ประกาศพระราชบัญญัติและพระราชกำหนดต่าง ๆ รัชชกาลที่ 8/เล่ม 2/เรื่อง 32
มาตรา๑๕๙๙เมื่อบุคคลใดตาย มฤดกของบุคคลนั้นตกทอดแก่ทายาท
ทายาทอาจเสียไปซึ่งสิทธิในมฤดกได้แต่โดยบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่น
มาตรา๑๖๐๐ภายใต้บังคับของบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ กองมฤดกของผู้ตาย ได้แก่ ทรัพย์สินทุกชะนิดของผู้ตาย ตลอดทั้งสิทธิ หน้าที่ และความรับผิดต่าง ๆ เว้นแต่ตามกฎหมายหรือว่าโดยสภาพแล้วเป็นการฉะเพาะตัวของผู้ตายโดยแท้
มาตรา๑๖๐๑ทายาทไม่จำต้องรับผิดเกินกว่าทรัพย์มฤดกที่ตกทอดได้แก่ตน
มาตรา๑๖๐๒เมื่อบุคคลใดต้องถือว่าถึงแก่ความตายตามความในมาตรา ๖๒ แห่งประมวลกฎหมายนี้ มฤดกของบุคคลนั้นตกทอดแก่ทายาท
ถ้าพิสูจน์ได้ว่า บุคคลนั้นยังคงมีชีวิตอยู่ หรือตายในเวลาอื่นผิดไปจากเวลาดั่งระบุไว้ในคำสั่งที่สั่งให้เป็นคนสาบศูนย์ ให้ใช้บทบัญญัติมาตรา ๖๖ แห่งประมวลกฎหมายนี้บังคับแก่ทายาทของบุคคลนั้น
มาตรา๑๖๐๓กองมฤดกย่อมตกทอดแก่ทายาทโดยสิทธิตามกฎหมายหรือโดยพินัยกรรม์
ทายาทที่มีสิทธิตามกฎหมาย เรียกว่า “ทายาทโดยธรรม”
ทายาทที่มีสิทธิตามพินัยกรรม์ เรียกว่า “ผู้รับพินัยกรรม์”
มาตรา๑๖๐๔บุคคลธรรมดาจะเป็นทายาทได้ก็ต่อเมื่อมีสภาพบุคคลหรือสามารถมีสิทธิได้ตามมาตรา ๑๕ แห่งประมวลกฎหมายนี้ ในเวลาที่เจ้ามฤดกถึงแก่ความตาย
เพื่อประโยชน์แห่งมาตรานี้ ให้ถือว่า เด็กที่เกิดมารอดอยู่ภายในสามร้อยสิบวันนับแต่เวลาที่เจ้ามฤดกถึงแก่ความตายนั้น เป็นทารกในครรภ์มารดาอยู่ในเวลาที่เจ้ามฤดกถึงแก่ความตาย
มาตรา๑๖๐๕ทายาทคนใดยักย้ายหรือปิดบังทรัพย์มฤดกเท่าส่วนที่ตนจะได้หรือมากกว่านั้นโดยฉ้อฉลหรือรู้อยู่ว่าตนทำให้เสื่อมประโยชน์ของทายาทคนอื่น ทายาทคนนั้นต้องถูกกำจัดมิให้ได้มฤดกเลย แต่ถ้าได้ยักย้ายหรือปิดบังทรัพย์มฤดกน้อยกว่าส่วนที่ตนจะได้ ทายาทคนนั้นต้องถูกกำจัดมิให้ได้มฤดกฉะเพาะส่วนที่ได้ยักย้ายหรือปิดบังไว้นั้น
มาตรานี้มิให้ใช้บังคับแก่ผู้รับพินัยกรรม์ ซึ่งผู้ตายได้ทำพินัยกรรม์ยกทรัพย์สินให้ฉะเพาะสิ่งฉะเพาะอย่าง ในอันที่จะได้รับทรัพย์สินนั้น
มาตรา๑๖๐๖บุคคลดั่งต่อไปนี้ต้องถูกกำจัดมิให้รับมฤดกฐานเป็นผู้ไม่สมควร คือ
(๑)ผู้ที่ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดว่าได้เจตนากระทำหรือพยายามกระทำให้เจ้ามฤดกหรือผู้มีสิทธิได้รับมฤดกก่อนตนถึงแก่ความตายโดยมิชอบด้วยกฎหมาย
(๒)ผู้ที่ได้ฟ้องเจ้ามฤดกหาว่าทำความผิดโทษประหารชีวิต และตนเองกลับต้องคำพิพากษาถึงที่สุดว่ามีความผิดฐานฟ้องเท็จหรือทำพะยานเท็จ
(๓)ผู้ที่รู้แล้วว่าเจ้ามฤดกถูกฆ่าโดยเจตนา แต่มิได้นำข้อความนั้นขึ้นร้องเรียนเพื่อเป็นทางที่จะเอาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ แต่ข้อนี้มิให้ใช้บังคับถ้าบุคคลนั้นมีอายุยังไม่ครบสิบหกปีบริบูรณ์ หรือเป็นคนวิกลจริตไม่สามารถรู้ผิดชอบ หรือถ้าผู้ที่ฆ่านั้นเป็นสามีภริยา หรือผู้บุพการีหรือผู้สืบสันดานของตนโดยตรง
(๔)ผู้ที่ฉ้อฉลหรือข่มขู่ให้เจ้ามฤดกทำ หรือเพิกถอน หรือเปลี่ยนแปลงพินัยกรรม์แต่บางส่วนหรือทั้งหมดซึ่งเกี่ยวกับทรัพย์มฤดก หรือไม่ให้กระทำการดั่งกล่าวนั้น
(๕)ผู้ที่ปลอม ทำลาย หรือปิดบังพินัยกรรม์แต่บางส่วนหรือทั้งหมด
เจ้ามฤดกอาจถอนข้อกำจัดฐานเป็นผู้ไม่สมควรเสียก็ได้โดยให้อภัยไว้เป็นลายลักษณ์อักษร
มาตรา๑๖๐๗การถูกกำจัดมิให้รับมฤดกนั้นเป็นการฉะเพาะตัว ผู้สืบสันดานของทายาทที่ถูกกำจัดสืบมฤดกต่อไปเหมือนหนึ่งว่าทายาทนั้นตายแล้ว แต่ในส่วนทรัพย์สินซึ่งผู้สืบสันดานได้รับมฤดกมาเช่นนี้ ทายาทที่ว่านั้นไม่มีสิทธิที่จะจัดการและใช้ดั่งที่ระบุไว้ในบรรพ ๕ ลักษณะ ๒ หมวด ๓ แห่งประมวลกฎหมายนี้ ในกรณีเช่นนั้น ให้ใช้มาตรา ๑๕๔๘ บังคับโดยอนุโลม
มาตรา๑๖๐๘เจ้ามฤดกจะตัดทายาทโดยธรรมของตนคนใดมิให้รับมฤดกก็ได้แต่ด้วยแสดงเจตนาชัดแจ้ง
(๑)โดยพินัยกรรม์
(๒)โดยทำเป็นหนังสือมอบไว้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่
ตัวทายาทผู้ถูกตัดมิให้รับมฤดกนั้นต้องระบุไว้ให้ชัดเจน
แต่เมื่อบุคคลใดได้ทำพินัยกรรม์จำหน่ายทรัพย์มฤดกเสียทั้งหมดแล้ว ให้ถือว่า บรรดาทายาทโดยธรรมผู้ที่มิได้รับประโยชน์จากพินัยกรรม์เป็นผู้ถูกตัดมิให้รับมฤดก
มาตรา๑๖๐๙การแสดงเจตนาตัดมิให้รับมฤดกนั้นจะถอนเสียก็ได้
ถ้าการตัดมิให้รับมฤดกนั้นได้ทำโดยพินัยกรรม์ จะถอนเสียได้ก็แต่โดยพินัยกรรม์เท่านั้น แต่ถ้าการตัดมิให้รับมฤดกได้ทำเป็นหนังสือมอบไว้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ การถอนจะทำตามแบบใดแบบหนึ่งดั่งบัญญัติไว้ในมาตรา ๑๖๐๘ (๑) หรือ (๒) ก็ได้
มาตรา๑๖๑๐ถ้ามฤดกตกทอดแก่ผู้เยาว์ หรือบุคคลวิกลจริต หรือบุคคลผู้ไม่สามารถจะจัดทำการงานของตนเองได้ตามความหมายแห่งมาตรา ๓๒ แห่งประมวลกฎหมายนี้ และบุคคลนั้นยังไม่มีผู้แทนโดยชอบธรรม หรือผู้อนุบาล หรือผู้พิทักษ์ เมื่อผู้มีส่วนได้เสียหรือพนักงานอัยการร้องขอ ก็ให้ศาลตั้งผู้ปกครอง ผู้อนุบาล หรือผู้พิทักษ์แล้วแต่กรณี
มาตรา๑๖๑๑ทายาทซึ่งเป็นผู้เยาว์ บุคคลวิกลจริต หรือบุคคลผู้ไม่สามารถจะจัดทำการงานของตนเองได้ตามความหมายแห่งมาตรา ๓๒ แห่งประมวลกฎหมายนี้ จะทำการดั่งต่อไปนี้ไม่ได้ เว้นแต่จะได้รับความยินยอมของบิดามารดา ผู้ปกครอง ผู้อนุบาล หรือผู้พิทักษ์ แล้วแต่กรณี และได้รับอนุมัติจากศาลแล้ว คือ
(๑)สละมฤดก
(๒)รับมฤดกอันมีค่าภาระติดพันหรือเงื่อนไข
มาตรา๑๖๑๒การสละมฤดกนั้นต้องแสดงเจตนาชัดแจ้งเป็นหนังสือมอบไว้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ หรือทำเป็นสัญญาปราณีประนอมยอมความ
มาตรา๑๖๑๓การสละมฤดกนั้นจะทำแต่เพียงบางส่วนหรือทำโดยมีเงื่อนไขหรือเงื่อนเวลาไม่ได้
การสละมฤดกนั้นจะถอนเสียมิได้
มาตรา๑๖๑๔ถ้าทายาทสละมฤดกด้วยวิธีใดโดยที่รู้อยู่ว่า การที่ทำเช่นนั้นจะทำให้เจ้าหนี้ของตนเสียเปรียบ เจ้าหนี้มีสิทธิที่จะร้องขอให้เพิกถอนการสละมฤดกนั้นเสียได้ แต่ความข้อนี้มิให้ใช้บังคับ ถ้าปรากฏว่า ในขณะที่สละมฤดกนั้น บุคคลซึ่งเป็นผู้ได้ลาภงอกแต่การนั้นมิได้รู้เท่าถึงข้อความจริงอันเป็นทางให้เจ้าหนี้ต้องเสียเปรียบนั้นด้วย แต่หากกรณีเป็นการสละมฤดกโดยเสนหา เพียงแต่ทายาทผู้สละมฤดกเป็นผู้รู้ฝ่ายเดียวเท่านั้นก็พอแล้วที่จะขอเพิกถอนได้
เมื่อได้เพิกถอนการสละมฤดกแล้ว เจ้าหนี้จะร้องขอให้ศาลสั่งเพื่อให้ตนรับมฤดกแทนที่ทายาทและในสิทธิของทายาทนั้นก็ได้
ในกรณีเช่นนี้ เมื่อได้ชำระหนี้ของทายาทนั้นให้แก่เจ้าหนี้แล้ว ถ้าส่วนของทายาทนั้นยังมีเหลืออยู่อีก ก็ให้ได้แก่ผู้สืบสันดานของทายาทนั้น หรือทายาทอื่นของเจ้ามฤดก แล้วแต่กรณี
มาตรา๑๖๑๕การที่ทายาทสละมฤดกนั้นมีผลย้อนหลังไปถึงเวลาที่เจ้ามฤดกตาย
เมื่อทายาทโดยธรรมคนใดสละมฤดก ผู้สืบสันดานของทายาทคนนั้นสืบมฤดกได้ตามสิทธิของตน และชอบที่จะได้รับส่วนแบ่งเท่ากับส่วนแบ่งที่ผู้สละมฤดกนั้นจะได้รับ แต่ผู้สืบสันดานนั้นต้องไม่ใช่ผู้ที่บิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้อนุบาล แล้วแต่กรณี ได้บอกสละมฤดกโดยสมบูรณ์ในนามของผู้สืบสันดานนั้น
มาตรา๑๖๑๖ถ้าผู้สืบสันดานของผู้สละมฤดกได้มฤดกมาดั่งกล่าวไว้ในมาตรา ๑๖๑๕ แล้ว ผู้ที่ได้สละมฤดกนั้นไม่มีสิทธิในส่วนทรัพย์สินอันผู้สืบสันดานของตนได้รับมฤดกมา ในอันที่จะจัดการและใช้ดั่งที่ระบุไว้ในบรรพ ๕ ลักษณะ ๒ หมวด ๓ แห่งประมวลกฎหมายนี้ และให้ใช้มาตรา ๑๕๔๘ บังคับโดยอนุโลม
มาตรา๑๖๑๗ผู้รับพินัยกรรม์คนใดสละมฤดก ผู้นั้น รวมตลอดทั้งผู้สืบสันดาน ไม่มีสิทธิจะรับมฤดกที่ได้สละแล้วนั้น
มาตรา๑๖๑๘ถ้าทายาทโดยธรรมผู้ที่ได้สละมฤดกไม่มีผู้สืบสันดานที่จะรับมฤดกได้ หรือผู้รับพินัยกรรม์ได้สละมฤดก ให้ปันส่วนแบ่งของผู้ที่ได้สละมฤดกนั้น ๆ แก่ทายาทอื่นของเจ้ามฤดกต่อไป
