ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 กับการประกอบสร้างสถานะอัน "ล่วงละเมิดมิได้"

ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 กับการประกอบสร้างสถานะอัน "ล่วงละเมิดมิได้"1
นพพล อาชามาส
บทคัดย่อ

บทความนี้พิจารณาการเปลี่ยนแปลงความหมายของข้อหา "หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ" หรือความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ในสังคมไทย โดยเสนอว่าการพิจารณาข้อหานี้ มิสามารถกระทําได้เพียงการพิจารณาความเปลี่ยนแปลงในตัวบทกฎหมาย แต่ความหมายของการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพยังมีความแปรเปลี่ยนเรื่อยมาตามรูปแบบของรัฐ สถานะบทบาทของสถาบันกษัตริย์และการประกอบสร้างอุดมการณ์ในช่วงต่างๆ อีกทั้งการตีความเชื่อมโยงข้อหานี้เข้ากับสถานะ "อันล่วงละเมิดมิได้" ของสถาบันกษัตริย์ก็เป็นสิ่งที่เพิ่งเกิดขึ้นใหม่ในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา โดยการเชื่อมโยงในลักษณะนี้ภายใต้อุดมการณ์กษัตริย์นิยมในบริบทความขัดแย้งทางการเมืองปัจจุบัน ทําให้ความผิดข้อหานี้ถูกตีความให้ความหมายขยายความอย่างกว้างขวาง และส่งผลถึงการจํากัดเสรีภาพการแสดงออกในสังคมไทย

คําสําคัญ: หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ, ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112, อันล่วงละเมิดมิได้, สถาบันพระมหากษัตริย์

Abstract

This article considers the changing definition of lèse majesté law or Article 112 of the Criminal Code in Thailand. This article suggests meaning of this law cannot be considering only in the text but content of the law has also been subject to change depending on the format of the state, status and role of the monarchy and the construction of the ideology in different times. Moreover, the interpretation of this law linked with an “inviolable” of the monarchy just has been constructed in the few decades. That links under royalist ideology in the current political context, makes lèse majesté has been interpreted extended widely and has been affecting to freedom of expression in Thailand.

Keywords: Lèse Majesté, Article 112 of the Thai Criminal Code, Inviolable, Monarchy

บทนำ

"ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เป็นบทบัญญัติที่เสริมให้รัฐธรรมนูญมาตรา 8 มีผลในทางปฏิบัติอย่างแท้จริง จึงไม่มีมูลกรณีที่จะอ้างว่าขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 8 ได้"
(คําวินิจฉัยกลางของศาลรัฐธรรมนูญที่ 28-29/2555 10 ตุลาคม 2555)

ท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมืองในสังคมไทยที่ ดําเนินมาเกือบทศวรรษนั้น ปฏิเสธไม่ได้ว่าการถกเถียงในเรื่องประมวลกฎหมายอาญามาตรา 1122 หรือข้อหา "หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ"3 นั้น เป็นประเด็นปัญหาใจกลางสําคัญอย่างหนึ่งันเกิดขึ้นไปพร้อมๆ กับการขยายตัวของการกล่าวหาและบังคับใช้ข้อหานี้เพิ่มมากขึ้นอย่างไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ข้อถกเถียงที่เกิดขึ้นมีทั้งในแง่มุมของปัญหาการตีความกฎหมาย ปัญหาการบังคับใช้ ปัญหาในกระบวนการยุติธรรม บริบททางสังคมการเมืองที่ทําให้เกิดการใช้ข้อหานี้เพิ่มขึ้น หรือผลกระทบทั้งต่อบุคคลที่ถูกกล่าวหาและต่อสังคมโดยรวมในด้านต่างๆ

กล่าวเฉพาะในด้านของการตีความข้อหานี้ กระแสแนวโน้มประการหนึ่งที่ปรากฏให้เห็นได้ชัดเจนในหมู่บุคลากรในกระบวนการยุติธรรม และนักกฎหมายที่พยายามอธิบายให้ความชอบธรรมกับข้อหานี้ คือชุดคําอธิบายและการทําความเข้าใจข้อหามาตรา 112 นี้ ในฐานะรูปธรรมของบทบัญญัติมาตรา 8 ใน รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ที่ระบุว่า "องค์พระมหากษัตริย์ทรงดํารงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟิ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใดๆ มิได้"4 หรือเป็นข้อหาที่ทําให้มาตรา 8 นี้เกิดผลในทางปฏิบัติ

การตีความลักษณะนี้ ปรากฏทั้ งในคําวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ คําพิพากษาหลายกรณีในคดีมาตรา 112 ในช่วงที่ผ่านมา ในบทความและคําอธิบายของนักกฎหมายคนสําคัญในเมืองไทยหลายคน ดังเช่น มีชัย ฤชุพันธุ์ (2555) ที่เสนอว่าบทบัญญัติในลักษณะมาตรา 8 ของรัฐธรรมนูญ 2550 นั้นมีมาตั้งแต่รัฐธรรมนูญถาวรฉบับแรกในปี 2475 แล้ว โดยเมื่อรัฐธรรมนูญรับรองฐานะของพระมหากษัตริย์ให้เป็นที่เคารพสักการะ จึงจําเป็นอยู่เองที่จะต้องมีบทกฎหมายกําหนดว่าคนทั่วไปจะต้องทําอย่างไร ซึ่งกฎหมายก็มิได้กําหนดให้ต้องทําอะไรมากไปกว่า "การไม่ไป หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงการอาฆาตมาดร้าย" ดังนั้น ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จึงมีขึ้นเพื่อคุ้มครองในเรื่องนี้ และเป็นการบัญญัติที่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญของไทยแล้ว

เช่นเดียวกันกับคําอธิบายของบวรศักดิ์ อุวรรณโณ (2552) ที่เห็นว่าบทบัญญัติตามมาตรา 8 ในรัฐธรรมนูญปัจจุบัน เป็น "ผล" ของวัฒนธรรมและจริยธรรมไทยที่เป็นเอกลักษณ์ กล่าวคือการมีสถาบันพระมหากษัตริย์ที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนาน มีสถานะสูงส่งทั้งทางศาสนาและสังคม แต่ก็มีความใกล้ชิดกับประชาชนและเป็นที่เคารพรักของประชาชนอย่างยิ่ง ด้วยพระราชกรณียกิจ นานัปการที่ทรงประกอบเพื่อประชาชน มาตรานี้จึงไม่ใช่ "เหตุ" ที่บังคับให้คนไทยเคารพพระมหากษัตริย์แต่อย่างใด และทําให้เมื่อมีการวิพากษ์วิจารณ์พระมหากษัตริย์ โดยไม่เป็นธรรม คนไทยส่วนใหญ่ก็รู้สึกเหมือน "พ่อ" ตนเองกําลังถูกทําร้ายและยอมรับไม่ได้

หากแต่คําอธิบายทางกฎหมายหรือแม้แต่ทางสั งคมในลักษณะนี้กลับละเลยมองข้ามว่าวัฒนธรรมหรือจริยธรรมดังกล่าวมิใช่สิ่งที่มีอยู่มาแต่เดิมหรือมีลักษณะเหมือนในอดีตอย่างในสมัยอยุธยาหรือย้อนไปกว่านั้นแต่อย่างใดและข้อหา "หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ" หรือสถานะอัน "ล่วงละเมิดมิได้" ก็มิใช่สิ่งที่หยุดนิ่งเป็นเอกลักษณ์ของสังคมไทยมาแต่เดิมแต่อย่างใด หากการตีความและความเข้าใจ ต่อข้อหานี้มีความเปลี่ยนแปลงเรื่อยมาอย่างสัมพันธ์กับบริบทสังคมการเมือง และการเปลี่ยนแปลงของสถานะและบทบาทของสถาบันกษัตริย์ในสังคมไทย ในช่วงต่างๆ การพิจารณาความเปลี่ยนแปลงในการตีความข้อหานี้ในบริบทสังคมแต่ละช่วงจึงเป็นสิ่งสําคัญในการทําความเข้าใจปัญหาการตีความข้อหานี้ในทางกฎหมายปัจจุบัน

บทความนี้ต้องการนําเสนอว่าการตีความเชื่อมโยงประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ในฐานะรูปธรรมของบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญที่ว่า "องค์พระมหากษัตริย์ทรงดํารงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะล่วงละเมิดมิได้" มิได้เป็นสิ่งที่เป็นจารีตประเพณีซึ่งมีมาแต่ดั้งเดิมของไทยแต่อย่างใด หากแต่เป็นการตีความและการให้ความหมายที่ค่อยๆ ถูกประกอบสร้างขึ้นใหม่ภายใต้การสถาปนาสถานะและบทบาทของสถาบันกษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยช่วง 30-40 ปีที่ผ่านมา การประกอบสร้างชุดคําอธิบายใหม่ภายใต้อุดมการณ์กษัตริย์นิยมนี้ ทําให้ข้อหานี้ถูกตีความขยายความอย่างกว้างขวาง กระทั่งมีแนวโน้มจะขัดแย้งกับหลักการ เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นในระบอบประชาธิปไตย และปัญหาการตีความนี้ยังเอื้อให้เกิดการใช้ข้อหานี้เป็นเครื่องมือในทางการเมือง และการใช้ปิดกั้นการพูดคุยอภิปรายถึงสถานะและบทบาทของสถาบันกษัตริย์อย่างรอบด้านในปัจจุบันอีกด้วย

บทความจะเริ่มพิจารณาการเปลี่ยนแปลงความหมายของข้อหา "หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ" ที่สัมพันธ์กับรูปแบบของรัฐ ตั้งแต่รัฐจารีต รัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ จนกระทั่งรัฐสยามเปลี่ยนเข้าสู่การปกครองในระบอบประชาธิปไตยจากนั้นจึงจะพิจารณาการเริ่มต้นของแนวโน้มการตีความข้อหานี้อย่างขยายความภายใต้บริบททางการเมืองในช่วงต่างๆ จนนําไปสู่การเชื่อมโยงข้อหานี้เข้ากับสถานะ "อันล่วงละเมิดมิได้" ของสถาบันกษัตริย์ในปัจจุบัน โดยจะใช้ตัวอย่างที่ถูกกล่าวหาด้วยข้อหา หมิ่นพระบรมเดชานุภาพในบางกรณีประกอบด้วย

การตีความข้อหา "หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ" กับความเปลี่ยนแปลงรูปแบบรัฐ

แม้ความผิดที่ใกล้เคียงกับลักษณะข้อหาที่ถูกเรียกว่า "หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ" ในปัจจุบันจะมีมาตั้งแต่รัฐสยามในอดีต แต่การให้ความหมายและตีความข้อหานี้ มิใช่เพียงเป็นเรื่องในตัวบทกฎหมาย แต่ยังสัมพันธ์กับรูปแบบของรัฐความเข้าใจต่ออํานาจขององค์อธิปัตย์ภายในรัฐ สถานะและบทบาทของสถาบันกษัตริย์และการสร้างอุดมการณ์ของรัฐในช่วงต่างๆ ที่ล้วนส่งผลต่อการตีความตัวบทกฎหมายการพิจารณาความเปลี่ยนแปลงของข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพนี้ จึงจําเป็นต้องให้ความสําคัญกับบริบทของรัฐในช่วงต่างๆ อย่างสําคัญด้วย

ภายใต้รัฐแบบจารีต ก่อนหน้าสมัยรัชกาลที่ 4 นั้น ภาพสะท้อนการคุ้มครอง "พระบรมเดชานุภาพ" ของกษัตริย์ในรัฐจารีต ปรากฏอยู่ในกฎหมายตราสามดวง โดยเฉพาะในกฎมณเทียรบาล พระไอยการหลวง และพระไอยการกระบดศึก (Streckfuss 2011) ซึ่งไม่ได้มีข้อห้ามเพียงแค่การ "ประมาทหมิ่น" ห้ามเจรจาหยาบช้า ้ามหมิ่นพระราชบัญญัติ พระบันทูล พระโองการ ห้ามการติเตียนนินทาว่ากล่าวต่อพระมหากษัตริย์เท่านั้น5 หากยังปรากฏบทบัญญัติที่คุ้มครองการล่วงละเมิดต่อพระมหากษัตริย์ในด้านต่างๆ มากกว่า 100 มาตรา เช่น การลอบลักพระราชทรัพย์, การละเมิดหรือไม่ปฏิบัติตามพระบรมราชโองการ, อําพรางพระเจ้าอยู่หัว มิได้กราบทูลตามสัจ, การถีบขว้างพระที่นั่ง, การด่าเถียงกันในวัง, การทําให้โลหิตตกในพระราชวัง, การเอ่ยพระนามพระมหากษัตริย์โดยตรง, มิได้ใช้ราชาศัพท์อันสมควร หรือแม้แต่การโจมตีข้าราชการของพระมหากษัตริย์ ก็ถูกตีความว่าเป็นการโจมตีกษัตริย์อีกด้วย เป็นต้น อีกทั้งยังขยายรวมไปถึงการกระทําใดๆ ต่อสัญลักษณ์ หรือสิ่งที่เกี่ยวข้องกับองค์พระมหากษัตริย์ เช่น พระบรมมหาราชวัง, เครื่องราชูปโภค, เครื่องทรง เป็นต้น โดยแต่ละความผิดมีโทษหนักเบาแตกต่างกันไป (ดูใน ราชบัณฑิตยสถาน 2550)

