ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๓๘

ประชุมพงศาวดารภาคที่  ๓๘

เรื่องจดหมายเหตุของคณะบาดหลวงฝรั่งเศส ซึ่งเข้ามาตั้งครั้งกรุงศรีอยุธยา ตอนแผ่นดินพระเจ้าบรมโกษฐ ภาค ๕

หม่อมเจ้าธำรงศิริ พิมพ์ในงารปลงศพ คุณหญิงทรงสุเดช (ปริก บุนนาค)
เมื่อปีขาล พ.ศ. ๒๔๖๙


.

คำนำ

หนังสือจดหมายเหตุของคณะบาดหลวงฝรั่งเศส ซึ่งเข้ามาตั้งครั้งกรุงศรีอยุธยาที่พิมพ์ในสมุดเล่มนี้ เปนหนังสือเรื่องใหญ่
บาดหลวงโลเนรวบรวมพิมพ์เมื่อ ค.ศ. ๑๙๒๐ (พ.ศ.๒๔๖๓)
นายอรุณ อมาตยกุลเปนผู้แปล ศาสตราจารย์ ยอช เซเดส์ อ่านตรวจรับรองว่าถูกแล้ว

กรรมการจึงจัดไว้ในพวกหนังสือสำรองพิมพ์ ได้อนุญาตให้พิมพ์มาแล้วโดยลำดับ
กรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ทรงแต่งคำอธิบายเหตุที่คณะบาดหลวงฝรั่งเศส เข้ามาตั้งในกรุงสยามไว้ในภาคต้นแล้ว

ภาคนี้เปนภาคที่ ๕ หม่อมเจ้าธำรงศิริพิมพ์ในงารศพคุณหญิงทรงสุรเดช (ปริก บุนนาค)


ราชบัณฑิตยสภา
วันที่ ๑๗ มกราคม พระพุทธศักราช ๒๔๖๙
อุปนายก








สารบารพ์
  • จดหมายมองซิเออร์เลอแบร์ หน้า ๑
  • ว่าด้วย พระเจ้าท้ายสระสวรรคต " ๑
  • ว่าด้วย เหตุการณ์ เมื่อสวรรคต " ๑
  • ว่าด้วย พระมหาอุปราชได้ราชสมบัติ " ๒
  • ว่าด้วย ความขัดข้องพิธีแห่ " ๓
  • จดหมายเหตุของมองซิเออร์โอมอง " ๔
  • ทาส บุตรเจ้าเมืองมริด ไปทำวุ่นวาย ในโบสถคริสเตียน " ๔
  • สังฆราช ฟ้องบุตรเจ้าเมืองมริด " ๘
  • บุตรเจ้าเมืองมริดถูกลงพระราชอาญา " ๘
  • จดหมายมองซิเออร์โอมอง เรื่อง สังฆราชเปนความกับบุตรเจ้าเมืองมริด " ๙
  • จดหมายมองซิเออร์โอมอง ว่าด้วย ห้ามไม่ให้บาดหลวง รับคนเข้ารีด " ๑๒
  • จดหมายมองซิเออร์โอมอง ว่าด้วย ส่งของไปถวาย พระเจ้ากรุงสยาม " ๑๓
  • จดหมายมองซิเออร์ เลอแบร์ เรื่อง เด็กจีนเข้ารีต ถูกไทยทรมาน " ๑๕
  • จดหมายมองซิเออร์ เลอเฟฟร์ " ๑๗
  • พวก ฮอลันดาอพยพไป จากเมืองไทย " ๑๗
  • ไทย เตรียมต่อสู้ พวกฮอลันดา " ๑๗
  • พวก ฮอลันดา วิวาทกับพระสงฆ์ " ๑๘



  • พวกเข้ารีต ถูกเกณฑ์ไป ยิงปืนใหญ่ หน้า ๑๙
  • พวกฮอลันดา สารภาพผิด " ๒๐
  • พวกเข้ารีตได้พระราชทานรางวัล " ๒๐
  • จดหมายมองซิเออร์เลอเฟฟร์ เรื่องไทยหาว่าพวกบาดหลวงขัดพระราชโองการ " ๒๑
  • จดหมายมองซิเออร์ลาแซร์ เรื่อง พวกญวนเข้ารีดเมืองจันทบุรี ถูกจับ " ๒๒
  • จดหมายมองเซนเยอร์ เดอโลลีแยร์ " ๒๓
  • พระเจ้ากรุงสยามส่งเรือพระที่นั่งไปรับ " ๒๓
  • เรื่องการรับราชสาสน " ๒๖
  • ว่าด้วยเครื่องราชบรรณาการ แล ของฝาก " ๒๗
  • จดหมายมองซิเออร์ อาเมอโลด์เรื่อง คัดสำเนา พระราชสาสน " ๒๘
  • สำเนาพระราชสาสน พระเจ้าหลุย ที่ ๑๕ " ๒๙
  • จดหมายมองซิเออร์ลาแซร์เรื่องสังฆราชไปหาเจ้าพระยาพระคลัง " ๓๐
  • จดหมายมองซิเออร์ ลาแซร์ " ๓๑
  • ว่าด้วยเพลิงไหม้พระราชวัง " ๓๑
  • สังฆราชถวายของ " ๓๓
  • สังฆราชได้พระราชทานของตอบแทน " ๓๔
  • จดหมายมองเซนเยอร์เดอโลลีแยร์ เรื่องอังกฤษกับฝรั่งเศสถูกจับ " ๓๖
  • จดหมายมองเซนเยอร์เดอโลลีแยร์ เรื่องของพระราชทานโทษคนอังกฤษแลฝรั่งเศส " ๓๗



  • จดหมายมองเซนเยอร์ เดอโลลีแยร์ เรื่องถวายหีบเพลงแล ถุงพระหัตถ์ หน้า ๓๘
  • จดหมายมองซิเออร์ เมแยร์ เรื่องจัดบาดหลวง ส่งไปเมืองทวาย " ๓๙
  • จดหมายมองซิเออร์ดูบัวเรื่องไทยห้ามไม่ให้ ส่งบาดหลวงไปเมืองทวาย " ๔๑
  • ว่าด้วยความลำบากต่าง ๆ " ๔๒
  • ว่าด้วยไทยวิวาทกับพวกเข้ารีด " ๔๒
  • เจ้าพระยาพระคลัง ให้จับพวกเข้ารีตเฆี่ยน " ๔๔
  • สังฆราชช่วยอ้อนวอนให้พวกเข้ารีดพ้นโทษ " ๔๔
  • พวกเข้ารีตถูกจับเฆี่ยนแลถูกจำคุก " ๔๕
  • ท่านสังฆราชคิดจัดการช่วยเหลือพวกเข้ารีต " ๔๗
  • พวกเข้ารีตถูกปรับ " ๕๒
  • จดหมายมองซิเออร์ลาแซร์ เรื่องพวกเข้า รีต ถูก หาความ " ๕๕
  • จดหมายมองเซนเยอเดอโลลีแยร์ " ๕๗
  • เรื่อง พบบ่อทองคำที่ เมืองกุย " ๕๗
  • พวกเข้ารีตไม่ยอมเข้ากระบวนแห่พระพุทธบาท " ๕๘
  • ความเดือดร้อนของพวกเข้ารีต " ๖๐
  • ท่านสังฆราช ถูกซัก " ๖๒
  • เจ้าพระยาพระคลัง สำแดงวิทยาคมให้พวกเข้ารีตดู " ๖๗
  • พวกเข้ารีต ได้มารับความยกเว้นไม่ต้องเข้ากระบวนแห่ " ๖๙



  • ว่าด้วย ห้ามมิให้ คนเข้ารีต หน้า ๗๐
  • พวก เข้ารีต ถูกลงโทษ " ๗๓
  • ว่าด้วย กระบวนแห่ พระพุทธบาท " ๗๔
  • ว่าด้วย สังฆราช ถูกซักถามอีก " ๗๕
  • พวกเข้ารีต ถูกปรับ " ๗๙
  • จดหมายมองเซนเยอเดอโลลีแยร์ เรื่อง จะถวายของต่อพระเจ้าแผ่นดิน " ๘๐
  • ว่าด้วย ไทยซ่อมศิลาจารึก สำหรับประจาน " ๘๕
  • จดหมายว่าด้วยมองซิเออร์ดูบัว ว่าด้วย ความลำบากของพวกเข้ารีต " ๘๖
  • จดหมายมองเซนเยอร์เดอโลลีแยร์ เรื่องไทยเรี่ยรายเงิน แลให้ส่งพวกเข้ารีตถวายตัว " ๘๗
  • จดหมายมองซิเออร์เดอโลลีแยร์ เรื่องมองซิเออร์เดอโคนา วิวาทกับเจ้าเมืองมริด " ๙๐
  • จดหมาย มองซิเออร์บรีโกต์ " ๙๒
  • เรื่องเจ้าเมืองมริด จับบิดามารดาเด็กใส่คุก " ๙๒
  • เรื่อง ปักศิลาจารึก สำหรับประจาน " ๙๓
  • เรื่องมองซิเออร์บรีโกต์ คัดค้าน ศิลาจารึก " ๙๔
  • เรื่องพวกมิชันนารี คัดค้านแลขัดขืนการปักศิลา " ๙๕
  • เจ้า พนักงารเอา ศิลาจารึก ปักจนได้ " ๑๐๒
  • พวกมิชันนารี คัดค้าน ศิลาจารึก " ๑๐๔
  • จดหมายมองซิเออร์บรีโกต์ เรื่อง ขอกลับเมือง " ๑๐๖
  • จดหมาย มองซิเออร์ดูบัว " ๑๐๗



  • เรื่องความเห็นแลคัดค้านศิลาจารึก หน้า ๑๐๗
  • เรื่องการคัดค้านไม่เปนประโยชน์ แลการที่บาดหลวงทำเปนการถูก " ๑๑๐
  • จดหมายมองเซนเยอร์เดอโลลีแยร์ข้อวิตกเรื่อง โรงเรียนมหาพราหมณ์ " ๑๒๓





จดหมายเหตุ คณะบาดหลวงฝรั่งเศส ซึ่งเข้าตั้งครั้งกรุงศรีอยุธยา ตอน แผ่นดิน พระเจ้า บรมโกษฐ์ ต่อ จาก ภาคที่ ๔


(หน้า ๑ )


ความลำบากของการปอลิต เรื่องห้ามไม่ให้มีการแห่

จดหมายมองซิเออร์  เลอแบร์ ว่า ด้วย พระเจ้าท้ายสระสวรรคต และ ว่า ด้วย เหตุการณ์ เมื่อ สวรรคต  


จดหมาย มองซิเออร์ เลอแบร์
ถึงผู้อำนวยการคณะต่างประเทศ
วันที่๒๗เดือนพฤษภาคมค.ศ.๑๗๓๓ ( พ.ศ. ๒๒๗๖)

ในวันที่พระเจ้ากรุงสยามซึ่งเสด็จสวรรคตแล้ว ได้ออกประกาศพระราชโองการขัดขวางในการสาสนาของเรานั้น
ในวันที่ออกประกาศนั้นเอง ได้ทรงพระประชวรเปนคล้ายพระยอดขึ้นที่พระโอษฐ์ ได้ทรงพระประชวรอยู่เกือบปีหนึ่งจึงได้เสด็จสวรรคต
เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ ปีนี้ (พ.ศ. ๒๒๗๖)
การที่ทรงพระประชวรอยู่นานเช่นนี้ ได้ทำให้สมเด็จพระอนุชา ซึ่งในเมืองนี้เรียกกันว่า พระมหาอุปราช
และพระราชโอรสของพระเจ้าแผ่นดินที่สวรรคต ได้มี -



(หน้า ๒)

- เวลาเตรียมการที่จะคิดชิงราชสมบัติกัน
ฝ่ายพระมหาอุปราช ซึ่งตามวุฒิจะปกครองบ้านเมืองได้ดีกว่า แต่พวกราษฎรพลเมืองเกลียด เพราะทรงดุร้ายนักนั้น
เรียกคนมาระดมเกือบไม่ได้ ๔,๐๐๐ คน
ส่วนข้างพระราชโอรสที่คิดจะชิงราชสมบัตินั้น ได้ไปยึดพระราชวังไว้แล้ว ทั้งขุนนางข้าราชการผู้ใหญ่ตลอดจนเจ้าพระยาพระคลัง
ก็เข้าด้วยข้างพระราชโอรส ซึ่งได้รวมคนไว้ถึง ๒ หมื่นหรือ ๓ หมื่นคน

ถ้าพวกของเจ้าพระยาพระคลังได้คิดการสำเร็จ พวกเรา ก็คงจะไม่มีเหลือเลยเปนแน่ เพราะเจ้าพระยาพระคลังได้เอาคนไปสุ้มไว้ในป่ารอบบ้านพวกเรา ๒๐๐ คน และได้สั่งไว้ว่าพอได้ข่าวว่า พวกของพระมหาอุปราชพ่ายแพ้แล้ว ก็ให้คน ๒๐๐ ที่สุ้มไว้นั้น เข้าไปเผาบ้านและฆ่าพวกเราให้หมด แต่พระเปนเจ้าหายอม ให้เปนเช่นนั้นไม่ กลับใช้พระมหาอุปราชดุจเปนเครื่องมือของ พระเปนเจ้าสำหรับลงโทษเจ้าพระยาพระคลัง โดยพระเปนเจ้า ได้ให้ไชยชนะแก่พระมหาอุปราช และภายหลังพระเปนเจ้าจึง จะลงโทษพระมหาอุปราช เพราะท่านองค์นี้ก็ได้หมิ่นประมาทและ ด่าพระเปนเจ้าเท่ากับพระเชษฐาเหมือนกัน เวลานี้มีเสียงเล่าลือกันว่าทรงประชวรพระโรคคล้ายกับพระเชษฐาอยู่แล้ว คือเปนพระยอดขึ้นที่พระศอ และรู้พระองค์ว่าจะต้องสวรรคตด้วยพระโรคนี้ ในเร็ววันแล้ว เมื่อพระมหาอุปราชได้เสด็จขึ้นครองราชสมบัติแล้ว พวกเราก็ต้องนำของไปถวายพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใหม่ และเอาของไป


(หน้า ๓)

ให้เจ้าพระยาพระคลังคนใหม่ด้วย เจ้าพระยาคลังคนนี้ก็เกลียด พวกเราเท่ากับพระเจ้าแผ่นดินผู้เปนนายเหมือนกัน ซึ่งเปนการที่แลเห็นได้ง่าย เพราะเมื่อเวลาพวกเราเอาของไปถวายนั้น เราก็ได้ถวายเรื่องราวด้วยฉบับหนึ่ง ขอให้ทรงงดประกาศพระราชโองการที่เปนการขัดขวางต่อสาสนาของเรา เจ้าพระยาพระคลังได้กราบทูลแนะนำให้ทรงนิ่งเสียอย่าได้ทรงตอบเรื่องราวของพวกเราเลย เท่านี้ยังไม่พอใจ เจ้าพระยาพระคลังกลับให้ย้ายศิลาจารึกไปตั้งไว้ใน ที่เปิดเผยยิ่งกว่าเดิมอีก และได้ให้สลักลวดลายเพิ่มเติมขึ้นเพื่อ ให้ปรากฎชัดเจนกว่าเดิม ราษฎรพลเมืองจะได้มีความนบนอบ มากขึ้น ในการที่ไทยกำลังรังแกเราอยู่ดังนี้ ซึ่งเปนการให้ร้ายต่อ สาสนาของเราและให้ร้ายต่อประเทศฝรั่งเศสนั้น พระเจ้าแผ่นดิน ก็ทรงวิตกอยู่ว่า การที่ทรงทำเช่นนี้จะทำให้เปนการบาดหมาง กับฝรั่งเศส จึงได้รับสั่งให้เจ้าพนักงารมาถามพวกเราเมื่อเร็ว ๆ นี้เอง ว่าเหตุใดเราจึงไม่ได้มีการแห่เหมือนแต่เก่าก่อน และการ ที่เราไม่ทำการแห่เช่นนี้ เราประสงค์จะทำให้พระเจ้ากรุงฝรั่งเศส เกลียดพระองค์หรืออย่างไร เราจึงได้ตอบไปว่าสาสนาคริสเตียน ไม่ได้ตั้งอยู่ได้เพราะทำพิธีภายนอกอย่างใด และเราก็ไม่ได้ประสงค์ จะทำให้พระเจ้ากรุงฝรั่งเศสเกลียดพระองค์ เพราะเราก็ยังคง ทำการแห่อยู่เสมอ แต่ได้แห่เพียงในโบสถ์เท่านั้น เจ้าพนักงารผู้รับ รับสั่งให้มาถามเรานั้น ไม่ยอมจดคำตอบข้อแรกเพราะกลัวพระเจ้า


(หน้า ๔)

แผ่นดินจะกริ้ว จดไปแต่คำตอบตอนปลายเท่านั้น เราได้เห็นแล้วว่าการที่ทำเช่นนี้ ก็เปนแต่อุบายของไทยเท่านั้น และการที่เราได้ตอบ ไปเช่นนี้ก็จะยึดไว้เปนพยานเท่านั้น เพราะเหตุว่าถ้าประเทศฝรั่งเศส จะขัดเคืองในการที่ไทยได้ห้ามไม่ให้สอนสาสนาแล้ว พระเจ้ากรุง สยามก็จะปฏิเสธว่าเปนการไม่จริง และคงจะเอาคำตอบของเรา ให้ดูเปนพยาน ว่าพวกเราก็คงได้ทำการในหน้าที่ของสาสนา อยู่เสมอ ไทยเห็นจะเข้าใจว่าหน้าที่ของการสาสนาเปนแต่เพียง มีการแห่ก็พอแล้ว แต่การสอนสาสนาให้แก่เด็กที่เปนการสำคัญนั้น ไทยก็ห้ามขาดเสียด้วย ถ้าขืนสอนไปก็จะต้องรับโทษถึงตาย

---


ความลำบาก และต้องเปนความ


จดหมายเหตุของมองซิเออร์ โอมอง
ค.ศ. ๑๗๓๒ ( พ.ศ. ๒๒๗๕ )

วันที่๒เดือนกุมภาพันธ์เปนวันนักขัตฤกษ์ปูรีฟีกาซิออง ข้าพเจ้าได้ให้ควั่นเทียนขี้ผึ้งเท่าจำนวนคนที่เข้ารีต เพื่อจะได้แจกให้แก่คนเข้ารีตตามธรรมเนียมของวัดนี้ ข้าพเจ้าได้มอบเทียนเหล่านี้ แก่ผู้ช่วยให้ไปไว้ยังชั้นใกล้กับที่บูชาพระ และให้เตรียมไว้ให้พร้อม ทุกอย่าง ส่วนตัวข้าพเจ้าก็ออกไปยังห้องใหญ่ เพื่อไปล้างบาปของ พวกเข้ารีต ในระหว่างนั้นมีทาสของบุตร์เจ้าเมือง (มริด) ๒ คน ได้เข้าไปในโบสถ์และจะต้องการเอาเทียนบ้าง การที่ทาส ๒ คนนี้


(หน้า ๕)

เข้ามาในโบสถ์ดังนี้ จะเปนด้วยนายใช้ให้มาเพื่อมาพาลหาเหตุ หรือจะมาเองก็ไม่ทราบ แต่ทาสทั้งสองคนนี้ถือตัวว่านายไว้ใจ จึงได้มาทำการบังอาจและทำกิริยาเย่อหยิ่งมาก ฝ่ายพวกเด็กนักเรียนซึ่งอยู่ในที่นั้น เห็นว่าทาสของบุตร์เจ้าเมืองจะหยิบเอา เทียนไปก็ห้ามไว้ แล้วไล่คนทั้งสองนั้นให้ออกจากวัด และทาสของพวกบาดหลวงที่กรุงศรีอยุธยาคนหนึ่งซึ่งต้องถูกจำคุก เมื่อครั้งเกิดเหตุเรื่องท่านสังฆราช และได้หนีจากคุกมาอาศรัยอยู่กับข้าพเจ้านั้น ได้เอากำปั้นทุบทาสของบุตร์เจ้าเมืองมริดสองสามที่ ในการที่เกิดทุบตีวิวาทกันนี้ข้าพเจ้าหาได้ทราบเรื่องไม่ ครั้นข้าพเจ้าได้ล้างบาปพวกเข้ารีตผู้ชายแล้ว ข้าพเจ้าก็ได้เข้าไปในโบสถ์เพื่อล้างบาปพวกเข้ารีตผู้หญิงต่อไป แต่ก็หาได้มีใครบอกให้ข้าพเจ้าทราบถึงเรื่องที่เกิดขึ้นไม่ ฝ่ายทาสของบุตร์เจ้าเมืองก็ได้ไปฟ้องนายว่า ตัวได้ไปดูงาร ที่วัดเข้ารีตก็ได้ถูกพวกเข้ารีตทุบตีเอา ในทันใดนั้นบุตร์ของเจ้าเมือง ซึ่งได้ดื่มสุราหลายถ้วยแล้ว และเวลานั้นก็ยังไม่ได้เช้า ๒ โมงเลย ก็ฉวยดาบแล้วขึ้นนั่งแคร่ให้คนหามไปยังวัด ร้องตะโกนไป ตลอดทางให้ช่วยกันจับพวกเข้ารีต ครั้นมาถึงประตูวัดก็ร้อง ตะโกนเสียงอื้ออึง และเมื่อพบคนเข้ารีตก็ให้คนของตัวทุบและ เตะทุกคนไม่เว้นเลย ในขณะนั้นมีชาวฝรั่งเศสคนหนึ่งชื่อปีแย กับชาวฝรั่งเศสอีกคนหนึ่งซึ่งได้มีภรรยาที่เมืองมริดทั้งสองคนกำลัง จะมาในพิธีสวดมนต์ ได้วิ่งมาร้องที่ประตูวัดว่า "พ่อมา


(หน้า ๖)

ดูซิ ลูกท่านเจ้าเมืองกำลังทุบตีพวกเข้ารีตอยู่" ข้าพเจ้าเอง ไม่เข้าใจว่าเขามาพูดเรื่องอะไรก็ลุกขึ้นจากที่ล้างบาป เดิรออกไปทั้งเสื้อยาวและหมวกสี่เหลี่ยม เพื่อไปดูว่ามีเรื่องอะไร ครั้นไปถึงประตูวัด ก็ได้เห็นบุตร์เจ้าเมืองกำลังเมาเต็มที่ถือดาบแกว่งอยู่ข้าพเจ้าจึงได้ถามเปนภาษาไทยว่ามีเรื่องอะไรกัน บุตร์เจ้าเมืองเงื้อดาบเดิรตรงมาหาข้าพเจ้าถามว่า "เองไม่รู้ดอกหรือ" แล้วก็ด่าท้าทายอย่างหยาบคายหลายพันอย่าง ข้าพเจ้าจึงตอบไปว่าข้าพเจ้าไม่ทราบจริง ๆ แต่ทั้งบุตร์เจ้าเมืองและผู้คนบริวารของตัวไม่กล้าทุบตีข้าพเจ้า พราะเห็นชาวฝรั่งเศสสองคนยืนข้างข้าพเจ้าคอยจะป้องกันข้าพเจ้าอยู่ ชาวฝรั่งเศสที่ชื่อปีแยยืนอยู่ข้างตัวข้าพเจ้าได้บอกกับข้าพเจ้าว่า "พ่อคน ๆ นี้เมามากถ้าเขามาถูกตัว พ่อแล้ว เราจะฆ่าให้ตายทันทีเพราะเรามีอาวุธเหมือนกัน ถ้าเปนเช่นนั้นจริงแล้วก็จะเกิดความใหญ่ เพราะฉนั้นพ่อหลบเข้าไปอยู่ใน วัดเสียเถิด" ข้าพเจ้าจึงตอบว่า "ถ้าเช่นนั้นไปเอาไม้กางเขนเงิน ซึ่งเตรียมไว้สำหรับแห่ไปเก็บไว้ และให้ผู้หญิงไปอยู่ในห้องนอก ก่อน เมื่อเสร็จแล้วข้าพเจ้าจะได้หลบเข้าไปในวัด" ครั้นปีแยมา บอกว่าได้ทำการเสร็จตามที่ข้าพเจ้าสั่งไว้นั้น ข้าพเจ้าก็เดิรเข้าไป ในห้องนอก ในทันใดนั้นบุตร์เจ้าเมืองได้เอาดาบฟันเสาประตูเนื้อไม้เปนแผลลึกถึง ๒ นิ้ว แล้วก็พาบ่าวไพร่ผู้คนของตัวเข้าไปในวัดพบใครก็จับทุบต่อยหมด


(หน้า ๗)

พวกเราก็ปิดประตูเข้าหลบอยู่ในห้อง บุตร์เจ้าเมืองก็พาพรรคพวกมาเอาท้าวถีบประตูจะพังเข้าไป ในพรรคพวกของบุตร์เจ้าเมืองมีอยู่คนหนึ่งชื่อ ออกขุนตา (Ocunta) ถีบประตูแขงแรงยิ่งกว่าคนอื่นหมด แต่ประตูก็แขงแรงแน่นหนาดี ข้าพเจ้ามิได้กลัวอะไร เปนแต่คอยปลอบพวกผู้หญิงเข้ารีตอย่าให้ตกใจ ในขณะนี้มีเจ้าพนักงารฝ่ายบ้านเมืองได้ทราบเรื่องเข้า ก็วิ่งมายังวัดพูดกับบุตร์เจ้าเมืองว่า "ท่านกระทำการอะไรอย่างนี้ ถ้าบาดหลวงมีหนังสือฟ้องเข้าไปยังกรุงท่านมิฉิบหายหรือ" บุตร์เจ้าเมืองได้สติขึ้นมาก็กลับไปแต่ก็พาพวกเข้ารีตไปด้วยสองคน ครั้นไปถึงบ้านบุตร์เจ้าเมืองก็จะบังคับให้คนเข้ารีตสองคนบอกว่า ข้าพเจ้าเปนผู้ที่รับเอาคนทั้งสองนี้เข้ารีต แล้วบุตร์เจ้าเมืองได้ให้ไปตามล่าม มาถามถึงชื่อพวกที่เข้ารีตใหม่ ล่ามคนนี้เปนคนชราและไม่มีไหวพริบอย่างไร เข้าใจว่าจะช่วยเราจึงได้บอกชื่อผู้หญิงเข้ารีต ประมาณสัก ๑๐ คน แต่หาได้บอกชื่อคนใดที่ข้าพเจ้าเปนผู้รับเข้ารีตไม่ ครั้นพวกไทยได้ออกจากบริเวณวัดไปหมดแล้ว พวกผู้หญิงเข้ารีตก็ต่างคนกลับไป (มองซิเออร์โอมองเล่าโดยยืดยาวถึงการที่ได้แต่งให้ทนาย ไปฟ้องต่อเจ้าพระยาพระคลังที่กรุงศรีอยุธยากล่าวโทษบุตร์เจ้าเมืองและพรรคพวก แต่ข้อความยืดยาวนักและไม่น่าฟังอะไรเราจึง ไม่นำมากล่าวในที่นี้)


(หน้า ๘)

เจ้าพนักงารได้ส่งคำฟ้องของข้าพเจ้าไปยังศาลาสำหรับชำระความ เจ้าพนักงารได้พิจารณาเห็นว่า การที่บุตร์เจ้าเมืองได้หมิ่นประมาทและทำร้ายข้าพเจ้านั้น เปนความผิดโทษถึงประหารชีวิต และการที่ทำเช่นนี้ ถ้าหากว่าข้าพเจ้าได้ฆ่าบุตร์เจ้าเมืองตายในวัดแล้วก็ไม่มีใครว่าข้าพเจ้าได้ การที่ศาลตัดสินเช่นนี้ทำให้ท่านสังฆราชตกใจ ท่านสังฆราชจึงได้ทำฎีกาถวายพระเจ้ากรุงสยามกราบทูลอธิบายว่า การที่ข้าพเจ้าได้มาฟ้องร้องเพื่อหาความยุติธรรมนั้นก็ไม่ได้มุ่งหมายอย่างอื่นนอกจากจะขอให้ห้ามปรามมิให้มาข่มเหง เช่นนี้ต่อไปอีก การที่ศาลตัดสินเช่นนี้จะให้โทษแก่ข้าพเจ้ามากกว่าให้คุณ อีกประการหนึ่งการที่พวกบาดหลวงจะฟ้องร้องใครจนถึงเอาชีวิตกันนั้นเปนการผิดแบบ บาดหลวงทำเช่นนั้นไม่ได้ ครั้นพระเจ้ากรุงสยามได้ทรงรับฎีกาของท่านสังฆราชแล้ว จึงได้ส่งคำกล่าวโทษของข้าพเจ้ากลับไปยังศาลอีก และมีกระแสรับสั่ง ไปยังศาลว่า "พระเจ้าแผ่นดินจะโปรดให้ชีวิตแก่จำเลยคนนี้ เพราะฉนั้นจำเลยคนที่ทำการร้ายเช่นนี้จะควรต้องรับพระราชอาญาอย่างใด" เจ้าพนักงารศาลจึงตอบกระแสรับสั่งว่า "เมื่อพระเจ้าแผ่นดินทรงโปรดงดโทษประหารชีวิตแก่จำเลยคนนี้แล้ว ควรต้องลงพระราชอาญาจำขื่อคาประจานไว้กลางตลาดในที่ประชุมชน แล้วให้เอาตัวไปตระเวนรอบเมือง ให้มีฆ้องตีนำหน้า เพื่อจะได้เปนเยี่ยงอย่าง มิให้ผู้ใดผู้หนึ่งทำการร้ายเช่นนี้อีกต่อไป เมื่อได้ตระเวนรอบเมืองเสร็จแล้ว ให้ลงพระราชอาญาเฆี่ยนด้วยหวาย


(หน้า ๙)

๕๐ ที และให้ปรับเงินแก่มิชชันนารีเปนเงิน ๑,๕๐๐ เหรียญ ส่วนหลวงอัมพา ( Umpa ) กับออกกุนตา ( Counta ) ซึ่งเปนพรรคพวกช่วยจำเลยทำร้ายนั้น ให้ลงพระราชอาญาเฆี่ยนด้วย หวายคนละ ๓๐ ที และให้ปรับเปนพินัยหลวงคนละ ๑๕๐ เหรียญ เปนสินไหมให้แก่มิชชันนารี คนละ ๑๕ เหรียญ"

---


จดหมายมองซิเออร์ โอมอง
ถึง มองซิเออร์ เดอโลลีแย
เมือง มริด วันที่ ๑๒ เดือน ธันว คม ค.ศ. ๑๗๓๒ (พ.ศ. ๒๒๗๕)

ได้เกิดการไทยรังแกคุมเหงบีบคั้นร้ายแรงยิ่งกว่าคราวที่ข้าพเจ้าได้มีจดหมายไปยังท่าน ฝากไปกับเรือที่จะไปมัทราส ขึ้นอีกแล้วคือบุตร์ของเจ้าเมืองได้ทราบว่า ข้าพเจ้าได้มีหนังสือฟ้องเข้าไป ยังกรุงศรีอยุธยา จึงได้รีบมีรายงารไปยังเจ้าพระยาพระคลังซึ่ง เปนศัตรูอย่างเปิดเผยของสาสนาคริศเตียน กล่าวหาว่าข้าพเจ้าได้รับราษฎรเข้ารีดที่เมืองมริดและเมืองตะนาวศรีเปนอันมากและ ได้บอกชื่อคนที่เข้ารีตผู้ชาย ๒ คน ผู้หญิง ๑๐ คน และหาความต่อไปว่า ข้าพเจ้าได้ทุบตีทาสของโจทย์ ๒ คน กับได้ทำผิดข้อห้ามโดยข้าพเจ้าได้เสือกไสบุตร์ของคนเข้ารีตให้ลงเรือ เจ้าพระยาพระคลังได้นำเรื่องราวฉบับนี้ขึ้นถวายพระเจ้า แผ่นดิน ส่วนคำกล่าวขอโทษของข้าพเจ้านั้นเจ้าพระยาพระคลังเอา




(หน้า ๑๐)

ส้อนเสีย เพราะฉนั้นพระเจ้ากรุงสยามจึงได้แต่งข้าหลวงให้ออก ไปไต่สวนที่เมืองตะนาวศรี และสั่งเสียข้าหลวงไปอย่างเด็จขาด ฝ่ายท่านสังฆราชได้ทราบเรื่องนี้ จึงได้จัดให้บุตร์ของ มิเชล และ อันเดรให้ไปหาข้าพเจ้า และให้ไปห้ามมิให้ข้าพเจ้าขึ้นไปยังเมืองตะนาวศรีเพราะกลัวข้าพเจ้าจะถูกจับ แต่ที่ข้าพเจ้าจะไม่ไปเมืองตะนาวศรีเปนไม่ได้ เพราะมีพระราชโองการของพระเจ้าแผ่นดินเรียก ให้ข้าพเจ้าไปยังเมืองนั้น เจ้าพนักงารจึงได้คุมข้าพเจ้าไปยังเมืองตะนาวศรีเหมือนกับเปนนักโทษ และได้จัดการไต่สวนข้าพเจ้าอย่างกวดขันข้าพเจ้าต้องจ่ายเงินกว่า ๑๐ ชั่ง เพื่อจะให้ผู้พิพากษาอยุติธรรมได้เข้ากับข้าพเจ้า และข้าพเจ้าต้องไปอ้อนวอนบุตร์เจ้าเมือง ขออย่าให้บีบคั้นเรานัก เพราะตามข้อหานั้นบุตร์เจ้าเมืองก็ทราบอยู่ เองแล้วว่าเปนความไม่จริง และข้าพเจ้าก็ได้ชี้แจงว่าพวกเข้ารีต เหล่านี้ ได้เข้ารีตมากว่า ๓๕ ปีแล้ว แลที่ทุบตีกันนั้นก็เปนคนของบุตร์เจ้าเมืองทุบตีคนของข้าพเจ้า หาใช่คนของข้าพเจ้าทุบตีคนของบุตร์เจ้าเมืองไม่ และการที่หาว่าข้าพเจ้าเสือกไสเอาเด็กลงเรือนั้นก็ไม่ได้มีข้อห้ามไว้อย่างไร บุตร์เจ้าเมืองจึงได้สาระภาพต่อข้าพเจ้าว่า การที่เขาได้ยื่นเรื่องราวกล่าวโทษข้าพเจ้านั้น ก็เพื่อจะป้องกันตัว เพราะเกรงว่าตามที่ข้าพเจ้าได้กล่าวโทษเข้าไปนั้นบุตร์เจ้าเมือง จะต้องรับโทษ เจ้าพนักงารได้ชำระข้าพเจ้าอย่างเปิดเผยและพิจารณาอยู่ประมาณเดือนหนึ่ง จึงได้ปล่อยให้ข้าพเจ้ากลับลงไปเมืองมริด ครั้นข้าพเจ้าได้ออกจากเมืองตะนาวศรีแล้ว เจ้าพนักงารได้เรียก



(หน้า ๑๑)

พวกเข้ารีตผู้หญิงไปซักถาม เจ้าพนักงารได้เฆี่ยนผู้หญิงแต่เบา ๆ อ้างว่าต้องเฆี่ยนตามพระราชโองการ แต่ส่วนผู้ชายเข้ารีตนั้นได้เฆี่ยนเต็มแรงเพื่อจะให้รับว่าข้าพเจ้าเปนผู้ที่รับเขาเข้ารีต มีข้าหลวงของพระมหาอุปราชคนหนึ่งซึ่งเปนเพื่อนของข้าพเจ้าได้กลับไปถึงกรุงศรีอยุธยา จึงได้ไปเฝ้าพระมหาอุปราชและนำ ของ ๆ ข้าพเจ้าไปถวาย ข้าหลวงผู้นั้นได้กราบทูลพระมหาอุปราช ถึงข้อหาที่กล่าวโทษข้าพเจ้าและทูลชี้แจงถึงความจริงว่า เรื่อง ราว ที่เปนความจริงนั้นคืออย่างไร พระมหาอุปราชได้ทรงทราบเช่นนั้นจึงได้รับสั่งให้ไปเอาคำฟ้องของข้าพเจ้ามา เมื่อได้ทรงอ่านตลอดแล้ว จึงได้ทรงแต่งข้าหลวงให้ออกไปไต่สวนเรื่องนี้ที่เมือง ตะนาวศรี และได้โปรดเอาบรรดาพวกเข้ารีตที่ยังเปนนักโทษอยู่นั้นออกจากคุกทั้งหมด ฝ่ายข้าหลวงผู้รับ ๆ สั่งของพระมหาอุปราชนั้นได้ไปถึงเมืองตะนาวศรีได้ ๕ วันก็ตาย เขาพูดกันว่ามีคนวางยาพิษจึงได้ตาย เพราะฉนั้นเมื่อข้าพเจ้าได้ขึ้นไปถึงเมืองตะนาวศรี จึงหาได้พบกับข้าหลวงคนนี้ไม่เพราะตายเสียแล้ว คดีที่ให้ไต่สวนใหม่นี้จึงตกเปนหน้าที่ของข้าหลวงผู้ซึ่งนำคำสั่งฉบับก่อนมา ท่านคงจะพอพิเคราะห์ได้ว่าจะควรวิตกกลัวข้าหลวงคนนี้เพียงไร เพราะข้าหลวงคนนี้ทำการทุกอย่างสำหรับเอาหน้ากับบุตร์เจ้าเมือง แต่ความจริงในข้อนี้ข้าพเจ้าก็ไม่วิตกเท่าไรนัก เพราะข้าพเจ้าทราบอยู่ว่า พระมหาอุปราชทรงคิดช่วยข้าพเจ้าอยู่แล้วตั้งแต่คำสั่งฉบับ หลังนี้ได้มาถึง ก็ได้ล่วงเวลามาได้ ๓ เดือนแล้ว แต่การไต่สวนก็



(หน้า ๑๒)

ยังหาสำเร็จไม่ พระมหาอุปราชได้จัดข้าหลวงนำไม้กลำพักมาประทานข้าพเจ้าท่อนหนึ่ง กับรงและเครื่องหอมสำหรับวัดด้วยและรับสั่งว่าจะได้ส่งท้องตรากับหวายสำหรับเปนเครื่อง หมายว่าข้าพเจ้าอยู่ในความปกครองของพระองค์ และจะส่งแรตตัวเล็กมาประทานข้าพเจ้าด้วย เรื่องการไต่สวนได้ล่าช้าไปเช่นนี้ เปนด้วยเหตุที่เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นในกรุงศรีอยุธยา เพราะพระเจ้าแผ่นดินทรงพระประชวรมาก เปนพระโรคเพดานพระโอษฐ์เน่า เขาพูดกันว่าหมอได้ถูกประหารชีวิตกว่า๒๐คนแล้วเพราะรักษาพระโรคนี้ไม่หายภายหลังพระเจ้าแผ่นดินได้โปรดให้มาขอหมอจากท่านสังฆราช ๆ ได้ส่ง ยวงดาคอศตาให้ไปถวายพระโอสถ ยวงดาคอศตาได้ไปรักษาพระอาการจนเดี๋ยวนี้ก็หายพระประชวรแล้ว พระเจ้าแผ่นดินทรงรู้สึกบุญคุณ จึงรับสั่งให้มาบอกท่านสังฆราชว่าถ้าต้องการอะไรก็จะทรงช่วย

---


จดหมาย มอง ซิเออร์ โอมอง
ถึง มอง ซิเออร์ ตรำบเล
เมืองมริด วันที่ ๘ เดือน ธันวาคม ค.ศ. ๑๗๓๓ (พ.ศ. ๒๒๗๖)
................................

