ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 303 ลงวันที่ 13 ธันวาคม 2515

ประกาศของคณะปฏิวัติ
ฉบับที่ ๓๐๓

โดยที่ปัจจุบันนี้การรบ การสนับสนุนกำลังรบ ตลอดจนเครื่องมือเครื่องใช้ต่าง ๆ ที่ได้กำหนดไว้ในกฎอัยการศึก ได้วิวัฒนาการไปกว่าแต่ก่อน บทบัญญัติของกฎอัยการศึกซึ่งได้ตราขึ้นใช้บังคับตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๕๗ ย่อมคลุมไม่ถึงการกระทำและเครื่องมือเครื่องใช้บางอย่างในปัจจุบัน ทั้งในการปราบปรามและสนับสนุนการปฏิบัติการของทหาร โดยเฉพาะในการรบนอกแบบ ควรให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารเพิ่มขึ้น เพื่อให้การปฏิบัติการของทหารมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และควรกำหนดวิธีการขั้นต้นให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารมีอำนาจกักตัวบุคคลผู้เป็นราชศัตรู หรือฝ่าฝืนต่อกฎอัยการศึกหรือคำสั่งของเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหาร ไว้เพื่อการสอบถามหรือตามความจำเป็นของทางราชการได้ เพื่อที่จะดำเนินการขั้นต่อไปตามควรแก่กรณี จำเป็นต้องแก้ไขเพิ่มเติมกฎอัยการศึก พ.ศ. ๒๔๕๗ หัวหน้าคณะปฏิวัติจึงมีคำสั่ง ดังต่อไปนี้

ข้อให้ยกเลิกความในมาตรา ๖ แห่งกฎอัยการศึก พ.ศ. ๒๔๕๗ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก (ฉบับที่ ๓) พุทธศักราช ๒๔๘๗ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

"มาตรา ๖ ในเขตที่ประกาศใช้กฎอัยการศึก ให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารมีอำนาจเหนือเจ้าหน้าที่ฝ่ายพลเรือนในส่วนที่เกี่ยวกับการยุทธ การระงับปราบปราม หรือการรักษาความสงบเรียบร้อย และเจ้าหน้าที่ฝ่ายพลเรือนต้องปฏิบัติตามความต้องการของเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหาร"

ข้อให้ยกเลิกความในมาตรา ๗ แห่งกฎอัยการศึก พ.ศ. ๒๔๕๗ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก (ฉบับที่ ๓) พุทธศักราช ๒๔๘๗ พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พุทธศักราช ๒๔๕๗ พุทธศักราช ๒๔๘๘ และพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๐๒ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

"มาตรา ๗ ในเขตที่ประกาศใช้กฎอัยการศึก ศาลพลเรือนคงมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีได้อย่างปกติ เว้นแต่คดีที่อยู่ในอำนาจของศาลอาญาศึก และผู้มีอำนาจประกาศใช้กฎอัยการศึกมีอำนาจประกาศให้ศาลทหารพิจารณาพิพากษาคดีอาญาซึ่งการกระทำผิดเกิดขึ้นในเขตที่ประกาศใช้กฎอัยการศึกและในระหว่างที่ใช้กฎอัยการศึกตามที่ระบุไว้ในบัญชีต่อท้ายพระราชบัญญัตินี้ทุกข้อ หรือแต่บางข้อ และหรือบางส่วนของข้อใดข้อหนึ่งได้ ทั้งมีอำนาจในการแก้ไขเพิ่มเติมหรือยกเลิกประกาศดังกล่าวนั้นด้วย

ประกาศให้ศาลทหารมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีตามความในวรรคแรก ให้มีผลบังคับเฉพาะคดีที่การกระทำผิดเกิดขึ้นตั้งแต่วันเวลาที่ระบุไว้ในประกาศ วันเวลาที่ระบุนั้นจะเป็นวันเวลาที่ออกประกาศนั้นหรือภายหลังก็ได้ ประกาศเช่นว่านี้ให้โฆษณาในราชกิจจานุเบกษาด้วย

นอกจากกรณีดังกล่าวแล้ว ถ้าคดีอาญาใดที่เกิดขึ้นในเขตที่ประกาศใช้กฎอัยการศึกมีเหตุพิเศษเกี่ยวกับความมั่นคงของประเทศหรือความสงบเรียบร้อยของประชาชน ผู้บัญชาการทหารสูงสุดจะสั่งให้พิจารณาพิพากษาคดีอาญานั้นในศาลทหารก็ได้"

ข้อให้ยกเลิกความในมาตรา ๙ แห่งกฎอัยการศึก พ.ศ. ๒๔๕๗ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