ลักษณะสําคัญของกฎหมายตราสามดวงและสภาพสังคมในรัฐจารีตคือการนิยามความผิดและกําหนดบทลงโทษตามลําดับศักดินาของผู้กระทําที่สัมพันธ์กับผู้ถูกกระทํา แนวโน้มของกฎหมายจึงวางอยู่บนฐานของการแยกความแตกต่างของสถานะทางสังคม การกระทําเดียวกันจึงสามารถได้รับการส่งเสริมในสถานการณ์ทางสังคมหนึ่ง แต่สามารถถูกลงโทษถึงตายในอีกสถานการณ์หนึ่งขึ้นอยู่กับสถานะทางสังคมของบุคคลที่เกี่ยวข้อง (Tamara Loos 2002: 37)6

ด้วยกรอบคิดเช่นนี้เอง กฎหมายตราสามดวงจึงมีบทบัญญัติเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์เป็นจํานวนมาก มีตัวบทที่กําหนดการกระทําที่ถือว่าเป็นความผิดไว้อย่างละเอียดและระบุโทษไว้ค่อนข้างรุนแรง เนื่องด้วยสถานะของกษัตริย์ในรัฐจารีตนั้นถือได้ว่าเป็นเจ้าของอํานาจสูงสุด อยู่ในสถานะสูงสุดของสังคมการเมืองแบบศักดินาและเป็นศูนย์กลางของอาณาจักรในทุกด้าน นอกจากนั้นยังอยู่ภายใต้การสร้างความชอบธรรมต่ออํานาจของกษัตริย์ด้วยฐานคติทางศาสนาและวัฒนธรรม ทั้งในฐานะเทวราชา ธรรมราชา และในฐานะเจ้าชีวิตหรือเจ้าแผ่นดิน การกระทําใดๆ ก็ตามที่ล่วงละเมิดต่อกษัตริย์หรือบารมีของพระองค์ จึงถูกจัดให้เป็นความผิด "อาชญาหลวง" "คดีมีโทษหลวง" หรือความผิดต่อ "หลวง" โดยการกระทําที่ถูกมองว่า็นไปใน "ทางลบ" แทบทุกชนิด แม้จะไม่เกี่ยวข้องกับองค์พระมหากษัตริย์โดยตรง แต่เกี่ยวข้องกับสัญลักษณ์ต่างๆ หรือบุคคลที่เป็นตัวแทนของกษัตริย์ก็ถือเป็นความผิดต่อพระบรมเดชานุภาพของกษัตริย์ได้ เพราะถือได้ว่าเป็นการละเมิดต่อผู้ที่มีสถานะสูงสุดทางสังคม และกระทบกระเทือนต่อโครงสร้างของสังคมศักดินาอย่างรุนแรง

กระนั้นก็ตาม ในรัฐจารีตนั้นรัฐยังขาดแคลนเครื่องมือและกลไกต่างๆ ในระดับท้องถิ่นหรือชีวิตประจําวันของผู้คน โดยเฉพาะในพื้นที่ซึ่งไกลจากอํานาจศูนย์กลาง ส่งผลให้ในทางปฏิบัติ กฎหมายตราสามดวงมักถูกใช้ในกรณีการพิพาทของชนชั้นนํา มากกว่าการใช้ควบคุมพฤติกรรมของคนทั่วไปอย่างเป็นระบบ (Loos 2002: 37) กฎหมายและข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพจึงมีแนวโน้มที่จะยังไม่ได้ใช้บังคับในสังคมโดยทั่วไป และไม่ได้เกี่ยวข้องกับราษฎรคนธรรมดาแต่อย่างใด

ความเปลี่ยนแปลงต่อข้อหานี้อย่างสําคัญ เกิดขึ้นภายใต้การเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐสยามสู่ความเป็นรัฐสมัยใหม่ (Modern State) ในช่วงสมบูรณาญาสิทธิราชย์ โดยหนึ่ งในกลไกที่ ชนชั้ นนําสยามใช้ในการรวมอํานาจเข้าสู่ศูนย์กลางกรุงเทพฯ และสร้างความทันสมัยเพื่อต่อสู้กับลัทธิล่าอาณานิคมจากตะวันตก คือการสร้างระบบกฎหมายสมัยใหม่ที่มีเหตุมีผลมากขึ้น ทั้งผ่านการจัดทําประมวลกฎหมาย การเปลี่ยนรูปแบบการลงโทษให้อารยะมากขึ้น การปรับปรุงการศาล การลดทอนอํานาจความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมายลงไป (Loos 2002: 32, 37)

ภายใต้ความเปลี่ ยนแปลงดังกล่าว ได้ก่อให้เกิดความเปลี่ ยนแปลงความหมายของข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพด้วย โดยเฉพาะการรับกรอบคิดเรื่อง "อาชญากรรม" (crime) จากระบบกฎหมายตะวันตกเข้ามา โดยฐานความเข้าใจ "อาชญากรรม" ในฐานะการกระทําใดๆ อันเป็น "อันตรายต่อสังคมโดยรวม" การละเมิดต่างๆ จึงเป็นมากกว่าเพียงความผิดในการกระทําระหว่างคนสองคน แต่กลายไปเป็นเรื่องของสังคมด้วย และทําให้ผู้กระทําผิดมีสถานะเป็น "อาชญากร"ในทางกฎหมาย (Streckfuss 2011: 82)

ข้อหา "หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ" ได้ถูกทําให้กลายเป็นอาชญากรรม (criminalization) ภายใต้การจัดแบ่งประเภทและลักษณะความผิดในประมวลกฎหมายอาญาสมัยใหม่7 ข้อหานี้กลายไปเป็นส่วนหนึ่งของข้อหาหมิ่นประมาท (defamation) ซึ่งทําให้ความหมายมีลักษณะเคร่งครัดมากขึ้นตามนิยามการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรืออาฆาตมาดร้ายในทางกฎหมาย และมีลักษณะเป็นความผิดจากการแสดงออกที่กระทบต่อเกียรติยศชื่อเสียงของบุคคล ไม่ใช่ความผิดในความหมายของการ "หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ" ที่หลอมรวมการละเมิดต่อพระมหากษัตริย์แทบทุกอย่างเข้ามาในข้อหานี้เสมือนในยุคจารีต

หากขณะเดียวกันในช่วงสมบูรณาญาสิทธิราชย์ การวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลหรือการบริหารงานของราชการนั้น ก็ถือเป็นการหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ได้เช่นกัน เนื่องจากกษัตริย์อยู่ในสถานะผู้บริหารบ้านเมือง ถืออํานาจสูงสุดในการปกครอง และการพิพากษาคดีความ

บริบทสําคัญในช่วงของการเปลี่ยนสยามสู่ความเป็นสมัยใหม่อีกประการหนึ่ง คือการเกิดขึ้นของจินตนาการ "ชาติ" และการสร้างความรู้สึกของความเป็นชาติ (nationhood) ร่วมกันของผู้คนในรัฐ โครงการสําคัญของชนชั้นนําในการสร้างความชอบธรรมใหม่คือ การพยายามสร้างจินตนากรรมร่วมของรัฐใหม่ ผ่านการสร้างอุดมการณ์ชาตินิยมขึ้น ในขณะที่รัชกาลที่ 5 ทรงมีบทบาทในการเชื่อมสถาบันพระมหากษัตริย์เข้ากับการพัฒนาสยามสู่ความเป็นสมัยใหม่ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงเป็นผู้มีบทบาทสําคัญในการพยายามนิยามอัตลักษณ์ของชาติ หรือหัวใจของ "ความเป็นไทย" โดยเน้นแกนกลางไปที่ชาติ ศาสนาพุทธและพระมหากษัตริย์ โดยมีพระมหากษัตริย์เป็นศูนย์กลางของความจงรักภักดีและความสามัคคีของคนในชาติ (สายชล สัตยานุรักษ์ 2548: 43)

การนิยามชาติใหม่นี้ก็ส่งผลต่อความพยายามที่จะนิยามข้อหา "หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ" ใหม่ให้เข้ากับความเปลี่ยนแปลงนี้ด้วย โดยรัชกาลที่ 6 ได้ทรงนิยามให้การดูหมิ่นกษัตริย์ มิใช่เพียงการดูหมิ่นต่อองค์พระมหากษัตริย์เท่านั้น หากทรงนิยามที่มาแห่งอํานาจของพระมหากษัตริย์ว่ามาจากการที่ผู้คนมอบอํานาจให้กษัตริย์ทรงเป็นผู้ถือเอาไว้ ทําให้การดูหมิ่นกษัตริย์ฯ ก็เท่ากับเป็นการดูหมิ่นต่ออํานาจของผู้คนภายในชาติที่มอบให้กษัตริย์ไว้ด้วย ผู้เสียหายจากการหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ จึงไม่ใช่องค์พระมหากษัตริย์เอง แต่กลายไปเป็นคนในชาติทุกๆ คนซึ่งถือได้ว่าถูกดูหมิ่นไปด้วย8

แต่บริบทสําคัญอีกประการหนึ่งในภาวะสมัยใหม่ คือการแพร่หลายของเทคโนโลยีสมัยใหม่ และสื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ ต่อสาธารณะมากขึ้น ทําให้สิ่งพิมพ์ต่างๆ กลายไปเป็นสมรภูมิสําคัญในการเผยแพร่ความคิดทางการเมือง และพื้ นที่ของการช่วงชิงความเป็นชาติที่เกิดขึ้นใหม่นี้ด้วย ด้วยเหตุที่กษัตริย์ทรงสถานะเป็นผู้บริหารราชการแผ่นดิน กษัตริย์จึงเป็นเป้าหมายหนึ่งของการแสดงความคิดเห็นโดยตรง โดยเฉพาะสภาพของหนังสือพิมพ์ในสมัยรัชกาลที่ 6-7 นั้น มีการวิพากษ์วิจารณ์พระมหากษัตริย์ และระบอบการปกครองโดยตรงค่อนข้างมาก ตั้งแต่รัชกาลที่ 6 เสด็จขึ้นครองราชย์ หนังสือพิมพ์บางฉบับได้ลงบทความเรียกร้องและสนับสนุนให้มีการปกครองแบบสาธารณรัฐ บางฉบับลงข่าววิพากษ์วิจารณ์การบริหารราชการแผ่นดิน เช่น การใช้จ่ายเงินของรัฐบาลรัชกาลที่ 6, พระราชกรณียกิจและพระราชจริยวัตรส่วนพระองค์, การฉ้อราษฎร์บังหลวง, การถกเถียงเรื่องสภาราษฎรและลัทธิบอลเชวิคในสมัยรัชกาลที่ 7 เป็นต้น (ดูบทบาทของหนังสือพิมพ์ในช่วงปลายสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ได้ใน รัตนา เมฆนันทไพสิฐ 2531)9

ก่อนที่กระแสการวิพากษ์วิจารณ์ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และบทบาทพระราชอํานาจของกษัตริย์จะเป็นส่วนหนึ่งที่ปูทางไปสู่การเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร โดยภายหลังการอภิวัฒน์ 24 มิถุนายน 2475 สถานะและอํานาจของพระมหากษัตริย์ได้ถูกจํากัดให้อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ (Constitutional Monarchy) โดยในทางหลักการ อํานาจอธิปไตยเปลี่ยนจากพระมหากษัตริย์มาเป็นของประชาชน องค์พระมหากษัตริย์อยู่ในสถานะประมุขของรัฐ แต่ไม่สามารถใช้อํานาจทางการเมือง การปกครองได้อีกต่อไป รัฐเปลี่ยนรูปจากรัฐที่มีอํานาจไม่จํากัด มาเป็นรัฐที่มีอํานาจจํากัด (limited government) กฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ในรัฐประชาธิปไตย ในทางหลักการจึงถูกใช้คุ้มครองพระมหากษัตริย์ในฐานะตําแหน่งประมุขของรัฐ มิใช่ในฐานะองค์อธิปัตย์ที่มีอํานาจสูงสุดในการปกครอง การตีความจึงจําเป็นต้องเป็นไปอย่างเคร่งครัด โดยเป็นครั้งแรกที่ข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพจําเป็นต้องพิจารณาประเด็นเรื่องสิทธิเสรีภาพของพลเมือง โดยเฉพาะสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกถ่วงดุลร่วมกับการคุ้มครองชื่อเสียงเกียรติยศของบุคคลด้วย

