ประชุมโคลงโลกนิติ/บทนำ
โลกนิติ หรือโลกนีติ เป็นคัมภีร์คำสอนของอินเดียที่โบราณจารย์ได้รวบรวมไว้ และเป็นที่รู้จักกันมาเป็นเวลาช้านาน โดยเฉพาะในประเทศที่ได้รับอิทธิพลจากปรัชญาและวัฒนธรรมอินเดีย อีกทั้งเป็นคัมภีร์ที่ได้รับความนิยมแพร่หลายมากกว่าคัมภีร์อื่น ๆ ในแนวเดียวกัน เช่น คัมภีร์ธรรมนีติ คัมภีร์ราชนีติ และคัมภีร์สุตวัฑฒนนีติ ซึ่งล้วนมีเนื้อหาเป็นคติสอนใจ และให้แนวทางในการดำเนินชีวิตที่ถูกต้องดีงาม ตลอดจนเป็นหลักในการปกครองและบริหารบ้านเมือง เพราะคัมภีร์โลกนีติมีขอบข่ายเนื้อหากว้างขวางครอบคลุมวิถีชีวิตของคนทั่วไปมากกว่า สำนวนภาษาตลอดจนความหมายก็ง่ายต่อการทำความเข้าใจมากกว่าคัมภีร์อื่น ๆ คัมภีร์โลกนีติที่เข้ามาในประเทศไทยนอกจากจะแทรกอยู่ในสุภาษิตต่าง ๆ แล้ว ยังมีผู้แปลเป็นภาษาไทยทั้งร้อยแก้วและร้อยกรอง สำนวนที่รู้จักกันแพร่หลายมากกว่าสำนวนอื่น ๆ คือ โคลงโลกนิติพระนิพนธ์สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเดชาดิศร
- ผู้แต่งคัมภีร์โลกนีติ
ในบทขึ้นต้นของคัมภีร์โลกนีติมีข้อความว่า
"นมัสการพระรัตนตรัยแล้ว ข้าพเจ้าจักแถลงนีติประจำโลกซึ่งรวบรวมมาจากคัมภีร์ต่าง ๆ โดยสังเขปด้วยภาษามคธล้วน"
(โลกนีติไตรพากย์)
แต่ก็ไม่ปรากฏหลักฐานที่ใดว่า "ข้าพเจ้า" ผู้รวบรวมคัมภีร์โลกนีติขึ้นนี้คือนักปราชญ์ท่านใด ศาสตราจารย์ ดร.นิยะดา เหล่าสุนทร ได้วิจัยเกี่ยวกับความเป็นมาของคัมภีร์โลกนีติไว้ในผลงานวิจัยเรื่อง "โคลงโลกนิติ: การศึกษาที่มา" (๒๕๒๗) ว่า มีความเชื่อเป็นสองกลุ่ม กลุ่มที่หนึ่งเชื่อว่า เป็นของชาวมณีปุระซึ่งอพยพหนีภัยสงคามจากเมืองมณีปุระในภาคเหนือของประเทศอินเดียวเข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ในประเทศพม่า กลุ่มที่ ๒ เชื่อว่า เป็นผลงานของจตุรงคพล นักปราชญ์ชาวพม่าผู้มีชีวิตอยู่ในพุทธศตวรรษที่ ๑๙ อย่างไรก็ตาม ผู้แต่งคัมภีร์โลกนีติเป็นผู้นับถือพระพุทธศาสนาและมีความรอบรู้ในคัมภีร์คำสอนต่าง ๆ เป็นอย่างใด เช่น พระไตรปิฎก พระธรรมบท ชาดก ธรรมนีติ หิโตปเทศ และจาณักยศตกะ คาถาในคัมภีร์โลกนีติซึ่งแต่งไว้เป็นภาษาบาลีหรือภาษามคธเท่าที่ปรากฏในวรรณกรรมไทยมีหนึ่งร้อยหกสิบเจ็ดคาถา และมีหลายบทที่แปลงมาจากคาถาภาษาสันสกฤตในคัมภีร์ต่าง ๆ ดังกล่าว
- โลกนิติในวรรณกรรมไทย
สุภาษิตจากคัมภีร์โลกนีติน่าจะแพร่หลายเข้ามาในประเทศไทยตั้งแต่สมัยสุโขทัย และคงจะได้รับความนิยมมากตั้งแต่ในสมัยนั้น ด้วยมีสาระจากคำสอนบางบทในศิลาจารึกสมัยสุโขทัยตรงกับที่ปรากฏในโลกนิติ เช่น
๑. "ไพร่ฟ้าลูกเจ้าลูกขุน ผิดแลผิดแยกแสกว้างกัน สวนดูแท้แลจึ่งแล่งความแก่เขาด้วยซื่อ บ่เข้าผู้ลักมักผู้ซ่อน"
