ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๖๖

ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๖๖

นางน้อม กรณีศรีสำรวจ พิมพ์แจกในงานประชุมเพลิงศพ นางละม่อม เศรษฐบุตร ณวัดจักรวรรดิราชาวาส วันที่ ๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๐

พิมพ์ที่โรงพิมพ์เดลิเมล์


.


คำนำ


นางน้อม กรณีศรีสำรวจ มีความประสงค์จะพิมพ์หนังสือสำหรับ แจกในงานประชุมเพลิงศพนางละม่อม เศรษฐบุตร ผู้มารดา
ขอให้กรมศิลปากรเป็นธุระช่วยหาต้นฉบับ กรมศิลปากรจึงแนะนำให้พิมพ์ประชุมพงศาวดารภาคที่ ๖๖ ซึ่งมีสาระสำคัญในทางโบราณคดีอยู่หลายข้อ
ประชุมพงศาวดารเป็นหนังสือชุด รวบรวมเรื่องพงศาวดารและ ตำนาน ที่พิมพ์แล้วและที่ยังไม่ได้พิมพ์
บางเรื่องถ้ามีขนาดใหญ่ ก็พิมพ์ไว้ฉะเพาะเรื่อง ถ้าเป็นเรื่องดีแต่ไม่สู้ยาว ก็รวบรวมหลายเรื่อง พิมพ์เป็นเล่มเดียว
ทั้งนี้เพื่อผู้ศึกษาจะได้มีโอกาศพบเห็น ทำการสอบสวนค้นคว้าได้สะดวกต่อไป
เพราะฉะนั้น หนังสือชุดประชุมพงศาวดาร จึงไม่มีกำหนดว่ากี่ภาค หรือเรียบเรียงเรื่องเป็นลำดับอย่างไร แล้วแต่จะหาเรื่องที่เกี่ยวกับพงศาวดารได้พอรวบรวม
ถ้ามีผู้ศรัทธาว่าจะสร้าง ก็พิมพ์เป็นภาคหนึ่ง ๆ เป็นลำดับไป
จนบัดนี้หนังสือประชุมพงศาวดารจึงเป็นภาคที่ ๖๖ คือฉบับที่พิมพ์นี้


ประชุมพงศาวดารภาคที่ ๖๖ มีอยู่ ๔ เรื่อง คือ

( ๑ ) จดหมายเหตุรายวันทัพสมัยกรุงธนบุรี คราวปราบเมืองพุทไธมาศและเขมร ได้ฉบับมาแต่หอหลวง เป็นสมุดไทยดำเส้น -




- ดินสอขาว ลายมือเก่า ได้ถ่ายรูปต้นฉบับให้ดูเป็นตัวอย่างหน้าหนึ่ง เรื่องนี้เป็นคู่มือในการสอบสวนประวัติศาสตร์สมัยกรุงธนบุรี ฉะเพาะปีเถาะ พ.ศ. ๒๓๑๔ เป็นต้น ได้ดีมาก เชื่อว่านักศึกษาพงศาวดารคงพอใจ

( ๒ ) จุลยุทธการวงศ์ เรื่องนี้มีทั้งฉบับภาษามคธ และฉบับความเรียงภาษาไทย ได้ฉบับมาไม่พร้อมกัน
ฉบับภาษามคธนั้นแปลออกพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๓ ว่าด้วยพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา นับเป็นปริจเฉทที่ ๒ ไม่ตลอดเรื่อง สุดลงเพียงรัชกาลสมเด็จพระอินทราชาธิราช
ส่วนจุลยุทธการวงศ์ที่พิมพ์ในเล่มนี้ เป็นฉบับความเรียงภาษาไทย กล่าวตั้งแต่ปริจเฉทต้นว่า ด้วยมูลประวัติในการสมภพสมเด็จพระร่วงเจ้ากรุงสุโขทัย
ผู้กู้อิศรภาพของไทยกลับคืนมาได้จากขอม แต่ก็ไม่จบอีกเหมือนกัน พอขึ้นต้นปริจเฉทที่ ๒ ถึงตอนสมเด็จพระเจ้าอู่ทองครองกรุงศรีอยุธยาก็หมดฉบับ
เป็นอันทราบได้แน่ในชั้นนี้ว่า เรื่องจุลยุทธการวงศ์นั้น เริ่มความตั้งแต่พงศาวดารกรุงสุโขทัย สืบต่อมาจนถึงพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา
ส่วนตอนสุดท้ายจะยุติลงแค่ไหน ยังทราบไม่ได้ บังเอิญมีหนังสือเทศนาจุลยุทธการวงศ์อีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งจะกล่าวเป็นเรื่องที่ ( ๔ ) ต่อไป
สามารถให้นักศึกษาเข้าใจได้ว่าจุลยุทธการวงศ์จบลงเพียงสุดสมัยกรุงศรีอยุธยา

( ๓ ) เรื่องพระร่วงสุโขไทย เป็นเรื่องแซกอยู่ในคำให้การชาว -




- กรุงเก่า เห็นว่าเป็นตำนานใกล้เคียงกับจุลยุทธการวงศ์ตอนต้น เป็นเรื่องดีในทางตำนาน อันพอจะอาศัยพิเคราะห์ดูเค้าเงื่อน ในทางประวัติศาสตร์ ได้บ้างตามสมควร
จึงรวมมาไว้เสียในชุดเดียวกัน

( ๔ ) เทศนาจุลยุทธการวงศ์ เรื่องนี้ ว่าด้วยพงศาวดารกรุงศรี อยุธยาโดยย่อ และยุติความลงเพียงกรุงเสียแก่พะม่าใน พ.ศ. ๒๓๑๐
แล้วเก็บความสังเขปตอนสมัยกรุงธนบุรี อันกล่าวไว้ในคัมภีร์สังคีติการวงศ์ มาต่อลำดับเข้า เพื่อเชื่อมกับพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น
เข้าใจว่าคงจะเรียบเรียงในรัชกาลที่ ๓ สำนวนรัดกุมดี


การพิมพ์หนังสือเช่นนี้นับว่าเป็นประโยชน์มากในทางบำรุงโบราณคดีและวรรณคดีของชาติ ซึ่งผู้ได้รับคงจะพอใจ กรมศิลปากรขอนุโมทนาในการกุศล ที่นางน้อม กรณีศรีสำรวจบำเพ็ญเพื่อความสุขความเจริญในสัมปรายภพของนางละม่อม เศรษฐบุตร ผู้มารดา
และฉะเพาะการพิมพ์ประชุมพงศาวดารภาคที่ ๖๖ นี้ให้แพร่หลาย อันสำเร็จโดยเนื่องในนามของผู้วายชนม์

จึงเสมือนว่า นางละม่อม เศรษฐบุตร แม้จะวายชนม์ไปแล้วก็ยังอำนวยให้มีหนังสือเป็นอุปกรณ์สนับสนุนการศึกษาของชาติ
สมควรให้เกิดปีติยินดีแก่ผู้รับหนังสือนี้ทั่วกัน


กรมศิลปากร
วันที่ ๒๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๐





สารบาญ


  • จดหมายรายวันทัพคราวปราบเมืองพุทไธมาศและ เขมรสมัยกรุงธนบุรี เมื่อ พ.ศ. ๒๓๑๔ หน้า ๑
  • เตรียมกองทัพเรือ " ๑
  • เรือแม่ทัพนายกองเขียนรูปตราตามตำแหน่งเรือพระที่นั่งเขียนหน้าเป็นรูปครุฑ " ๑
  • จำนวนเรือรบ, พลและอาวุธในกองต่าง ๆ " ๒
  • อักษรสารของแม่ทัพหน้าถึงเจ้าเมืองพุทไธมาศ " ๕
  • พระยาราชาเศรษฐีเจ้าเมืองพุทไธมาศหน่วงการรบ " ๖
  • กองอาทมาตอาษาหักค่ายเข้าเมืองพุทไธมาศ " ๗
  • เมืองพุทไธมาศแตก เจ้าเมืองลงเรือหนีไป ๙
  • ลงพระราชอาชญาผู้ละเมิด และปูนบำเหน็จผู้กระทำความชอบ " ๑๐
  • จัดแจงการปกครองเมืองพุทไธมาศ " ๑๐
  • โปรดให้พระยาพิพิธเป็นพระยาราชาเศรษฐี รั้งเมืองปากน้ำพุทไธมาศ " ๑๒
  • ทัพหลวงเสด็จพระราชดำเนินไปปราบเขมร " ๑๒



(หน้า ๒)

  • ธงพระราชโองการ หน้า ๑๒
  • เจ้าเขมรหนีไปเมืองลูกหนาย แดนญวน " ๑๔
  • โปรดให้นักองรามราชาเป็นพระเจ้ากรุงกัมพูชาธิบดี " ๑๕
  • ทัพหลวงเสด็จกลับไปเมืองพุทไธมาศ " ๑๖
  • พระราชปรารภถึงลักษณะผู้จะเป็นกษัตราธิราช " ๑๘
  • พระราชสัตยาธิษฐานสาบานต่อหน้าพระสงฆ์ " ๑๙
  • เมืองปาสักสวามิภักดิ์ " ๒๐
  • พระราชกระแสทรงแนะนำในการรบทัพญวน " ๒๗
  • พระยายมราชเป็นต้นกราบทูลรายงานการยกทัพบกไปเขมร " ๒๙
  • โปรดให้พระยายมราชและพระยาโกษา อยู่ช่วยราชการกรุงกัมพูชา " ๓๑
  • โปรดให้ฟ้าทะละหะ คงเป็นที่ฟ้าทะละหะ " ๓๑
  • พระยาประชาชีพฉ้อข้าวหลวง " ๓๒
  • พระราชทานอาวุธแลสะเบียงช่วยกรุงกัมพูชา " ๓๖
  • ทัพหลวงเสด็จกลับกรุงธนบุรี " ๓๗
  • พระราชทานญวนข้างในแก่เจ้าพระยาทั้งห้า " ๓๗
  • พระยาราชาเศรษฐี ญวน ขอสวามิภักดิ์ " ๓๘
  • รายการกองทัพหน้าที่ไปปราบเขมร " ๓๙


(หน้า ๓)

  • รายนามเจ้านายและขุนนางบางท่านในกองทัพ หลวง ณเมืองพุทไธมาศ หน้า ๓๙
  • จุลยุทธการวงศ์ ความเรียง ( ตอนต้น ) " ๔๑
  • คำนมัสการ " ๔๑
  • บริจเฉทที่ ๑ " ๔๑
  • ท้าวความถึงครั้งพุทธกาล " ๔๑
  • มูลเหตุที่พระบรมธาตุเป็นขนาดเล็ก " ๔๓
  • เรื่องพระเจ้าศรีธรรมาโศกราชกรุงสุโขทัย " ๔๔
  • พระเจ้าศรีธรรมาโศกราชเสด็จออกไปประทับรักษาศีลที่ภูเขาหลวง " ๔๕
  • เรื่องนางนาคมาบำเรอพระเจ้าศรีธรรมาโศกราช " ๔๖
  • นางนาคสำรอกต่อมโลหิตจากครรภ์ " ๕๐
  • ต่อมโลหิตสมภพเป็นพระร่วงราชกุมาร " ๕๑
  • มียายกันตาเลี้ยงพระร่วงราชกุมารไว้ " ๕๒
  • พระร่วงวาจาสิทธิ์ " ๕๔
  • พระจ้าศรีธรรมาโศกราชกรุงสุโขทัยทรงทราบว่า พระร่วง เป็น พระราชโอรส ก็โปรดปราน " ๕๕
  • พระร่วงทรงผนวช " ๕๖
  • เมืองละโว้ส่งส่วยน้ำแก่กรุงกัมพูชา " ๕๖



(หน้า ๔)

  • พระเจ้ากรุงกัมพูชาคิดกำจัดพระร่วง หน้า ๕๗
  • ผู้ไปทำการกำจัดต้องกลายเป็นขอมดำดิน " ๕๘
  • พระร่วงลาผนวช และสร้างเมืองสวรรคโลกที่เมืองสัชนาไลยเก่า " ๕๙
  • พระเจ้าศรีธรรมาโศกราชสวรรคต พระร่วงครองกรุงสุโขทัย แล้วโปรดให้เจ้าศรีธรรมราชาน้องยาเธอ ครองเมืองสวรรคโลก " ๕๙
  • พระร่วงเสด็จไปเมืองจีนหาช่างมากระทำถ้วยชามเป็นต้น " ๖๑
  • พระเจ้ากรุงจีนถวายราชธิดาแก่พระร่วง " ๖๓
  • พระร่วงเสด็จกลับมากรุงสุโขทัย " ๖๔
  • ประเทศรามัญขึ้นกรุงสุโขทัย " ๖๖
  • พระร่วงโปรดเสด็จประพาสต่างประเทศ " ๖๘
  • พระร่วงสวรรคตที่แก่งหลวง " ๖๘
  • บริจเฉทที่ ๒ " ๖๙
  • เรื่องเมืองเชียงราย " ๖๙
  • มูลเหตุสมภพเจ้าเมืองสัตวงศ์ " ๗๐
  • เมือง สัตวงศ์ไม่ยอมส่งบรรณาการแก่เมืองเชียงราย " ๗๑
  • พระเจ้าเชียงรายยกทัพไปปราบเมืองสัตวงศ์แต่ต้องล่าถอยกลับเมือง " ๗๓



(หน้า ๕)

  • กองทัพเมืองสัตวงศ์ยกมาล้อมเมืองเชียงราย หน้า ๗๖
  • พระเจ้าเชียงรายอพยพหนีมาตั้งอยู่ทิศตะวันตกเมืองกำแพงเพ็ชร์ " ๗๗
  • พระเจ้าเชียงรายสร้างเมืองไตรตรึงส์ นายแสนปมชาวเมืองแปบได้ราชเจ้าธิดาเมือง ไตรตรึงส์ " ๘๑
  • สร้างเมืองเทพมหานครให้เจ้าอู่ทอง " ๘๒
  • เจ้าอู่ทองอพยพมาสร้างกรุงศรีอยุธยา " ๘๒
  • เมืองประเทศราชขึ้นกรุงศรีอยุธยา ๑๖ เมือง " ๘๓
  • เรื่องพระร่วงสุโขทัย " ๘๔
  • พระเจ้าสุริยราชาครองเมืองพิจิตรปราการ " ๘๔
  • พระเจ้าจันทราชาครองราชย์สืบต่อจากพระเจ้าสุริยราชา แต่ครองกรุงสุโขทัย " ๘๔
  • พระเจ้าจันทราชาได้นางนาค " ๘๔
  • นางนาคตกฟองเท่าผลมะพร้าวห้าว " ๘๕
  • ยายกับตาเก็บฟองไปรักษาไว้ " ๘๕
  • ฟองนาคสมภพเป็นกุมารมีวาจาสิทธิ์ จึงได้นามว่า พระร่วง " ๘๖
  • พระร่วงได้ ดำรงพระยศเป็นราชโอรสพระเจ้าจันทราชา " ๘๖



(หน้า ๖)

  • พระร่วงขอให้งดส่งส่วยน้ำแก่เมืองอินทปรัสถ์ หน้า ๘๘
  • ทัพเมืองอินทปรัสถ์ยกมาปราบกรุงสุโขทัย แต่ต้องล่าถอยกลับไป " ๘๘
  • พระร่วงได้ครองราชย์สืบสนองต่อจากพระเจ้าจันทราชา " ๙๐
  • สมเด็จพระร่วงเจ้าสร้างเมืองสวรรคโลกขึ้นใหม่ " ๙๐
  • มะกะโทชาวเมืองเมาะตะมะทำการค้าขาย " ๙๑
  • มะกะโทถวายตัวทำราชการ ณ กรุงสุโขทัย " ๙๓
  • มะกะโทเป็นขุนวัง " ๙๕
  • มะกะโทพาพระราชธิดาหนีไปเมืองมอญ " ๙๖
  • สมเด็จพระร่วงเจ้าทรงพระเมตตาอำนวยพรเพื่อความสวัสดีแก่มะกะโท " ๙๗
  • มะกะโทตั้งเกลี้ยกล่อมซ่องสุมชาวรามัญ " ๙๗
  • มะกะโทตั้งตัวเป็นกษัตริย์แห่งรามัญประเทศ " ๙๘
  • พระเจ้ามะกะโทสวามิภักดิ์ต่อกรุงสุโขทัย " ๙๙
  • สมเด็จพระร่วงเจ้าทรงพระกรุณาให้ราชาภิเษกมะกะโทเป็นกษัตริย์ทรงพระนามว่า พระเจ้าฟ้ารั่ว " ๙๙
  • สมเด็จพระร่วงเจ้าสวรรคต " ๑๐๐
  • พระลือราชอนุชาเสด็จขึ้นครองราชย์สืบสนองต่อมา " ๑๐๑



(หน้า ๗ )

  • เทศนาจุลยุทธการวงศ์ หน้า ๑๐๒
  • เรื่องพระเจ้าเชียงรายแพ้พระยาสะตอง ต้องอพยพมาสร้างนครไตรตรึงส์ " ๑๐๒
  • สมภพพระเจ้าอู่ทอง " ๑๐๒
  • พระเจ้าอู่ทองสร้างกรุงศรีอยุธยา " ๑๐๔
  • ลำดับวงศ์กษัตริย์ผู้ครองกรุงศรีอยุธยา " ๑๐๕
  • ว่าด้วยสมัยกรุงธนบุรี " ๑๑๘
  • ว่าด้วยเริ่มต้นสมัยกรุงรัตนโกสินทร " ๑๑๙
  • สังเวชนียกถาท้ายเทศนา " ๑๒๐




จดหมายรายวันทัพสมัยกรุงธนบุรี คราวปราบเมืองพุทไธมาศและเขมร  เมื่อ พ.ศ. ๒๓๑๔



วันพฤหัสบดี เดือน ๑๑ ขึ้น ๙ ค่ำ ปีเถาะตรีศก (จ.ศ. ๑๑๓๓ พ.ศ. ๒๓๑๔)
กองพระยา(๑)ยมราชยกไปทางบก จะได้ยกทัพไปกัมพูชาธิบดีครั้งนี้ เป็นคน (๑๐๕๙๐) เป็นคน...............


วัน เดือน ๑๑ ขึ้น ๑๕ ค่ำ ปีเถาะตรีศก เพลา ๕ ทุ่ม มีจันทคราช
จึงทรงพระราชศรัทธาปรายเงินพระราชทานข้าทูลละออง ฯ ผู้ใหญ่ผู้น้อย แลยาจกวณิพกทั้งปวง ถึงเพลา ๒ ยามจึงคาย


วัน เดือน ๑๑ แรม ๑๑ ค่ำ ปีเถาะตรีศก
ทัพหลวงจะยกไปเมืองกัมพูชาธิบดีโดยทางชลมารค ทรงพระที่นั่งเรือรบ เป็นคน ๑๐๘๖๖ ในนี้


วันพฤหัสบดี เดือน ๑๑ แรม ๘ ค่ำ ปีเถาะตรีศก
เสด็จออกพระตำหนักแพ เจ้าพระยาแลพระยาหลวงขุนหมื่น บรรจุคนพร้อมมาถวายลำทุกคน พระราชทานปืน, เข็มขัด, เสื้อ, หมวกสีดอกคำ,ทนาย,
ปืนหน้าเรือแลปืนรายแคมเสมอทุกคน
เรือรบ(๒)เขียนเป็นรูปตราตามตำแหน่ง ตรงข้างเรือเขียนเป็นลายรดน้ำ เรือพระที่นั่งทรง เขียนหน้าเรือเป็นรูปครุฑ ข้างเป็นลายรดน้ำ -

......................................
(๑) พระยายมราช ( ด้วง ) คือสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ฉบับสมุดไทยเขียนว่า เจ้าพระยา
(๒) ระเบียบกองทัพเรือสมัยกรุงธนบุรี



(หน้า ๒)

- พนักท้ายเขียนน้ำทองพะอวดทอง หลังคาสีสักกะหลาด ตะกุดแจวเสากะโดงทาสีเหลือง พลแจวใส่หมวกใส่เสื้อสีดอกคำ
เรือรบเจ้าราชนิกุลเขียนลายรดน้ำ หลังคาหุ้มผ้าแดง พลแจวใส่เสื้อเขียว มีธง(๑)แลโคม


กองพระยาพิชัยไอศวรรย์ เรือรบหลวง ๔๔ เรือรบปากน้ำ ๒๙ เรือรบชะเลยศักดิ์ ๑ ( รวม ) ๗๓ ( ลำ )
คน นาย ๑๔๐ ไพร่ ๑๕๔๖ ( รวม ) ๑๖๘๖
ปืนหน้าเรือ ๕๓ ปืนรายแคม ๑๑๒ ( รวม ) ๑๖๕ ( บอก )
ปืนคาบสิลา ๔๒๖ ปืนคาบชุด ๙๓ ( รวม ) ๕๑๙ ( รวมทั้งหมด ) ๖๘๔ บอก


กองพระยาพิพิธ เรือรบหลวง ๑๒ เรือรบชะเลยศักดิ์ ๔ สำเภา ๓๔ ( รวม ) ๕๐ ( ลำ )
คน นาย ๕๐ ไพร่ ๑๔๓๑ ( รวม ) ๑๔๘๑ ( คน )
ปืนหน้าเรือ ๑๖ ปืนรายแคม ๓๒ ปืนคาบสิลา ๑๖ ( รวม ) ๖๔ ( บอก )


กองพระศรีราชเดโช เรือรบ ๒๗ ลำ
คน นาย ๒๕ ไพร่ ๙๔๙ ( รวม ) ๙๗๔ ( คน )
ปืนหน้าเรือ ๒๗ ปืนรายแคม ๕๔ ( รวม ) ๘๑
ปืนคาบศิลา ๓๒๔ ปืนคาบชุด ๙๙ ( รวม ) ๔๖๒ ( บอก )


กองพระท้ายน้ำ เรือรบ ๔๓ ลำ
คน นาย ๘๔ ไพร่ ๑๐๑๗ ( รวม ) ๑๑๐๑ ( คน )
ปืนหน้าเรือ ๔๓ ปืนรายแคม ๘๖ ( รวม ) ๑๒๙ ( บอก )
ปืนศิลาคาบ ๓๗ ปืนคาบชุด ๑๘๐ ( รวมกับปืนคาบศิลาเป็นจำนวน ) ๒๑๗ ( รวมทั้งหมด ) ๓๔๖ ( บอก )

.....................................
(๑) ต้นฉบับเป็น ทง. ทุกแห่ง



(หน้า ๓)

กองเจ้าพระยาจักรี(๑) เรือรบ ๘ เรือกลาบู ๔ เรือปากปลา ๑ ( รวม ) ๑๓ ลำ
คน นาย ๒๑ ไพร่ ๖๖๘ ( รวม ) ๖๘๙ ( คน )
ปืนหน้าเรือ ๘ ปืนรายแคม ๑๖ ปืนคาบศิลา ๑๕๔ ( รวม ) ๑๗๘ ( บอก )


กองพระยาโกษา นอกราชการ เรือรบ ๑๐ เรือสำเภา ๒๔ ( รวม ) ๓๔ ( ลำ )
คน นาย ๗๒ ไพร่ ๑๖๓๓ ( รวม ) ๑๗๐๕ ( คน )
ปืนหน้าเรือ ๑๐ ปืนรายเเคม ๒๐ ( รวม ) ๓๐ ( บอก )
ปืนคาบศิลา ๓๖๑ ปืนคาบชุด ๑๔๒ ( รวม ) ๕๐๓ ( บอก ) (รวมทั้งหมด ) ๕๓๓ ( บอก )


กองพระยาทิพโกษา เรือรบหลวง ๗ ลำ เรือรบชะเลยศักดิ์ ๖ ลำ ( รวม ) ๑๓ ( ลำ )
คน นาย ๒๒ ไพร่ ๔๓๑ ( รวม ) ๔๕๓ ( คน )
ปืนหน้าเรือ ๑๗ ปืนรายแคม ๒๖ ( รวม ) ๓๗ ( บอก )
ปืนคาบศิลา ๑๒๓ ปืนคาบชุด ๑๗ ( รวม ) ๑๓๖ ( รวมทั้งหมด ) ๑๗๕ บอก


กองหลวง เรือรบ ๘๕
คน นาย ๑๗๘ ไพร่หลวง ๑๑๐๒ ไพร่สม ๙๖๒ ( รวม ) ๒๒๔๒ ( คน )
ปืนหน้าเรือ ๘๔ ปืนรายแคม ๑๖๘ ( รวม ) ๒๕๒ ( บอก )
ปืนคาบศิลา ๗๒๕ ปืนคาบชุด ๔๐ ( รวม ) ๗๖๔ ( รวมทั้งหมด ) ๑๐๑๖ บอก


นายท้ายนายใบ ๒๐ คน ไปสำเภา
นาย ๓๐ไพร่ ๒๙๙ ( รวม ) ๓๒๙ ( คน )


สำเภา ๕๙ เรือหลวง เรือรบปากน้ำ เรือชะเลยศักดิ์ -

..............................
( ๑ ) เจ้าพระยาจักรี ( หมุด )



(หน้า ๔)

๑๓๑ ( รวม ) ๑๘๐ ( ลำ )
คน นาย ๔๑๔ ไพร่ ๗๖๗๕ ( รวม ) ๘๐๘๙ ( คน )
ปืนหน้าเรือ ๑๗๐ ปืนรายแคม ๓๔๖ ( รวม ) ๕๑๖ ( บอก )
ปืนคาบศิลา ๒๘๑๙ ปืนคาบชุด ๕๒๖ ( รวม ) ๓๓๔๕ ( รวมทั้งสิ้น ) ๓๘๖๑ ( บอก )


สำเภา ๕๙ เรือรบ ๔๑๓ ลำ
คน นาย ไพร่ ๑๐๕๙๐ คน ปืนใหญ่ ปืนน้อย ๒๔๒๓ บอก
หักตาย นาย ๑๑ ไพร่ ๑๐๐ ( รวม ) ๑๑๑ (คน)


กองพระญาณประสิทธิ์ ( คือ )
พระญาณประสิทธิ์ นายจันทร์ นายมา นายรักทะลวงฟัน นายอ้าย นายสัง ( รวม ) ๖

หมวดขุนเอกประเสริฐ ( คือ )
ขุนเอกประเสริฐ ๑ นายเทียน ๑ นายโค ๑ นายเกิด ๑ นายอยู่ ๑ นายปาว ๑ นายเกริม ๑ นายอิน ๑ นายพร ๑ ( รวม ) ๙

หมวดขุนชัยณรงค์ (คือ)
นายเมือง...... นายจันทร์ นายมี นายทองดี นายชู นายกัน นายดี นายจ้วน นายสัง ( รวม ) ๑๐

หมวดพระสารสุธรรม ( คือ )
พระสารสุธรรม นายเพ็ชร์ นายชม นายเดื่อ นายเรือง นายทองคำ นายนาม นายทองขาว นายทองอินทร์ หลวงชน ( รวม ) นาย ๒ ไพร่ ๘ ( รวม ) ๑๐

หมวดอาจารย์จันทร์ ( คือ )
อาจารย์จันทร์..... นายบุญรด นายสน นายปาน นายโพ นายเกด นายบุญรอด นายทองคำ นายปิ่น นายอิ่ม นายสุก นายสัง นายสอน นายดา นายอาจ นายสุก นายจิน
นายเดื่อ นายเสน นายวิชิต นายสุก นายโพ นายจันทร์ นายดวง ( รวม ) นาย ๒ ไพร่ ๒๓ ( รวม ) ๒๕ คน



(หน้า ๕)

หมวดนายโพ ( คือ )
นายโพ นายสา นายรอด นายกาน นายดวง นายสาแก่ นายจันทร์ นายอินทร์ นายใจ นายอุน ขุนราม นายหมวด นายสน ( รวม ) นาย ๒ ไพร่ ๑๑ ( รวม ) ๑๓ คน

กองหลวงเพ็ชรสงคราม นายดวง นายดำ...........นายสานายศรี นายแมน นายเกิด นายเขียว นายสน ( รวม ) นาย ๑ ไพร่ ๙ ( รวม ) ๑๐

กองพระสุธรรมาจารย์ ( คือ )
พระสุธรรมาจารย์ ๑ ขุนศรี ๑ นายชิน นายเพ็ชร นายสม นายตอม นายศรี นายเกลียง นายศรี นายเลียง นายจัง นายจง นายรอด นายสุด นายมาก นายเทศ นายเสน นายขุน นายจันทร์ นายมา นายสา นายเรือง นายสุก นายทอง นายสดน้อย นายนาค นายอินทร์ ( รวม ) ๒๘ คน

( ต้นฉบับขาด........................................................)

แล(๑) มาบัดนี้จะส่งเจ้าองค์ราม ขึ้นไปราชาภิเษกณกรุงกัมพูชาธิบดี......ตัวเจ้าเสสังข์(๒) เจ้าจุ้ย แลข้าหลวงชาวกรุง ฯ
ซึ่งไปอยู่เมืองใดจะเอาให้สิ้น
ถ้าแลพระยาราชาเศรษฐีเห็นว่าจะต้านทานสู้รบได้ ให้แต่งป้อมต้ายค่ายคูไว้จงสรรพ ถ้าเห็นจะสู้มิได้ ยังทรงพระกรุณาโปรดพระยาราชาเศรษฐีอยู่ ให้ออกมาถวายบังคม
เราจะช่วย เถิงว่าแก่ -

.........................................
(๑) อักษรสารของพระยาพิชัยไอศวรรย์แม่ทัพหน้า ถึงพระยาราชาเศรษฐีเจ้าเมืองพุทไธมาศ
(๒) เรื่องของ เจ้าเสสังข์ (ศรีสังข์) มีปรากฎในประชุมพงศาวดารภาคที่ ๓๙, เจ้าจุ้ย เป็นโอรส สมเด็จเจ้าฟ้าอภัย



(หน้า ๖)

- แล้วจะมามิได้ ก็ให้แต่งหุเอียบุตรออกมาโดยฉับพลัน ถ้าช้าจะทรงพระวิโรธให้ฆ่าเสียให้สิ้น

ครั้นญวนมีชื่อถือหนังสือเข้าไปเถิงแล้ว พระยาราชาเศรษฐีให้หนังสือตอบออกมา เป็นใจความว่า
ซึ่งให้หนังสือมาเถิง ฯ ข้า ฯ ขอบใจนักหนา จะหามาปรึกษาให้พร้อมกันก่อน ถ้าปรึกษาประนอมพร้อมกันแล้ว จึงจะบอกมาให้แจ้งต่อเมื่อภายหลัง

จึงมีหนังสือตอบเข้าไปอีกครั้งหนึ่งเล่าเป็นใจความว่า ถ้าพระยาราชาเศรษฐีจะปรึกษา ก็ให้เร่งปรึกษาแต่ในเพลาค่ำวันนี้
ถ้าช้าอยู่ทัพหลวงจะมาเถิง จะเกิดยุทธนาการมากไป พระยาราชาเศรษฐี ก็ยังมิได้บอกหนังสืออกให้แจ้งมามิได้
ในวันนั้นสั่งให้พระยาอภัยรณฤทธิ์ไป ตั้งค่ายสะกัดอยู่ณเชิงเขาฝ่ายทิศตะวันออก
พระยาพิชัยไอศวรรย์ แลเรือรบอาษาหกเหล่า กองหน้านั้นให้ตากันรบอยู่ ท้ายกอะ(๑) หน้าเมืองฝ่ายตะวันออก

วันเสาร์ เดือน ๑๒ ขึ้น ๑๐ ค่ำ ปีเถาะตรีศก ( พ.ศ. ๒๓๑๔ ) เพลาเช้าโมงเศษ
ทรงพระอุตสาหะเสด็จ ฯ ไปด้วยพระบาท ยืนอยู่ฟากตะวันออกตรงป้อมหน้าเมือง
สั่งเจ้าพระยาจักรี พระยาทิพโกษาตรัสชี้พระหัตถ์ไปให้ทำค่ายน้ำ ๒ ฟาก ไว้หว่างกลางกว้างประมาณ ๑๐ เส้น
จะได้ให้ เรือรบซึ่งปืนหน้าเรือกินดินชั่งหนึ่ง คอยรบ จับเอาอ้ายเหล่าร้ายซึ่งจะหนีออกไปนั้น ในทันใดนั้น
เจ้าพระยาจักรี พระยาทิพโกษา พาตัว อ้ายมาญวน ซึ่งหนีออกมาสวามิภักดิ์ เข้ามาเป็นข้า -

........................................
( ๑ ) ต้นฉบับเขียน เกาะ เป็น กอะ จึงคงไว้ให้ดูเป็นตัวอย่าง



(หน้า ๗)

- ใต้ละออง ฯ มี คำอ้ายมาญวน กราบทูลพระกรุณาว่า จีนบุนเส็งหนีไปแล้ว ราชาเศรษฐีก็คิดอ่านจะหนีไป
ครั้นจะเชื่อถ้อยคำ อ้ายมาญวน นั้น ยังมิได้ จึงทรงพระกรุณาให้จำไว้ จึงสั่งว่า ถ้าอ้ายมาญวน จะเข้าไปรับครัวนั้น ให้ลงพระราชอาชญา แล้วมัดมือไพล่หลังเข้าไป
ถ้า พาครัว มาได้ เห็นว่ามันสวามิภักดิ์จริง ตัวมันให้ ทำราชการ ถ้าสัมฤทธิ์ราชการแล้ว เถิงจะเป็นใหญ่อยู่ในเมืองพุทไธมาศก็จะให้

อนึ่ง มีรับสั่งให้ หมื่นฤทธิ์อาคเน ไปดูคลื่นลมแลเรือรบญวน ซึ่งอยู่หน้าเมืองนั้น จะระส่ำระสายอยู่เป็นประการใด
แล หมื่นฤทธิ์อาคเน มิได้ไปโดยพระราชดำริ ไปเผาเรือนใกล้ค่าย อ้ายเหล่าร้าย แล้วยิงปืนหน้าเรือเข้าไปให้ผิดด้วยรับสั่ง
สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัว ทรงวิโรธ จึงตรัสปริภาษนา ด่าหมื่นฤทธิ์อาคเนว่า
อ้ายข้านอกเจ้า ถ้าอ้ายเหล่าร้าย มันตั้งค่ายสูง จะให้หักค่ายเข้าไป ถ้าเข้าไป มิได้ จะบั่นศีรษะเสีย

อนึ่งเพลาบ่าย ๓ โมงเศษ เสด็จอยู่ ณ พระตำหนักตึก ให้หาทหาร แลกรมอาจารย์ ขึ้นมาเฝ้า จึงตรัสถามว่า
ใครอาจสามารถจะหักค่ายเข้าไปได้ ในเพลาคืนวันนี้ ถ้าเห็นจะได้ก็ให้ว่าได้ ถ้ามิได้ ก็ว่ามิได้
ถ้าเห็นจะได้ เข้าไปหักค่าย มิได้ กลับคืนออก จะตัดศีรษะเสีย
ถ้าเข้าไปได้สัมฤทธิราชการ จะปูนบำเหน็จให้ถึงขนาด


เมื่อตรัสประภาษนั้น ต่อหน้าข้าหลวงผู้ใหญ่น้อยเฝ้าอยู่พร้อมกัน
ทหารกองใน นาย ๑๑ ไพร่ ๑๐๐ เป็น ๑๑๑ คน รับอาษาหักค่าย
พระญาณประสิทธิ ๑ ไพร่ ๕ เป็น ๖ คน
ขุนเอกประเสริฐ ๑ ไพร่ ๘ เป็น ๙ คน
หมวดขุนณรงค์ ไพร่ ๑๐ คน
พระสารสุธรรมแลหลวงชน ทั้งนายไพร่ ๑๐ -



(หน้า ๘)

- คน
อาจารย์จันทร์แลขุนวิชิต ทั้งนายไพร่ ๒๕ คน
นายโพแลขุนราม ทั้งนายไพร่ ๑๓ คน
หลวงเพ็ชรสงคราม ๑ ไพร่ ๙ คน
พระสุธรรมา ๑ ไพร่ ๒๗ คน
แลผู้มีชื่อ ๑๑๑ คน รับอาษาเข้าปล้นค่ายให้ได้ ในเพลากลางคืน ถ้าแล หักเข้ามิได้ ยอมถวายชีวิต

จึงทรงพระกรุณาให้เกณฑ์กองทัพฝ่ายทหารฝ่ายพลเรือน ทัพบกทัพเรือ ให้ได้ ๒๔๐๐ พระราชทานสุรา แล้วสั่งให้ยกเข้าไปสมทบ(๑)
กองอาทมาท( ๒)ให้เข้าปล้นค่ายในเพลา ๒ ยาม

อนึ่งให้หา พระมหาเทพ เข้ามาเฝ้าจึงตรัสถามว่า จะให้ถือดาบ ๒ มือ ว่ายน้ำเข้าหน้าค่าย ฟันเข้าไปจะได้ หรือมิได้ จึงรับสั่งว่า สติปัญญาน้อย
ถ้าทรงพระกรุณาเห็นว่า จะเข้าไปได้อยู่แล้ว ถวายบังคมลาเข้าไปตามรับสั่ง ถ้าแลเข้าไปแล้ว มิได้กลับออกมา ก็หาชีวิตมิได้
ถ้าเข้าไปแล้ว มีชัยชนะ ก็จะได้กลับออกมาทำราชการ ฉลองพระเดชพระคุณสืบไป
จึงตรัสประภาษสรรเสริญว่า น้ำใจองอาจมั่นคงนัก จึงทรงพระกรุณาพระราชทานพระแสงต้นองค์หนึ่ง แล้วสั่งให้อยู่รักษาพระองค์

อนึ่งเพลา ๒ ยามเศษ พวกอาทมาท ๑๑๑ คน แล ข้าทูลละอองฯ ฝ่ายทหารพลเรือน ๒๔๐๐ เข้าหักค่าย ตามทรงพระกรุณาพระราชทานฤกษ์ให้
ครั้น หักค่ายเข้าไปได้แล้ว จุดไฟเผาบ้านเรือนเป็นอันมาก แต่รบกันอยู่ในเมืองนั้นช้านาน ทหารซึ่งอยู่รักษาค่ายประชินั้น จะเข้าช่วยก็มิได้
ด้วยคนรักษาที่นั้น ยังยิงรบกัน......โยธาทหารก็ยิ่งโรยลง -

......................................
(๑) ต้นฉบับเขียนเป็นจมทบ
(๒) ตรงนี้หมายเอากองอาจารย์นั่นเอง



(หน้า ๙)

เดชะด้วยอานุภาพพระบารมี ให้ดลจิตต์โยธาทหารทั้งปวง ทัพบกก็สำคัญว่าเสด็จ ฯ มาบก ทัพเรือก็สำคัญว่าเสด็จ ฯ มาทางชลมารคโยธาทหารทั้งปวงก็มีน้ำใจองอาจแกล้วหาญ ทัพเรือทัพบกนั้นก็ตีกระโจมหักค่ายเข้าไป พอรุ่งขึ้นวันอาทิตย์ เดือน ๑๒ ขึ้น ๑๑ ค่ำ ปีเถาะตรีศก เพลาเช้ายังมิได้บาท หักค่ายเข้าไป ไพร่พลเมืองแตกกระจัดกระจายหนีไป พระยาราชาเศรษฐีหนีลงเรือไปได้ จึงทรงพระกรุณาหาเจ้าพระยาจักรีแม่ทัพเรือมาถามว่า ญวนลงเรือหนีไปได้มิยิงปืนด้วยอันใด จึงกราบทูลว่า เรือรบจมื่นไวยขวางหน้าอยู่ จึงมีรับสั่งโปรดเกล้าฯ สืบถามจมื่นไวย รับสมคำเจ้าพระยาจักรี จึงให้ลงพระราชอาชญาคนละ ๓๐ จึงกราบทูลพระกรุณาขออาษาตีกรุงกัมพูชาธิบดีทูลเกล้า ฯ ถวายทำราชการแก้ตัว วันจันทร์ เดือน ๑๒ ขั้น ๑๒ ค่ำ(๑) ครั้นถึงเพลาเช้าโมงเศษจึงเสด็จพระดำเนินเข้ามาอยู่วังราชาเศรษฐี วันจันทร์ เดือน ๑๒ ขึ้น ๑๒ ค่ำ ปีเถาะตรีศกเสด็จออกขุนนางข้าทูลละออง ฯ ฝ่ายทหารพลเรือนเข้าเฝ้าพร้อมกัน จึงตรัสถามพระญาณประสิทธิ พระสุธรรมาจารย์ อาจารย์จันทร์ ว่าเมื่อคุมทหารเข้าหักค่ายนั้น เข้าข้างด้านไหน อาจารย์ทั้งสามนั้นให้การมิต้องกัน จึงเสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตร์ดู ก็เห็นว่าผิดด้วยพระดำริซึ่งทรงพระ (๑) รายการกองทัพหน้า แยกไว้เป็นส่วนหนึ่ง อยู่ตอนท้ายเรื่อง ดูหน้า.......... (๒) ต้นฉบับเป็นเช่นนี้