หากแต่ภายใต้การประนีประนอมกับอํานาจตามประเพณีทําให้ข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ตามมาตรา 98 ของกฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ.127 ซึ่งเป็นบทบัญญัติหลักของความผิดฐานนี้ ไม่ได้ถูกแตะต้องแต่อย่างใด10 และในรัฐธรรมนูญฉบับถาวรภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง คือฉบับ 10 ธันวาคม 2475 ยังได้มีการบัญญัติในมาตรา 3 ระบุว่า "องค์พระมหากษัตริย์ดํารงอยู่ในฐานะอันเป็นที่ เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้" ซึ่งจะส่งผลต่อการตีความความผิดฐานหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ในเวลาต่อมาอีกด้วย

สภาวะการประนีประนอมเช่นนี้ ทําให้ในทางปฏิบัติ สถานะและบทบาทของสถาบันกษัตริย์ในระบอบใหม่ยังอยู่ในภาวะที่ไม่ลงตัวและเป็นประเด็นปัญหาสืบมา โดยภายใต้การต่อสู้และต่อรองของกลุ่มฝ่ายการเมืองในช่วงต่างๆ ภายใต้ระบอบประชาธิปไตย ได้ทําให้ความหมายและลักษณะการบังคับใช้ข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ เปลี่ยนแปรเคลื่อนไปตามการต่อสู้ต่อรองทางอํานาจนี้ในแต่ละช่วงเวลาด้วย

การประกอบสร้างสถานะอัน "ล่วงละเมิดมิได้" ในระบอบประชาธิปไตย

ก่อนหน้าทศวรรษ 2500 นั้น การอภิปรายเรื่องสถานะของสถาบันกษัตริย์ในแง่มุมต่างๆ อย่างเปิดเผยในทางสาธารณะยังมิได้มีลักษณะเป็น "สิ่งต้องห้าม" แต่อย่างใด แต่สถานะพิเศษอันล่วงละเมิดมิได้ในความหมายของการวิพากษ์วิจารณ์และแสดงความเห็นที่ขัดแย้งกับอุดมการณ์กษัตริย์นิยม-ราชาชาตินิยมมิได้ไปด้วยจะค่อยๆ ถูกพัฒนาขึ้นภายหลังความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและการฟื้นฟูสถานะและบทบาทของสถาบันกษัตริย์ตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 2500 เป็นต้นมา 11

ตัวอย่างหนึ่งของการอภิปรายในประเด็นสถาบันกษัตริย์อย่างเปิดเผย ได้แก่ การประชุมสภาร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2492 ได้มีการอภิปรายพิจารณาถึงหมวดพระมหากษัตริย์โดยตรง ทั้งในประเด็นการยืนยันว่าจะมีระบอบการปกครองที่มีพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญหรือไม่ หรือประเด็นว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขพระราชอํานาจของกษัตริย์หรือไม่ และควรแก้ไขเรื่องอะไร แม้จะมีการคัดค้านการอภิปรายในญัตตินี้ เพราะเท่ากับเป็นการพิจารณาการเปลี่ยนแปลงการปกครองซึ่งสภาร่างฯ ไม่มีอํานาจพิจารณา แต่สมาชิกสภาส่วนใหญ่เห็นควรให้มีการอภิปรายแม้แต่นักการเมืองในฝ่ายอนุรักษ์นิยมเองด้วย เช่น โชติ คุ้มพันธ์ สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ชุดแรก และอดีตนักโทษกบฏบวชเดช เห็นว่า "เราควรจะพิจารณาระบอบพระมหากษัตริย์ดีเพราะเหตุไร และไม่ดีเพราะเหตุไร มหาชนรัฐดีเพราะเหตุไร ไม่ดีเพราะเหตุไร อย่างนี้จะทําความกระจ่างให้ประชาชน ซึ่งคอยฟัง...ต้องพูดกันในสภาระบอบพระมหากษัตริย์มีอะไรอย่างไร ระบอบสาธารณรัฐดีไม่ดีอย่างไรบ้าง... จะทําให้ประชาชนรู้สึกว่าเขาได้ถกเถียงกันแล้ว" เช่นเดียวกับ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ในขณะนั้น ที่เสนอว่าต้องอภิปรายวาระนี้ อย่าทําให้เรื่องนี้เหมือนเรื่อง "ผีหลอก" ที่กลัวหรือเกลียดกันจนไม่กล้าพูดถึง (อ้างใน สันติสุข โสภณสิริ 2555: 191)

เมื่อสภาร่างฯ ได้ลงมติเห็นควรให้อภิปรายได้ 24 ต่อ 5 เสียง นําไปสู่การอภิปรายในประเด็นว่า "จะยืนยันหรือไม่ว่าจะมีระบอบการปกครองที่ มีพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ" ตามด้วยการอภิปรายในประเด็นพระราชอํานาจของกษัตริย์ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขหรือไม่ และควรแก้ไขเรื่องอะไร (ดูโดยละเอียดใน สันติสุข โสภณสิริ 2555: 191) จะเห็นได้ว่าการอภิปรายเรื่องสถาบันกษัตริย์ในแง่มุมต่างๆ ยังไม่ได้เป็น "สิ่งต้องห้าม" จนเกินไปนัก ยิ่งหากเทียบกับการจะยกหมวดพระมหากษัตริย์ขึ้นมาถกเถียงอภิปรายในสภาหรือในทางสาธารณะในช่วงระยะ 20-30 ปีที่ผ่านมา แทบจะเป็นสิ่งที่ไม่สามารถจินตนาการได้เลยในสังคมไทยปัจจุบัน

เช่นเดียวกับกรณีหนึ่งที่ถูกกล่าวหาด้วยข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพในช่วงปลายทศวรรษ 2490 คือกรณีของหยุด แสงอุทัย ศาสตราจารย์นักกฎหมายและเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา จากกรณีที่หยุดได้กล่าวคําบรรยายเรื่อง "อํานาจและความรับผิดชอบในระบอบประชาธิปไตย" ออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย เมื่ อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2499 โดยหยุดได้แสดงความคิดเห็นว่าพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยไม่พึงตรัสสิ่งใดอันเป็นปัญหาเรื่องเศรษฐกิจ การเมือง หรือสังคมของประเทศ โดยไม่มีผู้รับสนองพระบรมราชโองการ การแสดงความเห็นนี้มีเหตุเกิดจากกรณีที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงมีพระราชดํารัสเนื่องในวันกองทัพบก (25 มกราคม 2499) โดยทรงวิพากษ์วิจารณ์การที่ทหารเข้ามามีบทบาททางการเมือง ซึ่งถือเป็นพระราชดํารัสต่อสาธารณะด้วยพระองค์เองเป็นครั้งแรกภายหลัง 2475 ต่อมา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรท่านหนึ่งได้ยื่นหนังสือถึงอธิบดีกรมตํารวจกล่าวหาว่า ข้อความบางตอนในคําบรรยายของหยุดมีลักษณะหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ แต่ในท้ายที่สุดทางกองคดีของกรมตํารวจได้วินิจฉัยว่าบทความของหยุดไม่เข้าข่ายผิดกฎหมายแต่อย่างใด (ดูในสุธาชัย ยิ้มประเสริฐ 2550: 376-78 และสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล 2549)

จะเห็นได้ว่าแม้กรณีของหยุดจะมีฝ่ายที่พยายามจะทําให้เกิดการดําเนินคดีและใช้เล่นงานทางการเมือง แต่ก็ไม่ได้มีการวินิจฉัยว่าเข้าข่ายแต่อย่างใด โดยหากเปรียบเทียบกับประวัติศาสตร์ที่จะตามมา สะท้อนว่าขณะนั้นประเด็น สถานะและบทบาทของพระมหากษัตริย์ ยังเป็นสิ่งซึ่งสามารถจะอภิปรายและถกเถียงในที่สาธารณะอย่างตรงไปตรงมาได้บ้าง และยังไม่ใช่ "สิ่งต้องห้าม" หรือล่วงละเมิดมิได้แต่อย่างใด

จนกระทั่ง ภายใต้การพยายามสถาปนาความชอบธรรมให้กับระบอบการเมืองหลังรัฐประหาร 2500 ของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ทําให้กองทัพในช่วงนั้นได้ดําเนินแนวทางการฟื้นฟูสถานะและบทบาทของสถาบันกษัตริย์ใหม่โดยทําการรื้อฟื้นสถาบันกษัตริย์ในฐานะสัญลักษณ์ของชาติ และเชื่อมความสัมพันธ์เข้ากับความมั่นคงของรัฐและกองทัพ รวมทั้งการรื้อฟื้นพระราชพิธีต่างๆ ที่เคยถูกยกเลิกไปภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง และสนับสนุนการเสด็จพระราชดําเนินของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในการเยี่ยมราษฎรในแต่ละภูมิภาค รวมทั้งสนับสนุนการจัดทําโครงการในพระราชดําริ (ทักษ์ เฉลิมเตียรณ 2552, ชนิดา ชิดบัณฑิตย์ 2550)

ความเปลี่ยนแปลงต่อการตีความข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพก็เกิดขึ้นในช่วงรอยต่อนี้เช่นกัน โดยมีการตรา "ประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2499" ขึ้นใช้แทนฉบับเดิม (ประกาศใช้เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2500) ในกฎหมายฉบับนี้ได้ทําการย้ายบทบัญญัติในมาตรา 98 ของกฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ.127 ไปอยู่ในมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายฉบับใหม่ พร้อมแก้ไขเนื้อความเป็นว่า "ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาทหรือผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินเจ็ดปี"

ในช่วงนี้ ข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ได้เริ่มถูกจัดวางลงในหมวด "ความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร" เป็นครั้งแรก ทําให้ความผิดดังกล่าวถูกจัดไว้เป็น "คดีอาญาแผ่นดิน" ซึ่งเปิดโอกาสให้ผู้ใดก็ตามสามารถนําเรื่องที่มีการกล่าว หรือโฆษณาไปแจ้งความและร้องทุกข์กล่าวโทษได้ และทําให้ความหมายของข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ถูกนําไปผูกเข้ากับความผิดต่อ "ความมั่นคงของรัฐ" แยกจากข้อหาหมิ่นประมาทในลักษณะอื่นๆ รวมทั้งข้อหานี้จะเริ่มมีบทบาทในการควบคุมและปิ้องปรามการแสดงความคิดเห็นที่ขัดแย้ง แตกต่างกับการฟื้นฟูสถานะและบทบาทของสถาบันกษัตริย์และ เริ่มถูกใช้จัดการกับ "ภัยคุกคาม" ของคอมมิวนิสต์ในยุคเผด็จการทหาร คู่ขนาน ไปพร้อมกับการใช้ข้อหาอื่นๆ เช่น ธรรมนูญการปกครองมาตรา 17 หรือข้อหา คอมมิวนิสต์

แม้การรัฐประหารของจอมพลสฤษดิ์จะทําให้เกิดการใช้ข้อกล่าวหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเพิ่มขึ้น12 แต่กรณีที่ถูกกล่าวหาด้วยข้อหานี้ที่เกิดขึ้นช่วงต้นทศวรรษ 2500 เท่าที่พบ ยังไม่ได้มีการอธิบายในทางกฎหมายเชื่อมโยงข้อหานี้เข้ากับสถานะอันล่วงละเมิดมิได้ และยังไม่มีการเขียนคําพิพากษาในลักษณะกล่าวอ้างถึงความสําคัญของสถาบันกษัตริย์ต่อสังคมไทย และอธิบายพระราชกรณียกิจต่างๆ ประกอบ เหมือนแนวโน้มคําพิพากษาคดีนี้ในระยะปัจจุบันแต่อย่างใด

