พระสุนทรโวหาร (ภู่) ซึ่งคนทั้งหลายเรียกกันเปนสามัญว่า "สุนทรภู่" นั้น เกิดในรัชกาลที่ ๑ กรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อณวันจันทร์ เดือน ๘ ขึ้นค่ำ ๑ ปีมะเมีย จุลศักราช ๑๑๔๘ เวลาเช้า ๒ โมง (ตรงกับวันที่ ๒๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๓๒๙) มีผู้รู้ตำราโหราศาสตร์ได้ผูกดวงชาตาของสุนทรภู่ไว้ ดังนี้

จะต้องอธิบายความนอกเรื่องประวัติเผื่อผู้ที่ยังไม่รู้เรื่องดวงชาตาแทรกลงตรงนี้ก่อน อันการทำดวงชาตานั้น คือ จดจำจักรราศีที่สถิตของดวงอาทิตย์และดาวพระเคราะห์ต่าง ๆ ในขณะเวลาเกิด เปนวิธีมีมาเก่าแก่แต่ดึกดำบรรพ์ ดวงชาตามีที่ใช้ในกิจการหลายอย่าง คือ อย่าง ๑ ถ้าจะกำหนดเวลาฤกษ์ยามทำการให้เปนสิริมงคลแก่ผู้ใด โหรย่อมเอาดวงชาตาของผู้นั้นมาสอบสวนเลือกเวลาอันพระเคราะห์โคจรสู่จักรราศีซึ่งต้องตำราว่า เปนสิริมงคลแก่ชาตาของผู้นั้น กำหนดเปนเวลามงคลฤกษ์ เปนต้นว่า ฤกษ์ยกกองทัพ ก็ต้องหาเวลาที่เปนสิริแก่แม่ทัพ ฤกษ์ปลูกเรือน ก็ต้องหาเวลาที่เปนสิริแก่เจ้าของเรือน ฤกษ์โกนจุก ก็ต้องหาเวลาให้เปนสิริแก่เด็กที่จะโกนจุก ฉนี้เป็นตัวอย่าง อีกอย่าง ๑ ดวงชาตามีที่ใช้ในการพยากรณ์ดีร้ายอันจะพึงมีแก่ตัวบุคคล เพราะเชื่อถือกันมาว่า เมื่อพระเคราะห์โคจรเข้าสู่จักรราศีเช่นนั้น ๆ มักเกิดความดีหรือความชั่วแก่ผู้มีชาตาเช่นนั้น ๆ เป็นต้นว่า พระเคราะห์ราหูเข้าสู่ราศีอันเปนลักขณาของผู้ใด ว่า ผู้นั้นมักจะไม่มีความสุขจนกว่าพระเคราะห์ราหูจะพ้นจักรราศีนั้นไป ดังนี้เปนตัวอย่าง อาศรัยความเชื่อในข้อนี้ จึงมีวิธีขับสอบดวงชาตาหาความรู้ว่า เคราะห์ดีและเคราะห์ร้ายประการใด ยังมีความเชื่อถือกันมาแต่ก่อนอิกอย่างหนึ่งว่า ดวงชาตาของผู้ใดอาจจะส่อให้รู้ได้ว่า บุคคลผู้นั้นจะดีหรือชั่ว และที่สุดจะมีอายุยืนหรืออายุสั้น ความเชื่ออย่างที่ว่านี้เกิดแต่เอาดวงชาตาของผู้ที่มีเรื่องประวัติอันปรากฎว่า เปนคนดีหรือคนชั่วในอดีตกาลมาเปนหลักสำหรับเทียบเคียงกับดวงชาตาที่จะพยากรณ์ ถ้าเห็นคล้ายคลึงกับดวงชาตาตัวอย่างข้างฝ่ายคนดี ก็พยากรณ์ว่าจะดี ถ้าไปคล้ายคลึงกับดวงชาตาของข้างฝ่ายพวกชั่ว ก็พยากรณ์ว่าจะชั่ว เปนเค้าความ ผู้ที่นิยมการพยากรณ์อย่างว่ามานี้ เมื่อเห็นใครเปนคนทรงคุณหรือให้โทษอย่างวิสามัญ มักสืบวันแลเวลาเกิดของผู้นั้นผูกดวงชาตาลงตำราไว้เปนตัวอย่างสำหรับใช้เปรียบเทียบในการพยากรณ์ ดวงชาตาของบุคคลต่าง ๆ ทั้งข้างดีและข้างชั่วจึงมีอยู่ในตำราเปนอันมาก และมักมีคำจดบอกไว้ว่า เปนผู้มีคุณหรือมีโทษอย่างนั้น ๆ ด้วย

ที่ดวงชาตาของสุนทรภู่มีอยู่ในตำราดวงชาตานั้น คงเปนเพราะผู้พยากรณ์แต่ก่อนเห็นว่า สุนทรภู่ทรงคณุสมบัติในกระบวรแต่งกลอนเปนอย่างวิเศษ นับว่า เปนวิสามัญบุรุษผู้หนึ่ง แต่จดคำอธิบายแถมไว้ข้างใต้ดวงชาตาว่า "สุนทรภู่อาลักษณ์ขี้เมา" ดังนี้ด้วย หมายความว่า เปนผู้ทรงทั้งความดีและความชั่วระคนปนกัน อันเปนความจริงตามเรื่องประวัติของสุนทรภู่