เวลานี้ข้าพเจ้าต้องถูกบีบคั้นอย่างร้ายแรงอยู่ ได้มีคำสั่งมาจากกรุงศรีอยุธยา บังคับให้คนเข้ารีตรวม ๑๑ คนเลิกการนับถือสาสนาคริศเตียนโดยให้เอาไม้กางเขนมาย่ำเหยียบเสีย พวกเข้ารีต ทั้ง ๑๑ คน หา ยอมไม่ เจ้าพนักงารจึงได้จับตัวส่งไปยังกรุงศรีอยุธยาเพื่อให้ศาลชำระต่อไป และยังมีคำสั่งมาอีก ห้ามมิให้รับคนเข้ารีต


(หน้า ๑๓)

ในเมืองนี้เปนอันขาด ในคราวเดียวกันนี้ยังมีข้าหลวงมาอีกคน หนึ่งนำหวายมาให้ข้าพเจ้า ๓ เส้น ซึ่งเปนของที่พระเจ้าแผ่นดินพระราชทานมาให้ข้าพเจ้าตามแบบของเมืองนี้ และมีคำสั่งมาว่าอนุญาตให้ข้าพเจ้าทำการต่าง ๆ ในเมืองนี้ได้ตามใจชอบ และห้ามมิให้เจ้าพนักงารคนหนึ่งคนใดมารบกวนข้าพเจ้า คำสั่งต่าง ๆ เหล่านี้ดูก็เปนคำสั่งที่ขัดกันอยู่ แต่การที่เปนดังนี้ไม่เปนการน่าปลาดอย่างใดเพราะทางราชการได้เกิดเปลี่ยนแปลงขึ้นโดยเหตุที่พระเจ้าแผ่นดินได้เสด็จสวรรคตเสียแล้ว และสมเด็จพระอนุชาของพระองค์ได้ขึ้นครองราชสมบัติต่อไป พระเจ้าแผ่นดินองค์ใหม่นี้ได้ทรงช่วยเหลือข้าพเจ้า เมื่อครั้งยังทรงดำรงตำแหน่งเปนพระมหาอุปราช และยังทรงโปรดปรานข้าพเจ้าอยู่เสมอ แต่ถึงดังนั้นก็ยังทรงขัดขวางแก่สาสนา คริศเตียนอยู่ เพราะทรงเกลียดสาสนานี้ยิ่งนัก บุตร์ของเจ้าเมือง มริดซึ่งได้มาดูถูกข้าพเจ้าถึงในวัดเมื่อ ๒ ปี มาแล้ว ถึงกับเงื้อดาบจะฟันข้าพเจ้าและได้ทุบตีพวกเข้ารีตหลายคนนั้น มาบัดนี้ได้รับโทษลงพระราชอาญาเฆี่ยนในกลางประชุมชนและต้องจำขื่อคาพร้อมกับเจ้าพนักงารซึ่งเปนพรรคพวกด้วยแล้ว



จดหมายมองซิเออร์ โอมอง
ถึงมองซิเออร์ เดอ บรีซา เซีย
เมืองมริดวันที่๒๐เดือนพฤศจิกายนค.ศ. ๑๗๓๔ (พ.ศ. ๒๒๗๗)
...............................

ตั้งแต่เรือได้ออกจากเมืองนี้เมื่อปีกลายนั้น ข้าพเจ้าได้นำของซึ่งท่านเจ้าเมืองและท่านที่ปฤกษาการ แผ่นดินเมืองปอน ดี เชริได้



(หน้า ๑๔)

ส่งมายังข้าพเจ้านั้น ไปถวายพระราชโอรสของพระเจ้าแผ่นดิน เพื่อจะให้เรื่องของข้าพเจ้าเสร็จไปเสียคราวหนึ่ง ของที่เอาไปถวายนั้น เปนเครื่องแก้วแปลก ๆ หลายอย่าง กล้องส่อง ๑ อัน กับผ้าแพรดอกเงิน ๑ ผืน เมื่อเวลาส่งของเหล่านี้ไปถวายนั้น ข้าพเจ้าได้มีจดหมายถวายพระราชโอรสด้วยฉบับหนึ่ง ขอประทานพวกเข้ารีต ๑๒ คน ซึ่งไทยจะบังคับให้ละทิ้งสาสนาคริศเตียน พระเจ้าแผ่นดินทรงพระราชทานของมาตอบแทน มีรูปภาพ เครื่องหอมสำหรับวัด ร่ม ๒ คันกับเครื่องลายครามสำหรับให้ข้าพเจ้าใช้ แต่ที่ข้าพเจ้าร้องเรื่องพวก เข้ารีตนั้นหาได้ทรงตอบประการใดไม่ พระราชโอรสให้คนมาบอกแก่ท่านสังฆราช ว่าในเรื่องพวกเข้ารีตในเมืองมริดนั้นไม่ควรจะเอา มาพูดอีกต่อไป เพราะเปนเรื่องที่สงบกันไปแล้ว ครั้นเจ้าเมือง มริดได้มาถึงเมืองนี้ข้าพเจ้าก็ได้ถามทันทีว่า ในเรื่องพวกเข้ารีตท่านเจ้าเมืองได้รับคำสั่งมาอย่างไรบ้าง เจ้าเมืองได้ตอบว่าพระเจ้า กรุงสยามได้โปรดยกโทษให้พวกเข้ารีตหมดแล้ว และในเรื่องนี้เปนอันสงบจะไม่มีใครพูดถึงอีกต่อไป เจ้าเมืองได้เล่าต่อไปว่า พระราชโอรสได้รับสั่งแก่เจ้าเมืองว่าดังนี้ "เมื่อท่านไปถึงเมือง มริดให้เปนธุระดูแลบาดหลวงและพวกเข้ารีต ถ้าบาดหลวงจะต้องการ อะไรก็ให้จัดหาให้ เรื่องนี้ท่านต้องเปนผู้รับผิดรับชอบ" การที่มาเอื้อเฟื้อเช่นนี้หาคุ้มกับโสหุ้ยที่ข้าพเจ้าต้องจ่ายไปไม่ เพราะข้าพเจ้าได้จ่ายเงินไปกว่า ๑๓๐ เหรียญ ซึ่งต้องชักเงินเดือนของข้าพเจ้าออกจ่าย เงินเหรียญที่นี่มีราคาเพียง ๕๐ อัฐ (ของฝรั่งเศส) เท่านั้น



(หน้า ๑๕)


เพราะฉนั้นการจ่ายเงินเปนการยาก และบ้านของข้าพเจ้าก็ยังทำค้างอยู่ กว่าจะแล้วก็ยังอีกนาน



จดหมายมอง เซนเยอร์ เตเซียเดอเคราเล
ถึง มองซิเออร์ โอมอง
ค.ศ. ๑๗๓๕ (พ.ศ. ๒๒๗๘)
..............................


เมื่อเจ้าเมืองตะนาวศรีจะออกจากกรุงศรีอยุธยา ข้าพเจ้าได้ให้เงินแก่เขา ๑๐๐ เหรียญ เจ้าเมืองตะนาวศรีได้รับรองว่าจะได้ปล่อยพวกเข้ารีตของเราที่เมืองมริดทั้งหมด



จดหมายมองซิเออร์ เลอแมร์
ถึง ผู้อำนวยการ คณะต่างประเทศ
วันที่ ๕ เดือน สิงหาคม ค.ศ. ๑๗๓๓ (พ.ศ. ๒๒๗๖)
..............................


เมื่อประมาณ ๑๘ เดือน ที่ล่วงมาแล้ว มองซิเออร์ โอแนง ได้ส่งเด็กจีนจากเมืองจีนมาให้เรา ๔ คน แต่ก็หาได้ให้เงินค่าเดิรสานแก่กับตันเรือไม่ กับตันเรือมีความขัดเคืองและจะคิดแก้แค้น จึงได้ไปเที่ยวพูดว่าเด็ก ๔ คนนี้ได้มีคนขายให้แก่ฝรั่ง และว่าผู้ที่พาเด็กเหล่านี้มาคือเปนอาว์ของเด็กคนหนึ่ง ได้เปนผู้ลักพาเด็กมา จากบิดามารดา ฝ่ายอาว์ของเด็กมีความตกใจที่ถูกหาเช่นนี้ ก็กระโจนลงทะเล และได้ว่ายน้ำมาจนขึ้นฝั่งที่ปากน้ำกรุงศรี -



(หน้า ๑๖)

- อยุธยาได้ จึงได้เดิรบกมาอีกสองวันก็ได้มาถึงโรงเรียนของเรา และได้เล่าเรื่องให้เราฟังโดยตลอด ฝ่ายกับตันเรือก็ได้พาเด็ก ๔ คน นั้นไปยังเจ้าพระยาพระคลังของพระเจ้าแผ่นดินองค์สวรรคต เจ้าพระยาพระคลังคนนี้ยินดีอย่างที่สุดที่จะได้มีโอกาศรังแกเรา จึงได้เอาเด็ก ๔ คนไปขังไว้ยังบ้านขุนนางจีนผู้หนึ่ง แล้วภายหลังได้ให้พา เด็ก ๔ คนนั้นไปยังวัดจีนและบังคับให้เด็ก ๔ คนกราบพระพุทธรูปในวัดนั้น เจ้าพนักงารได้มัดเด็ก ๔ คนโยงไว้แล้วเฆี่ยนอย่างแสน สาหัส แต่เด็ก ๔ คน ก็ไม่ยอมไหว้พระ เจ้าพนักงารจึงได้เอาเด็ก เหล่านั้นแยกไว้และเอาไปฝากยังบ้านขุนนางจีนสองคน เด็กเหล่านี้ถูกคุมขังอย่างกวดขันเท่ากับติดคุก และพวกเราจะคิดอ่านรับเด็ก เหล่านี้มาไว้ก็ไม่ได้ จนล่วงเวลามาได้ปีหนึ่งแล้วก็ยังหาได้จัดการ สำเร็จไม่ ครั้นภายหลังมาได้ประมาณปีหนึ่ง ก็ได้เกิดขบถขึ้นในเมืองไทย จึงได้เปนโอกาศของเราที่จะไปขอเด็กเหล่านี้จากเจ้า พระยาพระคลังคนใหม่ เจ้าพระยาพระคลังคนนี้เปนต้นเหตุที่พวกเราต้องถูกรังแกบีบคั้นต่าง ๆ แต่ถึงดังนั้นก็ได้ส่งเด็ก ๔ คน นั้นมาให้เรา แต่การเรื่องนี้เปนการที่พระเปนเจ้าช่วยโดยแท้ เพราะเมื่อเราได้ รับเด็กมานั้น ในวันรุ่งขึ้นก็พอดีได้ข่าวมาว่า พวกมิชชันนารีในเมืองจีนได้ถูกขับไล่ออกจากเมืองจีนหมดแล้ว ถ้าเราช้าไปอีกวันเดียว พอได้ทราบข่าวเรื่องพวกมิชชันนารีถูกขับไล่ออกจาก เมืองจีน เราก็คงจะไม่ได้เด็กคืนมาเปนแน่



(หน้า ๑๗)


มองซิเออร์เลอแมร์  ค.ศ. ๑๗๓๖-๑๗๔๑ (พ.ศ. ๒๒๗๙ - ๒๒๘๔)
เรื่องเกิดเหตุกับพวกฮอลันดา



จดหมายมองซิเออร์เลอเฟฟร์
ถึง ผู้อำนวยการ คณะต่างประเทศ
วันที่ ๓๐ เดือน พฤษภาคม ค.ศ. ๑๗๔๑ (พ.ศ. ๒๒๗๔)
...............................

เมื่อสองสาม ปี มานี่แล้ว สังเกตดู กิริยาพวกไทยดูเหมือนอยากจะไล่ชาวต่างประเทศให้ออกจากพระราชอาณาเขตให้หมด เพราะได้รังแกพวกฮอลันดาเหลือเกิน จนพวกฮอลันดาโกรธจึงได้อพยพ ออกไปจากเมืองไทยทั้งหมดในปีนี้เอง แต่ไทยก็ยังหวังอยู่ว่าพวกฮอลันดาคงจะกลับเข้ามาอีกในปลายปีนี้ การที่พวกฮอลันดาได้อพยพไปนี้ก็ไม่ได้ไปเงียบ ๆ แต่มีการเอะอะกันมาก พวกเราได้รับคำสั่งบ่อย ๆ ให้ไปยังห้างฮอลันดาบ้าง ไปยังศาลาตามวัดบ้างเพื่อไปตัดสินข้อวิวาทระหว่างไทยกับฮอลันดา แต่ไทยกับฮอลันดาก็ไม่ตกลงปรองดองกันได้ ครั้นได้เห็นเปนแน่แล้วว่าผลที่สุดจะ ต้องแตกร้าวกัน ไทยจึงได้เตรียมการต่อสู้เพราะเกรงว่าฮอลันดา -






(หน้า ๑๘)

- จะยกพวกมาตี พวกเราก็ได้รับคำสั่งให้ส่งพวกเข้ารีตไปช่วยไทย แต่เราก็ไม่ได้ส่งไปด้วยเหตุหลายประการ แต่เพื่อจะป้องกันไม่ให้ไทยเคืองพวกเราด้วย ข้าพเจ้าจึงได้พาพวกเข้ารีต ประมาณ ๓๐ คนไปยังบ้านข้าราชการผู้ซึ่งมีหน้าที่เกี่ยวในเรื่องนี้ และข้าพเจ้าได้แกล้งพูดว่า อย่าว่าแต่พวกเข้ารีตเลยแต่ถ้าเปนการจำเปนแล้วข้าพเจ้า ก็จะยอมออกเลือดเนื้อให้สำหรับช่วยพระเจ้ากรุงสยาม การที่ข้าพเจ้าได้พูดดังนี้ก็เพราะเชื่อว่าเขาคงจะไม่เอาตามคำพูดของข้าพเจ้า เพราะเหตุว่าไทยไม่ต้องการใช้พวกฝรั่งเศสเลย แต่ที่ข้าพเจ้าได้กล่าว วาจาดังนี้ข้าราชการผู้นั้นก็พอใจมาก จึงได้นำความกราบทูลต่อพระเจ้ากรุงสยาม ๆ ทรงพอพระไทยมาก และรับสั่งว่า ไม่ต้องใช้ข้าพเจ้าดอก แต่การที่ข้าพเจ้าสวามิภักดิ์เช่นนี้เปนที่พอพระไทยมาก ตั้งแต่นั้นมาไทยก็ไม่ได้มาขอแรงพวกเข้ารีตอีกต่อไป การทั้งปวงก็ดูจะสงบเรียบร้อยอยู่แล้ว พอพวกฮอลันดาก่อเหตุขึ้นอีกซึ่งทำให้พวกฮอลันดาต้องเสียเงินเปนอันมาก ทั้งทำให้ ตกใจอย่างยิ่ง เพราะพวกฮอลันดามีนิไสยขลาดอย่างที่สุด คือในคืนวันหนึ่ง มีทหารกับกะลาสีหมู่หนึ่งไปเที่ยวเกะกะในที่ต่าง ๆ ได้เลยเข้าไปในวัดแห่ง ๑ ซึ่งกำลังมีงารเผาศพ พวกทหารและกะลาสีฮอลันดาก็ตรงเข้าไปทุบตีพวกพระสงฆ์ที่กำลังทำงารเผาศพนั้น พวกพระสงฆ์ก็แตกหนีไปหมด ทหารและกะลาสีฮอลันดาก็ไล่ทุบตีพระ สงฆ์ถูกเจ็บป่วยหลายองค์ อีกองค์ ๑ ถูกฟันหูขาด อีกสองสามวันพระสงฆ์องค์นี้ก็ถึงมรณภาพด้วยทนพิษบาดแผลไม่ไหว การ -



(หน้า ๑๙)

- ที่พวกฮอลันดามาทำการดังนี้กระทำให้แตกตื่นไปทั้งเมือง พระเจ้ากรุงสยามจึงมีรับสั่งให้ไปปิดแม่น้ำเสียห่างจากห้างฮอลันดาหน่อย ๑ และให้เอาปืนใหญ่ไปไว้ในที่นั้นเพื่อป้องกันมิให้พวกฮอลันดาล่องน้ำ ลงไปได้ เพราะพวกฮอลันดาตกใจคิดจะหนีอยู่แล้ว พวกเราก็ได้รับคำสั่งให้ส่งพวกเข้ารีตไปช่วย และเจ้าพนักงารก็ได้จัดให้พวก เข้ารีตเปนหน้าที่ยิงปืนใหญ่ (ความจริงในพวกเข้ารีตเหล่านี้มี อยู่คนเดียวเท่านั้นที่เข้าใจยิงปืนใหญ่ นอกจากนั้นจะได้เคยเห็นยัดปืนและยิงปืนใหญ่จนครั้งเดียวก็ไม่มี) ปืนใหญ่นั้นมีอยู่ ๒๐ กระบอก ตั้งอยู่บนล้อปืนซึ่งไม่ได้ทำไว้สำหรับปืนชนิดนี้เลย เจ้าพนักงารได้มอบไม้กระทุ้ง ๑ อันกับไม้ อัน ๑ รูปร่างคล้ายกับไม้กราดอย่างยาวซึ่งใช้กันสำหรับล้างปืน ทั้งนี้สำหรับใช้กับปืน ๒๐ กระบอก กองปืนใหญ่ของพระเจ้ากรุงสยามมีของเท่านี้เอง การที่ไทยมาขอ พวกเข้ารีตเช่นนี้เราก็ไม่กล้าปฏิเสธแต่ต้องส่งให้ตามความต้องการเพราะไทยกำลังโกรธเคืองมาก ถ้าเราไม่ไห้ไทยก็จะมาจับพวกเราหาว่าเปนขบถ แต่ข้าพเจ้าก็ต้องส่งเสบียงอาหารให้แก่พวก เข้ารีตของเราซึ่งรับตำแหน่งเปนทหารปืนใหญ่ เพราะทหารของพระเจ้าแผ่นดินไม่ได้รับเงินเดือนหรือเสบียงอาหารอย่างใด ข้าพเจ้าก็ได้อุส่าห์ไปเยี่ยมเยียนพวกเข้ารีตที่เปนทหารปืนใหญ่ด้วย เพราะอยากจะให้ไทยเห็นว่าเรามิได้สมรู้ร่วมคิดกับพวกฮอลันดาอย่างใด ทั้งอยากจะดูสนามรบด้วย เพราะสนามรบนี้ไม่มีทั้งระเบียบและ ทหารอย่างใด มีแต่ผู้คนออกแน่นไปซึ่งไม่มีน้ำใจจะรบและไม่มี -



(หน้า ๒๐)

- อาวุธเลย คอยแต่จะหนีในเวลาที่ยิงปืนใหญ่ออกนัดแรกเท่านั้น เมื่อได้เตรียมการอย่างนี้ได้สัก ๘ วันพวกฮอลันดาก็ได้รับผิดต่อหน้าเรา เพราะพวกเราได้ถูกเรียกไปตัดสินในเรื่องนี้เหมือนกัน และการที่สงบไปได้นั้นก็เพราะพวกฮอลันดาได้ให้เงินแก่พวกข้าราชการหลายคน ฝ่ายพระเจ้ากรุงสยามก็ทรงอนุญาตให้พวกฮอลันดาได้ออกจากพระ ราชอาณาเขตไปได้ การที่พวกฮอลันดาได้ออกไปจากเมืองไทยนี้พวกเราไม่ได้ขาดทุนอะไรเลย เว้นแต่ถ้าพวกนี้ไม่กลับมาอีก เราก็ไม่ทราบว่าจะไปหาสุราที่ไหนมารับประทานกับอาหารเท่านั้น ครั้นพวกฮอลันดาได้อพยพไปแล้ว พระเจ้ากรุงสยามได้มี รับสั่งชมเชยพวกเข้ารีตและให้พวกเข้ารีตขอร้องตามความต้องการ เพื่อจะได้พระราชทานเปนรางวัลความชอบที่ได้ช่วยในทางราชการอย่างแข็งแรง พวกข้าพเจ้าจึงได้รีบทำเรื่องราวถวายขอ ๓ อย่าง คือ ๑ ขอให้ทรงโปรดยกเว้นมิให้พวกเข้ารีตต้องเสียค่าภาษี ๒ ขออนุญาตให้พวกเข้ารีตตกเบ็ดหาปลาตามลำน้ำโดยไม่ต้องเสียค่าอากร ๓ ขอพระราชทานที่ดินเพิ่มเติมนอกจากที่ดินที่มีอยู่แล้ว ข้าพเจ้าได้ส่งเรื่องราวฉบับนี้ไปยังข้าราชการผู้ ๑ ซึ่งรับว่าจะนำถวายให้ และข้าราชการผู้นี้ได้บอกว่าพระเจ้าแผ่นดินคงจะพระราชทานตามขอทุกประการแต่ในเรื่องนี้ก็มีแต่รับสั่งให้มาบอกข้าพเจ้าว่า ในเรื่องที่ดินนั้นให้งดไว้ก่อน เพราะจะโปรดให้เจ้าพนักงารมาตรวจเสียก่อนว่า ที่ดินที่เรามีอยู่คับแคบจริงอย่างว่าหรือไม่ ตั้งแต่นั้นมาข้าพเจ้า ก็ได้ป่วยลงและก็เกิดเรื่องขึ้นเล็ก ๆ น้อย ๆ ซึ่งทำให้การเรื่องนี้ค้างไป



(หน้า ๒๑)


จดหมายมองซิเออร์เลอเฟฟร์
ถึงผู้อำนวยการคณะต่างประเทศ
วันที่ ๑๒ เดือน กันยายน ค.ศ. ๑๗๔๑ (พ.ศ. ๒๒๘๔)
...............................

ในระหว่างสองสามอาทิตย์ที่ล่วงมาแล้วได้เกิดเรื่องเล็กน้อย ขึ้น ๒ เรื่อง แต่เรื่อง ๑ ทำให้ข้าพเจ้าตกใจมาก เรื่องที่ ๑ นั้นเกิดจากคนเข้ารีตคน ๑ ซึ่งอยู่กับพวกญวนใกล้กับโรงเรียนสามเณร คนเข้ารีตคนนี้จะต้องการปกครองพวกเข้ารีตทั่วไปโดยไม่บอกกล่าวเกี่ยวกับ คณะบาดหลวงอย่างใด การที่เปนเช่นนี้ไม่เปนประโยชน์แก่พวก ญวนเข้ารีตอย่างใดเลยข้าพเจ้าจึงไม่ยอม เพราะเหตุว่าเมื่อประมาณ ๒ เดือนที่ล่วงมาแล้วคนเข้ารีตคนนี้มิได้บอกกล่าวให้ข้าพเจ้ารู้เลย แต่จะยอมให้เจ้าพระยาพระคลังเรียกพวกเข้ารีตบางคนไปทำการตามวัดและถ้าข้าพเจ้าไม่ได้เอาเงินให้แก่ขุนนางคน ๑ แล้วพวกเข้ารีตก็คงจะต้องไปทำงารตามวัดจริง การที่คนเข้ารีตคนนี้ทำการโดยอำนาจ ตัวเองดังนี้ ข้าพเจ้าได้เรียกมาว่ากล่าวและได้ยกโทษ และที่ข้าพเจ้ายกโทษให้นั้นกระทำให้เขาขัดเคือง เพราะอีกไม่ช้าเท่าไร นักเขาได้มีหมายเรียกข้าพเจ้าไปยังศาล เจ้าพระยาพระคลังให้ข้าพเจ้าชี้แจงว่า ที่ข้าพเจ้าจะปกครองพวกญวนแต่คนเดียวนั้นเพราะเหตุผล อย่างไร ข้าพเจ้าก็ได้ไปยังศาลตามหมายและได้เตรียมตัวที่จะทำให้คนเข้ารีตคนนี้รู้สึกตัวเพื่อพวกเข้ารีตอื่นๆจะได้ไม่เอาเยี่ยงอย่าง แต่บังเอิญเจ้าพระยาพระคลังหาออกมาชำระความไม่ ความเรื่องนี้ก็เปนอันค้างไป



(หน้า ๒๒)

เรื่องที่ ๒ ซึ่งทำให้ข้าพเจ้าตกใจนั้นเกิดจากคนทรยศคน ๑ ซึ่งอยู่กับพวกบาดหลวง คน ๆ นี้ได้ไปเที่ยวพูดกับขุนนางข้าราชการของเจ้าพระยาพระคลังว่าข้าพเจ้าได้รับคนเข้ารีตหลายคนผิดด้วยประกาศพระราชโองการของพระเจ้าแผ่นดิน แต่ที่เขาได้กล่าวดังนี้เปนคำมุสาทั้งสิ้น เพราะข้าพเจ้ายังไม่เคยได้พบคนไทย มอญ หรือ ลาว ซึ่งอยากจะเข้าสาสนาคริศเตียนจนคนเดียว แต่ความปราถนาของคน ๆ นี้ ก็จะต้องการกล่าวโทษพวกเข้ารีตบางคน พวกข้าราชการจึงได้บอกแก่ คนทรยศคนนี้ให้เขียนคำฟ้องมาจึงจะพิจารณาได้ ข้าพเจ้าไม่ทราบว่าเขาจะได้เขียนแล้วหรือยัง แต่ถ้าเขาได้ทำคำฟ้องยื่นจริงแล้วพวกเราก็น่ากลัวว่าเจ้าพระยาพระคลังคงจะข่มเหงเราเปนแน่ เพราะในเวลานี้เจ้าพระยาพระคลังเกลียดข้าพเจ้ายิ่งนัก เพราะเหตุว่าเจ้าพระยาพระคลังได้มาขอไม้ไผ่ต่อข้าพเจ้าสำหรับเอาไปทำวัด แต่ข้าพเจ้าไม่ได้ให้เพราะให้ไม่ได้อยู่เอง ซึ่งเปนข้อสาเหตุทำให้เจ้า พระยาพระคลังเกลียดข้าพเจ้านัก


เมืองจันทบุรี


จดหมายมองซิเออร์ลาแซร์
ถึงผู้อำนวยการคณะต่างประเทศ
เมื่อ ปี ค.ศ. ๑๗๓๙ (พ.ศ. ๒๒๘๒)
..............................

เจ้าพนักงารได้จับพวกญวนเข้ารีตที่เมืองจันทบุรีส่งเข้าไปยังกรุงศรีอยุธยาหลายครัว โดยไสสัยว่าพวกญวนเหล่านี้จะเปนสลัด



(หน้า ๒๓)

หรือเปนพรรคพวกของสลัดชาติญวนซึ่งมากระทำการร้ายในข่าวสยามอยู่เนือง ๆ พอพวกญวนเหล่านี้ได้มาถึงกรุงศรีอยุธยาก็ได้ตรงมา หาเราเพราะหวังจะได้อยู่กับพวกญวนเข้ารีตใกล้กับโรงเรียนสามเณร แต่พอเจ้าพระยาพระคลังได้ทราบว่าพวกญวนได้มาอยู่ใกล้กับโรงเรียนจึงบังคับให้ญวนเหล่านี้ไปอยู่ในค่ายยี่ปุ่นซึ่งในเวลานั้นว่างอยู่ แต่ถึงพวกนี้จะอยู่ไกลออกไปก็จริง แต่ผู้ที่เปนคนข้ารีตก็ได้มา ฟังสวดที่วัดเสมอ และพวกที่ไม่ได้เข้ารีตได้มาขอเข้ารีตก็หลายคน


มองเซนเยอร์ เดอโลลีแยร์  (ค.ศ. ๑๗๔๑-๑๗๕๖  (พ.ศ. ๒๒๘๔-๒๒๙๙)
เรื่อง เจรจาการเมืองกับราชสำนักสยาม ค.ศ. ๑๗๔๑-๑๗๕๖ (พ.ศ. ๒๒๘๔-๒๒๙๙)
เรื่องมองเซนเยอร์ เดอโลลีแยร์เจรจา การบ้านเมืองกับราชสำนักสยาม ท่านสังฆราชมาถึงเมืองไทย



จดหมาย มองเซนเยอร์ เดอโลลีแยร์
ถึงผู้อำนวยการคณะต่างประเทศ
วันที่ ๑๑ เดือน กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๗๔๓ (พ.ศ. ๒๒๘๖)
..................................

เมื่อพระมหาอุปราชได้ทรงทราบว่าข้าพเจ้าได้มาถึงเมืองมริดและจะได้เลยเข้ามายังกรุงศรีอยุธยาในเร็ว ๆ นี้ ก็ได้ทรงโปรดส่งเรือ



(หน้า ๒๔)

ที่นั่งทรงซึ่งได้เคยทรงแต่ครั้งเดียวมาพระราชทานข้าพเจ้าที่โรงเรียนสามเณร แต่ของที่พวกบาดหลวงได้ถวายและของที่ข้าพเจ้าต้อง ถวายเมื่อมาถึงกรุงศรีอยุธยานั้น ถ้าจะตีราคาก็พอคุ้มกันกับราคา เรือพระที่นั่งพระราชทาน และยังมีของอื่น ๆ ซึ่งทรงหวังว่าจะมี คนถวายอีกเปนอันมากซึ่งต้องนับเปนราคามากอยู่แล้ว ข้าพเจ้าเชื่อว่าพระมหาอุปราชมีประสงค์อย่างเดียวแต่จะเกลี้ยกล่อมผู้คนให้ เข้าเปนพรรคพวกของพระองค์ให้มาก เพราะอาณาประชาราษฎรเกลียดทั้งพระองค์และพระเจ้าแผ่นดินผู้เปนพระราชบิดา แต่จะอย่างไรก็ตาม การที่พระราชทานเรือที่นั่งมาให้ข้าพเจ้านั้น ก็มีผลดีอยู่บ้างเพราะข่าวนี้ได้ลือแซ่ไปทั่วพระราชอาณาจักร์ พอข้าพเจ้าได้เข้าลำน้ำกรุงศรีอยุธยา พวกไทยซึ่งจำเรือของเราได้ก็ได้รีบมาบอก ข่าวเรื่องพระราชทานเรือที่นั่ง ซึ่งเปนการทำให้พวกเข้ารีตเบาใจ ขึ้นมาก เพราะพวกเข้ารีตได้หนักใจและไม่สบายใจตั้งแต่คราว ถูกกดขี่แต่ครั้งก่อนมาแล้ว ข้าพเจ้าต้องขอบใจท่านและคณะบาดหลวงทั้งปวงก็รู้สึกบุญคุณของท่าน ที่ท่านได้กรุณาส่งของมาให้สำหรับถวายพระเจ้ากรุงสยาม ของเหล่านี้ได้มาถึงเมืองปอนดีเชรี เมื่อข้าพเจ้าได้ออกจากเมือง นั้นได้ ๗ วันแล้ว และได้มาถึงเมืองมริดคราวลมมรสุมหลังนี้ เวลานี้ของเหล่านี้ก็ยังตกค้างอยู่ที่เมืองมริด แต่อีกสักสองวันข้าพเจ้าจะได้จัดคนออกไปยังเมืองมริดเพื่อไปรับของเหล่านี้มา ข้าพเจ้า



(หน้า ๒๕)

เกรงว่าถ้าเครื่องแก้วยังไม่แตกก็คงจะแตกตามทางมาจากเมืองมริด แต่ของเหล่านี้เปนของจำเปนอย่างยิ่ง เพราะเหตุว่าถ้าจะมีธุระกับข้าราชการไทยแล้วจะต้องมีของหรือเงินติดมือไปด้วยเสมอ ข้าพเจ้าได้ทราบว่าไทยจะได้รับพระราชสาสนของพระเจ้ากรุงฝรั่งเศส โดยให้เกียรติยศเต็มทุกอย่าง แต่พวกข้าราชการที่ทราบว่าข้าพเจ้าได้เชิญ พระราชสาสนมาแต่หามีเครื่องราชบรรณาการมาด้วยไม่นั้น ได้มาแนะนำว่าอย่าให้ข้าพเจ้าพูดกับเจ้าพระยาพระคลังในเรื่องนี้ เพราะการที่มีพระราชสาสนมาแต่ไม่มีเครื่องราชบรรณาการมาด้วยนั้นเปนเรื่องที่ไม่น่าเชื่อ เพราะฉนั้นที่ไหนเจ้าพระยาพระคลังจะยอมรับ พระราชสาสน แลในเรื่องนี้ได้เคยมีตัวอย่างมาครั้ง ๑ แล้ว คือเมื่อปีกลายนี้พวกฮอลันดาได้นำหนังสือของบริษัทฮอลันดามาถวายพระ เจ้ากรุงสยาม แต่พระเจ้ากรุงสยามไม่ทรงยอมรับหนังสือนั้นโดย อ้างว่าไม่มีของถวายมาด้วย ครั้นมาปีนี้พวกฮอลันดาได้จัดเรือลำใหญ่ให้คนนำหนังสือฉบับนั้นเอามาถวายอีก และคราวนี้มีของถวายมาด้วยเปนอันมาก ถึงดังนั้นเจ้าพระยาพระคลังไม่ยอม ให้พวกฮอลันดามาหาถึง ๓ เดือน ในระหว่างนั้นเปนแต่ให้ผู้ช่วยออกรับแขกแทน เมื่อพวกฮอลันดาได้อธิบายชี้แจงเหตุผลต่าง ๆ ทุกอย่างแล้วเจ้าพระยาพระคลังจึงยอมออกรับ ที่บ้านของเจ้าพระยา -




(หน้า ๒๖)

- พระคลังเอง หาได้ออกรับที่ท้องพระโรงไม่ แต่ถึงมีตัวอย่างอยู่ดังนี้ก็จริง เมื่อข้าพเจ้าได้ไปหาเจ้าพระยาพระคลังที่ท้องพระโรงข้าพเจ้าก็คงได้พูดถึงเรื่องราชสาสนนั้นเอง และเจ้าพระยาพระคลังก็ไม่กล้าที่จะปิดความแต่ต้องนำความกราบทูลให้ทรงทราบและดูเหมือนพระเจ้ากรุงสยามก็ทรงยินดีที่จะรับพระราชสาสนโดยดีเพราะเมื่อ ๒-๓ วันนี้ พระราชโอรสซึ่งได้รับตำแหน่งพระมหาอุปราชมาได้ปี ๑ แล้ว ได้รับคำสั่งให้หาบาดหลวงดีดีมไปเฝ้า และรับสั่งเล่าว่า พระเจ้ากรุงสยามพระราชบิดาทรงเห็นว่าการที่พระราช ไมตรีกับกรุงฝรั่งเศสได้ขาดกันมาช้านาน และจะได้มากลับเปนเปนไมตรีกันในรัชกาลของพระองค์นั้นเปนการเคราะห์ดีมาก และพระมหาอุปราชได้ทรงตรวจหนังสือต่าง ๆ ซึ่งเล่าอธิบายถึงการรับพระราชสาสนของพระเจ้ากรุงฝรั่งเศสแต่ครั้งก่อนๆและรับสั่งว่าในครั้งนี้จะได้รับพระราชสาสนตามแบบเก่าที่เคยทำกันมาแต่ก่อน ๆ แล้วพระมหาอุปราชได้รับสั่งถามว่า พระเจ้ากรุงฝรั่งเศสทรงทราบถึงศิลาจารึกที่มีประกาศพระราชโองการมีข้อห้าม ในการสาสนาของเราและที่พระเจ้ากรุงสยามได้ให้ไปปักไว้หน้าประตูวัดของเรา หรือไม่ บาดหลวงดีดีมกราบทูลโดยระวังตัวว่าพระเจ้ากรุงฝรั่งเศสหา ทรงทราบในเรื่องนี้ไม่ การที่กราบทูลเช่นนี้ก็เพราะเกรงว่าถ้าไทยเข้าใจว่า พระเจ้ากรุงฝรั่งเศสทรงทราบในเรื่องนี้แล้ว ไทยจะเห็นเสียว่าพระเจ้ากรุงฝรั่งเศสทรงเห็นชอบในการที่พระเจ้ากรุงสยามทำการเช่นนี้ ข้าพเจ้า



(หน้า ๒๗)

ยังรอคอยของอยู่เพื่อตรวจดูว่าจะมีอะไรเหลือมาบ้าง ข้าพเจ้าไม่เว้นเลยที่จะอ้อนวอนขอให้พระเยซูเจ้าได้บันดาลให้การทั้งหลายได้ดำเนิรสู่ทางที่ดี แต่ในรัชกาลปัจจุบันนี้ข้าพเจ้าไม่กล้าหวังว่าสิ่งใด จะสำเร็จเลย ถึงแม้ว่าของต่าง ๆ ที่ท่านได้กรุณาส่งมาจะได้มาถึงเมืองนี้ทั้งหมด และเมื่อจะรวบรวมกับของต่าง ๆ ที่ข้าพเจ้าได้จัดซื้อที่ฝั่งคอรอ มันเดลนั้น ก็น่ากลัวว่าของต่าง ๆ เหล่านี้จะไม่พอสำหรับคราวน่า ต่อไป เพราะของเหล่านี้จะต้องไปแจกแก่คนมากต่อมากนัก นอก*ของไปให้เจ้าพระยาพระคลังอีก ยังไม่ใช่แต่เท่านี้ แต่จะต้องเอาของไปให้เจ้าพระยาพระคลังอีกยังไม่ใช่แต่เท่านี้แต่จะต้อง เอาของไปให้เจ้าพนักงารรอง ๆ ลงมาอีกหลายคน เพราะกว่าเราจะถึงตัวเจ้าพระยาพระคลังได้ จะต้องผ่านเจ้าพนักงารรอง ๆ เหล่านี้เปนลำดับไปก่อน และกว่าจะถึงพระเจ้าแผ่นดินก็จะต้องผ่านเจ้าพระยาพระคลังก่อน และยังจำเปนจะต้องหาของถวายพระราชโอรสของพระเจ้าแผ่นดินที่สวรรคต ซึ่งอาณาประชาราษฎรทั่วพระราชอาณาจักร์อยากจะให้เปนพระเจ้าแผ่นดินและซึ่งโปรดปรานพวกเราอยู่ด้วย ทั้งจะต้องถวายของแก่เจ้าอีกองค์ ๑ ซึ่งเปนเชื้อพระราชวงศ์เก่าและเปนผู้ปกครองอุดหนุนพวกมิชันนารีและอุดหนุนสาสนาของเราด้วย เจ้าทั้ง ๒ พระองค์นี้ได้ทรงผนวชเพื่อหนีความตาย และเจ้าองค์ที่เปนเชื้อพระราชวงศ์เก่าต้องแกล้งทำเปนเสียพระจริตอยู่ช้านานเพราะหนีความตาย และเวลานี้แกล้ง



(หน้า ๒๘)

ทำเปนพระเนตร์มืดจนถึงเมื่อเร็ว ๆ นี้ได้ให้คนมาขอแว่นพระเนตร์จากข้าพเจ้า เมื่อการเปนอยู่ดังนี้ ข้าพเจ้าขอท่านให้โปรดเอื้อเฟื้อแก่คณะบาดหลวงนี้ให้มากขึ้น โดยโปรดส่งของมาให้อีก เช่นรูปภาพกระดาษระบายสี รูปภาพ ๔ ระดู รูปโลก ๔ ทวีป รูปเจ้านายทั้งผู้หญิงทั้งผู้ชาย รูปทหารนักรบ รูปคนที่เปนช่างต่าง ๆ รูปบ้านเมืองเปนต้น แต่รูปที่เปนรูปขัน ๆ หาสาระไม่ได้เปนสิ่งที่ไทยชอบมากกว่ารูปอย่างอื่น ถ้าท่านจะส่งของอื่น ๆ เช่นแผนที่โลก แก้ว ๓ เหลี่ยม แหวนฝังพลอยต่าง ๆ ห้องมืดสำหรับเขียนแผนที่ กล้องส่องเยอรมันและหีบเพลงหมุนเช่นนี้ ดูเหมือนของเหล่านี้จะเปนสิ่งที่พระเจ้ากรุงสยามโปรดทั้งสิ้น การที่ข้าพเจ้าขอของต่าง ๆ นั้น เพื่อเอามาไว้ป้องกันตัวไม่ให้ไทยมารังแกข่มเหง และถ้าหากว่าจะมีธุระอย่างใดที่เกี่ยวด้วย การสาสนาแล้วจะได้เอาของเหล่านี้สำหรับเปนหนทางช่วย ให้การนั้น ๆ ได้ดำเนิรไปโดยสดวกเท่านั้น



จดหมายมอง ซิเออร์ อาเมอโลด์
ถึงมองซิเออร์คอมบ์ หัวหน้า คณะการต่างประเทศ
พระราชวังเวอซาย
วันที่ ๒๘ เดือนพฤศจิกายน ค.ศ. ๑๗๔๐ (พ.ศ. ๒๒๘๓)
................................