มาตรา๑๖๑๙ผู้ใดจะสละหรือจำหน่ายจ่ายโอนโดยประการใดซึ่งสิทธิอันหากจะมีในภายหน้าในการสืบมฤดกผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่นั้นไม่ได้
มาตรา๑๖๒๐ถ้าผู้ใดตายโดยไม่ได้ทำพินัยกรรม์ไว้ หรือทำพินัยกรรม์ไว้แต่ไม่มีผลบังคับได้ ให้ปันทรัพย์มฤดกทั้งหมดแก่ทายาทโดยธรรมของผู้ตายนั้นตามกฎหมาย
ถ้าผู้ใดตายโดยได้ทำพินัยกรรม์ไว้ แต่พินัยกรรม์นั้นจำหน่ายทรัพย์หรือมีผลบังคับได้แต่เพียงบางส่วนแห่งทรัพย์มฤดก ให้ปันส่วนที่มิได้จำหน่ายโดยพินัยกรรม์ หรือส่วนที่พินัยกรรม์ไม่มีผลบังคับให้แก่ทายาทโดยธรรมตามกฎหมาย
มาตรา๑๖๒๑เว้นแต่ผู้ทำพินัยกรรม์จะได้แสดงเจตนากำหนดไว้ในพินัยกรรม์เป็นอย่างอื่น แม้ทายาทโดยธรรมคนใดจะได้รับทรัพย์สินอย่างหนึ่งอย่างใดตามพินัยกรรม์ ทายาทคนนั้นก็ยังมีสิทธิที่จะเรียกเอาส่วนโดยธรรมของตนจากทรัพย์มฤดกส่วนที่ยังไม่ได้จำหน่ายโดยพินัยกรรม์จนเต็มอีกก็ได้
มาตรา๑๖๒๒พระภิกษุนั้นจะเรียกร้องเอาทรัพย์มฤดกในฐานะที่เป็นทายาทโดยธรรมไม่ได้ เว้นแต่จะได้สึกจากสมณเพศมาเรียกร้องภายในกำหนดอายุความตามมาตรา ๑๗๕๔
แต่พระภิกษุนั้นอาจเป็นผู้รับพินัยกรรม์ได้
มาตรา๑๖๒๓ทรัพย์สินของพระภิกษุที่ได้มาในระหว่างเวลาที่อยู่ในสมณเพศนั้น เมื่อพระภิกษุนั้นถึงแก่มรณภาพ ให้ตกเป็นสมบัติของวัดที่เป็นภูมิลำเนาของพระภิกษุนั้น เว้นไว้แต่พระภิกษุนั้นจะได้จำหน่ายไปในระหว่างชีวิตหรือโดยพินัยกรรม์
มาตรา๑๖๒๔ทรัพย์สินใดเป็นของบุคคลก่อนอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ทรัพย์สินนั้นหาตกเป็นสมบัติของวัดไม่ และให้เป็นมฤดกตกทอดแก่ทายาทโดยธรรมของบุคคลนั้น หรือบุคคลนั้นจะจำหน่ายโดยประการใดตามกฎหมายก็ได้
มาตรา๑๖๒๕ถ้าผู้ตายเป็นผู้สมรสแล้ว การคิดส่วนแบ่งและการปันทรัพย์สินระหว่างผู้ตายกับคู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่นั้นให้เป็นไปดั่งนี้
(๑)ในเรื่องส่วนแบ่งในทรัพย์สินระหว่างสามีภริยา ให้อยู่ในบังคับของบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วยการหย่าโดยยินยอมทั้งสองฝ่าย อันมีบทบัญญัติเพิ่มเติมให้บริบูรณ์ในมาตรา ๑๖๓๗ และ ๑๖๓๘ และโดยฉะเพาะ ต้องอยู่ในบังคับแห่งมาตรา ๑๕๑๓ ถึง ๑๕๑๗ แห่งประมวลกฎหมายนี้ แต่การคิดส่วนแบ่งนั้นมีผลตั้งแต่วันที่การสมรสได้สิ้นไปด้วยเหตุความตายนั้น
(๒)ในเรื่องส่วนแบ่งในทรัพย์มฤดกของผู้ตาย ให้อยู่ในบังคับของบทบัญญัติแห่งบรรพนี้ นอกจากมาตรา ๑๖๓๗ และ ๑๖๓๘
มาตรา๑๖๒๖เมื่อได้ปฏิบัติตามมาตรา ๑๖๒๕ (๑) แล้ว ให้คิดส่วนแบ่งทรัพย์มฤดกระหว่างทายาทโดยธรรมดั่งต่อไปนี้
(๑)ทรัพย์มฤดกนั้นให้แบ่งแก่ทายาทตามลำดับและชั้นต่าง ๆ ดั่งที่บัญญัติไว้ในหมวด ๒ แห่งลักษณะนี้
(๒)ส่วนแบ่งอันจะได้แก่ทายาทในลำดับและชั้นต่าง ๆ นั้น ให้แบ่งในระหว่างบรรดาทายาทในลำดับและชั้นนั้น ๆ ดั่งที่บัญญัติไว้ในหมวด ๓ แห่งลักษณะนี้
มาตรา๑๖๒๗บุตรนอกกฎหมายที่บิดาได้รับรองแล้ว และบุตรบุญธรรมนั้น ให้ถือว่าเป็นผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายนี้
มาตรา๑๖๒๘สามีภริยาที่ร้างกันหรือแยกกันอยู่โดยยังมิได้หย่าขาดจากกันตามกฎหมาย มิได้สิ้นไปซึ่งสิทธิโดยธรรมในการสืบมฤดกซึ่งกันและกัน
มาตรา๑๖๒๙ทายาทโดยธรรมมีหกลำดับเท่านั้น และภายใต้บังคับแห่งมาตรา ๑๖๓๐ วรรค ๒ แต่ละลำดับมีสิทธิได้รับมฤดกก่อนหลังดั่งต่อไปนี้ คือ
(๑)ผู้สืบสันดาน
(๒)บิดามารดา
(๓)พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน
(๔)พี่น้องร่วมบิดาหรือร่วมมารดาเดียวกัน
(๕)ปู่ ย่า ตา ยาย
(๖)ลุง ป้า น้า อา
คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่นั้นก็เป็นทายาทโดยธรรมภายใต้บังคับของบทบัญญัติพิเศษแห่งมาตรา ๑๖๓๕
มาตรา๑๖๓๐ตราบใดที่มีทายาทซึ่งยังมีชีวิตอยู่ หรือมีผู้รับมฤดกแทนที่ยังไม่ขาดสาย แล้วแต่กรณี ในลำดับหนึ่ง ๆ ที่ระบุไว้ในมาตรา ๑๖๒๙ ทายาทผู้ที่อยู่ในลำดับถัดลงไปไม่มีสิทธิในทรัพย์มฤดกของผู้ตายเลย
แต่ความในวรรคก่อนนี้มิให้ใช้บังคับในกรณีฉะเพาะที่มีผู้สืบสันดานคนใดยังมีชีวิตอยู่ หรือมีผู้รับมฤดกแทนที่กัน แล้วแต่กรณี และมีบิดามารดายังมีชีวิตอยู่ ในกรณีเช่นนั้น ให้บิดามารดาได้ส่วนแบ่งเสมือนหนึ่งว่าเป็นทายาทชั้นบุตร
มาตรา๑๖๓๑ในระหว่างผู้สืบสันดานต่างชั้นกันนั้น บุตรของเจ้ามฤดกอันอยู่ในชั้นสนิทที่สุดเท่านั้นมีสิทธิรับมฤดก ผู้สืบสันดานที่อยู่ในชั้นถัดลงไปจะรับมฤดกได้ก็แต่โดยอาศัยสิทธิในการรับมฤดกแทนที่
มาตรา๑๖๓๒ภายใต้บังคับแห่งมาตรา ๑๖๒๙ วรรคสุดท้าย การแบ่งส่วนมฤดกของทายาทโดยธรรมในลำดับญาติให้เป็นไปตามบทบัญญัติในส่วนที่ ๑ แห่งหมวดนี้
มาตรา๑๖๓๓ทายาทโดยธรรมในลำดับเดียวกันในลำดับหนึ่ง ๆ ที่ระบุไว้ในมาตรา ๑๖๒๙ นั้น ชอบที่จะได้รับส่วนแบ่งเท่ากัน ถ้าในลำดับหนึ่งมีทายาทโดยธรรมคนเดียว ทายาทโดยธรรมคนนั้นมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งทั้งหมด
มาตรา๑๖๓๔ระหว่างผู้สืบสันดานที่รับมฤดกแทนที่กันในส่วนแบ่งของสายหนึ่ง ๆ ตามบทบัญญัติในลักษณะ ๒ หมวด ๔ นั้น ให้ได้รับส่วนแบ่งมฤดกดั่งนี้
(๑)ถ้ามีผู้สืบสันดานต่างชั้นกัน บุตรของผู้ตายซึ่งอยู่ในชั้นสนิทที่สุดเท่านั้นมีสิทธิรับมฤดก ผู้สืบสันดานในชั้นถัดลงไปจะรับมฤดกได้ก็แต่โดยอาศัยสิทธิในการรับมฤดกแทนที่
(๒)ผู้สืบสันดานในชั้นเดียวกันได้รับส่วนแบ่งเท่ากัน
(๓)ถ้าในชั้นหนึ่งมีผู้สืบสันดานคนเดียว ผู้สืบสันดานคนนั้นมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งทั้งหมด
มาตรา๑๖๓๕ลำดับและส่วนแบ่งของคู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่ในการรับมฤดกของผู้ตายนั้น ให้เป็นไปดั่งต่อไปนี้
(๑)ถ้ามีทายาทตามมาตรา ๑๖๒๙ (๑) ซึ่งยังมีชีวิตอยู่ หรือมีผู้รับมฤดกแทนที่ แล้วแต่กรณี คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่นั้นมีสิทธิได้ส่วนแบ่งเสมือนหนึ่งว่าตนเป็นทายาทชั้นบุตร
(๒)ถ้ามีทายาทตามมาตรา ๑๖๒๙ (๓) และทายาทนั้นยังมีชีวิตอยู่ หรือมีผู้รับมฤดกแทนที่ หรือถ้าไม่มีทายาทตามมาตรา ๑๖๒๙ (๑) แต่มีทายาทตามมาตรา ๑๖๒๙ (๒) แล้วแต่กรณี คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่นั้นมีสิทธิได้รับมฤดกกึ่งหนึ่ง
(๓)ถ้ามีทายาทตามมาตรา ๑๖๒๙ (๔) หรือ (๖) และทายาทนั้นยังมีชีวิตอยู่ หรือมีผู้รับมฤดกแทนที่ หรือมีทายาทตามมาตรา ๑๖๒๙ (๕) แล้วแต่กรณี คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่มีสิทธิได้มฤดกสองส่วนในสาม
(๔)ถ้าไม่มีทายาทดั่งที่ระบุไว้ในมาตรา ๑๖๒๙ คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่นั้นมีสิทธิได้รับมฤดกทั้งหมด
มาตรา๑๖๓๖ถ้าเจ้ามฤดกมีภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายก่อนใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ ๕ หลายคนยังมีชีวิตอยู่ ภริยาเหล่านั้นทั้งหมดรวมกันมีสิทธิได้รับมฤดกตามลำดับชั้นและส่วนแบ่งดั่งระบุไว้ในมาตรา ๑๖๓๕ แต่ในระหว่างกันเอง ให้ภริยาน้อยแต่ละคนมีสิทธิได้รับมฤดกกึ่งส่วนที่ภริยาหลวงจะพึงได้รับ
มาตรา๑๖๓๗ถ้าคู่สมรสฝ่ายใดที่ยังมีชีวิตอยู่เป็นผู้รับประโยชน์ตามสัญญาประกันชีวิต คู่สมรสฝ่ายนั้นมีสิทธิรับจำนวนเงินทั้งหมดที่ได้ตกลงไว้กับผู้รับประกันภัย แต่จำต้องเอาจำนวนเบี้ยประกันภัยเพียงเท่าที่พิสูจน์ได้ว่าสูงกว่าจำนวนเงินที่ผู้ตายจะพึงส่งใช้เป็นเบี้ยประกันภัยได้ตามรายได้หรือฐานะของตนโดยปกติไปชดใช้สินเดิมของคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง หรือสินสมรส แล้วแต่กรณี