๑๐ กรุณาโปรดนั้น นี่หากว่าข้าศึกหนีไป ถ้าต่อสู้จะเสียราชการ จึงให้ลงพระราชอาชญานาย ๓ คน คนละ ๕๐ ที ไพร่ ๒๐ คน ๆ ละ ๒๐ ที ซึ่งมีความชอบหักค่ายเข้าได้นั้น ให้พระราชทานเงินคนละ ๖ ชั่ง พระหลวง ๖ คน ๆ ละ ๑๐ ชั่ง เป็นเงิน ๖๐ ชั่ง ไพร่ ๙๕ คน ๆ ละ ๓ ชั่ง เป็นเงิน ๒๘๕ ชั่ง หมื่นขุน ๑๑ คน ๆ ละ ๕ ชั่ง เป็นเงิน ๕๕ ชั่ง ทนายเลือก ๕ คน คนละ ๑ ชั่ง เป็นเงิน ๕ ชั่งเข้ากันเป็นเงิน ๓๒๕ ชั่ง อนึ่งจมื่นศรีเสารักษ์หลวงมหามนตรี ได้บุตรีพระยาราชาเศรษฐี ๒ คน นำมาทูลเกล้า ฯ ถวาย วันจันทร์ เดือน ๑๒ ขึ้น ๑๒ ค่ำ ปีเถาะตรีศก หลวงอิณเทพเอาพระธาตุ ๔ พระองค์ ใส่กล่องถมราชาวดีชั้นหนึ่ง กล่องทองชั้นสอง กล่องเงินชั้นสาม ทรงพระกรุณาส่งให้พระอาลักษณ์แล้ว พระราชทานเงินให้แก่ผู้ได้เป็นอันมาก อนึ่งมีรับสั่งโปรดเกล้า ฯ สั่งว่า บันดาข้าทูลละออง ฝ่ายทหารพลเรือน บันดาซึ่งได้ญวนผู้หญิงไว้ ให้เอามาทูลเกล้า ฯ ถวายให้สิ้นถ้าเป็นลูกหลานวงศ์วานพระยาราชาเศรษฐี จะเอาไว้เป็นหลวง นอกนั้นจะพระราชทานให้แก่ผู้ได้ อนึ่งเจ้าจุ้ยบุตรเจ้าฟ้าอภัย มาอยู่ด้วยราชาเศรษฐี ลงเรือหนีไปได้ตัวมา ให้ลงพระราชอาชญาเฆี่ยนยกหนึ่งแล้วให้จำไว้ อนึ่งเพลาเช้า ๕ โมงเศษ เกิดเพลิงไหม้หน้าวัง ไหม้ตึกกว้านเรือนร้านริมพระราชวังเป็นอันมาก เสด็จ ฯ ไปให้โยธาทหารดับเสียได้ สั่งให้เอาตัวนายหมู่นายกองจีนมาลงพระราชอาชญาเฆี่ยน แล้วจำตรวนชั้น

๑๑ หนึ่งผัดไว้ให้สืบเอาต้นไฟให้ได้จึงพ้นโทษ พิจารณาไปได้จีนต้นไฟ ๓ คน ถามเป็นสัตย์แล้วตัดศีรษะเสีย (๑)แล้วทรงพระกรุณาให้นายทัพนายกองจีนพ้นจากโทษ อนึ่งเมื่อเพลาเพลิงสงบ(๒) ลง ไทยบ่าวพระยาพิพิธคนหนึ่ง นำบุตรีพระยาราชาเศรษฐีผู้หนึ่งมาทูลเกล้า ฯ ถวาย สั่งถามว่า เป็นไฉนจึงเอาไว้เป็นเมีย จึงให้การว่าจีนมีชื่อมิได้รู้จักหน้าพาหนีไฟมา ชิงไว้ได้ จึงตรัสถามว่า จะนำจีนซึ่งพามาจะได้หรือมิได้ ให้การมิได้ จึงให้ลงพระราชอาชญาโบย ๑๐๐ แล้วให้ผูกคอพระยาพิพิธผู้นาย ให้นำตัวจีนซึ่งพามานั้นก็มิได้ จึงสั่งให้ลงพระราชอาชญาจำไว้ บันดานายทัพนายกองจีนทั้งปวงก็มิได้เนื้อความหามิได้ ครั้นรุ่งขึ้นวันอังคาร เดือน ๑๒ ขึ้น ๑๓ ค่ำให้ลงพระราชอาชญาเฆี่ยนถามยกหนึ่ง ก็ยังมิได้เนื้อความ จึงสั่งให้พระยาจันทบูร เป็นตระลาการถามให้ได้เนื้อความ ถ้ามิได้จะตัดศีรษะเสีย พระยาจันทบูรไปสืบได้จีนซึ่งพาไปไว้นั้นมาทูลเกล้า ฯ ถวายเป็นสัจแล้วให้ตัดศีรษะเสีย แลไทยบ่าวพระยาพิพิธนั้นทรงพระกรุณาให้ออกจากโทษ จึงตรัสประภาษว่า ถ้าจะมิเอาโทษบัดนี้ จะเป็นเยี่ยงอย่างไป จะทำสงครามสืบไปเบื้องหน้า ได้บ้านเมืองแล้ว ลูกเจ้านายก็จะเอาไว้เป็นอาณาประโยชน์แก่ตัวเอง

(๑) ดูประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๓๙หน้า๒๒ และประกาศพระราชบัญญัติรัชกาลที่ ๔ เล่ม ๑ หน้า ๒๑๔ ว่าด้วยโทษผู้วางเพลิง (๒) ต้นฉบับเขียนเป็น สนบ

๑๒ อนึ่งตรัสสั่งว่า สัมฤทธิ์ราชการแล้ว ให้มีกฎหมายประกาศแก่นายทัพนายกองไทยจีนทั้งปวง ซึ่งจีนแลญวนไพร่พลเมืองจะเดินไปมาค้าขายตามถนนหนทาง อย่าให้จับกุมโบยตีฆ่าฟันเป็นอันขาด ให้ตั้งเกลี้ยกล่อมทำมาหากินตามภูมิลำเนาแต่ก่อน ถ้าผู้ใดมิฟัง บังอาจละเมิดพระราชกำหนด จะลงพระราชอาชญาผู้นั้นถึงสิ้นชีวิต วันพุธ เดือน ๑๒ ขึ้น ๑๔ ค่ำ ปีเถาะตรีศก ปราบอริราชศัตรูสัมฤทธิ์ราชการแล้ว ทรงพระกรุณาจัดแจงบ้านเมืองดังเก่า จึงพระราชทานชื่อพระยาพิพิธผู้ว่าราชการที่โกษา เป็นพระยาราชาเศรษฐีรั้งเมืองปากน้ำพุทไธมาศ เสร็จแล้ว เพลาย่ำฆ้องค่ำ ๕ บาทเป็นมหาพิชัยฤกษ์ เสด็จยกพลพยุหบาดทัพหลวง นายไพร่ ๕๐๐๐ เศษ เรือรบ ๖๐ สรรพด้วยปืนหน้าเรือ ปืนรายแคม ปืนคาบศิลา ๒๐๐๐ แลเครื่องสาตราวุธทั้งปวง ยกจากพุทไธมาศโดยทางชลมารคไปตีกรุงกัมพูชาธิบดี ครั้นถึงวันพฤหัสบดี เดือน ๑๒ ขึ้น ๑๕ ค่ำประทับแรมพลอยู่บ้านปลิงกุเวนหนึ่ง ครั้นรุ่งณวันศุกร เดือน ๑๒ แรม ๑ ค่ำ เสด็จ ฯ ไปถึงบ้านนักอาริมน้ำ เพลาบ่าย ๓ โมงเศษ ประทับเรือพระที่นั่งหน้าบ้านเขมรผู้ใหญ่นายบ้านลงมาเฝ้า จึงตรัสถามถึงเล่าเหีย ว่ายกหนี มาทางนี้หรือประการใด กราบทูลพระกรุณาว่า เล่าเหียยกทัพไปจากนี้ได้ ๔ วันเห็นว่าทัพหน้าจะตามทัน เพลาวานนี้ได้ยินเสียงปืนมาถึงนี่ จึงทรงพระกรุณาพระราชทานธงพระราชโองการให้......แล้ว เสด็จ ฯ ไปประทับแรมอยู่ณบ้านแหลมเวนหนึ่ง ๑๓ ครั้นรุ่งขึ้นณวันเสาร์ เดือน ๑๒ แรม ๒ ค่ำ เสด็จ ฯ ไป จีน นำทางให้ผิด ทรงพระวิโรธ ให้ล้างจีนผู้นำทางนั้นเสีย เสด็จประทับเเรมอยู่กลางทุ่งเวนหนึ่ง ครั้นรุ่งขึ้นณวันอาทิตย์เดือน ๑๒ แรม ๓ ค่ำ เพลาเช้า ๓ โมงเศษ หยุดประทับปากน้ำโพรงกระสัง จัดแจงโยธาทหาร พระราชทานอุบายแล้วให้เร่งยกไป อนึ่งสั่งให้หมื่นศรีภูธรตำรวจใน ให้คุมเขมรเชลยคนหนึ่ง ให้นำทางแยกขึ้นไปทางหนึ่ง ไปเร่งกองทัพพระยาจักรี ครั้นถึงเพลาเย็นเขมร โดดน้ำหนี หมื่นศรีภูธรแทงเขมรนั้นตาย ครั้นจะไป ขัดสนด้วยหนทาง จึงกลับคืนมาหาทัพหลวง อนึ่งทรงพระกรุณาให้จีน... ๒ คน ถือหนังสือโกษาธิบดีไปถึงผู้รั้งกรมเมืองปาสัก เป็นใจความว่า เมืองพุทไธมาศตีได้แล้วกองทัพซึ่งยกทหาร......บอกหนังสือมาว่าจะได้เมืองกัมพูชาอยู่แล้ว จึงเสด็จ ฯ มาทางท้องจินจง หากนายทัพนายกอง.....มิให้ไปตีปาสักหามิได้ ด้วยเมืองปาสักเคยถวายเป็นเครื่องบรรณาการทูลเกล้าฯ ถวาย...ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ จะเลี้ยงสืบไป อนึ่งเจ้าเมืองพุทไธมาศหนีมาทางนี้ ให้จับตัวมาถวายด้วยจะมีความชอบ แลจีน ๒ คนไปในเพลา กลางคืน พบเรือญวนใหญ่น้อยประมาณ ๒๐ ลำ ญวนสะกัดไว้จะไปนั้นมิได้ จึงกลับคืนมาหาทัพหลวง ด้วยนายจ่าเนตรรับสั่งใส่เกล้า ฯหม่อม สั่งว่ามีพระราชกำหนดกฎหมายว่าไว้แต่ก่อนนั้น.....

๑๔ วันจันทร์ เดือน ๑๒ แรม ๔ค่ำ เพลาเช้าเสด็จฯ ไปพบบ้านจีนริมน้ำ หยุดประทับ จีนเข้ามาเฝ้า กราบทูลพระกรุณาว่า เจ้าเมืองกัมพูชาหนีไปแล้ว จึงทรงพระกรุณาพระราชทานธงสำคัญให้แล้วเสด็จ ฯ ไป วันพุธ เดือน ๑๒ แรม ๖ ค่ำ เพลา ๕ โมงเศษ หยุดประทับอยู่ณกอะพนมเพ็งเจ้าพระยาจักรีมาเฝ้ากราบทูลพระกรุณาว่า เจ้าเขมรหนีไปหลายวัน ไปอยู่บ้านบ่อพนม จึงดำรัสสั่งเจ้าพระยาจักรี พระศรีราชเดโช พระท้ายน้ำ ให้ยกไปตาม อยู่ประทับแรมเวณหนึ่ง ครั้นรุ่งขึ้นวันพฤหัสบดี เดือน ๑๒ แรม ๗ ค่ำเพลาบ่าย ๓ โมงเศษ ยกทัพหลวงตามไป เพลาประมาณยามเศษ หนังสือเจ้าพระยาจักรีบอกมากราบทูลพระกรุณา ใจความว่า ญวนลูกหนายรับเอาเจ้าเขมรไปจากกอะพนมแล้ว จึงหยุดประทับแรมอยู่หน้าบ้านตำหนักเวนหนึ่ง

ครั้งรุ่งขึ้นวันศุกร์ เดือน ๑๒ แรม ๘ ค่ำ เพลาเช้าโมงเศษเสด็จกลับคืนมา ถึงปากคลองมักกะสาพบเรือครอบครัว จึงหยุดประทับณฟากต้นงิ้ว จมื่นสรรเพ็ชญ์ภักดีมากราบทูลพระกรุณาว่าพระยาพระเขมรพาครัวแลราษฎรชาวเมืองกัมพูชา หนีอยู่ในคลองนั้นเป็นอันมาก จึงตรัสสั่งให้ทหารกองหน้าเข้าตีครัว ได้เรือแลครัวเป็นอันมาก ประทับเเรม รุ่งขึ้นวันเสาร์ เดือน ๑๒ แรม ๙ ค่ำ เพลาเช้า ตรัสสั่งให้ ๑๕ พระอาลักษณ์ หลวงราชัย หลวงสุรินทร์ คุมเรือเครื่องบรรณาการแลหญิงเขมรคนหนึ่งซึ่งเขมรมีชื่อทูลเกล้าถวาย ฯ ขึ้นไปอยู่ณ กอะพนมเพ็ง จึงสั่งพระอาลักษณ์ หลวงราชัย หลวงสุรินทร์ ให้แต่งคนลงไปเอาข่าว.....เมืองปาสัก เมืองพุทไธมาศ ประทับแรมอยู่ ณปากคลองบ้านมักกะสา ๔ เวน ให้ทหารเข้าตีครัวสัมฤทธิ์แล้ว รุ่งขึ้นณวันพุธ เดือน ๑๒ แรม ๑๓ ค่ำเพลาโมงเศษเสด็จ ฯ บ้านมักกะสามาประทับกอะพนม ทรงพระกรุณาพระราชทานเรือแลข้าวปลาอาหารให้แก่พระสงฆ์ไทย ซึ่งสมัครจะเข้าไปเมืองธนบุรี แล้วเสด็จ ฯ มาประทับอยู่ณปากน้ำถวายพะแพฟากตะวันตก หนังสือเจ้าพระยาจักรี(๑) บอกมาทูลพระกรุณาเป็นใจความว่า เขมรประมาณ ๑๐๐๐ เศษ ตั้งค่าย ๒ ฟากคลอง คลองนั้นผูกแพสะกัดไว้ ได้เข้ารบติดพันกันอยู่ รุ่งขึ้นวันพฤหัสบดี เดือน ๑๒ แรม ๑๔ค่ำ เพลาเช้าเสด็จ ฯ ออกโยธาทหารทั้งปวง ทรงพระกรุณาดำรัสเหนือเกล้า ฯ สั่งว่า บันดาจีนไทยทั้งปวงซึ่งได้เขมรเชลยไว้ ให้เอาขึ้นทูลเกล้า ฯ ถวาย จะพระราชทานให้เจ้าองค์รามราชา ซึ่งอยู่กินเมืองกัมพูชาธิบดี แลกองทัพพระยายมราช(๒) พระยาโกษา ให้อยู่ช่วยราชการพระองค์รามราชากว่าจะสนบสนัดก่อน อนึ่งเจ้าพระยาจักรีซึ่งไปตีครัวณป่าพนมนั้น สัมฤทธิ์ราชการแล้ว กลับคืนมายังทัพหลวงซึ่งตั้งอยู่ณ (๑) เจ้าพระยาจักรี ( หมุด ) (๒) คือสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ซึ่งพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถ เลขาว่าดำรงพระยศเป็นเจ้าพระยาจักรี ๑๖ ปากน้ำถวายพะแพ เพลาเช้า ๒ โมงเศษ เสด็จ ฯ ยกพลพยุหทัพจากปากน้ำถวายพะแพกลับคืนยังเมืองพุทไธมาศ เสด็จ ฯ มาประทับแรมอยู่ณกอะปากน้ำทางจะไปกัมพูชา คอยโยธาทหารมาพร้อมแล้วจึงทรงวิจารณ์จัดแจงแล้ว รุ่งขึ้นวันศุกร เดือน ๑๒ แรม ๑๕ ค่ำเพลาเช้ายกจากกอะล่องลงไปประทับอยู่ฟากตะวันตก ณปากสองแควจะไปกัมพูชาจะไปปาสัก อนึ่ง.......นายทัพนายกองซึ่งทรงพระกรุณาให้ไปตั้งอยู่ปากน้ำ แล้วจึงให้ไปเกลี้ยกล่อมเมืองปาสัก มิได้ตั้งอยู่ตามรับสั่ง ล่วงเข้าไปพบเรือญวนประมาณ ๕๐ เศษ รบกัน ลาดทัพถอยมาให้เสียพระสิริสวัสดิ์เสียคน เสียเรือ ๑๑ ลำ แล้วเสด็จ ฯ มาตั้งค่ายอยู่ณปากน้ำโพรงกระสัง บันดาเรือเชลยซึ่งตีได้มานั้น ให้ล่วงไปเมืองพุทไธมาศก่อน อนึ่งสั่งให้กองทหารลงไปตั้งอยู่ณปากน้ำปาสัก ครั้นแล้วให้กลับขึ้นมาคิดราชการ ครั้นรุ่งขึ้นวันเสาร์ เดือนอ้าย ขึ้นค่ำหนึ่ง ยกจากค่ายปากโพรงกระสังมาประทับท้องจินจง ให้เจ้าพระยาจักรีตั้งมั่นอยู่บ้านจินจง แลนายทัพนายกองซึ่งลาดทัพมาแต่ปาสักนั้น ให้สมทบอยู่ในกอเจ้าพระยาจักรี รุ่งขึ้นณวันอาทิตย์ เดือนอ้าย ขึ้น ๒ ค่ำ ยกจากจินจงมาเพลาค่ำน้ำในคลองนั้นตื้น เรือครัวจะไปนั้นมิได้ จึงทรงอุตสาหะเสด็จ ฯ...ช่วย บันดาเรือใหญ่ซึ่งกินน้ำลึกไปมิได้ ทรงพระกรุณาให้ฝีพายทนายเลือกช่วยเข็น แล้วสั่งให้ทดน้ำทั้งกลางวันกลางคืน เรือทั้งปวงจึงไป

๑๗ ได้พร้อมกัน จีนทั้งปวงสรรเสริญว่า เทศกาลเดือนอ้ายน้ำแห้งคลองขาดที่เดียว จะเดินได้เหมือนฉะนี้หามิได้ นี่หากว่าบุญญานุภาพพระบารมีสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมากนักหนา เรือรบเรือเชลยใหญ่น้อยทั้งปวงไปมาได้เทศกาลนี้ วันจันทร์ เดือนอ้าย ขึ้น ๓ ค่ำ เพลาบ่าย ๓ โมง เถิงเมืองพุทไธมาศ สั่งให้พระยาพิชัยไอศวรรย์ แต่งคนไปเอาข่าวราชการ ณ กรุงเทพมหานคร รุ่งขึ้นวันอังคาร เดือนอ้าย แรม ๔ ค่ำเพลาบ่าย ๔ โมงเศษ พระยาทิพโกษานำเอาจีนบุนเส็ง หลวงสงขลา ซึ่งหนีไปนั้นมาทูลเกล้าฯ ถวาย จึงตรัสประภาษว่า จีนบุญเส็งคิดอ่านทำการสงครามทั้งปวงด้วยตัวยังมิได้เป็นข้าใต้ละออง ฯ โทษถึงตายให้งดไว้ก่อน แลซึ่งหลวงสงขลานั้น ได้กินน้ำพิพัฒสัจจาเป็นข้าใต้ละออง ฯ แล้วแลมาคิดการอีกเล่า โทษถึงตายอยู่แล้ว จึงตรัสถามว่า ตัวจะพอใจอยู่หรือ ๆ จะพอใจตาย จึงกราบทูลจะอยู่ทำราชการสนองพระเดชพระคุณสืบไปจึงตรัสว่าราชการสงครามเมืองญวนอนำกก เมืองญวนลูกหนายยังมีสืบไป ถ้าตัวจะใคร่อยู่จงคิดอาษาอุบายทำราชการแก้ตัวสืบไป หลวงสงขลากราบทูลพระกรุณารับจะถือหนังสือไปเมืองญวน ก็ทรงพระกรุณาให้ตัวไป ให้บุตรภรรยามาคุมไว้ แลหลวงสงขลา จีนบุญเส็งให้ตำรวจในจำไว้ อนึ่งทนายเลือก๒คนเสพสุราแล้วไปวิวาทกับจีนเอาดาบฟันเอา ๓

๑๘ จีนเจ็บป่วย จึงตรัสถามได้เนื้อความเป็นสัจถ่องแท้แล้ว ให้ลงพระราชอาชญาเฆี่ยน ๒ หวาย ให้ตัดศีรษะเสีย ครั้นรุ่งขึ้นวันพุธ เดือนอ้าย ขึ้น ๕ ค่ำเพลาเช้าเสด็จออกโยธาทหาร สั่งให้ลงพระราชอาชญาหลวงรักษาสมบัติ หลวงราชมนตรี คนละ ๓๐ ที ด้วยแต่งคนลงมาเอาข่าวราชการณเมืองพุทไธมาศ มิได้เอาข่าวราชการกราบทูลพระกรุณาหามิได้ แลบ่าว ๒ คนนั้นให้ตัดศีรษะเสีย อนึ่งจมื่นไวยวรนาถซึ่งเจ้าพระยาจักรีกราบทูลพระกรุณาว่า ย่อหย่อนแก่การสงคราม ให้ลงพระราชอาชญาจำลงมาแต่ปากน้ำโพรงกระสังนั้น ปรึกษาโทษถึงตายจะไว้มิได้ จะเป็นเยี่ยงอย่างสืบไป จึงสั่งให้ตัดศีรษะเสีย จึงทรงพระกรุณาพระราชทานชื่อนายเดช มหาดเล็กเป็นจมื่นไวยวรนาถ แลผู้มีชื่อโทษถึงตาย ๕ คน เพลาบ่าย ๓ โมงเศษ ข้าทูลละออง ฯ ผู้ใหญ่ผู้น้อย ๒๒ คน ทำเรื่องราวกราบทูลพระกรุณา ในใจความว่า ผู้มีชื่อกระทำผิดในราชการเป็นมหันตโทษ ให้ลงพระราชอาชญาถึงสิ้นชีวิต ควรด้วยเกล้า ฯ อยู่แล้ว ฯ ข้า ฯ ทั้งปวงขอพระราชทานชีวิต ไว้ทำตัวราชการแก้ตัวฉลองพระเดชพระคุณอีกครั้งหนึ่งนั้น จึงมีพระราชบริหารดำรัสเหนือเกล้า ฯ ว่า ผู้จะเป็นกษัตราธิราช ทำนุกบำรุงอาณาประชาราษฎรแลแผ่นดินให้สมบูรณ์นั้น มิได้ตั้งอยู่ในขนบธรรมเนียมพระราชบัญญัติทางพระอุเบกขา ผิดแลมิกระทำโทษ ชอบแลมิให้ปัน บ้านเมืองนั้นก็เสียไป แลอ้ายมีชื่อ ๕ คนกระทำบัดนี้ผิดดุจประเวณีอันเป็นธรรม ดุจพญาเอลาราชก็เป็น

๑๙ อย่างอยู่ ใช่ว่าจมื่นไวยเลี้ยงมาจะไม่รักใคร่นั้นหามิได้ มาทว่าไพร่คนหนึ่งอันเป็นข้าขอบขันธเสมาเสียไปนั้น ก็มีความรักประดุจชีวิต จึงทรงพระสัตยาธิษฐานสาบานต่อหน้าพระอาจารย์วัดเทริงหวายพระสงฆ์หลายรูป ว่าเป็นความสัจแห่ง ฯ ข้า ฯ ๆ ทำความเพียรมิได้คิดแก่กายแลชีวิตทั้งนี้ จะปรารถนาสมบัติพัสถานอันใดหามิได้ ปรารถนาแต่จะให้สมณะชีพราหมณ์สัตวโลกเป็นสุข อย่าให้เบียดเบียนกัน ให้ตั้งอยู่ในธรรมปฏิบัติ เพื่อจะเป็นปัจจัยแก่โพธิญาณสิ่งเดียว ถ้าแลผู้ใดอาจสามารถจะอยู่ในราชสมบัติ ให้สมณพราหมณ์ประชาราษฎร เป็นสุขได้ จะยกสมบัติทั้งนี้ให้แก่บุทคลผู้นั้น แล้ว ฯ ข้า ฯ จะไปสร้างสมณธรรมแต่เพียงผู้เดียว ถ้ามิฉะนั้นจะปรารถนาศีรษะแลหทัยวัตถุสิ่งหนึ่งสิ่งใดก็จะให้แก่ผู้นั้น ถ้าแลมิสัจฉะนี้ ฯ ข้า ฯ มุสาวาท ขอให้ตกไปยังอบายภูมิเถิด เมื่อแลคนทั้งปวงกระทำโทษผิดเถิงฉะนี้ ครั้นจะมิเอาโทษ ก็จะเสียขนบธรรมเนียมบ้านเมืองไป ครั้นให้บัดนี้เล่าเจ้าพระยาแลพระยา พระ หลวงมาขอเป็นอันมาก เป็นมิรู้ที่จะคิด ตรัสด้วยพระเท่าดังนี้แล้ว จึงตรัสแก่ข้าทูลละออง ฯซึ่งกราบทูลขอโทษนั้นว่า ราชการสงครามเมืองปาสักยังมีอยู่ ถ้าแลสูที่เจ้าทั้งปวงจะพร้อมกันไปตีเมืองปาสักถวายให้ได้ ซึ่งคนโทษถึงตายนั้นก็จะงดโทษไว้ ให้ไปทำราชการแก้ตัว ข้าทูลละออง ฯ ผู้ใหญ่ผู้น้อย ๒๒ คน ก็รับสั่งพระอาษาไปตีเมืองปาสักทูลเกล้า ฯ ถวาย แลคน ๕ คนซึ่งเป็นมหันตโทษนั้น ก็ทรงพระกรุณาพระราชทานชีวิตไว้ อนึ่งทรงพระกรุณาให้อาราธนาพระสงฆ์ญวน ทุกอารามแขวง

๒๐ จังหวัดเมืองพุทไธมาศ เข้ามาในราชฐานแล้ว พระราชทานจีวรแพรทุกองค์ ที่มิได้จีวรนั้น พระราชทานเงินองค์ละ ๕ ตำลึง แลโภชนาอาหาร ก็พระราชทานให้มิได้ขัดสน อนึ่งเพลา ๒ ยามเศษเจ้าพระยาจักรี พระยาอภัยรณฤทธิ์ บอกมาให้กราบทูลพระกรุณาใจความว่า นายทัพนายกองซึ่งไปราชการเมืองปาสัก รบกับญวนเสียคนถูกปืนตาย ( คือ ) หลวงรักษ์มนเทียรไพร่ ๑๑ เรือ ๘ ลำ ซึ่งรอดมาได้ นาย ๑๑ ไพร่ ๑๗๕ ( รวม ) ๑๘๖ ( คน ) ขึ้นบกเดินตามริมน้ำมาถึงบ้านพระยาพิชัยสงคราม เขมรซึ่งเกลี้ยกล่อมไว้นั้นรับเลี้ยงดูไว้ ว่าจะส่งเข้ามา อนึ่งพระสงฆ์เขมร ๕ รูปถือหนังสือพระยาอธิกวงศา เจ้าเมืองปาสัก แลพระยาราชาสงคราม ให้มาเถิงนายทัยนายกองทั้งปวง ในใจความว่า จะสวามิภักดิ์สมัครเป็นข้าใต้ละออง ฯ แลให้นายทัพนายกองช่วยทำนุกบำรุงเอาเนื้อความกราบทูลสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัว ให้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ อย่าให้มีความผิดสิ่งหนึ่งสิ่งใดเลย พระหลวงขุนหมื่นเขมรจะได้มีชีวิตสืบไป จะได้ทำการสงครามมิได้กลัวแก่ญวนเลย ครั้นได้ทรงฟังหนังสือบอกนั้นแล้ว จึงตรัสประภาษว่า เจ้าเมืองปาสักนี้มีความชอบอยู่ ซึ่งข้าทูลละออง ฯ จะอาษาไปตีนั้นให้ยกไว้จึงทรงพระอักษรไปเถิงเจ้าพระยาจักรี ในใจความว่า ข้าหลวงซึ่งไปราชการเมืองปาสัก ญวนบังอาจตีผู้มีชื่อแตกกระจัดกระจายหนีขึ้นบกได้นั้น พระยาอธิกวงศา เจ้าเมืองปาสัก แลพระยาราชาสงคราม

๒๑ เขมร รับไว้เลี้ยงดูให้กินแล้ว แต่งคน เรือ สะเบียง ส่งมานั้น เป็นความชอบใหญ่หลวง ทรงพระกรุณาพระราชทานเสื้อผ้าคนละสำรับเงินคนละชั่ง แก่พระยาอธิกวงศา พระยาราชาสงคราม เขมร แล้วให้เจ้าพระยาจักรีหาลงมาพระราชทาน แล้วให้ห้ามนายทัพนายกองทั้งปวงอย่าให้ไปตีเมืองปาสักเลย ให้พระยาอธิกวงศากินเมืองปาสักสืบไป ทรงพระกรุณาจะฝากฝังพระองค์รามราชา ซึ่งครองกัมพูชาธิบดีให้ทำราชการยิ่ง ๆ ขึ้นไป ถ้าพระยาอธิกวงศา พระยาราชาสงครามจะใคร่ไปถวายบังคมพระองค์รามราชา ก็ให้ไป ถ้าจะใคร่มาถวายบังคมล้นเกล้า ฯ ณเมืองพุทไธมาศ ก็ให้พาตัวลงมา หนังสือแลสิ่งของพระราชทานนั้น ให้พระยาเดโช เขมร นายแกว่น ถือไป วันพฤหัสบดี เดือนอ้าย ขึ้น ๖ ค่ำ เพลาเช้า ๒ โมงเศษ เสด็จฯ ไปประพาสเขาเมรี อนึ่งทรงพระอักษร ๒ฉบับเป็นหนังสือพระยาโกษาธิบดี ให้นายวิสูตร ๑ องไดฉาม ๑ ลักเกียด ๑ นาย ๓ ไพร่ไทย ๕ ญวน ๕ ( รวม ) ๑๐ คน ถือไปณกรุงอนำกก ในเรื่องราวใจความฉบับหนึ่งว่ากล่าวเนื้อความเป็นทางพระราชไมตรีถึงพระเจ้าอนำกก มิให้พิโรธแก่กัน ด้วยจะแบ่งแผ่นดินกันเป็น ๒ ภาค ให้พระองค์อุทัยราชาหนึ่งให้พระองค์รามราชาหนึ่ง มิให้พิโรธแก่กัน ในกรุงทั้งสามโดยธรรมราชประเพณี ฉบับหนึ่งว่า ให้เสนาบดีกราบบังคมทูลพระเจ้าอนำกก ให้ว่าแก่ญวนลูกหนาย ให้ส่งเรือรบ ๘ ลำ คนไพร่นาย ๑๐๐ เงิน ๑๐๐ ชั่ง ซึ่งญวนสะกัดตีซึ่งข้าหลวงราชการเมืองปาสัก โดยทางพระราชไมตรีแลไมตรี มิให้พิโรธแก่กัน ๒๒ ครั้นเพลาบ่าย ๕ โมง ให้ลงพระราชอาชญาคนโทษ ๔ คน จมื่นไวยวรนาถ ย่อหย่อนแก่ข้าศึก ขุนศรีราชบุตร หนีตาทัพ ทนายเลือก(๑) ๒ คน เสพสุราแล้วเอาดาบฟันจีนป่วยเจ็บสาหัส เสมียนหลวงราชมนตรีกับบ่าวหลวงรักษาสมบัติ ถือหนังสือมาแต่เกาะพนมเพ็ง มาเอาข่าวราชการณเมืองพุทไธมาศ มิได้เอาหนังสือบอกให้กราบทูลพระกรุณาจนเสด็จฯ กลับมาเถิงเมืองปากน้ำพุทไธมาศ แลคน ๖ คนนี้จะไว้มิได้ข้าทูลละออง ฯ ทั้งปวงจะดูเยี่ยงอย่างกัน จะเสียขนบแผ่นดินเมืองไป จึงสั่งให้ประหารชีวิตเสีย วันศุกร เดือนอ้าย ขึ้น ๗ ค่ำ เพลาเช้าโมงมีเศษ เสด็จออกข้าทูลละออง ฯ มีพระราชบริหารตรัสสั่งเจ้าละคร ว่าพระศรีพิพัฒให้เป็นนายกองคุมหลวงขุนหมื่นไทยจีนไปราชการเมืองปาสัก พบเรือญวนเข้ามิได้ช่วยกันรบพุ่ง จนเสียหลวงรักษ์มณเทียร ไพร่ แลเรือรบปืนใหญ่น้อยไปเป็นอันมากนั้น จะลงพระราชอาชญาตามโทษ แลราชการยังมีอยู่ แลสมกำลังพระยาจันทบูร หมื่น.......หลวงสิทธิสงคราม จีนไทย ให้พระยาจันทบูรคุมเข้าไป แลพระศรีพิพัฒสมกำลังพระศรีพิพัฒนั้น ให้พระยาทิพโกษาคุมเข้าไป แลหลวงขุนหมื่น แลสมกำลังหลวงขุนหมื่น ในกองซึ่งไปด้วยพระศรีพิพัฒนั้น ให้หมื่นสรรเพ็ชญ์ภักดี หมื่นศรีเสาวรักษ์ หมื่นเสมอใจ ให้กองมหาดเล็กคุมเข้าไปให้สิ้น แลทนายเลือกกองนอก ซึ่งไปด้วยพระศรีพิพัฒนั้นให้เจ้ากรม ปลัดกรม กรมทหนายเลือกรับเอาเข้าไปให้สิ้น อย่าให้ไทยไพร่มีชื่อหลบหลีกหนีไปแต่คนหนึ่งได้ ถ้ามีราชการจะให้ทำ (๑) ที่กล่าวมาแล้วในหน้า ๑๗ เป็นต้น ๒๓ ราชการแก้ตัว ถ้าผู้มีชื่อหลบหนีไปได้แต่คนหนึ่ง จะเอาผู้รับคุมเข้าไปนั้นเป็นโทษ แลบัญชีคนซึ่งไปราชการด้วยพระศรีพิพัฒนั้น มีอยู่เเก่มหาดไทยกลาโหม ให้ผู้ซึ่งจะรับตัวผู้มีชื่อเข้าไปนั้น ให้ลอกเอาบัญชีต่อมหาดไทยกลาโหม ตรวจเอาตัวพระหลวงขุนหมื่นไพร่ตามบัญชีได้นาย ๑๑๙ ไพร่ ๔๔๑ อนึ่งเพลา ๓ โมงเศษ หลวงเพ็ชรสงครามกราบทูลพระกรุณาว่า ตัวแลพักพวกสมกำลัง ซึ่งทำราชการเข้าหักค่ายนั้น มิได้รับพระราชทาน จึงตรัสสั่งให้พระญาณประสิทธิ ถามได้ความว่า พระญาณประสิทธิกระทำความผิด ฉ้อพระราชทรัพย์ของหลวง จึงมีพระราชบริหารดำรัสสั่งพระโหราธิบดี ว่าคนมีบำเหน็จเข้าหน้า ( ที่ ) ปล้นเมืองมีความชอบแต่ ๕ คน พระญาณประสิทธิเอาผู้มีความชอบน้อย ตั้งบัญชีว่ากระทำความชอบมาก บังผู้กระทำความชอบมากเสีย บอกบัญชีฉ้อเอาเงินของหลวงไปนั้น ทรงพระกรุณาให้ลงพระราชอาชญาตีหลัง ๑๐๐ ที่แล้วให้ฆ่าเสีย จึงจะสมควรโดยโทษ แต่ว่าพระญาณประสิทธิกระทำตามพระราชดำริกล้าหาญเอาเมืองพุทไธมาศ ถวายดุจพระราชดำริได้ มีความชอบอยู่ แต่ให้เรียกเอาทานบนไว้แล้วให้คงทำราชการสืบไป วันเสาร์ เดือนอ้าย ขึ้น ๘ ค่ำ เพลา ๔ โมงเศษ ตรัสสั่งพระอาลักษณ์ ให้หมายบอกกรมนา จ่ายข้าวสาร ๓ เกวียนแลกับปิยะถวายพระสงฆ์ ๕๐ เถรเณร ๕๐ ( รวม ) ๑๐๐ รูป ซึ่งจะได้รับพระราชทานฉันกว่าจะไปเถิงเมืองธนบุรี

๒๔ วันอาทิตย์ เดือนอ้าย ขึ้น ๙ ค่ำเพลาบ่าย ๒ โมง ทรงพระอักษรดำรัสสั่งหลวงราชนิกุลให้ไปเถิงเจ้าพระยาจักรี เป็นใจความว่า กองทัพพระศรีพิพัฒ ซึ่งไปราชการเมืองปาสัก แตกญวนหนีมา เสียเรือรบเรือไล่นั้น ครั้นจะไม่เอาโทษ ข้าราชการทั้งปวงก็จะดูเยี่ยงอย่างกันสืบไป ครั้นจะเอาโทษเล่า คนมากกว่า ๓๐๐ นั้น ทรงพระราชดำริจะลงโทษให้....ก่อกำแพงเมืองธนบุรี แลให้เจ้าพระยาจักรีแต่งคนคุมผู้มีชื่อเป็นหมวดเป็นกองลงมาณเมืองพุทไธมาศ จะได้ ให้มีนายประกันรับตัวเข้าไปยังเมืองธนบุรี แลให้เจ้าพระยาจักรีแลกองทัพทั้งปวงกลับเข้ามาณเมืองพุทไธมาศ จะได้จัดแจงแต่งเรือรบไล่ให้พร้อมไว้ วันอาทิตย์ เดือนอ้าย ขึ้น ๙ ค่ำ ปีเถาะตรีศก เพลาทุ่มเศษเสด็จอยู่ณพระตำหนักเมืองพุทไธมาศ ขุนวิสูตรแลลาวมีชื่อ กับหนังสือบอกพระยาพิชัย(๑)แลหนังสือเจ้าพระ(๒)ยาศรีธรรมาธิราชเป็นหลายฉบับในทันใดนั้นทรงหนังสือบอกเมืองพิชัย ในท่ามกลางราชบริษัททั้งปวงในใจความนั้นว่า พระยาพิชัยให้ขุนคลังไปสืบข่าวราชการพะม่าเถิงพระยาศรีสุริวงศ์ ๆ บอกเนื้อความว่า ไปสอดแนมราชการ ณ เมืองแพร่ เมืองน่าน พบนายจุด นายดน นายคำมูน ๆ ให้การว่า พะม่า

( ๑) พระยาพิชัย ( ทองดี ) ที่เรียกในพระราชพงศาวดารฉบับ พระราชหัตถเลขาว่า พระยาพิชัยดาบหัก (๒) ครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นพระยาธิเบศบริรักษ์ ในสมัยกรุงธนบุรี ได้ดำรงตำแหน่งสูงสุด เป็นอัครมหาเสนาบดี ดังปรากฏนามในบานแผนกไตรภูมิ พ.ศ. ๒๓๑๙


๒๕ มากะเกณฑ์คนในบ้านงูเหลือม จึงถามนายตุน นายบ้าน ว่า กะเกณฑ์ทัพทั้งนี้จะยกไปไหน นายตุนจึงบอกว่า มังมะยุง่วน เจ้าเมืองเชียงใหม่ให้กะเกณฑ์พลทหารเป็นหลายบ้าน ให้ไปพร้อมกันณเมืองเชียงใหม่กับทัพเมืองเมาะตะมะ เป็น ๒ ทัพ จะยกไปเมืองใด คนมากน้อยเท่าใดมิได้รู้ พระยาพิชัยเกณฑ์คนเมืองลับแล เมืองฝาง เมือง..... กองหลวงพิชัยได้คน ๔๐๐ ตระเตรียมไว้ อนึ่งพระยากาญจนบุรีบอกเข้ามาว่า ได้แต่งคนออกไปตระเวณณปลายด่านพบพะม่าแลมอญ พระยากาญจนบุรีจึงยกพวกพลทหารก้าวสะกัดยิงพะม่าตาย ๒ คน ตัดศีรษะเสียบไว้ พะม่าแตกพ่ายไป จึงได้หมวกเสื้อปืน แลละว้าซึ่งพะม่ากวาดเอาไปนั้น คืนมาได้ ๗๐ คน สืบถายรายการในเมืองเมาะตะมะ อ้ายมีชื่อให้การว่า ราชการในเมืองเมาะตะมะสงบอยู่ แลหนังสือบอกราชการในเมืองธนบุรี ครั้นทรงอ่านสัมฤทธิแล้วจึงทรงจับยามแลอนุมานด้วยญาณตามกระแสเนื้อความนั้น ซึ่งบอกมานั้นแจ้ง จึงตรัสแก่บริษัททั้งปวงว่าพะม่าจะยกมานั้นหามิได้ ในทันใดนั้น จึงทรงซักไซ้ ไต่ถามลาวมีชื่อด้วยภาษาลาว ก็แจ้งตระหนักในพระญาณเป็นแท้ว่า พะม่าจะยกมานั้นหามิได้ วันจันทร์ เดือนอ้าย ขึ้น ๑๐ ค่ำ เพลาเช้าเสด็จ ฯ ไปบำเพ็ญพระราชกุศลณวัดญวน ถวายนมัสการบูชารูปพระปฏิมากร ครั้นแล้วพระสงฆ์ญวนสวดมนต์ถวายจบแล้ว ทรงพระราชศรัทธาถวายเงิน ๔ ๒๖ พระสงฆ์ เถร เณร ปะชี(๑) แล้วมีพระราชบริหารให้โอวาทแก่พระสงฆ์โดยภาษาญวน ให้ตั้งอยู่ในวินัยสิกขา ว่าอย่าคบหาส้องเสพด้วยสีกาให้อุตสาหะทำนุกบำรุงพระศาสนารุ่งเรือง ถ้าจะขัดสนเป็นประการใดก็ให้ไปหาพระยาราชาเศรษฐี แล้วถวายข้าวเปลือก ๑๐ เกวียน อนึ่งสั่งพระอาลักษณ์ว่า. รูปพระพุทธปฏิมากร ซึ่งญวนเอามาแตกรุงเทพมหานคร ให้อาราธนากลับคืนเข้าไปณเมืองธนบุรี ครั้นแล้วจึงถวายนมัสการลา เสด็จ ฯ ออกมาเห็นยาจกวณิพกทั้งปวงเข้ามารับพระราชทานมากกว่า ๑๐๐ ทรง พระราชศรัทธาพระราชทานบี้เงินหนักบี้ละ ๑ บาท ๒ สลึง คนละบี้ ให้แก่ยาจกทั้งปวงเป็นอันมาก วันจันทร์ เดือนอ้าย ขึ้น ๑๑ ค่ำ ปีเถาะตริศก เพลาเช้าโมงเศษ พระยาโกษานอกราชการทัพบก ยกลงมาแต่กัมพูชาธิบดี มาเฝ้ากราบทูลพระกรุณาในเนื้อความว่า เมื่อยกทัพลงมานั้น เขมรป่าพวกละ๕๐๐ พวกละ ๖๐๐ คน ยกกันมาสะกัดทำอันตราย กลางวันบ้าง เข้าตีปล้นกลางคืนบ้าง ได้รบกันเป็นสามารถ เขมรร้องว่ามึงแตกทัพญวนลงมาแล้วหรือ แลกองทัพพระยาโกษา กองทัพเจ้าพระยาอนุรักษ์ภูธรแลกองทัพขุนหมื่นข้าหลวงทั้งปวง ได้ไล่ตลุมบอนฆ่าฟันเขมรล้มตายเหล่าละ ๓๐ บ้าง เหล่าละ ๔๐ บ้าง เหล่าละ ๕๐ บ้าง ล้มตายเป็นอันมาก ฝ่ายเขมรก็ต่อสู้ยิงกองทัพด้วยธนูหน้าไม้ ถูกไพร่ทหารในกองทัพเจ้าพระยาอนุรักษ์ภูธร ๖๐ เศษ ทัพพระยาโกษา ๒๐ เศษ แต่จะได้อันตรายล้มตายแต่สักคนหนึ่งหามิได้นั้น จึงทรงพระกรุณา