ด้วยพระเจ้ากรุงฝรั่งเศสได้โปรดให้มีพระราชสาสนไปถวายพระเจ้ากรุงสยามอีกฉบับ ๑ ข้าพเจ้าจึงได้คัดสำเนาพระราชสาสนนั้นส่ง



(หน้า ๒๙)

มายังท่านเพื่อท่านจะได้ทราบข้อความตามพระราชสาสนนั้น ข้าพเจ้าเข้าใจว่าพระราชสาสนฉบับนี้ควรจะต้องลงวันให้ตรงกับพระราชสาสนฉบับที่ได้มอบไปกับมองซิเออร์ โลลีแยร์ และซึ่งท่านได้บอกมายังข้าพเจ้าว่าได้หายเสียแล้วนั้น ท่านคงจะเห็นได้ว่าในพระราชสาสนฉบับนี้ได้ดำเนินความตามที่ท่านได้ออกความเห็นไว้ คือมิได้พูดถึงการสาสนาของเราจนคำเดียว และข้อความในพระราชสารนั้นก็เปนแต่ความสามัญเท่านั้น


สำเนาพระราชสาสนพระเจ้าหลุยที่ ๑๕
ถวายพระเจ้ากรุงสยาม
............................

ทูลท่านผู้สูงสุดประกอบด้วยความอารีอารอบเพื่อนที่รักของเรา ขอให้พระเปนเจ้าได้โปรดเพิ่มพูลพระอิศริยยศของ พระองค์ ให้มากขึ้นจนสิ้นกาลสมัย ด้วยเราได้ทราบว่าไพร่ฟ้าข้าแผ่นดิน ของเราหลายคน ได้มีความนิยมในความยุติธรรมของพระองค์ จึงได้พยายามไปตั้งบ้านเรือนในพระราชอาณาจักร์ของพระองค์ ฝ่ายมองซิเออร์ โลลีแยร์ซึ่งเปนข้าแผ่นดินของเราก็ได้คิดจะไปอยู่ใน พระราชอาณาเขตของ พระองค์เหมือนกัน เพราะฉนั้นเราจึงมอบพระราชสาสนฉบับนี้ให้มอง ซิเออร์โลลีแยร์นำไปถวายต่อพระองค์ เพื่อเปนการแสดงความนับถือที่เรามีต่อพระองค์ เราเชื่อได้แน่ว่าเมื่อพระองค์ได้เห็นในคุณความดีของมองซิเออร์ โลลีแยร์แล้ว พระองค์ก็คงจะทรงกรุณาแก่เขาไม่น้อย


(หน้า ๓๐)

กว่าที่ทรงกรุณาแก่ข้าแผ่นดินคนอื่นๆ ซึ่งพระองค์ได้กรุณาอยู่แล้วเพราะ ฉนั้นในที่นี้จะทูลได้แต่อย่างเดียวว่า เมื่อมองซิเออร์โลลีแยร์ได้รับพระมหากรุณาจากพระองค์มากน้อยเท่าไรแล้ว เราก็จะหาโอกาศตอบแทนพระคุณของพระองค์ทุกเมื่อ เพราะฉนั้นในที่สุดนี้ เราจึงขอให้พระเปนเจ้าได้เพิ่มพูลพระเกียรติยศของพระองค์ ให้ทวีขึ้น


เขียนที่พระราชวังฟอนเตนโบล ณ วันที่ ๑๑ พฤศจิกายนค.ศ. ๑๗๓๘ (พ.ศ. ๒๒๘๑) (เซน) เพื่อน ที่รักของพระองค์ หลุย


จดหมายมองซิเออร์ ลาแซร์
ถึงผู้อำนวยการคณะต่างประเทศ
วันที่ ๒๔ เดือน ธันวาคม ค.ศ. ๑๗๔๒ (พ.ศ. ๒๒๘๕)
...............................

พวกคณะบาดหลวงได้จัดการให้ไปนัดหมายที่ท่าน สังฆราชจะไปหาเจ้าพระยาพระคลังแต่เพอิญได้เกิดการขัดข้องต่างๆหลายอย่าง การที่ท่านสังฆราชจะไปหาเจ้าพระยาคลังนั้นจึงต้องนัดเลื่อนไปจนถึงสิ้นเดือนสิงหาคม ท่านสังฆราชได้เชิญให้ข้าพเจ้าลงมาจากบ้านมหาพราหมณ์เพื่อไปหาเจ้าพระยาพระคลังด้วยกัน ข้าพเจ้าก็ได้ลงมาจากบ้านมหาพราหมณ์ในวันนั้นเอง ข้าพเจ้าได้คาดไว้ว่าเจ้าพระยาพระคลังคงจะได้รับรองท่านสังฆราชอย่างดี แต่ต้องกลับเสียใจที่ได้เห็นท่าทางอันหยิ่งของเจ้าพระยาพระคลัง ในที่นี้ไม่จำเปนจะต้องอธิบาย



(หน้า ๓๑)

โดยยืดยาว ข้าพเจ้าจะเล่าเพียงแต่ว่า เมื่อท่านสังฆราชได้ไปหาเจ้าพระยาพระคลังนั้น เจ้าพนักงารจะยกเก้าอี้ให้ท่านสังฆราชนั่ง หรือที่สุดจะปูพรมให้นั่งเปนพิเศษก็ไม่มี แต่เขาต้องการให้ท่านสังฆราช นั่งกับพื้นปนเปกับพวกข้าราชการที่ล้อมเจ้าพระยาพระคลังออกแน่นไป แต่การที่ไทยตั้งใจจะแสดงความดูถูกสังฆราชเช่นนี้หาได้สมปราถนา ไม่ เพราะข้าพเจ้าได้เอาไม้กระดานซึ่งได้ใช้ในเรือ มาตั้งซ้อน ๆ ต่างเก้าอี้ให้ท่านสังฆราชนั่ง การที่สนทนากันในคราวนี้ก็อย่างตึง ๆ ไม่สนิทสนมกันเลย คำถามของเจ้าพระยาพระคลังก็ไม่มีแก่นสารอย่างใดและส่วนของต่าง ๆ ที่ท่านสังฆราชได้เอาไปให้เจ้าพระยาพระคลังนั้นก็เปนของแต่เล็กน้อยเท่านั้น


เรื่องเพลิงไหม้พระราชวัง
การให้รางวัลแก่พวกเข้ารีต


จดหมายมองซิเออร์ลาแซร์
ถึงผู้อำนวยการคณะต่างประเทศ
วันที่ ๑๓ เดือน มินาคม ค.ศ. ๑๗๔๕ (พ.ศ. ๒๒๘๘)
..............................

เมื่อคืนวันที่ ๒๐ ที่ ๒๑ เดือน พฤศจิกายน ได้เกิดเรื่องขึ้นที่กรุงศรีอยุธยาซึ่งเปนการสมควรที่จะต้องเล่าให้ท่านทราบคือได้เกิด เพลิงไหม้พระราชวังที่พระเจ้ากรุงสยามองค์ปัจจุบันนี้เคยประทับอยู่เสมอ



(หน้า ๓๒)

และซึ่งเรียกกันว่าพระราชวังน้อย เมื่อพระเจ้ากรุงสยามพระองค์นี้ได้ขึ้นครองราชสมบัติ ไม่ทรงยอมไปประทับในพระราชวังใหญ่แต่คงประทับอยู่ในพระราชวังน้อยนี้ เพราะเหตุว่าโหรได้ทำนายไว้ว่าถ้าเสด็จไปประทับยังพระราชวังใหญ่ซึ่งเปนที่ประทับของพระเจ้าแผ่นดินก่อน ๆ เวลาใดก็จะต้องสวรรคตทันที เพลิงไหม้คราวนี้มิได้ไหม้แต่ฉเพาะพระราชวังองค์เดียว แต่ได้ไหม้ตำหนักเจ้านายซึ่งอยู่รอบในพระราชวังนี้ทั้งหมดด้วย การที่เกิดเพลิงขึ้นคราวนี้ต้นไฟจะเกิดจากอะไรนั้น มีคนพูดเล่าลือเสียงต่าง ๆ กัน ฝ่ายพวกข้าราชการชั้นผู้ใหญ่เล่าว่า มีไฟก้อนกลม ๆ ตกลงมาจากฟ้ามาถูกพระที่นั่ง บางคนก็พูดว่าหญิงคนใช้ของพระธิดาพระเจ้ากรุงสยามได้เอาไฟเผาแมลง ไฟก็เลยติดลุกลามไหม้เอาพระที่นั่ง บางคนซึ่งบางทีจะเปนคนที่รู้จริงเล่าด้วยเสียงเบา ๆ ว่าการที่เพลิงไหม้นี้ก็คือพระเจ้าแผ่นดินเองได้ทรงจุดขึ้นแต่มิได้ทรงแกล้งอย่างใด แต่จะอย่างไรก็ตาม การที่เกิดเพลิงไหม้พระราชวังคราวนี้ เจ้าพนักงารหาได้ไต่สวนว่าต้นไฟจะมาจากอะไรไม่ เมื่อเกิดเหตุอันน่าเสียใจขึ้นเช่นนี้ พระเจ้าแผ่นดินก็ไม่ทรงทราบว่าจะทำอะไรดี มีข้าราชการผู้ใหญ่ ๒ คน ได้กราบทูลให้เสด็จหนีเสีย พระเจ้ากรุงสยามตกพระไทยถึงกับรับสั่งถามว่าพระทวารอยู่ทางไหนเล่า ข้าราชการ ๒ คนนั้นมิได้ฟังเสียงอะไร ก็อุ้มพระองค์ขึ้นแบกบ่าพาเสด็จไปประทับยังวัดที่อยู่ใกล้ เคียง ครั้นพระเจ้ากรุงสยามได้คลายตกพระไทยลงบ้างเล็กน้อย จึง



(หน้า ๓๓)

ได้รับสั่งให้เจ้าพนักงารไปเก็บรวบรวมสรรพหนังสือต่าง ๆ ซึ่งเกี่ยวด้วยพงศาวดารและการแผ่นดินอย่าให้เพลิงไหม้หนังสือเหล่านี้ได้ และเจ้าพนักงารก็ได้ไปเก็บหนังสือต่าง ๆ เหล่านี้เพลิงหาได้ไหม้ไม่ อีกสักครู่ ๑ ก็ได้เสด็จไปประทับยังที่เพลิงไหม้ เพื่อทอดพระเนตร์ให้เจ้าพนักงารเก็บพระราชทรัพย์เท่าที่จะเก็บได้ พระราชทรัพย์เหล่านี้มีเครื่องเงินเครื่องทอง และเงินตราเปนอันมากซึ่งควรจะหลอมและทำใหม่จะดีกว่า พระเจ้ากรุงสยามได้ประทับในกระโจมผ้า (เต๊น) พร้อมด้วยข้าราชการและเจ้านายอยู่หลายเวลา ในระหว่างนั้นได้มีคนเอาของมาถวายมากมายก่ายกองจนเกือบจะบันทุกเรือสำเภา ได้หลายลำ และได้มีคนมาแนะนำแก่มองเซนเยอร์ เดอยูลิโอโปลิศว่าควรจะเอาของไปถวายเสียบ้าง แต่มองเซนเยอร์เดอยูโอโปลิศ ได้รออยู่จนถึงวันที่ ๓ เดือน ธันวาคม จึงได้เอาของไปถวาย ของที่เอาไปถวายนั้นเปนของราคาเล็กน้อย แต่จะทำอย่างไรได้ เวลาก็จวนตัวและเราก็ไม่มีของอะไรนอกจากผ้าแดง ๑๐ แขน แพรแดงดอกเงินหนึ่งผืน มีดโต๊ะสำหรับรับประทานอาหาร ๖ เล่ม กับมีดเล็ก ๑๒ เล่ม เท่านั้น ข้าพเจ้าได้ตามท่านสังฆราชไปหาเจ้าพระยาพระคลังเพื่อนำของไปถวายด้วย เจ้าพระยาพระคลังได้แต่งตัวอย่างงดงามมาก นั่งอยู่บนแท่นสูง ๓ ฟิต แท่นนั้นประดับกระจกเงากรอบทองซึ่งสั่งมาแต่ยุโรป และมีหม้อมาจากเมืองจีนประดับ -




(หน้า ๓๔)

- อยู่หลายหม้อ เจ้าพระยาพระคลังได้รับรองเราอย่างดี ได้เอาหมากพลูมาให้เรารับประทานและได้รับรองว่าจะนำของๆ ท่านสังฆราชส่งเข้าไปถวายให้ ภายหลังเราได้ทราบว่าท่านเจ้าพระยาพระคลังได้นำของไปถวายจริงดังได้สัญญาไว้ และพระเจ้ากรุงสยามก็ได้ทรงรับของเหล่านั้นไว้ จึงได้ทรงพระราชดำริห์จะพระราชทานของให้แก่คณะบาดหลวงบ้าง และได้รับสั่งให้พวกขุนนางข้าราชการทราบตามพระราชดำริห์นั้น การที่รับสั่งดังนี้เจ้าพระยาพระคลังหารู้สึกไม่ว่าตามรับสั่งนี้เปนเชิงจะทรงปฤกษาข้าราชการว่าจะควรเอาของอย่างไรพระราชทานแก่สังฆราชเพราะฉนั้น เมื่อวันที่ ๑๘ เดือนธันวาคม เจ้าพระยาพระคลังจึงได้ให้ข้าราชการมาบอกแก่มองเซนเยอร์เดอยู ลีโอโปลิศโดยอ้างพระราชโองการ ว่าพระเจ้ากรุงสยามได้โปรด ให้เจ้าพนักงารตีราคาของที่ท่านสังฆราชได้ถวายแล้ว เจ้าพนักงารได้ราคาของเหล่านั้นเปนราคา๑๕ตำลึงแต่มีด ๑๘ เล่มนั้นหาได้คิดรวมในราคานี้ไม่ แล้วเจ้าพระยาพระคลังจึงรับพระราชโองการให้มาถามว่า ท่านสังฆราชจะต้องประสงค์ของสิ่งไรบ้าง มองเซนเยอร์เดอยูลีโอโปลิศจึงได้เขียนเปนจดหมายตอบไปยังเจ้าพระยาพระคลังว่า ท่านสังฆราชไม่ต้องการอะไรนอกจากหวังให้พระเจ้ากรุงสยามได้ทรงพระเจริญ ยิ่งๆ ขึ้นไปและหวังในพระมหากรุณาที่จะทรงปกปักรักษาตัวท่านสังฆราชและพวกเข้ารีตทั่วไป จดหมายฉบับนี้เจ้าพระยาพระคลังได้ส่งเข้าไปถวาย ครั้นทรงอ่านตลอดเรื่องแล้วก็กริ้วว่าไม่ ควรจะไปถามตัว



(หน้า ๓๕)

ท่านสังฆราชเองว่าจะต้องการอะไรบ้าง ถ้าถามไปตรง ๆ เช่นนี้ที่ไหนสังฆราชจะบอกตามจริงว่าต้องการอะไร ควรจะไปถามพวกเข้ารีตที่เปนหัวหน้าจึงจะถูก ครั้นได้มีพระราชดำรัสดังนี้ จึงได้มีข้าราชการคน ๑ ได้ไปเที่ยวสืบถามตามพวกเข้ารีต มีคนเข้ารีตคน ๑ ตอบอย่างฉลาดมากว่า ในเวลานี้พวกเข้ารีตอัตคัดมากเพราะ ไม่ได้ยกเว้นส่วยสาอากรดังแต่ก่อน ๆ และส่วนตัวสังฆราชนั้นเชื่อว่าถ้าได้โปรดพระราชทานที่ดิน และโปรดยกเว้นไม่เก็บส่วยสาอากรแก่พวกเข้ารีตแล้ว ท่านสังฆราชคงจะยินดีที่สุดแต่ข้าราชการผู้ที่เที่ยวซักถามพวกเข้ารีตนั้นหาได้พูดตามคำที่พวกเข้ารีตกล่าวไม่ กลับไปรายงารต่อเจ้าพระยาพระคลังว่าท่านสังฆราชต้องซื้อผ้าขาว ซื้อฟืน ซื้อเข้าสารทุก ๆ ปี เพราะฉนั้นถ้าพระเจ้ากรุงสยามได้พระราชทานของเหล่านี้แล้ว ท่านสังฆราชก็คงจะพอใจเปนอันมาก เจ้าพระยาพระคลังก็เห็นด้วยตามที่ข้าราชการผู้นั้นกล่าว เพราะ ฉนั้นเมื่อวันที่ ๒ เดือน มกราคม เจ้าพระยาพระคลังจึงได้ส่งของพระราชทานมายังท่านสังฆราช คือผ้าทอในพื้นเมือง ๑๐๐ ผืน ๆ ๑ ถ้าจะตีราคาก็ไม่ถึง ๒ มายอง(๑) และบอกให้ไปรับน้ำมันยางอีก ๑๗ ทนานด้วย

--- (๑) ในสมัยนั้นตามที่มีชชันนารีบอก มายอง ๑ คิดเปน ราคากว่า ๙ อัฐ (ฝรั่งเศส) เล็กน้อย



(หน้า ๓๖)

เรื่องอังกฤษกับฝรั่งเศสถูกจับ


จดหมายมองเซนเยอร์เดอโลลีแยร์
ถึงผู้อำนวยการคณะต่างประเทศ
วันที่ ๗ เดือน พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๗๔๕ (พ.ศ. ๒๒๘๘)
..............................

ด้วยได้มีผู้ร้ายชาติอังกฤษรวม ๒๗ คนได้ไปลักเรือฝรั่งเศส ที่เมืองปอนดีเชรี ลำ ๑ ใน ครั้งนี้พระเจ้ากรุงสยามได้ทรงเปนพระราชธุระช่วยฝรั่งเศสเปนอันมาก เมื่อเจ้าเมืองตะนาวศรีมีบอกส่ง ข่าวมาว่าอย่างไร พระเจ้ากรุงสยามก็โปรดให้นำข่าวนั้นๆ มาบอกให้พวกเราทราบทุกคราว และได้โปรดให้ข้าราชการมาปฤกษากับข้าพเจ้า ว่าจะควรทำอย่างไรกับพวกอังกฤษที่ยังอยู่ที่เมืองมริดในเวลานี้ แล้วพระเจ้ากรุงสยามได้โปรดให้แต่งเรือรบออกไปไล่จับพวกผู้ร้ายอังกฤษเหล่านั้น เรือรบไทยไปจับนายเรืออังกฤษได้ จึงได้คุมมายังกรุงศรีอยุธยาพร้อมกับชาวอังกฤษอีก ๕ คนกับชาวฝรั่งเศส ๔ คน ซึ่งต้องหาว่าไปทำการจลาจลในเมืองมริด แต่ในพวกอังกฤษที่จับมาได้นั้นได้ตายไปเสีย ๓ คนแล้วเพราะทนความทรมานไม่ไหว ในสามสี่วันมานี้เจ้าพนักงารของเจ้าพระยาพระคลังได้รับพระราชโองการให้พานักโทษเหล่านี้มาพิจารณาต่อหน้าข้าพเจ้า แต่ในการชนิดนี้ข้าพเจ้าหาเกี่ยวข้องด้วยไม่เปนแต่พยายามช่วยนักโทษไม่ว่าอังกฤษหรือฝรั่งเศสให้พ้นจากความกดขี่ และความทรมานเท่านั้น



(หน้า ๓๗)


จดหมายมองเซนเยอร์เดอโลลีแยร์
ถึงผู้อำนวยการคณะต่างประเทศ
วันที่ ๒๖ เดือน มกราคม ค.ศ. ๑๗๔๗ (พ.ศ. ๒๒๙๐)
...............................

ในเรื่องนักโทษฝรั่งเศสและอังกฤษซึ่งถูกจับส่งมายังกรุงศรีอยุธยาจากเมืองตะนาวศรีนั้น เมื่อได้รับความลำบากมามากแล้วก็ได้เปนอันสงบกันไปได้ เพราะข้าพเจ้าได้ทำเรื่องราวถวายขอให้ ปล่อยคนเหล่านี้ให้พ้นโทษ และได้ถวายเรื่องราวเปนลำดับไป ขอให้ทรงโปรดจัดส่งคนเหล่านี้กลับไปยังเมืองมริด และได้โปรดให้ จัดเกวียนเปนพาหนะทั้งให้มีล่ามกำกับพวกนี้ไปด้วย และข้าพเจ้าก็ได้ขอให้ไทยได้มีคำสั่งไปยังเจ้าเมืองตะนาวศรี ให้คืนทรัพย์สมบัติของคนเหล่านี้ที่ยังตกค้างอยู่ที่เมืองมริดหรือเมืองตะนาวศรีให้กับ เขาด้วย ตามที่ข้าพเจ้าได้ขอร้องดังนี้ ได้โปรดพระราชทานตามที่ข้าพเจ้าขอทุกประการ แต่เข้าของทรัพย์สมบัติของคนเหล่านี้ซึ่ง ได้ไปปล้นมาจากพวกแขกมัวและปล้นจากเรือนั้น ได้ถูกคนไทยลักไปเกือบหมดแล้ว ชาวฝรั่งเศสคน ๑ ชื่อฟีลีแบต์เลอเบริ่ง เปนคนเกิดที่เมืองนานต์ในประเทศฝรั่งเศส ได้เคยเปนนายสิบโทกองทหาร ที่เมืองปอนดีเชรีและเมืองจันเดอนากอร์ ป่วยมากจะไปเมืองมริดไม่ได้ ครั้นเมื่อต้นเดือนมินาคมชาวฝรั่งเศสคนนี้ก็ได้ถึงแก่กรรม แต่ก่อนที่จะตายนั้นข้าพเจ้าได้จัดการตามลัทธิของสาสนา ให้ทุกประการ



(หน้า ๓๘)

เรื่องของถวายพระเจ้าแผ่นดิน


จดหมายมองเซนเยอร์เดอโลลีแยร์
ถึงผู้อำนวยการคณะต่างประเทศ
วันที่ ๔ เดือน มกราคม ค.ศ. ๑๗๔๘ (พ.ศ. ๒๒๙๑)
...............................

ข้าพเจ้าได้นำสมุดซึ่งมีรูปภาพทั้งเล็กและใหญ่ถวายต่อพระ เจ้ากรุงสยาม และได้ถวายรูปอย่างอื่น ๆ ต่อพระมหาอุปราชผู้เปนพระราชโอรสของพระเจ้าแผ่นดิน และได้ส่งรูปไปให้เจ้าพระยาพระ คลังบ้างเหมือนกัน ทั้งพระเจ้ากรุงสยาม พระมหาอุปราช และเจ้าพระยาพระคลัง ได้รับรูปไว้โดยดี ภายหลังมาไม่ช้าเท่าไรนักพระเจ้ากรุงสยามได้รับสั่งให้มองซิเออร์คอนซตันติน หลานของมองซิเออร์คอนซตันซึ่งเคยมีชื่อเสียงโด่งดังมาแต่ก่อนแล้วนั้น ไปเที่ยวหาคนที่จะทำหีบเพลง (ออกัน) อย่างเยอรมัน เมื่อข้าพเจ้าได้ทราบดังนี้จึงได้นำหีบเพลงที่ท่านได้ส่งมาให้ข้าพเจ้านั้นส่งขึ้นไปถวาย แต่หีบเพลงนั้นก็ได้เปนสนิมมาก ถึงดังนั้นพระเจ้ากรุง สยามก็โปรดมาก จึงได้พระราชทานเงินมาให้ข้าพเจ้า ๑ ชั่ง ซึ่งคิดเปนเงินเหรียญก็อยู่ในราว ๕๐ เหรียญ แต่ความจริงการที่ข้าพเจ้าได้ถวายหีบเพลงไปนั้นก็มิได้คิดจะเอาเงินอย่างใด ครั้นมาภายหลังอีกไม่กี่วันมองซิเออร์คอนซตันตินได้มาบอกกับข้าพเจ้าว่าพระมหาอุปราชคงจะโปรดหีบเพลงอันเล็ก ข้าพเจ้าจึงได้จัดส่งไปถวาย



(หน้า ๓๙)

และพระมหาอุปราชก็ได้ประทานเงินมายังข้าพเจ้า ๑๐ ตำลึง แต่เจ้าพนักงารผู้นำเงินนั้นมาได้ชักเอาไว้เสีย ๓ ตำลึง ข้าพเจ้าคงได้รับเงิน ๗ ตำลึงเท่านั้น ซึ่งคิดเปนเงินเหรียญก็อยู่ในราว ๑๕ เหรียญ ส่วนของอื่น ๆ ที่ยังเหลืออยู่นั้นข้าพเจ้าจะเก็บรักษาไว้ก่อน เพื่อหาโอกาศถวายในคราวหลัง ถ้าท่านจะส่งถุงมือมาให้ข้าพเจ้าได้สักสองหรือสามคู่ก็จะเปนของที่ต้องพระราชประสงค์มาก เพราะถึงระดูหนาวทุกปีมีคนมาขอถุงมือเสมอทุกปี และปีนี้ก็หนาวจัดผิดธรรมดาก็ได้มีคนมาขอถุงมือหลายครั้ง เจ้าพนักงารได้ส่งถุงพระหัตถ์มาให้ข้าพเจ้าดูเพื่อให้ข้าพเจ้าจัดหามาถวาย ถุงที่ทรงใช้อยู่ในเวลานี้ขาดหมดต้องเอาผ้าสีต่าง ๆ ดามและปะน่าเกลียดมาก


เมืองทวาย


จดหมายมองซิเออร์ เมแยร์
ถึงผู้อำนวยการคณะต่างประเทศ
วันที่ ๓ เดือน ธันวาคม ค.ศ. ๑๗๔๙ (พ.ศ. ๒๒๙๒)
..............................

เมื่อมองซิเออร์บรีโกได้มาถึงเมืองนี้สักสองสามวัน ก็ได้รับจดหมายจากคนเข้ารีตในเมืองทวายฉบับ ๑ บอกมาว่าเจ้าเมืองทวายมีความปราถนาอยากจะได้มิชันนารีไปอยู่ด้วยสักคน ๑ และคนเข้ารีตคนนั้นหวังใจว่า ตัวคงจะได้นำจดหมายของเจ้าเมืองทวายมาถึงมองซิเออร์บรีโก เพื่อขอให้จัดส่งบาดหลวงไปเมือง



(หน้า ๔๐)

ทวายสักคน ๑ และเจ้าเมืองทวายจะได้อนุญาตให้บาดหลวงคนนั้นได้สอนสาสนาคริศเตียนได้โดยสดวกทุกอย่าง จดหมายที่ว่านี้ก็ได้มาถึงมองซิเออร์บรีโกแล้ว สำนวนที่เขียนในจดหมายนั้นเปน สำนวนอย่างอ่อนน้อมสุภาพมากและเร่งในการส่งมิชันนารีด้วย มอง ซิเออร์ดูบัวเชื่อตัวว่าการที่จะไปอยู่เมืองทวายนั้นก็คงจะเปนแห่ง ที่พระเปนเจ้าพอใจจะให้ไป เพราะฉนั้นมองซิเออร์ดูบัวจึงได้เตรียมตัวจะออกไปยังเมืองทวายในราววันที่ ๔ หรือ ที่ ๕ เดือนนี้เพื่อจะออกไปสอนสาสนาคริศเตียนเพราะที่เมืองทวายนี้ยังไม่มีใคร ได้เคยไปสอนศาสนาคริศเตียนเลย เมืองทวายนี้เปนเมืองซึ่งมีพลเมืองประมาณ ๕๐,๐๐๐ หรือ ๖๐,๐๐๐ คน ห่างจากเมืองมริดทางทะเล ๓๐ ไมล์ ถ้าทางบกใกล้กว่าสักหน่อย แต่ทางเดิรทางบกน่ากลัวอันตรายมากเพราะเต็ม ไปด้วยเสือและช้างโขลง สาสนาคริศเตียนยังไม่เคยได้ไปสอนกันในเมืองทวายเลย แต่ถึงดังนั้นก็ได้มีคนเข้ารีตคน ๑ ได้เอาไม้กาง เขนของพระเยซูไปไว้ที่เมืองนั้น คนเข้ารีตคนนี้ได้ให้น้ำมนต์แก่เด็กหลายคนและได้เอาธงของพระเยซูไปปักไว้ในที่แห่ง ๑ เพื่อเจ้าเมืองมริดจะได้ไม่ว่ามองซิเออร์บรีโกได้ มองซิเออร์บรีโกกับมองซิเออร์ดูบัวได้มีจดหมายไปยังมองเซนเยอร์เดอยูลีโอโปลิศเพื่อ ขออนุญาตที่จะออกไปตั้งคณะบาดหลวงที่เมืองทวาย แต่มีเหตุจำเปนจะคอยรับคำตอบไม่ได้ และเชื่อกันว่าท่านสังฆราชคง จะเห็นชอบด้วย



(หน้า ๔๑)


จดหมายมองซิเออร์ดูบัว
ถึงผู้อำนวยการคณะต่างประเทศ
วันที่ ๑๔ เดือน มีนาคม ค.ศ. ๑๗๕๑ (พ.ศ. ๒๒๙๔)
................................

พระเยซูเจ้าได้โปรดให้ข้าพเจ้าต้องเปลี่ยนความคิด ด้วยเดิมข้าพเจ้าได้ตั้งใจไว้ว่าจะออกไปสอนสาสนาที่เมืองทวายและดูก็ จะเปนการสำเร็จอยู่แล้ว เพราะเจ้าเมืองทวายจะต้องการมิชันนารีให้ไปอยู่สักคน ๑ และเจ้าเมืองทวายก็จะช่วยเหลือออกทุนทรัพย์ ให้ทุกอย่าง จนถึงกับส่งคนมาให้รับข้าพเจ้าและได้เตรียมการที่จะ ออกไปเมืองทวายอยู่แล้ว พอดีรัฐบาลไทยได้ทราบเรื่องเข้า จึงได้ห้ามขาดมิให้คนของเจ้าเมืองทวายรับมิชันนารีไปด้วย คน เหล่านี้มีความกลัวก็ไม่ได้คิดการอย่างไรนอกจากจะหลอก ข้าพเจ้าและคิดจะหนีเท่านั้น บัดนี้เขาก็ได้หนีไปหมดแล้ว




(หน้า ๔๒)


ความลำบากต่าง ๆ
เรื่องการรังแกและข่มเหงพวกมิชันนารี และพวกเข้ารีต ที่กรุงศรีอยุธยา
เรื่องไทยกดขี่พวกเข้ารีตของคณะบาดหลวงเซนต์โยเซฟที่กรุงศรีอยุธยา ในปลายปี ค.ศ.๑๗๔๓(พ.ศ. ๒๒๘๖) และต้นปี ค.ศ. ๑๗๔๔ (พ.ศ. ๒๒๘๗)

---


ต้นเหตุที่จะเกิดการกดขี่เพราะมีผู้ร้ายลักไม้ไผ่

.........................

เมื่อวันเสาร์ที่๒๘ เดือน ธันวาคม ค.ศ. ๑๗๔๓ (พ.ศ. ๒๒๘๖) ได้มีคนมาบอกกับท่านสังฆราชว่า มีคนไทยมาตัดไม้ไผ่ในเขต บ้านบาดหลวงโดยไม่ได้รับอนุญาต และเมื่อพวกเข้ารีตได้ห้าม ปราม พวกไทยกลับทุบตีพวกเข้ารีต ท่านสังฆราชจึงได้ให้ มองซิเออร์ลาแซร์ไปดูว่าเปนเรื่องอย่างไรกันและให้จัดการระงับเสีย มองซิเออร์ลาแซร์จึงได้ไปโดยทันที พร้อมกับพวกเข้ารีตสองสาม คนแต่ได้มีพวกเข้ารีตอื่น ๆ ได้มาสมทบด้วยเปนอันมาก มอง ซิเออร์ลาแซร์จึงไปถามได้ความว่า มีไทย ๗ หรือ ๘ คนได้มายัง เขตบ้านบาดหลวง หาได้เอาคำสั่งให้ล่ามดูไม่ แต่ได้ลงมือตัดไม้ ไผ่ในเขตบ้านบาดหลวงทีเดียว ครั้นญวนเข้ารีตคนหนึ่งได้มา ห้ามปราม พวกไทยก็กลับด่าและใช้คำอยาบต่าง ๆ ทั้งทุบและต่อย จนญวนเข้ารีตคนนั้นเลือดโทรมหน้าและตัวแขงกระดิกไม่ได้ แต่ ครั้นไทยได้ทราบว่า ได้มีคนมาบอกบาดหลวงและพวกเข้ารีตกำลัง



(หน้า ๔๓)

รวบรวมคนอยู่นั้น พวกไทยก็ได้ลงเรือไปเอาไม้ไผ่ไปด้วย ๒ ลำ เมื่อมองซิเออร์ลาแซร์ได้มาถึงที่เกิดเหตุนั้น พวกไทยได้พายเรือ ไปไกลแล้ว มองซิเออร์ลาแซร์จึงได้ให้พวกเข้ารีตลงเรือลำอื่น ไปตามจับคนไทยแลได้พาไทยมายังบ้านบาดหลวง ครั้นพวกเข้า รีตได้ไปตามคนไทยมาแล้ว พวกบาดหลวงก็ยึดตัวหัวหน้าไทยไว้ จนกว่าจะได้ไปแจ้งความให้เจ้าพระยาพระคลังทราบถึงเหตุที่เกิด ขึ้นนี้ แต่ล่ามของเราเปนคนขลาดไม่กล้านำความไปบอกเจ้าพระยาพระคลัง แต่จะขอให้ท่านสังฆราชมีจดหมายไป แต่กว่าจะเขียนหนังสือแล้ว และกว่าจะแปลเปนภาษาไทยเสร็จ พวกไทยอื่น ๆ ที่มาตัดไม้ไผ่นั้น ได้นำความไปเรียนต่อเจ้าพระยาพระคลังเสียแล้ว ว่าตัวได้เอาคำสั่งของเจ้าพระยาพระคลังให้ล่ามดูแล้ว แต่พวก เข้ารีตไม่ฟังคำสั่งจึงได้รับคำสั่งของท่านสังฆราชและพวกบาดหลวง ให้มาด่าและทุบตีคนไทย แล้วจับเรือของพวกไทยไว้และยังมิหนำ ซ้ำได้ยึดตัวคนไทยไว้ด้วยคนหนึ่ง พอเจ้าพระยาพระคลังได้ทราบ ความดังนี้ ก็โกรธพวกบาดหลวงและพวกเข้ารีตเปนหนักหนา เพราะเจ้าพระยาพระคลังคนนี้เปนผู้ที่เกลียดสาสนาคริศเตียนอย่างยิ่งจึงได้ใช้ให้คนมารับคนที่เรากักตัวไว้เราก็ได้ส่งตัวไปให้ ครั้นภายหลังล่ามของเราได้นำจดหมายของสังฆราชไปยังศาลเจ้าพระยาพระคลัง ๆ หรือใคร ๆ ก็ไม่ยอมฟังเสียงล่ามและไม่ยอมรับจดหมายของสังฆราชเปนอันขาด และในจดหมายฉบับนั้นท่านสังฆราชได้ชี้แจงเหตุผล ตามความที่เปนจริงไปโดยเลอียด เจ้าพระยาพระคลังจึงได้สั่งให้ -



(หน้า ๔๔)

- เฆี่ยนล่าม และให้เจ้าพนักงารไปจับพวกเข้ารีตเพื่อจะเอาไปเฆี่ยน บ้าง ฝ่ายล่ามได้เล็ดลอดหนีมาได้ จึงได้นำความมาบอกให้พวกเราทราบ มองซิเออร์ลาแซร์กับมองซิเออร์ดีดีม จึงได้รับจดหมายของท่านสังฆราชไปหาเจ้าพระยาพระคลัง เพื่อจะได้ไปชี้แจงความเปนจริงให้เจ้าพระยาพระคลังทราบและได้พาล่ามไปด้วย ครั้นไปถึงบ้านเจ้าพระยาพระคลัง ๆ ก็ห้ามไม่ให้บาดหลวงทั้งสองนี้เข้าบ้านและห้ามไม่ให้รับจดหมายไว้ และได้สั่งให้เจ้าพนักงารเฆี่ยนล่าม อย่างหนักต่อหน้าบาดหลวงทั้งสอง แต่บาดหลวงทั้งสองนี้ได้เอา เงินให้แก่พธำมรงค์ ล่ามจึงไม่ได้ถูกเฆี่ยนเต็มตามคำสั่ง แต่ล่ามของเราถูกเจ้าพนักงารกักตัวไว้จนกว่าจะจับพวกเข้ารีตอื่น ๆ ได้ ในวันนั้นและในวันอื่น ๆ ต่อไป บาดหลวงทั้งสองคนนี้ได้พยายาม ไปหาข้าราชการผู้ใหญ่หลายคน เพื่อขอให้ข้าราชการเหล่านี้นำ ความจริงไปเรียนให้เจ้าพระยาพระคลังทราบ ข้าราชการเหล่านี้ได้แสดงความเสียใจและปลาดใจในการที่เกิดเหตุดังนี้ แต่ไม่ยอมไปพูดกับเจ้าพระยาพระคลังจนคนเดียว เพราะทราบอยู่ว่าเจ้า พระยาพระคลังโกรธพวกเรามา และแก้ตัวว่าถึงข้าราชการเหล่านี้ จะไปช่วยพูดให้ก็จะไม่เปนประโยชน์อะไร แต่มองซิเออร์ลาแซร์กับมองซิเออร์ดีดีม ก็ได้พยายามไปหาข้าราชการคนอื่นอีก จนไปพบข้าราชการผู้หนึ่งซึ่งรับจะช่วย ข้าราชการผู้นี้จึงได้รับจดหมายของท่านสังฆราชไว้ และรับจะเอาจดหมายนั้นไปส่งให้แก่เจ้าพระยาพระคลังทั้งจะช่วยพูดให้ด้วย ข้าราชการคนนี้ก็ได้ไปหาเจ้าพระยา -



(หน้า ๔๕)

- พระคลังจริงดังว่า และได้พูดจาเกลี่ยกล่ายเจ้าพระยาพระคลังจึง เปนอันตกลงว่า จะงดการเฆี่ยนตีพวกเข้ารีตซึ่งกักตัวไว้เปน นักโทษ และจะให้ไปเที่ยวตามจับพวกเข้ารีตอื่น ๆ ต่อไป