ถึงอย่างไรก็ดี จำนวนเงินเบี้ยประกันภัยซึ่งจะพึงส่งคืนตามบทบัญญัติข้างต้นนั้นรวมทั้งสิ้นต้องไม่เกินจำนวนเงินที่ผู้รับประกันภัยได้ชำระให้
มาตรา๑๖๓๘เมื่อคู่สมรสทั้งสองฝ่ายได้ลงทุนออกเงินในการทำสัญญา และตามสัญญานั้นทั้งสองฝ่ายจะต้องได้รับเงินปีในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ร่วมกัน และเมื่อฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดตาย ฝ่ายที่ยังมีชีวิตอยู่ยังจะต้องได้รับเงินปีต่อไปตลอดอายุ ฝ่ายที่ยังมีชีวิตอยู่จำต้องชดใช้สินเดิมของอีกฝ่ายหนึ่ง หรือสินสมรส แล้วแต่กรณี สุดแต่ว่าได้เอาเงินสินเดิมหรือสินสมรสไปใช้ในการลงทุนนั้น เงินที่จะต้องชดใช้สินเดิมหรือสินสมรสดั่งว่านี้ ให้ชดใช้เท่าจำนวนเงินซึ่งผู้จ่ายเงินรายปีจะเรียกให้ใช้เพิ่มขึ้นเป็นพิเศษ เพื่อผู้จ่ายจะได้จ่ายเงินรายปีให้แก่คู่สมรสฝ่ายที่ยังมีชีวิตอยู่นั้นต่อไป
มาตรา๑๖๓๙ถ้าบุคคลใดซึ่งจะเป็นทายาทตามมาตรา ๑๖๒๙ (๑) (๓) (๔) หรือ (๖) ถึงแก่ความตาย หรือถูกกำจัดมิให้รับมฤดกก่อนเจ้ามฤดกตาย ถ้าบุคคลนั้นมีผู้สืบสันดานก็ให้ผู้สืบสันดานรับมฤดกแทนที่ ถ้าผู้สืบสันดานคนใดของบุคคลนั้นถึงแก่ความตายหรือถูกกำจัดมิให้รับมฤดกเช่นเดียวกัน ก็ให้ผู้สืบสันดานของผู้สืบสันดานนั้นรับมฤดกแทนที่ และให้มีการรับมฤดกแทนที่กันฉะเพาะส่วนแบ่งของบุคคลเป็นราย ๆ สืบต่อกันเช่นนี้ไปจนหมดสาย
มาตรา๑๖๔๐เมื่อบุคคลใดต้องถือว่าถึงแก่ความตายตามความในมาตรา ๖๕ แห่งประมวลกฎหมายนี้ ให้มีการรับมฤดกแทนที่กันได้
มาตรา๑๖๔๑ถ้าบุคคลใดซึ่งจะเป็นทายาทตามมาตรา ๑๖๒๙ (๒) หรือ (๕) ถึงแก่ความตาย หรือถูกกำจัดมิให้รับมฤดกก่อนเจ้ามฤดกตาย ถ้ามีทายาทในลำดับเดียวกันยังมีชีวิตอยู่ ก็ให้ส่วนแบ่งทั้งหมดตกได้แก่ทายาทนั้นเท่านั้น ห้ามมิให้มีการรับมฤดกแทนที่กันต่อไป
มาตรา๑๖๔๒การรับมฤดกแทนที่กันนั้นให้ใช้บังคับแต่ในระหว่างทายาทโดยธรรม
มาตรา๑๖๔๓สิทธิที่จะรับมฤดกแทนที่กันนั้นได้ฉะเพาะแก่ผู้สืบสันดานโดยตรง ผู้บุพการีหามีสิทธิดั่งนั้นไม่
มาตรา๑๖๔๔ผู้สืบสันดานจะรับมฤดกแทนที่ได้ต่อเมื่อมีสิทธิบริบูรณ์ในการรับมฤดก
มาตรา๑๖๔๕การที่บุคคลใดสละมฤดกของบุคคลอีกคนหนึ่งนั้นไม่ตัดสิทธิของผู้สละที่จะรับมฤดกแทนที่บุคคลอีกคนหนึ่งนั้นในการสืบมฤดกบุคคลอื่น
มาตรา๑๖๔๖บุคคลใดจะแสดงเจตนาโดยพินัยกรรม์กำหนดการเผื่อตายในเรื่องทรัพย์สินของตนเองหรือในการต่าง ๆ อันจะให้เกิดเป็นผลบังคับได้ตามกฎหมายเมื่อตนตายก็ได้
มาตรา๑๖๔๗การแสดงเจตนากำหนดการเผื่อตายนั้นย่อมทำได้ด้วยคำสั่งครั้งสุดท้ายกำหนดไว้ในพินัยกรรม์
มาตรา๑๖๔๘พินัยกรรม์นั้นต้องทำตามแบบซึ่งระบุไว้ในหมวด ๒ แห่งลักษณะนี้
มาตรา๑๖๔๙ผู้จัดการมฤดกซึ่งผู้ตายตั้งไว้ย่อมมีอำนาจและหน้าที่ในอันที่จะจัดการทำศพของผู้ตาย เว้นแต่ผู้ตายจะได้ตั้งบุคคลอื่นไว้โดยฉะเพาะให้จัดการดั่งว่านั้น
ถ้าผู้ตายมิได้ตั้งผู้จัดการมฤดกหรือบุคคลใดไว้ให้เป็นผู้จัดการทำศพ หรือทายาทมิได้มอบหมายตั้งให้บุคคลใดเป็นผู้จัดการทำศพ บุคคลผู้ได้รับทรัพย์มฤดกโดยพินัยกรรม์หรือโดยสิทธิโดยธรรมเป็นจำนวนมากที่สุด เป็นผู้มีอำนาจและตกอยู่ในหน้าที่ต้องจัดการทำศพ เว้นแต่ศาลจะเห็นเป็นการสมควรตั้งบุคคลอื่นให้จัดการเช่นนั้นในเมื่อบุคคลผู้มีส่วนได้เสียคนใดคนหนึ่งร้องขอขึ้น
มาตรา๑๖๕๐ค่าใช้จ่ายเกิดมีหนี้เป็นคุณแก่บุคคลใดในการจัดการทำศพนั้น ให้เรียกเอาได้ตามบุริมะสิทธิที่ระบุไว้ในมาตรา ๒๕๓ (๒) แห่งประมวลกฎหมายนี้
ถ้าการจัดการทำศพต้องชักช้าไปด้วยประการใด ๆ ให้บุคคลผู้มีอำนาจตามความในมาตราก่อนกันเงินเป็นจำนวนอันสมควรจากสินทรัพย์แห่งกองมฤดกเพื่อใช้ในการนี้ โดยให้บุคคลผู้มีส่วนได้เสียคนใดคนหนึ่งร้องต่อศาลได้ในกรณีที่ไม่ตกลงหรือคัดค้านการกันเงินจำนวนนั้น
กรณีจะเป็นอย่างไรก็ตาม เงินค่าใช้จ่าย หรือเงินที่กันไว้อันเกี่ยวกับการจัดการทำศพนั้น ให้กันไว้ได้แต่เพียงจำนวนตามสมควรแก่ฐานะในสมาคมของผู้ตาย แต่จะต้องไม่เป็นการเสื่อมเสียต่อสิทธิของเจ้าหนี้ของผู้ตาย
มาตรา๑๖๕๑ภายใต้บังคับบทบัญญัติลักษณะ ๔
(๑)เมื่อตามข้อกำหนดพินัยกรรม์ บุคคลใดมีสิทธิที่จะได้รับทรัพย์มฤดกทั้งหมดของเจ้ามฤดก หรือตามเศษส่วน หรือตามส่วนที่เหลือแห่งทรัพย์มฤดก ซึ่งมิได้แยกไว้ต่างหากเป็นพิเศษจากกองมฤดก บุคคลนั้นเรียกว่า ผู้รับพินัยกรรม์ลักษณะทั่วไป และมีสิทธิและความรับผิดเช่นเดียวกับทายาทโดยธรรม
(๒)เมื่อตามข้อกำหนดพินัยกรรม์ บุคคลใดมีสิทธิที่จะได้รับทรัพย์สินฉะเพาะสิ่งฉะเพาะอย่างซึ่งเจาะจงไว้โดยฉะเพาะหรือแยกไว้ต่างหากเป็นพิเศษจากกองมฤดก บุคคลนั้นเรียกว่า ผู้รับพินัยกรรม์ลักษณะฉะเพาะ และมีสิทธิและความรับผิดที่เกี่ยวกับทรัพย์สินเท่านั้น
ในกรณีที่มีข้อสงสัย ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า ผู้รับพินัยกรรม์เป็นผู้รับพินัยกรรม์ลักษณะฉะเพาะ
มาตรา๑๖๕๒บุคคลผู้อยู่ในความปกครองนั้นจะทำพินัยกรรม์ยกทรัพย์มฤดกของตนให้แก่ผู้ปกครองหรือคู่สมรส บุพการี หรือผู้สืบสันดาน หรือพี่น้องของผู้ปกครองไม่ได้ จนกว่าผู้ปกครองจะได้ทำคำแถลงการณ์ปกครองตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๕๗๗ และมาตราต่อ ๆ ไปแห่งประมวลกฎหมายนี้เสร็จสิ้นแล้ว
มาตรา๑๖๕๓ผู้เขียน หรือพะยานในพินัยกรรม์ จะเป็นผู้รับทรัพย์ตามพินัยกรรม์นั้นไม่ได้
ให้ใช้บทบัญญัติในวรรคก่อนบังคับแก่คู่สมรสของผู้เขียนหรือพะยานในพินัยกรรม์ด้วย
พนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งได้จดข้อความแห่งพินัยกรรม์ที่พะยานนำมาแจ้งตามมาตรา ๑๖๖๓ ให้ถือว่าเป็นผู้เขียนพินัยกรรม์ตามความหมายแห่งมาตรานี้
มาตรา๑๖๕๔ความสามารถของผู้ทำพินัยกรรม์นั้นให้พิจารณาแต่ในเวลาที่ทำพินัยกรรม์เท่านั้น
ความสามารถของผู้รับพินัยกรรม์นั้นให้พิจารณาแต่ในเวลาที่ผู้ทำพินัยกรรม์ตายเท่านั้น
มาตรา๑๖๕๕พินัยกรรม์นั้นจะทำได้ก็แต่ตามแบบใดแบบหนึ่งดั่งที่บัญญัติไว้ในหมวดนี้
มาตรา๑๖๕๖พินัยกรรม์นั้นจะทำตามแบบดั่งนี้ก็ได้ กล่าวคือ ต้องทำเป็นหนังสือลงวัน เดือน ปี ในขณะที่ทำขึ้น และผู้ทำพินัยกรรม์ต้องลงลายมือชื่อไว้ต่อหน้าพะยานอย่างน้อยสองคนพร้อมกัน ซึ่งพะยานสองคนนั้นต้องลงลายมือชื่อรับรองลายมือชื่อของผู้ทำพินัยกรรม์ไว้ในขณะนั้น
การขูดลบ ตก เติม หรือการแก้ไขเปลี่ยนแปลงอย่างอื่นซึ่งพินัยกรรม์นั้นย่อมไม่สมบูรณ์ เว้นแต่จะได้ปฏิบัติตามแบบอย่างเดียวกับการทำพินัยกรรม์ตามมาตรานี้
มาตรา๑๖๕๗พินัยกรรม์นั้นจะทำเป็นเอกสารเขียนเองทั้งฉะบับก็ได้ กล่าวคือ ผู้ทำพินัยกรรม์ต้องเขียนด้วยมือตนเองซึ่งข้อความทั้งหมด วัน เดือน ปี และลายมือชื่อของตน
การขูดลบ ตก เติม หรือการแก้ไขเปลี่ยนแปลงอย่างอื่นซึ่งพินัยกรรม์นั้นย่อมไม่สมบูรณ์ เว้นแต่ผู้ทำพินัยกรรม์จะได้ทำด้วยมือตนเอง และลงลายมือชื่อกำกับไว้
บทบัญญัติมาตรา ๙ แห่งประมวลกฎหมายนี้ มิให้ใช้บังคับแก่พินัยกรรม์ที่ทำขึ้นตามมาตรานี้
มาตรา๑๖๕๘พินัยกรรม์นั้น จะทำเป็นเอกสารฝ่ายเมืองก็ได้ กล่าวคือ
(๑)ผู้ทำพินัยกรรม์ต้องไปแจ้งข้อความที่ตนประสงค์จะให้ใส่ไว้ในพินัยกรรม์ของตนแก่กรมการอำเภอต่อหน้าพะยานอีกอย่างน้อยสองคนพร้อมกัน
(๒)กรมการอำเภอต้องจดข้อความที่ผู้ทำพินัยกรรม์แจ้งให้ทราบนั้นลงไว้ และอ่านข้อความนั้นให้ผู้ทำพินัยกรรม์และพะยานฟัง
(๓)เมื่อผู้ทำพินัยกรรม์และพะยานทราบแน่ชัดว่า ข้อความที่กรมการอำเภอจดนั้นเป็นการถูกต้องตรงกันกับที่ผู้ทำพินัยกรรม์แจ้งไว้แล้ว ให้ผู้ทำพินัยกรรม์และพะยานลงลายมือชื่อไว้เป็นสำคัญ
(๔)ข้อความที่กรมการอำเภอจดไว้นั้น ให้กรมการอำเภอลงลายมือชื่อและลงวัน เดือน ปี ทั้งจดลงไว้ด้วตนเองเป็นสำคัญว่า พินัยกรรม์นั้นได้ทำขึ้นถูกต้องตามบทบัญญัติอนุมาตรา ๑ ถึง ๓ ข้างต้น แล้วประทับตราตำแหน่งไว้เป็นสำคัญ
