ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๓๙ หมวด จ

หมวด  จ
  • จดหมายมองเซนเออร์คูเด ว่าด้วยสังฆราชและพวกมิชชันนารีพ้นโทษ หน้า ๑๑๕
  • ว่าด้วยบาดหลวงเข้าเฝ้า " ๑๑๘
  • จดหมายมองเซนเออร์คูเด ว่าด้วยพวกเข้ารีดไม่ยอมเข้ากระบวนแห่ที่เกี่ยวด้วยพุทธสาสนา " ๑๒๐
  • ว่าด้วยทดลองสอนสาสนาแก่พวกลาว " ๑๒๒
  • จดหมายเหตุของสังฆราชเลอบอง ว่าด้วยพระเจ้าตากไม่พระราชทานเบี้ยหวัดพวกเข้ารีด " ๑๒๕
  • ว่าด้วยพระเจ้าตากโปรดนั่งทางวิปัสนา " ๑๒๙
  • ว่าด้วยพระเจ้าตากให้ไล่พวกบาดหลวง " ๑๓๐
  • ว่าด้วยพวกบาดหลวงออกจากเมืองไทย " ๑๓๕
  • จดหมายเหตุมองซิเออร์เดคูร์วิแยร์ว่าด้วยพระเจ้าตากต้องสละราชสมบัติ " ๑๓๖
  • ว่าด้วยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเสด็จปราบดาภิเษก " ๑๓๙
  • ว่าด้วยการเปนไปของสาสนาบาดหลวงกลับมาเมืองไทยอีก " ๑๔๐
  • จดหมายมองเซนเยอร์คูเดว่าด้วยการสาสนาในเมืองไทร " ๑๔๒
  • จดหมายเหตุของมองซิเออร์เดคู์วิแยร์เรื่องเจ้าเมืองไทรยกบ้านให้มองซิเออร์คูเด " ๑๔๔

(หน้า ๑๑๕)

จดหมายมองเซนเออร์คูเด ว่าด้วยสังฆราชและพวก มิชชันนารีพ้นโทษ

จดหมายของมองซิเออร์ดูเด
ถึงมองซิเออร์เดอโคเอ็ตโลกอง
วันที่ ๑๕ เดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๗๗๙ (พ.ศ. ๒๓๒๒)

เมื่อพระเจ้าตากได้เสด็จกลับมาจากทัพ ดูพระกิริยาเชื่อมซึมและดูจะไม่สบายพระทัย เพราะทรงเกรงว่าพม่าข้าศึกจะยกเข้ามาถึงกรุง
ถ้าพม่าเข้ามาตีกรุงอีกแล้ว เมืองไทยก็เปนอันสูญชื่อกันคราวนี้เอง

พวกที่คอยบำรุงอุดหนุนเรา และพวกขุนนางไทยที่มีความเอื้อเฟื้อต่อเรานั้น ได้คอยหาช่องโอกาศที่จะกราบทูลพระเจ้าตากในเรื่องเรา...
แต่ก็หาโอกาศไม่ได้เลย ข้างฝ่ายไทยก็ไม่ต้องการอะไร นอกจากให้เราขอโทษต่อพระเจ้าแผ่นดินและให้เรารับผิดเท่านั้น
แต่เราก็คงดื้อ ยืนคำว่าเราเปนคนที่หาความผิดมิได้ และเราจะทำการบกพร่องในสาสนาของเราไม่ได้

เจ้าพนักงารก็ไม่กล้านำเราไปเฝ้า และ พระเจ้าตากก็ไม่มีพระราชประสงค์จะเกี่ยวข้องกับเรา เพราะถ้าทรงเกี่ยวกับเราแล้วก็จะต้องแพ้เรา
เพราะทำอย่างไร ๆ เราก็คงจะยืนคำเดิมอยู่นั่นเอง

เมื่อวันที่ ๑๔ เดือนสิงหาคม พระเจ้าตากได้รับสั่งให้หาพวก นักโทษทั้งหลาย เพื่อเอาไปปล่อยบ้าง เอาไปลงพระราชอาญาบ้าง
ส่วนเรานั้นได้รับสั่งให้ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ไต่สวนเราและให้ปล่อยเราออกไปอยู่กับพวกเข้ารีด
เจ้าพนักงารเข้าใจว่าเราเปนอันได้พ้น-



(หน้า ๑๑๖)

- โทษแล้ว ต่างคนต่างแสดงความยินดีต่อเรา แต่ถึงดังนั้นเจ้าพนักงารได้พาเราไปทั้งตรวนและพวงคอ ยังห้องใหญ่นอกพระราชวัง
เพื่อไปพบกับข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ข้าราชการเหล่านี้ได้บอกกับเราว่าพระเจ้าแผ่นดินทรงยกโทษให้เราแล้ว
แต่เราจะต้องทำหนังสือทานบล รับผิด และทำทานบลว่าเราจะไม่ประพฤติเช่นนี้อีก

ข้อนี้เปนข้อที่เราวิตกอยู่เสมอ เราจึงได้ตอบว่าเราจะไม่ยอมทำหนังสือทานบลอย่างที่ว่านั้นเปนอันขาด
ถ้าพระเจ้ากรุงสยามโปรดปล่อยให้เราพ้นโทษแล้ว เราก็จะไปสอนสาสนาของเราอีกตามเดิมเหมือนเมื่อครั้งก่อน
เราติดคุก เพราะเราเปนข้าราชการของพระเปนเจ้าทีแท้จริง และเราจะเปลี่ยนสาสนาของเราไม่ได้

ข้าราชการเหล่านั้นจึงถามว่า "ถ้าท่านไม่มีความผิด เหตุใดท่านจึงต้องติดคุก และ ต้องรับพระราชอาญาเฆี่ยนด้วยหวาย ๑๐๐ ทีเล่า "
เราได้ตอบว่า
"ติดคุกและถูกเฆี่ยนเปล่าโดยไม่มีความผิดอะไร"

ข้าราชการถามว่า
"ทำไมจึงไม่ร้องขึ้นเล่า"

เรตอบว่า
"ไม่มีใครยอมฟังเรา และพระเจ้าแผ่นดินก็กำลังกริ้วอยู่ด้วย"

ข้าราชการถามว่า
"ก็ท่านจะให้ข้าพเจ้าทำอย่างไรเล่า"

เราตอบว่า
"ท่านจะเอาเราใส่คุกอีกหรือท่านจะไล่ให้เราออกนอกพระราชอาณาเขต หรือท่านจะฆ่าเราให้ตายก็ได้ แต่ทำอย่างไรๆ -



(หน้า ๑๑๗)

- เราก็ไม่ยอมเปลี่ยนแปลงข้อปฏิบัติเดิมของเรา "

เวลาที่พูดกันนี้เปนเวลาค่ำมืดแล้ว และก็ไม่เปนการตกลงอย่างใดเลย ข้าราชการผู้ใหญ่เหล่านั้นจึงสั่งให้เอาเราไปขังต่อไป
แต่ให้ไปขังไว้นอกพระราชวัง เราก็ได้ไปอยู่ในที่ขังใหม่นี้โดยไม่ทราบว่า ผลที่สุดจะเปนอย่างไรต่อไป แต่ถึงอย่างไรเราก็รู้สึกสบายใจขึ้น
จึงเตรียมการที่จะทำพิธีในวันนักขัตฤกษ์และเซนวิแยช

ครั้นรุ่งขึ้นเวลาเช้า เจ้าพนักงารได้มาถอดตรวนและพวงคอออก แต่ข้าราชการผู้ใหญ่ยังไม่ได้นำความกราบทูลให้ทรงทราบ
เจ้าพนักงาร จึงได้กักขังเราไว้ในห้องนั้นต่อไป
คนทั้งหลายได้มาบอกกับเราว่า ในวันรุ่งขึ้นคือวันที่ ๑๖ สิงหาคม ทำอย่างไร ๆ เราก็จะได้กลับไปอยู่วัดของเรา
แต่ครั้นถึงเวลาเช้าวันที่ ๑๖ เจ้าพนักงารได้เอาตรวนและพวงคอ มาจำเราเข้าอีก และได้พาเราไปขังไว้ยังคุกในพระราชวังอย่างเดิม

เจ้าพนักงารได้บอกเราว่าไม่ช้าเราก็จะได้พ้นโทษ แต่ในเวลานั้นเปนเวลาที่พระเจ้าแผ่นดินกำลังกริ้วอยู่
เพราะเหตุว่า ข้าราชการผู้ใหญ่ยังไม่กลับมาถึงจากการทัพ และมีข้าราชการ ๔-๕ คนรับรองว่าจะจัดการให้เราได้พ้นโทษให้จงได้
แต่เวลานี้ต้องทำใจเย็น ๆ ไปก่อน

เมื่อวันที่ ๓๐ เดือนสิงหาคม บรรดาข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อย ได้มาประชุมพร้อมกันหมดเพราะมีเรื่องที่ข้าราชการเหล่านี้
จะต้องปรึกษาหารือกันหลายเรื่อง แต่พอตั้งต้นข้าราขการที่เปนผู้ใหญ่ที่สุด -



(หน้า ๑๑๘)

- ในหมู่นั้นได้พูดขึ้นว่า จำเปนจะต้องปล่อยเราออกจากคุกโดยเร็วที่สุด ข้าราชการทั้งหลายซึ่งอยู่ในที่นั้นก็นิ่งกันหมดหาได้คัดค้านว่าอย่างไรไม่
แต่ก็ไม่กล้าทำอะไรต่อไป เพราะกลัวว่าพระเจ้าแผ่นดินจะหาว่าพวกข้าราชการเข้ากับเรา

