ประวัติศาสตร์กฎหมายไทย/เล่ม 3/หมวด 1
1.ตามกฎหมายเก่าหาแบ่งแยกทรัพย์เป็นสังหาริมทรัพย์ อสังหาริมทรัพย์ เช่นกฎหมายปัจจุบันไม่ แต่แบ่งแยกเป็นวิญญาณกทรัพย์และอวิญญาณกทรัพย์ คือ ทรัพย์ที่มีชีวิตและทรัพย์ที่ปราศจากชีวิต การแบ่งแยกนี้ปรากฏอยู่ครั้งแรกในคัมภีร์ธรรมสัตถำเก่าที่ใช้กันในประเทศรามัญและพะม่า นักนีติศาสตร์มอญเป็นผู้คิดตั้งโดยเอามูลมาจากพระคำภีร์ในพระพุทธศาสนา[1] แต่การแบ่งนี้มีลักษณะไปในทางศาสนาและศีลธรรมมากกว่าอื่น จึงไม่ค่อยมีผลอย่างไรในทางกฎหมาย ข้อที่กฎหมายในครั้งกรุงศรีอยุธยารับรู้การแบ่งประเภททรัพย์นี้แต่อย่างเดียว ไม่คิดที่จะเอาที่ดินเป็นประเภททรัพย์ต่างหากนั้น ส่อให้เห็นว่า ในสมัยนั้นไม่นับที่ดินว่าเป็นทรัพย์สำคัญในกองสมบัติของบุคคลเช่นในสมัยปัจจุบัน ในสายตาของผู้เป็นเจ้าของ ที่ดินไม่มีราคามากกว่าทาสกรรมกร ปสุสัตว์ สัตว์พาหนะ และเงินทองรูปพรรณซึ่งเป็นของตนด้วย
การถือกันดังกล่าวมานี้หาใช่เพราะเหตุที่คนไทยโบราณไม่รู้จักคุณค่าของที่ดินในทางเศรษฐกิจไม่ ปวงชนชาวไทยตั้งแต่โบราณกาลมาพึ่ง⟨พา⟩อาศัยกสิกรรมเป็นพื้นในการเลี้ยงชีวิต จึงเห็นแจ้งประจักษ์ถึงประโยชน์แห่งที่ดิน การที่ถือกันว่าไม่เป็นทรัพย์สำคัญในกองสมบัติของบุคคล ก็เนื่องมาจากความคิดเห็นเรื่องสิทธิของผู้เป็นเจ้าของ
2.ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๓๖ ว่า "เจ้าของทรัพย์สินมีสิทธิใช้สรอยและจำหน่ายทรัพย์สินของตน และได้ซึ่งดอกผลแห่งทรัพย์สินนั้น กับทั้งมีสิทธิติดตามและเอาคืนซึ่งทรัพย์สินของตนจากบุคคลผู้ไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้ และมีสิทธิขัดขวางมิให้ผู้อื่นสอดเข้าเกี่ยวข้องกับทรัพย์สินนั้นโดยมิชอบด้วยกฎหมาย" สิทธิของเจ้าของตามที่วิเคราะห์มานี้ ถ้าพูดถึงเจ้าของสังหาริมทรัพย์ มนุษย์รับรู้กันทั่วไปแต่นมนาน แม้ขนบธรรมเนียมชุมนุมชนอนารยะหรือพวกคนป่าที่ล้าหลังที่สุดยังรับรองกรรมสิทธิของบุคคลในสิ่งของบางอย่าง เช่น อาวุธ เครื่องมือ สัตว์พาหนะ เครื่องประดับประดา เป็นต้น ผู้เป็นเจ้าของมีสิทธิใช้และจำหน่ายแต่ผู้เดียว และมีสิทธิทำลายได้ตามอำเภอใจ ทั้งมีสิทธิติดตามได้จากผู้ที่ลักไป ดุจเดียวกันกับสมัยปัจจุบัน แต่ส่วนที่ดินนั้น สิทธิของเจ้าของได้เปลี่ยนแปลงตามชั้นแห่งความเจริญของชุมนุมชน วิธีเลี้ยงชีพ และระบอบการเมือง กฎหมายประเพณีเรื่องที่ดินจึงมีลักษณะต่างกันตามกาลสมัยและประเทศชาติ
พวกคนป่าบางพวกไม่รู้เรื่องกรรมสิทธิในที่ดินเลย เช่น พวกที่หาเลี้ยงชีพโดยการล่าสัตว์หรือการเก็บผลไม้ป่า ถือว่าที่ดินเป็นของกลาง ไม่มีใครหวงห้ามเป็นของตนโดยฉะเพาะได้ ในพวกที่หาเลี้ยงชีพโดยเลี้ยงปสุสัตว์และที่ท่องเที่ยวไปไม่ตั้งรกรากอยู่คงที่ แม้จะเป็นพวกที่เข้ามาสู่ความเจริญบ้างแล้ว เช่น พวกมองโกลและอาหรับก็ดี ที่ดินยังไม่มีเจ้าของ ยังเป็นของกลางอยู่ ต่อเมื่อมีชุมนุมอาศัยการเพาะปลูก จึงเกิดมีผู้เป็นเจ้าของที่ดิน แต่ในดั้งเดิมที่ดินไม่ตกเป็นขอบุคคลแต่ละคน แต่ตกเป็นของชาติกุล[2] ร่วมกัน และแบ่งปันกันในระหว่างครัวเรือนเป็นระยะสั้น ๆ โดยมากทุปกี ในกาลต่อมา วิธีเพาะปลูกดีขึ้น ผู้ทำต้องการยึดถือที่ดินนานกว่าแต่ก่อน การแบ่งปันจึงค่อย ๆ ขยายเวลาทำกันเป็นเวลานานขึ้น จนในที่สุดก็เลิกเสียทีเดียว ที่ดินจึงตกเป็นกรรมสิทธิร่วมกันของครอบครัว หัวหน้าครอบครัวเป็นผู้ถือในนามของสมาชิกทั้งหลาย หัวหน้าไม่มีสิทธิโอนให้แก่ใคร เพราะเป็นสมบัติของหมู่ แต่นอกจากนี้หัวหน้ามีอำนาจมาก โดยเป็นผู้ตัดสินเด็ดขาดเรื่องการใช้ประโยชน์ในที่ทุกประการ ในกาลต่อมา อำนาจของหัวหน้าเสื่อมลง เพราะการที่ครอบครัวรวมเป็นชาติกุลนั้นสนิทแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ชาติกุลมีประมุขอันมีอำนาจเหนือบรรดาหัวหน้าครอบครัว