ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๖๐

ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๖๐

โกศาปานไปฝรั่งเศส ภาค ๔


คุณหญิงสวาสดิ์ สุจริตธรรมพิศาล พิมพ์แจกในงานพระราชทานเพลิงศพ พระยาสุจริตธรรมพิศาล (ละออ แพ่งสภา) วันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๗๕


โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร คำนำ ในงานพระราชทานเพลิงศพ พระยาสุจริตธรรมพิศาล (ละออ แพ่งสภา) ซึ่งจะทำในเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้ คุณหญิง สวาสดิ์ สุจริตธรรมพิศาล ได้มอบฉันทะให้นายพันโท พระอินทร สรศัลย์ มาแจ้งความที่ราชบัณฑิตสภาว่า ใคร่จะได้เรื่องเกี่ยวกับพงศาวดารพิมพ์ในงานนั้นสักเรื่อง ๑ ราชบัณฑิตยสภาจึ่งแนะนำให้พิมพ์โกศาปานเป็นราชทูตไปเมืองฝรั่งเศสครั้งแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช พระอินทรสรศัลย์เห็นชอบด้วยจึ่งพิมพ์ขึ้นเป็นสมุดเล่มนี้ เรื่องโกศาปานเป็นราชทูตไปเมืองฝรั่งเศสนี้ มองซิเออร์ เดอวีเซ เป็นผู้แต่ง พิมพ์เมื่อ ค.ศ. ๑๖๘๖ (พ.ศ. ๒๒๒๙) มีฉะบับอยู่ในหอพระสมุดวชิราวุธ เจษฎาจารย์ ฟ. ฮีแลร์ แห่งโรงเรียนอัสสัมชัญ แปลจากภาษาฝรั่งเศสเป็นภาษาไทย เล่มนี้เป็นภาคที่ ๔ จัดเป็นประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๖๐ อนึ่งในการพิมพ์หนังสือนี้ เจ้าภาพได้จดประวัติย่อของผู้มรณะส่งมาขอให้พิมพ์ไว้เป็นที่ระลึกด้วย จึ่งให้พิมพ์ไว้ต่อคำนำนี้ไป ราชบัณฑิตยสภา วันที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๗๕



อำมาตย์เอก พระยาสุจริตธรรมพิศาล (ลออ แพ่งสภา) พ.ศ. ๒๔๓๔-๒๔๗๔ ประวัตพระยาสุจริตธรรมพิศาล

อำมาตย์เอก พระยาสุจริตธรรมพิศาลมนูญาณยุกติสภาบดี (ละออ แพ่งสภา) เกิดเมื่อวันพฤหัสบดีขึ้น ๘ ค่ำเดือน ๕ ปีเถาะ จุลศักราช ๑๒๕๓ ตรงกับวันที่ ๑๖ เมษายน พ.ศ. ๒๔๓๔ เป็นบุตร์คนที่ ๓ ของมหาอำมาตย์ตรี พระยาเกษมศุขการี (คลับ แพ่งสภา) และคุณหญิงเกษมศุขการี (ไผ่ แพ่งสภา) เรียนภาษาไทยและอังกฤษ ณ โรงเรียนราชวิทยาลัยจนสอบไล่ ได้ชั้น ๖ แรกเข้ารับราชการเป็นนักเรียนล่ามกระทรวงยุตติธรรม เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๕๒ ถึง พ.ศ. ๒๔๕๔ ได้รับตำแหน่งเป็นเสมียนเอกศาลฎีกา ถึง พ.ศ. ๒๔๕๕ เลื่อนขึ้นเป็นเลขานุการศาลฎีกา ต่อมาถึงปี พ.ศ.๒๔๕๗ ได้รับพระราชทานยศเป็นรองอำมาตย์เอกและบรรดาศักดิ์เป็นหลวงราชบัญชา และรุ่งอีกปีหนึ่งก็ได้รับพระราชทานยศเป็นอำมาตย์ตรี และรับพระราชทานเครื่องราชอิสสริยาภรณ์เบ็ญจมาภรณ์ช้างเผือกสยาม ในระวางที่รับราชการในตำแหน่งที่กล่าวเป็นลำดับมาแล้ว ได้เรียนวิชชากฎหมาย ณ โรงเรียนกฎหมาย จนสอบไล่ได้เป็นเนติบัณฑิตปี พ.ศ. ๒๔๕๙ ปี พ.ศ. ๒๔๖๐ ได้รับพระราชทานเครื่องราช



ข อิสสริยาภรณ์จตุถาภรณ์มงกุฎสยาม พ.ศ. ๒๔๖๑ เป็นผู้พิพากษาในกระทรวงยุติธรรม พ.ศ. ๒๔๖๒ ย้ายไปประจำการศาลแพ่ง ประจำอยู่ณที่นั้น ๓ ปี จึงย้ายไปเป็นผู้พิพากษาในกระทรวง ยุตติธรรมอีก ๒ ปี พ.ศ. ๒๔๖๓ ได้รับพระราชทานยศเป็น อำมาตย์โท และปี พ.ศ. ๒๔๖๔ ได้รับพระราชทานตราจตุถาภรณ์ช้างเผือก ปี พ.ศ. ๒๔๖๕ ได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นพระสุจริตวินิจฉัย ปี พ.ศ. ๒๔๖๖ ได้เลื่อนตำแหน่งเป็นผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ข้าหลวงพิเศษจนถึง พ.ศ. ๒๔๗๑ จึงได้เลื่อนขึ้นเป็นอธิบดีผู้พิพากษาศาลมณฑลปัตตานี ในระวางที่รับราชการอยู่ที่มณฑลปัตตานีได้เลื่อนยศเป็นอำมาตย์เอกและบรรดาศักดิ์เป็นพระยาสุจริตธรรมพิศาลมนูญาณยุกติสภาบดี ถึง พ.ศ. ๒๔๗๔ ย้ายมาเป็นอธิบดีผู้พิพากษาศาลมณฑลนครศรีธรรมราช พระยา สุจริตธรรมพิศาล รับราชการมา ประมวล เวลาทั้งสิ้น ๒๒ ปีโดยปราศจากความเสียหายอย่างใด ทั้งยังได้ทำหน้าที่ พิเศษ เช่นกระทรวงยุตติธรรมได้ส่งให้ไปช่วยพิจารณพิพากษา คดีในศาลพระราชอาชญา ได้รับพระราชทานเงินเดือนตั้งแต่ ๒๐ บาท จนถึง ๖๒๐ บาทเป็นที่สุด พระยาสุจริตธรรมพิศาล ทำการสมรสกับสวาสดิ์สุจริตธรรมพิศาลมีบุตรธิดาซึ่งมีตัวอยู่ในเวลานี้ ๗ คน ส่วนมากยังเยาว์และอยู่ในระวางการศึกษาณโรงเรียน


ค เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๗๔ พระยาสุจริตธรรม พิศาล ป่วยเป็นโรคปอดอักเสบ นายแพทย์ได้พยายามเยียวยารักษาอาการมีแต่ทรงกับทรุด ครั้นถึงวันที่ ๒๔ สิงหาคมปีเดียวกันอาการโรคกำเริบมากขึ้นพระยาสุจริตธรรมพิศาลก็ถึงแก่ อนิจกรรมสิริรวมอายุ ๔๐ ปี









จดหมายเหตุ เรื่องโกศาปานไปเมืองฝรั่งเศส

บทที่ ๗๙ ราชทูตไปเฝ้าถวายบังคม ลากลับไปเมืองไทย ต่อมาภายหลังวันที่ราชทูตไปเที่ยวเล่นที่พระที่นั่งวังแวร์ซายส์อีกสองวัน คณะราชทูตและขุนนางไทยพร้อมกันได้กลับไปที่วังแวร์ซายส์อีก เพื่อจะเข้าเฝ้าถวายบังคมลาพระเจ้าแผ่นดินกลับไปเมืองไทย ก่อนที่จะเข้าเฝ้านั้น ท่านอัครราชทูตได้มีการสนทนากับท่านเจ้าชายดึกเดอลาเฟอย้าดถึงเรื่องวิธีหล่อทองสัมฤทธิและโลหะธาตุอื่น ๆ ซึ่งใช้ในการทำรูปตั้งต่าง ๆ ซึ่งมีอยู่ในประเทศสยามเหมือนกัน พูดไปมาสักครู่แล้วภายหลัง ท่านเจ้าชายดึกเดอลาเฟอย้าดกล่าวกับผู้อื่นในที่ประชุมนั้นว่า :- " เรื่องหล่อทอง " บรอนซ์ " แล้วอย่าไปพูดกับเจ้าคุณราชทูตเลย จะเป็นเช่นเดียวกับเอามะพร้าวห้าวไปขายสวน ดูท่านช่างรู้ดีจริง" แล้วการสนทนาก็เปลี่ยนแปลงไปเป็นเรื่องอื่นจนย้อนกลับถึงเรื่องพระเจ้าแผ่นดินอีก และท่านอัครราชทูตทูลว่า :- "เกล้ากระหม่อมมาเฝ้าทีไรให้นึกเบิกบานใจเป็นล้นพ้น



๒ อยากจะชมเชยพระบารมีอยู่นาน ๆ มิใคร่อยากจะออกจากที่เฝ้าแต่จำเป็นจำใจที่ต้องตัดอาลัยโดยนึกหักใจเสียว่าไม่กี่วันก็จะได้กลับเข้ามาเฝ้าชมพระบารมีอีก แต่มาคิดถึงเรื่องที่จะต้องเข้าเฝ้าถวายบังคมลาคราวนี้แล้ว ให้รู้สึกใจหายไม่รู้วายเลย เพราะ แต่ วัน นี้ เป็น ต้น ไป ใคร อาจ จะ พยา กรณ์ ได้ว่า โชคลาภอันมหา ประเสริฐจะเวียนมาอีกเมื่อไร บางทีตลอดชีวิตก็จะมิได้ประสพเสียเลยในการที่จะต้องเหินห่างฝ่ายุคลบาทในครั้งนี้ เห็นมีอยู่ทางเดียวที่พอจะบรรเทาความโศกได้ คือให้นึกถึงความปีติยินดี ที่จะมีแก่เกล้ากระหม่อมในเวลาเมื่อถึงเมืองไทยแล้วและเข้าไปเฝ้าพระเจ้ากรุงสยาม ทูลอธิบายให้ทรงทราบว่าพระเจ้าแผ่นดินฝรั่งเศสทรงประกอบด้วยฤทธิเดชศักดานุภาพมเหาฬารและทรงประกอบด้วยพระเมตตาการุญภาพ และพระปรีชาญาณอันสุขุมคัมภีรภาพลึกซึ้งเท่าใด เมื่อได้ทรงทราบในพระบุญฤทธิกฤดาภินิหารของพระเจ้ากรุงฝรั่งเศสแล้ว หากว่าพระเจ้าแผ่นดินสยามจะมีรับสั่งใช้ให้เกล้ากระหม่อมมาเจริญทางพระราชไมตรีในเมืองฝรั่งเศสอีก เป็นความสัตย์จริงอย่าว่าแต่จะยินดีกลับมาแต่ลำพังตนเลย ยังยินดีจะพาบุตร์ภรรยามาอยู่ประจำแล้วแต่จะทรงพระมหากรุณาโปรด ยิ่งนานปีเป็นยิ่งดี ขอฝ่าพระบาททราบด้วย"


๓ ตอนที่ราชทูตานุทูตสยามเข้าเฝ้าพระเจ้ากรุงฝรั่งเศส เพื่อกราบถวายบังคมลากลับไปเมืองไทยนี้ ก็จัดเป็นพิธีแบบเดียวกันกับคราวเข้าเฝ้าถวายพระราชสาสน์ ซึ่งกล่าวมาแล้วข้างต้นจะกล่าวในที่นี้อีกก็จะเป็นการซ้ำซาก จะขอลัดตัดตรงไปจับกล่าวถึงคำกราบบังคมทูลของเจ้าคุณอัครราชทูตว่า พอท่านทูลเป็นภาษาไทยเสร็จแล้ว ท่านบาดหลวงอาเบเดอลิยอน ล่ามแปลเป็นภาษาฝรั่งเศส ( ซึ่งจะขอแปลกลับเป็นพากย์ไทยอีกที ) ว่า :- "ขอ เดชะ ควร มิควร แล้ว แต่จะทรงพระมหากรุณาโปรดเกล้า โปรดกระหม่อม ด้วยข้าพระพุทธิเจ้าราชทูตสยามใคร่จะขอพระบรมราชวโรกาสกราบถวายบังคมลาฝ่าละอองธุลีพระบาทกลับไปเฝ้าสมเด็จพระเจ้ากรุงสยาม พระมหากษัตราธิราชของข้าพระพุทธิเจ้า เพราะทราบด้วยเกล้าด้วยกระหม่อมว่า ป่านนี้พระองค์คงทรงพระปรารภคำนึงถึงบรรดาข้าพระพุทธิเจ้าราชทูต ของพระองค์อยู่ไม่วาย ว่าได้มาทำการผูกมิตรไมตรีกับฝ่าละอองธุลีพระบาทแทนพระองค์ สำเร็จตามพระราชประสงค์หรือไม่. อนึ่งบรรดาข้าพระพุทธิเจ้าร้อนอกร้อนใจอยากจะรีบไปทูลให้พระองค์ทรงทราบถึงเหตุการณ์มหัศจรรย์ต่าง ๆ ที่ข้า พระพุทธิเจ้าได้มารู้เห็นในพระราชอาณาจักร์แห่งฝ่าละอองธุลีพระบาท อยากจะไปทูลให้ทรงทราบว่าฝ่าละอองธุลีพระบาททรงพระเมตตากรุณาต่อข้าพระพุทธิเจ้าผู้เป็นราชทูตของพระองค์


๔ ราวกับพระมหากษัตริย์องค์หนึ่งก็ปานกัน อยากจะนำพระราชสาสน์และเครื่องราชบรรณาการไปทูลเกล้า ฯ ถวายให้พระองค์ทรงทราบตระหนักพระทัยว่าฝ่าละอองธุลีพระบาททรงมีพระทัยอารีถึงเพียงใดจึงได้นับพระองค์เป็นประดุจหนึ่งเชื้อพระวงศ์อันสนิท ถึงกับได้เซ็นพระบรมนามาภิธัยและประทับพระราชลัญจกรซึ่งเป็นเครื่องหมายว่าว่าพระนครทั้งสองจะนับถือเป็นเมืองพี่เมืองน้องเป็นมิตรไมตรีช่วยเหลือกันจนชั่วกัลปาวสาน อันว่าสรรพหิตานุหิตนี้เป็นผลบันดาลให้ข้าพระพุทธิเจ้าใคร่ลงเรือกลับไปยิ่งกว่าฤดูมรสุมซึ่งย่างเข้ามาถึงอยู่แล้ว. แท้จริง การกราบถวายบังคมลาเพื่อออกห่างพ้นจากร่มเงาแห่งพระบรมโพธิสมภารของฝ่าละอองธุลีพระบาท ซึ่งได้ทรงพระเมตตาทนุบำรุงให้บรรดาข้าพระพุทธิเจ้าอยู่เป็นสุขตลอดเวลาตั้งแต่เข้ามาเหยียบชานพระนครของฝ่าละอองธุลีพระบาทจนบัดนี้ ซึ่งพระกรุณาธิคุณเหล่านั้น ถ้าจะประมาณก็แทบจะว่าได้ว่ามากถึงกับอาจให้นึกว่าฝ่าละอองธุลีพระบาทเป็นพระมหากษัตราธิราชแห่งกรุงศรีอยุธยา เมืองฝรั่งเศสเป็นเมืองไทยและฝ่าละอองธุลีพระบาทเป็นพระบิตุเรศของบรรดาข้าพระพุทธิเจ้าเหล่าราชทูตสยามด้วย ฉะนี้ ข้าพระพุทธิเจ้าจึงไม่ทราบด้วยเกล้า ฯ ว่าจะหยิบยกคำสรรเสริญชะนิดใดจึงจะเพียงพอควรคู่กับพระมหากรุณาธิคุณของใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทต่อบรรดาข้าพระพุทธิเจ้า.

๕ ก่อนที่ข้าพระพุทธิเจ้าจะเข้ามาอาศัยในร่มโพธิ์ทองของฝ่าละอองธุลีพระบาทนั้น ได้ยินหนักต่อหนักว่าจะไปเฝ้าพระมหากษัตราธิราช ผู้ทรงพระกฤดาภินิหารเป็นอันเลิศยิ่ง บัดนี้ ข้าพระพุทธิเจ้าก็ได้มีโชคลาภมาได้แลเห็นด้วยตาของตนเองก็สมกับข่าวเล่าลือทุกอย่างแล้ว และยิ่งกว่านั้นคำเล่าลือยังแพ้แก่ความเป็นจริงเสียอีก เพราะกิตติศัพท์ที่เล่าลือกันนั้นเป็นแต่เพียงส่วนเสี้ยวของจำนวนร้อยจำนวนพันแห่งพระคุณประวัติและพระกฤดาภินิหารเดชานุภาพ ซึ่งข้าพระพุทธเจ้าได้มาทราบและเห็นประจักษ์แจ้งอยู่ด้วยจักษุของตนเองในบัดนี้ พ้นวิสัยที่จะรำพันให้สิ้นสุดลงได้ และยังมีข้อมหัศจรรย์อีกอย่างหนึ่งคือ ถึงพระเดชานุภาพของฝ่าละอองธุลีพระบาทจะสูงเยี่ยมอยู่ฉะนี้ก็ดี พระมหากรุณาธิคุณก็ย่อมสูงเยี่ยมเทียมทันกันเสมอไป ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ค่อยมีใครได้เคยพบเห็น เพราะธรรมดาพระเดชมักมีอำนาจแรงกว่าพระคุณ แต่ส่วนใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท พระเดชกับพระคุณเข้าคู่กันเหมาะไม่มีข้างใดยิ่งหย่อนกว่ากันเลย เพราะฉะนั้นจึงทำให้ข้าพระพุทธิเจ้าหายแปลกใจ ในการที่ชาวชนพลเมืองของฝ่าละอองธุลีพระบาทยินดีชิงโอกาสกันที่จะแสดงความจงรักภักดีเป็นอันยิ่งในฝ่าละอองธุลีพระบาทจนทั่วพระราชอาณาจักร. ส่วนข้าพระพุทธิเจ้าชาวไทยด้วยกัน บรรดาที่เข้ามาเฝ้าพระบารมีเพื่อจะกราบถวายบังคมลากลับไปเมืองไทยอยู่ในเวลานี้

๖ ต่างคนต่างมีดวงใจอ่อนละเหี่ยด้วยอำนาจแห่งกตัญญูกตเวทีในใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทเหลือที่จะกราบบังคมทูลให้ทรงทราบได้ เพราะทรงพระมหากรุณาธิคุณแด่ข้าพระพุทธิเจ้าใหญ่หลวงนัก ถ้าแลพระมหากรุณาธิคุณเหล่านั้นเป็นรูปธรรมไซร้ โลกพิภพที่กว้างใหญ่ไพศาลนี้ก็เห็นว่ายังไม่เพียงพอที่จะเก็บรวบรวมพระมหากรุณาธิคุณนั้นให้หมดได้ ถึงแม้ข้าพระพุทธิเจ้าจะมีอายุยืนนานตั้งพันปี และจะนั่งรำพันพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงประทานแก่ข้าพระพุทธิเจ้า เวลาพันปีก็จะสิ้นไปก่อน พระมหากรุณาธิคุณยังจะหาสิ้นสุดลงไม่ อาศัยเหตุนี้ ข้าพระพุทธิเจ้าจึงได้จดรายงานสิ่งที่ได้เห็นในรัฐมณฑลสกลอาณาจักรของใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทช่วยเหลือความทรงจำอันบกพร่องวิปริตนั้นเพื่อจะได้นำไปทูลเกล้า ฯ ถวายให้ทรงทราบในสมเด็จพระเจ้ากรุงสยาม แต่ถึงกระนั้นเกรงด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม ว่ายังจะบกพร่องอีกมากมาย ที่จริงสิ่งที่จะนำไปทูลเกล้า ฯ ถวายให้ทรงทราบใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทพระเจ้ากรุงสยามนั้น แม้จะมากกว่านี้อีกสักเท่าใดก็จะยังมีสิ่งที่น่ากล่าวซึ่งมิได้กล่าวอีกตั้งร้อยเท่าพันทวี แต่ถึงกระนั้นข้าพระพุทธิเจ้าเชื่อด้วยเกล้า ฯ ว่ารายงานเท่าที่ข้าพระพุทธิเจ้าจะนำขึ้นทูลเกล้า ฯ ถวายนี้ สมเด็จเจ้าพระเจ้ากรุงสยามจะทรงพิจารณาด้วยความพอพระทัยเป็นอันยิ่ง แล้วพระองค์คงให้จำลองส่งไปให้บรรดากษัตริย์ใกล้


๗ เคียงให้ต่างทรงทราบในพระมหิทธิเดชากฤดาภินิหารของใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทเหมือนพระองค์บ้าง แล้วในไม่ช้าชาวชนพลเมืองในประเทศทั้งหลายฝ่ายบุรพทิศก็จะซร้องสาธุการสรรเสริญพระบารมีของใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทเป็นการเอิกเกริกครึกครื้นหาที่เปรียบมิได้ ต่างจะเล่าให้บุตรหลานฟังเป็นลำดับต่อ ๆ ไปจนชั่วกัลปาวสาน และส่วนฉะบับที่ข้าพระพุทธิเจ้าจะนำขึ้นทูลเกล้า ฯ ถวายนี้ พระองค์คงให้เก็บรักษาไว้ในถาวรสถาน เพื่อเป็นสักขีพะยานให้ชนชาวสยามสืบไปข้างหน้าได้ทราบกันว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าหลุยส์มหาราชเจ้าพระมหากษัตราธิราชแห่งกรุงฝรั่งเศส ซึ่งเป็นพระราชสัมพันธมิตรไมตรีกับกรุงสยามเป็นบุญญวันตกษัตริย์ มีมหิทธิศักดาเดชานุภาพ อย่างนั้น ๆ แต่สิ่งซึ่งจะเพิ่มความปีติยินดีเป็นพิเศษในพระบาทสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินสยามก็คือ ข่าวศุภมงคลแห่งพระอาการประชวรของใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท ซึ่งบัดนี้ได้อันตรธานหายศูนย์กำลังทรงพระสำราญเป็นสุขสบาย อันเป็นเหตุน่าโมทนาพระคุณของเจ้าฟ้าดินถิ่นสวรรค์ ผู้ทรงทนุบำรุงพระชนมชีพของใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทซึ่งเป็นพระชนมชีพอันมิควรจะรู้สิ้นสุดเลย ขอทรงพระเจริญ ! ควรมิควรแล้วแต่จะทรงพระมหากรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ! ขอเดชะ ! ข้าพระพุทธิเจ้าคณะราชทูตานุทูตกรุงศรีอยุธยามหานคร สยามรัฐสีมาณาจักร.