กรณีสําคัญและน่าสนใจในช่วงนี้ เช่น คดีของส่งศักดิ์ สายปัญญา นักการเมืองสังกัดพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งถูกกล่าวหาระหว่างการหาเสียงเลือกตั้งก่อนหน้าการเลือกตั้ง 15 ธันวาคม 2500 ที่อําเภอพะเยา จังหวัดเชียงราย โดยระหว่างนายส่งศักดิ์พูดผ่านเครื่องขยายเสียง ได้เกิดการโต้เถียงกับผู้ฟัง และถูกนําเรื่องไปร้องทุกข์กล่าวโทษในเวลาต่อมา โดยอ้างว่านายส่งศักดิ์ได้กล่าวข้อความหมิ่นประมาทราชวงศ์จักรี กรณีนี้มีการต่อสู้คดีถึงศาลฎีกาและศาลฎีกาพิพากษายกฟิ้อง โดยนอกจากจะพิเคราะห์ว่าพยานฝ่ายโจทก์มีพิรุธและไม่น่าเชื่อถือแล้ว ศาลยังอ้างเรื่องจังหวะเวลาที่เกิดเหตุ คือช่วงที่มีการชิงชัยกันระหว่างพรรคการเมืองซึ่งย่อมมีการมุ่งหมายทําลายกันได้ และเมื่อจําเลยได้รับเลือกตั้งภายหลังเหตุการณ์การอิจฉาริษยาก็ย่อมจะทวีมากขึ้น จึงฟังไม่ได้ว่าจําเลยกระทําผิดตามฟ้อง

คําวินิจฉัยนี้น่าสนใจ ในแง่ที่ศาลอ้างอิงถึงบริบททางการเมือง และวินิจฉัยว่าข้อหานี้สามารถถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองระหว่างคู่ต่อสู้ทางการเมืองได้แตกต่างกับในเวลาต่อมาที่การวินิจฉัยคดีมาตรา 112 แทบจะไม่ค่อยให้ความสําคัญกับบริบทของเหตุการณ์ และเน้นพิจารณาแต่เฉพาะถ้อยคําหรือการแสดงออกที่ถูกกล่าวหาเพียงโดดๆ ดังกรณีของนายวีระ มุสิกพงศ์ นักการเมืองอีกคนหนึ่งซึ่งเกิดเหตุการณ์ที่ถูกคู่แข่งทางการเมืองแจ้งความคล้ายคลึงกับกรณีนี้ในปี 2529

นอกจากนั้น หากพิจารณาบทบัญญัติที่ว่าด้วยการ "เป็นที่เคารพสักการะ" และ "ละเมิดมิได้" ขององค์พระมหากษัตริย์ในรัฐธรรมนูญ กระแสการตีความที่สอดคล้อง กับหลักประชาธิปไตยในหมู่นักกฎหมายก็ยังมีน้ําหนักสําคัญและปรากฏให้เห็นอยู่ โดยมิได้มีลักษณะเชื่อมโยงข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ เข้ากับบทบัญญัติเรื่องนี้ในรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด เช่น ในคําอธิบายรัฐธรรมนูญฉบับปี 2512 ของหยุด แสงอุทัย (2513: 202-211) ได้อธิบายว่าฐานะ "อันเป็นที่เคารพสักการะ" นั้น เป็นการยกย่องพระมหากษัตริย์ในฐานะประมุขของปวงชนชาวไทย และกฎหมายได้คุ้มครองกษัตริย์สูงกว่าบุคคลธรรมดา โดยหยุดยกกรณีการประทุษร้ายต่อพระมหากษัตริย์ตามกฎหมายอาญา ว่าเป็นการกระทําที่มีโทษหนักกว่ากระทําต่อบุคคลธรรมดาและถือเป็นกบฏ (แต่มิได้กล่าวถึงเรื่องการหมิ่นประมาทหรือการแสดงออกอื่นๆ แต่อย่างใด) หยุดยังอธิบายว่ามาตรานี้ก็ย่อมเป็นการกําหนดโดยปริยายว่าพระมหากษัตริย์จะต้องทรงวางพระองค์อยู่เหนือการเมือง จะต้องทรงเป็นกลางไม่เข้าข้างพรรคการเมืองฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง อีกทั้งพระมหากษัตริย์ย่อมทรงเว้นเสียซึ่งการกระทําใดๆ โดยเปิดเผยอันอาจทําให้ประชาชนนําไปวิพากษ์วิจารณ์ เช่น การออกความคิดเห็นในทางการเมือง หรือกล่าวถึงปัญหาในทางการเมืองโดยพระองค์เอง

ส่วนสถานะอัน "ละเมิดมิได้" นั้ น หยุดเห็นว่าพิจารณาได้สามทางคือในทางรัฐธรรมนูญ ผู้ใดจะตําหนิติเตียนพระมหากษัตริย์ในทางรัฐธรรมนูญไม่ได้เนื่องจากพระมหากษัตริย์ไม่ได้กระทํากิจการต่างๆ โดยพระองค์เอง (The King can do noting) แต่มีผู้รับสนองพระบรมราชโองการที่เป็นผู้รับผิดชอบ และส่วนในทางอาญาและในทางแพ่ง หมายถึงผู้ใดจะฟ้องพระมหากษัตริย์ไม่ได

อาจกล่าวได้ว่าหยุดมองว่าสถานะอันเป็นที่เคารพสักการะและล่วงละเมิดมิได้นั้น เกิดขึ้นได้โดยมี "เงื่อนไข" จําเป็นเบื้องต้นเสียก่อน ได้แก่ พระมหากษัตริย์ต้องวางพระองค์อยู่เหนือการเมือง ทรงเป็นกลางไม่เข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งและทรงเว้นจากการกระทําการใดๆ ด้วยพระองค์เอง การตีความกฎหมายในลักษณะนี้จึงมีลักษณะจํากัดพระราชอํานาจของกษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยซึ่งจะแตกต่างจากการตีความในระยะต่อมาที่มีลักษณะสนับสนุนการขยายพระราชอํานาจมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ

สถานะของสถาบันกษัตริย์มาเปลี่ยนแปลงอีกครั้งภายหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 จากบทบาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในเหตุการณ์นี้นําไปสู่การเริ่มสร้างวาทกรรมที่เชื่อมสถาบันกษัตริย์เข้ากับการพัฒนาประชาธิปไตยภายใต้ทัศนะว่าสถาบันกษัตริย์มีบทบาทในการสร้างประชาธิปไตยในสังคมไทยเกิดเป็นอุดมการณ์ที่เรียกว่า "กษัตริย์ประชาธิปไตย" (ประจักษ์ ก้องกีรติ 2548) หรือ "ราชาชาตินิยมประชาธิปไตย" (ธงชัย วินิจจะกูล 2548) ซึ่งนอกจากจะนิยามสถาบันกษัตริย์ในฐานะผู้พิทักษ์ รักษาและค้ำประกันความอยู่รอดของ "ชาติ" แล้ว ยังจัดวางให้กษัตริย์อยู่ในฐานะผู้พิทักษ์ รักษาและค้ำประกัน "ประชาธิปไตย" ในสังคมไทยด้วย

ผลอย่างสําคัญของการประกอบสร้างอุดมการณ์ชุดใหม่นี้ คือได้สร้างให้สถานะของสถาบันกษัตริย์วางอยู่ "เหนือการเมือง" โดยการพยายามสร้างความหมายของการอยู่ "เหนือการเมือง" ขึ้นใหม่ จากเดิมการอยู่เหนือการเมืองเป็นเรื่องของการห้ามยุ่งเกี่ยวกับการเมืองการปกครอง กลับถูกนิยามใหม่ให้กลายเป็นเรื่องของการอยู่เหนือการต่อสู้เพื่อเข้าครอบครองรัฐบาลและรัฐสภา อันถูกให้ความหมายว่าเป็น "การเมือง" ที่มีลักษณะฉ้อฉลสกปรก พระราชกรณียกิจหรือพระราชอํานาจต่างๆ ของพระมหากษัตริย์จึงไม่ถูกเข้าใจเป็นเรื่องทาง "การเมือง" ไปด้วย (ดูใน ธงชัย วินิจจะกูล 2548) การสร้างความหมายเช่นนี้เองที่ส่งผลให้การแสดงความคิดเห็นหรือวิพากษ์วิจารณ์ถึงบทบาททางการเมืองของสถาบันกษัตริย์ตามปกติ ก็อาจถูกให้ความหมายว่าเป็นการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพไปได้เช่นกัน

ภายใต้ความขัดแย้งทางอุดมการณ์ในสังคมไทยช่วงหลัง 14 ตุลาคม 2516 ้อหา "หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ" ได้ถูกเชื่อมโยงเข้ากับภาพลักษณ์การกระทําอันเป็น "คอมมิวนิสต์" และขบวนการนักศึกษาประชาชนที่เคลื่อนไหวในขณะนั้นอย่างเข้มข้น13 รวมทั้งภาวะความวิตกกังวลต่อการคุกคามสถาบันพระมหากษัตริย์จากสงครามเย็น ก็ได้ทําให้เกิดการเปลี่ยนแปลงตัวบทของข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ อีกครั้ง ภายหลังการยึดอํานาจของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินนําโดยพล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ผลของการแก้ไขอัตราโทษในครั้งนี้ ทําให้การลงโทษตามความผิดในข้อหานี้ถูกกําหนดให้มีโทษขั้นต่ํา คือ 3 ปี และอัตราโทษสูงสุดยังเพิ่มจาก 7 ปี ไปเป็น 15 ปี โดยไม่เคยมีการเปลี่ยนแปลงอัตราโทษอีกมาจนถึงปัจจุบัน

ภายหลังบทบาทของพรรคคอมมิวนิสต์จบสิ้นลงตั้งแต่ในช่วงกลางทศวรรษ 2520 เป็นต้นมา พร้อมๆ กับอํานาจของกองทัพ ซึ่งเคยอ้างอิงซึ่งกัน และกันกับสถาบันกษัตริย์ในการสร้างความชอบธรรมก็ลดน้อยลงไปเช่นกัน ทําให้สถาบันกษัตริย์ค่อยๆ เป็นอิสระมากขึ้นจากอํานาจทางการเมืองอื่นๆ ขณะเดียวกันก็ปลอดพ้นจาก "ภัยคุกคาม" จากอุดมการณ์ที่มีพลังต่างๆ เปิดโอกาสให้เกิดความเป็นอิสระมากขึ้นของสถาบันกษัตริย์ในการดําเนินพระราชกรณียกิจและโครงการ ในพระราชดําริต่างๆ จนนําไปสู่พระราชอํานาจนํา (Royal Hegemony)14 ทั้งในมิติ การเมืองและมิติอุดมการณ์ ที่ลงหลักสถาปนาอย่างเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น (ชนิดา ชิดบัณฑิตย์ 2550)

พร้อมกับการสถาปนาพระราชอํานาจนํา ยังปรากฏความพยายามนิยามอํานาจอธิปไตยใหม่ในทางกฎหมาย ด้วยการพัฒนาต่อยอดแนวคิดอเนกชนนิกรสโมสรสมมติหรือราชประชาสมาศัย ซึ่งเคยถูกใช้อธิบายแนวคิดในการปกครองของไทย โดยนิยามกษัตริย์ในฐานะที่เป็นตัวแทนของมหาชนทั้งมวล เนื่องจากทรงได้รับเลือกโดยอ้อมจากอาณาประชาราษฎร์ นักกฎหมายมหาชนในยุคหลังได้เริ่มพยายามสร้างชุดคําอธิบายใหม่ในช่วงทศวรรษ 2530 ในลักษณะที่นิยามให้ประชาชนกับกษัตริย์ถืออํานาจอธิปไตยร่วมกัน โดยบวรศักดิ์ อุวรรณโณ (2550 ตีพิมพ์ครั้งแรก 2537) ได้ริเริ่มอธิบายว่าพระมหากษัตริย์คือศูนย์รวมของชาติทางกฎหมาย และถือว่าอํานาจอธิปไตยนั้นอยู่ที่พระมหากษัตริย์และประชาชนต่างเป็นเจ้าของร่วมกัน ด้วยเหตุทั้งทางประเพณีของไทยที่เกิดการ "สั่งสม" ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของพระมหากษัตริย์กับประชาชนเรื่อยมา และในทางกฎหมายนั้น เมื่อคณะราษฎรทําการเปลี่ยนแปลงปกครองแล้ว พระมหากษัตริย์ซึ่งทรงอํานาจอธิปไตยอยู่ก็สละพระราชอํานาจนั้นให้ประชาชนทั้งประเทศ ลดพระองค์ลงอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ แต่ยังทรงใช้อํานาจนั้นแทนปวงชน ซึ่งในทางกฎหมาย ต้องถือว่าทั้งพระมหากษัตริย์และประชาชนต่างเป็นเจ้าของอํานาจอธิปไตยร่วมกัน15

