเนินการแก้ไขภาวะเศรษฐกิจของประเทศชาติให้ดีขึ้นตามที่สัญญาไว้กับประชาชนในหลัก ๖ ประการของคณะราษฎร์ เมื่อถูกทางรัฐสภาเร่งเร้าหนักเข้า พระยามโนปกรณ์ฯ ก็มอบให้หลวงประดิษฐ์ฯ ผู้มีความสนใจเกี่ยวกับเศรษฐกิจเป็นผู้ร่างโครงการ
ภายหลังจากที่เค้าโครงการเศรษฐกิจได้รับการร่างขึ้นสำเร็จแล้ว จึงได้พิมพ์แจกแก่ผู้ก่อการฯ และสมาชิกในคณะรัฐบาล ปรากฏว่า เค้าโครงการเศรษฐกิจที่หลวงประดิษฐ์ฯ ร่างได้ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากพอจะแยกผู้วิจารณ์ได้เป็น ๒ ฝ่าย ฝ่ายหนึ่งเห็นด้วยกับโครงการนี้ อีกฝ่ายไม่เห็นด้วยกับการที่จะนำมาใช้และอ้างว่ามีหลักการใกล้เคียงกับระบบคอมมูนิสม์ เมื่อมีการถกเถียงกันมากเช่นนี้ ทางรัฐาลจึงได้ตั้งคณะกรรมการชุดหนึ่งขึ้นพิจารณา ปรากฏว่า พระยาทรงฯ ได้ร่วมเป็นกรรมการอยู่ในคณะกรรมการซึ่งมีอยู่จำนวน ๑๔ นายด้วย[7] แต่คณะกรรมการก็ยังหาข้อยุติไม่ได้ว่าจะรับใช้โครงการเศรษฐกิจนี้หรือไม่ จึงเอาเรื่องเสนอเข้ารัฐสภา และได้เกิดความวุ่นวายในรัฐสภา ถึงกับมีการพกอาวุธเข้าไปในสภาผู้แทนราษฎร ทางรัฐาลจึงขอร้องให้ทหารมาตรวจค้นอาวุธจากตัวสมาชิกสภา และผู้ที่ได้รับคำสั่งให้นำทหารตรวจค้นอาวุธก็คือพระยาทรงสุรเดช “วิเทศกรณีย์” บันทึกเอาไว้ดังนี้
“ก่อนการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเมื่อเวลา ๙.๓๕ น. นั้น พระยาทรงสุรเดชได้นำเอาทหาร ๑ กองร้อยพร้อมสรรพด้วยอาวุธ และนัยว่าได้เอาลูกระเบิดมือติดตัวมาด้วย ทหาร ๑ กองร้อยดังกล่าวนี้ได้ยืนอยู่ที่เชิงบันไดสภาผู้แทนราษฎรเพื่อทำการตรวจค้นอาวุธที่บรรดาสมาชิกพกติดตัวมา ถ้าใครพกปืนติดตัวมา ก็เก็บเอาไว้เสียทันที การกระทำเช่นนี้ไม่เป็นที่พอใจของสมาชิกเป็นส่วนมาก. . .”[8]
เหตุที่พระยาทรงฯ เป็นผู้รับคำสั่งของรัฐบาลให้รักษาความสงบที่รัฐสภาโดยนำกำลังทหารไปรักษาการณ์ จึงทำให้ถูกกล่าวหาใช้อำนาจทางทหารเพื่อจะครอบงำพลเรือน ยิ่งในวันรุ่งขึ้น คือวันที่ ๓๑ มี.ค. ๒๔๗๖ พระยามโนฯ ได้เรียกประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างรีบด่วน และกล่าวหาว่าสภาผู้แทนราษฎรมีความอลเวงวุ่นวาย ไม่เหมาะสมกับเป็นรัฐสภาของชาติ จึงขอความเห็นจากคณะรัฐมนตรีเพื่อปิดสภา และในวันที่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๗๖ ก็ออกพระราชกฤษฎีกาให้ปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีความสำคัญว่า
“๑.ให้ปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรนี้เสีย และห้ามไม่ให้เรียกประชุมจนกว่าจะได้มีสภาผู้แทนราษฎรขึ้นใหม่เมื่อได้มีการเลือกตั้งผู้แทนราษฎรตามความในรัฐธรรมนูญนั้นแล้ว
