ประกาศให้ใช้วันอย่างใหม่ ลงวันแรม 12 ค่ำ เดือน 4 จ.ศ. 1250

ประกาศ
ให้ใช้วันอย่างใหม่

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ บดินทรเทพยมหามงกุฎ บุรุษย์รัตนราชรวิวงษ์ วรุตมพงษบริพัตร วรขัติยราชนิกโรดม จาตุรันตบรมมหาจักรพรรดิราชสังกาศ บรมธรรมิกมหาราชาธิราช บรมนารถบพิตร พระจุลจอมเกล้าเจ้ากรุงสยาม ทั้งฝ่ายเหนือ ฝ่ายใต้ แลดินแดนที่ใกล้เคียง คือ ลาวเฉียง ลาวกาว มลายู กระเหรี่ยง ฯลฯลฯลฯ

มีพระบรมราชโองการดำรัสเหนือเกล้าฯ สั่งว่า ด้วยทรงพระราชดำริห์ถึงวิธีนับวันเดือนที่ใช้กันอยู่ในสยามรัฐมณฑลแลที่ใช้ในประเทศใหญ่น้อยเปนอันมากในโลกย์นั้น เปนวิธีต่างกันอยู่มาก คือ กล่าวโดยย่อก็เปนวิธีใช้ตามจันทรคติอย่างหนึ่ง แลสุริยคติอย่างหนึ่ง จึ่งทรงพระราชดำริห์ว่า วิธีนับวันเดือนปีอย่างดีที่สุดนั้นควรจะประกอบด้วยเหตุอันควร ๓ ประการ ประการหนึ่ง (๑) คือ ให้ถูกต้องใกล้ชิดกับฤดูกาล ประการหนึ่ง (๒) ให้มีประมาณอันเสมอไม่มากไม่น้อยกว่ากันนัก กับประการหนึ่ง (๓) ให้คนทั้งปวงรู้ได้ง่ายทั่วไปดีกว่าอย่างอื่น ดังนี้ จึ่งจะสมควรที่จะใช้ในประชุมชนทั้งปวง

แต่วิธีนับเดือนปีที่ใช้อยู่ทุกวันนี้นับตามจันทรคติแลอาไศรยตามตำราสุริยาตรเปนเค้าเพื่อว่าจันทรนคติจะได้เข้าประกอบกับสุริยโคจรได้ แต่สุริยคติกาลตามตำรานี้ก็มีแต่อาไศรยกับดาวฤกษอย่างเดียว ไม่ได้อาไศรยกับโลกย์นี้เปนหลักอย่างสามัญสงกรานต์ซึ่งอาทิตยตรงสูญกลางโลกย์เพราะเหตุว่า สุริยโคจรโดยดาวฤกษรอบหนึ่งตามตำรานี้เปนปีหนึ่งได้ ๓๖๕ วัน ๖ โมง ๑๒ นาที ๓๖ วินาที แต่สุริยโคจรโอนเหนือใต้รอบโลกย์แลตรงสูญกลางโลกย์นี้ที่นับว่า เปนสามัญสงกรานต์ขาเข้านั้น มีมัธยมประมาณเปนปีหนึ่ง ๓๖๕ วัน ๕ โมง ๔๘ นาที ๔๙ วินาที เหตุฉนี้ ประมาณ ๖๐ ปี คติทั้งสองนี้จะผิดกันถึงวันหนึ่ง สามัญสงกรานต์จึ่งได้เลื่อนไปวันหนึ่งฤๅองศาหนึ่งทุก ๖๐ ปี ฤดูกาลก็เลื่อนไปตากมัน เมื่อคำนวนดูก็เห็นว่า แรกตั้งจุลศักราชนั้นเปนวันสามัญสงกรานต์ขาเข้า แลมีสุริยุปราคาเวลาบ่าย ๓ โมง ครั้นกาลล่วงมาถึงเวลานี้ จุลศักราช ๑๒๕๐ ปี คิดเปนวันสงกรานต์ เคลื่อนช้ามาภายหลังสามัญสงกรานต์ขาเข้าถึง ๒๑ วัน ฤดูกาลก็เคลื่อนมาตามกัน ด้วยเหตุว่า ฤดูนี้ย่อมเปนตามอาทิตยกับโลกย์นี้ตั้งอยู่อย่างใดก็เปนอย่างนั้น ไม่อาไศรยแก่ดาวฤกษ เพราะฉนั้น สุริยคติกาลตามสุริยาตรนี้ก็ไม่สมกับเหตุอันควรประการที่ ๑ ซึ่งกล่าวมาแล้ว