ในตอนต้น อำนาจของประมุขยังอ่อนอยู่ เป็นแต่หัวหน้าผู้หนึ่งซึ่งมีกำลังบริวารมากกว่าผู้อื่น แต่ในประเทศชาติที่เจริญ อำนาจของประมุขนั้นกว้างขวางมั่นคงขึ้นเป็นลำดับ และสามารถที่จะตั้งลูกหลานสืบกันต่อไปได้ เป็นเหตุให้อำนาจของหัวหน้าครอบครัวหย่อนลง ในบางแห่งประมุขเข้าสวมสิทธิของหัวหน้าครอบครัวได้บางประการโดยถือชาติกุลเสมือนหนึ่งว่าเป็นครอบครัวของตน และปกครองบ้านเมืองตามอย่างหัวหน้าบริหารกิจการแห่งครอบครัว ประมุขจึงได้เป็นผู้ถือที่ดินอยู่ในบังคับบัญชาของตนแต่ผู้เดียวแทนหัวหน้าทั้งหลาย ต่อมาเมื่อชาติกุลรวมเป็นประเทศชาติใหญ่ การปกครองหนักแน่นยิ่งขึ้น เป็นเหตุให้อำนาจของครอบครัวโทรมลงไปอีก และบุคคลแต่ละคนเริ่มมีสิทธิโดยฉะเพาะ ในชุมนุมที่ยังถือกรรมสิทธิร่วมกันของครอบครัว หัวหน้าไม่มีอำนาจเด็ดขาดเหมือนแต่ก่อน ต้องปรึกษาสมาชิกผู้อื่น และบางทีก็ต้องยอมแบ่งปันที่ดินให้แก่สมาชิกด้วย กรรมสิทธิของเอกชนจึงแพร่หลายขึ้น
3.แต่กรรมสิทธิที่เกิดขึ้นนี้มีลักษณะต่างกันกับกรรมสิทธิในสังหาริมทรัพย์เป็นอันมาก ทั้งนี้ก็เพราะเหตุหลายประการ ในเบื้องต้น ที่ดินมีมาก และคนยังมีน้อย ฉะนั้น หากใคร ๆ ต้องการที่เพื่อปลูกเรือนหรือทำการเพาะปลูก ก็มีแต่จะไปหาที่ในป่า แล้วแผ้วถางโก่นสร้าง ที่จึงเป็นของตน แต่ทว่า ถ้าเจ้าของอพยพออกจากที่หรือเลิกทำประโยชน์เสียแล้ว ที่ก็กลับเป็นของกลาง ผู้หนึ่งผู้ใดจะเข้าทำต่อไปก็ได้ ในสมัยโบราณ กรรมสิทธิไม่แยกออกจากการครอบครอง เจ้าของต้องเป็นผู้อยู่หรือผู้ทำ แลมีสิทธิหวงห้ามที่ได้แต่เมื่ออยู่หรือเมื่อทำ โดยเหตุนี้เอง ที่ดินจึงไม่เป็นสาระสำคัญในกองสมบัติของบุคคล ทรัพย์ที่เป็นสาร⟨ะ⟩สำคัญก็คือทาสกรรมกรช้างม้าโคกระบือและสิ่งของทองเงินที่ติดไปกับผู้เป็นเจ้าของและอยู่ใต้อำนาจของเจ้าของเด็ดขาด กับทั้งเป็นทรัพย์ที่ทำให้เจ้าของสามารถได้ผลประโยชน์จากที่ดินด้วย ฉะนั้น บุคคลผู้หนึ่งหามั่งมีเพราะมีไร่นาเรือกสวนเนื้อที่ใหญ่ไม่ แต่เพราะมีกำลังเพียงพอทำได้เต็มเนื้อที่ กล่าวคือ มีแรงงานทาสกรรมการและเงินทองเป็นอันมาก เมื่อเป็นดังนี้ จึงไม่เป็นการประหลาดแต่อย่างใดที่กฎหมายเก่าของไทยในบางแห่งระบุทรัพย์ต่าง ๆ ที่รวมเป็นกองสมบัติของบุคคลโดยมิได้บ่งถึงที่ดินเลย ความจริงที่ดินไม่มีราคาในตัวเอง แต่ผลที่เก็บเกี่ยวได้จากที่ดินตกอยู่ในกองสมบัติของบุคคลมากกว่าเนื้อที่ดินเอง ต่อเมื่อกรรมสิทธิแยกออกจากการครอบครองแล้ว ที่ดินจึงเริ่มเป็นทรัพย์สินอันมีคุณค่าต่างหากจากผลประโยชน์ที่ทำได้ แต่ถึงกระนั้นก็ดี สิทธิในที่ดินยังไม่เหมือนสิทธิในสังหาริมทรัพย์ เพราะสมัยที่มนุษย์รวมตั้งเป็นชุมนุมใหญ่นั้น เป็นสมัยการเมืองที่การปกครองเป็นการปกครองดินแดน แทนที่จะเป็นการปกครองหมู่ชนโดยฉะเพาะอย่างสมัยก่อน มีพระราชาเป็นเจ้าอาณาเขตต์ อาณาเขตต์นั้นไม่ใช่อื่น คือ ที่ดินที่พระราชทรงอำนาจปกครองนั้นเอง การที่มีเจ้าของหวงแหนยึดถือไว้ในอำนาจของตน อาจเป็นปรปักษ์ต่ออำนาจของพระราชา ไม่เหมือนสังหาริมทรัพย์ที่ผู้เป็นเจ้าของไม่สู้จะมีโอกาสใช้สิทธิของตนได้ในทางที่เป็นอุปสรรคต่ออำนาจของพระราชา ฉะนั้น ในประเทศชาติที่พระราชามีอำนาจมาก ก็คงจะพยายามตัดทอนและจำกัดสิทธิของเจ้าของมิให้ล่วงอำนาจของพระราชาได้ โดยเหตุที่การยึดถือที่ดินเป็นปัจจัยแห่งอิสสระภาพและความเลื่อมใส พระราชาจะขวนขวายอย่างสุดกำลังแห่งความสามารถมิให้สิทธิของเจ้าของเกิดเป็นอันตรายต่อตน กับทั้งในฐานะที่มีหน้าที่ป้องกันประโยชน์ของบ้านเมือง พระราชาคงบากบั่นเข้าจัดการให้ที่ดินเกิดมีผลตามความต้องการของประชากร และให้ราษฎรรับส่วนแบ่งอันสมควรแก่ตำแหน่งและกำลังด้วย