ครั้นวันที่ ๑ เดือนกันยายน พระเจ้าตากได้รับสั่งถามขึ้นเองว่า เรื่องของเราเปนอย่างไรบ้าง
ข้าราชการได้กราบทูลว่า กำลังไต่สวนอยู่ รุ่งขึ้นข้าราชการเหล่านั้นจึงได้กราบทูลว่า ได้เห็นพร้อมกันว่าควรจะปล่อยเราได้
พระเจ้าตากจึงรับสั่งให้ปล่อยเราพ้นโทษ แล้วก็เสด็จขึ้นทันที โดยไม่รับสั่งถึงราชการงารเมืองอย่างอื่นเลย

เจ้าพนักงารจึงได้นำความมาเล่าให้เราฟัง เรา ก็ได้ไปยังวัดเพื่อบูชาพระเยซูต่อไป ในคราวนี้ไม่มีใครพูดถึงหนังสือทานบลอีกเลย แต่ไทยได้บังคับให้พวกเข้ารีดทุกคนรับประกันว่า เราจะไม่ออกไปนอกพระราชอาณาเขต เพราะฉนั้นเมื่อชั้นเดิมเราก็เตรียมตัวที่จะถูกไล่ออกจากเมืองไทยหลายคราว ครั้นมาบัดนี้เรากลับต้องอยู่เมืองไทยแน่นกว่าแต่ก่อนเสียอีก

บาดหลวงเข้าเฝ้า

เมื่อเราได้พ้นโทษไปแล้วสักสามอาทิตย์ พระเจ้าตากได้มี รับสั่งให้เราเข้าไปเฝ้า เวลานั้นท่านสังฆราชป่วยอยู่ไปเฝ้าไม่ได้ เราจึงได้ไปเฝ้าแต่ ๒ คนเท่านั้น พระเจ้าตากได้ทรงแสดงไมตรี ต่อเรา และทรงแสดงว่าทรงโปรดปรานเรามาก พระเจ้าตากได้



(หน้า ๑๑๙)

เสด็จมาประทับในที่ต่ำกว่าเรา และโปรดให้เอาน้ำชามาพระราชทาน ให้เรารับประทาน ซึ่งเปนสิ่งที่ไม่เคยเลยจนที่สุดข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ก็หาเคยพระราชทานน้ำชาให้รับประทานไม่ ในวันนั้นดูทรงเจตนาแสดงพระกิริยาให้เราลืมถึงเรื่องที่เราถูกทำโทษมาถึงปีหนึ่ง

ตั้งแต่วันนั้นมาเราก็ได้ไปเฝ้าพระเจ้าตากหลายคราว เมื่อไปเฝ้าคราวใดก็ทรงแสดงไมตรีต่อเราเสมอ
แต่นั่นแหละสาสนาของเรา ไม่ตรงกับสาสนาของไทยซึ่งล้วนแล้ว ไปด้วยความไม่จริง เราจึงจำเปนต้องขัดคอไทยอยู่เสมอ ๆ

พระเจ้าตากรับสั่งอยู่เสมอว่า ทรงเหาะเหิรเดิรอากาศได้(๑) เราก็ได้ทูลอยู่เสมอว่าเปนการที่เป็นไปไม่ได้
เราได้ทูลบ่อยเข้าจนถึงกับทรงเบื่อไม่อยากฟังเราแล้ว เพราะฉนั้น จึงไม่ได้รับสั่งให้เรา ไปเฝ้ามาได้ปี ๑ แล้ว
การที่เราไม่ได้เฝ้าแหนเลยนั้น กระทำให้เรามีเวลาสำหรับไปเที่ยวตามชาวบ้านได้มากขึ้น
..........................
(๑) พระเจ้าตากเปนคนที่มีความคิดพลิกแพลงอยู่เสมอ เพราะฉนั้นจึงได้ทรงพระราชดำริห์จะเปนพระพุทธเจ้า
ในเรื่องนี้ได้มีรับสั่งว่ามีพระราชประสงค์จะเปนพระพุทธเจ้า และก็มีคนเรียนพระองค์ว่าพระพุทธเจ้าแล้วก็มี
เพราะในเมืองนี้ไม่มีเลยที่ใครจะไม่ทำให้ถูกพระทัย ตามวิธีดำเนิรการที่ทรงพระราชดำริห์ไว้นั้น
ในชั้นต้นจะได้ทรงเหาะขึ้นไปตามอากาศก่อน และเพื่อจะเตรียมการที่จะทรงเหาะนี้ ได้ทรงทำพิธีต่าง ๆ ในวัดและในวังมา ๒ ปีแล้ว
เพราะฉนั้นในเวลานี้จะต้องถือว่าพระเจ้าตาก ไม่ใช่มนุษย์ในโลกนี้แล้ว
ถ้าเรื่องนี้ใครไปทูลขัดคอ หรือในเวลาที่ทรงเข้าพิธี ใครเข้าไปเฝ้าแล้ว คนนั้นก็ ถูกเคราะห์ร้าย


(หน้า ๑๒๐)

จดหมายมองเซนเออร์คูเด ว่าด้วยพวกเข้ารีดไม่ยอมเข้า กระบวนแห่ที่เกี่ยวด้วยพุทธสาสนา

จดหมายมองซิเออร์คูเด
ถึงผู้อำนวยการคณะต่างประเทศ
วันที่ ๒๕ เดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๗๑๙ (พ.ศ. ๒๓๒๒)

เวลานี้ในเมืองไทยการศึกสงครามได้สงบเงียบแล้ว พวกพม่าข้าสึกเก่าของเราไม่ได้คิดที่จะกลับมาตีเมืองไทยอีก
และเสบียงอาหารเข้าปลานาเกลือ ก็จับจะบริบูรณ์ขึ้นอีกแล้ว แต่ถึงดังนั้นพวกเราก็ยังวางใจ ในพระเจ้าแผ่นดินไม่ได้

เมื่อ ๗ หรือ๘ เดือนนี้ได้เกิดเรื่องขึ้น ซึ่งน่ากลัวอันตรายมาก คือพระเจ้าตากได้ทรงแต่งแบบแผน ขนบธรรมเนียมของไทยขึ้นใหม่
เรื่องนี้ได้ทรงคิดแต่งมานานแล้ว ครั้นทรงแต่งเสร็จแล้ว ก็มีพระราชประสงค์จะทำการฉลอง

โดยให้มีกระบวนแห่อย่างใหญ่ ตามลำแม่น้ำ การฉลองคราวนี้จะมีงารกันถึง ๓ วัน บรรดาชนทุกชาติทุกภาษาจึงได้รับสั่งให้ไปช่วยในการแห่นี้
คือ ไทย จีน ญวน ลาว แขกมัว คนเข้ารีด และ ชนชาติอื่น ๆ ทั่วไปหมด

พระเจ้าตากจึงเสด็จออกประทับยังพลับพลา ซึ่งปลูกไว้ริมน้ำเพื่อทอดพระเนตร์กระบวนแห่ ครั้นทรงเห็นว่าพวกเข้ารีด มิได้เข้ากระบวนแห่ด้วย
จนคนเดียวก็กริ้ว จึงรับสั่งว่า

"การที่พวกเข้ารีดไม่ได้เข้ากระบวนแห่นั้น เพราะเหตุใด ทรงทราบได้ดีทีเดียว เพราะ ฉนั้นจะต้องให้เลิกการฉลอง
เพราะทรงบังคับพวกเข้ารีดตามพระทัยไม่ได้เสียแล้ว โดยเหตุที่ สังฆราชและพวกบาดหลวงคอย ขัดขวางอยู่เสมอ
จึงจะต้องฆ่าสังฆราชและบาดหลวงเสียให้หมด แล้ว"



(หน้า ๑๒๑)

จึงรับสั่งต่อไปว่า
"แต่นั่นและพวกบาดหลวงก็คงยอมให้เราฆ่า และ มันก็คงจะตายเหมือนกับสัตว์"

ขุนนางซึ่งเปนข้าราชการผู้ใหญ่ที่สุดและซึ่งเปนคนชอบพอกับเรา และมีความนับถือสาสนาของเราอยู่บ้าง เฝ้าอยู่ในที่นั้นด้วย
จึงได้กราบทูลแก้แทนเราว่า
"แต่ก่อน ๆ มาพวกเข้ารีด ไม่เคยได้มาเกี่ยว ในพิธีของไทยเลย เพราะพระเจ้าแผ่นดิน แต่ก่อน ๆ ได้ทรงอนุญาตให้พวกเข้ารีดทำตามใจชอบ
ในการชนิดนี้ ถ้าในคราวนี้พระเจ้ากรุงสยามจะลงพระราชอาญาพวกเราแล้ว ก็จะทำให้ประเทศยุโรปหมดความนับถือพระองค์
และชาวยุโรปก็คงจะไม่เข้ามาในเมืองไทยต่อไป"

พระเจ้าตากได้ทรงฟังคำกราบทูลของข้าราชการผู้นี้ ก็ทรงนิ่ง หาได้รับสั่งว่ากระไรต่อไปไม่
ครั้นรุ่งขึ้น เวลาเสด็จออกขุนนางจึงได้รับสั่งแก่ขุนนางข้าราชการที่เฝ้าอยู่ว่า

"เราอยากจะชักนำให้มนุษย์ทั่วไปไปสู่ทางที่ดี แต่พวกเข้ารีดไม่ยอมทำตามเราเลย เพราะฉนั้นพวกนี้คงถึงซึ่งฉิบหาย แต่ก็เปนธุระของเขาเอง"

ฝ่ายพวกขุนนางข้าราชการผู้ใหญ่ในเมืองนี้ สังเกตดูก็ไม่ได้เกลียดชังเราเลย เมื่อได้เกิดเรื่องนี้แล้ว สักสองสามวัน
ข้าพเจ้ากลับมาจากเยี่ยมหมู่บ้านลาว ได้พบกับพระราชโอรสองค์ใหญ่ของพระเจ้าแผ่นดิน

