ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๑๒
ประชุมพงษาวดารภาคที่ ๑๒
พิมพ์แจกในงานศพ
หม่อมเจ้าชายสง่างาม ต,ช. ต,ม. ฯลฯ
ปีมะแม พ.ศ.๒๔๖๒
พิมพ์ที่โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร
คำนำ
รองอำมาตย์เอก หลวงสมุทโคจร (ม.ร.ว. เล็ก สุประดิษฐ ณกรุงเทพ) มาแจ้งความต่อกรรมการหอพระสมุดวชิรญาณว่า จะทำการปลงศพสนองคุณหม่อมเจ้าชายสง่างาม ต, ช. ต, ม. ในพระเจ้าบรมวงษ์เธอชั้น ๔ กรมหมื่นวิศณุนารถนิภาธร ผู้เปนบิดา มีความศรัทธาจะรับพิมพ์หนังสือเปนของแจกในงานศพสักเรื่อง ๑ ขอให้กรรมการช่วยเลือกเรื่องหนังสือให้
ข้าพเจ้าจึงได้จัดหนังสือประชุมพงษาวดารภาคที่ ๑๒ มีเรื่องจดหมายเหตุทูตฝรั่งเศสเข้ามาเมืองไทยกับจดหมายเหตุของหมอบรัดเล รวม ๒ เรื่องด้วยกัน
ให้พิมพ์ตามประสงค์ แลหนังสือ ๒ เรื่องที่รวมพิมพ์ในประชุมพงษาวดารภาคที่ ๑๒ มีเรื่องประวัติเปนอธิบายดังจะกล่าวต่อไปนี้
(ก)
เรื่องจดหมายเหตุทูตฝรั่งเศสนั้น เปนระยะทางราชทูตฝรั่งเศสซึ่งพระเจ้าหลุยที่ ๑๔ ให้เข้ามาเจริญทางพระราชไมตรียังสมเด็จพระนารายน์มหาราช เมื่อคฤศตศก ๑๖๘๕(พ.ศ.๑๒๒๘) เจ้าพระยาภาสกรวงษ์ (พร บุนนาค) แต่ยังเปนพระยาจางวางมหาดเล็กได้แปลจากภาษาอังกฤษออกเปนภาษาไทย ทูลเกล้า ฯ ถวาย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หนังสือเรื่องนี้ ได้พิมพ์ไว้ในหนังสือ วชิรญาณแต่เมื่อปีระกา พ.ศ.๒๔๒๘ คิดมาจนบัดนี้ได้ถึง ๓๔ ปี เกือบจะหาฉบับไม่ได้เสียแล้ว
เห็นว่าผู้ที่ยังไม่เคยอ่านจะมีมาก เปน เรื่องน่าอ่านอยู่ จึงเอามาพิมพ์ในหนังสือประชุมพงษาวดารจดหมายเหตุของหมอบรัดเลนั้น หมอบรัดเลเปนมิชชันนารีอเมริกัน เข้ามาตั้งสอนสาสนาคฤศตังอยู่ในกรุงเทพ ฯ ตั้งแต่ใน
(ข)
รัชกาลที่ ๓ ได้จดหมายเหตุการณ์ซึ่งรู้เห็นลงไว้
ครั้นทีหลังเมื่อมาตั้งโรงพิมพ์อยู่ที่ปากคลองบางกอกใหญ่ หมอบรัดเลทำหนังสือปดิทินเรียกว่า "บางกอกคาเลนดา" พิมพ์จำหน่ายประจำปี ๆ ละเล่มตั้งแต่ คฤศตศก ๑๘๕๙ มาจนคฤศตศก ๑๘๗๓ คือตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๐๒ จน พ.ศ. ๒๔๑๖ หมอบรัดเลถึงแก่ความตาย หนังสือปดิทินนี้ก็หยุด มิได้พิมพ์ต่อมา
ในหนังสือบางกอกคาเลนดาที่หมอบรัดเลพิมพ์นั้นมีตอนหนึ่งเรียกว่าเหตุการณ์ที่ควรกำหนด คือในปีไหนเกิดเหตุการณ์อย่างไร เมื่อวันไร อันควรกำหนดจดจำไว้ ก็จดพิมพ์ลงไว้แทบทุกเล่ม
ข้าพเจ้าได้แปลจดหมายเหตุนี้เลือกเฉภาะแต่ที่เห็นว่าไทยจะอยากรู้เห็น ออกมาเรียบเรียงเปนส่วนหนึ่ง มีจดหมายเหตุการณ์ตั้งแต่ในรัชกาลที่ ๓ จนรัชกาลที่ ๕ เห็นว่าจะมีผู้ชอบอ่าน ด้วยมีการแปลกๆ ที่น่ารู้อยู่ในจดหมายเหตุของหมอบรัดเลหลายอย่าง ซึ่งเอามาพิมพ์ไว้ในประชุมพงษาวดารด้วย
อนึ่งเจ้าภาพได้จดข้อประวัติของหม่อมเจ้าชายสง่างามส่งมาโดยประสงค์จะให้พิมพ์ไว้ในสมุดเล่มนี้ด้วย ประวัติของหม่อมเจ้าชายสง่างามมีเนื้อความดังนี้
ประวัติหม่อมเจ้าชายสง่างาม
หม่อมเจ้าชายสง่างาม ในพระเจ้าบรมวงษ์เธอชั้น ๔ กรมหมื่นวิศณุนารถนิภาธร หม่อมแช่มเปนมารดา ประสูตรในรัชกาลที่ ๔ เมื่อณวันจันทร์ เดือน ๙ ขึ้น ๑๓ ค่ำ ปีมเสง จุลศักราช ๑๒๑๙ ตรงกับวันที่ ๒ สิงหาคม ๒๔๐๐ เมื่อรัชกาลที่ ๕ ได้รับราชการอยู่
(ค)
ในกระทรวงนครบาล
มีน่าที่หลายตำแหน่งโดยลำดับมา ตั้งแต่เปนเจ้าพนักงานการบาญชีในกรมลหุโทษ จนได้เลื่อนยศเปนเจ้ากรมกองลหุโทษ ต่อมาย้ายไปรับราชการในตำแหน่งเจ้ากรมกองตำรวจพระนครบาลชั้นนอก แล้วได้เปนผู้ว่าราชการจังหวัดมินบุรีอยู่หลายปีจนออกจากราชการ
หม่อมเจ้าชายสง่างาม ได้พระราชทานเครื่องราชอิศริยาภรณ์ช้างเผือกแลมงกุฎสยามชั้นที่ ๓ ตริตาภรณ์ทั้ง ๒ อย่าง เมื่อออกจากราชการแล้วประชวรโรคอาโปธาตุพิการ อาการทรุดลงโดยลำดับสิ้นชีพิตักไษยเมื่อวันที่ ๒๓ เมษายน พ.ศ.๒๔๖๐ คำนวณชนมายุได้ ๖๐ ปี สิ้นความตามประวัติของหม่อมเจ้าชายสง่างามเพียงเท่านี้
ข้าพเจ้าขออนุโมทนาในกุศลบุญราษีทักษิณานุปทาน ซึ่งรองอำมาตย์เอก หลวงสมุทโคจร ได้บำเพ็ญสนองคุณหม่อมเจ้าชายสง่างามผู้บิดา ด้วยความกตัญญูกตะเวที แลได้พิมพ์หนังสือประชุมพงษาวดารภาคที่ ๑๒ นี้ให้แพร่หลายเปนครั้งแรก
สภานายก
หอพระสมุดวชิรญาณ
วันที่ ๒๕ เมษายน พ.ศ.๒๔๖๒
จดหมายเหตุทูตฝรั่งเศส แลโปรตุเกต เข้ามาเมืองไทยในแผ่นดินสมเด็จพระนารายน์มหาราช
หน้า ๑
ข้าพระพุทธเจ้า พระยาภาสกรวงศ์ ได้รับพระราชทานแปล
จดหมายเหตุ ระยะทางของมองซิเออร์ เลอ ชิ วาริเอว์เดอเชามองห์ ราชทูตของพระเจ้าลุยศ์ ที่ ๑๔ พระเจ้ากรุงฝรั่งเศส เข้ามาเจริญทางพระราชไมตรี ในสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๓ คือสมเด็จพระนารายน์มหาราช พระเจ้ากรุงทวาราวดีศรีอยุทธยาโบราณ
เมื่อในปีมีคฤสต์ ศักราช ๑๖๘๕ ตรงกับปีมีจุลศักราช ๑๐๔๗ ซึ่งเซอร์ยอนโปวริงพระยาสยามานุกูลกิจสยามมิตรมหายศ ได้แปลจากภาษาฝรั่งเศส โดยสังเขปเปนภาษาอังกฤษ ลงพิมพ์ไว้ในสมุดหนังสือ ซึ่งเซอร์ยอนแต่งถึงเรื่องกรุงสยาม ขึ้นทูลเกล้า ฯ ถวาย มีความต่อไปข้างล่างนี้
ควรมิควรแล้วแต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ขอเดชะ
ในคำจดหมายเหตุระยะทางนั้นมีความว่า ข้าพเจ้าได้ออกจากเมืองเบรศต์ (นี้เปนเมืองท่าชายทเลฝรั่งเศส) วันที่ ๓ เดือนมาร์ชในปีมีคฤสต์ศักราช ๑๖๘๕ ตรงกับปีมีจุลศักราช ๑๐๔๗ ปี มาในกำปั่นหลวง ชื่อ ริศ โซร์ แลมีเรือรบใหญ่ชื่อ ล่ามาลิม มีปืนใหญ่ ๓๐ บอกมาด้วยลำหนึ่ง ได้มาถึงปากอ่าวแม่น้ำเจ้าพระยา ในวันที่ ๒๔
หน้า ๒
เดือนเสปเต็มเบอร์ตรงกับเดือน ๑๐ ได้ทอดสมออยู่ที่นั้น แล้วข้าพเจ้าได้จดหมายแจ้งความถึงบิศฉอป ออฟ เมล์แตล โลโปลิศ ซึ่งเปนสังฆราชสอนสาสนากาโทลิกอยู่ในกรุงสยาม ครั้นณวันที่ ๒๙ ในเดือนนั้นบาดหลวง อับเปเดอ ลิออนเน ได้มาลงเรือของข้าพเจ้า แล้วแจ้งความตามที่ข้าพเจ้าจะต้องการให้ทราบทุกประการ กับบอกข้าพเจ้าว่าพระเจ้าแผ่นดินสยามได้ทรงทราบความที่ข้าพเจ้ามาถึงจากเจ้าพระยาวิชา เยนทราธิบดี เสนาบดีของพระเจ้าแผ่นดินสยาม มีพระไทยยินดีในข่าวที่ข้าพเจ้ามาถึงเปนอันมาก มีพระราชโองการดำรัสสั่งให้เจ้าพระยาวิชาเยนทราธิบดีบอกให้พระสังฆราชกับขุนนาง ซึ่งมียศที่หนึ่งสองนายลงไปปราไสข้าพเจ้าที่มีพระไทยยินดีด้วยข้าพเจ้าได้มาถึง ครั้นภายหลังล่วงไปได้สองวัน สังฆราชกับขุนนางสองนายจึงได้มาหาข้าพเจ้าบนเรือ ข้าพเจ้าได้รับเข้าในห้องที่ในเรือของข้าพเจ้า ข้าพเจ้านั่งที่เก้าอี้ใหญ่สังฆราชนั่งบนเก้าอี้เคียงกับข้าพเจ้า แต่ขุนนาง ๒ นายนั้นนั่งบนพรมปูพื้นสำหรับห้องข้าพเจ้า เขาจึงได้บอกข้าพเจ้าว่า พระเจ้าอยู่หัวของเรามีพระราชดำรัสให้เขามาแสดงความยินดีที่ได้ทรงทราบว่าข้าพเจ้ามาถึงแลด้วย ข่าวที่พระเจ้าแผ่นดินฝรั่งเศสได้ปราบปรามบรรดาสัตรูของพระองค์ราบคาบ แลเปนเจ้าเอกราชในประเทศเขตรแดนของพระองค์ท่าน แลอยู่สงบเรียบร้อยดีที่พระองค์ได้ยอมให้ชาติทั้งหลายที่ในทวีปยุโรปปรกติกัน
ข้าพเจ้าจึงได้กล่าวความขอบพระไทยพระเจ้าแผ่นดินสยาม ซึ่งเปนพระเจ้าอยู่หัวของเขาในการที่ได้ทรงโปรดกล่าวเปนคำเยิรยอมาดังนี้
หน้า ๓
แลตอบแทนที่กล่าวถึงพระเจ้าแผ่นดินของข้าพเจ้าด้วย แล้วข้าพเจ้าได้บอกแก่เขาว่า ข้าพเจ้ามีความยินดีเปนอันมาก ที่ผู้รักษาเมืองบางกอกได้รับคนที่ข้าพเจ้าให้ขึ้นไปโดยกิริยาอันดี แลได้ส่งของกำนันมาให้ข้าพเจ้าด้วย เขาจึงตอบว่าผู้รักษาเมืองบางกอกได้จัดการรับรองตามตำแหน่ง ด้วยตั้งแต่ราชทูตของพระเจ้าอยู่หัวของเขาที่กรุงฝรั่งเศสได้รับรองโดยดี แลการรับรองนี้เพราะด้วยปัญญาของข้าพเจ้า ที่ได้ชักนำให้กรุงสยามกับกรุงฝรั่งเศสเปนไมตรีผูกพันกันสนิทมาแต่ก่อนนั้น ครั้นเมื่อข้าพเจ้าได้รับรองเขาโดยเกียรติยศแลสุภาชิต ซึ่งเปนตามธรรมเนียมในเมืองของเขาในเวลานั้น แล้วข้าพเจ้าได้เชิญเขารับประทานน้ำชากับขนมหวาน เขาได้อยู่ที่บนเรือข้าพเจ้าเกือบชั่วโมงหนึ่ง เมื่อเขาจะไปนั้นข้าพเจ้าได้ให้ยิงปืนสลุตเขา ๙ นัด
? ครั้นณวันที่ ๑ เดือนออกโตเบอร์ ตรงกับวัน เดือน ๑๑ เจ้าพระยาวิชาเยนทราธิบดี เสนาบดีของพระเจ้าแผ่นดินสยามนั้นเปนคนต่างประเทศดอก แต่เขาได้ทำความดีมีความชอบมาก จึงได้มียศอันสูงที่สุด เปนที่โปรดปรานของพระเจ้าแผ่นดินสยามมาก ได้มีจดหมายแสดงความยินดีให้สิเกรตารีของเขานำมาให้ข้าพเจ้าแลจัดผลไม้ต่างๆ โค สุกร ไก่ เป็ด แลเสบียงอาหารอื่นๆ อิกเปนอันมากมาให้ข้าพเจ้าด้วย เสบียงอาหารของเหล่านี้ได้เลี้ยงคนที่ในลำเรือถึง ๔ วัน คนที่ในลำเรือมีความยินดีได้เลี้ยงดูกันเปนที่สบาย เพราะอัตคัดมาในทาง ทเล หลายเดือน
หน้า ๔
? วันที่ ๘ เดือนออกโตเบอร์ สังฆราชบิศฉอป ออฟเมล์แตลโลโปลิศได้กลับมาจากกรุงศรีอยุทธยา ขึ้นมาบนเรือข้าพเจ้าอิกกับขุนนางอิกสองคนแจ้งความว่า สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินสยามมีรับสั่งให้มาเยี่ยมไต่ถามถึงความทุกข์ศุขของข้าพเจ้า แล้วบอกกับข้าพเจ้าว่า ตั้งพระไทยคอยจะพบข้าพเจ้าโดยเร็ว ขอให้ข้าพเจ้าขึ้นไปเฝ้า ข้าพเจ้าได้รับรองขุนนางซึ่งมานี้เหมือนกับครั้งก่อน แลเมื่อเวลาไปก็ได้ให้ยิงปืนสลุตคำนับ ๙ นัด ครั้นเวลาบ่าย ๒ โมงวันนั้นข้าพเจ้าได้ลงเรือบดสำหรับกำปั่น แต่ที่พวกมาด้วยข้าพเจ้านั้นลงเรือที่พระเจ้าแผ่นดินสยาม จัดให้มารับทูตเข้ามาตามลำแม่น้ำ ในเวลาเย็นข้าพเจ้าได้พบเรือ ๕ ลำ ฝีพายเต็มทั้งนั้น ลำหนึ่งงามนักสำห รับตัวข้าพเจ้า อิก ๔ ลำก็เปนเรือตกแต่งงามสำหรับพวกที่มากับข้าพเจ้า แลบรรทุกสิ่งของแลคนใช้ของพวกทูต
ในเวลาเย็นวันนั้น คนที่ข้าพเจ้าได้ใช้ให้ขึ้นไปที่กรุงศรีอยุทธยาซื้อสิ่งของเสบียงอาหารมาบอกกับข้าพเจ้า อว่าเจ้าพระยาวิชาเยนทราธิบดีได้มอบเรือ ๑๑ ลำ ให้กับเขาบรรทุกโค ลูกโค สุกร เป็ด แลสุราเปนเสบียงสำหรับคนในเรือกำปั่น ว่าเปนของพระเจ้าแผ่นดินสยามพระราชทาน แล้วเจ้าพระยาวิชาเยนทราธิบดีได้บอกกับเขา ว่าในระยะเวลาที่กำปั่นทูตทอดอยู่กว่าจะกลับไปนั้น อย่าให้ทูตต้องออกเงินซื้อจ่ายเสบียงอาหารแลของใช้สอยต่างๆ แลขัดข้องด้วยสิ่งของใดๆ พระเจ้าแผ่นดินจะพระราชทานทุกสิ่ง
หน้า ๕
? วันที่ ๙ เดือนออกโตเบอร์ มีขุนนางมาหาข้าพเจ้าในเรือ ๒ คน ว่ามีรับสั่งให้ลงมาคอยรับคำสั่งของข้าพเจ้า ครั้นเวลาเช้าโมงหนึ่งข้าพเจ้าออกเรือไปอิก เปนทางประมาณห้าลิก คือ ๑๕ ไมล์ ข้าพเจ้ามาถึงทำเนียบที่ปลูกรับข้าพเจ้า มีขุนนาง ๒ คน คือ ผู้รักษาเมืองบางกอก ๑ แลเจ้าเมืองปิปลิย์ ๑ กับกรมการอื่นๆ อิกเปนอันมาก มาต้อนรับข้าพเจ้าที่ได้มาถึง แลปราถนาให้ข้าพเจ้ามีอายุยืน ทำเนียบที่ปลูกรับนั้นทำด้วยไม้ไผ่ พื้นปูเสื่อโดยเรียบร้อย มีเครื่องแต่งเรือนใหม่ทั้งนั้น ห้องนั้นกรุผ้าลาย แต่ห้องข้าพเจ้าอยู่นั้นปูพรมยกพื้นมีเบาะเข้มขาบแลเก้าอี้ใหญ่ปิดทอง หมอนกำมะหยี่ โต๊ะคลุมด้วยผ้าปักทอง แลที่นอนอันงามดี อาหารแลผลไม้ที่เลี้ยงดูนั้นบริบูรณ์มาก
ข้าพเจ้าได้ออกจากที่นั้นเมื่อรับประทานดินเนอร์แล้วบรรดาขุนนางทั้งปวงตามข้าพเจ้ามาด้วย ข้าพเจ้าได้มาถึงบางกอกซึ่งเปนหัวเมืองที่หนึ่งของพระเจ้าแผ่นดินสยาม ซึ่งตั้งอยู่ริมแม่น้ำประมาณทางสัก ๘ ลิก คือ ๒๔ ไมล์จากทเล ข้าพเจ้าได้พบเรือกำปั่นอังกฤษลำหนึ่งยิงปืนสลุตคำนับข้าพเจ้า ๒๓ นัด ที่ป้อมสองฝั่งแม่น้ำก็ยิงสลุตคำนับข้าพเจ้าป้อมหนึ่งยิงสลุต ๒๙ นัด อิกป้อมหนึ่งยิงสลุต ๓๑ นัด ป้อมนั้นก่อคล้ายๆ กัน แลมีปืนเหล็กหล่ออย่างใหญ่ประจำอยู่ที่ป้อมเปนอันมาก ข้าพเจ้าได้ขึ้นไปอยู่ที่ป้อม ข้างซ้ายมือมีตึกก่อเรียบร้อยดีหลังหนึ่ง เครื่องในตกแต่งเรียบร้อยงามดี ข้างในนั้นจัดแจงประดับประดางามที่สุด ได้จัดรับรองข้าพเจ้าตามธรรมเนียมของประเทศสยาม
หน้า ๖
? ครั้นรุ่งขึ้นวันที่ ๑๐ เดือนออกโตเบอร์ เวลา ๒ โมงเช้าข้าพเจ้าได้ออกจากที่นี้ บรรดาขุนนางแลผู้รักษาเมืองที่มารับรองข้าพเจ้าเมื่อข้าพเจ้าออกเรือนั้นก็ได้สลตคำนับส่งข้าพเจ้าเหมือนเวลาวันก่อน ครั้นเวลาเที่ยงข้าพเจ้าได้ถึงทำเนียบที่ปลูกรับแห่งหนึ่ง ทำเนียบนั้นก็ได้ปลูกแลตกแต่งงดงามดีเหมือนอย่างทำเนียบก่อนนั้นเหมือนกัน ที่แขวงตำบลนี้มีป้อม ๒ ป้อม ก็ได้ยิงปืนสลุตคำนับข้าพเจ้า ด้วยปืนมีอยู่ในป้อมนั้นทุกๆ กระบอก แล้วได้เลี้ยงดินเนอร์แก่ข้าพเจ้าโดยดี ครั้นเวลาบ่าย ๓ โมงข้าพเจ้าได้ออกจากทำเนียบที่พัก ที่ป้อมก็ยิงสลุตเหมือนอย่างแต่ก่อนนั้น ผู้รักษาเมืองบางกอกที่ตามข้าพเจ้ามาก็กลับไปรักษาเมืองบางกอกตามเดิม เมื่อล่องเรือขึ้นมานั้นข้าพเจ้าได้พบกำปั่น ๒ ลำ ลำ ๑ เปนเรืออังกฤษ ลำ ๑ เปนเรือชาติฮอลันดา ก็ได้ยิงปืนสลุตคำนับข้าพเจ้าด้วยปืนทุกๆ กระบอกบรรดามีในเรือทั้ง ๒ ลำนั้น ครั้นเวลาค่ำทุ่ม ๑ ข้าพเจ้าได้มาถึงทำเนียบที่ปลูกรับ ที่ทำเนียบนี้ก็ได้ตกแต่งงามดุจทำเนียบก่อนๆ นั้น มีขุนนางมาคอยรับอยู่ที่นั้นก็ได้รับรองข้าพเจ้าโดยความสุภาชิตอันใหญ่
? วันที่ ๑๑ เดือนออกโตเบอร์ เวลาเช้า ข้าพเจ้าได้ออกจากที่นั้นแล้วมารับประทานดินเนอร์ที่ทำเนียบพักแห่งหนึ่ง ครั้นเวลาเย็นได้มาถึงทำเนียบพักดุจเช่นก่อนๆ นั้น ได้ตกแต่งงดงามดี มีขุนนาง ๒ นายมารับรองข้าพเจ้า
? ครั้นวันที่ ๑๒ เดือนออกโตเบอร์ ข้าพเจ้าได้มาพักนอนที่ตำบลหนึ่ง ทางประมาณสัก ๒ ลิก คือ ๖ ไมล์ ถึงกรุงศรีอยุทธยา เพราะตำบลนั้นมีขุนนางมาคอยรับข้าพเจ้าอยู่ ๒ นาย แล้วนายห้างอังกฤษ
หน้า ๗
กับฮอลันดาได้มาหาคำนับข้าพเจ้า แต่คนฝรั่งเศสนั้นได้มาหาข้าพเจ้าตั้งแต่บนเรือกำปั่นแล้วมิได้กลับไป ตามข้าพเจ้ามาด้วย ข้าพเจ้าได้พักอยู่ที่นี้จนวันแห่เข้าเมืองหลวง
