ประชุมเรื่องเบ็ดเตล็ด 3 เรื่อง/เรื่อง 1
ประเพณีที่เรียกกันว่า "ให้พร" หรือ "อำนวยพร" นี้ ตามความที่ปรากฎในมัชฌิมประเทศแต่โบราณ ต่อเปนการยอมให้พรมีรูปมีร่างหรือที่ให้กันได้จริง ๆ จึงเปนให้พร เหมือนหนึ่งเราชอบใจใคร เราบอกแก่เขาว่า เราจะให้พรแก่เขา ดังนี้ สิ่งของบันดาที่เรามี หรือการสิ่งใดบันดาที่เราจะทำให้แก่เขาได้ ถ้าเขาจะชอบของสิ่งใดหรือต้องการอย่างใด เราก็เปนต้องให้สิ่งนั้นการนั้นแก่เขาตามขอ จึงเปนให้พร มีตัวอย่างที่ปรากฎมาในเวสสันตรชาดก พระอินทร์ยอมให้พรแก่นางผุสดีซึ่งจะต้องจุติมาเกิดในมนุษยโลก นางก็ขอพร ๑๐ ประการ คือ ให้คิ้วดำ ตาดำ เปนต้น พระอินทร์ก็ต้องเปนธุระให้สมประสงค์ อนึ่ง เมื่อพระอินทร์จำแลงเปนพราหมณ์มาขอนางมัทรีต่อพระเวสสันดรในกัณฑ์สักบรรพ ก็ย่อมให้พระเวสสันดรขอพร แลต้องจัดให้ได้ตามประสงค์ทุกประการ ยังตัวอย่างที่มาในเรื่องนารายณ์สิบปางแลเรื่องรามเกียรดิ์ก็มีหลายแห่ง คือ ที่ยักษ์อะไรต่ออะไรไปเผาตัวย่างกายให้พระอิศวรชอบพระทัยจนยอมประทาน "พร" ยักษ์เหล่านั้นก็เลือกขอฤทธิ์ขอเดชต่าง ๆ แล้วไปเที่ยวเกะกะ จนพระผู้เปนเจ้าต้องโกลาหลกันทุกคราว จนที่สุดเมื่อครั้งทศกัณฐ์ยกเขาพระสุเมรุให้ตรงขึ้น ได้ประทานพรคราวนั้น ทศกัณฐ์ขอพระอุมา ก็ต้องประทาน หากพระนารายณ์ลงมาแก้ไข จึงได้พระอุมาคืนขึ้นไป การที่ให้พรตามประเพณีในมัชฌิมประเทศแต่โบราณเปนดังนี้ การให้พรก็ย่อมเปนการสำคัญแลเปนรางวัลอันวิเศษที่ผู้หนึ่งจะให้แก่ผู้ใดได้ เพราะเสมอตีแผ่บาญชีทุนทรัพย์ให้เขาเลือกทีเดียว ถ้าผู้รับพร เช่น ทศกัณฐ์ ไม่มีกัลยาณธรรม ก็อาจจะเรียกพรอย่างเจ็บแสบได้ ประเพณีให้พรกันเช่นนั้น เมื่อคนทั้งหลายมีความรู้ความคิดมากขึ้น ก็เปนธรรมดาที่จะต้องเสื่อมแลน้อยลงมาทุกที จนถึงเปนให้พรกันตามธรรมดาใช้อยู่เดี๋ยวนี้ คือ ให้ด้วยวาจาว่า "ขอให้มีความสุขแลมีความเจริญเถิด" ดังนี้เปนต้น
ก็แลประเพณีที่บุคคลฝ่ายหนึ่งกล่าวด้วยวาจาว่า ขอให้บุคคลอีกฝ่ายหนึ่งมีความสุขมีความเจริญ ที่เรียกกันว่า "ให้พร" นี้ มีเปนประเพณีแทบทุกชาติทุกภาษา ต่างกันแต่โดยลัทธิสาสนาต่าง ๆ ในพวกที่นับถือว่า พระเจ้าเปนผู้สร้างโลก คอยประทานคุณแลโทษแก่มนุษย์อยู่ตามพอพระทัยของพระองค์ เมื่อประสงค์จะให้พรแก่กัน ก็ย่อมกล่าวว่า "ขอให้พระเปนเจ้าประทานสุขเถิด" เช่นนี้เปนใจความ ฝ่ายพวกที่เชื่อถือเทพารักษ์ศักดิ์สิทธิ์ว่า เทพดาทั้งหลายองค์เดียวหรือหลายองค์อาจจะให้ความสุขความทุกข์แก่มนุษย์คนใดได้ตามปราถนา ก็ใช้ถ้อยคำว่า "ขอให้เทวดาอารักษ์คุ้มครองรักษา" เช่นนี้เปนพรบ้างก็มี บางคนไม่กล่าววิงวอนพระเปนเจ้าหรือเทวดา เปนแต่อำนวยพรโดยวาจาเปนกลาง ๆ ว่า "อยู่ดีกินดีเถิด" บ้าง "ขอให้อยู่เย็นเปนสุขเถิด" ดังนี้เปนต้น เปนคำพรก็มีมาก