พระราชโอรสจึงเชื้อเชิญให้ข้าพเจ้าไปเฝ้าที่ศาลากลางทางแห่ง ๑ ได้รับสั่งกับข้าพเจ้าอย่างเปนกันเอง
และเมื่อได้เฝ้าอยู่สักครู่ ๑ ข้าพเจ้าได้ทูลลากลับบ้านเพราะเปนเวลาเย็น มากแล้ว


๑๖


(หน้า ๑๒๒)

การทดลองสอนสาสนาแก่พวกลาว

พวกที่ได้รับความเดือดร้อนในเมืองไทยมีจำนวนมากที่สุดเพราะเหตุว่าพรเจ้าตากได้มีรับสั่งให้ไปต้อนพวกชาวบ้านซึ่งอยู่ตามป่าตามดงชายพระราชอาณาเขต ให้เข้ามารวมอยู่ในกรุงให้หมด พวก นี้จึงได้รับความลำบากอย่างที่สุดโดยเหตุที่ไม่มีใครเอาเปนธุระด้วย เลย การที่พระเจ้าตากเสด็จยกทัพไปปราบบ้านเมืองใกล้เคียงและกวาดต้อนเชลยเข้ามาไว้ในกรุงนั้น กระทำให้จำนวนของคนที่ได้รับความเดือดร้อนเพิ่มขึ้นอีกเปนอันมาก เมื่อเดือนสิงหาคมปีกลายนี้ ไทยได้ จับลาวมาเปนเชลยกว่า ๓๐๐๐ คน เพราะไทยได้ยกทัพไปรับกับลาวและได้เข้าปล้นและเผาเมืองลาวเสียสิ้น เมื่อพวกชาวเชลยได้ลง มาถึงกรุงก็ได้รับความลำบากจวนจะตายอยู่แล้ว และพวกลาวเชลย ได้ตายเสียตามทางมากกว่าจำนวนที่ลงมาถึงกรุงกว่า ๒ เท่า พวก เราจึงได้ลงมือรดน้ำมนต์รับเด็กเข้ารีด ในปีนี้เราได้รดน้ำมนต์รับเด็ก เข้ารีดกว่า ๙๐๐ คน พวกลาวมีนิสัยโอนอ่อน เมื่อเราได้เปนธุระ จัดการเรื่องเด็กแล้ว ข้าพเจ้าก็ได้คิดจัดการในเรื่องผู้ใหญ่ต่อไป เพราะความยากจนคับแค้นเดือดร้อนของพวกนี้ กระทำให้ข้าพเจ้าสงสารมากจนถึงกับน้ำตาไหล แต่พวกนี้ก็ไม่มีบ้านช่องอยู่เปนหลัก ฐาน เพราะฉนั้นจึงเปนการยากที่จะเที่ยวตามสั่งสอนพวกนี้ได้ บาง ทีคนที่เราพบในวันนี้ไปหาพรุ่งนี้อีกไม่พบเสียแล้วก็มี และพวกลาวได้ ล้มตายเสียก่อนที่ได้รับคำสั่งสอนเสียก็มาก



(หน้า ๑๒๓)

เมื่อพวกลาวได้ลงมาถึงบางกอกได้สักหน่อย ไทยก็ได้แยก พวกนี้ออกเปน ๓ พวก เรียกว่า๓ ค่าย ๆ ๑ มี คนประมาณ ๗๐๐-๘๐๐ คน ข้าพเจ้าได้ทราบแต่เพียงว่ามี ๒๓ ค่ายเท่านั้น แต่ข้าพเจ้าคนเดียวจะวิ่งทั่วไปไม่ได้ เพราะฉนั้นข้าพเจ้าจึงได้จัดครูพื้นเมืองให้ไปสั่ง สอนในค่าย ๑ อีกค่าย ๑ นั้นข้าพเจ้ารับธุระไปเอง พวกลาวเหล่านี้ ล้วนแต่ยินดีที่จะฟังคำสั่งสอน และในค่ายที่ครูพื้นเมืองไปสั่งสอน นั้นพวกลาวได้นิยมมากเพราะเปนคนพวกเดียวกัน พวกลาวไม่สงสัยเหมือนกับสงสัยคนชาวต่างประเทศ ทั้งพูดภาษาก็ถูกกันด้วย ได้มี ผู้หญิงเข้ารีดบางคนได้มาช่วยสั่งสอนเหมือนกัน และผู้หญิงพวกนี้ มีประโยชน์มากเพราะเข้าไปหาพูดจากับผู้หญิงลาวสนิธสนมดี ส่วน ตัวข้าพเจ้านั้นเห็นว่าพวกลาวนิยมอยากฟังคำสั่งสอน จึงได้พยายามหาพวกลาวนั้นเองสำหรับให้สั่งสอนกันเอง และข้าพเจ้าก็ได้พยายาม เรียนตัวหนังสือลาวซึ่งคล้าย ๆ กันกับหนังสือไทย ข้อนี้ทำให้พวก ลาวพอใจเปนอันมาก การทั้งหลายกำลังดำเนิรอยู่อย่างเรียบร้อยแล้วเพอินเกิดมีเรื่องขึ้น ซึ่งทำให้รเบียบที่ข้าพเจ้าได้จัดไว้เสียหมด และตัวข้าพเจ้าเองก็หมดความหวังต่อไป ข้าพเจ้าเกือบจะไปหาพวก นี้ไม่ได้แล้วเพราะข้าพเจ้าไม่ทราบว่าเขาไปอยู่ที่ไหนกันหมด เรื่องท่เกิดขึ้นนั้นเล่าโดยย่อ ๆ มีดังนี้ โดยเหตุที่พวกลาวเปนเชลยศึก พระเจ้าตากจึงไม่ทรงไว้พระทัยในพวกลาวเลย และมีลาว บางพวกได้หนีไปด้วย ครั้นพระเจ้าตากทรงทราบว่าพวกลาวเชลย -



(หน้า ๑๒๔)

- หนี จึงรับสั่งให้เรียกพวกลาวมารวมกันให้หมด บางคนก็ได้ทรง ขังเสีย นอกนั้นได้พระราชทานแก่บรรดาขุนนางข้าราชการสำหรับ ไว้ใช้การงร ขุนนางบางคนได้รับพระราชทานเชลย ๔ ครัวก็มี ๕ ครัวก็มี ๖ ครัวก็มี เพราะฉนั้นพวกลาวเชลยจึงได้กระจาบไปอยู่ ตามบ้านข้าราชการทั่วทุกแห่ง ข้าพเจ้าได้แต่งคนซึ่งได้เคยช่วย ข้าพเจ้าปฏิวัติพวกลาวให้ไปเที่ยวสืบตามบ้านข้าราชการว่าลาวพวกนั้นเปนอย่างไรบ้าง คนที่ข้าพเจ้าใช้ให้ไปสืบเข้าตามบ้านขุนนางไทย ได้ง่าย และยิ่งเอายาไปเที่ยวแจกแก่คนป่วยเจ็ย พวกเจ้าของบ้านก็ ยินดีให้คนของข้าพเจ้าไปในบ้านได้ คนของข้าพเจ้าได้ไปพบลาว ที่เคยรู้จักกันหลายคน คนของข้าพเจ้าจึงได้จัดการสั่งสอนพวกลาว ต่อไป ข้าพเจ้าเองบางทีก็ได้เข้าไปในพระนคร และได้พบพวกลาวที่ข้าพเจ้าได้เคยสั่งสอนมาหลายคน ข้าพเจ้าไม่ได้พบกับคนเหล่านี้มา ถึง ๓ เดือนแล้ว แต่ถึงดังนั้นพวกนี้ก็ยังหาลืมคำสั่งสอนของข้าพเจ้าไม่ เมื่อข้าพเจ้าได้เห็นความทุกข์ยากของพวกนี้ ก็เกิดความสงสารจนถึง กับกลั้นน้ำตาไว้ไม่ได้ แต่การที่จะไปสอนการสาสนากับพวกลาวนั้นเวลานี้ยากอยู่สักหน่อย เพราะพวกลาวอยู่ปนกับคนไทยหมดแล้ว แต่ก็เปนการดีสำหรับที่จะหาโอกาศสอนสาสนา แก่พวกไทยได้ด้วย จริงอยู่พวกไทยไม่ใคร่จะเชื่อง่าย ๆ เหมือนพวกลาว แต่สังเกตดู พวกไยก็ดีขึ้นมากแล้ว ตั้งปต่พวกเราต้องไปติดคุกและยอมทน ทุกข์ทรมานสำหรับสาสนานั้น ดูพวกไทยมีความรักใคร่และนับ



(หน้า ๑๒๕)

ถือพวกเรามากขึ้นกว่าเก่า แม้แต่ข้าราชการผู้ใหญ่ก็ยอมรับว่า สาสนาของเราเปนสาสนาที่แท้ที่และที่ตรง และการที่ไทยเคย ถือในการฆ่าสัตว์ที่มีชีวิตนั้น บัดนี้ก็ดูคล้าย ๆ เข้าบ้างแล้ว เพราะ ออกจะรู้สึกว่าพระเจ้าได้สร้างสัตว์มาสำหรับให้มนุษย์ใช้ และรับประ ทาน แต่ในเมืองไทยจำนวนพระสงฆ์มีมากนัก และพระสงฆ์พวกนี้ก็คอยแต่รบกวนข้าราชการผู้ใหญ่ เพราะฉนั้นเมื่อเราคิดจะดำเนิรการอย่างใด พวกพระสงฆ์ก็ทราบทุกคราว เมื่อเราไปพูดกับไทย คนใดไทยคนนั้นก็ฟังคำอธิบายของเรา แต่พอเราหันหลังให้แล้ว พระสงฆ์ก็มาอธิบายล้างคำเราหมด