(ศิลาจารึกหลักที่ ๑ พ่อขุนรามคำแหงมหาราช)
- "ท้าวพญาพึงทรงรอบรู้เองในทางได้และทางจ่าย
- พึงทราบเองว่าสิ่งไรควรและไม่ควรกระทำ
- พึงลงทัณฑ์แก่ผู้ควรรับทัณฑ์
- และพึงยกย่องผู้ควรยกย่อง"
(โลกนีติไตรพากย์)
"นรินทร์พึงรอบรู้ | สรรพสรรพ์ | |
การก่อนบ่กอบทัน | เท่ารู้ |
ชาติทุรพลพันธุ์ | ควรข่ม ข่มพ่อ | |
ควรยกยกย่องผู้ | ชอบให้รางวัล" | |
(โคลงโลกนิติ – สำนวนเก่า) |
๒. "เห็นข้าวท่านบ่ใคร่พิน เห็นสินท่านบ่ใคร่เดือด"[ซ]
(ศิลาจารึกหลักที่ ๑ พ่อขุนรามคำแหงมหาราช)
"เมียท่านพิศพ่างเพี้ยง | มารดา | |
ทรัพย์ท่านคืออิฐผา | กระเบื้อง |
รักสัตว์อื่นอาตมา | เทียมเท่า กันแฮ | |
ตรองดั่งนี้จักเปลื้อง | ปลดพ้นสงสาร" | |
(โคลงโลกนิติ – สมเด็จฯ กรมพระยาเดชาดิศร) |
ในสมัยต่อมา จึงได้มีผู้แปลคัมภีร์โลกนีติเป็นภาษาไทยทั้งในรูปร้อยกรองและร้อยแก้วดังนี้
๑. โคลงโลกนิติ หรือโลกนิติที่เป็นร้อยกรอง เป็นการแปลคัมภีร์โลกนีติ แล้วแต่งเป็นโคลงสี่สุภาพ และเพิ่มภาษิตอื่น ๆ (ที่เชื่อกันว่าเป็นโลกนิติ) เข้าไปด้วย จำนวนภาษิตจึงมีมากกว่าที่มีในคัมภีร์โลกนีติ และมีหลายสำนวน เช่น
๑. ๑.๑ โคลงโลกนิติสำนวนเก่า โคลงโลกนิตินี้น่าจะแต่งขึ้นก่อนสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ หรืออย่างน้อยก็ก่อนรัชกาลที่ ๓ มีหลายสำนวนดังปรากฏในสมุดไทยซึ่งเก็บรักษาไว้ในหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร เมื่อสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเดชาดิศร ทรงชำระโคลงโลกนิติ ก็ได้ทรงตรวจสอบจากโคลงโลกนิติสำนวนเก่าเหล่านี้ ต่อมา เมื่อหอพระสมุดวชิรญาณจัดพิมพ์หนังสือ ประชุมโคลงโลกนิติ ครั้งแรกใน พ.ศ. ๒๔๖๐ ก็ได้รวมพิมพ์ไว้ทั้งโลกนีติคาถาภาษาบาลี โคลงโลกนิติสำนวนเก่า และโคลงโลกนิติพระนิพนธ์สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเดชาดิศร
๑. ๑.๒ โคลงโลกนิติ พระนิพนธ์สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเดชาดิศร ฉบับนี้แต่งขึ้นระหว่าง พ.ศ. ๒๓๗๔-๒๓๗๘ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม กรุงเทพมหานคร แล้วให้จารึกตำรับตำราต่าง ๆ ทั้งด้านวรรณคดี โบราณคดี พุทธศาสนา ประเพณี ตำรายา ตลอดจนสุภาษิต ลงบนแผ่นศิลาที่ประดับผนังปูชนียสถานต่าง ๆ ที่ทรงปฏิสังขรณ์นั้น สำหรับให้ประชาชนได้ศึกษาหาความรู้ ในการนี้ โปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเดชาดิศร ทรงชำระโคลงโลกนิติสำนวนเก่าให้ถูกต้องตามพระบาลี บางโคลงก็ทรงพระนิพนธ์ขึ้นใหม่ ปรากฏต้นฉบับในสมุดไทยสี่ร้อยแปดบท แล้วจารึกแผ่นศิลาประดับศาลาทิศพระมณฑปสี่หลัง แต่จำนวนโคลงที่จารึกไว้มีมากกว่านี้ เข้าใจว่า ทรงเพิ่มเติมภายหลังเพื่อให้พอดีกับพื้นที่ที่จะจารึก โคลงโลกนิติพระนิพนธ์ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเดชาดิศรนี้ได้รับความนิยมแพร่หลายมากกว่าสำนวนอื่น ๆ รวมทั้งได้ใช้เป็นแบบเรียนในโรงเรียนด้วย
