ประชุมกฎหมายประจำศก/เล่ม 14/ภาค 2/เรื่อง 4
- ข้อบังคับสำหรับกระบวนพิจารณา
- ที่จะได้ใช้ในศาลไทยกับฝรั่งเศสผสมกัน
- อันเปนศาลที่จะชำระคดีความพระยอดเมืองขวาง
๑คำฟ้องหาซึ่งพนักงานผู้เปนทนายแผ่นดินแต่งขึ้นนั้น จะต้องแจ้งความให้ผู้ต้องหาทราบอย่างน้อยที่สุดก็ ๓ วันก่อนเวลาที่จะเปิดศาลชำระความนั้น
๒ศาลนั้นจะต้องนั่งชำระความตามวันแลเวลาซึ่งอธิบดีผู้พิพากษาศาลนี้จะได้กำหนดไว้ ให้ชำระกันในห้องอันหนึ่งที่สถานทูตฝรั่งเศส
๓ผู้พิพากษาก็ดี พยานก็ดี แลผู้ต้องหาก็ดี บรรดาเปนผู้ที่พูดภาษาไม่เหมือนกันนั้น อธิบดีศาลจะได้ให้มีล่ามใช้ ล่ามนั้นอธิบดีศาลจะให้สาบาลว่า จะแปลความซึ่งกล่าวกันในระหว่างผู้ซึ่งพูดต่างภาษากันนั้นโดยสัจโดยจริงตามที่ได้กล่าวกัน
๔ผู้ต้องหานั้นจะได้มายังศาลโดยไม่ต้องมีเครื่องพันธนาการอันใด ให้มีแต่ผู้คุมซึ่งกำกับสำหรับไม่ให้หนีหายเท่านั้น พร้อมกับทนายของผู้ต้องหามาด้วยกันแล้ว อธิบดีศาลจะได้ถามชื่อ อายุ ตำแหน่งซึ่งประกอบกิจการงาน กับตำบลที่เกิดของผู้ต้องนั้นแล้ว ก็จะได้บอกให้ผู้ต้องหาเอาใจใส่คอยฟังความซึ่งจะได้ยินต่อไปแล้ว ในขณะนั้น อธิบดีศาลจะได้มีคำสั่งให้ยกระบัตรศาลอ่านคำฟ้อง ซึ่งยกระบัตรจะต้องอ่านด้วยเสียงอันดังด้วยแล้ว
๕พนักงานผู้เปนทนายแผ่นดินจะได้กล่าวคำอธิบายในเรื่องที่ฟ้องหานั้นแล้ว ภายหลังจะได้ยื่นรายชื่อพยานผู้ซึ่งควรจะให้มาเบิกความตามที่ทนายแผ่นดินขอให้สืบฤๅตามที่ผู้ต้องหาขอให้สืบนั้น รายชื่อพยานนี้ยกระบัตรศาลจะได้อ่านขึ้นโดยเสียงอันดังด้วยแล้ว
๖อธิบดีศาลจะได้สั่งให้พยานออกไปอยู่ในห้องหนึ่งซึ่งจัดไว้สำหรับพยานพัก ห้ามไม่ให้พยานไปจากห้องนั้น เว้นไว้แต่จะเข้าไปเบิกความในศาล
๗ผู้ต้องหานั้นจะต้องถามเอาคำให้การไว้แล้ว จะได้ถามพยานผู้ซึ่งต้องสาบาลว่า จะเบิกความตามที่รู้เห็นแต่โดยสัจโดยจริง ไม่มีสิ่งอื่นนอกจากความสัจแล้ว ยกระบัตรศาลจะต้องจดถ้อยคำลงไว้ กับทั้งชื่อพยาน คือ ชื่อตัว ตำแหน่งซึ่งประกอบกิจการงาน อายุ แลตำบลที่อยู่ของพยานนั้น
๘เมื่อได้ถามพยานเบิกความแล้วเปนคำ ๆ ไปนั้น อธิบดีศาลจะได้ถามผู้ต้องหาว่า จะมีประสงค์ที่จะมีคำคัดค้านท้วงติงคำพยานอันพึงได้ให้การเปนผิดต่อผู้ต้องหานั้นประการใดบ้าง แต่ห้ามไม่ให้ขัดขวางพยานผู้ซึ่งเบิกความอยู่นั้น ผู้ต้องหาฤๅทนายของผู้ต้องหานั้นจะซักไซ้ถามพยานก็ได้แต่โดยร้องขอให้อธิบดีศาลถาม เมื่อพยานให้การแล้ว แลจะว่ากล่าวคัดค้านตัวพยานมากเท่ากับว่ากล่าวทักท้วงคำของพยานนั้นก็ได้เหมือนกัน ตามแต่ที่จะกล่าวเพื่อเปนประโยชน์ในการต่อสู้คดีของผู้ต้องหานั้น อธิบดีศาลก็ซักถามพยานฤๅผู้ต้องหาได้ สำหรับที่จะให้ได้ความซึ่งอธิบดีศาลเห็นว่า จำเปนจะให้ความจริงปรากฎชัดเจนนั้นด้วย ผู้พิพากษาทั้งหลายก็ดี พนักงานผู้เปนทนายแผ่นดินก็ดี มีอำนาจที่กล่าวถามได้ตามที่อธิบดีจะยอมอนุญาตให้กล่าวนั้น