สกุลวงศ์ของสุนทรภู่ บิดามารดาจะชื่อใดไม่ปรากฎ ๆ แต่ว่า บิดาของสุนทรภู่เปนชาวบ้านกร่ำในเขตรอำเภอเมืองแกลง แขวงจังหวัดจันทบุรี ฝ่ายมารดาเปนชาวเมืองอื่น มาอยู่ด้วยกันในกรุงเทพฯ เกิดสุนทรภู่เมื่อสร้างกรุงรัตนโกสินทร์แล้วได้ ๔ ปี แล้วบิดากับมารดาอย่ากัน บิดากลับออกไปบวชอยู่ที่เมืองแกลง ฝ่ายมารดาได้สามีใหม่ มีลูกหญิงอีก ๒ คน ชื่อ ฉิม คน ๑ ชื่อ นิ่ม คน ๑ แล้วได้เปนนางนมพระธิดาในกรมพระราชวังหลัง (กล่าวกันว่า พระองค์เจ้าจงกล) เพราะฉะนั้น สุนทรภู่จึงได้อยู่ที่พระราชวังหลังกับมารดา แลได้ถวายตัวเปนข้าในกรมพระราชวังหลังตั้งแต่ยังเด็ก

การศึกษาของสุนทรภู่ ความที่กล่าวในนิราศเมืองสุพรรณมีเปนเค้าเงื่อน ดูเหมือนจะได้เล่าเรียนในสำนักวัดชีปะขาว (ซึ่งพระราชทานนามในรัชกาลที่ ๔ ว่า วัดศรีสุดาราม) ที่ริมคลองบางกอกน้อย รู้หนังสือทำการเสมียนได้ ได้เคยเปนเสมียนนายรวางกรมพระคลังสวน แต่อุปนิสสัยไม่ชอบทำการงานอย่างอื่นนอกจากแต่งบทกลอน สันทัดถึงบอกดอกสร้อยสักรวาได้แต่รุ่นหนุ่ม แล้วกลับมาอยู่ที่พระราชวังหลังอย่างเดิม เห็นจะเปนเพราะที่เปนเจ้าบทเจ้ากลอนนั่นเอง ชวนให้คนองจนทำความเกิดขึ้น ด้วยไปลอบลักรักใคร่กับผู้หญิงข้างในคน ๑ ชื่อ จัน ถูกกริ้วต้องเวรจำทั้งชายหญิง แต่เวลานั้น กรมพระราชวังหลังใกล้จะทิวงคตอยู่แล้ว ติดเวรจำอยู่ไม่ช้านัก ทำนองจะพ้นโทษเมื่อกรมพระราชวังหลังทิวงคตใน พ.ศ. ๒๓๔๙ สุนทรภู่จึงออกไปหาบิดาที่เมืองแกลง แต่งนิราศเมืองแกลงซึ่งเปนนิราศเรื่องแรกของสุนทรภู่เมื่อไปคราวนี้

พิเคราะห์เรื่องราวที่ปรากฎในนิราศประกอบกับศักราชปีเกิดของสุนทรภู่ ดูเหมือนเมื่อแต่งนิราศเมืองแกลง อายุจะราวสัก ๒๑ ปี กล่าวในนิราศว่า มีศิษย์ติดตามไปด้วย ๒ คน ข้อนี้ส่อให้เห็นว่า ในเวลานั้น สุนทรภู่ทำนองจะมีชื่อเสียงในการแต่งบทกลอนอยู่แล้ว จึงมีผู้ฝากตัวเปนศิษย์ น่าจะมีหนังสือเรื่องอื่นที่สุนทรภู่ได้แต่งไว้ก่อนนิราศเมืองแกลง ลองพิเคราะห์ดูหนังสือกลอนของสุนทรภู่ที่ยังปรากฎอยู่บัดนี้ เห็นมีเค้าเงื่อนในทางสำนวนว่า จะแต่งก่อนนิราศเมืองแกลงแต่เรื่องโคบุตรเรื่องเดียว มีคำขึ้นข้างต้นว่า

"แต่ปางหลังครั้งว่างพระสาสนา

เปนปฐมสมมตกันสืบมา

ด้วยปัญญายังประวิงทั้งหญิงชาย

ฉันชื่อภู่รู้เรื่องประจักษ์แจ้ง

จึงสำแดงคำคิดประดิษฐ์ถวาย

ตามสติริเริ่มเรื่องนิยาย

ให้เพริศพรายพริ้งเพราะเสนาะกลอน" ดังนี้

สำนวนดูเหมือนจะแต่งถวายเจ้าวังหลังองค์ใดองค์หนึ่ง เปนหนังสือ ๘ เล่มสมุดไทย จะแต่งในคราวเดียวทั้งนั้น หรือแต่งเปนหลายครั้งหลายคราว ข้อนี้ทราบไม่ได้ แต่ว่าแต่งค้างอยู่ไม่หมดเรื่อง กลอนเรื่องอื่นของสุนทรภู่ดูสำนวนเปนชั้นหลังเรื่องโคบุตรทั้งนั้น

สุนทรภู่ไปเมืองแกลงคราวนั้น ออกจากกรุงเทพฯ ในเดือน ๗ ไปเรือประทุน ศิษย์แจวไป ๒ คน กับมีคนขี้ยาชาวเมืองระยองรับนำทางช่วยแจวอีกคน ๑ ไปทางคลองสำโรงแลคลองศีร์ษะจรเข้ออกปากน้ำบางมังกง[1] ไปขึ้นบกที่บางปลาสร้อย จังหวัดชลบุรี แล้วเดินบกต่อไป