๘ เมื่อบรรดาพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการชั้นสูง ซึ่งอยู่ในที่เฝ้าคราวนั้น ได้ยินสุนทรพจน์คำกราบบังคมทูลของท่านอัครราชทูต มีใจความน่าจับจิตต์จับใจถึงเพียงนี้ ต่างคนต่างอยากได้สำเนาไว้เป็นที่ระลึก และต่างก็พากันแค่นขอด้วยความอยากได้อันสัตย์ซื่อ ท่านอัครราชทูตก็ขัดไม่ได้ ต้องยอมสัญญาว่าจะคัดสำเนาให้ ไม่ช้าตามราชวังและถนนหนทางทั่วไป มีแต่ได้ยินเสียงใครต่อใคร ตั้งแต่ผู้ดีลงไปถึงคนเข็ญใจสรรเสริญสติปัญญาความคิดของท่านอัครราชทูตสยามไปตามกัน ว่าเป็นเชื้อปราชญ์ฺแท้ ควรแก่ตำแหน่งราชทูตแห่งพระมหากษัตริย์ใหญ่จริง ข้าพเจ้าได้กล่าวแล้วข้างต้นแห่งบทนี้ว่าการเฝ้าคราวกลับนี้เป็นเหมือนคราวเข้ามา แท้จริงมีผิดกันอยู่นิดหนึ่งคือ ท่านมาร์คีส์เดอลาซาล อธิบดีกรมพระภูษามาลากับเจ้ากรม ๆ เดียวกัน คราวนี้ท่านทั้งสองอยู่เฝ้าด้วยพร้อมกัน ยืนอยู่ข้างด้านหลังพระราชบัลลังก์ที่ประทับ ซึ่งเป็นตำแหน่งเฝ้าของท่านทั้งสอง.

บทที่ ๘๐ ราชทูตไปเฝ้าลาเจ้านายชายหญิง และขุนนางผู้ใหญ่ ครั้นราชทูตเสร็จการกราบถวายบังคมลาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแล้ว ในวันเดียวกันนั้น ท่านยังได้ไปเฝ้าทูลลาเจ้านาย

๙ ชายหญิงและอำลาขุนนางข้าราชการชั้นสูงอีกถึง ๑๖ แห่ง มีไปเฝ้าทูลลาสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชเป็นต้น ในคำทูลลาสมเด็จพระรัชชทายาทนี้ ท่านอัครราชทูตได้กล่าวว่า :- "ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นใหญ่ยิ่ง ! ขอเดชะพระบารมีปกเกล้า ฯ ด้วยข้าพระพุทธิเจ้ามาเฝ้าฝ่าพระบาทในครั้งนี้ ก็เพื่อจะทูลลาฝ่าพระบาทกลับเมืองไทย ตามรับสั่งพระบาทสมเด็จพระเจ้ากรุงสยาม เพราะเวลานี้เป็นฤดูแห่งลมมรสุมซึ่งเป็นโอกาสแห่งการเดินทาง จึงจำเป็นจำใจที่ข้าพระพุทธิเจ้าทั้งหลายจะต้องทูลลาฝ่าพระบาท แต่มิใช่ว่าพอออกจากเมืองฝรั่งเศสแล้วจะลืมระลึกถึงพระเมตตากรุณาคุณของฝ่าพระบาทที่ได้เคยปกเกล้าปกกระหม่อมข้าพระพุทธิเจ้าทั้งหลายมาแล้วก็หามิได้ พระคุณูปการที่ได้ทรงประทานแก่ข้าพระพุทธิเจ้าทั้งหลาย จำเดิมแต่เข้ามาเมืองฝรั่งเศสนี้ ข้าพระพุทธิเจ้าทั้งหลายจะระลึกมิลืมเลยจนตลอดอายุกาล การที่ข้าพระพุทธิเจ้าได้มีโอกาสเข้ามาเฝ้าฝ่าพระบาทจนทรงคุ้นเคยสนิทสนมเห็นปานฉะนี้ ข้าพระพุทธิเจ้าจะถือเป็นเกียรติยศอันใหญ่ยิ่ง และจะพยายามนำเกียรติศักดิคุณความดีของฝ่าพระบาทไปเผยแผ่ให้ไพศาลในทั่วบุรพทิศ และเมื่อเจ้านายฝ่ายทิศตะวันออกนั้นได้รู้จากข้าพระพุทธิเจ้าในพระเมตตาคุณพระกรุณาคุณ ซึ่งเป็นเครื่องดูดดื่มชักนำหัวใจของทวยนาครทั้งปวงให้ยินดีสวามิภักดิ์ ๒

๑๐ ในพระองค์ ต่างจะพากัน แซ่ซร้อง สาธุการ สรรเสริญ พระองค์ ไปตามกันและกัน ต่างจะสรรเสริญพระองค์ที่ทรงดำเนิรทางรัฏฐประศาสโนบาย เจริญตามรอยพระบาทสมเด็จพระชนกาธิราชทุกอย่างทุกประการ ขอพระองค์ทรงพระอนุสสรระลึกสักหน่อยเถิดว่า เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้ากรุงสยามได้ทรงทราบตระหนักจากข้าพระพุทธิเจ้าว่าพระองค์ทรงประกอบด้วยราชธรรมจริยานุวัตรอันประเสริฐ มีพระทัยกว้างขวางและพระปรีชาสามารถเห็นปานฉะนี้ ทั้งเมื่อจะทรงทราบว่าพระโอรสของพระองค์ซึ่งจะสืบเชื้อขัตติยวงศถัดพระองค์ต่อไปก็ล้วนแต่ทรงพระเจริญวัฒนาการทุกพระองค์ ฉะนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้ากรุงสยามจะทรงโสมนัสสักปานใด คงทรงพระปีติปราโมทย์เหลือที่จะพรรณนา เพราะเป็นเครื่องมั่นพระหฤทัยว่ามิตรไมตรีซึ่งข้าพระพุทธิเจ้าพากเพียรมาเพาะปลูกในครั้งนี้คงเจริญรุ่งเรืองตราบเท่ากัลปาวสาน. ควรมิควรแล้วแต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ " ถัดจากนี้แล้วราชทูตได้ไปถวายบังคมลาสมเด็จพระชายาของพระองค์รัชชทายาท และท่านได้กล่าวเป็นใจความดังนี้ :-- "ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นใหญ่ยิ่ง ! ข้าพระพุทธิเจ้าขอทูลให้ทรงทราบว่า บัดนี้ถึงเวลาแล้วที่ข้าพระพุทธิเจ้าจะทูลลากลับไปกราบทูลสมเด็จพระเจ้าลูกเธอแห่งกรุงสยาม ( กรมหลวงโยธาเทพ ) ให้ทรงทราบข่าวถึงฝ่า


๑๑ พระบาทบ้าง เพราะเวลานี้สมเด็จพระเจ้าลูกเธอแห่งกรุงสยามคงตั้งพระทัยคอยรับข่าวอยู่ทุกเมื่อว่า ข้าพระพุทธิเจ้ามากระทำราชกิจของพระองค์บรรลุสำเร็จสมพระประสงค์แล้วหรือยัง แท้จริงพระเกียรติประวัติของฝ่าพระบาทเป็นเครื่องเตือนให้ข้าพระพุทธิเจ้ารีบกลับไปเฝ้ากราบทูลให้ทรงทราบเพราะเป็นข่าวซึ่งจะนำความปีติปลื้มพระทัยเป็นอย่างยิ่งสู่พระองค์โดย มิต้องพักสงสัยเลย พระองค์คงต้องทรงพอพระทัยอย่างเหลือล้นเมื่อจะได้ทราบประจักษ์ถึงบุญบารมีของฝ่าพระบาท ผู้ได้ทรงสมรสกับสมเด็จพระบรมราโชรสพระองค์เดียวของพระบาทสมเด็จพระเจ้าหลุยส์มหาราชเจ้า ยอดกษัตริย์ในมนุษยโลก นอกนั้นเมื่อพระองค์ทรงสำเหนียกตามเหตุผลที่ข้าพระพุทธิเจ้ากราบทูลให้ทราบแล้ว พระองค์ยังจะทรงพระอนุมานทราบตระหนักถึงวัตรจริยาอย่างอื่นของฝ่า พระบาท ราวกับว่าได้เสด็จมาทอดพระเนตรด้วยพระองค์เองว่าฝ่าพระบาททรงบำเพ็ญราชกรณีย์ที่พระราชินีจะพึงทำอย่างสง่าผ่าเผยที่สุดซึ่งใครได้มาแลเห็นแล้วมีแต่จะน้อมเกล้าลงรับอย่างเต็มปากว่าสมควรแล้ว ! สมควรที่พระองค์ได้อุบัติมาร่วมขัตติยพงศ์ เกิดกับสำหรับคู่พระบารมีแห่งสม เด็จพระราชสามีผู้ประเสริฐ กรณียกิจของฝ่าพระบาทจะเป็นเหตุให้สมเด็จพระเจ้าลูกเธอแห่งกรุงสยามทรงพอพระทัยและถือเป็นพระเกียรติยศอันใหญ่ยิ่งที่จะทรงหวังว่า


๑๒ แต่บัดนี้เป็นต้นไป พระองค์ได้เป็นอทิฏฐสหายิกาของฝ่าพระบาทแล้ว ฉะนี้ข้าพระพุทธิเจ้าจึงได้ทูลว่าพระเกียรติประวัติของฝ่าพระบาทเป็นเหตุเตือนให้ข้าพระพุทธิเจ้ารีบกลับเมืองไทย ขอฝ่าพระบาทจงทรงทราบตามที่ข้าพระพุทธิเจ้าอาจสามารถจะเลือกหาถ้อยคำทูลให้ พระองค์ทรงเข้าพระทัยโดยสังเขปเทอญ. ควรมิควรแล้วแต่จะทรงโปรดเกล้า ฯ " ถัดจากนี้ไป ท่านราชทูตได้ไปเฝ้าทูลลาพระเจ้าหลานเธอทรงพระนามว่า ดึก เดอ บูร์คอญ ซึ่งเป็นพระโอรสพระองค์ใหญ่ของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชและท่านได้กล่าวเป็นเนื้อความว่าดั่งนี้  :- "ข้าแต่พระองค์ผู้จะเป็นเครื่องประดับของโลกในต่อไปข้างหน้า บัดนี้ข้าพระพุทธิเจ้าจะทูลลาฝ่าพระบาทไปแย้มเกียรติศักดิเกียรติคุณของฝ่าพระบาทให้ชาวบุรพทิศทราบไว้พลาง ๆ ก่อน เพราะในไม่กี่ปีข้างหน้า เมื่อฝ่าพระบาททรงเจริญวัยวัฒนาการ กิตติศัพท์ที่ฝ่าพระบาททรงชะนะศึกศัตรูเจริญตามรอยยุคลบาทสมเด็จพระบิดาและพระอัยยกาธิราชเจ้าที่ได้เคยทรงชำนะทุกทิศมาแล้วเป็นตัวอย่างนั้น คงฟุ้งซ่านแผ่ไปทางประเทศฝ่ายบุรพทิศโน้นเป็นมั่นคง หากว่าบรรดาชาวบุรพทิศได้ซับทราบข่าวมหัศจรรย์ของฝ่าพระบาทซึ่งเหลือเชื่อแล้วพากันไม่เชื่อไซร้ ถ้าเวลานั้นข้าพระพุทธิเจ้ายังมีชีวิตอยู่


๑๓ ชาวชนพลเมืองทางนั้นคงสิ้นวิมัติสงสัยเชื่อตามกิตติศัพท์นั้น ๆ ทุกประการ ด้วยเขาจะได้ฟังคำอธิบายของข้าพระพุทธิเจ้าผู้ได้ แลเห็นฝ่าพระบาทในโอกาสที่มาเมืองฝรั่งเศสคราวนี้ ขณะนั้นข้าพระพุทธิเจ้าจะพูดย้ำคำเล่าลือนั้นว่า : - "เออ ! พ่อคุณ ! แม่คุณ  ! เชื่อไว้เถิด  ! พระโอรสองค์นั้นเมื่อครั้งก่อนฉันได้เคยเห็นแล้ว พระองค์มีบุญจริง ขณะเมื่อทรงพระเยาว์อยู่นั้นพระนลาฏและพระเนตรก็แสดงให้เห็นปรากฎชัดอยู่แล้วว่าต่อไปข้างหน้าพระองค์จักทรงปรีชาสามารถเป็นกำลังใหญ่ในทางราชการอย่างสำคัญได้พระองค์หนึ่ง ไม่น่าอัศจรรย์อะไรดอกเท่าที่ฉันได้เห็นเมื่อครั้งกระ โน้นแล้วก็เป็นสักขีพยานให้เชื่อได้ว่าล้วนเป็นความจริงทั้งนั้น" แต่สิ่งที่ประเสริฐสำหรับกรุงสยามโดยจำเพาะประเทศ คือว่าต่อไปข้างหน้าพระองค์คงมีพระทัยกรุณาต่อเมืองสยามเป็นอันมาก และข่าวนี้แหละเป็นข่าวที่พระบาทสมเด็จพระเจ้ากรุงสยามจะทรงทราบด้วยความพอพระทัยยิ่งกว่าข่าวใด ๆ หมด ควรมิควรแล้วแต่พระองค์จะทรงโปรดเกล้า ฯ" แต่นี้ไปราชทูตได้ไปทูลลาพระเจ้าหลานเธอ ทรงพระนามว่าดึก ดังชู (พระโอรสที่ ๒ ของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช) ที่นี่ท่านอัครราชทูตได้กล่าวว่า :- "ข้าแต่พระองค์ผู้จักทรงพระเดชานุภาพอันใหญ่ยิ่ง ด้วยข้าพระพุทธิเจ้ามาเฝ้าฝ่าพระบาท


๑๔ ในวาระนี้ก็เพื่อจะขอพระวโรกาสทูลลาฝ่าพระบาทกลับคืนยังประเทศสยาม กราบบังคมทูลความตามที่ได้กระทำกรณีย์เสร็จสมพระราชประสงค์ให้ทรงทราบในใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทพระเจ้ากรุงสยามแล้ว และจักได้กราบทูลแถลงให้ทรงทราบถึงพระคุณสมบัติของฝ่าพระบาทว่าเป็นที่แสดงให้เห็นว่าต่อไปภาคอนาคตฝ่าพระบาทจักทรงปรากฎด้วยเดชานุภาพอาจทรงปราบอริราชศัตรูของประเทศฝรั่งเศสให้ครั่นคร้ามขามพระเดชา เมื่อพระเจ้ากรุงสยามทรงทราบฉะนี้แล้ว คงตั้งพระทัยคอยสดับข่าวและใคร่จะให้เหตุการณ์ในอนาคตบรรลุถึงโดยเร็ว เพราะคงใคร่ทรงทราบให้ทันในสมัยแห่งพระชนม์ของพระองค์ว่าพระคุณานุคุณทั้งหลายของฝ่าพระบาทซึ่งเวลานี้ยังดำเนิรอยู่ในปฐมวัย เป็นประดุจหนึ่งเมฆหมอกบังมิให้เห็นถนัด เมื่อเมฆหมอกนั้นหายศูนย์ไปแล้ว คุณความดีเหล่านั้นจะปรากฎขึ้นให้เห็นแก่ตาโลกด้วยแจ่มแจ้งสักปานใด ส่วนข้าพระพุทธิเจ้าเมื่อ จะได้แล เห็นแล้ว จะรู้สึกพูมใจ ยิ่งกว่าคนอื่นร้อยเท่า พันทวี เพราะเหตุที่ข้าพระพุทธิเจ้าได้มีโอกาสมาเฝ้าฉะเพาะพระพักตรพระองค์ในนามของพระเจ้ากรุงสยามผู้เป็นเจ้านายของข้าพระพุทธิเจ้า ทั้งในนามของข้าพระพุทธิเจ้าเอง ขอพระองค์จงทรงพระจำเริญเถิด"


๑๕ สำเนาคำทูลลาพระเจ้าหลานเธอ ทรงพระนามว่าดึกเดอแบร์รี (พระราชโอรสแห่งสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชอีกพระองค์หนึ่ง) "ข้าแต่พระองค์ผู้หน่อเนื้อขัตติยวรางกูร ข้าพระพุทธิเจ้าขอกราบทูลให้ทรงทราบว่า บัดนี้ข้าพระพุทธิเจ้าจะกราบทูลลาฝ่าพระบาทสู่กรุงสยามเพื่อนำข่าวศุภมงคลของพระองค์เป็นครั้งแรกในพระชนมายุของพระองค์ให้ทรงทราบแก่พระเจ้าแผ่นดินสยาม ซึ่งเป็นเจ้านายใหญ่ยิ่งของข้าพระพุทธิเจ้า และข้าพระพุทธิเจ้าจะทูลให้ทรงทราบถึงความยินดีอันใหญ่ยิ่งของข้าพระพุทธิเจ้า เมื่อได้มีโอกาสในเหตุศุภมงคลที่ได้แลเห็นพระองค์ทรงสมภพมายังมนุษยโลกนี้ ข้าพระพุทธิเจ้าจะทูลให้ทรงทราบว่า การที่ข้าพระพุทธิเจ้ามาเจริญพระราชไมตรีในเมืองฝรั่งเศสคราวนี้ จะเป็นหนทางนำมาซึ่งเกียรติยศแก่พระเจ้ากรุงสยามต่อไปในภายหน้าเป็นเอนกประการ เมื่อข้าพระพุทธิเจ้ากำลังเดิรทางไปสู่ประเทศสยามคราวนี้ ขอเกียรติศักดิและคำเล่าลือระบือพระนามของพระองค์ได้ดำเนิรไปตามหลังข้าพระพุทธิเจ้าโดยทันกัน เพื่อจะได้นำมาซึ่งความปีติยินดียิ่งในพระราชสถานสยาม ซึ่งเป็นสถานที่จะมีผู้ชื่นชมยินดีนับถือพระองค์โดยสุจริตธรรม "


๑๖ ถัดจากนี้ไปแล้วราชทูตได้ไปเฝ้าทูลลาสมเด็จพระอนุชาธิราชเจ้าซึ่งตามเสียงราษฎรประ เทศฝรั่งเศสออกพระนามกันอย่างสั้น ๆ ว่า มงเซียร์ (นาย) และท่านได้กล่าวว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงบุญสิริในพระราชวงศานุวงศ์ บัดนี้ถึงวาระแล้วที่ข้าพระพุทธิเจ้าจะต้องจากกรุงฝรั่งเศสกลับสู่ประเทศสยาม ข้าพระพุทธิเจ้าจึงได้เข้ามาเฝ้าเพื่อขอประทานพระวโรกาสกราบทูลลาฝ่าพระบาทด้วยความอาลัยอันใหญ่หลวง และเพื่อจะไว้อาลัยในฝ่าพระบาทเป็นล้นพ้น ด้วยระลึกถึงพระคุณูปการซึ่งทรงประทานแก่คณะข้าพระพุทธิเจ้า จำเดิมแต่ได้เข้ามาอยู่ในรัฐสี มามณฑลนี้จนตลอดกาล ใช่แต่เท่านั้น ยิ่งหวนระลึกถึงพระเมตตาคุณพระกรุณาคุณของฝ่าพระบาทซึ่งเป็นไปในชนทุกชั้นทุกหมู่ อันเป็นเหตุให้คนทั่วไปเกิดความจงรักภักดีในใต้ฝ่าพระบาทด้วยแล้ว ก็ยิ่งทำให้ข้าพระพุทธิเจ้ามิใคร่จะจากฝ่าพระบาทไปได้ แต่แม้ถึงจะจำเป็นจำจากฝ่ายุคลบาทไปไกลก็ดี ก็ยังมีหวังอยู่ว่าจะได้สนองพระเดชพระคุณด้วยกตัญญูกต เวทิตาจิตต์ คือจะได้นำพระเกียรติยศพระเกียรติคุณของฝ่าพระบาทไปประกาศให้แผ่ไพศาลทั่วไปในพระราชอาณาเขตต์สยามตลอดบุรพประเทศที่ไกล้เคียง เวลานี้ชาวชนในบุรพทิศทั้งหลายต่างคนคงโจษกันถึงการพระราชสัมพันธมิตรไมตรีระวางกรุงสยามกับประเทศฝรั่งเศสออกเซ็งแซ่ไป ภายหลังเมื่อข้า


๑๗ พระพุทธิเจ้ากลับถึงกรุงสยามแล้ว ชนเหล่านั้นจักได้ฟังคำบอกเล่าจากข้าพระพุทธิเจ้าอีกชั้นหนึ่ง ต่างก็จะยิ่งพากันมั่นใจเลื่องลือเอิกเกริกกันไปยิ่งกว่าเดิม พระเมตตาทิคุณของฝ่าพระบาทก็จะเวียนมาในความระลึกของข้าพระพุทธิเจ้ามิรู้วาย เพราะมีผู้ถามเนือง ๆ ก็จะต้องออกพระนามฝ่าพระบาทอยู่เนือง ๆ การที่พระเมตตาทิคุณของฝ่าพระบาทเวียนมาในความระลึกของข้าพระพุทธิเจ้าเนือง ๆ นี้ จะเป็นเครื่องเตือนสติบรรดาข้าพระพุทธิเจ้าและคนอื่นอีกเป็นอันมากให้ระลึกถึงพระเดชพระคุณของฝ่าพระบาทด้วยความปีติยินดีเป็นอันยิ่งสิ้นกาลนาน" สำเนาความทูลลาพระชายาแห่งสมเด็จพระอนุชาธิราช:- "ข้าแต่พระนางเจ้าผู้ทรงสิริวิลาศ โอกาสของข้าพระพุทธิเจ้าที่ได้มาเจริญทางพระราชไมตรีในกรุงฝรั่งเศสคราวนี้ นับว่าได้มีผลอันประเสริฐ ค่าที่ได้เป็นปัจจัยให้ข้าพระพุทธิเจ้าได้แลเห็นด้วยนัยน์ตาว่าคุณความดีทั้งหลายซึ่งโลกถือว่าเป็นส่วนแห่งเครื่องประดับของพระนางเจ้าล้วนเป็นความจริงทั้งนั้น การไปมาของข้าพระพุทธิเจ้าในระวางฝรั่งเศสกับไทยและในระวางไทยกับฝรั่งเศสนี้เป็นภาระอันหนักอยู่ ย่อมมีความเหนื่อยยากเป็นธรรมดา แต่การที่ทราบว่าเที่ยวนี้จะเป็นการบำรุงพระนามของพระนางให้ยิ่งแผ่ไพศาล ก็เป็นที่บรรเทาความเหน็ดเหนื่อยนั้นให้อันตรธานหายไปได้ เป็นที่หวังของข้าพระพุทธิเจ้าว่า เมื่อ ๓

๑๘ ข้าพระพุทธิเจ้ากลับไปเมืองไทยแล้วในไม่ช้านานนัก ความรักใคร่นับถือของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอแห่งกรุงสยามและสมเด็จพระชนกนาถต่อพระนาง คงไม่แพ้ความรักใคร่นับถือของพระบาทสมเด็จพระเจ้าหลุยส์มหาราชเจ้าแห่งกรุงฝรั่งเศส " สำเนาความทูลลาสมเด็จพระเจ้าหลานเธอ ดึกเดอ ชาร์ตร์ส์. "ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นใหญ่ยิ่ง ถ้าจะหาสิ่งที่ถูกใจของข้าพระพุทธิเจ้าในการที่กลับไปเมืองไทยคราวนี้ ก็คือการที่จะได้ทูลให้ทรงทราบในพระบาทสมเด็จพระเจ้ากรุงสยามว่า ฝ่าพระบาททรงแสดงจริยานุวัตรอันประเสริฐ ทั้งทรงพระปรีชาสามารถอันละเอียดสุขุมสูงกว่าธรรมดาพระชนมพรรษาของพระองค์เป็นอันมาก ข้าพระพุทธิเจ้าแลเห็นด้วยยินดีว่าพระองค์เป็นที่หวังอันใหญ่หลวงของพระบรมราชวงศฝรั่งเศสในภายภาคหน้า แม้พระเจ้ากรุงสยามเองก็สมควรจะมีความหวังในพระองค์สำหรับความรุ่งเรืองของทั้งสองประเทศเป็นอันมากดุจเดียวกัน " นอกจากสำเนาความทูลลาที่นำลงพิมพ์ให้เห็นเป็นตัวอย่างในนี้ยังมีอีกเป็นอันมากที่ท่านอัครราชทูตได้กล่าวในวันเดียวกันและซึ่งน่าฟังด้วยกันทั้งนั้น ส่วนคำตอบซึ่งราชทูตได้รับจากพระบรมวงศานุวงศทั้งหลายเหล่านั้นล้วนแต่เกี่ยวข้องกับเกียรติยศและคุณานุคุณของพระเจ้ากรุงสยามทั้งนั้น กับมีคำสรรเสริญ


๑๙ จำเพาะตรงตัวราชทูตด้วย ในที่บางแห่งเช่นคราวไปลาท่าน เสนาบดีเดอครัวซีก็ได้เพิ่มกล่าวถึงการบำรุงพระศาสนาคริศตังในกรุงสยามบ้าง ถึงการค้าขายในระวางสองประเทศบ้าง แต่รวมความว่าท่านราชทูตไปอำลาใครผู้ใดก็ล้วนแต่ได้รับคำชมเชยและคำแสดงความพอใจที่ได้แลเห็นท่านมาเจริญทางพระราชไมตรีในประเทศฝรั่งเศสนี้เป็นพื้น.