พวกเข้ารีตถูกจับ

เจ้าพนักงารซึ่งเจ้าพระยาพระคลังมอบหน้าที่ไว้ให้ควบคุมพวกเข้ารีตนั้น จึงได้พร้อมด้วยเสมียนเจ้าพระยาพระคลังคนหนึ่ง พธำมรงคนหนึ่ง กับคนไทยที่เปนโจทย์ในเรื่องนี้ได้ไปยังค่ายพวก เข้ารีต และได้ให้ล่ามตามไปด้วยเพื่อไปชี้ตัวพวกเข้ารีต ในวันแรกเจ้าพนักงารจับผู้ชายได้ ๒ คน ผู้หญิง ๒ คน และได้คุมไปขังไว้ยังคุก ผู้หญิงคนหนึ่งได้ถูกเฆี่ยน อีกคนหนึ่งนั้นมีครรภ์สามีจึง มาขอให้เจ้าพนักงารขังตัวแทนและให้ปล่อยภรรยาไปเสีย วันที่ ๒ เจ้าพนักงารได้คุมนักโทษเหล่านี้กลับมาอีก ฝ่ายล่ามเพื่อจะหา ความชอบกับเจ้าพนักงาร และเพื่อจะป้องกันมิให้ตัวต้องรับโทษ จึงได้ทำการทรยศบอกให้เจ้าพนักงารจับพวกเข้ารีตอีก๔คนในคน๔ คนนี้ได้หนีเข้ามาอาศรัยอยู่ในบ้านบาดหลวง ๓ คน การ ที่จับคน ๔ คนนี้โดยล่ามซึ่งตัวเองก็เข้ารีต ได้มาแก้ตัวคนเดียว และบอกว่า ให้พวกเข้ารีตไปเสียโดยดีจะได้ไม่ต้องถูกเฆี่ยนตี หรือถูกทำโทษอย่างใด และการเรื่องนี้จะเปนอันเลิกแล้วกัน ไปเสีย แต่ถ้าพวกเข้ารีตเหล่านี้ไม่ไปโดยดีแล้ว เจ้าพนักงาร



(หน้า ๔๖)

ก็จะจับเอาบิดามารดาบุตร์ภรรยาไปเฆี่ยนตีอย่างแสนสาหัส พวกเข้ารีตได้ฟังล่ามชี้แจงดังนี้ก็เชื่อ แต่พอไทยได้ตัวไว้แล้ว ก็จับ พวกเข้ารีตเหล่านี้เฆี่ยนอย่างร้ายกาจที่หน้าประตูวัดเข้ารีต และเฆี่ยนล่ามด้วยอีกคนหนึ่งด้วย เงินที่พวกเข้ารีตได้ให้แก้พธำมรง และผู้คุม เพื่อไม่ต้องถูกเฆี่ยนนั้นก็เปนเงินที่เสียเปล่าหาเปน ประโยชน์อย่างใดไม่ เจ้าพนักงารก็ได้พาคน ๔ คนนี้ไปขังไว้ยังคุกพร้อมกับพวกเข้ารีตที่ได้จับไว้แต่วันก่อน ฝ่ายล่ามญวนก็ได้พา คนเข้ารีตไปเข้าคุกด้วยอีก ๓ คน แต่ล่ามญวนได้สัญญากับพวก เข้ารีต และสัญญากับข้าพเจ้าว่าพวกเข้ารีตเหล่านี้จะไม่ต้องถูกเฆี่ยน ล่ามญวนจึงให้เงินแก่พธำมรงและเจ้าพนักงารซึ่งควบคุมนั้น จนพวกเข้ารีตเหล่านี้หาได้ถูกเฆี่ยนตีไม่ และเขาก็หลอกเจ้าพระยา พระคลังว่าเขาได้เฆี่ยนพวกเข้ารีตเสร็จแล้ว เมื่อเหตุการณ์ต่าง ๆ ดังได้กล่าวมาข้างบนนี้ได้ทำกันไปแล้ว จดหมายท่านสังฆราชจึงได้ไปถึงมือเจ้าพระยาพระคลัง โดยลูกเขยเจ้าพระยาพระคลังนำเข้าไป ลูกเขยเจ้าพระยาพระคลังจึงได้บอก กับมองซิเออร์ลาแซร์ และมองซิเออร์ดีดีม ว่าจะได้งดการเฆี่ยนตี พวกเข้ารีต และจะงดการจับกุมพวกเข้ารีต เว้นแต่คนหนึ่งจะต้อง จับให้ได้ เพราะต้องหาว่าด่าและกล่าวคำอยาบต่อเจ้าพระยาพระคลัง ถ้าจับคนเข้ารีตคนนี้ได้แล้ว ลูกเขยเจ้าพระยาพระคลังก็จะเปน ธุระช่วยให้การเรื่องนี้ได้สงบเงียบกันสักที



(หน้า ๔๗)

ท่านสังฆราชคิดอ่านจัดการ

ในระหว่างนี้ได้มีเสมียนของเจ้าพระยาพระคลัง ๒ คน มา หาท่านสังฆราชในเวลากลางคืน และบอกว่าในเวลากลางวันไม่กล้า มาหาเพราะกลัวเจ้าพระยาพระคลังจะโกรธเอา แต่เพราะเหตุว่า เสมียนสองคนนี้เปนเพื่อนของท่านสังฆราชและเปนเพื่อนของพวกเข้ารีตจึงได้มาหาสังฆราชเพื่อแนะนำให้สังฆราชเขียนจดหมายถึงเจ้าพระยาพระคลัง เพื่อให้เจ้าพระยาพระคลังหายโกรธลงบ้าง และเสมียน สองคนนั้นก็รับจะช่วยร่างเขียนให้ และก็ได้ร่างมาให้สังฆราชดู หลายฉบับ แต่สังฆราชไม่ยอมเขียนตามที่เสมียนร่างมาให้ เพราะ ในร่างจดหมายนั้นกล่าวแต่ความที่ไม่จริง และหาความใส่พวก เข้ารีตที่ไม่มีความผิดด้วย การที่เสมียนแนะนำให้เขียนจดหมาย เช่นนี้ ท่านสังฆราชไม่ยอมเขียนข้อความอย่างอื่นนอกจากที่ได้ เขียนไว้แล้ว แต่ครั้นเสมียนสองคนนี้กับคนอื่น ๆ ได้มาอธิบายว่า ญวนเข้ารีตผู้เปนต้นเหตุก่อการวิวาท ได้ไปรับสารภาพต่อเจ้า พระยาพระคลังแล้วว่า ตัวเปนผู้ด่าและเปนผู้ทุบตีไทยเอง ท่านสังฆราชจึงได้ยอมให้เติมข้อความในจดหมายว่า ถ้าญวนเข้ารีต คนนี้ได้ทำการดังนี้จริงก็เปนความผิด เพราะฉนั้นจึงขอความกรุณา ให้แก่ล่ามและพวกเข้ารีตที่ยังเปนนักโทษอยู่ในเวลานี้ด้วย จดหมายฉบับนี้ได้ส่งไปให้ข้าราชการผู้มีน่าที่ควบคุมพวก เข้ารีต เพื่อให้นำไปยื่นต่อเจ้าพระยาพระคลัง แต่ข้าราชการผู้นี้หา-




(หน้า ๔๘)

- ยอมรับหนังสือไว้ไม่ เพราะในหนังสือมิได้รับสารภาพว่าพวกเรา หรือพวกเข้ารีตมีความผิด และไม่ได้บอกว่าถ้าความเรื่องนี้ได้เลิกไปได้พวกเราก็จะยอมให้เงิน พวกเราจึงได้นำจดหมายฉบับนี้ไปส่งให้กับเสมียนผู้ที่มาช่วยร่างให้ เสมียนได้รับรองว่าจะเปนธุระยื่นเจ้าพระยาพระคลังให้ แต่ภายหลังเสมียนคนนี้ได้ส่งหนังสือคืนมาให้ท่านสังฆราชและบอกว่า ถ้าไม่ได้ประทับตราของสังฆราชแล้วก็จะยื่นให้เจ้าพระยาพระคลังไม่ได้ ครั้นได้ประทับตราของสังฆราชแล้วก็เกิดมีเสียงพูดกันขึ้นอีก ว่าหนังสือฉบับนี้ยังจะยื่นเจ้าพระยาพระคลังไม่ได้ เพราะใจความในหนังสือนั้นเปนใจความแก้ตัวหาเปนใจความสารภาพความผิดไม่ ฝ่ายพธำมรงและผู้คุมกับพวกโจทย์ที่หาความใส่เรานั้น ช้า ๆ นาน ๆ ก็เข้ามายังค่ายพวกเข้ารีต บางทีก็พาล่ามมาด้วย บางทีก็พาทั้งล่ามและ นักโทษอื่น ๆ อีกหลายคนมาด้วย และอ้างว่าได้รับคำสั่งให้มาจับกุมพวก เข้ารีต เพราะฉนั้นเจ้าพนักงารเหล่านี้จึงได้เที่ยวไปทุกบ้าน ไปรีดเอาเงินและเข้าของต่าง ๆ ถ้าผู้ใดให้เงินและของก็รับรองว่าจะไม่ จับ กุมและทำอันตรายอย่างใด ฝ่ายล่ามของเราซึ่งไปเข้าเปนพรรคพวกของศัตรูเรา เห็นว่าท่านสังฆราชไม่ตกใจในการที่ไทยได้ขู่เข็ญเช่นนี้ จึงได้ชวนพธำมรง และผู้คุมให้พานักโทษเข้ารีต ๔ คนไปยังบ้านท่านสังฆราช เพื่อความที่สงสารพวกนักโทษและความกลัวจะได้ทำให้ท่านสังฆราชร้อนใจบ้างท่านสังฆราชได้พูดจาปลอบโยนพวกนักโทษเข้ารีต ๔ คน แล้วจึง-



(หน้า ๔๙)

หันมาด่าและดุเอาพธำมรงและผู้คุมว่าทำการโหดร้ายแก่พวกเข้ารีต อันหาความผิดมิได้และพูดต่อไปว่า ถ้าเจ้าพระยาพระคลังจะต้องการทำโทษแก่ตัวสังฆราชแล้ว ก็ให้เอาตัวไปเฆี่ยนเสียก็แล้วกัน ถึงที่สุดเจ้าพระยาพระคลังจะเอาตัวสังฆราชไปฆ่าเสียก็ไม่ว่า เพราะสังฆราชยินดีจะตายดีกว่าที่จะเห็นการกดขี่พวกเข้ารีตเช่นนี้ แล้วท่านสังฆราชจึงได้ถามว่า การที่เจ้าพนักงารได้เข้ามายังสถานที่ ของบาดหลวงดังนี้โดยได้รับคำสั่งของผู้ใด เจ้าพนักงารจึงได้ตอบว่า ล่ามเปนผู้ที่พามา แล้วก็รีบกลับไปโดยเร็ว แต่ในวันหลัง ๆ ต่อมาพวกผู้คุมก็คงยังเฆี่ยนตีขู่เข็ญพวกเข้ารีตอยู่เสมอ และ เจ้าพนักงารอื่น ๆ ซึ่งเปนคนของเจ้าพระยาพระคลังก็ช่วยขู่เข็ญพวก นักโทษและพวกเข้ารีตอื่น ๆ ด้วย ครั้นท่านสังฆราชเห็นว่าเจ้าพระยาพระคลังไม่ช่วยเหลือแก้ไขอย่างใดแน่แล้ว จึงได้เขียนจดหมายไปถึงบุตร์เขตเจ้าพระยาพระคลังมีความว่าดังนี้ "เรา ยังเดอโลลีแยร์ สังฆราชฝรั่งเศส มีใจเต็มไปด้วยความเสียใจ และได้รับความดูถูกอย่างร้ายแรง ไม่ทราบว่าจะหันไปหาใครที่จะช่วยให้ความเดือดร้อนของเราได้เบาบางลงบ้าง และไม่มีหนทางที่จะแก้ไขความรังแกกดขี่และความทรมานที่พวกเข้า รีตต้องรับอยู่ในทุกวัน น จึงจำเปนต้องหันมาหาท่าน ( สมบัติบาล เจ้าพนักงารผู้ใหญ่ ของเจ้าพระยาพระคลัง ) เพราะท่านก็ได้เคยช่วย -




(หน้า ๕๐)

- พวกเรามาแล้ว เพื่อขอให้ท่านได้โปรดพิเคราะห์ในความเดือดร้อน ของเราโดยเร็ว ด้วยแต่เดิมมาท่านราชมนตรีได้บอกเราหลาย ครั้งแล้ว ว่าถ้าจะมีใครมาพูดว่าอย่างไรหรือจะต้องการสิ่งใดแล้ว ก็อย่าให้พวกเราเชื่อฟัง นอกจากจะมีคำสั่งเจ้าพระยาพระคลัง ตรงมายังล่ามจึงให้เชื่อฟัง และต่อมาเมื่อผู้ใดได้นำคำสั่งมา ส่งให้ล่ามแล้ว เราก็ได้ปฏิบัติตามคำสั่งทุกคราว ครั้นมาเมื่อวันเสาร์ที่ ๒๘ ธันวาคม นายมากับผู้มีชื่ออีก ๖-๗ คนได้มาตัดไม้ ไผ่ในบ้านของบาดหลวงโดยหาได้บอกให้ล่ามทราบไม่ (ตอนนี้เปนข้อความชี้แจงถึงเหตุที่มีขึ้นดังได้อธิบายมาแล้ว แล้วสังฆราชจึงกล่าวต่อไปดังนี้) "เพราะเหตุเช่นนี้สังฆราชจึงขอร้องว่า ถ้าการที่เจ้า พนักงารได้กระทำการกดขี่ทรมานพวกเข้ารีตเปนด้วยสังฆราชได้ทำความผิดแล้ว ก็ขอให้เจ้าพนักงารลงอาญาเฆี่ยนตัวสังฆราช หรือจะประหารชีวิตสังฆราชเสียทีเดียวก็ได้ เพราะสังฆราชยอมตาย ดีกว่าที่จะได้เห็นพวกเข้ารีตอันหาความผิดมิได้ ได้รับความทรมานอยู่เช่นนี้ เมื่อสังฆราชได้เลื่อนตำแหน่งเปนสังฆราชขึ้น ซึ่งเปนตำแหน่งที่บรรดาพระเจ้าแผ่นดินในทวีปยุโรปนับถือทั่วไปนั้น สังฆราชก็ได้เชิญพระราชสาสนของพระเจ้ากรุงฝรั่งเศสมายังประเทศสยามเพื่อให้ประเทศทั้งสองได้เปนพระราชไมตรีเพิ่มพูลขึ้นยิ่งกว่าเก่า และในพระราชสาสนนั้นพระเจ้ากรุงฝรั่งเศสก็ได้รับสั่งมาโดยชัดเจน ว่าถ้าพระเจ้ากรุงสยามได้กรุณากับสังฆราชอย่างไร ก็จะทรง



(หน้า ๕๑)

ถือว่าเท่ากับกรุณาต่อพระองค์ท่านเหมือนกัน เมื่อพระราชสาสนฉบับนี้ได้มาถึงกรุงศรีอยุธยา พระเจ้ากรุงสยามก็ได้ทรงโปรดรับ พระราชสาสนโดยเต็มเกียรติยศ และได้ทรงโปรดให้สังฆราชเข้าเฝ้าเปนการทรงยกย่องสังฆราชอยู่แล้ว ทั้งโปรดเชื่อฟังสังฆราชและโปรดพระราชทานพระราชานุญาตให้สังฆราชได้อยู่ในเมืองนี้เพื่อ ได้ทำการตามน่าที่ และโปรดพระราชทานเสื้อให้แก่สังฆราชและ บาดหลวงด้วย แล้วก็ได้รับสั่งกับสังฆราชว่าถ้าสังฆราชจะมีกิจธุระอย่างใดก็ให้ไปพูดกับเจ้าพระยาพระคลัง ในจดหมายต่าง ๆ ที่สังฆราชได้มีไปยังประเทศฝรั่งเศสนั้น ก็ได้อธิบายไปโดยยืดยาว ถึงการที่พระเจ้ากรุงสยามทรงพระเมตตากรุณาแก่สังฆราช และถึงการที่พระเจ้ากรุงสยามทรงโปรดปรานรักใคร่พระเจ้ากรุงฝรั่งเศส ทั้งเล่าถึงพระราชประสงค์ของพระเจ้ากรุงสยามที่ทรงต้องการเปน พระราชไมตรีกับพระเจ้ากรุงฝรั่งเศส และได้เล่าถึงพระมหากรุณาซึ่งได้ทรงมีต่อสังฆราชโดยเฉพาะด้วย แต่มาบัดนี้ถ้าประเทศทั้งหลายได้ทราบว่า สังฆราชได้รับความดูถูกดุจสังฆราชเปนขบถ เช่นนี้ประเทศเหล่านั้นจะว่าอย่างไรบ้าง และในเวลานี้ก็ได้ทราบว่าการเรื่องนี้อาณาประชาราษฎรก็เอาไปลือกันอยู่แล้ว ในที่สุดนี้เมื่อพวกพธำมรง ผู้คุม เจ้าพนักงารผู้น้อย และคนอื่น ๆ ซึ่งไม่มีตำแหน่งน่าที่อะไร มาบุกรุกเที่ยวจับคนเข้ารีตทั้งผู้หญิงผู้ชาย ลากตัวเข้าไปในคุกและเฆี่ยนเล่นตามชอบใจ กับทั้งไปเที่ยวตามบ้านขู่กันโชกเอาเงิน ถ้าผู้ใดไม่ยอมให้เงินคนจำพวกนี้ก็ขู่ว่า



(หน้า ๕๒)

จะหาความใส่ ดังผู้ที่ชื่อนายมาได้กระทำมาในสามสี่วันเช่นนี้ ถ้าดังนี้จะให้สังฆราชพูดว่ากระไรเล่า ข้าพเจ้าเชื่อแน่ว่าท่านเจ้า พระยาพระคลังคงไม่มราบถึงการเปนไป ที่เจ้าพนักงารปฏิบัติการอยู่ในทุกวันนี้โดยตลอด เพราะฉนั้นข้าพเจ้าจึงต้องขอท่านได้โปรด เรียนให้เจ้าพระยาพระคลังทราบความจริงเสียโดยเร็ว และเมื่อเจ้าพระยาพระคลังจะโปรดประการใดในเรื่องนี้ ก็ขอได้โปรดบอกให้ข้าพเจ้าทราบด้วย" พวกเข้ารีตถูกปรับ หนังสือฉบับนี้ท่านสังฆราชได้มีไปถึงท่านสมบัติบาลบุตร์เขยของเจ้าพระยาพระคลัง มองซิเออร์ลาแซร์ และมองซิเออร์ดีดีมเปนผู้นำไปส่งให้แก่ท่านสมบัติบาล ๆ ได้อ่านหนังสือแล้วก็ตกใจที่ พวกเข้ารีตได้ถูกกดขี่ถึงเพียงนี้ และตกใจในการที่คนของเจ้า พระยาพระคลังได้ขู่เข็ญพวกนักโทษและคนเข้ารีตทั้งไปขู่กันโชกลง เอาเงินด้วย ท่านสมบัติบาลจึงสั่งให้จดจำนวนเงินที่พวกเข้ารีต ต้องเสียไป และรับธุระจะจัดการเรื่องนี้ให้สำเร็จไป แต่กำชับว่าจะต้องได้ตัวคนเข้ารีตผู้ที่ด่าเจ้าพระยาพระคลังเสียก่อน การเรื่องนี้จึงจะเปนอันสงบไปได้ ท่านสมบัติบาลก็ได้ไปพูดเรื่องนี้กับพ่อตา แต่เจ้าพระยา พระคลังไม่ยอมฟังทีเดียว ตั้งแต่นั้นมาท่านสมบัติบาลก็ชักห่าง กับพวกเรา และมองซิเออร์ลาแซร์ กับมองซิเออร์ดีดีมไปหา



(หน้า ๕๓)

ก็ทำกิริยาตึง ๆ บาดหลวงทั้งสองนี้หมดปัญญาแล้วไม่ทราบว่า จะหันไปหาใครจึงจะจัดการให้พวกเข้ารีตได้พ้นโทษ และให้พวกที่ยังหลบหนีอยู่ได้กลับเข้ามาอยู่ตามบ้านเรือนได้ จึงได้ไปหารือเสมียนของเจ้าพระยาพระคลังผู้หนึ่ง เสมียนผู้นี้จึงบอกกับมอง ซิเออร์ลาแซร์ และมองซิเออร์ดีดีม ว่าเรื่องนี้จะสงบไม่ได้จนกว่า พวกเข้ารีตที่เปนนักโทษ จะทำเรื่องราวยื่นต่อเจ้าพระยาพระคลัง รับว่าตัวของตัวและพวกเข้ารีตอื่น ๆ ที่ยังจับไม่ได้มีความผิดจริง การที่จะให้พวกนักโทษทำเรื่องราวลุแก่โทษนั้น อย่าว่าแต่เพียง นี้เลยจะให้ทำอีก ๑๐ เท่านี้พวกนักโทษก็ยอมเพื่อจะได้พ้นโทษได้ พวกนักโทษจึงตกลงทำเรื่องราวลุแก่โทษตัวยื่นต่อเจ้าพระยาพระคลัง เจ้าพระยาพระคลังจึงสั่งให้ปล่อยพวกนักโทษ และบังคับให้พวกนี้ส่งตัวคนเข้ารีตอีก ๖ คนภายใน ๑๐ วัน แล้วเจ้าพระยาพระคลัง ก็ตัดสินให้ปรับพวกเข้ารีตเปนเงิน ๑๐ ตำลึง การเรื่องนี้ก็ดูทีเหมือนจะสงบกันได้แล้ว แต่ยังมีคนของเจ้าพระยาพระคลังซึ่งมีอำนาจรังแกพวกเข้ารีตได้ทุกอย่าง กลับหาความว่าในเรือของเจ้าพระยาพระคลังซึ่งพวกเข้ารีตไปจับคนไว้นั้น มีผ้าหายไปผืนหนึ่ง ถ้วยทองแดงหนึ่งถ้วย ขวาน ๗ เล่ม ของเหล่านี้หาว่าพวกเข้ารีตได้ลักไป เจ้าพระยาพระคลังจึงตัดสินให้พวก เข้ารีตใช้ค่าของเหล่านี้ เพราะฉนั้นเมื่อมองซิเออร์ดีดีมได้นำเงิน ๑๐ ตำลึงไปส่งยังห้องว่าราชการของเจ้าพระยาพระคลัง จึงได้ส่งเงินรายนี้ให้แก่เสมียน และยังต้องใช้เงินแทนนักโทษเข้ารีตที่ยัง



(หน้า ๕๔)

ถูกขังอยู่อีกคนหนึ่งเปนเงิน ๓ ตำลึง และต้องใช้เงินอีก ๒ บาท ค่าของที่หาว่าพวกเข้ารีตลักไปด้วย ในขณะนี้ได้มีคนหลายคนมาแนะนำแก่สังฆราชให้นำเรื่องนี้ ไปทูลแก่พระมหาอุปราชผู้เปนพระราชโอรสของพระเจ้ากรุงสยาม เพราะพระมหาอุปราชไม่ถูกกันกับเจ้าพระยาพระคลัง ทรงหาช่องอยู่ที่จะกราบทูลพระราชบิดาให้ทรงทราบถึงความชั่วของเจ้าพระยาพระคลัง เพราะเวลานั้นพระเจ้ากรุงสยามทรงไว้ใจเจ้าพระยาพระคลังทุกอย่าง ส่วนพระมหาอุปราชก็คงต้องการให้สังฆราชนำความ ไปทูล เพราะได้ทรงใช้ให้ข้าราชการมาหาพวกเราหลายหน เพื่อฟังดูว่าสังฆราชจะพูดอย่างไรบ้าง แต่สังฆราชเห็นว่าไม่ควรจะนำ เรื่องนี้ไปทูลพระมหาอุปราช เพราะเหตุว่าถ้าทูลไปแล้ว เจ้าพระยาพระคลังก็คงจะถูกกริ้วและถูกติโทษ แต่ถ้าหากว่าเจ้าพระยา พระคลังยังคงรับตำแหน่งนี้อยู่อีก ก็คงจะหาทางมาแก้แค้นสังฆราชและพวกเข้ารีตเปนแน่



(หน้า ๕๕)

พวกเข้ารีตถูกหาความ

จดหมายมองซิเออร์ลาแซร์
ถึงผู้อำนวยการคณะต่างประเทศ
วันที่ ๑ เดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๗๔๔ (พ.ศ. ๒๒๘๗)
.............................

ได้มีคนหาความใส่สาสนาคริศเตียน ซึ่งในชั้นแรกน่ากลัวจะเปนเรื่องใหญ่โต แต่ด้วยพระเยซูช่วยการเรื่องนี้ได้สงบไปหามี ข้อเสียหายอย่างใดไม่ คือมีพวกญวนหลายคนซึ่งไม่ใช่คนเข้ารีตได้ถูกข้าราชการบางคนยุแหย่ จึงได้ไปยังห้องว่าราชการของเจ้าพระยาพระคลัง ฟ้องกล่าวโทษญวนเข้ารีตคนหนึ่งซึ่งได้เข้ารีตที่เมืองจันทบุรีมาหลายปีแล้ว และญวนโจทย์เหล่านี้ได้กล่าวหาอีกว่า ได้มีหญิงญวนไปเข้ารีตที่วัดของเราเมื่อเร็ว ๆ นี้เองคนหนึ่ง เจ้าพระยาพระคลังเชื่อตามคำหานี้ จึงได้สั่งว่าในวันรุ่งขึ้นให้มีหมายเรียกคนเข้ารีตทั้งสองคนนี้ไปยังศาล และให้คนทั้ง ๒ นี้ทำทานบลว่าจะเลิกไม่นับถือสาสนาคริศเตียนอีกต่อไป เจ้าพนักงารได้นำคำตัดสินของเจ้าพระยาพระคลังแจ้งให้คนเข้ารีตทั้ง ๒ คนทราบ ครั้นความเรื่องนี้ทราบถึงท่านสังฆราชๆจึงได้มีจดหมายไปยังเจ้า พระยาพระคลัง ว่าท่านสังฆราชมีความเสียใจเปนอันมากที่ได้ทราบว่าคนเข้ารีตที่เมืองจันทบุรีคนหนึ่งต้องถูกเฆี่ยน กับผู้หญิงญวนอีกคนหนึ่ง ซึ่งได้คนเข้ารีตเปนสามีก็ต้องถูกเฆี่ยนเหมือนกัน



(หน้า ๕๖)

ท่านสังฆราชจึงชี้แจงต่อไปว่า การที่รับหญิงคนนี้ให้เข้ารีตนั้นท่านสังฆราชเองเปนผู้เห็นชอบด้วย เพราะเห็นว่าไม่เปนการผิดกฎหมายของแผ่นดินอย่างไร เพราะฉนั้นจึงขออย่าให้เจ้าพระยาพระคลังข่มเหงคนเข้ารีต ๒ คนนี้เลย และขอให้พวกญวนได้ทำการในน่าที่ของสาสนาคริศเตียนให้สดวก จดหมายฉบับนี้ได้แปลเปนภาษาไทยแล้ว จึงได้ให้มอง ซิเออร์ดีดีมนำไปส่งเจ้าพระยาพระคลัง แต่ครั้นไปถึงบ้านเจ้า พระยาพระคลังก็หาได้พบไม่ มองซิเออร์ดีดีมจึงส่งจดหมายฉบับนั้นให้แก่เจ้าพนักงารรองผู้หนึ่งซึ่งเปนจีน เจ้าพนักงารผู้นี้รับรองว่าจะช่วยและได้แก้จดหมายของท่านสังฆราชบ้างเล็กน้อย ครั้นวันที่ ๗ สิงหาคม ข้าราชการผู้นี้ได้ไปแจ้งต่อศาลเจ้าพระยาพระคลังว่าท่านสังฆราชได้มีจดหมายมาชี้แจงว่า การที่พวกญวนจะเข้า รีตนั้นไม่มีข้อห้ามอย่างใดเลย ครั้นความนี้ทราบถึงเจ้าพระยา พระคลัง ๆ ก็โกรธข้าราชการคนนี้เปนอันมาก หาว่าข้าราชการคนนี้ล้มความเสีย เจ้าพระยาพระคลังจึงได้สั่งให้ข้าราชการจีนผู้นี้ ไปอ่านประกาศพระราชโองการซึ่งจารึกไว้ในแผ่นศิลาและปักไว้หน้า วัดของเราว่า ในประกาศนั้นกล่าวถึงพวกญวนด้วยหรือไม่ ข้าราชการผู้นี้ก็ได้มาอ่านศิลาจารึก ครั้นเห็นว่าไม่มีข้อความกล่าว ถึงญวนเลย การเรื่องนี้ก็เลยเปนอันสงบไป



(หน้า ๕๗)

จดหมายมองเซนเยอร์เดอโลลีแยร์
ถึงผู้อำนวยการคณะต่างประเทศ
วันที่ ๒๘ เดือน มกราคม ค.ศ. ๑๗๔๙ (พ.ศ. ๒๒๙๒)
................................

ต้นเหตุที่จะเกิดความลำบากขึ้นอีก เวลานี้พวกเราถูกกดขี่บีบคั้นขึ้นอีกแล้ว ต้นเหตุที่จะเกิดขึ้นนั้นมีดังนี้ คือ ได้มีคนไปพบบ่อทองคำซึ่งมีทองคำอยู่บนพื้น ดินใกล้กับเมืองกุยซึ่งเปนหัวเมืองขึ้นแก่ไทย อยู่ทางทิศตวันตกอ่าวสยาม ทองคำที่พบคราวนี้มีมากและเปนทองเนื้อดีด้วย ทองที่ร่อนมาได้ในคราวแรกนั้น พระเจ้ากรุงสยามได้เอาไปหล่อเปนรูปพระพุทธบาท ทำรูปเหมือนกับพระพุทธบาทจำลองที่สลักในก้อนศิลา ห่างจากกรุงศรีอยุธยาไม่เท่าไรนัก แล้วพระเจ้ากรุงสยามได้โปรดให้เอาทองคำนั้นทำเปนดอกบัวดอกใหญ่ สำหรับประดับพระพุทธบาทในเวลาแห่ ดอกบัวนี้เปนดอกไม้ที่คนไทย นับถือมาก ในคราวระดูหนาว ๒ ปีที่ล่วงแล้วในเวลาน้ำท่วมนั้นเจ้าพนักงารได้ห้ามไม่ให้ใครเก็บดอกบัวเปนอันขาด แต่พระเจ้ากรุงสยามซึ่งดูพระอัธยาศัยคล้ายกับเด็กนั้น ได้เสด็จลงเรือพระที่นั่งพร้อมด้วยพระสนมกำนัลใน ๆ เวลาเช้าทุกวัน และเสด็จไปทรงเก็บดอกบัวตามทุ่ง และทรงเอาดอกบัวมาร้อยด้วยฝีพระหัตถ์ เพื่อเอาไปบูชาพระพุทธรูป -



(หน้า ๕๘)

ครั้นเมื่อกลางเดือนธันวาคม ค.ศ. ๑๗๔๘ (พ.ศ. ๒๒๙๑) หลวงราชมนตรีซึ่งเปนเจ้าพนักงารสำหรับดูแลควบคุมพวกเข้ารีต ได้มายังบ้านพวกบาดหลวง และนำคำสั่งของเจ้าพระยาพระคลังมาด้วย ในคำสั่งนั้นรับพระราชโองการของพระเจ้ากรุงสยามสั่งให้บรรดาคนเข้ารีตทุกคนทั้งหญิงและชายไปช่วยในการแห่ และ ให้พวกเข้ารีตถือดอกบัวไปด้วยคนละดอก หลวงราชมนตรีเห็นว่าข้าพเจ้ามีความรังเกียจ จึงได้อธิบายว่าการที่จะแห่คราวนี้ไม่มีสิ่งใดที่จะเปนเครื่องหมายของพุทธสาสนาเลย แต่ส่วนในคำสั่งที่ส่งไปแห่งอื่น ๆ นั้น ได้กล่าวว่าจะเอาพระพุทธบาททองคำเข้า กระบวรแห่ด้วย ข้าพเจ้าก็ทราบอยู่ว่าหลวงราชมนตรีคนนี้ได้พยายามทางลับที่จะให้ร้ายแก่พวกเข้ารีตและสาสนาคริศเตียน แต่ปากก็แสดงไมตรีกับเราอยู่เสมอ ข้าพเจ้าจึงไม่ฟังคำอธิบายของ หลวงราชมนตรี แต่ได้รีบมีจดหมายไปถึงเจ้าพระยาพระคลัง บอกว่าข้าพเจ้าได้ทราบข้อความตามพระราชโองการแล้ว แต่การที่จะให้พวกเข้ารีตไปช่วยในการแห่ตามคำสั่งนั้น เปนการที่จะทำไปไม่ได้ เพราะเปนการขัดกับสาสนาของเรา ถ้าจะมีพระราชโองการให้พวกเข้ารีตทำการอย่างอื่น ๆ ไม่ว่าการชนิดใด พวกเราก็ยินดีที่จะปฏิบัติตามพระราชโองการทุกอย่าง และพวกเราก็จะไม่เว้นที่ จะอ้อนวอนขอให้พระเปนเจ้าได้โปรดให้พระเจ้ากรุงสยามทรงพระ เจริญทุกประการ และขอให้พระราชวงศ์ทั้งรัฐบาลและพระราชอาณาเขตของพระองค์ได้มีความสุขเจริญด้วย เมื่อได้มีจดหมาย -



(หน้า ๕๙)

- ฉบับนี้ไปแล้วก็ได้รอคอยคำตอบอยู่หลายวัน แต่ส่วนของบาดหลวงเยซวิตชื่อโยเซฟมอนตันนา ซึ่งได้รับคำสั่งเช่นเดียวกัน ก็ได้ถูกเรียกไปพร้อมกับล่ามเข้ารีตหลายหน ในคราวแรกถูกเรียกไป ที่พระยาสมบัติบาลลูกเขยเจ้าพระยาพระคลัง แล้วภายหลังถูกเรียกไปที่บ้านเจ้าพระยาพระคลัง บาดหลวงคนนี้ได้นำของเครื่องกวน ไปให้ทั้งเจ้าพระยาพระคลังและพระยาสมบัติบาล เจ้าพระยาพระคลังและพระยาสมบัติบาลได้ยกเหตุผลต่าง ๆ มาอ้างให้บาดหลวงคนนี้ฟังว่าไม่ควรจะขัดขวางไม่ยอมให้พวกเข้า รีตมาช่วยในการแห่ เพราะเหตุว่า
๑ การแห่คราวนี้ก็สำหรับแสดงความยินดีที่ได้พบบ่อทองคำนี้
๒ ถ้าจะขัดขวางพระราชโองการในการง่าย ๆ เช่นนี้ ทำอย่างไร ๆ พระเจ้ากรุงสยามก็จะต้องทรงพระพิโรธ
๓ ในการแห่คราวนี้ไม่มีสิ่งใดเลยที่จะเปนเครื่องหมาย ของสาสนา ชั่วแต่มีดอกบัวดอกเดียวซึ่งเท่ากับเปนตราของ พระเจ้ากรุงสยามเท่านั้น
๔ เมื่อพวกเข้ารีตจะกราบไหว้พระ เปนเจ้าก็ได้ไม่มีใครห้ามเลย
๕ ถ้าบาดหลวงจะต้องการขี้ผึ้งสำหรับควั่นเทียนซึ่งจะต้องถือไปในเวลาแห่นั้นแล้ว เจ้าพระยาพระคลังจะหาขี้ผึ้งมาให้ก็ได้
๖ ในเวลามีงานนักขัตฤกษ์ไหว้พระของไทย พวกเข้ารีตก็มาดูงารเปนอันมากและเวลามาดูงารของไทยนั้น พวกเข้ารีตก็ได้มาช่วยร้องรำทำเพลงดีด สี ตี เป่า เหมือนกัน (ที่เจ้าพระยาพระคลังและพระยาสมบัติบาลอ้างเรื่องพวกเข้ารีต ไปช่วยดีด สี ตี เป่าในงารนักขัตฤกษ์ของไทยนั้น ก็คือมีนักเลง



(หน้า ๖๐)

ในค่ายปอตุเกตพวกหนึ่งเปนหนี้เขาอยู่ และเพื่อจะให้พ้นหนี้และเพื่อกันถ้อยความ จึงได้ไปขายตัวเปนทาสอยู่กับพระมหา อุปราช พระราชโอรสของพระเจ้ากรุงสยาม เมื่อมีงารไหว้พระของไทย พระมหาอุปราชก็เรียกนักเลงพวกนี้ไปร้องรำทำเพลง และเล่นเครื่องเล่นมโหรี) ข้าพเจ้าเชื่อว่าตามเหตุผลต่าง ๆ ที่เจ้า พระยาพระคลังยกมาอ้างนี้ บาดหลวงเยซวิดคงจะคัดค้าน เปนแน่ และคงจะคัดค้านในข้อที่ว่าพวกเข้ารีตไปช่วยในงารไหว้พระของไทยด้วย ความเดือดร้อนของพวกเข้ารีต

ในระหว่างนี้หลวงราชมนตรีผู้เปนพนักงารดูแลควบคุมพวก เข้ารีตตลอดทั้งพวกญวนที่ไม่ได้เข้ารีตด้วย ได้แสดงความเกลียดชังต่อสาสนาของเราโดยทำการแกล้งพวกเข้ารีตต่าง ๆ นา ๆ คือว่าคงจะทำเปนคำสั่งของเจ้าพระยาพระคลังบ้าง ทำเปนคำสั่งพระราชโองการบ้าง มาบังคับพวกเข้ารีตทุก ๆ วัน วันอาทิตย์ ๑ หลวงราชมนตรีได้ห้ามไม่ให้พวกญวนเข้ารีตในค่ายยี่ปุ่นมาฟังการสวด ที่วัด และได้เรียกพวกเข้ารีตเหล่านี้ไปขู่กันโชกและพูดอุบายต่าง ๆ ว่าข้าพเจ้าได้เห็นชอบด้วย ในการที่จะให้พวกนี้เข้ากระบวรแห่ด้วยแล้ว แล้วหลวงราชมนตรีได้ชักชวนคนหนุ่ม ๆ ประมาณ ๕๐ คน ซึ่งเปนคนเข้ารีตเสีย ๑๘ คน ให้ตามหลวงราชมนตรีไปยังบ้านเจ้าพระยาพระคลัง และให้บอกกับเจ้าพระยาพระคลังว่าคนทั้ง ๕๐ นี้



(หน้า ๖๑)