( ๑ ) บางที่จะหมายเอา ปะขาวและรูปชี ๒๗ ตรัสแก่พระยาโกษาว่า เราคิดเอ็นดูว่าเขมรนี้มิได้แกล้วกล้าในสงครามเราจึงอดลดไว้ บัดนี้มาทำร้ายแก่ไพร่กองทัพนั้น เห็นว่าแผ่นดินกัมพูชาธิบดียังมิสงบ จะไว้ชีวิตมิได้ สั่งให้พระยาโกษายกกองทัพขึ้นไปปราบเขมรเหล่าร้ายให้สงบจงได้ ครั้นพระยาโกษา เจ้าพระยาอนุรักษ์ภูธร รับสั่งแล้ว ไปจัดแจงกลับยกไปปราบเขมรเหล่าร้ายตามรับสั่ง อนึ่งเพลาทุ่มเศษ ทรงแต่งกฎประกาศแก่ข้าทูลละออง ฯ ฝ่ายทหารพลเรือนไทยจีน ให้หลวงราชนิกุลเขียนในใจความว่า......ทางจะไปญวนนั้นขัดสน......... แลได้มีศุภอักษรไปแก่ญวนแล้วถ้าเป็นไมตรีต่อแล้วก็แล้วไป ถ้าดื้อดึงอยู่จึงจะยกกองทัพเรือ ......... แลให้พระยายมราช พระยาโกษา อยู่ช่วยราชการพระองค์รามราชาณเมืองกัมพูชาธิบดี กว่าเขมรจะราบคาบสงบแล้ว จึงให้กลับไป เมื่อจะกลับไปนั้น ให้กะเกณฑ์กันตั้งค่ายเป็นทอดไปกว่าจะถึงกรุง อย่าให้เป็นเหตุการณ์อันตรายได้ ถ้าเป็นเหตุการณ์อันตราย จะเอานายทัพนายกองเป็นโทษเถิงตาย อนึ่งญวนเขมรอ่อนแก่การสงคราม จะตั้งค่ายก็ตั้งแต่ ๓ ด้าน จะรบเรือก็ลอยเรือยิง เรือใหญ่ช่องปืนยิงนั้นจำเพาะแต่ปากปืนนั้น จะยักย้ายมิได้ ล้อรางไม่รวดเร็วอย่างกับเรือรบกรุง ฯ ถ้าทแกล้วทหารบุกรุกเข้าไปญวนกระโดดน้ำหนีไป ได้เรือเครื่องสาตราวุธเป็นหลายแห่งหลายตำบลแลกองทัพพระศรีพิพัฒรบกับญวน ญวนลอยเรือรบยิงแต่ไกล มิได้ยกบุกรุก จึงเสียคน ๑๐ คน เรือ ๖ ลำ แลพระอุทัยธรรมิได้ช่วยกัน

๒๘ ลาดถอยหนีมาให้เสียราชการนั้น จะเอาตัวเป็นโทษตามโทษานุโทษแต่นี้สืบไปเมื่อหน้า นายทัพนายกองทั้งปวงจะรบญวนนั้น ให้เข้าไปเป็นกอง ๑๐ ลำบ้าง ๕ ลำบ้าง ให้ตีแต่...เข้าไปให้ชิดได้แคมได้ข้าง ถึงจะยิงปืนช่องปืนจำเพาะแต่ปากบอก จะยกท้ายขึ้นมิได้ ก็จะพ้นไป เสียทางปืนแล้วญวนก็จะโดดน้ำหนี จะได้ชัยชำนะมาทูลเกล้า ฯ เป็นความชอบนัก แลนายทัพนายกองจะรบด้วยเรือรบญวน ผู้ใดรั้งรอย่อหย่อนอยู่ให้เสียราชศรีสวัสดิ์นั้น ให้นายทัพผู้ใหญ่ตัดศรีษะเสียบ อย่าได้ดูเยี่ยงอย่างกัน อนึ่งพลรบ พลแจว ถ้าโดดน้ำหนีก็ดี ขึ้นบกยกหนีไปก็ดี ให้ตัดศีรษะเสียเหมือนกัน อนึ่งพลแจวเรือ แจวย่อหย่อน.......ให้ตัดศีรษะเสีย ถ้านายเรือนายปลัดย่อหย่อน.......... แล้วให้เอาเนื้อความกราบบังคมทูลพระกรุณาจะให้ลงพระราชอาชญาบุตรภรรยา โครตญาติกาเป็นโทษตามบทพระอัยการ...........ญวนตั้งค่ายรบเอาเรือรบเรือล่อ อย่าให้บุกรุกเข้าไป ให้ตั้งค่ายมั่นไว้ แล้วตัดทางวกหลังตีบุกรุกเข้าไป ถ้าพอจะเอาเรือรบซ่อนไว้ได้ ก็ให้ซุ่มไว้ ให้แต่งกองออกล่อให้ให้เสียกลแล้ว ก็ให้ตัดท้ายตัดกลางบุกรุกเข้าไป จึงจะได้ชัยชำนะด้วยง่าย.... เชลยไว้จะเอาออกรบกลัวโดดน้ำหนี พลรบจะเสียใจ ก็ให้เอาเชือกผูกเท้าไว้ จึงจะไม่......ได้ วันพุธ เดือนอ้าย ขึ้น ๑๒ ค่ำ เพลาเช้า ๒ โมงข้าทูลละออง ฯ ฝ่ายทหารพลเรือน ได้เชลยไทยชาวกรุงเทพ ฯ นำเข้ามาทูลเกล้า ฯ ถวายให้ทอดพระเนตร ทรงพระกรุณาพระราชทานให้เงินชายหญิงคนละ ๑ บาท ให้คุมไว้ตามหมวดตามกอง ๒๙ อนึ่งเพลาบ่าย ๓ โมงเศษ พระยายมราช(๑) พระยาคำแหงวิชิต พระอนุชิตราชา พระเนาวโชติ นายทัพนายกองทั้งปวง บอกมาแต่ ฯ พ ฯ ลูกขุน ณ ศาลา ๆ ได้เอาหนังสือบอกนั้นกราบทูลพระกรุณาในใจความนั้นว่า ยกกองทัพบกมาถึงณวันจันทร์ เดือน ๑๒ ขึ้น ๕ ค่ำ ถึงบ้านปราสาทเอกไกลเมืองปัตบองทางประมาณ ๑๕๐ เส้นเศษ ตั้งค่ายมั่นลงแล้ว ณวันอาทิตย์ เดือน ๑๒ ขึ้น ๖ ค่ำ แต่งให้พระหลวงขุนหมื่นทแกล้วทหารทั้งปวง ๑๐๐๐ มีเศษ ยกเข้าตีเมืองปัตบองดูกำลัง ได้รบกันแต่เพลาบ่ายโมงหนึ่งจนเพลาค่ำ เขมรยังรบพุ่งต้านทานอยู่ ครั้นเพลาประมาณ ๒ ทุ่มมีเศษ พระอนุชิตราชาแลนายทัพนายกองทั้งปวง จึงแต่งคนให้ข้ามน้ำวกหลังไปตีเขมรแตกบ่าวพระอนุชิตราชา บ่าวพระวิเศษ ต้องปืนตาย ๒ คน ถูกป่วยลำบาก ๘ คน ถูกไม่เข้า ๓ คน จึงไปสอดแนมจับเขมรได้ ให้การว่าทัพเรือยกมาถึงจันทบูรแล้ว กองทัพเขมรตั้งอยู่บ้าน........ พระเนาวโชติ พระวิเศษกองหน้า ได้รบตีทัพเขมรแตกไป จึงยกมาตั้งมั่นอยู่ณบ้านปลงกะบู......... วันเสาร์ เดือน ๑๒ แรม ๒ ค่ำ ให้ไปสอดแนมดูรู้ว่าเขมรตั้งค่ายอยู่ณสำนักระกา ๕ ค่าย..................................................... ...........ครั้นวันอาทิตย์ เดือน ๑๒ แรม ๓ ค่ำ ให้พระยากำแหงวิชิตยกรบัตรทัพอยู่รักษาด่าน จึงยกไปตีค่ายสำนักระกา กองหลวง กองหน้า กองเกียกกาย กองยกรบัตรทัพ กับนายทัพนายกองทั้งปวงรบพุ่งกันกับเขมรแต่เพลาเช้า ๒ โมง จนเพลาบ่าย ๒ โมง เขมร (๑) คือ สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ๓๐ ออกตีนอกค่ายประมาณ ๒๐๐๐ มีเศษ จึงให้กองทัพออกรบตะลุมบอนฟันแทงเขมรตายประมาณ ๑๐๐ มีเศษ เขมรแตก จับได้เป็น ๒๗ คน เข้าค่ายได้ ๆ ปืนแถว ๕๐ บอก........................ม้า ๕ ม้า แลเครื่องสาตราวุธเป็นอันมาก ถูกปืนตาย พระวิเศษ ๑ บ่าวพระเนาวโชติ ๑ ( รวม ) ๒ คน ป่วยนั้น พระเนาวโชติถูกปลีน่องซ้ายตลอด ๑ นายหมวด ๔ ไพร่ ๑๑ ( รวม ) ๑๖ คน แลสืบถามเขมรให้การว่า พระยาสังขโลกให้พระยาสุรินทร์สงคราม พระยาราชาสงคราม เขมร ไปตั้งค่ายรบณบ้านตะพงปรัก ๒ ค่าย จึงให้ฟ้าทะละหะ(๑)ยกกองทัพวกเข้ามาตีเอาเมืองโพธิสัตว์ ให้นายเงินน้องพระวิเศษทำราชการแทนพระวิเศษกองหน้าต่อไป เดชะพระบรมโพธิสมภารปกเกล้า ฯ เขมรแตกหนีไป จึงตั้งค่ายอยู่พักช้างหาสะเบียงณเมืองโพธิสัตว์ ๓ วัน แต่งให้กองทัพตั้งอยู่ณเมืองโพธิสัตว์ ๒๐๐ คน ให้ยกแยกขึ้นทางเมืองตะคร้อ-ทางหนึ่ง เมืองขลุงทางหนึ่ง เมืองลารองทางหนึ่ง เมืองบริบูรณ์ทางหนึ่ง เมือง......... ทางหนึ่ง เป็นคน ๑๐๐๐.....................ครั้นณวันพุธ เดือน ๑๒ แรม ๑๓ ค่ำ ยกจากเมืองโพธิสัตว์ ตัดตรงจะเข้าตีเมืองพุทไธเพ็ชร ครั้นถึงบ้านกำแรง จับเขมรได้ให้การว่า กองทัพหลวงได้เมืองพุทไธเพ็ชรแล้ว จึงยกรีบมาตามเสด็จ ฯ พบพระองค์รามราชาบอกว่าเสด็จฯกลับไปเมืองพุทไธมาศแล้ว แลเมืองพุทไธเพ็ชรนั้น ข้าวปลาอาหารขัดสน เขมรกลัวกองทัพไทยนัก ฯ ข้า ฯ ยกลงมาตั้งณเมืองโพธิสัตว์ เมือง ปัตบอง ข้าวปลาอาหารผู้คนค่อยมั่งคั่ง ให้ฟ้าทะละหะอยู่เกลี้ยกล่อม ............จะได้ช่วยราชการไปกว่าจะสงบ

(๑) เมื่อเสร็จศึกเขมรแล้ว โปรด ฯ ให้คงอยู่ในตำแหน่งฟ้าทะละหะต่อมา ๓๑ ครั้นได้ทรงฟังในหนังสือบอกนั้นแล้ว จึงทรง ฯ ตรัสสั่งว่าฟ้าทะละหะนั้น จะให้อยู่เกลี้ยกล่อม ณเมืองโพธิสัตว์ เมืองปัตบอง ที่ข้าวปลาอาหารผู้คนมากทางซึ่งจะไปกรุง ฯ ตามกฎหมายซึ่งให้พระยาโกษาถือมานั้น แลให้พระราชทานดินประสิว ดีบุก ส่งให้พระยาโกษาเอามาด้วยแล้ว ซึ่งพระวิเศษฦๅชัยถูกปืนตายในที่รบ มีความชอบอยู่แลน้องพระวิเศษได้ทำราชการมา ให้เป็นที่พระวิเศษทำราชการสืบไป ให้พระยายมราช พระยาคำแหงวิชิต ทำตามกฎหมายนั้นเถิด อนึ่ง ให้มีหนังสือไปเถิงพระองค์รามราชา ว่าได้ให้กองทัพพระยายมราช พระยาโกษา อยู่ช่วยราชการพระองค์รามราชา ถ้าราชการกรุงกัมพูชาธิบดีสงบแล้ว จึงให้กองทัพพระยายมราช พระยาโกษา กลับเข้าไปกรุง ฯ แลพระราชทานข้าว ๑๐๐ เกวียน ดินประสิว ๕ หาบ ดีบุก ๕ หาบ ไว้แก่พระองค์รามราชาสำหรับราชการ อนึ่งฟ้าทะละหะ ครั้นสงบราชการแล้ว ให้คงที่เป็นฟ้าทะละหะ ทำราชการด้วยพระองค์รามราชา ทะนุกบำรุงแผ่นดินกรุงกัมพูชาธิบดีสืบไป แล้วทรงพระกรุณาพระราชทานข้าวไว้สำหรับเมือง ให้พระองค์รามราชา ๑๐๐ เกวียน พระยาราชาเศรษฐี ๑๐๐ เกวียน ไว้เมืองพุทไธมาศ ถ้าพระองค์รามราชาขัดสน ก็ให้แต่งคนลงไปรับเอาต่อพระยาราชาเศรษฐีเมืองปากน้ำพุทไธมาศ วันพฤหัสบดี เดือนอ้าย ขึ้น ๓ ค่ำ เพลาเช้า ๔ โมงเศษ ทรง

๓๒ พระกรุณาพระราชทานเงินคนละ ๑ บาท แก่ญวน เขมร เป็นอันมาก แล้วทรงปรายเงินในเมืองพุทไธมาศ วันศุกร เดือนอ้าย ขึ้น ๑๔ ค่ำ เพลาเช้า เสด็จ ฯ ออกขุนนาง ณพระตำหนักเมืองพุทไธมาศ ตรัสสั่งเจ้าพระยาสรประสิทธิ์ว่า ณวันเดือนอ้าย แรม ๓ ค่ำ จะเสด็จกลับไปเมืองธนบุรี ให้ตั้งพิธีไปแต่วันนี้ ให้เป็นลมว่าว ลมตะวันออก กว่าจะเสด็จ ฯ กลับไปเถิงเมืองธนบุรี อย่าให้เป็นเหตุการณ์แก่พิริยโยธาทั้งปวง อนึ่งเพลาบ่ายแล้ว ๔ โมงเศษ พระยาราชาเศรษฐี มาเฝ้ากราบทูลพระกรุณาว่า กรมนาจ่ายข้าวให้ ๕๐ เกวียนเศษ ยังมิได้ครบ ๒๐๐ เกวียน ครั้นได้ทรงฟัง จึงสั่งให้หาพระยาประชาชีพมา เฝ้าตรัสถามว่าข้าวซึ่งพระราชทานไว้สำหรับเมืองกัมพูชา เมืองพุทไธมาศ ๒๐๐ เกวียน จ่ายไว้ครบแล้วหรือประการใด พระยาประชาชีพกราบทูลพระกรุณาว่า ได้จ่ายให้ไปแล้ว ๕๐ เกวียนเศษ ยังเหลือข้าวอยู่ ณฉางประมาณ ๒ เกวียน เมื่อข้าวมิครบ ๒๐๐ เกวียนฉะนี้ ตัวเอายักย้ายขายเสียหรือประการใด จึงกราบทูลพระกรุณาว่า จะได้ยักย้ายขายเสียหามิได้ จึงตรัสว่าไม่เห็นความจริงด้วย เพลาวานนี้ตรัสถามตัว ๆ กราบทูลว่า ตวงจ่ายให้พระยาราชาเศรษฐีไป ๑๐๐ เกวียนแล้ว เพลาวันนี้จะแล้วครบ ๒๐๐ เกวียน แลตัวจ่ายไปแต่ ๕๐ เกวียนมากราบทูลว่า ๑๐๐ เกวียน ก็เห็นว่าตัวพูดเท็จอยู่แล้ว จึงตรัสถามข้าทูลละออง ฯ ผู้ใหญ่ผู้น้อย เพื่อจะให้เป็นสักขีพะยานว่า เมื่อตรัสถามแลกราบทูลนั้น ผู้ใดได้ยินบ้าง เจ้าพระยาจักรีกราบทูลพระกรุณาว่า เมื่อตรัสถามนั้น พระยาประชาชีพ(๑)กราบทูลพระ ฯ ว่า ( ๑ ) เรื่องพระยาประชาชีพนี้ ที่กล่าวอ้างอยู่ในพระราชวิจารณ์จดหมายเหตุความทรงจำของกรมหลวงนครินทร์ ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๒ หน้า ๑๓๘ ๓๓ ได้ตวงจ่ายไปแก่พระยาราชาเศรษฐี ๑๐๐ เกวียนแล้ว ครั้นทรง ฯ ตรัสถามได้พะยานเป็นถ่องแท้แล้วฉะนี้ ก็เห็นว่าพระยาประชาชีพฉ้อเอาข้าวหลวง แล้วเอาเท็จมิจริงมากราบทูลพระกรุณาเป็นสัจแล้วจะไว้มิได้ ข้าทูลละออง ฯ ผู้ใหญ่ผู้น้อยจะดูเยี่ยงอย่างกันสืบไป จึงสั่งให้เอาพระยาประชาชีพ หมื่นศรีทิพโภช หมื่นเทพโกษา เสมียนเชน ๔ คนนี้ ไปทะเวนบกทะเวนเรือตามทำเนียม แล้วตัดศีรษะเสียอย่าให้ข้าราชการดูเยี่ยงอย่างกันสืบไป(๑) อนึ่งเพลาย่ำค่ำแล้ว ทรงพระอักษรส่งให้นายเล่ห์อาวุธ ให้มหาดไทยหมายบอกข้าทูลละออง ฯ ฝ่ายทหารพลเรือนทแกล้วทหารทั้งปวง ในใจความว่า จะเสด็จ ฯ กลับไปโดยทางชลมารคนั้น ให้นายทัพนายกองเรือกำชับว่ากล่าวกัน ให้ไปเป็นหมวดเป็นกอง อย่าให้พลัดหมวดพลัดกอง มีราชการจะได้หากันสะดวก แลฤดูนี้เป็นเทศกาลลมว่าวพัดต้านข้างเรือ ลมตะวันออกพัดข้างเรือ ห้ามอย่าให้ออกไปไกลฝั่ง ให้เลียบริมฝั่งไป ถ้าจะข้ามอ่าว ลมพัดข้างเรือนักคลื่นใหญ่จะไปมิได้ ให้หยุดอยู่กว่าคลื่นจะสงบราบก่อน จึงไปให้ได้อ่าวอาศัย ถ้าเห็นว่าลมเปล่าโปร่งดี ก็ให้ไปทั้งกลางวันกลางคืน อย่าให้หยุดอยู่ที่ใดที่หนึ่ง แลให้นายทัพนายกองกำชับว่ากล่าวกัน อย่า

(๑) นี่เป็นแต่คำสั่งชั้นต้น เมื่อสั่งแล้วก็จำคนโทษไว้ก่อนจนกว่าจะมีพระบรมราชโองการให้ประหารชีวิตเมื่อไรอีกครั้งหนึ่ง แต่คนโทษเหล่านี้ในที่สุดได้รับพระมหากรุณาธิคุณไม่ต้องถูกประหารชีวิต ดูหน้า ๓๕ ต่อไป ๕ ๓๔ ให้เป็นเหตุการณ์แต่สิ่งหนึ่งสิ่งใดได้ อนึ่งลูกเรือนั้นให้ดูโคม(๑)นายเรือเป็นสำคัญ ให้ไปเป็นหมวดเป็นกองกันตามรับสั่ง วันเสาร์ เดือนอ้าย ขึ้น ๑๕ ค่ำ เพลาเช้า เสด็จ ฯ ทรงม้าพระที่นั่งไปบำเพ็ญการกุศลณวัดญวน ให้สังฆ(๒)การีธรรมการนิมนต์พระสงฆ์ ไทย จีน ญวน เป็นอันมาก มาพร้อมกันณวัดญวนแล้วสวดพระพุทธมนต์ตามภาษา ครั้นจบแล้วถวายไทยทานพระสงฆ์ไทย (๓) เงินองค์ละ ๑ บาท แพรองค์ละสาย พระสงฆ์ญวน พระสงฆ์จีน เงินเสมอองค์ละ ๑ บาท สามเณรองค์ละ ๑ บาท แล้วตรัสประภาษให้ โอวาทพระสงฆ์ญวนโดยภาษาญวน พระสงฆ์จีนโดยภาษาจีน ในพระราชอธิบายว่า ให้ตั้งอยู่ในพระวินัยสังวรศีล อย่าให้เสพเมถุนต่อสีกา สามเณร คฤหัสถ์ ถ้ามิได้ตั้งอยู่ในวินัยบัญญัติฉะนี้ จะให้ตัดศีรษะเสีย ครั้นให้โอวาทแล้ว เสด็จ ฯ ออกจากพระวิหาร ยาจกวณิพกจีนญวน มารับพระราชทานเป็นอันมากนักหนา จึงพระราชทานเงินเสมอคนละ ๑ บาท แจกด้วยพระหัตถ์(๔) วันเสาร์ เดือนอ้าย ขึ้น ๑๕ ค่ำ เพลาบ่าย ๓ โมงเศษ ให้หา(๕)พระยาประชาชีพซึ่งอยู่ในเวรจำเข้ามาเฝ้า จึงตรัสว่า ถ้าจะใช้ข้าวลงให้ครบพันได้ มีผู้รับรองเป็นมั่นคงแล้ว โทษถึงตายให้ยกไว้ จะเอาตัวไปลงพระราชอาชญาเฆี่ยน ๓ ยกณกรุง ฯ ถ้ามิได้จะตัดศีรษะ (๑) สัญญาณ์ไฟ (๒) ต้นฉบับเป็นสังกรี (๓) ต้นฉบับเป็นไชยทาน (๔) ดูประชุมพงศาวดารภาคที่ ๕ หน้า ๔๙ และ ๕๑, ดูกฎหมายฉบับตราสามดวง ว่า ด้วยพระราชกำหนดใหม่ บทที่ ๑ (๕) ดูประชุมพงศาวดารภาคที่ ๖๕ หน้า ๕๒ เรื่องหลวงอินทรเทพ

๓๕ เสีย พระยาประชาชีพจึงให้พระยาสุรเสนา หมื่นศรี พระวิชิตณรงค์ หลวงพรหมธิบาล หลวงอินทรเทพ รับตัวต่อเจ้าพระยาจักรี วันอาทิตย์ เดือนอ้าย แรม ๑ ค่ำ เพลาบ่าย ๓ โมงเศษ พระยาพิษณุโลก เจ้าเมืองเชิงกะชุม พระยาโยธาภักดี เจ้าเมืองมะลิกุน พระยาราวีโยธาธิบดี เจ้าเมืองนครบุรี เจ้าพระยาจักรีพามาเฝ้า ทรงพระกรุณาพระราชทานเสื้อผ้าคนละสำรับ พระราชทานปืนใหญ่ ๒ บอก ให้พระยาพิษณุโลกรักษาค่ายปากน้ำโพรงกระสัง ฝากไปพระองค์ราม ปืนใหญ่ ๕ บอก อนึ่งเจ้าพระยาจักรีให้มีหนังสือไปถึงพระองค์รามราชา ใจความว่า ทรงพระกรุณาพระราชทานปืนใหญ่ไว้สำหรับเมือง ๕ บอก แลเมืองซึ่งขึ้นแก่กัมพูชาธิบดี อย่าเพ่อให้เรียกส่วยไรก่อน ด้วยว่ากองทัพมาย่ำยี ผู้คนยังขัดสนอยู่ แลให้โอบอ้อมเกลี้ยกล่อมเอาไว้ใช้โดยไมตรี อย่าให้เสียน้ำใจได้ แล้วให้พระองค์รามราชาสืบดูหนทางซึ่งจะไปเมืองอนำกก, เมืองลูกหนาย, เมือง............... ( ต้นฉบับลบ ) ให้สรรพไว้ วันจันทร์ เดือนอ้าย แรม ๒ ค่ำ เพลาเช้า เสด็จออกเสนาบดีผู้ใหญ่ผู้น้อย จึงตรัสสั่งเจ้าพระยาจักรีให้กฎหมายไว้ ใจความว่าพระยาพิชัยไอศวรรย์ พระศรีราชเดโช พระท้ายน้ำ มหาดเล็ก เป็นกองหน้า มิได้ตีเมืองพุทไธมาศให้แตกหามิได้ ให้ร้อนถึงทัพหลวงทรงพระดำริให้ตีเมืองพุทไธมาศได้ แลพระยาพิชัยไอศวรรย์ พระศรีราชเดโช พระท้ายน้ำ กองมหาดเล็ก ก็มิได้ปิดพระราช(๑)วัง ซึ่ง (๑) หมายเอาจวนพระยาราชาเศรษฐี ดูเหมือนจะยกเมืองพุทไธมาศเป็นชั้นเมือง พระยาสามนตราช ๓๖ จะได้เป็นหลวงหามิได้ แลเข้าเก็บเป็นอาณาประโยชน์แก่ตนแล้วทุบต่อยสับฟันสิ่งของเสียเป็นอันมาก ทรงพระกรุณาจะเอาตัวเป็นโทษให้ก่อกำแพงโดยยาว ๑๐ ศอก โดยสูง................ให้แล้วแต่ใน ๒ เดือน ถ้ามิแล้วจะตัดศีรษะเสีย อนึ่งเพลาย่ำฆ้องค่ำแล้วทุ่มเศษ พระองค์รามราชาบอกหนังสือมาเถิง ฯ พ ฯ ณศาลา ๆ เอาหนังสือบอกกราบทูลพระ ฯ ใจความว่า พระองค์อุทัย, เจ้าเสสัง หนีไปแคว้นเมืองญวน ๆ ไม่ให้เข้าไปจึงยกทัพกลับมา พระองค์รามราชาให้ทหารไปเกลี้ยกล่อม พบกองทัพพระองค์อุทัย ได้รบกัน กองทัพพระองค์อุทัยแตกไป แลขัดสนด้วยปืน จะขอปืนคาบศิลาซึ่งเบิกไปสำหรับทัพ ๓๐ บอก จะขอใหม่ ๗๐ เป็น ๑๐๐ บอก จะได้เป็นกำลังราชการไป ครั้นได้ทรงฟังหนังสือบอกนั้นแล้ว จึงสั่งเจ้าพระยาจักรีให้พระราชทานปืนคาบศิลา ๑๐๐ บอก ตามหนังสือบอก จึงสั่งให้จัดปืนคาบชุด ๑๒ บอก พระราชทานไปเป็น ๑๑๒ บอก แล้วทรงพระอักษรให้เจ้าพระยาจักรี บอกไปเถิงพระองค์รามราชา ใจความว่าปืนใหญ่ ๕ บอกฝากพระยาพิษณุโลกขึ้นไปถึงพระองค์รามราชา แลพระราชทานปืนใหญ่พระยาพิษณุโลก ๒ สำหรับรักษาค่ายปากน้ำโพรงกระสัง ถ้าช้าไปก็ให้พระองค์รามราชาแต่งคนลงมารับเอาต่อพระยาพิษณุโลก อนึ่งดีบุก ๕๐ หาบ ดินประสิว ๕๐ หาบ ฝากโกษา(๑)ไปพระราชทานพระองค์รามราชา ถ้าขัดสนด้วยลูกกระสุนดินประสิว

(๑) พระยาโกษา นอกราชการ ที่โปรดให้ไปอยู่ช่วยราชการกรุงกัมพูชา ๓๗ ทรงพระกรุณาพระราชทานพระยาราชาเศรษฐีไว้เป็นอันมาก ให้พระองค์รามแต่งคนมายืมเอาต่อพระยาราชาเศรษฐี อนึ่งข้าวเปลือก ๗๐ เกวียน มอบพระยาราชาเศรษฐีไว้ ถ้าพระองค์รามขัดสนด้วยอาหาร ก็ให้แต่งคน แต่งเกวียนลงไปรับเอาต่อพระยาราชาเศรษฐีแลซึ่งจะเสด็จอยู่ช้านักมิได้ ด้วยเจ้าพระยาศรีธรรมาธิราช(๑) แลข้าหลวง มีชื่อ ผู้รักษา บอกหนังสือส่งคน ข่าว ลาว ละว้า พะม่า หน้าด่านมา พะม่าเสียแก่ห้อแล้ว แลพะม่าแตกตื่นมาหน้าด่าน จะเสด็จ ฯ พระดำเนินลงยังกรุง ฯ แต่งกองทัพขึ้นไปจัดแจงเมืองเชียงใหม่ เมืองมัตมะ เมืองหงสา ณวันอังคาร เดือนอ้าย แรม ๓ ค่ำ ยกโยธาทัพหลวงจากเมืองพุทไธมาศกลับคืนพระนคร เสด็จ ฯ โดยทางชลมารคมาในท้องชเลหลวง เดชะด้วยปัญญาบารมีปกเผื่อเจือไปแก่โยธาทหารทั้งปวงมาเป็นสุขสบาย หาอันตรายมิได้ เสด็จ ฯ มา ๑๓ เวน วันจันทร์ เดือนอ้าย แรม ๑๓ ค่ำ เพลา......ถึงเมืองธนบุรี วันจันทร์ เดือนยี่ ขึ้น ๙ ค่ำ ปีเถาะตรีศก พระราชทานญวนข้างใน (๒)ให้แก่เจ้าพระยาศรีธรรมาธิราช เจ้าพระยาจักรี (๓) เจ้าพระยามหาเสนา เจ้าพระยามหาสมบัติ เจ้าพระยามหามนเทียร ให้โขลนนำไปพระราชทานถึงเรือน

(๑) ข้าหลวงรักษาพระนคร ต่อมาเป็นอัครมหาเสนาธิบดี (๒) ดูประชุมพงศาวดารภาคที่๖๕ หว้า ๔๘ และ ๔๙ เรื่องพระยาวิเชียรปราการและพระยากาวิละถวายนัดดานารี (๓) เจ้าพระยาจักรี ( หมุด ) ๓๘ วันเสาร์ เดือนยี่ ขึ้น ๑๔ ค่ำ ปีเถาะตรีศก เพลาเช้า ๒ โมงเศษ หลวงราช จีน ซึ่งอยู่ช่วยราชการพระยาราชาเศรษฐีณเมืองปากน้ำพุทไธมาศ ถือหนังสือบอกข้อราชการเมืองกัมพูชาธิบดี แลหนังสือบอกเมืองพุทไธมาศ แลศุภอักษรพระยาราชา(๑)เศรษฐี ญวนแลคุมตัวพระยาจันทบูรซึ่ง(๒)เป็นกบฎ ส่งเข้ามากับบุตรหญิงคนหนึ่งพระยาพิพัฒโกษาได้เอาหนังสือบอกแลศุภอักษรนั้น กราบบังคมทูลพระกรุณา ครั้นทรงฟังหนังสือบอกนั้นแล้ว จึงตรัสให้หาลูกขุน ( คือ ) พระครูพิเชษ ขุนหลวงพระไกรศรี พระเกษม แลผู้มีชื่อ ( คือ ) เจ้าจุ้ย ๑ หลวงสงขลา ๑ พระยาจันทบูร ๑ จีนบุนเส็ง ๑ ขุน..........๑ ( รวม ) ๕ เข้ามาเฝ้าพร้อมกัน จึงตรัสสั่งให้ลูกขุนปรึกษาโทษผู้มีชื่อ ๕ คน ลูกขุนเอาคำปรึกษากราบบังคมทูลพระกรุณา ใจความให้ประหารชีวิตสิ้นทั้งโคตรโดยบทพระอัยการ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ สั่งให้ออกไปปรึกษากันก่อน ว่าอย่างไรที่รอดจากความตายนั้น ให้.........ถ้าผู้ใดคิดได้อย่างไร ก็ให้ทำฎีกาทูลเกล้า ฯ ถวาย ถ้าเห็นชอบด้วย จะพระราชทานชีวิตให้ทำราชการแก้ตัวสืบไป ถ้าไม่เห็นชอบด้วย ก็ตามโทษานุโทษโดยลูกขุนปรึกษา

(๑) หนังสือของเจ้าเมืองพุทไธมาศเรียกศุภอักษร (๒) พระยาจันทบุรี ที่คบกับขุนราม หมื่นส้อง ไม่ยอมรวมกำลังเข้ากับสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี เมื่อแรกจะกู้ชาติ ดูประชุมพงศาวดารภาคที่ ๖๕ หน้า ๑๘


๓๙ รายการกองทัพหน้าที่กล่าวมาแล้วในหน้า ๙

วันจันทร์ เดือน ๑๒ ขึ้น ๑๒ ค่ำ ปีเถาะตรีศก ( พ.ศ. ๒๓๑๔ ) ทัพหน้ายกจากพุทไธมาศไปตีกรุงกัมพูชาธิบดี ทรงพระกรุณาพระราชทานเรือพระที่นั่งรองลำ ๑ ให้เป็นเกียรติยศ กองเจ้าพระยาจักรี นาย ๒๑ ไพร่ ๖๖๘ ( รวม ) ๖๘๙ คน เรือรบ ๒๐ ลำ สรรพด้วยปืนหน้าเรือ ปืนรายแคม เครื่องสาตราวุธทั้งปวง กองพระยาโกษา นาย ๖๗ ไพร่ ๕๗๕ ( รวม ) ๖๔๒ คน เรือรบ ๕๐ ลำ กองพระมหาเทพ นาย ๔๖ ไพร่ ๓๕๗ ( รวม ) ๔๐๓ คน เรือรบ ๑๒ ลำ กองจมื่นไวยวรนาถ นาย ๙ ไพร่ ๒๖๓ ( รวม ) ๒๗๒ เรือรบ ๖ ลำ กององค์รามราชา นาย ๑ ไพร่ ๒๙๙ ( รวม ) ๓๐๐ เรือรบ ๙ ลำ ทั้ง ๕ กอง นาย ๑๔๔ ไพร่ ๓๑๖๓ ( รวม ) ๓๓๐๗ คน เรือรบ ๙๗ ลำ สรรพด้วยปืนหน้าเรือ ปืนรายแคม เครื่องสาตราวุธทั้งปวง ครั้นยกไปเถิงปากน้ำโพรงกระสัง พบเรือประเจียงญวน ๓ ลำ ได้รบกัน หลวงราชเสนายิงปืนใหญ่ ดินชะนวนตกลงติดลูกปัศตันถูกหลวงราชราชเสนาตาย แลญวนนั้นก็แตก โดดน้ำหนีไปบ้าง ถูกปืนตายบ้าง จับตัวได้ฟันเสียบ้าง รายนามเจ้านายและขุนนางในกองทัพหลวง ณเมืองพุทไธมาศ

เจ้านคร ( คือเจ้านครศรีธรรมราช ) เจ้าอนุรุธเทวา ๔๐ เจ้าเชษฐกุมาร พระยาราชาเศรษฐี พระยาพิชัยไอศวรรย์ พระยาทิพโกษา พระยาพิชัยรณฤทธิ พระยาจันทบูร (ใหม่) พระยาประชาชีพ พระยาอภัยพงศา พระยาสุรเสนา พระราชสมบัติ พระสุนทรโวหาร พระเทพอรชุน พระสุธรรมาจารย์ พระญาณประสิทธิ์ พระสารสุธรรม จมื่นสรรเพ็ชญ์ภักดี จมื่นศรีเสารักษ์ จมื่นเสมอใจราช หลวงราชนิกุล หลวงอินทรธิบาล ( รายนามตามที่จดไว้นี้ เข้าใจว่าไม่ใช่ทั้งหมด เช่น เจ้าพระยาสรประสิทธิ์ ก็ไม่ได้กล่าวไว้ด้วย ) ๔๑ จุลยุทธการวงศ์ ความเรียง ( ตอนต้น ) ? ข้าขออภิวันท์ พระคุณอนันต์อันประเสริฐ ยิ่งล้ำเลิศรัตนตรัยพระคุณอันสูงใหญ่ยิ่งทั้งสาม อันงดงามบริสุทธิ์ คือคุณพระพุทธชินมาร คุณพระธรรมสารนพางค์ คุณพระสงฆ์อัษฎางค์ขีณาศพ ข้าน้อยนอบนบพระคุณทั้งสาม ด้วยจิตรงามกุศลเจตนา ขอให้บีฑาอุปัทวะอันตราย สรรพสิ่งอันร้ายจงสูญสาบ ด้วยอานุภาพแห่งข้าประณาม แก่ชุมนุมสามแห่งแก้ว สัมฤทธิแล้วจะสาธก ในบุพปัญจกทั้งห้า จะแต่งปกรณาพระคัมภีร์ มีนามคดีตามประสงค์ ชื่อจุลยุทธการวงศ์อันปรากฎ ในชนบทสยามประเทศ แต่ว่าได้เหตุเรื่องราวไป สังเขปปัฎฐาน์ไว้ตามควร แต่เหล่าล้วนสกุลชาติ ได้เสวยราชย์สืบมา ในกรุงภาราประเทศไทย ตามที่สังเกตไว้ได้ฟังมา ในบุราณกถาโดยย่อ ที่ยังเหลือหลอมีมาก ในบุรพภาควิตถาร เรื่องนิทานพระร่วง เห็นจะช้าหน่วงเนิ่นนาน จะกล่าวนิทานอื่นมาก มีหลายหลากไปเบื้องหน้า ข้าขอขมาอภัย ด้วยจิตต์ใจเป็นปุถุชน ซึ่งจะนิพนธ์ขาดเหลือ ผิดพลั้งเผื่อลืมหลง จะไม่ตรงตามนิทาน เพราะปัญญาญาณยังเยาว์ ด้วยนิทานเก่าล่วงลับ ที่ได้สะดับจึงว่ากล่าว ได้แต่พอเป็นราวพึงรู้ นักปราชญ์ผู้รู้แท้ ถ้าเห็นไม่แน่ช่วยแก้ไข ดัดแปลงให้ชอบด้วยเถิด ?โลกนาโถ อันว่าสมเด็จพระพุทธเจ้า อันเป็นที่พึ่งแก่สัตวโลก ๖


๔๒ ในไตรภพ เมื่อแรกได้ตรัสรู้ ซึ่งพระสัพพัญญุตญาณใหม่นั้น พระองค์เสด็จนิสีทนาการนั่งเหนือพระรัตนบัลลังก์แก้ววิเชียร ในควงไม้พระศรีมหาโพธิ โวโลเกนฺ โต เมื่อทอดพระญาณจักษุไปแลดูที่ตั้งพระพุทธศาสนา ในมัชฌิมประเทศแลปัจจันตประเทศ เห็นแล้วซึ่งที่ตั้งพระศาสนานั้นโดยกาลบริเฉท ด้วยพระสัพพัญญุตญาณว่าดังนี้ ที่ตั้งพระพุทธศาสนาแห่งพระตถาคต จะตั้งในมัชฌิมประเทศมีเมืองพาราณสีเป็นอาทิ จะได้สำแดงพระธรรมเป็นอันมากในชมพูทวีป ในปัจจันตประเทศนั้นก็เป็นอันมาก มีเกาะลังกาเป็นอาทิ ครั้นพระองค์กระทำสันนิษฐานแจ้งฉะนี้แล้ว เสด็จไปยับยั้งอยู่ในที่พระมหาสถาน ๗ วัน ๗ ที่ เป็น ๗ แห่ง แล้วเสด็จไปสู่ป่าอิสิปตนมิคทายวันสิ้นหนทาง ๑๘ โยชน์ ตรัสเทศนาพระธรรมจักกับปวัตตนสูตรโปรดพระปัญจวัคคีย์ภิกษุทั้งห้าให้สำเร็จพระอรหัตต์ กับทั้งบริษัทเทวดามนุษย์นับด้วยแสนโกฏิ แล้วทรงพระกรุณาโปรดส่งไปซึ่งพระอรหันต์ทั้งหลายในนานาประเทศ เหตุว่าจะให้ตั้งพระพุทธศาสนา จะได้โปรดเทวดามนุษย์จะให้ได้พระอริยมรรคอริยผล สมเด็จพระทศพลเสด็จไปโปรดเวไนยสัตว์ อนิจฺจาวาโส พระองค์เสด็จอยู่ในนานาประเทศ คือพระเชตุพนแลเวฬุวันมหาวิหาร ใกล้เมืองสาวัตถีแลเมืองราชคฤห์ เป็นอาทิ สำแดงพระธรรมเทศนาโปรดหมู่เวไนยสัตว์ ได้อริยมรรคอริยผลพ้นทุกข์จะนับจะคณนามิได้ ตามพุทธกิจ พุทธวิสัย พุทธประเพณี อสีติอายุโก ตราบเท่าพระชนมายุได้ ๘๐ ทัศ แต่แรกได้ตรัสมาได้ ๔๕ พระวัสสา เสด็จไปสู่เมืองโกสินาราราชธานีในวันจะนิพพานนั้น