๒.ให้ยุบคณะรัฐมนตรีปัจจุบันนี้เสีย และให้มีคณะรัฐมนตรีขึ้นใหม่ กอปรด้วยนายกรัฐมนตรีหนึ่งนาย กับรัฐมนตรีอื่น ๆ อีกไม่เกิน ๒๐ นาย และให้นายกรัฐมนตรีซึ่งยุบเป็นนายกของคณะรัฐมนตรีใหม่ กับให้คณะรัฐมนตรีซึ่งว่าการกระทรวงต่าง ๆ อยู่ในเวลานี้เป็นสมาชิกของคณะรัฐมนตรีใหม่โดยตำแหน่ง ส่วนรัฐมนตรีอื่น ๆ จะได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งขึ้นโดยคำแนะนำของนายกรัฐมนตรีอีกต่อไป
๓.ตราบใดที่ยังไม่ได้มีการเลือกตั้งผู้แทนราษฎร ยังไม่ได้เรียกประชุมสภาผู้แทนราษฎรใหม่นั้น และยังไม่ได้ตั้งรัฐมนตรีตามความในรัฐธรรมนูญแล้ว ให้คณะรัฐมนตรีใหม่ตามพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้เป็นผู้ใช้อำนาจต่าง ๆ ซึ่งรัฐธรรมนูญได้ให้ไว้แก่คณะรัฐมนตรี
๔.ตราบใดที่ยังไม่ได้มีการเลือกตั้งผู้แทนราษฎร และยังไม่ได้เรียกประชุมสภาผู้แทนราษฎรใหม่นั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะได้ทรงใช้อำนาจนิติบัญญัติตามคำแนะนำและยินยอมของคณะรัฐมนตรี
๕.ตราบใดที่ยังไม่ได้มีการเลือกตั้งผู้แทนราษฎร และยังไม่ได้เรียกประชุมสภาผู้แทนราษฎรใหม่นั้น และยังไม่ได้ตั้งคณะรัฐมนตรีตามความในรัฐธรรมนูญแล้ว ให้รอการใช้บทบัญญัติต่าง ๆ ในรัฐธรรมนูญซึ่งขัดกับพระราชกฤษฎีกานี้เสีย ส่วนบทบัญญัติอื่น ๆ นั้นให้เป็นอันว่าใช้อยู่ต่อไป”[9]
การปิดสภาผู้แทนราษฎรเช่นนี้ ก็มีเสียงกล่าวกันว่า พระยามโนฯ กล้าทำก็เพราะไ้ดรับความสนับสนุนจากนายทหารสำคัญ ๆ หลายคน ตามเสียงกล่าวหามีพระยาทรงสุรเดช พระยาฤทธิ์อัคเนย์ พระประศาสน์พิทยายุทธ และนายประยูร ภมรมนตรี อยู่ด้วย แต่ก็ยังพิสูจน์ไม่ได้ เพราะจะว่าไปในรายชื่อผู้รับสนองพระบรมราชโองการให้ปิดสภาผู้แทนฯ เมื่อวันที่ ๑ เมษายน ก็มีอยู่หลายคน ดังรายนามต่อไปนี้
- พระยามโนปกรณ์นิติธาดา
- เจ้าพระยาวงศานุประพันธ์
- เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี
- พระยาเทพวิทุรพหุลศรุตาบดี
- พลเรือโท พระยาราชวังสัน
- พระยาจ่าแสนยบดีศรีบริบาล
- พระยาศรีวิศาลวาจา
- นายพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา
- นายพันเอก พระยาทรงสุรเดช
- นายพันเอก พระยาฤทธิ์อัคเนย์
- นายพันโท พระประศาสน์พิทยายุทธ์
- นายพันตรี หลวงพิบูลสงคราม
- นายนาวาตรี หลวงสินธุสงครามชัย
- นายประยูร ภมรมนตรี[10]
