ประกาศพระราชบัญญัติและพระราชกำหนดต่าง ๆ รัชกาลที่ 5/เล่ม 3/เรื่อง 1
มีพระบรมราชโองการในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ดำรัสเหนือเกล้าฯ ให้ประกาศให้ทราบทั่วกันว่า พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย นำความกราบบังคมทูลพระกรุณาทรงทราบฝ่าลอองธุลีพระบาทว่า ราษฎรในหัวเมืองมณฑลต่าง ๆ มีคดีพิพาทด้วยแย่งชิงที่สวนที่นากันค้างอยู่ในโรงศาลหัวเมืองหลายเรื่องหลายราย ในคดีเหล่านั้นบางเรื่องพิจารณาได้ความจริงว่า ฝ่ายหนึ่งได้ขายฝากได้จำนำที่ไร่ที่สวนที่นาไว้ โดยมีบริคณห์สัญญาซึ่งทำไว้ต่อกันเปนหลักฐาน แต่เอาโฉนดตราแดงตราจองไปมอบให้ไว้แก่ผู้รับจำนำผู้รับซื้อฝากเปนหลักทรัพย์ ครั้นผู้พิพากษาในศาลนั้น ๆ จะพิพากษาให้ผู้จำนำผู้ขายากไถ่ได้ ก็เกรงจะผิดด้วยประกาศพระราชบัญญัติในรัชกาลที่ ๔ ซึ่งว่าด้วยการวิวาทด้วยการขายสวนขายนา ให้ตัดสินให้เปนสิทธิ์แก่ผู้ถือโฉนดตราแดงตราจอง ครั้นจะตัดสินให้เปนสิทธิ์แก่ผู้ที่ได้โฉนดตราแดงตราจองไว้ในมือเล่า ก็ได้ความตามบริคณห์สัญญาว่า ทั้งสองฝ่ายได้ยินยอมกันไว้ให้ไถ่ได้ดังการขายฝากแลจำนำทรัพย์อย่างอื่น ๆ เปนการขัดข้องอยู่ดังนี้ ขอรับพระราชทานเรียนพระราชปฏิบัติ
ทรงพระราชดำริห์ว่า ประกาศที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลที่ ๔ ทรงตั้งขึ้นนั้นก็ย่อมเปนไปตามเหตุผลที่ใช้กันชุกชุมอยู่ในกาลสมัยนั้น คือ ทำหนังสือบริคณห์สัญญากันด้วยกระดาษข่อยเส้นดินสอ ไม่มีแบบสัญญา แล้วแต่จะตกลงสัญญากัน เปนต้น ความที่เปนอยู่ในเวลานั้นโดยมากก็คือผู้ขายฝากผู้จำนำไม่อยากเสียดอกเบี้ยฤๅอยากเสียแต่น้อย จึงได้เอาน่าโฉนดตราแดงตราจองไปให้ไว้ไม่มีกำหนดไถ่คืน ฝ่ายผู้รับเห็นประโยชน์ในการที่รับไว้โดยราคาถูก ๆ แลได้เก็บผลประโยชน์อันเกิดขึ้นแต่ที่สวนที่นานั้น จึงได้มีผู้รับจำนำเช่นนี้มากขึ้น บางรายก็เอาน่าโฉนดตราแดงตราจองไปยึดไว้บ้าง บางรายก็ยึดไว้แต่หนังสือบริคณห์สัญญาบ้าง เมื่อขายฝากฤๅจำนำกันด้วยมีหนังสือบริคณห์สัญญากันเช่นนี้ ผู้ขายฝากฤๅผู้จำนำก็มักจะทิ้งไว้โดยมาก ครั้นที่ดินมีราคามากขึ้นแล้ว ผู้ที่ขายฝากแลผู้ที่จำนำเหล่านี้กลับมาฟ้องร้องขอไถ่คืน ฝ่ายผู้ที่รับไว้ก็ถือว่าในสัญญาไม่มีกำหนดเวลาให้ไถ่ ฤๅผู้ที่ได้โฉนดตราแดงตราจองไว้ก็ถือว่าเปนสิทธิ์ของตน คดีย่อมเกิดขึ้นในระหว่างผู้ขายฝาก ผู้จำนำ กับผู้รับซื้อฝาก แลผู้รับจำนำ เช่นนี้โดยมาก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลที่ ๔ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า ถ้ามีคดีวิวาทกันด้วยเรื่องขายฝากฤๅจำนำที่สวนที่นา ให้ตัดสินให้เปนสิทธิ์แก่ผู้ที่ได้โฉนดตราแดงตราจองไว้ ดังนี้ก็เพื่อทรงพระราชดำริห์จะตัดทางวิวาทระงับอรรถคดีของราษฎรให้ถูกต้องแก่ความเปนไปในกาลสมัยนั้น
ครั้นมาในรัชกาลปัตยุบันนี้ การขายฝากก็เลิกน้อยไป การจำนำก็มีหนังสือบริคณห์สัญญาทำต่อเจ้าพนักงานอำเภอกำนันมั่นคงขึ้น การซื้อขายแลจำนำที่ดินเปลี่ยนแปลงไปกว่าแต่ก่อนเปนหลายประการ ประกาศในรัชกาลที่ ๔ นั้นจึงขัดกับความเปนไปในสมัยนี้ สมควรจะยกเลิกเสียได้
จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ตราเปนพระราชบัญญัติไว้สืบไปดังนี้
มาตรา๑พระราชบัญญัตินี้ให้เรียกว่า พระราชบัญญัติการขายฝากแลการจำนำที่ดิน รัตนโกสินทรศก ๑๑๕ ให้ใช้ได้ตั้งแต่วันที่ได้ลงในพระราชบัญญัตินี้เปนต้นไป
มาตรา๒ให้ยกเลิกประกาศในรัชกาลที่ ๔ ที่ว่าด้วยการขายฝากแลการจำนำที่สวนที่นา ให้ตัดสินให้ที่เปนสิทธิ์แก่ผู้ที่ได้โฉนดตราแดงตราจองไว้ ซึ่งลงวันอาทิตย์ เดือน ๘ แรม ๑๑ ค่ำ ปีขาน อัฐศก จุลศักราช ๑๒๒๘ ฉบับหนึ่ง กับประกาศเพิ่มเติม ซึ่งลงวันศุกร เดือน ๙ แรม ๘ ค่ำ ปีเถาะ นพศก จุลศักราช ๑๒๒๙ ฉบับหนึ่ง นั้นเสีย
มาตรา๓บรรดาคดีที่พิพาทกันด้วยเรื่องขายฝากแลจำนำที่ดินซึ่งคงค้างโรงศาลอยู่ก็ดีฤๅที่จะเกิดขึ้นใหม่ก็ดี ให้ผู้พิพากษา ๆ ตามลักษณขายฝาก ลักษณจำนำ แลลักษณบริคณห์สัญญา แลอื่น ๆ อันมีอยู่ในพระราชกำหนดกฎหมายที่คงใช้อยู่นั้นทุกประการ
ประกาศมาณวันที่ ๒๗ มีนาคม รัตนโกสินทรศก ๑๑๕ เปนวันที่ ๑๐๓๖๕ ในรัชกาลปัตยุบันนี้