อนึ่ง วิธีนับปีที่ใช้อยู่ทุกวันนี้ย่อมมีประมาณเปนสามอย่างไม่เสมอกัน คือ ปีปรกติ ๑๒ เดือน เปน ๓๕๔ วัน ปีมีอธิกวาร ๓๕๕ วัน กับปีอธิกมาศ ๑๓ เดือน เปน ๓๘๔ วัน ถ้าจะแปลกกันแต่อย่างเช่นนี้ปรกติกับปีอธิกวารเท่านั้น ก็จะไม่ผิดประหลาดมากนัก แต่วิธีอย่างนี้มีอธิกมาศยาวกว่าปีปรกติแลปีอธิกวารถึงเดือนหนึ่ง เพราะฉนั้น วิธีนับปีอย่างนี้ไม่สมเหตุอันควรโดยประการที่ ๒ ดังกล่าวมาแล้วนั้น

อีกประการหนึ่ง วิธีนับเดือนที่ใช้อยู่ทุกวันนี้ ถ้าพ้นจากกาลประจุบันไปแล้ว จะเปนกาลอดีตก็ดี อนาคตก็ดี เปนการยากที่คนสามัญจะรู้ได้ว่า ปีใดเปนอธิกมาศ อธิกวาร ฤๅปรกติ ถึงแม้ว่าผู้ที่รู้วิชาเลขดีแล้วก็ยังต้องคิดคำนวนค้นหาตำราสอบสวนอยู่ช้านานจึงจะได้รู้ ด้วยต้องทำพิสุทธิมาศ คือ ทำสัมมุขอาทิตย์แลจันทรในวันเข้าพรรษาแลวันปวารณาให้เข้าตัวอย่างฤกษ โดยผ่อนวันในปีจะให้เปนอธิกมาศ อธิกวาร แลปรกตินั้นเข้าหาให้ต้อง อย่างฤกษเข้าพรรษาอยู่ในฤกษ ๒๐ ฤกษ ๒๑ ฤกษ ๒๒ คือ บุรพาสาธ อุตราสาธ สาวะนะ ๓ ฤกษ กับฤกษปวารณาอยู่ในฤกษ ๒๖ ฤกษ ๒๗ ฤกษ ๑ คือ อุตรภัทร เรวดี อัศนี ๓ ฤกษ แล้วอย่าให้สงกรานต์ก่อนขึ้น ๔ ค่ำ เดือน ๕ ด้วยทางคำนวนอย่างนี้เปนของคิดขึ้นภายหลัง ไม่ได้เปนตำราตั้งมาแต่เดิมแรกตั้งจุลศักราชเหมือนตำราสุริยาตร เพราะฉนั้น ดิถีกับวารใน(ต้นฉบับตรงนี้อ่านไม่ออก)เถลิงศก บางปีก็ตรงกัน บางปีก็ไม่ตรงกัน แลทางคำนวนอย่างนี้จะกำหนดลงว่า ปรกติกี่ปี มีอธิกมาศ อธิกวาร ปีหนึ่ง ก็ไม่ได้ คนมีความรู้เสมอกันก็อาจจะทำให้ต่างกันได้ มีตัวอย่างเหมือนเช่น ปีรกา เอกศก จุลศักราช ๑๒๗๑ ต่อไปข้างน่าอีกปีนี้ โหรกพวกหนึ่ง มีสมเด็จพระเจ้าบรมวงษเธอ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมสมเด็จพระบำราบปรปักษ์ ที่สิ้นพระชนม์ แลพระโหราธิบดี เปนประธาน ก็คำนวนออกว่า เปนปีอธิกมาศ โหรอีกพวหนึ่ง มีพระเจ้าบรมวงษเธอ กรมพระปวเรศวริยาลงกรณ์ แลขุนโชติพรหมา (เสิม) ที่ถึงแก่กรรมนั้น เปนต้น ก็คำนวนออกว่า เปนอธิกวารติดกัน ๒ ปี เหมือนเช่นปีชวด จัตวาศก จุลศักราช ๑๐๙๔ ที่มีปรากฎล่วงมาในปูม