บรรดาขุนนางทั้งปวงที่ได้มาคอยรับข้าพเจ้า ตามแม่น้ำระยะทางนั้นตามข้าพเจ้ามาด้วย ที่หนึ่งนั้น คือ มหาดเล็ก ที่มาภายหลังอิกนั้นก็มียศใหญ่ขึ้นกว่าก่อนนั้น ที่สุดที่มารับนั้นเปนเจ้า บรรดาขุนนางทั้งปวงนี้มีเรือสำหรับตัวของเขาเองทุกๆ คน เรือของขุนนางเหล่านี้ที่กลางลำเรือที่เขานั่งนั้น ยกพื้นขึ้นสูงคล้าย ๆ กับโธรน แลนั่งลำละคนเท่านั้น มีอาวุธวางข้างๆ คือ ดาบ หอก ทวน ธนู โล่ห์ แลไม้สามง่ามเหมือนกัน เรือทั้งหลายเหล่านี้ประมาณสัก ๕๐-๖๐ ลำนี้ตามมาด้วย ลางลำก็ยาวถึง ๘๐ ฟิต มีฝีพายบรรจุถึง ๑๐๐ คนก็มี แต่เขามิได้พายเหมือนอย่างธรรมเนียมของเรา เขานั่งที่กระทงเรือเปนคู่กัน หันหน้าไปหัวเรือจึงพาย พายยาวประมาณ ๔ ฟิต แลเมื่อพายนั้นโน้มตัวโดยท่าแขงแรง
? วันที่ ๑๓ เดือนออกโตเบอร์ ข้าพเจ้าได้ให้ขุนนางที่มาอยู่ด้วยกับข้าพเจ้าขึ้นไปกราบทูลพระจ้าแผ่นดิน ว่าข้าพเจ้าได้ทราบการแห่งกิริยาที่เปนธรรมเนียมที่รับราชทูตต่างๆ ที่ในกรุงนี้ แลธรรมเนียมนั้นผิดกันมากกับธรรมเนียมที่รับราชทูตที่ในกรุงฝรั่งเศส ข้าพเจ้าได้ขอพระเจ้าแผ่นดินสยามจัดผู้หนึ่งผู้ใดให้มาพบกับข้าพเจ้า จะได้ปฤกษาถึงการที่จะรับข้าพเจ้า
? ครั้นณวันที่ ๑๔ เดือนออกโตเบอร์ มีรับสั่งให้เจ้าพระยาวิชาเยนทราธิบดีลงมาหาข้าพเจ้า ปฤกษาสนทนากันอยู่นาน บิศฉอป
หน้า ๘
ออฟเมเดลโล โปลิศ เปนล่าม ได้ปฤกษากันอยู่นาน ข้าพเจ้าไม่ยอมให้สักสิ่งหนึ่งเลย ในการที่เปนธรรมเนียมรับทูตที่ในกรุงฝรั่งเศส เจ้าพระยาวิชาเยนทราธิบดีก็ยอมตามข้าพเจ้า
? วันที่ ๑๑ เดือนออกโตเบอร์ เจ้าพระยาวิชาเยนทราธิบดีได้มาหา พาเรืออย่างงามมาด้วย ๔ ลำรับ บรรทุกเครื่องราชบรรณาการซึ่งพระเจ้าแผ่นดินกรุงฝรั่งเศสทรงยินดีมาในสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินสยาม ของบรรณาการนั้น คือ โหมดเทศลายทอง ๒ พับ พรมอย่างงามที่สุด ๔ โคมระย้าเงินใหญ่ ๑ ระย้า กระจกเงาใหญ่มีทั้งกรอบเงินแลกรอบทองหลายแผ่น โถแก้วจาระไนเลี่ยมทอง ๑ นาฬิกาเรือนมีปล่องหลายเรือน หีบเขียนหนังสือเล็กๆ หลายหีบ ปืนใหญ่แลปืนอย่างยาวอย่างสั้นทำด้วยฝีมือช่างอย่างงามดีหลายกระบอก แลตัวอย่างสิ่งของต่างๆ ซึ่งเปนฝีมือช่างฝรั่งเศสเปนอันมาก ในเวลาวันนั้นพระเจ้าแผ่นดินสยามมีพระราชโองการดำรัสสั่งให้บรรดาชาติแขก ทั้งปวง ซึ่งเข้ามาตั้งอยู่ในกรุงสยาม ให้มาอวยพรข้าพเจ้าที่ได้มาถึง แลแสดงให้ข้าพเจ้าเห็นบรรดาเกียรติยศที่สมควรแก่ราชทูตของพระมหากระษัตราธิราช ซึ่งเปนใหญ่ที่สุดในโลกนี้ พวกแขกนั้นได้มาหาข้าพเจ้าเวลาประมาณย่ำค่ำ แต่งตัวตามอย่างชาติของเขาทั้งหลาย มีอยู่ประมาณ ๔๐ ชาติต่างๆกัน เปนเมืองเอกราชทั้งนั้น แต่เครื่องแต่งตัวนั้นก็คล้าย ๆ กันกับเครื่องแต่งตัวอย่างไทย ผิดอยู่แต่ที่เครื่องประดับบนศีศะต่างๆกัน ลางคนก็โพกผ้า ลางคนก็ใส่หมวกแก๊บอย่าง อเมเนียน ลางคนก็อยู่ศีศะเปล่าอย่างชาวสยาม คนที่มีชื่อเสียงนั้น
หน้า ๙
โพกผ้าสาลูขาวเปนรูปคล้ายกับหมวกแก๊บอย่างทหารแดกูน ซึ่งตั้งอยู่ตรงศีศะแลมีสายเชือกพันรัดใต้คางด้วย (เห็นจะเปนลำพอก) แต่เท้าเปล่าแทบจะด้วยกันทั้งนั้น เว้นไว้แต่น้อยคนทีเดียวที่ใส่รองเท้าเชิงงอนที่พวกแขกเติกใช้ใส่
ในเวลาวันนั้น เจ้าพระยาวิชาเยนทราธิบดีให้มาแจ้งความแก่ข้าพเจ้า ว่าพระเจ้าแผ่นดินมีรับสั่งโปรดจะให้ข้าพเจ้าเฝ้า เสด็จออกรับ
ข้าพเจ้าเวลาพรุ่งนี้
? วันที่ ๑๘ เดือนออกโตเบอร์ ข้าพเจ้าได้ออกจากที่พักเวลาโมงเช้า มีขุนนางประมาณ ๔๐ คน เปนพระยาอยู่ ๒ คน มาจากพระราชวัง แล้วบอกกับข้าพเจ้าว่าเรือกระบวนคอยอยู่แล้วที่จะรับพระราชสาส์น แลตัว
ข้าพเจ้าขึ้นไปสู่พระราชวัง พระราชสาส์นนั้นได้อยู่ในห้องข้าพเจ้าเอง ใส่พานทองมีตาดอย่างดีคลุมขุนนางที่มาทั้งนั้นได้ไปในห้องหมอบทั้งสิ้น แล้วยกมือของเขาประสานกันเข้าจดหน้าผาก แล้วก็ก้มหน้าลงจนถึงพื้น ทำท่าดังนี้ถึง ๓ หนถวายบังคมคำนับพระราชสาส์น ข้าพเจ้าได้นั่งอยู่บนเก้าอี้ใหญ่ใกล้กับพระราชสาส์น เกียรติยศดังนี้ มิได้ทำแต่ก่อนๆมาเลย เว้นไว้แต่พระราชสาส์นของพระเจ้าอยู่หัวเท่านั้น ครั้นทำการนิยมคำนับนี้แล้ว ข้าพเจ้าได้เชิญพระราชสาส์นกับทั้งพานทองเชิญเดินออกมาประมาณสัก ๗ - ๘ ก้าว แล้วข้าพเจ้าได้ส่งพานพระราชสาส์นให้กับบาดหลวงแอปเบเดอชวยซี ซึ่งได้มากับข้าพเจ้าจากกรุงฝรั่งเศส เขาเดินเชิญมาข้างซ้ายข้าพเจ้าแต่ข้างหลังไปหน่อย เขาเชิญ
๒
หน้า ๑๐
พระราชสาส์นนั้นไปจนถึงฝั่งแม่น้ำ ที่นั้นข้าพเจ้าได้พบเรือกิ่งปิดทองแต่งเครื่องพร้อม มีขุนนางชั้นที่ ๔ นั่งมา ๒ คน ข้าพเจ้าจึงได้รับพระราชสาส์นมาจากบาดหลวงแอปเบเดอชวยซี เชิญลงไปในเรือกิ่งนั้นส่งให้แก่ขุนนางคนหนึ่งที่อยู่ในเรือนั้น แล้วเขารับเชิญขึ้นไว้บนบุษบก ๆ นั้นเปนยอดแหลมสูงปิดทองอย่างงาม แล้วข้าพเจ้าก็มาลงเรือลำหนึ่งเปนเรือยาวงามดี ตามเรือพระราชสาส์นชิดไปทีเดียว แล้วมีเรืออิก ๒ ลำงามเหมือนอย่างเรือที่ข้าพเจ้าขี่ มีขุนนางนั่งมาในเรือนั้น ท้ายเคียงเรือที่ใส่พระราชสาส์นทั้งซ้ายขวา เรือที่ข้าพเจ้าขี่ที่ได้พูดมาแล้วนั้น ๑ เรือบาดหลวงแอปเบเดอชวยซีพายตามเรือข้าพเจ้า แลขุนนางอื่น ๆ ที่ได้มากับข้าพเจ้าแลพวกของข้าพเจ้าได้ลงเรือต่างหากพายตามมาข้างหลัง ขุนนางที่มียศสูงนั้นขี่เรืองามนักออกชักนำน่า แลมีเรือยาวปิดทองอิกประมาณ ๑๒ ลำ แลเรืออื่นๆ อิกเกือบ ๒๐๐ ลำพายเปน ๒ แถว พระราชสาส์นนั้นมีเรือคู่เคียงข้างคู่ ๑ แล้วเรือข้าพเจ้าอยู่กลาง บรรดาชาวเมืองทั้งปวงที่อยู่ในกรุงศรีอยุทธยานั้น ก็เข้าต่อในกระบวนแห่แลในแม่น้ำอันกว้างนั้นดูเต็มติดแม่น้ำไปด้วยเรือต่าง ๆ เราได้ออกเรือเดินกระบวนมาดังนี้จนถึงกรุง ที่นั่นจึงได้ยิงสลุตคำนับข้าพเจ้า การที่สลุตนี้ไม่เคยเปนธรรมเนียมได้ยิงสลุตที่ในพระนครให้แก่ราชทูต ทั้งหลายที่มาแต่ก่อน ๆ นั้นเลย บรรดากำปั่นซึ่งทอดอยู่ในท่าก็ได้ทำคำนับข้าพเจ้าเหมือนกัน แลเมื่อมาถึงที่ท่าขึ้นนั้นข้าพเจ้าได้พบรถปิดทองซึ่งยังไม่ได้เคยใช้เลย เว้นไว้แต่พระเจ้าแผ่นดินทรงเท่านั้น
หน้า ๑๑
ข้าพเจ้าจึงเชิญพระราชสาส์นขึ้นไปวางในรถ รถนั้นเทียมด้วยม้าหลายม้า มีคนชักคนรุนด้วย แล้วข้าพเจ้ามาขึ้นเก้าอี้ปิดทอง มีคานหาม มีคนยกขึ้นบ่าสิบคน บาดหลวงแอปเบเดอชวยซีก็ขี่คานหามเหมือนกันแต่ไม่สู้งาม ขุนนางที่มากับข้าพเจ้านั้นขี่ม้า แลคนต่างประเทศที่เข้ามาตั้งอยู่ในกรุงเดินตามหลัง แลกระบวนแห่ออกเดินมาจนถึงบ้านผู้รักษากรุงที่นั้น ข้าพเจ้าได้พบทหารยืนเปนแถว ๆ ข้างถนน ใส่หมวกทองเหลืองกาไหล่ ใส่เสื้อชั้นในแลใช้ผ้าลายผูกฅอ ซึ่งใช้แทนกางเกงชั้นใน แต่ไม่ได้ใส่ถุงเท้าแลรองเท้าสักคนหนึ่ง ทหารเหล่านี้บางพวกถือปืน บางพวกถือทวน บางพวกถือธนูกับลูกศร บางพวกถือหอก อนึ่งมีเครื่องพิณพาทย์หลายอย่างต่าง ๆ คือแตร,กลอง,ฉาบ,ปี่,ฆ้อง เขามีเสียงคล้ายกับเขาที่คนเลี้ยงแกะเมืองฝรั่งเศส ใช้เป่าพิณพาทย์นั้นดังหนวกหูนัก เราเดินกระบวนไปตามถนนกว้างทั้ง ๒ ข้าง ถนนนั้นเต็มไปด้วยคนดู แลมาถึงที่ช่านน่าพระราชวังทั้ง ๒ ข้าง มีข้างยืนเปนแถว แต่เครื่องสรรพออกสงคราม ครั้นข้าพเจ้าเข้าไปในพระราชวังชั้น ๑ ได้เห็นทหารประมาณ ๒๐๐๐ คนนั่งอยู่กับพื้น ถือปืนเอาซ่นลงเปนแถวๆ ละ ๖ คน แลแต่งตัวเหมือนอย่างเช่นข้าพเจ้าได้กล่าวไว้ข้างบนนั้น แลข้างซ้ายนั้นมีช้างยืนอยู่หลายช้างสรรพเครื่องรบพร้อม แล้วทีหลังเราได้เห็นคนขี่ม้าร้อยหนึ่ง แต่งตัวอย่างแขกเท้าเปล่ามือถือทวนทุกคน ที่ในชั้นนี้บรรดาคนต่างประเทศทั้งปวงที่ได้ตามข้าพเจ้ามานั้นก็ลากลับไป เว้นไว้แต่ขุนนางที่ได้มากับข้าพเจ้า ๆ ได้เดินเข้าไปอิก ๒ ชั้น ก็มีคนนั่งกละบาทเหมือนกับชั้น ๑
หน้า ๑๒
แล้วเข้าไปถึงชั้นที่๔ ข้าพเจ้าได้พบขุนนางเปนอันมากหมอบเอาหน้าลงดินทั้งนั้น ที่นี่มีม้า ๖ ม้าใส่กำไลที่เท้าทั้ง ๔ เท้า แต่งเครื่องพร้อมอันงามดี มีเครื่องทองแลเครื่องเงินประดับมุกดาทับทิมแลเพ็ชร แลพนังแผงข้างนั้นก็เขียนทองประดับพลอยเหมือนกัน โกลนแลอานทำด้วยทองแลเงิน มีขุนนางจูงตัวละ ๒ คน แลมีช้างหลายตัวแต่งเครื่องคล้ายๆ กับเครื่องม้าเปนคชาภรณ์ครบ รัตคนนั้นหุ้มกำมะหสีแดงยี่แลกระวิลกาไหล่ทอง บรรดาขุนนางได้เข้าไปในท้องพระโรงอยู่ตามตำแหน่งก่อน พระเจ้าแผ่นดินสยามเสด็จออกบนพระที่นั่งโธรน แลเมื่อข้าพเจ้าได้เข้าไปนั้น เจ้าพระยาวิชาเยนทราธิบดีพระคลังเสนาบดีได้เข้าไปกับข้าพเจ้า แลบาดหลวงเแอปเบเดอชวยซีนั้นเชิญพระราชสาส์น ข้าพเจ้ามีความแปลกใจที่ได้เห็นพระเจ้าแผ่นดินสยามประทับอยู่บน พระที่นั่งยกชั้นสูง ด้วยเจ้าพระยาวิชาเยนทราธิบดีได้สัญญายอมไว้กับข้าพเจ้า ว่าพระเจ้าแผ่นดินสยามจะเสด็จออกบนพระที่นั่งที่ยกชั้นมิให้สูงกว่าชั่วสูงของคน แลพระราชสาส์นนั้นควรจะได้ถวายต่อพระหัดถ์ เหตุดังนี้ข้าพเจ้าจึงได้ว่ากับบาดหลวงแอปเบเดอชวยซีว่าคำที่สัญญาให้ข้าพเจ้า นั้นได้ลืมเสียแล้ว แต่ข้าพเจ้าคงจะตั้งใจโดยแท้ที่จะถวายพระราชสาส์นกับด้วยมือของข้าพเจ้าเอง พานทองซึ่งใส่พระราชสาส์นนั้น มีที่จับใหญ่ยาวกว่า ๓ ฟิต ด้วยเขาคิดว่าข้าพเจ้าจะจับปลายที่มือจับยกพานชูขึ้นไปให้สูงถึงพระที่นั่ง แต่ข้าพเจ้าได้ตั้งใจในทันทีนั้นจะถวายพระราชสาส์นต่อพระหัดถ์เอง จึงได้ถือพานทองนั้นในมือข้าพเจ้า ครั้นได้มาถึงพระทวาร ข้าพเจ้าก้มศีศะถวายคำนับที ๑ แล้วเดินไปได้ครึ่งทางที่ในท้องพระโรง จึงได้ถวายคำนับอิกครั้งหนึ่ง แล้วเดินไปที่ใกล้
หน้า ๑๓
ที่ข้าพเจ้าจะนั่งนั้น ข้าพเจ้าได้พูดแอดเดรศถวายสองสามคำแล้ว ข้าพเจ้า
ใส่หมวกแล้วจึงนั่งลงเฝ้าแลคอยฟังทรงปราไส แลทูลตอบในคำสปิชนั้นมีความดังนี้
ไซรเออร์ (เทวะ) พระเจ้าแผ่นดินซึ่งเปนเจ้าของข้าพเจ้ามีพระเกียรติยศทั่วทั้งโลกที่ได้มีไชยชำนะใหญ่ พระองค์ได้ทรงจัดการปราบปรามเสี้ยนหนามของพระองค์ท่านให้สงบ แลให้สมัคสมานเรียบร้อยดีด้วยกำลังราชานุภาพ มีรับสั่งให้ข้าพเจ้าเข้ามาเฝ้าพระองค์ ทูลแสดงให้พระองค์ทราบทราบ ว่าพระเจ้าแผ่นดินของข้าพเจ้ามีความนับถือรักใคร่ในพระองค์อันสูงศักดิ ด้วยพระเจ้าแผ่นดินของข้าพเจ้าได้ทรงรักโดยเต็มในคุณวิเศษของพระองค์ แลพระปัญญาในการปกครองของพระองค์ แลพระปรีโชบายที่ได้ทรงจัดการถิ่นฐานบ้านเมืองให้สอาดงดงามเรียบร้อยแผ่ไปทั่วพระราชอาณาเขตร ซึ่งพระองค์ได้มีพระไทยปราถนาให้พระเจ้าแผ่นดินของข้าพเจ้าทราบโดยราชทูตของพระองค์ แลทางพระราชไมตรีของพระองค์ที่ได้มีกับพระเจ้าแผ่นดินของข้าพเจ้า ก็ได้แสดงให้เห็นชัด ความบำรุงต่อ ๆ มาที่พระองค์ทรงโปรดพระราชทานแต่ชน ซึ่งเปนสัปเยกต์ของพระเจ้าแผ่นดินของข้าพเจ้า แลเปนสำคัญนั้นที่พระองค์ทรงบำรุง คือ บิศฉอป สังฆราชที่เปนมินิศเตอร์ของพระผู้เปนเจ้า พระเจ้าแผ่นดินของข้าพเจ้าได้ทรงทราบชัดอยู่เสมอ ในผลแห่งความนับถือซึ่งพระองค์ได้มีต่อพระเจ้าแผ่นดินของข้าพเจ้า จึงได้มีพระไทย ปราถนาจะแสดงตอบแทนการนี้ ซึ่งมีอยู่ในอำนาจของพระองค์ท่านด้วยพระราชดำริห์อันนี้ พระเจ้าแผ่นดินของข้าพเจ้าจะวิสาสะกับพระองค์
หน้า ๑๔
โดยให้ชนที่เปนสัปเยกต์ ของพระองค์ท่านเข้ามา ตั้งการ ค้าขาย ที่ในกรุง
นี้ให้วัฒนาเจริญมากขึ้น แลจะทรงแสดงการพระราชไมตรีอันสนิทให้เปนที่หมายทุกสิ่งทุกอย่าง ที่จะให้สองพระนครมีความสามัคคีต่อติดสนิทรักใคร่กันให้ปรากฏไปยืดยาวไปในอนาคตกาล ด้วยทางระหว่างสองพระนครนั้นไกลกันมาก ก็แต่จะไม่มีการสิ่งใดที่จะทำการที่ทรงดำริห์นี้สนิทติดต่อกันกับพระองค์ได้ ก็ได้มีพระไทยพร้อมอาไศรยด้วยรศที่จะถือสิ่งที่เชื่อที่เปนที่พึ่งได้อย่างเดียวกัน ด้วยการสำคัญอันนี้พระเจ้าแผ่นดินซึ่งเปนเจ้าของข้าพเจ้าที่มีพระปรีชาปัญญาแลความสว่างมาก ก็ได้ทรงชี้แจงแนะนำให้พระเจ้าแผ่นดินทั้งหลายที่เปนทางพระราชไมตรีกับพระองค์ท่าน พระเจ้าแผ่นดินของข้าพเจ้าซึ่งได้มีพระไทย ปราถนาให้ข้าพเจ้าทูลแอดเดรศถวายแด่พระองค์ ว่าเปนของพระองค์ท่านเองให้ทูลแด่พระองค์ พระองค์ท่านขอต่อพระองค์ ด้วยว่าเปนมหามิตรอันสนิทกันแลด้วยประโยชน์ ที่พระเจ้าแผ่นดินของข้าพเจ้าได้คิดจะให้มีต่อพระองค์ ซึ่งพระองค์มีพระเดชานุภาพอันจริง ๆ ให้ทรงพระราชดำริห์ว่าอิทธิอำนาจซึ่งพระองค์ได้มีอยู่นั้นจะถือได้อย่างเดียวก็จากพระผู้เปนเจ้าอันเที่ยงแท้ซึ่งปกครองสวรรค์แลพิภพ ด้วยการนี้เปนเหตุที่ควรจะคิดสำคัญมากกว่าที่จะนมัสการเทวดาซึ่งรุ่งเรืองอยู่ที่ตวันออกแลเสมอมีอำนาจที่จะพูดได้เลย แลความรู้แลเวทนาของพระองค์นั้นทรงดำริห์ไปก็คงจะได้พบไม่เปนเปล่าดอกไม่ผิดเลย แต่การนี้คงจะได้ทรงทราบชัดมาก ถ้าพระองค์จะมีพระไทยจะฟังจากสังฆราชแลพวกมิชชันนารี ที่เขาได้อยู่ที่นี้ในเวลานี้ อนึ่งจะเปนข่าวอันรับรองโดยดีที่ข้าพเจ้า
หน้า ๑๕
จะได้ทูลแก่พระเจ้าแผ่นดินซึ่งเปนเจ้าของข้าพเจ้า ให้ทรงทราบว่าพระองค์
ได้ทรงตามเห็นชอบด้วยตามจริงอันนี้ แล้วได้ทรงรับคำสอนตามคฤสต์
สาสนาดังนี้แล้ว พระเจ้าแผ่นดินของข้าพเจ้าก็จะมีความนับถือรักใคร่ในพระองค์ทวีมากขึ้น แล้วจะได้ทำให้ชนซึ่งเปนสัปเยกต์ของพระเจ้าแผ่นดินของข้าพเจ้ามีความเชื่อมากรีบเข้ามาในพระราชอาณาเขตรของพระองค์ แล้วจะทำให้พระองค์มีพระเกียรติยศมากขึ้นอิก แลพระองค์จะได้มีความศุขเกษมในภายในที่ในสวรรค์ ภายหลังที่พระองค์ได้ทรงครอบครองแผ่นดินโดยความเจริญแล้ว
คำสปิชนี้ เจ้าพระยาวิชาเยนทราธิบดีแปลถวายแล้ว ข้าพเจ้าได้ทูลพระเจ้าแผ่นดินสยามว่า พระเจ้าแผ่นดินซึ่งเปนเจ้าของข้าพเจ้าได้โปรดให้บาดหลวง แอปเบเดอ ชวยซี. มาด้วยกับข้าพเจ้ากับผู้ดี
