ประกาศพระราชบัญญัติและพระราชกำหนดต่าง ๆ รัชชกาลที่ 8/เล่ม 2/เรื่อง 34
คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
(ตามประกาศประธานสภาผู้แทนราษฎร
ลงวันที่ ๗ มีนาคม พุทธศักราช ๒๔๗๗)
อาทิตย์ทิพอาภา
เจ้าพระยายมราช
เป็นปีที่ ๒ ในรัชชกาลปัจจุบัน
โดยที่สภาผู้แทนราษฎรลงมติว่า สมควรมีพระราชบัญญัติกำหนดฐานะ ระเบียบ และแบบแผนแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
จึ่งมีพระบรมราชโองการให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของสภาผู้แทนราษฎร ดั่งต่อไปนี้
มาตรา๑พระราชบัญญัตินี้ให้เรียกว่า “พระราชบัญญัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พุทธศักราช ๒๔๗๗”
มาตรา๒ให้ใช้พระราชบัญญัตินี้ตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
มาตรา๓ให้ยกเลิกบรรดากฎหมาย กฎ และข้อบังคับอื่นซึ่งมีข้อความขัดหรือแย้งกับบทแห่งพระราชบัญญัตินี้
มาตรา๔ให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นสถานศึกษาและค้นคว้าในศาสตร์ต่าง ๆ โดยมุ่งจะส่งเสริมวิชาชีพชั้นสูงและทนุบำรุงวัฒนะธรรมแห่งชาติ
มาตรา๕มหาวิทยาลัยนี้แบ่งออกเป็นคณะต่าง ๆ คณะหนึ่ง ๆ แบ่งออกเป็นแผนกวิชาต่าง ๆ แต่ถ้าแผนกวิชาใดจะรวมกับแผนกวิชาอื่นเป็นคณะไม่ได้ ก็ให้ตั้งเป็นแผนกอิสสระได้
การตั้งหรือเลิกล้มคณะหรือแผนกวิชานั้น ให้ทำได้แต่โดยพระราชบัญญัติ
มาตรา๖คณะต่าง ๆ แห่งมหาวิทยาลัยนี้ คือ
คณะแพทย์ศาสตร์และศิริราชพยาบาล มีแผนกกายวิภาควิทยา สรีระวิทยา พยาธิวิทยา อายุศศาสตร์ ศัลยศาสตร์ สูติศาสตร์–นารีเวชวิทยา เอกซเรย์ และพยาบาล–ผดุงครรภ์
คณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มีแผนกเคมี ฟิสิคส์ ชีววิทยา คณิตศาสตร์ ภาษาไทย และภาษาโบราณตะวันออก ภาษาปัจจุบัน ภูมิศาสตร์–ประวัติศาสตร์ และฝึกหัดครู
คณะวิศวกรรมศาสตร์ มีแผนกวิศวกรรมโยธา วิศวกรรมเครื่องกล และวิศวกรรมไฟฟ้า
แผนกอิสสระต่าง ๆ แห่งมหาวิทยาลัยนี้ คือ แผนกเภสัชกรรมศาสตร์ แผนกสถาปัตยกรรมศาสตร์ และแผนกสัตวแพทยศาสตร์
มาตรา๗ให้มหาวิทยาลัยนี้เป็นนิติบุคคล
ในส่วนการเงินนั้น อาจที่จะมีรายได้ต่าง ๆ ดั่งนี้
(๑)เงินงบประมาณแผ่นดิน
(๒)เงินผลประโยชน์และค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัย เงินประเภทนี้ให้มหาวิทยาลัยรักษาและจัดการได้เอง
(๓)เงินและทรัพย์สินอย่างอื่นซึ่งบุคคลอุททิศให้แก่มหาวิทยาลัย และภายในบังคับแห่งเงื่อนไข ข้อบังคับ หรือวัตถุประสงค์ซึ่งผู้อุททิศทุนกำหนดไว้ ให้มหาวิทยาลัยรักษาและจัดการตามที่เห็นสมควรแก่ประโยชน์แห่งมหาวิทยาลัยนี้