๔๓ เสด็จบรรทมเหนือพระแท่นที่หว่างต้นรังทั้งคู่ จึงทรงพระอาวัชนาการแจ้งว่า มนุษย์จะได้ไปอยู่ในเกาะลังกา พระพุทธศาสนาจะปรากฎมีในเกาะลังกานั้น เมื่อพระตถาคตนิพพานแล้ว ๔ เดือน พระมหากัสสปเถระกับพระอรหันต์ ๕๐๐ พระองค์จะกระทำมหาปฐมสังคายนา ณเมืองราชคฤห์ แต่ปีนั้นล่วงไป ๑๐๐ ปี พระยสเถระ พระเรวัตเถระ กับพระอรหันต์ ๗๐๐ พระองค์ จะกระทำทุติยสังคายนาณเมืองไพสาลี แต่ปีนั้นล่วงไปอีก ๑๑๘ ปี พระโมคคลีบุตรดิศเถระ กับพระอรหันต์๑๐๐๐พระองค์ จะกระทำตติยสังคายนาณเมืองปาตลีบุตร ตโต ปรํ แต่นั้นไปพระโมคคลีบุตรดิศเถระ จะส่งพระอรหันต์ไปในนานาประเทศ ให้ตั้งพระพุทธสาสนาโปรดสัตว์ ให้ได้มรรคผล พระมหินทรเถระ กับพระอรหันต์ ๕ พระองค์ไปสู่เกาะลังกาทวีป ตั้งพระพุทธศาสนาแล้วจะทำจตุตถสังคายนา กับพระอรหันต์ ๑๐๐๐ พระองค์ ในเกาะลังกาทวีป เมื่อพระพุทธศาสนาล่วงไปได้ ๕๐๐ ปี พระอรหันต์ทั้งหลายจะเขียนไตรปิฎกลงในใบลาน อนึ่งทรงพระอาวัชนาการแจ้งว่า สมเด็จพระพุทธเจ้าที่มีพระชนมายุยืนนานนิพพานแล้ว มีบรมธาตุเป็นแท่งประดุจแท่งทองพระองค์เดียวใหญ่ยาว ๓ - ๔ ศอก ก็มี บัดนี้พระชนมายุพระตถาคตนี้น้อย จะไว้พระศาสนา ๕๐๐๐ ปี จะอธิษฐานพระบรมธาตุให้เล็กเป็นหลายพระองค์มากกว่าแสน จะได้เรี่ยรายไปอยู่ในนานาประเทศ เทวดามนุษย์จะได้สักการบูชาเลื่อม ใสในพระพุทธศาสนา เป็นทางพระอริยมรรคอริยผล ครั้นสมเด็จพระทศพลแจ้งเหตุแห่งพระพุทธกิจฉะนี้แล้ว จึงให้โอวาทานุศาสน์

๔๔ สั่งสอนพระสงฆ์แลเทวนิกรมนุษย์ เป็นที่สุดพระพุทธวจนะว่าอามนฺตยามิ โว ภิกฺขเว ฯลฯ สมฺปาเทถาติ ฉะนี้แล้ว เสด็จเข้าสู่ปรินิพพานด้วยนิพพานธาตุ ว่ามาทั้งนี้โดยสังเขปกถา ที่พิสดารวิตถารนั้นมีอยู่ในพระมหาปรินิพพานสูตรโน้นแล พระคัมภีร์มหาวงศเป็นอาทิพระคัมภีร์อื่น ๆ ก็มีแล อตีเต กิร ดังได้ยินมาในอดีตกาล พระพุทธศักราชศาสนาล่วงแล้วได้ ๑๗๖๗ ปี เป็นจุลศักราชได้ ๕๘๖ ปีเท่านี้แล เอโก ราชา ยังมีพระยาองค์หนึ่ง สิริธมฺมาโสโก นาม ทรงพระนามชื่อพระเจ้าศรีธรรมาโศกราช วสิฎฺฐโคตฺโต เป็นเชื้อวงศ์วสิฎฐโคตรฤๅษีชาติได้ เสวยราชย์อยู่ใน เมืองสุโขทัย มีบุญญาธิการยศศักดิ์บริวารเดชานุภาพมาก ปราศจากปัจจามิตรด้วยบุญฤทธิ์แห่งพระองค์ ทรงพระราชศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา บำเพ็ญพระราชกุศลศีลทานเป็นอาทิ กอบด้วยเมตตาพรหมวิหารญาณสุขจริต แก่มหาชน แลท้าวพระยาในนานาประเทศ มิได้เบียดเบียนบ้านเมืองอื่น ๆ รักษาสมณพราหมณามหาชน มีเสนาบดีเป็นอาทิ ให้อยู่เย็นเป็นสุขโดย ทศพิธราชธรรม ยังมหาชนทั้งหลายให้กระทำกองการกุศล มีรักษาศีลแลให้ทานเป็นต้น เสวยราชสมบัติอยู่เป็นเกษมสุขในเมืองสุโขทัย อยู่มาวันหนึ่ง พระเจ้าศรีธรรมาโศกราช พระองค์บรรทมเหนือแท่นที่อันเป็นศิริไสยาศน์ ในพระราชเรือนหลวง เพลาราตรีภาคมัชฉิมยามทรงพระอาวัชนาการซึ่งพระอุโบสถศีล เห็นพระอานิสงส์มีมากยิ่งนัก มีพระทัยปรารถนาจะรักษาพระอุโบสถศีล จึงทรงพระดำริว่า

๔๕ อาตมาภาพนี้จะระคนปนอยู่ด้วยสตรีภาพมาตุคามอันมีรูปอันงาม จะรักษาพระอุโบสถศีลในพระราชฐานนี้ เห็นศีลนี้จะไม่บริสุทธิ์กอบด้วยโทษไม่สมควร ถ้าอาตมาภาพไปสู่ภูเขาหลวงรักษาพระอุโบสถศีลในที่สงัดวิเวกปราศจากสตรีภาพมาตุคาม ศีลนั้นจะบริสุทธิ์มีพระอานิสงส์มาก ครั้นทรงพระดำริแล้ว ในวันรุ่งขึ้นเช้าจึงดำรัสสั่งให้หาข้าราชการทั้งหลายมีเสนาบดีเป็นประธาน แลพระสนมในทั้งหลายมีพระอัครมเหษีเป็นอาทิมาเฝ้าแล้ว ดำรัสสั่งว่า โภนฺตา ดูกรท่านทั้งหลาย เรานี้จะไปรักษาอุโบสถศีลอยู่ที่ภูเขาหลวง ท่านทั้งปวงจงช่วยกันรักษาขอบขัณฑเสมาบ้านเมืองพระราชวังเราจงดี อย่าให้มีภัยอันตราย ท่านทั้งหลายอย่าได้ประมาทใน ๗ วัน กว่าเราจะกลับมา สมเด็จพระบรมราชาธิราชสั่งแล้วเสด็จลีลาศ ด้วยเสนามาตย์จตุรงค์เป็นบริวาร ทรงยานพาหนะพระที่นั่งพร้อมด้วยสุรโยธาหน้าหลัง ฆ้องกลองแตรสังข์กรรชิงฉัตร อื้ออึงคนึง แออัดสว่างไสว ทวนธงไชยาบฉัตรแดงปลาบจามรี ให้นิมนต์พระสงฆ์ราชาคณะไปเป็นหลายพระองค์ ครั้นถึงเชิงเขาหลวงที่กำบังเงื้อมคูหาศิลาดาษสะอาดงามที่ดีแล้ว ให้คนทั้งหลายกลับคืนมาเมือง จึงสมาทานพระอุโบสถศีลในสำนักแห่งพระสงฆ์แล้ว ก็ส่งพระสงฆ์กลับคืนไป เอาไว้แต่ราชบุรุษ ๔ คนเป็นเพื่อน พระองค์ก็รักษาพระอุโบสถศีล ด้วยจิตรอันสุจริตอยู่ในสถานที่นั้น โส ราชา สมเด็จพระเจ้าศรีธรรมาโศกราช เมื่อรักษาพระอุโบสถศีลในที่นั้น ๗ วันบ้าง ๕ วันบ้าง ๓ วันบ้าง จึงกลับไปว่าราชกิจใน

๔๖ พระนคร ๗ วันบ้าง ๕ วันบ้าง ๓ วันบ้าง แล้วกลับไปรักษาพระอุโบสถศีลเนือง ๆ ในที่นั้นเป็นหลายครั้ง เป็นเหตุจะได้สังวาสด้วยนางนาค ด้วยอุปนิสัยแห่งกุศลบุญได้กระทำมาด้วยกันแต่ก่อน อนึ่งเป็นเหตุจะได้พระราชบุตร อันมีมหิทธิฤทธิ์เดชานุภาพบุญาธิการมาก อนึ่งเป็นเหตุแห่งกุศลวิบากแห่งคนทั้งสามนั้น จะให้บังเกิดปรากฎเป็นอัศจรรย์ประหลาดโลกอันควรแก่กาลนั้น อยู่มาวันหนึ่ง สมเด็จพระเจ้าสุโขทัยมีพระทัยปรารถนาจะเสด็จไปประพาสในเชิงมหาบรรพต ทอดพระเนตรชมวนรุกขชาติพฤกษาคณานกนิกรมฤคีสัตว์จตุบาททวิบาท แลท้องแถวธารธาราน้ำไหล ในซอกห้วยเหวคูหาศิลาดาษ รุกขชาติน้อยใหญ่ในประเทศที่นั้น ครั้นเสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรแลไปแต่ข้างโน้นข้างนี้ จึงได้เห็นซึ่งนางนาคนิมิตรตัวเป็นงูเล็ก ยินดีด้วยราคจริตสังวาสกับด้วยงูดินรัดรึงซึ่งกายอันเกี่ยวพันกันอยู่ในที่นั้น พระองค์จึงพิจารณาดู เห็นงูตัวเมียนั้นรูปงามประหลาดคอแดงหงอนแดง จึงแจ้งว่านี้ชรอยเป็นนางนาคตระกูลสูง จึงทรงพระดำริว่านางงูนี้รูปงามเป็นตระกูลนาคอันสูงศักดิ์ มิควรที่จะมารักสังวาสกับด้วยงูดินตระกูลต่ำ ครั้นทรงพระราชดำริแล้ว เอาไม้เท้าเข้าเขี่ยค้ำคัดให้งูทั้งสองพลัดออกจากกันต่างตัวต่างไป นางนาคนั้นมีความละอายโกรธซึ่งพระยานั้น จึงคิดว่ากูควรจะฆ่าเสียซึ่งพระยานี้ ก็ให้บังเกิดไภรีตกใจกลัวด้วยบุญญานุภาพศีลแห่งพระยานั้น มิอาจจะกระทำร้ายได้ ก็ปลาสนาการอันตรธานกลับคืนสู่นาคพิภพแห่งตน เข้าไปสู่สำนักแห่งพระราชบิดามารดา นั่ง

๔๗ ในที่ควรแล้วนมัสการไหว้พระราชบิดามารดา โรทนฺตี แกล้งกระทำมารยาร้องไห้ด้วยความโกรธนั้น จึงกล่าวโทษใส่ความแก่พระยาสุโขทัยว่า เทว ข้าแต่พระราชบิดา ข้าพเจ้าอำลาพระองค์ขึ้นไปรักษาอุโบสถศีลในถิ่นมนุษย์ เที่ยวชมประเทศหาที่สบายที่ภูเขาหลวงใกล้เมืองสุโขทัย ประเทศที่นั้นประดับไปด้วยรุกขชาติลดาดาษเครือวัลย์ ภูเขานั้นมีคูหาถ้ำห้วยเหว ชะเงื้อมผาศิลาลาดดาษดาด้วย กนฺทรา ทรอกทรึ้งถ่องแถวธารธาราน้ำไหล ป่าไม้ระหงรโหฐานเป็นสนุกสบายใจ ข้าพเจ้าอาศัยอยู่ในที่นั้น ได้เห็นพระยาสุโขทัยเที่ยวมาที่ประเทศนั้น ข้าพเจ้าไม่ทันหลบหลีก พระยานั้นโกรธจึงตีข้าพเจ้าด้วยด้วยกระบองอันใหญ่ ข้าพเจ้าเจ็บปวดเป็นสาหัสแทบบรรดาตาย ข้าพเจ้าตกใจกลัวยิ่งนักมิอาจทำอันตรายแก่พระยานั้นได้ ข้าพเจ้าจึงหนีลงมาสู่สำนักแห่งพระองค์นี้ พระยานั้นกระทำให้บิดาได้ความอัปรยศอดอาย พระองค์จงฆ่าเสียซึ่งพระยานั้นเถิด ตทา ในกาลนั้น พระยานาคราชได้ฟังนางนาคพระราชบุตรีบอกดังนั้น ก็โกรธพระเจ้าสุโขทัย จึงมาจากนาคพิภพด้วยเพศเป็นดาบศฤษี ......ควรที่อาตมาภาพจะไปถามดู ก็จะรู้เหตุเมื่อภายหลัง ครั้นถึงที่นั้นจึงเข้าไปสู่สำนักแห่งพระเจ้าสุโขทัยนั้น แล้วถามว่า มหาราช ดูกรพระองค์ผู้ประเสริฐ พระองค์มาอยู่ในที่นี้ด้วยเหตุดังฤๅ พระองค์ได้เห็นสิ่งใดประหลาดบ้าง พระยาจึงบอกว่า ข้าแต่พระดาบศ ข้าพเจ้ามาอยู่เพื่อจะรักษาอุโบสถศีล อยู่มาช้านานแล้ว วันหนึ่งข้าพเจ้าเที่ยวไปภูมิประเทศเชิงบรรพต เพื่อจะชมต้นไม้แลภูเขาท่อธารธาราถ้ำเหว

๔๘ นกเนื้อต่าง ๆ จึงเห็นงูผู้เมียทั้งสองสังวาสเกี่ยวพันกันอยู่ แต่นางงูมีรูปงามหงอนแดงคอแดงประหลาด จึงคิดว่านางงูตัวนี้ชรอยจะเป็นตระกูลชาตินาคราชอันสูงศักดิ์ ไม่ควรจะมารักสังวาสด้วยชาติงูดินตระกูลต่ำ จะเสียตระกูลไปไม่ควร ข้าจึงเอาไม้เท้าเข้าเขี่ยคัดให้งูทั้งสองพลัดพรากจากกันไป ข้าเห็นประหลาดแต่เท่านี้ ขณะนั้นพระยานาคได้ฟังคดีถ้วนถี่ดังนั้น ก็เห็นคุณพระเจ้าสุโขทัยเลื่อมใสยินดี จึงอำลาด้วยคารวะเคารพ กลับคืนไปสู่นาคพิภพพิโรธราชธิดา ปริภาสนาด้วยวาจาทารุณต่าง ๆ ครหาติเตียนเป็นอันมากแล้วว่าออคนร้ายท่านลวงเราว่าจะลาไปรักษาศีล กลับไปเที่ยวเล่นชู้ลู่ชายชาติงูดินตระกูลต่ำ กระทำชาติสมเภทเสียตระกูลมีโทษมาก เอ็งอย่าอยู่ในเมืองนาคนี้เลย จงไปสู่สำนักแห่งพระเจ้าสุโขทัย ท่านมีคุณแก่เราทั้งตัวเอ็งเป็นอันมาก เอ็งไปอยู่ปรนนิบัติเป็นทาษท่านในสถานที่นั้นเถิด นางนาคนั้นครั้นได้ฟังถ้อยคำแห่งพระบิดา บริภาสนาด้วยวาจาอันหยาบช้าดังนั้น ตกใจกลัวตัวสั่น จึงอำลาบิดามารดาแล้วมาสู่ภูเขาหลวง จึงนิมิตรสรีรกายงามเฉิดฉายโสภี เป็นตรุณนารีรูปงามดังนางเทพธิดา ประดับภูษาอาภรณ์ทิพย์อันสะอาด จึงลีลาสเข้าไปสู่สำนักแห่งพระเจ้าสุโขทัยนั้น นั่งในที่ควรแล้วนมัสการพระยานั้น พระเจ้าสุโขทัยจึงถามว่า เจ้านี้ชื่อใด เจ้ามาแต่ไหน เจ้ามาสู่สำนักเราด้วยเหตุอันใด นางนาคนั้นจึงนำเนื้อความนั้นตามจริง ดุจดังคำพระบิดาว่ากล่าวมาแต่หนหลัง พระเจ้าสุโขทัยได้ฟังดังนั้น แจ้งเหตุดีพระทัย

๔๙ โสมนัสยินดีมีสุนทรวาจาว่า ออเจ้านี้ที่เป็นนางงูเล็กนั้น แล้วเป็นบุตรีพระยานาคราช บิดาให้เจ้ามาปรนนิบัติเราก็ดีแล้ว ชนทั้งสองก็สังวาสอยู่ด้วยกันตามประเพณีคดีโลก นางนาคนั้นเป็นที่เสน่ห์หารักใคร่แห่งพระยานั้นยิ่งนัก ด้วยเหตุว่านางนาคนั้นตบแต่งเครื่องอุปโภคบริโภคอาหารเอมโอชโอชารสบริสุทธิ์สะอาดต่าง ๆ แล้วไปด้วยอิทธิฤทธิ์เดชานุภาพแห่งนาค แท่นที่สิริไสยาสน์ประดับด้วยดอกไม้แลเครื่องลูบไล้สุคนธมาลา นวดฟั้นคั้นหัดถ์บาทาสรีรกายาต่าง ๆ นางนาคปรนนิบัติบำรุงบำเรอพระบรมราชาธิราชมาช้านานถึง ๗ ราตรี สมเด็จพระเจ้าศรีธรรมาโศกราช เสวยสมบัติด้วยนางนาคเป็นมโห-ฬาริกภาพเสนหาอาลัย ประหลาดละเอียดกว่ามนุษย์เป็นอัศจรรย์ พระองค์ปรารถนาจะรับพานางนาคนั้นเข้ามาไว้ในพระราชวัง จึงตรัสแก่นางนาคนั้นว่า ภทฺเท ดูกรเจ้าผู้มีพักตร์อันจำเริญ บัดนี้เราจะรับเจ้าเข้าไปไว้ในพระราชวัง ตัวเราจะกลับไปสู่พระนครก่อน ว่าราชการอยู่ ๗ วันแล้ว จะจัดแจงแต่งยานุมาศราชรถกับทั้งโยธาบริวารเป็นอันมากมารับเจ้าเข้าไปในพระนคร เจ้าค่อยอยู่จงดีในที่นี้ อย่ามีทุกข์เดือดร้อนเศร้าโศกสิ้นคำรบ ๗ วันเราจะออกมา เจ้าอย่าโศกาลัยไปสู่ที่อื่นสั่งสอนแล้วเสด็จเข้าไปสู่พระนคร สมเด็จพระมหากษัตริย์มีกิจการภารธุระเป็นอันมาก มีพระสนมนารีที่โปรดปรานก็เป็นอันมาก มีสติมักเคลิ้มลืมไปมิได้ระลึกถึงนางนาคนั้น ล่วงพ้น ๗ วันมิได้ออกไปรับนางนาคช้านานไป นางนาคเมื่อคอย ๗

๕๐ อยู่ในที่นั้นมิได้เห็นพระยาออกมารับล่วงพ้น ๗ วันแล้ว ก็เป็นทุกข์โทมนัสเศร้าโศกใจ ร้องไห้คร่ำครวญหาพระยาสุโขทัย ร่ำไรไปมาต่าง ๆ ว่าพระเจ้าสุโขทัยองค์นี้ เป็นชายชาติมนุษย์ วาจาไม่บริสุทธิ์เจรจามุสาหาสัจวาทีมิได้ สั่งแก่ข้าไว้ว่าจะไปก่อน ถ้วนครบ ๗ วัน แล้วจะกลับมารับ พระยามนุษย์องค์นี้เจรจาสับปรับล่อลวงข้ามาทิ้งไว้ ในกลางป่า เอกาแต่ผู้เดียวเปลี่ยวใจ ชรอยบุญตัวข้าหาไม่ ได้ผัวไม่รอดชั่วจึงหน่ายหนี ชะรอยว่ากรรมมี ข้าได้ล่อลวงเบียดเบียนสณม พราหมณาให้เสียศีลสิกขา กรรมนั้นจึงมาถึงตัวณครั้งนี้ ข้าได้สังวาสอยู่ด้วยสามี ๗ วัน สัตว์มาบังเกิดในครรภ์ให้เสียวสันอัศจรรย์ยิ่งนัก นิมิตรประหลาดประจักษ์เห็นหลากครัน จะพาครรภ์นี้ไปสู่เมืองนาค ให้ผู้อื่นรู้จะอัปรยศอดสูแก่ญาติแลมิตร ครั้นคิดแล้วจึงลุกออกไปด้วยโทมนัส ขัดใจพระสามีด้วยโลกีย์ราคจิตต์คิดแค้น ถือเอาผ้าแดงกับแหวนพระธำมรงค์ของชอบใจ ที่พระยาให้ไว้ชมพลางดูต่างพระพักตร์นางก็รักสุดสวาท จึงคิดจะนิราสไปสูเมืองนาค จะสำรอกลากต่อมโลหิต อันติดไปในครรภ์อันสัตว์มาบังเกิดอยู่นั้นไว้ ให้แก่พระยาภัสดาสามี ครั้นคิดแล้วจึงจรลีไปที่ริมฝั่งคลอง ใกล้ท้องธารที่เป็นทรอกกำบัง จึงนางนาคนั่งลงด้วยโทมนัสโสกา วางพระภูษาพับเป็นฐานล่าง แล้ววางพระธำมรงค์ลงตรงกลางชั้นบน แล้วจึงอธิษฐานสำรอกต่อมโลหิตด้วยนาคฤทธิ์แห่งตน ลงไว้ในที่บนวงพระธำมรงค์นั้นแล้วอธิษฐานให้สัตว์นั้นมิให้มีภัยอันตรายด้วยฤทธิ์นาค ประกาศฝากลูกนั้นแก่หมู่เทพดาทั้งหลาย อันสิงสู่อยู่ในรุกขพิมานภูมิสถานทุก

๕๑ ประเทศเขตต์ขอบขุนเขาหลวง ว่าเทพดาเจ้าทั้งปวงเอ็นดูด้วย ช่วยอภิบาลรักษาลูกน้อยของข้าอย่าให้มีภัยอันตรายต่าง ๆ ว่าพลางก็ร้องไห้ร่ำไรอาลัยถึงพระภัสดาสามีมิใคร่จะไปได้ ฝากลูกน้อยไว้แก่นางพระธรณี นางนาคีก็กลับไปสู่นาคพิภพแห่งตน ในกาลนั้นยังมีคางคกตัวหนึ่ง เที่ยวมาเพื่อจะหาเหยื่อที่แถวธารคลองน้ำนั้น พอประสพพบต่อมโลหิตที่วงพระธำมรงค์นั้น ได้กลิ่นคาวโลหิตก็ติดใจยินดีจะได้กินเป็นภักษาหาร คางคกก็คลานด้อมโดดเข้าไปคาบกะพ่ำเอาต่อมโลหิต กล้ำกลืนเข้าไปกับทั้งพระธำมรงค์ คางคกมิอาจดำรงตัวอยู่ได้ บัดเดี๋ยวใจก็ถึงแก่ความตาย ด้วยพิศม์นาคนั้นร้ายเป็นที่สุด แต่สัตว์อันอยู่ในรูปนั้นเป็นมนุษย์ มีบุญญาธิการอานุภาพมาก ด้วยเป็นเชื้อชาตินาคจึงไม่ตาย อาศัยอยู่ในรูปกายแห่งคางคกนั้นไม่เน่าเปื่อยเป็นปรกติ เที่ยวอยู่ในลำคลองด้วยรูปคางคกนั้น ส่วนพระเจ้าศรีธรรมาโศกราช เมื่อล่วงพ้น ๗ วันไปแล้วจึงได้สติระลึกถึงนางนาค จึงจัดแจงรถราชยานออกไปรับกับบริวารโยธาเป็นอันมาก ครั้นถึงที่นั้นมิได้เห็นนางนาค แล้วมหาชนเที่ยวค้นหาทุกแห่งหนในประเทศเขตต์ขอบเขาหลวง คนทั้งปวงมิได้ประสพพบเห็นนางนาค แต่เที่ยวหาสิ้นสามราตรีก็มิพบนางนั้น แล้วสมเด็จพระเจ้าสุโขทัยก็เศร้าโศกเป็นทุกข์โทมนัสเป็นอันมาก ด้วยเสียดายนางนาคดังเสียเมืองให้ขัดแค้นขุ่นเคืองพระทัยตน ไม่ได้แล้วก็กลับพยุหพลคืนเข้าไปสู่พระนครนั้น

๕๒ ครั้งนั้นยังมีบุรุษแก่คนหนึ่งสังวาสอยู่ด้วยหญิงแก่คนหนึ่ง เป็นสามีภริยาเพื่อนศาลากัน อยู่ตำบลบ้านพูขอนใกล้ภูเขาหลวง สองคนผัวเมียนั้นเคยเที่ยวช้อนปลาในลำคลองนั้นเลี้ยงชีวิตมาแต่ก่อน วันนั้นเมื่อจะมีเหตุ สองคนผัวเมียนั้นถือเอาสุ่มซ่อมแลข้องออกไปถึงริมคลองนั้นพากันเดินไปตามริมฝั่งจึงเห็นผ้าแดงก็ได้ผ้านั้น คนทั้งสองก็ดีใจห่อผ้าแล้วช้อนปลาในคลองนั้น ด้วยบุญเดชานุภาพแห่งสัตว์อันอยู่ในรูปคางคกอันอยู่ในคลองนั้น คนทั้งสองช้อนปลาสิ้นวันยังค่ำ ไม่ได้ปลาปูกุ้งหอยแต่สักตัวหนึ่งเลย ได้แต่รูปคางคกนั้นทิ้งเทเสียแล้วได้อิกแล้ว ๆ เล่า ๆ เป็นหลายครั้ง บุรุษแก่นั้นโกรธว่าคางคกตัวนี้เป็นไร เวียนเข้ามาติดช้อนกู ๆ เททิ้งเสียแล้วแกล้งเข้ามาติดช้อนกูอิกเล่า ควรเราจะฆ่าคางคกตัวนี้เสีย สัตว์ที่อยู่ในรูปคางคกนั้นได้ยินคำแห่งบุรุษแก่ว่าจะฆ่าเสียดังนั้น จึงว่าแก่ตานั้นว่า ข้าแต่บิดาท่านอย่าฆ่าข้าเสียเลย ท่านจงเลี้ยงข้าไว้เถิด ข้าจะรักษาเฝ้าเรือนท่าน ชนทั้งสองผัวเมียเมื่อได้ฟังคำนั้นเป็นภาษามนุษย์ ก็ชื่นชมโสมนัสมีเมตตาจิตต์ คิดอ่านแก่กันว่า เราหาบุตรมิได้ เราเอาคางคกนี้ไปเลี้ยงไว้เป็นบุตรเราเถิด ว่ามาทั้งนี้เป็นเหตุด้วยบุคคลทั้งสามเคยได้อุปถัมภ์กันมาแต่ก่อน จะให้บังเกิดปรากฏในครั้งนั้น ครั้นคนทั้งสองคิดอ่านกันแล้ว จึงเอารูปคางคกนั้นใส่ลงในข้องแล้วคอนมา คางคกนั้นก็ตกร่วงลงจากข้อง ตายายจับขึ้นใส่ข้องแล้ว ๆ เล่า ๆ เป็นหลายครั้ง ตราบเท่าถึงบ้าน จึงเลี้ยงรูปนั้นไว้ณเรือน ให้ชื่อออร่วง เหตุตกร่วงลงจากข้องที่กลางทางนั้น สัตว์นั้นค่อยวัฒนาการจำเริญอยู่ในรูปนั้น รู้

๕๓ เจรจาเป็นภาษามนุษย์เรียกบิดามารดา ชนทั้งสองรักใคร่เลี้ยงไว้ด้วยเมตตากรุณา วันหนึ่งชนทั้งสองมีที่ไปอื่น เจ้าร่วงจึงออกจากรูปนั้นแล้วจึงตกแต่งโภชนาหารอันโอชารสต่าง ๆ ใส่ภาชนะไว้เป็นอันดีด้วย ฤทธิ์นาคแล้วกลับเข้าไปอยู่ในรูป ชนทั้งสองผัวเมียกลับมาบ้านขึ้นไปบนเรือน จึงเห็นโภชนาหารที่ในภาชนะ จึงสงสัยคิดว่าใครโกรธชังแกล้งแต่งโภชนาหารใส่ยาพิศม์ไว้ให้กินจะให้ตาย จึงคิดถึงร่างกายแห่งตนว่า เราทั้งสองนี้แก่เฒ่าชราภาพแล้ว เขาจะแกล้งให้เราตายก็ไม่เสียดายชีวิตแล้ว จะพ้นทุกข์ด้วยอยากหากครอบงำ จึงชวนกันกินโภชนาหารนั้นอร่อยยิ่งนัก จนอิ่มแล้วก็ไม่ตาย โสมนัสยินดีให้ลืมถามคางคกนั้นไป แต่ฉะนี้มาช้านาน อยู่มาวันหนึ่งชนทั้งสองผัวเมียจะใคร่รู้เหตุ แกล้งกระทำกิริยาเหมือนจะไปอื่น ไปซุ่มซ่อนตัวอยู่ในที่ลับชอบกลมิให้สัตว์นั้นรู้เห็น ทารกนั้นออกจากรูปนั้นแล้วนิมิตรโภชนาอาหารดังหนหลังมิทันจะเข้ารูป บุรุษเห็นนานแล้วก็ย่องเข้าไปในเรือน เห็นทารกนั้นรูปงามจึงชิงเอารูปคางคกเผาไฟเสีย แล้วเข้ากอดเอาทารก กล่าวคำอันเป็นที่รักชื่นชมโสมนัส กับด้วยยายผู้เป็นภริยาพากันบริโภคโภชนาหารแล้ว โถมนาการรักใคร่เจ้าร่วงยิ่งนัก ประดุจบุตรอันเกิดกับตน บำรุงบำเรอเลี้ยงด้วยเมตตาจิตต์ ร้องเรียกชื่อว่าเจ้าร่วงมาจนตราบเท่าทุกวันนี้ด้วยชื่อนั้น เจ้าร่วงบังเกิดเมื่อจุลศักราชได้ ๕๙๑ ปี เมื่อจำเริญมามีรูปงามโฉมงาม มีบุญญาธิการมหิทธิฤทธิ์มาก มีวาจาสิทธิ์กระทำการสิ่งใดก็สำเร็จสิ่งนั้น พอใจเล่นว่าว แลช่วยกระทำการของบิดามารดาแลมีอุตสาหะเป็นอันมาก เป็นที่รักที่ชอบใจบิดามารดาเป็นอันมาก ๕๔ อยู่มาวันหนึ่ง พระเจ้าศรีธรรมาโศกราชจะให้ปลูกปราสาทในเมืองนั้น ให้จัดแจงไม้ไผ่ไม้จริงน้อยใหญ่เป็นอันมาก จะกระทำร่างร้านบุรุษแก่นั้นนายใช้ให้หาไม้ไผ่ร้อยหนึ่ง จึงไปตัดไม้ได้ครบร้อยแล้วกองไว้ กลับมาบอกเจ้าร่วงให้ไปช่วยขนไม้นั้น ว่าพ่อร่วงเอ๋ย บิดานี้ชราแล้วแรงน้อยขนไม้ไม่ใคร่จะได้ ลำบากนัก พ่อช่วยขนหน่อยเถิด ว่าแล้วพาเจ้าร่วงไปสู่ป่าถึงกองไม้นั้น เจ้าร่วงนั้นจับเอาไม้ไผ่ลำเดียวลากมา ร้องเรียกว่าไม้ไผ่ทั้งกองจงมาให้หมด ไม้ไผ่ทั้งปวงนั้นก็เลื่อนมาตามทั้งสิ้นจนถึงที่นั้น พระเจ้าสุโขทัยครั้นถึงวันฤกษดีให้ยกเสาปราสาท ฝ่ายชาวพนักงานทั้งหลายมีเสนาบดีเป็นต้น พร้อมกันมากกว่าพัน ช่วยกันยกเสาปราสาทขึ้นไว้ไม่ตรง เจ้าร่วงนั้นมาด้วยบุรุษแก่จึงร้องว่าเสาเอนไปข้างโน้น โอนมาข้างนี้ เสาทั้งหลายนั้นก็โอนเอนไปมาตามวาจาเจ้าร่วงนั้น คนทั้งหลายจะฉุดชักผลักเสาเท่าใด เสาก็ไม่ตรง บุคคลทั้งหลายเหนื่อยพักลำบากกายเป็นหลายพักก็ไม่ตรง แล้วหยุดยับยั้งคิดอ่านแก่กัน ขณะนั้นเจ้าร่วงเห็นเสาโอนเอนไปมาดังนั้นจึงร้องห้ามว่า ท่านทั้งหลายอย่าฉุดชักผลักลากวุ่นวายไปเลย จะเหนื่อยลำบากกายเสียเปล่า ข้าพเจ้าผู้เดียวจะผลักเสาให้ตรง คนทั้งหลายครั้นได้ฟังก็สงสัย เห็นจะให้เสาตรงดังว่านั้นไม่ได้ แต่ทว่าให้เกรงกลัวไปไม่ห้ามได้ จึงอนุญาตให้กระทำ เจ้าร่วงจึงจับเสาแต่ต้นหนึ่งร้องว่า เสาทั้งปวงจงตรงเถิด เสาที่เอนโอนไปมาทั้งสิ้นนั้นก็ตรงพร้อมกันในขณะนั้นคนทั้งหลายเห็นเป็นอัศจรรย์ มีใจบังเกิดพิศวงตกใจแลดูหน้ากันอยู่ สงสัยคิดว่ามิใช่มนุษย์ ชะรอยว่าผู้นี้เป็นเทวดาให้กลัวเกรงยิ่ง

๕๕ นัก จึงพากันไปกราบทูลเหตุทั้งปวงนั้นให้แจ้งแก่พระยานั้น พระเจ้าศรีธรรมาโศกราชได้ทรงฟังดังนั้น บังเกิดมีพระทัยพิศวงเห็นเป็นอัศจรรย์ จึงให้หากุมารนั้นมากับบุรุษแก่นั้น ปรารถเพื่อจะไต่ถาม วันนั้นเจ้าร่วงห่มผ้าแดง พระธำมรงค์นั้นห่อชายผ้าแดงมาด้วย ประหนึ่งจะใคร่สำแดงเหตุ จะให้พระราชบิดารู้จักตัวว่าเป็นพระราชบุตร กระ ทำองอาจ ปราศจากภัยด้วยฤทธิ์นาค ครั้นมาถึงจึงนั่งไหว้พระบิดากับบุรุษแก่แลราชบุรุษอยู่ในที่สมควร ส่วนสมเด็จพระเจ้าสุโขทัย ทอดพระเนตรพิจารณาดูกุมารนั้น เห็นรูปโฉมงามล้ำเลิศประหลาด องอาจปราศจากภัย เห็นผ้าแดงนั้นเป็นสำคัญก็รู้จักจำได้ เข้าพระทัยว่ากุมารนี้เป็นลูกนางนาคพระราชบุตรเราแล้ว มีพระทัยเสนหารักใคร่ทรงพระเมตตากรุณา จึงตรัสถามด้วยพระราชโวหารว่า ฮา ดูกร กุมารน้อย เอ็งนี้เป็นบุตรของบุคคลผู้ใด ผ้าแดงผืนนี้ใครให้แก่เอ็งหรือ ๆ เอ็งได้มาแต่ที่ใด เอ็งอยู่บ้านไหน จงบอกมาให้แจ้ง เจ้าร่วงจึงกราบบังคมทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ ข้าพเจ้าเป็นบุตรของบุรุษแก่ ผ้าแดงผืนนี้บิดานี้ให้แก่ข้าพระพุทธเจ้า ข้าพระพุทธเจ้าอยู่บ้านพุขอนใกล้ภูเขาหลวง แล้วจึงตรัสถามบุรุษแก่นั้นสอบคำดูเล่าว่า ข้าแต่ท่านลุง กุมารน้อยนี้ เป็นบุตรของท่านเองหรือ ๆ ใครให้แก่ท่าน ผ้าแดงนี้ท่านได้มาแต่ไหน ท่านให้การไปแต่ตามจริง บุรุษแก่นั้นจึงกราบทูลพระกรุณาว่า ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ กุมารนี้ก็ดี ผ้าแดงผืนนี้ก็ดีข้าพเจ้าได้ที่ริมคลองน้ำใกล้ตีนเขาหลวง แลบอกเหตุทั้งปวงต่าง ๆ

๕๖ ตามที่มีความว่ามาแต่ก่อนโน้น ถ้วนถี่ทุกประการให้แจ้งแก่พระยานั้น พระเจ้าศรีธรรมาโศกราชพิจารณาซึ่งผ้าแดงแลพระธำมรงค์ ก็รู้จักจำได้ จึงตรัสว่ากุมารผู้นี้เป็นบุตรของเราเกิดด้วยนางนาค ผ้าแดงแลพระธำมรงค์นี้เราให้แก่นางนาค ครั้งเมื่อเราไปรักษาศีลอยู่ที่ภูเขาหลวงนั้น ข้าแต่ท่านลุง ข้าขอซึ่งกุมารนี้เถิด ท่านลุงจงให้กุมารนี้แก่ข้าเถิด บุรุษแก่นั้นก็ถวายซึ่งเจ้าร่วงนั้นแก่พระเจ้าสุโขทัย ด้วยความเคารพโดยสุจริต แล้วพระยานั้นจึงพระราชทานเงินทองเครื่องอุปโภค บริโภคเป็นอันมาก แก่บุรุษแก่กับทั้งภิริยา แล้วรับพระราชบุตรนั้นไปสู่พระราชวัง ให้ชำระสะสรงพระองค์สรีรกายลูบไล้ทาพระสุคนธ์ของหอมบริบูรณ์สรรพ ประดับพระภูษาอลังการ์วัตถาภรณ์สรรพพิจิตรงามเลิศแล้ว ให้พระราชบุตรแก้วนั่งเหนือพระเพลาพลางเชยชมโสมนัสแล้วจัดเครื่องสักการะพิธีทำขวัญสมโภช ทำขวัญ ๓ วันตามบุราณราชประเพณีสืบมา จำเดิมแต่นั้นเจ้าร่วงราชกุมารนั้น เป็นที่เสนหารักใคร่แห่งพระบิดา เข้าเฝ้าอุปฐากพระบิดามาช้านาน มีศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธสาสนา จึงถวายบังคมลาสมเด็จพระบิดาบวชในพระพุทธสาสนาเป็นสามเณร เล่าเรียนพรหมจรรย์มีสติปัญญามาก เป็นพหุสูตรปรนนิบัติเป็นอันดีตราบเท่าได้อุปสมบท ปรากฏด้วยวาจาสิทธิ์ว่าสิ่งใดเป็นสิ่งนั้น มีบุญญาธิการเดชานุภาพอิทธิฤทธิ์มาก หาปุถุชนจะเปรียบเสมอมิได้ ครั้งนั้นท้าวพระยาทั้งหลายในสยามประเทศทุกเมือง มีเมืองสุโขทัยเป็นต้น ไปเป็นเมืองขึ้นแก่เมืองกัมพูชาธิบดีมหานคร พระเจ้าละโว้อันอยู่ในเมืองลพบุรีส่งส่วยน้ำในสระน้ำเสวย พระเจ้าสุโขทัย

๕๗ ส่งส่วยน้ำอันมีอยู่ในภูเขาหลวง ใส่ตุ่มบรรทุกเกวียนเข็นน้ำนั้นไปถวายแก่พระเจ้ากัมพูชาธิบดีมิได้ขาดณเมืองกัมพูชาโน้น อยู่มาวันหนึ่งพระภิกขุคือพระร่วงนั้น เห็นเขาขับเกวียนเข็นน้ำไปดังนั้น จึงถามรู้เนื้อความว่าเขาเข็นน้ำส่วยไปส่งถวายแก่พระเจ้ากัมพูชาธิบดีดังนั้น จึงว่าแต่นี้ไปอย่าเอาน้ำใส่ตุ่มเลย ทำตารางบนเรือนเกวียนแล้วเอาน้ำเทใส่ตารางขังไปไม่รั่ว เข็นไปถวายแก่พระยากัมพูชาธิบดีเถิด คนชาวน้ำส่วยทั้งหลายจึงกระทำตามคำพระร่วงว่าดังนั้น เข็นน้ำไปน้ำขังอยู่ในตารางไม่รั่วเลย ไปถวายแก่พระเจ้ากัมพูชาธิบดีนั้น พระเจ้ากัมพูชาธิบดีทอดพระเนตรเห็นเกวียนเข็นน้ำนั้นอัศจรรย์ยิ่งนัก จึงถามรู้เนื้อความว่าพระร่วงเป็นภิกขุให้กระทำดังนั้น ก็สะดุ้งตกพระทัยกลัวพระร่วงยิ่งนัก จึงถามว่าพระร่วงบวชอยู่วัดไหน แล้วได้ยินว่าอยู่วัดมหาธาตุ จึงทรงพระดำริว่าพระร่วงนี้มีบุญมาก วาจาสิทธิ์มีฤทธิ์มาก แต่นี้ไปเมืองสุโขทัยมิควรจะให้เอาน้ำมาส่งแก่เรา ครั้นทรงพระดำริแล้วจึงสั่งแก่ชาวส่งส่วยน้ำว่า แต่นี้สืบไปท่านทั้งหลายอย่าเอาน้ำเสวยนั้นมาส่งส่วยแก่เราเลย เอาน้ำนั้นไปถวายแก่พระภิกขุรูปนั้นเถิด ได้เป็นกุศลแก่เรา จำเดิมแต่นั้นมา ชาวน้ำเสวยทั้งปวงก็มิได้ไปส่งส่วยน้ำ ณเมืองกัมพูชาธิบดีก็ขาดมาตราบเท่าทุกวันนี้ พระเจ้ากัมพูชาธิบดีเห็นมหิทธิฤทธิ์เดชานุภาพแห่งพระร่วงนั้นมากยิ่งนัก สะดุ้งตกพระทัยครั่นคร้ามเกรงกลัวเข็ดขามยิ่งยัก จึงคิดจะทำลายฆ่าเสียซึ่งพระร่วง ด้วยเห็นว่าพระร่วงจะแข็งเมือง จะชิงเอาราชสมบัติบ้านเมืองของตนได้ ๘