ด้วย ๑๒ นาย แล้วข้าพเจ้าทูลถวายตัวเขาทั้งนั้น ข้าพเจ้าได้เชิญพระราชสาส์น จากมือบาดหลวงแอปเบเดอ ชวยซี คิดจะถวายดังเช่นข้าพเจ้าได้พูดตกลงไว้ เจ้าพระยาวิชาเยนทราธิบดีซึ่งไปเฝ้าด้วยข้าพเจ้าคลานเข้าไปด้วยมือกับเข่า เรียกข้าพเจ้าแล้วบุ้ยชี้ให้ข้าพเจ้ายกแขนเชิญพระราชสาส์นขึ้นให้ถึงพระเจ้าแผ่นดิน แต่ข้าพเจ้าทำเปนไม่ได้ยินนิ่งเสีย อยู่ทีหลังพระเจ้าแผ่นดินทรงพระสรวล แลทรงลุกขึ้นก้มพระองค์ลงมารับพระราชสาส์นที่อยู่บนพานทอง แล้วก็ทรงประทับอิงให้เห็นทั่วทั้งพระองค์ เมื่อทรงหยิบพระราชสาส์นแล้ว ข้าพเจ้าก้มศีศะลงถวายคำนับอย่างต่ำ แล้วกลับมายังที่นั่ง
? อนึ่งในเรื่องราวของมองซิเออร์ลาลอแบเร ซึ่งแต่งหนังสือในเมืองไทยกล่าวการด้วยถวายพระราชสาส์นพระเจ้าลุยศ์ที่ ๑๔ แด่สมเด็จ
หน้า ๑๖
พระเจ้าแผ่นดินสยามมีความต่อไปดังนี้ ว่าพระที่นั่งโธรนฤๅบัญชรซึ่งพระเจ้าแผ่นดินสยามทรงประทับนั้น ยกสูงกว่าท้องพระโรง ๙ ฟิต เลอร์ชิวาลิเอเดอเชามองต์ราชทูต ได้ลุกออกจากที่นั่งที่ในท้องพระโรงรีบเดินเข้าไปข้างน่าแล้วเหยียบเข้าไป ๓ ชั้น ยกพานทองที่ใส่พระราชสาส์นชูขึ้น แต่สูงหาถึงพระเจ้าแผ่นดินไม่ พระเจ้าแผ่นดินทรงพระสรวลเสด็จลุกขึ้นก้มพระองค์เหยียดพระหัดถ์ลงมาที่พานทอง รับพระราชสาส์นจากราชทูต ราชทูตมิได้ส่งพระราชสาส์นให้เสนาบดีที่จะนำเข้าถวายซึ่งเปนธรรมเนียมมาแต่เดิมนั้น แลลาลอแบเรได้ว่าเมื่อราชทูตถวายพระราชสาส์นแด่พระเจ้าแผ่นดินสยามนั้น ชั้นที่ก้าวขึ้นไปนั้นก็สูงพอดีทีจะไม่เสียพระเกียรติยศที่ต้องก้มพระองค์ลงมารับพระราชสาส์นดอก
? อนึ่งสำเนาพระราชสาส์นพระเจ้าลุยศ์ที่ ๑๔ เจริญทางพระราชไมตรีมาถึงพระเจ้าแผ่นดินสยาม มีความตามคำแปลดังนี้ว่า เจริญทางพระราชไมตรีมาในเจ้าผู้ประเสริฐอันสูงสุด มีมหามิตรอันใหญ่ยิ่ง เปนมิตรที่รักใคร่อันดีของเรา ขอให้พระผู้เปนเจ้าให้ความเจริญแก่พระองค์อันใหญ่ยิ่งโดยมีมงคลโชคดีเปนที่สุด โชคดีตลอดต้นตลอดปลายเราได้ทราบด้วยการที่ถูกอันตรายของทูตซึ่งพระองค์ได้แต่งให้มาเจริญทางพระราชไมตรีแก่เราในปีคฤสต์ศักราช ๑๖๘๑ ตรงกับปีมีจุลศักราช ๑๐๔๓ แลเราได้ทราบความจากพวกมิชชันนารีที่ได้กลับมาจากกรุงสยามกับหนังสือ ซึ่งเสนาบดีของเราได้รับจากชนที่ปรากฏว่าได้รับราชการของพระองค์ ว่าพระองค์มีพระไทยยินดีมีความปราถนาจะเปน
หน้า ๑๗
ไมตรีด้วยกับเรา การที่จะตอบความนี้เราได้เลือก เลอชิวาลิเอเดอเชามองต์ เปนราชทูตของเราเข้ามาเจริญทางพระราชไมตรีแด่พระองค์ แลทูลให้พระองค์ทราบถึงความปราถนาของเรา ที่จะตั้งดำรงพระราชไมตรี
ให้สนิทติดต่อกันในระหว่างพระองค์กับเรา เราจะมีความยินดีเปนอันมากที่จะพบโอกาศจะแสดงความของใจของเราแด่พระองค์ ที่ได้ทรงบำรุงแก่บิศฉอปสังฆราชแลบาดหลวงกาทอลิกที่ได้เข้ามา ตั้งสอนคฤสต์สาสนา
แด่หมู่ชนซึ่งเปนสัปเยกต์ของพระองค์ แลความนับถืออันสำคัญของเราแด่พระองค์นั้น ตั้งให้เรามีความปราถนาอันใหญ่ ที่ควรพระองค์เองจะอาจทรงฟังพวกมิชชันนารีทั้งหลายแลเรียนจากเขา วิธีที่จริงแลการ
ลับฦกอันศักดิสิทธิของสาสนาที่เปนบุญอันศักดิสิทธิ ซึ่งให้รู้จักผู้เปนเจ้าที่เที่ยงแท้ที่ท่านได้ยอมให้พระองค์เสวยศิริราชสมบัติ มีเกียรติยศปรากฏมานมนาน แลท่านผู้เดียวที่จะให้พระองค์ได้เสวยบรมศุขภายในภายน่า เราได้มอบสิ่งของบางสิ่งซึ่งเปนของปลาดในกรุงของเราให้กับราชทูตของเรามาเปนของบรรณาการที่เขาจะได้ถวายแด่พระองค์ให้เปนที่หมายแห่งความนับถือของเรา แล้วเขาคงจะทูลชี้แจงให้พระองค์ทราบว่าสิ่งไรที่เปนความปราถนาอันใหญ่ของเรา ที่จะเปนผลประโยชน์แห่งสัปเยกต์ของเราทั้งหลายในการค้าขาย เราขอให้พระผู้เปนเจ้าปกครองพระองค์ด้วยความศุขทุกประการเทอญ
พระราชสาส์นนี้ส่งมาแต่วังเวอร์ซาย วันที่ ๑ เดือนยันนุวารี ในปีมีคฤสต์ศักราช ๑๖๘๕ ตรงกับปีมีจุลศักราช ๑๐๔๗
๓
หน้า ๑๘
เราขอเปนมิตรอันแน่แท้ สนิทติดต่อกับพระองค์
(ลงชื่อเสนาบดี) กวลเบอร์ต
(ลงพระนาม) ลุยศ์
แล้วพระเจ้าแผ่นดินสยามจึงทรงพระราชปฏิสัณฐารถามถึงสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินฝรั่งเศส แลพระบรมวงษานุวงษ์ทั้งปวง แล้วเพิ่มพระราชปฏิสัณฐาร ว่าพระองค์คงจะลองทำให้ทุกๆ ทางที่จะให้เปนที่ชอบพระไทยพระเจ้าแผ่นดินของข้าพเจ้าด้วยในการที่กล่าวขอนั้น ในเวลา
ที่เฝ้านั้ สังฆราชบิศฉอปออฟเมแตลโลโปลิศเฝ้าอยู่ที่นั้นด้วย ได้เปนล่ามทูลแด่พระเจ้าแผ่นดินกับตัวข้าพเจ้า พระเจ้าแผ่นดินสยามนั้น
ทรงมงกุฎประดับเพ็ชรติดกับหมวกเหมือนดังเช่น ทหารแตรคะคูนของเรา
ได้ใส่ ทรงพระภูษาลายทองดอกไม้อย่างงาม แลทรงพระเกยูรแล
ทองพระกรซึ่งประดับเพ็ชร แลทรงพระธำมรงค์เพ็ชรครบพระองคุลี พระเจ้าแผ่นดินพระชัณษาปรากฏประมาณ ๕๕ พรรษา พระรูปโฉมงามดีพระฉวีติดจะดำแดงเหมือนอย่างบรรดาราษฎรที่อยู่ในอาณาเขตรของพระองค์ท่าน พระอาการเปนที่น่ารัก พระอากัปกิริยาทรงพระประพฤติเรียบร้อย แลทรงกล้าหาญ ทรงพระปรีชาสามารถอันใหญ่ ที่ปกครองพระราชอาณาเขตรเปนอันดี มีพระไทยกว้างขวางโอบอ้อมอารี มีพระไทยรักศิลปสารท วิชาการช่าง ถ้าจะสรรเสริญโดยความสั้น ๆ ก็พระองค์ท่านเปนเจ้าโดยอำนาจปัญญาอันประเสริฐยิ่งใหญ่ของ พระองค์ท่านเอง ได้ทรงละทิ้งธรรมเนียมเก่าที่เปนที่เร่อร่าน่าเกลียดซึ่งมีอยู่ในพระนครเสียมาก แลพระองค์ได้ทรงยืมธรรมเนียมต่าง ๆ ประเทศมีชาติยุโรปเปนสำคัญ แลบรรดาธรรมเนียมใด ๆ ที่พระองค์ท่านทรงเห็นว่า
หน้า ๑๙
เปนการดีมีประโยชน์ที่จะให้เปนพระเกียรติยศในพระองค์ แลเปนความศุขในราษฎรของพระองค์ ก็โปรดให้ตั้งเปนธรรมเนียมใช้ทั่วกันไป
เมื่อเวลาเสด็จออกเฝ้าอยู่นั้น มีขุนนางประมาณ ๘๐ คนที่ในท้องพระโรง หมอบราบเอาหน้าลงก้มดินทุกคน แลแต่งตัวด้วยเครื่องแต่ง
ตัวอันงดงาม แต่ไม่ได้ใส่ถุงเท้าทุกๆ คน มีหีบใส่หมากบุหรี่
ด้วยของเหล่านี้เปนที่หมายตำแหน่งยศ ครั้นเมื่อพระเจ้าแผ่นดิน
สยามทรงพระราชปฏิสัณฐารกับข้าพเจ้าสักชั่วโมง ๑ แล้วปิดพระบัญชรเสด็จขึ้น ข้าพเจ้าก็กลับมา ที่ท้องพระโรงนั้นยกพื้นมีอัฒจันท์ประมาณ ๑๒-๑๓ ก้าว ในท้องพระโรงนั้นเพดานแลผนังเขียนลายทองตลอด พื้นนั้นปูพรมอย่างดี ข้างในท้องพระโรงนั้นมีอัฒจันท์ขึ้นสองข้างเข้าไปในพระมหามณเฑียร ในระหว่างอัฒจันท์นั้นมีม่านสองไขเปนน่าต่าง น่าม่านออกมานั้นมีฉัตรใหญ่ ๓ คันซ้อนกันเปนชั้น ๆ ตั้งแต่พื้นจนถึงเพดาน ทำด้วยผ้าทอง คันฉัตรนั้นปิดทอง ฉั ตรคันหนึ่งตั้งอยู่กลางพระบัญชรอิกสองคันนั้นอยู่คันละข้าง ดูตรงไปที่พระบัญชรนั้นเห็นพระที่นั่งโธรน และพระที่นั่งโธรนนี้ซึ่งพระเจ้าแผ่นดินสยามเสด็จออกรับข้าพเจ้า แล้วเจ้าพระยาวิชาเยนทราธิบดีได้พาข้าพเจ้าเที่ยวดูทั่วพระราชวัง ข้าพเจ้าได้เห็นช้างเผือก อาหารที่กินแลดื่มนั้นใส่ภาชนะพานทองทั้งนั้น แล้วข้าพเจ้าได้เห็นช้างอื่น ๆ ที่งดงามอิกหลายช้าง ครั้นดูทั่วแล้วข้าพเจ้าจึงกลับมาที่พัก มีการรับเหมือนดังที่ขึ้นไป เรือนที่พักนั้นได้ตกแต่งประดับประดางดงามดี ตัวข้าพเจ้าแลพวกที่มาด้วยก็ได้อยู่เปนศุขสำราญ
หน้า ๒๐
? วันที่ ๒๒ เดือนออกโตเบอร์ สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินสยามได้พระราชทานผ้าเยียรบับเข้มขาบหลายพับ เสื้อยี่ปุ่นหลายตัว แลกระดุม
ทองสำรับ ๑ ให้ข้าพเจ้า แต่พวกที่มาด้วยข้าพเจ้านั้น พระราชทานผ้าปักทองเงินหลายพับ ของนี้เปนธรรมเนียมในพระราชประเพณีสำหรับบ้านเมืองที่พระราชทานให้เมื่อทูตมาถึง จะได้แต่งตามธรรมเนียมอย่างสยาม ตัวข้าพเจ้าเองนั้นหาได้เอาผ้านี้ตัดเปนเสื้อใส่ใช้สอยไม่ แต่พวกที่มาด้วยข้าพเจ้าได้ตัดใส่ใช้ตามธรรมเนียมทุกคน
? วันที่ ๘ เดือนโนแวมเบอร์ สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินสยามได้เสด็จขึ้นไปเมืองลโว้ คือ เมืองลพบุรีซึ่งเปนพระราชวังที่พัก ประทับแรม
อยู่ ๘-๙ เดือนในปีหนึ่ง ทางตั้งแต่กรุงศรีอยุทธยาไปเปนทาง ๒๐ลิก ประมาณ ๖๐ ไมล์
? วันที่ ๑๕ เดือนโนแวมเบอร์ ข้าพเจ้าได้ออกจากกรุงศรีอยุทธยาขึ้นไปเมืองลพบุรี แลพักนอนตามทางซึ่งมีทำเนียบที่ปลูกรับ ดังเช่นแต่ครั้งเมื่อข้าพเจ้าแรกขึ้นมาจากเรือจนถึงพระนคร ทำเนียบนั้นปลูกเคียงกับพลับพลาที่เสด็จประทับ เมื่อเสด็จขึ้นไปประพาศเมืองลโว้ ข้าพเจ้าได้อยู่ที่นั้น ๒วัน พลับพลานั้นได้สร้างโดยอย่างดีเปนของงามตามประเทศสยาม แลได้มาถึงเมืองลพบุรี
? วันที่ ๑๘ เวลาเช้า เมื่อขึ้นไปบนเมืองนั้นได้เดินไปตามสวน ในสวนนั้นมีน้ำพุหลายแห่ง เดินไปอิก ๕-๖ ก้าวไปถึงที่ตึกมีห้องสูง แล้ว
ได้พบวัดแลมีห้องนอนสำหรับคนที่ไปด้วยข้าพเจ้า
? วันที่ ๑๙ เดือนโนแวมเบอร์ พระเจ้าแผ่นดินโปรดให้ข้าพเจ้าไปเฝ้าไปรเวตในเวลาบ่าย ข้าพเจ้าขี่ช้าง แต่ได้พบเห็นก้าวโยกนักไม่มี
หน้า ๒๑
ความศุขเลย คิดว่าขี่ม้าเดินทางเสีย ๑๐ ลิก ดีกว่าขึ้นขี่บนหลังสัตว์
เหล่านี้อิก
? วันที่ ๒๓ เดือนโนแวมเบอร์ เจ้าพระยาวิชาเยนทราธิบดีแจ้งความกับข้าพเจ้าว่าพระเจ้าแผ่นดินสยามโปรดมีการสนุกเล่นให้ข้าพเจ้าดูช้างชนกัน แลโปรดให้ข้าพเจ้าพาตัวนายเรือของข้าพเจ้าไปด้วย กัปตันนั้นชื่อ มองซิเออร์ เดอร์เอาดริกอรตคนหนึ่ง อิกคนหนึ่งชื่อ มองซิเออร์ เดอร์ ชวยเอศ ข้าพเจ้ากับกัปตันนั้นขึ้นขี่ช้างไป
พระเจ้าแผ่นดินสยามมีรับสั่งให้กัปตันไปเฝ้าแล้วตรัสว่า มีพระไทยยินดีที่เขาได้เปนกัปตันที่ ๑ ของพระเจ้าแผ่นดินฝรั่งเศส ที่ได้เข้ามาในพระราชอาณาเขตร แลทรงไว้ใจว่าเมื่อกลับไปนั้นขอให้มีโชคดีดุจได้เข้ามาถึงที่ แล้วพระราชทานกระบี่ให้คนละเล่ม กระบี่นั้นด้ามแลโกร่งทำด้วยทองคำ ฝักนั้นบั้งทอง แลสายตะพายปักทอง กับเสื้อเยียรบับเข้มขาบมีกระดุมทองใหญ่ แต่มองซิเออร์ เดอร์เอาดริกอรตเปนกัปตันใหญ่ได้ของพระราชทานงามดีมีราคามากกว่าอิกคนหนึ่ง แล้วจึงรับสั่งว่าให้มีใจระวังข้าศึกสัตรูไปตามทาง กัปตันนั้นจึงได้กราบทูลว่าพระองค์ก็ได้พระราชทานอาวุธให้ป้องกันตัว เขาคงจะต่อสู้ข้าศึกโดยดีกลับเปนน่าที่ของเรากัปตันที่ได้ทูลนี้อยู่บนหลังช้างหาได้ลงมาไม่ แลข้าพเจ้าเห็นว่าที่คิดว่าจะมีชนช้างนั้น เพราะทรงปราถนาจะพระราชทานของเหล่านี้แก่กัปตันก่อนคนยุโรปอื่นๆ ที่มาเฝ้า การนี้เปนที่หมายสำคัญแห่งความปราถนาซึ่งทรงแสดงให้แก่ชาติฝรั่งเศส
หน้า ๒๒
? วันอาทิตย์เปนวันที่ ๒ เดือนดิเซมเบอร์ เจ้าพระยาวิชาเยนทราธิบดี ได้ส่งของกำนันมาให้ข้าพเจ้าแลบาดหลวงแอปเบเดอ ชวยซี แลพวกที่มาด้วยข้าพเจ้า สิ่งของที่เปนกำนันนั้นคือเครื่องกระเบื้องถ้วยชามอย่างดี กำไลมือ ขวดจีน เสื้อยี่ปุ่น เครื่องเงินอย่างยี่ปุน เครื่องเงินปรุอย่างดีฝีมือยี่ปุ่น พลอยบิชอร์ นอแรด แลของปลาดอื่น ๆ อิกที่เปนของสำหรับประเทศ
? วันที่ ๑๑ เดือนดิเซมเบอร์ ข้าพเจ้าได้ไปดูจับช้างเถื่อน พระเจ้าแผ่นดินสยามเสด็จทอดพระเนตรในที่นั้นด้วย ได้รับสั่งให้ขุนนางสองคนมาพาตัวข้าพเจ้าไปเฝ้า มีรับสั่งถึงการต่างๆ แล้วทรงขอข้าพเจ้าให้ยอมให้มองซิเออร์ เดอลามาร์เร ซึ่งเปนอินยินเนียอยู่ช่วยในการทำป้อมที่ในกรุง ข้าพเจ้าได้ทูลกับพระองค์ท่านว่าข้าพเจ้าไม่มีความสงไสยแต่สักนิดเลย ว่าพระเจ้าแผ่นดินซึ่งเปนเจ้าของข้าพเจ้าจะทรงเห็นชอบทีเดียวในการที่ข้าพเจ้าจะให้อินยินเนียอยู่ ด้วยว่าผลประโยชน์ต่าง ๆ ของพระองค์นั้น ได้เปนที่รักของพระเจ้าแผ่นดินของข้าพเจ้าเหมือนกัน แลคนที่มีปัญญาฉลาดนี้ คงจะทำการให้เปนที่ชอบพระไทยไม่ให้เสียได้ ครั้นทูลแล้วข้าพเจ้าก็สั่งให้ มองซิเออร์ เดอลา มาร์เร อยู่รับราชการที่ในกรุงสยาม แล้วสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินสยามได้มีพระราชประสงค์อยากจะรับสั่งด้วยกับเขา แล้วพระราชทานเสื้อเยียรบับ แก่เขาตัวหนึ่ง
ด้วยคิดว่าจะกลับไปลงเรือเพลาพรุ่งนี้ ข้าพเจ้าจึงได้ถวายตัวพวกที่มาด้วยข้าพเจ้า เขาทั้งหลายก็ถวายคำนับ แล้วพระเจ้าแผ่นดิน
หน้า ๒๓
มีพระไทยปราถนาให้เขาไปมีความเจริญศุขสบาย สังฆราชบิศฉอปออฟเมแตลโลโปลิศได้ขอให้ถวายตัวบาดหลวง แอปเบเดอ ลิออนเน แลบาดหลวงแอปเบเลอร์อาเซต พวกมิชชันนารีทูลลา ด้วยเขา
จะกลับไปยังกรุงฝรั่งเศสกับข้าพเจ้า แต่ทรงตอบมาว่าที่นี่ไม่ใช่วังทรงประทับ แลทรงเห็นว่าพวกมิชชันนารีเหล่านี้เหมือนอย่างบุตรของพระองค์ท่าน ควรจะไปเฝ้าทูลลาที่ในวังที่ประทับจึงจะชอบ แล้วก็เสด็จกลับ ข้าพเจ้าก็ตามเสด็จไปถึงชายป่า
? วันที่ ๔ วันที่ ๑๒ เดือนดิเซมเบอร์ พระเจ้าแผ่นดินสยามโปรดให้ข้าพเจ้ามียศเฝ้าทูลลาอิกครั้งหนึ่ง รับสั่งว่า มีพระไทยยินดีในตัวข้าพเจ้า แลทั้งการที่ได้มาเจรจาด้วยทั้งสิ้น แล้วพระราชทานข้าพเจ้า พานทองใหญ่ใบ ๑ ซึ่งเรียกว่าโปเสดต์ เปนที่หมายยศอันสูงสุด
เสมอเท่ากันกับพระเจ้าแผ่นดินฝรั่งเศสได้โปรดตั้งให้เปนดุ๊ก แล้วพระเจ้าแผ่นดินมีรับสั่งว่าที่ไม่ได้ให้เปนทางราชการนั้น เพราะว่าบางส่วนจะไม่เปนที่ชอบแก่ตัวข้าพเจ้า ด้วยว่าผู้ที่ได้รับยศอันนี้ถึงว่าจะมียศอันสูงสุด ก็ต้องคุกเข่าลงถวายบังคมรับ ในบรรดาพวกคนต่างประเทศที่อยู่ในสำนักนิ์พระเจ้าแผ่นดินสยาม ก็มีแต่หลานเจ้ากรุงกัมพูชาคนเดียว ที่ได้รับหมายยศเหมือนเช่นนี้ ซึ่งได้ให้มีตำแหน่งยศเปนพระยาเท่ากันกับดุ๊กที่ในกรุงฝรั่งเศสดังเช่นข้าพเจ้าได้กล่าวมาแล้ว พระเจ้าแผ่นดินพระองค์นี้ได้มีน้ำพระไทยดี รับสั่งการที่เปนคำนับยินดีในตัวข้าพเจ้ามาก แต่ข้าพเจ้าไม่อาจพูดซ้ำอิก ด้วยว่าคงจะปรากฏเปนการอัศจรรย์ปลาด ไม่เปนที่เชื่อถือได้ตลอดในเวลา
หน้า ๒๔
ระยะทาง ที่ข้าพเจ้าได้เข้ามาด้วยราชการทูตนี้ พระองค์ท่านได้
ทรงแสดงแก่ข้าพเจ้าในเกียรติยศทุก ๆ อย่าง ด้วยทรงพระราช
ดำริห์ว่า ข้าพเจ้าเปนผู้แทนของพระเจ้าอยู่หัวของข้าพเจ้า ข้าพเจ้า
ได้รับความปราไสต้อนรับโดยสุภาพเรียบร้อย แต่เสนาบดีแลข้า
ราชการทั้งสำนักนิ์ของพระเจ้าแผ่นดินสยามเหมือนกัน บาดหลวง