ตัวพระยาทรงฯ นั้นถูกกล่าวหามาก เพราะเป็นนายทหารที่แม้จะดำรงตำแหน่งรองผู้บัญชาการทหารบกก็จริงอยู่ แต่มีอำนาจมากที่สุด มีลูกศิษย์ลูกหามากมายถึงกับมีบุคคลบางคนกล่าวว่า พระยาทรงฯ คิดแย่งอำนาจจากพระยาพหลฯ[11] เมื่อมีคนกล่าวหาเช่นนี้ พระยาทรงฯ จึงชวนสามนายทหารอาวุโส อันได้แก่นายพันเอก พระยาพหลฯ นายพันเอก พระยาฤทธิ์ฯ นายพันโท พระประศาสน์ ลาออกจากตำแหน่งทางการเมืองและการทหารในวันที่ ๑๓ มิถุนายน ๒๔๗๖ ทั้งสี่ทหารเสืออ้างว่าสุขภาพไม่ไม่ดีและบ้านเมืองก็พ้นระยะหัวเลี้ยวหัวต่อมาแล้วประการหนึ่ง
การลาออกของนายทหารทั้งสี่จะเป็นกลหมากรุกการเมืองของใคร และใครเป็นผู้พลาดท่าในกลการเมืองนั้น เป็นเรื่องที่บุคคลโดยทั่วไปจะพิจารณาได้ตามแง่มุมของตน ภายหลังจากที่สี่นายทหารอาวุโสลาออกมาได้เพียง ๗ วัน คือ เมื่อเช้าตรู่ของวันที่ ๒๐ มิถุนายน ๒๔๗๖ คณะรัฐประหารภายใต้การนำของนายพันเอก พระยาพหลฯ นายพันโท หลวงพิบูลสงคราม และนายนาวาโท หลวงศุภชลาศัย ก็นำกำลังทหารเข้ายึดอำนาจจากรัฐบาลพระยามโนฯ ได้สำเร็จ สภาผู้แทนราษฎรได้เปิดประชุมเป็นปกติอีกครั้งหนึ่ง หลังจากที่ถูกปิดไปเป็นเวลา ๘๑ วัน และสภาผู้แทนราษฎรก็ได้ยอมรับให้พระยาพหลฯ เป็นนายกรัฐมนตรีแทนพระยามโนฯ ที่ลาออก หลังจากเปลี่ยนรัฐบาลไม่นาน หลวงประดิษฐ์มนูธรรมซึ่งถูกภัยการเมืองบีบบังคับให้เดินทางออกไปนอกประเทศ ก็เดินทางกลับเข้าประเทศไทย
รัฐบาลชุดใหม่ ซึ่งมีพระยาพหลฯ เป็นนายก ได้มีรัฐมนตรีร่วมคณะอยู่ ๑๔ นาย พระยาทรงฯ, พระยาฤทธิ์ฯ และพระประศาสน์ฯ มิได้มีชื่ออยู่ในคณะรัฐมนตรีด้วยเลย ที่นายทหาร ๓ ท่านไม่ได้เข้าร่วมรัฐบาลชุดนี้ก็มีการกล่าวกันว่า นายทหารเหล่านี้เป็นพวกที่ร่วมคิดกับพระยามโนฯ และพรรคพวกจะนำระบบราชาธิปไตยกับมาใช้ในเมืองไทยอีก ข้อกล่าวหาอันนี้เห็นจะเชื่อได้ยาก เพราะถ้าเป็นเช่นนั้นจริง นายทหารอาวุโสทั้ง ๓ ก็ดูจะเป็นคนไม่มีหลักการและอุดมการณ์เสียเลย ยามที่ทำการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. ๒๔๗๕ ก็อ้างสาเหตุเอาความไม่ดีในระบอบราชาธิปไตยเป็นสำคัญ ครั้นยามนี้จะมามีความเห็นบิดเบี้ยวเป็นอื่นไปได้หรือ หากอ่านดูความเห็นของพระยาทรงฯ ที่เขียนเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๒ ไว้ในบันทึกเกี่ยวกับการปฏิวัติ พ.ศ. ๒๔๗๕ และความเห็นของพระประศาสน์พิทยายุทธที่ให้สัมภาษณ์ในตอนหลังเกี่ยวกับแผนการปฏิวัติ พ.ศ. ๒๔๗๕[12] ก็จะเห็นว่า บุคคลทั้งสองที่กล่าวนามมานี้ยังมิได้มีความเห็นที่จะกลับไปชื่นชมระบอบราชาธิปไตยอย่างที่ถูกกล่าวหาเลย