อีกทั้ง นอกเหนือจากการนิยามสถาบันกษัตริย์ให้อยู่ "เหนือการเมือง" ในลักษณะที่ "การเมือง" ถูกเข้าใจว่ามีลักษณะของความฉ้อฉลและสกปรกแล้ว ยังมีการสร้างชุดคําอธิบายถึงพระราชอํานาจที่จะเข้ามาเกี่ยวข้องกับ "การเมือง" ในภาวะที่เกิดวิกฤติการณ์ขึ้นด้วย โดยตัวแบบที่สําคัญคือบทบาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภายหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 โดยนักกฎหมายได้สร้างคําอธิบายภายหลังว่า เมื่อเกิดวิกฤติทางรัฐธรรมนูญหรือทางการเมืองถึงขั้นเผชิญหน้ากันแล้ว "ทุกฝ่าย" ในสังคมต่างประสงค์ขอให้พระมหากษัตริย์ทรงเป็นหลักชัยในการระงับเหตุร้ายรุนแรงลง โดยต่างยอมรับพระบรมราชวินิจฉัยว่าเป็นสิ่งที่เหนือความเป็นฝักเป็นฝ่าย เพื่อช่วยปลดเปลื้องวิกฤติทางการเมืองได้ (ดูใน บวรศักดิ์ อุวรรณโณ 2550: 184-85)

ปรากฏการณ์สําคัญอีกประการหนึ่ง ซึ่งส่งผลต่อความเข้าใจข้อหามาตรา 112 ด้วย คือแนวโน้มของการเปลี่ยนแปลงฐานของพระราชอํานาจนําของเครือข่ายสถาบันกษัตริย์ จากเดิมที่เคยเป็นกลุ่มคนในชนบทเป็นหลัก เริ่มเปลี่ยนย้ายไปเป็นกลุ่มคนชั้นกลางในเมือง ซึ่งกําลังเติบโตขึ้นจากภาวะของเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไทยในช่วงทศวรรษ 2520 เป็นต้นมา โดยกลุ่มคนชั้นกลางในเมืองนี้ซึมซับอุดมการณ์และภาพลักษณ์เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ต่างๆ ผ่านสื่อมวลชนสมัยใหม่ (mass media) และการตลาดมวลชนสมัยใหม่ (mass market) ทั้งโดยภาครัฐและเอกชนซึ่งประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ง่ายขึ้นในสองสามทศวรรษหลังมานี้ (สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อ้างจาก กองบรรณาธิการวารสารฟ้าเดียวกัน 2553: 204-205)

ภาพลักษณ์ความสัมพันธ์ระหว่างกษัตริย์กับพลเมืองที่สําคัญ ซึ่งถูกสร้างขึ้นใหม่อีกประการหนึ่ง คือภาพความเป็น "พ่อ" ของ "ลูก" หรือประชาชนในประเทศทุกๆ คน การนับญาติในลักษณะนี้นั้น เป็นสิ่งที่เพิ่งเกิดขึ้นในรัชกาลปัจจุบัน โดยเฉพาะตั้งแต่ทศวรรษ 2520 เป็นต้นมา ภาพลักษณ์และชุดความสัมพันธ์เหล่านี้ ซึ่งถูกเผยแพร่และผลิตซ้ําในสื่อสมัยใหม่จํานวนมาก มีส่วนประกอบสร้างอารมณ์ความรู้สึก "ผูกพัน" "ใกล้ชิด" หรือแม้แต่ "รัก" ของพลเมืองต่อพระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบันขึ้นมา ซึ่งเป็นความรู้สึกใหม่ต่อสถาบันกษัตริย์ ที่ไม่เคยมีมาก่อน16 ขณะเดียวกันก็ทําให้ "การหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ" เพิ่มความหมายในลักษณะเป็นการกระทําที่กระทบต่อความรู้สึกของประชาชน ละเมิดต่อสายสัมพันธ์อัน "เป็นอันหนึ่งอันเดียว" หรือ "ความใกล้ชิด" ระหว่างพระมหากษัตริย์กับประชาชน และกลายไปเป็นการ "เนรคุณ" ต่อ "พ่อ" ไปด้วย

ภายใต้การสถาปนาสถานะและพระราชอํานาจของสถาบันกษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตย รวมทั้งอุดมการณ์ที่ถูกผลิตสร้างขึ้นอย่างเข้มข้นในสังคมไทยช่วง 20-30 ปีที่ผ่านมานี้เอง ล้วนมีส่วนประกอบสร้างสถานะอัน "ล่วงละเมิดมิได้" ของสถาบันกษัตริย์ขึ้นมา โดยสถานะนี้มีแนวโน้มที่จะถูกให้ความหมายโดยวางอยู่บนฐานคิดของอุดมการณ์แบบกษัตริย์นิยม อันทําให้เกิดการตีความและความเข้าใจข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพที่ขยายความมากไปกว่าในทางกฎหมายและกระทั่งขัดแย้งกับหลักประชาธิปไตย โดยการแสดงออกในลักษณะที่ "ไม่สมควร" หรือ "ไม่เหมาะสม" ซึ่งถูกทําให้หมายรวมไปถึงการวิพากษ์วิจารณ์ หรือติชมใดๆ มิได้ด้วย แม้จะไม่เป็นการดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรืออาฆาตมาดร้ายก็ตาม ก็อาจหมายถึง "การล่วงละเมิด" ไปได้เช่นกัน ดังปรากฏการณ์ที่สื่อมวลชน บุคคลทั่วไป หรือแม้แต่ในคําพิพากษาของศาล มักใช้ถ้อยคําในการกล่าวถึงการกระทําของผู้ถูกกล่าวหาในข้อหามาตรา 112 ซึ่งล้วนแต่ไม่ได้เป็นการกระทําที่ระบุไว้ในกฎหมาย แต่อย่างใดเช่น ล่วงเกิน, จาบจ้วง, ลบหลู่, อาจเอื้อม, ก้าวล่วง, ย่ํายี, ลามปาม, ขาดความเคารพสักการะ, มิบังควร, ไม่เทิดทูน, หมิ่นเหม่, กระทบกระทั่ง, ไม่เหมาะสม เป็นต้น

แนวโน้มการตีความนี้ หาใช่เพียงความเข้าใจของบุคคลทั่วๆ ไปเท่านั้น แม้แต่ในหมู่นักกฎหมายเองก็มีคําอธิบายในลักษณะนี้มากขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงสองสามทศวรรษหลังมานี้ เช่น ในคําอธิบายรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ของ มานิตย์ จุมปา (2541: 18-19) ได้ตีความมาตรา 8 ในรัฐธรรมนูญไว้ว่า "บทบัญญัติมาตรานี้ประสงค์ที่จะสําแดงพระราชสถานะอันสูงสุดของพระมหากษัตริย์ให้ประจักษ์ตามคติการปกครองประชาธิปไตยนั้น พระมหากษัตริย์ทรงอยู่เหนือความรับผิดชอบทางการเมืองทั้งปวง และทรงอยู่เหนือจากการวิพากษ์วิจารณ์ในทุกกรณี"

คําพิพากษาคดีมาตรา 112 เท่าที่พบในช่วงราวกลางทศวรรษ 2520 เป็นต้นมา ในบางกรณีก็เริ่มมีการกล่าวอ้างถึงรัฐธรรมนูญมาตราที่ว่าด้วยการล่วงละเมิดมิได้ เชื่อมโยงเข้ากับการอธิบายรองรับข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพแล้ว เช่น ในคดีอนันต์ เสนาขันธ์ อดีตนายตํารวจ และผู้ก่อตั้งขบวนการชนวนที่ถูกกล่าวหาในข้อหานี้จากการปราศรัย พาดพิงถึงเรื่องซุบซิบนินทาเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์และบทบาททางการเมืองของสมเด็จพระราชินีที่สนามหลวง 2 ครั้ง ในช่วงปี 2526 คําพิพากษาศาลชั้นต้นในกรณีนี้ระบุว่า "จําเลยทราบเรื่องราวมาในลักษณะที่เป็นข่าวเล่าต่อๆ กันมา อาจไม่เป็นความจริงก็เป็นได้ และแม้จะเป็นความจริงก็ไม่พึงนํามากล่าวต่อสาธารณชน เพราะไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายให้กระทําได้และที่เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์นี้ เป็นสถาบันที่พึงเคารพสักการะของประชาชน อยู่ในฐานะละเมิดมิได้ ย่อมอยู่เหนือการติชมใดๆ ทั้งสิ้น" โดยในคดีนี้ศาลได้พิพากษาว่า พ.ต.ต. อนันต์มีความผิด และลงโทษจําคุกคดีละ 3 ปี นับรวมเป็น 6 ปี [ดูคําพิพากษาได้ใน บุญร่วม เทียมจันทร์ (2531: 194-250)]

เช่นเดียวกับในคดีของวีระ มุสิกพงศ์ นักการเมืองที่ขณะนั้นสังกัดพรรคประชาธิปัตย์ และถูกกล่าวหาจากการกล่าวปราศรัยช่วยผู้สมัครหาเสียงเลือกตั้งที่จังหวัดบุรีรัมย์ ในปี 2529 โดยได้กล่าวเปรียบเปรยตนเองว่าถ้าเลือกเกิดได้จะเลือกเกิดใจกลางพระบรมมหาราชวังเป็นพระองค์เจ้า และกล่าวถึงความเป็นอยู่ที่สุขสบายภายในวัง คดีนี้มีการต่อสู้กันถึงศาลฎีกา โดยในคําพิพากษาฎีกาที่ 2354/2531 ได้กล่าวอ้างถึงบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญเชื่อมโยงกับข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพว่า

"ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและประมวลกฎหมายอาญาดังกล่าวมา ย่อมเห็นโดยแจ้งชัดว่า องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนั้นทรงดํารงฐานะพระประมุขของประเทศทรงเป็นที่ เคารพสักการะ ผู้ ใดจะล่วงละเมิดหรือใช้สิทธิหรือ

เสรีภาพให้เป็นปฏิปักษ์ในทางหนึ่งทางใดมิได้ ทั้งรัฐและประชาชนต่างมีหน้าที่ต้องรักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ ให้ดํารงอยู่คู่ประเทศตลอดไป มิเพียงแต่กฎหมาย แม้ในความรู้สึกนึกคิดของประชาชนชาวไทยอั นมี ต่ อสถาบั นพระมหากษั ตริ ย์ ก็ ให้ความเคารพสักการะและยกย่องเทิดทูนไว้เหนือเกล้าฯ ตลอดมาตั้งแต่โบราณกาล การที่จะกล่าววาจาจาบจ้วงล่วงเกิน เปรียบเทียบเปรียบเปรยหรือเสียดสีให้เป็นที่ระคายเคืองต่อเบื้องพระยุคลบาทนั้นหามีบุคคลใดกล้าบังอาจไม่"

นอกจากการเริ่มต้นตีความมาตรา 112 เชื่อมโยงกับสถานะอันล่วงละเมิดมิได้ของกษัตริย์ ยังเริ่มปรากฏแนวโน้มการกล่าวหาด้วยข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพและการตีความข้อหานี้ในลักษณะขยายความเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เช่น กรณีหนังสือพิมพ์ซิงเสียนเยอะเปิ้า ในปี 2525 ได้ถูกหนังสือพิมพ์ชาวไทยพยายามกล่าวหาว่าหมิ่นพระบรมเดชานุภาพรัชกาลที่ 5 โดยใช้คําว่า "ลานม้าทองเหลือง" เรียก "ลานพระรูปทรงม้า" ในข่าว และยังถูกกล่าวหาจากการลงคําบรรยายภาพสมเด็จพระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชผิดพลาดด้วย, กรณีดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ และนายพินิจ จารุสมบัติ ในปี 2538 จากกรณีการเปลี่ยนเครื่องแต่งกายในห้องซึ่งประดิษฐสถานไฟพระราชทานและพระบรมสาทิสลักษณ์ หรือกรณีพระราชภาวนาวิสุทธิ์ (พระธัมมชโย) ในปี 2542 จากกรณีการสั่งตัดต้นไม้และย้ายพระพุทธรูปที่สมเด็จย่าได้ทรงปลูกและเททองหล่อ, กรณีนิคม มุสิกะคามะ อดีตอธิบดีกรมศิลปากร ในปี 2542 จากกรณีการสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์รัชกาลที่ 1 ที่จังหวัดบุรีรัมย์ ที่มีการก่อสร้างผิดแบบ และได้เคยมีการกราบบังคมทูลถวายรายงานต่อสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เมื่อครั้งเสด็จวางศิลาฤกษ์ แต่กลับไม่ได้สร้างตามแบบที่กราบทูล จึงถูกกล่าวหาว่าหมิ่นองค์รัชทายาท เป็นต้น หากแต่กรณีดังกล่าวส่วนใหญ่เพียงแต่ถูกแจ้งความร้องทุกข์ การดําเนินการยังไม่ได้ไปถึงในชั้นศาลแต่อย่างใด