แอปเบเดอลิออนเน แลบาดหลวงแอปเบเลออาเชต ก็ได้ทูลลาแด่
พระเจ้าแผ่นดินด้วย แล้วทรงพระประสาทพระพรให้ไปดีมาดีตามทาง
แลพระราชทานรูปไม้กางเขนทำด้วยทองแลนาก ฐานเปนเงิน ให้
แก่บาดหลวงคนละอัน ครั้นเมื่อทูลลาออกจากท้องพระโรงแล้ว เจ้า
พระยาวิชาเยนทราธิบดีพาข้าพเจ้าไปที่ห้องกลางพระราชวัง ห้องนั้น
มีน้ำพุอยู่รอบห้อง ข้าพเจ้าได้พบที่ห้องนั้นตั้งโต๊ะมีของเลี้ยงเปนอันดี
พระเจ้าแผ่นดินสยาม ทรงพระกรุณาโปรดพระราชทานเครื่องเสวยมาจาก
โต๊ะหลวงให้ข้าพเจ้า ๓ สิ่ง ๆ หนึ่งเปนเข้าหุงประดับประดางดงาม อิก ๒ สิ่งนั้นปลาเค็มแห้งมาจากเมืองยี่ปุ่น ประมาณบ่าย ๕ โมงกลับจาก พระราชวังขึ้นเสลี่ยงมีคนหาม ๑๐ คนมาลงเรือ ขุนนางที่มาส่งข้าพเจ้านั้นโดยมากขี่ม้าทั้งนั้น แล้วมาลงเรือของเขาทั้งปวงประมาณ ๑๐๐ ลำ ทางที่ข้าพเจ้าไปนั้นมีทหาร ช้าง แลแขกขี่ม้ายืนเปนแถว ตลอดทาง แล้วข้าพเจ้าออกจากเมืองลพบุรี
? รุ่งขึ้นวันที่ ๑๓ ข้าพเจ้ามาถึงกรุงศรีอยุทธยาประมาณ ๓ ยาม พระราชสาส์นแลราชทูตของสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินสยาม ซึ่งทรงแต่งให้ไปเจริญทางพระราชไมตรีกับพระเจ้ากรุงฝรั่งเศสมากับข้าพเจ้า แต่
หน้า ๒๕
เชิญลงเรือกิ่งเปนอันงาม มีเรือตามอิกหลายลำ พระเจ้าแผ่นดินสยาม
ได้พระราชทานให้ข้าพเจ้าอิก เครื่องปอศเลนกระเบื้องอย่างดีราคาประมาณ ๖๐๐-๗๐๐ เหรียญ มุลี่จีน ๒ คู่ ผ้าปูโต๊ะปักทองปักเงินทำมาแต่เมืองจีน ๔ ผืน ไม้กางเขนทำด้วยนาก (ธาตุอย่างนี้มีความนับถือมากที่ในกรุงเหมือนกับทอง) รูปเปนทองคำ ฐานเปนเงิน ๑ อัน แลของปลาดอย่างที่ในอินเดียอิกต่าง ๆ เปนอันมาก ด้วยเปนธรรมเนียมที่
ในประเทศที่พระราชทานของให้แก่บรรดาผู้ที่นำเครื่องบรรณาการมาถวาย ข้าพเจ้าได้แจกเงินบรรดาพวกฝีพายหลวงประมาณ ๘๐๐-๙๐๐ เหรียญ แลเจ้าพระยาวิชาเยนทราธิบดีนั้น ข้าพเจ้าได้ให้เครื่องเฟอนิเชอร์ของแต่งเรือนซึ่งข้าพเจ้าซื้อมาแต่กรุงฝรั่งเศส ราคามากกว่าพันดรอน
(ดรอน ๑ ประมาณ ๒บาท) แลเก้าอี้อย่างงาม ๑ เก้าอี้ ข้าพเจ้าได้
ซื้อที่กรุงฝรั่งเศสราคา ๒๐๐ ดรอน เปนของกำนันเจ้าพระยาวิชาเยนทราธิบดี แลท่านผู้หญิงนั้นข้าพเจ้าได้ให้กระจกกรอบทองประดับพลอย ๑ บาน ราคาประมาณ ๖๐ เหรียญ
อนึ่งข้าพเจ้าลืมจะบอกไปว่าพระเจ้าแผ่นดินสยามได้พระราชทานสิ่งของ ให้แก่บาดหลวง แอปเบเดอชวยซี เปนราคาประมาณ ๗๐๐-๘๐๐ เหรียญ ของนั้น คือ ขวดจีนหลายขวด เครื่องเงินปรุทำที่เมืองยี่ปุ่น แลปอศเลนเครื่องกระเบื้องหลายสิ่งแลของปลาดอื่น ๆ ที่อย่างอินเดียด้วย
? วันที่ ๑๔ เดือนดิแซมเบอร์ เวลา ๕ โมงเย็น ข้าพเจ้าออกจากกรุงศรีอยุทธยา เจ้าพระยาวิชาเยนทราธิบดี แลขุนนางอื่น ๆ อิกหลายนายมากับข้าพเจ้า มีเรือตามด้วยหลายลำ ล่องลงมาถึงเมืองบางกอก
๔
หน้า ๒๖
รุ่งขึ้นเวลาเช้า บรรดาป้อมที่ข้าพเจ้าพ้นมาแลที่บางกอกได้ยิงปืนใหญ่สลุตข้าพเจ้าทั้งนั้น ข้าพเจ้าหยุดอยู่ที่เมืองบางกอกวันหนึ่ง ด้วยข้าพเจ้าเปนขุนนางฝ่ายทหาร พระเจ้าแผ่นดินสยามมีพระไทยปราถนาจะให้ข้าพเจ้า ตรวจดูป้อมต่าง ๆ แล้วทูลให้พระองค์ท่านทราบ ว่าจะแก้ไขทำสิ่งไรอิกบ้าง กับให้เลือกที่ ๆ จะสร้างวัดด้วย ข้าพเจ้าได้ทำแผนที่แล้วมอบให้เจ้าพระยาวิชาเยนทราธิบดีไว้
? วันที่ ๑๖ เวลาเช้าข้าพเจ้าได้ออกจากบางกอก ขุนนางตามมาด้วยเปนอันมาก ที่ป้อมนั้นยิงปืนสลุตข้าพเจ้าอิก เวลาบ่าย ๔ โมง ได้มาถึงปากอ่าวแล้วลงเรือโบตยาวของเรือรบพระเจ้าแผ่นดินฝรั่งเศสไปขึ้นเรือที่ข้าพเจ้ามา
? วันที่ ๑๗ เรือรบหลวงของพระเจ้าแผ่นดินสยามลำใหญ่ ซึ่งใส่พระราชสาส์น แลราชทูตที่จะไปเจริญทางพระราชไมตรีพระเจ้ากรุงฝรั่งเศสมาถึง ทอดสมอที่ใกล้เรือข้าพเจ้า ๆ ให้เรือโบตของข้าพเจ้าไปรับ ทีแรกพาราชทูตอุปทูตมาขึ้นเรือแล้วให้กลับไปรับตรีทูตมา แลพระราชสาส์นนั้นเชิญลงในบุษบกมียอดแหลมปิดทองเปนอันงาม พระราชสาส์นนั้นจาฤกในสุพรรณบัตรแผ่นทองม้วนลงในหีบทอง แล้วได้ยิ่งปืนคำนับพระราชสาส์นนั้นหลายนัด เชิญขึ้นไว้บนดาดฟ้าเรือ มีเครื่องสูงเสวตรฉัตรกั้นอยู่จนวันข้าพเจ้าออกจากเรือ เมื่อพระราชสาส์นประดิษฐานอยู่ที่นั้น ขุนนางทั้งปวงเดินไปเดินมาที่ใกล้พระราชสาส์นแล้วลงกราบถวายบังคมทั้งสิ้น เพราะเปนธรรมเนียมที่จะแสดงความนับถืออันใหญ่ยิ่งในพระราชสาส์นของพระเจ้าแผ่นดินของเรา ครั้นรุ่งวันเรือรบหลวงที่เชิญพระราชสาส์นแลทูตมาส่งนั้นได้กลับเข้าไปในลำแม่น้ำ แลใน
หน้า ๒๗
เวลานั้นมีกำปั่นอิกลำหนึ่งมาจากพระเจ้ากรุงสยาม ทอดสมอที่ริมเรือข้าพเจ้า กำปั่นนั้นเจ้าพระยาวิชาเยนทราธิบดีได้มาด้วย
แลครั้นรุ่งวันที่ ๑๙ ได้ขึ้นมาหาที่เรือข้าพเจ้า แลได้รับประทาน
ดินเนอร์กับข้าพเจ้า ครั้นรับประทานแล้ว ข้าพเจ้าให้เรือโบตของข้าพเจ้า
ไปส่ง แล้วข้าพเจ้าให้ยิงปืนสลุตคำนับเจ้าพระยาวิชาเยนทราธิบดี ๒๑ นัด แลเราทั้งหลายได้จากกันโดยความเสียใจเปนอันมาก ซึ่งได้ทำทาง
ไมตรีกันไว้แล้วแก่กันโดยแขงแรง ข้าพเจ้ามีความอัศจรรย์ใจเปนอันมากที่ไม่ได้ข่าวบาดหลวง เลอวาเซต มิชชันนารี แลนายทหารกำปนีฝรั่งเศสแลสิเกรตารีของข้าพเจ้าเลย ซึ่งข้าพเจ้าได้ทราบว่าเขาได้มาจากกรุงศรีอยุทธยาแต่ณวันที่ ๑๖ กับด้วยคนชาวสยามที่จะไปกับด้วยราชทูต ๗ นาย กับคนใช้อิกหลายคน ข้าพเจ้าคิดว่าเขาทั้งหลายจะจมน้ำ หายไปหมด แลข้าพเจ้าตั้งใจคิดว่าจะใช้ใบไปเสียแล้วด้วยมีลมดี
? ครั้นรุ่งขึ้นวันที่ ๒๐ บางนายผู้ที่มีชื่อกล่าวมาแล้วได้มาบนเรือข้าพเจ้า แจ้งความว่าน้ำเชี่ยวนัก ได้พัดเอาเรือไปไกลได้ประมาณ ๔๐ ลิก แลต้องปล่อยพวกที่ไปด้วยไว้ที่ฝั่งชายเลนห่างจากที่นี้ประมาณ ๒๕ ลิก แลคิดว่าจะไม่สามารถกลับมาขึ้นเรือไปด้วยกับข้าพเจ้าโดยเร็ว ข้าพเจ้าจึงคิดรอไปว่าจะออกเรือในรุ่งวัน
? วันที่ ๒๒ เดือนดิเซมเบอร์ คฤสต์ศักราช ๑๖๘๕ ตรงกับปีมีจุลศักราช ๑๐๔๗ ปี ข้าพเจ้าได้ใช้ใบออกจากกรุงสยามกลับไปเมืองฝรั่งเศส
หน้า ๒๘
แปลพระราชสาส์น สันตปาปา โปป เครเมนต์ที่๙
เจริญทางพระราชไมตรีมาในพระเจ้าแผ่นดินสยามจากภาษาอังกฤษต้นฉบับเปนภาษาลาติน มีความว่า เจริญทางพระราชไมตรีมายังพระเจ้าแผ่นดินผู้บริสุทธิใสยิ่งที่สุด ความศุขแลความสว่างจากทิพย กรุณาจงมีแด่พระองค์ เราได้ทราบโดยความยินดีว่า อาณาจักรของพระองค์มีความมั่งคั่งบริบูรณ์อยู่เสมอ แต่ไม่สู้จะเจริญ ในรัชกาลของพระองค์สิ่งซึ่งต้องหฤไทยเราให้รู้สึกมากที่สุดนั้นคือ ความกรุณาความยุติธรรมแลราชคุณอื่น ๆ ซึ่งชักนำพระองค์ มิใช่แต่ทรงประพฤติยุติธรรมทั่วไป แต่ได้ทรงพระกรุณาโปรดโดยน้ำพระไทยวิเศษอันดีที่สุดแก่นักเทศผู้ประพฤติ แลสั่งสอนพระกิติคุณแก่สัปเยกต์ของพระองค์ ลักษณสาสนธรรมแลพระผู้เปนเจ้าอันเที่ยงแท้ อำนาจความใหญ่แลกำลังของพระองค์ แลพระปรีชาญาณซึ่งยกลอยขึ้นแลพระปัญญาซึ่งปกครองแผ่นดินโดยความฉลาด แลกิริยาอาการแห่งความดีวิเศษในพระองค์มากกว่าพัน ได้มีเกียรติยศปรากฎลงพิมพ์ตลอดทั่วทวีปยุโรป แต่มิได้มีผู้หนึ่งผู้ใดประกาศสรรเสริญความดีของพระองค์อันดังมากยิ่งกว่าบิศฉอป เฮลิโอ โปลิศไม่ เราได้ทราบจากริมฝีปากของเขาว่าพระองค์ได้พระราชทานที่ดินแลสิ่งของเครื่องจะสร้างวัดแก่บิศฉอปออฟเบรีทศ ซึ่งเปนพี่น้องร่วมสาสนาเปนที่นับถือของเรา น้ำพระไทยดีเผื่อแผ่ของพระองค์นี้ได้เพิ่มในการดีของพระองค์อิก แลเปนที่หมายความกรุณาซึ่งพวกมิชชันนารีทั้งหลายของเราได้
หน้า ๒๙
เข้ามาตั้งทำการสอนสาสนาในแผ่นดินของพระองค์มานานไม่ได้ความโปรดปรานมาแต่ก่อนเลย บิศฉอป ออฟ เฮลิโอ โปลิศ ของเราเต็มไปด้วยความขอบพระเดชพระคุณแลความปราถนาซึ่งศักดิ์สิทธิอันนั้นได้เผาอยู่ในใจเสมอที่จะช่วยชีวิตรทั้งหลายให้พ้นจากทุกข์ ได้ขอลาต่อเรากลับเข้าไปในราชอาณาจักรของพระองค์ เราได้มีใจอันดียอมอนุญาตให้เขากลับเข้าไป เราขอให้พระองค์ปกครองบำรุงให้มีร่มเงาโดยอำนาจ ความยุติธรรมแลความกรุณาของพระองค์ แก่สังฆราชบิศฉอปซึ่งเปนที่นับถือทั้งสองนี้จากความฤษยาเกลียดชังของคนชั่วใจบาป แลความดูหมิ่นดูถูกจากศัตรูของสังฆราชทั้งสองนี้ด้วย
สังฆราชนี้จะได้นำบรรณาการของบางสิ่งจากเราถวายพระองค์ แต่ของเหล่านี้ไม่ได้เปนราคามาก แต่เราขอให้พระองค์ทรงรับไว้เหมือนเปนพยานแห่งน้ำใจดีอันเที่ยงแท้ของเรา แลความนับถืออันใหญ่ซึ่งเราได้มีแด่พระองค์ สังฆราชนั้นจะได้ทูลให้พระองค์ทราบว่าเราได้อ้อนวอนแด่พระผู้เปนเจ้าซึ่งมีอำนาจใหญ่ไม่มีที่เปรียบทั้งกลางคืนแลกลางวัน แลในเวลาเดียวนี้ด้วยโดยน้ำใจของเรา ให้ทรงพระกรุณาเข้าทิพยานุภาพแด่พระองค์ให้มีความสว่างในความจริง แลด้วยการอันนี้เมื่อพระองค์เสวยศิริราชสมบัติในพิภพโดยนานแล้ว ให้ท่านเรียกพระองค์กลับขึ้นไปเสวยศิริราชสมบัติไปสวรรค์ชั้นบนเทอญ
พระราชสาส์นนี้ ส่งมาแต่กรุงโรม วันที่ ๒๔ เดือนออคุศต์
ในปีมีคฤสต์ศักราช ๑๖๖๙ ปี ตรงกับปีมีจุลศักราช ๑๐๓๑ ปี
หน้า ๓๐
ในจดหมายเหตุว่า บิศฉอป ออฟ เฮลิโอ โปลิศ ได้เข้ามาถึงกรุง
ในปีมีคฤสต์ศักราช ๑๖๘๒ ตรงกับปีมีจุลศักราช ๑๐๔๔ แล้วได้ถวายพระราชสาส์น แลเครื่องราชบรรณาการจากพระเจ้าลุยศ์ที่ ๑๔ พระเจ้ากรุงฝรั่งเศส มีความในพระราชสาส์นดังนี้
เจริญทางพระราชไมตรีมายังเจ้าอันประเสริฐสูงสุดมีอำนาจอันยิ่งใหญ่ เปนมิตรรักใคร่อันดีของเรา ด้วยเราได้ทราบว่าพระองค์ได้โปรดรับบรรดาสัปเยกต์ของเราโดยทางไมตรีที่เขาได้พาสาสนาอันศักดิสิทธิของเรามาโดยน้ำใจอันร้อน แลเขาได้ตั้งเปิดทางสว่างแห่งสัทธรรมแลพระกิตติคุณให้แผ่ทั่วตลอดอาณาเขตรของพระองค์นั้น เรามีความยินดีด้วยมีโอกาศซึ่งจะแสดงความรู้พระคุณในพระองค์ของเรา โดย บิศฉอป ออฟ เฮลิโอ โปลิศ ได้กลับไปยังกรุงสยาม แลเขาจะได้ทูลความให้พระองค์ทราบว่าเรามีความขอบพระไทยพระองค์ ที่พระองค์ได้โปรดพระราชทานแก่ตัวเรา แลบิศฉอปเปริ ทัศ มิใช่แต่ที่พื้นดินเปนที่อยู่เท่านั้น ได้พระราชทานสิ่งของเครื่องสรรพสัมภาระที่จะสร้างวัด แลสร้างเรือนอยู่ด้วย แลด้วยว่าสังฆราชเหล่านี้จะเข้ามาตั้งการสอนสาสนา ให้เปนธรรมเปนประโยชน์ ลางทีก็ต้องอาไศรยความยุติธรรมของพระองค์บ่อย ๆ เราจึงได้คิดเห็นควรที่เราขอต่อพระองค์แทนตัวเขา แลชนทั้งปวงที่เปนสัปเยกต์ของเราด้วยในการทนุบำรุงที่เปนการดีทุกอย่าง แลขอให้พระองค์เห็นแน่ว่า การทนุบำรุงที่พระองค์ได้โปรดประทานให้แก่เขาทั้งปวงนั้นก็จะเปนที่รักของเรานัก แลเรามีความยินดีที่จะมีช่องแสดงความรฦกคุณพระองค์ของเราด้วย เราขออาราธนาอ้อนวอนพระ
หน้า ๓๑
ผู้เปนเจ้าให้โปรดช่วยทนุบำรุงพระองค์ ซึ่งเปนผู้ประเสริฐอันสูงสุดมีอำนาจอันยิ่งใหญ่ให้ความศุขตลอดกาลที่สุดเทอญ
(ลงนามเสนาบดี กอลเบอรต์) (ลงพระนาม ลุยศ์)
ในจดหมายเหตุนั้นมีความว่า ในเวลานี้พวกกาทอลิกได้มีประโยชน์มาก ด้วยเจ้าพระยาวิชาเยนทราธิบดี ซึ่งชื่อว่าคอนสตันไตน์ฟอลคอน ได้เลื่อนยศเปนที่สมุหนายก ไปรม์มินิศเตอร์ กรุงสยามด้วย ครั้นปีมีคฤสต์ศักราช ๑๖๘๕ ตรงกับปีมีจุลศักราช ๑๐๔๗ เลอชีอาลิเออเดอ เชามอนต์ ได้เปนราชทูตจากพระเจ้าลุยศ์ ที่ ๑๔ เข้ามาจำเริญทางพระราชไมตรีณกรุงสยาม การที่ทูตมานี้มีประสงค์จะให้พระเจ้าแผ่นดินแลขุนนางราษฎรเข้ารีตถือสาสนาโรมันกาทอลิก การที่ทูตมาซึ่งได้แปลไว้ข้างบนนี้แล้ว
ในปีมีคฤสต์ศักราช ๑๖๘๐ ตรงกับปีมีจุลศักราช ๑๐๓๒ สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินสยามได้แต่งทูตออกไปเจริญทางพระราชไมตรีณกรุงฝรั่งเศส ครั้งแรกไปโดยทางเคป ออฟ คุดโฮป ตั้งแต่ออกปากน้ำเจ้า พระยาไปแล้วก็ไม่ได้ข่าว สูญไปทีเดียว
หน้า ๓๒
จดหมายเหตุของหมอบรัดเล
ปีชวด จุลศักราช ๑๑๙๐ พ.ศ.๒๓๗๑ ในรัชกาลที่ ๓
๑๘๒๘ สิงหาคม ที่ ๒๓
มิชชันนารี ชื่อ ชาลส์ คุตสลัฟคน ๑ เยมส์ตอม ลินคน ๑ แรกเข้ามาสอนสาสนาคฤศตังลัทธิโปรเตสตันต์ในกรุงเทพฯ (คุตสลัฟคนนี้ ที่เรียกในหนังสือแสดงกิจจานุกิจว่า หมอกิศลับ)
ปีมเสงจุลศักราช ๑๑๙๕ พ.ศ.๒๓๗๖
๑๘๓๓ มีนาคม ที่ ๒๕
มิชชันนารี ชื่อยอน เตเลอ โยนส์ เข้ามากรุงเทพ ฯ (คนนี้เรียกในหนังสือแสดงกิจจานุกิจว่า หมอยอน อเมริกัน)
ปีมเมียจุลศักราช ๑๑๙๖ พ.ศ. ๒๓๗๗
๑๘๓๔ กรกฎาคม ที่ ๑๘
มิชชันนารี ชื่อวิลเลียม ดีน กับหมอบรัดเลเข้ามาถึงกรุงเทพฯ ปีนี้แรกพวกมิชชันนารีเอาเครื่องพิมพ์เข้ามากรุงเทพฯ
สิงหาคม ที่ ๕
มิชชันนารีแรกเช่าที่นายกลิ่น (น้องชายสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ จี่) ตั้งโอสถศาลาข้างใต้ท่าวัดเกาะ (หมอบรัดเลอธิบายไว้ในที่อื่น
หน้า ๓๓
ว่า เมื่อแรกมิชชันนารีเข้ามาตั้งในเมืองไทย ตั้งใจจะมาสอนสาสนาคฤศตังแก่พวกจีน ซึ่งเข้ามาอยู่ในเมืองไทย ด้วยเห็นว่า สอนที่เมืองจีนได้ผลดี จึงเตรียมหนังสือสอนสาสนาที่พิมพ์ในภาษาจีนเข้ามา แลมาขออนุญาตต่อรัฐบาล เพื่อจะสอนสาสนาแก่พวกจีน
เมื่อไปตั้งโอสถศาลาที่วัดเกาะ มิชชันนารีแจกหนังสือสอนสาสนาแก่พวกจีน แลรับรักษาไข้เจ็บให้ทั้งจีนแลไทย ๆ ไปรู้จักพวกมิช ชันนารีด้วยการที่ไปให้รักษาไข้
จึงเรียกบรรดามิชชันนารีว่า "หมอ" ทั้งที่เปนแพทย์แลมิใช่แพทย์ จึงเรียกกันมาจนตราบเท่าทุกวันนี้)
กันยายน ที่ ๘
กัปตันเวลเลอ นายเรืออังกฤษ เกิดวิวาทกับพระวัดเกาะ เหตุด้วยเข้าไปยิงนกในวัด พระตีเอาบาดเจ็บสาหัส
ตุลาคม ที่ ๕
โอสถศาลาของพวกมิชชันนารี ถูกไล่จากวัดเกาะเนื่องในเหตุที่ฝรั่งตีพระ ต้องมาอยู่ที่กุฎีจีน
(หมอบรัดเลอธิบายในที่อื่น ว่าเมื่อแรกมิชชัน นารีเข้ามาที่กรุงเทพ ฯ มีบ้านฝรั่งแต่ ๒ แห่ง คือ บ้านซินยอคาลส ซิลไวโร กงสุลโปจุเกต ไทยเรียกว่า "คาลศ" ได้เปนขุนนางไทยตำแหน่งที่
๕
หน้า ๓๔
หลวงอภัยวานิช อยู่ตรงสถานทูตโปจุเกตทุกวันนี้แห่ง ๑ กับรอเบิต ฮันเตอร์ พ่อค้าอังกฤษ ไทยเรียกว่า "หันแตร" พึ่งบุญค้าขายอยู่ในสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงษ์