ด้วยเหตุหลายประการดังกล่าวมานี้ จะเห็นได้ว่า ในสมัยเก่า สิทธิของผู้เป็นเจ้าของที่ดินไม่บริบูรณ์เหมือนสมัยปัจจุบัน ในเบื้องต้นมักเป็นสิทธิร่วมกันของหมู่ชน ไม่มีการโอนให้กันได้ หรือเป็นแต่สิทธิที่จะทำหรืออาศัยในที่ ในกาลต่อมาเมื่อกรรมสิทธิแยกออกจากการครอบครองได้แล้ว ก็มากระทบกระเทือนกับอำนาจของรัฐอันกีดขวางมิให้กวางขึ้น สิทธิของเจ้าของที่ดินจึงถูกจำกัดต่าง ๆ ไม่บริบูรณ์ เช่น สิทธิในสังหาริมทรัพย์ซึ่งกฎหมายประเพณีรับรู้แต่ดึกดำบรรพ์ เพิ่งมีกรรมสิทธิอย่างเดียวสำหรับทรัพย์ทั้งสองประเภทแต่ในสมัยปัจจุบันนี้เอง[3]
4.เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ระบอบที่ดินในประเทศไทยนี้ เป็นการน่าประหลาดที่กฎหมายไทยไม่ได้รับอิทธิพลจากกฎหมายฮินดูหรือกฎหมายรามัญ หากจะได้รับบ้างก็เป็นข้อเบ็ดเตล็ดไม่สำคัญ นักนีติศาสตร์ฮินดูรับรู้สิทธิของบุคคลเหนือที่ดินแต่เเนิ่นนาน และแยกกรรมสิทธิออกจากการครอบครองอย่างแจ่มแจ้ง แต่โดยมากที่ดินเป็นกรรมสิทธิร่วมกันของครอบครัวหรือของหมู่บ้าน กรรมสิทธิของบุคคลแต่ละคนไม่ค่อยจะมี ส่วนอำนาจของพระราชาก่อนสมัยที่พวกมองโกลเข้ามาตีประเทศอินเดียได้ นักนีติศาสตร์ถือว่า ไม่เกี่ยวกับสิทธิของราษฎรผู้เป็นเจ้าของที่ดิน ตามคัมภีร์เคาตมธรรมสูตรที่แต่งขึ้นราวร้อยปีก่อนพุทธศักราชระบุถึงการได้มาต่าง ๆ ของกรรมสิทธิ โดยไม่อ้างอิงถึงสิทธิของพระราชาเลย ส่วนคำภีร์มนูธรรมศาสตร์ว่า พระราชามีหน้าที่เป็นผู้ระงับข้อพิพาทอันเกิดขึ้นระหว่างราษฎรเรื่องเขตต์ที่ดิน แต่ตัวเองไม่มีสิทธิในที่แต่อย่างใด ความคิดเห็นของนักนีติศาสตร์ฮินดูนี้ตกมาปรากฎอยู่ในพระคำภีร์ฝ่ายพุทธศาสนา เช่น ตามนิทานพระเจ้ามหาสุมมติราชเมื่อถูกเลือกตั้งเป็นปฐมมหากษัตริย์นั้น ราษฎรหาสละที่ดินของตนไม่ แต่ยอมสละเสียส่วนหนึ่งแห่งผลที่จะเก็บเกี่ยวได้ในนาของตนเพื่อให้พระเจ้ามหาสมมุติราชดำเนินราชการได้เท่านั้น[4]
ส่วนประเทศรามัญหรือประเทศพม่าเก่าก็รับอิทธิพลมาจากประเทศฮินดูโดยตรง ระบอบที่ดินจึงมีลักษณะคล้ายคลึงกับกฎหมายฮินดู ตามธรรมสัตถำของพระเจ้าวาเรรุ (เจ้าฟ้ารั่ว) ราษฎรเป็นเจ้าของที่สวนนาและที่ ๆ ปลูกเรือนอยู่ มีสิทธิซื้อขาย ให้ และจำนำได้ โดยพระราชาไม่เกี่ยวข้องเลย (มาตรา ๖๗, ๘๖ และ ๙๒) ตามมาตรา ๑๖๙ และ ๑๗๐ การพิศูจน์กรรมสิทธิ์ในที่ดินก็พิศูจน์ด้วยพะยานหลักฐาน ถ้ามีหลักฐานด้วยกันทั้งสองฝ่ายหรือเป็นที่สงสัยแล้ว ให้ผู้ครอบครองที่พิพาทเนืองนิจเป็นเจ้าของ ยังปรากฎว่า ที่ดินเคยเป็นกรรมสิทธิร่วมกันของครอบครัว เห็นได้จากการที่กฎหมายประเพณีไม่ยอมให้ตกเป็นของผู้ที่ไม่เป็นญาติ ถ้าเจ้าของจะขายที่ กฎหมายบังคับให้เสนอต่อผู้เป็นทายาทก่อน ถ้าทายาทไม่ยอมซื้อ จึงขายให้แก่ผู้อื่นได้ (มาตรา ๘๖) แต่ในประเทศไทยสมัยกรุงศรีอยุธยา เป็นที่ทราบอยู่แล้วว่า ระบอบที่ดินผิดแผกจากนี้มาก โดยพระมหากษัตริย์ถือพระองค์ว่าเป็นเจ้าของที่ดิน ราษฎรเป็นแต่ผู้อาศัย ไม่มีสิทธิซื้อขายกันได้ ฯลฯ แม้กฎหมายเขมรในโบราณกาลเท่าที่ค้นคว้าหาได้ ดูเหมือนว่าไม่มีอิทธิพลเหนือกฎหมายไทยเลย โดยมหากษัตริย์ไม่เข้าแทรกแซงกับกรรมสิทธิของผู้เป็นเจ้าของ ตามศิลาจารึกของสมเด็จพระเจ้าสูริยวรรมันที่ ๑ ลงปีศก ๙๒๘ คือปี พ.ศ. ๑๕๔๙ ได้ความว่า เมื่อมีผู้มาขอรับพระราชทานที่ดิน ตามระเบียบมีการไต่สวนเพื่อทราบว่า ที่ ๆ ขอพระราชทานนั้นมีเจ้าของหรือไม่ ถ้ามีเจ้าของแล้ว ไม่พระราชทาน ซึ่งส่อให้เห็นชัดว่า มหากษัตริย์เขมรรับรองสิทธิของราษฎรในที่ดิน ฉะนั้น กฎหมายที่ดินในประเทศไทยมีลักษณะพิเศษ ไม่ค่อยรับเอาสิ่งอันใดจมาจากประเทศชาติอื่น แม้เป็นประเทศที่โดยปกติมีอิทธิพลสำหรับกฎหมายแผนกอื่น[5] คงเกี่ยวเกาะยึดมั่นในระบอบที่ดินเดิมอันเป็นขนบธรรมเนียมของชาติ ฉะนั้น ก่อนที่จะศึกษากฎหมายที่ดินในสมัยกรุงศรีอยุธยา เห็นว่า ควรอธิบายโดยสังเขปถึงลักษณะระบอบที่ดินในชุมนุมชนเชื้อชาติไทยที่ตั้งถิ่นถานอยู่นอกลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาเสียก่อน