จดหมายเหตุของสังฆราชเลอบอง ว่าด้วยพระเจ้าตาก ไม่พระราชทานเบี้ยหวัดพวกเข้ารีด

พวกมิชชันนารีถูกไล่
เกิดการลำบากขึ้นอีก

จดหมายเหตุของสังฆราชเลอบอง
ค.ศ. ๑๗๗๙ (พ.ศ. ๒๓๒๒)

เมื่อวันสิ้นเดือนกรกฎาคมซึ่งเปนวันที่เคยจ่ายเบี้ยหวัดประจำปี ให้แก่นายทหารและพลทหารเข้ารีด นายทหารและพลทหารเหล่านี้ ได้เข้าไปยังพระราชวังตามคำสั่งเพื่อไปรับเบี้ยหวัดพระเจ้าตากได้ ทรงทราบว่าพวกเข้ารีดไปคอยรับเบี้ยหวัด จึงรับสั่งว่า

"จะเอาเบี้ยหวัดให้แก่คนจำพวกนี้จะมีประโยชน์อะไร เรามีการงารพระราชพิธี อย่างใดพวกนี้ไม่ยอมช่วยจนครั้งเดียว
จนที่สุดในวันนักขัตฤกษ์พวกนี้-



(หน้า ๑๒๖)

-ก็ไม่ยอมมาเล่นเครื่อวดนตรีให้เราฟัง"

การที่รับสั่งเช่นนี้ ก็มีคนซ้ำเติมตามเคยว่า ที่พวกเข้ารีดเปนเช่นนี้ ก็เพราะ สังฆราชและบาดหลวงฝรั่งเสศ ที่พวกนี้ซ้ำเติมพูดดังนี้
ดูประดุจสาสนาคริศเตียนเปนสาสนา ที่สั่งให้เชื่อก็ได้ ไม่เชื่อก็ได้ และดูประดุจเหมือนลมอากาศ เช่นสาสนาเท็จ

ในเวลานี้ ไทยยังพูดอยู่เสมอว่า จะเอาพวกบาดหลวงใส่คุกเสียบ้าง จะฆ่าเสียบ้าง จะไล่ออกจากพระราชอาณาเขตเสียบ้าง

พระเจ้าตากได้รับสั่งถามว่า จะมีเรือจีนออกบ้างหรือไม่ เพื่อจะให้พวกเราลงเรือไปเมืองจีน และทรงรับรองว่าจะทรงออกเงินค่าเดิรทางให้แก่เรา
จึงได้มีคนกราบทูลว่าในเวลานี้ ยังไม่มีเรือที่จะออก
แต่ถึงจะมีนายเรือ ก็จะไม่ยอมให้เราได้ไปกับเรือ เพราะในประเทศจีน มีข้อห้าม มิให้ใครรับชาวยุโรปเข้าไปในเมืองจีน
ใครขืนพาไป จะต้องมีโทษถึงตาย

จึงมีขุนนางอีกคน ๑ กราบทูลต่อไปอีกว่า "ถ้านายเรือสำเภารับพวกบาดหลวงไปแล้ว ก็จะทำอย่างอื่นไม่ได้นอกจากเอาพวกบาดหลวงปล่อยเกาะเสียตามทาง"

พระเจ้าตากจึงรับสั่งว่า
"เรา ไม่ได้มีความประสงค์เช่นนั้น แต่จะไม่มีเรือไปยังเมืองบาตาเวียบ้าง ทีเดียวหรือ"
ข้าราชการจึงกราบทูลว่า มีแต่อีก ๕-๖ เดือนเรือ จึงจะออกไป

พระเจ้าตากจึงเสด็จขึ้นและรับสั่งว่า
"ถ้า สังฆราชกับบาดหลวง ยังอยู่ ตายใด ไม่ต้องให้เบี้ยหวัด แก่พวกเข้ารีดเลย "

พวกเข้ารีดได้ทราบว่า พระเจ้ากรุงสยาม ได้มีรับสั่งถึงการที่จะไล่ สังฆราชและบาดหลวงออก นอกพระราชอาณาเขต
พวกเข้ารีดก็พา -



(หน้า ๑๒๗)

- กันร้องไห้เศร้าโศกทั่วหน้ากันหมด และทั้งหญิงชายและเด็ก ก็ร้องไห้พากันมายัง วัดเข้ารีด จนต้องเปิดประตูวัด ทิ้งไว้สามวัน
พวกบาดหลวงเอง ก็เข้าไปอยู่ในโบสถ์ เพื่ออ้อนวอนพระเยซูให้ปัดเป่า อย่าต้องให้พวกบาดหลวงออกจากเมืองไทยเลย

การที่พวกบาดหลวงและพวกเข้ารีดได้พากันเศร้าโศกเช่นนี้ ดูเปนการน่าสงสารยิ่งนัก และมีคนไทยซึ่งรัฐบาลจัดมาให้คอยดูว่า
พวกเข้ารีดจะทำอย่างบ้าง ก็ได้เห็นแก่ตาจึงได้ไปรายงารให้เสนาบดีทราบ

ภายหลังอีก สองสามวันไทยได้มีการแห่ตามลำแม่น้ำตามเคย พวกเข้ารีดของเราบางคนและ ข้าราชการที่เข้ารีดบางคน ก็ได้เข้ากระบวนแห่ด้วย
เพราะกลัวพระเจ้าแผ่นดิน
พอข้าพเจ้าได้ทราบ ข้าพเจ้าก็ตัดสินลงโทษพวกที่กระทำความผิด การที่ตัดสินลงโทษเช่นนี้กลับมีคุณมาก
เพราะในจำนวนพวกเข้ารีดที่เข้ากระบวนแก่ ๑๑ คนนั้น ได้มาลุแก่โทษ รับผิด ๑๐ คน แต่อีกคน ๑ นั้นหัวดื้อหาได้มาลุแก่โทษตัวไม่


เดือนสิงหาคม ค.ศ. ๑๗๗๙ (พ.ศ. ๒๓๒๒)
ข้าราชการไทยซึ่งเปนตำแหน่งเสนาบดีว่า การต่างประเทศซึ่งเรียกกันว่า เจ้าพระยาพระคลังนั้น
เปนคนชาติแขกมลายู และ เปนคนถือสาสนามหะหมัด
เมื่อครั้งเกิดเรื่องพวกเข้ารีดเมื่อเดือนกรกฎาคมดังได้บรรยามาแล้วนั้น เจ้าพระยาพระคลังคนนี้ได้คอยขัดขวาง พวกเข้ารีดเปนอันมาก
และได้นำความกราบทูลต่าง ๆ -



(หน้า ๑๒๘)

- ประสงค์จะให้พระเจ้าตาก กริ้วพวกเข้ารีด

ครั้นวันนี้ที่ ๔ เดือนสิงหาคม พระเจ้าตากได้เสด็จออกขุนนาง จึงได้รับสั่งตัดพ้อต่อว่า เจ้าพระยาพระคลัง ต่อหน้าขุนนางข้าราชการทั้งปวง
ที่เฝ้าอยู่ว่า

"เมื่อวันก่อน เจ้าเห็นว่าข้ากำลังกริ้วพวกเข้ารีดอยู่ เจ้าก็พยายามยุแหย่ให้ข้า กริ้วหนักขึ้นอีก พวกเข้ารีดเหล่านี้ ถือสาสนาของเขาอย่างมั่นคง
แต่ส่วนเจ้านั้น เจ้าเปนนก ๒ หัว (หรือสัตว์ ๒ หน้า) เจ้าจงเข้าใจเถิดว่า ถ้าข้าได้ทำโทษพวกเข้ารีดจนเกินไปแล้ว เจ้าก็ต้องได้รับโทษ
เหมือนกัน"

แล้วพระเจ้าตาก จึงได้รับสั่งถึง พวกทหารเข้ารีดว่า
"แต่อย่างไรๆ ก็ต้องให้พวกนี้ ได้กินเบี้ยหวัด ไม่ฉนั้นพวกนี้มันจะได้อะไรเลี้ยงชีพเล่า"

พระเจ้าตากจึงได้รับสั่งให้ พระมหาอุปราช ผู้เปนพระราชโอรสองค์ใหญ่ เปนพระธุระในการจ่ายเบี้ยหวัดให้แก่พวกทหารเข้ารีด

ในเวลาที่เสด็จออกขุนนาง และรับสั่งเรื่องทหารเข้ารีด คราวนี้ มิได้ รับสั่งถึงสังฆราชหรือบาดหลวง จนองค์เดียว
การที่ทรงพระดำริห์ จะไล่สังฆราชและบาดหลวง ให้ออกนอกพระราชอาณาเขตนั้น ดูเปนเรื่องที่สงบไปแล้ว




(หน้า ๑๒๙)

ว่าด้วยพระเจ้าตากโปรดนั่งทางวิปัสนา

สังฆราชและบาดหลวง ออกจากเมืองไทย

จดหมายมองซิเออร์คูเด
ถึงผู้อำนวยการคณะต่างประเทศ
ค.ศ. ๑๗๘๐ (พ.ศ. ๒๓๒๓)

พวกเราได้อยู่ในเมืองไทยโดยสุขสบายดี จนถึงเดือนกรกฎาคม ค.ศ. ๑๗๗๙ (พ.ศ. ๒๓๒๒) ในระหว่างนั้นช้า ๆนานๆ
พระเจ้าตาก ก็กริ้วเราบ้างเปนครั้งคราว แต่ไม่ช้าก็หายกริ้วอีก

พระเจ้าตาก ไม่ได้รับสั่งให้เราเข้าเฝ้ากว่าปี ๑ แล้ว ในระหว่างนั้นก็ทรงสวดมนต์บ้าง อดพระกระยาหารบ้าง จำศีลภาวนาบ้าง
เพื่อเตรียมพระองค์สำหรับเหิรเดิรอากาศต่อไป