แต่ยังเปนเจ้าพระ ยาพระคลัง ได้เปนขุนนางไทย ที่หลวงวิเศษพานิช อยู่ที่กุฎีจีนคน ๑
พวกมิชชันนารีได้อาไศรยฝรั่ง ๒ คนนี้ เมื่อโอสถศาลาถูกไล่จากวัดเกาะ จึงมาอาไศรยอยู่ที่ริมบ้านหันแตร
ต่อมาสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงษ์ ปลูกเรือนให้เช่า หมอบรัดเลจึงย้ายไปอยู่ข้างใต้คลองกุฎีจีน)
ปีมแมจุลศักราช ๑๑๙๗ พ.ศ.๒๓๗๘
๑๘๓๕ ตุลาคม
ไทยแรกมีเรือกำปั่นใบอย่างฝรั่ง เรือลำนี้ ๒ เสาครึ่ง ชื่อเอริล หลวงนายสิทธิ์ (คือ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงษ์) ต่อถวาย
พฤศจิกายน ที่ ๑๒
หลวงนายสิทธิ์ชวนหมอบรัดเล กับมิชชันนารี ชื่อ สตีฟินยอนสัน ลงเรือเอริล ไปเมืองจันทบุรี หลวงนายสิทธิ์เปนนายเรือไปเอง
พฤศจิกายน ที่ ๒๑
หมอบรัดเล ฯลฯ ไปถึงจันทบุรี พบเจ้าพระ ยาพระคลัง (คือสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงษ์) กำลังสร้างเมืองใหม่ เตรียมรบ
หน้า ๓๕
กับญวน เห็นเรือกำปั่นใบหลวงนายสิทธิ์กำลังต่ออยู่ที่จันทบุรีอิก ๓ ลำ ชื่อคองเคอเรอลำ ๑ เซลีโดเนีย ลำ๑ วิกตอรีลำ ๑ มิชชันนารียอนสันอยู่จันทบุรี ๖ เดือน
แต่หมอบรัดเลอยู่เดือน ๑ กลับกรุงเทพ ฯ
ปีวอกจุลศักราช ๑๑๙๘ พ.ศ. ๒๓๗๙
๑๘๓๖ มีนาคม ที่ ๒๖
กำปั่นไฟเรือรบอเมริกัน ชื่อ ปีคอกลำ ๑ เอนเตอไปรสลำ ๑ มาทอดสันดอน เอดมอนด์รอเบิตทูตอเมริกันนำหนังสือสัญญามาแลกเปลี่ยน
มิถุนายน
มิชชันนารี ชื่อ รอบินสัน แรกตั้งเครื่องพิมพ์พิมพ์อักษรไทย ในกรุงเปนครั้งแรก
(ทราบว่าตัวพิมพ์อักษรไทยนั้น อังกฤษ ชื่อนายพันโทโล เปนผู้เริ่มคิดขึ้น ด้วยรัฐบาลอัง กฤษที่อินเดียให้แต่งไวยากรณ์ภาษาไทย แต่เมื่อในรัชกาลที่ ๒ ตัวพิมพ์นั้นหล่อที่เมืองบังกะหล่า แล้วส่งมาไว้ที่เมืองสิงคโปร์ มิชชันนารีโยนส์ได้คำแปลคัมภีร์ใหม่สาสนาคฤศตังเปนภาษาไทย ซึ่งมิชชันนารีแต่ก่อนได้ทำไว้ ยังต้องเอาออกไปพิมพ์ที่เมืองสิงคโปร์ ต่อเมื่อพวกมิชชันนารีตกลงกันจะเข้ามาตั้งเปนหลักแหล่งในเมืองไทยจึงรับซื้อตัวพิมพ์อักษรไทยเอาเข้ามากรุงเทพฯ )
หน้า ๓๖
ตุลาคม ที่ ๑๘
สมเด็จพระอรรคมเหษีในรัชกาลที่ล่วงแล้ว (คือ สมเด็จพระศรีสุริเยนทร์) สวรรคต
๑๘๓๗ มกราคม ที่ ๑๓
ฉลองวัด เจ้าพระยาพระคลัง (คือ วัดประยูรวงษ์) ในงานฉลองนี้ ปืนใหญ่ (ทำไฟพะเนียง) แตก ถูกคนตายหลายคน
หมอบรัดเลตัดแขนพระองค์ ๑ ที่ถูกปืนแตก ว่าได้ทำการตัดผ่าอย่างฝรั่งเปนครั้งแรกในเมืองไทย
ปีรกาจุลศักราช ๑๑๙๙ พ.ศ. ๒๓๘๐
เมษายน ที่ ๒๐
ไฟไหม้ที่ใต้วัดสำเพ็ง
ธันวาคม ที่ ๒๐
พระบาทสมเด็จ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว มีรับสั่งให้หมอหลวงไปหัดปลูกทรพิศม์ ที่พวกมิชชันนารี
(เรื่องนี้หมอบรัดเลอธิบายไว้ในที่อื่น ว่าพวกหมอมิชชันนารีได้ พยายามปลูกทรพิศม์มาหลายปี ใช้พันธุ์จากฝีดาดที่งาม แต่ไม่มีใครเชื่อจนพวก มิชชันนารีปลูกลูกของตนเองเปนตัวอย่างคนอื่นจึงเชื่อ ว่าปลูกได้จริง
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงทราบ วิธีปลูกทรพิศม์ แลต้องพระราชประสงค์จะให้ปลูกไทยนานอยู่แล้ว ครั้นทรงทราบว่าหมอมิชชันนารีปลูกได้จริง จึงมีรับสั่งให้หมอหลวงไปหัด)
หน้า ๓๗
ปีจอจุลศักราช ๑๒๐๐ พ.ศ.๒๓๘๑
๑๘๓๙ กุมภาพันธ์ ที่ ๙
หมอริเซอสัน อังกฤษ เดินบกเข้ามาจากเมืองเมาะลำเลิง มาถึงกรุงเทพ ฯ (เรื่องนี้มีในจดหมายเหตุหลวงอุดมสมบัติ)
กุมภาพันธ์ ที่ ๒๘
มิชชันนารี รอบินสัน กับเตรซี พาครอบครัวไปอยู่อ่างหิน (เข้าใจว่าแรกฝรั่งไปตากอากาศรักษาตัวที่อ่างหิน)
มีนาคม
ไทยยกกองทัพเรือลงไปเมืองสงขลา (คือ กองทัพสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาติ แต่ยังเปนพระยาศรีพิพัฒน์ คราวที่หลวงอุดมสมบัติจดหมายเหตุ)
ปีกุญจุลศักราช ๑๒๐๑พ.ศ.๒๓๘๒
มีนาคม ที่ ๒๓
แผ่นดินไหว ๓ ครั้ง ถึงน้ำในแม่น้ำลำคลองกระฉ่อน ต้นเดิมไหวในเมืองพม่า
มีนาคมที่ ๒๗
พระบาทสมเด็จ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานบำเหน็จแก่หมอหลวงแลหมอบรัดเล ที่ได้ปลูกทรพิศม์
(ว่าพระราชทานแต่คนละ ๔๐๐บาท ลงมาจนถึง ๒๐๐ บาท )
เมษายน ที่ ๒๗
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้ประกาศห้ามสูบฝิ่นแลค้าฝิ่น หมายประกาศนี้
หน้า ๓๘
ให้พิมพ์ที่โรงพิมพ์มิชชันนารี ๙๐๐๐ ฉบับ เปนหมายประกาศฉบับแรกที่รัฐบาลให้พิมพ์
๑๘๔๐ มกราคม ที่ ๑
นายเชสสี คัสเวล มิชชันนารีอเมริกันเข้ามาถึง
(คนนี้ได้เปนครูสอนภาษาอังกฤษถวายพระ บาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อยังทรงผนวชอยู่ในกรุงได้ ๙ ปี ตายเมื่อ ค.ศ. ๑๘๔๙ เรียกในหนังสือแสดงกิจจานุกิจว่าหมอกัศแวน)
มกราคม ที่ ๓๐
หมอบรัดเล แรกปลูกทรพิศม์ในกรุงเทพ ฯ ด้วยพันธุ์ที่ได้มาจากอเมริกาเปนครั้งแรก
ปีชวดจุลศักราช ๑๒๐๓ พ.ศ.๒๓๘๔
ตุลาคม ที่ ๑๗
พวกมิชชันนารีอเมริกันเพิ่มเติมกันเข้ามาเปนครั้งเป็นคราว มีรวมกันอยู่ในกรุงเทพ ฯ ทั้งบุตรภรรยา ๒๔ คน
ปีฉลูจุลศักราช ๑๒๐๓ พ.ศ.๒๓๘๕
๑๘๔๑ ตุลาคม
โรงพิมพ์มิชชันนารีหล่อตัวพิมพ์อักษรไทยได้เองเปนครั้งแรก
ปีขาลจุลศักราช ๑๒๐๔ พ.ศ.๒๓๘๕
๑๘๔๒ ธันวาคม
เล่าฦๅแลตื่นกันในพวกไทยว่า พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว กริ้วคนที่รับแจก
๓๙
หนังสือสอนสาสนาของพวกมิชชันนารี พากันทำลายหนังสือที่รับไปจากพวกมิชชันนารีเสียมาก ภายหลังปรากฎว่า หาได้กริ้วอย่างที่ฦๅไม่
ธันวาคม ที่ ๕
เกิดโรคไข้ทรพิศม์ คนมาขอให้มิชชันนารี ปลูก มิชชันนารีไม่มีพันธุ์หนองฝีที่เคยได้มาจากอเมริกา ต้องเอาหนองฝีดาดปลูกลูกของตนเองก่อนแล้วปลูกให้ผู้อื่น มีตายบ้าง
๑๘๔๓ มกราคม ที่ ๑๒
มิชชันนารีพิมพ์ปดิทินภาษาไทย ครั้งแรก
ปีเถาะจุลศักราช ๑๒๐๕ พ.ศ.๒๓๘๖
พฤศจิกายน ที่ ๑๘
นายยอน ฮัสเสต ชันดเลอ มิชชันนารีเข้ามาถึง
(คนนี้ไทยเรียกว่า หมอจันดเล)
มีนาคม ที่ ๔
เห็นดาวหางเอลกี เห็นอยู่ในกรุงเทพ ฯ สักเดือน ๑ คนตื่นกัน
๑๘๔๔ มกราคม ที่ ๑๑
เรือกำปั่นไฟ ชื่อ เอ็กสเปรส ขึ้นมาถึงกรุงเทพฯ เปนเรือกำปั่นไฟลำแรกที่ได้เห็นในแม่น้ำเจ้าพระยา
มีนาคม ที่ ๑๑
ไฟไหม้ที่ริมวัดเลียบ
มีนาคม ที่ ๑๕
ไฟไหม้ที่ริมวัดแจ้ง
ปีมโรงจุลศักราช ๑๒๐๖ พ.ศ.๒๓๘๗
มีนาคม ที่ ๒๘
ขุนนางผู้ใหญ่ในกรมนาคน ๑ อายุ ๗๓ เปน ต้อตามืดมาช้านาน หมอบรัดเลตัดต้อ กลับแลเห็นได้
หน้า ๔๐
เมษายน
เข้าแพง เข้าสารราคาถังละบาท
กรกฎาคม ที่ ๔
พวกมิชชันนารีทำหนังสือพิมพ์ข่าวออกเปน ภาษาไทยครั้งแรก เรียกชื่อบางกอกริคอเดอ
สิงหาคม ที่ ๕
เริ่มปลูกทรพิศม์อิกครั้ง ๑ ต้องหยุดมาถึง ๔ ปี เพราะขาดพันธุ์หนอง
ปีมเมียจุลศักราช ๑๒๐๘ พ.ศ.๒๓๘๙
๑๘๔๖ เมษายน ที่ ๑๑
ได้พันธุ์หนองมาจากเมืองบอสตัน ได้ลงมือปลูก ทรพิศม์ซึ่งหยุดมาปี ๑ ปลูกคราวนี้เปนครั้งที่ ๓
๑๘๔๗ มีนาคม
พวกจีนจลาจลที่ท่าจีน
มีนาคม ที่ ๒๒
นายสตีฟิน มัตตูน มิชชันนารีกับหมอแซมยวล เฮาส์หมอในพวกมิชชันนารี เข้ามาถึง (ไทยเรียกกันว่า หมอมะตูน หมอเฮ้า)
ปีวอกจุลศักราช ๑๒๑๐ พ.ศ.๒๓๙๑
๑๘๔๙ มกราคม ที่๑๗
นายแซมยวล สมิท มิชชันนารีเข้ามาถึง(คนนี้ คือ หมอสมิท ที่บางคอแหลม)
ปีรกาจุลศักราช ๑๒๑๑ พ.ศ.๒๓๙๒
กรกฎาคม
เกิดอหิวาตกะโรค
ปีจอจุลศักราช ๑๒๑๒ พ.ศ.๒๓๙๓
หน้า ๔๑
๑๘๕๐ มีนาคม ที่ ๒๔
บาเลสเตีย ทูตอเมริกัน มาขอทำสัญญาใหม่ ไม่สำเร็จ
สิงหาคม ที่ ๒๒
เซอร์ เยมส บรุ๊ก (ไทยเรียก เย สัปรุษ) ทูตอังกฤษมาขอทำสัญญาใหม่ ไม่สำเร็จ
กันยายน
พวกไทยที่เปนลูกจ้างฝรั่ง พากันตื่นว่ากริ้ว
ตุลาคม
พวกเสมียนแลครูไทยที่ไปทำการ กับมิชชัน นารี ถูกจับขังหลายคน (เข้าใจว่าจะเปนคราวนี้ที่เกิดความ เรื่องนายโหมดอมาตยกุลพิมพ์กฎหมาย)
๑๘๕๑ มกราคม ที่ ๑๕
ไฟไหม้ที่สำเพ็ง
ปีกุญจุลศักราช ๑๒๑๓ พ.ศ.๒๓๙๔
เมษายน ที่ ๓
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคต
รัชกาล ที่ ๔
พฤษภาคม ที่ ๑๕
บรมราชาภิเศกพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
พฤษภาคม ที่ ๒๐
เลียบพระนครทางบก
พฤษภาคม ที่ ๒๑
เลียบพระนครทางเรือ
มิถุนายน ที่ ๓
พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เลียบพระนครทางบก
๖
หน้า ๔๒
กรกฎาคม ที่ ๒๑
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระบรมราชานุญาต ให้พวกมิชชันนารี เช่าที่สำหรับทำการ พวก มิชชันนารีหา ที่มา ๒ ปี แล้วไม่สำเร็จ
สิงหาคม ที่ ๑๔
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มี รับสั่งไปยังพวกมิชชันนารีให้จัดหาหญิงในพวกมิชชันนารีเข้าไปเปนครูสอนภาษาอังกฤษให้ข้างในพวกมิชชันนารีประชุมปฤกษากันจัดหญิงในมิชชันนารี
(๓ พวก ๓ พวกนั้น เพราะสังกัดอยู่ในสภาต่างกันในอเมริกา คือ
สภาบับติสต์พวก ๑ สภาฟอเรนมิชชันพวก ๑ สภาเปรสะบิเตอเรียน พวก ๑ แต่เปนอเมริกันเหมือนกันทั้งนั้น) ผลัดเปลี่ยนกันเข้าไปสอน อาทิตย์ละ ๒ วัน สอนอยู่สัก ๓ ปี จึงได้หยุด
ตุลาคม ที่ ๑๑
กัปตันอิมเป เปนนายทหารอังกฤษ เดินบกเข้ามาจากเมืองเมาะลำเลิง เข้ารับราชการเปนครูทหารวังหลวง เปนครูของครูเล็กครูกรอบครูเชิงเลิง ที่เปนครูทหารเมื่อแรกรัชกาลที่ ๕
๑๘๕๒ กุมภาพันธ์ ที่ ๖
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทาน พระบรมราชานุญาตให้มิชชันนารีเช่าที่หลังป้อมวิไชยประสิทธิ์
(คือบ้านที่หมอบรัดเล
หน้า ๔๓
อยู่จนตายเมื่อปีชวดจุลศักราช ๑๒๑๔ พ.ศ. ๒๓๙๕ ค.ศ.๑๘๗๔)
เมษายน ที่ ๑๕
ถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
ตุลาคม ที่ ๑๐
สมเด็จพระนางโสมนัศสิ้นพระชนม์
ธันวาคม
กรมหลวงวงษาธิราชสนิท เสด็จยกกองทัพไปตีเมืองเชียงตุง
ปีฉลูจุลศักราช ๑๒๑๕ พ.ศ.๒๓๙๖
๑๘๕๓ มีนาคม ที่ ๑๙
พระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระนางโสมนัศ
กรกฎาคม ที่ ๒๙
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระ ราชทานที่ริมแม่น้ำข้างใต้พระนครแห่ง ๑ ให้เปน ที่ฝังศพพวกโปรเตสตันต์ (ยังฝังศพฝรั่งอยู่จนทุกวันนี้)
ปีขาลจุลศักราช ๑๒๑๖ พ.ศ.๒๓๙๗
๑๘๕๔ ธันวาคม ที่ ๔
เปิดคลองผดุงกรุงเกษม
ธันวาคม ที่ ๒๕
มีหมายประกาศให้ด่านคอยตรวจพวกมิชชัน นารี ที่จะออกไปหัวเมืองทางทเล พวกลูกจ้าง ของมิชชันนารีพากันตกใจมาก
๑๘๕๕ กุมภาพันธ์ ที่ ๒๒
นายมัว เข้ามาทางกงสุลโปจุเกต
ปีเถาะจุลศักราช ๑๒๑๗ พ.ศ.๒๓๙๘
หน้า ๔๔
เมษายน ที่ ๓
เซอร์ยอนเบาริง ราชทูตอังกฤษ เข้ามาขอทำหนังสือสัญญา
เมษายน ที่ ๑๘
หนังสือสัญญาไทยกับอังกฤษ
เมษายน ที่ ๒๓
เซอร์ยอนเบาริงกลับไป
เมษายน ที่ ๒๖
สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงษ์พิราไลย
ตุลาคม ที่ ๒๘
เรือกำปั่นใบของอเมริกันชื่อลักเนา เข้ามาถึงเรือพ่อค้าอเมริกันไม่ได้มีเข้ามาถึง ๑๗ ปี
พฤศจิกายน ที่ ๑
พระราชทานเพลิงศพสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหา ประยูรวงษ์
พฤศจิกายน ที่ ๙
เรือกลไฟพระที่นั่งลำแรกทำสำเร็จ เรือลำนี้ชื่อรอแยล ซีต (สยามอรสุมพล) พระนายไวย (คือ เจ้าพระยาสุรวงษ์ไวยวัฒน์) เปนนายงาน หมอจันดเลเปนผู้ดูการ
พฤศจิกายน ที่ ๑๐
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาศด้วยเรือพระที่นั่งกลไฟลำใหม่
๑๘๕๖ มกราคม ที่ ๖
เรือรบอังกฤษ ชื่อ สรเซน นายเรือ ชื่อ ยอนริชาตส์ มาถึงปากน้ำ โดยได้รับอนุญาตให้ลงมือทำแผนที่ทเลอ่าวสยาม
กุมภาพันธ์ ที่ ๑๔
เจ้าจอมมารดา (ปราง) ของกรมหลวงวงษาธิราชสนิท ถึงอนิจกรรม
มีนาคม ที่ ๑๗
นายแฮรี ปากส์ มากับภรรยา นำสัญญาอังกฤษเข้ามาแลก
หน้า ๔๕
เมษายน ที่ ๕
แลกหนังสือสัญญาไทยกับอังกฤษ
ปีมโรงจุลศักราช ๑๒๑๘ พ.ศ. ๒๓๙๙
เมษายน ที่ ๒๑
กัปตัน เตาน์เซนด์ แฮริส ทูตอเมริกันเข้ามาขอทำสัญญา
พฤษภาคม ที่ ๑๕
นายแฮรี ปากส์ กับภรรยากลับไป
พฤษภาคม ที่ ๒๙
ทำหนังสือสัญญาไทยกับยุไนส์ติดสเตต อเมริกา หมอมัตตูน มิชชันนารีอเมริกันได้เปนกงสุลคนแรก
พฤษภาคม ที่ ๓๑
กัปตัน เตาน์เซนด์แฮรสิ ทูตเอมริกันกลับไป
มิถุนายน ที่ ๑๐
นายฮิลเลีย กงสุลอังกฤษคนแรก เข้ามาถึง
กรกฎาคม ที่ ๑๔
มองสิเออ มองติคนี ราชทูตฝรั่งเศสเข้ามาขอทำหนังสือสัญญา
สิงหาคม ที่ ๑๖
ทำหนังสือสัญญาไทยกับฝรั่งเศส
กันยายน
มองสิเออ มองติคนี ราชทูตฝรั่งเศสกลับไป
ตุลาคม ที่ ๑๘
นายฮิลเลีย กงสุลอังกฤษป่วยเปนบิดถึงแก่กรรม
๑๘๕๗ มกราคม ที่ ๑
มีเรือกำปั่นพ่อค้าทอดอยู่ในแม่น้ำถึง ๖๐ ลำ เพราะเหตุที่ได้ทำหนังสือสัญญากับต่างประเทศ การค้าขายเจริญขึ้นรวดเร็ว ไม่เคยมีเหมือนเช่นนี้มาแต่ก่อน
หน้า ๔๖
มีนาคม
นายยิลคัล ผู้รั้งกงสุลอังกฤษกับภรรยา เข้ามาถึง
ปีมเสงจุลศักราช ๑๒๑๙ พ. ศ. ๒๔๐๐
มิถุนายน ที่ ๓
ดอกเตอ บรัดเล ทูต นำสัญญาทำกับอเมริกันเข้ามาแลก
มิถุนายน ที่ ๑๕
ดอกเตอ บรัดเล ทูต กลับไป
มิถุนายน ที่ ๒๕
ราชทูตไทย (คราวพระยามนตรีสุริยวงษ์)ออกไปเมืองอังกฤษ
พฤศจิกายน ที่ ๑๘
นายเฮอร์เตีย เข้ามารั้งการกงสุลฝรั่งเศส
ธันวาคม ที่ ๘
เซอร์ รอเบิต จอมเบิค กงสุลอังกฤษเข้ามาถึง
๑๘๕๘ กุมภาพันธ์ ที่ ๘
สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาติพิราไลย
ปีมเมียจุลศักราช ๑๒๒๐ พ.ศ. ๒๔๐๑
๑๘๕๙ มกราคม ที่ ๒๑
เจ้าเมืองหมาเก๊า เข้ามาถึง เพื่อจะขอทำหนังสือสัญญาทางพระราชไมตรีกับโปจุเกต
กุมภาพันธ์
ทำหนังสือสัญญาในระหว่างไทยกับโปจุเกต
ปีมแมจุลศักราช ๑๒๒๑ พ.ศ.๒๔๐๒
พฤษภาคม ที่ ๗
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานเลี้ยงฝรั่งที่พระที่นั่งใหม่
(คือ หมู่อภิเนาว
หน้า ๔๗
นิเวศน์ ที่ทรงสร้างตอนหลังพระที่นั่งสุทไธสวรรย์)
สิงหาคม ที่ ๒