การขูดลบ ตก เติม หรือการแก้ไขเปลี่ยนแปลงอย่างอื่นซึ่งพินัยกรรม์นั้นย่อมไม่สมบูรณ์ เว้นแต่ผู้ทำพินัยกรรม์ พะยาน และกรมการอำเภอจะได้ลงลายมือชื่อกำกับไว้
มาตรา๑๖๕๙การทำพินัยกรรม์แบบเอกสารฝ่ายเมืองนั้นจะทำนอกที่ว่าการอำเภอก็ได้ เมื่อมีการร้องขอเช่นนั้น
มาตรา๑๖๖๐พินัยกรรม์นั้นจะทำเป็นเอกสารลับก็ได้ กล่าวคือ
(๑)ผู้ทำพินัยกรรม์ต้องลงลายมือชื่อในพินัยกรรม์
(๒)ผู้ทำพินัยกรรม์ต้องผนึกพินัยกรรม์นั้น แล้วลงลายมือชื่อคาบรอยผนึกนั้น
(๓)ผู้ทำพินัยกรรม์ต้องนำพินัยกรรม์ที่ผนึกนั้นไปแสดงต่อกรมการอำเภอ และพะยานอีกอย่างน้อยสองคน และให้ถ้อยคำต่อบุคคลทั้งหมดเหล่านั้นว่าเป็นพินัยกรรม์ของตน ถ้าพินัยกรรม์นั้นผู้ทำพินัยกรรม์มิได้เป็นผู้เขียนเองโดยตลอด ผู้ทำพินัยกรรม์จะต้องแจ้งนามและภูมิลำเนาของผู้เขียนให้ทราบด้วย
(๔)เมื่อกรมการอำเภอจดถ้อยคำของผู้ทำพินัยกรรม์ และวัน เดือน ปี ที่นำพินัยกรรม์มาแสดง ไว้บนซองนั้น และประทับตราตำแหน่งแล้ว ให้กรมการอำเภอผู้ทำพินัยกรรม์และพะยานลงลายมือชื่อบนซองนั้น
การขูดลบ ตก เติม หรือการแก้ไขเปลี่ยนแปลงอย่างอื่นซึ่งพินัยกรรม์นั้นย่อมไม่สมบูรณ์ เว้นแต่ผู้ทำพินัยกรรม์จะได้ลงลายมือชื่อกำกับไว้
มาตรา๑๖๖๑ถ้าบุคคลผู้เป็นทั้งใบ้และหูหนวก หรือผู้ที่พูดไม่ได้ มีความประสงค์จะทำพินัยกรรม์เป็นแบบเอกสารลับ ให้ผู้นั้นเขียนด้วยตนเองบนซองพินัยกรรม์ต่อหน้ากรมการอำเภอและพะยานซึ่งข้อความว่าพินัยกรรม์ที่ผนึกนั้นเป็นของตนแทนการให้ถ้อยคำดั่งที่กำหนดไว้ในมาตรา ๑๖๖๐ (๓) และถ้าหากมีผู้เขียนก็ให้เขียนชื่อกับภูมิลำเนาของผู้เขียนพินัยกรรม์นั้นไว้ด้วย
ให้กรมการอำเภอจดลงไว้บนซองเป็นสำคัญว่า ผู้ทำพินัยกรรม์ได้ปฏิบัติตามข้อความในวรรคก่อนแล้ว แทนการจดถ้อยคำของผู้ทำพินัยกรรม์
มาตรา๑๖๖๒พินัยกรรม์ซึ่งได้ทำเป็นแบบเอกสารฝ่ายเมืองหรือเอกสารลับนั้น กรมการอำเภอจะเปิดเผยแก่บุคคลอื่นใดไม่ได้ในระหว่างที่ผู้ทำพินัยกรรม์ยังมีชีวิตอยู่ และผู้ทำพินัยกรรม์จะเรียกให้กรมการอำเภอส่งมอบพินัยกรรม์นั้นแก่ตนในเวลาใด ๆ กรมการอำเภอจำต้องส่งมอบให้
ถ้าพินัยกรรม์นั้นทำเป็นแบบเอกสารฝ่ายเมือง ก่อนส่งมอบพินัยกรรม์ ให้กรมการอำเภอคัดสำเนาพินัยกรรม์ไว้ แล้วลงลายมือชื่อประทับตราตำแหน่งเป็นสำคัญ สำเนาพินัยกรรม์นั้นจะเปิดเผยแก่บุคคลอื่นใดไม่ได้ในระหว่างที่ผู้ทำพินัยกรรม์ยังมีชีวิตอยู่
มาตรา๑๖๖๓เมื่อมีพฤตติการณ์พิเศษซึ่งบุคคลใดไม่สามารถจะทำพินัยกรรม์ตามแบบอื่นที่กำหนดไว้ได้ เช่น ตกอยู่ในอันตรายใกล้ความตาย หรือเวลามีโรคระบาด หรือสงคราม บุคคลนั้นจะทำพินัยกรรม์ด้วยวาจาก็ได้
เพื่อการนี้ ผู้ทำพินัยกรรม์ต้องแสดงเจตนากำหนดข้อพินัยกรรม์ต่อหน้าพะยานอย่างน้อยสองคนซึ่งอยู่พร้อมกันณที่นั้น
พะยานสองคนนั้นต้องไปแสดงตนต่อกรมการอำเภอโดยมิชักช้า และแจ้งข้อความที่ผู้ทำพินัยกรรม์ได้สั่งไว้ด้วยวาจานั้น ทั้งต้องแจ้งวัน เดือน ปี สถานที่ที่ทำพินัยกรรม์ และพฤตติการณ์พิเศษนั้นไว้ด้วย
ให้กรมการอำเภอจดข้อความที่พะยานแจ้งนั้นไว้ และพะยานสองคนนั้นต้องลงลายมือชื่อไว้ หรือมิฉะนั้น จะให้เสมอกับการลงลายมือชื่อได้ก็แต่ด้วยลงลายพิมพ์นิ้วมือโดยมีพะยานลงลายมือชื่อรับรองสองคน
มาตรา๑๖๖๔ความสมบูรณ์แห่งพินัยกรรม์ซึ่งทำขึ้นตามมาตราก่อนนั้นย่อมสิ้นไปเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่เวลาผู้ทำพินัยกรรม์กลับมาสู่ฐานะที่จะทำพินัยกรรม์ตามแบบอื่นที่กำหนดไว้ได้
มาตรา๑๖๖๕เมื่อผู้ทำพินัยกรรม์จะต้องลงลายมือชื่อตามมาตรา ๑๖๕๖, ๑๖๕๘, ๑๖๖๐ จะให้เสมอกับลงลายมือชื่อได้ ก็แต่ด้วยลงลายพิมพ์นิ้วมือโดยมีพะยานลงลายมือชื่อรับรองไว้ด้วยสองคนในขณะนั้น
มาตรา๑๖๖๖บทบัญญัติมาตรา ๙ วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายนี้ มิให้ใช้บังคับแก่พะยานผู้ที่จะต้องลงลายมือชื่อตามมาตรา ๑๖๕๖, ๑๖๕๘, ๑๖๖๐
มาตรา๑๖๖๗เมื่อคนในบังคับสยามจะทำพินัยกรรม์ในต่างประเทศ พินัยกรรม์นั้นอาจทำตามแบบซึ่งกฎหมายของประเทศที่ทำพินัยกรรม์บัญญัติไว้ หรือตามแบบที่กฎหมายสยามบัญญัติไว้ก็ได้
เมื่อทำพินัยกรรม์ตามแบบที่กฎหมายสยามบัญญัติไว้ อำนาจและหน้าที่ของกรมการอำเภอตามมาตรา ๑๖๕๘, ๑๖๖๐, ๑๖๖๑, ๑๖๖๒, ๑๖๖๓ ให้ตกแก่บุคคลดั่งต่อไปนี้ คือ
(๑)พนักงานทูต หรือกงสุลฝ่ายสยาม กระทำการตามขอบอำนาจของตน หรือ
(๒)พนักงานใด ๆ ซึ่งมีอำนาจตามกฎหมายของต่างประเทศนั้น ๆ ที่จะรับบันทึกข้อแจ้งความไว้เป็นหลักฐานได้
มาตรา๑๖๖๘ผู้ทำพินัยกรรม์ไม่จำเป็นต้องเปิดเผยข้อความในพินัยกรรม์นั้นให้พะยานทราบ เว้นแต่กฎหมายจะได้ระบุไว้เป็นอย่างอื่น
มาตรา๑๖๖๙ในระหว่างเวลาที่ประเทศตกอยู่ในภาวะการรบหรือการสงคราม บุคคลที่รับราชการทหารหรือทำการเกี่ยวข้องอยู่กับราชการทหารจะทำพินัยกรรม์ตามแบบที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๖๕๘ มาตรา ๑๖๖๐ หรือมาตรา ๑๖๖๓ ก็ได้ ในกรณีเช่นว่านั้น ให้นายทหารหรือข้าราชการฝ่ายทหารชั้นสัญญาบัตรมีอำนาจและหน้าที่เช่นเดียวกับกรมการอำเภอ
บทบัญญัติวรรคก่อนให้นำมาใช้บังคับแก่กรณีที่บุคคลที่รับราชการทหารหรือทำการเกี่ยวข้องอยู่กับราชการทหารทำพินัยกรรม์ในต่างประเทศในระหว่างที่ปฏิบัติการเพื่อประเทศในภาวะการรบหรือการสงครามในต่างประเทศโดยอนุโลม และในกรณีเช่นว่านี้ ให้นายทหารหรือข้าราชการฝ่ายทหารชั้นสัญญาบัตรมีอำนาจและหน้าที่เช่นเดียวกับพนักงานทูตหรือกงสุลฝ่ายสยาม
ถ้าผู้ทำพินัยกรรม์ตามความในสองวรรคก่อนนั้นป่วยเจ็บหรือต้องบาดเจ็บ และอยู่ในโรงพยาบาล ให้แพทย์แห่งโรงพยาบาลนั้นมีอำนาจและหน้าที่เช่นเดียวกับกรมการอำเภอ หรือพนักงานทูต หรือกงสุลฝ่ายสยาม แล้วแต่กรณีด้วย
มาตรา๑๖๗๐บุคคลต่อไปนี้จะเป็นพะยานในการทำพินัยกรรม์ไม่ได้
(๑)ผู้ซึ่งยังไม่บรรลุนิติภาวะ
(๒)บุคคลวิกลจริตหรือบุคคลซึ่งศาลสั่งให้เป็นผู้เสมือนไร้ความสามารถ
(๓)บุคคลที่หูหนวก เป็นใบ้ หรือจักษุบอดทั้งสองข้าง
มาตรา๑๖๗๑เมื่อบุคคลใดนอกจากผู้ทำพินัยกรรม์เป็นผู้เขียนข้อความแห่งพินัยกรรม์ บุคคลนั้นต้องลงลายมือชื่อของตนทั้งระบุว่าเป็นผู้เขียน
ถ้าบุคคลนั้นเป็นพะยานด้วย ให้เขียนข้อความระบุว่าตนเป็นพะยานไว้ต่อท้ายลายมือชื่อของตนเช่นเดียวกับพะยานอื่น ๆ
มาตรา๑๖๗๒ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กลาโหม และต่างประเทศ มีอำนาจและหน้าที่เท่าที่เกี่ยวกับกระทรวงนั้น ๆ ที่จะออกกฎกระทรวงเพื่อให้การเป็นไปตามประมวลกฎหมายบรรพนี้ รวมทั้งกำหนดอัตราค่าฤชาธรรมเนียมอันเกี่ยวกับการนั้น
มาตรา๑๖๗๓สิทธิและหน้าที่ใด ๆ อันเกิดขึ้นตามพินัยกรรม์ ให้มีผลบังคับเรียกร้องกันได้ตั้งแต่ผู้ทำพินัยกรรม์ตายเป็นต้นไป เว้นแต่ผู้ทำพินัยกรรม์จะได้กำหนดเงื่อนไขหรือเงื่อนเวลาให้มีผลบังคับเรียกร้องกันได้ภายหลัง
มาตรา๑๖๗๔ถ้าข้อกำหนดพินัยกรรม์มีเงื่อนไข และเงื่อนไขนั้นสำเร็จเสียก่อนเวลาที่ผู้ทำพินัยกรรม์ตาย หากว่าเป็นเงื่อนไขบังคับก่อน ข้อกำหนดพินัยกรรม์นั้นมีผลเมื่อผู้ทำพินัยกรรม์ตาย หากว่าเป็นเงื่อนไขบังคับหลัง ข้อกำหนดพินัยกรรม์นั้นเป็นอันไร้ผล
ถ้าเงื่อนไขบังคับก่อนสำเร็จภายหลังที่ผู้ทำพินัยกรรม์ตาย ข้อกำหนดพินัยกรรม์มีผลตั้งแต่เวลาเงื่อนไขสำเร็จ
ถ้าเงื่อนไขบังคับหลังสำเร็จภายหลังที่ผู้ทำพินัยกรรม์ตาย ข้อกำหนดพินัยกรรม์มีผลตั้งแต่เวลาที่ผู้ทำพินัยกรรม์ตาย แต่ตกเป็นอันไร้ผลในเมื่อเงื่อนไขนั้นสำเร็จ
แต่ถ้าผู้ทำพินัยกรรม์ได้กำหนดไว้ในพินัยกรรม์ว่า ในกรณีที่กล่าวมาในสองวรรคก่อนนั้น ให้ความสำเร็จแห่งเงื่อนไขมีผลย้อนหลังไปถึงเวลาที่ผู้ทำพินัยกรรม์ตาย ก็ให้เป็นไปตามเจตนาของผู้ทำพินัยกรรม์นั้น