บทที่ ๘๑ ราชทูตไปลาท่านบาดหลวง เดอลาแชส พระราชครูหลวง. นับตั้งแต่วันที่ได้เฝ้าถวายบังคมลาสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินนั้น ราชทูตยังได้รออยู่ที่พระนครปารีสอีกสามวัน และในระวางเวลานั้นท่านพระครูเดอลาแชสได้ออกมาเยี่ยมส่งราชทูตเองและได้กล่าวกับท่านราชทูตว่า ท่านมีความเสียใจเป็นอันมากที่แลเห็นราชทูตกำลังเตรียมจะกลับไปเมืองไทยแล้ว เพราะต่างมีฉันทะและอัธยาศัยชอบพอคุ้นเคยสนิทสนมกันแล้ว และความรู้สึกของท่านข้อนี้ก็ควรนับว่าเป็นความรู้สึกของคนทั้งหลายที่ได้มีโอกาสรู้จักกับท่านราชทูตด้วย ท่านราชทูตได้ตอบว่าท่านเองก็มีความเสียใจยิ่งกว่าใคร ๆ เพราะตั้งแต่วันที่ท่านได้เข้ามาเมืองฝรั่งเศส ไม่ว่าท่านได้พบปะคนชั้นใด ตระกูลใด


๒๐ ล้วนแต่เป็นผู้ที่ได้แสดงอัธาศัยใจคอกว้างขวางสนิทสนมก่อนทั้งนั้น เมื่อจะจากกันฉะนี้จะมิให้ท่านเสียใจอย่างไร แต่ในจำพวกที่ท่านว่าได้รับความเอื้อเฟื้อเป็นอันมากยิ่งกว่าใคร ๆ หมด ท่านราชทูตได้ยกคณะบาดหลวงขึ้นหน้ากล่าวว่า  :- "ในระวางเวลาที่เราได้ไปเที่ยวมณฑลข้างเหนือ ไม่ว่าเมืองไหนเป็นต้องได้รับความเอื้อเฟื้อสนิทสนมจากคณะเยซวิตทุกแห่ง" แล้วท่านราชทูตก็ขอบใจท่านบาดหลวงเดอลาแชสอีกครั้งหนึ่ง โดยได้รับของกำนัลและที่ระลึกต่าง ๆ จากคณะบาดหลวงมีท่านพระครูเดอลาแชสเองเป็นต้น. ในของกำนัลเหล่านั้นมีพระบรมฉายาลักษณทรงม้าเขียนด้วยมือขนาดเล็กที่สุดซึ่งท่านอาจารย์มีญาร์ดผู้ชำนาญจำเพาะในการวาดรูปเล็กชะนิดนั้นได้เป็นผู้วาดเขียนเอง นอกนั้นยังมีรูปอื่น ๆ อีกเป็นอันมากซึ่งได้เย็บปักในเนื้อผ้าไหมต่างกระดาษกับมีถุงใส่เงิน กะเป๋าหิ้วแลเครื่องกะจุกกะจิกอีกหลายอย่าง. เมื่อคุณพ่อเดอลาแชสลุกขึ้นจะลาออกจากห้องราชทูตนั้นท่านอัครราชทูตพร้อมด้วยทูตอันดับลุกขึ้นจะตามไปส่งแต่คุณพ่อเดอลาแชสห้ามมิให้ไปส่ง คณะราชทูตเลยต้องไปส่งเพียงปากประตูห้องเท่านั้น แต่ครั้นคุณพ่อกำลังเดิรออกห่างไปหน่อยหนึ่งท่านอัครราชทูตเมียงตามหลังออกไปจนได้ จนกระทั่งถึงกะใดชั้นล่าง คุณพ่อจึงได้รู้ตัวว่าตามไปส่ง การกระทำของ


๒๑ ท่านราชทูตนี้เป็นเหตุให้ผู้ที่ได้มาแลเห็นกิริยาของท่านในโอกาสนั้นอดรนทนไม่ได้ต้องพากันสรรเสริญท่านว่า เป็นผู้มีอัธยาศัยสุภาพและมีสติปัญญาเฉลียวฉลาดอย่างยิ่ง เวลาภายหลังท่านราชทูตเองก็ได้ออกไปลาคุณพ่อเดอลาแชสยังที่กุฏิของท่าน แต่คราวนั้นการจะได้ดำเนิรไปอย่างไรไม่มีใครรู้ เพราะไม่มีใครเข้าไปแปดปนเลย ความป็นไปคราวนั้นเลยเป็นการเงียบเหลือกำลังที่จะนำมาเล่าสู่กันฟังในที่นี้.

บทที่ ๘๒ ราชทูตไปดูละคอนเป็นครั้งสุดท้าย. เรื่องละคอนสุดท้ายที่ราชทูตได้ไปดูในเมืองฝรั่งเศส คือเรื่องตลกของอาจารย์มอเลียร์ ชื่อ "ใคร ?" (L'Inconnu) การแต่งตัวของผู้ที่เล่นละคอนบทนี้เป็นที่ถูกใจของท่านราชทูตเป็นอันมาก แต่ก็มิฉะเพาะถูกใจในเชิงเล่นตลกเท่านั้น ถึงเงื่อนของเรื่อง ท่านราชทูตก็เข้าใจถูกได้เองไม่ต้องมีใครพักอธิบายให้ทราบ มงเซียร์เดอลาครางชผู้จัดการละคอนนั้น ได้ออกมาคำนับท่านราชทูตและได้กล่าวเป็นใจความว่า ท่านมีความยินดีมิใช่น้อย เพราะแต่ในบรรดาโรงละคอนต่าง ๆ อันมีอยู่ในพระนครปารีสด้วยกัน ท่านราชทูตได้ออกมาดูละคอนของท่านก่อนละคอนโรงอื่นหมด และตอนเมื่อท่านราชทูตจะกลับ


๒๒ ไปเมืองไทยนี้ ก็ยังเลือกมาดูที่โรงของท่านอีกเป็นครั้งสุดท้ายก็เป็นเกียรติยศแก่โรงละคอนของท่านเป็นอันมากแล้วท่านผู้จัดการก็ได้กล่าวต่อไปว่า :- "เจ้าคุณราชทูตเป็นคนประสพโชคดีจริง เพราะกลับไปเมืองไทยคราวนี้เสียงข้างหลังของชาวชนพลเมืองฝรั่งเศสทั้งสิ้น นับแต่พระราชสำนักอันเป็นแบบอย่างแห่งพระราชสำนักทั้งสิ้นในโลก ลงมาจนถึงชนชั้นต่ำต่างจะพากันสรรเสริญเจ้าคุณว่า เป็นบุรุษผู้มีบุญวาสนาสมควรเป็นที่เยินยอสรรเสริญอย่างที่ได้เห็นเป็นมาอยู่รอบข้างตั้งแต่วันที่เจ้าคุณได้มาเมืองนี้ " นอกนั้นท่านยังกล่าวคำชมเชยอีกเป็นอันมาก แต่ที่จะนำมาลงในนี้ก็จะชักยืดยาวเกินประมาณขอโอกาสตัดเสีย.

บทที่ ๘๓ ราชทูตไปดูห้องตั้งรูปต่าง ๆ ของหลวง ข้าพเจ้าได้ลืมกล่าวถึงเรื่องไปดูห้องตั้งรูปสีผึ้งต่าง ๆ ของหลวงซึ่งที่จริงควรจะนำมากล่าวบ้าง เพราะในห้องนั้นท่านราชทูตได้มีโอกาสเชยชมรูปของบรรดาพระบรมวงศานุวงศและขุนนาง ข้าราชการชั้นสูงที่ท่านเคยได้พบปะมาแล้วแต่ในพระราชสำนักเสียโดยมาก. พอราชทูตเหยียบเข้าไปข้างในห้องนั้น จะว่าเหมือนเกิดในโลกใหม่ก็ว่าได้ เพราะเห็นล้วนแต่คนที่ได้เคยเห็นเคยรู้จักมา

๒๓ แต่ราชสำนักก่อนแล้วทั้งสิ้น และเหมือนกันไม่มีผิดทีเดียวต่างกันแต่ในพระราชสำนักนั้นเป็นคนจริง และในห้องนี้ล้วนเป็นแต่รูปจำลองจากคนเหล่านั้นเท่านั้น แต่ทำเหมือนถึงกับจะหลงพูดหลงคำนับไหว้ทีเดียว พอถัดห้องนี้เข้าไปในอีกห้องหนึ่งเครื่องแต่งตัวของรูปในห้องนั้นเปลี่ยนเป็นแบบอื่นไปหมด ทั้งหน้าตาของผู้คนที่ยืนนั่งในนั้นมิใช่เค้าหน้าฝรั่งเสียด้วย กลับเป็นหน้าแขกตุร์กชาวกงสตังตินอปล์เปตาม ๆ กันทั้งนั้น ที่ตรงนี้เล่นเอาเจ้าคุณราชทูตงงอยู่สักครู่หนึ่ง แทบจะเชื่อตาไม่ไหวว่าเป็นรูปปั้น ยังดื้อจะหลงเชื่อว่าเป็นคนจริง ๆ อีก ถึงกับต้องเอามือแปะเข้าดูที่เสื้อว่ารูปจะกะดิกหรือไม่กะดิกต่อเมื่อเห็นว่าจะจับต้องท่าไหนก็ไม่แสดงอาการไหวเคลื่อนไปท่าใดแล้วจึงได้เชื่อว่าเป็นแต่รูปแขกหาใช่แขกตุร์กแท้ไม่ แต่ก็เหมือน ๆ แขกทีเดียว. พอดูหมู่แขกเสร็จแล้ว เจ้าพนักงานก็ได้พาท่านราชทูตไปดูรูปอื่นต่อไป มีรูปของบรรดาราชทูตประเทศต่าง ๆ ซึ่งได้มาเจริญทางพระราชไมตรีในประเทศฝรั่งเศสในระวางสิบปีสิบสองปีที่ล่วงไปแล้ว มีรูปท่านโดคาผู้สำเร็จราชการเมืองเยโนอากับเสนามนตรี ๔ คนซึ่งตามมาด้วยในคราวนั้นเป็นต้น. ท่านราชทูตมองแล้วมองอีกทุก ๆ รูปที่มีอยู่ในนั้น แล้วลงปลายเจ้าคุณราชทูตแสดงให้รู้สึกว่า ถ้ารูปของท่านเองได้มี


๒๔ เพิ่มอยู่ในนั้นอีกรูปหนึ่ง ท่านจะมีความพอใจหาน้อยไม่ และความประสงค์ของเจ้าคุณราชทูตข้อนี้เลยเป็นปัจจัยให้มงเซียร์เบอนว่าช่างประจำห้องรูปหลวงนั้นได้ปั้นรูปของอัครราชทูต อุปทูต ตรีทูตทั้ง ๓ คน แล้วประดับประดาตบแต่งเหมือนกันกับวันที่ท่านเข้าไปเฝ้าไม่มีผิดเลย นอกนั้นท่านยังได้วาดรูปเหล่านั้นไว้อีกด้วย และทุกวันนี้ (หมายความว่าเวลาเจ้าของหนังสือเล่มนี้เขียนเรื่องราวเป็นภาษาฝรั่งเศส) รูปตั้งและรูปเขียนของราชทูตานุทูตไทยก็ยังรวมหมู่อยู่กับรูปอื่น ๆ ที่กล่าวถึงมาแล้วด้วย

บทที่ ๘๔ มงเซียร์เลอกงต์ เดอลาเฟอยาด มาลาราชทูต ในวันก่อนที่ท่านราชทูตจะออกไปจากประเทศฝรั่งเศส มงเซียร์เลอกงต์เดอลาเฟอยาด ขุนนางผู้ใหญ่ได้ออกมาเยี่ยมราชทูตแทนท่านบิดา ผู้เป็นนายพลทหารชั้นสูง และในโอกาสนี้ท่านได้เอาเหรียญทองของท่านบิดามาให้ด้วย เหรียญทองนั้นข้างหนึ่งมีเป็นพระเศียรของพระบาทสมเด็จพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ และอีกข้างหนึ่งเป็นรูปอนุสาวรีย์ อ้างถึงพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ เหมือนกัน จำลองจากอนุสาวรีย์ที่ท่านนายพลเดอลาเฟอยาดได้สร้างอุทิศถวายเพื่อฉลองพระเดชพระคุณของพระองค์ พร้อม

๒๕ กันกับเหรียญทองดวงนั้น ซึ่งใส่ไว้ในหีบอันงดงาม ยังมีหนังสืออีกเล่มหนึ่ง ข้างนอกเย็บปักถักร้อยอย่างประณีตงดงาม พื้นนอกเป็นผ้ากำมะหยี่เนื้อสุขุม ข้างในอธิบายถึงเหตุผลต่าง ๆ ซึ่งได้เป็นเหตุให้ท่านนึกสร้างอนุสสาวรีย์ และเหรียญฉลองพระเดชพระคุณดังนี้ เหรียญทองนี้ท่านมอบไว้เพื่อให้นำขึ้นทูลเกล้า ฯ ถวายสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเจ้า ส่วนของท่านอัครราชทูตเองท่านมอบให้อีกดวงหนึ่งต่างหาก เนื้อเป็นเงินมีหนังสืออธิบายกำกับไปด้วย แต่เย็บปักเป็นฝีมือรองเล่มต้น ส่วนอุปทูตและตรีทูตก็ได้รับเหรียญและหนังสือเหมือนกัน แต่เนื้อธาตุผิดกันและฝีมือก็ผิดกันเป็นชั้น ๆ ตามลำดับเกียรติยศ พอได้รับของที่ระลึกดังนี้แล้ว ในวันเดียวกันคณะทูตา นุทูตไทยได้พากันไปเยี่ยมลาท่านนายพลเดอลาเฟอยาดยังที่บ้านของท่าน แต่เผอิญท่านนายพลไม่อยู่ เหลือก็แต่บุตรของท่านซึ่งได้ต้อนรับขับสู้อย่างแข็งแรงดุจเดียวกับบิดาเองอาจทำได้ แล้วได้พาราชทูตไปดูอะไรต่ออะไรในสำนักของท่านบิดาทุกสิ่งทุกอย่าง เป็นต้นได้พาไปดูเครื่องประดับตู้โต๊ะเครื่องใช้ไม้สอยอย่างประณีตที่กำลังทำอยู่ทุกวัน และซึ่งลงมือทำหลายปีดีดักมาแล้ว แต่อาศัยความปราณีตบรรจงงานจึงยังไม่แล้วเสร็จ นอกนั้นยังได้พาไปดูพระบรมรูปของสมเด็จพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ ซึ่งสร้างไว้ในสนามชัยหน้าบ้านมานมนานแล้ว แต่เวลานั้นพึ่ง ๔

๒๖ ทาทองใหม่ ๆ ท่านราชทูตเมื่อเห็นพระบรมรูปทองนั้นได้พูดว่า :- "เป็นการสมควรอย่างยิ่งที่เคลือบไว้ด้วยทอง เพราะถึงจะคิดทำดีวิเศษสักปานใดก็จะไม่เกินพระบารมีของพระองค์เป็นอันขาด แต่ถึงแม้จะมิเป็นทองก็ดี เมื่อได้เห็นว่าเป็นพระบรมรูปของพระบาทสมเด็จพระเจ้าหลุยส์มหาราชเจ้าแล้ว ก็เป็นวัตถุหน้าเคารพอย่างยิ่ง และเป็นเครื่องเตือนศรัทธาของผู้ที่ได้มาแลเห็นให้เลื่อมใสทั้งในพระองค์ผู้เป็นแบบเดิมทั้งในท่านบิดาผู้ได้คิดฉลองพระเดชพระคุณสมตามพระกฤดาภินิหารของพระองค์นั้นด้วย ." ในเย็นวันนั้นท่านเดอลาเฟอยาดผู้บุตรได้มาเยี่ยมส่งราชทูตที่สำนักท่านราชทูตเป็นครั้งสุดท้าย และในคำลาได้กล่าวว่า:- "นี่แน่ะเจ้าคุณ เวลานี้ที่พวกฝรั่งเศสได้รู้เห็นว่าชาวไทยเป็นอย่างไร โดยได้เห็นเจ้าคุณเป็นตัวอย่างแล้ว ถ้ามีคนไหนจะไม่รักคนไทย คนนั้นเป็นคนฝรั่งเศสที่แปลกพวก ไม่ควรได้ชื่อว่าฝรั่งเศสต่อไปอีกแล้ว"

บทที่ ๘๕ เจ้าพนักงานผู้ประจำนำเฝ้าไปเยี่ยม ส่งราชทูต เมื่อเกือบ ๆ ถึงเวลาที่ราชทูตจะออกไปจากสำนักสักครู่หนึ่ง มงเซียร์เดอบอเนย และมงเซียร์ยีโรล์ต์ เจ้าพนักงานประจำ

๒๗ นำเฝ้าได้เข้ามาลาท่านราชทูต แต่ค่าที่คิดอาลัยกันท่านราชทูต คอตันพูดไม่ออก ได้แต่สอื้นกล่าวเป็นคำ ๆ ว่า - "ไม่...สบาย ...ใจ...พูด... ไม่...ออก" เมื่อถึงเวลาที่จะออกจากห้องแล้ว ท่านอัครราชทูต อุปทูต ตรีทูต และขุนนางไทยอันดับอีก ๖ นายได้เข้าเรียงตรงหันหน้าไปทางพระราชสำนักวังแวร์ซายส์แล้วพร้อมกันพนมมือยกเหนือหน้าผากแล้วกราบถวายบังคมลาครบสามลา เพื่อเป็นที่แสดงความรู้สึก ในพระมหา กรุณาธิคุณ ในพระบาท สมเด็จ พระเจ้า แผ่นดินฝรั่งเศส แล้วก็เดิรออกไป พอมาถึงรถซึ่งจอดคอยอยู่ข้างล่าง ท่านอัครราชทูตก็ดี อุปทูต ตรีทูต และขุนนางอื่น ๆ ต่างคนก็คำนับลาบรรดาท่านผู้ที่ได้มาส่งท่านด้วยความอาลัยและเคารพอย่างยิ่ง ในพวกที่มาส่งราชทูตไทยกลับไปครั้งนั้นมีท่านเชอวาเลียร์เดอโชมงต์เปนต้น ซึ่งเคยเป็นราชทูตฝรั่งเศสไปเมืองไทย แล้วและได้โดยสานกลับมาเมืองฝรั่งเศสพร้อมกันกับราชทูตไทยที่เล่าเรื่องอยู่เดี๋ยวนี้ การที่ท่านเชอวาเลียร์เดอโชมงต์ออกมาส่งดังนี้ดูเป็นที่ถูกใจท่านอัครราชทูตเป็นอันมาก ในระวางตั้งแต่พระนครปารีสถึงเมืองแบรสต์ซึ่งเป็นเมืองท่าที่ราชทูตได้ตั้งต้นขึ้นเดิรทางบกเมื่อขามา และซึ่งจะเป็นที่ส่งท่านลงเรือกลับกรุงสยามนั้น มีรับสั่งให้มงเซียร์เดอวิลด์เป็น


๒๘ เจ้าพนักงานดูแลราชทูตจนตลอดทาง และรับสั่งให้คอยปฏิบัติรับรองด้วยความสง่าผ่าเผย และให้มีความสุขสบายดุจเดียวกับเมื่อยังอยู่ในพระนครปารีสหรือคราวขึ้นไปเที่ยวทางมณฑลฝ่ายเหนือฉะนั้น

บทที่ ๘๖ ตอนเมื่อราชทูตออกจากพระนคร เรื่องราชทูตสยามมาเมืองฝรั่งเศสจะจบลงเพียงเท่านี้ เพราะขากลับจากกรุงปารีสไปลงเรือก็ไปทางเดียวกับขามา เลยไม่มีเรื่องที่จะน่าเล่าเท่าไรนัก เดิมทีเจ้าพนักงานได้ตั้งใจไว้ว่าขากลับนี้จะส่งราชทูตให้วกกลับทางมณฑลนอร์มังดี ภายหลังคิดไปคิดมาก็เลยส่งให้กลับตามทางเดิม เพราะถนนหนทางทางมณฑลนอร์มังดีไม่เรียบร้อยสม่ำเสมอ ไม่สะดวกแก่การเดิรทางไกลเลย ซ้ำลมมรสุมก็จะตั้งอยู่แล้ว ถ้ารอไว้ช้าราชทูตจะลงเรือไม่ทันจะเสียโอกาส เลยต้องให้ย้อนกลับตามทางเดิม มงเซียร์สตอร์ฟซึ่งเคยประจำตัวราชทูตตั้งแต่วันแรกที่ได้มาเมืองฝรั่งเศสก็ได้ติดตามไปส่งจนถึงเมืองแบรสต์ และถ้าจะพูดตามจริงแล้ว จะหาคนใดคนหนึ่งที่ช่ำชองในทางปฏิบัติแขกเมืองให้ดีกว่าท่านก็ยากอยู่ การที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงรับสั่งให้ท่าน เป็นธุระรับรองราตทูตสยามนี้เป็นการเหมาะ