เปนการเถียงกันอยู่ดังนี้ ถ้าจะว่าตามตำรา รอบ ๑๙ ปีมีอธิกมาศ ๗ ปี เปนกำหนดว่า ในปีที่ ๓ ที่ ๖ ที่ ๙ ที่ ๑๑ ที่ ๑๔ ที่ ๑๗ กับที่ ๑๙ เปนอธิกมาศ ก็เหนมีพยานตามปูมที่มีอยู่ว่า ได้ใช้กันมาในสองร้อยปีที่ล่วงมาแล้วเท่านั้น การข้างต้นที่ล่วงมาก่อนนี้ก็ไม่มีหลักถานว่า ใช้ตามตำรานี้ กลับมีหลักถานเปนที่อ้างว่า จะใช้อย่างอื่น คือ ในตำราสุริยาตรนั้นเอง มีเกณฑ์เลขบอกไว้ในอัตตาเถลิงศก แต่ทางคำนวนนี้มีวิธีใช้เปน ๔ อย่างขึ้น คือ ปีปรกติ ๓๕๔ วัน ปีอธิกวาร ๓๕๕ วัน ปีอธิกมาศ ๓๘๔ วัน กับปีอธิกมาสาธิกวาร ๓๘๔ วัน เปนทางจันทรคติที่ใช้เปนสามัญ ฝ่ายปีสุริยคติก็มีเปนสองอย่าง คือ ปีปรกติสุร์ทิน ๓๖๕ วัน อย่างหนึ่ง กับปีอธิกะสุร์ทิน ๓๖๖ วัน อย่างหนึ่ง ในทางคำนวนนี้ ปีใดกัมมัจพลในอัตตาเถลิงศกปีนั้นต่ำกว่า ๒๐๗ แล้ว ปีนั้นเปนปีอธิกะสุร์ทิน ถ้ากัมมัจพลสูงกว่า ๒๐๗ แล้ว ปีนั้นเปนปีปรกติสุร์ทิน ถ้าปีใดเปนปีปรกติสุร์ทินอวมารต่ำกว่า ๑๓๗ ฤๅปีใดเปนปีอธิกสุร์ทินอวมารต่ำกว่า ๑๒๖ สองอย่างนี้ ปีนั้นเปนอธิกวาร ถ้าสูงกว่า ไม่มีอธิกวาร ถ้าปีใดเปนดิถีในอัตตาเถลิงศกบวกเกณฑ์เลขซึ่งว่าต่อนี้และไปถึง ๓๐ ฤๅเกินไปในปีใด ปีนั้นเปนอธิกมาศ ถ้าไม่ถึง ไม่เปนปีอธิกมาศ เกณฑ์เลขนั้น คือ ปีปรกติสุร์ทินกับเปนอธิกวารบวก ๑๐ ปีอธิกสุร์ทินกับอธิกวารก็ดี ฤๅปีปรกติสุร์ทินกับปรกติวารก็ดีบวก ๑๑ แลปีอธิกสุร์ทินกับปรกติวารบวก ๑๒ ทางคำนวนนี้รู้จักทำอัตตาเถลิงศกได้แล้วดูเลข ๓ แห่ง คือ กัมมัจพล ๑ อวมาร ๑ กับดิถี ๑ แล้วก็รู้ได้ทันที ไม่ต้องคำนวนยืดยาวว่า ปีใดเปนอธิกมาศ อธิกวาร ฤๅปรกติ แลเห็นได้ว่า ถูกจริง เพราะดิถีกับวารในอัตตาเถลิงศพกับวันที่ใช้เปนสามัญนั้นไม่ยิ่งไม่หย่อนเคลื่อนคลาศกันอย่างเช่นกล่าวมาในวิธีอื่นนั้น แต่ทางคำนวนนี้ไม่มีใครสอนกัน เพราะเปนทางคิดสอบสวนได้ออกจากตำราสุริยาตรเอง มีพยานที่คิดเลขลงกันได้ตลอด แต่เปนของไม่ได้ใช้ในทุกวันนี้ ฝ่ายกำหนดอธิกวารที่ใช้อยู่ทุกวันนี้ ก็เปนตามทางคำนวนพิสุทธิมาศเท่านั้น โหรมีตำราสำหรับที่จะให้รู้อธิกวารเปนเกณฑ์เลขหลายอย่างต่าง