๑. ๑.๓ โคลงโลกนิติ (เข้าใจว่าเป็น) สำนวนของพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) ฉบับนี้แปลจากคัมภีร์โลกนีติฉบับภาษาบาลีซึ่งหนังสือ วชิรญาณ เล่ม ๒ จ.ศ. ๑๒๔๗ ได้นำคัมภีร์โลกนีติฉบับภาษาบาลีซึ่งแบ่งออกเป็นเจ็ดกัณฑ์ โคลงโลกนิติสำนวนพระยาศรีสุนทรโวหาร และโคลงโลกนิติพระนิพนธ์สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเดชาดิศร มารวมพิมพ์ไว้ในเล่มเดียวกันเรียงตามลำดับสำนวน
๒. โลกนิติที่เป็นร้อยแก้ว โลกนิติที่เป็นร้อยแก้วมีหลายสำนวน เช่น
๒. ๒.๑ โลกนีติไตรพากย์ หรือ โลกนีติคารม พ.ศ. ๒๔๖๑ สำนวนของพระสารประเสริฐ (ตรี นาคะประทีป)[ฌ] ที่เรียกว่า "ไตรพากย์" นั้นด้วยในแต่ละคาถาจัดทำเป็นสามภาษาเพื่อสะดวกต่อการศึกษาเทียบเคียง คือ ภาษาบาลี ภาษาไทย (ร้อยแก้ว) และภาษาอังกฤษ จำแนกเนื้อหาเป็นเจ็ดกัณฑ์ คือ ปัณฑิตกัณฑ์ สาธุชนกัณฑ์ พาลทุรชนกัณฑ์ มิตรกัณฑ์ อิตถีกันฑ์ ราชกัณฑ์ และเบ็ดเตล็ด รวมทั้งสิ้นหนึ่งร้อยหกสิบเจ็ดคาถา คาถาใดที่ตรงกับโคลงโลกนิติพระนิพนธ์สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเดชาดิศร ก็จะคัดโลงบทนั้น ๆ มาพิมพ์ไว้ด้วย
๒. ๒.๒ โลกนิติปกรณ์ สำนวนของแสง มนวิทูร ท่านได้แปลคัมภีร์โลกนิติเป็นภาษาไทย (ร้อยแก้ว) โดยแบ่งออกเป็นเจ็ดกัณฑ์ คือ บัณฑิตกัณฑ์ สุชนกัณฑ์ พาลทุชชนกัณฑ์ มิตรกัณฑ์ อิตถีกัณฑ์ ราชกัณฑ์ และปกิรณกกัณฑ์ ในแต่ละกัณฑ์พิมพ์คาถาภาษาบาลีไว้ทางหน้าซ้าย พิมพ์คำแปลภาษาไทยไว้ทางหน้าขวา เทียบกันบทต่อบท รวมทั้งสิ้นหนึ่งร้อยห้าสิบแปดคาถา
๒. ๒.๓ โลกนีตี-สุตวัฑฒนนีติ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ราชบัณฑิตยสถานได้ชำระและแปลคัมภีร์โลกนีติและคัมภีร์สุตวัฑฒนนีติเป็นสี่ภาษา คือ คาถาภาษาบาลี คาถาภาษาบาลีเขียนเป็นอักษรโรมัน คำแปลภาษาไทย และคำแปลภาษาอังกฤษของคาถานั้น ๆ เฉพาะภาคโลกนีตินั้นแบ่งเนื้อหาเป็นเจ็ดกัณฑ์ รวมหนึ่งร้อยหกสิบเจ็ดคาถา เช่นเดียวกับ โลกนีติไตรพากย์ โลกนีติ-สุตวัฑฒนนีติ นี้จัดพิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๐
๓. โลกนิติคำฉันท์ สำนวนของขุนสุวรรณสารวัดแต่งเมื่อ พ.ศ. ๒๓๘๕ เป็นคำฉันท์จำนวนสองร้อยหกสิบห้าบท ดำเนินเนื้อความตรงตามคาถาของคัมภีร์โลกนีติ
- สาระจากโคลงโลกนิติ