มาตรา๘ให้มหาวิทยาลัยนี้อยู่ในความควบคุมดูแลของสภามหาวิทยาลัย
สภามหาวิทยาลัยประกอบด้วย
(ก)กรรมการโดยตำแหน่ง คือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงธรรมการ อธิการบดีมหาวิทยาลัย คณบดี และหัวหน้าแผนกอิสสระ
(ข)กรรมการที่เลือกตั้งขึ้นจากบรรดาศาสตราจารย์หรืออาจารย์ซึ่งเป็นหัวหน้าแผนกวิชาของคณะต่าง ๆ คณะละหนึ่งหรือสองคน แล้วแต่สภามหาวิทยาลัยจะวินิจฉัย
(ค)กรรมการซึ่งจะได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งขึ้นโดยความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎรเป็นจำนวนไม่เกินกว่าสองในสามของจำนวนกรรมการสองประเภทข้างต้น
มาตรา๙ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงธรรมการเป็นนายกสภามหาวิทยาลัยโดยตำแหน่ง และให้อธิการบดีมหาวิทยาลัยเป็นอุปนายกโดยตำแหน่ง ให้คณะกรรมการเลือกตั้งผู้หนึ่งผู้ใดในหรือนอกคณะกรรมการนี้ซึ่งมีคุณวุฒิตามมาตรา ๑๘ เป็นเลขาธิการสภามหาวิทยาลัย
มาตรา๑๐ให้กรรมการที่เลือกตั้งขึ้นและกรรมการที่ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งขึ้นดำรงอยู่ในตำแหน่งสองปี แต่จะกลับตั้งให้อยู่ในตำแนห่งนั้นต่อไปอีกคราวละสองปีก็ได้
มาตรา๑๑สภามหาวิทยาลัยมีอำนาจและหน้าที่ดั่งนี้
(๑)วางระเบียบภายในมหาวิทยาลัย เช่น การรับผู้สมัครเข้าเรียน วินัย และอัตราค่าธรรมเนียม
(๒)พิจารณาเพื่ออนุมัติการปรับปรุงและแก้ไขรายละเอียดหลักสูตรวิชาของคณะต่าง ๆ
(๓)เลือกตั้งหรือถอดถอนคณบดีและหัวหน้าแผนกต่าง ๆ
(๔)ทำหน้าที่ อ.ก.พ. กระทรวงธรรมการตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๔๗๖ ในเมื่อเกี่ยวกับตำแหน่งศาสตราจารย์ อาจารย์ และเจ้าหน้าที่ซึ่งมีเงินเดือนในงบประมาณแผ่นดิน
(๕)วางระเบียบการแต่งตั้ง เลื่อนชั้น ถอดถอน และควบคุมศาสตราจารย์ อาจารย์ และเจ้าหน้าที่อื่น ๆ ที่ได้รับเงินเดือนจากรายได้ของมหาวิทยาลัยตามมาตรา ๗ (๒)
(๖)วางระเบียบให้ปริญญาและอนุปริญญา
(๗)ทำงบประมาณเงินประจำปีของมหาวิทยาลัย
(๘)รักษาและจัดการเงินและทรัพย์สินอย่างอื่นของมหาวิทยาลัย
(๙)พิจารณาและให้ความเห็นในปัญหาใด ๆ อันเกี่ยวกับมหาวิทยาลัยหรือเรื่องการศึกษาซึางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงธรรมการหรืออธิการบดีเสนอขึ้นมา
มาตรา๑๒ให้นายกหรืออุปนายกเป็นผู้เรียกประชุมสภามหาวิทยาลัย ในการประชุมต้องมีกรรมการมาประชุมอย่างน้อยกึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมดจึ่งจะเป็นองค์ประชุมได้