ประเพณีให้พร ถึงว่าต่างกันโดยวิธีดังกล่าวมานี้ ก็นับได้ว่า เปนประเพณีที่ชอบใช้กัน คือ มีผู้ชอบอำนวยแลมีผู้รับด้วยความนิยมยินดีอยู่ทั่วทั้งโลก
แต่เมื่อลองคิดดูตามที่ได้ที่เสียกันเปนเนื้อเปนหนังในการให้พรอย่างทุกวันนี้ ถ้าจะตั้งคำถามว่า "การที่ให้พรนั้น ผู้ให้ให้อะไร?" ⟨"⟩ผู้รับพรได้รับอะไร?" ดังนี้ ก็ยากที่จะตอบให้หมดทางสงสัยได้ เพราะถึงจะไม่ต้องกล่าวคัดค้านถึงสาสนาลัทธิอันใด ก็พอจะเห็นได้ว่า "พร" ตามอย่างที่ให้กันนี้ ผู้ใดจะให้ใครก็ได้ ใครเคยให้ทานยายแก่ ก็ย่อมได้พรของยายตั้งกระบุง จะให้เท่าใดพรก็ไม่รู้จักหมด ไม่ต้องลงทุนลงรอนก็มีพรให้เขาได้ถมไป เพราะพรเปนสักแต่วาจาที่กล่าว ไม่มีรูปมีร่าง ผู้รับพรนั้นก็ได้รับแต่ลม ยินดีด้วยลมเท่านั้น ถ้าเช่นนี้ จะควรว่า "พร" ไม่มีในการให้ แลการให้พรไม่มีคุณอันใดหรือ? ข้าพเจ้าได้ดำริห์ในเรื่องนี้เห็นว่า "พร" มี แลการให้พรมีคุณได้จริง แต่ "พร" เหมือนกับ "บุญ" มีอย่าง มีชนิด คนชนิดหนึ่งก็ให้พรได้แต่ชนิดอันสมควรแก่ตน แลต้องให้ให้ถูกต้อง จึงจะเปนพร แลถ้าให้ให้ถูกต้องแล้ว ผู้รับก็ได้รับผลพรตามที่ให้ด้วย
ความที่ว่านี้จะต้องอธิบายให้ชัดเจนสักหน่อย ลักษณการให้พรนั้น ผู้ใดให้แก่ผู้ใดก็ตาม นับแต่ยายแก่ขอทานให้เมื่อได้เข้าสารขึ้นไป ก็ย่อมให้ด้วยความยินดี ข้างผู้รับพรก็รับด้วยความยินดี พอจัดว่า ให้พรแลรับพรโดย "มีความยินดีต่อกัน" ข้อนี้ไม่ต้องคัดค้าน ก็ความยินดีที่เกิดต่อกันในเวลาเมื่อให้พรแลรับพรนี้ จะว่า ควรยินดีต่อกันด้วยความเข้าใจอย่างไร? ว่าแต่ตามที่ควรจะเปน ผู้ให้พรย่อมมีความยินดี เพราะผู้อีกฝ่ายหนึ่งได้กระทำความดีต่อตน เช่น ยายแก่ได้รับทานของทายก จึงให้พร หรืออีกอย่างหนึ่ง ผู้ให้พรมีความรักใคร่หมายจะให้อีกฝ่ายหนึ่งได้สุข เช่น บิดามารดาให้พรบุตร นี่จัดเปนความยินดีของฝ่ายให้พร ข้างฝ่ายผู้รับพรนั้นก็ยินดีที่ได้กระทำคุณแก่เขา และรู้ว่า เขายอมรับว่า เปนคุณแก่เขาจริง ประการ ๑ หรือมิฉนั้น ยินดีด้วยรู้ว่า ผู้นั้นเขามีไมตรีจิตต์ต่อตน ประการ ๑ ความยินดีควรมีต่อกันด้วยความเข้าใจอย่างว่ามานี้ ที่จะเข้าใจว่า คำให้พรจะได้จริงดังปากกว่า เปนต้นว่า พระเปนเจ้าจะประทานความสุขให้ดังเขาขอ หรือเทวดาอารักษ์จะคุ้มครองตามถ้อยคำเขา หรืออายุจะยืนอยู่ถึง ๑๐๐๐๐ ปีอย่างเขาว่า เปนการยินดีเหลิงไปทั้งสิ้น เพราะใครบังคับพระเจ้าได้? ใครเปนที่ปรึกษาของเทวดา? อายุใครถึงหมื่นปี? ถึงคำให้พรอย่างอื่น ๆ ถ้าฝ่ายหนึ่งไม่มีได้เองแล้ว จะไปเป่าไปเษกให้อย่างไร
เพราะอย่างนี้ เมื่อว่าแต่โดยย่อ การให้พอต่อกันต้องประกอบพร้อมด้วยความยินดีต่อกัน คือ ให้เมื่อมีไมตรีจิตต์ต่อกันทั้ง ๒ ฝ่าย จึงเปนพร เปนองค์ของพรโดยสาธารณทั่วไป