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาศเมืองตวันตก กระบวนเรือตามเสด็จมาก แต่เรือไฟถึง ๖ ฤๅ ๘ ลำ
ธันวาคม ที่ ๑๒
เซอร์ รอเบิต จอมเบิค กงสุลอังกฤษได้รับอนุญาตให้ขึ้นไปเมืองเชียงใหม่ แล้วเดินทางบกออกไปเมืองเมาะลำเลิง
๑๘๖๐ มีนาคม ที่ ๑๓
ช่างกลอังกฤษ ชื่อ ชาลส์ วิคส์สี ซึ่งเรียกเข้ามาตั้งเครื่องโรงกระสาปน์ ตกน้ำตาย
กุมภาพันธ์ ที่ ๒๖
หมอจันดเลซึ่งได้เปนผู้รั้งกงสุลอเมริกัน กลับออกไปอเมริกา
ปีวอกจุลศักราช ๑๒๒๒ พ. ศ. ๒๔๐๓
มีนาคม ที่ ๒๗
เกิดอหิวาตกะโรค
เมษายน ที่ ๕
ชักพระศพกรมสมเด็จพระเดชาดิศร
เมษายน ที่ ๒๖
เซอร์ รอเบิต จอมเบิค กงสุลอังกฤษกลับมาถึง
พฤษภาคม ที่ ๑๐
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จเมืองเพ็ชรบุรี เปนครั้ง ที่ ๒ ในปีนี้ ไปทอดพระเนตรการสร้างพระราชวังบนยอดเขา
มิถุนายน ที่ ๑๑
ช้างเผือกมาถึงจากเมืองนครราชสิมา
มิถุนายน ที่ ๒๒
แห่พระไปเมืองเพ็ชรบุรี
หน้า ๔๘
มิถุนายน ที่ ๒๔
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จเมืองเพ็ชรบุรีครั้งที่ ๓
ตุลาคม ที่ ๑๙
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เฉลิมพระชัณษา ๕๖ พระราชทานเลี้ยงฝรั่งที่พระที่นั่งใหม่ รุ่งขึ้นเสด็จเมืองเพ็ชรบุรี
พฤศจิกายน ที่ ๑๙
ดองเกอร์ เดอเทียส ราชทูตฮอลันดาเข้ามาขอทำหนังสือสัญญาทางพระราชไมตรี
ธันวาคมที่ ๑๗
ทำหนังสือสัญญาระหว่างไทยกับฮอลันดา
ธันวาคม ที่ ๒๓
ราชทูตฮอลันดากลับไป
๑๘๖๑ กุมภาพันธ์ ที่ ๑๗
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระพุทธบาท
กุมภาพันธ์ ที่ ๒๗
ไฟไหม้ที่ข้างวัดหงษ์
มีนาคม ที่ ๑
ช้างเผือกที่ได้ใหม่ล้มที่ (เขาแก้ว)
ปีรกาจุลศักราช ๑๒๒๓ พ.ศ. ๒๔๐๔
มีนาคม ที่ ๑๒
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้พิมพ์ปดิทิน ซึ่งทรงพระราชนิพนธ์ขึ้นเปนครั้งแรก
มีนาคม ที่ ๒๓
ราชทูตไทย (คราวพระยาศรีพิพัฒน์) ไปเมืองฝรั่งเศส
เมษายน ที่ ๑๓
ฝรั่งประชุมกันที่สถานกงสุลอังกฤษ เพื่อ
หน้า ๔๙
จะทำเรื่องราวถวาย ขอพระราชทานที่สร้างโรงสวดของพวกคฤศตัง ฝ่ายโปรเตสตันต์
พฤษภาคม ที่ ๙
พระราชทานที่ให้สร้างโรงสวด ฯ (อยู่ริมแม่น้ำในบริเวณข้างใต้อู่บางกอกด๊อกเดี๋ยวนี้)
พฤษภาคม ที่ ๑๖
อเมริกันคน ๑ ชื่อ เรดแมน พยายามจะฆ่าหมอจันดเลกงสุลอเมริกัน กับนายมิลเลอ
มิถุนายน ที่๑๕
หมอบรัดเลซื้อกรรมสิทธิหนังสือนิราศลอนดอน มาจากหม่อมราโชไทย
(ม.ร.ว. กระต่าย อิศรางกูรณกรุงเทพฯ นับเปนการขายกรรมสิทธิหนังสือกันครั้งแรกในเมืองไทย)
มิถุนายน
กรมหลวงสรรพศิลป์ปรีชา สิ้นพระชนม์
กรกฎาคม ที่ ๔
เห็นดาวหาง
กรกฎาคม ที่ ๑๗
เจ้าพระยาศรีสุริยวงษ์ ไปเมืองสิงคโปร์ มีเรือไฟที่ต่อในเมืองไทย ลงไปส่งที่ปากน้ำถึง ๗ ลำ (คราวนี้กรมหมื่นวิศณุนารถ แลพระองค์เจ้าคัคณางคยุคลเสด็จด้วย)
สิงหาคม ที่ ๑๗
กรมหลวงวงษาธิราชสนิท ประชวรอัมพาตเบื้องซ้าย
สิงหาคม ที่ ๑๙
เจ้าพระยาศรีสุริยวงษ์ กลับจากไปตรวจการเมืองสิงคโปร์ เมืองมละกา เมืองปีนัง มาถึงกรุงเทพฯ
๗
หน้า ๕๐
สิงหาคม
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดให้สร้างถนนใหม่ (คือ ถนนเจริญกรุง ) ผ่านไปข้างหลังบ้านฝรั่ง
กันยายน ที่ ๙
สมเด็จพระอรรคมเหษี (คือ สมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี) สวรรคต ตามสถานกงสุลแลเรือกำปั่นลดธงไว้ทุกข์หมด
ตุลาคม ที่ ๑๘
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เฉลิมพระชัณษา ๕๗ พระราชทานเลี้ยงฝรั่งในพระราชวัง
ตุลาคม ที่ ๒๙
เจ้าฟ้าอิศราพงษ์สิ้นพระชนม์
พฤศจิกายน ที่ ๖
เจ้าจอมมารดาแพ พระสนมเอกถึงอสัญกรรมเนื่องต่อประสูตรพระเจ้าลูกเธอ
พฤศจิกายน ที่ ๖
แรกพิมพ์นิราศลอนดอนของหม่อมราโชไทยออกจำหน่าย
พฤศจิกายน ที่ ๑๒
ดาวพระพุฒเข้าดวงพระอาทิตย์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทอดพระเนตรที่เขาวังเมืองเพ็ชรบุรี
ธันวาคม ที่ ๑๐
ราชทูตไทยที่ไปเมืองฝรั่งเศสกลับมาถึง
ธันวาคม ที่ ๑๒
คอนต์เอยเลินบรูค์ ราชทูตปรุสเซีย เข้ามาขอทำสัญญาทางพระราชไมตรี
ธันวาคม ที่ ๒๑
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานเงินพระคลังข้างที่ ๑๐๐๐ เหรียญ ให้ส่งไปยังแหม่มแคสเวล ซึ่งเปนหม้าย ของ
หน้า ๕๑
หมอแคสเวล ผู้เปนครูสอนภาษาอังกฤษถวายแต่เมื่อยังทรงผนวช ข้อที่ทรงรฦกถึงคุณูประการนี้ ฝรั่งสรรเสริญมาก
๑๘๖๒ กุมภาพันธ์ ที่ ๓
นายเวสเตอเวลต เข้ามาถึง เข้ารั้งการกงสุลอเมริกัน แทนนายจันดเล
กุมภาพันธ์ ที่ ๗
คอนต์ เอยเลินบูรค์ ราชทูตปรุสเซีย ทำหนังสือสัญญาทางพระราชไมตรีกับไทย
กุมภาพันธ์ ที่ ๑๖
กรมหมื่นเชษฐาธิเบนทร์ สิ้นพระชนม์
กุมภาพันธ์ ที่ ๑๙
คอนต์ เอยเลินบูรค์ ราชทูตปรุสเซียกลับไป
มีนาคม ที่ ๑๑
นายอเลกซานเดอ ลูดอน นำหนังสือสัญญามาแลกเปลี่ยน
มีนาคม ที่ ๑๖
เริ่มพิธีโสกันต์ พระเจ้าลูกเธอ ๒ พระองค์
ปีจอจุลศักราช ๑๒๒๔ พ. ศ. ๒๔๐๕
เมษายน ที่ ๑
พระยาพิศาล ชื่น ถึงอนิจกรรม
เมษายน ที่ ๓
นางลิโอโนเวนส์ ลงมือสอนภาษาอังกฤษสมเด็จพระราชโอรส แลพระเจ้าลูกเธอ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (นางลิโอโนเวลส์นี้ในวังเรียกกันว่า "ยายแหม่ม" )
เมษายน ที่ ๑๘
พระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระอรรค มเหษี
เมษายน
กองโปลิศที่จัดขึ้นใหม่ ลงมือรักษาน่าที่ตอนสำเพ็ง
หน้า ๕๒
พฤษภาคม ที่ ๑๒
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จด้วยเรือกลไฟ กลับมาถึงพระนครจากเมืองเพ็ชรบุรี เสด็จคราวนี้เฉลิมพระที่ราชมณเฑียรที่พระนครคิรี แลบรรจุพระธาตุในพระเจดีย์ ศิลาที่ยอดเขามหาสมัณด้วย
มิถุนายน ที่ ๒๕
พระสังฆราชปาลกัว หัวน่าบาดหลวงคฤศตังมรณภาพ
กรกฎาคม ที่ ๙
กรมหลวงวงษาธิราชสนิท มีงานเฉลิมพระชัณษา ๕๔ เลี้ยงฝรั่งที่วัง ในบ่ายวันนั้น พวกฝรั่งพร้อมกัน ไปจัดการแข่งเรือถวายทอดพระเนตรที่น่าวัง
สิงหาคม ที่ ๗
พวกผู้หญิงฝรั่งนัดฝรั่งประชุมเปนครั้งแรก ที่สถานกงสุลอังกฤษ เพื่อปฤกษาจัดการสมาคมของพวกฝรั่งที่อยู่ในกรุงเทพฯ
กันยายน ที่ ๑
พระยาวรพงษ์พิพัฒน์ (แย้ม บุนนาค) ถึงอนิจกรรม
กันยายน ที่ ๓
หมู่นี้เห็นดาวหาง
กันยายน ที่ ๙
พวกผู้หญิงฝรั่งนัดประชุมอย่างคราวก่อนที่สถานกงสุลอเมริกัน
กันยายน ที่ ๑๘
ใช้อัฐดีบุกแทนเบี้ย อัฐนี้ไทยทำที่โรงกระสาปน์
ตุลาคม ที่ ๑๘
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เฉลิมพระชัณษา ๕๘ พระราชทานเลี้ยงฝรั่งตามเคย
หน้า ๕๓
พฤศจิกายน ที่ ๔
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จไปประพาศเมืองลพบุรี กลับมาถึงพระนคร
พฤศจิกายน ที่ ๘
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเรือกลไฟเสด็จไปประพาศอ่างหิน
พฤศจิกายน ที่ ๑๘
พวกผู้หญิงฝรั่งมีการประชุมเปนครั้งที่ ๓ ที่สถานกงสุลอังกฤษ
พฤศจิกายน ที่ ๒๖
พระราชทานเพลิงพระยาวรพงษ์พิพัฒน์
ธันวาคม ที่ ๑๔
กรมหมื่นวิศนุนารถนิภาธร สิ้นพระชนม์
๑๘๖๓ มกราคม ที่ ๑๕
เสร็จงานโสกันต์ พระเจ้าลูกเธอ
มกราคม ที่ ๒๕
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จด้วยเรือกลไฟไปประพาศเมืองเพ็ชรบุรี
กุมภาพันธ์ ที่ ๗
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จกลับจากเมืองเพ็ชรบุรี
กุมภาพันธ์ ที่ ๑๔
มองสิเออ ยูล์สะนล กงสุลฝรั่งเศสคนใหม่เข้ามาถึง
กุมภาพันธ์ ที่ ๑๖
กงสุลฝรั่งเศสคนใหม่กับลูกจ้างไทย ๔-๕ คน ถือมีดไปเที่ยวตลาดสำเพ็ง โปลิศจับด้วยไม่รู้ว่ากงสุล เกิดเปนผลถุ้งเถียงกับรัฐบาล ลงปลายตกลงกันเรียบร้อย
กุมภาพันธ์ ที่ ๒๐
เรือรบรูเซีย แรกเข้ามาเมืองไทย ๒ ลำ
หน้า ๕๔
ปีกุญจุลศักราช ๑๒๒๕ พ. ศ. ๒๔๐๖
เมษายน ที่ ๒
ช้างเผือกเข้ามาถึงอิกตัว ๑
เมษายน ที่ ๒๓
เรือรบฝรั่งเศสเข้ามาถึง เชิญเครื่องราชอิศริยาภรณ์ เลยอง ดอเนอร์ มาถวาย
พฤษภาคม ที่ ๑๐
นายพันริบูล ทูตฝรั่งเศส ถวายเครื่องราช อิศริยาภรณ์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
พฤษภาคม ที่ ๑๓
ถวายเครื่องราชอิศริยาภรณ์ฝรั่งเศส แก่พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว
มิถุนายน ที่ ๓
เรือรบฮอลันดามาถึง เชิญพระราชสาส์นแลเครื่องราชบรรณาการ สมเด็จพระเจ้าวิลเลียมที่ ๓ มาถวายพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
มิถุนายน ที่ ๑๐
ราชทูตฮอลันดาเข้าเฝ้า
มิถุนายน ที่ ๒๖
ฝังศพมองสิเออ ยูล์สะนล กงสุลฝรั่งเศส
กรกฎาคม ที่ ๙
กรมหลวงวงษาธิราชสนิท เฉลิมพระชัณษา ๕๖ เลี้ยงโต๊ะประทานพวกฝรั่ง
กรกฎาคม ที่ ๑๑
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จเรือกลไฟไปอ่างหิน แล้วเสด็จไปทรงปิดทองพระที่บางพระ
กรกฎาคม ที่ ๒๐
พวกฝรั่งโปรเตสตันต์ ประชุมเรี่ยรายเงินสร้างวัดฝรั่งซึ่งยังค้างอยู่สำเร็จได้
หน้า ๕๕
สิงหาคม
เจ้าพระยาศรีสุริยวงษ์ไปด้วยเรือกลไฟโวแลนต์ล่วงน่าไปจัดการรับเสด็จที่เมืองสงขลา
สิงหาคม ที่ ๒๓
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จด้วยเรือกลไฟประพาศเมืองสงขลา
กันยายน ที่ ๒๐
(เสด็จกลับแล้ว) พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประชวรพระโรคจุกเสียดพระอาการมากถึงตามหมอฝรั่ง แต่เมื่อหมอฝรั่งเข้าไปถึงท้องพระโรง หมอไทยแก้พระอาการหายแล้ว หมอบรัดเลทราบว่าตั้งพระโอสถประกอบด้วยดีงู
กันยายน ที่ ๒๒
ได้ข่าวว่าฝรั่งเศสลอบไปทำหนังสือสัญญากับกรุงกัมพูชา
ตุลาคม ที่ ๑๙
เฉลิมพระชัณษา ๕๙ โปรดให้เลี้ยงโต๊ะพระราชทานพวกฝรั่ง ในพระราชวัง เลี้ยงที่ใหม่กว้างขวางดีกว่าแต่ก่อน วันเฉลิมพระชัณษาที่ ๑๘ แต่เปนวันอาทิตย์จึงโปรดให้เลี้ยงวันนี้
๑๘๖๔ มกราคม ที่ ๒๐
เจ้าพระยานิกรบดินทร ที่สมุหนายกถึง อสัญกรรม
กุมภาพันธ์ ที่ ๑๖
เริ่มงานพระเมรุสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าหญิงจันทรมณฑล
มีนาคม ที่ ๑๖
เปิดถนนทำใหม่ (คือ ถนนเจริญกรุง)
มีนาคม ที่ ๓๐
เซอรอเบิต จอมเบิค กงสุลอังกฤษกลับไปยุโรป
หน้า ๕๖
ปีชวดจุลศักราช ๑๒๒๖ พ. ศ.๒๔๐๗
มิถุนายน ที่ ๑๓
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จไปรับช้างเผือกที่กรุงเก่า (คือ นางพระยาศิวโรจน์)
กรกฎาคม ที่ ๒๘
หนังสือพิมพ์ชื่อสยามไตมส์ออกครั้งแรก
สิงหาคม ที่ ๒๔
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงแต่งงานหลานเธอ หม่อมเจ้าชายบงกช ในกรมหมื่นมเหศวรกับหม่อมเจ้าหญิงจันทร ในกรมหมื่นวิศณุนารถ มีงานหลายวัน
สิงหาคม ที่ ๒๗
น้ำในแม่น้ำแดงเหมือนสีอิฐอยู่ ๓ วัน
ตุลาคม ที่ ๑๘
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เฉลิมพระชัณษา ๖๐ คนทั้งหลายพากันมีความยินดีแต่งประทีปจุดดอกไม้ไฟ แลมีมโหรศพหลายวัน โปรดให้เลี้ยงโต๊ะ พระราชทานฝรั่งที่ในพระบรมมหาราชวัง
กลับได้ความรำคาญพระราชหฤไทยด้วยพวกกงสุลรังเกียจ ไม่อยากนั่งโต๊ะกับพวกพ่อค้า
พฤศจิกายน ที่ ๒๑
มีกำปั่นพ่อค้าทอดอยู่ในลำแม่น้ำพร้อมกันถึง ๑๐๐ ลำ ไม่เคยมีมากเหมือนอย่างนี้มาแต่ก่อน เรือเหล่านี้มาซื้อเข้าสารจะไปขายเมืองจีน เปนเหตุให้ราคาเข้าสารขึ้นทันที จนถึงเกวียนละ
หน้า ๕๗
๑๒๐ บาท แลเกวียนละ ๑๒๕ บาท ไม่เคยมีราคาเท่านี้มาแต่ก่อน
พฤศจิกายน ที่ ๒๕
ประกาศปิดเข้าไม่ให้บรรทุกออกนอก พระราชอาณาจักรมีกำหนดเจ็ดเดือน
๑๘๖๕ มกราคม ที่ ๑๖
เสร็จงานโสกันต์พระเจ้าลูกเธอที่เมืองเพ็ชรบุรี
มกราคม ที่ ๑๖
หนังสือพิมพ์บางกอกริคอเดอ กลับออกใหม่เดือนละครั้ง
มกราคม ที่ ๒๕
ลงมือห้ามไม่ให้จำหน่ายเข้าออกนอกพระราชอาณาจักร กำหนด ๗ เดือน
กุมภาพันธ์ ที่ ๑๓
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาศเมืองกาญจนบุรี
ปีฉลูจุลศักราช ๑๒๒๗ พ. ศ. ๒๔๐๘
เมษายน ที่ ๑๗
ไทยเลิกหนังสือสัญญากับเขมร แลทำสัญญากับฝรั่งเศสด้วยเรื่องเมืองเขมร
พฤษภาคม ที่ ๑
หนังสือพิมพ์บางกอกริคอเดอ พิมพ์สำเนาหนังสือสัญญา ซึ่งมองสิเออโอบะเรต์กงสุลฝรั่งเศสทำกับนายอากรสุรา (โดยพลการ) เกิดปลาดใจกันมาก ทั้ง ๒ ฝ่ายก็ไม่ทราบว่าหนังสือพิมพ์ได้สำเนามาอย่างไร
๘
หน้า ๕๘
กรกฎาคม ที่ ๑๐
กรมหลวงวงษาธิราชสนิท เฉลิมพระชัณษา ๕๗ เลี้ยงโต๊ะฝรั่ง
กรกฎาคม ที่ ๑๑
ไฟไหม้ที่ตำบลคอกควาย
สิงหาคม ที่ ๒๒
เลิกห้ามเข้าออกจากพระราชอาณาจักร
กันยายน ที่ ๕
มองซิเออ โอบะเรต์ กงสุลฝรั่งเศสไปยุโรป
กันยายน ที่ ๙
นายเยมส์ มดิสัน ฮูด กงสุลอเมริกันมาถึง
ตุลาคม ที่ ๑๕
มองสิเออ กราปิเนต์ผู้รั้งกงสุลฝรั่งเศสมาถึง
ตุลาคม ที่ ๑๘
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เฉลิมพระชัณษา ๖๑ โปรดให้เลี้ยงฝรั่งตามเคย ทรงได้ความรำคาญอิก คราวนี้จัดโต๊ะเลี้ยง ๒ โต๊ะ ให้พวกกงสุลนั่งโต๊ะ ๑ พวกพ่อค้านั่งโต๊ะ ๑ พวกพ่อค้าว่าเลวไปไม่พอใจ
๑๘๖๖ มกราคม ที่ ๑
วันต้นพระราชพิธีโสกันต์ สมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ สมเด็จพระบรมราชโอรส
มกราคม ที่ ๗
พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคตพระชัณษา ๕๘
มกราคม ที่ ๑๖
น้องหญิงของเจ้าพระยาศรีสุริยวงษ์อสัญกรรม อายุ ๔๗ (ชื่อ เจ้าคุณหรุ่น เรียกกันว่า เจ้าคุณน้อย)
มกราคม ที่ ๓๐
เรือรบอังกฤษ ชื่อ โคเคต พาทอมัส ยอช นอกส์ เปนกงสุลเยเนอราลอังกฤษเข้ามาถึง(นายนอกส์ คนนี้เดิมเปนนายทหารอังกฤษ รับ
หน้า ๕๙
ราชการอยู่อินเดีย ละราชการทหารอังกฤษ มาเมืองไทยเมื่อค.ศ.๑๘๕๑
พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว จ้างไว้เปนครูทหารวังน่า จน ค.ศ.๑๘๕๗ กลับรับราชการอังกฤษเปนล่ามที่ ๑ ในสถานกงสุล)
กุมภาพันธ์ ที่ ๑
หมอจันดเล เข้ารับราชการในรัฐบาลไทยสำหรับเปนครูสอนภาษาอังกฤษ แลเปนผู้แปลหนังสืออังกฤษ ของเจ้าพระยาศรีสุริยวงษ์