โลกนิติเป็นวรรณคดีประเภทคำสอนที่รู้จักกันแพร่หลายในประเทศไทยมากกว่าเจ็ดร้อยปี และกล่าวได้ว่า เป็นที่รู้จักไม่แต่เฉพาะในกลุ่มนักเรียนนักศึกษาผู้สนใจวรรณคดีไทยเท่านั้น แต่ประชาชนคนไทยทุกคนก็รู้จักสุภาษิตคำสอนจากโลกนิติยิ่งกว่าจากสุภาษิตเรื่องอื่น ๆ และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง จากโคลงโลกนิติพระนิพนธ์ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเดชาดิศร ที่เป็นเช่นนั้นเพราะว่าโคลงโลกนิติมีสาระจับใจคนไทยสามประการ คือ
๑. ขอบข่ายของคติคำสอน เป็นคำสอนที่จำแนกเนื้อหาตามลักษณะของบุคคลประเภทต่าง ๆ คือ ผู้รู้หรือผู้มีปัญญา คนดีคนพาล ผู้เป็นมิตร สตรี ผู้ปกครองหรือพระราชา และคำสอนเบ็ดเตล็ด สาระคำสอนจึงกว้างขวางครอบคลุมความรู้สึกนึกคิดและชีวิตความเป็นอยู่ของชนทุกกลุ่ม และมักนำไปกล่าวอ้างในวรรณคดีเรื่องอื่น ๆ ด้วย เช่น
๑. ๑)
"วิชาควรรักรู้ | ฤๅขาด | |
อย่าหมิ่นศิลปศาสตร์ | ว่าน้อย |
รู้จริงสิ่งเดียวอาจ | มีมั่ง | |
เลี้ยงชีพช้าอยู่ร้อย | ชั่วหลื้อเหลนหลาน" | |
(โคลงโลกนิติ – สมเด็จฯ กรมพระยาเดชาดิศร) |
"อันความรู้รู้กระจ่างเพียงอย่างเดียว | แต่ให้เชี่ยวชาญเถิดคงเกิดผล | |
อาจจะชักเชิดชูฟูสกนธ์ | ถึงคนจนพงศ์ไพร่คงได้ดี" | |
(นิติสารสาธก – พระยาศรีสุนทรโวหาร) |
๑. ๒)
"ราชรถปรากฏด้วย | ธงชัย | |
ควันประจักษ์แก่กองไฟ | เที่ยงแท้ |
ราชาอิสระใน | สมบัติ | |
ชายย่อมเฉลิมเลิศแล้ | ปิ่นแก้วเกศหญิง" | |
(โคลงโลกนิติ – สมเด็จฯ กรมพระยาเดชาดิศร) |
"ธงชัยอันไพบุลในงอน | เป็นอาภรณ์แห่งรถยาน | |
ธุมาก็ปรากฏแก่กรานต์ | แลเถกิงระเริงแสง |
ราชาก็ปรากฏเป็นปิ่น | นครินทรเขตแขวง | |
สวามีเป็นศรีสวัสดิแสดง | ศักดิ์สง่าแก่นารี" | |
(กฤษณาสอนน้องคำฉันท์ – กรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส) |
๒. เนื้อหาของคติคำสอน อินเดียกับไทยนั้นมีความเชื่อบางประการคล้ายคลึงกันอยู่มาก ทำให้คนไทยเข้าใจความหมายเปรียบเทียบในคำสอนนั้น ๆ ได้ดี ทั้งบางคติก็ตรงกับนิทานชาดกและคติพื้นบ้านที่คนไทยรู้จักดี และบางคติก็มีสาระตรงกับคติของชาติอื่น ๆ ด้วย เช่น
บทที่มีคติคำสอนที่เปรียบเทียบกับนิทานชาดกเรื่อง นกแขกเต้า หรือสัตติคุมพชาดก ในนิบาตชาดก
"ได้เห็นนักปราชญ์ไซร้ | เป็นสุข | |
อยู่ร่วมเรือนหายทุกข์ | ค่ำเช้า |
ผู้พาลสั่งสอนปลุก | ใจดั่ง พาลนา | |
ยลเยี่ยงนกแขกเต้า | ตกต้องมือโจร" | |
(โคลงโลกนิติ – สมเด็จฯ กรมพระยาเดชาดิศร) |
บทที่มีคติคำสอนตรงกับคติพื้นบ้านของไทย เช่น
"หมาใดตัวร้ายขบ | บาทา | |
อย่าขบตอบต่อหมา | อย่าขึ้ง |
ทรชนชาติช่วงทา | รุณโทษ | |