5.วิธีปกครองของประเทศอัสสัมเมื่อพวกอาหมเป็นใหญ่[6] มีลักษณะอันคล้ายคลึงกับวิธีปกครองของประเทศไทยในสมัยกรุงศรีอยุธยา กล่าวคือ ประชาชนต้องถูกเกณฑ์เข้ารับราชการทุกคน เว้นเสียแต่พวกขุนนาง นักพรต ผู้มีวรรณสูง และทาษ ชายทุกคนอายุตั้งแต่ ๑๕ ปีถึง ๕๐ ปีได้ชื่อว่าเป็น ปาอิก (จากคำสันสกฤต ปาทติก คือ ทหารบก) ซึ่งตรงกับคำว่า ไพร่ ชนปาอิกจัดแบ่งเป็นหมู่ ๆ ละ ๒๐ คน ๑๐๐ คน ๑๐๐๐ คน ๓๐๐๐ คน และ ๖๐๐๐ คนเหมือนเช่นกองทัพ มีนายเป็นลำดับกันเป็นชั้น ๆ มีอำนาจเหนือกัน ในประเทศไทย ไพร่ทุกคนต้องรับราชการปีละ ๖ เดือน ฝ่ายประเทศอัสสัมใช้วิธีต่างกัน แต่มีผลทำนองเดียวกัน คือ ปาอิก ๓–๔ คนรวมกันเป็นหมู่ เรียกว่า โคตร์ คนหนึ่งในหมู่ ๓–๔ คนนี้ต้องรับราชการเปลี่ยกันไปคนละปี ในขณะที่คนหนึ่งไปรับราชการนั้น คนที่อยู่เป็นผู้ทำนาทำสวนเพื่อเลี้ยงหมู่ของตนและผู้ที่ไปรับราชการ ในยามสงครามอาจมีการเกณฑ์คนในโคตร์หนึ่งถึง ๒–๓ คนก็ได้ ในเวลาที่บ้านเมืองอยู่เป็นปกติสุขทางการใช้ปาอิกทำการสาธารณประโยชน์ เช่น การสร้างถนนและถังน้ำ ซึ่งเป็นวัตถุที่ยังปรากฎมีอยู่จนบัดนี้.
มหากษัตริย์อาหม เช่นเดียวกับมหากษัตริย์ประเทศไทย ถือตนว่าเป็นเจ้าชีวิตและเจ้าแผ่นดินทั่วทั้งหมดในประเทศ ฉะนั้น มีสิทธิแบ่งปันที่ดินให้แก่ใคร ๆ ได้ตามใจชอบ แต่มีระเบียบเกิดขึ้น ซึ่งมหากษัตริย์ปฏิบัติอยู่เสมอ กล่าวคือ ในเบื้องต้น ปาอิกทุกคนรับที่ดินแปลงหนึ่งเพื่ออาศัยอยู่และปลูกสวนเป็นการตอบแทนแรงงานที่ตนถูกเกณฑ์ไปรับราชการ นอกจากนี้ยังรับแบ่งนามีเนื้อที่ ๒ ปุรา คือ ราว ๗ ไร่ครึ่ง สำหรับที่ดินสองแปลงนั้นปาอิกผู้รับไม่ต้องเสียภาษีอากร ต้องเสียแต่รัชชูปการปีละ ๑ รูป ที่ดินแปลงที่ปลูกบ้านอยู่เป็นมฤดกตกทอดไปยังลูกหลาน ส่วนนานั้นคงเป็นของหลวง ผู้ทำไม่มีสิทธิโอนให้แก่ใคร และเมื่อผู้นั้นตาย ก็ต้องกลับมาเป็นของหลวง บางทีมหากษัตริย์เรียกนาคืนแล้วจัดแบ่งปันใหม่ นอกจากที่ ๆ ได้รับเพื่อตอบแทนการรับราชการดังกล่าวมาแล้ว พวกปาอิกอาจได้ที่ดินแปลงอื่นอีกด้วย การแผ้วถางที่รกร้างว่างเปล่า ผู้แผ้วถางต้องเสียภาษีปุราละ ๑ รูปี จึงมีสิทธิปกครองที่นั้นตลอดเวลาที่มหากษัตริย์ไม่ต้องการที่เพื่อมาให้แก่ปาอิกผู้อื่นที่ยังไม่ได้รับส่วนแบ่งเลย อนึ่ง มหากษัตริย์พระราชทานที่ให้แก่ขุนนางข้าราชการชั้นสูงเป็นเนื้อที่ผืนใหญ่ และพระราชทานแก่วัดวาอารามและเหล่าพราหมณ์ด้วย ในกาลต่อมา ข้าราชการผู้ใหญ่นั้นถือตนว่าเป็นเจ้าของที่ดินที่ได้รับพระราชทาน เป็นเหตุให้อำนาจของพระแผ่นดินอาหมเสื่อมลงข้อหนึ่ง[7]
6.ในประเทศอินโดจีน ตามหนังสือต่าง ๆ ของผู้ที่ศึกษาลัทธิธรรมเนียมของชนเชื้อชาติไทยอันอาศรัยอยู่ในประเทศนั้น ได้ความว่า ระบอบที่ดินในหมู่ชนเหล่านั้นมีหลักว่า ประมุขหรือเจ้าเป็นเจ้าของที่ดินภายในอาณาเขตต์ดุจเดียวกับประเทศอัสสัม เช่น ในเมืองหัวพันทั้งหก ตามบาดหลวงบูรเลต์กล่าวว่า "ชาวบ้านไม่รู้จักกรรมสิทธิในที่ดิน อาณาเขตต์เป็นของเจ้าชีวิตหรือพระเจ้าอผ่นดินหลวงพระบาง ประชาชนเป็นแต่ผู้เก็บกินหรือผู้ทำ ก่อนที่ฝรั่งเศสเข้าปกครองประเทศนี้ ภาษีอากรที่ดินซึ่งชาวบ้านชำระทุกปีจึ่งดูเหมือนหนึ่งว่าเสียไปเพื่อเป็นค่าอาศรัยที่ของเจ้าชีวิตร์อยู่"[8] พวกไทยที่อาศรัยภูเขาในตังเกี๋ยอยู่ก็เช่นเดียวกัน "ผู้เป็นกวานเจ้า (คือ ผู้เป็นอิสสระในอาณาเขตต์แห่งหนึ่ง) เป็นเจ้าของที่ดินทั่วอาณาเขตต์ที่ตนมีอำนาจปกครอง ชาวนาจึงไม่เป็นเจ้าของที่ ๆ ตนทำ ไม่มีสิทธิที่ะจโอนให้แก่ใคร และเมื่ออพยพออกจากหมู่บ้านไปอยู่ที่อื่น