เมื่อไม่ได้ร่วมในคณะรัฐบาลและมิได้มีตำแหน่งใดมัดตัว ในระยะเวลานี้เจ้าคุณทรงฯ และพระประศาสน์ฯ จึงได้เดินทางออกไปต่างประเทศ ขณะที่เดินทางไปถึงเมืองโคลัมโบ ทางเมืองไทยก็มีเหตุการณ์สำคัญที่ถูกเรียกว่า “กบฏบวรเดช” เกิดขึ้นในเดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๔๗๖ นายพลเอก พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช กับพระยาศรีสิทธิ์สงคราม ได้นำทหารหัวเมืองบุกเข้ามาจะยึดกรุงเทพฯ จึงเกิดการรบพุ่งกันอย่างหนัก ในที่สุดฝ่ายรัฐบาลกลางก็ปราบทหารหัวเมืองได้ การที่มีการกบฏเกิดขึ้นในระหว่างที่เจ้าคุณทรงฯ กำลังเดินทางอยู่นอกประเทศนั้น นับว่าเป็นผลดีแก่ตัวท่านเองนัก มิฉะนั้น ท่านอาจถูกเหมาว่าเป็นพรรคพวกของฝ่ายกบฏไป แม้จะไม่ได้อยู่ในประเทศ ก็ยังมีเสียงว่า เจ้าคุณทรงฯ รู้เรื่องกบฏก่อนแล้ว ด้วยเป็นเพื่อนสนิทกับพระยาศรีสิทธิ์สงคราม เรื่องความสนิทสนมกับพระยาศรีสิทธิ์ฯ นั้นว่า ที่จริงเจ้าคุณพหลฯ นายกรัฐมนตรีในตอนนั้น ก็มีความสนิทสนมไม่น้อยกว่าใครเลย ในวันปฏิวัติ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ พระยาสิทธิ์ฯ ก็ได้ไปพักซ่อนตัวอยู่ที่บ้านเจ้าคุณพหลฯ ทั้งวัน ฉะนั้น การที่จะมาอ้างความรู้จักสนิทสนมระหว่างเจ้าคุณทรงฯ กับพระยาศรีสิทธิ์ฯ แต่เพียงอย่างเดียว แล้วทำให้เจ้าคุณทรงฯ จะต้องทราบเรื่องการกบฏล่วงหน้า จึงดูจะไม่เป็นเหตุผลที่เพียงพอ และเมื่อการกบฏถูกปราบไปเรียบร้อย เจ้าคุณทรงฯ ก็กลับมาอยู่ในประเทศไทยอีก
นายพันเอก พระยาทรงสุรเดช ได้กลับเข้ารับราชการอีกครั้งในเดือนเมษายน พ.ศ. ๒๔๗๙ ขณะเมื่อนายพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา เป็นายกรัฐมนตรี ในตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนรบ ที่จังหวัดเชียงใหม่ ณ ที่นี้ได้มีเหตุการณ์ทางการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องอีก คือ ในวันที่ ๒๘ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๑ ขณะที่เจ้าคุณทรงฯ ได้ไปฝึกหัดนายทหารของโรงเรียนรบอยู่ที่จังหวัดราชบุรี ทางราชการ (สมัยรัฐบาลนายพันเอก หลวงพิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี) ได้ส่งนายทหารบกกลุ่มหนึ่งซึ่งมีนายพันเอก หลวงวิจักร์กลยุทธ กับนายพันตรี ขุนนันทโยธิน เดินทางเอาคำสั่งปลดไปแจ้งให้ทราบ ในคำสั่งนั้นมีข้อความว่า
“. . .ให้นายทหารต่อไปนี้ออกจากราชการ
๑.พ.อ. พระยาทรงสุรเดช ผู้อำนวยการโรงเรียนรบ
๒.ร.อ. ขุนคลี่พลพฤนท์ นายทหารประจำ บก. โรงเรียนรบ
๓.ร.อ. สำรวจ กาญจนสิทธิ์ นายทหารคนสนิทของผู้อำนวยการโรงเรียนรบ
ทั้ง ๓ นายนี้เป็นนายทหารพ้นราชการ ไม่มีเบี้ยหวัดบำนาญ. . .”[13]