ความในนิราศตอนไปในคลอง สุนทรภู่อธิบายคำเก่าไว้แห่งหนึ่งว่า

"คำโบราณท่านผูกถูกทุกสิ่ง

เขาว่าลิงจองหองมันพองขน"

คำนี้เองเปนมูลที่ด่ากันว่า "จองหองพองจน" คือ เปรียบเอาลงเปนลิง ยังหาเคยพบใครอธิบายไว้ที่อื่นไม่

เมื่อสุนทรภู่ลงไปถึงเมืองระยอง คนขี้ยาที่นำทางไปถึงบ้านก็หลบเสีย แต่นั้น สุนทรภู่ต้องพยายามถามหนทางตามพวกชาวบ้านเดินต่อไปจนถึงวัดที่บิดาบวชอยู่ณเมืองแกลง กล่าวในนิราศว่า เวลานั้น บิดาบวชมาได้ ๒๐ พรรษา ข้อนี้ส่อให้เห็นว่า บิดามารดาเห็นจะพรากกันตั้งแต่สุนทรภู่ยังเปนเด็กเล็กทีเดียว และน้องสาว ๒ คนนั้นต่างบิดากับสุนทรภู่ ในนิราศกล่าวความอีกข้อ ๑ ว่า บิดาที่บวชอยู่ "เปนฐานานุประเทศอธิบดี จอมกษัตริย์โปรดปรานประทานนาม เจ้าอารามอรัญธรรมรังษี" ดังนี้ สันนิษฐานว่า เห็นจะเปนฐานานุกรมของพระครูธรรมรังษี เจ้าคณะเมืองแกลง มิใช่ได้เปนตำแหน่งพระครูเอง ที่สุนทรภู่ออกไปหาบิดา บางทีจะคิดออกไปบวช ด้วยเวลานั้น อายุครบอุปสมบท และจะล้างอัปมงคลที่ต้องถูกจำจองด้วยก็เปนได้ แต่หาได้บวชไม่ เพราะไปอยู่ได้หน่อยหนึ่งก็ป่วยเปนไข้ป่า อาการแทบถึงประดาตาย รักษาพยาบาลกันอยู่กว่าเดือนจึงหาย พอหายก็กลับเข้ามากรุงเทพฯ ในเดือน ๙ รวมเวลาที่สุนทรภู่ออกไปเมืองแกลงคราวนั้นราว ๓ เดือน

เรื่องประวัติของสุนทรภู่เมื่อกลับจากเมืองแกลงแล้วมีอยู่ในเรื่องนิราศพระบาทว่า มาเปนมหาดเล็กพระองค์เจ้าปฐมวงศ์ พระโอรสพระองค์น้อยของกรมพระราชวังหลัง ซึ่งทรงผนวชอยู่ณวัดระฆัง[2] แต่ตัวสุนทรภู่อยู่ที่พระราชวัง แลได้หญิงชื่อ จัน ที่เคยเกิดความนั้น เปนภรรยา ทำนองเจ้าครอกข้างใน (ทองอยู่) ซึ่งเปนพระอัครชายาของกรมพระราชวังหลัง จะยกประทาน ด้วยปรากฎในนิราศวัดเจ้าฟ้าว่า เมื่อสุนทรภู่มีบุตร เจ้าครอกข้างในรับเข้าไปทรงเลี้ยงดู แต่เมื่อได้นางจันเปนภรรยาแล้ว อยู่ด้วยกันเปนปรกติไม่เท่าใด เห็นจะเปนเพราะสุนทรภู่จับเปนคนขี้เมาในตอนนี้ ถึงปีเถาะ (พ.ศ. ๒๓๕๐) ภรรยาก็โกรธ สุนทรภู่ได้แสดงความไว้ข้างต้นนิราศพระบาทว่า

"แสนอาลัยใจหายไม่วายห่วง

ดังศรศักดิ์ปักช้ำระกำทรวง

เสียดายดวงจันทราพงางาม

เจ้าคุมแค้นแสนโกรธพิโรธพี่

แต่เดือนยี่จนย่างเข้าเดือนสาม

จนพระหน่อสุริย์วงศ์ทรงพระนาม

จากอารามแรมร้างทางกันดาร

ด้วยเรียมรองมุลิกาเปนข้าบาท

จำนิราศร้างนุชสุดสงสาร

ตามเสด็จโดยแดนแสนกันดาร

ไปนมัสการรอยบทพระศาสดา" ดังนี้

เมื่อสุนทรภู่ตามเสด็จพระองค์เจ้าปฐมวงศ์ไปพระพุทธบาทคราวที่แต่งนิราศ ไม่ได้ลงเรือลำทรง อาศรัยไปในเรือมหาดเล็กที่ตามเสด็จ ต้องพายเรือไปเอง กล่าวความอันนี้ไว้ในนิราศเมื่อถึงท่าเรือว่า

"พระหน่อสุริย์วงศ์ทรงสิกขา

ขึ้นศาลาโสรจสรงวารีศรี

ข้างพวกเราเฮฮาลงวารี

แต๋โดยดีใจตนด้วยพ้นพาย

อุระเรียมเกรียมกรมอารมณ์ร้อน

ระอาอ่อนอกใจมิใคร่หาย

แลตลิ่งวิงหน้าในตาพราย

หัวไหล่ตายตึงยอกตลอดตัว"