อย่าโกรธทำหน้าบึ้ง | ตอบถ้อยถือความ" | |
(โคลงโลกนิติ – สมเด็จฯ กรมพระยาเดชาดิศร) |
"สุวานขบอย่าขบตอบ"
(สุภาษิตพระร่วง)
"หมากัดอย่ากัดตอบ"
(สุภาษิตไทย)
บทที่มีคติคำสอนตรงกับคติของชาติอื่น ๆ ด้วย เช่น
"รู้น้อยว่ามากรู้ | เริงใจ | |
กลกบเกิดอยู่ใน | สระจ้อย |
ไป่เห็นชเลไกล | กลางสมุทร | |
ชมว่าน้ำบ่อน้อย | มากล้ำลึกเหลือ" | |
(โคลงโลกนิติ – สมเด็จฯ กรมพระยาเดชาดิศร) |
"กบในสระไม่เคยเห็นทะเลหลวงเลย"
(สุภาษิตญี่ปุ่น)
"คนมีความรู้น้อยก็เหมือนกับกบ"
(สุภาษิตจีน)
คติคำสอนที่ได้รับความนิยมแพร่หลายนอกจากนำไปอ้างในวรรณกรรมต่าง ๆ ดังกล่าวแล้ว กวียังได้นำไปแต่งเป็นเรื่องสุภาษิตโดยตรงก็มีอยู่บ้าง เช่น สุนทรภู่นำไปแต่ง สุภาษิตสอนเด็ก ดังตัวอย่างเปรียบเทียบต่อไปนี้
"ยอข้ายอเมื่อแล้ว | ภารกิจ | |
ยอยกครูยอสนิท | ซึ่งหน้า |
ยอญาติประยูรมิตร | เมื่อลับ หลังแฮ | |
คนหยิ่งแบกยศบ้า | อย่ายั้งยอควร |
ทรัพย์มีสี่ส่วนไซร้ | ปูนปัน | |
ภาคหนึ่งพึงเกียดกัน | เก็บไว้ |
สองส่วนเบ็ดเสร็จสรรพ์ | การกิจ ใช้นา | |
ยังอีกส่วนควรให้ | จ่ายเลี้ยงตัวตน |
เริ่มการตรองตรึกไว้ | ในใจ | |
การจะลุจึ่งไข | ข่าวแจ้ง |
เดื่อดอกออกห่อนใคร | เห็นดอก | |
ผลผลิตติดแล้วแผร้ง | แพร่ให้คนเห็น" | |
(โคลงโลกนิติ – สมเด็จฯ กรมพระยาเดชาดิศร) |
"จะยอข้าควรยอต่อแล้วกิจ | จะยอมิตรอย่าให้มากจะบัดสี | |
จะยอครูดูระบอบให้ชอบที | ยอสตรีชมรูปซูบทรงงาม... |
อนึ่งทรัพย์มีส่วนให้ควรแบ่ง | สองส่วนแจงแจกใช้ตามปรารถนา | |
อีกส่วนหนึ่งซื้อเสบียงเลี้ยงอาตมา | ส่วนหนึ่งอย่าหยิบใช้ไว้กับตน... |
อนึ่งเริ่มกิจเก็บไว้แต่ในอก | ต่อคิดตกจึงค่อยแย้มขยายไข | |
เช่นกับเดื่อออกดอกไม่บอกใคร | ครั้นผลใหญ่เห็นทั่วทุกตัวคน" | |
(สุภาษิตสอนเด็ก – สุนทรภู่) |
๓. ลักษณะฉันทลักษณ์ คาถาในคัมภีร์โลกนีติมีสี่บาท กวีไทยจึงได้เลือกใช้โคลงสี่สุภาพในการแต่งแปลเป็นภาษาไทย ด้วยสามารถจำกัดจำนวนบาทให้จบในสี่บาทได้เท่าคาถาเดิม และโคลงสี่สุภาพนั้นยังเป็นคำประพันธ์ที่บังคับทั้งจำนวนคำและวรรณยุกต์ ทำให้อ่านได้ไพเพราะกว่ากลอน ทั้งไม่ต้องใช้อลังการศัพท์มากเหมือนการแต่งเป็นฉันท์หรืออื่น ๆ โคลงโลกนิติจึงมีความไพเราะทั้งในด้านสำนวนภาษาอันสละสลวย ด้านน้ำหนักเสียงสูงเสียงต่ำตามบังคับแห่งวรรณยุกต์ และด้านความชัดเจนในการสื่อความหมาย เมื่อสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเดชาดิศร ทรงชำระโคลงโลกนิติสำนวนเก่า ก็ได้ทรงรักษาฉันทลักษณ์ของโคลงสี่สุภาพไว้ แต่ทรงปรับแก้สำนวนภาษาและการใช้ศัพท์ให้ชัดเจนและง่ายต่อการทำความเข้าใจยิ่งขึ้น ดังจะยกตัวอย่างเปรียบเทียบให้เห็นทั้งสำนวนเก่า สำนวนของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเดชาดิศร และสำนวนร้อยแก้ว ดังนี้