ปีขาล จุลศักราช ๑๒๒๘ พ.ศ. ๒๔๐๙
มีนาคม ที่ ๓๑
เผาศพ (เจ้าคุณหรุ่น) น้องหญิงของเจ้าพระยาศรีสุริยวงษ์
เมษายน ที่ ๓
นายปอล เลสเลอร์ กงสุลปรุสเซีย กลับมาถึง นายฮูต กงสุลอเมริกัน ขายสมบัติของหมอจันดเลที่เปนกงสุลอยู่ก่อนสำเร็จ (กงสุลฮูตคนนี้ แล้วเกิดวิวาทกับพวกอเมริกัน)
เมษายน ที่ ๑๒
เรือไฟของไทยลำ ๑ ชื่อสยาม ถึงอับปางใน ทเลระหว่างเมืองเมาะลำเลิง กับเมืองกาละกัตตา
เมษายน ที่ ๒๔
รัฐบาลไทยทำหนังสืออนุญาตให้สร้างสายโทรเลขแต่เมืองร่างกุ้งผ่านแดนไทยลงมา เมืองสิงค โปร์ แลมีสายแยกมากรุงเทพ ฯ
หน้า ๖๐
เมษายน ที่ ๒๕
สถานกงสุลอเมริกัน ย้ายเปนครั้งที่ ๑๐ เดี๋ยวนี้มาเช่าตึกของห้างปิเกนแป๊กอยู่
พฤษภาคม ที่ ๙
พระยาเพ็ชร์ปาณี (นก) ผู้พิพากษาคน ๑ ในศาลต่างประเทศ ถึงอนิจกรรม
มิถุนายน ที่ ๑๑
พระยามนตรีสุริยวงษ์ (ชุ่ม) น้องเจ้าพระยาศรีสุริยวงษ์ ถึงอสัญกรรม
มิถุนายน ที่ ๓๐
มองสิเออ โอบะเรต์ กงสุลฝรั่งเศส กลับมาถึง
กรกฎาคม ที่ ๑๗
พระยาอภัยสงคราม น้องต่างมารดาเจ้าพระยาศรีสุริยวงษ์ ถึงอนิจกรรม
กันยายน ที่ ๓
พระเจ้ากาวิโลรส พระเจ้าเชียงใหม่ กับพวกประมาณ ๑๐๐ คน ลงเรือไฟไปเที่ยวทเล เมาคลื่นไปไม่ได้ต้องกลับ
กันยายน ที่ ๑๑
กงสุลอเมริกันพาพวกมิชชันนารี ไปหาเจ้าเชียงใหม่ที่น่าวัดแจ้ง ขออนุญาตไปต้องสอนสาสนา คฤศตังที่เมืองเชียงใหม่ พระเจ้าเชียงใหม่อนุญาต
กันยายน ที่ ๑๘
โจทย์กันว่าพระบางปาฏิหาร ที่วัดสามปลื้ม
ตุลาคม ที่ ๑๐
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเรือกลไฟเสด็จประพาศถึงเมืองนครสวรรค์ (ที่จริงเสด็จเพียงเขาธรรมามูล เมืองไชยนาท)
หน้า ๖๑
ตุลาคม ที่ ๒๕
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเรือกลไฟพระที่นั่ง (อรรคราชวรเดช) เสด็จไปประพาศเมืองพิศณุโลก
ตุลาคมที่ ๒๖
นาย ร.ศ.สก๊อต นำเครื่องแก๊ส คือประทีปจุดด้วยลม เข้ามาใช้ในกรุง ฯ ครั้งแรก
พฤศจิกายน ที่ ๗
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จกลับจากเมืองพิศณุโลก
พฤศจิกายน ที่ ๑๒
นายแดเนียล วินเซอร์ เลขานุการของเจ้าพระยาพระคลัง คุมของไทยไปตั้งแสดงพิพิธภัณฑ์ ที่ปารีส กับขุนสมุทโคจร (พุ่ม คือ เจ้าพระยารัตนาธิเบศร์ ในรัชกาลที่ ๕)
ธันวาคม ที่ ๑๐
พระยาบุรุษ (คือ เจ้าพระยามหินทร) ซื้อโรงสีไฟของห้างสก๊อต
ธันวาคม ที่ ๒๔
มองสิเออ โอบะเรต์ กงสุลฝรั่งเศส ฟ้องหมอบรัดเล เจ้าของหนังสือพิมพ์บางกอกริคอเดอหาว่าหมิ่นประมาทโดยกล่าวว่า มองสิเออ โอบะเรต์ ขอให้รัฐบาลไทยเอาเจ้าพระยาศรีสุริยวงษ์ออกจากอรรคมหาเสนาบดี
เรียกค่าทำขวัญจากหมอบรัดเล ๑๕๐๐ เหรียญ
๑๘๖๗ มกราคม ที่ ๒
นายร้อยเอก แบค นายทหารช่างอังกฤษเข้ามาถึง เพื่อการทำแผนที่เขตรแดนกรุงสยามต่อกับเมืองพม่าของอังกฤษ
หน้า ๖๒
มกราคม ที่ ๑๖
หนังสือพิมพ์บางกอกริคอเดอ ลงความขอขะมามองสิเออ โอบะเรต์ กงสุลฝรั่งเศส ในเรื่องได้ลงพิมพ์ว่าขู่รัฐบาลสยาม อันเปนเหตุให้มองสิเออ โอบะเรต์ ฟ้องนั้น
หนังสือพิมพ์บางกอกริคอเดอ ออกคราวหลังนี้ ๒ ปี มาหยุดเพียงนี้
มกราคม ที่ ๑๘
พระยาสุรวงษ์ไวยวัฒน์ เปนราชทูตออกไปเมืองฝรั่งเศส (เรื่องกงสุลโอบะเรต์วุ่นวายทำหนังสือสัญญาเรื่องสุรา)
มกราคม ที่ ๒๕
กรมหมื่นอุดมรัตนราษี สิ้นพระชนม์
กุมภาพันธ์ ที่ ๒
นาย ฮูต กงสุลอเมริกัน เปิดศาลชำระความเรื่องมองสิเออ โอบะเรต์ กงสุลฝรั่งเศส หาว่าหมอบรัดเลหมิ่นประมาท ในหนังสือพิมพ์บางกอกริคอเดอ เรียกค่าทำขวัญ ๑๕๐๐ เหรียญ
คดีเรื่องนี้นัดเลื่อนมา ๒ ครั้ง จำเลยแก้ว่าไม่เปนหมิ่นประมาท เพราะลงด้วยมีเหตุอันสมควร
ด้วยไทยพากันตกใจในเรื่องนี้ อ้างจดหมายของนางลิโอโนเวนส์ ครูสอนหนังสืออังกฤษในพระราชวังรับว่าได้ยินไทยโจทย์กันมาก ว่า มองสิเออ โอบะเรต์ ขู่รัฐบาลจริง
ศาลกงสุลอเมริกันตัดสิน ให้หมอบรัดเลแพ้ แต่ยกข้อกรุณาว่า เพราะหมอบรัดเลลงพิมพ์โดย
หน้า ๖๓
เชื่อว่า ความนั้นเปนความจริง มิได้แกล้งประการ ๑
- หมอบรัดเลเปนคนชราแลยากจนประการ ๑
- แลเปนผู้ที่ได้ทำคุณมาแก่บ้านเมืองประการ ๑
- จึงปรับให้ทำขวัญเพียง ๑๐๐ เหรียญ
กุมภาพันธ์ ที่ ๖
ได้ข่าวว่าเกิดจลาจล ที่กรุงกัมพูชา
กุมภาพันธ์ ที่ ๘
พระยาจุฬาราชมนตรี (น้อย) ถึงอนิจกรรม
กุมภาพันธ์ ที่ ๑๗
พระราชทานเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จ พระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว
กุมภาพันธ์ ที่ ๑๙
ฝรั่งในกรุงเทพ ฯ เรี่ยรายกันเปนเงิน ๓๐๐ บาท ส่งไปให้หมอบรัดเล ให้เสียค่าแพ้ความกงสุลฝรั่งเศส เปนการแสดงความสงสาร แลเข้าด้วย หมอบรัดเล
มีนาคม ที่ ๘
พระราชทานเพลิงพระศพ กรมหมื่นอุดมรัตนราษี
มีนาคม ที่ ๑๕
นายนอกส์ กงสุลอังกฤษไปเมืองนอก ( ทางนี้นายอาลบาสเตอ รักษาการแทน)
เมษายน ที่ ๑
หมอแดเนียล แมกกิลวารี มิชชันนารีขึ้นไปถึงเมืองเชียงใหม่ (มิชชันนารีอเมริกันไปตั้งเมืองเชียงใหม่เปนครั้งแรก)
หน้า ๖๔
ปีเถาะจุลศักราช ๑๒๒๙ พ. ศ. ๒๔๑๐
พฤษภาคม ที่ ๒๒
หนังสือพิมพ์สยาม วีกลี มอนิเตอร์ ออกครั้งแรก
พฤษภาคม ที่ ๓๐
ราวนี้ นาย ฮูต กงสุลอเมริกัน ออกหนังสือรับจีนอยู่ในร่มธงอเมริกัน
มิถุนายน ที่ ๒๘
หมอฮอลันดา ชื่อ โฮเคนสตระเตน ( ซึ่งเรียกกันภายหลังว่า หมอแก่ )
เปนหมอรักษาในตาเข้ามาถึง (หมอนี้ได้ผ่าต้อรักษาพระเนตรกรมหมื่นภูมินทรภักดี แลผ่าต้อเจ้าพระยาทิพากรวงษ์)
กรกฎาคม ที่ ๕
นางลิโอโนเวนส์ กับบุตร (คือ นายหลุย ลิโอโนเวนส์) กลับไปเมืองนอก
กรกฎาคม ที่ ๒๕
กรมหมื่นมเหศวรศิววิลาศ สิ้นพระชนม์
กรกฎาคม ที่ ๒๙
มองสิเออ โอบะเรต์ กงสุลฝรั่งเศสไปเมืองนอก (เลยเสียจริต)
กรกฎาคม ที่ ๓๑
หม่อมราโชไทย (ม.ร.ว. กระต่าย) ถึงอนิจกรรม
สิงหาคม ที่ ๒๐
โปรดให้หมอจันดเล เปนครูสอนภาษาอังกฤษถวายสมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์
กันยายน ที่ ๑๙
พระราชทานเพลิงศพ หม่อมราโชไทยที่วัดแจ้ง
หน้า ๖๕
กันยายน ที่ ๒๖
พระยาสุรวงษ์ไวยวัฒน์ราชทูต กลับมาจากเมืองฝรั่งเศส
ตุลาคม ที่ ๑๐
กรมหมื่นอลงกฎกิจปรีชา สิ้นพระชนม์
พฤศจิกายน ที่ ๔
มองสิเออ เดอ เบลกูรต์ ราชทูตฝรั่งเศสเข้ามาถึง (มาแลกหนังสือสัญญา)
พฤศจิกายน ที่ ๑๐
ฝรั่งเศส ๒ คน ไปยิงนก ในวัดเทวราชกุญชรถูกพระตีเจ็บป่วยสาหัส
พฤศจิกายน ที่ ๑๒
ดองโยเซ ฮอรตาโปจุเกต เจ้าเมืองหมาเก๊าเข้ามา
พฤศจิกายน ที่ ๑๕
เริ่มงานโสกันต์พระเจ้าลูกยาเธอ ๖ พระองค์ (ที่จริงเปน ๒ คราว คือ พระองค์เจ้าคัคณางคยุคล พระองค์เจ้าศุขสวัสดิ์ พระองค์เจ้าทวีถวัลยลาภ งาน ๑
พระองค์เจ้าทองกองก้อนใหญ่ พระองค์เจ้าอรุณวดี พระองค์เจ้าศิริในสมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนบำราบปรปักษ์ อิกงาน ๑ แต่งานต่อติดกัน)
พฤศจิกายน ที่ ๒๓
เจ้าพระยาพระคลัง (คือ เจ้าพระยาทิพากรวงษ์) แรกจำหน่ายหนังสือแสดงกิจจานุกิจฉบับพิมพ์ด้วยพิมพ์หิน
พฤศจิกายน ที่ ๒๔
แลกหนังสือสัญญาเรื่องสุรากับฝรั่งเศส เปนอันเสร็จข้อซึ่งถุ้งเถียงกันมาช้านาน
ธันวาคม ที่ ๖
เจ้าพระยาภูธราภัย ทำบุญอายุ ๖๐ มี งานใหญ่
๙
หน้า ๖๖
ธันวาคม ที่ ๑๘
เจ้าพระยาพระคลังเปิดตึกอาไศรยสถานที่อ่างหิน
ธันวาคม ที่ ๒๓
เจ้าพระยาศรีสุริยวงษ์ ทำบุญอายุ ๖๐ มีงานใหญ่
ธันวาคม ที่ ๒๕
หนังสือพิมพ์สยามวิกลีมอนิเตอร์ ลงพิมพ์ประจานความชั่วร้ายของนายฮูต กงสุลอเมริกัน
ธันวาคม ที่ ๓๐
นายฮูต กงสุลเอมริกัน ขายเลหลังสิ่งของ ๆ ตนแล้วกลับไปเมืองนอก
๑๘๖๘ มกราคม ที่ ๑๓
พระราชทานเพลิงพระศพ กรมหมื่นอลงกฏกิจปรีชา
มกราคม ที่ ๑๓
เจ้าพระยาศรีสุริยวงษ์ เลี้ยงโต๊ะพวกกงสุลแลชาวต่างประเทศ
มกราคม ที่ ๑๕
นายร้อยเอกแบ๊ค นายทหารอังกฤษ ไปทำแผนที่กลับมาถึง
มกราคม ที่ ๑๙
พระราชทานเพลิงพระศพ พระองค์เจ้าดารา พระมารดาเจ้าฟ้าอิศราพงษ์
มกราคม ที่ ๒๙
เจ้าพระยาทิพากรวงษ์ จักษุมืด กราบถวายบังคมลา ออกจากตำแหน่งเสนาบดีว่า การต่างประเทศ โปรดให้กรมขุนวรจักรธรานุภาพเปนแทน
กุมภาพันธ์ ที่ ๒๑
เรือไฟชื่อกลาโหม (ของพระยาภูเก็จ) แรกเข้ามาเดินระหว่างกรุงเทพ ฯ กับสิงคโปร์
หน้า ๖๗
มีนาคม ที่ ๑๐
ฉลองวัดหงษ์
มีนาคม ที่ ๑๕
เลื่อนกรมสมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ เปนกรมขุนพินิตประชานารถ
ปีมโรงจุลศักราช ๑๒๓๐ พ.ศ. ๒๔๑๑
มีนาคม ที่ ๒๔
พระราชทานเลี้ยงโต๊ะฝรั่งที่รับราชการ ในงานปีใหม่
เมษายน ที่ ๕
พระยาไทรบุรี (อะหมัด) เข้ามาเฝ้า ฯ
เมษายน ที่ ๒๕
โสกันต์พระเจ้าลูกเธอ ๒ พระองค์ หม่อมเจ้าหลานเธอองค์ ๑
(สืบได้ความว่าโสกันต์คราวนี้ พระเจ้าลูกเธอ คือ พระองค์เจ้าเกษมสันต์โสภาคย์ พระองค์เจ้ากมลาศเลอสรรค์
แต่หลานเธอนั้นเปน ๓ คือ พระองค์เจ้าพรหมเมศ ในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว กับหม่อมเจ้าเจ๊ก หม่อมเจ้าหญิงกลาง ในกรมหมื่นมเหศวรศิววิลาศ รวม ๕ ด้วยกัน )
เมษายน ที่ ๒๙
นายมูร ออกจากตำแหน่งกงสุลโปจุเกต กลับไปเมืองนอก
พฤษภาคม ที่ ๑๑
เรือรบฝรั่งเศส ชื่อเฟริลอง ออกจากกรุงเทพ ฯ ไปเที่ยวตรวจหาที่สำหรับโหรฝรั่งเศสจะมาดูสุริยอุปราคาหมดดวง
พฤษภาคม ที่ ๒๐
เรือรบ เฟริลอง ตรวจหาที่ได้แล้ว กลับมาถึง
หน้า ๖๘
พฤษภาคม ที่ ๒๕
นายร้อยเอก ตักเกอ กับนายร้อยโทปูล ไปตรวจทำแผนที่ ( เขตรแดนไทยกับอังกฤษตอนแขวง ) เมืองเชียงใหม่ ๙ เดือนกลับมาถึง
มิถุนายน ที่ ๘
เรือรบอเมริกัน ชื่อ อุนาดิลา เข้ามาถึง เปนเรือรบอเมริกันลำแรกที่ได้เข้ามาในแม่น้ำ
มิถุนายน ที่ ๑๗
เจ้าพระยาศรีสุริยวงษ์ ปลงศพภรรยาสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงษ์คน ๑ ที่วัดดอกไม้(สืบได้ความว่า ชื่อ หม่อมปราง เปนมารดา พระยาราชานุประพันธ์โต)
มิถุนายน ที่ ๑๗
ชักธงเยอรมันเหนือ เปนครั้งแรกในกรุง ฯ
มิถุนายน ที่ ๒๙
พระยาเทพประชุน ( คือ เจ้าพระยาภาณุวงษ์)เปนข้าหลวงไประงับวุ่นวายที่เมืองภูเก็จ ทำการสำเร็จกลับเข้ามาถึง
กรกฎาคม ที่ ๓
ทำหนังสือสัญญากับอังกฤษ กำหนดเขตรแดนกรุงสยามกับแดนพม่าของอังกฤษ
กรกฎาคม ที่ ๑๐
กรมหลวงวงษาธิราชสนิท เฉลิมพระชัณษา ๖๑ พวกฝรั่งมีแข่งเรือถวายที่ปากน้ำ
กรกฎาคม ที่ ๒๐
เจ้าพระยาศรีสุริยวงษ์ ถวายเรือรบสยามูปรัสดัมภ์ ซึ่งต่อขึ้นใหม่
กรกฎาคม ที่ ๒๖
มองสิเออ คอรส์ กงสุลฝรั่งเศสเข้ามาถึง
กรกฎาคม ที่ ๒๙
เสด็จลงทอดพระเนตรเรือสยามูปรัสดัมภ์ แลพระราชทานบำเหน็จแก่เจ้าพระยาศรีสุริยวงษ์
หน้า ๖๙
สิงหาคม ที่ ๘
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จจากกรุงเทพ ฯ ไปทอดพระเนตรสุริยอุปราคาหมดดวง (ที่ตำบลหว้ากอ แขวงจังหวัดประจวบ คีรีขันธ์)
สิงหาคม ที่ ๑๘
มีสุริยอุปราคาหมดดวง มืดอยู่ถึง ๖ นาที กับ ๔๖ วินาที
สิงหาคม ที่ ๑๙
ซินยอเวียนา มาเปนกงสุลเยเนราลโปจุเกต
สิงหาคม ที่ ๒๔
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จกลับจากหว้ากอ
สิงหาคม ที่ ๒๙
หนังสือพิมพ์สยามวิกลีมอนิเตอร์ หยุดพิมพ์
สิงหาคม ที่ ๓๐
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประชวรมาหลายวัน เรียกหมอแคมเบล กับหมอบรัดเลเข้าไปปฤกษากับแพทย์หลวง แต่หาได้เข้าไปตรวจพระอาการไม่
กันยายน ที่ ๑
ได้ข่าวว่าผู้ที่ไปตามเสด็จกลับมาเปนไข้ตายสัก ๔-๕ คน
กันยายน ที่ ๑
ไฟไหม้ที่ตลาดวัดเกาะ (เนื่องในเรื่องจับฝิ่นเถื่อน)
กันยายน ที่ ๑๒
เรียกหมอแคมเบล แลหมอบรัดเล เข้าไป ปฤกษาอาการพระประชวร กับแพทย์หลวงอิก
กันยายน ที่ ๑๔
นายอาลบาสเตอ ผู้แทนกงสุลอังกฤษ เกิด
หน้า ๗๐
วิวาทกับเจ้าพระยาศรีสุริยวงษ์ เรื่อง (สมบัติคนในร่มธงอังกฤษต้อง) ไฟไหม้ที่วัดเกาะ
กันยายน ที่ ๑๕
หมอสมิทออกหนังสือพิมพ์ข่าวรายวัน เรียกชื่อ สยามเดลี แอดเวอไตเซอ
กันยายน ที่ ๑๙
เรียกหมอแคมเบล แลหมอบรัดเล เข้าไป ปฤกษากับแพทย์หลวงที่ในท้องพระโรง หมอแคมเบลได้เข้าไปตรวจพระอาการ แต่ไม่ได้ตั้งพระโอสถ
กันยายน ที่ ๒๕
กรมขุนราชสีหวิกรมประชวรไข้ เนื่องมาแต่ไปตามเสด็จที่หว้ากอ สิ้นพระชนม์
ตุลาคม ที่ ๑
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สวรรคตพระชัณษาได้ ๖๔ เสวยราชย์ได้ ๑๘ ปี
สมเด็จพระราชโอรส เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ เสด็จผ่านพิภพกรมหมื่นบวรวิไชยชาญ เปนพระมหาอุปราช
รัชกาลที่ ๕
ตุลาคม ที่ ๑๓
ออกหมายประกาศ เรียกอัฐดีบุกคืน
พฤศจิกายน ที่ ๑๑
บรมราชาภิเศก พระบาทสมเด็จพระปรมินทร มหาจุฬาลงกรณ์
พฤศจิกายน ที่ ๑๕
เรือรบอังกฤษ ชื่อ สลามิส มาถึง นายพลเรือเกปเปล กับกงสุลเยเนราล นอกส์ มาด้วยในเรือนี้
พฤศจิกายน ที่ ๑๘
แห่เสด็จเลียบพระนคร
หน้า ๗๑
พฤศจิกายน ที่ ๒๕
อุปราชาภิเศก กรมพระราชวังบวร ฯ
ธันวาคม ที่ ๖
เจ้าพระยาภูธราภัย ทำบุญอายุ ๖๑
ธันวาคม ที่ ๙
ไฟไหม้ที่บ้านหม้อ
ธันวาคม ที่ ๒๓
เจ้าพระยาศรีสุริยวงษ์ทำบุญอายุ ๖๑ พวกฝรั่งเข้ากันทำของตั้งกลางโต๊ะ เปนรูปประภาคารเงินให้เปนของขวัญ
๑๘๖๙ มกราคม ที่ ๑
หมอสมิทออกหนังสือพิมพ์ ชื่อ สยาม เรโปสิตอรี
มกราคม ที่ ๑๙
เปิดคลองยี่สาน (แต่สมุทสงครามไปเพ็ชรบุรี)
กุมภาพันธ์ ที่ ๑๑
กรมพระราชวัง ฯ เสด็จไป (ตรวจป้อม) เมืองจันทบุรี ๑๒ วัน กลับมาถึงกรุงเทพ ฯ
กุมภาพันธ์ ที่ ๒๑
พระราชทานเพลิงพระศพกรม ขุนราชสีหวิกรมที่วัดแจ้ง
มีนาคม ที่ ๖
ผู้ร้ายฆ่าพระธรรมเจดีย์ อายุ ๘๗ ปี ที่วัดโพธิ์
เมษายน ที่ ๑๑
เรือสยามูปรัสดัมภ์ ไปเมืองตรังกานู (กลับวันที่ ๒๕)
ปีมเสง จุลศักราช ๑๒๓๑ พ. ศ. ๒๔๑๒
เมษายน ที่ ๒๘
เรือรบออสเตรีย ชื่อ ดองนา พาราชทูต ออสเตรียมาขอทำหนังสือสัญญาทางพระราชไมตรี
หน้า ๗๒
เมษายน ที่ ๒๘