มาตรา๑๖๗๕เมื่อพินัยกรรม์มีเงื่อนไขบังคับก่อน ผู้รับประโยชน์ตามข้อความแห่งพินัยกรรม์นั้นจะร้องต่อศาลขอให้ตั้งผู้จัดการทรัพย์สินที่ยกให้โดยพินัยกรรม์นั้นจนกว่าจะถึงเวลาที่เงื่อนไขสำเร็จ หรือจนกว่าความสำเร็จแห่งเงื่อนไขตกเป็นอันพ้นวิสัยก็ได้
ถ้าศาลเห็นเป็นการสมควร จะตั้งผู้ร้องนั้นเป็นผู้จัดการทรัพย์สินเสียเอง และเรียกให้ผู้ร้องนั้นวางประกันตามที่สมควรก็ได้
มาตรา๑๖๗๖พินัยกรรม์จะทำขึ้นโดยให้บุคคลใดตกอยู่ในภาระติดพันที่จะต้องก่อตั้งมูลนิธิ หรือจะสั่งจัดสรรทรัพย์สินไว้โดยตรง เพื่อประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่งตามบทบัญญัติมาตรา ๑๑๐ แห่งประมวลกฎหมายนี้ก็ได้
มาตรา๑๖๗๗เมื่อมีพินัยกรรม์ก่อตั้งมูลนิธิขึ้นตามมาตราก่อน ให้เป็นหน้าที่ของทายาท หรือผู้จัดการมฤดก แล้วแต่กรณี ที่จะต้องร้องขอให้รัฐบาลให้อำนาจจัดตั้งขึ้นเป็นนิติบุคคลตามมาตรา ๑๑๘ แห่งประมวลกฎหมายนี้ เว้นแต่จะได้มีข้อกำหนดไว้ในพินัยกรรม์เป็นอย่างอื่น
ถ้าบุคคลดั่งกล่าวแล้วมิได้ร้องขอให้รัฐบาลให้อำนาจ บุคคลผู้มีส่วนได้เสียคนหนึ่งคนใดหรือพนักงานอัยการจะเป็นผู้ร้องขอก็ได้
มาตรา๑๖๗๘เมื่อมูลนิธิใดซึ่งก่อตั้งขึ้นโดยพินัยกรรม์ได้ตั้งขึ้นเป็นนิติบุคคลแล้ว ให้ถือว่า ทรัพย์สินซึ่งผู้ทำพินัยกรรม์จัดสรรไว้เพื่อการนั้นตกเป็นของนิติบุคคลนั้นตั้งแต่เวลาซึ่งพินัยกรรม์มีผล เว้นแต่จะมีข้อกำหนดไว้ในพินัยกรรม์เป็นอย่างอื่น
มาตรา๑๖๗๙ถ้าจัดตั้งมูลนิธิขึ้นไม่ได้ตามวัตถุที่ประสงค์ ให้ทรัพย์สินตกทอดไปตามที่ระบุไว้ในพินัยกรรม์
ถ้าพินัยกรรม์ไม่ได้ระบุไว้ เมื่อทายาทหรือผู้จัดการมฤดก หรือพนักงานอัยการหรือบุคคลผู้มีส่วนได้เสียคนใดคนหนึ่งร้องขอ ให้ศาลจัดสรรทรัพย์สินนั้นให้แก่นิติบุคคลอื่นซึ่งปรากฏว่ามีวัตถุที่ประสงค์ใกล้ชิดที่สุดกับความประสงค์ของผู้ทำพินัยกรรม์
ถ้าหากว่าจัดสรรทรัพย์สินอย่างนี้ไม่ได้ก็ดี หรือว่ามูลนิธินั้นตั้งขึ้นไม่ได้ เพราะเป็นการขัดต่อกฎหมาย หรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนก็ดี ข้อกำหนดพินัยกรรม์ในการจัดตั้งมูลนิธินั้นเป็นอันไร้ผล
มาตรา๑๖๘๐เจ้าหนี้ของผู้ทำพินัยกรรม์มีสิทธิที่จะร้องขอให้เพิกถอนข้อกำหนดพินัยกรรม์ซึ่งก่อตั้งมูลนิธินั้นได้เพียงเท่าที่ตนต้องเสียประโยชน์เนื่องแต่การนั้น
มาตรา๑๖๘๑ถ้าทรัพย์สินซึ่งเป็นวัตถุแห่งพินัยกรรม์นั้น ได้ศูนย์หาย ทำลาย หรือบุบสลายไป และพฤตติการณ์ทั้งนี้เป็นผลให้ได้ทรัพย์สินอื่นมาแทน หรือได้สิทธิเรียกร้องเอาค่าสินไหมทดแทนทรัพย์สินนั้น ผู้รับพินัยกรรม์จะเรียกให้ส่งมอบของแทนซึ่งได้รับมานั้น หรือจะเรียกร้องเอาค่าสินไหมทดแทนเสียเองก็ได้ แล้วแต่กรณี
มาตรา๑๖๘๒เมื่อพินัยกรรม์ทำขึ้นเป็นการปลดหนี้หรือโอนสิทธิเรียกร้อง พินัยกรรม์นั้นมีผลเพียงจำนวนซึ่งคงค้างชำระอยู่ในเวลาที่ผู้ทำพินัยกรรม์ตาย เว้นแต่ผู้ทำพินัยกรรม์จะได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่น
ถ้ามีเอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งหนี้ที่ปลดให้หรือสิทธิเรียกร้องที่โอนไปนั้น ก็ให้ส่งมอบแก่ผู้รับพินัยกรรม์ และให้ใช้มาตรา ๓๐๓ ถึง ๓๑๓, ๓๔๐ แห่งประมวลกฎหมายนี้บังคับโดยอนุโลม แต่ถ้าผู้ทำพินัยกรรม์จะต้องกระทำการหรือดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งตามมาตรานั้น ๆ แล้ว บุคคลผู้ต้องจัดการตามพินัยกรรม์หรือผู้รับพินัยกรรม์จะกระทำการหรือดำเนินการนั้น ๆ แทนผู้ทำพินัยกรรม์ก็ได้
มาตรา๑๖๘๓พินัยกรรม์ที่บุคคลทำให้แก่เจ้าหนี้คนใดของตนนั้น ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า มิได้ทำขึ้นเพื่อชำระหนี้อันค้างชำระแก่เจ้าหนี้คนนั้น
มาตรา๑๖๘๔เมื่อความข้อใดข้อหนึ่งในพินัยกรรม์อาจตีความได้เป็นหลายนัย ให้ถือเอาตามนัยที่จะสำเร็จผลตามความประสงค์ของผู้ทำพินัยกรรม์นั้นได้ดีที่สุด
มาตรา๑๖๘๕ในกรณีที่ผู้ทำพินัยกรรม์ได้กำหนดผู้รับพินัยกรรม์ไว้โดยคุณสมบัติที่ทราบตัวแน่นอนได้ ถ้ามีบุคคลหลายคนทรงไว้ซึ่งคุณสมบัติที่จะเป็นผู้รับพินัยกรรม์ตามที่ผู้ทำพินัยกรรม์กำหนดไว้ดั่งนั้นได้ ในกรณีที่มีข้อสงสัย ให้ถือว่า ทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับส่วนปันเท่า ๆ กัน
มาตรา๑๖๘๖อันว่าทรัสต์นั้นจะก่อตั้งขึ้นโดยตรงหรือโดยทางอ้อมด้วยพินัยกรรม์หรือด้วยนิติกรรมใด ๆ ที่มีผลในระหว่างชีวิตก็ดี หรือเมื่อตายแล้วก็ดี หามีผลไม่
มาตรา๑๖๘๗ถ้าผู้ทำพินัยกรรม์ประสงค์จะยกทรัพย์สินให้แก่ผู้เยาว์ หรือผู้ซึ่งศาลได้สั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถ หรือแก่ผู้ซึ่งต้องรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลเพราะเหตุวิกลจริต แต่ต้องการมอบการเก็บรักษาและจัดการทรัพย์สินนั้นแก่บุคคลอื่นนอกจากบิดามารดา ผู้ปกครอง ผู้อนุบาล หรือผู้พิทักษ์ของบุคคลเช่นนั้น ผู้ทำพินัยกรรม์ต้องตั้งผู้ปกครองทรัพย์ขึ้น
การตั้งผู้ปกครองทรัพย์นี้ ห้ามมิให้ตั้งขึ้นเป็นเวลาเกินกว่ากำหนดแห่งการเป็นผู้เยาว์ หรือกำหนดที่ศาลได้สั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถ หรือกำหนดที่ต้องรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล แล้วแต่กรณี
มาตรา๑๖๘๘การตั้งผู้ปกครองทรัพย์นั้น ในส่วนที่เกี่ยวด้วยอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิใด ๆ อันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ ย่อมไม่บริบูรณ์ เว้นแต่จะได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่
บทบัญญัติที่กล่าวมาในวรรคก่อนนี้ ให้ใช้บังคับแก่เรือกำปั่น หรือเรือมีระวางตั้งแต่หกตันขึ้นไป เรือกลไฟหรือเรือยนตร์มีระวางตั้งแต่ห้าตันขึ้นไป ทั้งแพและสัตว์พาหนะด้วย
มาตรา๑๖๘๙นอกจากบุคคลที่ระบุไว้ในมาตรา ๑๕๕๗ แห่งประมวลกฎหมายนี้ นิติบุคคลหรือบุคคลธรรมดาที่มีความสามารถบริบูรณ์จะรับตั้งเป็นผู้ปกครองทรัพย์ก็ได้
มาตรา๑๖๙๐ผู้ปกครองทรัพย์นั้นย่อมตั้งขึ้นได้โดย
(๑)ผู้ทำพินัยกรรม์
(๒)บุคคลซึ่งระบุไว้ในพินัยกรรม์ให้เป็นผู้ตั้ง
มาตรา๑๖๙๑เว้นแต่ผู้ทำพินัยกรรม์จะได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่นในพินัยกรรม์ ผู้ปกครองทรัพย์จะทำพินัยกรรม์ตั้งบุคคลอื่นให้ทำการสืบแทนตนก็ได้
มาตรา๑๖๙๒เว้นแต่ผู้ทำพินัยกรรม์จะได้กำหนดไว้ในพินัยกรรม์เป็นอย่างอื่นในส่วนที่เกี่ยวด้วยทรัพย์สินที่ได้รับมอบไว้ ผู้ปกครองทรัพย์มีสิทธิและหน้าที่เช่นเดียวกับผู้ปกครองตามความหมายในบรรพ ๕ แห่งประมวลกฎหมายนี้
มาตรา๑๖๙๓ผู้ทำพินัยกรรม์จะเพิกถอนพินัยกรรม์ของตนเสียทั้งหมดหรือแต่บางส่วนในเวลาใดก็ได้
มาตรา๑๖๙๔ถ้าจะเพิกถอนพินัยกรรม์ฉะบับก่อนเสียทั้งหมดหรือแต่บางส่วนด้วยพินัยกรรม์ฉะบับหลัง การเพิกถอนจะสมบูรณ์ต่อเมื่อพินัยกรรม์ฉะบับหลังนั้นได้ทำตามแบบใดแบบหนึ่งที่กฎหมายบัญญัติไว้
มาตรา๑๖๙๕ถ้าพินัยกรรม์ได้ทำเป็นต้นฉะบับแต่ฉะบับเดียว ผู้ทำพินัยกรรม์อาจเพิกถอนพินัยกรรม์นั้นทั้งหมดหรือบางส่วนได้โดยทำลายหรือขีดฆ่าเสียด้วยความตั้งใจ
ถ้าพินัยกรรม์ได้ทำเป็นต้นฉะบับหลายฉะบับ การเพิกถอนนั้นไม่บริบูรณ์ เว้นแต่จะได้กระทำแก่ต้นฉะบับเหล่านั้นทุกฉะบับ
มาตรา๑๖๙๖ถ้าผู้ทำพินัยกรรม์ได้โอนไปโดยสมบูรณ์ซึ่งทรัพย์สินอันเป็นวัตถุแห่งข้อกำหนดพินัยกรรม์ใดด้วยความตั้งใจ ข้อกำหนดพินัยกรรม์นั้นเป็นอันเพิกถอนไป
วิธีเดียวกันนี้ให้ใช้บังคับ เมื่อผู้ทำพินัยกรรม์ได้ทำลายทรัพย์สินนั้นด้วยความตั้งใจ
มาตรา๑๖๙๗ถ้าผู้ทำพินัยกรรม์มิได้แสดงเจตนาไว้ในพินัยกรรม์เป็นอย่างอื่น และปรากฏว่าพินัยกรรม์ฉะบับก่อนกับฉะบับหลังขัดกัน ให้ถือว่าพินัยกรรม์ฉะบับก่อนเป็นอันเพิกถอนโดยพินัยกรรม์ฉะบับหลังฉะเพาะในส่วนที่มีข้อความขัดกันนั้นเท่านั้น