๓. ๑)
"ปมํ น ปราชิโต สิปฺปํ | ทุติยํ น ปราชิโต ธนํ | |
ตติยํ น ปราชิโต ธมฺมํ | จตุตฺถํ กํ กริสฺสติ" |
"วัยหนึ่งไป่เรียนรู้ | วิทยา | |
วัยสองไป่หาทรัพย์ | สิ่งแก้ว |
วัยสามไป่รักษา | ศีลสืบ บุญนา | |
วัยสี่เกินแก่แล้ว | ก่อสร้างสิ่งใด" | |
(สำนวนเก่า) |
"ปางน้อยสำเหนียกรู้ | เรียนคุณ | |
ครั้นใหญ่ย่อมหาทุน | ทรัพย์ไว้ |
เมื่อกลางแก่แสวงบุญ | ธรรมชอบ | |
ยามหง่อมทำใดได้ | แต่ล้วนอนิจจัง" | |
(สมเด็จฯ กรมพระยาเดชาดิศร) |
- "ชั้นที่หนึ่ง ไม่หาวิชาใส่ตัว
- ชั้นที่สอง ไม่แสวงทรัพย์ [ไว้บำรุงตน]
- ชั้นที่สาม ไม่ประกอบธรรมเพื่อเปนที่พึ่ง
- [แล้วทีนี้] จัดทำอไรในชั้นที่สี่เล่า"[ญ]
(โลกนีติไตรพากย์)
- "บุคคลมิได้สร้างสมซึ่งศิลปะศาสตร์ในปฐมวัย
- มิได้สร้างสมทรัพย์ในทุติยวัย มิได้สมธรรมในตติยวัย
- เขาจะกระทำอะไรในจตุตถวัย"
(โลกนีติปกรณ์)
- "ในวัยที่ ๑ (วัยเด็ก) ไม่แสวงหาวิชา
- ในวัยที่ ๒ (วัยหนุ่มสาว) ไม่แสวงหาทรัพย์
- ในวัยที่ ๓ (วัยผู้ใหญ่) ไม่แสวงหาธรรม
- ในวัยที่ ๔ (วัยแก่เฒ่า) จักทำอะไรได้"
(โลกนีติ-สุตวัฑฒนนีติ)
๓. ๒)
"ติลมตฺตํ ปเรสํ ว | อปฺปโทสญฺจ ปสฺสติ | |
นาฬิเกรมฺปิ สโทสํ | ขลชาโต น ปสฺสติ" |
"โทษท่านปานหนึ่งน้อย | เม็ดงา | |
พาลเพ่งเล็งเอามา | เชิดชี้ |
ผลพร้าวใหญ่เต็มตา | เปรียบโทษ ตนนา | |
บ่อยบ่อยร้อนหนจี้ | บอกแล้วฤๅเห็น" | |
(สำนวนเก่า) |
"โทษท่านผู้อื่นเพี้ยง | เม็ดงา | |
ปองติฉินนินทา | จะไจ้ |
โทษตนใหญ่หลวงสา | หัสยิ่ง นักนา | |
ปูนดั่งผลพร้าวไส้ | อาจโอ้อับเสีย" | |
(สำนวนเก่า) |
"โทษท่านผู้อื่นเพี้ยง | เมล็ดงา | |
ปองติฉินนินทา | ห่อนเว้น |
โทษตนเท่าภูผา | หนักยิ่ง | |
ป้องปิดคิดซ่อนเร้น | เรื่องร้ายหายสูญ" | |
(สมเด็จฯ กรมพระยาเดชาดิศร) |
- "โทษของคนอื่นแม้เลกเท่าเมล็ดงา
- คนพาลก็สอดเหน
- โทษของตนแม้ใหญ่เท่าผลมะพร้าว
- ตนเองก็มิเหน"[ญ]
(โลกนีติไตรพากย์)
- "คนชาติชั่วเห็นโทษน้อยของผู้อื่นเพียงเท่าเมล็ดงา
- แต่โทษของตนโตเท่าลูกมะพร้าวมองไม่เห็น"
(โลกนิติปกรณ์)
- "โทษของคนอื่นแม้เพียงเล็กน้อยเท่าเมล็ดงาคนชั่วก็มองเห็นได้
- แต่โทษของตนแม้ใหญ่โตเท่าผลมะพร้าวกลับมองไม่เห็น"
(โลกนีติ-สุตวัฑฒนนีติ)
อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าโลกนิตินี้จะปรากฏในรูปของคาถาภาษาบาลีหรือร้อยแก้วร้อยกรองลักษณะใด คุณค่าในคติคำสอนย่อมเป็นเครื่องจรรโลงวรรณกรรมเรื่องนี้ให้แพร่หลายเป็นหลักประพฤติปฏิบัติของชนทุกชาติทุกภาษาในโลกสมตามชื่อแห่งวรรณกรรมตลอดไป