ในส่วนเรา ก็ได้สอนพวกเข้ารีด อยู่เสมอว่า พวกเข้ารีดจะไปดื่มน้ำพระพิพัฒน์สัตยาที่เข้าพิธีไม่ได้ และห้ามพวกเราเข้ารีด มิให้ไปเกี่ยวข้องในพิธีทั้งปวง ซึ่งเกี่ยวด้วยสาสนาของไทย
การที่เราสั่งสอนห้ามปรามพวกเข้ารีดเช่นนี้ พระเจ้าตากก็ทรงทราบ เพราะฉนั้นเราจึงหวั่นอยู่เสมอว่าจะเกิดเหตุร้ายขึ้น

การที่เราวิตกถึงเหตุร้ายนั้นก็ได้เกิดจริง ๆ ดังคาด และเรื่องที่จะเกิดขึ้นมีดังนี้

เมื่อวันที่ ๒๒ เดือนกรกฎาคม ค.ศ. ๑๗๗๙ (พ.ศ. ๒๓๒๒) เปนวันที่จะต้องแจกเบี้ยหวัดเงินเดือนแก่ข้าราชการและทหารที่เข้ารีด -


๑๗


(หน้า ๑๓๐)

ว่าด้วยพระเจ้าตากให้ไล่พวกบาดหลวง


พระเจ้าตาก จึงได้รับสั่งให้พวกนี้เข้าไปเฝ้า และได้รับสั่งว่า
"พวกนี้ ไม่ได้ไปการทัพมาหลายปีแล้ว เพราะฉนั้น พวกนี้ไม่ได้ทำการใช้อาวุธอย่างใด ซึ่งสมควรจะได้รับพระราชทานเบี้ยหวัดเงินเดือน"

เพราะเงินพระราชทรัพย์ที่มีอยู่ในท้องพระคลังนั้น เปนเงินที่พระเจ้าตากได้ทรงหามาได้
ด้วยทรง กระทำการดี(๑)และทรงได้มาด้วยอำนาจของพระพุทธเจ้า(๒)
ก็เมื่อพวกเข้ารีด ไม่ยอมทำการอย่างใดที่เกี่ยวด้วยการของพระพุทธเจ้าแล้ว
พวกนี้ก็ไม่ควรได้รับอย่างใด แต่ควรจะได้รับพระราชอาญาจึงจะถูก

ยังมีข้าราชการอยู่คน ๑ หวังจะเอาหน้าเกินไป จึงกราบทูลโต้ แทนพวกเข้ารีด และได้ขอรับพระราชทานโทษแทนพวกเข้ารีดด้วย
พวกเข้ารีดได้ฟังข้าราชการคนนั้นกราบทูล ก็พากันนิ่งหมด

พระเจ้าตากจึงได้รับสั่งว่า ทรงทราบได้ดีทีเดียวว่า การที่พวกเข้ารีด ทำการขัดพระทัยเช่นนี้ เปนด้วยเหตุใด
ก็คือ สังฆราชและ พวกบาดหลวงนั้นเอง
เพราะฉนั้น จะต้องฆ่าสังฆราชและบาดหลวงเสีย หรือ มิฉนั้นจะต้องเอาใส่คุกเสียตลอดชีวิต
หรือไล่เสียให้ออกพ้นพระราชอาณาเขต

ข้าราชการ ที่เฝ้าอยู่ในที่นั้นได้กราบทูลว่า ถ้าไล่สังฆราชและบาดหลวงออกไป นอกพระราชอาณาเขตเสีย จะเปนการสดวกยิ่งกว่า
จะทำอย่างอื่น และ จะทำให้พวกเข้ารีด เจ็บช้ำยิ่งกว่าอย่างอื่นด้วย

พระเจ้าแผ่นดินจึงได้รับสั่งแก่ขุนนาง ซึ่งเปนหัวหน้าพวกจีน ให้จัดการ ให้เราได้โดยสารไปกับเรือสำเภาจีน แต่นายสำเภาไม่ยอม-
.......................

(๑) คงหมายถึง ทำบุญกุศลเอาไว้มาก เช่นการทำทาน เป็นต้น (๒)คงหมายถึง อานิสงค์ผลที่เกิดจากการทำทาน หรือทำกุศลกรรมบถทั้งหลายตามคำสอนของพระพุทธเจ้า



(หน้า ๑๓๑)

- รับเราขึ้นเรือโดยอ้างว่า พระเจ้ากรุงจีนได้มีประกาศห้ามมิให้ชาวยุโรปได้เหยียบเข้าไปในแผ่นดินจีน
เพราะฉนั้น ถ้าใครขืนรับชาวยุโรปพาไปเมืองจีนแล้ว พระเจ้ากรุงจีนคจะลงพระอาญาเปนแน่
พระเจ้าตาก จึงรับสั่งว่าจะทรงยอมออกเงินค่าเดิรทางให้ แต่ นายสำเภาก็ไม่ยอม

พระเจ้าตากได้รับสั่ง ให้ถามพวกทหารเข้ารีด ว่า
"จะยอมรับเบี้ยหวัด ซึ่งเปนเงิน ของพระพุทธเจ้าหรือไม่"

การที่รับสั่งให้ถามเปนอุบายเช่นนี้ แลเห็นได้ง่ายนักกว่าจะมีพระราชประสงค์อย่างไร
พวกทหารเข้ารีดตอบเปนเสียงเดียวกันหมดว่า
'ไม่ยอมรับเงินรายนี้'

และเพื่อจะให้เปนหลักฐานมั่นคงขึ้น พวกทหารเหล่านี้ ได้ทำหนังสือปฏิญาณฉบับ ๑ เซ็นชื่อพร้อมกันทุกคนว่า
"จะไม่ยอมรับเบี้ยหวัดของพระเจ้าแผ่นดินเปนอันขาด เว้นแต่ ถ้าพระราชทานเบี้ยหวัดอย่างที่ เคยพระราชทานมาแต่ปีก่อนๆ แล้วจึงจะยอมรับ"

แล้วเจ้าพระยาพระคลัง รับพระราชโองการให้มาถามพวกทหารเข้ารีดว่า
"จะยอมรับเบี้ยหวัดเงินเดือนของพระเจ้าแผ่นดิน หรือจะเอาสังฆราชและบาดหลวงไว้" จะต้องการอย่างไรให้เลือกเอาใน ๒ อย่างนี้

พวกทหารเข้ารีดได้ตอบเปนเสียงเดียวว่า
"ขอเอาสังฆราชและบาดหลวงไว้ และ ขอพระมหากรุณาต่อพระเจ้าแผ่นดินอย่าได้ไล่สังฆราชและบาดหลวงไปเสียเลย"
และถ้าโปรดให้สังฆราชและบาดหลวงอยู่ต่อไปแล้ว พวกทหารเข้ารีดจะไม่ขอรับพระราชทานเบี้ยหวัด
การที่พวกทหาร -



(หน้า ๑๓๒)

- เข้ารีดได้ตอบดังนี้ ทำให้เจ้าพระยาพระคลังโกรธเปนอันมาก
เจ้าพระยาพระคลังจึงพูดว่า
"ควรประหารชีวิตพวกนี้เสียดีกว่า เพราะการที่พวกนี้ไม่ยอมรับเบี้ยหวัดของพระเจ้าแผ่นดิน ก็เท่ากับเปนขบถ"

พวกทหารเข้ารีดจึงได้ตอบเจ้าพระยาพระคลังว่า
ที่พูดดังนี้ ก็เพราะได้อนุญาตให้เลือกเอาตามชอบใจแล้ว ถ้าแม้ได้โปรดพระราชทานเบี้ยหวัดเงินเดือนอย่างแบบธรรมเนียมที่เคยพระราชทาน
แต่ก่อน ๆ แล้ว ทหารเข้ารีดพวกนี้ก็ยอมรับเบี้ยหวัดต่อไป
แต่ถึงอย่างไรก็ตาม พวกเข้ารีดขอพระมหากรุณาเอาสังฆราชและบาดหลวงไว้

ครั้นเจ้าพระยาพระคลังตอบว่า จะเอาสังฆราชกับบาดหลวงไว้ในพระราชอาณาเขตไม่ได้
พวกเข้ารีดจึงร้อง ขอออกไปนอกพระราชอาณาเขต ตามสังฆราชและบาดหลวงบ้าง
เจ้าพระยาพระคลังก็ตวาด พวกเข้ารีดและพูดว่าจะเอาพวกนี้จำตรวนเสีย

เจ้าพระยาพระคลังกับพวกทหารเข้ารีดก็โต้เถียงกันอยู่ช้านาน พวกเข้ารีดก็คงยืนคำอยู่ เจ้าพระยาพระคลังก็ไม่กล้าลงโทษพวกนี้อย่างไร
ลงท้าย เจ้าพระยาพระคลังได้ไล่ให้พวกทหารเข้ารีดกลับไปเสียก่อน เพราะจะต้องนำความกราบทูลให้ทรงทราบโดยละเอียด

พวกเข้ารีดในค่ายของเราได้พากันมีความวิตกเปนอันมาก ต่างคนต่างร้องไห้วิ่งมายังวัดเข้ารีด
ฝ่ายพวกทหารเข้ารีดก็ตั้งใจยืนตามคำเดิมถึงจะต้องเสียชีวิตก็ยอม
ข้าพเจ้าไม่ทราบว่าเจ้าพระยาพระคลังจะได้ไปกราบทูลว่าอย่างไร แต่พระ เจ้าตากทรงเห็นว่า ยังจะให้เราออกนอกพระราชอาณาเขตไม่ได้
จึงได้ -



(หน้า ๑๓๓)

- รับสั่งให้ลดเงินเบี้ยหวัดของพวกเข้ารีดเสียก่อน จนกว่าสังฆราชและบาดหลวงได้ออกไปพ้นพระราชอาณาเขตแล้ว
เมื่อสังฆราชและบาดหลวงไปแล้ว เมื่อใด จึงจะพระราชทานเงินรายนี้ให้แก่พวกเข้ารีด