ๆ กันมาก แต่สอบสวนเข้าก็ไม่ได้จริง โดยที่สุด วิธีรับวันเดือนที่ใช้กันอยู่ทุกวันนี้ ถ้าพ้นจาก(ต้นฉบับตรงนี้อ่านไม่ออก)มีอยู่อย่างสูงเพียง ๒๐๐ ปีเศษแล้ว ก็รู้แน่ไม่ได้ว่า ปีใดเปนอธิกมาศฤๅอธิกวารแล เพราะโหรต่างคนต่างจะทำให้ถูกได้ตามใจ วิธีนับวันเดือนปีที่ใช้ในทวีปประเทศเดียวกัน อย่างเช่นเมืองพม่า ก็เคลื่อนกันอยู่วันหนึ่ง เพราะว่าไม่ได้ใส่อธิกวารในปีใดปีหนึ่ง แลเมืองลาวเฉียงก็เคลื่อนกันอยู่ ๒ เดือน เพราะว่าไม่ได้ใส่อธิกมาสสักสองปี การที่เปนเหตุให้มีวิธียุ่งยากอย่างนี้ ก็เพราะอยากจะคิดใช้ตามจันทรคติแลสุริยคติ ด้วยจันทรคตินั้นมีมัธยมประมาณเดินรอบโลกย์ ตรงกับอาทิตย์รอบหนึ่ง ๒๙ วัน ๑๒ โมง ๔๔ นาที ๓ วินาที ๑๒ รอบ จันทรโคจรเปน ๓๕๔ วัน ๘ โมง ๔๘ นาที ๓๖ วินาที ตัดเศษมงทิ้งสำหรับนับต่อไปข้างน่าปีปรกติ จึ่งนับว่า ปี ๓๕๔ วันเท่านั้น ๑๓ รอบจันทรโคจรเปน ๓๘๓ วัน ๒๑ โมง ๑๒ นาที ๓๙ วินาที แต่เศษโมงเกือบเต็มวันได้แล้ว แลเอาเศษโมงปีปรกติซึ่งทิ้งไว้นั้นมาผสมเข้าให้เต็มวันเปนปีอธิกมาศ ๓๘๔ วัน ส่วนเศษโมงที่ยังเหลืออยู่อีกนั้นหลายปี ครบเต็มวันเข้าเมื่อใด ก็เปนอธิกวารเติมวันขึ้นเมื่อนั้น ไนยหนึ่ง ซึ่งนับรอบ ๑๙ ปีว่า คติอาทิตย์แลจันทรตรงกันโดยเปน ๑๙ รอบอาทิตย์ ๒๓๕ รอบจันทรนั้น เมื่อคิดดูตามตำราสุริยาตรแลตำราอื่น ก็เห็นว่า ไม่ตรงกันแท้ ว่าแต่เพียงตามตำราสุริยาตร ๑๙ ปีนี้ สุริยคติคิดได้ ๖๙๓๙ วัน ๒๑ โมง ๕๙ นาที ๒๔ วินาที จันทรคติได้ ๖๙๓๙ วัน ๑๖ โมง (ต้นฉบับตรงนี้อ่านไม่ออก)๑ นาที ๔๕ วินาที ผิดเศษโมงกันอยู่ดังนี้ วิธีนับปีอย่างนี้ ที่รู้ใช้กันอยู่ได้ ก็เพียงแต่ชั่วปีหนึ่งปีหนึ่งซึ่งออกหมายประกาศไปเท่านั้น ครั้นล่วงปีไปแล้วก็ดี ฤๅปีข้างน่าต่อไปก็ดี ถ้าไม่มีปูมไม่มีจดหมายเหตุเปนที่สังเกตไว้แล้ว ก็ไม่มีผู้ใดจะบอกได้ว่า เปนกี่วันมาแล้ว เพราะเปนการยากยุ่งเหลือที่ผู้ใดจะทรงจะจำไว้ได้ แลเปนของที่รู้ได้ฉเพาะน้อยตัวคน ไม่เปนสาธารณทั่วไป เพราะเหตุฉนั้น วิธีนับปีนี้ก็ไม่สมกับเหตุอันควรโดยประการที่ ๓ ดังกล่าวมาแล้วข้างต้น