เต็มใจที่จะเข้าในกระบวรแห่ด้วย ภายหลังหลวงราชมนตรีหมดความละอายได้มายังบ้านบาดหลวง บอกข้าพเจ้าต่อหน้าคนเปนอันมาก ว่าหลวงราชมนตรีได้ช่วยทุกอย่างที่จะยกเว้นไม่ต้องให้ พวกเข้ารีตเข้ากระบวรแห่ แต่พวกเข้ารีตได้ไปอาสาเองถึงหลวงราชมนตรีจะห้ามเท่าไรพวกเข้ารีตก็ไม่ฟัง แล้วหลวงราชมนตรีได้ยื่นคำสั่งฉบับหนึ่ง ซึ่งเจาะเรียกพวกญวนเข้ารีตที่อยู่ใกล้กับโรง เรียนให้ไปหาเจ้าพระยาพระคลังรวม ๘ คน ข้าพเจ้าจึงได้แสดงอย่างดัง ๆ ว่าพวกญวนเข้ารีตเหล่านี้จะไปช่วยในการแห่ไม่ได้ เพราะพธีแห่นี้ขัดกับทางสาสนาของเรา แต่ข้าพเจ้าก็เกรงว่าเจ้าพระยา พระคลังจะหาว่าข้าพเจ้าขัดคำสั่ง ข้าพเจ้าจึงได้ให้พวกล่ามไปด้วยกับญวนเข้ารีต ๗ คน เพื่อให้ไปฟังว่าเจ้าพระยาพระคลังจะมีธุระ อะไร ครั้นไปถึงบ้านเจ้าพระยาพระคลัง พวกเสมียนก็บอกให้พวกญวนเข้ารีตกลับไปบ้านเสียเถิด เพราะคนที่จะเข้ากระบวรแห่มีมากพอแล้ว พวกเข้ารีตก็ได้กลับมาบอกข้าพเจ้าตามคำที่เสมียนว่า ซึ่งทำให้ข้าพเจ้าเบาใจขึ้นเปนอันมาก ข้าพเจ้ายังวิตกอยู่แต่ในพวกเข้ารีตในค่ายยี่ปุ่นซึ่งทำใจอ่อนปล่อยให้เขาหลอกได้ พอข้าพเจ้าได้มีโอกาศพบพวกนั้น ข้าพเจ้าก็ได้บอกให้เขาไปแสดงตัวว่าการ ที่จะเข้าพิธีนี้เปนการขัดด้วยสาสนาของเรา เพราะฉนั้นขอให้ยกเว้นอย่าต้องให้เข้ากระบวรแห่เลย แต่ส่วนหลวงราชมนตรียังไม่ วายที่จะมากดขี่พวกญวนเข้ารีต ๗ คนนั้น และมาบอกว่าพวกเข้ารีตนี้จะเชื่อถ้อยคำของเสมียนเจ้าพระยาพระคลังไม่ได้ แต่จะต้อง



(หน้า ๖๒)

เชื่อคำของหลวงราชมนตรี เพราะตัวเปนผู้รับพระราชโองการของ พระเจ้าแผ่นดิน ลงท้ายที่สุดหลวงราชมนตรีได้บังคับให้ญวนเข้ารีตทั้ง ๗ คนเอาของกำนันไปให้


ท่านสังฆราชถูกซัก

ข้าพเจ้าไปเข้าใจเสียว่า การทั้งหลายเปนอันสงบเรียบร้อย หมดแล้ว ครั้นมาเมื่อวันที่ ๒๘ เดือนธันวาคม เจ้าพระยาพระคลังได้ ให้เรียกบาดหลวงเยซวิดกับพวกล่าม และตามพวกเข้ารีตหลายคน กับบาดหลวงของคณะนี้คนหนึ่ง บาดหลวงคนนี้ข้าพเจ้าได้ถอนออกจากโรงเรียนในเวลาที่มองซิเออร์ดีดีมถึงแก่กรรมแล้ว เพื่อจะได้ไปบ้านเจ้าพระยาพระคลังอย่างมองซิเออร์ดีดีมได้ เพราะเราจะ เชื่อใจหลวงราชมนตรีไม่ได้ และพวกล่ามจะเข้าไปหาพูดตรงกับเจ้าพระยาพระคลังไม่ได้ แต่บาดหลวงเข้าไปได้จึงต้องจัดหาบาด หลวงให้แทนตัวมองซิเออร์ดีดีมไว้ ครั้นไปถึงแล้ว เจ้าพระยาพระคลังได้ให้พวกนี้คอยอยู่ตลอดวันหาออกมาหาไม่ ครั้นเวลาบ่ายประมาณ ๔ โมง เจ้าพระยาพระคลังใช้ให้คนมาตามข้าพเจ้าไปอีกคนหนึ่ง ข้าพเจ้าก็กำลังป่วย อยู่ด้วยเปนโรคหวัดและเปนไข้ด้วย แต่ถึงดังนั้นข้าพเจ้าก็ได้รีบ ไปยังบ้านเจ้าพระยาพระคลัง พอข้าพเจ้าไปถึงเจ้าพระยาพระคลังก็สั่งคนใช้ให้เอาเก้าอี้ตัวที่ท่านนั่งเอง มาให้ข้าพเจ้านั่งที่หอนั่ง



(หน้า ๖๓)

และบอกให้ข้าพเจ้าคอยจนกว่าท่านจะกลับจากเฝ้า เพราะท่านจำเปนต้องไป ไม่ช้าก็จะกลับ ในระหว่างที่เจ้าพระยาพระคลังไปเฝ้าอยู่นั้น หัวหน้าเสมียน ซึ่งเปนคนฉลาดไหวพริบ ได้มาสนทนากับล่ามซักถามว่าการที่พวกเข้ารีตขัดข้องไม่ยอมเข้ากระบวรแห่นั้นเพราะเหตุใด และบอกว่าการที่ขัดขืนเช่นนี้น่ากลัวพระเจ้ากรุงสยามจะกริ้วเปนแน่ แล้วเสมียนก็ออกไปรายงารให้เจ้าพระยาพระคลังทราบ ว่าพวกล่ามได้ตอบว่าอย่างไร อีกสักครู่หนึ่งเจ้าพระยาพระคลังได้กลับมาจึงให้ เรียกข้าพเจ้าเข้าไปในห้องพร้อมด้วยบาดหลวงเยซวิต บาดหลวงคณะของเรา ล่ามและพวกเข้ารีต ในห้องนั้นมิเจ้าพนักงารหน้าที่ ศาล กับเจ้าเมืองจันทบุรี ซึ่งเปนชาติแขกมลายูเพื่อนของข้าพเจ้าอยู่ด้วย ในชั้นต้นเจ้าพระยาพระคลังได้ให้บ่าวเอาหมากพลูมา ให้ข้าพเจ้ารับประทาน แล้วเจ้าพระยาพระคลังได้ลงนั่งเก้าอี้จึงถามข้าพเจ้ามีความดังนี้ คำถาม - ราชทูตของพระเจ้ากรุงสยามได้ไปยังประเทศฝรั่งเศสจริงหรือไม่ คำตอบ - ได้ไปจริง คำถาม - เมื่อราชทูตสยามได้ไปถึงประเทศฝรั่งเศสแล้ว ราชทูตได้เชิญพระราชสาสนของพระเจ้ากรุงสยามถวายต่อพระเจ้า กรุงฝรั่งเศสในเวลาเสด็จออกประทับพระโธรนจริงหรือไม่ คำตอบ-จริง



(หน้า ๖๔)

คำถาม-เมื่อราชทูตได้เฝ้าพระเจ้าแผ่นดินฝรั่งเศสแล้ว ได้ เลยไปเฝ้าเจ้านายในราชวงศ์ฝรั่งเศส ทั้งเจ้าผู้หญิงและเจ้าผู้ชายจริงหรือไม่ คำตอบ-จริง คำถาม-แล้วราชทูตไทยได้ไปเที่ยวตามวัดต่าง ๆ ในประเทศฝรั่งเศส และได้ไหว้พระของท่าน จริงหรือไม่ คำตอบ-ข้อนี้ข้าพเจ้าไม่ทราบ แต่ถ้าราชทูตได้ไหว้พระจริงก็มิได้มีใครบังคับเลย คำถาม-การที่ราชทูตไทยได้ไปไหว้พระเช่นนี้ก็เพื่อจะทำให้ เปนที่พอพระไทยของพระเจ้ากรุงฝรั่งเศสและเพื่อจะไม่ให้ขัดพระไทยพระเจ้ากรุงฝรั่งเศส ใช่หรือไม่ คำตอบ-ถึงแม้ว่าราชทูตไทยจะไม่ได้ไหว้พระ พระเจ้ากรุงฝรั่งเศสก็คงจะไม่กริ้วอย่างใดเหมือนกับเอกอรรคราชทูตเมอง เปอเซียและเมืองตูรกีเวลาไปประจำการอยู่ที่ประเทศฝรั่งเศสเขาก็ปฏิบัติการตามแบบธรรมเนียมบ้านเมืองของเขา ก็ไม่เห็นมีใครว่ากระไร คำถาม-ก็การที่ราชทูตไทยไปไหว้พระเช่นนี้ ก็ได้ทำแต่กิริยาภายนอก แต่น้ำใจยังคงนับถือสาสนาของเขาอยู่ ในตอนนี้ข้าพเจ้าได้พูดกระซิบกับคนที่นั่งใกล้กับข้าพเจ้าว่า "ราชทูตเหล่านี้ช่างเปนคนหน้าไหว้หลังหลอกจริง" แต่ข้าพเจ้า



(หน้า ๖๕)

ไม่กล้าพูดดัง ๆ ให้เจ้าพระยาพระคลังได้ยิน แล้วเจ้าพระยาพระคลังพูดต่อไปว่า ฝ่ายเราก็ไม่ต้องการให้ท่านไหว้พระของเราในเวลาที่ เข้ากระบวรแห่ ท่านจะไหว้พระของท่านก็ได้ไม่ห้าม เราขอแต่กิริยาภายนอกเท่านั้น ไม่ได้ขอให้ทำด้วยน้ำใจซึ่งเปนข้อสำคัญในข้อ ที่น้ำใจจะหันไปทางไหนก็แล้วแต่ท่านจะจัดการไปก็แล้วกัน คำตอบ-เมื่อจะทำกิริยาอย่างใดซึ่งเปนสิ่งที่ไม่ดีและต้อง ห้าม ความเจตนาในใจไม่พอที่จะลบล้างให้กิริยาอันชั่วกลาย เปน ดีได้ คำถาม-ในกระบวรแห่นี้จะไม่มีพระพุทธรูป หรือมีเครื่องหมายสาสนาของเราอย่างใดเลย คำตอบ-แต่เสียงที่พูดกันตรงกันข้าม และในการชนิดนี้ไม่เคยมีใครบังคับให้พวกเข้ารีตต้องทำเลย คำถาม-ก็เวลามีงารนักขัตฤกษ์ของพระพุทธสาสนา พวกเข้ารีตก็มาช่วยในงารเหล่านี้ออกแน่นไป มาร้องรำทำเพลงปนกับพวกไทย เอาเครื่องดีดสีตีเป่ามาเล่น และมาเขียนรูปพระพุทธรูปตามโบสถ์วิหารด้วยไม่ใช่ หรือ คำตอบ-ถ้าคนเข้ารีตคนใดได้กระทำการดังว่ามานี้แล้ว คนผู้นั้นก็ได้กระทำบาปในสาสนาของเรา



(หน้า ๖๖)

คำถาม-ข้าพเจ้าเปนหัวหน้าของชาวต่างประเทศทั่วไป จะขอแรงให้พวกนี้มาเดิร ตามหลัง ข้าพเจ้าไม่ได้ทีเดียวหรือ คำตอบ-พวกเข้ารีต และชาวต่างประเทศจะมีความยินดีที่จะ เดิรตามหลังท่านและทำตามคำสั่งของท่านทุกอย่าง ในสิ่งที่ไม่เปนข้อห้ามในสาสนาของเรา คำถาม-ท่านเองเปนผู้เชิญ พระราชสาสนของพระเจ้ากรุง ฝรั่งเศส มาถวายพระเจ้ากรุงสยาม ในพระราชสาสนนั้นมีใจ ความให้ท่านเปนธุระจัดการให้พระราชไมตรีในระหว่างประเทศทั้งสองได้คงอยู่และให้ติดต่อแน่นสนิทยิ่งกว่าเดิมใช่หรือไม่ คำตอบ-ใช่และข้าพเจ้า จะพยายาม ที่จะให้เปนเช่นนั้นโดย เต็มกำลังที่จะทำได้ คำถาม-ก็แต่ดังนั้นท่านก็ทำการที่จะให้ พระราชไมตรีขาด ให้ได้โดยท่านขัดพระราชโองการในสิ่งที่ยุติธรรมและง่าย ข้อนี้ ไม่เปนข้อสำคัญดอกหรือ เมื่อท่านทำการอย่างนี้ท่านจะอยู่เปน สุขอย่างไรได้ ท่านจะทำการอะไรขอให้ตรึกตรองให้ดีเสียก่อน คำตอบ-ข้าพเจ้าพร้อมอยู่ที่จะทำตามพระราชโองดารทุกอย่างถ้าพระเจ้ากรุงสยามจะมีรับสั่งให้ข้าพเจ้าไปเมืองพิษณุโลกหรือเมืองจันทบุรี ทั้งข้าพเจ้าป่วยและไม่มีแรงอยู่อย่างนี้ ข้าพเจ้าก็จะ รีบไปตามรับสั่งภายในชั่วโมงนี้เอง ข้าพเจ้าหวังใจว่าถ้าพระเจ้า กรุงสยามได้ทรงทราบว่า การที่เกณฑ์ให้พวกเข้ารีตทำในคราวนี้



(หน้า ๖๗)

เปนการขัดด้วยสาสนาของเราแล้ว พระเจ้ากรุงสยามก็คงจะไม่ กริ้วในการที่เราไม่ยอมทำในสิ่งที่ผิด คำถาม-ในสาสนาของท่านมีอะไรบ้างที่จะทำให้เห็นปรากฎ ว่าสาสนาของท่านเปนสาสนาที่จริง เหมือนกับพระพุทธสาสนาที่สอนวิชากันมิให้น้ำมันกำลังเดือด ๆ ทำให้เนื้อหนังพอง และเมื่อเอาน้ำมันทาตัวแล้ว จะฟันก็ไม่เข้ายิงก็ไม่ออกดังนี้ คำตอบ-พระเปนเจ้าองค์ที่แท้จริงซึ่งเปนผู้สร้างดินฟ้า อากาศจะทำอะไรก็ทำได้แต่ที่ท่านจะให้พระเปนเจ้าทำสิ่งที่น่าพิศวงอันหาแก่นสารไม่ได้นั้น พระเปนเจ้าไม่ทำเปนอันขาด สาสนาของเราหาได้สอนการต่าง ๆ อย่างท่านว่าไม่ แต่สาสนาของเราสอนให้มีหัวใจอันเที่ยงตรงและให้มีวิญญาณอันบริสุทธิ์ เจ้าพระยาพระคลังจึงได้เรียกถ้วยมา ๑ ถ้วย ในถ้วยนั้นจะมีน้ำมันหรือน้ำอะไรก็ไม่ทราบ แล้วได้เอาถ้วยนั้นตั้งบนไฟถ่าน เจ้าพระยาพระคลังได้พัดไฟด้วยมือของตัวเอง แล้วเจ้าพระยาพระคลังได้เอามือประสานที่หน้าอก ทำปากมุบมับจะว่ากระไรก็ไม่ทราบสัก ๑๕ นาที ในระหว่างที่เจ้าพระยาพระคลังตั้งทำพิธี นี้อยู่นั้น ข้าพเจ้าได้ก้มหน้าไม่มองดู เพื่อแสดงให้เห็นว่าข้าพเจ้าไม่ชอบในการทำพิธีเช่นนี้ ครั้นน้ำมันหรือน้ำในถ้วยได้เดือดแล้วเจ้าพระยาพระคลังได้เอาปลายนิ้วจิ้มลงไปในน้ำมันที่เดือด แล้วก็ให้ส่งถ้วยน้ำมันมาให้พวกเราทำบ้าง แต่พวกเราไม่มีใครต้องการจับสักคนเดียว ส่วนพวกเจ้าพนักงารก็ได้เอานิ้วจิ้มลงไปในน้ำมัน



(หน้า ๖๘)

หมือนกัน แล้วบุตร์ของเจ้าพระยาพระคลังก็เอานิ้วจิ้มบ้าง คนหนึ่งพูดว่าแดดร้อนกว่าน้ำมันเดือดนี้เสียอีก เมื่อทำพิธีเอานิ้วจุ่มน้ำมันเสร็จแล้ว เจ้าพระยาพระคลังก็ให้พวกเรากลับไป และกำชับว่าเรื่องนี้เปนเรื่องสำคัญให้พวกเราตรึกตรองให้ดี และถ้าเราขืนขัดพระราชโองการของพระเจ้า แผ่นดิน เราจะหวังหาความสุขในเมืองไทยไม่ได้เปนแน่ ในการที่ไปหาเจ้าพระยาพระคลังคราวนี้ เจ้าพระยาพระคลังได้ซักถามแก่ข้าพเจ้าคนเดียว และข้าพเจ้าก็ตอบเกือบทุกคำโดย ไม่ต้องใช้ล่าม ครั้นออกมาแล้วบาดหลวงเยซวิตได้บอกกับข้าพเจ้าว่าการที่เจ้าพระยาพระคลังเรียกข้าพเจ้าไปนั้น ไม้ได้ประสงค์อย่างอื่นนอกจากอยากจะได้ของ ดังได้รีดจากบาดหลวงเยซวิตมาแล้ว และบาดหลวงเยซวิดได้เล่าต่อไปว่า ในการซื้อของให้เจ้าพระยาพระคลังต้องจ่ายเงินไปกว่า ๑๕๐ เหรียญ



(หน้า ๖๙)

พวกเข้ารีตได้รับความยกเว้น ไม่ต้องเข้ากระบวรแห่


ข้าพเจ้าตั้งใจว่าอีกสัก สอง สาม วันจะไปหาเจ้าพระยา พระคลังเพื่อนำของไปถวายพระเจ้าแผ่นดิน และนำของไปให้เจ้า พระยาพระคลัง เพื่อให้เจ้าพระยาพระคลังหายโกรธลงบ้าง แต่ได้เกิดเรื่องต่าง ๆ ขึ้นซึ่งทำให้ข้าพเจ้าไปยังไม่ได้ คือเมื่อวันอังคาร ที่ ๓๑ เดือนธันวาคม ได้มีคนเข้ามาตัด ไม้ไผ่ในบ้านบาดหลวงโดยไม่ได้บอกกล่าวอย่างใด ซึ่งเปนการผิดต่อกฎหมายของบ้านเมือง(๑) คนที่มาตัดไม้ไผ่นั้นได้ด่าบาดหลวง ผู้หนึ่งและด่าล่ามของคณะบาดหลวง บาดหลวงกับล่ามผู้ถูกด่า จึงได้ไปร้องต่อเจ้าพระยาพระคลัง ๆ ตอบมาว่า เวลานี้มีธุระมาก ยังไม่มีเวลาพอที่จะพิจารณาเรื่องนี้ได้ วันอื่นจึงจะพิจารณาให้ เพราะเหตุว่าข้าพเจ้าได้มีจดหมายไปยังเจ้าพระยาพระคลัง ทั้งพูดด้วยปากในที่ประชุมชน อธิบายว่าคนเข้ารีตจะไปเข้ากระบวรแห่ --- (๑) กฎหมายบ้านเมืองในข้อนี้มีว่า ผู้ใดจะมาเอาของหรือมาจับผู้คนโดยไม่มี คำสั่งของศาลที่ตัวขึ้นอยู่ไม่ได้ คำสั่งอันนี้ต้องนำไปส่งต่อล่าม ๆ ต้องนำความไปแจ้งให้หัวหน้าค่ายทราบ เสียก่อนแล้วจึงจัดการตามคำสั่งของหัวหน้าค่าย ส่วนพวกเราเปน ชาวต่างประเทศขึ้นอยู่ในเจ้าพระยาพระคลัง และถ้าไม่มีคำสั่งของ เจ้าพระยาพระคลังมาแล้ว เราไม่ต้องเชื่อฟังคนอื่นเลยเปนอันขาด



(หน้า ๗๐)

ไม่ได้เปนอันขาดเพราะเปนการขัดด้วยสาสนาของเรานั้น จึงเปนอันตกลงยกเว้นไม่ต้องให้พวกเข้ารีตไปช่วยกระบวรแห่ ทั้งญวนเข้ารีต ๑๘ คนในค่ายยี่ปุ่นก็ได้ยกเว้นด้วยเหมือนกัน แต่เจ้าพนักงาร ผู้มีหน้าที่ควบคุมพวกเข้ารีต ก็ยังอดรบกวนพวกเข้ารีตไม่ได้ การแห่อันล่ำลือกันโด่งดังนั้นได้มีตามวันที่ได้กำหนดไว้ คือ วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ยี่ (ตรงกับวันที่ ๒ เดือนมกราคม) และได้แห่รอบพระราชวังหลวง ในการแห่นี้พระเจ้ากรุงสยามได้เสด็จเข้ากระบวรแห่ด้วยพระองค์เอง คือทรงพระราชดำเนิรตามท้ายดอกบัวทองคำและพระพุทธบาทจำลองด้วยทองคำ ต่อพระเจ้าแผ่นดินนั้นมีเจ้าพระยาพระคลังเดิรตามไป แล้วจึงถึงเจ้านายทั้งหญิงและชายเดิรตามลำดับยศมากและน้อย กระบวรแห่ได้ออกเดิรราวเวลา ๑ ทุ่ม และได้แห่กันจนเกือบถึงเวลา ๒ ยาม พวกพระสงฆ์หาได้เดิรเข้ากระบวรแห่ไม่ แต่ได้รายอยู่ตามทางที่กระบวร แห่เดิรเปนอันมาก การห้ามมิให้คนเข้ารีต

ฝ่ายหลวงราชมนตรีผู้มีหน้าที่ตรวจตราควบคุมพวกเข้ารีต ก็คงรบกวนพวกเข้ารีตมิได้อยุดเลย เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๕ เดือน มกราคมหลวงราชมนตรีได้เชิญพระราชโองการ (จะเปนพระราชโองการจริงหรือปลอมอย่างไรก็ไม่ทราบได้) ลงวันที่ ๕ มกราคมมาส่งยังคณะบาดหลวง ในพระราชโองการนั้นมีใจความว่า พระเจ้ากรุงสยามได้มีพระราชโองการสั่งแก่มหาดเล็กผู้ ๑ ชื่อ นายสิทธิ์ ให้ไปบอก



(หน้า ๗๑)

เจ้าพระยาพระคลังให้ไปเรียกหลวงราชมนตรีและพวกล่าม และให้เจ้าพระยาพคลังสั่งหลวงราชมนตรีและพวกล่ามให้ไปบอกแก่บาดหลวงมิชันนารีให้ทราบทุก ๆ คน ว่าต่อไปห้ามมิให้ ไทย มอญ และญวนไปเข้ารีตเปนอันขาด ถ้าหากผู้ใดทำการขัดขืนพระราชโองการนี้ ก็ให้เอาตัวหลวงราชมนตรีกับพวกล่ามมาลงพระราชอาญาถึงประหารชีวิต เพราะเหตุนี้เจ้าพระยาพระคลังจึงได้เอาสัญญากับหลวงราชมนตรีและพวกล่าม และได้ตั้งเจ้าพนักงารสำหรับตรวจตราควบคุมพวก มิชันนารีเพื่อคอยดูว่าพวกมิชันนารีได้ปฏิบัติการโดยถูกต้องกับพระราชโองการหรือไม่ ครั้นรุ่งขึ้นวันที่ ๖ เดือน มกราคม หลวงราชมนตรีจึงได้เขียนหนังสือสัญญาทานบลตามคำสั่งของเจ้าพระยาพระคลัง แล้วได้ส่งมาให้พวกล่ามเข้ารีตเซ็น แต่ในสัญญาทานบลฉบับนี้หาได้กล่าวถึงพวกญวนไม่ เปนแต่กล่าวถึงไทยและมอญเท่านั้น รุ่งขึ้นอีกวัน๑หลวงราชมนตรีได้สั่งให้พวกล่ามเซ็นสัญญาทานบลเสีย แต่ทานบลฉบับนี้เจ้าพระยาพระคลังก็ยังหาได้ตรวจไม่ พวกล่ามก็ได้เซ็นตามคำสั่งโดยทันที แต่ฝ่ายล่ามของเรายังอิดเอื้อนไม่ยอมเซ็นอยู่หลายวัน ครั้นภายหลังล่ามของเราเห็นว่าหลวงราชมนตรีขัดเคืองพวกเข้ารีตหนักขึ้น และหาว่าเราขัดพระราชโองการของพระเจ้าแผ่นดินจึงได้ยอมเซ็นสัญญาทานบลฉบับนี้ แล้วหลวงราชมนตรีคงอ้างพระราชโองการอยู่เสมอ ได้ให้ล่ามเข้ารีตส่งบาญชีชื่อพวกเข้ารีตทุกคนและให้บอกอายุและชาติกำเหนิดด้วย หลวงราชมนตรี



(หน้า ๗๒)

คิดจะเอาคนไทยหรือมอญซึ่งไม่ได้เข้ารีตซึ่งในเวลานี้ได้มาอาศรัยอยู่ กับพวกเข้ารีตแล้วให้คงอยู่กับพวกเข้ารีตต่อไป แต่ต้องให้ไทยและมอญเหล่านี้สัญญาว่าจะไม่ยอมเข้ารีตเปนอันขาด เมื่อข้าพเจ้าได้ทราบดังนี้ข้าพเจ้าจึงได้ให้ไปบอกกับไทยและมอญเหล่านี้ว่าให้อพยพครอบครัวไปอยู่ตามหมู่บ้านอื่นเสียก่อนจนกว่าการเรื่องนี้จะสงบดีกว่าจะทำสัญญาอย่างหลวงราชมนตรีว่า เพราะในคนพวกนี้มีอยู่บางคนที่เต็มใจอยากจะเข้ารีตอยู่แล้ว และถ้าไม่มีข้อห้ามก็คงได้เข้ารีตแล้วเปนแน่ ส่วนพวกญวนเข้ารีตในค่ายยี่ปุ่นนั้นเจ้าพนักงารผู้มีน่าที่ดูแลควบคุมพวกนี้ได้รังแกข่มเหงหลายอย่าง โดยเปลี่ยนหัวหน้าตามชอบใจเสียบ้าง และเอาคนอื่นที่เข้ารีตก็มีที่ไม่เข้ารีตก็มีให้เปนหัว หน้าต่อไป เพราะเจ้าพนักงารเห็นว่าคนเหล่านี้เปนพวกของตัวแล้วเจ้าพนักงารคนนี้ได้จับคนเข้ารีตหลายคน หาว่าได้เข้ารีตโดยผิดกับกฎหมายบ้านเมือง และขู่กันโชกว่าถ้าพวกนี้ไม่ยอมละทิ้งสาสนา คริศเตียนก็จะทำโทษทรมานต่าง ๆ ให้ตาย และการที่จะละทิ้งสาสนานั้นต้องแสดงทั้งวาจาและทั้งทำหนังสือทานบลด้วย ข้าพเจ้าได้ให้คนไปปลอบพวกเข้ารีตเหล่านี้และให้ไปบอกว่าไม่ต้องกลัว เกรงอะไร เมื่อใครจะว่าอะไรก็ให้ตอบโดยไม่ต้องกลัว ว่าตัวไม่ได้ทำผิดกฎหมายข้อใดเพราะกฎหมายไม่ได้ห้ามไม่ให้พวกนี้เข้ารีต



(หน้า ๗๓)

พวกเข้ารีตถูกลงโทษ

เมื่อวันที่ ๑๔ มกราคม หลวงราชมนตรีกับเสมียนศาลอีกศาลหนึ่ง รับ ๆ สั่งพระเจ้ากรุงสยามให้มาถามข้าพเจ้า ว่าการแห่ครั้งที่ ๒ ซึ่งจะแห่กันในวันเสาร์ที่ ๑๗ มกราคม และจะผ่านหน้าบ้านบาดหลวงนั้นข้าพเจ้าจะดูหรือไม่ การที่มาถามเช่นนี้ข้าพเจ้ากลั้นหัวเราะไว้ไม่ได้ข้าพเจ้าจึงตอบว่า ถ้าประจวบกับเวลาที่ข้าพเจ้าอยู่นอกบ้านโดยข้าพเจ้ากำลังไปเยี่ยมคนไข้หรือกลับจากเยี่ยมคนไข้แล้ว ข้าพเจ้าไม่ได้หลับตาเดิร เพราะฉนั้นคงจะต้องเห็นกระบวรแห่อยู่เอง แต่ข้าพเจ้าคงจะไม่ออกมาดูโดยเฉพาะ หลวงราชมนตรีกับล่ามจึงบอกกับข้าพเจ้าให้ตอบสั้น ๆ ว่า ข้าพเจ้ากับบาดหลวงอื่น ๆ จะดูกระบวรแห่หรือไม่ ข้าพเจ้าจึงได้ตอบว่าพวกข้าพเจ้าจะไม่ดู หลวงราชมนตรีได้ถามต่อไปว่าพวกเข้ารีตจะดูหรือไม่ ข้าพเจ้าจึงตอบว่าข้อนั้นข้าพเจ้าทราบไม่ได้ เพราะมีข้อห้ามอยู่แล้วว่า พวกเข้ารีตจะไปช่วยหรือจะไปเกี่ยวข้องในการเช่นนี้ไม่ได้ เสมียนได้จดถ้อยคำที่ข้าพเจ้าตอบเสร็จแล้ว ก็บอกให้ข้าพเจ้าจำคำพูดข้าพเจ้าไว้ให้ดี แล้วก็ลากลับไป รุ่งขึ้นเวลาเช้าประมาณ ๓ โมง บุตร์หลวงราชมนตรีได้มายังโรงเรียนสามเณรบอกข้าพเจ้าว่า มีพระราชโองการให้พาพวกเข้ารีตผู้ชายทุกคนไปยังบ้านพระยากลาโหม ซึ่งเปนเสนาบดีว่าการฝ่ายหัวเมืองข้าพเจ้าจึงขอดูคำสั่งเสียก่อน แต่บุตร์หลวงราชมนตรีก็หาเอา -

๑๐



(หน้า ๗๔)

- คำสั่งมาให้ดูไม่ กลับตอบว่าหลวงราชมนตรีคอยอยู่ที่ประตูพร้อมด้วยทหารพลธนูแล้ว และทหารพลธนูนี้เปนทหารเฉพาะพระองค์พระเจ้าแผ่นดิน และถ้าพวกเข้ารีตขืนไม่ไปโดยทันทีจะต้องจับพวกเข้ารีตเฆี่ยนเสียให้หมด ข้าพเจ้าเกรงว่าจะเกิดวุ่นวายขึ้นจึงสั่งให้ล่ามรีบไปพร้อมกับพวกเข้ารีต เพื่อจะไปฟังดูว่าพระยากลาโหมจะมีธุระอะไรกับพวกเข้ารีต ล่ามไปได้ความมาว่าเมื่อตอนเช้ามืดพวกทหารพลธนูได้ไปพาคนเข้ารีตจากค่ายปอตุเกตไป ยังบ้านพระยากลาโหมเปนอันมากแล้ว พระยากลาโหมได้บังคับให้พวกเข้ารีตทุกคนไปขนอิฐในที่ใกล้ ๆ กับ พระราชวังหลวง พวกเข้ารีตต้องขนอิฐอยู่ดังนี้ตลอดจนถึงวันศุกร์ แต่เวลากลางคืนนั้นเจ้าพนักงารได้อนุญาตให้พวกเข้ารีตไปนอนบ้าน


กระบวรแห่

เมื่อเวลาบ่ายประมาณ ๒ โมง ๓๐ นาที กระบวรแห่ได้เดิรผ่านหน้าโรงเรียนสามเณร เจ้าพนักงารได้เอาเรือลำใหญ่ซึ่งบรรทุกคนเต็มลำมาจอดไว้หน้าโรงเรียน และมีเรือเล็ก ๆ จอดรายตลอดเขตค่าย แต่พวกเข้ารีตต่างคนต่างอยู่กับบ้าน ไม่ได้มีเสียงอื้ออึงและไม่มีใครเดิรไปเดิรมาเลย ส่วนพวกคณะบาดหลวงนั้น ต่างคนก็เข้าวัดหมดทำการสวดมนต์อยู่ทุกคน ฝ่ายพวกราษฎรที่ไม่ได้เข้ารีตนั้นก็มาด่าเยาะเย้ยพวกเข้ารีตที่ต้องถูกลงโทษขนอิฐ และพูดว่า "ไหนจะดีกว่ากันขนอิฐดีหรือ หรือช่วยกระบวรแห่ซึ่งมี



(หน้า ๗๕)

พระเจ้าแผ่นดินและเจ้านายเสด็จอยู่ด้วยจะดี ที่พวกเจ้าต้องขนอิฐเช่นนี้เห็นจะสบายใจละซี" พวกเข้ารีตได้ตอบว่า การขนอิฐดีกว่าและเขาก็พอใจขนอิฐมากกว่า ครั้นพวกไทยบอกให้คนเข้ารีตดูกระบวรแห่ พวกเข้ารีตก็เมินหน้าเสียหาดูไม่ พวกเข้ารีตได้กลับมาทำการตามหน้าที่เดิมเมื่อวันเสาร์เวลาเช้า ก่อนที่จะกลับมานั้นพระยากลาโหมได้เรียกพวกนี้ไปแล้วพูดว่า "พวกเจ้ากลับไปบ้านเถิด เพราะพวกเจ้าไม่มีความผิดอะไร แต่การที่เจ้าต้องถูกลงโทษนั้น ก็เพราะสังฆราชและพวกมิชันนารีเปนต้นเหตุทำให้เจ้าต้องรับ โทษ พวกเจ้าจงไปบอกสังฆราชและมิชันนารีให้มาหาเราเพื่อแก้ตัวในข้อที่ทำผิด" ท่านสังฆราชถูกซักถามอีก

พอข้าพเจ้าได้ทราบความดังนี้ก็คิดตั้งใจจะรีบไปหาพระยากลาโหม แต่ความจริงข้าพเจ้าก็ยังไม่เคยรู้จักข้าราชการผู้นี้เลย ข้าพเจ้าเชื่อใจว่า ตามทางดำเนิรของพระยากลาโหมเช่นนี้ การเรื่องนี้ก็คงจะไม่ไปถึงไหน คงจะเปนเรื่องที่จะแล้วไปโดยเร็วและที่ไทยได้ทำการดังนี้ ก็เพราะได้พูดขู่ไว้มากแล้ว จึงจำเปนต้องทำให้เห็นอำนาจของไทยและทำให้เราขายหน้าด้วย แต่ในขณะนี้ได้เกิดมีเสียงลือในค่ายปอตุเกตซึ่งเปนข่าวไม่จริง ว่าไทยจะจับภรรยาและบุตร์หญิงของพวกเข้ารีตให้หมด เสียงนี้ได้ลือมาจนถึงค่ายพวกเข้ารีต กระทำให้พวกเข้ารีตตกใจเปนอันมาก



(หน้า ๗๖)

ข้าพเจ้าไปเที่ยวป่าวร้องไม่ให้พวกนี้ตกใจ แล้วข้าพเจ้าจึงไปยังบ้านพระยากลาโหม ครั้นไปถึงแล้วข้าพเจ้าต้องคอยอยู่ในเรือช้านานมาก เพราะในชั้นต้นมีคนมาบอกว่า ท่านกลาโหมยังนอนอยู่ แล้วภายหลังมาบอกว่าท่านกลาโหมยังกำลังพูดราชการอยู่ กับหลวงราชมนตรี เพราะพระยากลาโหมได้ให้ไปตามหลวงราชมนตรีมา ข้าพเจ้าเชื่อว่าสำหรับจะได้นัดหมายกันว่าจะพูดกับข้าพเจ้าว่าอย่างไร ฝ่ายบาดหลวงเยซวิตในค่ายปอตุเกตไปเข้าใจเสียว่าตามที่ พระยากลาโหมสั่งให้พวกเข้ารีตมาบอกนั้น พระยากลาโหมจะต้องการเพียงให้ชี้แจงด้วยหนังสือเท่านั้น บาดหลวงเยซวิตจึงได้เขียนคำชี้แจงมายื่นแต่บอกให้เอามาให้ข้าพเจ้าดูเสียก่อน ในคำชี้แจงนี้กล่าวว่า พวกมิชันนารีมิได้ห้ามไม่ให้พวกเข้ารีตไปช่วย ในการแห่เลย ข้าพเจ้าได้ลบข้อความในคำชี้แจงนี้ ในข้อที่หาความใส่พวกเข้ารีตและในข้อที่จะทำให้พวกมิชันนารีเสียชื่อ แต่ลงท้ายที่สุดคำชี้แจงฉบับนี้ ซึ่งได้เขียนตามคำบอกของหลวงราชมนตรีหาได้ยื่นต่อพระยากลาโหมไม่ เพราะพระยากลาโหมได้ให้คนไปตามตัวบาดหลวงเยซวิตมาเอง ในระหว่างเวลาที่คอยพบพระยากลาโหมอยู่นั้น หัวหน้าคนใช้ซึ่งเปนคนสนิทของพระยากลาโหมได้เรียกล่ามขึ้นไปโดยเฉพาะ และได้พูดกับล่ามให้ล่ามมาบอกกับข้าพเจ้าว่า ถ้าจะต้องการให้เรื่องนี้เลิกกันแล้วก็ให้ข้าพเจ้าเสียเงินเสีย ๒ ชั่งเปนแล้วกัน (เงิน ๒ ชั่งมีราคาเท่า -



(หน้า ๗๗)

- กับ ๑๐๐ เหรียญ) ล่ามจึงได้ตอบว่า เขาจะไม่นำความเช่นนี้มาพูดกับข้าพเจ้าเปนอันขาด ในขณะนี้ได้มีเจ้าพนักงารชั้นผู้น้อยของพระมหาอุปราช ซึ่งเปนพระราชโอรสองค์ใหญ่ของพระเจ้าแผ่นดินได้ลงมาหาข้าพเจ้าในเรือเล่าว่า เมื่อวันแห่วันวานนี้นั้น พระมหาอุปราชได้แกล้งบอกประชวรเพื่อจะไม่ต้องไปเข้ากระบวรแห่ ครั้นเวลาค่ำพระยากลาโหมได้ไปเยี่ยมประชวร พระมหาอุปราชจึงได้รับสั่งกับพระยากลาโหมว่า "การที่ท่านมาหานี้ข้าพเจ้ายินดีมากเพราะได้ตั้งใจไว้ว่าจะเรียกท่านมาถาม ว่าการที่ท่านให้พวกเข้ารีตไปทำการโยธานั้น ท่านได้รับอำนาจจากใคร ท่านเชื่อว่าเรื่องนี้คงจะยุติกันเพียงนี้หรือ ท่านจะต้องการให้พระราชไมตรีซึ่งเราได้พยายามมีไว้กับเจ้าแผ่นดินในประเทศยุโรปได้ขาดไปหรือ ขอให้ท่านรีบไปจัดการเสียให้เรียบร้อยโดยเร็ว" แต่ในเรื่องนี้ท่านกลาโหมได้ไล่พวกเข้ารีตกลับเสียในตอนเช้าแล้ว แล้วเจ้าพนักงารผู้นั้นได้พูดต่อไปว่า ในเวลาที่ข้าพเจ้าเข้าไปหาพระยากลาโหมนั้น เจ้าพนักงารคนนี้จะอยู่ในที่นั้นด้วย เพื่อจะได้นำความไปทูลพระมหาอุปราชให้ทรงทราบ ในคราวที่ไปหาพระยากลาโหมครั้งนี้ พระยากลาโหมนั่งอยู่บนแท่น* ข้าพเจ้านั่งอยู่บนหมอนตรงหน้าพระยากลาโหม บาดหลวงเยซวิตกับบาดหลวงคณะของเรานั่งอยู่ข้างข้าพเจ้า ฝ่ายหลวงราชมนตรีนั้นหมอบอยู่เพื่อเปนล่ามรับบัญชา ท่านกลาโหมมาบอก -

..........................................
*ภาษาฝรั่งใช้คำว่า (Trone)



(หน้า ๗๘)