คำสั่งที่ให้นายทหาร ๓ นายพ้นจากราชการครั้งนี้ออกมาพร้อมกับการจับกุมผู้ต้องหากบฏจำนวน ๔๐ กว่านาย[14]
เมื่อเห็นว่าเหตุการณ์ทางการเมืองกำลังเลวร้ายเช่นนี้ เจ้าคุณทรงฯ จึงจำต้องขอเดินทางออกนอกประเทศไปยังเขมร ซึ่งท่านก็ได้รับจดหมายตอบจากนายพันเอก หลวงพรหมโยธี รัฐมนตรีลอย มีเนื้อความต่อไปนี้
วันที่ ๒๙ ม.ค. ๒๔๘๑เรียนใต้เท้าที่เคารพจดหมายผมได้รับแล้ว เรื่องการไปเขมรนั้นไม่ขัดข้อง แต่ให้ปฏิบัติตามระเบียบการออกนอกประเทศและหน้าที่นายทหารนอกประจำการ
การรายงานตนเองตามระเบียบนั้น จะรายงานทางหนังสือ⟨ก็⟩ได้
ด้วยความนับถือ
พรหมโยธี[15]
เมื่อได้รับอนุญาต เจ้าคุณทรงฯ กับ ร.อ. สำรวจกาญจนสิทธิ์ นายทหารคนสนิทของท่าน จึงเดินทางไปสู่เขมรโดยมีตำรวจนำส่งด้วยพาหนะรถไฟผ่านทางอรัญประเทศ[16] ครั้นถึงกรุงพนมเปญแล้ว เจ้าคุณทรงฯ ได้มีจดหมายมาถึงประธานสภาฯ แจ้งให้ทราบว่า ขอลาออกจากตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภท ๒ เจ้าคุณทรงฯ อยู่ที่เมืองเขมรได้ไม่นาน ทางตำรวจเขมรก็ไม่ยอมให้อยู่ ได้ขอให้ท่านเดินทางไปอยู่ไซ่ง่อนที่เวียตนามแทน และเจ้าคุณทรงฯ ก็อยู่ที่ไซ่ง่อนตลอดมา โดยต้องขายของเก่าของตนและของภรรยาที่มีอยู่ออกไปเพื่อจะได้มีเงินมาใช้สอย แต่ท่านก็ไม่มีของเก่าพอที่จะขายได้มากมายนัก ต่อมาเจ้าคุณทรงฯ กับครอบครัวได้รับอนุญาตให้กลับมาอยู่ที่กรุงพนมเปญ ที่เมืองเขมรในคราวนี้ เจ้าคุณและคุณหญิงได้คิดที่จะทำมาค้าขาย โดยเจ้าคุณทรงฯ กับคุณหญิงตกลงใจทำขนมกล้วยขายเป็นการหารายได้มาใช้จ่ายในครอบครัว นอกจากนั้นเจ้าคุณทรงฯ ยังรับซ่อมรถจักรยานอีกด้วย
เจ้าคุณทรงฯ ผู้นำชั้นหัวกะทิของคณะผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. ๒๔๗๕ ได้เผชิญกับความลำบากอย่างชนิดพลัดบ้านพลัดแผ่นดินอยู่ที่กรุงพนมเปญ อยู่จนถึงวันที่ ๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๗ จึงได้สิ้นชีวิตไปด้วยโรคโลหิตเป็นพิษ เนื่องจากก่อนหน้าที่ท่านจะเสียชีวิต เจ้าคุณทรงฯ เป็นผู้ที่มีสุขภาพและอนามัยแข็งแรงดี ฉะนั้น จึงมีเสียงพูดกันเป็นเชิงว่า เจ้าคุณทรงฯ ถูกวางยาจากศัตรูทางการเมือง แต่เรื่องนี้ก็ยังพิสูจน์ไม่ได้แน่นอน
ครั้นเมื่อเจ้าคุณทรงฯ วายชนม์แล้ว กระดูกของท่านจึงได้มีสิทธิ์ที่จะกลับเข้ามายังราชอาณาจักรสยาม บุคคลสำคัญของรัฐบาลในระยะเวลานั้นได้ให้การต้อนรับอย่างสมเกียรติ แต่ก็เป็นการต้อนรับที่มีขึ้นเมื่อเจ้าคุณทรงฯ ตายแล้ว หมดเขี้ยวเล็บแล้วนั่นเอง
- ↑ เทพ วรรณรัต มันสมองของโลก กรุงเทพฯ, ประมวลสาสน์, ๒๕๐๒, หน้า ๖๖๓