ก็ต้องเวนคืนที่แก่กวานบ้านเพื่อให้กวานบ้านแบ่งปันให้กับชาวบ้านที่เหลืออยู่"[9] ตามลัทธิธรรมเนียมของชาติที่เรียกชื่อว่า เมือง ซึ่งอาศรัยอยู่ภูเขาทางทิศตวันตกเฉียงใต้ของตังเกี๋ยอยู่ ผู้เป็นกวานลาง หรือโถตี คือ หัวหน้า "ถือตนเป็นเจ้าของที่ดินทุกแปลงในอาณาเขตต์ ทั้งแปลงที่มีผู้ทำเป็นนาเป็นสวน และแปลงซึ่งยังเป็นป่ารกร้างว่างเปล่าด้วย หากให้ราษฎรเข้าครอบครองอยู่ก็โดยทรงเมตตาให้อาศรัยอยู่"[10] สำหรับหมู่ชนเชื้อชาติไทยอื่น ๆ ที่อยู่ในประเทศอินโดจีน ผู้ศึกษาขนบธรรมเนียมทำข้อสังเกตทำนองเดียวกัน ฉะนั้น ข้อที่ว่าประมุขเป็นเจ้าของที่ดินในอาณาเขตต์นั้นจึ่งเป็นหลักสำคัญในองค์การณ์ชุมนุมชนเชื้อชาติไทยทั้งหลาย
แต่ในบรรดาชุมนุมชนเหล่านั้น หลักที่ว่านี้ถือประกอบไปกับการแบ่งปันที่ดินในระหว่างประชาชน กล่าวคือ ผู้เป็นประมุขหายืดถือที่ดินเพื่อประโยชน์ของตนเช่นเจ้าของธรรมดาไม่ แต่ผู้เป็นประมุขแบ่งปันให้แก่ประชาชนเป็นเนื้อที่มากหรือน้อยตามตำแหน่งอำนาจของผู้รับตามที่ประมุขแต่งตั้งไว้ เช่น ท่ามกลางชุมนุมชนเชื้อชาติไทยที่อาศรัยภูเขาในประเทสตังเกี๋ยอยู่ ผู้เป็นกวานเจ้าเลือกเอาที่ดินแปลงใหญ่ ๆ ไว้เพื่อตนเองเสียก่อน แล้วประทานแปลงหนึ่งมีเนื้อที่น้อยกว่าแต่ยังใหญ่ให้แก่ผู้เป็นเจ้าองหรือเธอหลายซึ่งเป็นผู้ช่วยในการบริหารบ้านเมืองและเป็นที่สองรองลงมาจากกวานเจ้าตามทำเนียบันดาศักดิ์ แล้วกวานเจ้าแบ่งให้แก่นายบ้านทุกคนมีเนื้อที่น้อยกว่าอีก ต่อนั้นแบ่งให้แก่ท้าวทุกคนลดหลั่นลงมาตามฐานานุรูปและยศศักดิ์ ในหมู่บ้านทุก ๆ หมู่ผู้เป็นกวานบ้านแบ่งปันนาในระหว่างครัวเรือนในนามของกวานเจ้า เมื่อชาวบ้านคนหนึ่งอพยพออกจากบ้านไปอยู่ที่อื่น หรือเมื่อมีคนใหม่มาอยู่เพิ่มเติม ก็มีการแบ่งปันกันใหม่ ในจำพวกไทยขาวซึ่งอยู่ทางแม่น้ำแดง ตามประเพณีเดิมมีการแบ่งปันนากันทุก ๆ ๓ ปี ในระหว่างครัวเรือน ๆ หนึ่งได้รับเนื้อที่มากน้อยตามจำนวนคนที่ต้องเลี้ยงดูอยู่ในครัวเรือนนั้น วิธ๊แบ่งปันนานั้น คือ แบ่งนาออกเป็นแปลง ๆ แล้วชาวบ้านต่างก็มาจับสลากเอา เมื่อพ้น ๓ ปีแล้ว ชาวบ้านนั้น ๆ ต่างก็เอาที่นาเหล่านั้นมาคืนรวมเป็นผืนแผ่นเดียวกันแล้วมีการแบ่งปันจับสลากกันใหม่ ในการแบ่งปันนานี้ โดยมากนายบ้านสงวนนาไว้ต่างหากเพื่อให้แก่ผู้มีตำแหน่งบริบาลเมือง นานั้นชาวบ้านถูกเกณฑ์ให้เป็นผู้ทำ[11] ในหัวพันประเทศลาวก็ถือประเพณีเช่นเดียวกัน ผู้เป็นท้าวแบ่งปันนาในระหว่างครัวเรือนอันมีอยู่ในหมู่บ้าน ฝ่ายท้าวเองก็เอาแปลงที่ดีไว้เป็นของตน การแบ่งปันมิได้ทำกันเป็นกำหนดร⟨ะ⟩ยะเวลาเสมอไปดังชุมนุมชนไทยขาว แต่กระทำกันตามกรณีที่เกิดขึ้น เช่น มีผู้อยู่ในครอบครัวแยกออกไปตั้งเป็นครัวหนึ่งต่างหาก หรือมีผู้ต่างบ้านเข้ามาอยู่ในบ้านนั้น หรือมีชาวบ้านร้งอค้านว่า ที่ ๆ ตนอยู่นั้นเป็นที่ ๆ ทำประโยชน์ได้ยาก ดังนี้ จึงเป็นเหตุให้มีการแบ่งปันนากันขึ้น ในพวกชาติเมืองก็มีการแบ่งปันนาเช่นเดียวกัน คนที่เป็นกวานลางและา้วเลือกเอาที่ ๆ ดีไว้สำหรับตน นาที่เหลือนั้นแบ่งปันให้ระหว่างครัวเรือนเป็นรายมากหรือน้อยตามความต้องการและกำลังของครอบครัว และทั้งตามภาระซึ่งครอบครัวของผู้รับส่วนแบ่งจะยอมปฏิบัติตามด้วย การแบ่งปันนี้มิได้ทำตามระยะเวลาเสมอไป แต่ทำตามกรณีที่เกิดขึ้นเช่นในเมืองหัวพัน ฉะนั้น ครอบครัวหนึ่งอาจยึดถือนาแปลงหนึ่งได้ตลอดชีวิตของหัวหน้า และบางทีเมื่อหัวหน้าตาย ลูกก็เข้ารับทำนาสืบต่อไป ถ้าพูดโดยทั่วไปแล้ว มีการแบ่งปันแต่ในกรณีที่จำนวนครอบครัวในหมู่บ้านเปลี่ยนไป เพราะเหตุที่ครอบครัวหนึ่งได้แยกออกเป็นสองครอบครัวหรือมีครอบครัวใหม่อพยพเข้ามาอยู่ ในการแบ่งปันนี้โดยมากไม่รวมเอานาทุกรายเข้ามาแบ่งกันใหม่ คงเอาแต่นาบางรายมาแบ่งเท่านั้น.