ข้าพเจ้าและรับคำตอบของข้าพเจ้าเรียนท่านกลาโหม พระยากลาโหมจึงพูดขึ้นว่า "ข้าพเจ้าได้ไล่พวกเข้ารีตกลับไปแล้ว เพราะเขาไม่ได้ทำผิดอะไร ผู้ที่ทำผิดก็คือตัวท่านเอง เพราะฉนั้นการเรื่องนี้จะเปนอันสงบยังไม่ได้" หลวงราชมนตรีจะตอบว่า พวกข้าพเจ้าได้รู้สึกความผิดแล้วจึงขอโทษ แต่ข้าพเจ้าชิงตอบเสียเองว่า "พวกข้าพเจ้าไม่ได้ทำความผิดอย่างไรและพวกเข้ารีตก็ไม่ ได้ทำความผิดอย่างไรเหมือนกัน" พระยากลาโหมพูดว่า "อย่างไรกันท่านไม่ได้ทำผิดอย่างนั้นหรือ พวกแขกมัวแขกมลายูและพวกจีนก็ล้วนแต่ถือสาสนาผิดกว่าสาสนาของเรา แต่พวกนี้ก็ไม่เห็นขัดข้องอย่างไรในการที่จะไปช่วยกระบวรแห่ มีแต่พวกเข้ารีตพวกเดียวเท่านั้นที่ขัดพระราชโองการ" แล้วพระยากลาโหมได้ซักถามข้าพเจ้าหลายข้อคล้าย ๆ กันกับที่ข้าพเจ้าเคยถูกถามและที่ข้าพเจ้าได้เคยตอบมาแล้ว ในที่สุดพระยากลาโหมได้พูดว่า ในวันนั้นเองจะได้กราบทูลพระเจ้ากรุงสยามและพระยากลาโหมจะคิดช่วยเราโดยเต็มกำลัง พวกเราก็ได้ลาพระยากลาโหมกลับบ้าน



(หน้า ๗๙)

พวกเข้ารีตถูกปรับ

รุ่งขึ้นเปนวันอาทิตย์เวลาเช้าก่อน ๑ โมง หลวงราชมนตรีได้มาหาข้าพเจ้าแจ้งว่า พระยากลาโหมได้ให้มาบอกกับข้าพเจ้าว่าพระยากลาโหมได้กราบทูลช่วยพวกเรา จนพระเจ้ากรุงสยามได้โปรดพระราชทานยกโทษให้พวกเราแล้ว เรื่องนี้นับเปนเสร็จกันแล้ว หลวงราชมนตรีกับพระยากลาโหมจึงได้คำนวณดูว่าเราจะ ต้องเสียเงินเท่าไรแน่ เพราะจะต้องเสียค่าคำตัดสินซึ่งเปนคำตัดสินของพระเจ้าแผ่นดินและของพระยากลาโหม กับจะต้องเสียเงินให้แก่พวกเสมียนและพวกนักการที่เดิรหมายกับทั้งคนใช้ด้วย จึงคิดเงินที่พวกเข้ารีตจะต้องออกรวมคนละ ๖ บาท ตามที่พระยากลาโหมและหลวงราชมนตรีคิดเงินนี้รวมกันเข้าก็ไม่ใช่เงินน้อย ข้าพเจ้าจึงได้ให้จดถ้อยคำตามที่หลวงราชมนตรีมาพูด และก็คิดไว้ในใจว่าจะไม่ยอมใช้เงินรายนี้ แล้วหลวงราชมนตรีได้พูดต่อไปว่า ถ้าข้าพเจ้าไปหาพระยากลาโหมเพื่อขอบพระเดชพระคุณที่ท่านได้ช่วยเหลือเช่น นี้ บางทีเงินที่เราจะต้องเสียเฉพาะตัวพระยากลาโหมจะได้ลดหย่อนลงบ้างกระมัง แต่ส่วนรายเงินที่คนอื่น ๆ ควรจะได้ พระยากลาโหมเห็นจะลดไม่ได้ หลวงราชมนตรีจึงถามว่าข้าพเจ้าจะไม่รีบไปหาพระยากลาโหมหรืออย่างไร ข้าพเจ้าจึงตอบว่าในเรื่องนี้จะต้องตรึกตรองเสียก่อนว่าจะควรทำอย่างไรต่อไป ซึ่งเปนการทำให้หลวงราชมนตรีหน้าสลดเพราะเห็นว่าข้าพเจ้ารู้เท่า



(หน้า ๘๐)

ในวันนั้นเองพวกเสมียนของเจ้าพระยาพระคลังได้ ให้คนมาบอกข้าพเจ้าว่า การที่พระยากลาโหมงดการกดขี่ข่มเหงพวกเข้ารีตก็เปนเหตุที่เจ้าพระยาพระคลังได้สั่งให้พระยากลาโหมเลิกการกดขี่ พวกเข้ารีต เพราะฉนั้นการที่หลวงราชมนตรีมากะให้จ่ายเงินนั้นไม่ควรให้เราออกจนเฟื้องเดียว ในระหว่างนี้พวกล่ามในค่ายปอตุเกตได้มาบอกข้าพเจ้าว่า บาดหลวงเยซวิตพร้อมด้วยพวกเข้ารีตในค่ายปอตุเกต ได้พากันไปหาพระยากลาโหมเพื่อไปขอบใจและเพื่อเอาของไปให้ด้วย และว่าพระยากลาโหมมิได้คิดเอาเงินอย่างไรเลย เพราะฉนั้นข้าพเจ้าจึงมาตรองเห็นว่าควรเอาพระยากลาโหมไว้เปนมิตร์ดีกว่าที่จะให้ พระยากะลาโหมเกลียด รุ่งขึ้นข้าพเจ้าจึงได้ไปหาพระยากลาโหมและได้นำของไปให้ คือรูปภาพ ๔ รูป กระจก ๒ หน้า ๑ บาน และของอื่น ๆ อีกหลายอย่าง พระยากลาโหมได้ต้อนรับอย่างดีมิได้พูดถึงการที่ข้าพเจ้าจะต้องเสียให้เลยจนคำเดียว และได้บอกกับข้าพเจ้าว่าต่อไปถ้าข้าพเจ้ามีกิจธุระอย่างใดแล้ว ก็ให้ข้าพเจ้าส่งล่ามหรือใคร ๆ ให้ไปบอกก็ได้ ตามการที่เปนอยู่ดังนี้ก็พอสันนิฐานได้ว่า ในเมืองนี้ถ้าผู้ใหญ่ทำอะไรกับผู้น้อยไม่ได้แล้ว ก็กลับทำดีเปนทีว่าตัวได้ทำคุณความดี ให้แก่ผู้น้อย ฝ่ายหลวงราชมนตรีนั้น ก็คงรังแกพวก เข้ารีตอยู่เสมอไม่เว้นเลย และพวกญวน เข้ารีตในค่ายยี่ปุ่นได้ถูกรังแก ยิ่งกว่าคนอื่น เจ้าฟ้านเรนทร์พระราชโอรสของพระเจ้าแผ่นดินองค์ ก่อน และเปนพระนัดดาพระเจ้าแผ่นดินปัจจุบัน ได้ให้คนมาถามข้าพเจ้า ว่าเรื่องที่เอะอะกันคราวนี้ ได้สงบกันแล้วหรือยัง



(หน้า ๘๑)

จดหมาย มองเซนเยอร์ เดอโลลีแยร์
ถึงผู้อำนวยการคณะต่างประเทศ
เรื่องจะถวายของต่อพระเจ้าแผ่นดิน
วันที่ ๒๐ เดือน พฤษภาคม ค.ศ. ๑๗๔๙ (พ.ศ. ๒๒๙๒)
...............................

ด้วยหลวงราชมนตรีได้ไปทราบความมาว่า ข้าพเจ้าคิดจะเอาของไปถวายพระเจ้าแผ่นดินโดยจะส่งไปทางพระยากลาโหม จึงได้สั่งให้ล่ามมาบอกกับข้าพเจ้าว่าการที่จะฝากของถวายไปทาง พระยากลาโหมนั้นให้ระวังให้ดี เพราะจะเปนการทำให้เจ้าพระยาพระคลังขัดเคืองด้วยเหตุว่าเจ้าพระยาพระคลังเปนเสนาบดีมีหน้าที่ปกครองชาวต่างประเทศโดยเฉพาะ เพราะฉนั้นพวกชาวต่างประเทศไม่ควรจะไปพูดกับเสนาบดีอื่น ๆ แล้วหลวงราชมนตรีได้สั่งให้ล่ามมาบอกว่า ไม่ช้าหลวงราชมนตรีจะมาหาข้าพเจ้าเพื่อตรวจของที่จะถวาย และนัดวันที่จะส่งของเหล่านั้นไปยังเจ้าพระยาพระคลัง หลวงราชมนตรีก็ได้มาหาข้าพเจ้าตามที่ได้นัดไว้ เพื่อจะมาตรวจของที่จะถวายต่อพระเจ้ากรุงสยาม ของที่จะถวายนั้นมีรูปภาพ ขนาดใหญ่ ๑๘ รูปแก้ว ๓เหลี่ยม๑ อัน กล้องส่องตัวสัตว์ ๑ กล้องกับแว่นส่องของเล็ก ๑ อัน หลวงราชมนตรีได้ดูของเหล่านี้ก็เห็น ว่าเปนของที่งามและแปลก ข้าพเจ้าจึงได้เอาหนังสือที่ข้าพเจ้าได้-

๑๑



(หน้า ๘๒)

-เขียนถึง เจ้าพระยาพระคลังให้หลวงราชมนตรีดู ข้อความตามหนังสือฉบับนี้ก็เปนใจความอย่างเดียวกับที่ข้าพเจ้าได้เขียนและพูดด้วยปากกับเจ้าพระยาพระคลังและพระยากลาโหมมาแล้ว และการที่ข้าพเจ้าได้เขียนซ้ำไปเช่นนี้ก็โดยยอมให้เจ้าพระยาพระคลังหาว่าข้าพเจ้ากวน ดีกว่าที่จะให้เจ้าพระยาพระคลังมีคำพูดได้ว่าไม่รู้เรื่อง เพราะข้าพเจ้าเชื่อว่าทำอย่างไร ๆ หนังสือฉบับนี้ก็คงจะทรงทราบถึงพระเจ้ากรุงสยามตลอดทั้งข้าราชการผู้ใหญ่ด้วย ข้อความในจดหมายฉบับนี้มีดังนี้

"เดอโลลีแยร์ สังฆราชฝรั่งเศส เรียนท่านเจ้าพระยาพระคลังให้ทราบว่า สังฆราชมีความเสียใจเปนอันมากที่ได้ทราบว่า พระเจ้ากรุงสยามทรงกริ้วสังฆราช เพราะสังฆราชได้ตั้งใจไว้แต่เดิมว่าจะได้อยู่ในเมืองไทยจนกว่าชีวิตจะหาไม่ และตั้งใจที่จะพยายามจัดการ ให้พระราชไมตรีในระหว่างพระเจ้ากรุงฝรั่งเศสและพระเจ้ากรุงสยาม ได้แน่นหนาสนิทยิ่งขึ้นทุกที เพราะเปนข้อที่พระเจ้ากรุงฝรั่งเศสและพระเจ้ากรุงสยามได้รับสั่งไว้แก่สังฆราช เมื่อครั้งพระเจ้ากรุงสยามได้มีพระราชโองการให้บรรดาคนเข้ารีตไปเข้ากระบวรแห่นั้น สังฆราชก็ได้มีจดหมายไปเรียนเจ้าพระยาพระคลังอย่างอ่อนน้อม ว่าทั้งตัวสังฆราชและพวกเข้ารีตทั่วไป พร้อมอยู่ที่จะทำการตามรับสั่งของ พระเจ้าแผ่นดินในการอย่างอื่นทุกอย่าง แต่ในการที่จะเข้ากระบวรแห่นั้นเปนการที่ทำไปไม่ได้ เพราะเปนสิ่งต้องห้ามของสาสนาคริศเตียน


(หน้า ๘๓)

"สังฆราชจึงได้หวังในพระกรุณาและความยุติธรรมของ พระเจ้ากรุงสยาม ว่าเมื่อใดทรงทราบแล้วว่าการที่จะให้ทำนั้นเปนการผิดด้วยสาสนา ก็คงจะไม่ทรงบังคับให้พวกเข้ารีตได้ทำการสิ่งที่ผิดเปนแน่ อีกประการ ๑ ทั้งตัวสังฆราชและมิชชันนารีทั้งหลายกับทั้งพวกเข้ารีตทั่วไป ก็ได้กราบไหว้อ้อนวอนพระเปนเจ้าอยู่เนืองนิตย์ ขอให้พระเปนเจ้าได้โปรดบันดาลให้พระเจ้ากรุงสยามได้ทรงพระเจริญ ซึ่งเปนการที่ทำถูกต้องตามลัทธิของพวกคริศเตียน

"สังฆราชได้แสดงกับหลวงราชมนตรีและข้าราชการอื่นๆ หลายครั้งว่าสังฆราชมีความประสงค์อยากจะไปพบกับท่านเจ้าพระยาพระคลัง แต่หลวงราชมนตรีกับข้าราชการอื่น ๆ ก็ตอบอยู่เสมอจนทุกวันนี้ว่าสังฆราชยังจะไปหาท่านเจ้าพระยาพระคลังไม่ได้ เพราะท่านเจ้าพระยาพระคลังยังป่วยอยู่ การที่สังฆราชจะต้องการไปพบกับท่านเจ้าพระยาพระคลังนั้นก็เพื่อจะไปหารือว่าจะควรทำประการ ใดพระเจ้ากรุงสยามจึงจะหายกริ้ว เพราะการที่พระเจ้ากรุงสยามกริ้ว และพวกเข้ารีตต้องถูกทำโทษนั้นเปนการที่สังฆราชเสีย ใจอย่างยิ่ง"

ครั้นหลวงราชมนตรีได้อ่านจดหมายจบแล้วก็พูดว่า "ดีแล้วแต่วันนี้อย่าเพ่อเอาจดหมายไปเลยเอาแต่ของไปก่อนเถิด เมื่อเจ้าพระยาพระคลังเรียกท่านไปเมื่อไรจึงนำหนังสือนี้ไปด้วยดีกว่า" ถึงหลวงราชมนตรีได้แนะนำเช่นนี้ก็จริง แต่ข้าพเจ้าก็หาฟังไม่จึงได้ให้ส่งหนังสือและของไป ยังบ้านเจ้าพระยาพระคลังในวันนั้น -



(หน้า ๘๔)

- เอง บาดหลวงเอเตียนได้เปนผู้นำของและหนังสือไป และได้ส่งหนังสือกับของให้แก่ตัวเจ้าพระยาพระคลังเอง แต่หนังสือนั้นเจ้าพระยาพระคลังหาได้อ่านไม่ เพราะเวลานั้นยังกำลังสวดมนต์ทำบุญอยู่ ซึ่งเปนงารประจำวัน หลวงราชมนตรีกับล่ามของเราได้ขนของไปยังห้องเจ้าพระยาพระคลัง ๆ ได้ตรวจของอยู่พร้อมกับภรรยา (เวลานั้นบาดหลวงเอเตียนก็ยังอยู่ในห้องนั้นด้วย) แล้วจึงบอกกับล่ามว่าพรุ่งนี้เจ้าพระยาพระคลังจึงจะตอบหนังสือ ครั้นรุ่งขึ้นข้าพเจ้าได้ให้ล่ามไปฟังคำตอบของเจ้าพระยาพระคลัง แต่เจ้าพนักงารได้บอกว่าเจ้าพระยาพระคลังยังติดธุระจัดบ้านคอยรับเสด็จอยู่ เพราะในวันนั้นพระเจ้ากรุงสยามจะเสด็จมาประทับที่บ้านเจ้าพระยาพระคลัง ครั้นรุ่งขึ้นอีกวันหนึ่ง เจ้าพนักงารได้พูดว่าของเหล่านี้จะถวาย พระเจ้ากรุงสยามไม่ได้เพราะเปนแต่ของเล็กน้อย รุ่งขึ้นอีกวันหนึ่งเจ้าพนักงารคนหนึ่งได้พูดกับล่ามเปนเสียงกระชาก ๆ ว่า "ใครหนอ อาจสามารถ นำจดหมายของสังฆราชมาส่งให้เจ้าพระยา พระคลังได้"



(หน้า ๘๕)

ศิลาจารึกสำหรับประจาร ได้ซ่อมแซมและตั้งขึ้นใหม่แล้ว

ตั้งแต่วันนั้นมา ข้าพเจ้ามิได้ไปเกี่ยวข้องกับเจ้าพระยาพระคลังอีกเลย เมื่อเร็ว ๆ นี้ เจ้าพระยาพระคลังได้ให้เจ้าพนักงารมาถอนเอาศิลาจารึกสำหรับประจารไป นัยว่า ว่าจะเอาศิลาจารึกแผ่นอื่นมาปักแทน เพราะในศิลาจารึกแผ่นเก่าชำรุดอยู่ ๒บันทัดและเจ้า พระยาพระคลังได้ให้เจ้าพนักงารเอาศิลาจารึกไปปักไว้หน้าวัดเมือง มะริดอีกแผ่นหนึ่ง จดหมายฉบับนี้ข้าพเจ้าได้เขียนไว้ตั้งแต่วันที่ ๒๐ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๗๔๙ (พ.ศ. ๒๒๙๒) เจ้าพนักงารคนนั้นเองได้เอาศิลาจารึกกลับมาปักไว้ที่น่าวัด อีกเมื่อวันที่ ๒๒ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๗๔๙ (พ.ศ. ๒๒๙๒) เจ้าพนักงารได้สลักใหม่แต่ถ้อยคำไม่ผิดกับแผ่นเก่าเลย



(หน้า ๘๖)

จดหมายมองซิเออร์ ดูบัวร์
ถึงผู้อำนวยการคณะต่างประเทศ
วันที่ ๓ เดือน ธันวาคม ค.ศ. ๑๗๔๙ (พ.ศ. ๒๒๙๒)
............................

ในเวลานี้เกิดการลำบากขึ้นในการที่พวกเข้ารีตบางครัว ต้องถูกเกณฑ์ให้ทำของหวานให้แก่พระเจ้าแผ่นดินในวันนักขัตฤกษ์ ในวันชนิดนี้ พระเจ้ากรุงสยามก็มีรับสั่งให้พวกเข้ารีตเหล่านี้ ทำของหวานเปนอันมาก อ้างว่าสำหรับงารนั้นงารนี้ เปนต้นว่าสำหรับงารพิธีล้างศีร์ษะช้าง ซึ่งถือกันว่าเปนพระเจ้าองค์หนึ่ง หรือสำหรับงารไหว้พระพุทธบาทดังนี้ ครั้นพวกเข้ารีตได้รับคำสั่งให้ทำของหวานตามรับสั่ง พวกนี้ก็ตอบว่า เขาไม่เข้าใจว่าช้างอะไร พระพุทธบาทอะไร แต่ก็คงทำตามคำสั่งหาขัดพระราชโองการไม่ ข้าพเจ้าไม่ทราบว่าที่เขาตอบดังนี้จะเปนด้วยความโง่เขลาหรือ อย่างไร แต่ข้าพเจ้าเองไม่เห็นชอบด้วย



(หน้า ๘๗)

เมืองมริด
จดหมายมองเซนเยอร์ เดอโลลีแยร์
ถึงผู้อำนวยการคณะต่างประเทศ
วันที่ ๑๑ เดือน กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๗๔๓ (พ.ศ. ๒๒๘๖)
................................

เมื่อข้าพเจ้าได้มาถึงโรงเรียนสามเณรแล้ว ก็ได้ป่วยลงใน วันนั้นเอง และเจ้าพระยาพระคลังก็ได้ให้คนเทียวมาถามอาการข้าพเจ้าทุก ๆ วัน และให้สืบดูด้วยว่า ข้าพเจ้ามีของแปลก ๆ มาฝากบ้างหรือไม่ ข้าพเจ้าจึงจำเปนต้องเอานาฬิกา พก ๑ เรือนกับของ ต่าง ๆ อีกหลายอย่างไปให้เพื่อให้อยุดกวนสักที เมื่อสองสามวันนี้เจ้าพระยาพระคลังได้ถามมองซิเออร์ดีดีม ว่ามองซิเออร์ โอมองได้ฝากของมาให้ตามที่รับปากไว้หรือไม่ คือเจ้าพระยาพระคลังบอกว่ามองซิเออร์ โอมองรับจะส่งผ้าม่าน ผ้าปักลายทองและเงิน กระจกเงา เครื่องแก้ว และของอื่น ๆ ซึ่งเปนของแปลกและหายาก มาให้จากยุโรปทุก ๆ ปีไม่เว้นเลย เจ้าพระยาพระคลังคงให้เจ้าพนักงาร มีหนังสือไปทวงของจากมิชชันนารีที่ประจำอยู่ที่เมืองมริด และให้ไปทวงคนเข้ารีตทั้งผู้หญิงผู้ชายรวม ๓๐๐ คน ซึ่งเจ้าพระยาพระคลังอ้างว่ามองซิเออร์ โอมองรับจะยกให้เปนทาสของเจ้าพระยาพระคลัง ทั้งตัวมองซิเออร์ โอมองเอง ก็ว่าจะยอมตัวเปนทาสของเจ้า พระยาพระคลังด้วยเหมือนกัน เพราะฉนั้นเจ้าพระยาพระคลังถือว่ามิชชันนารีที่ประจำอยู่เมืองมริดเป็นคนแทนตัวมองซิเออร์ โอมอง -



(หน้า ๘๘)

จึงต้องการให้มิชชันนารีนั้น ๆ ส่งของมาให้ทุก ๆ ปีตามเคย เมื่อครั้งมองซิเออร์เลอบราซ์ได้รับหนังสือชนิดนี้ซึ่งแขกพราหมณ์ถือมานั้น เพอิญข้าพเจ้าก็อยู่ที่เมืองมริดด้วย และพราหมณ์ผู้ถือจดหมายได้บอกกับมองซิเออร์เลอบราซ์ว่า ถ้าเขาไม่ได้รับของฝากหรือจะเรียกว่าเครื่องบรรณาการแล้ว เจ้าพระยาพระคลังได้สั่งไม่ให้พราหมณ์กลับเปนอันขาด มองซิเออร์เลอบราซ์ได้บอกว่า ใครได้รับรองไว้ว่าอย่างไร มองซิเออร์เลอบราซ์ไม่ได้ทราบเรื่องด้วยเลย และมองซิเออร์เลอบราซ์เองก็ไม่มีของอะไรจะให้ แต่ถึงจะพูดอย่างไร ๆ พราหมณ์คนนั้นก็หาฟังไม่ และจะเขี้ยวเข็ญให้เรี่ยรายเงินจากพวกเข้ารีต ๓๐๐ คนเพื่อเอาไปซื้อของให้จงได้ การที่จะให้แขกพราหมณ์คนนี้กลับไปเสียก็ไม่มีอย่างอื่นนอกจากจะให้ของแก่ตัวพราหมณ์เท่านั้น และได้บอกกับพราหมณ์ว่า ตัวข้าพเจ้าเองจะกลับเข้าไปยังกรุงศรีอยุธยา เมื่อกลับไปถึงแล้วข้าพเจ้าจะได้ไปทูลต่อเจ้า* ว่ามองซิเออร์เลอบราซ์ได้ตอบว่าอย่างไร ข้าพเจ้าเข้าใจว่าการเมืองนี้เปนเรื่องที่ลืมกันแล้ว เพราะเมื่อข้าพเจ้ากลับมาถึงกรุงศรีอยุธยา ก็ไม่ได้ยินใครพูดถึงเรื่องนี้เลย และเสมียนของเจ้าผู้เขียนหนังสือไปยังมองซิเออร์เลอบราซ์นั้น ได้มาหาข้าพเจ้าถึงสองครั้ง แต่ก็ไม่ได้พูดเรื่องนี้เลย (เสมียนของเจ้าคนนี้ ได้เรียกเจ้าว่าเปนเจ้าพระยาพระคลัง) แต่เมื่อวันซืนนี้ข้าพเจ้าได้รับหนังสือที่ส่งไปยังเมืองมริด มีข้อความ ...............................
* ภาษาฝรั่งเศสตอนนี้ใช้คำว่า (Prince) ไม่ได้ใช้คำ ว่า (Barcalon)



(หน้า ๘๙)

ไม่ผิดกับหนังสือฉบับก่อน ๆ เลย มองซิเออร์บรีโกต์ผู้เปนมิชันนารีอยู่ที่เมืองมริดได้ส่งต้นจดหมายมาให้ข้าพเจ้าดู ทั้งส่งหนังสือตอบของมองซิเออร์บรีโกต์ ซึ่งเขียนเปนภาษาฝรั่งเศสมาให้ข้าพเจ้าดูด้วย แต่หนังสือมองซิเออร์บรีโกต์ฉบับนี้จะส่งไปถวายเจ้าไม่ได้เปนอันขาด เพราะมองซิเออร์บรีโกต์ยอมจะยกพวกเข้ารีตในเมือง มริดให้แก่เจ้าทั้งหมดโดยไปเข้าใจเสียว่า เจ้าองค์นี้เปนคนยุติธรรมอยู่ในศีลในธรรม และรักชอบพวกเข้ารีต และในจดหมายก็พูดด้วยว่าคนนั้นคนนี้ได้รับความอยุติธรรมจากรัฐบาล และยังมีข้อความอย่างอื่นอีกหลายอย่าง การที่มองซิเออร์บรีโกต์ทำดังนี้ ก็คงเข้าใจว่าทำถูก แต่ข้าพเจ้าจะต้องพยายามทูลเจ้าองค์นี้ให้เข้าพระไทยว่า มิชันนารีที่เมืองมริดก็ดี ตัวข้าพเจ้าเองก็ดีไม่มีอำนาจอย่างใดที่จะยกคนเข้ารีตให้เปนทาสของเจ้าได้ พวกเข้ารีตในค่ายปอตุเกตเปนอันมาก ได้ไปถวายตัวเปนทาสแก่เจ้าองค์นี้ เพื่อจะได้พ้นหนี้สินและเพื่อจะได้พ้นความ แต่การที่พวกเข้ารีตเหล่านี้ไปยอมตัวเปนทาสนั้นก็บ่นเดือดร้อนอยู่แล้ว เพราะเหตุว่าถ้าพวกนี้จะไปเฝ้าเจ้าคราวใด หรือถ้าเจ้ารับสั่งให้หาเวลาใด ก็ต้องเอาของติดมือไปถวายทุกคราว และถ้าเจ้าจะเกณฑ์ให้ทำการอย่าง ใด ๆ พวกนี้ก็ต้องทำโดยไม่ได้ผลประโยชน์อะไรเลย แต่ต้องออกค่าโสหุ้ยของตัวเองทั้งสิ้น เมื่อข้าพเจ้าได้เล่าให้ท่านฟังดังนี้แล้ว ท่านก็คงจะคเนได้ว่าไทยเปนคนมักได้เพียงไร ถ้าคนใหญ่คนโตประพฤติตัวเช่นนี้แล้ว คนอื่น ๆ จะประพฤติตัวอย่างไรเล่า



(หน้า ๙๐)

จดหมายมองเซนเยอร์เดอโลลีแยร์
ถึงมองเซนเยอร์เดอมากิลิอาต์
ค.ศ. ๑๗๔๖ (พ.ศ. ๒๒๗๙)
.............................

ด้วยมองซิเออร์เดอโคนาได้เกิดโต้เถียงเปนปากเสียงกับรัฐบาลเมืองมริด มองซิเออร์เดอโคนาจึงทำเรื่องราวยื่นต่อเจ้าเมืองมริด ขอกลับไปยังกรุงศรีอยุธยาเพื่อไปฟ้องร้องต่อรัฐบาล และขอให้เจ้าเมืองมริดส่งเรื่องราวของเขาไปยังกรุงศรีอยุธยาด้วย ฝ่ายเจ้าเมืองมริดขัดเคืองมากในการที่มองซิเออร์เดอโคนาคิดการเช่นนี้ จึงได้เรียกข้าราชการทั้งหลายมาปฤกษากัน และช่วยกันแต่งข้อหากล่าวโทษมองซิเออร์เดอโคนา ส่งเข้ามายังกรุงศรีอยุธยาเปนข้อหาหลาย ข้อ ครั้นข้อหาได้มาถึงกรุงเทพฯ จึงได้มีพระราชโองการให้เจ้าพระยาพระคลังส่งมองซิเออร์บรีโกต์ไปยังเมืองมริด และเรียกมองซิเออร์เดอโคนาเข้ามาแก้คดี เจ้าพนักงารหัวหน้าของศาลเจ้าพระยาคลังได้มาบอกให้ข้าพเจ้าทราบในเรื่องนี้ ข้าพเจ้าก็ได้คัดค้านและขอร้องต่าง ๆ ที่จะไม่เปนการเช่นนี้ แต่ก็หาเปนผลสำเร็จไม่ ข้าพเจ้ากลับต้องหาเสียอีกว่าข้าพเจ้าขัดรับสั่งของพระเจ้าแผ่นดิน เพราะเรื่องนี้เปนอันตกลงตามนั้นแล้ว จะให้กลับกลายเปนอย่างอื่นไปไม่ได้ คดีเรื่องมองซิเออร์เดอโคนา ได้พิจารณากันตลอดเดือนมกราคม จนบัดนี้ก็ยังหาแล้วไม่ คือว่าในระหว่างนั้น มองซิเออร์เดอโคนาต้องไปศาลพร้อมกับมองซิเออร์ ดีดีม ๑๐ หรือ ๑๒ ครั้ง เวลาที่ไปฟังคดีนั้นต้องไปยังห้องใหญ่ซึ่งมีผู้พิพากษาอยู่ ๒ คน และ



(หน้า ๙๑)

ต้องถูกซักถามในข้อหาที่ได้ส่งมาจากเมืองตะนาวศรี การที่ชักช้านั้นเปนด้วยเหตุที่ไม่ลงรอยอะไรกันได้ เช่นวันวานนี้เขียนถ้อยคำไว้ว่าอย่างไร ไปพรุ่งนี้ก็ลบออกหมดต้องเขียนกันใหม่เช่นนี้เปนต้น ข้อที่หานั้นที่เปนความไม่จริงก็มี มากกว่าความที่เปนจริงก็มี ครั้นมองซิเออร์เดอโคนาปฏิเสธข้อหา ผู้พิพากษาก็ถามว่าจะให้เชื่อถ้อยคำของมองซิเออร์เดอโคนาคนเดียว มากกว่าเชื่อถ้อยคำของเจ้าเมืองตะนาวศรี ของเจ้าพนักงารข้าราชการซึ่งประจำอยู่ณะเมืองนั้นและถ้อยคำของผู้ช่วยเจ้าพระยาพระคลังซึ่งเวลานั้นอยู่ที่เมือง มริดหรืออย่างไร และเพื่อจะให้เห็นปรากฎว่ามองซิเออร์เดอโคนามีความผิด จริง เจ้าพนักงารจึงได้เรียกล่ามของพวกเข้ารีตเมืองมริดมาให้การด้วย ล่ามคนนี้เปนคนเข้ารีตเหมือนกัน ได้มาให้การว่า ตัวล่ามเองได้เคยไปร้องต่อศาลเมืองมริดบ่อย ๆ แทนพวกเข้ารีตว่า ถ้าพวกเข้ารีตมีคดีถ้อยความในพวกของเขาเอง มองซิเออร์เดอโคนาไม่ยอมพิจารณาหรือเกลี่ยไกล่ให้ความนั้นสาบลงได้เลย ทั้งไม่ยอมรับรู้ด้วยเสียซ้ำ เพราะฉนั้นล่ามจะทำการตามหน้าที่ในเวลาที่บาดหลวง คนนี้ปกครองอยู่ไม่ได้ ผลที่สุดของคดีเรื่องนี้ ข้าพเจ้าเชื่อว่าคงจะสูญหายละลายเปนควันไปเท่านั้น ฝ่ายผู้พิพากษาก็เปนเพื่อนของเรา ความประสงค์ของเขาก็จะต้องการให้เราให้ของชดเชยกับความเหน็ดเหนื่อยที่เขา ต้องนั่งพิจารณาและเขียนหนังสือเท่านั้น ก็เห็นจะต้องตกลงให้ของแก่ผู้พิพากษาเท่านั้นเอง



(หน้า ๙๒)

จดหมายมองซิเออร์บรีโกต์
ถึงผู้อำนวยการคณะต่างประเทศ
วันที่ ๒ เดือน ธันวาคม ค.ศ. ๑๗๔๙ (พ.ศ. ๒๒๙๒)
............................

เมื่อวันที่ ๑๑ เดือน มิถุนายน เจ้าเมืองมริด ได้จับบิดามารดาของภรรยาน้อยแขกอามีเนียคน ๑ ไปใส่คุก ภรรยาน้อยคนนี้ได้อย่ากับสามีแล้ว โดยหาว่าเมื่อก่อนแขกอามีเนียจะออกจากเมืองมริด ได้จัดการให้บุตร์ชายของตัวไปรดน้ำมนต์เข้ารีตในวัดของเรา เมื่อวันที่ ๑๕ (มิถุนายน) เจ้าเมืองมริดได้เรียกมารดาของเด็กซึ่งอยู่กับบุตร์ในบ้านของบิดาไปไต่สวน แต่มารดาร้องขอทุเลาเพราะบุตร์ยังป่วยอยู่จะทิ้งบุตร์ไปยังไม่ได้ ครั้นวันที่ ๑๖ (มิถุนายน) เจ้าพนักงารจะเอาบิดามารดาของเด็กไปเฆี่ยน แต่บิดาของเด็กได้เอาเงิน ๘๐ แฟรงให้แก่เจ้าพนักงารไทยคน๑ เจ้าพนักงารคนนี้จึงได้ทำเรื่องราวกล่าวความจริงยื่นต่อศาล ๆ ก็ได้ปล่อยตัวจำเลยโดยทันที แต่ครั้นมาเมื่อวันที่ ๓๐ (มิถุนายน) เจ้าพนักงารเมืองตะนาวศรีอีกคน ๑ ได้จับบิดามารดาของเด็กใส่คุกอีก เพราะหาว่าจำเลยไม่ได้ยื่นคำร้องกล่าวโทษเจ้าเมืองมริด ต่อเสมียนของเจ้าเมือง แต่ได้ไปยื่นต่อศาลซึ่งเปนการผิด หนทางครั้นเมื่อวันที่๕ เดือน กรกฎาคม เจ้าพนักงารได้ปล่อยตัวจำเลยโดยเจ้าเมืองทวายร้องขอให้ปล่อย ยังมีเด็ก ๆ อีกหลายคน ซึ่งเกิดแต่มารดาอันมิได้เข้ารีต และที่เราได้ก็เข้ารีตในวัดเมืองมริด เจ้าพนักงารจะต้องการเอาตัวเหมือนกัน แต่เราได้ขัดขวางไว้ไม่ยอมส่ง ตัวให้ และเมื่อได้พูดกันท่าโน้นท่านี้แล้ว การเรื่องนี้ก็เปนอันสงบไป



(หน้า ๙๓)

ครั้นมาเมื่อปลายเดือนพฤศจิกายน เจ้าเมืองตะนาวศรีได้นำศิลาจารึกมาด้วย แต่เวลานี้ยังเก็บส้อนอยู่ในบ้าน ข้าพเจ้าหาทราบว่าจะทำประการใดต่อไปไม่ เราพูดกันว่าข้อห้ามที่จารึกไว้ในศิลา แผ่นนี้ ห้ามสำหรับคนทุก ๆ ชาติและจะรับเด็กเข้ารีตได้แต่เฉพาะที่บิดามารดาเข้ารีตอยู่แล้ว แต่ส่วนศิลาจารึกในกรุงศรีอยุธยานั้นเปนแต่ห้ามเฉพาะไทย ลาว มอญ มิให้เข้ารีตเท่านั้น

---

เรื่องเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเมืองมริด  ตั้งแต่วันที่ ๑๒  เดือนธันวาคม  ค.ศ.  ๑๗๔๙  (พ.ศ.  ๒๒๙๒)
ตลอดจนถึงวันที่ ๒๔ เดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๗๕๐(พ.ศ. ๒๒๙๒)
ในระหว่างเจ้าพนักงารของพระเจ้ากรุงสยาม และพวกมิชันนารีฝรั่งเศส

ว่าด้วยศิลาจารึกสำหรับประจาร

..............................

เมื่อวันที่ ๑๒ เดือน ธันวาคม ค.ศ.๑๗๔๙ (พ.ศ. ๒๒๙๒) ปลัดเมืองตะนาวศรีได้มายังบ้านบาดหลวง มองซิเออร์บรีโกต์กับมองซิ เออร์เมแยร์จึงได้ออกไปต้อนรับ เมื่อได้พูดจาปราสัยกันตามธรรมเนียมแล้ว ปลัดเมืองได้บอกว่า มีพระราชโองการในพระเจ้ากรุงสยามสั่งมาให้เอาศิลาจารึกข้อความห้ามมิให้บรรดามิชันนารีเที่ยวสอนสาสนานั้น มาปักไว้ที่ประตูวัดของเรา เพราะฉนั้นปลัดเมืองจึงขอให้เราชี้ที่ว่าเราจะต้องการให้เอาศิลาปักลงตรงไหน มองซิเออร์บรีโกต์จึงได้ตอบ ว่าข้อห้ามซึ่งจารึกไว้ในศิลานั้นผิดด้วยกฎหมายของพระ เปนเจ้าอันเปนเจ้าของโลกและสวรรค์ เพราะฉนั้นอย่าว่าแต่ให้ชี้ที่ให้



(หน้า ๙๔)

ปักศิลานั้นเลยแต่เราจะยอมให้เอาศิลามาปักตามคำสั่งพระเจ้าแผ่นดินก็ไม่ได้เปนอันขาด ถ้าไทยจะต้องการใช้กำลังอำนาจแล้วก็ได้ เพราะอำนาจก็อยู่ในมือไทยแล้ว แต่กฎหมายของพระเปนเจ้า ห้ามมิให้ใช้กำลังต่อสู้กับกำลัง เพราะฉนั้นฝ่ายเราจะทำอะไรไม่ได้ นอกจากทำใจเย็นและรอพระกรุณาของพระเปนเจ้า และถึงแม้ว่าศิลาจารึก นั้นจะได้ปักในเขตวัดหรือนอกวัดก็ตาม เราก็จะไม่ยอมปฏิบัติตามข้อห้ามที่จารึกไว้นั้นเปนอันขาด ถึงเราจะต้องเสียชีวิตไปเราก็จะยอมไม่ได้เลย ปลัดเมืองตะนาวศรีจึงตอบว่า "บาดหลวงพูดถูก เหตุผลที่ยกมาอ้างนั้นก็ใช้ได้ แต่พวกข้าพเจ้าจำเปนต้องปฏิบัติตามพระราชโองการของพระเจ้าแผ่นดิน แต่ในเรื่องนี้เราจะได้นำคำตอบของบาดหลวงไปเรียนให้เจ้าเมืองตะนาวศรี* ทราบเสียก่อน และเมื่อการจะควรประการใด ก็แล้วแต่ท่านเจ้าเมืองจะสั่งมา" มองซิเออร์บรีโกต์จึงอ้อนวอนปลัดเมือง ขอให้ไปเรียนท่านเจ้าเมืองให้มีใบบอกเข้าไปกราบทูล ว่าศิลาจารึกอันนี้อาจจะทำให้พวกนายเรือชาวยุโรปที่แวะเข้ามาในเมืองนี้ดูหมิ่นพวกมิชันนารีได้ เพราะฉนั้นจึงขอให้พระเจ้ากรุงสยามได้โปรดถอนพระราชโองการเสียเถิด มองซิเออร์บรีโกต์ออกประกาศคัดค้าน เมื่อวันที่ ๑๔ เดือนนั้นเอง (ธันวาคม) มองซิเออร์บรีโกต์ได้ออกประกาศคัดค้านเรื่องศิลาจารึกนี้ ประกาศฉบับนี้มองซิเออร์ -
............................................