มาตรา๑๓ให้นายกเป็นประธานในที่ประชุม ถ้านายกมาประชุมไม่ได้ ให้อุปนายกเป็นประธาน ถ้าอุปนายกมาประชุมไม่ได้ ก็ให้กรรมการเลือกตั้งกรรมการคนหนึ่งขึ้นเป็นประธานชั่วคราว
มาตรา๑๔การลงมติให้ถือคะแนนเสียงข้างมากเป็นประมาณ ถ้าในการลงมตินั้นมีคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ประธานออกคะแนนเสียงเพิ่มขึ้นหนึ่งคะแนนเพื่อชี้ขาด
มาตรา๑๕เจ้าหน้าที่ในมหาวิทยาลัยมีดั่งนี้ คือ
(๑)ข้าราชการสามัญและวิสามัญตามความหมายแห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พุทธศักราช ๒๔๗๖
(๒)พนักงานที่มหาวิทยาลัยตั้งขึ้นและรับเงินเดือนจากรายได้ของมหาวิทยาลัยนี้ตามมาตรา ๗ (๒)
มาตรา๑๖อธิการบดีมหาวิทยาลัยนั้นจะได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งขึ้นโดยคำแนะนำของสภามหาวิทยาลัยจากผู้ที่มีคุณวุฒิดั่งต่อไปนี้
(๑)ได้ปริญญาไม่ต่ำกว่าชั้นปริญญาเอกของมหาวิทยาลัยนี้หรือเทียบเท่ากัน หรือ
(๒)ได้ปริญญาไม่ต่ำกว่าชั้นปริญญาตรีของมหาวิทยาลัยนี้หรือเทียบเท่ากัน และได้ทำการเป็นเจ้าหน้าที่ในมหาวิทยาลัยนี้หรือเป็นข้าราชการมาแล้วไม่ต่ำกว่าห้าปี
อธิการบดีมหาวิทยาลัยดำรงอยู่ในตำแหน่งสองปี แต่จะกลับตั้งให้อยู่ในตำแหน่งนั้นต่อไปอีกคราวละสองปีก็ได้
มาตรา๑๗อธิการบดีมหาวิทยาลัยมีหน้าที่ดั่งนี้
(๑)ควบคุมดูแลการศึกษาในมหาวิทยาลัยให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติและข้อบังคับของสภามหาวิทยาลัย
(๒)รับปรึกษาและให้ความเห็นแก่คณบดี
(๓)ควบคุมดูแลการเงิน การพัสดุ สถานที่ และทรัพย์สินอื่น ๆ ของมหาวิทยาลัย
(๔)รักษาวินัยของมหาวิทยาลัย
มาตรา๑๘เลขาธิการของสภามหาวิทยาลัยนั้นต้องได้ปริญญาไม่ต่ำกว่าชั้นปริญญาตรีของมหาวิทยาลัยนี้หรือเทียบเท่ากัน และได้ทำงานในมหาวิทยาลัยนี้ไม่ต่ำกว่าห้าปี
มาตรา๑๙ให้เลขาธิการของสภามหาวิทยาลัยเป็นเลขาธิการแห่งมหาวิทยาลัยโดยตำแหน่ง และมีหน้าที่ดั่งนี้
(๑)ควบคุมการทะเบียนและสถิติ
(๒)ควบคุมการบัญชี
(๓)ตรวจตราดูแลพัสดุ สถานที่ และทรัพย์สินอื่น ๆ ของมหาวิทยาลัย
(๔)ช่วยเหลืออธิการบดีในกิจการทั่วไปของมหาวิทยาลัย
มาตรา๒๐ในคณะหนึ่ง ให้มีคณะกรรมการประจำทุกคณะ ซึ่งประกอบด้วยคณบดีเป็นประธาน และผู้แทนแผนกวิชาต่าง ๆ ในคณะนั้นเท่าที่คณะกรรมการประจำคณะจะได้ตกลงกันโดยอนุมัติของสภามหาวิทยาลัย ตั้งขึ้นจากบรรดาหัวหน้าแผนก ศาสตราจารย์ และอาจารย์ในแผนกนั้น แต่ต้องมีจำนวนไม่เกินสองคนต่อหนึ่งแผนก