ครั้นขึ้นเดินบก จะเปนด้วยสุนทรภู่ไปเมาเหล้าหรืออย่างไร ถูกเขาแกล้งให้ขึ้นขี่คอช้างตัวบ่มมันที่ต้องให้นำไปข้างหน้า กล่าวไว้ในนิราศว่า

"ทั้งสองข้างท่านวางล้วนช้างดั้ง

ระยะหลังมหาดเล็กนั้นเหลือหลาย

แต่ตัวพี่นี้จำเพาะเปนเคราะห์ร้าย

ต้องขึ้นพลายนำทางช้างน้ำมัน

เพื่อนเขาแกล้งตบมือกระพือผัด

ช้างสบัดพลัดไปในไพรสัณฑ

ผงะหงายคนท้ายเขาคว้าทัน

โอ้แม่จันเจียนจะไม่เห็นใจจริง

นึกจะโจนจากช้างลงกลางเถื่อน

คิดอายเพื่อนเขาจะเย้ยว่าใจหญิง

แต่ตึงเศียรเวียนหน้าในตาวิง

เอาขอพิงพาดตักมาตามทาง"

เมื่อไปพักอยู่ที่ริมบริเวณวัดพระพุทธบาท สุนทรภู่กล่าวในนิราศว่า ไปเที่ยงทางเขาขาด พบ (พระองค์) เจ้าสามเณพระองค์ ๑ กั้นพระกลดหักทองขวางเสด็จมาทางนั้น พิเคราะห์ตามศักราช เห็นว่า จะเปนสมเด็จกรมพระปรมานุชิตชิโนรส เพราะเวลานั้น ทรงผนวชเปนสามเณรอยู่แล้ว กล่าวความอิกแห่งหนึ่งว่า

"พอแรมค่ำวันนั้นท่านพระคลัง

หาบุญยังไปฉลองศาลาลัย"

คือ พระยาพระคลัง (กุน) ซึ่งได้เปนเจ้าพระยารัตนาธิเบศร์ที่สมุหนายกในรัชกาลที่ ๒ หานายบุญยัง นายโรงละคอนนอกที่มีชื่อเสียงและเปนผู้สร้างวัดละคอนทำในจังหวัดธนบุรีนั้น ไปเล่นละคอนฉลองศาลาที่ท่านสร้างขึ้นใหม่ในลานพระพุทธบาท อาศรัยเค้าเงื่อนที่มีดังไดกล่าวมา สันนิษฐานว่า หนังสือบทกลอนของสุนทรภู่ที่ปรากฎอยู่เปนของแต่งในรัชกาลที่ ๑ เมื่อก่อนสุนทรภู่เข้ารับราชการ ๓ เรื่อง คือ เรื่องโคบุตร เรื่อง ๑ นิราศเมืองแกลง เรื่อง ๑ นิราศพระบาท เรื่อง ๑ ต่อมาในรัชกาลที่ ๒ เมื่อสุนทรภู่เข้ารับราชการแล้ว เห็นจะไม่มีโอกาศไปทางไกล จึงไม่ปรากฎแต่งนิราศเรื่องใดอิกจนตลอดรัชกาล

เรื่องประวัติของสุนทรภู่ตอนจะเข้ารับราชการในรัชกาลที่ ๒ นั้น มีคำเล่ากันมาว่า เมื่อคราวเกิดทิ้งบัตรสนเท่ห์กันชุกชุมใน พ.ศ. ๒๓๕๙ ที่กรมหมื่นศรีสุเรนทรต้องถูกชำระนั้น สุนทรภู่ก็ถูกสงสัยว่าเปนผู้แต่งหนังสือทิ้งด้วยคน ๑ ความข้อนี้มีเค้าเงื่อนอยู่ในนิราศเมืองเพ็ชรบุรีซึ่งสุนทรภู่แต่งเมื่อตอนปลายรัชกาลที่ ๓ กล่าวความย้อนขึ้นไปถึงเมื่อยังเปนหนุ่มคนองว่า ได้เคยหนีออกไปอยู่เมืองเพ็ชร ไปซุ่มซ่อนนอนอยู่ในถ้ำเขาหลวงหลายวัน แล้วไปอาศรัยอยู่กับหม่อมบุนนาคในกรมพระราชวังหลังซึ่งออกไปตั้งทำนาอยู่ที่เมืองเพ็ชรเมื่อกรมพระราชวังหลังทิวงคตแล้ว บางทีจะหนีไปในคราวที่ถูกสงสัยว่าแต่งหนังสือทิ้ง แลบางทีพระบาทสมเด็จฯ พระพุทธเลิศหล้านภาลัย จะได้ทอดพระเนตรเห็นสำนวนกลอนของสุนทรภู่ในเวลาสอบสำนวนหาตัวผู้ทิ้งหนังสือคราวนั้นเอง จึงเลยทรงพระกรุณาโปรดฯ ให้เอาตัวมารับราชการเปนอาลักษณ์ มูลเหตุที่สุนทรภู่จะเข้ารับราชการหาปรากฎเรื่องเปนอย่างอื่นไม่

เมื่อสุนทรภู่ได้เปนอาลักษณ์แล้ว มีเรื่องเล่ากันมาถึงที่สุนทรภู่ได้ทำความชอบในหน้าที่ว่า ในสมัยนั้น กำลังทรงพระราชนิพนธ์บทละคอนเรื่องรามเกียรติ์ถึงตอนนางสีดาผูกคอตาย บทพระราชนิพนธ์รัชกาลที่ ๑ ซึ่งเล่นละคอนกันมากล่าวบทนางสีดาตรงเมื่อจะผูกคอตายว่า