๕๘ จึงให้เสาะสืบแสวงหาคนดีที่มีวิชาการความรู้วิเศษ จึงได้คนดีนั้นมาโสมนัสยินดีนักหนา จึงตรัสสั่งว่าท่านจงไปสู่เมืองสุโขทัยแล้ว จงฆ่าเสียซึ่งภิกษุรูปหนึ่งชื่อพระร่วงอยู่วัดมหาธาตุ ฆ่าเสียให้ตายจงได้แล้วจึ่งกลับมา เราจะพูนบำเหน็จรางวัลให้แก่ท่านจงมาก สั่งแล้วจึงส่งผู้นั้นไป คนดีนั้นมาสู่เมืองสุโขทัยใกล้จะถึง จึงดำดินไปผุดขึ้นในวัดมหาธาตุ พอพบพระร่วงมากวาดวัดอยู่ใกล้พระวิหารลานพระเจดีย์เห็นแล้วไม่รู้จักพระร่วงคิดว่าพระภิกษุรูปอื่น เมื่อผุดขึ้นพ้นดินแต่ครึ่งตัวจึงถามพระร่วงว่า ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า บัดนี้พระร่วงอยู่ที่ไหนพระร่วงกวาดวัดอยู่ในกำแพงพระวิหารหลวง ได้ยินเสียงแล้วแลมาดู เห็นบุรุษนั้นผุดขึ้นมาจากแผ่นดินครึ่งตัวเพียงนม ก็รู้ว่าบุรุษนี้มาจะกระทำอันตรายแก่พระองค์ จึงกล่าววาจาสิทธิ์ว่า ท่านอยู่ที่นี่เถิด ว่าแล้วก็ไปจากที่นั้น บุรุษนั้นจะขึ้นมาจากดินก็มิได้ จะถอยหลังดำดินคืนไปก็มิได้ กายก็แห้งแข็งอยู่ บุรุษนั้นก็กลับกลายเป็นศิลาไป ตั้งอยู่เพียงอุรประเทศจนตราบเท่าทุกวันนี้ พระร่วงนั้นพิจารณาเห็นศีลจะไม่บริสุทธิ์แล้ว ด้วยเหตุนั้นจึงสึกออกจากผนวช แล้วกราบทูลพระกรุณาสมเด็จพระราชบิดา ด้วยปรารถนาจะสร้างพระนครในที่สมควรว่า ข้าแต่สมเด็จพระบิดา พระองค์ได้ทรงพระกรุณาโปรดอนุญาต ให้ข้าพเจ้าสร้างพระนครสักเมืองหนึ่งในที่สมควร พระเจ้าศรีธรรมา-โศกราชได้ทรงฟังเห็นชอบด้วย จึงอนุญาตให้กระทำพระนครว่า ดูกรเจ้าผู้เป็นลูกรัก เจ้าว่าทั้งนี้ชอบแล้ว เมืองเก่าบุราณชื่อว่าเมืองสัชนาไลย อยู่ใกล้ริมแม่น้ำชื่อว่า ปาฬอกยนที ใกล้คีรีบรรพต

๕๙ ชื่อว่าเขาสัชนาไลย เมืองนั้นประกอบไปด้วยพระบรมธาตุ พระฤษีชื่อว่าพระสัชนาไลยดาบศ เป็นพระไอยกาชวดแห่งเราท่านให้สร้างเมืองนั้นไว้แต่ก่อน เราสร้างใหม่ให้ชื่อเมืองสวรรคโลกเถิด เจ้าพระร่วงได้ฟังดังนั้นก็ยินดี จึงถวายบังคมลาสมเด็จพระบิดาไปสร้างเมืองนั้น ให้พูนดินก่อถนนกว้าง ๙ วา แต่เมืองสุโขทัยถึงเมืองสัชนาไลยนั้นทางไกลประมาณ ๔ โยชน์เศษ เจ้าพระร่วงเสวยลูกในมะขามขั้วสุกแล้ว เอาเปลือกนั้นโปรยไป ๒ ข้างถนนนั้น กล่าวด้วยวาจาศักดิ์สิทธิ์ว่า เปลือกเม็ดในมะขามนั้นจงเป็นต้นมะขามไปเถิด เปลือกเม็ดในมะขามก็ค่อยงอกเป็นต้นมะขามเหมือนเม็ดในดิบนั้น ทั้งสองข้างถนนเป็นต้นมีใบดอกฝัก ไม่มีแต่เม็ดใน มีมาปรากฏตราบเท่าทุกวันนี้ ให้ก่อพระเจดีย์วิหารอุโบสถ ให้กระทำการเปรียญอาวาศเสนาสนะกุฎีต่าง ๆ พระปรางค์ที่บรรจุพระบรมธาตุตั้งอยู่ข้างตะวันตกยกย้ายมาตั้งข้างตะวันออก แล้วให้ตบแต่งพระราชเรือนหลวงการพระนครทั้งปวงก็สำเร็จมิช้าใน ๔ เดือน แล้วด้วยฤทธิแลวาจาสิทธิ์ทุกประการ พระเจ้าศรีธรรมาโศกราช จึงเชิญเจ้าพระร่วงไปครองราชสมบัติอยู่ณเมืองสวรรคโลก ว่าราชการสืบไป เมือง สวรรคโลกแต่ก่อนชื่อเมืองสัชนาไลยนั้น เหตุกระทำรูปสัณฐานเมืองนั้นตามสายลูกประคำแห่งพระฤษีอันชื่อพระสัชนาไลยดาบศ ชื่อว่า สวรรคโลกนั้น เหตุพระฤษีนั้นเอาน้ำสุรามฤตมาแต่สวรรค์มารดที่เมืองนั้น ว่ามาทั้งนี้เป็นคำบุราณกถา ครั้นพระเจ้าศรีธรรมาโศกราชแก่ชราภาพ สิ้นพระชนม์สวรรคตไปตามยถากรรมแห่งพระองค์นั้น เจ้าพระร่วง กระทำ ฌาปนกิจสมเด็จพระราชบิดา ด้วยเครื่องสักการบูชา ๖๐ ถวายไทยทานแก่พระสงฆ์เป็นอันมาก ให้มีการมโหรศพ ๗ วันตามราชประเพณี ด้วยพระราชวงศานุวงศ์แลมหาชนทั้งหลายนั้น เมื่อครั้งพระพุทธศักราช ล่วงได้ ๑๘๐๐ พระวัสสา จุลศักราช ได้ ๖๑๙ ปี สมเด็จพระเจ้าวรวงศ์บรมราชาธิราชอายุศม์ได้ ๒๘ ปี ได้เสวยราชสมบัติอยู่ณเมืองสุโขทัย พระโบราณาจารย์เจ้ากล่าวพระบาลีไว้ ในคัมภีร์จามเทวีวงศ์ แลพระคัมภีร์ สิงหฬปฏิมากรนั้นก็มีแปลกกันบ้างซึ่งชื่อและเรื่องราวนิทานพระเจ้าศรีธรรมาโศกราชนั้น ว่ามีบุรุษรูปงามมีกำลังผู้หนึ่ง นางนาคนั้นว่านางเทวธิดาองค์หนึ่ง ได้สังวาสอยู่ด้วยกันมีบุตรผู้หนึ่งคือพระร่วง แลพระร่วงเจ้านั้นชื่อว่า พระยาโรจราชก็ว่า วารุทราชาธิราชก็ว่าบ้าง แปลกกันแต่ชื่อดังนี้ ในกาลนั้นพระราชบุตรแห่งพระเจ้าศรีธรรมาโศกราช พระองค์ต่างพระมารดาเป็นพระอนุชาธิราชมีบุญญาธิการมาก เจ้าพระร่วงราชาธิราชพระราชทานตั้งพระนามชื่อว่า พระยาศรีธรรมราชาให้ ไปครองราชสมบัติอยู่ ณเมืองสวรรคโลก เกจิอาจารย์บางจำพวกว่าพระเจ้าศรีธรรมาโศก- ราชนั้น เมื่อได้พระร่วงมาปั้นตุ๊กตาดินให้พระร่วงเล่น ด้วยทรงพระเมตตา รักใคร่โปรดปรานพระราชบุตรนั้น เจ้าพระร่วงได้รับพระราชทานตุ๊กตาดินนั้น เคารพพระบิดา นับถือ จะไปในที่ใด ๆ ก็ดี ร้องเรียกตุ๊กตาดินนั้นว่าน้องมาไปด้วยกัน เจ้าจงเป็นมนุษย์ เป็นเพื่อนเราเถิด ว่าด้วยวาจาสิทธิ์ตุ๊กตานั้นบังเกิดเป็นมนุษย์รู้เจรจา เดินไปมากินอาหาร สรรพการทั้งปวง พระร่วงนั้นเสวยปลาปิ้งทั้งตับ ยังมีเนื้ออยู่ข้างหนึ่งทิ้งลงในน้ำทั้งตับ ว่าให้เป็นขึ้นจงว่ายไปกับทั้งตับนั้นเถิด ปลา

๖๑ นั้นก็เป็นขึ้นว่ายไปกับทั้งตับได้ ลางทีไม่มีตับแต่ตัวปลาครึ่งซีกก็มีแต่ก้างเปล่าก็มี ว่ายไปได้เป็นอัศจรรย์ประหลาดต่าง ๆ มีปรากฎมาตราบเท่าทุกวันนี้ ทั้งนี้บังเกิดด้วยบุญฤทธิ์วาจาสิทธิ์แห่งท่านนั้น ว่ามาทั้งนี้โดยสังเขปกถาย่ออยู่ยิ่งนัก ที่มีพิสดารวิตถารนั้นมีอยู่ในนิทานพระร่วงโน้น ครั้งนั้นสมเด็จพระร่วงบรมราชาธิราช เป็นพระยาเอกราชในสยามประเทศแลนานาประเทศ มิได้เบียดเบียนท้าวพระยาในนานาประเทศ ยังมหาชนทั้งหลายมีสมณพราหมณ์เป็นต้น ให้อยู่เย็นเป็นสุขทุกประเทศ ยังมหาชนทั้งหลายให้บำเพ็ญกุศล มีให้ทานแลรักษาศีล เป็นต้นในพระพุทธศาสนา ยังพระพุทธศาสนาให้รุ่งเรืองวัฒนาการ เสวยราชสมบัติโดยทศพิธราชธรรมมาช้านาน ส่วนพระยาศรีธรรมราชานั้น เสวยราชสมบัติโดยทศพิธราชธรรมอยู่ในเมืองสวรรคโลก ส่วนบุรุษแก่กับทั้งภริยาอันเป็นบิดามารดาเลี้ยงพระร่วงนั้น แก่เถ้าชราอายุขัยก็สิ้นชนมายุศม์ แล้วก็กระทำกาล กิริยา ตายแล้วก็ไปตามยถากรรมนั้น เจ้าพระร่วงก็กระทำฌาปนกิจสักการบูชา ถวายไทยทานแก่พระสงฆ์เป็นอันมากตามประเพณีกระทำฌาปนกิจนั้น อยู่มาวันหนึ่งพระร่วงบรมราชาธิราช เสด็จพระราชดำเนิรไปด้วยยศศักดิ์บริวารเป็นอันมากไปสู่เมืองสวรรคโลก ทอดพระเนตรเห็นกุฎีวิหารผุคร่ำคร่าหักพังเป็นอันมาก ปราถนาจะกระทำให้จิรังการมั่นคงไปช้านาน จึงคิดอ่านด้วยพระอนุชาธิราชนั้นว่า เราจะไปสู่เมืองมคธคือเมืองจีน ขอช่างกระทำถ้วยชามแต่พระเจ้ากรุงจีนมาให้กระทำถ้วยชามแลกระเบื้องในเมืองเรา จะได้กระทำหลังคากุฎีวิหาร ๖๒ ใช้การต่าง ๆ ที่เมืองเรานี้ พระยาศรีธรรมราชานั้นได้ฟังแล้วจึงกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ ข้าพระพุทธเจ้าจะขอตามเสด็จพระราชดำเนิรไปด้วยพระองค์ พระมหากษัตริย์ทั้งสองนั้นมีพระทัยเป็นเอกฉันท์ด้วยกันแล้ว เสด็จลงเรือพระที่นั่งน้อยกับราชบุรุษ ๗ คน แล้วสั่งแก่ข้าราชการทั้งหลายมีเสนาบดีเป็นประธานให้อยู่รักษาบ้านเมืองว่า ท่านทั้งปวงจงอยู่รักษาบ้านเมืองเราจงดี สั่งแล้วก็ออกเรือพระที่นั่งนั้นไปโดยลำดับ ถึงมหาสมุทหาอันตรายมิได้ตราบเท่าถึงกรุงมคธราฐ ด้วยเดชเดชานุภาพบุญฤทธิให้ประสิทธิ์ทุกประการดังนั้น ในกาลนั้นโหราอาจารย์แห่งพระเจ้ากรุงจีน ถวายฎีกาพระเคราะห์เมืองนั้นแก่พระมหากษัตริย์ว่าข้าแต่พระองค์ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ ข้าศึกจะมาถึงพระนครนี้ในวันพรุ่งนี้ จักได้เมืองนี้เป็นแท้ พระเจ้ากรุงจีนครั้นได้ทรงฟังดังนั้นก็สะดุ้งตกพระทัย จึงให้หาเสนาโยธาทวยหาญ มาประชุมพร้อมกันในหน้าพระลานชัย ตรัสบอกคดีถ้วนถี่ทุกประการ แล้วสั่งให้รักษาพระนครทุกแห่งประตูหอรบเชิงเทิน หน้าที่กำแพงชั้นนอกชั้นใน คนทั้งหลายมากกว่าแสนพร้อมด้วยเครื่องศาสตราวุธต่าง ๆ รักษาพระนครแลพระราชวัง ตามรับสั่งทุกประการ ตรวจตรากันเป็นสามารถ สมเด็จพระร่วงเจ้ากับพระอนุชาธิราชครั้นถึงเมืองจีนแล้ว จึงให้ราชบุรุษ ๗ คน อยู่รักษาเรือนั้น ทั้งสองพระองค์พากันเข้าไปในราชฐาน แลคนทหารทั้งหลายซึ่งรักษาประตูพระราชวังชั้นนอกชั้นใน

๖๓ เห็นกษัตริย์ทั้งสองนั้น ให้บังเกิดภัยความกลัวยิ่งนัก มิอาจว่ากล่าวห้ามปรามสิ่งหนึ่งสิ่งใดมิได้ ก็ปลาศนาการหนีไปในที่อื่น หาผู้จะต้านทานกางกั้นไว้มิได้ กษัตริย์ทั้งสองเข้าไปถึงสำนักแห่งพระเจ้ากรุงจีนจึงนั่งในที่สมควร พระเจ้ากรุงจีนทอดพระเนตร์เห็นกษัตริย์ทั้งสอง เสด็จมานั่งในที่ใกล้นั้น สะดุ้งตกพระทัยกลัวยิ่งนัก ปรารภเพื่อจะถวายบังคมแก่กษัตริย์ทั้งสองนั้น สมเด็จพระร่วงราชาธิราชเจ้า ทอดพระเนตรเห็นกิริยาแห่งพระเจ้ากรุงจีนจะถวายบังคมดังนั้น จึงตรัสห้ามว่า ข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐพระองค์อย่าตกพระทัยกลัวเลย ตูข้านี้มาแต่เมืองสุโขทัย จะปรารถนาชิงราชสมบัติแห่งพระองค์หามิได้ มาบัดนี้ปรารถนาจะขอช่างกระทำถ้วยชาม ไปให้กระทำถ้วยชามกระเบื้องณเมืองสุโขทัยโน้น พระเจ้ากรุงมคธราฐได้ทรงฟังดังนั้น ก็ดีพระทัยปีติโสมนัสยิ่งนักจึงพิจารณาดูสมเด็จพระร่วงเจ้านั้น เห็นพระรูปพระโฉมงามล้ำเลิศประกอบด้วยราชลักษณะองอาจราชศักดิ์หาที่สุดมิได้ จึงทรงพระดำริว่า พระยาองค์นี้เป็นเจ้าเมืองสุโขทัย มีบุญญาธิการมากยิ่งนักมีวาจาสิทธิ์ เราได้ยินมาแต่คำลูกค้าวานิชเลื่องลือมาแต่ก่อน ควรแล้วที่เราจะถวายราชสมบัติแก่พระยานี้ ครั้นพระเจ้ากรุงจีนทรงพระราชดำริฉะนี้แล้ว กลัวจะเสียพระราชสมบัติบ้านเมืองแห่งตน จึงถวายราชสมบัติแลพระราชธิดาแก่สมเด็จพระร่วงเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ ข้าพเจ้าขอถวายสิ่งนี้ ๆ แก่พระองค์ ตัวข้านี้ขอเป็นทาษแห่งพระองค์ ๖๔ สมเด็จพระร่วงเจ้าได้ทรงฟังดังนั้นจึงทรงพระกรุณาดำรัสว่า ข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐ ตูข้านี้มิได้ปรารถนาพระราชสมบัติของพระองค์ ๆ ทรงพระกรุณาโปรดพระราชทานพระราชสมบัติให้แก่ข้าพเจ้าด้วยเคารพสุจริตฉะนี้ ข้าพเจ้าควรจะรับซึ่งราชสมบัติโดยสุจริต ทรงพระกรุณาตรัสฉะนี้แล้ว จึงเสด็จพระราชดำเนิรไปสู่ที่รูปพระราช สีห์อันมีอยู่ในพระนครนั้น จึงอธิษฐานว่า รูปพระราชสีห์นี้เป็นที่เสี่ยงทาย เราจะตัดศีรษะแห่งราชสีห์นี้ ถ้าศีรษะนี้ไปตกลงในเมืองใด เราก็จะไปเสวยราชสมบัติอยู่ในเมืองนั้น ครั้นอธิษฐานแล้วจึงตัดรูปราชสีห์นั้นด้วยพระแสงขรรคาวุธแห่งพระองค์ รูปราชสีห์นั้นขาดกลางตัว ข้างศีรษะนั้นลอยไปบนอากาศ ด้วยบุญอิทธิฤทธิ์วาจาสิทธิ์นั้นไปตกลงกลางพระนครสุโขทัย พระเจ้ามคธราฐ เสนา อำมาตย์ แลมหาชนทั้งหลาย ได้เห็นพระอิทธิฤทธิ์เดชานุภาพมากยิ่งนักดังนั้น ก็บังเกิดความกลัวสมเด็จพระร่วงบรมราชาธิราชเจ้านั้นหาที่สุดมิได้ พระเจ้ากรุงจีนจึงราชาภิเษกสมเด็จพระร่วงกับพระราชธิดาของพระองค์แล้ว เชื้อเชิญให้เสวยราชสมบัติอยู่ในเมืองนั้น สมเด็จพระร่วงบรมราชาธิราชเจ้าได้ทรงฟังดังนั้นจึงตรัสว่า ข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐ เมืองนี้มิได้เป็นเมืองใหญ่ ศีรษะราชสีห์ไปตกลงในพระนครสุโขทัย ๆ เป็นใหญ่ ข้าพระองค์เจ้าจะลาไปเสวยราชสมบัติอยู่ในเมือง สุโขทัยโน้น ครั้นตรัสดังนั้นแล้วก็ยับยั้งเสวยราชสมบัติ อยู่ด้วยพระราชธิดาเจ้ากรุงจีนในเมืองนั้นสิ้น ๓ เดือนแล้วจึงตรัสแก่พระยานั้นว่า ข้าพเจ้าจะลาพระองค์กลับไปเมืองสุโขทัย ๖๕ พระเจ้ามคธราฐได้ทรงฟังดังนั้นจึงตรัสถามว่า พระองค์จะพาพระอรรคมเหษีไปด้วยหรือ ๆ จะให้อยู่ในเมืองนี้ สมเด็จพระร่วงเจ้าได้ทรงฟังดังนั้นจึงตรัสว่า ตามพระอัชฌาสัย นางจะไปด้วยข้าพเจ้าจะพาไป นางจะอยู่กับพระบิดาก็อยู่เถิด พระเจ้ากรุงจีนจึงถามพระราชธิดาว่า ดูกรเจ้าผู้เป็นลูกรัก เจ้าจะอยู่หรือจะไปด้วยพระภัสดาสามี นางนั้นกราบทูลสมเด็จพระบิดาว่า ข้าพเจ้าจะลาพระบิดาไปตามพระภัสดาสามี อันสัตรีจะหาสามีที่ดีเป็นที่ รักที่ชอบใจจะหาได้เป็นอันยากนัก จะได้ความร้อนรนทนทุกข์ลำบากด้วยวัตรปรนนิบัติ ตบแต่งกายจะให้ชายรักก็ยาก ได้ผัวแล้วมาพลัดพรากอยู่เป็นหม้าย ความเจ็บอายก็จะมีต่าง ๆ จะนับมิได้ ข้าพเจ้าจะขออำลาพระราชบิดาเจ้าไปกับด้วยพระราชภัสดาสามี สมเด็จพระร่วงเจ้าจึงขอช่างกระทำถ้วยชามมา ๕๐๐ คน พระเจ้ากรุงจีนก็อนุญาตให้ แล้วให้แต่งสำเภาเภตรา ๓๓ ลำ บรรทุกเงินทองแก้วแหวนแพรพรรณผ้านุ่งห่ม แลเครื่องครุลหุบริโภคอุปโภคเป็นอันมาก แล้วจัดแจงทาษกรรมกรชายหญิงเป็นอันมาก พระราชทานให้แก่พระราชธิดา แล้วให้โอวาทานุสาสน์สั่งสอน แลพระชนนีมารดาแลพระญาติพระวงศานุวงศก็เศร้าโศกโสกาอาลัย ร่ำไรร้องไห้รักพระราชธิดาเซ็งแซ่สนั่นพระราชวัง ด้วยสเนหารักในพระราชธิดา ก็พากันมากับทั้งบริวารตามมาส่งถึงสำเภา ส่วนพระราชธิดาก็ถวายบังคมลาสมเด็จพระบิดามารดาแล้วลงสำเภา ครั้นได้เพลาฤกษ์ดีแล้วชาว .๙

๖๖ พนักงานล้าต้าไต้ก๋งต้นหนอาปั๋น ก็ตีม้าล่อถอนสมอโห่ร้องเอาชัย กางใบโบกธงออกสำเภาเภตรา จากท่าไปสู่มหาสมุทรทะเลหลวง คนทั้งปวงหาภัยอันตรายมิได้มาโดยลำดับตราบเท่าถึงเมืองสุโขทัยนั้น หาพายุคลื่น ลมร้ายมิได้ ด้วยบุญญาธิการอิทธิฤทธิ์มหาเดชานุภาพแห่งสมเด็จพระร่วงเจ้านั้น ครั้นถึงพระนครแล้ว จึงให้รับพระราชธิดาขึ้นไปในพระราชวัง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้นางนั้นอยู่ในพระราชเรือนหลวง แลพระราชบุตรีพระเจ้ากรุงจีนนั้น มีพระนามปรากฏชื่อว่า นางคันธารราชเทวี เป็นที่เสนาหารักใคร่แห่งสมเด็จพระร่วงเจ้านั้นอยู่เป็นสุขมาช้านาน คนทั้งหลายซึ่งเอาเครื่องสิ่งของบรรทุกสำเภามาส่งนั้น ขนเครื่องสิ่งของขึ้นถวายเสร็จแล้วก็ถวายบังคมอำลากลับไปเมืองกรุงจีน ครั้งเมื่อพระเจ้าอลังคจอสูได้เสวยราชสมบัติในเมืองภุกาม ยกทัพมาตีเมืองสเทิมได้แล้ว ไปสร้างเมืองเมาะตะมะ จุลศักราชได้ ๖๒๕ ปี ครั้งนั้นสมเด็จพระร่วงเสวยราชสมบัติอยู่ในเมืองสุโขทัย เป็นใหญ่เอกราชยิ่งกว่าท้าวพระยาทั้งหลายในสยาม ประเทศแลรามัญประเทศแลมลาวะประเทศ จีนประเทศ ภุกามประเทศ ปรากฎไปด้วยวาจาสิทธิ์มหิทธิฤทธิ์เดชานุภาพมาก มิได้เบียดเบียนท้าวพระยาในประเทศอื่นยังคนทั้งหลายให้อยู่เย็นเป็นสุข ท้าวพระยารามัญทั้งหลาย มีพระยาฟ้ารั่วเป็นต้น ได้เสวยราชสมบัติในเมืองเมาะตะมะ ยอมถวายเครื่องราชบรรณาการแก่สมเด็จพระร่วงเจ้า แล้วขอพระราชทานนามบัญญัติแก่สมเด็จพระร่วงเจ้า ๆ จึงตั้งแต่งซึ่งพระราชนามบัญญัตินั้นแล้วเขียนลงในแผ่นทอง แล้วพระราชทานไปแก่ท้าวพระยารามัญนั้น

๖๗ เป็นอันมาก แลว่ามาทั้งนี้โดยย่อ ที่พิสดารวิตถารนั้นมีอยู่ในคัมภีร์มหายุทธการวงศ์โน้น ในกาลครั้งนั้นสมเด็จพระร่วงบรมราชาธิราชเจ้า ปรากฎด้วยวาจาสิทธิ์มีบุญมหิทธิฤทธานุภาพเป็นอันมาก สำแดงเหตุอันวิเศษไว้ประหลาดต่าง ๆ ก็เป็นอันมาก ให้ช่างทั้งหลายนั้นกระทำถ้วยชามกระเบื้องเคลือบณเมืองสวรรคโลก แล้วให้มุงกุฎีวิหารการเปรียญโรงพระอุโบสถ ด้วยกระเบื้องเคลือบก็เป็นอันมาก แลให้ช่างกระทำพระปรางค์อันใหญ่สูงบรรจุพระบรมธาตุ แลรูปพระปฎิมากรน้อยใหญ่ก็เป็นอันมาก แล้วกระทำการฉลองด้วยเครื่องสักการบูชาต่าง ๆ บำเพ็ญพระราชกุศล มีรักษาศีลแลให้ทานเป็นต้นนั้นก็เป็นอันมากมาช้านาน แลถ้วยชามที่ให้กระทำนั้นดินไม่ดีจึงเป็นริ้วรอยร้าวไป ปรากฏมีมาตราบเท่าทุกวันนี้ พระยาศิริธรรมราชา ให้กระทำด้วยอิฐแลศิลาใหญ่สูงกว่าพระปรางค์ สมเด็จพระร่วงเจ้าได้ทอดพระเนตรเห็นพระปรางค์ดังนั้นไม่ชอบพระทัย ให้รื้อยอดพระเจดีย์อันแล้วด้วยศิลานั้นลงมาตั้งไว้ ในวัดนั้น ศิลายอดนั้นยังปรากฏอยู่ทุกวันนี้ พระราชบุตรแห่งสมเด็จพระร่วงเจ้าพระองค์หนึ่ง ชื่อเจ้ารามราชกุมาร เกิดด้วยนางคันธารราชเทวี มีพระรูปโฉมงาม มีบุญญาธิการมาก เป็นที่รักเสนหาแห่งพระร่วงเจ้านั้น แล้วก็มีจิตต์เป็นกุศล เป็น ที่รักแก่มหาชนคนทั้งหลาย สมเด็จพระร่วงบรมราชาธิราชเจ้า ย่อม

๖๘ เสด็จไปชมในนานาประเทศ มิได้กระทำอันตรายเบียดเบียนสมบัติบ้านเมือง แห่งท้าวพระยาทั้งหลายในประเทศอื่น ๆ แล้วท้าวพระยาทั้งหลายในประเทศนั้น ๆ รู้แล้วออกไปถวายบังคม แลถวายราชบรรณาการสักการบูชาแก่พระร่วงเจ้านั้น ๆ กระทำปราไสด้วยสุนทรวาจา แล้วกลับมาสู่เมืองแห่งตน แต่ฉะนี้มาช้านานเป็นหลายปีพระองค์นั้นมีพระชนมายุยืน ๙๒ ปี เสวยราชสมบัติมาช้านานได้ ๖๐ ปีเศษ ทรงพระชราภาพแล้ว อยู่มาวันหนึ่ง จึงตรัสสั่งแก่มหาชนคนทั้งหลายมีเสนาบดีเป็นประธานว่า ท่านทั้งปวงเอ่ย ค่อยอยู่จงดีเป็นสุขเถิด ช่วยกันรักษาบ้านเมืองเราจงดี เราจะลาท่านทั้งหลายไปเมืองสวรรคโลก อาบน้ำที่แก่งศิลาใหญ่นั้น ถ้าไม่เห็นเรากลับมาล่วงพ้น ๗ วันแล้ว จงราชาภิเษกเจ้ารามราชบุตรเราให้ครองราชสมบัติเถิด สั่งแล้วเสด็จไปสู่เมืองสวรรคโลกด้วยบริวารเป็นอันมาก ครั้นถึงแก่งศิลาใหญ่นั้นแล้วก็เสด็จลงสรงสนานในที่นั้น ชำระพระสรีรกายสบายพระทัยแล้ว ก็อันตรธานหายไปในน้ำ หาผู้ใดจะทันรู้เห็นมิได้ ฝ่ายมหาชนทั้งหลายมีเสนาบดีเป็นต้น ครั้นมิได้เห็นสมเด็จพระร่วงเจ้า ก็ตกใจร้องไห้ร่ำไรใจหาย ประหม่าเศร้าโศกโสกาอาดูรเดือดร้อนเป็นอันมาก ให้คนทั้งหลายช่วยกันลงในน้ำที่แก่งศิลาใหญ่ ให้ดำด้นค้นหาในช่องศิลา งมคว้าค้นหามากกว่าร้อย ทั้งผู้ใหญ่ผู้น้อยก็ให้เที่ยวหาบนบกแลป่าริมฝั่งน้ำทุกแห่ง แสวงหาทุกตำบลก็มิได้พบเห็นแล้วจนล่วงพ้น ๗ วัน คนทั้งหลายนั้นอาลัยร่ำไรโหยหาว่า แท้จริง

๖๙ พระองค์ ไม่เมตตาอาลัยถึงเราทั้งหลายแล้ว ชรอยพระองค์ระลึกถึงพระชนนีมารดาพระญาติพระวงศา อันอยู่ในนาคพิภพ พระจะลงไปเยี่ยมเยือนแล้วจะกลับมาหรือจะไม่กลับมาประการใดก็ไม่แจ้ง ครั้นไม่ได้พบเห็นแล้วคนทั้งหลายนั้นจึงกลับมาเมืองสุโขทัย อยู่ ๗ วันก็จัดแจงแต่งการพระราชพิธีราชาภิเษกเจ้ารามราชบุตร ได้ผ่านพิภพเสวยราชสมบัติตามราชประเพณีในกรุงพระนครสุโขทัยนั้น สมเด็จพระราชบุตรนั้นจึงทรงพระนามชื่อว่าเจ้ารามราชาธิราชมีบุญญาธิการมหิทธิมหาเดชานุภาพมาก ได้เสวยราชสมบัติเป็นสุขอยู่ณเมืองสุโขทัย ในพระคัมภีร์ สิงหฬปฏิมากรนั้นว่า สมเด็จพระร่วงเจ้านั้นชื่อว่าพระยาสุรังคราชา พระราชบุตรนั้นชื่อว่าพระยาบาลราช นี้คำเกจิ อาจารย์เปลี่ยนกันดังนี้ ปฐโม ปริจฺเฉโท สำแดงมาในเรื่องราวบังเกิดแลเหตุต่าง ๆ แลอันตรธานแห่งพระร่วงเจ้ากล่าวมาโดยย่อนี้ ก็จบบริจเฉทเป็นปฐมเท่านี้

ในกาลเมื่อจุลศักราช ๕๘๘ ปีนั้น พระเจ้าเชียงรายได้เสวยราชสมบัติเป็นสุขอยู่ในเมืองเชียงราย มีศรัทธาสร้างอารามวิหารพระเจดีย์รูปพระปฏิมากร โรงธรรมกุฏิศาลาบริเวณอาวาสเป็นอันมาก แล้วกระทำการฉลองสักการบูชาพระรัตนตรัย ให้ทานวัตถุต่าง ๆ


๗๐ ถวายแก่พระสงฆ์เป็นอันมาก ให้สมโภช ๗ วันแล้วถวายข้าพระโยมสงฆ์เป็นอันมากให้ไว้ปฏิบัติพระรัตนไตรในอาวาสนั้น ครั้งนั้นยังมีสามเณรรูปหนึ่งมาเป็นอาคันตุกะ ได้เห็นอาวาสบริเวณพระเจดีย์มหาวิหารแลพระปฏิมากรงามยิ่งนัก บังเกิดศรัทธาปสาทะเลื่อมใส เข้าไปในพระอารามวิหารนั้น นมัสการกราบไหว้บูชาพระเจดีย์แลพระปฏิมากร แล้วออกไปจากวิหาร จึงกวาดลานพระเจดีย์ด้วยกุศลเจตนา ฝ่ายข้าพระทั้งหลายที่รักษาพระนั้น จึงห้ามพระสามเณรนั้นว่าอย่ากวาดวัดที่นี้ ไปเสียที่อื่นเถิด พระสามเณรนั้นมิฟังว่ารูปจะกวาดเอาบุญ ข้าพระทั้งหลายโกรธจึงว่า สามเณรรูปนี้มาชิงเอาบุญของเจ้าเรา ห้ามก็มิฟัง ว่าแล้วเข้าไปกราบทูลแก่พระเจ้าเชียงรายว่า ข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐ สามเณรรูปหนึ่งมาปรนนิบัติกวาดวัดชิงเอาบุญของพระองค์ ห้ามก็มิฟัง พระเจ้าเชียงรายได้ทรงฟังดังนั้น จึงโกรธพระสามเณรนั้นว่าด้วยวาจาอันหยาบว่า สามเณรมาชิงเอาบุญของเรา ห้ามมิฟังดังนั้น ท่านทั้งหลายจงผูกคอลากไปเสียให้พ้นวัด ข้าพระนั้นจึงกระทำตามรับสั่งดังนั้น เจ้าสามเณรนั้นได้ฟังก็โทมนัสซึ่งพระยานั้น ด้วยคิดว่าเรากระทำกุศลดังนี้ พระยานั้นบังคับกรรมอันหยาบช้าแก่เราฉะนี้ผิดแล้วครั้นคิดแล้วจึงว่าแก่ข้าพระนั้นว่า ท่านทั้งหลายจงงดยับยั้งรูปสักครู่หนึ่ง รูปจะนมัสการลากระทำปทักษิณพระเจ้าก่อน ข้าพระจึงอนุญาตแล้วไปกระทำปทักษิณนมัสการอธิษฐานปรารถนาว่า เดชะกุศลอันข้ากระทำนี้ เมื่อข้ากระทำกาลกิริยาตายนั้น ขอให้ได้ไปบังเกิดเป็น

๗๑ พระราชบุตรแห่งพระยาในเมืองสัตวงศ์ ขอให้ได้กระทำสงครามกับพระยาเชียงรายนี้ ให้ข้ามีชัยชะนะแก่พระยานั้น ครั้นอธิษฐานแล้วก็ไปจากที่นั้น อยู่มาไม่ช้านักเกิดอาพาธิหนักลงด้วยโรคอันใดอันหนึ่งกระทำกาลกิริยาตาย แล้วก็ได้ไปเกิดในครรภ์พระอรรคมเหษีแห่งพระยาสัตวงศ์นั้น อยู่ถ้วนกำหนดทศมาส ๑๐ เดือน ประสูติจากมาตุ ครรโกทรมีบุญมาก เมื่อพระราชกุมารวัฒนาการมีพระชนม์ได้ ๑๐ พระวัสสา พระบิดาสวรรคตแล้ว ชนทั้งหลายมีเสนาบดีเป็นประธานกระทำการฌาปนกิจแห่งพระยานั้น แล้วจึงอภิเษกพระราชกุมารนั้นให้ครองราชสมบัติ อยู่เป็นสุขในเมืองสัตวงศ์นั้น ในกาลนั้นเมืองสัตวงศ์เป็นเมืองขึ้นแก่เมืองเชียงรายนั้น ราชบุรุษแห่งพระยาเชียงรายจึงไปสู่เมืองสัตวงศ์ เพื่อจะไปตักเตือนเร่งเอาดอกไม้ทองเงิน ให้มาส่งณเมืองเชียงรายนั้นตามอย่างธรรมเนียม พระราชกุมารเจ้าเมืองนั้น จึงคิดการสงครามฬ่อลวงข้าหลวงชาวเมืองเชียงรายว่า ท่านข้าหลวงทั้งหลายมาตักเตือนเร่งให้ส่งดอกไม้ทองเงินนี้ ก็ชอบควรด้วยอย่างธรรมเนียมอยู่แล้ว แต่ข้าผู้ครองเมืองนี้พึ่งได้ว่ากล่าวใหม่ ยังเด็กเล็กน้อยอ่อนศักดิ์อ่อนนาม มีสติปัญญายังอ่อนนักท่านข้าหลวงทั้งปวงจงได้อนุเคราะห์แก่ข้าผู้เด็กเล็กน้อย ให้ผัดยับยั้งงดอยู่สัก ๓ ปี ข้าจึงจะส่งดอกไม้ทองเงินไปถวายตามอย่างธรรมเนียม ข้าหลวงนั้นครั้นได้ยินวาจาดังนั้น มีจิตต์เมตตาแก่พระราชกุมารนั้นจึงอนุญาตว่าตามเถิด เจ้าเมืองสัตวงศ์ฬ่อลวงข้าหลวงเมืองเชียงรายด้วยกลอุบาย จะคิดการสงครามจะให้ช้านานเนิ่นออกไป จะได้แต่ง

๗๒ พระนครค่ายคูประตูหอรบเชิงเทินป้อมกำแพงเมืองให้มั่นคง จะได้จัดแจง ให้กระทำไร่นายุ้งฉางสะสมเข้าเปลือกเข้าสารแลโภชนาอาหารของหวานของคาวเกลือพริกเปรี้ยวเค็มให้ได้ไว้จงมาก แลจะได้จัดแจงซ่อมแปลงเครื่องสาตราวุธสั้นยาวน้อยใหญ่ แลจะได้บำรุงช้างม้าโยธาจตุรงคพลทวยหาญ ให้หัดฝึกปรือสั่งสอนธนูหน้าไม้ปืนไฟใหญ่น้อย เบญจรงค์, มนทการ, กระแบงแก้ว ,ปืนหลังช้าง, ขา นกยาง, หางนกคุ่ม, ลากล้อ, หามแล่น เเลให้ชำนิชำนาญในการ ทหารยุทธสงครามจงทุกประการ ครั้นคิดตรึกตรองการยุทธสงครามยุทธชิงชัยไว้เสร็จแล้ว จึงให้ส่งราชบุรุษข้าหลวงชาวเมืองเชียงรายกลับไป แล้วปรึกษาด้วยข้าราชการทั้งหลายมีเสนาบดีเป็นประธานให้ตบแต่งจัดแจงการทั้งปวงต่าง ๆ ดังกล่าวพรรณนามานั้น ครั้นใกล้จะถึง ๓ ปีการทั้งปวงพร้อมแล้ว จึงให้จัดแจงพลโยธาหาญได้ประมาณมากหลายหมื่น ช้างม้าก็ได้มากกว่าร้อย พร้อมด้วยเครื่องสรรพยุทธ์ต่าง ๆ แล้วให้พระปโรหิตโหรโหราหาศุภนักษัตรฤกษ์ดี ครั้นได้ศุภวารดิถีพิชัยฤกษ์ จะใกล้ระเบิกระบายขยายดำเนินพลทหาร พระภูบาลเจ้าเมืองสัตวงศ์ ก็ชำระสระสรงพระองค์สรีรกายาด้วยอุทกธาราน้ำหอม ใส่กระออมทองผ่องแผ้ว สำราญราชหฤทัยแล้วทรงพระภูษา เครื่องอลังการอาภรณ์ บวรอร่ามรุ่งโรจน์ โชติ รุจี ด้วยสีสุพรรณรัตนธำมรงค์วรราชวิไลย ใส่สอดสำหรับเครื่องทรงพิชัยสงคราม เสร็จแล้วมิช้า ได้พิชัยฤกษ์ยาตราก็บัลลือลั่นฆ้องชัยแตรสังข์ ฆ้องกลองชะนะบัลลือศัพท์สำเนียงเสียงสนั่นกึกก้อง