ในแผนกอิสสระ ให้มีคณะกรรมการประจำแผนก ซึ่งประกอบด้วยหัวหน้าแผนกวิชาและอาจารย์
ให้คณะกรรมการประจำตั้งผู้ใดผู้หนึ่งในหรือกนอกคณะกรรมการเป็นเลขานุการ
มาตรา๒๑คณะกรรมการประจำคณะหรือแผนกอิสสระมีหน้าที่ดั่งนี้
(๑)วางระเบียบการภายในคณะหรือแผนกเพื่อเสนอต่อสภามหาวิทยาลัย
(๒)วางหลักสูตรรายละเอียดสำหรับคณะหรือแผนกเพื่อเสนอต่อสภามหาวิทยาลัย
(๓)วางระเบียบการสอบไล่เพื่อเสนอต่อสภามหาวิทยาลัย และจัดการสอบไล่สำหรับคณะหรือแผนก
(๔)รับปรึกษาและให้ความเห็นแก่คณบดีหรือหัวหน้าแผนกในกิจการของคณะหรือแผนก
(๕)เสนอแต่งตั้ง เลื่อนชั้น และถอดถอนศาสตราจารย์ อาจารย์ และเจ้าหน้าที่อื่น ๆ ในคณะหรือแผนก และสำหรับตำแหน่งที่มีเงินเดือนในงบประมาณแผ่นดิน ให้คณะกรรมการประจำทำหน้าที่ อ.ก.พ. กรม ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พุทธศักราช ๒๔๗๖
(๖)จัดทำงบประมาณประจำปีของคณะหรือแผนกแล้วเสนอต่ออธิการบดีมหาวิทยาลัยต่อไป
มาตรา๒๒การประชุม องค์ประชุม การลงมติ และการตั้งประธาน ให้ใช้บทบัญญัติในมาตรา ๑๒ ๑๓ และ ๑๔ โดยอนุโลม
มาตรา๒๓กิจการในคณะหนึ่ง ๆ ของมหาวิทยาลัยนั้น ให้อยู่ภายใต้บังคับบัญชาของคณบดีซึ่งสภามหาวิทยาลัยจะได้ตั้งขึ้นโดยคำแนะนำของคณะกรรมการประจำคณะจากบรรดาหัวหน้าแผนกในคณะนั้น และดำรงอยู่ในตำแหน่งสี่ปี แต่จะกลับตั้งให้อยู่ในตำแหน่งนั้นอีกคราวละสี่ปีก็ได้
กิจการในแผนกวิชานั้นให้อยู่ภายใต้บังคับบัญชาของหัวหน้าแผนกวิชา
มาตรา๒๔คณบดีและหัวหน้าแผนกวิชามีหน้าที่ดั่งนี้
(๑)เป็นผู้แทนของคณะและแผนกวิชา
(๒)ปฏิบัติการตามข้อตกลงของคณะกรรมการประจำคณะและแผนกวิชา และข้อบังคับต่าง ๆ เพื่อให้การสอนและหลักสูตรการสอนดำเนินไปโดยเรียบร้อย
(๓)รักษาวินัยภายในคณะและแผนกวิชา
มาตรา๒๕บุคคลซึ่งสภามหาวิทยาลัยเสนอเพื่อตั้งเป็นศาสตราจารย์นั้น ให้มหาวิทยาลัยเลือกจากบรรดาผู้มีคุณวุฒิสำหรับแผนกวิชาที่ตนพึงปฏิบัติดั่งนี้
(๑)ได้ปริญญาชั้นเอกของมหาวิทยาลัยนี้หรือเทียบเท่ากัน และได้ทำการสอนมาแล้วไม่ต่ำกว่าห้าปี หรือ
(๒)ได้ปริญญาชั้นใดชั้นหนึ่งของมหาวิทยาลัยนี้หรือเทียบเท่ากัน และได้ทำการค้นคว้าได้ผลดีเป็นพิเศษ หรือ
(๓)ได้ปริญญาชั้นใดชั้นหนึ่งของมหาวิทยาลัยหรือเทียบเท่ากัน และได้แสดงความสามารถเป็นพิเศษในการสอนในมหาวิทยาลัยนี้ไม่ต่ำกว่าสิบห้าปี
มาตรา๒๖สภามหาวิทยาลัยอาจตั้งผู้หนึ่งผู้ใดซึ่งเคยเป็นศาสตราจารย์มาแล้วด้วยความสามารถและชำนาญดีพิเศษ เป็นศาสตราจารย์อุปการคุณในวิชาที่ผู้นั้นได้มีความเชี่ยวชาญเพื่อเป็นเกียรติยศก็ได้