กล่าวได้ว่าตั้งแต่ราวกลางทศวรรษ 2520 เป็นต้นมา การค่อยๆ อธิบายเชื่อมโยงมาตรา 112 เข้ากับสถานะอันเป็นที่เคารพสักการะและล่วงละเมิดมิได้ในรัฐธรรมนูญ เป็นเสมือนการสร้างโครงข่ายของการตีความทางกฎหมายใหม่ที่มีส่วนรองรับการสถาปนาพระราชอํานาจนําและการผลักดันอุดมการณ์ราชาชาตินิยมในสังคมที่เกิดขึ้นอย่างเข้มข้นมากขึ้นในช่วงนี้เป็นต้นมา และทําให้ปฏิบัติการทางอุดมการณ์ดังกล่าวดําเนินไปได้บนสภาวะที่แทบไม่มีการอภิปรายถกเถียงเรื่องสถานะและบทบาทของสถาบันกษัตริย์ในมิติต่างๆ ทางสาธารณะแต่อย่างใดในช่วง 2-3 ทศวรรษที่ผ่านมา

มาตรา 112 กับสถานะอัน "ล่วงละเมิดมิได้" ในความขัดแย้งทางการเมืองปัจจุบัน

จะเห็นได้ว่าลักษณะการตีความข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพอย่างขยายความ เกิดขึ้นเป็นลําดับมาก่อนหน้าความขัดแย้งทางการเมืองในปัจจุบันแล้วแต่ปัญหานี้ยังไม่ปรากฏเด่นชัดมากนักเนื่องจากกรณีที่ถูกกล่าวหายังมีไม่มากนัก แต่ละกรณียังมีลักษณะกระจัดกระจายออกจากกัน และยังไม่มีบริบทสังคมการเมืองที่ผลักดันการใช้ข้อหานี้เป็นเครื่องมือทางการเมืองอย่างเข้มข้นเท่าในปัจจุบัน17

บริบทในปัจจุบันที่ผลักดันให้การกล่าวหาและการบังคับใช้ข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพขยายตัวอย่างไม่เคยมีมาก่อน มีทั้งในแง่ของสภาวะการเมืองของการเปลี่ยนผ่านปลายรัชกาลปัจจุบัน ภาวะความเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างทางเศรษฐกิจ-สังคม อันเป็นปัจจัยพื้นฐานในการตื่นตัวทางการเมืองของประชาชนกลุ่มใหม่ๆ ในสังคม และบริบทการขยายตัวของข้อมูลข่าวสารและเทคโนโลยีที่เป็นพื้นที่ในการแสดงความคิดเห็นใหม่ๆ รวมทั้งบทบาทและการแสดงออกทางการเมืองของเครือข่ายสถาบันกษัตริย์ในสถานการณ์ที่ผ่านมา ก็นําไปสู่การตั้งคําถามและการวิพากษ์วิจารณ์จากสังคมอย่างกว้างขวาง กระทั่งนําไปสู่ปัญหาความสั่นคลอนของอํานาจนําในสังคม สิ่งเหล่านี้มีส่วนทําให้เกิดการใช้ข้อกล่าวหานี้เป็นเครื่องมือทางการเมืองต่อฝ่ายตรงข้าม และการใช้ข้อกล่าวหานี้ปิดกั้นการถกเถียง แสดงออกและวิพากษ์วิจารณ์บทบาทและสถานะของสถาบันกษัตริย์

การตีความข้อหามาตรา 112 ในความขัดแย้งทางการเมืองปัจจุบันมีแนวโน้มในลักษณะที่เรียกว่าการตีความขยายความมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ ทั้งในแง่ของการตีความบุคคลที่ กฎหมายคุ้ มครอง เช่น การตีความไปคุ้ มครองถึงพระมหากษัตริย์ในอดีต, การตีความให้ข้อหานี้คุ้มครองสถาบันกษัตริย์ทั้งหมด มิใช่เพียงบุคคลตามที่ตัวบทบัญญัติ, การตีความไปถึงสัญลักษณ์ต่างๆ หรือในแง่การตีความการกระทําที่ถือว่าเป็นความผิด เช่น การกล่าวถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับบทบาททางการเมืองของสถาบันกษัตริย์, การเผยแพร่มุมมองของสื่อต่างประเทศที่มีต่อเมืองไทย ก็อาจถือเป็นความผิดได้ ไปจนถึงในแง่ของการกําหนดบทลงโทษ ซึ่งมีแนวโน้มของการตัดสินพิพากษาด้วยโทษที่ค่อยๆ เพิ่มสูงมากขึ้นโดยเท่าที่ผู้เขียนพบไม่มีกรณีใดก่อนหน้าทศวรรษ 2550 ที่เคยมีการตัดสินลงโทษจําคุกเกินกว่าหรือเท่ากับ 10 ปีมาก่อน จนกระทั่งความขัดแย้งทางการเมืองในปัจจุบัน

นอกจากนั้น การใช้อุดมการณ์กษัตริย์นิยม-ราชาชาตินิยมในการตีความกฎหมาย ยังเห็นได้ชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ จากแนวทางการพิจารณาคดีมาตรา 112 ในระยะหลัง เช่น ลักษณะการพรรณนาความถึงประวัติศาสตร์ของชาติ และการอ้างอิงถึงพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน เพื่อเชื่อมโยงกฎหมายมาตรานี้เข้ากับความเป็นชาติไทย และความรู้สึกของประชาชนภายในชาติซึ่งปรากฏทั้งในเอกสารทางกฎหมายและคําพิพากษาของศาล อันยิ่งทําให้ข้อกล่าวหานี้มีลักษณะของการกลายไปเป็นข้อกล่าวหาที่ผูกติดกับอุดมการณ์ ราชาชาตินิยมมากกว่า ความผิดทางกฎหมายที่ใช้คุ้มครองบุคคลในตําแหน่งประมุขของรัฐตามธรรมดา

การตีความทางกฎหมายที่เชื่อมโยงข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เข้ากับสถานะของกษัตริย์ "อันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะล่วงละเมิดมิได้" ก็ขึ้นสู่จุดสูงสุดโดยคําวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ18 ซึ่งให้คําอธิบายว่ามาตรา 112 เป็นรูปธรรม ในทางปฏิบัติของรัฐธรรมนูญมาตรา 8 ดังที่ได้กล่าวไป อีกทั้งในคําวินิจฉัยส่วนตนของตุลาการ ศาลรัฐธรรมนูญในกรณีนี้หลายท่านก็ให้ความเห็นในลักษณะที่ตีความมาตรา 112 ไปถึงการคุ้มครองการวิพากษ์วิจารณ์ใดๆ มิได้อีกด้วย เช่น

"การที่ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ไม่มีบทบัญญัติยกเว้นความผิดตามมาตรา 329 หรือยกเว้นโทษตามมาตรา 330 ดังเช่นความผิดฐานหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดาตามมาตรา 326 เนื่องจากพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์ มีฐานะพิเศษแตกต่างจากบุคคลธรรมดา หากให้มีการแสดงความคิดเห็น และการวิพากษ์วิจารณ์ โดยมีบทยกเว้นความผิด ก็จะเป็นการเปิดโอกาสให้บุคคลอาศัยช่องทางดังกล่าววิพากษ์วิจารณ์ได้"

อุดมศักดิ์ นิติมนตรี ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

"ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 บัญญัติไว้โดยคํานึงถึงสถานะของบุคคล ผู้ถูกกระทําโดยเฉพาะคือ องค์พระมหากษัตริย์ที่เป็นประมุขของรัฐซึ่งพระองค์ย่อมอยู่เหนือการติชมใดๆ ทั้งสิ้น"

จรูญ อินทจาร ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

(เน้นโดยผู้เขียน ดูในคําวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 28-29/2555)

ผลกระทบสําคัญของการตีความกฎหมายขยายความเช่นนี้ ทําให้ในทางปฏิบัติมีความสับสนและคลุมเครืออย่างมาก ว่าการกล่าวหรือแสดงออกถึงสถาบันกษัตริย์ในลักษณะใดกระทําได้หรือไม่ได้, การกล่าวถึงบุคคลที่กฎหมายไม่ได้คุ้มครองไว้แต่อาจเกี่ยวข้องกับสถาบันหรือสัญลักษณ์ที่เกี่ยวข้องกับองค์พระมหากษัตริย์จะเป็นความผิดตามมาตรา 112 หรือไม่, การกล่าวหรือ แสดงออกโดยการเปรียบเปรยยั่วล้อประชดประชัน หรือแม้แต่วิพากษ์วิจารณ์ โดยไม่ได้ทําให้เกิดการเสื่อมเสียเกียรติยศชื่อเสียงแต่อย่างใด จะถือว่าเป็นความผิดข้อหานี้หรือไม่

สภาวะเช่นนี้นําไปสู่ความไม่แน่นอน (uncertain) และความไม่สามารถคาดเดาหรือประเมินได้ (unpredictable) ของข้อหานี้ในกระบวนการยุติธรรม ส่งผลไปถึงปัญหาในการต่อสู้คดีของฝ่ายจําเลยหรือผู้ถูกกล่าวหา ซึ่งกรณีส่วนใหญ่เลือกที่จะหลีกเลี่ยงการต่อสู้ในด้านเนื้อหาตามที่ถูกกล่าวหา หรือหลายกรณีก็ยินยอมรับสารภาพตามข้อกล่าวหา นอกจากนั้น ผลของความคลุมเครือจากการตีความนี้ยังส่งผลกระทบต่อการแสดงออกทางการเมืองของผู้คนในสังคม การไม่สามารถทราบถึง "เส้น" ที่ชัดเจนของกฎหมาย ได้ทําให้หลายกรณีผู้คนเลือกจะระงับยับยั้งการแสดงออกหรือการแสดงความคิดเห็นของตนเอง (self-censorship) จนทําให้ เรื่องสถาบันกษัตริย์หรือแม้แต่เรื่องมาตรา 112 มีแนวโน้มจะถูกเข้าใจว่าเป็นเรื่อง "ต้องห้าม" หรือ "พูดไม่ได้" ของสังคมไทยไปด้วย โดยยังไม่ต้องกล่าวหาถึงกระบวนการทางสังคมที่พยายามไล่ล่าและเอาผิดกับผู้ที่ถูกมองว่าทําการ "หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ" โดยไม่ผ่านกระบวนการยุติธรรม ซึ่งล้วนส่งผลต่อเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น (Freedom of expression) ในสังคมไทยโดยตรง

ขณะเดียวกัน ในท่ามกลางการตีความกฎหมายอย่างขยายความเช่นนี้ก็ปรากฏกระแสความพยายามโต้แย้งการตีความในลักษณะนี้จากกลุ่มนักกฎหมายอีกกลุ่มหนึ่ง โดยเฉพาะจากกลุ่มคณะนิติราษฎร์ อันเป็นกลุ่มนักกฎหมายจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่เสนอการตีความบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญมาตรา 8 และประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ให้สอดคล้องกับหลักประชาธิปไตย เช่น การเสนอให้แปลความคําว่า "เคารพสักการะ" ในฐานะการเทิดพระเกียรติให้แก่ตําแหน่งกษัตริย์ เป็นการประกาศ ไม่ใช่กฎเกณฑ์ (norm) และไม่มีผลบังคับ (sanction) ไม่มีข้อห้าม ไม่มีบทลงโทษ ในส่วนคําว่า "ผู้ใดจะล่วงละเมิดมิได้" ก็หมายถึงว่าผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟิ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใดๆ มิได้ มิได้หมายถึงว่าผู้ใดจะพูดถึงกษัตริย์ในทางวิจารณ์ใดๆ ไม่ได้เลย (ดูในปิยบุตร แสงกนกกุล 2555: 55-56)19

เช่นเดียวกันกับคําอธิบายของจรัล โฆษณานันท์ (2552: 94) ที่เห็นว่าสภาพบังคับของมาตรา 8 ในรัฐธรรมนูญ หาได้พึ่งพามาตรา 112 ของกฎหมายอาญาแต่อย่างใดไม่ ลําพังมาตรา 8 ย่อมมีอํานาจบังคับทางกฎหมายโดยตัวเองในการห้ามมิให้ผู้ใดทําการละเมิดต่อพระมหากษัตริย์ ทั้งในทางรัฐธรรมนูญ เช่น การขอแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อเลิกล้างสถาบันกษัตริย์ หรือในทางกฎหมายอาญา ในรูปการกล่าวหา จับกุม หรือฟิ้องร้องทางอาญา หรือทางแพ่งมิได้