๗๓ โกลาหล ยกธงชัยโบกบนเวหา ดำเนินหน้าเขยื้อนขยายพลตามกระบวนพิชัยยาตราสงคราม แลดูเห็นงามเป็นชั้นเป็นขนัด จามรกรรชิงฉัตรพระกลดพัชนีละอองผง ฉัตรกั้นตรงแสงรวีตรัส อภิรุมรัตสว่างไสว ทวนธงชัยยาบแสงแดงปลาบจามรี เสด็จทรงหัสดีคชาธาร อันชำนาญชาญช่ำณรงค์ตัวประเสริฐ ระหงระเหิดระเห็จหัน ทรับมันกระหึมครึ้มคำราม งามไปด้วยเครื่องคชาภรณ์บวรรจนาแวดล้อมไปด้วยโยธาทวยหาญแลสล้างสลอน พลง้าวงอนหอกปืนไฟเสด็จไปโดยอนุกรมลำดับ ยกโยธาทัพไปตามราชมรคา ด้วยปรารถนาปรารภเพื่อจะชิงชัยตีเอาเมืองเชียงรายนั้น ในกาลนั้นพระเจ้าเชียงรายคอยอยู่ช้านาน ล่วง ๓ ปีแล้วไม่เห็นเจ้าเมืองสัตวงศ์เอาดอกไม้ทองเงินมาส่งหายไป จึงแคลงพระทัยสงสัยเจ้าเมืองสัตวงศ์เห็นจะแข็งเมือง จึงใช้ให้ราชบุรุษไปพิจารณาสืบดูให้รู้เหตุนั้น ส่วนราชบุรุษทั้งหลายไปสืบรู้ว่า เจ้าเมืองสัตวงศ์เป็นกบฎแล้ว จึงกลับมากราบทูลให้ทราบเหตุทั้งปวงนั้นแก่พระเจ้าเชียงราย ๆ ได้ทราบแจ้งเหตุนั้นแล้ว ก็ทรงพระพิโรธโทมนัสขัดเคืองพระทัย จึงให้มหาเสนาเกณฑ์ทัพจัดแจงแต่งโยธาทหารช้างม้า ให้พร้อมด้วยเครื่องสาตราวุธสรรพยุทธ์ต่าง ๆ ทั้งสะเบียงอาหารแลเครื่องหัตถกรรมกระทำการจงพร้อมทุกประการ มหาเสนาบดีรับสั่งไปเร่งรัดจัดแจงแต่งทัพพลโยธาทหารอาสา พลแกล้วกล้าเข้มแข็ง พลแผลงศรปืนไฟ ๑๐

๗๔ ได้พร้อมเสร็จทุกประการตามรับสั่งโดยเร็วแล้ว จึงกราบทูลให้ทราบซึ่งเกณฑ์ทัพนั้น พระเจ้าเชียงรายได้ทราบแจ้งแล้ว เมื่อได้ฤกษ์ศุภวารดิถีดีแล้ว จึงแต่งพระองค์ทรงเครื่องสำหรับพระพิชัยยุทธสงครามแล้ว เสด็จขึ้นบนเกยชัยให้นำกุญชรบวรคชาธาร อันประดับสรรพด้วยคชาภรณ์เครื่องมั่นสุพรรณรัตนมณี มายืนที่ประทับพระองค์คอยสกุณพิชัยฤกษ์เห็นนิมิตร พระอาทิตย์เปล่งปลอดเมฆในพื้นอากาศปราศจากมลทินใส ให้ลั่นฆ้องชัยแตรสังข์ประโคมฆ้องกลองศุภโยค ธงชัยโบกเป็นสำคัญ ยิงปืนไฟสนั่นเสียงบรรลือลั่นกึกก้องสะเทื้อนท้องพระธรณี จึงเสด็จทรงศรีพระคชาธารอันชำนาญณรงค์ โบกธงยกทัพออกจากพระนครไปโดยลำดับตามมรรคา ๓ ราตรี ๔ ราตรี พอพบกองทัพเจ้าเมืองสัตวงศ์ยกมาที่กลางทางนั้น ก็ทรงโกรธ มิทันจะพิจารณาว่าข้าศึกมีโยธาทวยหาญมากน้อย มิได้รั้งรอจึงให้ขับพลทหาร เข้าโจมตีประจันกระหนาบกองทัพเจ้าเมืองสัตวงศ์อันพร้อมเสร็จมามิได้ประมาทนั้น ฝ่ายทหารเจ้าเมืองเชียงรายประมาทไว้ใจว่า ทหารชาวเมืองสัตวงศ์ฝีมืออ่อน เคยเห็นมาแต่ก่อนคนก็น้อย แลทหารนายทัพนายกองทั้งปวงแกว่งเงื้อหอกดาบเข้าต้อนหลังพลทหารแห่งตน ให้เข้ากระโจมตีหักเอาด้วยกำลังกล้าแข็ง แลกำลังอาวุธแห่งพลทหารมากให้บุกรุกขับม้าโยธาทหารอาสา เข้ากระโจมตีรันแทงฟันกระหนาบเป็นสามารถ มิได้ท้อถอยเต็มกำลัง ฝ่ายทหารชาวเมืองสัตวงศ์ แต่งทหารสืบทัพนำทัพ ๕ หอก ๗ หอก

๗๕ เดินก่อนไกลกองทัพทาง ๒ ร้อย ๓ ร้อยเส้น มีคนเร็วม้าใช้ ๓ ม้า ๔ ม้าไปสะกดตาม ๕ หอก ๗ หอก ให้รู้กันพบเห็นกองทัพข้าศึกสืบแน่แล้ว ให้คนเร็วม้าใช้กลับมาบอกทัพหน้าทัพหลวง ให้รู้ด้วยกันครั้งนั้นเจ้าเมืองสัตวงศ์นั้นคนมากกว่าหมื่น รู้เหตุนั้นแล้วบอกถึงทัพหลวงให้รู้กัน จึงแยกพลทหารคนแข็งออกข้างละพันเศษ ให้ซุ่มอยู่ ๒ ฟากทาง ไกลทัพหน้าขึ้นไปทาง ๘๐ เส้น ๙๐ เส้น ไกลหนทางห่างออกไป ๒๐ เส้น ๓๐ เส้นให้คอยอยู่ ได้ยินเสียงปืนทัพหน้าแล้วให้ยกออกตีข้างตีหลังข้าศึกนั้นจงสามารถ กำหนดรู้กันได้แล้ว ครั้นได้ยินเสียงปืน ทัพหน้าก็ยกออกตีกระหนาบทั้ง ๒ ข้าง ได้ทีแล้วเข้ากระโจมฟันแทงบุกรุก ฆ่าฟันทหารชาวเมืองเชียงรายล้มตายเป็นอัน มาก ฝ่ายนายทัพนายกองชาวเมืองเชียงราย เห็นทแกล้วทหารทั้งหลาย เสียทีเขาฆ่าฟันล้มตายเป็นอันมากดังนั้นก็เสียใจ จะคิดแก้ไขอุบายถ่ายเทผ่อนผันก็เห็นมิทันที คิดแต่จะหนีทั้งไพร่ทั้งนายพลทหารทั้งหลายเป็นอันมากนัก เห็นข้าศึกเข้มแข็งฝีมือเหลือกำลังก็สะดุ้งตกใจกลัวตัวสั่นก็แตกพ่ายกระจัดกระจายกัน หนีกันระส่ำระส่ายเบียดเสียด ย่ำเหยียบกันเป็นโกลาหลวิ่งหนีไป ส่วนพระเจ้าเชียงรายเห็นพลทหารล้มตายเป็นอันมาก แตกฉานหนีพ่ายไปดังนั้น ก็บังเกิดภัยความกลัวยิ่งนัก จึงกลับช้างพระที่นั่งขับหนีไปโดยเร็ว ฝ่ายว่าเจ้าเมืองสัตวงศ์รู้เห็นว่า เจ้าเมืองเชียงรายกับทหารทั้งหลายเสียทีแตกพ่ายหนีไปดังนั้น ก็เร่งขับต้อนทหารโยธาทั้งหลาย ให้เร่งติดตามตีกองทัพจับเชลยให้จงได้ ส่วนทหารทั้งหลาย


๗๖ ได้ทีก็ไล่ติดตามตี ที่ทันก็ฟันแทงฆ่าเสียซึ่งข้าศึกนั้นล้มตายเดียรดาษกลาดไปในป่าก็มีบ้าง บ้างก็อยู่ริมทาง บ้างป่วยลำบาก บ้างตายเป็นอันมาก บ้างก็แตกฉานสร้านเซ็นไปสู่ทิศน้อยทิศใหญ่ต่าง ๆ กันไป พระเจ้าเชียงรายเร่งรีบหนีมาโดยเร็ว เร่งมากลางวันกลางคืนตราบเท่าถึงเมืองแห่งตน แล้วยังคนทั้งหลายให้ขึ้นหน้าที่เชิงเทินกำแพงป้อม รักษาพระนครทุกแห่งให้มั่นคงโดยเร็ว คนทั้งหลายซึ่งอยู่บนขอบขัณฑเสมา บ้านน้อยบ้านใหญ่ต่าง ๆ ในแว่นแคว้นแขวงเมืองเชียงรายนั้น ครั้นรู้ว่ากองทัพแตกเสียแก่ข้าศึก ก็ตกใจกลัววิ่งหากันสับสนเอิกเกริกวุ่นวาย เก็บข้าวของเงินทองพรรณผ้านุ่งห่มหอกดาบง้าวทวน ชักชวนกันพาบุตรภริยาบิดามารดาญาติแลมิตรทั้งหลาย ทิ้งเทบ้านเรือนพาบุตรหนีข้าศึกออกจากบ้าน เข้าสู่ป่าหลบหนีลี้เร้นซ่อนซอนซอกอยู่ในป่ารกที่กำบังเป็นอันมาก ฝ่ายเจ้าเมืองสัตวงศ์ก็เร่งพลโยธาทัพ ขับช้างพระที่นั่งเร่งรีบติดตามมาถึงเมืองเชียงรายแล้ว ให้ตั้งค่ายหลวงใกล้เมืองทางระยะประมาณ ๕๐ เส้น ให้ทหารตั้งค่ายล้อมเมืองเชียงรายเป็นสามารถปรารภเพื่อจะให้ทหารเข้าหักเอาเมืองให้จงได้ เจ้าเมืองเชียงรายออกเลียบดูหน้าที่เชิงเทิน เห็นทหารโยธาข้าศึกนั้นมากยิ่งนัก เห็นทหารแห่งตนน้อยนักแตกหนีไปเสียอื่นนั้นมาก ก็เสียพระทัย จึงปฤกษาด้วยข้าราชการพิจารณาเห็นว่า จะรับมิหยุดจะสู้มิได้เห็นมิอาจจะรักษาเมืองได้ จะให้กวาดต้อนคนบ้านนอกเข้ามาในเมือง จะได้จัดแจงการป้องกันเมืองก็มิทันที จึงคิดอ่านกันที่จะหนี จึงป้องกันรักษาเมืองอยู่ ๗๗ ได้ ๓ ราตรี ให้บังเกิดสะดุ้งตกใจมีภัยความกลัวยิ่งนัก พระเจ้าเชียงรายกับข้าราชการทั้งหลาย จึงจัดแจงเสบียงอาหารยานพาหนะช้างม้าโยธาทหารได้ประมาณมากกว่าพัน พร้อมด้วยเครื่องสาตราวุธต่าง ๆ แล้วก็พาบุตรทาราทาษาทาษีญาติมิตร บิดามารดาเสนาอำมาตย์ทาษกรรมกรพร้อมแล้ว เพลา ๒ ยามฤกษ์ดีก็ยกแหกออกไปจากเมืองตามกระบวนล่าทัพ ให้ทหารแซงซ้ายขวานำหน้าอยู่รั้งหลังคอยป้องกันรอรบต้านทานพาอพยพครอบครัวเร่งรีบหนีไปโดยเร็ว ฝ่ายชาวกองทัพบ้างนอนหลับอยู่เป็นอันมาก ครั้นได้ยินเสียงเท้า ช้างม้าโยธาคนทั้งหลาย อันออกไปจากเมืองข้างทักขิณทิศนั้น ก็รู้ว่าชาวเมืองเชียงรายเทเมืองแตกหนีไปแล้ว เร่งรัดปลุกกันขึ้นออกติดตามไปไม่พร้อมกัน บ้างหลับบ้างตื่น ไปทันบ้างไม่ทันบ้าง ที่ไปทันนั้นน้อย ที่ไปไม่ทันนั้นมาก ได้รบบ้างมิได้รบบ้าง ติดตามไปจนสิ้นแดนไม่ได้เจ้าเมืองแล้ว กองทัพนั้นก็กลับคืนเข้าสู่เมืองนั้น เจ้าเมืองสัตวงศ์นั้นได้เมืองแล้ว ให้จัดแจงเกลี้ยกล่อมมหาชนทั้งหลายอันหนีอยู่ป่า ให้เข้ามาอยู่บ้านตามภูมิลำเนาสิ้นแล้ว ให้ตบแต่งบ้านเมืองแลทำการพิธีพลีกรรมทำขวัญสมโภชพระนคร แล้วก็อยู่ว่าราชการในเมืองเชียงราย สำเร็จความปรารถนาอันได้อธิษฐานไว้แต่ก่อนนั้น ฝ่ายพระเจ้าเชียงรายพาบริวารทั้งหลายมาสู่สยามประเทศ ถึงอรัญราวป่าฟากแม่น้ำเมืองกำแพงเพ็ชรข้างตะวันตก บอกกล่าวเหตุการณ์ทั้งปวงให้แจ้งแก่เจ้าเมืองกรมการทั้งปวง ขอพึ่งโพธิสมภารเป็นข้าขอบขัณฑเสมาอาศัยอยู่สืบไป ๗๘ ขณะนั้นสมเด็จอมรินทราธิราชพิจารณาดูรู้เหตุว่า พระยานั้นมีบุญญาธิการมาก จะได้เป็นเชื้อสายเค้ามูลแห่งกษัตริย์ทั้งหลาย จะได้ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาในสยามประเทศ จึงลงมาจากเทวโลกด้วยเพศเป็นดาบศ ทรงพรตกิริยางดงามยิ่งนัก มายืนอยู่ตรงหน้าช้างพระที่นั่งด้วยเทวฤทธิ์ ร้องห้ามว่าพระเจ้าเชียงรายอย่าไปอื่นเลยข้าศึกหามาตามไม่ แล้วพระองค์จงให้สร้างเมืองที่นี่เถิด จะเป็นมงคลดีอยู่หาภัยมิได้ พระเจ้าเชียงรายเมื่อได้ทรงฟังบังเกิดปิติโสมนัส นมัสการการพระดาบศแล้ว ยังคนทั้งหลายให้จัดแจงตบแต่งที่สร้างเมืองลงในที่นั้น พร้อมด้วยกำแพงป้อมคูประตูหอรบ ปรางค์ปราสาทราชเรือนหลวง โรงช้างโรงม้าศาลาลูกขุนถนนหนทางยุ้งฉางบริบูรณ์ทั้งปวง สำเร็จด้วยเทวฤทธิ์แลราชฤทธิ์แล้วมิได้ช้าแต่ใน ๔ เดือนเมืองนั้นมีนามบัญญัติชื่อว่าเมืองไตรตรึงส์ ปรากฏมาตราบเท่าทุกวันนี้พระเจ้าเชียงรายเสวยราชสมบัติอยู่ในเมืองนั้นเป็นบรมสุข ปราศจากอรินท์ราชข้าศึกมาช้านาน จำเริญมาด้วยพระราชบุตรราชธิดา มีศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา บำเพ็ญพระราชกุศลมีให้ทานรักษาศีลเป็นต้นมาช้านาน หาภัยอันตรายมิได้ตราบเท่าสิ้นอายุขัย สิ้นพระชนม์แล้วก็ไปตามยถากรรมของพระองค์นั้น พระราชบุตรแห่งพระยานั้นทรงพระนามชื่อว่าพระเจ้าไตรตรึงส์ ได้เสวยราชสมบัติสืบมา มีพระราชบุตรราชนัดดาต่อมาถึง ๓ ชั่ว ๔ ชั่ว พระยาเป็นสัมมาทิฏฐิ มีศรัทธาบำเพ็ญพระราชกุศลมีรักษาศีลแลให้ทานเป็นต้นเคารพเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา เป็นสุขมาช้านานหาภัยอันตรายมิได้

๗๙ ในกาลครั้งนั้นยังมีบุรุษผู้หนึ่ง มีสรีรกายเป็นปมเปาหูดต่อมทั่วทั้งตัว เป็นคนไพร่อยู่ในบ้านนอกใต้เมืองไตรตรึงส์อันชื่อว่าเมืองแปบนั้นลงมาทางไกล วันหนึ่ง ทำไร่ปลูกฟักแฟงแตงน้ำเต้าพริกมะเขือต่าง ๆ กล้วยอ้อยเผือกมันขายแลกเลี้ยงชีวิต หาภริยามิได้มาช้านาน มะเขือต้นหนึ่งอยู่ใกล้บันไดเรือน บุรุษนั้นไปเบาลงที่ริมต้นมะเขือนั้นเนือง ๆ ลูกมะเขือนั้นใหญ่โตงามกว่าทุกต้นในไร่นั้น ผลมะเขือนั้นเป็นที่รักที่ชอบใจยิ่งนัก ครั้งนั้นยังมีพระราชธิดาแห่งพระยาไตรตรึงส์พระองค์หนึ่ง มีพระรูปพระโฉมงามพร้อมบริบูรณ์ด้วยเบญจกัลยาณี จึงมีพระนามชื่อนางแก้วกัลยาณี มีอายุได้ ๑๗-๑๘ ปี มีพระทัยสะกัดยินดีด้วยราคจิตต์ คิดอยากเสวยมะเขือเป็นกำลังยิ่งนัก จึงให้ทาษาทาษีไปเที่ยวหาซื้อมะเขือ ทาษาทาษีนั้นจึงไปเที่ยวหาซื้อมะเขือที่ตลาดใต้เหนือหลายแห่งไม่ได้มะเขือ จึงสืบเสาะไปจนถึงไร่ของบุรุษนั้น จึงซื้อมะเขือลูกใหญ่งามของบุรุษเป็นปมนั้นได้ จึงนำถวายแก่พระราชธิดา ๆ จึงเสวยมะเขือนั้น จะมีเหตุให้บังเกิดโอชารสซาบสร้าน ให้นางมีปิติโสมนัสยินดียิ่งนักเป็นกำลัง จนมีกายกำเริบต่าง ๆ ทั้งนี้นางนั้นได้พระราชบุตรผู้มีบุญมาบังเกิด แลจะได้พระภัสดาสามีผู้มีบุญญาธิการมาก อนึ่งเหตุภาวะแห่งคนทั้งสามนั้นได้กระทำบุญด้วยกันมาแต่ก่อน ในกาลนั้นสัตว์ผู้หนึ่งมีบุญญาธิการได้กระทำมามาก มาอุบัติปฏิสนธิบังเกิดในครรโภทรแห่งพระราชธิดานั้น ด้วยเหตุว่านางได้เสวยมะเขืออันเป็นเชื้ออุปนิสัย สัมภวะ แห่งบุรุษสรีรกายเป็นปม อันกระทำ

๘๐ ปัสสาวะในที่ใกล้ริมต้นมะเขือนั้น ครรภ์อุทรแห่งนางแก้วกัลยาณีนั้นก็เห็นปรากฏขึ้นมา ฝ่ายพระญาติพระวงศา ครั้นเห็นครรภ์แห่งนางเห็นวิปริต จึงไถ่ถามตามประเพณีคดีโลก ได้ฟังเหตุอันนางบอกด้วยวาจาสัจว่า ข้านี้มิได้คบหาสังวาสด้วยบุรุษผู้ใดผู้หนึ่งเป็นอันขาด ก็เห็นความจริงด้วยสุจริต ด้วยอานุภาพบุญแห่งสัตว์อันอยู่ในครรภ์นั้นพระญาติพระวงศ์ทั้งหลายมิได้โกรธ เชื่อถือช่วยกันอภิบาลรักษาครรภ์ด้วยไมตรีจิตต์ นางนั้นก็รักษาครรภ์นั้นมา เมื่อถ้วนกำหนดทศมาศจึงคลอดซึ่งพระราชบุตร ทรงพระรูปโฉมงามยิ่งนักประดุจรูปทองประกอบด้วยลักษณะอันบริบูรณ์ พระญาติพระวงศ์ มีเมตตารักใคร่ช่วย บำรุงบำเรออุปถัมภนาการ เลี้ยงรักษาด้วยสุจริตเป็นปกติมาสมเด็จพระไอยการนั้นมีพระทัยปรารถนา เพื่อจะเสี่ยงทายพระราชนัดดา ทดลองดูจะใคร่รู้ว่าบุรุษผู้ใดจะเป็นบิดาของพระกุมาร ครั้นทรงพระดำริแล้วจึงสั่งแก่ราชบุรุษทั้งหลายว่า ท่านทั้งหลายจงให้คนเอาฆ้องกลองไปเที่ยวตีป่าว บอกกล่าวแก่บุรุษทั้งหลายในกรุงนอกกรุงศรี ฯ แขวงจังหวัดจงทั่ว ตั้งแต่พรุ่งนี้ไป ๓ วันให้บุรุษทั้งหลายเข้ามาในพระราชวัง ให้ถือมาซึ่งขนมแลผลไม้ต่าง ๆ ตามที่มีแต่สิ่งละน้อยให้เร่งเข้ามา ราชบุรุษทั้งหลายก็ให้ไปเที่ยวตีฆ้องร้องป่าวทั่วทุกทิศตามรับสั่ง ฝ่ายบุรุษทั้งหลายรู้ว่ารับสั่งให้เข้าไปในพระราชวังดังนั้น บ้างได้ขนม บ้างได้ผลไม้ต่าง ๆ กับเผือกมันกล้วยอ้อยตามที่มี ก็ถือเข้าไปในพระราชวัง สมเด็จพระไอยกาให้ตกแต่งประดับพระราชนัดดา ด้วยเครื่องกุมาร

๘๑ อาภรณ์อลังการอันวิจิตร วิภูษิตสังวาลงามเลิศแล้ว จึงให้พระหลานแก้วนิสีทนาการเหนือราชาอาศน์ อันตกแต่งเป็นอันดีในที่พระราชฐานแล้วให้เรียกหาบุรุษเข้ามาทีละคน ให้ถือขนมของกินกล้วยอ้อยผลไม้เข้าไป สู่สำนักแห่งพระราชกุมาร สมเด็จพระไอยกาจึงอธิษฐานว่าบุรุษผู้ใดเป็นบิดาของพระราชกุมารแท้จริงไซร้ ก็ให้พระราชกุมารนี้ จงถือข้าวของวัตถุของบุรุษผู้นั้น ถ้ามิใช่บิดาอย่าให้พระราชกุมารถือเอาข้าวของวัตถุของบุรุษผู้นั้นเลย ครั้นอธิษฐานแล้วก็ให้พระราชกุมารเข้าไปถือเอาของวัตถุบุรุษนั้น แลชายแสนปมนั้นได้แต่ก้อนข้าวเย็นถือมาก้อนหนึ่ง พระราชกุมารก็เข้ากอดเอาคอ แล้วรับเอาก้อนข้าวเย็นมาเสวย ชนทั้งปวงเห็นพิศวงชวนกันติเตียนต่าง ๆ พระเจ้าไตรตรึงส์ละอายพระทัยได้ความอัปรยศ จึงพระราชทานพระราชธิดาแลพระราชนัดดาให้แก่ชายแสนปม ให้ใส่แพลอยไปถึงที่ไร่มะเขือ อัน เป็นที่อยู่ไกลจากพระนครทางวันหนึ่ง ชายแสนปมก็พาบุตรภริยาขึ้นสู่ไร่ ด้วยเดชะบุญชนทั้งสามบันดาลให้สมเด็จอมรินทราธิราชนิมิตรกายเป็นวานรเอากลองทิพย์มาส่งให้ชายแสนปม แล้วตรัสบอกว่า ท่านจะปรารถนาสิ่งไรจงตีกลองนี้ อาจให้สำเร็จความปรารถนาได้สิ้น ชายแสนปมจึงปรารถนาให้รูปงามจึงตีกลองนั้น ปมเปาทั้งปวงก็อันตรธานสูญหาย รูปกายนั้นก็บริสุทธิ์ แล้วก็นำกลองนั้นมาสู่ที่อยู่แล้วก็บอกแก่ ภริยา นางก็มีความยินดีจึงตีกลองทิพย์ นิมิตรทองให้ช่างตีอู่ทองให้พระโอรสบรรทม เหตุดังนั้นพระราชกุมารจึงมีนามว่าเจ้าอู่ทองจำเดิม

๑๑ ๘๒ แต่นั้นมา จุลศักราช ๖๘๑ ปีมะแมเอกศก บิดาเจ้าอู่ทองจึงตีกลองทิพย์นิมิตรเป็นพระนครขึ้นในที่นั้น ให้นามชื่อว่าเทพมหานคร เหตุสำเร็จด้วยอานุภาพเทพดา แลชนทั้งหลายชวนกันมาอาศัยอยู่ณเมืองนั้นเป็นอันมาก พระองค์ได้เสวยราชสมบัติทรงพระนามพระเจ้าศรีวิชัยเชียงแสนปรากฏในสยามประเทศนี้ จุลศักราช ๗๐๖ ปีวอกฉอศก สมเด็จพระเจ้าศรีวิชัยเชียงแสนทิวงคต อยู่ในราชสมบัติ ๒๖ ปี แล้วกลองทิพย์นั้นก็อันตรธานหาย สมเด็จพระเจ้าอู่ทองราชโอรส ได้เสวยราชสมบัติแทนพระราชบิดาได้ ๖ พระวัสสา ทรงพระปรารภสร้างพระนครใหม่ จึงให้ราชบุรุษเที่ยวแสวงหาภูมิประเทศ ที่มีพรรณมัจฉาชาติครบบริบูรณ์ ราชบุรุษก็เที่ยวหามาโดยทักษิณทิศ ถึงประเทศที่หนองโสน กอบด้วยพรรณปลาพร้อมทุกสิ่ง จึงไปกราบทูล พระเจ้าอู่ทองจึงยกจตุรงค์โยธาประชาราษฎร์ ทั้งปวงมาสู่ประเทศนี้นั้น จุลศักราช ๗๑๒ ปีขาลโทศก ทรงสร้างพระนครเสร็จให้นามชื่อว่า กรุงเทพมหานครตามนามพระนครเดิม ๑ ให้นามชื่อว่าทวาราวดี เหตุมีคงคาล้อมรอบดุจนามเมืองทวาราวดี ๑ ให้นามชื่อว่าศรีอยุธยา เหตุเป็นที่อยู่แห่งชนชราทั้งสอง ( คือยาย ) ศรีแลตาอุธยา เป็นสามีภริยากันอาศัยอยู่ในที่นั้นนาม ๑ แลนามทั้ง ๓ ประกอบกันจึงเรียกว่า กรุงเทพมหานครทวาราวดีศรีอยุธยา สมเด็จพระเจ้าอู่ทองได้ราชาภิเษกเสวยราชสมบัติพระชนม์ได้ ๓๗ พระวัสสา ถวายพระนามสมเด็จพระเจ้ารามาธิบดีแลเมื่อแรกได้ราชาภิเษกนั้น ได้สังข์ทักษิณาวัฎภายใต้ต้นหมันในพระนครสังข์ ๑ แล้วทรงสร้างพระที่นั่งไพฑูริย์มหาปราสาทองค์หนึ่ง

๘๓ พระที่นั่งไพชยนตมหาปราสาทองค์หนึ่ง พระที่นั่งไอศวรรย์มหาปราสาทองค์หนึ่ง แล้วให้พระบรมราชาธิราชผู้เป็นพระราชวงศ์ผู้ใหญ่ตรัสเรียกว่า พระเชษฐาธิราชนั้นไปครองเมืองสุพรรณบุรี ให้พระราชบุตรทรงพระนามพระราเมศวรไปครองเมืองลพบุรี ครั้งนั้นเมืองประเทศราชขึ้น ๑๖ หัวเมือง คือเมืองมะละกา ๑ เมืองชะวา ๑ เมืองตะนาวสี ๑ เมืองทะวาย ๑ เมืองเมาะตะมะ ๑ เมืองเมาะลำเลิง ๑ เมืองนครศรีธรรมราช ๑ เมืองสงขลา ๑ เมืองจันทบุรี ๑ เมืองพระพิษณุโลก ๑ เมือง สวรรคโลก ๑ เมืองสุโขทัย ๑ เมืองพิชัย ๑ เมืองพิจิตร ๑ เมืองกำแพงเพ็ชร์ ๑ เมืองนครสวรรค์ ๑ แลพระองค์สร้างวัดพุทไธศวรรย์ แลวัดป่าแก้ว จุลศักราช ๗๓๑ ปีระกาเอกศก สมเด็จพระรามาธิบดีสวรรคต อยู่ในราชสมบัติ ๒๐ ปี ( ต้นฉะบับมีอยู่เท่านี้ )






๘๔ (๑) เรื่องพระร่วงสุโขทัย จุลศักราช ๕๓๖ พระเจ้าสุริยราชาซึ่งเป็นเชื้อพระวงศ์ของพระเจ้าปทุมสุริยวงศ์ ได้ทรงตกแต่งซ่อมแปลงเมืองพิจิตรปราการขึ้นใหม่ครองราชสมบัติต่อไป มีพระอัครมเหษีทรงพระนามว่าสิริสุธาราชเทวีมีพระราชโอรสองค์หนึ่งด้วยพระอัครมเหษี ทรงพระนามว่าจันทกุมารพระเจ้าสุริยราชาเมื่อแรกได้ราชสมบัติ พระชนม์ได้ ๒๐ พรรษาอยู่ในราชสมบัติ ๒๗ พรรษา เสด็จสวรรคต พระชนม์ได้ ๔๗ พรรษาพระองค์ประสูติวันจันทร์ ลุจุลศักราช ๕๗๐ พระจันทกุมารราชโอรสได้ขึ้นครองราชสมบัติทรงพระนามว่าพระเจ้าจันทราชา พระองค์ทรงสร้างเมืองสุโขทัยขึ้นครองราชสมบัติต่อไป มีพระอัครมเหษีทรงพระนามว่าสุริยาเทวีพระองค์เสวยน้ำสระเมืองลพบุรี พลเมืองชาวลพบุรีเป็นส่วยน้ำเสวยอยู่มาวันนี้พระองค์เสด็จไปประพาสป่า พร้อมด้วยพลโยธาทวยหาญเป็นอันมาก ได้ทอดพระเนตรเห็นนางกุมารีคนหนึ่ง มีรูปโฉมลักษณะงดงามยิ่งกว่านางมนุษย์ทั้งหลาย พระองค์มีความเสนหา เล้าโลมแล ได้ร่วมอภิรมย์ด้วยนางนั้น ครั้นแล้วพระองค์ก็มีพระทัยปฏิพัทธ์ผูก (๑) เรื่องราวของพระร่วง ยังมีปรากฎในที่อื่นอีกหลายแห่ง เช่น ประชุมจารึกสยาม, ประชุมพงศาวดารภาคที่ ๑ ฉะเพาะพงศาวดารเหนือและพงศาวดารพะม่ารามัญ, ชินกาล-มาลินี, สิงหลปฏิมากร หรือสิหิงนิทาน เรื่องราชาธิราช, มูลศาสนา, เรื่องนางอุทัย, จามเทวีวงศ์, คำอธิบายพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา เล่ม ๑


๘๕ พันธ์ ตรัสชวนจะพานางไปสู่ราชวัง จะตั้งไว้เป็นเอกอัครนารี นางจึงทูลว่า ข้าพระองค์มิใช่เป็นหญิงมนุษย์ เป็นเชื้อชาตินางนาคกุมารี แปลงกายขึ้นมาเที่ยวในเมืองมนุษย์ จะตามเสด็จพระองค์ไปมิได้ ถ้าข้าพระองค์ได้อยู่ร่วมหมู่นางสนมนาฏ ราชบรินาริกาของพระองค์ ในพระราชวัง ข้าพระองค์โกรธเคืองผู้ใดขึ้นมาแล้ว ก็จะพ่นพิษตามวิสัยนาค มนุษย์เหล่านั้นจะทนพิษของข้าพระบาทมิได้ จะพากันตายเสียสิ้น เพราะฉะนั้นข้าพระบาทจะขอบังคมลาพระองค์กลับไปยังเมืองนาคทูลดังนั้นแล้วนางนาคกุมารีนั้นก็หายไปจากสถานที่นั้น กลับไปสู่นาคพิภพ พระเจ้าจันทราชาทรงเสียดายนางนาคกุมารียิ่งนัก ก็เสด็จกลับคืนเข้าสู่พระราชวัง ครั้นอยู่มานางนาคกุมารีนั้นมีครรภ์ถ้วนกำหนดทศมาสแล้ว จึงขึ้นมายังเมืองมนุษย์ ตกฟองไว้ในที่ไร่อ้อยแห่งหนึ่งฟองนั้นโตประมาณเท่าผลมะพร้าวห้าว ครั้นแล้วนางนาคกุมารีก็กลับคืนไปสู่นาคพิภพดังเก่า ในขณะนั้น ยายกับตาสองสามีภรรยาผู้เป็นเจ้าของไร่อ้อย พากันออกไปดูแลรักษาไร่ เห็นฟองนาคโตแปลกประหลาดดังนั้น ก็ยังไม่ แจ้งว่าเป็นฟองสิ่งไร จึงนำฟองนั้นไปเก็บรักษาไว้ที่บ้าน ครั้นอยู่ไม่ นานฟองนั้นครบกำหนดก็แตกออกเป็นกุมาร มีรูปโฉมลักษณะงามหาผู้เสมอมิได้ ยายตาได้เห็นดังนั้นก็มีความดีใจว่าได้บุตรบุญธรรมรักใคร่กุมารนั้นเป็นอันมาก จึงหานุ่นมาเย็บเป็นเบาะเมาะให้กุมารนั้นนอน แต่กุมารนั้นหาชอบนอนบนเบาะโดยปกติไม่ มักร้องไห้เสือกกายขึ้นไปเสียเบื้องบนแห่งที่นอน ยายตาเห็นประหลาดดังนั้น

๘๖ จึงไปไต่ถามโหราจาริย์ว่า อาการของกุมารเป็นดังนี้จะร้ายดีประการใด โหราจาริย์จึงทำนายว่า กุมารนี้เป็นผู้มีบุญ จะเป็นเชื้อชาติเทพดาหรือพระยานาคเป็นแน่ ถ้าท่านปรารถนาจะให้กุมารนี้หลับนอนเป็นปกติ จงตัดลำไม้ไผ่ที่ขึ้นอยู่บนตอไม้มาสานเป็นเสื่ออ่อนปูให้นอนแต่ผ้าห่มนอนนั้นให้ลงเลขยันต์อาคมเสียก่อนแล้วจึงให้ห่ม ยายตาก็กระทำตามคำแนะนำของโหราจาริย์นั้นทุกประการ ตั้งแต่นั้นมากุมารนั้นก็รู้นอนโดยปกติ มิได้รบกวนดังแต่ก่อน ครั้นอยู่มากุมารนั้นเจริญวัยวัฒนาการขึ้นมีอายุได้ ๑๕ ปี มีรูปกายผ่องใสโสภา แลมีอานุภาพมาก จะออกปากกล่าวสั่งสิ่งใดให้เป็นอย่างไร ก็มักให้เป็นไปตามคำกล่าวดังนั้น ยายตามีความเสน่หาบุตรบุญธรรมยิ่งนักจึงให้นามว่าพระร่วง ครั้นอยู่มา กิติศัพท์อันนี้ ทราบเข้าไปถึงพระเจ้าจันทราชาผู้ครอง กรุงสุโขทัย ก็มีพระทัยพิศวง จึงทรงดำริว่า กุมารผู้นี้เห็นจะเป็นบุตรนางนาคกุมารี มาตกฟองไว้ให้เป็นแน่ ถ้าเป็นเช่นนั้นแล้วกุมารนี้ก็คือเป็นโอรสของเราเองโดยแท้ เมื่อพระองค์ทรงพระดำริดังนี้แล้ว จึงตรัสสั่งราชบุรุษให้ไปหายายตาเจ้าของไร่อ้อย ให้พากุมารนั้นเข้ามาเฝ้าพระองค์ แต่เรื่องนี้จดหมายเหตุอีกฉบับหนึ่งกล่าวว่า อยู่มาคราวหนึ่งพระองค์ให้ตั้งการราชพิธีสร้างปราสาทมนเทียร ในขณะนั้นพวกราษฎรชาวบ้านในเมืองนอกเมือง พากันแตกตื่นเข้ามาดูงานพระราชพิธี ฝ่ายยายตาก็พาพระร่วงบุตรบุญธรรมนั้นเข้ามาดูงานพระราชพิธี

๘๗ ในเวลานั้นด้วย พระร่วงได้ออกปากพูดในท่ามกลางฝูงชนว่า เราเป็นผู้รักษาที่นี้ พอพูดขาดคำลง เสาปราสาทนั้นก็โอนเอนหวั่นไหวสะเทือนสะท้านทั่วไป ฝ่ายเสนาอำมาตย์ ได้เห็นเหตุมหัศจรรย์ดังนั้น จึงนำความขึ้นกราบทูลพระเจ้าสุโขทัย พระองค์ได้ทรงฟังดังนั้นก็มีความพิศวง จึงตรัสสั่งให้หายายตาให้พากุมารนั้นเข้าเฝ้า จึงมีพระราชโองการตรัสถามยายตาทั้งสองว่า กุมารนี้ได้มาแต่ไหน ยายตาทั้งสองจึงกราบบังคมทูลให้ทราบความตามเหตุที่ได้กุมารนั้นมา ตั้งแต่ต้นจนปลาย พระเจ้าสุโขทัยได้ทรงฟังดังนั้นก็เข้าพระทัยทรงเชื่อ แน่ว่ากุมารนี้เป็นบุตรนางนาคกุมารีนั้น คือเป็นพระโอรสของพระองค์โดยแท้ ด้วยอำนาจความเมตตากรุณาของบิดา อันเคยมีแก่บุตรสืบขันธสันดานมาแต่บุรพชาติปางก่อนนั้น บันดาลให้พระองค์ทรงพระสิเนหาแด่พระโอรสนี้ในปัจจุบันชาตินี้ จึงให้รับพระร่วงนั้นเลี้ยงไว้เป็นราชโอรสของพระองค์ในพระราชวัง แลพระราชทานทรัพย์สิ่งของเป็นรางวัลแก่ยายตาทั้งสองเป็นอันมาก ครั้นอยู่มา พระอัครมเหษีใหญ่ของพระเจ้ากรุงสุโขทัย ประสูติพระราชโอรสองค์หนึ่ง สมเด็จพระราชบิดาพระราชทานพระนามว่าพระร่วงเหมือนกัน แต่พระราชโอรสองค์ใหญ่ซึ่งประสูติจากนางนาคนั้น มีบุญญาธิการศักดานุภาพเป็นอันมาก ถ้าพระองค์ชี้พระหัตถ์ตรัสสาปมนุษย์แลสัตว์ ใด ๆ เช่นผู้คนแลช้างม้าโคกระบือว่าให้กลายเป็นหินหรือให้เป็นสิ่งอันใด ก็กลับกลายแลเป็นไปตามรับสั่งทั้งสิ้น วันหนึ่ง พระองค์ตรัสสั่งว่าให้ต้นไม้ทั้งปวงเป็นผล ต้นไม้นั้นก็เป็นผล

๘๘ ตามรับสั่ง แลตรัสว่าให้ก้างปลาเป็นปลามีชีวิตไปตามเดิม ก็เป็นไปได้ตามรับสั่งของพระองค์ ด้วยอำนาจสัจจบารมีอันแก่กล้าที่พระองค์ได้สร้างสมอบรมมาแต่หลัง จึงบันดาลให้เป็นไปได้ดังนั้นเป็นมหัศจรรย์นัก ครั้นอยู่มา พระร่วงราชโอรสพระองค์ใหญ่ จึงกราบทูลถามสมเด็จพระราชบิดาว่า ทุกวันนี้พระองค์ยังต้องส่งส่วยน้ำแก่เมืองอินทปรัสถ์อยู่หรือ พระราชบิดาจึงตรัสบอกว่า เรายังต้องส่งส่วยน้ำแก่เขาอยู่เสมอ พระร่วงราชโอรสองค์ใหญ่ จึงกราบทูลห้ามว่า ตั้งแต่วันนี้ไป ขอพระองค์อย่าได้ส่งส่วยน้ำแก่เมืองอินทปรัสถ์ต่อไปอีกเลย ถ้าพระเจ้ากรุงอินทปรัสถ์ให้ยกกองทัพมาทำย่ำยี แก่บ้านเมืองของพระองค์เป็นประการใด ข้าพระองค์จะอาสาสู้รบเอาชัยชะนะให้จงได้ มิต้องให้พระองค์แลไพร่พลได้ความเดือดร้อน พระเจ้ากรุงสุโขทัยก็ทรงเชื่อ ตามคำทูลของพระร่วงราชโอรสองค์ใหญ่ ด้วยได้ทรงเห็นอภินิหารอันเป็นอัศจรรย์ต่าง ๆ มาแต่หลังแล้ว ฝ่ายพระเจ้ากรุงอินทปรัสถ์ ครั้นได้ทราบว่าพระเจ้ากรุงสุโขทัยตั้งแข็งเมืองไม่ส่งส่วยน้ำ ดังแต่ก่อน จึงตรัสสั่งพระราชโอรสผู้เป็นพระมหาอุปราชาว่า พระเจ้าจันทราชาเมืองสุโขทัยเคยส่งส่วยน้ำให้แก่เมืองเรา สืบต่อกันมาหลายชั่วผู้ครองเมืองแล้ว บัดนี้มาแปรพักตร์ไม่ยอมส่งส่วยน้ำให้แก่เรา เห็นจะคิดต่อสู้กับเรา เจ้าจงยกพยุหโยธาทัพไปตีเมืองสุโขทัย ให้มีชัยชะนะแก่พระเจ้าจันทราชาจงได้ พระมหาอุปราชถือรับสั่งพระราชบิดาแล้ว ก็กรีฑาพยุหโยธาทัพออกจากกรุงอินทปรัสถ์ ไปถึงเมืองสุโขทัย ก็ยกพลเข้าประชิดล้อมเมืองไว้ ๘๙ ฝ่ายพระเจ้าจันทราชา ก็แต่งให้พระร่วงราชโอรสองค์ใหญ่ ยกพลนิกายกองทัพออกมา กระทำยุทธสงครามกับกองทัพกรุงอินทปรัสถ์ทั้งสองฝ่ายได้กระทำยุทธนาการต่อกันโดยสามารถ ฝ่ายมหาอุปราชพระราชโอรสพระเจ้ากรุงอินทปรัสถ์ ทานกำลังพระร่วงราชโอรส พระเจ้ากรุงสุโขทัยมิได้ ก็แตกหนีกลับไปยังพระนคร กราบทูลสมเด็จพระราชบิดาว่า ข้าศึกมีกำลังเข้มแข็งนัก จึงต้องแตกพ่ายถอยมาจะขอรับพระราชอาชญาแล้วแต่จะโปรด ฝ่ายพระเจ้ากรุงอินทปรัสถ์ ได้ทรงเห็นพระมหาอุปราชราชโอรสแตกพ่ายทัพหนีกลับมา ทูลขอจะรับพระราชอาชญาดังนั้น พระองค์ทรงเห็นว่า พระราชบุตรของพระองค์ยังอ่อนแก่การทัพศึกอยู่ ก็ทรงพระเมตตาพระราชทานโทษให้ จึงตรัสว่า พระเจ้าจันทราชาผู้ครองเมืองสุโขทัยนั้น ก็เป็นพระญาติพระวงศ์ของเราเองมิใช่ผู้อื่น ถ้าเขาไม่สมัครจะส่งส่วยน้ำให้แก่เราแล้วก็ตามเถิด ตั้งแต่วันนี้ไปเราอย่าไปรบกวนย่ำยีทำสงครามกับเขาอีกเลย พระองค์จึงตรัสสั่งให้เลือกเมืองอื่นเป็นเมืองส่งส่วยน้ำแก่พระองค์ต่อไป พระเจ้าอินทปรัสถ์ผู้สืบพระวงศ์พระเจ้าปทุมสุริยวงศ์นั้น ได้ครองราชสมบัติในกรุงอินทปรัสถ์ต่อมา ครั้นพระชนม์พรรษาได้ ๕๕ พรรษาก็เสด็จสวรรคต อยู่ในราชสมบัติ ๓๐ พรรษา เมื่อแรกได้ครองราชสมบัตินั้นพระชนม์ ๒๕ พรรษา ลุศักราช ๕๖๖ ฝ่ายพระเจ้าจันทราชาผู้ครองกรุงสุโขทัย เมื่อแรกได้ราชสมบัติมี ๑๒