มาตรา๒๗การแต่งตั้งอาจารย์และเจ้าหน้าอื่น ๆ ซึ่งมีเงินเดือนปรากฏอยู่ในงบประมาณแผ่นดินนั้น ให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พุทธศักราช ๒๔๗๖ หรือพระราชกฤษฎีกากำหนดวิธีการคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แล้วแต่กรณี
มาตรา๒๘ให้มหาวิทยาลัยนี้มีอำนาจให้ปริญญาบัณฑิตสำหรับวิชาต่อไปนี้
แพทยศาสตร์ (ใช้อักษรย่อ พ. ข้างหน้า)
วิศวกรรมศาสตร์ (ใช้อักษรย่อ วศ. ข้างหน้า)
อักษรศาสตร์ (ใช้อักษรย่อ อ. ข้างหน้า)
วิทยาศาสตร์ (ใช้อักษรย่อ วท. ข้างหน้า)
เภสัชกรรมศาสตร์ (ใช้อักษรย่อ ภ. ข้างหน้า)
สถาปัตยกรรมศาสตร์ (ใช้อักษรย่อ สถ. ข้างหน้า)
สัตวแพทยศาสตร์ (ใช้อักษรย่อ สต. ข้างหน้า)
มาตรา๒๙ปริญญาบัณฑิตมี ๓ ชั้น คือ
ชั้นเอก เรียกว่า ดุษฎีบัณฑิต (ใช้อักษรย่อ ด. ข้างหลัง)
ชั้นโทก เรียกว่า มหาบัณฑิต (ใช้อักษรย่อ ม. ข้างหลัง)
ชั้นตรี เรียกว่า บัณฑิต (ใช้อักษรย่อ บ. ข้างหลัง)
ปริญญาบัตรชั้นตรีอาจแบ่งเป็นเกียรติปริญญาอันดับ ๑ อันดับ ๒ และปริญญาสำเร็จ
หัวข้อหลักสูตรในการสอบไล่เพื่อปริญญาสำหรับแผนกวิชาต่าง ๆ ข้างบนนี้ ให้ตราไว้ในพระราชกฤษฎีกา
มาตรา๓๐ให้มหาวิทยาลัยมีอำนาจให้ปริญญากิตติมศักดิ์แก่บุคคลซึ่งมหาวิทยาลัยเห็นว่าทรงคุณวุฒิสมควรแก่ปริญญานั้น ๆ
มาตรา๓๑บรรดาปริญญาของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่ได้ให้ไปแล้วก่อนพระราชบัญญัตินี้ ให้ถือเป็นปริญญาตามพระราชบัญญัตินี้
ส่วนที่จะเข้าชั้นใดตามมาตรา ๒๙ แห่งพระราชบัญญัตินี้ ให้สภามหาวิทยาลัยกำหนดและประกาศในราชกิจจานุเบกษา
มาตรา๓๒ภายใต้บังคับแห่งมาตรา ๒๘ ให้มหาวิทยาลัยมีอำนาจให้อนุปริญญาแก่นิสสิตที่เรียนสำเร็จตามหลักสูตรที่มีมาตรฐานยังไม่ถึงชั้นปริญญาและสอบไล่ได้ตามระเบียบของมหาวิทยาลัย
มาตรา๓๓ให้มอบบรรดาเงินรายได้และทรัพย์สินอื่น ๆ ตามมาตรา ๗ (๒) และ (๓) ซึ่งกรมมหาวิทยาลัยและกระทรวงการคลังเก็บรักษาไว้ในเวลานี้ ให้แก่มหาวิทยาลัยภายในกำหนดเวลาไม่เกินหกเดือนนับแต่วันประกาศใช้พระราชบัญญัตินี้
มาตรา๓๔ให้อธิบดีกรมมหาวิทยาลัยทำหน้าที่อธิการบดีมหาวิทยาลัยตั้งแต่วันประกาศใช้พระราชบัญญัตินี้เป็นต้นไป แต่ไม่ให้เกินหกเดือน
มาตรา๓๕คณบดี หัวหน้าแผนกวิชา ศาสตราจารย์ และกรรมการในคณะกรรมการประจำคณะซึ่งกระทรวงธรรมการได้ตั้งขึ้นไว้แล้ว และยังดำรงตำแหน่งอยู่ในวันประกาศใช้พระราชบัญญัตินี้นั้น ให้ถือว่าได้เลือกตั้งหรือตั้งขึ้นโดยชอบตามบทแห่งพระราชบัญญัตินี้
(ตามมติคณะรัฐมนตรี)
รัฐมนตรี