ประชุมกฎหมายประจำศก/เล่มเพิ่มเติม/เรื่อง 10
๏หนังสือสัญญาที่พระยาสุรวงษไวยวัฒน์เปนราชทูตออกไปทำไว้ต่อคอเวอนแมนต์ฝรั่งเสศที่กรุงปารีศให้ทูตเข้ามาเปลี่ยนนั้นมีความว่า ๚ะ
๏หนังสือพระราชสันนิฐารของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้ากรุงสยาม ในหนังสือสัญญาซึ่งได้ตกลงกันในวันจันทร เดือนแปด ขึ้นสิบสี่ค่ำ ปีเถาะ นพศก ศักราช ๑๒๒๙ ตรงกับปีเดือนอย่างยุโรปเปนวันที่ ๑๕ ของเดือนยุไลย ในปีมีคฤษตศักราช ๑๘๖๗ เปนสัญญาในระหว่างแผ่นดินสยามนี้แลพระราชมหาอาณาจักรของฝรั่งเสศ ๚ะ
๏สมเด็จพระปรเมนทรมหามกุฎ พระเจ้ากรุงรัตนโกสินทร มหินทรายุทธยา ราชธานีฝ่ายสยาม เปนพระเจ้าแผ่นดินใหญ่ที่สี่ในพระบรมราชวงษนี้ ขอประกาศแก่คนทั้งปวงบรรดาที่จะได้พบแลรู้ความในหนังสือนี้ คือ หนังสือฉบับหนึ่งซึ่งได้สันนิฐานในกรุงปาริศในวันจันทร เดือนแปด ขึ้นสิบสี่ค่ำ ปีเถาะ นพศก ศักราช ๑๒๒๙ ตรงกับปีเดือนอย่างยุโรปเปนวันที่ ๑๕ ของเดือนยุไลย ในปีมีคฤษตศักราช ๑๘๖๗ เปนสัญญาในระหว่าง ก็รูปหนังสือสัญญานั้น คือ บรรทัดทั้งหลายที่ต่อไปนี้ ๚ะ
๏พระบาทสมเด็จพระเจ้ากรุงสยาม แลพระบาทสมเด็จพระเจ้าแอมเปรเรอกรุงฝรั่งเศส มีความปราถนาให้ตกลงกันว่าด้วยเมืองไทยเมืองเขมร เพราะผู้ครองแผ่นดินฝรั่งเสศ ผู้ครองแผ่นดินเขมร ได้ทำหนังสือสัญญาที่เมืองอุดงมีไชย วันที่ ๑๑ เดือนออคุศ คฤษตศักราช ๑๘๖๓ ตรงกับวันที่ ๒๗ เดือนอาชักปิกอร์ จุลศักราช ๑๒๒๕ ปี ไม่ให้มีเกิดข้อขัดขวางทางพระราชไมตรีหมองหมางทั้งสองฝ่าย ฝ่ายพระบาทสมเด็จพระเจ้ากรุงสยามได้ตั้งให้พระยาสุรวงษไวยวัฒน์เปนราชทูต พระราชเสนาเปนอุปทูต เต็มอำนาท ฝ่ายพระบาทสมเด็จพระเจ้าแอมเปรเรอกรุงฝรั่งเสศได้ตั้งให้มองซิเออเลอมาระกีออกเนลเดอมุศตีเอกรานกรัวเดอลาเลซ์ยองกอนเนอร์มินิศเตอผู้ว่าราชการต่างประเทศเต็มอำนาท ได้ตรวจหนังสือตราเดลเชลถูกต้องพร้อมกันทั้งสองฝ่ายแล้ว ได้ตกลงทำหนังสือสัญญากันตามว่ามานี้ ๚ะ
๏ข้อ๑ว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้ากรุงสยามยอมความป้องกันซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าแอมเปเรอได้ป้องกันเมืองเขมร ๚ะ