7.การแบ่งปันที่ดินดังพรรณามาแล้วนี้เป็นลักษณะสำคัญของระบอบที่ดินในหมู่ชนเชื้อชาติไทยไม่ว่าชุมนุมชนอะไร โดยการแบ่งปันนี้เองผู้เป็นประมุขแสดงให้เห็นชัดและสงวนรักษาซึ่งกรรมสิทธิของตนมีอยู่เหนือที่ดิน จริงอยู่ผู้เป็นประมุขอาจใช้สิทธิของตนในทางอื่นซึ่งมีผลดุจเดียวกัน เช่น อาจขับไล่ราษฎรออกจากที่ ๆ ทำอยู่เพื่อเข้าครอบครองเองหรือเพื่อให้แก่ผู้อื่นได้ตามใจชอบ ผู้ศึกษาขนบธรรมเนียมของพวกไทยต่าง ๆ ในอินโดจีนอ้างตัวอย่างที่ผู้เป็นประมุขใช้สิทธิของตนในทางนี้ แต่ย่อมไม่เป็นการสงบ เพราะวิธีที่ผู้เป็นประมุขแสดงกรรมสิทธิทำนองนี้ทำให้ราษฎรรู้สึกข้องใจ และเป็นเหตุให้เกิดความปั่นป่วนในหมู่ชน ฉะนั้น ผู้เป็นประมุขน่าจะละเว้นไม่ขับไล่ราษฎรออกจากที่ ๆ ทำ เว้นแต่จะลงโทษหรือในกรณีที่จำเป็น ตามปกติการแบ่งปันที่ดินจึ่งเป็นเครือ่งแสดงกรรมสิทธิของผู้เป็นประมุขทางเดียว วิธีนี้ไม่เป็นเหตุให้เกิดภยันตรายเหมือนการขับไล่ เพราะการแบ่งปันนั้น ถ้าจัดเอานาทั้งหมดมารวมแบ่ง ก็เป็นเหตุให้ราษฎรทุกคนเข้าทำประโยชน์ในที่ ๆ เพาะปลูกได้ทุกรายเป็นลำดับไป หากการแบ่งปันนั้นเกี่ยวกับนาบางแปลงโดยฉะเพาะ ก็จัดขึ้นเพื่อความยุตติธรรมให้ชาวบ้านรับที่ดินตามความต้องการ จึงไม่เป็นปัจจัยให้ชาวบ้านไม่พอใจ เพราะเหตุนี้ ราษฎรจึงนิยมประเพณีแบ่งปันที่ดินและยอมปฏิบัติตามโดยดี แต่เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว ราษฎรทุกคนรู้ว่า ตนยึดถือที่ดินในนามของผู้เป็นประมุข ไม่มีโอกาสจะขยายที่ของตนหรือจะได้ที่ ๆ ใหญ่กว่าเก่า เว้นแต่จะมีการแบ่งปันกันใหม่ คือ โดยอาศรัยความกรุณาของผู้เป็นประมุข ตนทราบว่า ตนโอนที่ดินให้ใครไม่ได้ ประมุขผู้เดียวเป็นผู้จำหน่ายที่ดิน ฉะนั้น จิตต์ใจราษฎรไม่มีทางจะเกิดความรู้สึกว่าตนมีสิทธิเหนือที่ดินที่ทำ การที่ต้องเวนคืนที่ดินและประมูลกันใหม่ป้องกันมิให้ราษฎรถือได้ว่า ที่ดินเป็นทรัพย์เหมือนเช่นช้างม้าโคกระบือหรือไถคราดซึ่งตนเป็นเจ้าของอาจซื้อขายและเปลี่ยนได้ตามใจ แต่ที่ดินเป็นของประมุขต่างหาก ตนเป็นแต่เพียงผู้อาศรัยอยู่.
แต่ทว่า แม้ในชุมนุมชนเชื้อชาติไทยที่ล้าหลังที่สุดก็ยังเป็นที่สังเกตได้ว่า การครอบครองของราษฎรกำลังจะยืดเยื้อคงที่เดิมไม่เปลี่ยนมือกันไปบ่อย ๆ เหมือนแต่ก่อน เป็นเหตุให้ราษฎรเกิดมีความรู้สึกขึ้นบ้างเล็กน้อยว่า ตนมีสิทธิเหนือที่ดินที่ทำอยู่ ในเบื้องต้นควรสังเกตว่า ที่ดินที่ต้องเวนคืนมาแบ่งปันก็มีแต่ที่นาอย่างเดียว ที่ ๆ ปลูกเรือนอยู่พร้อมด้วยสวนครัวโดยมากไม่ต้องประมูลแบ่งปันและตกทอดไปถึงลูกหลาน ในบางหมู่ยอมให้ซื้อขายกันได้ ส่วนป่าดงหรือที่รกร้างคงเป็นของประมุข โดยมากถือกันว่า ผู้แผ้วถางได้สิทธิหวงห้ามและทำประโยชน์ต่อไปแต่คนเดียว แต่ต้องเสียภาษีให้แก่ประมุขเท่านั้น ฉะนั้น มีแต่นาอย่างเดียวซึ่งไม่อาจตกเป็นของบุคคลคนหนึ่งตลอดไป ยังต้องเวนคืนให้ผู้เป็นประมุขจัดการแบ่งปันใหม่[12] ความจริงแม้แต่นาเองก็ปรากฎว่า การแบ่งปันกำลังสาปสูญไปเหมือนกัน เช่นได้กล่าวมาแล้วว่า แต่ก่อนพวกไทยขาวเคยแบ่งปันนากันทุก ๆ ๓ ปี แต่ในเวลาปัจจุบันเลิกเสียแล้ว ประมุขปล่อยให้ที่ดินตกอยู่ในการครอบครองของผู้ทำและครอบครัวเรื่อยไป ประเพณีการแบ่งปันกลับฟื้นขึ้นมาแต่ในกรณีที่ครอบครัวหนึ่งมีกำลังแรงน้อยลงจนไม่สามารถทำนาเต็มเนื้อที่ได้ หรือในกรณีที่มีครอบครัวสูญสิ้นไป นาที่เลิกทำว่างเปล่านั้นจึงแบ่งให้แก่ครัวเรือนที่มีกำลังคนมาก เนื่องจากการเลิกประเพณีแบ่งปัน สกุลที่มีอิทธิพลมากจึงฉวยโอกาสหวงห้ามที่มาเป็นสิทธิของตัวเสีย และใช้ผู้ที่เป็นบ่าวหรือจ้างคนเข้าทำ ได้กล่าวมาแล้วว่า ในประเทศลาวก็เช่นเดียวกัน การแบ่งปันเกิดมีขึ้นแต่ในบางครั้งบางคราว แต่ยังถือว่า