* ในภาษาฝรั่งเศส เมื่อพูดถึง เจ้าเมืองตะนาวศรี ใช้คำว่า Viceroy ถ้าพูดถึง เจ้าเมืองมริด จึงใช้คำว่า Governor



(หน้า ๙๕)

- บรีโกต์กับมองซิเออร์ดูบัวและมองซิเออร์เมแยร์ ได้เซ็นชื่อพร้อมกันทั้งสามคน มีใจความบอกให้บรรดาพวกเข้ารีตทราบว่า ไทยมีความประสงค์จะเอาศิลาจารึกนี้มาปักไว้ที่ประตูวัด แต่พวกบาดหลวงได้คัดค้านไว้ และได้แสดงต่อเจ้าพนักงารของพระเจ้าแผ่นดิน ว่าเราจะไม่ปฏิบัติตามข้อความในศิลาจารึกนั้น เพราะฉนั้นถ้าพวกเข้ารีตเห็นเจ้าพนักงารไทยเอาศิลาจารึกมาปักไว้ในที่ใดแล้ว ก็ขอให้เข้าใจว่าเราไม่เห็นชอบด้วยเลย และอย่าให้พวกเข้ารีตมีความหวาดเสียวตกใจอย่างใด เพราะพวกเราจะใช้กำลังไม่ได้ แต่ต้องทำใจเย็นไว้ พวกมิชันนารีคัดค้านและขัดขืน เมื่อวันที่๑๙เดือน ธันวาคม มองซิเออร์คอนซตันแตงได้มาบอกว่า เขาได้มาจากท่านเจ้าเมืองตะนาวศรี ได้ทราบว่าเจ้าเมืองตะนาวศรีจะเอาศิลาจารึกนั้นไปปักไว้ในบ้านแขกมาลาบาคน ๑ ซึ่งอยู่ตรงหน้าบ้านของเรา เมื่อได้ข่าวมาเช่นนี้พวกเราก็ออกจะมีความยินดี มาก แต่ครั้นถึงวันที่ ๒๑ ธันวาคม พวกเราก็ออกปลาดใจ เพราะผู้เฝ้าประตูมารายงารว่า ในเวลาที่เรากำลังร้องเพลงสวดอยู่ในวัดพวกเจ้าพนักงารของเจ้าเมืองตะนาวศรี ได้มากะที่สำหรับปักศิลาจารึกใกล้กับประตูใหญ่ของวัด เมื่อการเปนเช่นนี้เราจึงได้เห็นพร้อมกันว่า ควรให้มองซิเออร์ บรีโกต์หลบตัวไปเสียสัก ๔-๕วันก่อน ถ้าการที่เราโต้ทานไว้เปนการที่ทำให้เจ้าพนักงารขัดเคืองแล้ว ก็ควรให้โกรธมองซิเออร์ดูบัวดีกว่า เพราะมองซิเออร์จวนจะไปเมืองทวายอยู่แล้ว มองซิเออร์บรีโกต์



(หน้า ๙๖)

จึงได้อ้อนวอนขอให้มองซิเออร์ดูบัวได้คัดค้านและขัดข้องให้ที่สุดที่จะ ขัดไว้ได้ แล้วมองซิเออร์บรีโกต์ก็หลบไปอยู่ที่อื่น มองซิเออร์เมแยร์ก็ไปด้วยเหมือนกัน วันนั้นเปนวันอาทิตย์ แต่เราจะทำอะไรก็ทำไม่ ได้สักอย่างเดียว จะสวดมนต์หรือจะร้องสวดไม่ได้ทั้งสิ้น เพราะเห็นกันว่าไม่ควรจะให้พวกเข้ารีตมารวมกันอยู่ในที่แห่งเดียว ในคืนวันอาทิตย์มองซิเออร์บรีโกต์ กับมองซิเออร์เมแยร์ได้ไปพักอยู่ที่บ้านคน เข้ารีตในเมืองมริด พอวันจันทร์เช้ามองซิเออร์เมแยร์ก็กลับมาที่พวกเราเพื่อถามดูว่าการเรื่องนี้ได้ไปถึงไหนต่อไป พอมองซิเออร์เมแยร์มาถึงเท่านั้น ก็มีคนมาเคาะประตูบอกว่าเจ้าเมืองตะนาวศรีใช้ให้มา ครั้นมองซิเออร์ดูบัวออกไปดู ก็เห็นคนงารหลายคน คนเหล่านี้แจ้งว่าเจ้าเมืองตะนาวศรีใช้ให้มาเพื่อมาเตรียมที่สำหรับปักศิลาจารึก ที่ส่งมาจากกรุงศรีอยุธยา มองซิเออร์ดูบัวจึงตอบว่า ที่เขามาในเวลานี้เปนเวลาไม่เหมาะเลย เพราะบาดหลวงกำลังจะลงมือสวดมนต์อยู่แล้ว ขอให้รอจนกว่าจะสวดมนต์จบเสียก่อน และเมื่อคนทำงารเหล่านี้จะกลับมาอีกเมื่อไร ก็ขอให้นำคำสั่งซึ่งได้เซ็นชื่อประทับ ตราเจ้าเมืองมาด้วย เพื่อจะได้สอบให้แน่ว่าเขาได้มาตามคำสั่งท่านเจ้าเมืองจริงหรือไม่ พวกทำงารจึงตอบว่า ถ้าฉนั้นจะได้กลับไปเอาคำสั่งมา คงพอดีกับเวลาที่บาดหลวงจะสวดมนต์จบ การที่มองซิเออร์ดูบัวขอดูคำสั่งเช่นนี้ ก็เพราะเชื่อในคำที่มองซิเออร์คอนซตันแตง มาเล่าว่าเจ้าเมืองตะนาวศรีคิดจะเอาศิลาจารึกไปปัก ไว้นอกเขตวัดของเรา ที่ไหนเจ้าเมืองจะเปลี่ยนความคิดได้เร็วเช่นนี้



(หน้า ๙๗)

เวลาเช้า๑โมงยกรบัตร์ คือคนเปนเจ้าพนักงารที่สามของเมือง มริดได้มายังบ้านเราบอกว่า ท่านเจ้าเมืองตะนาวศรีจะมีคำสั่งมาในเรื่องนี้ไม่ได้ แต่เจ้าเมืองมริดจะได้มีคำสั่งมาให้เปนหลักฐานมองซิเออร์ดูบัวจึงได้ตอบยกรบัตร์ว่า เมื่อท่านเจ้าเมืองตะนาวศรีอยู่ที่เมืองมริดแล้ว คำสั่งนั้นควรจะเปนคำสั่งของเจ้าเมืองตะนาวศรีจึงจะถูก ผู้น้อยจะทำคำสั่งเหนือผู้ใหญ่ไม่ได้ ยกรบัตร์เมือง มริดจึงถามว่า เมื่อเจ้าพนักงารได้นำศิลาจารึกมาแล้ว บาดหลวงจะเปิดประตูวัดให้หรือไม่ มองซิเออร์ดูบัวจึงตอบว่า ข้อห้ามที่จารึกไว้ในศิลานั้น เปนสิ่งที่ผิดด้วยกฎหมายของพระเปนเจ้า ถ้าเราขืนจะยอมให้เอาศิลานั้นมาปักแล้ว พระเปนเจ้าก็จะกริ้วเมื่อเรายอมให้เอาศิลามาปักไม่ได้แล้วเราก็จะช่วยในการปักศิลา ไม่ได้อยู่เอง เพราะฉนั้นเจ้าพนักงารจะหวังใจว่าเราจะเปิดประตูรับ หรือสั่งให้ใครเปิดประตูรับไม่ได้ การโต้ตอบเฉพาะคราวนี้ได้ยุติกันเพียงนี้ ครั้นเวลาเช้าประมาณ ๓ โมง ยกรบัตร์ได้กลับมาอีก คราวนี้มีคำสั่งของเจ้าพระยาพระคลังมาด้วย และคำสั่งฉบับนี้ก็ได้ประ ทับตราถึง ๓ ดวง เมื่อยกรบัตร์ได้เอาคำสั่งมาให้เราดูแล้ว ยกรบัตร์จึงได้ขอให้เราอนุญาตในการที่จะเอาศิลานี้มาปักในวัด มองซิเออร์ดูบัวกับมองซิเออร์เมแยร์ จึงพูดว่าในเรื่องนี้ถึงจะต้องเสียชีวิต ก็จะยอมตามคำขอร้องไม่ได้ ถ้าเจ้าพนักงารจะเอาศิลามาปักก็ได้

๑๓



(หน้า ๙๘)

แต่พวกเราก็ต้องร้องคัดค้านอย่างแขงแรงเพราะเราไม่เต็มใจ และถ้าเจ้าพนักงารจะใช้กำลังและอำนาจ พวกเราก็จะต้องทนนิ่งทำ ใจเย็นไว้ ในคราวนี้ได้พูดจาโต้ตอบกันอยู่ประมาณครึ่งชั่งโมงฝ่ายยกรบัตร์ก็ได้พูดจาอ้อนวอนชี้แจงทุกอย่าง ขอให้เรายอมให้เจ้าพนักงารได้เอาศิลาไปปักไว้ตามที่ ๆ ได้กะไว้ มิฉนั้นก็ขอให้บาดหลวงเปิดประตูในเวลาที่เจ้าพนักงารนำเอาศิลามา ข้างฝ่ายบาดหลวง ๒ คน ก็ได้ชี้แจงว่าการที่บาดหลวงจะยอมเช่นนั้นเปนการ ผิดกฎหมายของพระเปนเจ้า เพราะฉนั้นเราจะยอมไม่ได้ แต่ถ้าเปนการอย่างอื่น ๆ แล้ว พวกเราก็จะได้ปฏิบัติตามพระราชโองการ ด้วยความนบนอบและเต็มใจทุกประการ ยกรบัตร์เมืองมริดจึงได้เอาเรื่องแขกมัวมาอ้างว่า เมืองพระเจ้ากรุงสยามได้ออกประกาศห้ามไม่ให้พวกแขกมัวรับพวกเข้ารีตไปเข้า สาสนามหะหมัดนั้น ก็ไม่เห็นพวกแขกมัวคัดค้านหรือขัดข้องว่าอย่างไรเลย ฝ่ายยกรบัตร์เองก็เปนมหะหมัด แต่ถึงดังนั้นมองซิเออร์ดูบัวก็ตอบเอาตรง ๆ ว่า สาสนามหะหมัดไม่มีราคาอะไรเท่ากับสาสนาไทยเหมือนกัน เพราะฉนั้นผู้ที่ถือสาสนามหะหมัดก็ดี ถือพุทธสาสนาก็ดี เมื่อตายไปแล้วจะหวังอื่นไม่ได้นอกจากหวังการทรมานไม่มีที่ สิ้นสุด ยกรบัตร์หมดพูดในคำตอบเช่นนี้ แล้วก็ลาไปแต่ได้แสดงความไมตรีกับเรา และแสดงตัวว่าการที่ต้องมาทำตามคำสั่งเช่นนี้ยกรบัตร์ไม่เต็มใจทำเลย



(หน้า ๙๙)

ครั้นเวลาเย็นประมาณ ๕ โมง ท่านเจ้าเมืองมริดได้มาเองพร้อมด้วยยกรบัตร์และเจ้าพนักงารอื่น ๆ มาขอให้เรายอมให้เจ้าพนักงารได้เอาศิลาจารึกมาปักไว้ที่ประตูวัดในเวลาที่เจ้าเมืองมริดมาพูดกับเรานั้น ก็ได้ยกเหตุผลต่าง ๆ มาอ้างและได้ใช้วาจาอย่างเปนมิตร์ มองซิเออร์ดูบัวกับมองซิเออร์เมแยร์จึงตอบเจ้าเมืองมริดว่าพวกเราจะยอมตายดีกว่าที่จะยอมตามที่เจ้าเมืองมาขอร้องเช่นนี้ คำตอบเช่นนี้ก็หาได้ทำให้เจ้าเมืองมริดท้อถอยไม่ แต่ยังคงพยายามพูดจาเปนการตกลงกันให้จงได้ เจ้าเมืองมริดจึงขอให้เราเปิด ประตู หรือเปิดประตูทิ้งไว้ เพื่อเจ้าพนักงารจะได้เอาศิลาเข้ามาได้ บาดหลวงจึงตอบว่า ถ้าจะเปิดประตูให้แล้ว ก็เท่ากับเปนการยอมให้เอาศิลามาปักเพราะฉนั้นจึงเปนอันเปิดประตูให้ไม่ได้ ท่านเจ้าเมืองหัวเราะแล้วพูดว่า "บาดหลวงจะต้องการให้ข้าพเจ้าประกาศสงครามหรือ" บาดหลวงจึงได้ตอบว่า ท่านเจ้าเมืองก็จะทำอย่างไรก็ได้ตามใจชอบ แต่ถ้าจะทำสงครามแล้ว ท่านเจ้าเมืองก็จะเห็นว่าพวกบาดหลวงไม่ได้ต่อสู้อย่างใด แต่คงมีใจเย็นอยู่และเชื่อในบารมีของพระเปนเจ้าอยู่เสมอ เจ้าเมืองจึงถามว่า "ก็ถ้าเช่นนั้นบาดหลวงจะให้ข้าพเจ้าเอาศิลานั้นไปทำอะไรเล่า" มองซิเออร์ดูบัวจึงตอบว่า คำแนะนำของบาดหลวงจะมีอยู่อย่างเดียวเท่านั้น คือทางดีที่สุดก็ควรจะทำ ลายศิลาแผ่นนั้นเสีย ครั้นบาดหลวงได้แสดงตัวว่าไม่ยอมให้เอาศิลานั้นมาปักในวัดแล้ว ท่านเจ้าเมืองจึงแสดงไมตรีต่อบาดหลวง และ



(หน้า ๑๐๐)

แสดงความเสียใจที่ต้องมารบกวนเช่นนี้ พวกบาดหลวงจึงได้ขอบใจท่านเจ้าเมืองที่ได้แสดงไมตรีกับเรา และได้ขอร้องให้ท่านเจ้าเมืองจัดการอย่างใดอย่างหนึ่งให้ถอนคำสั่งในเรื่องนี้เสียให้จงได้ พวกบาดหลวงจึงได้แสดงตัวว่าในการทั้งหลายทั้งปวงซึ่งไม่ผิดด้วยกฎหมายของพระเปนเจ้าแล้ว พวกเราก็พร้อมอยู่เสมอที่จะทำตามพระราชโองการและทำตามคำสั่งของเจ้าพนักงารทั่วไป เจ้าเมืองมริดจึงได้ลาบาดหลวงกลับไป เพื่อจะไปรายงารให้เจ้าเมืองตะนาวศรีทราบถึง ข้อคัดค้านของบาดหลวง และเพื่อจะได้ปฤกษากันว่าจะควรทำอย่างไรต่อไป ในคืนวันนั้นเองมองซิเออร์เมแยร์ได้ไปรายงารให้มองซิเออร์ บรีโกต์ทราบถึงเหตุการณ์ที่ได้เปนไป มองซิเออร์เมแยร์ได้ไปพบมองซิเออร์บรีโกต์ลอยเรืออยู่กลางแม่น้ำ มองซิเออร์เมแยร์ก็เลยนอนในเรือนั้นเอง วันที่ ๒๓ (ธันวาคม) มองซิเออร์เมแยร์ได้กลับมาแต่เวลาเช้าเพื่อมาฟังว่าจะมีเรื่องราวกันอย่างไรต่อไป ครั้งถึงเวลาเที่ยงพวกเราเห็นว่าเจ้าพนักงารยังไม่มา จึงเห็นควรให้ไปบอกมองซิเออร์บรีโกต์ทราบและให้ชวนมองซิเออร์บรีโกต์ กลับมาทำการนักขัตฤกษนาติวิตี (Nativite) พร้อม ๆ กัน ถ้าหากว่าเปนการจำเปนแล้วก็ให้มองซิเออร์ บรีโกต์หลบไปเสียอีกก็แล้วกัน ในคืนวันนั้นเองมองซิเออร์บรีโกต์ก็ได้ มาถึง แต่ข้างเจ้าเมืองตะนาวศรีคงคอยสืบอยู่เสมอเปนแน่ เพราะรุ่งขึ้นวันที่ ๒๔ (ธันวาคม)ยังไม่ทันสว่างดี เจ้าพนักงารได้มาบอกว่า ท่านเจ้าเมืองตะนาวศรีต้องการจะพบกับมองซิเออร์บรีโกต์



(หน้า ๑๐๑)

มองซิเออร์บรีโกต์จึงไปยังบ้านเจ้าเมืองตะนาวศรีพร้อมด้วยมองซิเออร์ดูบัว เจ้าเมืองตะนาวศรีก็ได้ต้อนรับอย่างดี เจ้าเมืองตะนาวศรีจึงถามว่า มองซิเออร์บรีโกต์ไปเสียจากบ้านเพราะเหตุใดมองซิเออร์บรีโกต์จึงตอบว่า ท่านเจ้าเมืองจะต้องการเอาศิลาจารึก มาปักไว้ที่ประตูวัดจึงจำเปนต้องไปเสียเพื่อจะได้ไม่ต้องเห็นในสิ่งที่ น่าเสียใจเช่นนี้ เจ้าเมืองตะนาวศรีจึงอ้อนวอนขอให้มองซิเออร์บรีโกต์ได้ยอมให้เจ้าพนักงารเอาศิลาจารึกไปปักไว้ตามที่ที่ได้กะไว้ และอธิบายว่าในเวลาที่เอาศิลาไปปักนั้น มองซิเออร์บรีโกต์ไม่ต้องดูก็ได้ จะไปทำอะไรก็ได้ เปนแต่ขอให้เปิดประตูวัดให้ในเวลาที่ เอาศิลาไปเท่านั้น มองซิเออร์บรีโกต์จึงตอบว่า ตามที่ท่านเจ้าเมืองขอร้องดังนี้ เปนการที่ผิดด้วยกฎหมายของพระเปนเจ้า และพวกเราก็พร้อมอยู่ที่จะสละชีวิตดีกว่าที่จะทำการให้ผิดกฎหมายของพระเปนเจ้า ข้อสาสนาที่เรายกมาอ้างนี้ท่านเจ้าเมืองหาเชื่อไม่ กลับหาความผิดใส่ล่าม และได้เปลี่ยนตัวล่ามในเดี๋ยวนั้นเอง เจ้าเมืองตะนาวศรีจึงได้เรียกยกรบัตร์เมืองมริดกับ หลุยวิลเลียม เพื่อมาเปนล่ามแปลคำที่โต้ตอบกัน แต่ล่ามใหม่คนนี้ เปนคนเข้ารีตเหมือนกัน รู้อยู่เต็มใจว่าข้อของสาสนาที่จะยกมาอ้างนั้น คงไม่มีน้ำหนักอย่างไร เพราะเจ้าเมืองตะนาวศรีไม่เชื่อจึงได้ยกเอาข้อปอลิติกมาอ้างต่อไป ล่ามคนใหม่จึงได้อธิบายว่าเมืองมริดนี้ไม่มีป้อมคูประตูหอรบอย่างใด ฝ่ายพวกนายเรือชาวยุโรปซึ่งมาแวะเมืองนี้ มักมีลูกเรือเปนอันมากซึ่งล้วนแต่เปนคน



(หน้า ๑๐๒)

ที่เกะกะทั้งนั้น ถ้าพวกนี้มาเห็นศิลาจารึกอันนี้และเห็นว่าศิลานี้ได้ปักในเขตวัดด้วยแล้ว พวกเรือเหล่านี้ก็อาจจะขัดเคืองได้ บางทีพวกนายเรือและลูกเรือจะถอนศิลาทิ้งเสีย และจะทำอะไรต่อไปอีกก็ทราบไม่ได้ตามเหตุผลที่ล่ามยกมาชี้แจงนี้ท่านเจ้าเมืองตะนาวศรีเห็นด้วยจึงได้บอกกับมองซิเออร์บรีโกต์ว่า เรื่องนี้จะได้มีใบบอกเข้าไปกราบทูลเสียก่อนและจะได้พยายามจัดการให้ถอนคำสั่งในเรื่องนี้เสียให้จงได้ เจ้าพนักงารเอาศิลาจารึกไปปักจนได้ ตั้งแต่วันนั้นมาคือวันที่ ๒๔ เดือนธันวาคม เราไม่ได้ยินพูดถึงเรื่องนี้อีกต่อไป จนถึงวันก่อนที่มองซิเออร์เมแยร์จะเข้า ไปกรุงศรีอยุธยา คือวันที่ ๑๕ มกราคมค.ศ. ๑๗๕๐ (พ.ศ. ๒๒๙๒) จึงได้มีเรื่องขึ้นอีกคือในวันนั้น เจ้าพนักงารจะเอาศิลามาปักไว้ที่ประตูโบสถ์ มองซิเออร์บรีโกต์ จึงได้ยื่นนหนังสือต่อเจ้าพนักงารฉบับ ๑ ซึ่งมีใจความยกเหตุผลคัดค้านต่าง ๆ ดังที่ได้เคยพูดอธิบายด้วยปากแต่ครั้งก่อนแล้ว เวลานั้นเจ้าเมืองตะนาวศรีได้กลับไปเมืองตะนาวศรีแล้ว เจ้าพนักงารจึงได้รับหนังสือไว้ว่าจะส่งไปให้เจ้าเมืองตะนาวศรีและจะต้องรอฟังเสียก่อนว่าท่านเจ้าเมืองจะว่ากระไรและเจ้าพนักงารก็ลากลับไปวันที่ ๒๒ เดือนนั้นเอง (มกราคม) เจ้าเมืองตะนาวศรีได้กลับมาถึงเมืองมริด จึงได้เรียกให้มองซิเออร์ บรีโกต์ไปหา และได้บอกกับมองซิเออร์บรีโกต์ว่า ถึงจะคัดค้านว่าอย่างไรก็ตาม แต่เจ้าเมืองตะนาวศรีจะฟังไม่ได้จำเปนจะต้อง -



(หน้า ๑๐๓)

- เอาศิลาจารึกซึ่งส่งมาจากกรุงศรีอยุธยาไปปักไว้ที่ประตูโบสถ์ให้ จงได้ มองซิเออร์บรีโกต์จึงตอบว่า ถ้าทำเช่นนั้นก็ต้องทำโดยมองซิเออร์บรีโกต์และพวกเข้ารีตทั้งปวงไม่เห็นชอบด้วย เจ้าเมืองตะนาวศรีจึงตอบว่า "ก็แล้วจะเปนอะไรไป พวกชาวต่างประเทษที่เปนคนเข้ารีตที่แวะมาเมืองนี้จะมารบกับเราหรือ ถ้าเขามาทำอย่างไรเราก็จะทำตอบเขาดุจเดียวกัน เพราะฉนั้นเปนคำสั่งของข้าพเจ้าให้เจ้าพนักงารเอาศิลาแผ่นนี้ไปปักไว้ในบริเวณที่ของท่านในวันฤกษ์ดี" แล้วได้สนทนากันถึงเรื่องอื่น ๆ สักครู่หนึ่งมองซิเออร์ บรีโกต์ก็ลากลับไป วันฤกษ์ดีหรือร้ายนั้นตกในวันที่ ๗ กุมภาพันธ์ ในวันนั้นเวลาเช้า ๓ โมง เจ้าเมืองมริดกับเจ้าพนักงารเปนอันมากได้มายังบ้านบาดหลวง พวกคนใช้ในบ้านได้ว่ามองซิเออร์บรีโกต์ไม่อยู่ เจ้าเมือง มริดจึงขอพบกับมองซิเออร์ดูบัว เจ้าเมืองมริดจึงได้เข้ามาในบ้านแล้วขึ้นไปชั้นบนจึงพบกับมองซิเออร์ดูบัว เจ้าเมืองมริดได้พูดกับมองซิเออร์ดูบัวว่า เจ้าเมืองตะนาวศรีใช้ให้มาเพื่อเอาศิลา จารึกมาปักในบริเวณนี้ และเจ้าเมืองมฤตไม่มีหนทางที่จะขัดได้ต่อไปแล้ว มองซิเออร์ดูบัวจึงขอทุเลาเพียงแต่ให้มีเวลาเขียนหนังสือบอกเข้าไปยังกรุงศรีอยุธยาและให้มีเวลารับตอบด้วย เจ้าเมืองมริดจึงแนะนำให้มองซิเออร์ดูบัวลองไปพูดกับเจ้าเมืองตะนาว ศรีดูดีกว่า มองซิเออร์ดูบัวจึงได้ไปหาเจ้าเมืองตะนาวศรีด้วยตัวเอง และได้พยายามอธิบายว่า ถ้าเจ้าเมืองตะนาวศรีจะต้องการ



(หน้า ๑๐๔)

หาชื่อเสียงและเกียรติยศและต้องการให้วิญญาณได้พ้นอันตรายแล้ว ก็ควรจะงดเรื่องศิลานี้เสียดีกว่า ถึงการเรื่องนี้จะทำให้เจ้าเมืองตะนาวศรีต้องสละชีวิตก็ควรจะงดอยู่นั่นเอง แต่เจ้าเมืองตะนาวศรีหาฟังเสียงมองซิเออร์ดูบัวไม่ เจ้าพนักงารได้นำศิลาตามหลังมองซิเออร์ดูบัวมา และเมื่อมองซิเออร์ดูบัวกลับมาจากบ้านเจ้า เมืองตะนาวศรีประตูวัดยังเปิดอยู่ เจ้าพนักงารจึงได้เอาศิลาเข้ามา และได้ปักไว้ในบริเวณที่ดินของเราข้างซ้ายมือใกล้กับประตูโบสถ์บานใหญ่ แล้วเจ้าพนักงารได้ทำคอกล้อมหินนั้นไว้ พวกมิชันนารีคัดค้าน วันที่ ๒๔ (กุมภาพันธ์ ?) มองซิเออร์บรีโกต์ได้ให้คัดสำเนา ข้อความที่จารึกไว้ในศิลา มองซิเออร์บรีโกต์ได้พบกับเสมียนของเจ้าเมืองตะนาวศรีและพบกับคนไทยอื่นๆ จึงได้พยายามอธิบายว่า การที่พระเจ้ากรุงสยามทำการดังนี้เท่ากับพระเนตร์บอด แต่พวกไทยหาฟังไม่ ข้อคัดค้านที่เราได้ทำไว้มีใจความดังนี้

"เราผู้มีชื่อข้างท้ายนี้ บรรดาบาดหลวงและมิชันนารีในประเทศสยาม ที่ในเวลานี้อยู่ที่เมืองมริด ขอประกาศให้คนทั้งหลายทั้งปวงอันจะเกี่ยวข้องในเรื่องนี้ และประกาศแก่สานุศิษย์ของเราให้ทราบว่า เราปฏิเสธไม่รับรู้ในคำสั่งที่มาจากกรุงศรีอยุธยาอันเปนคำสั่งขัดกับสาสนาของเรา เพราะคำสั่งอันนี้ห้าม



(หน้า ๑๐๕)

มิให้เราสั่งสอนสาสนาแก่คนมิจฉาทิฐิ และห้ามมิให้เรารับคนเหล่านั้นเข้ารีตในสาสนาของเรา เราจึงพร้อมกันคัดค้านในศิลาแผ่นนี้ซึ่งได้จารึกคำสั่งอันร้ายกาจเช่นนี้ และเราหวังใจว่าคนทั่วโลกคงจะได้ทราบว่า ศิลาจารึกแผ่นนี้ได้มาปักไว้ในเขตวัดของเราโดยเจ้าพนักงารได้ใช้อำนาจ และโดยเราไม่ได้ยินยอมด้วยเลยเราจึงขอประกาศให้ทราบ ว่าตามข้อห้ามซึ่งได้จารึกไว้ในแผ่นศิลานั้น เราจะไม่ปฏิบัติตามเปนอันขาด และถึงแม้จะต้องเสียชีวิตเราจะไม่ทำตามข้อห้ามนั้นเลย ดังเราได้แจ้งให้เจ้าพนักงารของพระเจ้ากรุงสยามให้ทราบไว้แล้ว แต่เราขอแสดงตัวว่าในการอย่างอื่น ๆ ซึ่งไม่เปนการขัดกฎหมายของพระเปนเจ้าแล้ว เราก็พร้อมอยู่ที่จะปฏิบัติตามพระราชโองการของพระเจ้ากรุงสยามทุกประการ

"ประกาศฉบับนี้ได้เขียนที่วัดโนตร์ดามเดอลาคอน เซบซิยอง
ณะเมืองมริดเมื่อวันที่ ๑๔ ธันวาคม ค.ศ. ๑๗๔๙ (พ.ศ. ๒๒๙๒) "เราจึงได้เซ็นชื่อพร้อมกันต่อหน้าพยาน ซึ่งมีชื่อข้างท้ายนี้ (เซ็น) บรีโกต์ บาดหลวงมิชันนารี (เซ็น) ดูบัว มีซิยองแนร์อา ปอ ซตอ ลิก (เซ็น) เมแยร์ มีซิยองแนร์อา ปอ ซตอ ลิก "เราผู้มีชื่อข้างท้ายนี้ เปนคนเข้ารีตตั้งบ้านเรือนอยู่-

๑๔



(หน้า ๑๐๖)

- ณะเมืองมริด
รับรองว่าประกาศที่ได้เขียนมาในหน้าต้นนี้ ได้ประ กาศในที่ประชุม ณวัดที่เรียกกันว่าวัดดามเดอ ลา คอนเซบซิยองลิง
จึงได้เซ็นชื่อไว้เปนพยาน ที่เมืองมริด
เมื่อ ณวันที่ ๒ เดือน มกราคม ค.ศ. ๑๗๕๐(พ.ศ. ๒๒๙๒)

(เซ็น) ลา ปอด (เซ็น) เลอ เมตร์ (เซ็น) เอน คาร์ นอง (เซ็น) โย เซฟ เลอ บลัง


จดหมายมองซิเออร์บรีโกต์
ถึงผู้อำนวยการคณะต่างประเทศ
วันที่ ๒๕ เดือน กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๗๕๐ (พ.ศ. ๒๒๙๒)
.............................

รัฐบาลไทยเข้าใจว่าเปนหน้าที่ของข้าพเจ้าที่จะต้องปกครอง คนเข้ารีตทั่วไปทั้งชาวต่างประเทศและคนพื้นเมือง เพราะเหตุว่าในเวลาที่ชาวฝรั่งเศสหรือชาวประเทศอื่น ๆ มาแวะที่เมืองนี้ (มริด) ถ้าพวกนี้ไม่ยอมให้ของแก่พวกไทยแล้ว พวกไทยก็จะมาเอาของที่ข้าพเจ้าให้จงได้ ดูเหมือนข้าพเจ้าจะมีอำนาจบังคับให้เขาเอาของไปให้แก่คนไทยได้ ท่านก็คงจะเห็นได้ว่าการเช่นนี้มิชันนารีสามัญดังตัวข้าพเจ้าจะทำอย่างนั้นไปได้หรือ เพราะมิชันนารีไม่มีอำนาจอะไรนอกจากอำนาจของลูกประคำ และอำนาจของการสวดมนต์เท่านั้น



(หน้า ๑๐๗)

เพราะฉนั้นข้าพเจ้าจึงได้มีจดหมายไปยังมองเซนเยอร์ เดอ ยูลีโอโปลิศขอให้หาทางแก้ในเรื่องนี้ หรือมิฉนั้นก็ขออนุญาตให้ข้าพเจ้าลงเรือฝรั่งเศสไปอยู่ที่อื่น และจะต้องเลือกเฉพาะเรือลำที่ไม่ยอมให้ของแก่ข้าราชการไทย เพื่อเรือลำนั้นจะได้เที่ยวหาเสบียงอาหารด้วยใช้กำลัง ถ้าไม่ทำเช่นนี้แล้วไทยก็จะไม่รู้จักผิดรู้จักชอบเลย เมื่อข้าพเจ้าได้ลงเรือไปแล้ว ถ้าพวกเข้ารีตจะกลัวความกดขี่ก็ให้ตามข้าพเจ้าไป หรือจะไปที่เมืองทวายเสียก็ได้


ความเห็นถึงข้อความที่ได้จารึก ไว้ในแผ่นศิลาสำหรับประจาร
เรื่องการจำเปนที่จะต้องคัดค้าน

จดหมายมองซิเออร์ดูบัว
ถึงมองเซนเยอร์ เดอ โลลีแยร์
ค.ศ. ๑๗๕๓ (พ.ศ. ๒๒๙๖)
...................................

ด้วยข้าพเจ้าได้รับจดหมายจากมองซิเออร์เลอบองฉบับ ๑ ซึ่งข้าพเจ้าจะย่อความให้ท่านทราบในจดหมายฉบับนี้ เพราะไม่ทราบว่ามองซิเออร์เลอบองจะได้มีจดหมายมายังท่านหรือไม่ ตามความเข้า ใจของมองซิเออร์เลอบองนั้น เข้าใจว่าประกาศพระราชโองการซึ่งจารึกไว้ในแผ่นศิลานั้น หาได้เปนประกาศขัดขวางต่อสาสนาไม่ เปนแต่ห้ามมิให้สังฆราชและมิชันนารีได้สอนการสาสนาที่ไม่จริงเท่านั้น แต่ถึงดังนั้นก็เปนการหมิ่นประมาท เพราะเท่ากับหาว่าสังฆราช



(หน้า ๑๐๘)

และพวกมิชันนารีได้รับรองว่าตัวได้ทำความผิดโดยล่อลวงคนไทย จึงได้สัญญาว่าจะไม่ประพฤติเช่นนั้นอีกต่อไป เพราะฉนั้นควรสังฆ ราชและมิชันนารีจะทำหลักฐานไว้ให้เปนพยานปรากฎทั่วไป ว่าตามความที่เขาหานั้นเปนความเท็จ การที่ควรจะทำดังนี้ก็เพื่อสำหรับหาความจริงและเพื่อเปนเกียรติยศของสาสนาและของบาดหลวง ทั่วไป ทั้งสำหรับเปนการแสดงว่าตัวไม่ได้ประพฤติผิดอย่างใดด้วยแต่การที่จะทำหลักฐานไว้ดังว่านี้ ในเวลานั้นและต่อมาก็หาได้มีใครทำไม่ เพราะฉนั้นจึงจำเปนต้องมาทำกันในเวลานี้ ในการเรื่องนี้จะนิ่งไว้ไม่ได้ ถ้าขืนนิ่งไว้ก็จะทำให้เสียชื่อและเสียเกียรติยศแก่สาสนาและคณะบาดหลวงทั่วไป ทั้งจะทำให้เปนการหมิ่นประมาทแก่บุคคลซึ่งควรจะรักษาชื่อเสียงไว้ไม่ให้มัว หมองเลย การที่ได้นิ่งกันไว้เช่นนี้น่ากลัวจะมีคนเห็นไปว่า เปนการที่รับรองในข้อความที่จารึกไว้ในศิลานั้น และก็อาจจะเปนแล้วเพราะได้มีเสียงลือกันทั่วอินเดีย ว่าสังฆราชและมิชันนารีในเมืองไทยได้สัญญาว่าจะไม่รับคนเข้ารีตอีกต่อไป และก็น่ากลัวว่าข่าวลืออันนี้จะมีคนเชื่อเอาด้วย เพราะคนทั้งหลายได้ลืมหมดแล้วว่า ในเรื่องนี้มองเซนเยอร์ เดอโรซาลีได้จัดการอย่างไร ถ้าแม้ว่าบาดหลวงรับคนใดเข้ารีต พวกไทยก็พูดว่าบาดหลวงทำผิดต่อความที่ได้สัญญา ไว้ และหาว่ามิชันนารีพูดไม่ได้จริง ถึงพวกบาดหลวงจะพูดว่าไม่ได้สัญญาไว้ก็ตาม แต่ไทยก็ชี้ศิลาจารึกและพูดว่า "นี่แน่ข้อที่



(หน้า ๑๐๙)

สัญญาไว้ ถ้าข้อความที่จารึกไว้นี้เปนความเท็จแล้ว เหตุใดเมื่อเวลาจารึกศิลาสังฆราชจึงไม่ได้คัดค้านไว้เล่า ถ้าสังฆราชไม่ได้ยอมแล้วก็คงจะคัดค้านไว้เปนแน่ ที่ว่าสังฆราชไม่ยอมนั้นหลักฐานอยู่ที่ไหน" เพราะฉนั้นในการที่ไทยได้เอาศิลาจารึกไปปักไว้เมื่อครั้งมองเซนเยอร์เดอโรซาลีเปนสังฆราช โดยไม่มีใครคัดค้านไว้อย่าง ๑ ผู้ที่มาแทนมองเซนเยอร์เดอโรซาลีในภายหลังก็นิ่งเสียอย่าง ๑ ลายเซ็นของล่ามอย่าง ๑ ศิลานี้ได้ตั้งขึ้นใหม่เมื่อ ค.ศ. ๑๗๔๙ (พ.ศ. ๒๒๙๒) โดยไม่มีใครว่ากล่าวประการใดอย่าง ๑ เปนสิ่งที่กระทำให้เข้าใจว่า สังฆราชและบาดหลวงได้ยอมต่อข้อห้ามซึ่งจารึกในศิลานั้นแล้ว และรับรองในความเท็จที่จารึกไว้นั้นด้วย ด้วยเหตุทั้งปวงเหล่านี้ จึงเปนการเห็นได้ง่ายว่า ถึงแม้ว่ามองเซนเยอร์เดอโรซาลีจะวางตัวไม่ยอมต่อเจ้าพระยาพระคลัง ถึงแม้ว่ามองเซนเยอร์เดอโรซาลีได้แสดงว่าถ้าไทยขืนจะเอาศิลานี้มาปัก ในวัดจะไม่เรียกคนเข้ารีตมาประชุมในวัดอีกต่อไป ถึงแม้ว่าเมื่อเวลาเจ้าพนักงารไทยได้เอาแผ่นศิลามาปัก มองเซนเยอร์เดอโรซาลี มิได้อยู่ในที่นั้นด้วย และถึงแม้ว่ามองเซนเยอร์เดอโรซาลีได้ให้หยุดการพิธีแห่เพื่อแสดงความไม่พอใจในเรื่องศิลานี้ก็จริงอยู่ แต่ถึงกระ นั้นการปฏิบัติต่าง ๆ เหล่านี้ก็มิได้ยกเว้น ที่สังฆราชเดอโรซาลีจะต้องคัดค้านเปนพิเศษในข้อหาอันเท็จซึ่งได้จารึกไว้ในศิลาแผ่นนี้ เพราะเปนเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่ง จึงเปนการจำเปนที่จะให้มีหลักฐานปรากไว้ชั่วกาลนานว่าเรามิได้เห็นชอบด้วยศิลาจารึกแผ่นนี้เลย ถึงแม้



(หน้า ๑๑๐)