มาตรา๑๖๙๘ข้อกำหนดพินัยกรรม์นั้นย่อมตกไป
(๑)เมื่อผู้รับพินัยกรรม์ตายก่อนผู้ทำพินัยกรรม์
(๒)เมื่อข้อกำหนดพินัยกรรม์เป็นผลใช้ได้ต่อเมื่อเงื่อนไขอย่างใดอย่างหนึ่งสำเร็จลง และผู้รับพินัยกรรม์ตายเสียก่อนเงื่อนไขสำเร็จ หรือปรากฏเป็นที่แน่นอนอยู่แล้วว่าเงื่อนไขนั้นไม่อาจจะสำเร็จได้
(๓)เมื่อผู้รับพินัยกรรม์บอกสละพินัยกรรม์
(๔)เมื่อทรัพย์สินทั้งหมดที่ยกให้ศูนย์หายหรือถูกทำลายโดยผู้ทำพินัยกรรม์มิได้ตั้งใจในระหว่างที่ผู้ทำพินัยกรรม์ยังมีชีวิตอยู่ และผู้ทำพินัยกรรม์มิได้ได้มาซึ่งของแทนหรือซึ่งสิทธิที่จะเรียกค่าทดแทนในการที่ทรัพย์สินนั้นศูนย์หายไป
มาตรา๑๖๙๙ถ้าพินัยกรรม์ หรือข้อกำหนดในพินัยกรรม์ เกี่ยวกับทรัพย์สินรายใดเป็นอันไร้ผลด้วยประการใด ๆ ทรัพย์สินรายนั้นตกทอดแก่ทายาทโดยธรรม หรือได้แก่แผ่นดิน แล้วแต่กรณี
มาตรา๑๗๐๐ภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติในหมวดนี้ บุคคลจะจำหน่ายทรัพย์สินใด ๆ โดยนิติกรรมที่มีผลในระหว่างชีวิตหรือเมื่อตายแล้วโดยมีข้อกำหนดห้ามมิให้ผู้รับประโยชน์โอนทรัพย์สินนั้นก็ได้ แต่ต้องมีบุคคลใดบุคคลหนึ่งนอกจากผู้รับประโยชน์กำหนดไว้สำหรับเป็นผู้จะได้รับทรัพย์สินนั้นเป็นสิทธิเด็ดขาดในเมื่อมีการละเมิดข้อกำหนดห้ามโอน
ผู้ซึ่งกำหนดขึ้นดั่งกล่าวนั้นต้องเป็นผู้สามารถจะมีสิทธิต่าง ๆ ได้อยู่ในขณะที่การจำหน่ายทรัพย์สินนั้นมีผลบังคับ
ถ้ามิได้กำหนดบุคคลที่จะเป็นผู้รับทรัพย์สินในเมื่อมีการละเมิดข้อกำหนดห้ามโอนไว้ ให้ถือว่า ข้อกำหนดห้ามโอนนั้นเป็นอันไม่มีเลย
มาตรา๑๗๐๑ข้อกำหนดห้ามโอนตามมาตราก่อนนั้นจะให้มีกำหนดเวลาหรือตลอดชีวิตของผู้รับประโยชน์ก็ได้
ถ้าไม่ได้กำหนดเวลาห้ามโอนไว้ ในกรณีที่ผู้รับประโยชน์เป็นบุคคลธรรมดาให้ถือว่า ข้อกำหนดห้ามโอนมีระยะเวลาอยู่ตลอดชีวิตของผู้รับประโยชน์ แต่ในกรณีที่ผู้รับประโยชน์เป็นนิติบุคคล ให้มีระยะเวลาเพียงสามสิบปี
ถ้าได้กำหนดเวลาห้ามโอนไว้ กำหนดนั้นมิให้เกินสามสิบปี ถ้ากำหนดไว้นานกว่านั้น ก็ให้ลดลงมาเป็นสามสิบปี
มาตรา๑๗๐๒ข้อกำหนดห้ามโอนอันเกี่ยวกับสังหาริมทรัพย์ซึ่งไม่อาจจดทะเบียนกรรมสิทธิ์ได้นั้น ให้ถือว่าเป็นอันไม่มีเลย
ข้อกำหนดห้ามโอนเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์นั้นไม่บริบูรณ์ เว้นแต่จะได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนการห้ามโอนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่
บทบัญญัติในวรรคก่อนนี้ให้ใช้บังคับแก่เรือกำปั่นหรือเรือมีระวางตั้งแต่หกตันขึ้นไป เรือกลไฟ หรือเรือยนตร์มีระวางตั้งแต่ห้าตันขึ้นไป ทั้งแพและสัตว์พาหนะด้วย
มาตรา๑๗๐๓พินัยกรรม์ซึ่งบุคคลที่มีอายุยังไม่ครบสิบห้าปีบริบูรณ์ทำขึ้นนั้นเป็นโมฆะ
มาตรา๑๗๐๔พินัยกรรม์ซึ่งบุคคลผู้ถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถทำขึ้นนั้นเป็นโมฆะ
พินัยกรรม์ซึ่งบุคคลผู้ถูกอ้างว่าเป็นคนวิกลจริตแต่ศาลยังไม่ได้สั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถทำขึ้นนั้น จะเป็นอันเสียเปล่าก็แต่เมื่อพิสูจน์ได้ว่า ในเวลาที่ทำพินัยกรรม์นั้น ผู้ทำจริตวิกลอยู่
มาตรา๑๗๐๕พินัยกรรม์หรือข้อกำหนดพินัยกรรม์นั้น ถ้าได้ทำขึ้นขัดต่อบทบัญญัติแห่งมาตรา ๑๖๕๒, ๑๖๕๓, ๑๖๕๖, ๑๖๕๗, ๑๖๕๘, ๑๖๖๐, ๑๖๖๑ หรือ ๑๖๖๓ ย่อมเป็นโมฆะ
มาตรา๑๗๐๖ข้อกำหนดพินัยกรรม์เป็นโมฆะ
(๑)ถ้าตั้งผู้รับพินัยกรรม์ไว้โดยมีเงื่อนไขว่า ให้ผู้รับพินัยกรรม์จำหน่ายทรัพย์สินของเขาเองโดยพินัยกรรม์ให้แก่ผู้ทำพินัยกรรม์หรือแก่บุคคลภายนอก
(๒)ถ้ากำหนดบุคคลซึ่งไม่อาจที่จะทราบตัวแน่นอนได้เป็นผู้รับพินัยกรรม์ แต่ผู้รับพินัยกรรม์ตามพินัยกรรม์ลักษณะฉะเพาะนั้นอาจกำหนดโดยให้บุคคลใดคนหนึ่งเป็นผู้ระบุเลือกเอาจากบุคคลอื่นหลายคนหรือจากบุคคลอื่นหมู่ใดหมู่หนึ่งซึ่งผู้ทำพินัยกรรม์ระบุไว้ก็ได้
(๓)ถ้าทรัพย์สินที่ยกให้โดยพินัยกรรม์ระบุไว้ไม่ชัดแจ้งจนไม่อาจที่จะทราบแน่นอนได้ หรือถ้าให้บุคคลใดคนหนึ่งกำหนดให้มากน้อยเท่าใดตามแต่ใจ
มาตรา๑๗๐๗ถ้าข้อกำหนดพินัยกรรม์ตั้งผู้รับพินัยกรรม์โดยมีเงื่อนไขว่า ให้ผู้รับพินัยกรรม์จำหน่ายทรัพย์สินที่ยกให้โดยพินัยกรรม์นั้นแก่บุคคลอื่น ให้ถือว่า เงื่อนไขนั้นเป็นอันไม่มีเลย
มาตรา๑๗๐๘เมื่อผู้ทำพินัยกรรม์ตายแล้ว บุคคลผู้มีส่วนได้เสียคนใดคนหนึ่งจะร้องขอให้ศาลสั่งเพิกถอนพินัยกรรม์ซึ่งได้ทำขึ้นเพราะเหตุข่มขู่ก็ได้ แต่หากผู้ทำพินัยกรรม์ยังมีชีวิตอยู่ต่อมาเกินหนึ่งปีนับแต่ผู้ทำพินัยกรรม์พ้นจากการข่มขู่แล้ว จะมีการร้องขอเช่นว่านั้นไม่ได้
มาตรา๑๗๐๙เมื่อผู้ทำพินัยกรรม์ตายแล้ว บุคคลผู้มีส่วนได้เสียคนใดคนหนึ่งจะร้องขอให้ศาลสั่งเพิกถอนพินัยกรรม์ซึ่งได้ทำขึ้นเพราะสำคัญผิดหรือกลฉ้อฉลได้ ก็ต่อเมื่อความสำคัญผิดหรือกลฉ้อฉลนั้นถึงขนาด ซึ่งถ้ามิได้มีความสำคัญผิดหรือกลฉ้อฉลเช่นนั้น พินัยกรรม์นั้นก็จะมิได้ทำขึ้น
ความในวรรคก่อนนี้ให้ใช้บังคับ แม้ถึงว่ากลฉ้อฉลนั้นบุคคลซึ่งมิใช่เป็นผู้รับประโยชน์ตามพินัยกรรม์ได้ก่อขึ้น
แต่พินัยกรรม์ซึ่งได้ทำขึ้นโดยสำคัญผิดหรือกลฉ้อฉลย่อมมีผลบังคับได้ เมื่อผู้ทำพินัยกรรม์มิได้เพิกถอนพินัยกรรม์นั้นภายในหนึ่งปีนับแต่ที่ได้รู้ถึงการสำคัญผิดหรือกลฉ้อฉลนั้น
มาตรา๑๗๑๐คดีฟ้องขอให้เพิกถอนข้อกำหนดพินัยกรรม์นั้น มิให้ฟ้องเมื่อพ้นกำหนดดั่งนี้
(๑)สามเดือนภายหลังที่ผู้ทำพินัยกรรม์ตาย ในกรณีที่โจทก์รู้เหตุแห่งการที่จะขอให้เพิกถอนได้ในระหว่างที่ผู้ทำพินัยกรรม์มีชีวิตอยู่ หรือ
(๒)สามเดือนภายหลังที่โจทก์ได้รู้เหตุเช่นนั้นในกรณีอื่นใด
แต่ถ้าโจทก์ไม่รู้ว่ามีข้อกำหนดพินัยกรรม์อันกระทบกระทั่งถึงส่วนได้เสียของตน แม้ว่าโจทก์จะได้รู้เหตุแห่งการที่จะขอให้เพิกถอนได้ก็ดี อายุความสามเดือนให้เริ่มนับแต่ขณะที่โจทก์รู้หรือควรจะได้รู้ว่ามีข้อกำหนดพินัยกรรม์นั้น
แต่อย่างไรก็ดี ห้ามมิให้ฟ้องคดีเช่นนี้เมื่อพ้นสิบปีนับแต่ผู้ทำพินัยกรรม์ตาย
มาตรา๑๗๑๑ผู้จัดการมฤดกนั้นรวมตลอดทั้งบุคคลที่ตั้งขึ้นโดยพินัยกรรม์หรือโดยคำสั่งศาล
มาตรา๑๗๑๒ผู้จัดการมฤดกโดยพินัยกรรม์อาจตั้งขึ้นได้
(๑)โดยผู้ทำพินัยกรรม์เอง
(๒)โดยบุคคลซึ่งระบุไว้ในพินัยกรรม์ให้เป็นผู้ตั้ง
มาตรา๑๗๑๓ทายาท หรือผู้มีส่วนได้เสีย หรือพนักงานอัยการ จะร้องต่อศาลขอให้ตั้งผู้จัดการมฤดกก็ได้ ในกรณีดั่งต่อไปนี้
(๑)เมื่อเจ้ามฤดกตาย ทายาทโดยธรรมหรือผู้รับพินัยกรรม์ได้ศูนย์หายไป หรืออยู่นอกราชอาณาเขตต์ หรือเป็นผู้เยาว์
(๒)เมื่อผู้จัดการมฤดกหรือทายาทไม่สามารถหรือไม่เต็มใจที่จะจัดการ หรือมีเหตุขัดข้องในการจัดการหรือในการแบ่งปันมฤดก
(๓)เมื่อข้อกำหนดพินัยกรรม์ซึ่งตั้งผู้จัดการมฤดกไว้ไม่มีผลบังคับได้ด้วยประการใด ๆ
การตั้งผู้จัดการมฤดกนั้น ถ้ามีข้อกำหนดพินัยกรรม์ ก็ให้ศาลตั้งตามข้อกำหนดพินัยกรรม์ และถ้าไม่มีข้อกำหนดพินัยกรรม์ ก็ให้ศาลตั้งเพื่อประโยชน์แก่กองมฤดกตามพฤตติการณ์และโดยคำนึงถึงเจตนาของเจ้ามฤดก แล้วแต่ศาลจะเห็นสมควร
มาตรา๑๗๑๔เมื่อศาลตั้งให้ผู้ใดเป็นผู้จัดการมฤดกเพื่อการใดโดยฉะเพาะ ผู้นั้นไม่จำต้องทำบัญชีทรัพย์มฤดก เว้นแต่จะจำเป็นเพื่อการนั้น หรือศาลสั่งให้ทำ
มาตรา๑๗๑๕ผู้ทำพินัยกรรม์จะตั้งบุคคลคนเดียวหรือหลายคนให้เป็นผู้จัดการมฤดกก็ได้
เว้นแต่จะมีข้อกำหนดไว้ในพินัยกรรม์เป็นอย่างอื่น ถ้ามีผู้จัดการมฤดกหลายคนแต่ผู้จัดการเหล่านั้นบางคนไม่สามารถหรือไม่เต็มใจที่จะจัดการ และยังมีผู้จัดการมฤดกเหลืออยู่แต่คนเดียว ผู้นั้นมีสิทธิที่จะจัดการมฤดกได้โดยลำพัง แต่ถ้ามีผู้จัดการมฤดกเหลืออยู่หลายคน ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า ผู้จัดการเหล่านั้นแต่ละคนจะจัดการโดยลำพังไม่ได้