๒๙ ด้วยประการทั้งปวง ท่านได้ฉลองพระเดชพระคุณของพระองค์จนเป็นที่พอพระทัยยิ่ง แม้ท่านราชทูตเองก็ยังพอใจในตัวท่านเป็นที่สุด จึงควรนับว่ามงเซียร์สตอร์ฟได้ทำคุณประโยชน์แก่ประเทศฝรั่งเศส และประเทศสยามอย่างเอกอุตลอดเวลา ๙ เดือนที่ล่วงไปแล้ว ทีนี้จะขอกล่าวถึงบรรดาท่านที่ได้กลับไปเมืองไทยกับราชทูตต่อไป ท่านบาดหลวงอาเบเดอลิยอนซึ่งเคยอยู่เมืองไทยมาแต่ก่อน แล้วได้เป็นผู้นำราชทูตมาเมืองฝรั่งเศสก็เป็นคนหนึ่งในพวกนั้น เพราะพระบาทสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินได้แสดงพระประสงค์ว่าอยากจะให้ท่านกลับไปเป็นเพื่อนราชทูต ในโอกาสนี้ท่านอาเบเดอลิยอนได้แสดงให้ปรากฏว่า ความศรัทธาของท่านมีฤทธิกล้ากว่าความรักต่อญาติพี่น้องทั้งหมด ท่านถึงได้สู้ละบ้านเกิดเมืองมารดรของท่านซึ่งเป็นที่รักยิ่งเป็นครั้งที่สอง เพื่อจะกลับไปสั่งสอนพระศาสนาในเมืองไทย อันเป็นมืองไกลหาใช่บ้านกิดเมืองมารดรของท่านไม่. นอกจากท่านบาดหลวงองค์นี้ ยังมีบาดหลวงแห่งคณะมิซซังต่างประเทศไปด้วยกับท่านอีก ๔ องค์ เพื่อจะรับช่วยสั่งสอนพระศาสนาแก่คนไทย ฉะนี้จึงเป็นที่หวังว่าในไม่สู้ช้าข้างหน้าพระศาสนาคริศตังคงแผ่ออกไปในเมืองนั้นตามลำดับ แท้จริงเท่าที่ได้เห็นผลแห่งการสั่งสอนปรากฏขึ้นทันตาแล้วเช่น


๓๐ ดังตัวท่านอันโตนีโอปินโตพระสงฆ์ชาวสยาม ซึ่งคณะมิซซังต่างประเทศได้สั่งสอนตั้งแต่ครั้งยังอยู่ในเมืองไทย จนบัดนี้ได้เข้าเป็นมหาปริญญาแห่งมหาวิทยาลัยซอร์บอน ก็เป็นเครื่องภูมิใจมิใช่น้อย และเป็นที่หวังต่อผลแห่งการสั่งสอนในภายภาคหน้าต่อไปเป็นอันมาก ตัวท่านปินโตองค์นี้องค์เดียวเป็นสักขีพะยานปรากฏว่างานศรัทธาของคณะมิซซังต่างประเทศในเมืองสยามเป็นงานที่มีผลสำเร็จควรจะบำรุงให้เจริญต่อไป. อนึ่งนอกจากบาดหลวงคณะมิซซังต่างประเทศซึ่งมีประจำอยู่ในเมืองไทยเป็นกาลนานแล้วนั้น ท่านบาดหลวงเดอลาแชสซึ่งเป็นหัวหน้าของคณะเยซวิตในเมืองฝรั่งเศส สมัยนี้ยังได้ประกาศพระราชประสงค์ของพระเจ้ากรุงสยาม ซึ่งมีพระทัยมุ่งหมายจะใคร่ได้บาดหลวงคณะเยซวิตซึ่งเป็นผู้ชำนาญการวิชชาความรู้ต่าง ๆ นอกจากศาสนกิจ ให้บรรดาพระสงฆ์ในคณะของท่านทราบทั่วกัน แล้วถามว่าใครจะสมัครอยากไปเมืองไทยก็ให้บอกมา จะได้เลือกส่งตามใจสมัคร ขณะนั้นมีบาดหลวงคณะเยซวิตยื่นใบสมัครถึง ๑๕๐ องค์ด้วยกัน เกินกว่าความต้องการเป็นไหน ๆ ท่านบาดหลวงเดอลาแชสเลือกได้ ๑๔ องค์ คือท่านบาดหลวงเลอรอเยร์, บาดหลวงรีโชต์, บาดหลวงรอแช็ต , บาดหลวงทียงวิลล์ , บาดหลวงเดอแบส , บาดหลวงกอร์วิลล์ , บาดหลวงกอลุยซง , บาดหลวงดือบูเชต์ , บาดหลวงดือซา , บาทหลวง


๓๑ ดอลือ, บาดหลวงเลอบลัง, บาดหลวงเดอแซงต์มาต์แตง, บาดหลวงแดสปะครัก, บาดหลวงดือเบรย. ครั้นเตรียมตัวออกเดิรทางพร้อมเสร็จแล้ว ท่านบาดหลวงเดอลาแชสและบาดหลวงตาชาร์ด ซึ่งเคยไปเมืองไทยแล้วและกลับไปเป็นล่ามราชทูต และซึ่งจะเป็นหัวหน้าคณะของจำพวกที่จะออกไปในคราวนี้ ก็ได้พาบาดหลวงเยซวิต ๑๔ องค์นี้ไปเฝ้าทูลลาพระบาทสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินซึ่งได้ทรงแสดงพระประสงค์ว่าอยากเห็นตัวก่อนไปเมืองไทย. ครั้นเข้าเฝ้าแล้ว ทรงรับสั่งกับบาดหลวง ๑๔ องค์นั้นว่า :-"เรามีความยินดีอนุโมทนาในกิจกุศลของท่านทั้งหลายคราวนี้เป็นอันมาก ขอจงไปดีอยู่ดี ทำผลประโยชน์แก่พระศาสนาและชาวไทยให้มาก ๆ เทอญ แต่ก่อนที่ท่านทั้งหลายจะลาไปคราวนี้เราอดไม่ได้ต้องเชยชมท่านทั้งหลายเป็นพิเศษ ค่าที่ท่านเป็นผู้ที่ได้ถูกเลือกจากบรรดาสงฆ์ผู้มีศรัทธาอยากไปเมืองไทยถึง ๑๕๐ องค์ นี่เป็นพะยานชี้ให้เราเห็นว่าท่านเป็นผู้สามารถยิ่ง ทั้งในทางศรัทธาและทางความรู้ หาไม่ที่ไหนท่านจะได้ถูกเลือกก่อนคนทั้งหลายอื่น ๆ ที่สมัครอยากไปด้วยเหมือนกัน" พอรับสั่งดังนี้แล้วทรงนิมนต์ให้เข้าสำนักของท่านบาดหลวงเดอลาแชสที่ในวังนั้น แล้วรับสั่งให้เลี้ยงอาหารท่านทั้งหลายพร้อมกัน.


๓๒ นอกจากพวกบาดหลวงสองสำรับที่จะออกไปกับราชทูตไทยคราวนี้ ยังมีเป็นต้นคือมงเซียย์เดอลาลูแบร์ อัครราชทูตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินฝรั่งเศสที่กรุงสยาม มงเซียร์ เซเบอเรต์ หัวหน้าของบริษัทกงปาญีแดส์แองต์ อุปทูต และ มงเซียร์แดฟารช์ ตรีทูต ท่านอัครราชทูตมาเป็นหน้าที่จัดการงานเมืองโดยตรง อุปทูตเป็นหน้าที่จัดการสัญญาการค้าขาย และตรีทูตเป็นหน้าที่บังคับบัญชากองทหารฝรั่งเศสซึ่งจะมาอยู่เมืองไทยในคราวนั้น คนทั้งสามเหล่านี้ล้วนเป็นคนสำคัญในราชการเมืองฝรั่งเศสมาแต่ก่อนทั้งนั้น เรือที่จะบรรทุกราชทูตและคนอื่นทุกประเภทที่จะออกไปเมืองไทยคราวนี้มี อยู่ ๕ ลำ ถ้าคนทั้งหลายที่จะไปเมืองไทยในเรือ ๕ ลำเหล่านั้นไปเมืองไทยแล้วได้พบเห็นคนไทยแต่ล้วนมีกิริยาธยาศัย เหมือนราชทูตสามคนที่เราชาวฝรั่งเศสได้เห็นเป็นตัวอย่างในเมืองฝรั่งเศสคราวนี้แล้วคงเป็นที่พอใจหาน้อยไม่ ว่าแต่เจ้าคุณราชทูตคนเดียวคนที่ได้อ่านเรื่องราวราชทูตไทยมาเมืองฝรั่งเศสที่ได้พิมพ์ที่นี้แล้ว คงได้เห็นชัดแล้วว่าเป็นคนเฉลียวฉลาดปัญญาหลักแหลมหาตัวจับยาก แต่ที่จริงก็ยังมิได้มีโอกาสกล่าวถึงคุณความดีของท่านให้สิ้นเชิงทีเดียว ถึงว่าท่านเป็นอัครราชทูตมีตำแหน่งสูง ไปไหนมาไหนต้องระวังรักษาเกียรติยศให้สมกับตำแหน่งอยู่เสมอก็ดี ท่านก็มิวายที่จะแสดงใจดีแก่ชนทุกชั้นที่ได้มีโอกาสเกี่ยวข้องกับท่านด้วยกิจเล็กกิจ

๓๓ น้อยทุกประการ ชั้นที่สุดถึงแม้เพียงแต่ใครได้คำนับท่าน ๆ ก็คำนับตอบอย่างหน้าจับใจราวกับเป็นผู้ได้ช่วยเหลือท่านอย่างพิเศษ และเขาว่าถ้าใครได้เห็นราชทูตเพียงครั้งเดียวหรือสองครั้งก็ติดใจท่านทุกคนไม่มีเว้น ท่านราชทูตกลับไปเมืองไทยคราวนี้ ว่ามีความเสียใจอยู่อย่างหนึ่งซึ่งเป็นพะยานให้เห็นใจของท่านว่าเป็นอย่างไร คือท่านเสียใจที่ท่านไม่มีสิ่งใดสิ่งหนึ่งสำหรับตอบแทนความช่วยเหลือซึ่งท่านได้รับจากผู้อื่นให้ทั่วถึงกัน ท่านได้บอกแล้วบอกเล่าตั้งร้อยครั้งว่า ท่านมิได้นึกเลยว่าท่านมาเมืองฝรั่งเศสครั้งนี้จะได้พบคนซึ่งได้มีแก่ใจนำเข้าของมากำนัลท่านมากต่อมากเช่นนี้ ที่ในหลวงและพระบรมวงศานุวงศ์ได้พระราชทานและประทานเข้าของต่าง ๆ ท่านก็ไม่น่าอัศจรรย์อะไร แต่ที่คนอื่นเป็นอันมากทุกชั้นทุกตระกูลได้พากันให้เข้าของด้วยดังนี้ ก็เหลือที่จะนึกฝันเสียทีเดียว ฉะนี้จึงมิได้ตระเตรียมสิ่งของให้พอที่จะแจกจ่ายให้ทั่วกัน แต่ไม่เป็นไร ใช่ว่าจะลืมบุญคุณของใครเมื่อไร ขอให้รอหน่อย จนกว่าเรือที่ท่านจะไปเมืองไทยนี้กลับมาเมืองฝรั่งเศส ถึงจะรู้ว่าท่านลืมหรือไม่ลืม ท่านพูดดังนี้โดยหมายว่า ถ้าเรือกลับแล้วจะส่งของกำนัลให้พอแก่การสำหรับแจกจ่ายให้ทั่วถึงกันทั้งหมด ในที่นี้ข้าพเจ้าผู้เขียนรายงานความเป็นไปของราชทูตไทยเข้ามาเมืองฝรั่งเศสควรจะออกตัวเสียบ้างเล็กน้อยก่อนที่จะลา ๕

๓๔ ท่านผู้อ่าน คือควรรับเป็นคำขาดว่าคำพูดอะไร ๆ ทั้งหมด ซึ่งข้าพเจ้าอ้างว่าเป็นสำนวนโวหารของเจ้าคุณอัครราชทูตก็เป็นคำพูดของท่านจริง ๆ ตลอดทั้งเรื่อง หาใช่คำประดิษฐ์ประดอยเพิ่มเติมอะไรไม่ คำเหล่านั้นข้าพเจ้าได้ทราบแน่ทุกกะทงเพราะมงเซียร์สตอร์ฟเจ้าพนักงานฝรั่งเศสผู้ประจำตัวราชทูตตั้งแต่วันเข้ามาเมืองฝรั่งเศสถึงวันออกและซึ่งเป็นผู้ที่รู้ดีกว่าใคร ๆ ทั้งเป็นผู้ที่น่าเชื่อด้วย ได้เป็นผู้บอกเล่าให้ข้าพเจ้าทราบเองประการหนึ่ง อีกประการหนึ่ง บางคำข้าพเจ้าได้ทราบจากผู้หลักผู้ใหญ่ผู้ที่ได้ไปมาหาสู่เจ้าคุณราชทูตแล้วมาเล่าให้ฟังอีกทีหนึ่ง ว่าเจ้าคุณราชทูตได้ทักทายแก่ท่านอย่างไร และอีกประการหนึ่งเป็นคำซึ่งข้าพเจ้าได้ยินแก่หูของข้าพเจ้าเอง ผู้ซึ่งเคยไปมาหาสู่เจ้าคุณราชทูตเนือง ๆ ถึงกับกินเข้าด้วยกัน ไปเที่ยวขี่รถคันเดียวกันบ่อย ๆ ถ้าจะว่าไปแล้ว แทนที่ข้าพเจ้าจะได้เพิ่มเติมอะไร ข้าพเจ้าได้ตัดออกเสียหลายเรื่อง เพราะสืบไม่ได้แน่ว่าเป็นคำของเจ้าคุณราชทูตจริงดังเขาลือหรือเป็นคำประดิษฐ์ของผู้อื่นเล่าให้ฟังไม่แน่ใจ. ถ้าแม้นยังมีผู้ใดที่สงสัยในคำพูดของท่านราชทูตว่าน่าจะเป็นคำพูดของผู้เรียบเรียงเรื่องละกะมัง ข้าพเจ้าจะขอให้ท่านผู้นั้นได้โปรดระลึกหน่อยว่า ถ้าไม่เป็นคำของเจ้าคุณราชทูตโดยแท้ จริงดังที่ข้าพเจ้าอ้างแล้ว ข้าพเจ้าจะได้มีหน้าถึงกับให้หนังสือ


๓๕ นี้แก่ราชทูตเองเป็นที่ระลึกแห่งการคุ้นเคยกันแลหรือ แท้จริงข้าพเจ้าได้ส่งให้ท่านราชทูตทั้ง ๔ เล่ม ๓ เล่มก่อนข้าพเจ้าได้ให้ราชทูตนานแล้ว เมื่อท่านยังไม่ถึงเวลาจะกลับไปเมืองไทยและเล่มที่ ๔ คือเล่มนี้ข้าพเจ้าได้รีบพิมพ์เสร็จแล้วก็ได้ส่งไปให้ท่านที่เมืองแบรสต์ก่อนที่ท่านจะลงเรือไป ก็เมื่อฉะนี้แล้วถ้าข้าพเจ้าได้คิดประดิษฐ์เรื่องใดเรื่องหนึ่ง หรือคำใดคำหนึ่งซึ่งเจ้าคุณราชทูตมิได้กล่าวจริงดังข้าพเจ้าว่า ข้าพเจ้าจะมีหน้าให้ท่านดูก่อนได้หรือ ขอท่านโปรดตรองดูหน่อย อีกประการหนึ่งเล่าถ้าจะแก้ว่า :- "อ๋อถึงให้ดูก่อนก็จะเป็นไรไป เจ้าคุณราชทูตจะรู้หรือไม่รู้น้ำหนักในคำของท่าน เราก็ไม่รู้" ฉะนี้ ข้าพเจ้าจะขอแถมท้ายอีกหน่อยหนึ่งว่า หนังสือรายการนี้ ใช่ว่าข้าพเจ้าจะได้พิมพ์งุบงิบซุกซ่อนแต่ในพวกกันเองเมื่อไร ข้าพเจ้าได้พิมพ์ขายเป็นการเปิดเผยประการหนึ่งและอีกประการหนึ่งข้าพเจ้าได้ถวายและให้เป็นของระลึกแก่ท่านผู้หลักผู้ใหญ่ผู้มีส่วนเกี่ยวกับเรื่องนี้โดยตรง และท่านเหล่านั้นก็ล้วนเป็นผู้รู้เรื่องความเป็นจริงในเรื่องนี้โดยตลอดต้นตลอดปลาย ทั้งเป็นผู้รู้ภาษาหาผู้เสมอเหมือนไม่มีในสมัยนี้ด้วย ถ้าเป็นคำประดิษฐ์ข้าพเจ้าจะหน้าด้านถึงกับเอาหนังสือนี้ไปให้หรือ เมื่อเจ้าของเห็นชื่อของตนมีอยู่ในรายงานนี้ก็เป็นธรรมดาจะต้องอยากดูรู้เห็นว่าข้าพเจ้าเล่าเรื่องนั้นอย่างไร ก็ถ้าว่าข้าพเจ้ามิได้เล่าไปตามที่ท่านเหล่านั้นได้ยินแก่หูรู้แก่ตาแล้ว เขาจะมิโต้เถียง

๓๖ ข้าพเจ้าแลหรือ และถ้าเขาจับผิดข้าพเจ้าได้ ข้าพเจ้าจะเอาหน้าไปไว้ที่ไหนขอโปรดนึกดูบ้าง. แท้จริงเจ้าคุณราชทูตนี้ ถึงจะสรรเสริญว่าเฉลียวฉลาดสักปานใดก็ไม่เกินกว่าความเป็นจริง เช่นท่านยอพระเกียรติยศก็มิใช่ว่าหลับตาชมเรื่อยไปเมื่อไร ท่านมิใช่คนสอพลอเลย ท่านออกปากสรรเสริญใคร มีในหลวงเป็นต้น ท่านสรรเสริญจำเพาะแต่ในสิ่งที่เป็นจริงที่เห็นแก่ตาได้ทั้งนั้น แต่ความฉลาดของท่านปรากฏตรงที่ว่าท่านฉลาดเลือกเฟ้นสิ่งที่น่าชมต่างหาก สิ่งที่บางคนแลไม่เห็นท่านก็หยิบขึ้นมาพรรณนาทันที เพราะเหตุฉะนี้ถ้อยคำที่ท่านยอพระเกียรติยศไม่ใช่ยอจนเหลิงเลย และที่ท่านชอบว่าบ่อย ๆ ว่า คำเล่าลือถึงบุญบารมีของพระบาทสมเด็จพระเจ้า หลุยส์มหาราชเจ้ายังแพ้แก่ความเป็นจริงนั้น ก็เพราะท่านเชื่อมั่นในใจว่าเป็นดังนั้น เพราะท่านไม่เคยนึกฝันเลยว่า บุญบารมีของพระองค์จะเป็นถึงเพียงนี้จริง. ก่อนที่ข้าพเจ้าจะลงเอยยังจำเป็นที่ข้าพเจ้าจะกล่าวถึงท่านอุปทูต ตรีทูตด้วยบ้างสักเล็กน้อย เพราะกิจลักษณะของท่านทั้งสองผู้เป็นตำแหน่งรองนี้ ไม่ค่อยได้มีโอกาสกล่าวถึงกี่มากน้อยท่านอุปทูตนั้นเป็นคนเชี่ยวชาญชำนาญการไปมาในต่างประเทศมาก เป็นคนมีนิสสัยซื่อตรงเหลือที่จะกล่าวให้เข้าใจได้ ท่านเกลียดการประจบตลบตะแลงต่าง ๆ ท่านเป็นคนตรงไปตรงมา


๓๗ ไม่มีอุบายเล่ห์กะเท่อย่างที่เขาว่าคดในข้องอในกระดูก ดูท่านเป็นคนซื่อตรงที่สุด และท่านเปนคนมีใจซื่อตรงสมกับที่ปรากฏให้เห็นทุกอย่างทุกประการ ส่วนสติปัญญาเฉลียวฉลาดของท่านก็ต้องรักษาเป็นคมไว้ในฝัก เพราะหน้าที่ของท่านเป็นเพียงอุปทูต ไม่ได้มีโอกาสที่จะแสดงให้ปรากฏเด่นเหมือนเจ้าคุณอัครราชทูตซึ่งไม่ว่าไปไหนมาไหนเป็นผู้ที่ต้องออกหน้ารับธุระแสดงให้เห็นให้ฟังอยู่ทุกคราว. ส่วนตรีทูตละ ก็ยิ่งมีโอกาสน้อยกว่าอุปทูตอีกในการที่จะแสดงความสามารถของท่าน ถ้าจะว่าไปแล้วก็สักแต่ว่าท่านได้รับตำแหน่งเป็นราชทูตมาเท่านั้น ท่านรักษาตำแหน่งเป็นที่ ๓ ในโอกาสต่าง ๆ ไปไหนมาไหนก็ไปมาด้วยกันกับทูตใหญ่เท่านั้น ที่จริงท่านยังหนุ่มมากอยู่ ความสามารถยังมิได้ปรากฏขึ้นที่ไหน แต่อาศัยเหตุที่บิดาของท่านเคยเป็นราชทูตไปเจริญทางพระราช ไมตรีที่พระราชสำนักปอร์ตุคาลมาแล้ว จึงนับเหมือนว่าท่านเป็นเชื้อชาติราชทูต พระเจ้ากรุงสยามจึงทรงแต่งตั้งให้เป็นตรีทูตมาเพื่อดูแลการงานเมือง คล้าย ๆ กับให้มาฝึกซ้อมมือซ้อมใจให้เป็นราชทูตตามตระกูลต่อไปข้างหน้า. สิ่งที่ทำให้ชาวฝรั่งเศสพากันพิศวงมากในเรื่องราชทูตไทยได้มาเมืองฝรั่งเศสคราวนี้ มิใช่จำเพาะเพราะเจ้าคุณราชทูตเป็นคนสามารถราชการบ้านเมืองและเป็นเจ้าแห่งความเฉลียวฉลาด


๓๘ ไหวพลิบดังว่ามาแล้วก็หามิได้ ข้อสำคัญที่ทำให้ชาวเราพากันพิศวง มาก ก็เพราะ เป็น คราว แรก ที่ราช ทูตานุทูต ของพระมหา กษัตริย์ฝ่ายบุรพทิศได้มาเจริญทางพระราชไมตรีกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของเรา แต่คิดไปมาถึงพระราชกิจอันไม่น่าจะสำเร็จ แล้วอาศัยพระบารมีเป็นที่พึ่งกลับมาเป็นผลสำเร็จให้ทันตาเห็นฉะนี้ดูเป็นที่มหัศจรรย์ แต่เมื่อระลึกถึงการที่พระองค์ทรงบันดาลให้พระมหากษัตริย์เมืองไกลเช่นกรุงสยามมีพระราชประสงค์จะร่วมพระราชสัมพันธมิตร์ไมตรีกับพระองค์ ซึ่งกษัตริย์ประเทศฝรั่งเศสแต่ปางก่อนยังไม่เคยบันดาลให้เป็นไปได้จนสำเร็จเหมือนครั้งนี้แล้ว ก็หายเป็นที่มหัศจรรย์อยู่เอง.