"เอาภูษาผูกศอให้มั่น

แล้วพันกับกิ่งโศกใหญ่

หลับเนตรจำนงปลงใจ

อรไทยก็โจนลงมา"

ต่อนี้ถึงบทหนุมานว่า

"บัดนั้น

วายุบุตรวุฒิไกรใจกล้า

ครั้นเห็นองค์อัคกัลยา

ผูกศอโจนมาก็ตกใจ

ตัวสั่นเพียงสิ้นชีวิต

ร้อนจิตต์ดังหนึ่งเพลิงไหม้

โลดโผนโจนลงตรงไป

ด้วยกำลังว่องไวทันที (เชิด)

ครั้นถึงจึงแก้ภูษาทรง

ที่ผูกศอองค์พระลักษมี

หย่อนลงยังพื้นปฐพี

ขุนกระบี่ก็โจนลงมา"

พระบาทสมเด็จฯ พระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงติว่า บทเก่าตรงนี้ กว่าหนุมานจะเข้าไปแก้ได้นานนัก นางสีดาจะต้องตายเสียแล้ว บทที่ทรงพระราชนิพนธ์ใหม่จึงคิดจะให้หนุมานเข้าแก้ได้โดยเร็ว แต่งบทนางสีดาว่า

“จึงเอาผ้าผูกพันกระสันรัด

เกี่ยวกระหวัดไว้กับกิ่งโศกใหญ่”

ต่อนี้ไปเกิดขัดข้องว่า จะแต่งบทหนุมานอย่างไรให้แก้นางสีดาได้โดยเร็ว เหล่ากวีซึ่งเปนที่ทรงปรึกษาไม่มีใครสามารถจะแต่งบทให้พอพระราชหฤทัยได้ จึงทรงลองดำรัสสั่งให้สุนทรภู่แต่ง สุนทรภู่แต่งต่อไปว่า

“ชายหนึ่งผูกศออรไทย

แล้วทอดองค์ลงไปจะให้ตาย

บัดนั้น วายุบุตรแก้ได้ดังใจหมาย” ดังนี้

ก็ชอบพระราชหฤทัย ทรงยกย่องความฉลาดของสุนทรภู่คราวนี้ครั้ง ๑ ด้วยการทรงพระราชนิพนธ์บทละคอนในรัชกาลที่ ๒ นั้น เล่ากันมาว่า เมื่อทรงพระราชนิพนธ์บทขึ้นแล้ว ให้เอาบทไปซ้อมละคอนเสียก่อน ถ้าบทยังขัดกับกระบวนเล่นละคอน ก็ต้องแก้ไขบทไปจนกว่าละคอนจะเล่นได้สดวก จึงเอาเปนใช้ได้ บทที่สุนทรภู่แต่งถวายครั้งนั้นเข้ากับกระบวนเล่นได้สดวกดีด้วย จึงได้โปรดฯ

อิกครั้ง ๑ เล่ากันมาว่า เมื่อแต่งบทเรื่องรามเกียรติ์ต่อมถึงตอนศึกสิบขุนสิบรถ ทรงพระราชนิพนธ์บทชมรถทศกัณฐ์ว่า

“รถที่นั่ง

บุษบกบัลลังก์ตั้งตระหง่าน

กว้างยาวใหญ่เท่าเขาจักรวาฬ

ยอดเยี่ยมเทียมวิมานเมืองแมน

ดุมวงกงหันเปนควันคว้าง

เทียมสิงห์วิ่งวางข้างละแสน

สารถีขี่ขับเข้าดงแดน

พื้นแผ่นดินกระเด็นไปเปนจุณ”

ทรงพระราชนิพนธ์มาได้เพียงนี้ ทรงนึกความที่จะต่อไปอย่างไรให้สมกับเปนรถใหญ่โตถึงปานนั้นยังไม่ออก จึงมีรับสั่งให้สุนทรภู่ต่อ สุนทรภู่ต่อว่า

“นทีตีฟองนองระลอก

คลื่นกระฉอกกระฉ่อนชลค่นขุ่น

เขาพระเมรุเอนเอียงอ่อนลมุน

อนนต์หนุนดินดาลสท้านสเทือน

ทวยหาญโห่ร้องก้องกัมปนาท

สุขาวาสไหวหวั่นลั่นเลื่อน

บดบังสุริยันตวันเดือน

คลาศเคลื่อนจัตุรงค์ตรงมา”

เล่ากันว่า โปรดนัก แต่นั้น ก็ทรงนับสุนทรภู่เปนที่ทรงปรึกษาด้วยอิกคน ๑ ทรงตั้งเปนที่ขุนสุนทรโวหารในกรมพระอาลักษณ์ พระราชทานที่ให้ปลูกเรือนอยู่ที่ใต้ท่าช้าง[3] แลมีตำแหน่งเฝ้าฯ เปนนิจ แม้เวลาเสด็จประพาส ก็โปรดฯ ให้ลงเรือพระที่นั่งเปนพนักงานอ่านเขียนในเวลาทรงพระราชนิพนธ์บทกลอน[4]