ถึงการที่ให้พรโดยมีไมตรีจิตต์เปนพรดังว่านี้ ก็ให้ได้เปนชนิด เปนชั้น เปนลำดับกันอีกหลายอย่าง ต่างกันด้วยใจที่เจตนาจะให้พรเปนต้น วาจาที่กล่าวพร แลประพฤติตัวตามพรเปนที่สุด จะยกตัวอย่างเหมือนเช่นเราไปรดน้ำทำขวัญเด็กโกนจุก เด็กนั้นก็ไม่ได้ทำบุญคุณแก่เราอย่างใด เด็กนั้นจะดีชั่วอย่างใดเราก็ไม่รู้ ใจเราตั้งเปนกลาง ๆ ไปโดยคำเชื้อเชิญของญาติเขา ให้พรก็กล่าวแต่ตามที่จะนึกได้ ตามแบบที่เขาให้พรกันเช่นนี้ก็เปนไมตรีจิตต์ แต่เปนพรอย่างต่ำ
อีกอย่างหนึ่ง เหมือนหนึ่งนายมีบ่าวมาก แผ่เผื่อเจือจานเลี้ยงดูอยู่เสมอ ถ้าบ่าวคนใดซื่อตรงจงรักรับใช้ได้การงาน นายก็ให้รางวัลตามสมควรโดยความยินดี บ่าวเมื่อได้รับรางวัลแล้ว ถ้ายิ่งจงรักภักดีต่อนาย แลรับใช้การงานของนายให้แข็งแรงยิ่งขึ้น ฉนี้ ถึงบ่าวนั้นจะไม่ได้ปริปากอำนวยพรให้พระผู้เปนเจ้าประทานสุขแก่นาย หรือขอให้เทวดาคุ้มครองนาย หรือขออะไรต่ออะไรให้ได้แก่นายเลย ก็เปนอันให้พรนายดีกว่าอย่างที่เราให้พรเด็กที่ไปรดน้ำทำขวัญ แลนายย่อมได้รับผลดีกว่าเด็กนั้นได้รับพรของเรามาก
เพราะฉนั้น การที่จะให้พร ถ้าจะให้เปนอย่างสามัญ ให้อย่างเมื่อรดน้ำทำขวัญเด็กก็ได้ หรือให้อย่างยายแก่แกให้ก็ได้ แต่ถ้าจะให้เปนพรอย่างวิเศษ คือ ถ้าผู้ซึ่งจะรับพรเปนผู้ปกครองเรา ก็ต้องตั้งใจจงรักภักดีซื่อตรงต่อท่านผู้นั้น ถ้าผู้จะรับพรเปนผู้เสมอด้วยเรา ก็ต้องรักใคร่ผูกพันด้วยความดี ถ้าหากเปนผู้ต่ำกว่าเรา ก็ต้องเมตตากรุณาไม่รังเกียจเดียดฉัน ส่วนวาจานั้นไม่ต้องกล่าวให้ยืดยาว ความจริงย่อมเปนของประเสริฐ ไม่มีลำดับว่า จริงมาก จริงน้อย แลวาจาที่ดีทั้งปวงก็เหมือนกัน ไม่ต้องกล่าว ถ้ากล่าวคำดีแล้วก็เปนพรทั้งสิ้น ส่วนความประพฤตินั้นเล่า ก็ต้องอุตส่าห์รับใช้สอยแลทำกิจการที่จะเปนความดีแก่ท่านโดยมิได้คิดย่อหย่อน หรือสงเคราะห์กิจธุระแลช่วยป้องกันความทุกข์ หรือแม้แต่สงเคราะห์ไม่มีทุกข์เท่านั้นก็เปนลำดับชั้นลงมาตามควร พรถ้าจะให้โดยอย่างวิเศษ ต้องให้โดยประกอบกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม ดังว่ามานี้ พรอย่างอธิบายมานี้ ที่ข้าพเจ้าว่า "พรมี" แล "ให้พรย่อมมีคุณ"
เรื่องการอำนวยพรนี้ ได้ดำริห์เห็นมานานแล้ว ยังหาได้เรียบเรียงลงเปนหนังสือไม่ สมัยนี้เปนมงคลฤกษ์เฉลิมพระชนม์พรรษาในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวซึ่งเป็นคราวชาวเราเคยถวายไชยมงคลมาทุกปี แลกรรมสัมปาทิกสภาได้จัดให้มีหนังสือวชิรญาณวิเศษลงพิมพ์ฉะเพาะเพื่อนักษัตรฤกษ์นี้ด้วยฉบับ ๑ ข้าพเจ้าจึงถือโอกาศเรียบเรียงส่งลงพิมพ์ตามความซึ่งคิดเห็นมาดังนี้