(ลงนาม) เดอวิเซ






ประวัติของออกพระวิสุทธสุนทร (โกศาปาน) ราชทูต ของสมเด็จพระนารายณ์

แถลงการณ์ เรื่องทูตไทยที่ลงในหนังสืออุโฆษสมัยนั้น ได้ความว่าถึงอวสานไม่ทันใจของท่านผู้อ่านหลายคน แท้จริงมิใช่เพราะผู้แปลแกล้งขยายความให้เรื่องยืดยาวออกไปเลยตรงข้าม มีหลายแห่งซึ่งฉะบับเดิมกล่าวพิสดาร ผู้แปลตัดหมด ฉะบับเดิมในภาษาฝรั่งเศสมีอยู่ถึง ๔ เล่ม หากว่าในบรรดาท่านผู้อ่านมีใครใฝ่ใจในโบราณคดีจะไปสืบสวนสอบทานดู กั บ ต้ น ฉะบับ ที่ หอ พระสมุด วชิรญาณ สำหรับ พระนครจะเห็น ได้ว่า บางแห่งถูกตัดออกถึง ๒๐ หน้าติดกันก็มี การที่ได้ตัดออก เสียเช่นนี้ผู้แปลได้บอกความจำนงไว้แต่แรกแล้วว่า มิใช่ต้อง การซ่อนความที่มีอยู่ในต้นฉะบับเลย แต่ตอนใดที่เป็นพลความเช่นคำรำพันถึงวังนี้วังโน้น ว่ามีลักษณะสัณฐานอย่างนี้อย่างนั้นก็ได้ตัดออกเสียบ้าง เก็บเอาไว้แต่ที่เป็นเนื้อเรื่องเกี่ยวกับ




๔๒ การง่าย เพราะตำราโบราณในสมัยราชทูตนั้นทุกวันนี้ค่อนข้างจะหายากอยู่สักหน่อย และถึงแม้จะค้นหาได้บ้างบางฉะบับก็ไม่สู้เหมาะแก่ความต้องการนัก เพราะโดยมากเป็นหนังสือฝรั่งซึ่งผู้เขียนในเวลานั้นมิได้มุ่งหมายให้ชนชั้นหลังรู้จำเพาะเรื่องราชทูตเลย ที่มีกล่าวถึงบ้างก็เป็นการบังเอิญ โดยกล่าวพาดพิงไปถึงในบางแห่งบางรายเท่านั้น ส่วนตำนานข้างไทยเล่าก็ยิ่งอัตคัด มีน้อยกว่าตำนานฝรั่งไปเสียอีก เพราะหลักฐานโบราณคดีในเมืองไทยยับเยินศูนย์หายไปเสียมากครั้งกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พะม่าข้าศึก ๆ เผาบ้านเมืองให้วินาสแทบจะไม่มีอะไรเหลือไว้เป็นหลักพงศาวดาร ต้องอาศัยความทรงจำของคนโบราณช่วยกันจดใหม่ตามที่รู้ได้ยินได้ฟังมา แต่เป็นธรรมดาของการเขียนพงศาวดารชะนิดนี้ ต้องบกพร่องมากมายก่ายกอง มีตกหล่นหายศูนย์หรือสลับหน้าเป็นหลัง ๆ เป็นหน้าจนออกยุ่ง ทำให้ตำนานใหม่เหล่านี้เลยเป็นตำนานผิด ๆ ถูก ๆ ไม่ค่อยจะน่าเชื่อตลอด เพราะเหตุดังอธิบายมานี้แล้ว ถึงแม้ประวัติของท่านราชทูตซึ่งตั้งใจจะเรียบเรียงเป็นชิ้นเป็นอันจากหนังสือโบราณทั้งไทยและต่างประเทศเท่าที่ข้าพเจ้าค้นหามาได้นี้ จะยังไม่เป็นประวัติที่บริบูรณ์ดี ต้องขอท่านผู้อ่านโปรดระลึกว่า ธรรมดาผู้สร้างบ้านเรือน ถ้ามีเครื่องมือหยาบทั้งอิฐปูนและตัวไม้


๔๓ เครื่องสัมภาระก็มีไม่ครบมือจะสร้างบ้านใหญ่โตระโหฐานไม่ได้อยู่เอง แต่ถึงจะสร้างให้งดงามใหญ่โตไม่ได้ดังใจนึก เพียงสร้างกะท่อมน้อย ๆ พอได้พักอาศัยร่มเย็นชั่วคราวหนึ่งก็ยังนับว่าดีกว่าไม่มีบ้านอยู่เสียเลย นี่ฉันใดก็ฉันนั้น สำหรับการกล่าวประวัติของออกพระวิสุทธสุนทรราชทูตของสมเด็จพระนารายณ์ด้วย









พระเจ้ากรุงฝรั่งเศสทรงยกย่องราชทูต ในพระราชสาสน์ตอบ

เมื่อราชทูตจะกลับมาเมืองไทยนั้น นอกจากเครื่องราชบรรณาการซึ่งพระเจ้าแผ่นดิน เจ้านายและเสนาบดีฝรั่งเศสฝากมาถวายตามประเพณีบ้านเมืองที่เป็นไมตรีกันราชทูตยังเชิญพระราชสาสน์ตอบของพระเจ้ากรุงฝรั่งเศส สำหรับพระเจ้ากรุงสยามมาด้วย ในพระราชสาสน์นั้นมี กล่าวถึงการผูกมิตรไมตรีกับชักชวนในหลวงเมืองไทยให้ทรงเลื่อมใสในศาสนาคริศตังเพื่อพระองค์จะได้นำความสุขมาสู่พระองค์และชาติของพระองค์ในอิธโลกและปรโลก ทั้งทรงฝากฝังราชทูตและชาวฝรั่งเศสพร้อมทั้งคริศตังอื่นที่มีอยู่ในพระราชอาณาจักรสยาม แล้วก็เลยพรรณนาถึงคุณความดีของราชทูตไทยเมื่อยังอยู่ในพระราชสำนักฝรั่งเศสเป็นใจความว่า:- " ......การที่พระเจ้ากรุงสยามทรงพระประสงค์ที่จะผูกไมตรีกับเราเจ้าแผ่นดินฝรั่งเศสนี้ ไม่มีสิ่งใดอาจช่วยให้สำเร็จได้สะดวกเท่ากับการที่พระองค์ทรงเลือกตั้งขุนนางไทยที่มีอัธยาศัยและความสามารถในราชการ ส่งมาปรึกษาการเมืองตรงต่อเราทีเดียว และราชกิจอันนี้ พระองค์ก็ได้ทรงกระทำสมใจเรานึกอยู่แล้ว .



๔๕ "อนึ่ง ว่าแต่การที่พระองค์ทรงเลือกสรรราชทูตส่งมายังเราคราวนี้อย่างเดียว ก็เป็นพะยานอ้างไปถึงพระปรีชาญาณอันสุขุมของพระองค์ดีกว่าคำกล่าวเล่าลือใด ๆ เรามาสังเกตดูลักษณะมรรยาทแห่งราชทูตของพระองค์นี้ รู้สึกว่าเป็นคนรอบคอบรู้จักปฏิบัติราชกิจของพระองค์ถ้วนถี่ดีมาก หากเราจะมิฉวยโอกาสนี้เพื่อเผยแผ่ความชอบแห่งราชทูตของพระองค์บ้าง ก็จะเป็นอยุตติธรรมไป เพราะราชทูตได้ปฏิบัติล้วนแต่ที่ถูกใจเราทุกอย่าง โดยแต่น้ำคำที่พูดออกมาทีไรแต่ละคำ ๆ ดูก็น่าปลื้มใจและน่าเชื่อทุกคำ ต่อเมื่อเรามาได้ยินได้ฟังคำกล่าวของราชทูต จึงได้หยั่งรู้ในน้ำพระทัยของพระองค์ชัดเจนว่า พระองค์ทรงไว้พระทัยในตัวเราสักเพียงใด เลยเป็นเหตุบันดาลให้เราเองนึกอยากตอบสนองพระราชไมตรีจิตต์ของพระองค์นั้น โดยมิพักจะต้องระวังหน้าระวังหลังชั่งดูน้ำพระทัยของพระองค์เสียก่อนกลับเป็นที่ยินดีอยากผูกไมตรีกับพระองค์ยิ่งเร็วเป็นยิ่งดีสำหรับทั้งสองพระนคร ... เหตุฉะนี้สิ่งทุกอย่าง ที่ราชทูตของพระองค์ได้ร้องขอต่อเราในนามของพระองค์เช่นขอให้ส่งบาดหลวงที่ชำนาญการวิชชา สำหรับไปแผ่ความรู้แก่พลเมืองของพระองค์ เราก็ยินดีได้เลือกส่งไปให้ ๑๒ องค์ และได้ให้โดยสารไปกับราชทูตของพระองค์ด้วย หวังว่าพระองค์จะทรงเอาพระทัยใส่ทะนุบำรุงท่านทั้งหลายเหล่านี้ซึ่งเป็นผู้ที่เคารพยิ่งของเรา อนึ่งที่พระองค์


๔๖ ทรงขอทหารของเราสำหรับช่วยป้องกันมิให้ราชศัตรูของพระองค์มาย่ำยีดินแดนของพระองค์นั้น เราก็ได้ส่งไปด้วยแล้ว พระองค์จะทรงประสงค์ใช้สอยสถานใดก็เชิญพระองค์ทรงกระทำความตกลงกับราชทูตของเราที่ส่งออกไปพร้อมกับราชทูตของพระองค์นี้เทอญ ... "


ท่านบาดหลวง เดอ ลา แชส ชมเชยราชทูต

นอกจากคำยกย่องในพระราชสาสน์ของพระเจ้ากรุงฝรั่งเศสนั้น ในสมณสาสน์ของท่านบาดหลวง เดอลาแชส หัวหน้าของคณะเยซวิตในประเทศฝรั่งเศส ซึ่งได้รับเป็นผู้รับ ๆ สั่งของพระเจ้าแผ่นดินให้จัดการบอกบุญเลือกเฟ้นพระสงฆ์เยซวิตที่เป็นปราชญ์ส่งมาเมืองไทยมีมาถวายแด่สมเด็จพระนารายณ์ ก็ยังมีปรากฏเป็นใจความเกี่ยวถึงราชทูตอีกว่า :- "...อาตมาภาพต้องขอพระวโรกาส เพื่อกล่าวอ้างถึงราชทูตของพระองค์ เป็นต้น เจ้าคุณอัครราชทูตว่า ไม่ว่าที่ไหน เจ้าคุณได้ปฏิบัติตนอย่างเฉลียวฉลาดและสุภาพเรียบร้อยทุกประการ เจ้าคุณได้เชิดชูเกียรติยศของพระองค์ให้เด่นสูง โดยมิได้แสดงกิริยาอหังการเย่อหยิ่งอวดอ้างวางโตให้เป็นที่น่ารังเกียจแก่ผู้ใดเลย ฉะนี้


๔๗ จึงเป็นที่พอใจของชาวฝรั่งเศสทั่วไป นับแต่ชั้นพลเมืองจนถึงพระเจ้าอยู่หัวเป็นที่สุด อาตมาภาพไม่อาจล่วงรู้ได้ในความคิดเห็นของเหล่าราชทูตแห่งพระองค์ แต่เป็นที่มั่นใจว่า ราชทูตทั้งหลายคงได้แลเห็นแก่ตารู้แก่ใจว่าอาตมาภาพได้เพียรพยายามอย่างที่สุดที่จะจัดหาโอกาสนำความชอบมาสู่ท่านราชทูตให้เป็นที่พอพระทัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอยู่เสมอ ทั้งนี้เพื่อบำรุงพระเกียรติยศของพระองค์ให้สมศักดิ์และเพื่อสำเร็จราชกิจของพระองค์โดยสวัสดิมงคล อาตมาภาพมีความยินดีขอถวายพระพรให้ทรงทราบว่า ตามสัตย์จริงเท่าที่อาตมาภาพได้เคยแลเห็นการต้อนรับราชทูตของต่างประเทศมาแต่ก่อน ก็ยังไม่เคยเห็นราชทูตประเทศใดได้รับเกียรติยศเป็นพิเศษเท่ากับราชทูตที่พระองค์ส่งมาเจริญทางพระราชไมตรีคราวนี้เลย ..."

ราชทูตลงเรือกลับมาเมืองไทย

ครั้นได้เวลา ฝ่ายราชทูตสยามและราชทูตฝรั่งเศส ซึ่งจะโดยสารมาเมืองไทยด้วยกัน พร้อมทั้งบาดหลวง และนายร้อยนายกองและพลทหารที่พระเจ้ากรุงสยาม ทรงขอเพื่อป้องกันบ้านเมืองของพระองค์ ต่างก็มารวมกันที่เมืองแบรสต์ แต่การที่


๔๘ จะรวบรวมคนเป็นอันมากและเครื่องอาวุธยุทธภัณฑ์ ทั้งเรือสำหรับบรรทุกมาหนทางไกลให้พรักพร้อมฉะนี้มิใช่การเล็กน้อยเลย ต้องกินเวลาเตรียมคอยอยู่ที่เมืองท่านั้นอีกนานวันกว่าจะเคลื่อนเรือออกจากท่าได้. กระบวนเรือที่จัดกันนี้ เป็นชะนิดเรือรบขนาดใหญ่ ๖ ลำท่านนายพลเรือ เดอ โวดรีกูร์ต์ เป็นผู้ดำรงตำแหน่งแม่ทัพควบคุมบังคับการเรือสิทธิขาดทั่วไปทั้ง ๖ ลำ แต่ท่านลงประจำอยู่ในเรือชื่อ เลอ คายาร์ด (ชื่อนี้คล้ายกับจะว่าเรือศรีสมรรถชัย) พร้อมด้วยคณะราชทูตานุทูตสยามทั้งสำ รับกับท่านสังฆราชเดอลียอน และบาดหลวงเดอแบส, บาดหลวงเลอบลังค์, บาดหลวงคอมีย และบาดหลวงตาชาร์ด ซึ่งเป็นล่ามเคยไปมากับราชทูต และเป็นผู้ได้จดรายงานการโดยสารจากฝรั่งเศสถึงเมืองไทย ส่วนคนอื่นนอกจากนี้ต่างก็แบ่งแยกย้ายกันลงตามลำดับ ครั้นจัดการเรียบร้อยแล้วรุ่งขึ้นวันเสาร์ที่ ๑ เดือนมีนาคม ประมาณเช้า ๘ นาฬิกา ปีคริสตศักราช ๑๖๘๗ ก็ได้ชักใบออกไป.


ราชทูตดูสุริยคราสตามทางกลับมา

เหตุการณ์ในระยะทางกลางทะเลอัตลันติก ก็ได้เป็นไปตามธรรมเนียมเรือใบครั้งโบราณ บางวันได้ลมดีบ้าง บางวันขาดลม

๔๙ บ้าง เดิรช้าเร็วไม่เสมอกันดังนี้ตลอดถึงสองเดือนเศษ จึงได้เกิดคำโจษกันไปมาในเรือระวางพวกบาดหลวงด้วยกัน ว่าไม่ช้าจะมีสุริยคราสปรากฏอย่างเต็ม ขณะที่เรือถึงแถวตรงเกาะคาบแวรด์ เกาะคีเน ด้วยเคยได้ยินมงเซียร์คาสสินี เจ้ากรมว่าที่พระโหราธิบดี ว่าจะมีแน่ แล้วคำโจษนั้นก็เงียบหายไป ไม่มีใครสนใจต่อไป เพราะเข้าใจไปตามกันว่าถึงจะมีสูรย์จริง ก็น่าจะมิได้เห็นเสียแล้ว ค่าที่เรือคงจะแล่นเลยเขตต์ที่พอจะแลเห็นได้. ส่วนราชทูตสยามเล่า พอได้ยินแว่ว ๆ ว่าไม่ช้าจะมีสุริยคราส ต่างก็ผูกใจอยากจะรู้ให้แน่ว่าจะมีจริงหรือไม่จริง และถ้ามีแล้วคนในเรือจะเห็นด้วยหรือไม่ ถึงจะบอกกับท่านเท่าไรว่าน่ากลัวจะไม่ได้แลเห็นเสียแล้วท่านก็ยังไม่สงบ รบเร้าแต่จะให้รู้เหตุผลทั้งปวง ว่าถ้ามีจริงเหตุใดจึงจะมิได้เห็น. คุณพ่อคอมียเห็นท่านราชทูตผูกใจเรื่องสุริยคราสดังนั้น ก็รับ ว่าจะคิดคำนวณดูแล้วจะบอกให้ แล้วคุณพ่อก็นั่งคิดตำราโหรดูทั้งคืนทั้งวันหลายวันจนรู้แน่ว่า วันที่จะมีสุริยคราสนั้นเรือจะแล่นประมาณไปถึงไหน และอาจเห็นสุริยคราสสนัดได้แค่ไหน ครั้นคิดเสร็จแล้ว คุณพ่อเขียนแผนที่มีทั้งโลกทั้งพระอาทิตย์พระจันทร์และดวงดาวพร้อมเสร็จ ทั้งนี้เพื่อแสดงให้ท่านราชทูตเข้าใจในเรื่องสุริยคราสว่าเป็นไปอย่างไร เพราะท่านยังหลงถือตำราเก่าที่ว่าสุริยคราสก็คือราหูกินเดือนนั้นเอง. ๗

๕๐ ท่านราชทูตเห็นแผนที่นั้น ทั้งฟังคำอธิบายของคุณพ่อคอมียเข้าใจดีก็เลยดีใจใหญ่ด้วยที่ตนจะได้แลเห็นสุริยคราส เพราะเป็นธรรมดาของท่านต้องอยากดูอะไรต่ออะไรที่เกี่ยวกับโลกอยู่เสมอ แต่นั้นมาท่านราชทูตแปลกใจในความสามารถของคุณพ่อคอมีย ที่สามารถคาดสุริยคราสได้อย่างแม่นยำถึงเพียงนี้ แต่ที่จริงในใจท่านยังสงสัยอยู่ว่า จะแน่หรือไม่แน่อย่างที่คุณพ่อทำนายไว้ก็ยังไม่รู้ เพราะแผนที่ของคุณพ่อถึงกับกำหนดว่าวันนั้น เท่านั้นโมง เท่านั้นมินิต เรือจะอยู่ที่ตรงนี้ตรงนั้น โลกกับพระอาทิตย์และดวงจันทร์ ก็จะคาบเกี่ยวปิดบังกันอย่างนี้อย่างนั้น กล่าวละเอียดอย่างกับตาเห็น ทำนายแม่นราวกับไปปรึกษาพระอาทิตย์มาก่อน. ครั้นถึงวันที่ ๑๑ เดือนพฤษภาคม ปี ๑๖๘๗ ซึ่งเป็นวันทำนายว่าจะมีสุริยคราส ขณะนั้นเรือราชทูตแล่นมาถึงดีกรีที่ ๒๓ ใต้เส้นสูนย์กลางของโลก ตรงกับดีกรีที่ ๓ ไปทางตะวันตกถัดจากเส้นเมริเดียนของกรุงปารีส ซึ่งผ่านเกาะ ๆ หนึ่งในแถบนั้นเรียกชื่อเกาะเหล็ก มูลนาฑีแห่งสุริยคราสนั้นเริ่มจับปรากฏฉายานิมิต คือสังเกตเห็นดวงอาทิตย์ค่อย ๆ แหว่งไปทีละเล็กทีละน้อยตั้งแต่เวลาเช้า ๘ นาฬิกา ๔๘ นาฑี และเป็นสรรพคราสจับเต็มที่มิดดวง ตรงกับ ๑๐ นาฬิกา และดวงอาทิตย์เป็นโมกข บริสุทธิ์ปรากฏเห็นเต็มดวงใหม่เป็นเวลา ๑๑ นาฬิกาตรง แต่


๕๑ ราชทูตขึ้นไปคอยดูอยู่บนดาษฟ้าเรือกำปั่นตั้งแต่เช้ามืดแล้ว เมื่อท่านราชทูตเห็นมีสูริย์จริง เห็นจริง สมดังที่คุณพ่อคอมียทำนายไว้นั้น ก็ชมเชยสติปัญญาของคุณพ่อว่าเก่งมาก กระบวนเลขผานาฑีแล้วไม่มีใครเหมือน ท่านเป็นปราชญ์แท้.


รัฐประสาสน์ของเมืองไทย ที่ให้ฝรั่งเศสเข้ามาตั้งอยู่ในกรุงสยาม

ต่อไปนี้การเดิรเรือถึงคาบอาฟริกาใต้ก็ดำเนิรกันไปอย่างจืดชืดตามธรรมดาของการเดิรเรือเมื่อครั้งก่อน อันว่าแหลมอาฟริกาใต้ในเวลานั้นหาใช่เป็นเมืองขึ้นของอังกฤษดังทุกวันนี้ไม่ เวลานั้นเป็นของฮอลันดา ซึ่งเป็นศัตรูคู่วิวาทของฝรั่งเศสในสมัยนั้นตลอดรัชชกาลของพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ เวลานั้นฮอลันดามีอำนาจในเบื้องบุรพทิศแถบกรุงสยามนี้ คล้ายกับอังกฤษในสมัยนี้ และฮอลันดามีนิสสัยคล้ายกับชาติทั้งหลายเมื่อชตาขึ้นคือชอบตีเมืองนี้เมืองโน้น ซึ่งอยู่ใกล้เคียงกับเกาะชะวาสุมาตรา ซึ่งเป็นเมืองขึ้นของตนอยู่แล้ว. ในข้อนี้ ในหลวงเมืองไทยหลายพระองค์กับเสนาบดีผู้ฉลาดหลายท่านแลเห็นภัยข้างหน้าสำหรับเมืองไทย ว่าถ้าขืนอยู่

๕๒ แต่ลำพังตัว ไม่มีชาติใหญ่มาแผ่รัศมีตั้งขวางหน้าขวางตาชาวฮอลันดาไว้บ้าง น่ากลัวว่ามิวันใดวันหนึ่งฮอลันดาคงฮุบเอาเมืองไทยไปเป็นเมืองขึ้นเป็นมั่นคง สมเด็จพระนารายณ์เห็นได้โอกาสก็ทรงดำเนิรราโชบายอย่างกษัตริย์ที่ฉลาด คือพระองค์ทรงเชิญฝรั่งเศส ซึ่งเป็นศัตรูคู่วิวาทกับฮอลันดาเข้ามาตั้งไว้ในเมืองไทย ทรงพระราชทานฐานที่บ้านเมืองเป็นสิทธิขาดในบางแห่ง เช่นที่ท่าเมืองมฤทแห่งหนึ่ง ที่ท่าเมืองสงขลาแห่งหนึ่ง ด้วยทรงพระดำริว่า ถ้าฝรั่งเศสมาอยู่ครอบครองที่เหล่านี้แล้ว เขาคงสร้างค่ายคูประตูหอรบไว้อย่างมั่นคงถาวรป้องกันมิให้เมืองเหล่านั้นตกไปอยู่ในอำนาจของศัตรูแห่งตนจนสุดสามารถ และส่วนเมืองไทยเล่า เมื่อเมืองชายทะเล ซึ่งเป็นเหมือนหนึ่งประแจไขประตูให้ศัตรูจู่เข้ามาในเมืองสยาม เป็นกรรมสิทธิอยู่ในอำนาจของชาติใหญ่ที่เป็นไมตรีกัน และซ้ำเป็นศัตรูของศัตรูแห่งตนอยู่ด้วย ก็ค่อยนอนตาหลับสบายหน่อย มิฉะนั้นก็น่ากลัวการจะไม่ตลอดรอดฝั่งไปถึงไหน. ก็ที่ฝรั่งเศสมาตั้งอยู่เมืองไทยครั้งนั้น ฮอลันดาก็รู้อยู่เต็มใจเหมือนกันว่า มาเป็นอุปสรรคขัดขวางทางดำเนิรมิให้เขากลืนเมืองไทยกินตามสบาย แต่จะทำไมกันไม่ได้โดยทางตรงได้แต่รังแกนิดรังควาญหน่อยเมื่อโอกาสมาถึงเท่านั้น เป็นต้นเมื่อเรือของฝรั่งเศสต้องรอพักตามเมืองท่าที่เป็นของฮอลันดา


๕๓ เช่นที่คาบอาฟรีกาใต้และเมืองบาตาเวียนี้ ซึ่งจำเป็นต้องแวะทุกเที่ยวมาเมืองไทย ทั้งสองเมืองนี้ถ้าฝรั่งเศสผ่านมาขอขึ้นบกบ้าง ขอบรรทุกน้ำกินบ้าง ขอซื้อเข้าของบ้าง ฮอลันดาไม่ค่อยยอมง่าย ๆ.


