ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2520
เล่ม ๙๔ ตอนที่ ๑๑๑
๙ พฤศจิกายน ๒๕๒๐
ราชกิจจานุเบกษา
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ประกาศว่า
โดยที่หัวหน้าคณะปฏิวัตินำความกราบบังคมทูลพระกรุณาว่า การที่คณะปฏิวัติได้กระทำการยึดอำนาจการปกครองแผ่นดินเมื่อวันที่ ๒๐ ตุลาคม ๒๕๒๐ และประกาศให้ยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๑๙ นั้น เนื่องด้วยมีความปรารถนาจะเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจ สังคม ความสามัคคีของชนในชาติ ความเป็นระเบียบเรียบร้อย และความสงบสุขของประชาชน ตลอดจนสร้างเสริมความสัมพันธ์กับนานาประเทศ เพื่อให้เกิดความมั่นคงทั้งภายในภายนอกราชอาณาจักรในการบริหารประเทศต่อไป คณะปฏิวัติจะจัดให้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยมอบให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติจัดร่างขึ้นตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ให้มีการเลือกตั้งภายในปีพุทธศักราช ๒๕๒๑ แต่ในระหว่างดำเนินการดังกล่าว ควรให้มีธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรใช้ไปพลางก่อนให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่เป็นอยู่ในขณะนี้
อาศัยเหตุดังที่หัวหน้าคณะปฏิวัติกราบบังคมทูลขึ้นมา จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ใช้บทบัญญัติซึ่งคณะปฏิวัติเสนอมาต่อไปนี้เป็นธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร จนกว่าจะได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญซึ่งจะได้จัดร่างขึ้นตามบทบัญญัติแห่งธรรมนูญการปกครองฉบับนี้
มาตรา๑ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียว จะแบ่งแยกมิได้
พระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุขและดำรงตำแหน่งจอมทัพไทย
มาตรา๒อำนาจอธิปไตยมาจากปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ผู้เป็นประมุขทรงใช้อำนาจนั้นแต่โดยบทบัญญัติแห่งธรรมนูญการปกครองนี้
มาตรา๓พระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจนิติบัญญัติทางสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ทรงใช้อำนาจบริหารทางคณะรัฐมนตรี และทรงใช้อำนาจตุลาการทางศาล
มาตรา๔องค์พระมหากษัตริย์ดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ และจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องในทางใด ๆ มิได้
มาตรา๕พระมหากษัตริย์ทรงเลือกและแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิเป็นประธานองคมนตรีคนหนึ่ง และองคมนตรีอื่นอีกไม่เกินสิบสี่คน ประกอบเป็นคณะองคมนตรี
คณะองคมนตรีมีหน้าที่ถวายความเห็นต่อพระมหากษัตริย์ในพระราชกรณียกิจทั้งปวงที่พระมหากษัตริย์ทรงปรึกษา
การเลือกและแต่งตั้งองคมนตรี และการให้องคมนตรีพ้นจากตำแหน่ง ย่อมเป็นไปตามพระราชอัธยาศัย
มาตรา๖ให้มีสภานิติบัญญัติแห่งชาติ มีหน้าที่จัดทำรัฐธรรมนูญและพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ
ในการจัดทำรัฐธรรมนูญ ให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติคำนึงถึงการเลือกตั้งทั่วไปซึ่งจะมีขึ้นภายในปีพุทธศักราช ๒๕๒๑
มาตรา๗สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ประกอบด้วย สมาชิกจำนวนไม่น้อยกว่าสามร้อยคน แต่ไม่เกินสี่ร้อยคน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งจากผู้มีสัญชาติไทยโดยกำเนิด ตามที่ประธานสภานโยบายแห่งชาตินำความกราบบังคมทูล
ถ้าตำแหน่งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติว่างลง พระมหากษัตริย์จะทรงแต่งตั้งบุคคลผู้มีคุณสมบัติตามวรรคหนึ่งเข้าเป็นสมาชิกแทนก็ได้
ประธานสภานโยบายแห่งชาติเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจที่จะให้สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติพ้นจากตำแหน่งตามที่ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติถวายคำแนะนำตามมติของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการให้สมาชิกพ้นจากตำแหน่ง
มาตรา๘พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติตามมติของสภาให้เป็นประธานสภาคนหนึ่งเป็นรองประธานสภาคนหนึ่งหรือหลายคนก็ได้
มาตรา๙ให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติแต่งตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นคณะหนึ่งทำหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญเพื่อเสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
คณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญจะมีจำนวนเท่าใด และจะประกอบด้วยบุคคลซึ่งมิได้เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติหรือไม่ ให้เป็นไปตามมติของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
มาตรา๑๐เมื่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติได้รับร่างรัฐธรรมนูญจากคณะกรรมาธิการตามมาตรา ๙ แล้ว ให้พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญนั้นเป็นสามวาระ การพิจารณาในวาระที่หนึ่งและวาระที่สอง ให้เป็นไปตามข้อบังคับการประชุมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ สำหรับวาระที่สาม ให้กระทำได้เมื่อการพิจารณาวาระที่สองได้ล่วงพ้นไปแล้วสิบห้าวัน
การออกเสียงลงคะแนนในวาระที่สาม ให้ใช้วิธีเรียกชื่อ และต้องมีคะแนนเสียงเห็นชอบด้วยในการที่จะให้ประกาศใช้เป็นรัฐธรรมนูญไม่ต่ำกว่าสองในสามของจำนวนสมาชิกทั้งหมด
การประชุมในวาระที่สาม ต้องมีสมาชิกมาประชุมไม่น้อยกว่าสามในสี่ของจำนวนสมาชิกทั้งหมด จึงจะเป็นองค์ประชุม
เมื่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติได้ลงมติให้ความเห็นชอบในวาระที่สามแล้ว ให้ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาตินำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายพระมหากษัตริย์เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้เป็นรัฐธรรมนูญ
การประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ให้ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ
มาตรา๑๑ในการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญในวาระที่สาม ถ้าไม่ได้คะแนนเสียงเห็นชอบตามมาตรา ๑๐ วรรคสอง ให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติจัดทำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ตามบทบัญญัติแห่งธรรมนูญการปกครองนี้ แต่ถ้าการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวจะมีผลให้ไม่อาจจัดให้มีการเลือกตั้งภายในปีพุทธศักราช ๒๕๒๑ ให้ขยายกำหนดเวลาการจัดให้มีการเลือกตั้งออกไปหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันสิ้นปีพุทธศักราช ๒๕๒๑
มาตรา๑๒ในการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญที่จัดทำขึ้นใหม่ตามมาตรา ๑๑ ถ้าไม่ได้คะแนนเสียงเห็นชอบตามมาตรา ๑๐ ในวาระที่หนึ่งหรือวาระที่สาม ให้สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติทั้งหมดพ้นจากตำแหน่งในวันที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติลงคะแนนเสียงไม่เห็นชอบ และให้คณะรัฐมนตรี โดยความเห็นชอบของสภานโยบายแห่งชาติ นำร่างรัฐธรรมนูญที่คณะกรรมาธิการตามมาตรา ๙ ร่างขึ้น หรือรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยที่ได้เคยประกาศใช้บังคับมาแล้วฉบับใดฉบับหนึ่ง มาปรับปรุงให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันนับแต่วันที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติลงคะแนนเสียงไม่เห็นชอบ และนำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายพระมหากษัตริย์ เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้เป็นรัฐธรรมนูญ
ในการปรับปรุงรัฐธรรมนูญตามวรรคหนึ่ง ให้คณะรัฐมนตรีคำนึงถึงการเลือกตั้งซึ่งจะต้องจัดให้มีขึ้นโดยเร็วเท่าที่จะทำได้
การประกาศใช้รัฐธรรมนูญตามมาตรานี้ ให้นายกรัฐมนตรีลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ
มาตรา๑๓ภายใต้บังคับมาตรา ๑๐ การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติต้องมีสมาชิกมาประชุมไม่ต่ำกว่าหนึ่งในสามของจำนวนสมาชิกทั้งหมด จึงจะเป็นองค์ประชุม
มาตรา๑๔ในการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ผู้ใดจะกล่าวถ้อยคำใด ๆ ในทางแถลงข้อเท็จจริง หรือแสดงความคิดเห็น หรือออกเสียงลงคะแนน ย่อมเป็นเอกสิทธิ์โดยเด็ดขาด จะนำไปเป็นเหตุฟ้องร้องว่ากล่าวผู้นั้นในทางใดมิได้
เอกสิทธิ์ที่บัญญัติไว้ในวรรคหนึ่ง ให้คุ้มครองถึงกรรมาธิการของสภาผู้พิมพ์และผู้โฆษณารายงานการประชุมโดยคำสั่งของสภานิติบัญญัติแห่งชาติด้วย
ในกรณีที่สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติถูกควบคุมหรือขังหรือถูกฟ้องในคดีอาญา ให้สั่งปล่อยหรืองดการพิจารณาในเมื่อประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติร้องขอ