แต่การที่สุนทรภู่ได้เปนขุนนางและได้มีตำแหน่งรับราชการใกล้ชิดติดพระองค์เช่นนั้น ไม่สามารถจะคุ้มความทุกข์ยากได้ทีเดียว เหตุด้วยสุนทรภู่ยังเสพย์สุราไม่ทิ้งได้ เมื่อเปนขุนสุนทรโวหารแล้ว ครั้งหนึ่งกำลังเมาสุราไปหามารดา มารดาว่ากล่าว กลับขู่เข็ญมารดา ขณะนั้น มีญาตผู้ใหญ่ จะเปนลุงหรือน้าคนหนึ่ง เข้าไปห้ามปราม สุนทรภู่ทุบตีเอาบาดเจ็บถึงสาหัส เขาทูลเกล้าฯ ถวายฎีกา ก็ถูกกริ้ว มีรับสั่งให้เอาตัวไปจำไว้ณคุก เรื่องสุนทรภู่ติดคุกมีเค้าเงื่อนปรากฎแต่งไว้ในเสภาพรรณาถึงลักษณติดคุกตอนเมื่อพลายงามจะขออยู่ในคุกกับขุนแผนว่า

“ขุนแผนว่าจะอยู่ดูไม่ได้

ในคุกใหญ่ยากแค้นมันแสนเข็ญ

เหมือนกับอยู่ในนรกตกทั้งเปน

ไม่ว่างเว้นโทษทัณฑ์สักวันเลย

แต่พ่อนี้ท่านเจ้ากรมยมราช

อนุญาตให้อยู่ทับในหับเผย

คนทั้งหลายนายมุลก็คุ้นเคย

เขาละเลยพ่อไม่ต้องถูกจองจำ”

มีคำเล่ากันมาอิกข้อ ๑ ว่า สุนทรภู่เริ่มแต่งหนังสือเรื่องพระอภัยมณีเมื่ออยู่ในคุกคราวนั้น ข้อนี้ก็เห็นจะจริง มีเค้าเงื่อนอยู่ในเสภาตอนที่สุนทรภู่แต่งว่าถึงขุนแผนติดคุกนั้นว่า

“อยู่เปล่าเปล่าเล่าก็จนพ้นกำลัง

อุส่าห์นั่งทำการสานกระทาย

ให้นางแก้วกิริยาช่วยทารัก

ขุนแผนถักขอบรัดกระหวัดหวาย

ใบละบาทคาดได้โดยง่ายดาย

แขวนไว้ขายทั้งเรือนออกเกลื่อนไป”

สุนทรภู่คงคิดแต่งหนังสือเรื่องพระอภัยมรีขึ้นขายฝีปากเลี้ยงตัวในเวลาที่ติดคุกอยู่ อันประเพณีแต่งหนังสือขายในสมัยเมื่อยังไม่ใช้การพิมพ์นั้น เมื่อแต่งขึ้นแล้ว ใครหยากจะอ่าน ก็มาขอลอกเอาไป ผู้แต่งคิดเอค่าแต่งตามแต่ผู้ต้องการอ่านจะยอมให้ ผู้มีชื่อเสียงเช่นสุนทรภู่ก็เห็นจะได้ค่าแต่งแรงอยู่ ประเพณีที่กล่าวมานี้เปนทางหากินของพวกกวีที่ขัดสนมาช้านาน คุณพุ่ม ธิดาพระยาราชมนตรี (ภู่) ยังแต่งกลอนขายมาจนถึงต้นรัชกาลที่ ๕ บอกไว้ในเพลงยาวเฉลิมพระเกียรติ์ที่คุณพุ่มแต่ง

สุนทรภู่จะติดคุกอยู่ช้านานเท่าใดมิได้ปรากฎ เล่ากันแต่ถึงเหตุที่จะพ้นโทษว่า พระบาทสมเด็จฯ พระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงพระราชนิพนธ์บทละคอนเรื่องใดเรื่องหนึ่งเกิดติดขัด ไม่มีผู้ใดจะต่อให้พอพระราชหฤทัยได้ จึงมีรับสั่งให้ไปเบิกตัวสุนทรภู่มาจากคุก สุนทรภู่ต่อกลอนได้ดังพระราชประสงค์ ก็ทรงพระกรุณาโปรดฯ ให้พ้นโทษกลับมารับราชการตามเดิม มาถึงตอนปลายรัชกาลพระบาทสมเด็จฯ พระพุทธเลิศหล้านภาลัย โปรดให้สุนทรภู่เปนครูสอนหนังสือถวายพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าอาภรณ์ สุนทรภู่แต่งกลอนเรื่องสวัสดิรักษาถวายเจ้าฟ้าอาภรณ์ ขึ้นต้นว่า

“สุนทรทำคำสวัสดิรักษา

ถวายพระหน่อบพิตรอิศรา

ตามพระบาลีเฉลิมให้เพิ่มพูล”

แลกล่าวในกลอนตอนปลายเมื่อก่อนจบว่า

“ขอพระองค์จงจำไว้สำเหนียก

ดังนี้เรียกเรื่องสวัสดิรักษา

สำหรับพงศ์องค์กษัตริย์ขัตติยา

ให้ผ่องผาสุกสวัสดิ์ขจัดภัย

บทโบราณท่านทำเปนคำฉันท์

แต่คนนั้นมิใคร่แจ้งแถลงไข

จึงกล่าวกลับซับซ้อนเปนกลอนไว้

หวังจะให้เจนจำได้ชำนาญ

สนองคุณมุลิกาสาพิภักดิ์

ให้สูงศักดิ์สืบสมบัติพัสดุ์สถาน

แม้ผิดเพี้ยนเปลี่ยนเรื่องเบื้องโบราณ

ขอประทานอภัยโทษได้โปรดเอย” ดังนี้

ในบทเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน[5] มีสำนวนสุนทรภู่แต่งตอนหนึ่งตั้งแต่พลายงามเกิดไปจนพลายงามถวายตัวเปนมหาดเล็ก สำนวนตั้งใจประจงแต่งดีหนักหนา บทเสภาตอนนี้สันนิษฐานว่า เห็นจะแต่งในรัชกาลที่ ๒ ด้วยกล่าวความตอนพลายงามอยู่กับจมื่นศรีว่า