- ต้นฉบับหนังสือโคลงโลกนิติของทางราชการ
โคลงโลกนิติสำนวนต่าง ๆ ที่กล่าวมาข้างต้นที่ได้ชำระ สอบทาน และจัดพิมพ์เผยแพร่ ถือเป็นลิขสิทธิ์ของทางราชการ ในปัจจุบันมีสามสำนวน คือ
๑. โคลงโลกนิติพระนิพนธ์สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเดชาดิศร หนังสือเล่มนี้ กรมศึกษาธิการ กระทรวงธรรมการ ได้ชำระสอบทานและจัดพิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๗ (ร.ศ. ๑๒๓) ใช้เป็นแบบเรียนสำหรับนักเรียนในชื่อเรื่อง "หนังสือสอนอ่าน จินตกระวีนิพนธ์ สุภาษิตโลกนิติ์คำโคลง พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมสมเด็จพระเดชาดิศร ทรงชำระของเก่า" ขอบเขตของต้นฉบับมีเฉพาะโคลงที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเดชาดิศร ทรงชำระไว้สี่ร้อยแปดบท (รวมโคลงนำสองบท และเป็นโคลงที่ซ้ำกันอยู่ห้าบท) กับโคลงส่งท้ายอีกสองบท[ฎ] นอกจากนี้ กรมศึกษาธิการได้นำโคลงที่พบในแผ่นศิลาที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามซึ่งมิได้ซ้ำกับโคลงสี่ร้อยแปดบทนั้นมาพิมพ์รวมไว้ข้างท้ายด้วยอีกสามสิบบท วิธีการชำระสอบทานนั้นใช้ต้นฉบับสมุดไทยสี่ฉบับ คือ ฉบับของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสมมตอมรพันธ์ ของเจ้าหมื่นศรีสรรักษ์ ของพระยาอนุรักษ์ราชมนเทียรซึ่งมีแต่เล่มเต้นเล่มเดียว กับของกระทรวงธรรมการซึ่งมีแต่เล่มสองเล่มเดียว และได้สอบทานกับโคลงโลกนิติในแผ่นศิลาที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามด้วย ผู้ชำระสอบทานที่บันทึกไว้ใน "คำนำเฉภาะเรื่อง" ของฉบับพิมพ์ครั้งแรก คือ "ขุนประสิทธิ์อักษรสาร เปนเจ้าหน้าที่ตรวจ และหลวงศรีวรโวหาร หลวงญาณวิจิตร หลวงประเสริฐอักษรนิติ์ เปนที่ปรึกษาหารือและค้นคว้าหาหลักถานในอักขระวิธีและถ้อยคำที่สงสัย พระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุนสมมตอมรพันธ์ ได้ทรงพระอุสาหะประทานเวลาช่วยตรวจถ้อยคำและเนื้อความ และประทานความเห็นเปนครั้งที่สุดด้วยจนตลอด เหตุฉะนั้น ควรเปนที่จดจำไว้ว่า ท่านผู้ที่ได้มีพระนามและนามทั้งนี้ได้มีพระคุณอยู่ในหนังสือฉบับนี้มาก"[ฏ] ต้นฉบับของหนังสือเล่มนี้ปัจจุบันตกเป็นลิขสิทธิ์ของกรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ
ต่อมา คณะกรรมการคัดสรรและเผยแพร่วรรณกรรมของชาติ กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ ได้นำต้นฉบับมาจัดพิมพ์ขึ้นใหม่โดยสอบทานกับฉบับพิมพ์ครั้งต่าง ๆ และกับโคลงโลกนิติจากหนังสือประชุมจารึกวัดพระเชตุพน รวมทั้งหนังสือประชุมโคลงโลกนิติ ฉบับหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร แก้ไขอักขรวิธีให้ถูกต้องเหมาะสม จัดทำคำอธิบายศัพท์ ดรรชนีค้นโคลง และภาพประกอบ แล้วจัดพิมพ์ขึ้นใหม่เป็นจำนวนโคลงสี่ร้อยสี่สิบบท
๒. ประชุมโคลงโลกนิติ ฉบับหอสมุดแห่งชาติ เมื่อหอพระสมุดวชิรญาณซึ่งเป็นหอสมุดสำหรับพระนครรวบรวมสมุดไทยที่เป็นต้นฉบับโคลงโลกนิติมาได้อีกเป็นจำนวนมาก พบว่า ฉบับครั้งกรุงศรีอยุธยามีคาถากำกับโคลงไว้ด้วย โคลงบทหนึ่งมีหลายสำนวน จึงได้มอบหมายให้หลวงญาณวิจิตร (สิทธิ์ โลจนานนท์ เปรียญ) รวบรวม ชำระ สอบทานทั้งคาถาและโคลง จัดเข้าเป็นชุดตามเนื้อความ เฉพาะส่วนที่เป็นคาถา สอบรู้ว่ามาจากคัมภีร์ใด ก็จะระบุชื่อคัมภีร์นั้นกำกับไว้ด้วย เช่น "ธรรมบท" "โลกนิติ" ส่วนโคลงที่เป็นสำนวนของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเดชาดิศร จะกำกับท้ายโคลงว่า "สมเด็จพระเดชาฯ" สำนวนที่ไม่ปรากฏนามผู้แต่งใช้ว่า "สำนวนเก่า" หรือ "จารึกศิลา" ได้โคลงภาษิตรวมห้าร้อยเก้าสิบสามชุด จำนวนเก้าร้อยสิบเอ็ดบท (ไม่รวมโคลงนำสองบท และโคลงส่งท้ายอีกสองบท)[ฐ] ต้นฉบับของหนังสือเล่มนี้เมื่อพิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกใน พ.ศ. ๒๔๖๐ ใช้ชื่อว่า ประชุมโคลงโลกนิติ และปัจจุบันใช้ว่า ประชุมโคลงโลกนิติ ฉบับหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร กระทรวงศึกษาธิการ เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์
๓. ประชุมโคลงโลกนิติ ฉบับกรมวิชาการ คณะกรรมการคัดสรรและเผยแพร่วรรณกรรมของชาติ กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ ได้ขออนุญาตกรมศิลปากรนำต้นฉบับหนังสือ ประชุมโคลงโลกนิติ ฉบับหอสมุดแห่งชาติ มาตรวจสอบกับหนังสือโคลงโลกนิติซึ่งกระทรวงศึกษาธิการได้จัดพิมพ์สำหรับใช้เป็นหนังสือแบบเรียน ก็พบว่า มีโคลงหลายบทในฉบับหอสมุดแห่งชาติที่เป็นโคลงซ้ำกันและควรตัดออก กับโคลงบางโคลงที่มีความหมายใกล้เคียงกัน แต่จัดพิมพ์แยกเป็นคนละชุดไว้ในหนังสือเล่มเดียวกัน อีกทั้งยังมีความคลาดเคลื่อนในคำและอักขรวิธีทั้งของคาถาและโคลงอันเนื่องมาจากการพิมพ์ซ้ำหลายครั้ง คณะกรรมการคัดสรรและเผยแพร่วรรณกรรมของชาติได้ตรวจสอบคาถาประจำโคลงที่มีอยู่เดิมให้ถูกต้องตามคัมภีร์ฉบับที่ชำระใหม่ ตรวจสอบคาถาเพิ่มเติมจากคัมภีร์ภาษิตอื่น ๆ ตัดโคลงที่ซ้ำซ้อน แก้ไขอักขรวิธีเท่าที่จำเป็น และจัดทำคำอธิบายศัพท์ รวมเป็นโคลงภาษิตห้าร้อยเก้าสิบสี่ชุด จำนวนเก้าร้อยสองบท (รวมโคลงนำสองบท และโคลงส่งท้ายอีกสี่บท) รายละเอียดการดำเนินงานปรากฏในคำชี้แจงนั้นแล้ว