มาตรา๑๕สภานิติบัญญัติแห่งชาติมีอำนาจตราข้อบังคับเกี่ยวกับการเลือกและการปฏิบัติหน้าที่ของประธานสภา รองประธานสภา และกรรมาธิการ วิธีการประชุม การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ การพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ การเสนอญัตติที่ไม่มีลักษณะเป็นการขอให้คณะรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีชี้แจงหรือแสดงความเห็นในเรื่องใด ๆ การอภิปราย การลงมติ การรักษาระเบียบและความเรียบร้อย และกิจการอื่น เพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่
มาตรา๑๖พระมหากษัตริย์ทรงตราพระราชบัญญัติโดยคำแนะนำและยินยอมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
ร่างพระราชบัญญัติจะเสนอได้ก็แต่โดยคณะรัฐมนตรี
มาตรา๑๗ให้มีสภานโยบายแห่งชาติ ประกอบด้วย บุคคลในคณะปฏิวัติตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๖ ลงวันที่ ๒๒ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๒๐ เป็นสมาชิก
ให้หัวหน้าคณะปฏิวัติเป็นประธานสภานโยบายแห่งชาติ รองหัวหน้าคณะปฏิวัติเป็นรองประธานสภานโยบายแห่งชาติ และให้สภานโยบายแห่งชาติแต่งตั้งสมาชิกสภานโยบายแห่งชาติเป็นเลขาธิการสภานโยบายแห่งชาติคนหนึ่ง และรองเลขาธิการสภานโยบายแห่งชาติคนหนึ่ง
ในกรณีที่ประธานสภานโยบายแห่งชาติไม่อยู่หรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้รองประธานสภานโยบายแห่งชาติทำหน้าที่ประธานสภานโยบายแห่งชาติ และในกรณีที่ประธานและรองประธานสภานโยบายแห่งชาติไม่อยู่หรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้สมาชิกสภานโยบายแห่งชาติเลือกสมาชิกคนหนึ่งทำหน้าที่ประธานสภานโยบายแห่งชาติ
มาตรา๑๘สภานโยบายแห่งชาติมีอำนาจหน้าที่กำหนดแนวนโยบายแห่งรัฐ และให้ความคิดเห็นแก่คณะรัฐมนตรีเพื่อให้การบริหารราชการแผ่นดินเป็นไปตามแนวนโยบายแห่งรัฐ และมีอำนาจหน้าที่อื่นตามที่บัญญัติไว้ในธรรมนูญการปกครองนี้
มาตรา๑๙ในกรณีมีปัญหาเกี่ยวกับนโยบายสำคัญ หรือเมื่อนายกรัฐมนตรีขอให้พิจารณาปัญหาใด ประธานสภานโยบายแห่งชาติจะเสนอปัญหานั้นให้ที่ประชุมร่วมระหว่างสมาชิกสภานโยบายแห่งชาติและคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาวินิจฉัยก็ได้ และเมื่อที่ประชุมร่วมมีมติเป็นประการใดแล้ว ให้คณะรัฐมนตรีดำเนินการให้เป็นไปตามนั้น
ในการประชุมร่วมตามวรรคหนึ่ง ให้ประธานสภานโยบายแห่งชาติทำหน้าที่ประธาน และให้นำความในวรรคสามของมาตรา ๑๗ มาใช้บังคับโดยอนุโลม
มาตรา๒๐ก่อนตั้งคณะรัฐมนตรี ประธานสภานโยบายแห่งชาติปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรี และสภานโยบายแห่งชาติปฏิบัติหน้าที่คณะรัฐมนตรี
มาตรา๒๑พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนหนึ่งตามคำกราบบังคมทูลของประธานสภานโยบายแห่งชาติ และรัฐมนตรีตามจำนวนที่นายกรัฐมนตรีกราบบังคมทูล ประกอบเป็นคณะรัฐมนตรี มีหน้าที่บริหารราชการแผ่นดิน
มาตรา๒๒พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจที่จะให้นายกรัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่งตามที่ประธานสภานโยบายแห่งชาติถวายคำแนะนำ และให้รัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่งตามที่นายกรัฐมนตรีถวายคำแนะนำ
มาตรา๒๓ประธานสภานโยบายแห่งชาติเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีหรือให้นายกรัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่ง
นายกรัฐมนตรีเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งรัฐมนตรีหรือให้รัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่ง
มาตรา๒๔นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีจะเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติมิได้ และจะดำรงตำแหน่งใดในกิจการเอกชนที่ดำเนินธุรกิจเพื่อค้ากำไรมิได้
นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีมีสิทธิเข้าร่วมประชุมเพื่อแถลงนโยบายและชี้แจงแสดงความเห็นในที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ แต่ไม่มีสิทธิออกเสียงลงคะแนน
มาตรา๒๕พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการตราพระราชกฤษฎีกาโดยไม่ขัดต่อกฎหมาย