- ↑ เพิ่งอ้าง, หน้า ๖๖๔
- ↑ เหตุการณ์ในวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕ ขอให้ดูได้จากบันทึกพระยาทรงสุรเดชฯ ในตอนถัดไป
- ↑ สำนักงานหนังสือพิมพ์และเสรีภาพ นายหนหวย เจ้าฟ้าประชาธิปก, กรุงเทพฯ, ๒๔๙๑, หน้า ๑๓๑–๑๓๓
ในหนังสือของคณะผู้ก่อการที่หลวงศุภชลาศัยนำไปทูลเกล้า⟨ฯ⟩ ถวายพระปกเกล้าฯ เพื่อเชิญเสด็จกลับพระนคร ก็ลงนามผู้รักษาพระนครฝ่ายทหารสามนาย มี- นายพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา
- นายพันเอก พระยาทรงสุรเดช
- นายพันเอก พระยาฤทธิ์อัคเนย์
- ↑ สำนักงานอำนวยการหนังสือ “รัฐสภาสาร” สมุดภาพสมาชิกรัฐสภา, กรุงเทพฯ, ๒๕๐๒
- ↑ ดูรายละเอียดจาก เดือน บุนนาค ท่านปรีดี รัฐบุรุษอาวุโสผู้วางแผนเศรษฐกิจไทยคนแรก กรุงเทพฯ, เสริมวิทย์บรรณาคาร, ๒๕๐๐
- ↑ เพิ่งอ้าง หน้า ๑๕๖–๑๙๔
- ↑ “วิเทศกรณีย์” นามแฝง ความเป็นมาแห่งประชาธิปไตยของไทย, กรุงเทพฯ, ผ่านฟ้าพิทยา, ๒๕๑๑ หน้า ๖๒
- ↑ “ศุภวิทย์” กับ “นต เชื้อชวลิต” นามแฝง, เมืองไทยในระบอบรัฐสภา, กรุงเทพฯ, บพิธ, ๒๕๑๐ หน้า ๑๙–๒๐
- ↑ อ้างแล้ว ความเป็นมาแห่งประชาธิปไตยไทย, หน้า ๑๕๙
- ↑ “วิเทศกรณีย์” นามแฝง, ชีวิตและการต่อสู้ของ ๕๐ รัฐมนตรี, กรุงเทพฯ, ๒๕๐๖ หน้า ๙๘๗–๙๙๐
- ↑ ดูบันทึกพระยาทรงฯ ในหนังสือเล่มนี้ และดู จำรัส สุขุมวัฒนะ, แผนการปฏิวัติ เล่มโดย พล.ต. พระประศาสน์พิทยายุทธ, กรุงเทพฯ, ๒๔๙๑
- ↑ ป. แก้วมาตย์, บันทึกพระยาทรงสุรเดช, กรุงเทพฯ, ๒๔๙๐, หน้า ๓๖
- ↑ อ่านรายละเอียดเกี่ยวกับการกบฏคราวนี้ในพายัพ โรจนวิภาต, บันทึกเกี่ยวกับคดีกบฏ ๒๔๘๑ (ชื่อเรื่องแน่นอนไม่อาจยืนยันได้ เพราะฉบับที่หาได้นั้นไม่มีชื่อ) กรุงเทพฯ, ๒๔๘๘
- ↑ อ้างแล้ว ป. แก้วมาตย์, หน้า ๔๕
- ↑ การที่ขับไล่ให้เจ้าคุณทรงฯ ออกนอกประเทศครั้งนี้อาจเนื่องมาจากหลวงพิบูลฯ กับเจ้าคุณทรงฯ มีความคิดขัดกัน และในตอนนั้นบุคคลที่มีทีท่าและความสามารถที่จะทาบรัศมีหลวงพิบูลฯ เพื่อชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีก็มีเพียงเจ้าคุณทรงฯ คนเดียวเท่านั้น หนังสือพิมพ์ชื่อ “ชุมชน” ซึ่ง ร.ท. ณ เณร ตาละลักษณ์ เป็นบรรณาธิการ ได้เคยลงภาพทั้งหลวงพิบูลฯ ว่า เป็นผู้ที่อาจได้ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และเมื่อมีการจับกบฏปี ๒๔๘๑ ก็มีการกล่าวกันว่า พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนชัยนาทนเรนทร คิดจะล้มล้างรัฐบาล และอัญเชิญพระปกเกล้าขึ้นเป็นกษัตริย์ เชิญพระยาทรงฯ เป็นนายกรัฐมนตรี
ดูรายละเอียดใน อ้างแล้ว พายัพ โรจนวิภาต หน้า ๑๑๖, ๑๒๐