การเรื่องนี้ก็ยุติเพียงเท่านี้ จนถึงสิ้นเดือนกันยายน พวกเราและพวกเข้ารีดก็ลังเลใจไม่ทราบว่า การจะเปนอย่างไรต่อไป
ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ก็มาบอกกับเราว่า ทำอย่างไร ๆ พระเจ้ากรุงสยามก็คงจะไม่ไล่เราออกนอกพระราชอาณาเขต
เพราะเวลาเสด็จออกขุนนางก็รับสั่งอยู่เสมอ ว่า ทรงสงสารพวกเราและพวกเข้ารีด และทรงกริ้ว เจ้าพระยาพระคลัง
ในข้อที่เจ้าพระยาพระคลังกราบทูลหนุนให้พระองค์กริ้วเรามากขึ้น มิได้หาทางแก้สำหรับให้พระองค์หายกริ้วเราลงบ้างเลย

จึงได้รับสั่งกับเจ้าพระยาพระคลังว่าถ้าได้ ทรงลงพระราชอาญาพวกเข้ารีด จนถึงตายแม้แต่คนเดียวแล้ว
เจ้าพระยาพระคลังก็จะต้องตายด้วยเหมือนกัน

การที่รับสั่งเช่นนี้ได้มีคนมาเล่าให้เราฟัง แต่จะเปนความจริงหรืออย่างไร ยากที่เราจะเชื่อได้
แต่ในระหว่างนี้เราก็ได้ทำการตามหน้าที่ของเราทุกอย่างโดย มิได้มีผู้ใดมาขัดขวางอย่างใด
ในวัดของเราก็ได้ทำพิธีต่าง ๆ อย่างเต็มที่ ยิ่งกว่าพระสงฆ์ทำในวัดไทยเสียอีก
เพราะพระสงฆ์ไม่กล้าทำการเอิกเกริก จนที่สุดระฆังวัดก็ไม่กล้าตี เพราะกลัวพระเจ้าแผ่นดิน
ส่วนเรานั้นเราได้ตีระฆังถึง ๓ ระฆัง และก็ไม่เห็นมีใครว่ากระไร จนคำเดียว

ครั้นเมื่อปลายเดือนกันยายนได้มีเรือแขกมัวมากจากเมืองสุหรัตลำ ๑ -



(หน้า ๑๓๔)

-พวกเราก็เกิดอลหม่านวุ่นกันไปหมด เพราะ พระเจ้ากรุงสยามได้รับสั่งไว้ให้คอยหาโอกาศที่จะส่งเราออกไปนอกพระราชอาณาเขต
จึงมีขุนนางบางคนซึ่งเกลียดพวกเข้ารีด แล เห็นเรือแขกมัวเข้ามาก็ ได้ระฦกถึงกระแสรับสั่งขึ้นทันที
แต่ในเรื่องนี้ก็ไม่มีใครพูดว่ากระไรโดยเปิดเผย แต่ก็มีเสียงลือขึ้นว่าเราจะต้องไปกับเรือลำนี้ เพราะฉนั้นพวกเข้ารีด จึงพากันร้อนใจและเศร้าใจเปนอันมาก

ว่าด้วยพวกบาดหลวงออกจากเมืองไทย

ครั้นเมื่อวันที่ ๑ เดือนพฤศจิกายน ค.ศ. ๑๗๗๙ (พ.ศ. ๒๓๒๒)
พระเจ้ากรุงสยาม ได้มีรับสั่งให้เจ้าพระยาพระคลัง มาบอกให้เราออกไปพ้นพระราชอาณาเขต เราก็ได้พยายามทุกอย่างที่จะขออนุญาตอยู่ในเมืองไทย ต่อไปแต่ก็ไม่เปนการสำเร็จ

มองเซนเยอร์เดอเมเตโลโปลิศ จึงใช้ให้ข้าพเจ้าไปเฝ้า พระมหาอุปราช (๑) ผู้เปนพระราชโอรส
ของพระเจ้าแผ่นดินและ เปนรัชทายาท
เพื่อขอกรุณาให้ไปกราบทูลขอพระราชานุยาตให้เราได้อยู่ในเมืองไทยต่อไป
และเพื่อจะไปทูลถามว่า เราได้ทำอะไรที่กระทำให้พระเจ้ากรุงสยามกริ้วเราถึงเพียงนี้

และข้าพเจ้าก็ได้กราบทูลพระมหาอุปราชต่อไปว่า การสิ่งใดที่ไม่ขัดหรือไม่เสียแก่สาสนาของเราแล้ว
เราก็พร้อมอยู่ที่จะทำให้พระเจ้ากรุงสยามพอพระทัยทุกอย่าง

พระมหาอุปราชจึงได้รับสั่งว่า พระเจ้ากรุงสยามกริ้ว พวกเรา เพราะเราคอยห้ามพวกเข้ารีดไม่ให้มาช่วยในงารและพิธีต่าง ๆ ของสาสนาไทย
ถ้าพวกเข้ารีดคนใดมาช่วยในงารของไทย พวกบาดหลวงคอยข่มเหงอยู่เสมอ
ถ้าเราจะยอม -
...........................

(๑) สมเด็จพระมหาอุปราช เจ้าฟ้ากรมขุนอินทรพิทักษ์(เจ้าฟ้าชายจุ้ย) ประสูติในสมเด็จพระอัครมเหสีเอกกรมหลวงบาทบริจา (พระนามเดิม สอน)



(หน้า ๑๓๕)

- สัญญาว่าต่อไป เราจะไม่รังแกข่มเหงพวกเข้ารีด ในข้อนี้แล้ว พระเจ้ากรุงสยามก็จะทรงโปรดให้เราอยู่เปนสุขต่อไปได้
ข้าพเจ้าจึงทูลตอบว่า

"ข้าขอพระเปนเจ้าที่แท้ จะสัญญาเช่นนี้ไม่ได้ และเราคงจะสั่งสอนพวกเข้ารีดดังที่เราเคยได้สอนมาแล้ว เพราะเราได้เคยสอนอย่างนี้
ตั้งแต่แรกเราได้เข้ามาอยู่เมืองไทยแล้ว และพระเจ้าแผ่นดินก็หาได้ ทรงขัดขวางอย่างใดไม่ กลับสร้างวัดพระราชทานเราเสียอีก

พระมหาอุปราชจึงรับสั่งว่า
"ข้อนั้นก็จริงอยู่ แต่พระบิดาของเราได้เปลี่ยนพระอัธยาศรัยแล้ว"

สังเกตดูพระมหาอุปราช ก็ทรงกรุณาต่อเราอยู่บ้าง แต่จะไปกราบทูลพระเจ้าแผ่นดินอย่างไร ๆ ก็หาสำเร็จไม่

เพราะ พวกพระสงฆ์ได้กราบทูลว่า ถ้าเปนเราอยู่ในพระราชอาณาเขต ตราบใด ก็ทรงจะเหาะเหิรเดิรอากาศไม่ได้

เพราะฉนั้น จึงเปนการจำเปน ที่เราจะต้องทิ้งพวกเข้ารีดของเราไว้ เราจึงได้ลงเรือในเวลากลางคืน
ครั้นวันที่ ๑ เดือนธันวาคม เรือก็แล่นใบออกจากเมืองไทยไปเกาะมะลากา

พระเจ้าตาก ได้รับสั่งให้ข้าราชการผู้ใหญ่ไปดูว่า เราได้อยู่ในเรือจริงหรือไม่ และข้าราชการ ซึ่งมีหน้าที่จะต้องคุมเราลงเรือ
หาได้มาคุมเราไปไม่ จึงต้องรับพระอาญาเฆี่ยน

วันที่ ๑๖ เดือนธันวาคม เราได้ไปถึงเกาะมะลากา พวกฮอลันดาได้รับรองต้อนรับเราอย่างดี และได้เอื้อเฟื้อให้ของต่าง ๆ
แก่เราตามที่เราต้องการ มองเซนเยอร์เดอเมเตโลโปลิศ ไม่มีแรงพอที่จะทนความเหน็ด -



(หน้า ๑๓๖)

- เหนื่อยได้ เพราะป่วยอยู่เสมอ จึงตั้งใจว่าจะกลับไปยุโรป วันที่ ๕ เดิอนกุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๗๘๐ (พ.ศ. ๒๓๒๒)
มองเซนอยอร์ เดอเมเตโลโปลิศ จึงได้ลงเรือไปเมืองโกอา ส่วนมองซิเออร์กาโนต์ กับตัวข้าพเจ้านั้น ได้ไปยังเมือง ปอนดีเชรี
เพื่อหาโอกาศที่จะกลับไปภูเก็จ

เมืองภูเก็จนี้ ขึ้นอยู่ ในคณะบาดหลวงเมืองไทย แต่เปนหัวเมืองที่อยู่ไกลกรุงมาก เพราะฉนั้นบางทีเราจะอยู่ในเมืองนี้ได้จนกว่าพระเยซู
จะหาหนทางให้เรากลับไปช่วยพวกเข้ารีดที่บางกอกได้

ที่เมืองภูเก็จนั้นมีปอตุเกต ครึ่งชาติอยู่ ๒ - ๓ คน อยู่ในความปกครองของ บาดหลวงฟรังซิซแกงชาติปอตุเกต
พวกนี้จะรับรองเราอย่างไร ก็ยังไม่ทราบได้ ........................