"มาตรา ๙ การตรวจค้นนั้น ให้มีอำนาจที่จะตรวจค้น ดังต่อไปนี้

(๑)ที่จะตรวจค้นบรรดาสิ่งซึ่งจะเกณฑ์ หรือต้องห้าม หรือต้องยึด หรือจะต้องเข้าอาศัย หรือมีไว้ในครอบครองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทั้งมีอำนาจที่จะตรวจค้นได้ไม่ว่าที่ตัวบุคคล ในยานพาหนะ เคหะสถาน สิ่งปลูกสร้าง หรือที่ใด ๆ และไม่ว่าเวลาใด ๆ ทั้งสิ้น

(๒)ที่จะตรวจข่าวสาร จดหมาย โทรเลข หีบ ห่อ หรือสิ่งอื่นใด ที่ส่งหรือมีไปมาถึงกันในเขตที่ประกาศใช้กฎอัยการศึก

(๓)ที่จะตรวจหนังสือ สิ่งพิมพ์ หนังสือพิมพ์ ภาพ โฆษณา บทหรือคำประพันธ์"

ข้อให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๑ แห่งกฎอัยการศึก พ.ศ. ๒๔๕๗ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

"มาตรา ๑๑ การห้ามนั้น ให้มีอำนาจที่จะห้ามได้ ดังนี้

(๑)ที่จะห้ามมั่วสุมประชุมกัน

(๒)ที่จะห้ามออก จำหน่าย จ่ายหรือแจก ซึ่งหนังสือ สิ่งพิมพ์ หนังสือพิมพ์ ภาพ บทหรือคำประพันธ์

(๓)ที่จะห้ามโฆษณา แสดงมหรสพ รับหรือส่งซึ่งวิทยุ วิทยุกระจายเสียง หรือวิทยุโทรทัศน์

(๔)ที่จะห้ามใช้ทางสาธารณะเพื่อการจราจร ไม่ว่าจะเป็นทางบก ทางน้ำ หรือทางอากาศ รวมถึงทางรถไฟและทางรถรางที่มีรถเดินด้วย

(๕)ที่จะห้ามมีหรือใช้เครื่องมือสื่อสารหรืออาวุธ เครื่องอุปกรณ์ของอาวุธ และเคมีภัณฑ์หรือสิ่งอื่นใดที่มีคุณสมบัติทำให้เกิดอันตรายแก่บุคคล สัตว์ พืช หรือทรัพย์สิน หรือที่อาจนำไปใช้ทำเป็นเคมีภัณฑ์ หรือสิ่งอื่นใดที่มีคุณสมบัติดังกล่าวได้

(๖)ที่จะห้ามบุคคลออกนอกเคหะสถานภายในระหว่างระยะเวลาที่กำหนด

(๗)ที่จะห้ามบุคคลเข้าไปหรืออาศัยอยู่ในเขตท้องที่ใดซึ่งเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารเห็นว่า เป็นการจำเป็นเพื่อการยุทธ การระงับปราบปราม หรือการรักษาความสงบเรียบร้อย และเมื่อได้ประกาศห้ามเมื่อใดแล้ว ให้ผู้ซึ่งอาศัยอยู่ในเขตนั้นออกไปจากเขตนั้นภายในกำหนดเวลาที่ได้ประกาศกำหนด

(๘)ที่จะห้ามบุคคลกระทำหรือมีซึ่งกิจการหรือสิ่งอื่นใดได้ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมได้กำหนดไว้ว่าควรต้องห้ามในเวลาที่ได้มีการประกาศใช้กฎอัยการศึก"

ข้อให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา ๑๕ ทวิ แห่งกฎอัยการศึก พ.ศ. ๒๔๕๗

"มาตรา ๑๕ ทวิ ในกรณีที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารมีเหตุอันควรสงสัยว่า บุคคลใดจะเป็นราชศัตรู หรือได้ฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติของพระราชบัญญัตินี้ หรือต่อคำสั่งของเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหาร ให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารมีอำนาจกักตัวบุคคลนั้นไว้เพื่อการสอบถามหรือตามความจำเป็นของทางราชการทหารได้ แต่ต้องกักไว้ไม่เกินกว่า ๗ วัน"

ข้อประกาศของคณะปฏิวัติฉบับนี้ ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

  • ประกาศ ณ วันที่ ๑๓ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๑๕
  • จอมพล ถ. กิตติขจร
  • หัวหน้าคณะปฏิวัติ

บรรณานุกรม

แก้ไข
 

งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตามมาตรา 7 (2) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า

"มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
(1)ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
(2)รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
(3)ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
(4)คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
(5)คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"