ราชทูตถึงคาบอาฟริกาใต้

เมื่อราชทูตไทยผ่านคาบออฟคุดโฮปคราวนี้ อาศัยที่เจ้าเมือง กับคุณพ่อ ตาชารด์ เป็นคนคุ้นเคยชอบพอกันส่วนตัว เจ้าเมืองมิได้แสดงความอิดหนาระอาใจแก่คนที่มากับราชทูตเลย ซ้ำยินดีอนุญาตให้เรือฝรั่งเศสทั้ง ๖ ลำรอพักสำหรับบรรทุกน้ำและรักษาคนเจ็บที่เป็นบิดกันมากได้นานตามชอบใจ ฉะนี้เรือทั้ง ๖ ลำจำเป็นต้องรออยู่ที่คาบอาฟรีกาใต้ ตั้งแต่วันที่ ๑๑ ถึง วันที่ ๒๕ เดือนมิถุนายน ในระวาง ๑๒ วันเศษที่เรือรอพักอาศัยในอ่าวนั้น ราชทูตไทยและฝรั่งเศสกับบาดหลวงและคนอื่นที่มาด้วยกัน ต่างก็ได้ฉวยโอกาสนั้นสำหรับเขียนจดหมายฝากไปกับเรือชื่อ ลามาลีญลำ ๑ ในจำนวนเรือ ๖ ลำที่มาด้วยกันนั้นซึ่งจะกลับไปบอกข่าวยังประเทศฝรั่งเศสว่า ขบวนเรือราชทูตแล่นไปถึงแหลมอาฟรีกาใต้โดยปราศจากอันตรายแล้ว.

๕๔ จดหมายที่ราชทูตไทยเขียนจากอาฟรีกาใต้ฝากไปยังเมืองฝรั่งเศสคราวนั้น ยังมีปรากฏอยู่ ๓ ฉะบับ ๆ ๑ ถึง ฯพณฯท่านมาร์กีส์ เดอ เช เญอ แล เสนาบดีของพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ อีกฉะบับ ๑ ถึงมงเซียร์ เดอลาญีนายกกรรมการของบริษัทค้าขายในตะวันออก ชื่อกงปาญีแดสแอนด์ และอีกฉะบับ ๑ ถึงท่านบาดหลวง เดอลาแชส หัวหน้าเยซวิตนิกาย ผู้จัดการส่งบาดหลวงมาเมืองไทย. จดหมายฉะบับที่ ๑ และที่ ๒ นั้น ต้นร่างเดิมที่ท่านราชทูตเขียนเองเป็นภาษาไทย ทุกวันนี้ก็ยังเก็บรักษาไว้ในห้องสมุดของกระทรวงประเทศราชแห่งประเทศฝรั่งเศส ท่านอาจารย์เซแดส บรรณารักษ์หอพระสมุดวชิรญาณสำหรับพระนครได้ถ่ายแบบจำลองจากต้นฉะบับเดิม มาประดิษฐานไว้ในหอพระสมุดที่กรุงเทพ ฯ ใครจะใคร่เข้าไปชมดูเป็นขวัญตาก็ได้ จะเห็นลายมือและสำนวนโวหารของคนไทยในสมัยของสมเด็จพระนารายณ์ว่าผิดแผกกับสมัยนี้อย่างไร ทั้งจะมีประโยชน์ทางอ้อมอีกทางหนึ่ง คือสำหรับคนที่ยังเป็นสองจิตต์สองใจในเรื่องราชทูตของพระนารายณ์นี้ ไม่รู้แน่ว่าเป็นของจริงหรือของประดิษฐ์คิดเล่นสนุก ๆ เมื่อเห็นลายมือไทยโบราณแท้ ๆ ฟังสำนวนไทยโบราณแท้ ๆ ก็จะตัดความสงสัยดังกับปลิดทิ้ง เพราะว่าเมื่อเห็นพะยานหลักฐานชัดเจนดังนั้น ก็หมดช่องเถียงเบี่ยงบ่าย


๕๕ เสียสิ้น ไม่เหมือนเรื่องแปลจากภาษาฝรั่ง ซึ่งอาจมีผู้เข้าใจว่าถูกประดิษฐ์ติดเติมตามอำเภอใจของผู้เรียบเรียงและของผู้แปล เช่นดังที่ข้าพเจ้าเคยได้ยินผู้มีชื่อกล่าวหาว่า "รายงานราชทูตนี้ สำนวนโวหารช่างอ่อนหวานกะไร มัวแต่ยกย่องราชทูตตะพึดตะพือไป ดูท่าพี่ฝรั่งแกจะเล่นลิ้นสนุก ๆ ไปตามเพลงละกะมัง" คำติเตียนเหล่านี้ ถ้าพิเคราะห์ดูแล้วไม่ค่อยจะมีน้ำหนักอะไรกี่มากน้อย เพราะผู้เขียนรายงานต่าง ๆ เหล่านั้นล้วนเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ในสมัยของเขา เขาจะกล้าประดิษฐ์ความให้เสียชื่อเสียงของกันและกันง่ายอย่างนั้นเจียวหรือ เห็นทีจะเป็นไปไม่ได้ เขารู้ความมาอย่างไร เขาก็พิมพ์ลงอย่างนั้น แต่อาศัยเหตุที่สมัยของพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ เป็นสมัยติดสำนวนอ่อนหวานกว่าที่หูของเราสมัยนี้เคยได้ยิน จึงฟังดูออกจะหวานมากเกินไป แต่ถึงนิยมใช้สำนวนอ่อนหวานฉะนั้น มิใช่ว่าเขามิรักษานิติธรรมแห่งนักเขียนเมื่อไร เขารักษาอย่างเต็มที่ ถึงเขายอราชทูตมากก็จริงอยู่ มิใช่ว่าเขายอจนเหลิงเจิ้ง แต่ที่จะยอจนจับโกหกได้อ่านกี่ทบกี่ทวนไม่พบเลย ดูช่างผิดกันไกลกับรายงานไทยตามที่มีปรากฏในพระราชพงศาวดารซึ่งยังใช้กันอยู่ทุกวันนี้เป็นไหน ๆ ในพระราชพงศาวดารเสียอีกยังมีที่เหลือกลืนอยู่เป็นหลายข้อ ตัวอย่างเช่นตอนที่กล่าวว่าอัครราชทูตสยามได้รับภรรยาจากพระ


๕๖ เจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ ถึงกับมีบุตรชายด้วยกันคนหนึ่งหน้าตาเหมือนกับพ่อ ข้อนี้อย่าว่าแต่ว่าผิดวิสัยประเพณีกษัตริย์ฝรั่งเศสจนไม่ต้องวินิจฉัยเลย เพียงบอกให้รู้ว่าราชทูตอยู่กรุงปารีส ๕ เดือนเท่านั้น จะทันได้เห็นหน้าบุตรจำมาเล่าให้พวกพ้องฟังที่ไหน อีกตอนหนึ่งตรงที่ว่าพวกคนไทยที่ไปกรุงปารีสครั้งนั้นได้สำแดงวิทยาคมหน้าที่นั่ง โดยให้ฝรั่งยิงด้วยปืนแล้วบันดาลให้ลูกปืนตกลงมาในถาดจำเพาะหน้า และอะไรต่ออะไรอีกมากมาย ข้อเหล่านี้ใครจะเชื่อได้ง่าย ๆ อย่าว่าแต่คนสมัยนี้จะเชื่อยากเลยถึงตัวท่านราชทูตเองคงไม่หลงถึงกับลงเรื่องพรรค์นี้ไว้อวดในรายงานของตน น่ากลัวท่านจะมิได้ปริปากเสียเลยด้วยซ้ำ เรื่องเหล่านี้คงได้เกิดแซมแทรกเข้ามาในพระราชพงศาว ดารเมื่อภายหลังอายุของท่านเสียมากกว่าอย่างอื่นเป็นแน่นอน อย่างไรก็ตามเมื่อเทียบตำนานฝรั่งและตำนานไทยในเรื่องเดียวกันนี้ ดูก็ยังจะพอเชื่อตำนานฝรั่งหวาน ๆ โดยไม่สู้จะต้องฝืนใจเท่าไร ค่าที่จับผิดไม่ได้ ส่วนรายงานไทยยังมีที่สงสัยมาก. ขอยุตติเรื่องนี้ที เพื่อจะได้นำจดหมายที่ท่านราชทูตได้เขียนเองเป็นภาษาไทยมาให้ผู้อ่านฟังดู ว่าสำนวนโวหารและอักขระที่ท่านนิยมใช้ในเวลานั้นว่าเป็นอย่างไรกัน.



๕๗ จดหมายฉะบับต้น อักขระเดิม

?หนังสือออกพระวิสุทสุนธ่รราชทูต ออกหลวงกัลยาราชไมตรี อุปทูต ออกขุนศรีวีสารว่าจา ตรีทูต มาเถิงทานมูสูสิงแฬ้ ผูเปนเสนาบดีผู้ให่ญแหงพระมหากระษัตราธีราชเจ้าลุยเลกรัง ด้วยอัตโนทังปวงมาเถิงถานทืงนีแลไดรับคำนับแลนัปถือแลเอาใจไสพีทักรักษาแหงชาวฝรังเสดทังปวงซืงเข้าไปสงอัตโนเถิงกรุ่งศรีอยุทยานั้น จืงในท่าทางอันมาไกล่นั้นมีใด้มีความทุกแลมีความสนุกสบ้ายอยูมีใด้ฃาด บัดนีอัตโนใด้มีน้ำใจชืนชํมยีนดีด้วยใด้พบทาทางซืงจสำแดงแกทานฃอบใจแหงอัตโนด้วย บุนคุณฃองทานมีแกอัตโนเมีออยู่ณ่กรุงฝรังษ แลอัตโนยังรับคุณฃองทานอยูจ่นเทาทุกวันนี้ เถิงว่าทาทางนั้นมีส่ดวกก่ดี อัตโน ก จ มีใด้รู้เปนทุกเลย แลความสุกนั้นก่มีรู้ห้ายเลย ด้วยอัตโนมีอัน จ คีดเถิงสัรรพอันวีเสดซืงใดพบใดเหนณกรุงฝรังษ แลเมีออยูณกรุงฝรังษ แลสัรรพอันวีเสดนั้นก่กลุ่มอยู่แลล่สีงล่สีงนั้นชักชวนนำใจใหไปขางโนนบ้าง ข้างนี้บ้างใหรำคานใจนอยนืงแลบัดนิ่มีวันคืนอันเปลาอยู สัรรพอันตรการทังปวงนั้นอัตโนก่เรี่ยกมาในความคีดพีจารณาเหนลสีงลสีงด้วยยินดีใหสบ้ายใจ แลอัตโนจำเปนจ่ว่าแกทานตามจรืงมีคีดเหนความสนุกสบ้ายในแผนดีนนีจสนุกสบ้ายเทานืงคีดเถิงญดศักดีแหงพระมหา กระษัตร ๘ ๕๘ เจ้าผูใหญอันหาผู้ใดจแปลบุนสํมภารใหสีนมีใด ดูจนึงพระมหากรษัตราธิราชผู้เปนเจ้าแหงอัตโนใด้ตรัดแตใดสองปีสามปีแล้ว ว่าพระมหากระษัตรเจ้ากรุ่งฝรังษนีเหนสํมควนจ่เปนพระมหากรษัตรแกพระมหากรษัตรทังปวง ทัวแควนเอรอบแลความคีดทังปวงนีมีได้ออกจากปันญาอัตโนจ่นเทาบัดนี เหดช่นีเถิงวาใกล้ไปทุกวันทุกวันจ่เถิงเมีองอัตโนแลเหนมีช้ามีนานจเลิงทังนั้นก่ดี อัตโนยังคีดเถิงบานเมีองแตนอยนืงปรการนืง แม้นมีคีดเกร่งกลัวว่าจฃาดความนบนอบแลความนับถือแหงพระมหากรษัตรเจ้าผู้ใหญ่ จ ข่อแกทานให้เอาทูลแกพระมหากรษัตรเจ้าผู้ไหญกว่าอันความนับถือแลนบนอบต่อพระมหากรษัตรเจ้าผู้ไหญกว่าอัตโนจสินชีวิตร จ รักษาใวในหัวใจใหหมันค่งมีให้แพ้แกความนับถือแลนบนอบยีนดีแหงชาวฝรังเสดทังปวง แล จ อ่ดษาทำใหช่ณะทุกคนในความนบนอบนั้น อ่นึงอัตโนฃ่อแกทาน อันทานมีน้ำใจยินดีปราถหน้าบำรุงพระราชไมตรีพระมหากรษัตราธิราชเจ้าทังสองกรุ่งนีให้หมันค่งจำเรีญสืบไปในอณาคตการ อนึงทานมีนำใจยีนดีตออัตโนแตเมีอยังอ่ยูในกรุงฝรังษนันประการใด ฃ่อให้ทานมีนำใจยีนดีตออัตโนสืบไปแลอัตโนฃ่อพอรแก่พระเปนเจ้าผู้สางฟาสางแผ้นดีนฃอให้ชวยบำรุงโปรดทานให้ทานใดสำเรจตามความปรารถหนาทานจงทุกปรการ. หนังสือมา วันพุทเดีอนแปดแรมสองคำเถาะนพศ่ก สกัราช ๒๒๓๑

๕๙ จดหมายฉะบับต้น อักขระปัจจุบัน

? หนังสือออกพระวิสุทธสุนทร ราชทูต ออกหลวงกัลยาราชไมตรี อุปทูต ออกขุนศรีวิสารวาจา ตรีทูต มาถึง ท่านมงเซียร์เซเญอแล ผู้เป็นเสนาบดีผู้ใหญ่แห่งพระมหากษัตราธิราชเจ้าหลุยส์ เลอครัง ด้วยอัตโนทั้งปวงมาถึงถานที่นี้และได้รับคำนับและนับถือ และเอาใจใส่พิทักษ์รักษาแห่งชาวฝรั่งเศสทั้งปวงซึ่งเข้าไปส่งอัตโนถึงกรุงศรีอยุธยานั้น จึงในท่าทางอันมาไกลนั้นมิได้มีความทุกข์ และมีความสนุกสบายอยู่มิได้ขาด บัดนี้อัตโนได้มีน้ำใจชื่นชมยินดีด้วยได้พบท่าทางซึ่งจะสำแดง แก่ท่านขอบใจ อัตโนด้วยบุญคุณ ของท่านมีแก่อัตโน เมื่ออยู่ในกรุงฝรั่งเศส และอัตโนยังรับคุณของท่านอยู่จนเท่าทุกวันนี้ ถึงว่าท่าทางนั้นมิสะดวกก็ดีอัตโนก็จะมิได้รู้เป็นทุกข์เลย และความสุขนั้นก็มิรู้หายเลย ด้วยอัตโนมีอันจะคิดถึงสรรพอันวิเศษซึ่งได้พบได้เห็นณกรุงฝรั่งเศส และเมื่อยังอยู่ณกรุงฝรั่งเศส และสรรพอันวิเศษนั้นก็กลุ้มอยู่ และละสิ่ง ๆ นั้นก็ชักชวนน้ำใจให้ไปข้างโน้นบ้าง ข้างนี้บ้าง ให้รำคาญใจอยู่หน่อยหนึ่ง และบัดนี้มีวันคืนอันเปล่าอยู่ สรรพอันตระการทั้งปวงนั้น อัตโนก็เรียกมาในความคิดพิจารณาเห็นละสิ่ง ๆ


๖๐ ด้วยยินดีให้สบายใจ และอัตโนจำเป็นจะว่าแก่ท่านตามจริงมิคิดเห็นความสนุกสบายในแผ่นดินนี้ จะสนุกสบายเท่าหนึ่งคิดถึงยศศักดิ์แห่งพระมหากษัตริย์เจ้าผู้เป็นใหญ่ อันหาผู้ใดจะแปลบุญสมภารให้สิ้นมิได้ ดุจหนึ่งพระมหากษัตราธิราชผู้เป็นเจ้าแห่งอัตโนได้ตรัสแต่ได้สองปีสามปีแล้ว ว่าพระมหากษัตริย์เจ้ากรุงฝรั่งเศสนี้ เห็นสมควรจะเป็นพระมหากษัตริย์ทั้งปวงทั่วแคว้นยุโรป และความคิดทั้งปวงนี้มิได้ออกจากปัญญาอัตโนจนเท่าบัดนี้ เหตุฉะนี้ ถึงว่าใกล้ไปทุกวัน ๆ จะถึงเมืองอัตโน แลเห็นมิช้ามินานจะถึงทั้งนั้นก็ดี อัตโนยังคิดถึงบ้านเมืองแต่หน่อยหนึ่ง ประการหนึ่ง แม้นมิคิดเกรงกลัวว่าจะขาดความนบนอบและนับถือแห่งพระมหากษัตริย์เจ้าผู้ใหญ่ จะขอแก่ท่านให้เอาทูลแก่พระมหากษัตริย์เจ้าผู้ใหญ่ว่าอันความนับถือและนบนอบต่อพระมหากษัตริย์เจ้าผู้ใหญ่กว่าอัตโนจะสิ้นชีวิต อัตโนจะรักษาไว้ในหัวใจให้มั่นคง มิให้แพ้แก่ความนับถือและนบนอบยินดีแห่งชาวฝรั่งเศสทั้งปวง และจะอุส่าห์ทำให้ชนะทุกคนในความนบนอบนั้น อนึ่งอัตโนขอแก่ท่านอันท่าน มีน้ำใจ ยินดี ปรารถนา บำรุง พระราช ไมตรีพระมหา กษัตราธิราชเจ้าทั้งสองกรุงนี้ให้มั่นคงจำเริญสืบไปในอนาคตกาล อนึ่งท่านมีน้ำใจยินดีต่ออัตโนแต่เมื่อยังอยู่ในกรุงฝรั่งเศสนั้นประการใด ขอให้ท่านมีน้ำใจยินดีต่ออัตโนสืบไป และอัตโน


๖๑ ขอพรแก่พระเป็นเจ้าผู้สร้างฟ้าสร้างแผ่นดินขอให้ช่วยบำรุงโปรดท่าน ให้ท่านได้สำเร็จตามความปรารถนาท่านจงทุกประการ. หนังสือมาวันพุธ เดือนแปด แรม ๒ ค่ำ ปีเถาะ นพศก พ.ศ. ๒๒๓๑.


จดหมายฉะบับที่สอง อักขระเดิม

? หนังสือออกพระวิสุทสูนทร ราชทูต ออกหลวงกัลยาราชไมตรี อุปทูต แลออกขุนศรีวิสารวาจา ตรีทูต มาเถีงมูสูลายีซึงใดบังคับกุมปัญญีทังปวง ด้วยทานสำแดงความยินดีแลนับถื่อใดให้สำเรจการทังปวงตามพระราชหฤไทยพระมหากระสัตราธีราชผู้เปนเจ้าอัตโน แลบัดนีใดพบท่าทางอัน จ เขียนมาให้ท่านแจ้งว่ามีน้ำไจยอันยีนดีตอท่าน เห็นว่าท่าน จ มีโกรดเมีอแลท่านรู้ว่าอัตโนทังปวงมาเถิงถารณทึงนีเปนสุขสนุกสบายอยูแลอันมานีเส่ม่อไจยนึก แลเห็นว่ายังสามเดีอน จ ใดไปเถีงพระมหากระสัตราธิราชผู้เปนเจ้า แล จ ใดเอาแจ้งให้ละเอียดว่าท่านเอาไจยใส่ช้วยในราชการแหงพระมหากระสัตรธีราช แลเชีออยูว่าท่านมีน้ำไจยรอนรนช้วยทำการทังปวงแลเห็นปีน้าท่าน จ ส่งเครีองบันนาการอันเหลืออยูนันเข้าไปตามพระมหากระสัตรา

๖๒ เจ้าต้องประสงนัน แลอัตโนฃอให้ท่านช้วยเรงรัดครูอันสังสอนเดกซีงอยูเรียนนันใหรู้สันทัด จ ใดกลับเข้าไปยังกรุงศรีอยุทธยา อันพระมหากระสัตราธีราชต้องพระราชประสงนัน แลอัตโนขอแกพระเปนเจ้าใหบำรุงช้วยท่านใหมีบุญใหจำเริญสืบไป แลหนังสือนีเขียนณเมีองกาบในวันพุทเดือนแปด แรมสองค่ำปีเถาะ นพศ่ก สักราช ๒๒๓๑.


จดหมายฉะบับที่สอง อักขระปัจจุบัน

? หนังสืออกพระวิสุทธสุนทรราชทูต ออกหลวงกัลยาราชไมตรีอุปทูต และออกขุนศรีวิสารวาจาตรีทูต มาถึงมงเซียร์ลาญีซึ่งได้บังคับกำปะนีทั้งปวง. ด้วยท่านสำแดงความยินดีและนับถือ ได้ให้สำเร็จการทั้งปวงตามพระราชหฤทัยพระมหากษัตราธิราชผู้เป็นเจ้าอัตโน และบัดนี้ได้พบท่าทางอันจะเขียนมาให้ท่านแจ้ง ว่ามีน้ำใจอันยินดีต่อท่าน เห็นว่าท่านจะมิโกรธ เมื่อแลท่านรู้ว่าอัตโนทั้งปวงมาถึงฐานณที่นี้เป็นสุขสนุกสบายอยู่ และอันมานี้เสมอใจนึก แลเห็นว่ายังสามเดือนจะได้ไปถึงพระมหากษัตราธิราชผู้เป็นเจ้าและจะได้เอาแจ้งให้ละเอียด ว่าท่านเอาใจใส่ช่วยในราชการแห่ง

๖๓ พระมหากษัตราธิราช และเชื่ออยู่ว่าท่านมีน้ำใจร้อนรนช่วยทำการทั้งปวง และเห็นปีหน้าท่านจะส่งเครื่องบรรณาการอันเหลืออยู่นั้นเข้าไปตามพระมหากษัตราเจ้าต้องประสงค์นั้น และอัตโนขอให้ท่านช่วยเร่งรัดครูอันสั่งสอนเด็กซึ่งอยู่เรียนนั้นให้รู้สันทัดจะได้กลับเข้าไปยังกรุงศรีอยุธยา อันพระมหากษัตราธิราชต้องพระราชประสงค์นั้น และอัตโนขอแก่พระเป็นเจ้าให้บำรุงช่วยท่านให้มีบุญให้จำเริญสืบไป และหนังสือนี้เขียนณเมืองเคป (ออฟคุดโฮป) ในวันพุธเดือนแปด แรม ๒ ค่ำ ปีเถาะนพศก พุทธศักราช ๒๒๓๑.