๙๐ พระชนมายุ ๓๐ พรรษา ครองราชสมบัติได้ ๓๐ พรรษา รวมพระชนมายุ ๖๐ พรรษาถ้วน ก็เสด็จสวรรคตในศักราช ๕๗๖ ในปีนั้น พระร่วงพระราชโอรสองค์ ใหญ่ได้เสด็จขึ้นครองราชสมบัติแทนสมเด็จพระราชบิดาต่อไป พระองค์ได้เสด็จไปสร้างเมือง สวรรคโลกขึ้นใหม่ แลครองราชสมบัติในเมืองนั้น ในขณะนั้นพระอัครมเหษีใหญ่ของพระองค์ ผู้ทรงพระนามว่าศรีจันทาเทวี ประสูติพระราชธิดาองค์หนึ่ง ทรงพระนามว่าสุวรรณเทวี ครั้นอยู่มาสมเด็จพระร่วงเจ้าทรงพิจารณาเห็นว่า ภูมิลำเนาข้างทิศใต้เมืองสุโขทัยนั้นพื้นภูมิภาคเรียบราบ เป็นชัยภูมิดีแห่งหนึ่ง สมควรจะสร้างสระใหญ่ลงไว้ ให้เป็นประโยชน์แก่สาธารณชนทั่วไป จึงตรัสสั่งให้ขุดสระใหญ่โดยรอบจตุรัสมีกำหนด ๑๕ วา ให้ช่างก่ออิฐเป็นซุ้มคร่อมหลังสระ แลบนหลังซุ้มนั้นก่อพระเจดีย์องค์หนึ่งเรียกว่าพระมหาธาตุ ในสระใหญ่นั้นให้ปลูกบัวเบญจพรรณ ครั้นแล้วพระองค์ทรงตั้งสัตยาธิษฐานว่า ขออย่าให้น้ำในสระนั้นแห้ง แลอย่าให้ต้นบัวเบญจพรรณนั้นตาย ให้มีอยู่เสมอเป็นนิจนิรันดรไป แลพระองค์ได้ทรงนำเมล็ดมะขามมาโปรยรอบตามขอบเขตต์สระ ทรงพระสัตยาธิษฐานว่าให้มะขามนี้ขึ้นมาเป็นต้นมีผลเมล็ดพร้อมบริบูรณ์ บาง ต้นเมื่อมีผลเป็นฝักให้มีแต่เนื้อ เมล็ดมะขามที่หล่นลงไปในสระนั้น ให้กลายเป็นเต่าปลามัจฉาชาติแลให้บินไปได้ ทรงพระอธิษฐานแล้วก็ทรงปลูกไว้รอบสระน้ำนั้น ปลาแลเต่าก็เป็นไปตามพระสัตยาธิษฐานนั้นทุกประการ แล้วพระองค์ให้สร้างเฉลียงรอบสระน้ำนั้น มีศาลาแล

๙๑ ธงปักครบครัน ครั้นขุดสระสำเร็จแล้วก็ให้ทำมหกรรมฉลองสระ ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลต่าง ๆ เป็นอันมาก ในครั้งนั้นมีชายหนุ่มคนหนึ่งชื่อมะกะโท้เป็นเชื้อชาติมอญ เป็นบุตรชาวบ้าน ซึ่งตั้งบ้านเรือนอยู่ใน ตำบลตะเกาะวุน แขวงเมืองมุตะมะ ในรามัญประเทศ ได้เข้ามาเป็นข้าสวามิภักดิ์ในสมเด็จพระร่วงเจ้า พระองค์ทรงโปรดปรานชุบเลี้ยง มะกะโท้ผู้นี้เป็นคนมีวาสนา ประกอบด้วยคุณสมบัติ ๓ ประการ คือ มีรูปโฉมลักษณดีเป็นที่ชอบรักแก่ชนทั่วไป ๑ มีสติปัญญาดี ๑ มีความกตัญญูกตเวทีรู้คุณท่านผู้มีคุณ ๑ อยู่มาวันหนึ่ง มะกะโท้กับพรรคพวก แลข้าทาสใช้สรอยรวมประมาณ ๓๐ คน ให้หาบสิ่งของสินค้ามาเที่ยวค้าขาย มะกะโท้เป็นนายคุมลูกหาบ ครั้นมาถึงเชิงเขานวรัตนคิรี เด็กคนใช้คนหนึ่งของมะกะโท้ป่วยลง มะกะโท้จึงให้คนเหล่านั้นช่วยกันหามเด็กที่ป่วยนั้นขึ้นไปพักรักษาตัวอยู่บนยอดเขา ในเวลานั้นไม่ใช่เทศกาลฤดูฝน บันดาลฝนตกฟ้าร้องเป็นอันมาก ในทันใดนั้น อสนีบาตผ่าถูกปลายไม้คานของมะกะโท้แตกแล่งออกไป แต่หาถูกผู้คนเป็นอันตรายไม่ เมื่อมะกะโท้ได้ยินฟ้าผ่าลงมาดังนั้น จึงแลไปในอากาศ เห็นแสงฟ้าเป็นปราสาทราชมณเทียรประดับด้วยราชวัฏิฉัตรธง มะกะโท้คิดเห็นประหลาดในใจ แต่ยังหารู้ว่าร้ายแลดีเป็นประการใดไม่ จึงคุมลูกหาบกับพรรคพวกออกจากตำบลนั้นมาถึงบ้านแห่งหนึ่ง มะกะโท้จึงเข้าพักอาศัยในบ้านนั้นพร้อมด้วยพรรคพวกของตน ถามพวกชาวบ้านว่าในตำบลบ้านนั้นมีโหราจารย์ผู้ทายนิมิตร์ ร้ายดี บ้าง หรือไม่ พวกชาวบ้านบอกว่า

๙๒ โหราจารย์ผู้เฒ่ารู้ทายนิมิตร์ร้ายดีมีอยู่ จึงช่วยพามะกะโท้ไปให้ถึงเรือนโหราจารย์ มะกะโท้ก็ไหว้นบเคารพท่านโหราจารย์ผู้เฒ่านั้น แล้วจึงเล่านิมิตร์ ให้ฟังตั้งแต่ต้น แลถามเหตุผลร้ายดีว่าจะมีเป็นประการใดฝ่ายโหราจารย์ผู้เฒ่าได้ฟังเล่านิมิตร์ดังนั้นก็รู้เหตุทั้งปวง แลรู้ว่าชายหนุ่มผู้นี้เป็นคนมีวาสนา จะได้เป็นใหญ่ในภายหน้า จึงบอกว่านิมิตร์ที่ได้เห็นนั้นเป็นสิริสวัสดิมงคลใหญ่หลวงยิ่งนัก ท่านจงนำเงินทองมากองลงให้สูงเสมอเท่าจอมปลวก เป็นการคำนับบูชาครูเราก่อน เราจึงจะทำนายให้แก่ท่านได้ ถ้าท่านทำสักการบูชาคำนับครูเราดังนั้นแล้ว เราก็จะพยากรณ์ทักทายนิมิตร์ของท่าน ให้ท่านได้ดีเป็นใหญ่ให้เห็นคุณได้โดยเร็ว ถ้าท่านไม่นำเงินทองมาบูชาครูเราดังว่านั้นแล้ว เราก็ไม่อาจทำนายให้แก่ท่านได้ มะกะโท้ได้ฟังดังนั้นก็คิดว่า สิ่งของสินค้าที่เรานำมาขายครั้งนี้ ถึงจะขายสิ้นแล้วจะรวมเงินทั้งทุนแลกำไร ให้ได้เงินกองสูงเสมอเท่าจอมปลวกนั้นก็หามิได้ ทำฉันใดดีเราจึงจะได้เงินทอง มากองให้สูงเสมอเท่าจอมปลวกเล่า มะกะโท้คิดไปก็เห็นช่อง จึงถอดแหวนในนิ้วมือของตน ไปตั้งลงเหนือยอดจอมปลวกแห่งหนึ่งแล้วจึงบอกแก่โหราจารย์ว่า ข้าพเจ้าได้บูชาคำนับครูท่านด้วยทองเสมอเท่าจอมปลวกแล้ว ขอท่านได้เมตตาช่วยทายนิมิตร์ ให้ข้าพเจ้าเถิดฝ่ายโหราจารย์ได้เห็นดังนั้นก็คิดว่า บุรุษหนุ่มผู้นี้เป็นคนมีปัญญาเฉียบแหลม สืบไปเบื้องหน้าคงจะได้เป็นใหญ่เป็นแน่ จึงทำนายตามนิมิตร์นั้นให้มะกะโท้ว่า ในเวลาไม่ช้านานท่านจะได้เป็นเจ้าบ้านผ่านเมืองใหญ่โต มีอานุภาพมาก เพราะฉะนั้นท่านอย่าทำการค้าขายเลย จง

๙๓ อุตส่าห์ทำราชการเถิด จะได้เป็นใหญ่มียศศักดิ์รุ่งเรือง เมื่อท่านได้เป็นใหญ่แล้วอย่าลืมเรา มะกะโท้กับทั้งพรรคพวกได้ฟังคำทำนายดังนั้นก็ดีใจ ลงกราบไหว้ขอบคุณโหราจารย์เป็นอันมาก จึงกล่าวว่าถ้าข้าพเจ้าได้ดีเป็นใหญ่เหมือนคำทำนายของท่านแล้ว ข้าพเจ้าจะตอบแทนคุณท่านให้จงหนักหาลืมคุณของท่านไม่ ว่าแล้วก็คำนับลาโหรา จารย์คุมลูกหาบไปขายสินค้าในเมืองสุโขทัย ครั้นขายของสิ้นแล้ว จึงพาพรรคพวกบ่าวไพร่ไปฝากไว้กับชาวบ้านที่รู้จักชอบกัน ครั้นแล้วมะกะโท้ จึงหาช่องเข้าไปพึ่งพักฝากตัวอยู่กับนายช้างพระที่นั่งโรงในซึ่งเป็นมงคลคเชนทร์ตัวโปรดของสมเด็จพระร่วงเจ้า ช่วยดูแลรักษาเก็บกวาดมูลช้างล้างโรงให้สะอาดอยู่เสมอ นายช้างก็มีความเมตตารักใคร่ใช้สอยมะกะโท้สนิทอยู่ทุกวัน ฝ่ายสมเด็จพระร่วงเจ้า ก็เสด็จไปทอดพระเนตรช้างพระที่นั่งของพระองค์อยู่เนือง ๆ ไม่ใคร่ขาด วันหนึ่งพระองค์เสด็จไปทอดพระเนตรช้างพระที่นั่ง ทรงเห็นโรงช้างปัดกวาดสะอาดเรียบร้อยดี จึงตรัสถามนายช้างว่า ใครมาช่วยท่านแผ้วกวาดโรงช้างให้สะอาดเรียบร้อยดังนี้นายช้างจึงกราบทูลว่า มีมอญน้อยคนหนึ่งมาพึ่งพักอยู่กับข้าพระบาทช่วยปัดกวาดล้างชำระโรงให้สะอาดอยู่เสมอ พระองค์ได้ทรงฟังดังนั้นก็ชอบพระทัย จึงตรัสสั่งว่า ท่านจงเลี้ยงมอญน้อยนั้นให้ดีเถิด อยู่มาวันหนึ่ง สมเด็จพระร่วงเจ้าเสด็จไปทอดพระเนตรช้างพระที่นั่งณโรงในตามเคย ประทับบนพระที่นั่งใกล้ช่องพระแกลบ้วนพระโอษฐลงไปที่แผ่นดิน ทอดพระเนตรเห็นเบี้ยตัวหนึ่งตกอยู่ จึงตรัส

๙๔ เรียกมะกะโท้ว่า มอญน้อยเจ้าจงมาดูเบี้ยนี้ มะกะโท้จึงคลานเข้าไปกราบบังคมแล้วก็เก็บเบี้ยนั้นไว้ มีความดีใจว่าได้พระราชทานเบี้ยตัวหนึ่ง แล้วก็หมอบเฝ้าอยู่กับหน้าพระที่นั่ง จนสมเด็จพระร่วงเจ้าเสด็จกลับ ฝ่ายมะกะโท้มีความยินดีที่ได้รับพระราชทานเบี้ย ๆหนึ่ง จึงคิดว่าตั้งแต่นี้ไปเราจะตั้งใจคิดทำราชการฉลองพระเดชพระคุณ เพื่อให้ได้ความชอบยิ่งขึ้น แลเบี้ยที่เราได้รับพระราชทานนี้ จะทำเป็นประการใดดี จึงตรึกตรองเห็นช่องว่า จะซื้อเมล็ดพรรณผักกาดมาปลูกไว้จึงจะควร มะกะโท้จึงนำเบี้ยนั้นไปซื้อเมล็ดพรรณผักกาดที่ตลาด หญิงแม่ค้าผู้ขายเมล็ดพรรณผักกาดจึงบอกว่า เบี้ย ๆเดียวนั้นเราไม่รู้จะขายให้อย่างไรได้ มะกะโท้จึงว่า ขอจิ้มนิ้วลงแต่นิ้วเดียวพอติดเมล็ดได้เล็กน้อยเท่านั้น หญิงแม่ค้าผู้ขายเมล็ดพรรณผักกาดก็ยอมให้ มะกะโท้จึงชุบนิ้วมือให้ชุ่มด้วยเขฬะในปากเสียก่อนแล้ว จึงจุ้มนิ้วลงในกระบุงเมล็ดพรรณผักกาด ๆ ก็ติดนิ้วมือขึ้นมาเป็นอันมาก หญิงแม่ค้าเห็นดังนั้นจึงชมว่า มอญน้อยนี้ฉลาดมีความคิดเฉียบแหลมดี มะกะโท้จึงส่งเบี้ย ๆ เดียวนั้นให้แก่หญิงแม่ค้า แล้วนำเมล็ดพรรณผักกาดนั้นมาจึงขุดดินข้างโรงช้างอันที่ว่างเปล่า ประสมมูลช้างให้เป็นเชื้อบริหารปลูกเพาะเมล็ดพรรณผักกาดลงในที่พื้นใหม่นั้น ไม่ช้านานผักกาดนั้นก็ขึ้นงอกงาม ออกกอกาบงดงามตามกัน ครั้นอยู่มาวันหนึ่ง ถึงกำหนดสมเด็จพระร่วงเจ้าจะเสด็จทอดพระเนตรช้างที่โรง มะกะโท้ จึงถอนต้นผักกาดที่ปลูกไว้ ล้างน้ำชำระให้สะอาดแล้ว หาภาชนะมารองเตรียมไว้เป็นของถวาย พอสมเด็จ ๙๕ พระร่วงเจ้าเสด็จประทับบนพระที่นั่งในโรงช้างแล้ว มะกะโท้ก็นำถาดผักกาดเข้าไปตั้งถวายต่อหน้าพระที่นั่ง จึงมีรับสั่งว่า มอญน้อยได้ผักกาดที่ไหนมาให้เรา มะกะโท้จึงทูลว่า เบี้ย ๆหนึ่งที่โปรดพระราชทานข้าพระพุทธเจ้า ๆ ไปซื้อเมล็ดพรรณผักกาดมาปลูกไว้ จึงได้นำมาถวายในครั้งนี้ พระองค์มีรับสั่งถามว่า เบี้ย ๆ เดียวเท่านั้นซื้อกันได้เมล็ดพรรณผักกาดเท่าไร มะกะโท้ก็กราบทูลให้ทรงทราบความตั้งแต่ต้นจนที่สุด สมเด็จพระร่วงเจ้าได้ทรงฟังดังนั้นก็ตรัสสรร เสริญว่ามอญน้อยนี้มีปัญญาฉลาดเฉียบแหลมดีควรจะชุบเลี้ยงไว้ จึงตรัสแก่นายช้างว่า เราจะขอมอญน้อยนี้เข้าไปใช้ราชการข้างใน จึงโปรดให้มะกะโท้เข้าไปรับราชการ เป็นพวกวิเสทเครื่องต้นอยู่ในพระราชวัง ครั้นอยู่มามะกะโท้ทำราชการดีมีความชอบ จึงโปรดเลื่อนให้เป็นกรมวัง แต่ในพงศาดารฝ่ายรามัญนั้นว่า สมเด็จพระร่วงเจ้าโปรดเลื่อนมะกะโท้เป็นขุนวัง มีตำแหน่งในกรมวังนั้นเอง ครั้นอยู่มาเกิดขบถกำเริบขึ้นในหัวเมืองขอบขัณฑเสมา สมเด็จพระร่วงเจ้าจะเสด็จกรีธาทัพไปปราบพวกขบถด้วยพระองค์เอง จึงตรัสสั่งให้มะกะโท้ ผู้เป็นกรมวังอยู่เฝ้ารักษาพระนคร แล้วพระองค์ก็เสด็จยกพยุหโยธาทัพไปยังเมืองนอกแดน อยู่ภายหลัง นางสุวรรณเทวีพระราชธิดาของสมเด็จพระร่วงเจ้ากับมะกะโท้นั้น ซึ่งเคยเป็นคู่บุพเพ สันนิวาสกันมาแต่บุรพชาติปางก่อน เผอิญให้เห็นกันแล้ว ก็มีความปฏิพัทธ์ผูกพันบังเกิดความเสนหารักใคร่กัน มะกะโท้ก็ลอบรักใคร่กับ

๙๖ พระราชธิดานั้น ฝ่ายข้าราชการทั้งปวงในกรมวังได้รู้เหตุ ก็มีความกลัวเกรงต่อมะกะโท้ ผู้เป็นกรมวัง ด้วยเห็นสมเด็จพระร่วงเจ้าทรงโปรดปรานมะกะโท้อยู่เป็นอันมาก จึงหามีผู้ใดจะว่ากล่าวขึ้นได้ไม่ฝ่ายมะกะโท้จึงคิดปฤกษากับนางสุวรรณเทวีพระราชธิดาว่า จะอยู่ช้าฉะนี้มิได้ ด้วยกลัวพระราชอาชญาสมเด็จพระร่วงเจ้า จำเราจะพากันหนีไปเสียก่อน อย่าทันให้พระองค์เสด็จกลับมา พระราชธิดาก็เห็นด้วยจึงรวบรวมทรัพย์ สิ่งของแก้วแหวนเงินทองเป็นอันมาก มะกะโท้ก็เกลี้ยกล่อมผู้คนข้าทาษได้ ๓๐๐ คนเศษ จึงพาพระราชธิดาขึ้นช้างพังตัวหนึ่งหนีออกจากเมืองสุโขทัย ไปโดยทางด่านกะมอกะลก รีบไปทั้งกลางวันแลกลางคืน ฝ่ายเสนาอำมาตย์รู้ว่ามะกะโท้พาพระราชธิดาหนีไปดังนั้น ก็พากันติดตามจะจับตัวมะกะโท้ แต่ติดตามไปหาทันไม่ด้วยมะกะโท้พาพระราชธิดากับผู้คน หนีข้ามด่านล่วงพ้นแดนไปเสียนานแล้ว เสนาอำมาตย์เหล่านั้นก็พากันกลับมา ค่อยท่าจะฟังพระราชโองการตรัสสั่งของสมเด็จพระร่วงเจ้าต่อไป ฝ่ายมะกะโท้พาพระราชธิดากับผู้คน ไปถึงบ้านตะเกาะวุ่นซึ่งเป็นบ้านเดิมของตนแล้ว ก็จัดให้พระราชธิดาอยู่เป็นสุข แลผู้คนที่ไปทั้ง ๓๐๐ คนเศษ ก็จัดให้มีที่อยู่อาศรัยทำกินเป็นสุขพร้อมเพรียงกัน ฝ่ายสมเด็จพระร่วงเจ้า ทรงปราบปรามพวกขบถอันกำเริบให้สงบราบคาบ ทรงจัดบ้านเมืองปลายแดนให้เป็นปกติเรียบร้อยแล้ว ก็เสด็จยกพยุหโยธาทัพกลับยังพระนคร เสนาอำมาตย์ทั้งปวงจึงนำความเรื่องมะกะโท้ลักพาพระราชธิดาหนีไป แลได้ไปติดตามจับจนสุดแดนหาทัน

๙๗ ไม่ ขึ้นกราบทูลให้ทรงทราบทุกประการ สมเด็จพระร่วงเจ้าก็หาได้ทรงพระพิโรธแก่มะกะโท้ไม่ จึงตรัสว่า เรารู้มาแต่เดิมแล้ว มอญน้อยคนนี้มีลักษณะดี นานไปภายหน้าจะมีบุญได้เป็นใหญ่ เราจึงมีใจรักใคร่เหมือนบุตร ถ้าเราจะสาบแช่งให้เป็นอันตราย หรือจะให้ยกกองทัพไปติดตาม จับมาลงราชทัณฑ์อย่างไรก็จะทำได้ทุกประการ แต่จะเป็นเวรกรรมแก่เรา แลเสียเกียรติยศของบ้านเมือง เป็นที่อัปยศแก่นานาประเทศ ซึ่งมอญน้อยพาธิดาเราไป ถ้าตั้งตัวขึ้นเป็นใหญ่ได้เมื่อใดแล้ว ก็คงจะตั้งแต่งให้ธิดาเราเป็นใหญ่ยิ่งขึ้น จะเป็นเกียรติยศแก่บ้านเมืองทั้งสองฝ่าย อนึ่งบุพเพสันนิวาสแห่งธิดาเรากับมอญน้อยนั้น ก็ได้อบรมมาด้วยกันแต่ปางก่อนแล้ว จึงเผอิญให้มามีจิตต์ปฏิพัทธ์ต่อกันดังนี้ เพราะเหตุนั้นเราจำเป็นจะอวยพรแก่มอญน้อยแลธิดาเรา อย่าให้มีภัยอันตรายสิ่งใด ให้เกิดความสิริสุขสวัสดีด้วยกันเถิด ซึ่งพระองค์มิได้ทรงพระโกรธแก่มะกะโท้ แลกลับทรงอำนวยพระพรให้ไปทั้งนี้ ด้วยอำนาจบุญบารมีของมะกะโท้ จะได้เป็นกษัตริย์ใหญ่ในรามัญประเทศต่อไป ตั้งแต่มะกะโท้พาพระราชธิดา ของสมเด็จพระร่วงเจ้ากรุงสุโขทัยไปอยู่บ้านตะเกาะวุนอันเป็นบ้านเดิมของตนดังนั้นแล้ว มะกะโท้ก็มีสง่าราษีเกิดสิริมงคลยิ่งขึ้น ด้วยนางนั้นเป็นราชธิดาของกษัตริย์ผู้มีราชอิศริยยศใหญ่ยิ่ง พวกชาวบ้านชาวเมืองก็กลัวเกรงนับถือรักใคร่ ๑๓

๙๘ มะกะโท้แลพระราชธิดานั้นเสมอกัน ต่างคนพากันเข้ามาสวามิภักดิ์ฝากตัว เป็นพรรคพวกข้าไทยให้ใช้สรอยมากขึ้นทุกที จนนับได้เป็นคนหลายพันหลายหมื่น ฝ่ายมะกะโท้เป็นผู้มีปัญญาเฉลียวฉลาดเปลื้องทุกข์ร้อนของชน ทั้งบริบูรณ์ด้วยทรัพย์สมบัติ จึงเป็นที่นับถือแก่ชนทั่วไป ครั้นมะกะโท้เห็นผู้คนนับถือรักใคร่ตนมากขึ้นแล้ว จึงประกาศเกลี้ยกล่อมคนทั้งฝ่ายเหนือฝ่ายใต้ในรามัญประเทศ ให้ร่วมสามัคคีพร้อมเพรียงน้ำใจเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เข้ามาอยู่ใต้อำนาจของตนทั้งสิ้นแล้ว ก็ตั้งตัวขึ้นเป็นกษัตริย์ ครองราชสมบัติในเมืองมุตะมะ ชนทั้งปวงก็ยินดีถวายพรชัยมงคลแก่กษัตริย์ใหม่ทั้งสิ้น แต่พระเจ้ามะกะโท้ยังหาได้ราชาภิเษกเฉลิมพระนามไม่ ครั้นอยู่มา พระเจ้ามะกะโท้ทรงระลึกถึงพระเดชพระคุณ ของสมเด็จพระร่วงเจ้า กรุงสุโขทัย จึง ให้ แต่งพระราชสาร ลงในสุพรรณบัตร แลจัดเครื่องมงคลราชบรรณาการเป็นอันมาก แต่งให้อำมาตย์ผู้หนึ่ง ชื่อว่า โลกี เป็นราชทูตจำทูลพระราชสาร คุมเครื่องมงคลราชบรรณาการ พร้อมด้วยพวกพลพาหนะเข้าไปถวายสมเด็จพระร่วงเจ้าณกรุงสุโขทัย ครั้นราชทูตไปถึงแล้ว เสนาอำมาตย์ฝ่ายกรุงสุโขทัย จึงนำความขึ้นกราบทูล สมเด็จพระร่วงเจ้าก็โปรดให้อำมาตย์นำราชทูตเมืองมุตะมะเข้าเฝ้า ราชทูตก็เชิญพระราชสารกับเครื่องมงคลราชบรรณาการเข้าไปถวายหน้าพระที่นั่ง จึงมีรับสั่งให้อ่านในลักษณะพระราชสารนั้นว่า "ข้าพระบาทผู้ชื่อว่ามะกะโท้ เป็น


๙๙ ข้าสวามิภักดิ์ใต้พระบาทมุลิกากรของพระองค์ ผู้เป็นพระมหากษัตริย์ผ่านพิภพกรุงสุโขทัย พร้อมด้วยพระราชธิดาของพระองค์ ขอโอนอุต- มงคเศียรเกล้ากราบถวายบังคม มาแทบพระยุคลบาทบงกชมาศของพระองค์ ซึ่งทรงพระมหากรุณาชุบเลี้ยงข้าพระบาททั้งสอง ให้มีความร่มเย็นเป็นสุข พระเดชพระคุณปกป้องอยู่เหนือเกล้าข้าพระองค์ทั้งสอง หาที่จะเปรียบให้สิ้นสุดมิได้ ด้วยเผอิญบุพเพสันนิวาสแห่งข้าพระบาททั้งสอง มาดลบันดาลให้มีปฏิพัทธจิตต์ต่อกัน ข้าพระองค์ได้ละเมิดล่วงพระราชอาชญาพาพระราชธิดาของพระองค์มา โทษานุ- โทษมีแก่ข้าพระองค์เป็นล้นเกล้า ฯ แต่บัดนี้ด้วยเดชะพระบารมีบรมเดชานุภาพของพระองค์ ปกแผ่อยู่เหนือเกล้า ฯ ข้าพระองค์ทั้งสอง ชนทั้งปวงจึงยินดี พร้อมกันอันเชิญข้าพระองค์ขึ้นเป็นกษัตริย์ ครองราชสมบัติเมืองในมุตะมะ เป็นใหญ่ในรามัญประเทศทั่วไป เพราะฉะนี้ข้าพระองค์ขอพระราชทานโทษานุโทษซึ่งมีผิดมาแต่หลัง ขอพระบารมีของพระองค์เป็นที่พึ่งสืบไป ขอได้ทรงประสาทพระราชทานนามกับเครื่องราชกกุธภัณฑ์ ๕ ประการ แก่ข้าพระองค์ผู้เป็นกษัตริย์ครองราชสมบัติใหม่ เพื่อเป็นสวัสดิชัยมงคลแก่ข้าพระองค์ทั้งสองสืบไปเมืองมุตะมะนี้จะได้เป็นสุพรรณปถพีแผ่นเดียวกันกับกรุงสุโขทัย อยู่ใต้พระเดชานุภาพของพระองค์สืบต่อไปจนตลอดกัลปาวสาน ครั้นสมเด็จพระร่วงเจ้า ได้ทรงทราบความในพระราชสารดังนั้น แล้วก็มีพระทัยยินดี จึงตรัสสรรเสริญว่า มะกะโท้มอญน้อยนั้นเรา


๑๐๐ ได้ทำนายไว้แล้วว่าสืบไปจะมีบุญญาธิการ บัดนี้ได้เป็นกษัตริย์ครองรามัญประเทศแล้ว ต่อไปภายหน้านอกจากเราผู้เดียวแล้ว จะหากษัตริย์อื่นมีบุญยิ่งกว่ามะกะโท้นี้มิได้ พระองค์จึงทรงตั้งพระนามให้แก่มะกะโท้ ว่า พระเจ้าวาริหู ( ฟ้ารั่ว ) กับพระราชทานเครื่องราชกกุธภัณฑ์ ๕ ประการสำหรับกษัตริย์ คือ พระขรรค์ ๑ ฉัตร ๑ พระมหามงกุฏ ๑ ฉลองพระบาททอง ๑ พัดวาลวิชนี ๑ รวมเป็น ๕ ประการ จึงโปรดพระราชทานพระราโชวาทไปแก่ราชทูตว่า ให้เจ้าแผ่นดินมุตะมะอยู่ในทศพิธราชธรรม บำรุงปกครองแผ่นดินโดยยุติธรรม ให้ตั้งใจรักใคร่ราษฏรพลเมืองดุจดังบุตรในอุทร แลทรงประสาทพระพรว่า ให้เจ้าแผ่นดินมุตะมะปราศจากภัยอันตรายทั้งภายนอกภายใน ให้ครองราชสมบัติเป็นสุขเจริญสืบไปสิ้นกาลนานเทอญ ราชทูตก็กราบถวายบังคมลาสมเด็จพระร่วงเจ้า กลับไปกราบทูลพระเจ้าแผ่นดินมุตะมะให้ทราบทุกประการ แลถวายเครื่องราชกกุธ ภัณฑ์ ๕ ประการ พระเจ้ามะกะโท้ ก็ทรงพระโสมนัสยินดี ขอบพระเดชพระคุณสมเด็จพระร่วงเจ้าหาที่สุดมิได้ จึงผินพระพักตร์ฉะเพาะตรงทิศกรุงสุโขทัย กราบถวายบังคมสมเด็จพระร่วงเจ้าโดยความระลึกรู้พระคุณของพระองค์ อันยิ่งเหลือล้นไม่มีที่สิ้นสุดฉะนั้น ฝ่ายสมเด็จพระร่วงเจ้าผู้ผ่านพิภพกรุงสุโขทัย ได้ครองราชสมบัติเป็นสุขมาช้านาน เมื่อแรกได้ราชสมบัตินั้นมีพระชนม์ได้ ๓๕ พรรษา อยู่ในราชสมบัติ ๔๐ พรรษา รวมพระชนมายุ ๗๕ พรรษา ก็เสด็จสวรรคต

๑๐๑ ในปีนั้น พระลือซึ่งเป็นพระอนุชาต่างพระมารดาขึ้นครองราชสมบัติแทนสมเด็จพระเชษฐาธิราชต่อไป พระองค์เสด็จไปครองเมืองนครสวรรคบุรี มีพระมเหษีทรงพระนามว่าสุธาเทวี พระลือองค์นี้เมื่อแรกได้ราชสมบัติมีพระชนม์ ๓๐ พรรษา ครองราชสมบัติได้ ๔๕ พรรษา เสด็จสวรรคต รวมพระชนมายุ ๗๕ พรรษา พระองค์ประสูติวันจันทร์









๑๐๒ เทศนาจุลยุทธการวงศ์ บัดนี้จะได้รับพระราชทานถวายพระสัทธรรมเทศนา ในจุลยุทธการวงศ์ สำแดงเรื่องลำดับโบราณกษัตริย์ในสยามประเทศนี้ อันบุพพาจารย์รจนาไว้ว่า กาลเมื่อพระเจ้าเชียงรายพ่ายแพ้ยุทธสงครามแต่พระยาสะตอง เสียพระนคร พาประชาราษฏรชาวเมืองเชียงราย ปลาศนาการมาสู่แว่นแคว้นสยามประเทศ ถึงราวป่าใกล้เมืองกำแพงเพ็ชร ด้วยบุญญา นุภาพแห่งพระองค์ สมเด็จอัมรินทราธิราชนิรมิตรพระกายเป็นดาบศมาประดิษฐานอยู่ตรงหน้าช้างพระที่นั่ง ตรัสบอกให้ตั้งพระนครในที่นี้เป็นที่ชัยมงคลสถาน บรมกษัตริย์ก็ให้สร้างพระนครลงในที่นั้น จึงให้นามชื่อว่าเมืองไตรตรึงษ์ พระองค์เสวยไอศุริยสมบัติอยู่ในพระนครนั้นตราบเท่าทิวงคต พระราชโอรสนัดดาครองราชสมบัติสืบ ๆกันมาถึงสี่ชั่วกษัตริย์ ครั้งนั้นยังมีบุรุษผู้หนึ่ง เป็นปมเปาทั่วทั้งกาย ทำไร่ปลูกพริกมะเขืออยู่ในแดนพระนครนั้น เก็บผลพริกมะเขือขายเลี้ยงชีวิต แลมะเขือต้นหนึ่งนั้นอยู่ใกล้ห้าง บุรุษนั้นไปถ่ายปัสสาวะลงที่ริมต้นนั้นเป็นนิตย์ มะเขือนั้นออกผล ๆ หนึ่งใหญ่กว่าผลมะเขือทั้งปวง เหตุทราบไปด้วยรสแห่งมูตรอันเจือด้วยสมภวะ พอพระราชธิดาพระยาไตรตรึงษ์มีพระทัยปรารถนาจะเสวยผลมะเขือ จึงใช้ทาสีไปเที่ยวซื้อ ก็ได้ผลมะเขือผลใหญ่นั้นมาเสวย นางก็ทรงพระครรภ์ ทราบถึงพระราชบิดา


๑๐๓ ตรัสไต่ถาม ก็ไม่ได้ความว่าคบหาสมัคสังวาสกับด้วยบุรุษผู้ใด จนพระครรภ์ใหญ่กำหนดทสมาศประสูติพระราชกุมาร อันบริบูรณ์ด้วยบุญธัญญลักษณะ พระญาติทั้งหลายอภิบาลบำรุงเลี้ยงพระราชกุมารจนค่อยวัฒนาการ ประมาณพระชนม์สองสามขวบ สมเด็จพระอัยกาปรารถนาจะทดลองเสี่ยงทายแสวงหาบิดาพระราชกุมาร จึงให้ตีกลองเป่าร้องบุรุษชาวเมืองมาให้สิ้นบมิได้เศษ ให้มีมือถือขนมแลผลาผลมาทุกคน ๆ ประชุมพร้อมกันในหน้าพระลาน ทรงพระอธิษฐานว่าถ้าบุรุษผู้ใดเป็นบิดาของทารกนี้ ขอจงทารกนี้รับเอาสิ่งของในมือแห่งบุรุษนั้นมาบริโภค แล้วให้อุ้มกุมารนั้นออกไปสู่ที่มหาชนสันนิบาต แลบุรุษกายปมนั้นได้แต่ก้อนข้าวเย็นถือมาก้อนหนึ่ง พระราชกุมารนั้นก็เข้ากอดเอาคอ แล้วรับเอาก้อนข้าวมาบริโภค คนทั้งปวงเห็นก็พิศวงชวนกันกล่าวติเตียนต่าง ๆ สมเด็จบรมกษัตริย์ก็ละอายพระทัย ได้ความอับประยศ จึงพระราชทานพระราชธิดาและพระนัดดานั้นให้แก่บุรุษแสนปมให้ใส่แพลอยไปถึงที่ไร่มะเขือ ไกลจากพระนครทางวันหนึ่งบุรุษแสนปมก็พาบุตรภรรยาขึ้นสู่ไร่อันเป็นที่อยู่ ด้วยอานุภาพแห่งบุญของชนทั้งสาม บันดาลให้สมเด็จอัมรินทราธิราช นิมิตรกายเป็นวานรนำ เอาทิพยเภรีมาส่งให้ชายแสนปมนั้น แล้วตรัสบอกว่า จะปรารถนาสิ่งใดจงตีเภรีนี้ อาจให้สำเร็จที่ความปรารถนาทั้งสิ้น บุรุษแสนปมปรารถนาจะให้รูปงามจึงตีกลองนั้นเข้า อันว่าปมเปาทั้งปวงก็อันตรธานหาย รูปกายนั้นก็งามบริสุทธิ์ จึงนำเอากลองนั้นกลับสู่ที่สำนัก แล้วบอกเหตุแก่ภริยา ส่วนพระนางนั้นก็กอบด้วยปีติโสมนัส จึงตีกลอง

๑๐๔ นิมิตรทอง ให้ช่างกระทำอู่ทองให้พระราชโอรสไสยาศน์ เหตุดังนั้นพระราชกุมารจึงได้พระนามปรากฏว่าเจ้าอู่ทอง จำเดิมแต่นั้นมา ในกาลเมื่อจุลศักราชล่วงได้ ๖๘๑ ปี ส่วนว่าบิดาแห่งเจ้าอู่ทองราชกุมาร จึ่งประหารซึ่งทิพยเภรีนิมิตรเป็นพระนครขึ้นในที่นั้น ให้นามชื่อว่า เทพนคร เหตุสำเร็จ ( ด้วย ) เทวดานุภาพ มหาชนทั้งปวงชวนกันมาอาศัยอยู่ในพระนครนั้นเป็นอันมาก พระองค์ก็ได้เสวยไอ-ศุริยสมบัติในเมืองเทพนคร ทรงพระนามกรชื่อพระเจ้าสิริชัยเชียงแสนปรากฏในสยามประเทศ กาลเมื่อจุลศักราชล่วงได้ ๗๐๖ ปี สมเด็จพระเจ้าสิริชัยเชียงแสนเสด็จดับขันธ์ทิวงคต กลองทิพย์นั้นก็อันตรธานหาย สมเด็จพระเจ้าอู่ทองราชโอรสได้เสวยราชสมบัติแทนพระราชบิดาได้ ๖ พระวัสสา ทรงพระปรารภจะสร้างพระนครใหม่ จึ่งใช้ราชบุรุษให้เที่ยวแสวงหาภูมิประเทศที่ อันมีพรรณมัจฉาชาติบริบูรณ์ครบทุกสิ่งราชบุรุษเที่ยวหามาโดยทักษิณทิศ ถึงประเทศที่หนองโสน กอบด้วยพรรณมัจฉาชาติบริบูรณ์พร้อม สมเด็จบรมกษัตริย์ทรงทราบ จึงยกจตุรงคโยธาประชาราษฏรทั้งปวง มาสร้างพระนครลงในประเทศที่นั้น ในกาลเมื่อจุลศักราชล่วงได้ ๗๑๒ ปี ให้นามบัญญัติชื่อว่ากรุงเทพมหา นครนามหนึ่ง ตามนามพระนครเดิมแห่งพระราชบิดา ให้ชื่อทวาราวดีนามหนึ่ง เหตุมีคงคาล้อมรอบเป็นขอบเขตต์ดุจเมืองทวาราวดี ให้ชื่อศรีอยุธยานามหนึ่ง เหตุเป็นที่อยู่แห่งชนชราทั้งสอง อันชื่อยายศรีอายุและตาอุทยา เป็นสามีภริยากัน อาศัยอยู่ในที่นั้น ประกอบกันพร้อมด้วยนามทั้งสามจึงเรียกว่า กรุงเทพมหานคร บวรทวาราวดี ศรีอยุธยา