มาตรา๑๗๑๖หน้าที่ผู้จัดการมฤดกที่ศาลตั้ง ให้เริ่มนับแต่วันที่ได้ฟังหรือถือว่าได้ฟังคำสั่งศาลแล้ว
มาตรา๑๗๑๗ในเวลาใด ๆ ภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่เจ้ามฤดกตาย แต่ต้องเป็นเวลาภายหลังที่เจ้ามฤดกตายแล้วสิบห้าวัน ทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสียคนใดคนหนึ่งจะแจ้งความถามไปยังผู้ที่ถูกตั้งเป็นผู้จัดการมฤดกโดยพินัยกรรม์ว่าจะรับเป็นผู้จัดการมฤดกหรือไม่ก็ได้
ถ้าผู้ที่ได้รับแจ้งความมิได้ตอบรับเป็นผู้จัดการมฤดกภายในหนึ่งเดือนนับแต่วันรับแจ้งความนั้น ให้ถือว่าผู้นั้นปฏิเสธ แต่การรับเป็นผู้จัดการมฤดกนั้นจะทำภายหลังหนึ่งปีนับแต่วันที่เจ้ามฤดกตายไม่ได้ เว้นแต่ศาลจะอนุญาต
มาตรา๑๗๑๘บุคคลต่อไปนี้จะเป็นผู้จัดการมฤดกไม่ได้
(๑)ผู้ซึ่งยังไม่บรรลุนิติภาวะ
(๒)บุคคลวิกลจริต หรือบุคคลซึ่งศาลสั่งให้เป็นผู้เสมือนไร้ความสามารถ
(๓)บุคคลซึ่งศาลสั่งให้เป็นคนล้มละลาย
มาตรา๑๗๑๙ผู้จัดการมฤดกมีสิทธิและหน้าที่ที่จะทำการอันจำเป็น เพื่อให้การเป็นไปตามคำสั่งแจ้งชัดหรือโดยปริยายแห่งพินัยกรรม์ และเพื่อจัดการมฤดกโดยทั่วไปหรือเพื่อแบ่งปันทรัพย์มฤดก
มาตรา๑๗๒๐ผู้จัดการมฤดกต้องรับผิดต่อทายาทตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๘๐๙ ถึง ๘๑๒, ๘๑๙, ๘๒๓ แห่งประมวลกฎหมายนี้โดยอนุโลม และเมื่อเกี่ยวกับบุคคลภายนอก ให้ใช้มาตรา ๘๓๑ บังคับโดยอนุโลม
มาตรา๑๗๒๑ผู้จัดการมฤดกไม่มีสิทธิที่จะได้รับบำเหน็จจากกองมฤดก เว้นแต่พินัยกรรม์หรือทายาทโดยจำนวนข้างมากจะได้กำหนดให้ไว้
มาตรา๑๗๒๒ผู้จัดการมฤดกจะทำนิติกรรมใด ๆ ซึ่งตนมีส่วนได้เสียเป็นปฏิปักษ์ต่อกองมฤดกหาได้ไม่ เว้นแต่พินัยกรรม์จะได้อนุญาตไว้หรือได้รับอนุญาตจากศาล
มาตรา๑๗๒๓ผู้จัดการมฤดกต้องจัดการโดยตนเอง เว้นแต่จะทำการโดยตัวแทนได้ตามอำนาจที่ให้ไว้ชัดแจ้งหรือโดยปริยายในพินัยกรรม์ หรือโดยคำสั่งศาล หรือในพฤตติการณ์เพื่อประโยชน์แก่กองมฤดก
มาตรา๑๗๒๔ทายาทย่อมมีความผูกพันต่อบุคคลภายนอกในกิจการทั้งหลายอันผู้จัดการมฤดกได้ทำไปภายในขอบอำนาจในฐานะที่เป็นผู้จัดการมฤดก
ถ้าผู้จัดการมฤดกเข้าทำนิติกรรมกับบุคคลภายนอกโดยเห็นแก่ทรัพย์สินอย่างใด ๆ หรือประโยชน์อย่างอื่นใดอันบุคคลภายนอกได้ให้ หรือได้ให้คำมั่นว่าจะให้เป็นลาภส่วนตัว ทายาทหาต้องผูกพันไม่ เว้นแต่ทายาทจะได้ยินยอมด้วย
มาตรา๑๗๒๕ผู้จัดการมฤดกต้องสืบหาโดยสมควรซึ่งตัวผู้มีส่วนได้เสียและแจ้งไปให้ทราบถึงข้อกำหนดพินัยกรรม์ที่เกี่ยวกับผู้มีส่วนได้เสียนั้นภายในเวลาอันสมควร
มาตรา๑๗๒๖ถ้าผู้จัดการมฤดกมีหลายคน การทำการตามหน้าที่ของผู้จัดการมฤดกนั้นต้องถือเอาเสียงข้างมาก เว้นแต่จะมีข้อกำหนดพินัยกรรม์เป็นอย่างอื่น ถ้าเสียงเท่ากัน เมื่อผู้มีส่วนได้เสียร้องขอ ก็ให้ศาลเป็นผู้ชี้ขาด
มาตรา๑๗๒๗ผู้มีส่วนได้เสียคนหนึ่งคนใดจะร้องขอให้ศาลสั่งถอนผู้จัดการมฤดก เพราะเหตุผู้จัดการมฤดกละเลยไม่ทำการตามหน้าที่ หรือเพราะเหตุอย่างอื่นที่สมควรก็ได้ แต่ต้องร้องขอเสียก่อนที่การปันมฤดกเสร็จสิ้นลง
แม้ถึงว่าจะได้เข้ารับตำแหน่งแล้วก็ดี ผู้จัดการมฤดกจะลาออกจากตำแหน่งโดยมีเหตุอันสมควรก็ได้ แต่ต้องได้รับอนุญาตจากศาล
มาตรา๑๗๒๘ผู้จัดการมฤดกต้องลงมือจัดทำบัญชีทรัพย์มฤดกภายในสิบห้าวัน
(๑)นับแต่เจ้ามฤดกตาย ถ้าในขณะนั้นผู้จัดการมฤดกได้รู้ถึงการตั้งแต่งตามพินัยกรรม์ที่มอบหมายไว้แก่ตน หรือ
(๒)นับแต่วันที่เริ่มหน้าที่ผู้จัดการมฤดกตามมาตรา ๑๗๑๖ ในกรณีที่ศาลตั้งเป็นผู้จัดการมฤดก หรือ
(๓)นับแต่วันที่ผู้จัดการมฤดกรับเป็นผู้จัดการมฤดก ในกรณีอื่น
มาตรา๑๗๒๙ผู้จัดการมฤดกต้องจัดทำบัญชีทรัพย์มฤดกให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งเดือนนับแต่เวลาที่ระบุไว้ในมาตรา ๑๗๒๘ แต่กำหนดเวลานี้ เมื่อผู้จัดการมฤดกร้องขอก่อนสิ้นกำหนดเวลาหนึ่งเดือน ศาลจะอนุญาตให้ขยายต่อไปอีกก็ได้
บัญชีนั้นต้องทำต่อหน้าพะยานอย่างน้อยสองคน ซึ่งต้องเป็นผู้มีส่วนได้เสียในกองมฤดกนั้นด้วย
บุคคลซึ่งจะเป็นพะยานในการทำพินัยกรรม์ไม่ได้ตามมาตรา ๑๖๗๐ จะเป็นพะยานในการทำบัญชีใด ๆ ที่ต้องทำขึ้นตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ไม่ได้
มาตรา๑๗๓๐ให้นำมาตรา ๑๕๖๓, ๑๕๖๔ วรรค ๑ และ ๒ และ ๑๕๖๕ แห่งประมวลกฎหมายนี้มาใช้บังคับโดยอนุโลม ในระหว่างทายาทกับผู้จัดการมฤดกโดยพินัยกรรม์และในระหว่างศาลกับผู้จัดการมฤดกที่ศาลตั้ง
มาตรา๑๗๓๑ถ้าผู้จัดการมฤดกมิได้จัดทำบัญชีภายในเวลาและตามแบบที่กำหนดไว้ หรือถ้าบัญชีนั้นไม่เป็นที่พอใจแก่ศาล เพราะความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง หรือการทุจริต หรือความไม่สามารถอันเห็นประจักษ์ของผู้จัดการมฤดก ศาลจะถอนผู้จัดการมฤดกเสียก็ได้
มาตรา๑๗๓๒ผู้จัดการมฤดกต้องจัดการตามหน้าที่และทำรายงานแสดงบัญชีการจัดการและแบ่งปันมฤดกให้เสร็จภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่ระบุไว้ในมาตรา ๑๗๒๘ เว้นแต่ผู้ทำพินัยกรรม์ ทายาทโดยจำนวนข้างมาก หรือศาลจะได้กำหนดเวลาให้ไว้เป็นอย่างอื่น
มาตรา๑๗๓๓การให้อนุมัติ การปลดเปลื้องความรับผิด หรือข้อตกลงอื่น ๆ อันเกี่ยวกับรายงานแสดงบัญชีการจัดการมฤดกดั่งที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๗๓๒ นั้น จะสมบูรณ์ต่อเมื่อรายงานแสดงบัญชีนั้นได้ส่งมอบล่วงหน้าแก่ทายาทพร้อมด้วยเอกสารอันเกี่ยวกับการนั้นไม่น้อยกว่าสิบวันก่อนแล้ว
คดีเกี่ยวกับการจัดการมฤดกนั้น มิให้ทายาทฟ้องเกินกว่าห้าปีนับแต่การจัดการมฤดกสิ้นสุดลง
มาตรา๑๗๓๔เจ้าหนี้กองมฤดกชอบแต่จะได้รับการชำระหนี้จากทรัพย์สินในกองมฤดกเท่านั้น
มาตรา๑๗๓๕ทายาทจำต้องบอกทรัพย์มฤดกและหนี้สินของผู้ตายตามที่ตนรู้ทั้งหมดแก่ผู้จัดการมฤดก
มาตรา๑๗๓๖ตราบใดที่เจ้าหนี้กองมฤดก หรือผู้รับพินัยกรรม์ที่ปรากฏตัว ยังไม่ได้รับชำระหนี้หรือส่วนได้ตามพินัยกรรม์แล้วทุกคน ให้ถือว่า ทรัพย์มฤดกยังคงอยู่ในระหว่างจัดการ
ในระหว่างเวลาเช่นว่านั้น ผู้จัดการมฤดกชอบที่จะทำการใด ๆ ในทางจัดการตามที่จำเป็นได้ เช่น ฟ้องคดีหรือแก้ฟ้องในศาลและอื่น ๆ อนึ่ง ผู้จัดการมฤดกต้องทำการทุกอย่างตามที่จำเป็นเพื่อเรียกเก็บหนี้สินซึ่งค้างชำระอยู่แก่กองมฤดกภายในเวลาอันเร็วที่สุดที่จะทำได้ และเมื่อเจ้าหนี้กองมฤดกได้รับชำระหนี้แล้ว ผู้จัดการมฤดกต้องทำการแบ่งปันมฤดก
มาตรา๑๗๓๗เจ้าหนี้กองมฤดกจะบังคับสิทธิเรียกร้องต่อทายาทคนใดก็ได้ แต่ถ้ามีผู้จัดการมฤดก ให้เจ้าหนี้เรียกเข้ามาในคดีด้วย
มาตรา๑๗๓๘ก่อนแบ่งมฤดก เจ้าหนี้กองมฤดกจะบังคับชำระหนี้เต็มจำนวนจากกองมฤดกก็ได้ ในกรณีเช่นนี้ ทายาทคนหนึ่ง ๆ อาจเรียกให้ชำระหนี้จากทรัพย์มฤดกของเจ้ามฤดก หรือให้เอาเป็นประกันก็ได้จนถึงเวลาแบ่งมฤดก
เมื่อแบ่งมฤดกแล้ว เจ้าหนี้อาจเรียกให้ทายาทคนใดคนหนึ่งชำระหนี้ได้เพียงไม่เกินทรัพย์มฤดกที่ทายาทคนนั้นได้รับไป ในกรณีเช่นนี้ ทายาทคนใดซึ่งได้ชำระหนี้แก่เจ้าหนี้กองมฤดกเกินกว่าส่วนที่ตนจะต้องเฉลี่ยใช้หนี้ ทายาทคนนั้นมีสิทธิไล่เบี้ยจากทายาทคนอื่นได้
มาตรา๑๗๓๙ให้ชำระหนี้ที่กองมฤดกค้างชำระตามลำดับต่อไปนี้ และตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วยบุริมะสิทธิ โดยต้องไม่เป็นที่เสื่อมเสียแก่บรรดาเจ้าหนี้ผู้มีบุริมะสิทธิพิเศษตามประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่น และบรรดาเจ้าหนี้ที่มีประกันโดยการจำนำหรือการจำนอง
(๑)ค่าใช้จ่ายเพื่อประโยชน์อันร่วมกันของกองมฤดก
(๒)ค่าใช้จ่ายในการทำศพเจ้ามฤดก
(๓)ค่าภาษีอากรซึ่งกองมฤดกค้างชำระอยู่