จดหมายฉะบับที่สาม

(หมายเหตุ) จดหมายฉะบับที่ ๓ นี้ เป็นที่น่าเสียดายที่ไม่มีสำนวนไทย เหลือแต่สำเนาภาษาฝรั่งเศสซึ่งล่ามไทยของท่านราชทูตพร้อมด้วยคุณพ่อตาชารด์ได้ช่วยกันแปลจากพากย์ไทยเป็นภาษาฝรั่งเศส ส่งกำกับไปกับต้นฉะบับ จึงจำเป็นต้องอาศัยสำเนาฝรั่งเศสแปลกลับเป็นภาษาไทยอีกใหม่ พอฟังคารมความคิดของเจ้าคุณราชทูตว่าดำเนิรเป็นประการใดบ้างเป็นเลา ๆ. ? จดหมายของออกพระวิสุทธสุนทรราชทูต ออกหลวงกัลยาราชไมตรีอุปทูต และออกขุนศรีวิสารวาจาตรีทูต นมัสการ ๖๔ มายังคุณพ่อกรุณาเจ้าบาดหลวงเดอลาแชส ราชครูผู้ใหญ่แห่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ ผู้มีใจเต็มเปี่ยมไปด้วยคุณความดี ความงามอย่างสูงสง่าน่าพึงชม กล่าวเป็นอาทิคือ ความเมตตากรุณาต่อสัตว์ผู้ยาก ความบริสุทธิสดใสใจสะอาดสะอ้านปราศจากมลทิน ความจงรักภักดีอย่างเอกอุต่อพระมหากษัตริย์และพระผู้เป็นเจ้าเป็นใหญ่ ท่านผู้ไม่มีความปรารถนาอันใดนอกจากจะแผ่ความเลื่อมใสศรัทธาของตนให้ไพศาลกว้างขวาง เพื่อมนุษย์ในทั่วสากลโลกที่ยังมิได้รู้จักพระผู้เป็นเจ้าเป็นใหญ่จะได้รู้จักพระองค์ ท่านผู้เพียรพยายามบำเพ็ญแต่กุศลกิจอันอาจนำสุขผลมาสู่มนุษย์ชาติในโลกนี้เป็นเบื้องต้น และวิมานสวรรค์เป็นปริโยสาน สาธุ! อันว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้ากรุงสยามของอัตโนได้ทรงทราบในคุณความดีความงามของคุณพ่อกรุณาเจ้า พระองค์จึงได้ทรงเคารพนับถือและไว้พระทัยในคุณพ่อกรุณาเจ้าเป็นที่สุด เพราะวีรบุรุษอย่างคุณพ่อกรุณาเจ้านี้นาน ๆ ทีจึงจะได้พบเห็นสักครั้งหนึ่งในชีวิตของอัตโน อาศัยพระปรีชาญาณอันสุขุมคัมภีรภาพของพระองค์ ๆ จึงได้เล็งแลเห็นว่า หมดทั้งประเทศฝรั่งเศส จะหาผู้น่าไว้พระทัยเสมอด้วยคุณพ่อกรุณาเจ้า เพื่อจะยังความไมตรีให้ผูกพันธ์ สนิทสนม ในระวาง สองพระนคร เป็นไม่มีเสียแล้ว พระองค์จึงได้ทรงฝากฝังบรรดาอัตโนราชทูตานุทูตของพระองค์


๖๕ ให้อยู่ในอุปถัมภการดูแลเอาใจใส่พิเศษของคุณพ่อกรุณาเจ้าเพราะพระองค์ทรงตระหนักแน่พระทัยว่า คุณพ่อกรุณาเจ้าองค์เดียวที่อาจบำรุงค้ำชูพระเกียรติยศของพระองค์ให้สมควรกับพระเกียรติคุณของพระองค์ แต่ถึงว่าพระองค์ทรงสำเหนียกในพระคุณของคุณพ่อกรุณาเจ้า จนอาจทรงพรรณาให้อัตโนทราบเสียก่อนที่จะมาเมืองฝรั่งเศสนี้ เมื่ออัตโนได้มาแลเห็นด้วยตนเองแล้ว พระคุณเหล่านั้นได้ปรากฎรัสมีศรีสง่างามยิ่งไปกว่าที่ทรงสรรเสริญอีก ข้อนี้ขอคุณพ่อกรุณาเจ้าได้โปรดทราบว่าเมื่ออัตโนถึงเมืองไทยแล้ว อัตโนจะนำไปกราบทูลให้ทรงทราบทุกประการ. ส่วนอัตโนทั้งปวง บรรดาราชทูตานุทูตของพระองค์นี้ก็จะหมั่นระลึกถึงพระคุณที่อัตโนได้รับจากคุณพ่อกรุณาเจ้าทุกคืนวันไม่มีเวลาลืมเลย ทุกวันคืนอัตโนคำนึงถึงวันที่จะกราบบังคมทูลให้ทรงทราบถึงพระคุณของคุณพ่อกรุณาเจ้า และความระลึกนี้นำความปลาบปลื้มมาสู่ดวงใจของอัตโนอย่างล้นเหลือ. เมื่ออัตโนเรียกมาคิดถึงความตั้งอกตั้งใจของคุณพ่อกรุณาเจ้าที่จะให้อัตโนอยู่เย็นเป็นสุข เมื่อครั้งยังอยู่ในประเทศฝรั่งเศสนั้น พาให้นึกขึ้นได้ว่าคุณพ่อกรุณาเจ้าคงอยากทราบถึงความสุขทุกข์ของอัตโนในเวลาเดิรทางกลับไปบ้านเมืองของอัตโนบ้าง และในโอกาสนี้อัตโนขอนมัสการให้คุณพ่อกรุณาเจ้าทราบว่าอัตโนได้อยู่เย็น ๙

๖๖ เป็นสุขปราศจากทุกข์ตลอดระยะทางตั้งแต่ได้อำลาคุณพ่อกรุณาเจ้าจนกระทั่งถึงคาบอาฟรีกาที่อัตโนกำลังหยุดพักอยู่ณบัดนี้. การที่อัตโนเจริญไปด้วยความสุขฉะนี้ อัตโนนึกว่าคงเป็นเพราะพระบารมี ของพระบาท สมเด็จ พระเจ้ากรุงฝรั่งเศสยัง ปกเกล้าปกกระหม่อมรักษาอยู่ เพราะทราบว่าผู้ใดเข้าไปอาศัยในร่มโพธิ์ทองของพระองค์แล้ว ผู้นั้นเย็นอกเย็นใจ ภัยไม่มีมาถึงตัวสักที ทั้งคงเป็นเพราะอิทธิฤทธิแห่งคำภาวนาของคุณพ่อกรุณาเจ้าต่ออัตโนด้วย พระผู้เป็นเจ้าเป็นใหญ่จึงทรงพระเมตตากรุณาแก่อัตโนเห็นปานฉะนี้. ในที่สุดแห่งจดหมายของอัตโนนี้ ขอพระผู้เป็นเจ้าเป็นใหญ่ซึ่งทรงบันดาลให้โลกสวรรค์เป็นขึ้นมา จงได้ทรงโปรดคุ้มครองรักษาคุณพ่อกรุณาเจ้าให้เป็นสุขสถาวรด้วย คุณพ่อกรุณาเจ้าปรารถนาสิ่งใดขอจงสำเร็จทุกประการเป็นอาทิ ขอพระผู้เป็นเจ้าเป็นใหญ่ทรงโปรดดลใจคุณพ่อกรุณาเจ้าให้ได้นึกคิดถึงทางกุศ- โลบายอันศักดิ์สิทธิเพื่อบำรุงพระราชไมตรีในระวางสองพระนครให้มั่นคงถาวรเป็นนิตยกาลเทอญ. หนังสือมาวันพุธเดือน ๘ แรม ๒ ค่ำปีเถาะนพศก ศักราช ๒๒๓๑ ตรงกับวันเดือนปีคริสตศักราช ที่ ๒๔ มิถุยายน ๑๖๘๗.



๖๗ ราชทูตกลับถึงกรุงศรีอยุธยา

เมื่อราชทูตไทยและฝรั่งเศสได้รอพักหายเหนื่อยและเขียนจดหมายกันที่คาบอาฟรีกาใต้นั้นเสร็จแล้ว ก็ได้ออกเรือเดิรทางเข้ามาเมืองไทยต่อไป ครั้นถึงวันที่ ๒๗ เดือนกันยายน ค.ศ. ๑๖๘๗ (ภายหลังวันออกจากฝรั่งเศสราว ๗ เดือน) เรือราชทูตก็ได้มาจอดอยู่ที่ปากอ่าวสยาม และรุ่งขึ้นวันที่ ๒๘ ออกขุนสุรินทร์ ขุนนางผู้น้อย ที่ได้ตามไปเมืองฝรั่งเศสกลับมากับราชทูตพร้อมด้วยขุนนางฝรั่งเศส ๒ คน บาดหลวงตาชารด์องค์ ๑ ก็ได้ล่วงหน้าเข้ามากรุงศรีอยุธยาก่อน เพราะเป็นธรรมเนียมในสมัยนั้น ราชทูตยังเข้ามาเมืองหลวงไม่ได้ก่อนที่พระเจ้าแผ่นดินจะทรงอนุญาต และที่คนเหล่านี้ล่วงหน้าเข้ามาก่อนก็เพื่อกราบทูลให้ทรงทราบว่าบัดนี้ราชทูตของพระองค์ และราชทูตของพระเจ้ากรุงฝรั่งเศสมาถึงปากน้ำแล้ว กำลังรอพระบรมราชโองการรับสั่งให้หาเข้ามาเฝ้าอยู่. ครั้นได้เวลา คณะราชทูตสยามก็ขึ้นบก พลางเรือรบฝรั่งเศสระดมกันยิงปืนใหญ่คำนับส่งตามธรรมเนียมฝรั่ง แล้วราชทูตก็เลยตรงขึ้นไปรายงานตนเองต่อเจ้าพระยาวิชัยเยนทร์เสนาบดีก่อนที่จะไปไหนหมด ชั้นที่สุดบ้านช่องของตนก็มิได้


๖๘ แวะเลย เพราะเป็นธรรมเนียมของเมืองไทยในสมัยนั้น ถ้ารับราชการอันใดต้องให้สำเร็จราชการอันนั้นก่อนกระทำกิจการอื่น ในข้อธรรมเนียมนี้น่าชมราชทูตสยามว่าได้ถือกันอย่างเคร่งครัดนักเช่นตอนเมื่อท่านไปถึงเมืองฝรั่งเศสใหม่ ๆ ท่านมิได้ไปดูงานดูการหรือรับเยี่ยมเยียนตอบใครที่ไหน จนกว่าที่ท่านได้เข้าไปเฝ้าถวายพระราชสาสน์ ต่อเมื่อเฝ้าถวายเสร็จแล้วจึงได้เริ่มไปนี่โน่นเหมือนคนอื่น. แต่พอราชทูตสยามแลเห็นเจ้าพระยาวิชัยเยนทร์ ก็กราบลงยังพื้นดินตามธรรมเนียมไทย แล้วก็จับเล่าให้ท่านฟังถึงกิจจานุกิจทั้งหลายที่ได้เป็นมาตั้งแต่ท่านออกจากเมืองไทยจนกระทั่งวันกลับ เจ้าพระยาวิชัยเยนทร์แสดงความยินดีต่อราชทูตว่าไปไม่เสียราชการ น่าชมเชยยิ่งนัก ต่อมาเจ้าพระยาวิชัยเยนทร์ซักถามราชทูตว่า:- "เจ้าคุณเห็นเป็นอย่างไรบ้างเมืองฝรั่งเศสถูกใจหรือไม่ถูกใจ สวยงามหรือไม่ ในหลวงพระทัยดีหรืออย่างไร เจ้าคุณเล่ามาให้ฟังบ้าง" เจ้าคุณราชทูตกราบเรียนตอบว่า :- "เมืองฝรั่งเศสเหมือนกับเมืองฟ้าไม่มีผิด ดู ๆ ก็เป็นเมืองเทวดายิ่งเสียกว่าเมืองมนุษย์ไปอีก อาณาเขตต์หรือก็กว้างขวางใหญ่โตราวกับโลกหนึ่งทวีปหนึ่งก็ว่าได้ เป็นเมืองบริบูรณ์อย่างยิ่ง เรือกสวนไร่นาบ้านช่อง


๖๙ อุดมล้นเหลือ กิริยาพาทีและลักษณะท่าทางของชาวชนพลเมืองก็สุภาพ หาที่ดีกว่านี้ไม่มีเสียแล้ว ส่วนองค์พระเจ้าแผ่นดินเล่า (ตรงนี้สังเกตดูเจ้าคุณราชทูตเสียงกระเส่า ๆ น้ำตาหยดเผาะ ๆ ) เป็นบรมขัติยมหาราช อันทรงไว้ซึ่งบุญราศีหาที่เปรียบเสมอสองเป็นไม่มี" ครั้นราชทูตเล่าให้ฟังพอควรแก่เวลาแล้ว เจ้าพระยาวิชัยเยนทร์ก็เรียกเจ้าคุณอัครราชทูตไปปรึกษาราชการจำเพาะสองต่อสอง แล้วอีกครู่ใหญ่ ๆ จึงได้เรียกอุปทูต ตรีทูต ขุนนางอันดับมาหมดทั้งสำรับนำเข้าไปเฝ้าสมเด็จพระนารายณ์ พระองค์ทรงรับรองราชทูตของพระองค์ด้วยความปลาบปลื้มพระทัยเป็นอย่างยิ่ง เมื่อจะออกจากที่เฝ้า พระองค์ทรงรับสั่งให้เจ้าคุณอัครราชทูตยับยั้งอยู่ในพระราชวังก่อน ว่าจะให้อ่านรายงานถวาย ส่วนอุปทูต ตรีทูตทรงรับสั่งให้อยู่ประจำทำการติดต่อกับราชทูตฝรั่งเศสตลอดเวลาที่จะอยู่ในกรุงสยาม ว่าท่านทั้งสองนี้ชำนิชำนาญขนบธรรมเนียมบ้านเมืองฝรั่งเศสยิ่งกว่าขุนนางไทยใด ๆ จงปฏิบัติรับใช้ราชทูตฝรั่งเศสให้เป็นที่ถูกใจ อย่าให้ขาดแคลนอันใด.



๗๐ จดหมายเหตุที่กล่าวพาดพิงไปถึง อุปทูต และ ตรีทูต

ตั้งแต่นี้ต่อไป ชื่อเสียงเรียงนามของอุปทูตและตรีทูตเกือบจะศูนย์หายไปจากตำนานพงศาวดารทั้งไทยและต่างประเทศก็ว่าได้ถึงมีกล่าวบ้างก็ไม่เพียงพอที่จะยกขึ้นมาเป็นกระทู้เรียบเรียงประวัติของท่านได้. เท่าที่ทราบได้ ปรากฏว่าออกหลวงกัลยาราชไมตรีซึ่งเป็นคนแก่ เคยรับราชการฉลองพระเดชพระคุณในตำแหน่งทูตถึงสามครั้ง ๆ หนึ่งไปเมืองฝรั่งเศส และอีกสองครั้งนั้นไปเมืองจีน ครั้น กลับจากราชการเมืองฝรั่งเศสแล้วต่อมาออกหลวงกัลยาราชไมตรีจะได้รับหน้าที่ราชการสถานใดไม่ปรากฏ ปรากฏแต่ว่าภายหลังถูกกริ้วโปรดให้ลดตำแหน่งลง ความข้อนี้ลาลูแบร์ได้กล่าวไว้ในหนังสือจดหมายเหตุของท่านว่า  :- "เมืองนี้เป็นเมืองแปลกข้าราชการทำผิดอะไรนิดผิดอะไรหน่อยก็ถูกลดตำแหน่งได้ง่าย ๆ แต่ก็ไม่เห็นข้าราชการไทยจะถือเป็นของอับอายขายหน้าเท่าใดนัก ขึ้นชื่อว่าราชการแล้ว สุดแต่ในหลวงจะทรงพระกรุณาโปรดให้สูงต่ำประการใดก็เป็นอันใช้ได้ประการนั้นอยู่เสมอ ใครจะคัดค้านประการใดไม่ได้ ดังที่เราพึ่งได้แลเห็นตัวอย่างสด ๆ ร้อน ๆ เกิดขึ้นแก่ออกหลวงกัลยาราชไมตรีอุปทูต ซึ่งเคยไป


๗๑ เมืองฝรั่งเศสมา บัดนี้ถูกลดตำแหน่งราชการลงต่ำกว่าเดิมเสียแล้ว แต่ก็ไม่เห็นท่านแสดงความโทมนัสน้อยใจบ่นว่ากะไรเลย" นอกจากข้อนี้แล้ว ในหนังสือของบาดหลวงโลแนย์ก็มีกล่าวว่า เมื่อต้นแผ่นดินพระเพทราชา ไทยกับฝรั่งเศสเกิดไม่ปรองดองกันขึ้นจนขาดพระราชไมตรี ต่างฝ่ายต้องคืนทรัพย์สิ่งของกันและกัน ในระวางยังไม่คืนนั้นออกหลวงกัลยาราชไมตรีกับขุนนางไทยไม่ปรากฏชื่ออีกคนหนึ่งได้ถูกส่งไปเป็นตัวมัดจำอยู่ในเรือรบฝรั่งเศส ซึ่งอยู่ในความควบคุมของแม่ทัพชื่อแดส์ฟาร์ช อยู่จนกระทั่งไทยกับฝรั่งเศสจะปรองดองคืนทรัพย์สิ่งของแก่กันและกันเสร็จ คราวนั้นแม่ทัพฝรั่งเศสไม่เห็นไทยส่งเรือและเครื่องอาวุธยุทธภัณฑ์ทั้งทหาร ๑๕ คนที่อยู่ล้าหลังตามกำหนดในสัญญา ไม่อยากรออยู่ชักช้าให้เสียโอกาสแห่งลมมรสุม ก็เลยชักใบไปพักฟังราชการอยู่ที่เมืองปงดีเชรีในอินเดีย ขุนนางไทยตัวมัดจำเลยติดไปกับเรือด้วย แต่ครั้นมาถึงเกาะยงค์เซลัง ซึ่งอีกนัยหนึ่งเรียกว่าเกาะภูเก็ตแม่ทัพฝรั่งเศสจึงได้แวะเรือปล่อยออกหลวงกัลยาราชไมตรีกลับมายังกรุงศรีอยุทธยาโดยทางบก. ฝ่ายข้างออกขุนศรีวิสารวาจาตรีทูตนั้น ทราบว่าเมื่อกลับจากยุโรปอายุอยู่ในราว ๒๕-๓๐ ปี เป็นคนเคยไปราชการที่ราชสำนักของพระเจ้าโมคูลในอินเดียมาครั้งหนึ่ง กับรู้ว่าท่านเป็นบุตรราชทูตที่เคยไปเจริญพระราชไมตรีในประเทศปอร์ตูคาลมาครั้งหนึ่ง นับ

๗๒ แต่วันที่ท่านกลับจากราชการในยุโรปแล้ว ได้พบชื่อของท่านปรากฏในจดหมายเหตุของลาลูแบร์ หน้า ๓๘๓ แต่ครั้งเดียวมีใจความว่า ... " สมเด็จพระนารายณ์ทรงถูกพระทัยอยากทราบตำนานพงศาวดารของโลกมาก ยิ่งเป็นตำนานว่าด้วยราชกิจของพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ แล้ว ยิ่งทรงสอดส่องเอาพระทัยใส่มากขึ้น พระองค์เคยทรงรับสั่งบ่อย ๆ ว่า รัฐประศาสน์มิใช่วิชชาที่เรียนรู้กันได้เองโดยกำเนิด ต่อเมื่อปกครองคนนาน ๆ และเรียนรู้พงศาวดารได้มาก ๆ จึงจะค่อยรู้ว่ารัฐประศาสน์เป็นวิชชายากสักเพียงได" ฉะนี้ ตำนานพงศาวดารไม่ว่าจะชะนิดใดที่พระองค์อาจเสาะหามาได้ก็ให้หามาแล้วพระองค์ให้ขุนนางประจำราชสำนักอ่านถวายมิได้ขาดสักวันเดียว เวลานี้ออกขุนศรีวิสารวาจาตรีทูตที่ไปเมืองฝรั่งเศสกลับมาเป็นผู้ที่รับหน้าที่อ่านพงศาวดารถวาย และหมู่นี้ตำนานที่พระองค์ทรงโปรดไม่รู้จักจืดคือรายงานของอัครราชทูตว่าด้วยเมืองฝรั่งเศสนี่เอง." นอกจากที่กล่าวมานี้ ยังมีว่าไปถึงราชทูตรวมทั้งสามคนด้วยกันอีกแห่งหนึ่ง ในจดหมายเหตุรายวันของเชอวาเลียร์เดอโชมงต์ หน้า ๒๑๑-๒๑๒ ว่า "ทูตไทย ๓ คนนี้เป็นคนดีที่สุด นิสสัยใจคอเยือกเย็น ไม่ค่อยจะโกรธเคืองใครง่าย ทั้งเป็นผู้มีสกุล กิริยามารยาทก็งาม เต็มใจช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์อยู่ทุกเมื่อ เห็นแล้วให้นึกว่า คนชะนิด นี้น่าจะ สมานไมตรี ให้สนิทกันได้ไม่สู้ยาก. "


๗๓ ประวัติออกพระวิสุทสุนทร

ส่วนออกพระวิสุทสุนทรนั้น อาศัยตำนานไทยตำนานฝรั่งประกอบกัน พอเชื่อมเนื้อความให้ติดต่อกันเป็นประวัติขึ้นพอรู้เรื่องได้บ้าง ตั้งแต่วันที่ท่านกลับจากยุโรปจนกระทั่งถึงวันตาย เช่นได้ความจากหนังสือจดหมายเหตุประจำวันของเชอวาเลียร์เดอโชมงต์ ราชทูตฝรั่งเศสคนแรกที่ออกมาเจริญพระราชไมตรีในเมืองไทยว่า :- "พอข้าพเจ้าได้พบกับออกพระวิสุทสุนทรแต่วัน แรก ที่ปากน้ำ เมื่อเรือ ของ เรา ไปถึง เมือง ไทย แล้วนั้น ข้าพเจ้ารู้สึกทันทีว่า คนนี้เป็นคนมีสกุลผู้ดีติดอยู่เต็มตัว ทั้งรู้สึกว่าเป็น คนเฉลียวฉลาด อาจเป็นราชทูต ไทยไปฝรั่งเศสได้ดี กว่าใคร ๆ หมด ข้าพเจ้าจึงได้แนะนำเจ้าพระยาวิชัยเยนทร์ให้เลือกเขาเป็นราชทูตส่งไปกับเราเมื่อจะกลับ." ตอนเมื่อกำลังโดยสารกลับไปท่านเชอวาเลียร์เดอโชมงต์ลงในจดหมายเหตุประจำวันของท่านอีกว่า:- "สิ่งที่ถูกใจในตัวราชทูตคนนี้ คือไม่ว่าท่านได้ไปพบเห็นอะไรที่ไหนเป็นต้องจับดินสอจดลงในสมุดทันที นิสสัยนี้ดีมาก เพราะเมื่อไปเมืองฝรั่งกลับมาคงมีรายงานความเป็นไปจากเมืองฝรั่งเศสถวายพระเจ้ากรุงสยามอย่างละเอียดละออดี ดังนี้พระเจ้ากรุงสยามจะได้ทรงทราบความจริงในเรื่องของเมืองฝรั่งเศส ว่าเป็นอย่างไรดีกว่าปล่อย ๑๐