ความแตกต่างในการตีความนี้ มีพื้ นฐานอยู่ ที่ ความแตกต่างระหว่างอุดมการณ์ทางการเมือง และการให้ความหมายต่อสถานะของสถาบันกษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยของนักกฎหมายแต่ละกลุ่ม ล้วนมีส่วนกําหนดและส่งผลต่อทิศทางการตีความบทบัญญัติในกฎหมาย ความขัดแย้งในการให้ความหมายต่อข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพและสถานะอันล่วงละเมิดมิได้ จึงเป็นมากกว่าปัญหาของตัวบทและการบังคับใช้ แต่เกี่ยวพันกับความขัดแย้งและการต่อสู้ทางอุดมการณ์ซึ่งกําลังดําเนินไปอย่างเข้มข้นในสังคมไทยปัจจุบัน

บทสรุป

บทความนี้สืบสาวให้เห็นว่าการตีความข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพในฐานะที่เป็นภาคปฏิบัติของบทบัญญัติเรื่องการ "เป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้" ขององค์พระมหากษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญนั้น เป็นสิ่งที่เพิ่งถูกประกอบสร้างขึ้นใหม่ในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา มิใช่เป็นสิ่งที่เป็นเอกลักษณ์แต่เดิมของสังคมไทยแต่อย่างใด ก่อนหน้านั้นข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพมีการเปลี่ยนแปลงความหมายเคลื่อนไปตามรูปแบบของรัฐ และสถานะของสถาบันกษัตริย์ในช่วงต่างๆ ขณะเดียวกันการแสดงความคิดเห็นเรื่องสถาบันกษัตริย์ในทางสาธารณะก็ไม่ได้มีลักษณะ "ต้องห้าม" ในสังคมการเมืองไทยเข้มข้นเท่าในปัจจุบัน เช่น ในช่วงปลายระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ หรือก่อนหน้าทศวรรษ 2500 การถกเถียงและวิพากษ์วิจารณ์บทบาทและสถานะของสถาบันกษัตริย์ในสังคม ยังเป็นสิ่งที่สามารถกระทําได้ในระดับหนึ่ง มิได้ถือว่าเป็นการล่วงละเมิดแต่อย่างใด

การตีความข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเริ่มเปลี่ยนแปลงอย่างสําคัญพร้อมๆ กับการฟื้นฟูบทบาทและสถานะของสถาบันกษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยใหม่ภายหลังการรัฐประหารของจอมพลสฤษดิ์ในทศวรรษ 2500 เป็นต้นมาและเข้มข้นมากขึ้นภายใต้การสถาปนาพระราชอํานาจนําและการนําเสนออุดมการณ์ราชาชาตินิยมอย่างกว้างขวางในช่วงทศวรรษ 2520 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน และการตีความเชื่อมโยงข้อหานี้เข้ากับสถานะอันล่วงละเมิดมิได้ก็ดําเนินคู่ขนานมากับความเปลี่ยนแปลงสถานะของสถาบันกษัตริย์ในสังคมไทยช่วงนี้

การตีความมาตรา 112 ซึ่งควรเป็นบทบัญญัติที่คุ้มครองเกียรติยศชื่อเสียงของบุคคลตามที่กฎหมายกําหนดจากการกระทําที่ "หมิ่นประมาท ดูหมิ่น และแสดงความอาฆาตมาดร้าย" อันมีความแน่นอนเคร่งครัดระดับหนึ่งตามกรอบ ความผิดฐาน"หมิ่นประมาท" แต่การตีความในลักษณะเชื่อมโยงกับมาตรา 8 เช่นนี้ ทําให้ข้อหานี้ถูกเข้าใจซ้อนทับไปกับวลี "อันเป็นที่เคารพสักการะ" และ "ผู้ใดจะละเมิดมิได้" ซึ่งมีแนวโน้มจะถูกให้ความหมายอย่างกว้างขวางบนฐานอุดมการณ์กษัตริย์นิยม ส่งผลถึงลักษณะการตีความและบังคับใช้ข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพที่ลักลั่น คลุมเครือและขยายความกว้างขวางเกินกรอบของฐานความผิดหมิ่นประมาทในกฎหมายอาญาตามปกติ

สภาวะการตีความขยายความเช่นนี้ขยายตัวท่ามกลางสภาวะการใช้ข้อกล่าวหานี้ใน ความขัดแย้งทางการเมืองอย่างเข้มข้น ซึ่งไม่เพียงเป็นปัญหาการตีความในวงการกฎหมาย แต่ความเข้าใจลักษณะนี้มีอิทธิพลในการรับรู้ของประชาชนทั่วไปด้วย อันล้วนส่งผลถึงการจํากัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นในสังคมไทยโดยตรง

บรรณานุกรม

ภาษาไทย

กองบรรณาธิการปาจารยสาร. (2530). "ความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพกับการปกครองระบอบ ประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข". ปาจารยสาร. 14 (6).
กองบรรณาธิการวารสารฟ้าเดียวกัน. (2553). "จากพฤษภาประชาธรรมถึงรัฐประหารเพื่อประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข: อ่านการต่อสู้ทางชนชั้นในพลวัตการเมืองไทย". วารสารฟ้าเดียวกัน. 8 (1): 178-210.
จรัล โฆษณานันท์. (2552). "ความรุนแรงแห่งโทษที่ไม่เป็นธรรม และการปิดกั้น 'ความจริง' ใน มาตรา 112 แห่งประมวลกฎหมายอาญา". วารสารฟ้าเดียวกัน. 7 (2). 80-109.
ชนิดา ชิดบัณฑิตย์. (2550). โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดําริ: การสถาปนาพระราชอํานาจนํา ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว. กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตําราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์.
ณัฐพล ใจจริง. (2554). "พระบารมีปกเกล้าฯ ใต้เงาอินทรี: แผนสงครามจิตวิทยาอเมริกัน กับการสร้างสถาบันกษัตริย์ให้เป็น 'สัญลักษณ์' แห่งชาติ". วารสารฟ้าเดียวกัน. 9 (2). 95-130.
ทวน วิรยาภรณ์ (บก.). (2507). พระราชดํารัสและพระบรมราโชวาท. กรุงเทพฯ: พิศนาคะการพิมพ์.
ทักษ์ เฉลิมเตียรณ. (2552). การเมืองระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ (พิมพ์ครั้งที่ 3). กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตําราสังคมศาสตร์และมนุษย์ศาสตร์.
ธงชัย วินิจจะกูล. (2548). ข้ามให้พ้นประชาธิปไตยแบบหลัง 14 ตุลาคม. กรุงเทพฯ: มูลนิธิ 14 ตุลา.
นพพล อาชามาส. (2556). การประกอบสร้างความกลัวและการเมืองว่าด้วยการบังคับใช้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาการพัฒนาสังคม คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
บวรศักดิ์ อุวรรณโณ. (2550). กฎหมายมหาชนเล่ม 2: การแบ่งแยกกฎหมายมหาชนเอกชนและพัฒนาการกฎหมายมหาชนในประเทศไทย (พิมพ์ครั้งที่ 5). กรุงเทพฯ: สํานักพิมพ์แห่ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
บวรศักดิ์ อุวรรณโณ. (2552). "ความผิดฐาน "หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ": เอกลักษณ์ประชาธิปไตยไทยในกระแสประชาธิปไตยโลก". หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน. 6 และ 7 เมษายน 2552.
บุญร่วม เทียมจันทร์. (2531). รวมสุดยอดคดีประวัติศาสตร์เมืองไทย. กรุงเทพฯ: สํานักพิมพ์สเปเชียล โปรเจ็ค.
ประจักษ์ ก้องกีรติ. (2548). และแล้วความเคลื่อนไหวก็ปรากฏ: การเมืองวัฒนธรรมของนักศึกษาและปัญญาชนก่อน 14 ตุลา. กรุงเทพฯ: สํานักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
ปิยบุตร แสงกนกกุล. (2555). 'องค์กษัตริย์ไม่สามารถถูกละเมิดได้' คืออะไร?". วารสารฟ้าเดียวกัน 10 (1). 44-57.
มานิตย์ จุมปา. (2541). รัฐธรรมนูญใหม่มีอะไร. กรุงเทพฯ: มูลนิธิสถาบันกฎหมายอาญา.
มีชัย ฤชุพันธุ์. (2555). "ปัญหาการแก้ไขมาตรา 112 ของกฎหมายอาญา" แหล่งที่มา http://www.manager.co.th/Politics/ViewNews.aspx?NewsID=9550000011291(25 มกราคม 2555).
รัตนา เมฆนันทไพสิฐ. (2532). การเมืองกับกฎหมายการพิมพ์ (พ.ศ.2453-2487). วิทยานิพนธ์ศิลป ศาสตรมหาบัณฑิต คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
ราชบัณฑิตยสถาน. (2550). กฎหมายตราสามดวง ฉบับราชบัณฑิตยสถาน (เล่ม1-2). กรุงเทพฯ: ราชบัณฑิตยสถาน.
สมชาย ปรีชาศิลปกุล. (2551). "หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ," วารสารฟ้าเดียวกัน. 6 (1). 148-157.
สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล. (2549). "กรณี หยุด แสงอุทัย ถูกกล่าวหาว่าหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ๒๔๙๙" แหล่งที่มา http://somsakwork.blogspot.com/2006/09/blog-post_1973.html.
สันติสุข โสภณศิริ. (2555). สถาบันพระมหากษัตริย์กับประชาธิปไตย. กรุงเทพฯ: มูลนิธิเด็ก.
สายชล สัตยานุรักษ์. (2548). "การสร้าง 'ความเป็นไทย'กระแสหลักและ 'ความจริง'ที่ 'ความเป็นไทย' สร้าง," วารสารฟ้าเดียวกัน 3:4 (ตุลาคม-ธันวาคม 2548): 40-67.
สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. (2550). แผนชิงธงชาติ: ว่าด้วยรัฐและการต่อต้านรัฐสมัยจอมพลป.พิบูล สงครามครั้งที่สอง (พ.ศ.2491-2500) (พิมพ์ครั้งที่สอง). กรุงเทพฯ: สํานักพิมพ์ 6 ตุลารําลึก.
หยุด แสงอุทัย. (2513). คําบรรยายชั้นปริญญาโท คณะรัฐศาสตร์ หลักรัฐธรรมนูญและกฎหมายเลือกตั้งทั่วไป (พิมพ์ครั้งที่ 7) กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

ภาษาอังกฤษ

Loos, Tamara. (2002). Subject Siam: Family, Law and Colonial Modernity in Thailand. Bangkok: Silkworm Books.
Streckfuss, David. (2011). Truth on Trial in Thailand: Defamation, Treason and lèse-majesté. London and New York: Routledge