๙ในระหว่างเวลาชำระความอยู่นั้น อธิบดีศาลจะฟังคำพยานทั้งหลาย แลพิจารณาคำหาทั้งปวง ซึ่งปรากฎแก่อธิบดีศาลว่า เปนการจำเปนจะต้องไต่สวนให้ความจริงปรากฎชัด
๑๐เมื่อสืบถามพยานเบิกความเสร็จสิ้นแล้ว ก็จงได้ให้กล่าวว่าความแก้ความกันต่อไป พนักงานผู้เปนทนายแผ่นดินจะได้ว่าความก่อน แลจะได้ชี้แจงเหตุการทั้งหลายซึ่งเปนที่อุดหนุนคำฟ้องหานั้นแล้ว ผู้ต้องหาฤๅทนายของผู้ต้องหาจะได้ตอบแก้ความนั้นแล้ว จะยอมให้พนักงานผู้เปนทนายแผ่นดินกล่าวโต้แย้งอีกได้ แต่ผู้ต้องหาฤๅทนายของผู้ต้องหาจะต้องเปนผู้กล่าวแก้ความสู้ความเปนคำหลังที่สุดแล้ว อธิบดีศาลจะได้ประกาศหยุดนั่งศาลกัน
๑๑อธิบดีศาลจะเปนผู้กะข้อกระทงแถลงตามความที่ชำระได้นั้นสำหรับปรับสัตย์ตัดสิน มีใจความในข้อกระทงแถลงอย่างนี้ว่า ผู้ต้องหามีความผิดโดยกระทำการอย่างนั้น ๆ พร้อมด้วยเหตุการทั้งหลายดังมีในคำฟ้องหานั้น ฤๅไม่มีผิดเปนต้นแล้ว จะได้กะข้อกระทงแถลงที่ว่าด้วยมีเหตุการอันควรลดหย่อนโทษให้เบาลงนั้นฤๅไม่มีด้วย
๑๒เมื่ออธิบดีศาลได้อ่านข้อกระทงแถลงขึ้นแล้ว ผู้ต้องหาก็ดี ทนายของผู้ต้องหาก็ดี แลพนักงานผู้เปนทนายแผ่นดินก็ดี จะมีคำได้ตามความเห็นของตนที่เห็นสมควรว่าจะต้องมี ในการที่ยกข้อกระทงแถลงไว้อย่างนั้น ถ้าพนักงานผู้เปนทนายแผ่นดิน ฤๅฝ่ายผู้ต้องหาขัดข้องร้องไม่ให้ยกข้อกระทงแถลงอย่างที่กะไว้นั้นแล้ว ศาลจะได้วินิจฉัยตัดสินคำขัดข้องนั้นตามความที่กล่าวผิดแลชอบด้วยแล้ว
๑๓อธิบดีศาลจะได้มีคำสั่งให้พาตัวผู้ต้องหาไปจากที่ว่าความแล้ว ศาลจะได้เลิกแต่ที่นั้นเข้าไปประชุมในห้องที่ปฤกษากัน เพื่อว่าจะได้ปฤกษาปรับสัตย์ตัดสินในข้อกระทงแถลงแลในการว่าโทษ
ถ้าเปนคดีพิจารณาเห็นว่ามีความผิดแล้ว โทษซึ่งจะได้ลงตามความจริงที่พิจารณาได้ชัดเจนอยู่เสมอนั้นต้องเปนไปตามข้อความที่กล่าวไว้ต่อไปนี้
ข้อ๑การทำลายชีวิตมนุษย์อันกระทำด้วยความจงใจ ก็มีโทษเสมอกับความร้ายที่ฆ่าคนให้ตาย
ข้อ๒บรรดาความร้ายที่ฆ่าคนตายอันกระทำด้วยคิดตั้งใจไว้ก่อนแล้ว ฤๅด้วยจงใจแล้ว ก็มีโทษเสมอกับการลอบทำร้ายให้เปนอันตรายแก่ชีวิตมนุษย์
ข้อ๓ความคิดตั้งใจไว้ก่อนนั้น คือ ความคิดหมายอันได้คิดไว้แล้วก่อนลงมือทำการที่พยายามจะให้เปนอันตรายแก่ตัวของบุทคลผู้หนึ่งซึ่งได้หมายไว้ ฤๅแม้ว่าจะให้เปนอันตรายแก่ผู้ซึ่งจะได้พบปะ เมื่อความคิดหมายนั้นย่อมอาไศรยแก่เหตุการอย่างนั้นแลอาไศรยแก่ธรรมดาการอย่างนั้น