จดหมายเหตุมองซิเออร์เดคูร์วิแยร์ว่าด้วยพระเจ้าตาก ต้องสละราชสมบัติ

เรื่องพระเจ้าตากละราชสมบัติและถูกปลงพระชนม์

จดหมายเหตุของมองซิเออร์เดอคูร์วิแยร์
วันที่ ๒๑ เดือนธันวาคม ค.ศ. ๑๗๘๒ (พ.ศ. ๒๓๒๕)

คนทั้งหลายคงจะอยากทราบการเกิดขบถขึ้นในเมืองไทย ข้าพเจ้าจะได้เล่าให้ฟังอย่างย่อ ๆ ตามเรื่องที่ข้าพเจ้าได้ทราบมา
จากจดหมายที่มีผู้เขียนมาถึงข้าพเจ้าจากเมืองไทยบ้าง ได้ทราบมาจากข้าราชการไทยคน ๑ กับคนเข้ารีดคน ๑
ซึ่งได้มาพักอยู่ที่นี่ได้ เดือน ๑ แล้วบ้าง -



(หน้า ๑๓๗)

เมื่อหลายปีล่วงมาแล้ว
พระเจ้าตากได้ กดขี่ใต้ฟ้าข้าแผ่นดินและชาวต่างประเทศที่เข้าไปอยู่หรือไปทำการค้าขายในเมืองไทยอย่างสาหัสมาก
เมื่อปีกลายนี้พวกจีน ซึ่งเคยได้ไปค้าขายในเมืองไทย ต้องละทิ้งทรัพย์สมบัติหนี ไปหมดด้วยทนความกดขี่ของพระเจ้าตากไม่ไหว
มาในปีนี้พระเจ้าตาก ซึ่งเสียพระสติแล้วนั้น ได้กลับกดขี่ข่มเหงพวกพลเมืองมากกว่าเก่าขึ้นอีกหลายเท่า
บางที ก็จับพระสนมหรือพระราชโอรสผู้เปนรัชทายาท หรือข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ จำตรวนเสียบ้าง ลงพระอาญาเฆี่ยนเสียบ้าง
แล้วแต่พระทัย จะฉุนเฉียวกลับกลอกอย่างไร ก็ทำเอาตามพระทัยทั้งสิ้น

บางคนก็ถูกบังคับให้รับผิดในสิ่งที่ตัวไม่รู้เรื่องเลยก็มี เพื่อจะได้ปรับผู้นั้นเกินกว่าจำนวนเงินที่ผู้นั้นจะมีให้ได้
บางคนก็ถูก พระเจ้าตากบังคับให้ซัดคนโน้นคนนี้ซึ่งหาความผิดมิได้ แต่เปนคนที่มีเงินเพื่อจะได้ปรับเอาเงินเข้าท้องพระคลังให้มาก ๆ

ข้าราชการ เข้ารีด ๒ คนได้ถูกซัดเช่นนี้ พระเจ้าตากก็ลงพระราชอาญาเฆี่ยน จนคน ๑ ทนความเจ็บปวดที่ถูกเฆี่ยนไม่ไหวก็เลยตาย
การที่ พระเจ้าตากทรงประพฤติเช่นนี้ ทำให้ราษฎรพลเมืองตลอดถึงเจ้าพนักงารข้าราชการเกลียดเปนอันมาก
ข้าราชการบางคนซึ่งได้รับ ๆ รับสั่งให้ทำการข่มเหงต่าง ๆ ดังที่ข้าพเจ้าได้กล่าวมาแล้วนั้น
ก็ลงปรึกษากันว่า " เราจะทำอย่างไรดี ถ้าเราไม่ทำตามรับสั่งเราก็จะ-


๑๘


(หน้า ๑๓๘)

- ถึงที่ตาย ถ้าเราคงทำตามรับสั่ง ราษฎรก็จะเกลียดเราเท่ากับที่ เขาเกลียดพระเจ้าแผ่นดินอยู่แล้ว และเราก็คงจะไม่พ้นมือพวกราษฎรเปนแน่ "

เมื่อข้าราชการได้ปรึกษากันดังนี้แล้ว จึงได้ตกลงกันจะยุ ให้ราษฎรเปนจลาจลขึ้น เพราะราษฎรก็คอยจะลุกอยู่แล้วและเต็มใจที่จะทำตามคำแนะนำของข้าราชการเหล่านี้

ครั้นเวลา ๒ ยาม ข้าราชการกับราษฎรได้ตรงไปล้อมพระราชวัง และได้พยายามที่จะเข้าไปในพระราชวังให้จงได้
แต่พวกทหารเข้ารีด ๓๖ คนซึ่งมีหน้าที่รักษาพระราชวัง ได้เอาปืนใหญ่ปืนเล็กและอาวุธต่าง ๆ ต่อสู้ และได้ต้านพวกจลาจลไว้จนตลอดสว่าง

พวกจลาจล หาเข้าไปในพระราชวังได้ไม่ พวกจลาจลจึงได้ล้อมพระราชวังไว้ มิให้ใครเข้า ออกได้
รุ่งขึ้นพระเจ้าตากทรงเห็นว่าจะสู้พวกจลาจลไม่ได้เสียแล้ว

จึงได้ทรงขอร้องจะทรงผนวช หัวหน้าพวกขบถ ก็ยอมให้พระเจ้าตากได้ทรงผนวชตามพระราชประสงค์
พระเจ้าตากจึงได้ปลงพระเกศา ทรงครองผ้าเหลือง แล้วจึงได้ทรงอนุญาตให้พวกขบถเข้าไปในพระราชวังได้

ข้าราชการ จึงได้นำความไปแจ้งต่อ ขุนนางสำคัญของเมืองนี้ ๒ คน ซึ่งเวลานั้นกำลังไป ทัพทางเมืองเขมรและเมืองญวน
ขุนนางทั้งสองนี้ พอได้ทราบถึงเรื่องที่เกิดในกรุง ก็ได้จัดทหารและนายทหารให้รีบลงไปที่ บางกอกโดยเร็ว
พอทหารและนายทหารเหล่านี้ได้ลงมา ถึงบางกอก ก็ได้มาเปลื้องผ้า -



(หน้า ๑๓๙)

- เหลืองออกจากพระองค์พระเจ้าตาก แล้วได้เอาพระเจ้าตากจำตรวน ไว้อีกสองสามวัน


ว่าด้วยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เสด็จปราบดาภิเษก

ขุนนางที่สำคัญ ๒ คนนั้น คือ อรรคมหาเสนาบดี และ เปนแม่ทัพของกองทัพไทย ก็ลงมาถึงบางกอก
ขุนนางทั้งสองนี้ เปนพี่น้องกัน ผู้พี่นั้นเปน อรรคมหาเสนาบดี พอได้มาถึงบางกอก *
อาณาประชาราษฎร ก็ได้อัญเชิญให้เสด็จขึ้นครองราช-สมบัติทีเดียว

ต่อมาข้าพเจ้า ได้รับจดหมายมาอีกฉบับ ๑ บอกข่าวมาโดยเฉพาะว่า มีเสียงกล่าวกันว่าพระเจ้าตาก ต้องสวรรคตลงนั้น
เปนเพราะราษฎร มีความโกรธแค้นนัก จึงได้จับพระเจ้าตากฆ่าเสีย

แต่พระเจ้าตากจะสวรรคตด้วยประการใดก็ตาม ก็เปนอันแน่นอนว่า พระเจ้าตากได้ถูกปลงพระชนม์สวรรคต
เมื่อวันที่ ๗ เดือนเมษายน ค.ศ. ๑๗๘๒ (พ.ศ. ๒๓๒๕)

เมื่อก่อนพระเจ้าตากสวรรคต และก่อนพระเจ้าแผ่นดินองค์ใหม่ได้เสด็จมาถึงนั้น พวกข้าราชการซึ่งได้ก่อการจลาจลพาราษฎรไปล้อมพระราชวังนั้น
มีความขัดเคืองพวกเข้ารีดซึ่งได้รักษาพระราชวังไว้ได้ จึงได้จับพวกทหารเข้ารีดขังคุกเสียหลายคน

..........................

* ในภาษาฝรั่งเศสใช้คำว่า มาถึงเมืองไทย(Siam) ตั้งแต่ต้นเรื่องมาแล้วภาษา ฝรั่งเศสไม่ได้ออกชื่อกรุงธนบุรีเลย เคยแต่เรียกว่าบางกอก เพราะฉนั้นในที่นี้จึงใช้ ตามคำเดิมของภาษาฝรั่งเศสว่าบางกอก



(หน้า ๑๔๐)

แต่พระเจ้าตาก ซึ่งเวลานั้น ทรงผนวชอยู่ได้ขอร้องให้พวกทหารเสีย พวกทหารเข้ารีดติดคุกอยู่ไม่กี่วันก็ออกได้
แต่ถึงดังนั้น พวกราษฎรก็ได้ไปปล้นค่ายพวกเข้ารีด และได้ไปปล้นวัดเข้ารีดเก็บเข้าของต่าง ๆ ที่ยังเหลืออยู่จนหมดสิ้น
คงเหลือแต่รูป สองสามรูป กับตัวโบสถ์อยู่ เท่านั้น

นี่แหละการที่พวกเข้ารีด ได้มีความจงรักภักดีต่อพระเจ้าแผ่นดิน กลับได้รับผลร้ายเช่นนี้
และถ้าจะว่าไปแล้วพวกเข้ารีดมีข้อที่จะ ไม่พอใจพระเจ้าแผ่นดิน ยิ่งกว่าคนอื่นเสียอีก


ว่าด้วยการเปนไปของสาสนาบาดหลวงกลับ มาเมืองไทยอีก

การเปนไปของการสาสนา

ได้มีคนเขียนจดหมายจากบางกอก ถึงมองเซนเยอร์คูเด ที่เมืองภูเก็จ บอกข่าวว่า
ในวันแรกที่พระเจ้าแผ่นดินองค์ใหม่ได้เสด็จออก ให้พวกเข้ารีดเฝ้า ได้มีพระราชโองการดำรัสว่า มีพระราชประสงค์ จะให้พวกเข้ารีด
เรียก สังฆราช และบาดหลวงซึ่งพระเจ้าตากได้ไล่ไปนั้น ให้กลับเข้ามาอยู่ในเมืองไทยอีก