“ครานั้นพลายงามทรามสวาท

แหลมฉลาดเลขผาปัญญาขยัน

อยู่บ้านท่านหมื่นศรียินดีครัน

ทุกคืนวันตามหลังเข้าวังใน

เธอเข้าเฝ้าเจ้าก็นั่งบังไม้ดัด

คอยฟังตรัสตรึกตราอัชฌาสัย

ค่อยรู้กิจผิดชอบรอบคอบไป

ด้วยมิได้คบเพื่อนเที่ยวเชือนแช”

ต่อมาอิกแห่ง ๑ กล่าวถึงบทสมเด็จพระพันวสาว่า

“ครานั้นสมเด็จพระพันวสา

เหลือบเห็นหน้าพลายงามความสงสาร

จะออกพระโอษฐ์โปรดขุนแผนแสนสท้าน

แต่กรรมนั้นบันดาลดลพระทัย

ให้เคลิ้มพระองค์ทรงกลอนละคอนนอก

นึกไม่ออกเวียนวงให้หลงใหล

ลืมประภาษราชกิจที่คิดไว้

กลับเข้าในแท่นที่ศรีไสยา ฯ”

เรื่องประวัติตอนเมื่อสุนทรภู่เปนกวีที่ทรงปรึกษา ยังมีเรื่องเกล็ดเล่ากันมาอิกหลายอย่าง เรื่อง ๑ ว่า สุนทรภู่คุยว่า สำนวนกลอนที่จะแต่งให้เปนคำปากตลาดนั้น ต้องเปนไพร่เช่นตัวถึงจะแต่งได้ บ่งความว่า ถ้าเปนเจ้านายก็แต่งไม่ได้ ความนี้ทราบถึงพระกรรณพระบาทสมเด็จฯ พระพุทธเลิศหล้านภาลัย จึงทรงพระราชนิพนธ์บทละคอนเรื่องไกรทองเพื่อพิศูจน์ให้ปรากฎว่า ถึงเจ้านายจะทรงแต่งกลอนให้เปนคำปากตลาดก็อาจทรงได้ อิกเรื่อง ๑ เล่ากันว่า เมื่อทรงพระราชนิพนธ์บทละคอนเรื่องอิเหนา ทรงแบ่งตอนนางบุษบาเล่นธารเมื่อท้าวดาหาไปใช้บล พระราชทานไปให้พระบาทสมเด็จฯ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อยังทรงดำรงพระยศเปนพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ทรงแต่ง เมื่อทรงแต่งแล้ว ถึงวันจะอ่านถวายตัว พระบาทสมเด็จฯ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว มีรับสั่งวานสุนทรภู่อ่านตรวจดูเสียก่อน สุนทรภู่อ่านแล้วกราบทูลว่า เห็นดีอยู่แล้ว ครั้นเสด็จออก เมื่อโปรดฯ ให้อ่านต่อหน้ากวีที่ทรงปรึกษาพร้อมกัน ถึงบทแห่งหนึ่งว่า

“น้ำใสไหลเย็นแลเห็นตัว

ปลาแหวกกอบัวอยู่ไหวไหว”[6]

สุนทรภู่ติว่า ยังไม่ดี ขอแก้เปน

“น้ำใสไหลเย็นเห็นตัวปลา

ว่ายแหวกปทุมาอยู่ไหวไหว”

โปรดตามที่สุนทรภู่แก้ พอเสด็จขึ้นแล้ว พระบาทสมเด็จฯ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็กริ้ว ดำรัสว่า เมื่อขอให้ตรวจ ทำไมจึงไม่แก้ไข แกล้งนิ่งเอาไว้ติหักหน้าเล่นกลางคน เปนเรื่องที่ทรงขัดเคืองสุนทรภู่ครั้ง ๑ อีกครั้ง ๑ รับสั่งให้พระบาทสมเด็จฯ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงแต่งบทละคอนเรื่องสังข์ทองตอนท้าวสามนต์จะให้ลูกสาวเลือกคู่ ทรงแต่งคำปรารภของท้าวสามนต์ว่า

“จำจะปลูกฝังเสียยังแล้ว

ให้ลูกแก้วสมมาดปราถนา”

ครั้นถึงเวลาอ่านถวาย สุนทรภู่ถามขึ้นว่า “ลูกปราถนาอะไร” พระบาทสมเด็จฯ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ต้องทรงแก้ว่า

“ให้ลูกแก้วมีคู่เสนหา”

ทรงขัดเคืองสุนทรภู่ว่า แกล้งปรามาทอิกครั้ง ๑ แต่นั้นก็ว่า พระบาทสมเด็จฯ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมึนตึงต่อสุนทรภู่มาจนตลอดรัชกาลที่ ๒