รับพระราชสาส์น สมเด็จพระราชินีวิกตอเรียมีมาถวายสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใหม่ วิธีรับพระราชสาส์น จัดอย่างใหม่ (เลิกแห่)
พฤษภาคม ที่ ๔
บารอน แอนทอนี เปทส์ ราชทูตออสเตรียเข้าเฝ้า ฯ
พฤษภาคม ที่ ๑๓
ประหารชีวิตรผู้ร้ายที่ฆ่าพระธรรมเจดีย์ ๕ คน
พฤษภาคม ที่ ๑๗
ทำหนังสือสัญญาระหว่างกรุงสยามกับออสเตรีย
มิถุนายน ที่ ๑๘
ประหารชีวิตรอ้ายนาก อ้ายกล่อม ผู้ร้ายฆ่ากัปตันสมิท
มิถุนายน ที่ ๒๗
ประกาศตั้งเจ้าพระยาศรีสุริยวงษ์ เปนผู้สำเร็จราชการแผ่นดินพร้อมกับตั้งเจ้าพระยาทิพากรวงษ์ สำเร็จราชการต่างประเทศ
พระยาสุรวงษ์ไวยวัฒน์ เปนเจ้าพระยาที่สมุหพระกลาโหม พระยาเทพประชุน เปนเจ้าพระยาภาณุวงษ์ ว่าการต่างประเทศ
กรกฎาคม ที่ ๕
พระราชทานเพลิงพระศพกรมหมื่นอมรมนตรี
กรกฎาคม ที่ ๒๙
จับฝิ่นเถื่อนได้ที่เรือใบอังกฤษชื่อควีนสแลนต์ ฝิ่นดิบ ๔๐๐ ก้อน ฝิ่นสุก ๕๘๐๐ ตำลึง
สิงหาคม ที่ ๒๐
หมอสมิทออกหนังสือพิมพ์ สยาม วิกลี แอต
หน้า ๗๓
เวอไตเซออิก หนังสือพิมพ์นี้ออกแล้วต้องหยุดมา ๓ คราว
กันยายน ที่ ๑
รับพระราชสาส์นสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินปรุสเซียแทนสมาคมเยอรมันฝ่ายเหนือ
กันยายน ที่ ๗
เรือสยามู ฯ ไปเมืองตรังกานูอิก
กันยายน ที่ ๑๒
พระเจ้าเชียงใหม่กาวิโลรสสุริยวงษ์ ประหารชีวิตรลาวที่เข้ารีตเสีย ๒ คน พวกมิชชันนารีตกใจกันมาก
กันยายน ที่ ๑๔
พระพิมลธรรม (ยิ้ม) วัดโพธิ์มรณภาพ
กันยายน ที่ ๒๐
เจ้าพระยาภาณุวงษ์เลี้ยงโต๊ะกงสุลแลฝรั่งอื่น (ในงานเฉลิมพระชัณษา)
กันยายน ที่ ๒๑
รับพระราชสาส์นสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินโปจุเกต
กันยายน ที่ ๒๗
ผู้สำเร็จราชการแผ่นดินเลี้ยงโต๊ะกงสุลแลฝรั่งอื่น
กันยายน ที่ ๒๙
เจ้าพระยาพลเทพ (หลง) ถึงอสัญกรรม
กันยายน ที่ ๓๐
นายพล ปาตริช กงสุลอเมริกันเข้ามาถึง
ตุลาคม ที่ ๑๘
กรมหลวงวงษาธิราชสนิท เสด็จขึ้นไปประทานกฐินเมืองพิศณุโลก
ตุลาคม ที่ ๒๐
นายพล ปาตริช ถวายอักษรสาส์นของประธานาธิบดียุไนเตดเสตต อเมริกา
หน้า ๗๔
ตุลาคม ที่ ๒๐
จับฝิ่นเถื่อนได้ในเรือเจ้าพระยา เมื่อจับต่อสู้กันขึ้น
พฤศจิกายน ที่ ๕
พวกมิชชันนารี พร้อมกันแต่งให้นายแมกดอนัลด์ กับนายยอช มิชชันนารีขึ้นไปเมืองเชียงใหม่ เพื่อขึ้นไปเยี่ยมถามข่าวพวกมิชชันนารีในเหตุที่พระเจ้ากาวิโลรสฆ่าลาวเข้ารีต
พฤศจิกายน ที่ ๑๔
มองสิเออ ดิลอง เข้ามาเปนกงสุลฝรั่งเศส
พฤศจิกายน ที่ ๑๕
รัฐบาลให้หลวงพิบูลย์สมบัติขึ้นไปเปนเพื่อน มิชชันนารี ๒ คน ที่ไปเชียงใหม่
พฤศจิกายน ที่ ๒๓
ไฟไหม้โรงสีของไทย ที่คลองผดุงกรุงเกษม
พฤศจิกายน ที่ ๒๙
หมอฮอลันดา ชื่อ โฮเคนสตระเตน ที่รักษาตาเจ้าพระยาทิพากรวงษ์ กลับมาอิกครั้ง ๑
พฤศจิกายน ที่ ๒๙
เสร็จการที่เกิดโต้แย้งกับกงสุลฝรั่งเศสคนใหม่ ในเรื่องกิริยาที่จะเข้าเฝ้าถวายพระราชสาส์น
พฤศจิกายน ที่ ๓๐
กงสุลฝรั่งเศสเข้าเฝ้า ถวายพระราชสาส์น ของสมเด็จพระเจ้าเอมเปรอนะโปเลียน ที่ ๓
ธันวาคม ที่ ๑๐
กรมพระราชวังบวร ฯ เสด็จไปตรวจหัวเมืองชายทเลตวันออก ๑๖ วัน กลับมาถึง
ธันวาคม ที่ ๑๑
ช้างด่าง (คือ พระเสวตรวรวรรณ) ลงมาจากเมืองเชียงใหม่ คนตื่นกันไปดูมาก
ธันวาคม ที่ ๑๗
พระราชทานเพลิงศพเจ้าพระยาพลเทพ (หลง) ที่วัดแจ้ง
หน้า ๗๕
ธันวาคม ที่ ๒๓
ผู้สำเร็จราชการทำบุญอายุ ๖๒
ธันวาคม ที่ ๓๐
พระราชทานเพลิงศพพระพิมลธรรม (ยิ้ม)
๑๘๗๐ มกราคม ที่ ๑๐
ซินยอ บัลโซต์ ราชทูตสเปน เข้ามาขอทำหนังสือสัญญาทางพระราชไมตรี
มกราคม ที่ ๒๑
กัปตันกอปเค กงสุลเดนมาร์ค ถวายพระราชสาส์น
มกราคม ที่ ๒๒
ก่อฤกษ์วัดราชบพิธ
กุมภาพันธ์ ที่ ๓
เรือเมล์ ชื่อ บางกอก แรกเข้ามาถึง
กุมภาพันธ์ ที่ ๖
เจ้าพระยามุขมนตรี ถึงอสัญกรรม
กุมภาพันธ์ ที่ ๑๗
พระราชทานเพลิงพระศพ พระองค์เจ้าหญิงยี่สุ่น
กุมภาพันธ์ ที่ ๒๓
ทำ หนังสือ สัญญา ระหว่างกรุงสยามกับสเปน
มีนาคม ที่ ๔
พระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงษ์ พระเจ้าเชียงใหม่ลงมาในงานพระบรมศพ มาถึง
มีนาคม ที่ ๑๒
แห่พระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวสู่พระเมรุ
มีนาคม ที่ ๑๘
ถวายพระเพลิงพระบรมศพ
มีนาคม ที่ ๒๑
เสร็จงานพระบรมศพ
มีนาคม ที่ ๒๑
ไฟไหม้ปากคลองบางกอกน้อย
มีนาคม ที่ ๒๒
ไฟไหม้ใหญ่ปากคลองบางลำภู
ปีมเมียจุลศักราช ๑๒๓๒ พ. ศ. ๒๔๑๓
เมษายน ที่ ๗
เรือรบ ชื่อ พิทยัมรณยุทธ มาถึง เรือลำ
หน้า ๗๖
นี้เปนเรือเหล็ก ต่อที่สกอตแลนด์ เดิมชื่อเรือโลตัศ รัฐบาลสยามซื้อ เปลี่ยนชื่อว่า ริเยนต์ให้เปนเกียรติยศแก่ท่านผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน
เมษายน ที่ ๒๕
ซินยอเวียนา กงสุลเยเนราลโปจุเกต ขึ้นไปดูจับช้างที่กรุงเก่า จมน้ำตาย
พฤษภาคม ที่ ๒๑
เสด็จไป (ยกยอด) พระปฐมเจดีย์
มิถุนายน ที่ ๑๒
เจ้าพระยาทิพากรวงษ์ พิราไลย
มิถุนายน ที่ ๒๔
เรือพิทยัมรณยุทธ รับพระยาราชวรานุกูล ( ภายหลังได้เปนเจ้าพระยารัตนบดินทร กับพระยาจ่าแสน เดช แต่ยังเปนพระยาราชเสนา )
ออกไปเมืองไซ่ง่อน ( ด้วยเรื่องปฤกษาสัญญาเขตรแดนทางทเลสาบ )
มิถุนายน ที่ ๒๙
พระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงษ์ พระเจ้าเชียงใหม่ป่วยไปแต่กรุงเทพ ฯ ไปอิก ๓ วัน จะถึงเมืองเชียงใหม่ ถึงพิราไลย
กรกฎาคม ที่ ๒๙
รัฐบาลสยามให้พระยาอินทราธิบดีสีหราช รองเมืองไปเมืองสิงคโปร์ ไปตรวจการเรือนจำ และโรงพยาบาล เพื่อจะสร้างคุกใหม่ในกรุงเทพ ฯ
กรกฎาคม ที่ ๓๑
เรือไฟชื่อกลาโหมเข้ามาถึง ได้ข่าวว่าประกาศสงครามในระหว่างฝรั่งเศสกับปรูเซีย เมื่อวันที่ ๑๕ กรกฎาคม
หน้า ๗๗
สิงหาคม ที่ ๔
สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงษ์ รับพระสุพรรณบัตร
สิงหาคม ที่ ๓๐
พระยาเพ็ชรบุรี ( บัว ) ถึงอนิจกรรม
กันยายน ที่ ๔
ตั้งกฏหมายคลอง
กันยายน ที่ ๗
พระราชทานเพลิงศพ เจ้าพระยาทิพากรวงษ์
กันยายน ที่ ๑๑
สมโภชช้าง ( พระเสวตวรวรรณ พระมหารพีพรรณคชพงษ์ )
กันยายน ที่ ๒๑
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเฉลิมพระชัณษา ๑๗ มีการแต่งประทีปทั่วไป เจ้าพระยาภาณุวงษ์ เชิญฝรั่งไปเต้นรำ
พฤศจิกายน ที่ ๓๐
เครื่องจักรโรงหีบอ้อยของฝรั่ง ( เรียกชื่อ โรงหีบว่า อินโดจีน ซึ่งตั้งที่แม่น้ำท่าจีน ) เข้ามาถึง
ธันวาคม ที่ ๘
นายเนตรได้เปนพระยาสมุทบุรานุรักษ์ แทนบิดา
ธันวาคม ที่ ๒๑
คอมมันเดอร์ตอ คารโล รักเกีย ราชทูตอิตาลี เข้ามาขอทำหนังสือสัญญาทางพระราชไมตรี
ธันวาคม ที่ ๒๓
ท่านผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน ทำบุญอายุ ๖๓ มีคนไปช่วยมาก ได้พระราชทานเงิน ๑๙๒๐๐ เหรียญเปนของขวัญในวันเกิด
หน้า ๗๘
๑๘๗๑ มกราคม ที่ ๗
ปลงศพมารดาพระยากระสาปน์ ที่วัดกัลยาณมิตร
กุมภาพันธ์ ที่ ๕
เซอร์ เบนสัน แมกสเวล อธิบดีผู้พิพากษาเมืองสิงคโปร์ เข้ามากรุงเทพ ฯ
กุมภาพันธ์ ที่ ๖
บาญชีสินค้าที่เฃ้ามาจากเมืองลอนดอน ลงพิมพ์ครั้งแรกเปนที่พิศวงกันมาก
มีนาคม ที่ ๖
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จโดยเรือพิทยัมรณยุทธ ออกจากกรุงเทพ ฯ ไปประพาศเมืองสิงคโปร์ แลเบตาเวีย (ครั้งแรก)
ปีมแมจุลศักราช ๑๒๓๓ พ. ศ. ๒๔๑๔
เมษายน ที่ ๑๕
เสด็จกลับถึงกรุงเทพ ฯ
เมษายน ที่ ๑๙
จุดประทีปมีงานมโหรศพ รื่นเริงในการเสด็จกลับ
เมษายน ที่ ๒๑
ลครม้าอเมริกันเข้ามาถึง (ได้ยินว่าเคยมีเข้ามาในรัชกาลที่ ๔ ครั้ง ๑ แต่เห็นจะไม่ใช่เซอร์คัสๆ ที่เข้ามาครั้งนี้ เปนครั้งแรก)
พฤษภาคม ที่ ๓
รับพระราชสาส์นเยอรมันเอมเปรอครั้งแรก
มิถุนายน ที่ ๑๔
พระราชทานเพลิงพระศพ กรมหมื่นภูบดีราชหฤไทย กับกรมหมื่นมนตรีรักษา ที่วัดอรุณ
มิถุนายน ที่ ๒๘
ส่งผู้มีสกุลไปเรียนวิชาในยุโรปหลายคน (เข้าใจว่าพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ ๑ หม่อมเจ้าเจ๊ก
๗๙
ในกรมหมื่นมเหศวรศิววิลาศ ๑ พระยาไชยสุรินทร ม.ร.ว.เทวหนึ่ง ๑)
กรกฎาคม ที่ ๑
ข้าราชการเปลี่ยนเครื่องแต่งตัวเปนอย่างใหม่ (คือ สวมถุงเท้ารองเท้าเข้าเฝ้า ฯ แลยืนเฝ้า ฯ เวลาเสด็จออกไปรเวต )
กรกฎคม ที่ ๑๕
รัฐบาลซื้อเรือกลไฟ ชื่อบางกอก ราคา ๗๕๐๐๐ เหรียญ เพื่อแต่งเปนเรือพระที่นั่งเสด็จอินเดีย
สิงหาคม ที่ ๕
มีงานใหญ่ตั้งนายทหารมหาดเล็ก
สิงหาคม ที่ ๑๕
รับอักษรสาส์น เคาวเนอเยเนราลอินเดียอังกฤษ (เข้าใจว่าเปนอักษรสาส์นที่เชิญเสด็จประพาศอินเดีย)
กันยายน ที่ ๒๑
เฉลิมพระชัณษา ๑๘ ตามประทีป แลมี มโหรศพเปนการใหญ่
ตุลาคม ที่ ๑
วันนี้พเอิญให้แม่น้ำว่าง ไม่มีเรือพ่อค้าต่างประเทศ
พฤศจิกายน ที่ ๑๔
น้ำมากท่วมตลิ่งทั้ง ๒ ฝั่ง
พฤศจิกายน ที่ ๑๗
เรือไฟ ชื่อ โปสต์ ของนายฟอค แรกเดินในระหว่างกรุงเทพ ฯ จนถึงที่ทอดเรือกำปั่นที่สันดอน
ธันวาคม ที่ ๗
พระราชทานเพลิงพระศพ กรมหลวงวงษาธิราชสนิท ที่วัดอรุณ ฯ
ธันวาคม ที่ ๑๘
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จโดยเรือบางกอก ไปประพาศอินเดีย
หน้า ๘๐
๑๘๗๒ มกราคม ที่ ๘
หมอปิเตอร์ เกาแวน เข้ามาอยู่กับหมอแคมป์เบล (หมอเกาแวนนี้ ต่อมาเข้ารับราชการได้เปนหมอประจำพระองค์)
มกราคม ที่ ๒๐
เจ้าคุณแข (เรียกกันว่า เจ้าคุณตำหนักใหม่) น้องหญิงท่านผู้สำเร็จราชการแผ่นดินถึงอสัญกรรม
กุมภาพันธ์
รัฐบาลไทยให้อังกฤษ ชื่อ นายไตวต์ เปนผู้ชำนาญการแร่ ไปตรวจบ่อทองที่เมืองกระบินทร์บุรี
กุมภาพันธ์ ที่ ๑๓
ซินยอ เปเรรา ราชทูตสเปนเข้ามาถึง
ปีวอกจุลศักราช ๑๒๓๔ พ. ศ. ๒๔๑๕
มีนาคม ที่ ๑๓
นายน๊อกส์ กงสุลเยเนราลอังกฤษไปตามเสด็จเมืองกัลกัตตา กลับมาถึง
มีนาคม ที่ ๑๕
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จไปประพาศอินเดีย ๔ เดือน กลับมาถึง
มีนาคม ที่ ๑๙
มีการเลี้ยงโต๊ะ เปนการใหญ่ที่บ้านท่านผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน เปนการสมโภช เสด็จกลับจากอินเดีย
มีนาคม ที่ ๒๔
รัฐบาลขายเรือบางกอก (ซึ่งซื้อมาเปนเรือพระที่นั่งเมื่อเสด็จอินเดีย) ให้นะกุด่าอิสมัยสุละมันยี (อยู่ที่น่าวัดเกาะ) เดินเปนเรือเมล์ต่อไป
หน้า ๘๑
เมษายน ที่ ๕
พระราชทานเพลิงพระศพพระองค์เจ้าสายสมร
เมษายน ที่ ๑๐
ไฟไหม้ที่บ้านทวาย
เมษายน ที่ ๒๑
พวกผู้ชำนาญแร่ ซึ่งรัฐบาลให้ไปตรวจบ่อแร่ที่เมืองกาญจนบุรี ไป ๔๖ วัน กลับมาถึง
เมษายน ที่ ๒๑
เชิอาเลีย คาลิซ ราชทูตออสเตรีย เข้ามาถึง
เมษายน ที่ ๒๘
เรือไฟ ชื่อ แดนยุบ มาเดินเมล์ แลรับสินค้าในระหว่างกรุงเทพ ฯ กับเมืองฮ่องกง เปนครั้งแรก
พฤษภาคม ที่ ๑
พวกหกคะเมนยี่ปุ่น เข้ามาเล่น
พฤษภาคม ที่ ๑
นายร๊อก เปนชาวสวิเด็น พาขุนนางไทยหลายคนไปดูบ่อถ่านหิน ซึ่งอ้างว่าเขาพบที่เมืองเหนือ
พฤษภาคม ที่ ๒๓
พระราชทานเพลิงศพ เจ้าคุณตำหนักใหม่
มิถุนายน ที่ ๔
เสด็จกรุงเก่า
มิถุนายน ที่ ๑๑
กัปตันฮัสสี นายเรือไฟอเมริกัน ชื่อมอตัน เชิญกรมพระราชวังบวร ฯ กับพวกผู้ดีไทยฝรั่งเที่ยวล่องแม่น้ำลงไป
มิถุนายน ที่ ๑๖
มองสิเออ คาร์เนีย กงสุลฝรั่งเศสมาถึง
กรกฎาคม ที่ ๒
แห่พระศพพระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าอิศรวงษ์ เครื่องแต่งตัวแลเครื่องแห่ เปนทำนองไว้ทุกข์อย่างฝรั่ง
หน้า ๘๒
กรกฎาคม ที่ ๓
นายเฮนรี อาลบาสเตอ ไปยุโรป ๒ ปี กลับเข้ามาถึง
(นายอาลบาสเตอนี้ แต่เดิมรับราชการอังกฤษ จนได้เปนผู้แทนกงสุลครั้งที่ ๑ วิวาทกับนายน๊อกส์กงสุล ฯ จึงออกจากราชการกลับเข้ามาคราวนี้แล้วไม่ช้า ก็เข้ารับราชการไทยอยู่จนถึงอนิจกรรม)
กรกฎาคม ที่ ๒๓
กัปตัน แอดัมส์ เปนทูตเชิญอักษรสาส์นของประธานาธิบดีอเมริกัน เข้ามาถวาย
สิงหาคม ที่ ๔
ไฟไหม้เหนือวัดเกาะ
กันยายน ที่ ๕
ห้างแรมเซเวกฟีลด์ เข้ามาจากกัลกัตตาแรกมาตั้งในกรุงเทพ ฯ (ห้างนี้เปนห้างเดิมของห้างแบดแมน)
กันยายน ที่ ๑๖
ไฟไหม้บ้านหม้อ
กันยายน ที่ ๒๑
เฉลิมพระชัณษา ๑๙ มีแต่งประทีป แลเต้นรำที่บ้านเสนาบดีว่าการต่างประเทศ
ตุลาคม ที่ ๑
ราชทูตฮอลันดา ชื่อ โอเคิเฟน เข้ามาถึง
ตุลาคม ที่ ๑๓
เปิดคลองเปรมประชากร
ตุลาคม ที่ ๑๘
อัฐตะกั่ว ลดราคาลงใช้เพียงอันละ ๑๐ เบี้ย
ตุลาคม ที่ ๒๔
เวลา ๔ ทุ่ม เกิดลมใต้ฝุ่นในอ่าวสยาม
พฤศจิกายน ที่ ๑๓
เสด็จไปประพาศเมืองลพบุรี กลับมาถึง
พฤศจิกายน ที่ ๒๕
เจ้าอุปราชเชียงใหม่ ลงมารับพระราชทาน
หน้า ๘๓
สัญญาบัตรเปนเจ้าเชียงใหม่ (คือ พระเจ้าอินท วิชยานนท์)
ธันวาคม ที่ ๕
นะกุด่าอิสมัยสุละมันยี หัวน่าพ่อค้าแขกตาย
ธันวาคม ที่ ๑๐
พระยาอินทราธิบดีสีหราชรองเมือง ถูกขังด้วยเรื่องให้เข้าไปจับคนในวังเจ้า
ธันวาคม ที่ ๑๑
พระราชทานเพลิงพระศพ กรมขุนวรจักรธรานุภาพ
ธันวาคม ที่ ๒๓
กรมหมื่นภูบาลบริรักษ์ สิ้นพระชนม์
ธันวาคม ที่ ๒๕
ไฟไหม้ใหญ่ ที่สพานหัน
งานนี้เป็นสาธารณสมบัติ เนื่องจากต้องด้วยหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๓๗
- (๑) เป็นภาพถ่าย โสตทัศนวัสดุ ภาพยนตร์ สิ่งบันทึกเสียง หรืองานแพร่เสียงแพร่ภาพ ที่มีอายุมากกว่าหรือเท่ากับห้าสิบปี นับแต่วันสร้างสรรค์ขึ้นครั้งแรก (หรือวันที่มีการเผยแพร่งานครั้งแรก) แล้วแต่ว่ากรณีใดปรากฏก่อน
- (๒) เป็นงานศิลปประยุกต์ ที่มีอายุมากกว่าหรือเท่ากับยี่สิบห้าปี นับแต่วันสร้างสรรค์หรือเผยแพร่ครั้งแรก
- (๓) เป็นงานโดยผู้ไม่เปิดเผยชื่อหรือผู้ใช้นามแฝง ที่มีอายุมากกว่าหรือเท่ากับห้าสิบปี นับแต่วันสร้างสรรค์หรือเผยแพร่ครั้งแรก
- (๔) เป็นงานในหมวดหมู่อื่น ๆ ที่ไม่เข้าเกณฑ์ข้างต้น และผู้สร้างสรรค์คนสุดท้ายถึงแก่ความตายมากว่าห้าสิบปีแล้ว
- (๕) เป็นกรณีที่ผู้สร้างสรรค์งานนี้ไม่ปรากฏ ผู้สร้างสรรค์งานนี้เป็นนิติบุคคล หรือตายก่อนการเผยแพร่งาน ประกอบกับงานนี้มีอายุอย่างน้อยห้าสิบปี นับแต่วันเผยแพร่งานครั้งแรก