จึ่งได้ทรงพระราชดำริห์ถึงวิธีนับปีตามสุริยคติกาลซึ่งเดินอยู่รอบโลกย์นี้ มีกำหนดมัธยมประมาณรอบหนึ่ง ๓๖๕ วัน ๕ โมง ๔๘ นาที ๔๙ วินาทีนั้น มีทางนับอันหนึ่งซึ่งได้กันว่า ปรกติสุร์ทิน ๓๖๕ วัน แลปีอธิกสุร์ทิน ๓๖๖ วัน ปีปรกติ ๓ ปี มีปีอธิกะ ๑ ปี อย่างนี้ไปจนครบร้อยปีที่ ๑ ก็ดี ร้อยปีที่ ๒ ก็ดี ร้อยปีที่ ๓ ก็ดี ที่ควรมีอธิกสุร์ทินนั้น ก็ให้กลับปีนั้นเปนปีปรกติ ต่อเมื่อถึงร้อยปีที่ ๔ จึ่งได้คงเปนอธิกสุร์ทิน ทางนับอย่างนี้ คิดเฉลี่ยเปนปีหนึ่งได้ ๓๖๕ วัน ๕ โมง ๔๙ นาที ๑๒ วินาที มากกว่ามัธยมประมาณอยู่ปีละ ๒๓ วินาที อย่างน้อยที่สุดที่จะคิดให้เปนไปได้ต่อล่วงไปเกือบ ๔๐๐๐ ปี จึ่งจะเคลื่อนถึงวันหนึ่ง วิธีทางนับอันนี้สมกับเหตุอันควรประการที่ ๑ ซึ่งกล่าวมาแล้วนั้น โดยใกล้ชิดกับฤดูกาลอย่างที่สุด แลสมกับเหตุอันควรประการที่ ๒ โดยนับปีหนึ่งมีประมาณไม่มากไม่น้อยกว่ากันนัก มีแต่ปีปรกติ ๓๖๕ วัน กับปีอธิกสุรทิน ๓๖๖ วัน เปนกาลกำหนดสมควรที่จะเทียบเคียงความเจริญฤๅเสื่อมถอยในสรรพสิ่งทั้งปวงซึ่งมีซึ่งเปนในปีหนึ่ง ๆ ได้แน่นอน แลสมกับเหตุอันควรประการที่ ๓ โดยเปนทางง่ายที่คนจะเรียนรู้ แลจำไว้ แลรู้ทั่วไปในประเทศชุมชนในโลกย์นี้ได้มาก แลเพราะมีพระบรมราชประสงค์ทรงพระกรุณาแก่อาณาประชาราษฎรทั้งปวงทั่วไปจะให้มีวิชาเจริญเร็ว ให้ละสิ่งซึ่งไม่เปนประโยชน์มาประกอบสิ่งที่เปนประโยชน์จริงอยู่เสมอดังนี้ การอันใดที่ควรจะแก้ไขให้ดีขึ้น จึ่งได้ตั้งพระราชหฤไทยทรงกระทำนำให้เปนอย่างแก่คนทั้งปวง จึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราเปนพระราชบัญญัติไว้สืบไปว่า