๗๔ ให้พระองค์ทรงเชื่อแต่คำเล่าลือผิด ๆ ถูก ๆ ดังที่พระองค์เคยทรงได้ยินมาแต่ก่อน. " ในพระราชพงศาวดารกรุงเก่าปรากฏว่า ออกพระวิสุทสุนทรเป็นน้องชายของเจ้าพระยาโกศาธิบดี (เหล็ก) และข้อนี้มีที่อ้างให้เห็นว่าเป็นจริง เพราะตำนานฝรั่งในสมัยนั้นกล่าวเป็นทำนองเดียวกัน ตำนานมาแตกต่างกันก็แต่ในเรื่องออกพระวิสุทสุนทรกับพระเพทราชา (ซึ่งภายหลังได้ราชสมบัติต่อพระนารายณ์ลงมา) พระราชพงศาวดารย่อลงว่า เจ้าพระยาโกศาธิบดีหนึ่งออกพระวิสุทสุนทรหนึ่ง ออกพระเพทราชาหนึ่ง สามคนนี้เป็นพี่น้องร่วมมารดาเดียวกัน คือทั้งสามท่านนี้เป็นบุตรของเจ้าแม่วัดดุสิต ซึ่งเป็นพระนมของพระนารายณ์. ในข้อนี้ตำนานเบ็ดเตล็ดของฝรั่งแย้งกับพระราชพงศาวดารย่อถึงกับชวนให้นักโบราณคดีบางท่าน ไม่ค่อยจะปลงใจเชื่อพระราชพงศาวดารย่อได้ บทวินิจฉัยให้เห็นเท็จจริงในเรื่องนี้มีอยู่ไม่สู้มากมายนัก แต่ออกจะแน่นแฟ้นพอใช้ดังจะขอยกมากล่าวพอเป็นทางสันนิษฐาน เมื่ออ่านแล้วสุดแต่ท่านผู้อ่านจะลงความเห็นเลือกเชื่อเอาตามชอบใจ. ข้อหนึ่ง ต่างว่าจะตั้งปัญหาขึ้นถามว่า ถ้าพระเพทราชาเป็นน้องชายของออกพระวิสุทสุนทรจริงแล้ว เหตุใดเมื่อพระเพทราชาขึ้นเสวยราชย์แล้วจึงมิได้ยกย่องออกพระวิสุทสุนทรขึ้นเป็น


๗๕ เจ้าต่างกรมตามโบราณราชประเพณีนิยมเล่า เวลานั้นออกพระวิสุทสุนทรยังมีชีวิตอยู่ ส่วนเจ้าพระยาโกศาธิบดี (เหล็ก) ไม่มีปัญหา เพราะถึงแก่กรรมเสียก่อนพระเพทราชาได้ราชสมบัติเมื่อ พ.ศ. ๒๒๓๑ ส่วนออกพระวิสุทสุนทรถึงแก่อสัญกรรมภายหลังพระเพทราชาได้ราชสมบัติ ประมาณ ๑๒ ปี ในราว พ.ศ. ๒๒๔๓ ตามที่มีปรากฏแน่ชัดในจดหมายของบาดหลวงโบรล์ด์เขียนส่งไปยังกรุงปารีสในศกนั้นว่า :- "...ออกพระวิสุทสุนทรอัครราชทูตเก่าพึ่งตายในเร็ว ๆ ไม่กี่เดือนนี้เอง ..." คำกล่าวนี้ชวนให้นึกว่าออกพระวิสุทกับพระเพทราชามิใช่พี่น้องกัน หาไม่ออกพระวิสุทคงได้เลื่อนยศขึ้นเป็นเจ้าในครั้งนั้น. หนังสือลาลูแบร์ยังมาสนับสนุนความเห็นอันนี้ ให้เห็นสมจริงตอนเมื่อกล่าวว่า :- "...ออกพระเพทราชาเป็นขุนนางผู้ใหญ่ ราษฎรชอบพอมาก เพราะใจคอเยือกเย็นและลือกันว่าเป็นคงกะพันชาตรียิงไม่ออก ฟันไม่เข้า ถึงพระนารายณ์เองก็ทรงโปรดมาก เพราะเคยไปสงครามมีชัยชะนะแก่พระเจ้าตองอูมา...ตามเสียงตลาดที่โจษกันทุกวันนี้ มักนิยมถือกันว่า ถ้าพระนารายณ์สิ้นพระชนม์ลงเมื่อใด ออกพระเพทราชากับลูกชายชื่อออกหลวงศรศักดิ์มีหวังที่จะสืบราชสมบัติยิ่งกว่าใคร ๆ ... "มารดาของออกพระเพทราชานั้นเคยเป็นนางนมของในหลวงเดี๋ยวนี้เหมือนกับมารดาของเจ้าคุณอัครราชทูตซึ่ง เคยถวายนม แก่พระองค์


๗๖ เหมือนกัน..." ขอให้สังเกตดูจดหมายเหตุของลาลูแบร์ตอนนี้เถิด ท่านเป็นแต่กล่าวว่า มารดาของทั้งสองฝ่ายเคยเป็นพระนมของพระนารายณ์มาด้วยกัน หาได้กล่าวว่าเป็นคนเดียวกันไม่ กลับใช้ถ้อยคำจำแนกไว้อย่างชัดเจนว่าเป็นคนละคนต่างหาก ฉะนี้จึงชวนให้นึกว่าออกพระเพทราชาและออกพระวิสุทสุนทร คงจะไม่ใช่ พี่ใช่น้อง ร่วมมารดาเดียวกันดังที่พากัน เข้าใจตามพระราชพงศาวดารย่อ. อนึ่งลาลูแบร์ยังกล่าวอีกแห่งหนึ่งว่า :- "คราวหนึ่งพระนารายณ์ให้ลงพระราชอาชญาเฆี่ยนออกยาพระคลังซึ่งเป็นพี่ชายของเจ้าคุณอัครราชทูตหน้าพระที่นั่ง ผู้ที่รับ ๆ สั่งลงพระราชอาชญาเฆี่ยนนั้นคือออกหลวงศรศักดิ์บุตรชายของออกพระเพทราชา" ถ้าเป็นจริงตามคำของลาลูแบร์นี้แล้ว (และเราก็ยังไม่มีเหตุที่จะสงสัยเขาได้ว่าไม่จริง) จะดูกะไรอยู่ละกะมังที่พระนารายณ์จะมาใช้จำเพาะออกหลวงศรศักดิผู้เป็นหลานให้เฆี่ยนตีเจ้าพระยาพระคลังผู้เป็นลุงใหญ่ พระนารายณ์จะหน้ามืดถึงกับมิอาลัยในขนบธรรมเนียมและความเคารพรักใคร่ในระวางวงศ์ญาติบ้างเจียวหรือ ดู ๆ จะกะไรอยู่ละกะมัง ฉะนี้จนกว่าที่จะเกิดหลักฐานใหม่มาล้างหลักฐานที่อ้างมานี้ ข้าพเจ้าคนหนึ่งจะยังไม่ค่อยเต็มใจเชื่อว่าพระเพทราชาเป็นพี่น้องท้องเดียวกันกับออกพระวิสุทสุนทร.


๗๗ อัครราชทูตอาสาเป็นแม่ทัพ

ขอกลับจับใจความในพระราชพงศาวดารกรุงเก่าต่อไปว่า เมื่อเจ้าพระยาโกศาธิบดี (เหล็ก) ได้ถึงอนิจกรรมแล้ว สมเด็จพระนารายณ์ทรงปรารภจะขึ้นไปตีเมืองเชียงใหม่ จึงโปรดให้ออกพระวิสุทสุนทร ผู้เป็นน้องเจ้าพระยาโกศาธิบดีที่ถึงอนิจกรรมนั้น เป็นเจ้าพระยาโกศาธิบดีแทน ทรงรับสั่งว่า :- "ขุนเหล็กพี่ท่านชำนาญในการเป็นแม่ทัพก็มาถึงมรณภาพเสียแล้ว บัดนี้เราจะให้ท่านเป็นแม่ทัพแทนพี่ชายยกไปตีเมืองเชียงใหม่ จะได้หรือมิได้" เจ้าพระยาโกศาธิบดีจึงกราบทูลขอรับพระราชทานพระราชอาชญาสิทธิขาดทำการทดลองดูก่อน ถ้าเห็นจะทำสงครามได้ก็จะขออาสาไปตีเมืองเชียงใหม่มาถวายให้จงได้ สมเด็จพระนารายณ์ได้ทรงฟังก็ชอบพระทัย ทรงพระโสมนัสตรัสสรรเสริญสติปัญญา :- เจ้าพระยาโกศาธิบดีเป็นอันมาก แล้วทรงพระกรุณาโปรดพระราชทานพระแสงดาพต้นพร้อมด้วยพระราชอาชญาสิทธิให้เจ้าพระยาโกศาธิบดีไปทดลองดู. เจ้าพระยาโกศาธิบดี (ปาน) จึงกราบถวายบังคมออกมาสั่งให้หมายกำหนดการให้นายหมู่นายกองกะเกณฑ์พลทหารสามพันออกไปตั้งค่ายตำบลที่ใกล้พะเนียด และให้ตัดไม้ไผ่มาปักเป็นเสาค่าย แต่ให้เอาปลายปักลงดินให้สิ้น ให้ขุดมูลดินถมเป็น


๗๘ สนามเพลาะ และปักขวากหนามตามธรรมเนียมสร้างค่ายพร้อมเสร็จให้สำเร็จในวันรุ่งขึ้นเวลาเช้า ๙ นาฬิกา ฝ่ายท้าวพระยานายหมวดนายกองต่างก็ออกไปกะเกณฑ์แบ่งปันหน้าที่กันทำตามบัญชาทุกหมู่ทุกกรม. รุ่งขึ้นได้เวลาเจ้าพระยาโกศาธิบดีก็ออกไปเลียบค่ายพร้อมด้วยอิสสริยยศและบริวารยศอย่างกษัตริย์ เห็นไม้เสาค่ายต้นหนึ่งปักเอาต้นลงดิน ก็ให้หาตัวเจ้าหน้าที่นั้นเข้ามา เมื่อซักถามได้ความจริงแล้วก็ให้เอาตัวผู้ละเมิดคำบัญชานั้นไปตัดศีร์ษะเสียบไว้ที่ปลายไม้เสาค่ายลำนั้น มิให้ใครเอาเยี่ยงอย่างต่อไป ครั้นแล้วก็กลับมาเฝ้ากราบทูลแถลงพฤติเหตุที่ได้ไปทดลองนั้นให้ทรงทราบทุกประการ แล้วกราบทูลขออาสาเป็นแม่ทัพไปตีเชียงใหม่ได้ดังพระราชประสงค์ เรื่องการทดลองอาชญาสิทธิของเจ้าพระยาโกศาธิบดี (ปาน) ตอนนี้ ถ้าอ่านโดยไม่พินิจพิเคราะห์ก็จะเข้าใจว่าเจ้าพระยาโกศา (ปาน) เป็นคนใจคอเหี้ยมโหดร้ายกาจเหลือเกิน เพราะสมัยนี้การประหารชีวิตมิใช่ของทำง่าย ๆ เหมือนครั้งก่อน แต่เมื่ออ่านโดยคิดถึงธรรมเนียมโบราณว่าเป็นอย่างไรแล้ว ก็จะกลับอดชมไม่ได้ว่าท่านใจแข็งเคร่งครัดในราชการถูกกาลสมัยน่าชมนัก สมเป็นแม่ทัพผู้เป็นเหมือนแม่เหมือนพ่อของพลทหารตั้งกองทัพในบังคับของตนจริง ถ้าเวลานั้นเจ้าพระยาโกศาธิบดีพูดไม่เด็ดขาด


๗๙ สั่งไม่ศักดิสิทธิ แทนที่จะเสียชีวิตของคน ๆ เดียวอาจเสียชีวิตทั้งกองทัพ และทั้งเสียอิสสรรภาพของบ้านเมืองด้วยก็อาจเป็นได้ และหากเป็นไปถึงเช่นนี้แล้วก็หมดโอกาสที่จะแก้ตัวในภายหลัง การสั่งให้ปักเสาค่าย เอาโคนขึ้นเอาปลายลงดินนี้เป็นการลองใจเจ้าพระยาโกศา (ปาน) เองก็รู้ดีแสนดีว่าผิดแบบ แต่เมื่อท่านสั่งดังนี้ก็ต้องทำตาม ถ้าสงสัยว่าสั่งผิดไปหรือสงสัยว่าตัวฟังคำสั่งไม่ถนัดก็ควรสืบดูให้รู้แน่แล้วจึงทำ แต่ถ้าผู้ใดอวดฉลาดบังอาจละเมิดคำสั่ง ถือเอาความเห็นของตนเป็นใหญ่แล้ว ผู้นั้นก็ต้องรับพระราชอาชญาตามโทษานุโทษ จะติเตียนว่านายเหี้ยมโหดไม่ได้เป็นธรรมดา เพราะนายเป็นผู้รับผิดชอบแห่งความดีและความเสียหายทั้งปวง.

ราชทูตถึงอสัญญะกรรม

ถัดจากไปตีเมืองเชียงใหม่มานี้แล้ว เจ้าพระยาโกศาธิบดีได้ดิบได้ดีในราชการประการใดไม่ปรากฏ ๆ แต่ว่าในรัชชกาลของพระเพทราชา ๆ ไม่ทรงโปรดเหมือนพระนารายณ์ กลับลงโทษต่าง ๆ นา ๆ เพราะทรงระแวงสงสัยไม่ไว้พระทัยในเจ้าพระยาโกศาธิบดีเลย ถ้าจะทรงสำนึกพระองค์ว่าขบวนความสามารถในราชการแล้ว บางทีพระองค์สู้เจ้าพระยาโกศาธิบดีไม่ได้ละกะมังจึงทรง


๘๐ อิจฉา มิฉะนั้นคงเป็นที่ได้เห็นราษฎรนิยมนับถือเจ้าพระยาโกศาธิบดี เพราะคุณความดีของท่านที่ได้มีมาแต่ครั้งพระนารายณ์ เกรงพระทัยว่าหากทรงพลาดพลั้งลงเมื่อใดอาจเป็นกบฏแย่งเอาราชสมบัติไปเสียเองก็ได้ หรือไม่อย่างนั้นบางทีจะเป็นกลอุบายยุยงของออกหลวงศรศักดิก็ว่าไม่ได้ เพราะคนนี้ชำนาญกลอุบายร้อยแปดประการสำหรับป้ายความผิดให้แก่ผู้อื่น หาความชอบมาใส่ตนคนเดียว แต่ข้อเหล่านี้ล้วนแต่มาจากความสันนิษฐานอันเกิดจากการอ่านจดหมายของบาดหลวงโบรล์ต์เขียนส่งไปที่กรุงปารีสเมื่อคริศตศักราช ๑๗๐๐ (พ.ศ. ๒๒๔๒) ภายหลังที่เจ้าคุณอัครราชทูตกลับมาถึง ๑๒ ปี ตกอยู่ในตอนปลายรัชชกาลของพระเพทราชานั้นเอง ยังจะถือเป็นยุตติทีเดียวไม่ได้ มายุตติแต่ตามจดหมายของท่านบาดหลวงโบรล์ต์นั้นเขียนเป็นใจความในปลายจดหมายของท่านว่า :- "เคราะห์ดีเสียอีกที่เจ้าพระยาพระคลัง (เจ้าคุณอัครราชทูต) ชิงตายไปก่อน เมื่อสัก ๒ เดือนมานี้แล้ว หาไม่คงถูกประหารชีวิตเหมือนขุนนางผู้ใหญ่ ๔๘ คน ที่ไปตีนครราชสีมาไม่สำเร็จ ถูกสงสัยว่าเข้ากับกบฎเลยรับสั่งให้จับมาตระเวนกลางเมืองแล้วสับฟันศีร์ษะเป็นแฉก ๆ ตัดแขนตัดขาผ่าอกชกต่อยทรมานอย่างน่าทุเรศแล้วก็ฟันเอาศีร์ษะขาดไปเสียบไว้ที่บนกำแพงพระนคร ที่จริงซึ่งเจ้าพระยาพระคลังมาถึงแก่ความตายคราวนี้ ก็เหมือนกับว่าถูกประหารชีวิตเหมือนกันก็


๘๑ ว่าได้ เพราะที่ท่านตายนี้มิใช่อื่นไกลเลย เป็นผลแห่งการที่ท่านได้รับพระราชอาชญาถูกเฆี่ยนตีอย่างสาหัสประการหนึ่ง และอีกประการหนึ่งเพราะคับแคบใจมานมนาน ในการที่พระเจ้าแผ่นดินทรงกระทำแก่ตนอย่างโหดร้ายเหลือประมาณ. ครั้งหนึ่ง เมื่อ ๔ ปีล่วงมานี้แล้ว (ภายหลงกลับจากฝรั่งเศส ๘ ปี ) กำลังเฝ้าอยู่หน้าพระที่นั่ง จะทรงกริ้วอย่างไรไม่ปรากฎ ทรงคว้าพระแสงดาพฟันเอาราชทูตจมูกแหว่ง ดูน่าอุจาดและสงสารที่สุด นับแต่วันนั้นมาก็มีแต่ถูกระแวงสงสัยทุกอย่าง ไม่เป็นอันกินอันนอนเป็นปกติดังเดิม ค่าที่ถูกแกล้งจากราชวงศ์ไม่มีที่สิ้นสุด ลงปลายธิดาใหญ่ของท่านคน ๑ บุตรชายของท่าน ๓ คน ภรรยาหลวงและอนุภรรยาของท่านก็ถูกจับ ถูกเฆี่ยน ถูกขัง ทั้งนั้น ซ้ำก่อนเมื่อวันที่ท่านจะตายสัก ๒-๓ วัน ก็ได้ถูกริบทรัพย์สมบัติเสียหมด บางคนถึงกับลือกันว่า ที่ท่านตายนี้มิใช่อื่นไกลเลย ท่านแทงตัวเองตาย เพราะทนไม่ไหวเสียแล้ว แต่จะตายอย่างไรก็ตาม ส่วนราชวงศ์ก็ได้ล้างความมัวหมองซึ่งติดตนเพราะเรื่องนี้โดยแสดงทุกข์โศกเหมือนกับว่าท่านได้ถึงแก่ความตายโดยปกติ ซ้ำได้ทำการไต่สวนพอเป็นพิธีแล้วจับสงสัยหมอจีนคน ๑ ซึ่งได้รักษาท่านโดยหาว่าวางยาเบื่อให้ท่านตาย ครั้นไต่สวนเสร็จแล้วก็ให้เฆี่ยนหมอจีนคนนั้นอีกด้วย ส่วนศพของท่านเจ้าพระยาพระคลังเขาเอาไปฝังไว้ในวัด ๑๑

๘๒ ใกล้เคียงบ้านแต่ในเวลากลางคืน โดยไม่มีพิธีรีตองอะไรหมด ทำอย่างเงียบ ๆ งุบงิบเอาให้แล้วเข้าว่า ผิดกันไกลกับงานศพเสนาบดีผู้ใหญ่เป็นไหน ๆ ซึ่งมีธรรมเนียมปลงศพอย่างสง่าผ่าเผยประทานเกียรติยศใหญ่ยิ่ง พุโท่เอ๋ย ดูเอาเถิดเราท่านทั้งหลาย เจ้าคุณราชทูตไทยไปเมืองฝรั่งเศสผู้เป็นใหญ่ใคร ๆ เขาลือว่าดีอย่างนี้ มีบุญคุณแก่ชาติไทยอย่างนั้น ถึงกับเลื่อนเป็นอัครมหาเสนาบดีผู้ใหญ่ของพระเจ้ากรุงสยาม ลงปลายมา กลับถึงอวสาน โดยอาการอันน่าทุเรศน่าสงสารถึงเพียงนี้เจียว หนอ " หมดใจความที่เกี่ยวกับประวัติของเจ้าคุณราชทูตเท่าที่สืบหามาได้ในจดหมายเหตุต่าง ๆ ของสมัยนั้นเพียงเท่านี้ ถึงไม่พิสดารเท่าไร ก็เป็นที่หวังใจว่ายังดีกว่าไม่รู้เลย เพราะจะทำให้นักเรียนเห็นบ้างว่า บรรพบุรุษของตนคนหนึ่งได้เพียรพยายามเพื่อความดีของชาติไทยมาแต่กาลก่อนอย่างไร ทั้งจะเป็นบทสอนอยู่ในตัวด้วยว่า ถึงแม้ผู้ที่ช่วยชาติให้เจริญ เช่นอย่างท่านอัครราชทูตนี้ บางทีอาจกลับประสพความลำบากต่าง ๆ แทนที่จะรับความขอบใจ คนอื่นทำไม่รู้ไม่เห็นในความอุตส่าห์พยายามของตน ต้องต่อพ้นสมัยของท่านผู้นั้นนาน ๆ หลายชั่วคน ถึงจะหยั่งรู้ในกิจประวัติและคุณความดีของตน ฉะนี้จึงส่อให้เห็นว่า ยุติธรรมของโลกนี้ยังบกพร่องมาก มนุษย์เรามีหวังที่จะรับอย่างเต็มที่ก็แต่ใน


๘๓ ปรโลก เมื่อพระผู้เป็นเจ้าจะเป็นประธานทรงชี้บาปบุญคุณโทษโดยเที่ยงธรรมไม่เข้าใครออกใครเลย ฉะนี้ให้ตนเพียรทำแต่คุณความดีเทอญ คนอื่นจะเห็นหรือไม่เห็นก็ช่าง สักวันหนึ่งพระคงเห็น และรางวัลตามความชอบของตน. ฟ. ฮีแลร์. วันที่ ๕ พฤศจิกายน ๑๙๒๓


งานนี้ ปัจจุบันเป็นสาธารณสมบัติแล้ว เพราะลิขสิทธิ์ได้หมดอายุตามมาตรา 19 และมาตรา 20 ของพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ซึ่งระบุว่า

ถ้ารู้ตัวผู้สร้างสรรค์ ในกรณีที่ผู้สร้างสรรค์เป็นบุคคลธรรมดา
  1. ลิขสิทธิ์หมดอายุเมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ผู้สร้างสรรค์ถึงแก่ความตาย
  2. ถ้ามีผู้สร้างสรรค์ร่วม ลิขสิทธิ์หมดอายุ
    1. เมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ผู้สร้างสรรค์ร่วมคนสุดท้ายถึงแก่ความตาย หรือ
    2. เมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ได้โฆษณางานนั้นเป็นครั้งแรก ในกรณีที่ไม่เคยโฆษณางานนั้นเลยก่อนที่ผู้สร้างสรรค์ร่วมคนสุดท้ายจะถึงแก่ความตาย
ถ้ารู้ตัวผู้สร้างสรรค์ ในกรณีที่ผู้สร้างสรรค์เป็นนิติบุคคล หรือถ้าไม่รู้ตัวผู้สร้างสรรค์
  1. ลิขสิทธิ์หมดอายุเมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ได้สร้างสรรค์งานนั้นขึ้น
  2. แต่ถ้าได้โฆษณางานนั้นในระหว่าง 50 ปีข้างต้น ลิขสิทธิ์หมดอายุเมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ได้โฆษณางานนั้นเป็นครั้งแรก