(๔)ค่าจ้างซึ่งเจ้ามฤดกค้างชำระแก่เสมียน คนใช้ และคนงาน
(๕)ค่าเครื่องอุปโภคบริโภคอันจำเป็นประจำวันซึ่งส่งให้แก่เจ้ามฤดก
(๖)หนี้สินสามัญของเจ้ามฤดก
(๗)บำเหน็จของผู้จัดการมฤดก
มาตรา๑๗๔๐เว้นแต่เจ้ามฤดกหรือกฎหมายจะได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่น ให้จัดสรรทรัพย์สินของเจ้ามฤดกเพื่อชำระหนี้ตามลำดับต่อไปนี้
(๑)ทรัพย์สินนอกจากอสังหาริมทรัพย์
(๒)อสังหาริมทรัพย์ซึ่งจัดสรรไว้ชัดแจ้งในพินัยกรรม์ว่าสำหรับชำระหนี้ ถ้าหากว่ามีทรัพย์สินเช่นนั้น
(๓)อสังหาริมทรัพย์ซึ่งทายาทโดยธรรมชอบที่จะได้รับในฐานะเช่นนั้น
(๔)อสังหาริมทรัพย์ซึ่งเจ้ามฤดกทำพินัยกรรม์ให้แก่ผู้ใดผู้หนึ่งโดยมีเงื่อนไขว่าผู้นั้นต้องชำระหนี้ของเจ้ามฤดก
(๕)อสังหาริมทรัพย์ซึ่งเจ้ามฤดกทำพินัยกรรม์ให้โดยลักษณะทั่วไปดั่งบัญญัติไว้ในมาตรา ๑๖๕๑
(๖)ทรัพย์สินฉะเพาะอย่างซึ่งเจ้ามฤดกทำพินัยกรรม์ให้โดยลักษณะฉะเพาะดั่งบัญญัติไว้ในมาตรา ๑๖๕๑
ทรัพย์สินอย่างใดอย่างหนึ่งซึ่งได้จัดสรรไว้ตามความที่กล่าวมาแล้วข้างต้นนั้น ให้เอาออกขายทอดตลาด แต่ทายาทคนใดคนหนึ่งอาจมิให้มีการขายเช่นว่านั้นได้ โดยชำระราคาทรัพย์สินนั้นทั้งหมดหรือแต่บางส่วนตามที่ผู้ตีราคาซึ่งศาลตั้งขึ้นได้กำหนดให้ จนพอแก่จำนวนที่จะชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้
มาตรา๑๗๔๑เจ้าหนี้กองมฤดกคนใดคนหนึ่งจะคัดค้านการขายทอดตลาดหรือการตีราคาทรัพย์สินดั่งระบุไว้ในมาตราก่อนโดยเสียค่าใช้จ่ายของตนเองก็ได้ ถ้าเจ้าหนี้ได้ร้องคัดค้านแล้ว ยังได้กระทำการขายทอดตลาดหรือตีราคาไป จะยกการขายทอดตลาดหรือตีราคานั้นขึ้นยันต่อเจ้าหนี้ผู้ร้องคัดค้านแล้วนั้นหาได้ไม่
มาตรา๑๗๔๒ถ้าในการชำระหนี้ซึ่งค้างชำระอยู่แก่ตน เจ้าหนี้คนใดคนหนึ่งได้รับตั้งในระหว่างที่ผู้ตายมีชีวิตอยู่ให้เป็นผู้รับประโยชน์ในการประกันชีวิต เจ้าหนี้คนนั้นชอบที่จะได้รับเงินทั้งหมดซึ่งได้ตกลงไว้กับผู้รับประกัน อนึ่ง เจ้าหนี้เช่นว่านั้นจำต้องส่งเบี้ยประกันภัยคืนเข้ากองมฤดกก็ต่อเมื่อเจ้าหนี้คนอื่น ๆ พิสูจน์ได้ว่า
(๑)การที่ผู้ตายชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้โดยวิธีดั่งกล่าวมานั้นเป็นการขัดต่อบทบัญญัติมาตรา ๒๓๗ แห่งประมวลกฎหมายนี้ และ
(๒)เบี้ยประกันภัยเช่นว่านั้นเป็นจำนวนสูงเกินส่วนเมื่อเทียบกับรายได้หรือฐานะของผู้ตาย
ถึงอย่างไรก็ดี เบี้ยประกันภัยซึ่งจะพึงส่งคืนเข้ากองมฤดกนั้นต้องไม่เกินกว่าจำนวนเงินที่ผู้รับประกันชำระให้
มาตรา๑๗๔๓ทายาทโดยธรรม หรือผู้รับพินัยกรรม์โดยลักษณะทั่วไป ไม่จำต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดในพินัยกรรม์ลักษณะฉะเพาะเกินกว่าจำนวนทรัพย์มฤดกที่ตนได้รับ
มาตรา๑๗๔๔ผู้จัดการมฤดกไม่จำต้องส่งมอบทรัพย์มฤดกหรือส่วนใดส่วนหนึ่งแห่งทรัพย์มฤดกให้แก่ทายาทก่อนปีหนึ่งนับแต่วันที่เจ้ามฤดกถึงแก่ความตาย เว้นแต่เจ้าหนี้กองมฤดกและผู้รับพินัยกรรม์ที่ปรากฏตัวได้รับชำระหนี้และส่วนได้ตามพินัยกรรม์แล้วทุกคน
มาตรา๑๗๔๕ถ้ามีทายาทหลายคน ทายาทเหล่านั้นมีสิทธิและหน้าที่เกี่ยวกับทรัพย์มฤดกร่วมกันจนกว่าจะได้แบ่งมฤดกกันเสร็จแล้ว และให้ใช้มาตรา ๑๓๕๖ ถึงมาตรา ๑๓๖๖ แห่งประมวลกฎหมายนี้บังคับเพียงเท่าที่ไม่ขัดกับบทบัญญัติแห่งบรรพนี้
มาตรา๑๗๔๖ภายใต้บังคับแห่งกฎหมาย หรือข้อความในพินัยกรรม์ ถ้าหากมี ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า ผู้เป็นทายาทด้วยกันมีส่วนเท่ากันในกองมฤดกที่ยังไม่ได้แบ่ง
มาตรา๑๗๔๗การที่ทายาทคนใดได้รับทรัพย์สินอย่างหนึ่งอย่างใดหรือประโยชน์อย่างอื่นใดจากเจ้ามฤดกโดยการให้หรือโดยการอย่างอื่นใดซึ่งทำให้โดยเสนหาในระหว่างเวลาที่เจ้ามฤดกยังมีชีวิตอยู่นั้น หาทำให้สิทธิในการแบ่งปันทรัพย์มฤดกของทายาทคนนั้น ต้องเสื่อมเสียไปแต่โดยประการใดไม่
มาตรา๑๗๔๘ทายาทคนใดครอบครองทรัพย์มฤดกซึ่งยังมิได้แบ่งกัน ทายาทคนนั้นมีสิทธิที่จะเรียกร้องให้แบ่งทรัพย์มฤดกนั้นได้ แม้ว่าจะล่วงพ้นกำหนดอายุความตามมาตรา ๑๗๕๔ แล้วก็ดี
สิทธิที่จะเรียกให้แบ่งทรัพย์มฤดกตามวรรคก่อนจะตัดโดยนิติกรรมเกินคราวละสิบปีไม่ได้
มาตรา๑๗๔๙ถ้ามีคดีฟ้องเรียกทรัพย์มฤดก ผู้ซึ่งอ้างว่าตนเป็นทายาทมีสิทธิในทรัพย์มฤดกนั้น จะร้องสอดเข้ามาในคดีก็ได้
แต่ศาลจะเรียกทายาทอื่นนอกจากคู่ความหรือผู้ร้องสอดให้เข้ามารับส่วนแบ่งหรือกันส่วนแห่งทรัพย์มฤดกไว้เพื่อทายาทอื่นนั้นไม่ได้
มาตรา๑๗๕๐การแบ่งปันทรัพย์มฤดกนั้น อาจทำได้โดยทายาทต่างเข้าครอบครองทรัพย์สินเป็นส่วนสัด หรือโดยการขายทรัพย์มฤดกแล้วเอาเงินที่ขายได้มาแบ่งปันกันระหว่างทายาท
ถ้าการแบ่งปันมิได้เป็นไปตามวรรคก่อน แต่ได้ทำโดยสัญญา จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่ เว้นแต่จะมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใด ลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดหรือตัวแทนของฝ่ายนั้นเป็นสำคัญ ในกรณีเช่นเช่นนี้ ให้นำมาตรา ๘๕๐, ๘๕๒ แห่งประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วยปราณีประนอมยอมความมาใช้บังคับโดยอนุโลม
มาตรา๑๗๕๑ภายหลังที่ได้แบ่งมฤดกกันแล้ว ถ้าทรัพย์สินทั้งหมดหรือบางส่วนซึ่งทายาทคนใดคนหนึ่งได้รับตามส่วนแบ่งปันนั้น หลุดมือไปจากทายาทคนนั้นเนื่องจากการรอนสิทธิ ทายาทคนอื่น ๆ จำต้องใช้ค่าทดแทน
หนี้เช่นว่านั้นเป็นอันระงับเมื่อมีการตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่น หรือการรอนสิทธิเป็นผลเนื่องมาจากความผิดของทายาทผู้ถูกรอนสิทธิ หรือเนื่องมาจากเหตุซึ่งเกิดขึ้นภายหลังการแบ่งปัน
ทายาทคนอื่น ๆ ต้องใช้ค่าทดแทนให้แก่ทายาทผู้ถูกรอนสิทธิตามส่วนแห่งส่วนแบ่งของตน แต่ให้หักจำนวนที่เป็นส่วนเฉลี่ย ซึ่งทายาทผู้ถูกรอนสิทธิจะต้องออกกับเขาด้วยนั้นออกเสีย แต่ถ้าทายาทคนใดคนหนึ่งเป็นคนหนี้สินล้นพ้นตัว ทายาทคนอื่น ๆ ต้องรับผิดในส่วนของทายาทคนนั้นตามส่วนเฉลี่ยเช่นเดียวกัน แต่ให้หักจำนวนที่เป็นส่วนเฉลี่ยซึ่งทายาทผู้ที่จะได้รับค่าทดแทนจะต้องออกแทนทายาทผู้ที่มีหนี้สินล้นพ้นตัวนั้นออกเสีย
บทบัญญัติในวรรคก่อน ๆ มิให้ใช้บังคับแก่ผู้รับพินัยกรรม์ลักษณะฉะเพาะ
มาตรา๑๗๕๒คดีฟ้องให้รับผิดเนื่องจากการรอนสิทธิตามมาตรา ๑๗๕๑ นั้นมิให้ฟ้องเมื่อพ้นกำหนดสามเดือนนับแต่เมื่อถูกรอนสิทธิ
มาตรา๑๗๕๓ภายใต้บังคับแห่งสิทธิของเจ้าหนี้กองมฤดก เมื่อบุคคลใดถึงแก่ความตายโดยไม่มีทายาทโดยธรรม หรือผู้รับพินัยกรรม์ หรือการตั้งมูลนิธิตามพินัยกรรม์ มฤดกของบุคคลนั้นตกทอดแก่แผ่นดิน
มาตรา๑๗๕๔ห้ามมิให้ฟ้องคดีมฤดกเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปีนับแต่เมื่อเจ้ามฤดกตาย หรือนับแต่เมื่อทายาทโดยธรรมได้รู้หรือควรได้รู้ถึงความตายของเจ้ามฤดก
คดีฟ้องเรียกตามข้อกำหนดพินัยกรรม์ มิให้ฟ้องเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปีนับแต่เมื่อผู้รับพินัยกรรม์ได้รู้หรือควรได้รู้ถึงสิทธิซึ่งตนมีอยู่ตามพินัยกรรม์
ภายใต้บังคับแห่งมาตรา ๑๘๙ แห่งประมวลกฎหมายนี้ ถ้าสิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้อันมีต่อเจ้ามฤดกมีกำหนดอายุความยาวกว่าหนึ่งปี มิให้เจ้าหนี้นั้นฟ้องร้องเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปีนับแต่เมื่อเจ้าหนี้ได้รู้ หรือควรได้รู้ถึงความตายของเจ้ามฤดก
ถึงอย่างไรก็ดี สิทธิเรียกร้องตามที่ว่ามาในวรรคก่อน ๆ นั้น มิให้ฟ้องร้องเมื่อพ้นกำหนดสิบปีนับแต่เมื่อเจ้ามฤดกตาย
มาตรา๑๗๕๕อายุความหนึ่งปีนั้นจะยกขึ้นต่อสู้ได้ก็แต่โดยบุคคลซึ่งเป็นทายาทหรือบุคคลซึ่งชอบที่จะใช้สิทธิของทายาทหรือโดยผู้จัดการมฤดก