ว่าคำคัดค้านนั้นจะไม่ถึงพระเนตร์พระกรรณพระเจ้าแผ่นดินก็ตาม แต่ก็คงจะได้ทราบถึงพวกเข้ารีตและพวกที่ไม่ได้เข้ารีตอยู่นั่นเอง อีกประการ ๑ ถึงหากว่าการที่จะประกาศคัดค้านดังว่ามานี้ จะเปนการทำให้พระเจ้าแผ่นดินกริ้วก็ตาม ถึงดังนั้นก็ควรจะประ กาศคัดค้านอยู่นั่นเอง เพราะเหตุว่าถึงจะไม่ควรให้ผู้ข่มเหงมีความโกรธก็จริง แต่เมื่อเปนหน้าที่แล้วก็จะนิ่งอยู่ไม่ได้เหมือนกันจำเปนจะต้องทำการอย่างใดให้รู้สึกบริสุทธิในใจของตัว ผลที่สุดจะเปนอย่างไรก็ต้องแล้วแต่พระเปนเจ้า เมื่อครั้งไทยได้เอาศิลาจารึกไปปักไว้ที่เมืองมริดนั้นมองซิเออร์บรีโกต์ได้ทำหนังสือคัดค้านยื่น ต่อเจ้าเมืองตะนาวศรีและเจ้าเมืองมริด การที่มองซิเออร์บรีโกต์ได้กระทำเช่นนี้ก็หาได้มีผลร้ายอย่างใดไม่ แต่ฝ่ายพวกมิชันนารีในเมือง มริดก็ได้รู้สึกสบายใจที่ได้ทำตามหน้าที่ของตัว แต่ขออย่าให้เข้าใจว่า การที่พวกบาดหลวงได้คัดค้านเช่นนี้ จะทำให้ไทยรู้สึกผิดหามิได้ การที่ทำดังนี้ไม่เปนข้อแก้ไขในเกียรติยศที่เสียไป แต่ข้อที่เสียหายนั้นก็คือที่สังฆราชและมิชันนารีนิ่งเสีย เพราะพวกนี้จะลงชื่อแก้ข้อ หมิ่นประมาทได้ง่าย


การที่จะคัดค้านไม่เปนประโยชน์อะไร
การที่พวกบาดหลวงได้จัดทำไปเปนการที่ถูก(๑)
ค.ศ. ๑๗๕๔ (พ.ศ. ๒๒๙๗) เมื่อปี ค.ศ. ๑๗๓๐ (พ.ศ. ๒๒๗๓)

พระเจ้าแผ่นดิน สยามได้ให้เอาศิลาจารึกไปปักไว้ในสถานที่ของคณะ .............................. (๑) เราไม่ทราบว่าผู้ที่แต่งเรื่องนี้จะเปนใคร



(หน้า ๑๑๑)

บาดหลวงในกรุงศรีอยุธยา ศิลาแผ่นนี้ได้จารึกประกาศมีข้อความห้ามมิให้พวกมิชันนารีฝรั่งเศส สอนสาสนาคริศเตียนแก่คนไทย มอญ และลาวในประกาศพระราชโองการที่จารึกในแผ่นศิลานี้ มีความเท็จอยู่หลายข้อเปนต้นว่า กล่าวว่ามองเซนเยอร์เดอโรซาลีผู้ซึ่งถึงแก่กรรมแล้วนั้น ได้ยอมรับว่าตัวได้ไปสอนสาสนาคริศเตียนแก่คนไทยมอญ และลาวเปนความผิดจริง จึงได้ไปขอโทษโดยเอาดอกไม้ธูปเทียนไปถวายพระเจ้าแผ่นดิน ดังนี้ เมื่อปีค.ศ.๑๗๔๙ (พ.ศ. ๒๒๙๒)ตัวอักษรที่จารึกในแผ่นศิลาได้ลบเลือนหายไปหลายตัวพระเจ้าแผ่นดินจึงได้ให้จารึกเสียใหม่ และได้ทรงขู่ให้ล่ามสัญญาว่าจะได้เปนธุระคอยตรวจตรา ให้ได้ปฏิบัติตามข้อความในประกาศนี้จงทุกประการ เพราะฉนั้นจึงต้องตั้งปัญหาถามว่า วิเกอาปอศตอลิกในเมืองไทยจะควรคัดค้านในข้อเหล่านี้คือ ๑ คัดค้านประกาศพระราชโองการนี้ ๒ คัดค้านในข้อเท็จนี้ ๓ คัดค้าน ในข้อที่ล่ามได้สัญญาไว้หรือไม่ มีคนเห็นว่า วแกอาปอศโตลิก จำเปนจะต้องคัดค้านในข้อเหล่านี้ เพราะเหตุว่าไม่ทราบเลยว่า เมื่อ ค.ศ. ๑๗๓๐ (พ.ศ. ๒๒๗๓) มองซิเออร์เดอโรซาลีผู้ถึงแก่กรรมแล้ว ได้คัดค้านไว้เมื่อครั้งเอาศิลานี้มาตั้งหรือไม่ และไม่ทราบว่าเมื่อ ค.ศ. ๑๗๔๙ (พ.ศ. ๒๒๙๒) คราวเอาศิลานี้มาปักใหม่ ท่านสังฆราชเดอยูลีโอโบลิศ ซึ่งเปนวิแกอาปอศโตลิกในปัจจุยุบันนี้ จะได้คัดค้านไว้หรือไม่



(หน้า ๑๑๒)

ในความเห็นอันนี้ข้าพเจ้าจะต้องตอบว่า
ข้าพเจ้าไม่เห็นจำเปนที่มองเซนเยอร์ เดอยูลิโอโปลิศจะต้องคัดค้านในประกาศอันนี้เพราะเหตุว่า
๑ มองเซนเยอร์เดอโรซาลีผู้ถึงแก่กรรมได้คัดค้านไว้ แล้ว
๒ เพราะเหตุว่ามองเซนเยอร์ เดอ ยูลิโอโปลิศก็คัดค้านไว้แล้วเหมือนกัน

๑ ในข้อที่ว่ามองเซนเยอร์เดอโรซาลีได้คัดค้านไว้แล้วนั้น ข้อนี้ก็พอจะแลเห็นได้เพราะจะต้องระลึกถึงความประพฤติและการปฏิบัติของสังฆราชผู้นี้ในเวลาที่ไทยกดขี่บีบคั้นพวกเข้ารีตก่อนที่ได้เอา ศิลาจารึกนี้มาตั้ง และก่อนที่ได้มีประกาศพระราชโองการที่ได้จารึกไว้ในศิลานั้น ในเวลานั้นท่านสังฆราชได้ทำอย่างไรบ้างคือถูกเรียกไปที่ศาลเจ้าพระยาพระคลัง เจ้าพระยาพระคลังจะบัง คับให้สังฆราชสัญญาว่า ต่อไปจะไม่สอนสาสนาคริศเตียนแก่คนไทยคนมอญ เพราะเปนพระราชประสงค์ของพระเจ้าแผ่นดินให้เปนดังนี้ ท่านสังฆราชได้ตอบอย่างเด็ดขาดว่าจะสัญญาเช่นนั้นไม่ได้ เจ้าพระยาพระคลังก็ขู่ว่าจะทำโทษต่าง ๆ แต่ท่านสังฆราชก็หาได้ครั่นคร้ามไม่ และก็ยืนคำไม่ยอมสัญญาดังนั้นเอง จนที่สุดก็ได้พูดว่า ถ้าพระเจ้ากรุงสยามยังจะขืนห้ามไม้ให้สอนสาสนา คริศเตียนแล้ว การที่สังฆราชจะอยู่ในเมืองไทยต่อไปก็ไม่มีประ โยชน์อะไรแล้ว เพราะฉนั้นไม่เหนทางอย่างอื่นนอกจากสังฆราชจะต้องลากลับไปยังประเทศฝรั่งเศสเท่านั้น



(หน้า ๑๑๓)

ถึงแม้ว่าท่านสังฆราชจะได้ตอบถึงเพียงนี้ก็ดี แต่ไทยก็หาฟังไม่ จึงได้ออกประกาศห้ามในการสอนสาสนาของเรา และได้เอาประกาศนั้นจารึกไว้ในแผ่นศิลาด้วย เมื่อได้จารึกศิลาเสร็จแล้ว ไทยก็จะคิดเอาศิลานั้นมาตั้งไว้ ในที่บูชาพระในโบสถ์คนจะได้เห็นทั่ว ๆ กัน ฝ่ายสังฆราชก็ทราบอยู่ว่าตนไม่มีอำนาจอย่างใดที่จะขัดขืนมิให้พระเจ้าแผ่นดินมาจัดการในที่ดินของโรงเรียนได้ และทราบอยู่ว่าตนไม่มีอำนาจที่จะขัดขืนห้ามปรามในข้อนี้ได้ สังฆราชจึงตกลงเห็นว่าในเรื่องนี้จะทำอะไรไม่ได้ นอกจากแสดงตัวว่าไม่ชอบและไม่ยอมรับรู้ในการที่จะเอาศิลานี้มาตั้ง และแสดงให้ไทยเห็นในความไม่พอใจของตัวเท่านั้น เพราะฉนั้นสังฆราชเดอ โรซาลีจึงมิได้ทำหนังสือคัดค้านในการที่จะเอาศิลาจารึกนี้มาปักไว้ใน วัด เพราะหนังสือที่จะคัดค้านนั้นจะไม่เปนประโยชน์อย่างใด ทั้งกลับจะทำให้พระเจ้าแผ่นดินทรงพระพิโรธหนักขึ้นไปอีก และคนทั้งหลายก็ย่อมทราบอยู่แล้ว ว่ามิชันนารีควรจะระวังมิให้ผู้ที่คิดจะ กดขี่ได้ขัดเคืองได้ อีกประการ ๑ ถึงแม้ว่าสังฆราชเดอโรซาลีไม่ได้ทำหนังสือคัดค้านในการที่เอาศิลาจารึกอันนี้มาตั้งก็จริงอยู่ แต่ท่านสังฆราชได้คัดค้านด้วยกิริยาซึ่งเปนประโยชน์และมีน้ำหนักยิ่งกว่าที่จะคัดค้าน ด้วยลายลักษณอักษรหรือคัดค้านด้วยปากเสียอีก กล่าวคือ พอท่านสังฆราชได้ทราบว่าไทยคิดจะเอาศิลาจารึกไปตั้งบนที่บูชาพระ ท่าน -

๑๕



(หน้า ๑๑๔)

สังฆราชก็ประกาศว่า จะไม่ให้พวกเข้ารีตมาประชุมในโบสถ์นี้และจะไม่ทำพิธีสวดในที่บูชาพระนี้อีกต่อไป ท่านสังฆราชจึงได้จัดห้องในรงเรียนสามเณรไว้ห้อง ๑ สำหรับให้พวกเข้ารีตใช้ต่างโบสถ์ การที่สังฆราชได้ทำเช่นนี้ไม่เปนการคัดค้านในตัว และไม่เปนการแสดงให้เห็นว่าสังฆราชไม่พอใจในศิลาจารึกนั้นดอกหรือ แต่ในเรื่องนี้ยังมีคนสงสัยอยู่ หรือว่าท่านสังฆราชได้คัดค้านจริงหรือไม่ และยังมีคนอยากทราบให้แน่อีกว่าท่านสังฆราชได้คัดค้านจริงหรือไม่ เมื่อเช่นนั้นก็ควรจะระฦกดูว่าเมื่อไทยได้ทราบ ว่าถ้าไทยขืนเอาศิลาไปปักไว้ในที่บูชาพระ ท่านสังฆราชก็จะไม่ให้พวกเข้ารีตมาประชุมในวัดอีกต่อไปนั้นไทยได้ทำอย่างไรเล่า ก็คือไทยได้เปลี่ยนความคิดทันที หาได้เอาศิลาไปปักไว้ในที่บูชาพระ ตามความคิดเดิมไม่ แต่ได้เอาไปปักไว้ใกล้กับโบสถ์ และศิลานั้นก็ได้ปักอยู่ในที่เดิมจนเท่าทุกวันนี้ แต่ในเวลาก่อนที่จะเอาศิลา จารึกนี้ไปปักในวัดนั้น ไทยก็จะเขี้ยวเข็ญให้ท่านสังฆราชยอมให้ไทยเอาศิลานั้นไปปัก และถ้าสังฆราชได้ยอมเช่นนั้นก็เท่ากับยอมตามข้อความในประกาศนั้นด้วย ในข้อนี้ไทยก็ได้รับความละอายในการที่ท่านสังฆราชขัดขืนไว้ เพราะฉนั้นไทยจึงได้เอาศิลาไปไว้ในเขตวัด และได้ให้คนไปบอกท่านสังฆราชให้มา ช่วยในการที่จะตั้งศิลานั้น โดยประสงค์ว่าถ้าสังฆราชไปช่วยดูด้วยแล้ว ก็คล้าย ๆ กับสังฆราชได้ยอมแล้วเหมือนกัน แต่ในคราว นี้ไทยก็เข้าใจผิดไม่สมปราถนาอีก จึงจำเปนต้องเอาศิลานั้นปัก



(หน้า ๑๑๕)

ลงที่โดยสังฆราชหาได้มาเกี่ยวข้องด้วยไม่ เพราะในเวลาที่ไทยกำลังตั้งศิลาอยู่นั้น ท่านสังฆราชไม่ยอมออกจากห้องเลยเปนอัน ขาด การที่ท่านสังฆราชไม่ยอมต่าง ๆ เช่นนี้ ข้าพเจ้าเห็นว่าเปนการคัดค้านไม่ยอมให้เอาศิลาจารึกมาปักไว้ในวัดอยู่แล้ว ถ้าจะยังมีคนเกรงอยู่ ว่าตามข้อความที่ข้าพเจ้าได้กล่าวมาในตอนบนนี้ เปนการที่มองเซนเยอร์ เดอ โรซาลียังแสดงไม่พอใจในเรื่องศิลาจารึกนี้แล้ว ก็ยังมีพยานปรากฎอยู่อีกอย่าง ๑ ซึ่งจะเห็นได้ว่าสังฆราช เดอ โรซาลีได้แสดงความไม่พอใจเปนการพอ เพียงอยู่แล้ว คือก่อนที่จะเกิดเรื่องศิลาจารึกอันนี้ ในวันนักขัตฤกษ์เฟตดีเยอ ที่โรงเรียนสามเณรได้เคยมีการแห่ทุก ๆ ปีมิได้เว้นเลยและในการแห่นี้พวกไทยไม่ว่าไพร่หรือผู้ดีเด็กหรือผู้ใหญ่ชอบมาดู และช่วยการแห่เสมอมา ครั้นเมื่อไทยได้เอาศิลาจารึกนี้มาปักไว้แล้ว การแห่ที่ว่านี้ก็ได้งดตั้งแต่นั้นมา ฝ่ายไทยก็ได้ถามว่าเหตุใดจึงได้งดการแห่เสีย ไทยจึงได้รู้สึกตัวอย่างชัดเจนว่าพวก เราไม่พอใจในเรื่องศิลาจารึกนี้ เพราะเมื่อไทยถามเช่นนั้นก็ได้รับคำตอบว่าการที่จะมีแห่เช่นนี้ พวกเข้ารีตจะต้องมีความยินดีโปร่งอกโปร่งใจจึงจะแห่ได้ แต่มาบัดนี้พวกเข้ารีตมีแต่ความเสียใจและสลดใจที่ได้เห็นศิลาจารึกอันนี้ เพราะศิลานี้เปนการร้ายต่อสาสนานัก การที่คัดค้านด้วยวิธีไม่มีการแห่นั้นก็ยังคง ปฏิบัติมาตลอดจนเท่าทุกวันนี้ เพราะถึงแม้ว่าไทยจะได้พูดหลาย -



(หน้า ๑๑๖)

ครั้งว่าอยากจะดูการแห่อีกก็จริง แต่พวกบาดหลวงได้เห็นกันว่าไม่ควรจะตามใจ และก็คงตอบไทยเช่นเดียวกับมองเซนเยอร์ เดอ โรซาลีได้ตอบในเวลาก่อนที่ถึงแก่กรรม

๒ ตามที่ข้าพเจ้าได้กล่าวว่า มองเซนเยอร์ เดอ ยูลีโอโปลิศได้คัดค้านในเรื่องศิลาจารึกนั้น ก็พอจะแลเห็นจริงได้ แต่จะต้องกลับระฦกถึงเวลาที่ไทยจะบังคับให้พวกเข้ารีตไปช่วยในการแห่ ที่ไทยได้แห่พระพุทธรูปเมื่อหลายปีมาแล้วนั้น ว่ามองเซนเยอร์ เดอ ยูลีโอโปลิศได้ตอบไทยด้วยจดหมายและด้วยวาจาว่าอย่างไรบ้าง แต่ในที่นี้ข้าพเจ้าจำเปนจะต้องยืนยันอีกครั้ง๑ว่า หากว่าสังฆราชทั้ง๒คือสังฆราชเดอโรซาลีกับสังฆราชเดอ ยูลีโอโปลิศจะไม่ได้คัดค้านในเรื่องศิลาจารึกอันนี้จริง แต่ข้าพเจ้ายังจะต้องยืนยันว่า การที่จะคัดค้านนั้นไม่เปนการจำเปนอย่างใดเลย การที่จำเปนจะต้องคัดค้านนั้นต้องประกอบด้วยเหตุหลายประการคือ
๑ ถ้าการที่คัดค้านนั้นได้ลบล้างในการที่สาสนาเสียชื่อได้จึงควรจะคัดค้านหรือ
๒ ถ้าไม่คัดค้านแล้วอาจจะทำให้ไทยเข้าใจว่าเราได้ยอมเห็นชอบด้วยแล้วจึงควรจะคัดค้านหรือ
๓ ถ้าคัดค้านแล้วไทยก็คงจะไม่เอาศิลานั้นไปปัก หรือเมื่อปักแล้วไทยจะยอมถอนให้ จึงควรจะคัดค้าน

๑ ที่ว่าการคัดค้านไม่จำเปน เว้นไว้แต่การที่คัดค้านได้ลบล้างในการที่สาสนาได้เสียชื่อไปหรือได้เปนประโยชน์อย่างอื่นนั้น ก็คือเมื่อเรารู้จักนิสัยของไทยแล้ว เราจะหวังใจได้หรือ ว่าไทยจะทำการอย่างใดที่จะลบล้างการที่สาสนา ได้เสียชื่อไปหรือจะทำการอย่าง-



(หน้า ๑๑๗)

-ใดที่จะเปนประโยชน์ต่อสาสนาได้ เมื่อไทยมีนิสัยเช่นนี้ จะไม่เปนการน่ากลัวว่าไทยจะกลับดูถูกสาสนายิ่งขึ้นไปอีกหรือ และถ้าได้คัดค้านดังว่าแล้ว จะไม่น่ากลัวว่าจะกลับกลายเปนการร้ายยิ่งกว่า เดิมไปอีกหรือ จริงอยู่หน้าที่ของมิชันนารีนั้น จะต้องทำการทุกอย่างที่จะป้องกันมิให้พวกมิจฉาทิฐิดูหมิ่นแก่สาสนาคริศเตียนได้ แต่ในการที่จะทำนั้นก็จะต้องระวังว่าการนั้น ๆ จะไม่กลับทำให้พวกที่ไม่ นับถือสาสนาได้ดูถูกหรือหมิ่นประมาทสาสนายิ่งกว่าเดิมหรือทำให้พวกที่ถือสาสนาอยู่แล้วได้เบื่อหน่ายซึ่งอาจจะกระทำให้พวกเข้ารีตละทิ้งสาสนาได้ แต่จะอย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าการที่ได้เอาศิลาจารึกแผ่นนี้มาตั้งไว้ในกรุงศรีอยุธยา จะเปนการดูถูกแก่สาสนาสักปานใดก็ดี แต่การที่จะคัดค้านในศิลาจารึกนี้จะไม่มีผลอย่างใด นอกจากจะทำให้พวกเข้ารีตมีความท้อถอย และทำให้ไทยขัด เคืองมากขึ้นไปอีกเท่านั้น ๒ การที่ไม่ได้คัดค้านไว้นั้นจะถือว่าเปนการยอมตามข้อความที่จารึกไว้ในศิลานั้นไม่ได้ เพราะเหตุว่าถ้าถือว่าการที่ไม่ได้คัดค้านเปนการยอมตามข้อความที่จารึกไว้ในศิลาอันเปนข้อความขัดขวางต่อสาสนาคริศเตียนแล้ว ก็เท่ากับหาว่า พวกสังฆราชและมิชันนารีมิได้ทำการตามหน้าที่ เพราะในพงศาวดารไม่ปรากฎเลยว่า ในการที่ได้มีประกาศต่าง ๆ เปนครั้งเปนคราวในที่ต่าง ๆ ซึ่งขัดขวางแก่การสาสนานั้น จะได้มีใครคัดค้านในประกาศเหล่านั้นเลยจนครั้งเดียว แต่ปรากฎในพงศาวดารว่าเมื่อได้เกิดมีประกาศอัดขัดขวางแก่ -



(หน้า ๑๑๘)

- การสาสนาขึ้นเมื่อใด พวกสังฆราชและมิชันนารีกลับหลบหนีไปเสียที่อื่นตามคำสั่งสอนของพระเยซูก็หลายคราว ซึ่งการเปนดังนี้ก็เปนพยานอันปรากฎว่าสังฆราชและมิชันนารีในสมัยนั้นเห็นว่าไม่จำเปนที่จะต้องคัดค้าน และคนทั่วโลกเห็นพ้องด้วยกับสังฆราชและมิชันนารีเหล่านั้น เพราะฉนั้นเมื่อพยานในพงศาวดารมีปรากฎอยู่เช่นนี้ เหตุใดมองเซนเยอร์ยูลีโอโปลิศจึงจำเปนจะต้องคัดค้านเล่า ๓ ข้าพเจ้ายังยืนยันว่าการที่จะคัดค้านประกาศพระราชโองการซึ่งจารึกไว้ในแผ่นศิลานั้นเปนการไม่จำเปนอย่างใดเลย เพราะเหตุว่าถึงแม้สังฆราชจะได้คัดค้านอย่างใดก็ตาม ประกาศพระราชโองการก็คงต้องจารึกลงในศิลาอยู่นั่นเอง และไทยคงจะไม่ถอนประกาศหรือคงจะไม่ทำลายศิลานั้นเปนแน่ การที่มีผู้คิดเห็นว่าถ้าสังฆราชได้คัดค้านแล้วจะเปนการกระทำให้พระเจ้าแผ่นดินผู้ออกประกาศได้ถอนประกาศของตนตามคำคัดค้านนั้นแล้ว ผู้นั้นก็คงจะลืมนึกถึงนิสัยและสติปัญญาของพระเจ้าแผ่นดินฝ่ายทวีปอาเซีย ฝ่ายพวกมิชันนารีที่อยู่ในเมืองมริดเมื่อเวลาไทยเอาศิลาจารึกอันมีข้อความคล้ายกับศิลาจารึกในกรุงศรีอยุธยา ไปปักไว้ในเมืองมริดนั้น ได้ทำหนังสือคัดค้านในเรื่องนี้ก็จริงอยู่ และถึงแม้ว่าลัทธิวิธีปกครองในระหว่างเจ้าเมืองมริด กับขุนนางข้าราชการซึ่งปกครองอยู่ในกรุงศรีอยุธยาใต้พระกรรณโดยตรงของพระเจ้าแผ่นดินจะต่างกันมากก็จริงอยู่ แต่การที่มิชันนารีเมืองมริดได้คัดค้านไว้นั้น ได้ทำให้เปนประโยชน์อย่างไร บ้าง ประโยชน์ที่ได้คัดค้านไว้นั้นไม่มีอย่างใดเลย เพราะไทยก็คง



(หน้า ๑๑๙)

เอาศิลาจารึกไปตั้งไว้จนได้ และไทยก็มิได้ฟังคำคัดค้านของพวกมิชันนารีจนนิดเดียว ถึงที่กรุงศรีอยุธยาเองถ้าเอาสังฆราชได้คัดค้านอย่างพวกมิชันนารีที่เมืองมริด ผลที่สุดก็คงจะลงรูปเดียวกับที่เมืองมริดเหมือนกัน การที่ข้าพเจ้าได้กล่าวดังนี้ มิได้หมายความว่าถ้าพระเจ้าแผ่นดินจะทรงพระราชดำริห์ออกประกาศขัดขวางแก่การสาสนา จะห้ามมิให้พวกมิชันนารีขัดขวางหรือจัดการคัดค้าน หาเปนเช่นนั้นไม่ ถ้ามิชันนารีจะคัดค้านหรือขัดขวางไว้ได้ก็ควรจะจัด ทำไป แต่ที่ข้าพเจ้ายังคงยืนยันอยู่ในที่นี้ ก็คือที่ถือกันเปนธรรมดาว่าเปนการจำเปนที่จะต้องคัดค้านในที่ทั้งปวงและในเรื่องทั้งปวงโดยไม่เลือกว่าจะควรหรือไม่ควรอย่างไร และยิ่งในเมืองไทยซึ่งพระเจ้าแผ่นดินมีอำนาจเหนือกฎหมายแล้ว ไม่ควรที่จะคัดค้านหรือพยายามที่จะคัดค้านเลย ถ้าหากว่ามีข้อที่ควรจะคัดค้านได้หรือมีพิธีดำเนินการอย่างใดที่ควรจะทำได้ พวกมิชันนารีก็ได้ทำมาชั่วกาลนานมาแล้ว กล่าวคือ ถึงจะมีประกาศห้ามปรามอย่างใดก็ตาม แต่พวกมิชันนารีก็คงพยายามสอนสาสนาเรื่อยไป และได้คอยระวังมิให้ผู้ที่คิดกดขี่การสาสนาได้ขัดเคืองได้ ไปเปนอันขาด พวกสังฆราชและมิชันนารีได้ตรองเห็นแล้ว ว่าศิลาจารึกอันนี้เปนการให้ร้ายแก่สาสนาของเราก็จริงอยู่ แต่ไม่ใช่ข้อขัดขวางอันสำคัญสำหรับที่จะให้คนไทยได้เข้ารีต ข้อขัดขวางที่สำคัญจริง ๆ นั้นก็คือน้ำใจของคนไทยนั้นเอง ข้อนี้จะต้องอธิบายให้กว้างขวาง




(หน้า ๑๒๐)

ออกไปว่า ในสิ่งที่เกี่ยวด้วยวิญญาณนั้น ไทยก็เฉยเมินมิได้รู้สึกถึงเลย ในข้อนี้ต้องได้ไปเห็นแก่ตาตัวเอง จึงจะเชื่อได้ง่าย แต่ในเรื่องที่จะควรคัดค้านหรือไม่นั้น จำจะต้องอธิบายต่อไปอีก คือจะต้องชี้ให้เห็นว่าไม่จำเปนจะต้องคัดค้านอย่างใด เพราะเหตุว่าประกาศพระราชโองการนั้นเต็มไปด้วยความเท็จทั้งนั้น เช่นในข้อที่ว่ามองเซนเยอร์ เดอโรซาลีได้รู้สึกความผิด จึงได้เอาดอกไม้ธูปเทียนไปถวายเพื่อขอโทษดังนี้เปนต้น ความเท็จข้อนี้จะเห็นไปว่าเปนการทำให้ท่านสังฆราชเดอโรซาลีเสียชื่อได้ หรือจะเห็นว่าเปนการทำให้การแผ่สาสนาคริศเตียนในเมืองไทยมัวหมองไปก็ได้ แต่ตามที่ได้กล่าวมาข้างบนนี้แล้ว การที่จะต้องคัดค้านไม่จำเปนก็เพราะเหตุว่าเรื่องนี้ทำให้การแผ่สาสนาคริศเตียนมัวหมองไป และถ้าการแผ่สาสนามัวหมองแล้ว ก็เท่ากับเปนการเสียชื่อแก่สังฆราชเดอโรซาลีเหมือนกัน แต่ถ้ามองเซนเยอร์ เดอโรซาลี ผู้ที่จะต้องรับความเสียหายโดยเฉพาะ เห็นว่าไม่ใช่หน้าที่ของตัวที่จะคัดค้านใน เรื่องนี้แล้ว เหตุใดมองเซนเยอร์ เดอยูลิโอโปลิศจึงจะต้องคัดค้านด้วยเล่า พวกไทยก็ได้พยายามทุกอย่างที่จะบังคับให้สังฆราช เดอโรซาลีสัญญาว่าจะไม่สอนสาสนาคริศเตียนแก่คนไทย และเมื่อจะสอนสาสนาแก่พวกเข้ารีตก็จะใช้พูดเปนภาษาไทยไม่ได้ แต่ถึงไทยจะบังคับอย่างไรก็ตาม มองเซนเยอร์เดอโรซาลีมิได้ยอมสัญญาเลยก็เมื่อไทยคิดการไม่สำเร็จเช่นนี้ จะแสดงตัวว่าแพ้สังฆราชก็ไม่ได้



(หน้า ๑๒๑)

จึงจำเปนต้องกล่าวคำเท็จ และเหตุที่ทำให้ไทยมีโอกาศกล่าวเท็จได้นั้นมีอยู่ดังนี้ คือเมื่อไทยได้พยายามทุกอย่างที่จะให้สังฆราชเดอโรซาลีสัญญาดังที่กล่าวมาแล้วนั้น สังฆราชเดอโรซาลีก็ได้ยกเหตผลต่าง ๆ มาอ้างในการที่ตัวจะรับสัญญาเช่นนั้นไม่ได้ แต่ตามเหตุผลที่สังฆราชยกมาอ้างนั้นหาเปนที่พอใจของไทยไม่ เพราะในระหว่างที่ไทยกำลังกดขี่บีบคั้นพวกเข้ารีตนั้น ไทยก็ได้ทำการผิดยุติธรรมหลายอย่าง ทั้งไทยก็มีความกลัวอาวุธของฝรั่งเศสเปน อันมาก ไทยจึงวิตกว่าถ้าความเรื่องนี้ทราบไปถึงพระเจ้าแผ่นดินฝรั่งเศสแล้ว พระเจ้าแผ่นดินฝรั่งเศสคงจะคิดอ่านมาแก้แค้นไทยเปนแน่ เพราะฉนั้นไทยจำเปนจะต้องคิดอ่านป้องกันมิให้ฝรั่งเศสมาแก้แค้นได้จึงได้พยายามหาหนทางใส่ความผิดให้แก่มองเซนเยอร์เดอโรซาลี เพื่อเปนข้อแก้ตัวว่าที่ไทยทำเช่นนั้นก็เพราะสังฆราชมีความผิด แต่การที่ไทยเข้าใจผิดเช่นนี้ เมื่อใครรู้จักนิไสยของไทยแล้ว ก็ดูไม่เปนการปลาดอะไรเลย ครั้นไทยจะเกือบหมดหวังว่าจะทำการไม่ สำเร็จแล้ว ก็พอดีมองเซนเยอร์เดอโรซาลีได้หาโอกาศให้ไทยขึ้นเองในคือเวลานั้นมองเซนเยอร์เดอโรซาลีไม่ทันได้ตรึกตรอง แต่เพื่อจะหลีกให้พ้นจากการที่ไทยจะบังคับให้สัญญาดังกล่าวมาแล้วนั้น จึงได้พูดขึ้นว่า ถ้าพระเจ้ากรุงสยามขืนจะขัดขวางในการที่คนจะเข้ารีต ดั่งนี้แล้ว การที่สังฆราชจะอยู่ในประเทศสยามต่อไปก็ไม่มีประโยชน์อะไรเล้ว เพราะฉนั้นสังฆราชต้องขออนุญาตกลับไปยัง -

๑๖




(หน้า ๑๒๒)

ประเทศฝรั่งเศสดีกว่า ฝ่ายไทยนั้นถือว่าบาดหลวงเหมือนกับเปนสายสำหรับโยงพระราชไมตรีในระหว่างพระเจ้าแผ่นดินทั้งสองให้ติดต่อกันเพราะฉนั้นการที่มองเซนเยอร์เดอโรซาลิขอลากลับไปฝรั่งเศสนั้น ไทยจึงเข้าใจว่าสังฆราชมีเจตนาจะทำให้ขาดพระราชไมตรีระหว่างพระเจ้าแผ่นดินสยามและพระเจ้าแผ่นดินฝรั่งเศส และเข้าใจด้วยว่าสังฆราชจะคิดพาฝรั่งเศสกลับเข้ามาทำการแก้แค้นไทย ซึ่งเปนการที่ไทยกลัวยิ่งนัก เจ้าพระยาพระคลังจึงบอกกับสังฆราชเดอโรซาลี ว่าการที่สังฆราชได้โต้ตอบอย่างไรจนที่สุดสังฆราชขอลากลับนั้น เปนการที่พระเจ้ากรุงสยามไม่พอพระไทยอย่างยิ่งจึงได้ทรงกริ้วมาก ท่านสังฆราชจึงได้ตอบเจ้าพระยาพระคลังว่า สังฆราชมิได้คิดร้ายอย่างใด แต่ถ้าคำโต้ตอบของสังฆราชและการที่สังฆราชขอลากลับ เปนสิ่งที่ไม่ พอพระไทยพระเจ้ากรุงสยามแล้วสังฆราชก็จะขอเอาดอกไม้ธูปเทียนไปถวายตามธรรมเนียมของไทยเพื่อขอโทษ สังฆราชเดอโรซาลีก็ได้เอาดอกไม้ธูปเทียนไปถวายอย่างว่า โดยมิได้รู้สึกว่าไทยจะไปคิดการอย่างไร แต่ไทยก็ได้จับเอาเหตุนี้ไปทำเปนผลร้ายขึ้น โดยไทยเอาไปอ้างว่า การที่สังฆราชเดอโรซาลีเอาดอกไม้ธูปเทียนไปถวายนั้น ก็เพื่อขอโทษในการที่สังฆราชได้ทำผิดในการที่ไปเที่ยวสอนสาสนาคริศเตียน แลความเท็จอันนี้ไทยก็ได้จารึกไว้ในศิลาซึ่งมิประกาศพระราชโองการด้วย ทั้งไทยก็ยินดีว่า ถ้าพระเจ้ากรุงฝรั่งเศสจะมาแก้แค้นในการที่ไทยได้ข่มเหงสังฆราชเดอโรซาลีแล้วไทยก็มีข้อที่จะแก้ตัวได้พออยู่แล้ว



(หน้า ๑๒๓)

ตามเหตุผลที่ได้กล่าวมาทั้งนี้ ข้าพเจ้าหวังใจว่าคงจะมีคนเห็นพิองกับข้าพเจ้า ว่าควรจะนิ่งเสียดีกว่าที่จะไปคัดค้านความเท็จอันน่าเกลียดเช่นนี้ และการที่กล่าวเท็จเช่นนี้ก็เปนการที่ทำให้เสียเกียรติยศต่อไทยมากกว่ามองเสียแกมองเซนเยอร์เดอโรซาลีเสียอีก


ข้อวิตกในเรื่องโรงเรียนมหาพราหมณ์

จดหมายมองเซนเยอร์เดอโลลีแยร์
ถึงผู้อำนวยการคณะต่างประเทศ
วันที่ ๓๐ เดือน พฤษภาคม ค.ศ. ๑๗๔๕ (พ.ศ. ๒๒๘๘)
............................

เมื่อเดือน กรกฎาคมปีก่อนนี้พวกเราได้เกิดความวิตกในเรื่องโรงเรียนที่มหาพราหมณ์คือ เสมียนของเจ้าพระยาพระคลังคน ๑ ได้มายังบ้านบาดหลวง และสนทนากับมองเซนเยอร์เดอยูลีโอโปลิศเสมียนผู้นั้นจึงได้ถามขึ้นว่า ที่มหาพราหมณ์นั้นได้เปนประโยชน์ต่อเราอย่งไรบ้าง ที่มหาพราหมณ์นั้นได้เปนของเรามาแต่เมื่อไรและเรามีหนังสือสำคัญสำหรับเปนหลักฐานว่าที่ดินที่มหาพราหมณ์นี้เปนของเราจริงหรือไม่ ภายหลังอีกสัก ๓-๔ วันได้มีขุนนางอีกคน ๑ มาที่บ้านบาดหลวง ได้ยื่นหนังสือเจ้าพระยาพระคลังถึงมองเซนเยอร์เดอยูลีโอโปลิศ มีข้อความถามเรื่องที่มหาพราหมณ์เช่นเดียวกับที่เสมียนเจ้าพระยาพระคลังได้มาถามครั้ง ๑ แล้ว มองเซน-



(หน้า ๑๒๔)

เยอร์เดอยูลีโอโปลิศจึงได้ตอบอย่างระวังตัว ว่าที่มหาพราหมณ์นี้ตาเปนที่ของพวกบาดหลวงช้านานมาจนจำเวลาไม่ได้เสียแล้ว และการที่บาดหลวงได้เปนเจ้าของที่มหาพราหมณ์นี้ ก็โดยเปนที่ดินซึ่งพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ ๑ ได้พระราชทานให้แก่คณะบาดหลวง ที่มหาพราหมณ์นี้ใช้เปนโรงเรียนสอนวิชาแก่นักเรียน เพราะเปนที่เงียบสงัดเหมาะแก่การเล่าเรียน แต่ส่วนหนังสือสำคัญนั้นเดิมก็มีอยู่ แต่ก็หายเสียเมื่อครั้งคณะบาดหลวงได้กดขี่บีบคั้นต่าง ๆ และในเวลานี้มีเตเพียงหนังสือพอให้ปรากฎว่าเราได้ไปอยู่ในที่นั้นเท่านั้น ข้อตอบเหล่านี้ขุนนางผู้นั้นคงจะได้ไปรายงานให้เจ้าพระยา พระคลังทราบเปนแน่ เพราะเรื่องนี้ก็เปนอันสงบไปและเราก็ไม่ได้ยินพูดถึงอีกต่อไป แต่การที่มาถามเช่นนี้จะประสงค์อะไรข้าพเจ้าหาทราบไม่ ข้าพเจ้าเปนแต่ทราบว่าแต่ก่อน ๆ มาก็เคยมีคนมาถามเช่นนี้หลายครั้งแล้ว แต่ก็ไม่ได้มีผลร้ายอะไรเกิดขึ้นเลย

---

งานนี้เป็นสาธารณสมบัติ เนื่องจากต้องด้วยหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๓๗

  • (๑) เป็นภาพถ่าย โสตทัศนวัสดุ ภาพยนตร์ สิ่งบันทึกเสียง หรืองานแพร่เสียงแพร่ภาพ ที่มีอายุมากกว่าหรือเท่ากับห้าสิบปี นับแต่วันสร้างสรรค์ขึ้นครั้งแรก (หรือวันที่มีการเผยแพร่งานครั้งแรก) แล้วแต่ว่ากรณีใดปรากฏก่อน
  • (๒) เป็นงานศิลปประยุกต์ ที่มีอายุมากกว่าหรือเท่ากับยี่สิบห้าปี นับแต่วันสร้างสรรค์หรือเผยแพร่ครั้งแรก
  • (๓) เป็นงานโดยผู้ไม่เปิดเผยชื่อหรือผู้ใช้นามแฝง ที่มีอายุมากกว่าหรือเท่ากับห้าสิบปี นับแต่วันสร้างสรรค์หรือเผยแพร่ครั้งแรก
  • (๔) เป็นงานในหมวดหมู่อื่น ๆ ที่ไม่เข้าเกณฑ์ข้างต้น และผู้สร้างสรรค์คนสุดท้ายถึงแก่ความตายมากว่าห้าสิบปีแล้ว
  • (๕) เป็นกรณีที่ผู้สร้างสรรค์งานนี้ไม่ปรากฏ ผู้สร้างสรรค์งานนี้เป็นนิติบุคคล หรือตายก่อนการเผยแพร่งาน ประกอบกับงานนี้มีอายุอย่างน้อยห้าสิบปี นับแต่วันเผยแพร่งานครั้งแรก