และต่อ ๆ มาก็ได้รับสั่งเช่นนี้อีกหลายครั้ง แล้วพระเจ้ากรุงสยาม จึงจัดให้ข้าราชการ ที่เข้ารีดผู้หนึ่ง ลงเรือสำเภาหลวง
(คือเปนเรือของหลวงต่ออย่างแบบ เรือของจีน) ไปยังเมืองมาเก๊า
ให้ถือจดหมายเจ้าพระยาพระคลัง ไปส่งยังเจ้าเมืองมาเก๊าฉบับ ๑ ในจดหมายฉบับนี้มีใจความบอกให้เจ้าเมืองมาเก๊าทราบว่า
พระเจ้ากรุงสยามมีพระราชประสงค์จะให้มิชชันนารีมายังเมืองไทย
และให้บอกพวกปอตุเกตให้ทราบว่าพระเจ้า -




(หน้า ๑๔๑)

- กรุงสยามมีพระราชประสงค์ จะเปนไมตรีกับนานาประเทศ และมีพระราชประสงค์ จะบำรุงการค้าขายในประเทศสยามให้เจริญดังแต่ก่อน

จดหมายเจ้าพระยาพระคลังฉบับนี้ เจ้าเมืองมาเก๊าได้รับไว้ด้วยความยินดี จึงได้ส่งจดหมายไปยังเมืองโกอา ต่อไป
และที่ปรึกษาราชการเมืองมาเก๊า ก็มีความยินดีที่ได้ทราบความตามจดหมายนั้นเหมือนกัน
จึงได้รับรองว่าจะช่วยให้การได้เปนไปตามพระราชประสงค์ของพระเจ้ากรุงสยามเท่าที่จะทำได้
เพื่อพระมหากรุณาให้ทรงบำรุงและปล่อยให้พวกเข้ารีดในประเทศสยามได้ทำการในหน้าที่สาสนาได้โดยสดวก

แต่ก็ดูพวกเจ้าพนักงารเมืองมาเก๊า มิได้ รีบร้อนที่จะส่งเรือไปค้าขายในเมืองไทยเท่าไรนัก แต่การที่พวกมาเก๊าไม่รีบร้อนเช่นนี้
ก็คงจะไม่ทำให้การของสาสนาเสียหายไปได้


พระเจ้ากรุงสยามพระองค์ใหม่ได้โปรด ยกเว้น พวกทหารเข้ารีดไม่ต้องไปเข้าพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา
ซึ่งเปนต้นเหตุที่กระทำให้เกิดวุ่นขึ้นในคราวหลังนี้
แต่ส่วนพวกขุนนางที่เข้ารีดนั้น หาได้ทรง ยกเว้นให้ไม่ ขุนนางที่เข้ารีดคน ๑ จึงได้มีจดหมายมายังข้าพเจ้าว่า
คิดจะลาออกจากราชการเพราะเหตุที่ไม่ได้รับความ ยกเว้นในการถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา
พระเจ้ากรุงสยาม ก็ได้โปรดปล่อยให้พวกหญิงเข้ารีด ได้กลับไปอยู่กับบิดามารดายังบ้าน
เพราะหญิงเหล่านี้เปนคนที่พระเจ้าตากให้ไปจับมา และเอาไปขังไว้ในพระราชวัง



(หน้า ๑๔๒)

จดหมายมองเซนเยอร์คูเดว่าด้วยการสาสนาในเมืองไทร

เมืองไทรบุรี จะทำการสาสนาในเมืองไทรได้สดวก

จดหมายมองเซนเยอคูเด
ถึง มองซิเออร์เดคูร์วีแยร์
วันที่ ๒๖ เดือนเมษายน ค.ศ. ๑๗๘๒ (พ.ศ. ๒๓๒๕)

ข้าพเจ้าได้จัดให้มองซิเออร์กาโนต์ ประจำอยู่ที่เมืองไทรบุรีด้วยเหตุผลต่าง ๆ ซึ่งยังจะอธิบายในที่นี้ไม่ได้
เมืองไทรบุรีนี้เปนเมือง ที่อยู่ชายพระราชอาณาเขตสยาม เปนเมืองที่ขึ้นอยู่กับกรุงสยาม และคนพื้นเมืองก็เปนคนไทย

ในเมืองไทรบุรีนี้ใช้พูดภาษาไทยกันมากกว่าภาษามลายู บรรดาพวกเข้ารีด ซึ่งมีอยู่ในเมืองนี้ทั้งเด็ก และ ผู้ใหญ่รวม ๘๐ คนนั้น
ล้วนแต่เปนคน ที่มาจากภูเก็จ หรือเปนคนไทย ที่เข้ารีดใหม่ทั้งนั้น

ข้าพเจ้าได้รู้สึกว่า คนจำพวกนี้โง่เขลาอย่างที่สุด เพราะตั้งแต่ไหน ๆ มาจนทุกวันนี้ มิชชันนารียังไม่เคยได้มาในเมืองนี้เลย
จะมีก็แต่เพียงบาดหลวงประจำเรือปอตุเกต หรือ บาดหลวงคณะฟรังซิซแกง ได้เคยมาแวะบ้างเท่านั้น ตั้งแต่เราได้มาอยู่ในเมืองไทรบุรีได้ ๕ เดือนแล้ว เราก็ได้ สั่งสอนพวกเข้ารีดเหล่านี้ ใช้ภาษาปอตุเกตสอนบ้างภาษาไทยบ้าง และได้มีคนไทยที่ไม่ได้เข้ารีดก็หลายคนมาเรียนที่เราเหมือนกัน การสาสนาคงจะได้ผลในเมืองนี้ทีละเล็กทีละน้อย เพราะพวกเข้ารีดเหล่านี้ยังไม่ได้เคยเห็นบาดหลวงหรือวัดเข้ารีดเลย การสอนสาสนา-


(หน้า ๑๔๓)

- ในเมืองนี้นับว่าพึ่งตั้งต้นขึ้น แต่ด้วยความพยายามและความปลอบโยน การของสาสนาก็คงจะเจริญได้ต่อไป
และบางทีในกรุงเอง ก็อาจจะจัดการให้สาสนาเจริญได้ ถ้าแม้ว่าการต่าง ๆ ได้สงบเรียบร้อยลงแล้ว
ข้าพเจ้าก็คงจะมีความยินดีที่จะเข้าไปอยู่ในกรุง

ด้วยอำนาจของพระเปนเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้กลับเข้ามาอยู่ในเมืองไทยอีกตามเดิม และข้าพเจ้ามีความยินดีที่ได้มีวัดในเมืองไทรบุรี
ซึ่งเปนวัดของคนไทย เพราะตั้งแต่ไหน ๆ มา พระเยซูไม่ได้รับคำสรรเสริญด้วยภาษาไทยเลย

ตามที่ข้าพเจ้าได้เล่ามาดังนี้ท่านก็คงจะเห็นได้ว่า ข้าพเจ้าต้องการบาดหลวงสำหรับมาช่วยข้าพเจ้าอีก ข้าพเจ้าไม่ต้องการไปอยู่ทีอื่น
นอกจากอยู่ในเมืองไทย

มองซิเออร์ กาโนต์ กับข้าพเจ้ายอมทำการจนตาย เพราะในคณะบาดหลวงนี้ เราได้พยายามต่อสู้การขัดขวางต่าง ๆ
จนผลที่สุดเราก็ต้องถูกไล่ออกจากเมืองไทย
เมื่อเราได้รับความเดือดร้อนและได้รับอันตรายมามากแล้ว ก็คงได้กลับเข้ามาอยู่อีกอย่างเดิม เพราะฉนั้นถ้าพระเยซูโปรดแล้ว

เราก็จะยอมตายในเมืองนี้ ขอท่านได้โปรดบอกข่าวให้พวกคณะของเราทราบด้วย และท่านจะมีจดหมายบอกไปยังกรุงปารีศก้ได้ ว่า
เราได้กลับเข้ามาอยู่ในคณะเดิมอีกแล้ว และให้บอก ด้วยว่าการสาสนาได้สอน ด้วยพูดภาษาไทยไทยแท้ ๆ ได้ ๕ เดือน เท่านั้นเอง



(หน้า ๑๔๔)

จดหมายเหตุของมองซิเออร์เดคู์วิแยร์เรื่องเจ้าเมืองไทร ยกบ้านให้มองซิเออร์คูเด

จดหมายเหตุของมองซิเออร์ เดคูร์วีแยร์
วันที่ ๒๑ เดือนธันวาคม ค.ศ. ๑๗๘๒ (พ.ศ. ๒๓๒๕)

มีนายเรือ ปอตุเกตคน ๑ ได้มาเล่สาให้ข้าพเจ้าฟังว่า ก่อนที่ นายเรือคนนี้จะออกจากเมืองไทรบุรีวัน ๑
เจ้าแผ่นดินเมืองไทร(๑)
ได้ยกบ้านใหญ่ให้ มองซิเออร์คูเดหลัง ๑ เพื่อใช้ต่างโบสถ์ และยังมีนายเรือชาวฝรั่งเศสอีกคน ๑ ซึ่งทำการในเรือ ปอตุเกตลำนี้ ก็ได้
เล่าให้ข้าพเจ้าฟังเหมือนกัน เปนความตรงกันกับนายเรือปอตุเกต แต่ ในเรื่องนี้ ไม่เห็นมองซิเออร์กาโนต์ พูดถึงจนคำเดียว

พวกนายเรือปอตุเกตุสามหรือสี่ลำ ซึ่งได้ไปพบกับมองซิเออร์- คูเดและมองซิเออร์กาโนต์ก็ได้มาชมบ้านที่ยกเปนวัดนี้ว่าเปนบ้าน ที่งดงามมาก ..........................

(๑) ภาษาฝรั่งเศสใช้คำว่า (King of Kedah)