ข้อ๔ผู้สมรู้เปนใจในความผิดความร้ายนั้น จะต้องลงโทษเสมอกับผู้ต้นคิดผู้ลงมือกระทำความผิดความร้าย เว้นไว้แต่ที่มีบทกฎหมายให้ลงโทษเปนอย่างอื่น
ข้อ๕บรรดาผู้ซึ่งประกอบไปด้วยให้ปันสิ่งของก็ดี ด้วยสัญญานัดหมายก็ดี ด้วยข่มขู่รู่ก็ดี ด้วยใช้อำนาจในที่ผิดฤๅเกินอำนาจก็ดี ด้วยเปนเครื่องมือเครื่องใช้ให้ถึงที่ผิดฤๅถึงที่มีโทษได้ก็ดี แล้วแลก่อให้เกิดการผิดนั้น ฤๅมีคำสั่งใช้ให้กระทำการผิดนั้น จะต้องลงโทษเหมือนเปนผู้สมรู้เปนใจที่มีโทษเสมอกับทำความผิดนั้น ๆ
บรรดาผู้ซึ่งได้เสาะหามา เปนเครื่องสาตราวุธก็ดี เปนเครื่องมือต่าง ๆ ฤๅของอย่างอื่นก็ดี สำหรับใช้ในการนั้น โดยความรู้แล้วว่าจะได้ใช้ในการนั้น แลบรรดาผู้ซึ่งรู้เห็นแล้ว ได้ช่วยเกื้อกูลฤๅอุดหนุนผู้ต้นเหตุฤๅผู้ลงมือในการนั้น โดยที่ได้ตระเตรียมฤๅทำการให้เปนที่สดวกฤๅทำให้สำเร็จแก่การนั้น จะต้องลงโทษเหมือนเปนผู้สมรู้เปนด้วยใจ
ข้อ๖บรรดาผู้ซึ่งรู้แล้วเต็มใจ แลได้รับไว้ทั้งหมดฤๅแต่ส่วนหนึ่งก็ดีอันเปนสิ่งของโจรผู้ร้ายที่ลักซ่อนมา ฤๅได้มาเพื่อประโยชน์ที่จะช่วยความผิดความร้ายอันหนึ่งนั้น จะต้องลงโทษเสมอกับผู้สมรู้เปนใจในความผิดความร้ายอย่างนั้น
ข้อ๗แม้ว่าโทษประหารชีวิตย่อมจะลงโทษแก่ผู้ต้นคิด ผู้ลงมือทำการผิดร้ายบางข้อแล้วก็ดี แต่ส่วนผู้รับของโจรผู้ร้าย ย่อมเปลี่ยนเปนลงโทษเพียงจำคุกทำการหนักเปนนิตย์
ข้อ๘บรรดาผู้ซึ่งมีความผิดร้ายลอบทำอันตรายแก่ชีวิตมนุษย์ก็ดี บิตุฆาฏมาตุฆาฏก็ดี ฆ่าทารกในครรภ์นอกครรภ์ก็ดี วางยาพิษก็ดี จะต้องลงโทษถึงประหารชีวิต
ข้อ๙การฆ่าคนตายนั้น เมื่อเวลาที่กระทำ ได้มีความผิดอื่นกระทำด้วย ก่อนก็ดี หลังก็ดี ฤๅพร้อมกันก็ดี จะนำไปให้ถึงโทษประหารชีวิตได้
ข้อ๑๐ผู้ใดผู้หนึ่งซึ่งได้ถือเอาสิ่งของที่ไม่ใช่ของ ๆ ตนไปโดยอุบายฉ้อโกงแล้ว ก็มีความผิดเสมอโจร
ข้อ๑๑ผู้ใดผู้หนึ่งซึ่งจงใจทิ้งไฟเผาตึกโรงเรือนก็ดี เรือใหญ่น้อยก็ดี โรงร้านลานร่มบังก็ดี เมื่อเปนที่คนได้อยู่อาไศรยฤๅใช้เปนที่อยู่อาไศรย แลว่าทั่วไปบรรดาที่อยู่อาไศรยของคน จะเปนของตนก็ดี ของผู้อื่นก็ดี จะต้องมีโทษถึงประหารชีวิต
ข้อ๑๒อันโทษทั้งหลาย ที่ว่าไว้ว่า จะมีแก่ผู้กระทำผิดเหล่านั้น ตามที่พิจารณาได้ความจริงแล้วนั้น เมื่อศาลเห็นว่า มีเหตุการอันควรลดหย่อนผ่อนโทษให้เบาลงแก่ผู้ต้องหาโทษนั้นแล้ว จะต้องแก้ไขตามความที่ว่าต่อไปนี้ คือ
ถ้าโทษว่าไว้ถึงประหารชีวิตแล้ว ศาลจะต้องว่าโทษจำคุกทำการหนักไม่มีกำหนดพ้นโทษ ฤๅว่าโทษจำคุกทำการหนักมีกำหนดเวลาพ้นโทษก็ได้
ถ้าเปนการว่าโทษจำคุก มีกำหนดเวลาพ้นโทษแล้ว จะต้องว่า โทษจำ ๕ ปีเปนอย่างต่ำ แลจำ ๒๐ ปีเปนอย่างสูง ตามกำหนดเวลาในระยะนั้น สุดแต่ศาลจะเห็นสมควร