มาตรา๒๖เมื่อมีความจำเป็นรีบด่วนในอันจะรักษาความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรหรือป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะ หรือเมื่อมีความจำเป็นต้องมีกฎหมายเกี่ยวด้วยการภาษีอากรหรือเงินตรา นายกรัฐมนตรี โดยความเห็นชอบของสภานโยบายแห่งชาติ จะกราบบังคมทูลพระมหากษัตริย์เพื่อทรงตราพระราชกำหนดให้ใช้บังคับดังเช่นพระราชบัญญัติก็ได้
เมื่อได้ประกาศใช้พระราชกำหนดแล้ว ให้คณะรัฐมนตรีเสนอพระราชกำหนดต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติโดยไม่ชักช้า ถ้าสภานิติบัญญัติแห่งชาติอนุมัติแล้ว ให้พระราชกำหนดมีผลเป็นพระราชบัญญัติต่อไป ถ้าสภานิติบัญญัติแห่งชาติไม่อนุมัติให้พระราชกำหนดนั้นตกไป แต่ทั้งนี้ ไม่กระทบกระเทือนกิจการที่ได้เป็นไปในระหว่างที่ใช้พระราชกำหนดนั้น
การอนุมัติหรือไม่อนุมัติพระราชกำหนด ให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ในกรณีไม่อนุมัติ ให้มีผลตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา
มาตรา๒๗ในกรณีที่นายกรัฐมนตรีเห็นเป็นการจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการป้องกัน ระงับ หรือปราบปรามการกระทำอันเป็นการบ่อนทำลายความมั่นคงของราชอาณาจักร ราชบัลลังก์ เศรษฐกิจของประเทศ หรือราชการแผ่นดิน หรือการกระทำอันเป็นการก่อกวนหรือคุกคามความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือการกระทำอันเป็นการทำลายทรัพยากรของประเทศ หรือเป็นการบั่นทอนสุขภาพอนามัยของประชาชน ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเกิดขึ้นก่อนหรือหลังวันใช้ธรรมนูญการปกครองนี้ และไม่ว่าจะเกิดขึ้นภายในหรือภายนอกราชอาณาจักร ให้นายกรัฐมนตรี โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีและของสภานโยบายแห่งชาติ มีอำนาจสั่งการหรือกระทำการใด ๆ ได้ และให้ถือว่า คำสั่งหรือการกระทำของนายกรัฐมนตรี รวมทั้งการปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าว เป็นคำสั่ง หรือการกระทำ หรือการปฏิบัติ ที่ชอบด้วยกฎหมาย
เมื่อนายกรัฐมนตรีได้สั่งการหรือกระทำการใดไปตามวรรคหนึ่งแล้ว ให้นายกรัฐมนตรีแจ้งให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติทราบ
มาตรา๒๘บรรดาบทกฎหมาย พระราชหัตถเลขา และพระบรมราชโองการใด อันเกี่ยวกับราชการแผ่นดิน ต้องมีนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ
มาตรา๒๙ผู้พิพากษาและตุลาการมีอิสระในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีให้เป็นไปตามกฎหมาย
มาตรา๓๐ในเมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งธรรมนูญการปกครองนี้บังคับแก่กรณีใด ให้วินิจฉัยกรณีนั้นไปตามประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตย
ในกรณีมีปัญหาเกี่ยวแก่การวินิจฉัยกรณีใดตามความในวรรคหนึ่งเกิดขึ้นในวงงานของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือเกิดขึ้นโดยคณะรัฐมนตรีขอให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติวินิจฉัย ให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติวินิจฉัยชี้ขาด
มาตรา๓๑ในกรณีมีปัญหาว่า การกระทำหรือการปฏิบัติใดขัดหรือแย้งหรือไม่เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งธรรมนูญการปกครองนี้ ให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติเป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาด
มาตรา๓๒บรรดาการกระทำ ประกาศ หรือคำสั่งของหัวหน้าคณะปฏิวัติ หรือการกระทำ ประกาศ หรือคำสั่งของคณะปฏิวัติ ที่ได้กระทำ ประกาศ หรือสั่งก่อนวันใช้ธรรมนูญการปกครองนี้ ทั้งนี้ ที่เกี่ยวเนื่องกับการปฏิวัติ ไม่ว่าจะกระทำด้วยประการใด หรือเป็นในรูปใด และไม่ว่าจะกระทำ ประกาศ หรือสั่งให้มีผลใช้บังคับในทางนิติบัญญัติ ในทางบริหาร หรือในทางตุลาการ ให้ถือว่า การกระทำ ประกาศ หรือคำสั่ง ตลอดจนการกระทำของผู้ปฏิบัติตามประกาศหรือคำสั่งนั้น เป็นการกระทำ ประกาศ หรือคำสั่ง ที่ชอบด้วยกฎหมาย
พลเรือเอก สงัด ชลออยู่
หัวหน้าคณะปฏิวัติ
งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตามมาตรา 7 (2) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า
- "มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
- (1)ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
- (2)รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
- (3)ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
- (4)คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
- (5)คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"