ราษฎรซื้อขายที่ดินกันไม่ได้ ฉะนั้น ผู้ครอบครองจะมีโอกาสขยายที่ของตนได้ก็แต่เมื่อได้รับตำแหน่งหรือเลื่อนยศขึ้น ในพวกชาติเมืองที่ได้เลิกประเพณีการแบ่งปันนาเสียแล้ว นาทีเป็นส่วนแบ่งเดิมของครัวเรือนเป็นที่ซื้อขายกันไม่ได้ แต่ที่ดินบางรายกำลังเข้าสู่หาฐานะเป็นทรัพย์สมบัติของราษฎรอย่างแท้จริง เช่น ที่ดินที่กวานลางผู้เป็นประมุขขายให้ เป็นต้น ส่วนที่ดินรายนี้ ผู้ซื้อมีสิทธิโอนให้ตามลำพังได้ และเมื่อตาย ที่นั้นตกเป็นมฤดกของลูกหลน แต่เมื่อโอน ต้องเสียค่าธรรมเนียมให้แก่กวานลางทุกครั้ง
8.สรุปความว่า ตามขนบธรรมเนียมประเพณีของบรรดาชุมชนชาติเชื้อไทยที่ตั้งถิ่นฐานอยู่นอกประเทศไทยนั้นถือว่า ระบอบที่ดินมีลักษณะสำคัญเหมือนกันทุกหมู่ กล่าวคือ ผู้เป็นประมุขเป็นเจ้าของที่ดินที่อยู่ในบังคับ กรรมสิทธินี้ประมุขได้มาทางการรบชะนะ จึงเกี่ยวข้องกับอำนาจของผู้เป็นประมุขโดยตรง และความจริงก็เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับอำนาจเหนือที่ดินนั้นเอง ฉะนั้น ประมุขไม่ใช้สิทธิอันมีอยู่เหนือที่ดินเหมือนเจ้าของธรรมดา ยกเว้นแต่เขตต์ที่ดินที่ประมุขเลือกเอาเป็นของส่วนตัวแล้ว ผู้เป็นประมุขไม่ทำประโยช⟨น์⟩เอง แต่ปล่อยให้ราษฎรเข้าแสวงหาประโยชน์เพื่อเป็นการตอบแทนแรงงานที่ต้องเสียไปในราชการ หรือเป็นรางวัลของแรงงานที่ได้เสียไปแล้ว ฉะนั้น ผู้เป็นประมุขจึงแบ่งปันที่ดินที่ใช้ในการเพาะปลูกได้ในระหว่างพวกญาติที่รักใคร่และขุนนาง เป็นเนื้อที่มากหรือน้อยสุดแต่ตามยศและตำแหน่งของผู้จะได้รับ ส่วนประชาชนสามัญได้รับแบ่งที่ดินส่วนหนึ่งเพื่อทำการหาเลี้ยงชีพตนและครอบครัว การแบ่งปันให้ทั้งหลายนี้เป็นการชั่วคราว เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงยศและตำแหน่งข้าราชการและตามทะเบียนสำมโนครัวจึงต้องมีการแบ่งปันกันบ่อย ๆ หรือตามระยะเวลากำหนด.
ได้เห็นมาแล้วว่า ในสมัยปัจจุบัน ระบอบที่ดินนี้ไม่ค่อยจะปฏิบัติกันอย่างเคร่งครัด เป็นแต่ยังถือกันอยู่บ้าง ทั้งนี้ เป็นที่เข้าใจได้ง่าย คือ เมื่อการตีได้และเข้าครอบครองอาณาเขตต์ที่ดินได้ล่วงมาเป็นเวลานานเข้าแล้ว ราษฎรก็มีความเคยชินกับดินแดนที่เข้ามาตั้งอยู่ จึงประสงค์ที่จะอยู่ในที่ ๆ ได้รับแบ่งไว้ต่อไป และรู้สึกไม่พอใจในประเพณีเดิม ในหมู่ชุมนุมชนที่อำนาจของประมุขเสื่อมลง ขุนนางที่ได้รับที่ดินเขตต์ใหญ่ ๆ ถือตนว่าเป็นเจ้าของที่ดิน ไม่ยอมเวนคืนให้ประมุขแบ่งปันใหม่ ใช้ผู้คนและบ่าวทำประโยชน์เหมือนเช่นเป็นประมุขเอง แม้ในชุมนุมชนที่อำนาจของประมุขยังบริบูรณ์อยู่ และยังรักษาสิทธิเหนือที่ดินโดยปกติดังเดิม การที่ประเพณีแบ่งปันที่ดินไม่เป็นที่นิยม เลิกกันเสียแล้ว หรือยังทำกันแต่บางครั้งบางคราวนั้น คงเป็นปัจจัยให้ราษฎรเกิดมีสิทธิในที่ ๆ ตนอาศรัยอยู่เป็นเวลานาน โดยถือเอาว่า นอกจากผู้เป็นประมุขแล้ว ไม่มีผู้ใดมีอำนาจเหนือที่ดีกว่าตน โดยเหตุนี้ ระบอบที่ดินของบรรดาชนเชื้อชาติไทย แม้มีสาระสำคัญอันเหมือนกัน แต่ความจริงถ้าจะศึกษาโดยละเอียดแล้ว จะเห็นได้ว่า มีลักษณะอันต่างกันตามสภาพที่ ๆ ดินตั้งอยู่ และตามชั้นอารยธรรมที่หมู่ชนนี้นั้นได้บรรลุถึงแล้ว เกือบในทุกแห่งระบอบที่ดินที่พบเห็นในเวลานี้เป็นระบอบสมัยหัวต่อที่ผู้ถือที่ดินกำลังบากบั่นที่จะหาทางให้หลุดพ้นออกจกาการจำกัดสิทธิของตนในทางปกครอง เพื่อได้กรรมสิทธิตามที่เป็นอยู่ในกฎหมายปัจจุบัน แต่ยังไม่ได้สมประสงค์ เป็นแต่ได้มาบ้างบางประการฉะเพาะที่ดินบางชะนิดและชุมนุมชนบางแห่ง ระบอบที่ดินในชุมนุมชนนี้จึงซับซ้อน ยุ่งยาก และแปลกกัน.
ตามที่กล่าวมานี้ จะได้ช่วยนักศึกษาให้เข้าใจได้ถึงระบอบที่ดินของประเทศไทยในสมัยโบราณ และการเปลี่ยนแปลงผันแปรอันปรากฎขึ้นในกาลต่อมาจนสมัยปัจจุบัน.