ข้อ  ให้ตั้งวิธีนับปีเดือนตามสุริยคติกาลดังว่าต่อไปนี้ เปนปีปรกติ ๓๖๕ วัน ปีอธิกสุร์ทิน ๓๖๖ วัน ให้ใช้ศักราชตามปีตั้งแต่ตั้งกรุงเทพมหานครอมรรัตนโกสินทรมหินทรายุทธยาบรมราชธานีนั้น เรียกว่า รัตนโกสินทร์ศก ใช้เลขปีในรัชกาลทับหลังศกด้วย แต่เลขทับศกที่ประกาศไว้ในหมายประกาศสงกรานต์ใช้เปลี่ยนต่อเมื่อเปลี่ยนจุลศักราชนั้น ให้ยกเสีย ให้เปลี่ยนเลขทับศกตามกาลที่เปลี่ยนรัตนโกสินทร์ศก

ข้อ  ปีหนึ่งมี ๑๒ เดือน มีชื่อตามราษีที่เดือนนั้นเกี่ยวข้องอยู่ มีลำดับดังนี้

เดือนที่ ชื่อ เมษายน มี ๓๐ วัน
" " พฤษภาคม " ๓๑ "
" " มิถุนายน " ๓๑ "
" " กรกฎาคม " ๓๑ "
" " สิงหาคม " ๓๑ "
" " กันยายน " ๓๑ "
" " ตุลาคม " ๓๑ "
" " พฤศจิกายน " ๓๑ "
" " ธันวาคม " ๓๑ "
" ๑๐ " มกราคม " ๓๑ "
" ๒๘ "
ในปีปรกติสุร์ทิน
" ๑๑ " กุมภาพันธ์
" ๒๙ "
ในปีอธิกะสุร์ทิน
" ๑๒ " มีนาคม " ๓๑ "

วันในเดือนหนึ่งนั้น ให้เรียกว่า วันที่ ๑, ๒, ฯลฯ ๓๐, ๓๑,

ข้อ  ให้นับใช้วิธีนี้ในราชการแลการสารบาญชีทั้งปวงตั้งแต่วัน ๒ เดือน ๕ ขึ้น ๑ ค่ำ ปีฉลู ยังเปนสัมฤทธิศก จุลศักราช ๑๒๕๐ นั้น เปนวันที่ ๑ เมษายน รัตนโกสินทร์ ๑๐๘ ต่อไป แต่วิธีนับเดือนปีตามจันทรคติซึ่งเคยใช้มาในการกำหนดพระราชพิธีประจำเดือนต่าง ๆ ก็ดี แลใช้สังเกตเปนเปนวันพระหยุดทำการก็ดี ให้คงใช้ตามเดิมนั้น

ข้อ  ถ้าจะใคร่รู้ว่า ปีใดเปนปีอธิกสุร์ทิน ให้ตั้งรัตนโกสินทร์ศกลง เอา ๑๘๒ บวก เอา ๔ หาร ขาดปีใด ปีนั้นเปนปีอธิกสุร์ทิน เว้นไว้แต่บวกแล้วเลขครบ ๑๐๐ ก็ดี ๒๐๐ ก็ดี ๓๐๐ ก็ดี อย่าให้เปนอธิกสุร์ทินในปีนั้น ต่อเมื่อครบ ๔๐๐ จึ่งคงเปนไปตามที่ว่ามาทุก ๔๐๐ ปีเสมอไป

ข้อ  เงินภาษีอากรทั้งปวงนั้น ให้ส่งตามเดือนตามปีที่ว่ามานี้ เงินเดือนเงินปีในราชการทั้งปวง ก็ให้จ่ายตามเดือนตามปีนี้เหมือนกัน

ประกาศมาแต่ณวัน ๕ เดือน ๔ แรม ๑๒ ค่ำ ปีชวด สัมฤทธิศก จุลศักราช ๑๒๕๐ เปนวันที่ ๗๔๔๓ ในรัชกาลประจุบันนี้

บรรณานุกรม แก้ไข

 

งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตามมาตรา 7 (2) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า

"มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
(1) ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
(2) รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
(3) ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
(4) คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
(5) คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"