๑๐๕ สมเด็จพระเจ้าอู่ทองได้ราชาภิเษก เสวยสวริยาธิปัตย์ถวัลย์ราชณกรุงเทพมหานคร ทรงพระนามสมเด็จพระรามาธิบดี และวันเมื่อราชาภิเษกนั้น ได้สังข์ทักษิณาวัฎณภายใต้ต้นไม้หมันในพระนครเมื่อแรกได้ราชสมบัตินั้นพระชนม์ได้ ๓๗ พระวัสสา แล้วให้พระบรมราชาธิราชผู้เป็นพระราชวงศ์ผู้ใหญ่ ตรัสเรียกว่าเป็นพระเชษฐาธิราชไปครองสมบัติณเมืองสุพรรณบุรี ให้พระราชโอรสทรงพระนามพระราเมศวรกุมาร ไปพานสมบัติณเมืองลพบุรี ครั้งนั้นมีเมืองประเทศราชขึ้นแก่กรุงเทพมหานคร ๑๖ เมือง คือ เมืองมะละกา เมืองชะวา เมืองตะนาวศรี เมืองนครศรีธรรมราช เมืองทะวาย เมืองเมาะตะมะ เมืองเมาะลำเลิง เมืองสงขลา เมืองจันทบูร เมืองพระพิษณุโลก เมืองสุโขทัย เมืองพิชัย เมืองพิจิตร เมือง สวรรคโลก เมืองกำแพงเพ็ชร เมืองนครสวรรค์ พระองค์ทรงสร้างพุทไธศวรรยาวาสวิหาร และรัตนวนาวาสวิหารคือวัดป่าแก้ว และสถิตอยู่ในราชสมบัติ ๒๐ พระวัสสาก็เสด็จทิวงคต ในลำดับนั้นสมเด็จพระบรมราชาธิราช ซึ่งครองสมบัติณเมืองสุพรรณบุรี เสด็จมาได้ราชาภิเษกสืบเสวยสวริยาณกรุงเทพมหานครสืบต่อไป และบำเพ็ญพระราชกุศลต่าง ๆ เสด็จดำรงราชอาณาจักรอยู่ได้ ๑๓ พระวัสสาก็สวรรคต ในกาลเมื่อจุลศักราชล่วงได้ ๗๔๔ ปี ลำดับนั้นพระราชบุตรทรงพระนามชื่อว่าสุวรรณจันท์ คือทองจันท์ มีพระชนม์ได้ ๑๕ พระวัสสา ได้เสวยสมบัติประมาณ ๗ วัน สมเด็จ ๑๔

๑๐๖ พระราเมศวรราชกุมาร ผู้พานเมืองลพบุรี ยกพยุหโยธามากระทำชีวิตันตรายแก่พระสุวรรณจันทราชกุมาร แล้วได้พานมไหสุริยสมบัติ สืบมาในกรุงเทพมหานคร ให้กระทำพระมหาธาตุเจดีย์องค์หนึ่ง สูง ๑๙ วา ยอดนพศูลย์ ๓ วา แล้วสร้างพระมหาวิหารลงในที่นั้น ให้นามชื่อว่า มหาธาตุวิหาร แล้วทรงสร้างพระมหาเจดีย์ สุวรรณบัพพตาราม เสด็จดำรงราชสมบัติอยู่ได้ ๖ พระวัสสาก็เสด็จทิวงคต ในลำดับนั้น พระยารามราชบุตรได้เสวยราชสมบัติสืบมาได้ ๑๕ ปี ทรงพระโกรธจะให้จับมหาเสนาบดีฆ่าเสีย และเสนาบดีนั้น หนีไปสู่สุพรรณบุรี อัญเชิญสมเด็จพระนครอินทราชผู้ครองสุพรรณบุรี อันเป็นพระปิตุลาธิราช ให้ยกพยุหโยธาเข้ามาสู่กรุงเทพมหานคร เข้าตีพระนครได้ จึงให้พระยารามราชนัดดานั้น ไปครองเมืองปทาคูจามพระองค์ก็ได้เสวยราชมไหสวริยาในกรุงเทพมหานคร จึงทรงตั้งพระราชบุตรทั้งสาม คือ เจ้าอ้ายพระยา ไปครองเมืองสุพรรณบุรี เจ้ายี่พระยา ไปครองเมือง สรรคบุรี เจ้าสามพระยา ไปครองเมืองชัยนาทบุรี พระองค์เสวยสมบัติได้ ๑๘ พระวัสสา ก็เสด็จทิวงคตในกาลจุลศักราชล่วงได้ ๗๘๐ ปี ครั้งนั้น พระราชบุตรทั้งสอง คือ เจ้าอ้ายพระยาแลเจ้ายี่พระยาต่างยกพยุหโยธาทัพ มาจากพระนครแห่งพระองค์ ปรารถนาจะชิงเศวตฉัตรในกรุงศรีอยุธยา ต่างพระองค์ทรงคชาธารกระทำคชสงครามแก่กัน ณเชิงตะพานช้างป่าถ่านภายในพระนคร ต่างพระองค์ทรงฟันด้วยพระแสงของ้าว ต้องพระศอขาดทั้งสองพระองค์ ทิวงคตพร้อม

๑๐๗ กัน อำมาตย์ทั้งหลายจึงไปเชิญเจ้าสามพระยา พระอนุชาธิราช ซึ่งครองชัยนาทบุรี ก็กระทำพระราชพิธีราชาภิเษกขึ้นเสวยสมบัติในพระนครศรีอยุธยาสืบไป ถวายพระนามสมเด็จพระบรมราชาธิราช จึ่งให้ถวายพระเพลิงพระศพพระเชษฐาทั้งสอง แล้วทรงสร้างพระอารามลงในที่นั้นให้นามชื่อว่า ราชบุรณาวาสวิหาร แล้วทรงสร้างมเหยงควิหาร พระองค์สถิตในราชสมบัติได้ ๑๗ ปี ก็ทิวงคต ในกาลเมื่อจุลศักราชล่วงได้ ๗๙๖ ปีเป็นกำหนด ในกาลนั้นพระราเมศวรราชโอรส ได้ราชาภิเษกสืบขัตติยสกุลต่อมา ทรงพระนามสมเด็จพระบรมไตรโลกนารถ จึ่งยกพระราชวังสร้างเป็นพระอาราม ให้นามชื่อว่า พระศรีสรรเพ็ชดาราม แล้วเสด็จไปสร้างพระราชนิเวศอยู่ใกล้ฝั่งน้ำ ให้สร้างปราสาททั้งสอง ให้นามเบญจรัตนปราสาทหนึ่ง สรรเพ็ชญ์ปราสาทหนึ่ง แล้วพระราชทานหมู่อำมาตย์ทั้งหลาย มีสมุหนายก แลสมุหพระกลาโหม เป็นต้น แลตำแหน่งนาโดยลำดับฐานันดรศักดิทั้งปวง แล้วทรงสร้างพระรามาวาสวิหาร ในที่ถวายพระเพลิงสมเด็จพระเจ้ารามาธิบดีอันสร้างพระนครนั้นแล้วหล่อรูปพระโพธิสัตว์ทั้ง ๕๕๐ พระชาติ กาลเมื่อจุลศักราชล่วงได้ ๘๑๐ ปี พระองค์ทรงอุทิศสร้างจุฬามณีอาราม แล้วเสด็จออกทรงบรรพชาได้ ๘ เดือนก็ลาผนวช พระองค์เสวยราชสมบัติ ๑๖ ปีก็ทิวงคต ในลำดับนั้น พระอินทราชาราชโอรส หได้มุรธาภิเษกสืบสมบัติพระองค์ ได้เศวตกิริณีเป็นศรีพระนคร ในกาลเมื่อจุลศักราชล่วงได้

๑๐๘ ๘๑๕ ปี และพระองค์กระทำมหามหกรรม การฉลองพระศรีรัตน มหาธาตุวิหาร ถวายมหาทานแก่พระภิกษุสงฆ์เป็นอันมาก ให้เล่นการมหรศพสมโภช ๑๕ วัน แล้วตั้งพระบรมราชาราชบุตร เป็นพระยาอุปราช เสด็จดำรงราชมไหสวรีย์ ๒๒ พระวัสสา ก็ทิวงคตในกาลเมื่อจุลศักราชล่วงได้ ๘๓๕ ปี จึงพระยาอุปราชราชโอรส ได้เสวยราชสมบัติถวายพระนามพระรามาธิบดี ให้ปฏิสังขรณ์พระศรีสรรเพ็ชดาราม ซึ่งค้างอยู่แต่ก่อนนั้นให้สำเร็จ แล้วทรงหล่อพระพุทธปฏิมากรยืนใหญ่ พระองค์หนึ่งกำหนดโดยสูงแต่พระบาทถึงยอดพระรัสมี คณนาได้ ๘ วา ถวายพระนามพระศรีสรรเพ็ชดาญาณ คิดทองหล่อหนักถึง ๕๓,๖๐๐ ชั่ง ทองคำแผ่หุ้มหนัก ๒๘๖ ชั่ง ข้างหน้านั้นเนื้อเจ็ด ข้างหลังนั้นเนื้อหกประดิษฐานไว้ ในพระมหาวิหาร แล้วกระทำมหามหกรรมการฉลองทรงบำเพ็ญมหาทาน ๗ วัน ในกาลเมื่อจุลศักราชได้ ๘๔๕ ปี แลตั้งพระอาทิตยวงศ์ราชบุตรเป็นมหาอุปราช ให้ไปครองราชสมบัติณเมืองพิษณุมหานคร พระองค์อยู่ในราชสมบัติได้ ๔๐ พระวัสสาก็ทิวงคต ในกาลเมื่อจุลศักราชได้ ๘๗๑ ปีนั้น ครั้งนั้นพระมหาอุปราชราชโอรส ทรงพระนามพระอาทิตยวงศ์ได้ดำรงบวรเศวตฉัตรสืบไป ถวายพระนามใหม่ชื่อว่า สมเด็จพระบรมราชาหน่อพุทธางกูร เสวยราชมไหสวรีย์ได้ ๕ พระวัสสา ทรงพระประชวรอหิวาตกโรค ก็ดับขันธ์ทิวงคต ในกาลเมื่อจุลศักราชได้ ๘๗๕ ปี

๑๐๙ จึงพระโอรสาธิราช ทรงพระนามรัฐาธิราชกุมาร พระชนมายุได้ ๕ พระวัสสา ได้ราชาภิเษกเสวยสมบัติประมาณ ๕ เดือน ครั้งนั้นพระราชนัดดาของสมเด็จพระรามาธิบดี ผู้เป็นพระบรมราชไอยกาทรงพระนามพระไชยราชาธิราช จึงพิฆาตฆ่าเสียซึ่งพระราชกุมารนั้นชิงเอาเศวตฉัตรได้เสวยราชสมบัติสืบมา กาลเมื่อจุลศักราชได้ ๘๘๗ ปี บังเกิดเพลิงไหม้ ในพระนครถึง ๓ วันจึ่งดับ มีบาญชีกุฏีวิหารเคหฐานบ้านเรือน ซึ่งเพลิงไหม้นั้นถึงแสนหนึ่งกับห้าสิบหลัง กาลเมื่อจุลศักราชล่วงได้ ๘๘๙ ปี สมเด็จพระชัยราชาธิราชเสด็จยาตราพลากรทัพหลวงไปตีเมืองเชียงใหม่ได้แล้ว กลับทัพมาโดยมัคคันดรวิถี พอทรงพระประชวรหนักลง ก็สวรรคตในระหว่างมรรคา เสนาบดีเชิญพระศพมาสู่พระนคร ถวายพระเพลิงโดยราชประเพณี พระองค์ดำรงราชอาณาจักรได้ ๑๕ ปี ก็ทิวงคต มีพระราชบุตร ๒ พระองค์ ทรงพระนามพระยอดฟ้าพระชนม์ ๑๑ ขวบพระองค์หนึ่ง พระศรีสินพระชนม์ ๕ ขวบพระองค์หนึ่ง อำมาตย์ทั้งหลายมีเสนาบดีเป็นต้น ประชุมชวนกันยกพระยอดฟ้าราชกุมารขึ้นผ่านสิริสมบัติสืบไป และพระราชมารดาแห่งพระราชกุมารทั้งสอง ทรงพระนามแม่อยู่หัวศรีสุดาจันท์ ภายหลังพระราชเทวีประพฤติพาลทุจริต ลอบรักสมัคสังวาสด้วยขุนวรวงศาธิราชข้าพระผู้รักษาหอพระ ให้พิฆาตฆ่าพระยอดฟ้าราชบุตรนั้นเสีย ยกขุนวรวงศาธิราชขึ้นครองสมบัติ ในกาลเมื่อจุลศักราชได้ ๘๙๑ ปี แลพระยอดฟ้าได้เสวยสมบัติ ๒ ปีกับ ๖ เดือนโดยกำหนด

๑๑๐ ครั้งนั้น ขุนพิเรนทรเทพผู้เป็นราชวงศ์ จึ่งคิดกับราชบุรุษทั้งสามไปอันเชิญพระเฑียรราชา ซึ่งเป็นพระราชนัดดาสมเด็จพระชัยราชา ธิราช อันทูลลาไปบรรพชาอยู่ณราชปติฐานาวาสวิหาร กระทำสัตย์ เสี่ยงเทียนได้ชัยมงคลนิมิตร คิดพิฆาตฆ่าขุนวรวงศาธิราช แลนางศรีสุดาจันท์ให้ถึงกาลพินาส ขุนวรวงศาธิราชอยู่ในสมบัติได้ ๕ เดือนจึ่งอาราธนาพระเฑียรราชา ปริวัตรออกเสวยมไหสุริยสมบัติ ถวายพระนามสมเด็จพระมหาจักรพรรดิราชาธิราชเจ้า จึ่งพระราชทานอุปโภควัตถุแก่ชนทั้งสี่ มีขุนพิเรนทรเทพเป็นอาทิ ตั้งขุนพิเรนทรเทพเป็นสมเด็จพระมหาธรรมราชา ขึ้นไปครองพิษณุโลกมหานคร พระราชทานพระราชธิดาทรงพระนามพระวิสุทธิกษัตรีย์ เป็นพระอรรค- มเหษีพระมหาธรรมราชา สมเด็จพระมหาจักรพรรดิพระองค์ได้เศวตกุญชรชาติ คือพลาย ๕ ขนานนามชื่อ พระแก้วทรงบาศ ๑ พระรัตนากาศ ๑ พระคเชนทโรดม ๑ พระปราบไกรสร ๑ พระสุริยกุญชร ๑ กับพัง ๒ นามบมิได้ปรากฏ สิริเป็น ๗ ช้าง จึงได้พระนามเพิ่มเข้าว่า สมเด็จพระมหาจักรพรรดิพระเจ้าช้างเผือกแลพระองค์มอบราชสมบัติแก่มหินทราโชรส แล้วเสด็จออกบรรพชาภายหลังลาผนวชออกครองราชสมบัติดังเก่า แลพระเจ้าหงษาวดี กรีธาทัพมาล้อมพระนครเป็นหลายครั้ง ครั้งหลังพระองค์เสด็จทิวงคตในขณะศึกมาติดพระนครนั้น เสด็จอยู่ในราชสมบัติได้ ๒๗ พระวัสสา จึ่งพระมหินทราชวรราโชรส ได้ครองสมบัติประมาณหนึ่งปี ก็ เสียพระนครแก่พระเจ้าหงษาวดี ในกาลเมื่อศักราชได้ ๙๑๘ ปี

๑๑๑ พระเจ้าหงษาวดีจึงตั้งพระมหาธรรมราชาผู้ผ่านพิษณุโลก ให้เสวยสมบัติในพระมหานครศรีอยุธยาสืบไป พระองค์มีพระราชโอรส ๒ พระองค์ คือ พระนเรศวรราชกุมาร ๑ พระเอกาทศรฐราชกุมาร ๑ จึ่งโปรดให้พระเชษฐโอรสไปครองพระพิษณุโลกนคร ภายหลังกลับกระทำยุทธสงครามกับกรุงหงษาวดีสืบไปเป็นหลายครั้ง สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชเจ้า เสด็จดำรงราชพิภพอยู่ได้ ๒๒ พระ วัสสา ก็ทิวงคตในศักราช ๙๔๐ ปี จึ่งสมเด็จพระนเรศวรเชษฐราชโอรส ได้มุรธาภิเศกสมบัติสืบไปพระเจ้ากรุงหงษาวดีให้พระมหาอุปราชาราชบุตร ยกพยุหแสนยาทัพมายุทธนาการ สมเด็จพระนเรศวรราชได้กระทำคชสงครามกับพระมหาอุปราช ๆ ถึงซึ่งปราชัยพินาส ขาดคอช้างในท่ามกลางศึก แล้วเสด็จยกจตุรงคโยธาทัพไปตีกรุงกัมพูชาธิบดีได้ มาเป็นเมืองขึ้น ภายหลังเสด็จไปตีกรุงหงษาวดี แล้วไปตีรตนะบุระอังวะ เสด็จโดยทางเมืองเชียงใหม่ พอทรงพระประชวรหนักลงก็ทิวงคตณเมืองห้างหลวงในระหว่างมรรคมรรคา ในกาลเมื่อศักราช ได้ ๙๕๔ ปี มุขมนตรีก็อัญเชิญพระมหาอุปราชราชอนุชาเอกาทศรฐ ขึ้นราชาภิเษกในที่นั้นแล้วเชิญพระศพกลับยังพระนคร สมเด็จพระนเรศวรเชษฐาธิราชดำรงไอสุริยสมบัติอยู่ได้ ๑๖ พระวัสสาก็ทิวงคต สมเด็จพระเอกาทศรฐราชอนุชา ได้ปราบดาภิเษกเสวยสวรรยาธิปัตย์ สืบขัตติยประเพณี มีพระราชกฤษฎาเดชานุภาพเป็นอันมากครั้งนั้นพระราชอาณาเขตต์แผ่ไปถึงรามัญประเทศ กระทั่งถึงเมือง

๑๑๒ ตองอู พระองค์ให้ช่างกระทำพระพุทธปฏิมากรทอง ๓ พระองค์ เงิน ๒ พระองค์ เป็น ๕ พระองค์ด้วยกัน แล้วแห่โดยสถลมารคชลมารคกระทำมหามหกรรมการฉลอง ๗ วัน ถวายมหาทานแก่พระสงฆ์ เป็น อันมาก กาลเมื่อศักราชได้ ๙๕๗ ปี พระองค์ให้แต่งพระราชกำหนดกฏพระอัยการไว้สำหรับแผ่นดิน และตั้งส่วยสัดพิกัดอาการทั้งปวงสำหรับขึ้นท้องพระคลัง และตั้งพระกัลปนาอุทิศถวายพระสงฆ์ราชาคณะทุกพระอาราม พระองค์มีพระราชบุตร ๒ องค์ ทรงพระนามเจ้าฟ้าสุทัศน์ ๑ เจ้าฟ้าศรีเสาวภาค ๑ และเจ้าฟ้าศรีเสาวภาคนั้นประชวร ทรพิศม์เสียพระเนตร์ข้างหนึ่ง จึงตั้งพระราชบุตรผู้พี่เป็นพระมหาอุปราช พระมหาอุปราชนั้นมีความผิด เสวยยาพิศม์สวรรคต และสมเด็จพระเอกาทศรฐบรมกษัตริย์ เสวยสมบัติได้ ๙ พระวัสสา ก็ทิวงคต จึ่งพระกนิฐราชโอรสซึ่งเสียพระเนตรข้างหนึ่งนั้น ได้ราชาภิเษกสมบัติสืบมาปีหนึ่งกับ ๒ เดือน คณนากษัตริย์ในราชวงศ์สมเด็จพระรามาธิบดีผู้แรกสร้างพระนครนั้น เว้นแต่ขุนวรวงศาธิราชสิริเป็นกษัตริย์ ๒๐ พระองค์ด้วยกัน การเมื่อจุลศักราชได้ ๗๖๔ ปี ครั้นนั้นพระพิมลธรรมราชาคณะสถิตอยู่ณคัณฑิกาวาส คือวัดระฆัง มีศิษย์ โยมมากมาย ทั้งจมื่นศรีโสรักษ์ก็เป็นบุตรเลี้ยง จึงคิดซ่องสุมบริษัทได้เป็นอันมากแล้วปริวัตรออกในเพลาราตรี ยกพลเข้ามาล้อมพระราชวัง ชิงเอาราชสมบัติ ให้จับสมเด็จบรมกษัตริย์สำเร็จโทษเสีย แล้วก็ได้เสวยสมบัติผลัดพระวงศ์ใหม่ ถวายพระนามพระเจ้าทรงธรรม แล้วตั้งจมื่น

๑๑๓ ศรีโสรักษ์เป็นพระยาอุปราช ๆ อยู่ในสมบัติได้ ๗ วันก็ทิวงคต ครั้งนั้นญี่ปุ่นเข้ามาค้าขายหลายลำ ชวนกันคิดประทุษร้าย สมเด็จพระบรมกษัตริย์หนีไปอยู่ณอัศนาวาส คือวัดประดู่ ครั้งนั้นพระมหาอำมาตย์ตระเตรียมพลมายุทธนาการ ยังญี่ปุ่นให้แตกฉานพ่ายหนีไป จึงไปเชิญเสด็จพระกษัตริย์เข้าพระนคร ก็พระราชทานรางวัลแก่พระมหาอำมาตย์เป็นอันมาก ตั้งเป็นที่เสนาบดีมีนามเจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์ คงแก่ความชอบ กาลเมื่อศักราชได้ ๙๖๘ ปี ได้ข่าวพระพุทธบาทปรากฏณเขาสุวรรณบรรพต จึงเสด็จขึ้นไปทรงสร้าง พระมณฑปเเลวิหารเสนาสนะทั้งปวง เเล้วทรงเเต่งพระมหาชาติคำหลวงไว้สำหรับแผ่นดิน พระองค์อยู่ในราชสมบัติได้ ๒๖ พระวัสสาก็ทิวงคต มีพระราชโอรส ๓ พระองค์ คือ พระเชษฐาธิราชกุมาร ๑ พระพันปีศรีสิน ๑ พระอาทิตยวงศ์ ๑ จึงพระเชษฐาธิราชกุมารได้ผ่านสมบัติ แลพระพันปีศรีสินราชอนุชานั้นคิดประทุษร้าย จึงพิฆาตฆ่าพระอนุชาเสีย ภายหลังคิดจะลงโทษเจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์อันมิได้มีความผิด จึ่งเจ้าพระยากลาโหมก็คิดชิงเอาราชสมบัติ ขะจัดพระบรมขัตติยาธิบดี ให้ถึงกาลพินาสจากราชมไหสวริย จึงราชาภิเษกพระองค์อาทิตยวงศ์ราชอนุชาพระชนม์ ๙ ขวบ ขึ้นดำรงราชสมบัติสืบไป แลพระเชษฐาธิราชนั้น อยู่ในสมบัติได้ปีหนึ่งกับ ๗ เดือน แลกษัตริย์ ในราชวงศ์พระเจ้าทรงธรรมนั้น สืบเสวยสมบัติมาได้ ๓ พระองค์ พระอาทิตยวงศ์นั้น ๑๕ ๑๑๔ ยังทรงพระเยาว์ มีความขวนขวายในการเล่น อยู่ในราชสมบัติ ๖ เดือน อำมาตย์ทั้งหลายจึงเนียรเทศเสียจากสมบัติ ประชุมเชิญเจ้าพระยากลาโหมเสนาบดีขึ้นราชาภิเษก เสวยสมบัติผลัดพระวงศ์ใหม่ ถวายพระนามพระเจ้าปราสาททอง ในกาลเมื่อศักราชได้ ๙๙๒ ปี พระองค์มีพระอนุชาพระองค์หนึ่ง ตั้งให้เป็นพระศรีสุธรรมราชา แลที่บ้านเดิมแห่งพระมารดานั้น ทรงสร้างเป็นพระอาราม ให้นามชื่อชัยวัฒนาราม แล้วให้สร้างปราสาทองค์หนึ่ง ให้นามชื่อจักรวรรดิไพชยันต์มหาปราสาท กาลเมื่อศักราชล่วงได้ ๑๐๐๐ปี เป็นพยัคฆสังวัจฉรสัมฤทธิศก จึงทรงพระราชดำริตั้งพระราชพิธีลบศักราช เปลี่ยนเอาสุกรสังวัจฉรเป็นสัมฤทธิศก เพื่อจะให้โลกทั้งปวงเป็นสุขสมบูรณ์ดุจกาลทวาปรยุค แล้วตั้งกระบวนแห่เสด็จเลียบพระนคร ทรงโปรยทานและทิ้งต้นกัลปพฤกษ์ ระยะห่างกัน ๑๐ วาต้นหนึ่ง รอบเมือง แล้ว พระราชทานสตกมหาทาน คือ ช้าง ม้า รถ ทาษ กรรมกรชายหญิงสิ่งละ ๑๐๐ กับสุวรรณหิรัญราชทรัพย์นับสิ่ง ๑๐๐ ละชั่ง พระราชทานแก่มหาชนทั้งปวง กาลเมื่อศักราชได้ ๑๐๐๕ ปี อสนีบาตลงต้องมังคลาภิเษกมหาปราสาท ติดเป็นเพลิงไหม้ ในพระราชวังถึง ๑๑๐ เรือนจึงดับ จึงทรงสร้างพระมหาปราสาทวิหารสมเด็จ สำเร็จในปีหนึ่งนั้น สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง สถิตอยู่ใน ราไชศวรรย์ ได้ ๒๖ พระวัสสาก็ทิวงคต ในกาลศักราชได้ ๑๐๑๗ ปี ครั้งนั้นพระราชบุตรผู้ใหญ่ทรงพระนามเจ้าฟ้าชัย ได้ราชสมบัติสืบมาประมาณ ๙ เดือน จึงพระนารายณ์ราชอนุชาแต่ต่างพระมารดากัน ทรง

๑๑๕ ดำริรหัสเหตุความลับกับพระศรีสุธรรมราชาธิราช ประดุจชิงเอาราชสมบัติ ขะจัดพระเชษฐาให้แก่กาลพินาส แล้วอัญเชิญพระเจ้าอาขึ้นครองสมบัติ พระองค์ได้เป็นพระยาอุปราช พระศรีสุธรรมราชาได้ดำรงราชอาณาจักรประมาณ ๒ เดือนกับ ๒๐ วัน พระนารายณ์อุปราชก็พิฆาตฆ่าซึ่งพระเจ้าอา แล้วพระองค์ก็ได้ราชาภิเษก สืบราชสกุลโดยขัตติยประเพณี พระองค์ได้เศวตหัตถีพลายพังทั้งคู่ เป็นอัครยาน ขนานนามชื่อพระยาบรมคเชนทรฉัททันต์หนึ่ง พระอินทรไอยราวัณหนึ่ง ทรงสถิตอยู่เมืองลพบุรีบ้าง สถิตอยู่พระนครศรีอยุธยาบ้าง และดำรงราชพิภพอยู่ประมาณ ๒๖ พระวัสสาก็ทิวงคตในลพบุรีนคร ในกาลศักราชล่วงได้ ๑๐๔๔ ปี ครั้งนั้นอำมาตย์ผู้หนึ่งมีนามชื่อพระเพทราชา ได้เสวยสมบัติ เหตุหลวงสรศักดิ์ซึ่งเป็นพระราชบุตรสมเด็จพระนารายณ์เป็นเจ้านั้น เป็นบุตรเลี้ยงแห่งตน ช่วยอุปถัมภกยกขึ้นผ่านสมบัติ พระองค์ ได้เศวตกริณีทั้งคู่เป็นราชพาหนะ ขนานนามพระอินทรไอยราพตหนึ่ง พระบรมรัตนากาศหนึ่งและทรงสร้างพระมหาปราสาทองค์หนึ่ง ให้นามว่าบรรยงครัตนาศน์พระองค์อยู่ในราชสมบัติได้ ๑๖ พระวัสสา ก็ทิวงคตในศักราชได้ ๑๐๕๙ ปี จึ่งพระราชบุตรเลี้ยงซึ่งเป็นพระยาอุปราชก็ได้ราชสมบัติ สืบมา มีพระราชบุตร ๒ พระองค์ ทรงพระนามเจ้าฟ้าเพ็ชรหนึ่ง เจ้าฟ้าพรหนึ่ง จึ่งตั้งพระโอรสผู้พี่เป็นอุปราช พระองค์กระทำแต่อกุศล เป็น


๑๑๖ ต้นว่า ปาณาติบาต ฆ่าเสียชิงมัจฉาชาติเป็นอันมาก ทรงสถิตย์ในราชสมบัติได้ ๑๐ ปี ก็ทิวงคตในศักราช ๑๐๖๘ ปี ในลำดับนั้น พระยามหาอุปราชเชษฐโอรส ก็ได้มุรธาภิเษกเสวยราชสมบัติ จึงตั้งพระอนุชาเป็นพระมหาอุปราช สมเด็จบรมกษัตริย์ทรงกระทำอกุศลกรรม ฆ่าเสียซึ่งนานามัจฉาชาติดุจพระราชบิดาพระองค์เสวยมไหสุริยสมบัติ อยู่ได้ ๒๗ พระวัสสา ก็ทิวงคตในศักราช ๑๐๙๔ ปี และพระราชบุตร ๒ พระองค์ คือเจ้าฟ้าอภัยและเจ้าฟ้าปรเมศร กระทำยุทธนาการชิงราชสมบัติกับพระมหาอุปราช ซึ่งเป็นพระเจ้าอา ก็ถึงปราชัยพ่ายแพ้ปลาศนาการหนีไป พระมหาอุปราชให้ราชบุรุษติดตามจับได้ ก็ให้สำเร็จโทษโดยราชประเพณี แล้วพระองค์ก็ได้ เสวยถวัลราชาภิเษกสืบมา จึ่ง ตั้งเจ้า ฟ้าธิเบศร เชษฐโอรส ซึ่งเป็นกรมขุนเสนาพิทักษ์เป็นพระมหาอุปราช พระองค์ได้เศวตกริณีหนึ่ง ให้นามพระวิเชียรหัสดินทร กับทั้งคชาชาติสุปดิฐหนึ่ง ขนานนามพระบรมคชลักษณ์ และทั้งงาสั้นนับในเนียมตรีอีก ๓ ช้าง ให้นามพระบรมนาเคนทรหนึ่ง พระบรมกุญชรหนึ่ง พระบรม คเชนทรหนึ่ง และพืชทองบังเกด ณบางสะพานแดนกุยบุรี ด้วยพระมหันตบารมีบุญญานุภาพ ครั้งนั้นพระเจ้าลังกาให้ทูตานุทูตจำทูลพระราชสาร มาขอพระภิกษุออกไปตั้งพระพุทธศาสนาในลังกาทวีป จึ่งพระราชทานพระไตรปิฎกธรรม กับพระภิกษุสงฆ์ ๒๕ รูป มีพระอุบาลีเป็นอาทิสงฆ์ ออกไปลังกาทวีป แล้วให้กระทำราชอาชญาแก่พระมหาอุปราช อันกระทำประทุษร้ายภายในพระราชวัง

๑๑๗ จนถึงทิวงคต แล้วพระราชทานอุปราชาภิเษก แก่พระกนิษฐโอรส กรมขุนพรพินิจ สถิตในที่อุปราช พระองค์เสวยสมบัติอยู่ได้ ๒๖ พระวัสสา ก็ทิวงคตในศักราชได้ ๑๑๒๐ ปี ครั้งนั้นพระมหาอุปราชราชบุตร และกรมขุนอนุรักษมนตรี ผู้เป็นพระเชษฐาธิราช จึ่งใหจับพระราชกุมารพี่น้อง ๓ พระองค์ อันต่างพระมารดา คือกรมจิตรสุนทรและกรมสุนทรเทพ กรมเสพภักดี อันมีประทุษจิตต์คิดร้ายนั้น ให้สำเร็จโทษโดย ขัตติยประเพณีเสร็จแล้ว สมเด็จพระมหาอุปราชก็ได้มุรธาภิเษกเสวยสมบัติประมาณ ๑๐ วัน จึ่งมอบเวนราชสมบัติ ถวายพระเจ้าพี่ กรมขุนอนุรักษมนตรี เสร็จแล้วก็ถวายบังคมลาไปบรรพชาสถิตอยู่ณอัศนาวาสวิหาร คือวัดประดู่ ส่วนพระบรมเชษฐาธิราชก็ได้สวรรยาภิเษกสมบัติ สิริกษัตริย์ในราชวงศ์สมเด็จพระเจ้าปราสาททองเว้นแต่พระเพทราชา คณนาเป็นกษัตริย์ ๙ พระองค์ด้วยกัน กาลเมื่อศักราชได้ ๑๑๒๑ ปี พระเจ้าอังวะนามชื่อมังลอง ยกกองพยุหทัพมาล้อมพระมหานครศรีอยุธยา สมเด็จพระอนุชาธิราชลาผนวชออกช่วยว่าราชการป้องกันพระนคร หมู่พะม่าปัจจามิตร ทั้งหลายกระทำยุทธสงคราม ไม่ได้พระนครก็เลิกโยธาทัพกลับ สมเด็จพระอนุชาธิราชก็ถวายบังคม ลาออกทรง บรรพชาใหม่ ฝ่ายภุกามประเทศ มังระราชบุตรมังลองได้ครองสมบัติ จึ่งให้มหานรธาเป็นอัครโยธา คุมพลา- กรทัพมาตีพระมหานครศรีอยุธยาอีกครั้งหลัง ในกาลเมื่อศักราชได้ ๑๑๒๖ ปี หมู่พะม่าปัจจามิตรมาตั้งล้อมพระนครอยู่ ๒ ปี ก็เสียพระนครศรีอยุธยาแก่ปรเสนาข้าศึก ในกาลเมื่อจุลศักราชล่วงได้ ๑๑๒๙

๑๑๘ และบรมขัตติยาธิราช อันเป็นปัจฉิมกษัตริย์ เสวยสมบัติได้ ๙ พระวัสสา คณนาบรมกษัตริย์ได้เสวยสมบัติในกรุงเทพมหานคร บวรทวาราวดี ศรีอยุธยา สิริเป็นขัตติยาธิราชถึง ๓๔ พระองค์สิ้นด้วยกันประมาณปีแต่แรกสร้างพระนคร จนเสียแก่ปัจจามิตรหมู่ข้าศึกนั้น นับได้ ๔๑๗ ปีเป็นกำหนด รับพระราชทานถวายพระสัทธรรมเทศนา ในจุลยุทธการวงศ์ สำแดงเรื่องลำดับโบราณกษัตริย์ อันได้เสวยสมบัติเป็นอิศราธิบดีในสยามประเทศนี้ อันบุพพาจารย์รจนาไว้ เพื่อจะให้บังเกิดประสาทเลื่อมใส และสังเวชในกุศลเหตุ และอกุศลเหตุทั้งปวงต่างๆก็ยุติแต่เท่านี้ บัดนี้จักได้ถวายวิสัชชนาตามเนื้อความ ในคัมภีร์สังคีติการ(๑)วงศ์ สืบเรื่องต้นเป็นลำดับต่อไป กาลเมื่อจุลศักราชล่วงได้ ๑๑๒๙ ขณะเมื่อพระมหานครศรีอยุธยาเสียแก่พะม่าปัจจามิตรแล้ว ในลำดับนั้น พระยาวชิรปราการ ผู้ผ่านเมืองกำแพงเพ็ชร์ กวาดประชาชนอันเหลืออยู่ในชนบทประเทศธานีใหญ่น้อยทั้งปวง ประมวลมาไว้ ในอำนาจแห่งตน นำมาสู่เมืองธนบุรีตั้งเป็นพระนครใหญ่ แล้วได้เสวยไอสุริยสมบัติเป็นบรมกษัตราธิราชแล้วยกพยุหโยธาหาญไปยุทธนาการ ในชนบทประเทศธานีต่าง ๆ มีเมืองนครศรีธรรมราชเป็นอาทิ กวาดชนทั้งปวงนำมาสู่พระนครแห่งตน

(๑) ฉบับพิมพ์ พ.ศ. ๒๔๖๖ โรงพิมพ์ไทย เรียกชื่อว่า สังคีติยวงศ์ พระพิมลธรรม วัดพระเชตุพน เรียบเรียงเมื่อ พ.ศ. ๒๓๓๒ เพื่อยอพระเกียรติสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า จุฬาโลกและกรมพระราชวังบวรในรัชกาลนั้น

๑๑๙ เสวยราชมไหสวรรย์ อยู่ประมาณ ๑๔ ปีเศษ แลกระทำอกุศลกรรมต่าง ๆ ภายหลังมีจิตต์ฟุ้งสร้านถึงซึ่งสัญญาวิปลาศ ประพฤติพิปริตธรรมกรรมอันเดือดร้อน แก่สมณพราหมณาประชาราษฏรทั้งปวง อันชนทั้งหลายมีความโกรธ ชวนกันกำจัดเสียจากราชสมบัติ แล้วพิฆาตฆ่าเสียกับทั้งบุตรนัดดาวงศานุวงศ์ทั้งสิ้น ในกาลนั้นสมเด็จพระบรมกษัตริย์ พระเชษฐา พระอนุชาธิราช ทั้งสองพระองค์ผู้เป็นพงศ์พุทธางกูร ทรงบำเพ็ญพุทธการกจริยา ปรารถนาพระปรมาภิเษกสมโพธิญาณ เสด็จยกพยุหโยธาแต่ปราจีนทิศมาสู่เมืองธนบุรี ทรงกระทำรำงับสรรพอาดูรพัยภิบัติเดือดร้อน แห่งสมณพราหมณาประชาราษฎรให้ผาสุกภาพแล้ว ก็ทรงสร้างพระมหานครใหม่ ฝ่ายฟากคงคาข้างบุรพทิศแห่งเมืองธนบุรี มีป้อมค่ายเชิงเทินปราการทวารนิเวศวังทั้งพระมหามนเทียรปราสาท อาวาสน้อยใหญ่ ภายในภายนอกพระนครให้นามบัญญัติชื่อ กรุงรัตนโกสินทร มหินทรอยุธยา(๑) แลสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราชได้ปราบดาภิเษกเสวยราชสมบัติในพระมหานครใหม่ ในกาลศักราชล่วงได้ ๑๑๔๔ แลพระองค์ทรงอุปถัมภกพระพุทธศาสนาให้จัดสรรพระภิกษุสงฆ์อันทรงพระปริยัติธรรมได้ ๒๑๘ รูป มีสมเด็จพระสังฆราชาธิบดีเป็นประธาน อีกราชบัณฑิตามาตย์ ๓๒ คนกระทำการนวมสังคายนา ชำระพระไตรปิฏกธรรมอันพิรุธ ให้ถูกถ้วนด้วยบทอักษรพยัญชนะบริบูรณ์ ในกาลศักราชล่วงได้ ๑๑๕๐ เสด็จดำรงราชอาณาจักรได้ ๒๘ ปี ก็ทิวงคต จึงสมเด็จพระบรมเชษฐ

(๑) ครั้งรัชกาลที่ ๑ เรียกว่ากรุงรัตนโกสินทรอินทอยุธยา, ต่อมาในรัชกาลที่ ๓ แก้สร้อยเป็น มหินทรอยุธยา, ถึงรัชกาลที่ ๔ แก้เป็น มหินทรายุธยา ๑๒๐ โอรสราชภาคิไนย ได้เสวยศิริราชมไหสวรรย์สืบสันตติวงศ์ ดำรง ปวรราชาฉัตรสืบต่อกันมา ตราบเท่าถึงกาลปัจจุบันทุกวันนี้ สาธุชนทั้งปวงได้ สวนาการสะดับในเรื่องสยามราชวงศ์ พึงปลงปัญญาลงพิจารณาในวิปัสสนาวิถี วิธีทางพระไตรลักษณ์ คือพระอนิจจลักขณะพระทุกขลักขณะ พระอนัตตลักขณะ ให้เห็นแท้ว่านามรูปเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา มีสภาวะบมิได้เที่ยง เป็นวิปริณามธรรม นำมาซึ่งกองทุกข์ปราศจากสุข สิ่งอันแก่นสาร ซึ่งจะถือเที่ยงว่าเป็นของตนบมิได้มีเป็นแท้ แต่สมเด็จบรมขัตติยาธิบดีละพระองค์ ๆ แต่ล้วนทรงสุรศักดิเดชามหันตบุญญานุภาพ ก็บมิอาจพ้นจากอำนาจพระยามัจจุราชได้กษัตริย์บางพระองค์ก็ทิวงคตโดยกาลมรณะ ตามวิสัยโลกธรรมดาบางพระองค์เล่าก็ทำลายพระชนมชีพเป็นอกาลมรณะด้วยอำนาจความเพียรแห่งบุคคลผู้อื่น เหตุด้วยราชสมบัติแต่ล้วนจัดลงในภูมิอศุภ สาธารณทั้งสิ้นบมิได้เศษ ควรจะสังเวชวิจารณปัญญาลงในมรณา นุสสติกรรมฐาน นามชื่อว่าชีวิตแห่งสัตว์ทั้งหลายในโลกสันนิวาส ที่จะยืนยงดำรงอยู่จิรฐีติกาลนั้นหามิได้ บางทีก็ทำลายขันธ์ด้วยสิ้นบุญก็มี ด้วยสิ้นอายุก็มี บางทีเล่าก็มรณภาพด้วยปัจเฉทกกรรม มารัน ทำให้ขาดชีพในกาลอันบมิควรจะพึงตาย ควรที่สาธุสัปบุรุษทั้งหลายจะเจริญในมรณานุสสติภาวนา ตามพุทโธวาทานุศาสน์ ที่พระราชทานแก่พระโยคาพจรกุลบุตร ในพระพุทธศาสนา โดยนัยถวายวิสัชชนามาฉะนี้


งานนี้ ปัจจุบันเป็นสาธารณสมบัติแล้ว เพราะลิขสิทธิ์ได้หมดอายุตามมาตรา 19 และมาตรา 20 ของพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ซึ่งระบุว่า

ถ้ารู้ตัวผู้สร้างสรรค์ ในกรณีที่ผู้สร้างสรรค์เป็นบุคคลธรรมดา
  1. ลิขสิทธิ์หมดอายุเมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ผู้สร้างสรรค์ถึงแก่ความตาย
  2. ถ้ามีผู้สร้างสรรค์ร่วม ลิขสิทธิ์หมดอายุ
    1. เมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ผู้สร้างสรรค์ร่วมคนสุดท้ายถึงแก่ความตาย หรือ
    2. เมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ได้โฆษณางานนั้นเป็นครั้งแรก ในกรณีที่ไม่เคยโฆษณางานนั้นเลยก่อนที่ผู้สร้างสรรค์ร่วมคนสุดท้ายจะถึงแก่ความตาย
ถ้ารู้ตัวผู้สร้างสรรค์ ในกรณีที่ผู้สร้างสรรค์เป็นนิติบุคคล หรือถ้าไม่รู้ตัวผู้สร้างสรรค์
  1. ลิขสิทธิ์หมดอายุเมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ได้สร้างสรรค์งานนั้นขึ้น
  2. แต่ถ้าได้โฆษณางานนั้นในระหว่าง 50 ปีข้างต้น ลิขสิทธิ์หมดอายุเมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ได้โฆษณางานนั้นเป็นครั้งแรก