9.ต่อไปนี้จะสอนประวัติศาสตร์กฎหมายที่ดินในประเทศไทย โดยแบ่งคำสอนออกเป็น ๔ หมวด ในหมวดแรก (คือ หมวด ๒ ต่อไปนี้) จะพิเคราะห์ดูลักษณะสำคัญของระบอบที่ดินในสมัยกรุงศรีอยุธยา หลักใหญ่ ๆ ของระบอบนี้ คือ เจ้าของที่ดินไม่มีหนังสือสำคัญ สิทธิของเขาในที่ไม่มั่นคงและสูญสิ้นง่าย ในตอนปลายสมัยกรุงศรีอยุธยาและในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ หนังสือสำคัญเกิดขึ้น เป็นปัจจัยให้สิทธิของเจ้าของที่ดินดีขึ้น ทั้งเป็นเหตุให้กรรมสิทธิแยกออกจากการครอบครองได้อย่างชัดเจนด้วย ฉะนั้น ในหมวดต่อไป (หมวด ๓) จึงจะศึกษาถึงหนังสือสำคัญต่าง ๆ ตามลำดับเวลาที่ปรากฎใช้ ต่อจากนั้นเราจึงสามารถเล่าเรียนได้ภึงการได้มาต่าง ๆ ซึ่งกรรมสิทธิในที่ดิน (หมวด ๔) และการขาดกรรมสิทธิ (หมวด ๕) ทั้งตามระบอบเก่าและระบอบใหม่เทียบกัน
- ↑ ฝ่ายธรรมศาสตร์ฮินดูแบ่งแยกทรัพย์เป็น สฺถาวร คือ ทรัพย์ที่เคลื่อนที่ไม่ได้ และ ชงฺคม หรือ ธน คือ ทรัพย์ที่เคลื่อนที่ได้ แต่ความจริงการแบ่งนี้เป็นมูลเดิมแห่งการที่ปรากฏอยู่ในคำภีร์พระพุทธศาสนา โดยถือเอาว่า ทรัพย์ที่เคลื่อนที่ได้ก็เป็นทรัพย์ที่มีชีวิต
- ↑ คำ ชาติกุล นี้ พระองค์เจ้าวรรณไวทยากรใช้เพื่อแปลคำอังกฤษ tribe ในบทประพันธ์ "วิชาการเมือง" อันรวบรวมอยู่ในหนังสือ "ศัพท์สนธิสัญญาและการเมือง" ข้าพเจ้าจึงยืมมาใช้ในคำสอน บทประพันธ์นี้อธิบายถึงขั้นแห่งความเจริญของมนุษย์ นักศึกษาควรอ่านประกอบกับคำสอนหมวดนี้ด้วย.
- ↑ ความจริงแม้ในสมัยปัจจุบันกรรมสิทธิในที่ดินยังมีข้อจำกัดต่าง ๆ และมีกฎข้อบังคับพิเศษหลายประการ แต่ทั้งนี้ก็เนื่องจากสภาพแห่งที่ดินนั้นเอง และความสำคัญแห่งที่ดินในทางเศรษฐกิจ ไม่เกี่ยวกับการปกครองบ้านเมือง
- ↑ ให้ดู อคญฺญสุตฺตํ ใน ทีฆานิกาย และ อรรกถา ใน วิมานวตฺถุ เป็นต้น
- ↑ แต่อย่าพึงเข้าใจว่า ระบอบที่ดินเช่นนี้เป็นของชุมนุมชนชาติไทยโดยเฉภาะ ไม่มีที่อื่น ความจริงในอดีตกาลชุมนุมชนในยุโรปบางแห่งเคยมีระบอบที่ดินอันคล้ายคลึงกันกับระบอบที่ดินของไทย แม้ในสมัยปัจจุบันมีชุมนุมชนในทวีปอาฟริกากลาง เช่น ประเทศอูคันดา ที่ระบอบที่ดินมีลักษณะคล้ายคลึงกันกับระบอบของไทยจนเป็นที่น่าพิศวง.
- ↑ มหากษัตริย์อาหมเป็นชาติไทยใหญ่หรือเงี้ยว เริ่มตีอาณาเขตต์อัสสัมได้แต่ปี ๑๗๗๑ เรื่อยมาจนเต็มอาณาเขตต์ พวกมองโกลโจมตีหลายครั้ง แต่อาหมต่อสู้และรักษาอิสสระภาพไว้ได้ ในปี ๒๑๙๘ มหากษัตริย์อาหมเข้านับถือลัทธิศาสนาพารหามณ์ และต่อมาผู้สืบราชวงส์ก็นับถือศาสนาพราหมณ์เช่นเดียวกันต่อไป ในตอนกลางสรรตวรรษที่ ๒๓ อำนาจของมหากษัตริย์เสื่อมลง และประเทศอัสสัมตกอยู่ในอารักขาของประเทศพะม่า.
- ↑ ข้อความเรื่องระบอบที่ดินในประเทศอัสสัมนี้ คัดมาจากหมวด ๙ ในหนังสือของ E. A. Gait, A History of Assam และเล่ม ๓ ในหนังสือของ B. H Baden-Powel, The Land-Systems of British India.
- ↑ A. Bourlet, Socialisme dans les Hua Phan.
- ↑ E. Diguet, Etude de la langue tai.
- ↑ Ch. Robequain, Le Than Hao.
- ↑ E. Lunet de la Jonquière, Ethnographie de Tonkin septentrional.
- ↑ ควรสังเกตว่า ระบอบที่ดินของชนเชื้อชาติไทยนั้นมีลักษณะคล้านคลึงกับลัทธิคอมมิวนิสม์ที่ถือว่า ที่ดินที่เพาะปลูกควรเป็นของกลาง ในหมู่ชนที่ผู้เป็นประมุขมิได้แซกแซงในการแบ่งปันโดยเห็นแก่บุคคล แต่เอาใจใส่ให้การแบ่งปันนั้นเป็นไป ตามระเบียบเรียบร้อย ก็เหมือนหนึ่งว่าที่ดินเป็นของประชาชนร่วมกัน นอกจากนี้ โดยเหตุที่ชาวนาช่วยแรงกันทำนา ยืมปสุสัตว์และเครื่องมือซึ่งกันและกัน และตำข้าวเกี่ยวข้าวด้วยกัน นักศึกษาขนบธรรมเนียมบางคนจึงกล่าวว่า ชุมนุมเชื้อชาติไทยปฏิบัติตามลัทธิโซเชียลิสม์ มีบางคนคิดออกไปอีกจนแสดงความเห็นว่า ตามธรรมเนียมเดิมของพวกชาติไทย ที่ดินเป็นของประชาชนร่วมกัน แต่ในกาลต่อมา ผู้เป็นประมุขรุกรานสิทธิของประชาชนและถือตนว่าเป็นเจ้าของที่ดิน แต่ความเห็นนี้ปราศจากหลักฐานที่จะเชื่อฟังเป็นความจริงได้.