เชิงอรรถต้นฉบับ

แก้ไข
1 บทความนี้ปรับปรุงจากส่วนหนึ่งของวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาโทของผู้เขียน ในหัวข้อ "การประกอบสร้างความกลัวและการเมืองว่าด้วยการบังคับใช้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112" ซึ่งเป็นวิทยานิพนธ์ในสาขาการพัฒนาสังคมคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้เขียนขอขอบคุณอาจารย์ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี อาจารย์อานันท์ กาญจนพันธุ์ อาจารย์สมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์ยุกติ มุกดาวิจิตร สําหรับการให้คําปรึกษาและความช่วยเหลือในการจัดทําวิทยานิพนธ์ชิ้นนี้จนแล้วเสร็จ
2 ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ระบุว่า "ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจําคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าป"
3 ในบทความนี้ผู้เขียนตั้งใจใช้คําว่า "หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ" โดยตระหนักว่าไม่มีข้อหานี้ในทางกฎหมายอาญาของไทยแต่อย่างใด มีแต่เพียงข้อหา "หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์" เท่านั้น แต่ผู้เขียนเห็นว่าคําว่า "หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ" ช่วยสะท้อนปัญหา การตีความและให้ความหมายอย่างกว้างขวางต่อข้อหาลักษณะนี้ในสังคมไทย และสะท้อนความเป็นข้อหาที่มีลักษณะ ทางสังคมวัฒนธรรมได้มากกว่าเป็นเพียงข้อหาในกฎหมายอาญา
4 ดูลําดับการเปลี่ยนแปลงของวลีนี้ในรัฐธรรมนูญฉบับต่างๆ ของไทย ก่อนจะมาเป็นมาตรา 8 ในรัฐธรรมนูญปัจจุบันได้ใน ปิยบุตร แสงกนกกุล, "องค์กษัตริย์ไม่สามารถถูกละเมิดได้' คืออะไร?," วารสารฟ้าเดียวกัน 10 (1) (2555), 44-57
5 ในกฎหมายตราสามดวง ตัวบทที่ใกล้เคียงกับความผิดฐานหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ปัจจุบันนั้น ปรากฏอยู่ในมาตรา 7 และมาตรา 72 ของพระไอยการอาชาหลวง
6 ลักษณะเช่นนี้แตกต่างจากกฎหมายอาญาสมัยใหม่ ที่ยึดหลักความเสมอภาคกันภายใต้กฎหมาย กล่าวคือไม่ว่าบุคคลจะมีสถานะทางสังคมเช่นใด หากกระทําสิ่งที่กฎหมายบัญญัติเป็นความผิดก็ต้องได้รับโทษเสมอหน้ากัน
7 ตัวบทที่ใกล้เคียงกับข้อหานี้เริ่มถูกบัญญัติในมาตรา 4 ของ "พระราชกําหนดลักษณะหมิ่นประมาทด้วยการพูดฤๅเขียนถ้อยคําเท็จออกโฆษณาการ ร.ศ.118" ก่อนย้ายมาอยู่ในมาตรา 98 และ 100 เมื่อ "กฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ. 127" ถูกประกาศใช้ในช่วงไม่กี่ปีต่อมา ดูลําดับตัวบทกฎหมายของข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพได้ในสมชาย ปรีชาศิลปกุล (2551)
8 รัชกาลที่ 6 ทรงมีพระราชดํารัสเรื่อง "ภักดีต่อพระเจ้าแผ่นดิน" พระราชทานแด่คณะเสือป่า (23 มิถุนายน 2454) ความตอน หนึ่งว่า "พระราชาธิบดีคือผู้ที่ได้รับมอบให้ถืออํานาจแห่งคณะไว้ และใช้อํานาจอันนั้นเพื่อประโยชน์และความสุขของคณะ เพราะฉะนั้นการที่นับถือหรือเคารพพระราชาธิบดีก็คือเคารพนับถืออํานาจแห่งคณะบุคคลทุกๆ คนที่เป็นส่วนหนึ่ง แห่งคณะก็เป็นเจ้าของส่วนหนึ่งแห่งอํานาจ ซึ่งได้รวบรวมมอบถวายให้พระราชาธิบดีทรงเป็นผู้ถือไว้ เพราะฉะนั้น เมื่อนับถืออํานาจอันนั้นก็เสมอนับถือตนเองด้วยเหมือนกัน ผู้ที่ดูหมิ่นพระราชาธิบดี คือ ดูหมิ่นอํานาจที่ได้มอบให้ พระราชาธิบดีถือไว้แทนตน ก็นับได้ว่าดูหมิ่นตนเองด้วย" [ดูใน ทวน วิรยาภรณ์ (บก.), พระราชดํารัสและพระบรมราโชวาท, (กรุงเทพฯ: พิศนาคะการพิมพ์, 2507), หน้า 176-78]
9 ชนชั้นนําได้พยายามช่วงชิงและต่อสู้กับการท้าทายเหล่านั้น โดยในช่วงนั้นกษัตริย์ทรงสามารถที่จะแสดงความคิดเห็นหรือตอบโต้โดยตรงด้วยพระองค์เอง รัชกาลที่ 6 จึงมักทรงนิพนธ์บทความตอบโต้การเคลื่อนไหวทางการเมืองในขณะนั้น รวมทั้งชนชั้นนํายังใช้ข้อกล่าวหาที่ใกล้เคียงกับหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเล่นงานกลุ่มปัญญาชน ทวนกระแส และนักหนังสือพิมพ์ในช่วงนั้นด้วย เช่น กรณีของเทียนวรรณ, ก.ศ.ร.กุหลาบ, หนังสือพิมพ์สามสมัย หรือหนังสือพิมพ์วายาโม เป็นต้น กระนั้นก็ตามการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลของกษัตริย์ก็เป็นไปอย่างค่อนข้างเปิดเผย ในช่วงปลายสมบูรณาญาสิทธิราชย์
10 แต่ก็ปรากฏความพยายามรื้อถอนอํานาจของระบอบเก่าและเปลี่ยนแปลงข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพโดยคณะราษฎรด้วย ได้แก่ การยกเลิกการคุ้มครองพระราชโอรสและพระราชธิดาของกษัตริย์ ตามมาตรา 100 ของกฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ.127 และทําการแก้ไขเพิ่มเติมในมาตรา 104 (1) ซึ่งมีลักษณะใกล้เคียงกับข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ โดยลดโทษเหลือจําคุกไม่เกิน 7 ปี และเพิ่มเหตุยกเว้นความผิดต่อท้ายมาตรานี้
11 โดยฝ่ายกษัตริย์นิยมมีการค่อยๆ ฟื้นฟูสถานะของสถาบันกษัตริย์เป็นลําดับมาตั้งแต่ในช่วงทศวรรษ 2490 ภายหลังฝ่ายคณะราษฎรเริ่มหมดอํานาจทางการเมืองลง ดูประเด็นนี้โดยละเอียดใน ณัฐพล ใจจริง (2554) นอกจากนั้นในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2492 ยังเป็นครั้งแรกที่ปรากฏข้อความ "ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟิ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใดๆ มิได้" เพิ่มเติมจากข้อความที่ว่า "องค์พระมหากษัตริย์ดํารงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้" นับแต่นี้มาทั้งสองวรรคนี้จะปรากฏอยู่ในรัฐธรรมนูญไทยทุกฉบับ ดูใน ปิยบุตร แสงกนกกุล (2555)
12 เท่าที่พบในช่วงต้นทศวรรษ 2500 เริ่มมีกรณีที่ถูกกล่าวหาด้วยมาตรา 112 เกิดขึ้นหลายกรณี เช่น กรณีสง่า เนื่องนิยม หรือ "ช้างงาแดง" (2500) กรณีประจวบ สารพัด (คําพิพากษาฎีกาที่ 1641/2503) กรณีโกศัย มุ่งเจริญ (คําพิพากษาฎีกาที่ 51/2503) กรณีส่งศักดิ์ สายปัญญา (คําพิพากษาฎีกาที่ 1584/2503) หรือกรณี สุวัฒน์ วรดิลก และเพ็ญศรี พุ่มชูศรี (กรณีนี้เหตุเกิดในปี 2496 แต่ถูกจับและดําเนินคดีปี 2501 ดูคําพิพากษาฎีกาที่ 1643/2503) เป็นต้น
13 ในช่วงหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ถึง 6 ตุลาคม 2519 มีกรณีที่ถูกกล่าวหาด้วยข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพหลายกรณี โดยเฉพาะในกลุ่มนักศึกษาที่มีบทบาททางการเมืองในขณะนั้น เช่น กรณีประเดิม ดํารงเจริญ (2517) กรณีเล็ก ลักษณะผล และเสนีย์ สูงนารถ (2518 คําพิพากษาฎีกาที่ 861/2521) กรณีอนุชิต ธนัครสมบัติ (2519 คําพิพากษาฎีกาที่ 1294/2521) กรณีประเสริฐ ลอยตระกูล (2519) หรือกรณีสุธรรม แสงประทุมและพวกรวม 7 คน (2519) เป็นต้น แต่แนวโน้มหลักที่รัฐใช้ในการจัดการกับขบวนการเคลื่อนไหวฝ่ายซ้ายในช่วงนั้น ยังใช้ข้อกล่าวหาเรื่อง คอมมิวนิสต์เป็นหลักมากกว่า
14 อํานาจนํา (Hegemony) คือการที่คนบางกลุ่มหรือชนชั้นบางชนชั้น สามารถสร้างและรักษาสถานภาพการครอบงํา เหนือกลุ่มอื่นๆ ได้ เนื่องจากสามารถแสดงตัวว่าเป็นกลุ่มที่มีความสามารถสูงที่สุดในการตอบสนองผลประโยชน์ และความต้องการของชนชั้นหรือกลุ่มทางสังคมอื่นๆ การสถาปนาอํานาจนํายังเป็นเงื่อนไขของกระบวนการที่ชนชั้น ครอบงําไม่ได้ควบคุม แต่ชี้นํามวลชนผ่านผู้นําทางจริยธรรมภูมิปัญญา (ดูเรื่องนี้ใน ชนิดา ชิดบัณฑิตย์ 2550: 17)
15 ด้วยตรรกะนี้ บวรศักดิ์ (2550) อธิบายต่อว่าเมื่อเกิดการรัฐประหารและยกเลิกรัฐธรรมนูญ ต้องถือว่า อํานาจอธิปไตยที่เคยพระราชทานให้ประชาชน ก็จะกลับไปเป็นของพระมหากษัตริย์ ผู้ทรงเป็นเจ้าของอํานาจเดิมมาก่อน 24 มิถุนายน 2475
16 แม้จะมีการพยายามสร้างคําชุดอธิบายว่า "คนไทย" นั้นนับถือพระมหากษัตริย์ดุจดั่งบิดามาตั้งแต่สมัยสุโขทัยโดยมีการเรียกพระมหากษัตริย์ด้วยคําว่า "พ่อขุน" มานานแล้ว แต่ "พ่อ" ในความหมายแบบเดิมนั้น มีลักษณะของการปกครองเหนือราษฎรที่มีระยะห่าง แม้จะมีนัยยะของการดูแลทุกข์สุขของราษฎร แต่ก็มีนัยยะของพ่อที่มีอํานาจเด็ดขาด สามารถทําการลงโทษหากบุตรคนใดไม่เชื่อฟังด้วย (ทักษ์ เฉลิมเตียรณ 2552) แต่ "พ่อ" ในความหมายของ "พ่อของลูก" ในปัจจุบัน เป็นความหมายในลักษณะใกล้ชิด และไม่มีด้านของอํานาจเด็ดขาดแบบเดิมอีก
17 เคยมีการอภิปรายสาธารณะถึงปัญหาของกฎหมายนี้อยู่บ้างในช่วงปลายทศวรรษ 2520 ดูในกองบรรณาธิการปาจารยสาร (2530) และเคยมีการรณรงค์สาธารณะชี้ให้เห็นปัญหาของข้อหานี้ในเฉพาะผู้ถูกกล่าวหาที่มีชื่อเสียงอยู่แล้ว เช่น กรณีสุลักษณ์ ศิวรักษ์ เป็นต้น
18 คําวินิจฉัยในเรื่องนี้เกิดขึ้นจากการยื่นคําร้องในระหว่างการสืบพยานในคดีของสมยศ พฤกษาเกษมสุข และเอกชัยหงส์กังวาน ยื่นขอให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่ามาตรา 112 ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ ทั้งในส่วนของการขัดต่อหลักนิติธรรม หลักสิทธิเสรีภาพของประชาชน หลักการมีเหตุยกเว้นความผิดในกฎหมายหมิ่นประมาทซึ่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยออกมาในช่วงปี 2555 ว่าไม่ขัดหรือแย้งใดๆ
19 ปิยบุตร แสงกนกกุล (2555: 48-49) ยังกล่าวถึงเหตุที่ทําให้องค์พระมหากษัตริย์ไม่อาจถูกละเมิดได้ในระบอบประชาธิปไตย ก็ต่อเมื่อกษัตริย์ปฏิบัติตามเงื่อนไข 4 ประการครบถ้วน ได้แก่ กษัตริย์ไม่กระทําการใดตามลําพังต้องมีผู้ลงนามรับสนองฯ เสมอ, อํานาจบริหารเป็นหนึ่งเดียว ไม่มีการแยกกษัตริย์กับรัฐบาลออกจากกัน, ไม่มีบุคคลใดทราบได้ว่ากษัตริย์คิดอะไร และพระราชดํารัส พระราชหัตถเลขา หรือการกระทําอื่นใดที่เกี่ยวพันกับประเด็นทางการเมืองต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี

บรรณนานุกรม

แก้ไข
 

งานนี้เป็นงานที่เผยแพร่ภายใต้สัญญาอนุญาตครีเอทีฟคอมมอนส์ แบบแสดงที่มา-อนุญาตแบบเดียวกัน 4.0 ซึ่งอนุญาตให้เผยแพร่หรือดัดแปลงแก้ไขงานนี้ได้อย่างเสรี ตราบเท่าที่ยังมีการระบุถึงชื่อผู้สร้างสรรค์งาน หรือผู้ให้สัญญาอนุญาตของงานนี้ และผลงานดัดแปลงแก้ไขจากงานนี้ จะต้องอยู่ภายใต้สัญญาอนุญาตเดียวกับงานนี้ด้วยเช่นกัน