๏ข้อ๒ว่า หนังสือสัญญาซึ่งไทยแลเขมรได้ทำไว้ในเดือนดีเซมเบอ คฤษตศักราช ๑๘๖๒ ใช้ไม่ได้ ไปเบื้องน่า ผู้ครองฝ่ายสยามจะอ้างข้อหนึ่งข้อใดในหนังสือสัญญานั้นไม่ได้ ๚ะ
๏ข้อ๓ว่า สมเด็จพระเจ้ากรุงสยาม แลพระเจ้าแผ่นดินที่จะสืบพระราชอิศริยยศ จะไม่ขอส่วยอากรเครื่องบรรณาการฤๅของอื่น ๆ ซึ่งเปนสำคัญเมืองขึ้น ฝ่ายสมเด็จพระเจ้าแอมเปเรอฝรั่งเสศสัญญาจะไม่เอาแผ่นดินเขมรเพิ่มเจิมแก่หัวเมืองญวนซึ่งเปนของฝรั่งเสศ ๚ะ
๏ข้อ๔ว่า เมืองพระตะบองแลเมืองนครเสียมราบคงอยู่เปนของไทย เฃตรแดนสองเมืองนี้แลเฃตรแดนเมืองอื่น ๆ ของไทยซึ่งติดต่อกับเฃตรแดนของเขมรคงอยู่ตามสังเกตกันในกาลบัดนี้ จะต้องกำหนดโดยเร็ว ผู้ครองฝ่ายสยามแลผู้ครองฝ่ายเขมรจะให้ขุนนางไปปักเฃตรแดนเปนสำคัญต่อน่าพร้อมกันกับขุนนางฝ่ายฝรั่งเสศซึ่งเกาวเนอผู้สำเร็จราชการเมืองไซ่ง่อนจะใช้ไปปักเฃตรแดนตกลงกันแล้ว ขุนนางฝรั่งเศสจะทำแผนที่เปนสำคัญโดยซื่อตรง ๚ะ
๏ข้อ๕ว่า ไทยจะไม่ล่วงเข้าไปในเฃตรแดนเขมร ๆ จะไม่ล่วงเข้ามาในเฃตรแดนของไทย คนฝ่ายไทย คนฝ่ายเขมร จะไปค้าขายแลอาไศรยไปมาหากันโดยดีก็ได้ ถ้าคนอยู่ในบังคับไทยทำผิดด้วยกฎหมายในที่เมืองเขมร เจ้าพนักงานเขมรจะทำโทษโดยยุติธรรมตามกฎหมายฝ่ายเขมร ถ้าคนอยู่ในบังคับเขมรทำผิดกฎหมายในที่เมืองไทย เจ้าพนักงานไทยจะทำโทษตามกฎหมายไทยโดยยุติธรรม ๚ะ
๏ข้อ๖ว่า เรือฝรั่งเสศจะขึ้นลงตามลำแม่น้ำของแลในทเลสาบเฃตรแดนไทยได้โดยสดวก คอเวอนแมนตไทยจะทำเบิกล่องสำหรับตัวผู้ซึ่งจะไปสุดแต่เจ้าพนักงานฝรั่งเสศจะกำหนดกี่ฉบับให้ไว้กับเจ้าพนักงานฝรั่งเสศเมืองไซ่ง่อน เจ้าพนักงานฝรั่งเสศเมืองฝรั่งเสศเมืองไซ่ง่อนลงชื่อประทับตราฝรั่งเสศให้แก่ผู้ซึ่งจะไปเข้าในแผ่นดินของไทย จะต้องถือตามหนังสือสัญญาในคฤษตศักราช ๑๘๕๖ ปี เบิกล่องนี้จะใช้ได้อย่างเดียวกันกับเบิกล่องที่ว่าในข้อ ๗ หนังสือสัญญาคฤษตศักราช ๑๘๕๖ ปี แลผู้ถือหนังสือเบิกล่องนั้นมีข้อขัดขวาง จะได้พึ่งแก่เจ้าพนักงานฝ่ายข้างไทย ๚ะ
๏ข้อ๗ว่า คอเวอนแมนตฝรั่งเสศจะบังคับให้เขมรถือตามหนังสือสัญญานี้ ๚ะ
๏ข้อ๘ว่า หนังสือสัญญานี้เขียนเปนอักษรไทยอักษรฝรั่งเสศถูกต้องกัน ใช้ได้เหมือนกัน ๚ะ