ในระยะที่สุนทรภู่รับราชการอยู่เมื่อรัชกาลที่ ๒ นั้น มีบุตร ๒ คน บุตรคนใหญ่ชื่อ พัด ดูเหมือนภรรยาคนที่ชื่อ จัน จะเปนมารดา ต่อมา สุนทรภู่ได้ภรรยาอีกคนหนึ่งชื่อ นิ่ม เปนชาวบางกรวย มีบุตรด้วยกันชื่อ ตาบ[7] จะเปนด้วยเหตุที่ได้ภรรยาใหม่หรือด้วยเหตุอื่นอย่างใดอย่างหนึ่ง ภรรยาที่ชื่อ จัน ลงปลายอย่ากันกับสุนทรภู่แล้วไปมีสามีใหม่ ความข้อนี้สุนทรภู่กล่าวไว้ในนิราศเมืองสุพรรณเปนโคลง ๒ บทว่า

ยลย่านบ้านบุตั้ง ตีขัน
ขุกคิดเคยชมจันทร์ แจ่มฟ้า
ยามยากหากปันกัน กินซีก ฉลีกแฮ
มีคู่ชูชื่นหน้า นุชปลื้มลืมเดิม ฯ
เสียดายสายสวาทโอ้ อาวรณ์
รักพี่มีโทษกรณ์ กับน้อง
จำจากพรากพลัดสมร เสมอชีพ เรียมเอย
เสียนุชดุจทรวงต้อง แตกฟ้าผ่าสลาย ฯ

ส่วนภรรยาคนที่ชื่อ นิ่ม นั้น พอมีบุตรได้ไม่ช้าก็ตาย เจ้าครอกข้างในฯ จึงรับบุตรสุนทรภู่ไปเลี้ยงไว้ในพระราชวังหลังทั้ง ๒ คน นอกจากภรรยาชื่อ จัน กับชื่อ นิ่ม ๒ คนที่กล่าวมาแล้ว สุนทรภู่ยังมีคู่รัก รบุชื่อไว้ในนิราศอีกหลายคน ว่า เปนภรรยาบ้าง เปนช้บ้าง แต่มิได้ปรากฎว่า อยู่กับใครยืดยาวสักคนเดียว

สุนทรภู่ตั้งแต่เยาว์มายังไม่ได้บวชจนตลอดรัชกาลที่ ๒ พอถึงรัชกาลที่ ๓ ก็ออกบวช เหตุที่จะบวชนั้น เล่ากันมาว่า เพราะหวาดหวั่นเกรงพระราชอาญา ด้วยเห็นว่า พระบาทสมเด็จฯ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงขัดเคืองแต่รัชกาลก่อน แต่ข้อนี้ เมื่อพิเคราะห์ดูตามคำที่สุนทรภู่กล่าวไว้ในนิราศภูเขาทองว่า

“ถึงสามโคกโศกถวิลถึงปิ่นเกล้า

พระพุทธเจ้าบำรุงซึ่งกรุงศรี

ประทานนามสามโคกเปนเมืองตรี

ชื่อประทุมธานีเพราะมีบัว

โอ้พระคุณสูญลับไม่กลับหลัง

แต่ชื่อตั้งยังอยู่เขารู้ทั่ว

แต่เรานี้ที่สุนทรประทาตัว

ไม่รอดชั่วเช่นสามโคกยิ่งโศกใจ

สิ้นแผ่นดินสิ้นนามตามเสด็จ

ต้องเที่ยวเตร็จเตร่หาที่อาศรัย”

คำของสุนทรภู่ที่กล่าวตรงนี้ดูประหนึ่งว่า ถึงรัชกาลที่ ๓ ถูกถอดออกจากที่ขุนสุนทรโวหาร น่าจะเปนเช่นนั้นจริง คนทั้งหลายจึงได้เรียกกันว่า “สุนทรภู่” เห็นจะมีเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งให้ต้องถูกถอดจากบรรดาศักดิ์แล้วจึงออกบวช ถ้าเวลาบวช ยังเปนขุนนาง คงจะได้รับพระราชูปถัมภ์ ไหนจะอนาถาดังปรากฎในเรื่องประวัติ อีกประการ ๑ ในรัชกาลที่ ๓ เมื่อคราวแต่งจารึกวัดพระเชตุพนฯ มีแต่งกลอนเพลงยาวกลบทเปนต้น พระบาทสมเด็จฯ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ทรงเสาะหากวีที่ชำนาญกลอน แม้จนมหาดเล็กเลว ก้ได้มีชื่อแต่งถวาย สุนทรภู่เปนกวีคนสำคัญมาแต่ก่อน เหตุใดจึงมิได้ปรากฎชื่อว่า แต่งจารึกอย่างใดอย่างหนึ่งในคราวนั้น ข้อนี้ก็ส่อให้เห็นว่า คงเปนผู้ต้องตำหนิติโทษทรงรังเกียจในรัชกาลที่ ๓ เห็นสมกับความที่กล่าวในกลอน จึงเข้าใจว่า ถูกถอด

ความจริงในเรื่องที่สุนทรภู่ออกบวช เห็นจะเปนด้วยเหตุ ๒ ประการ คือ เพราะยังไม่ได้บวชพระตามประเพณีนิยม ประการ ๑ อีกประการ ๑ สุนทรภู่วิวาทกับญาติ เข้ากับใคร่ไม่ติด มีภรรยาก็อยู่ด้วยกันไม่ยืด เปนคนตัวคนเดียว อยู่แต่กับบุตรมาแต่ในรัชกาลที่ ๒ ข้อนี้สังเกตได้ด้วยในนิราสของสุนทรภู่เมื่อกล่าวถึงญาติเมื่อใด คงเปนคำโกรธแค้นว่า พึ่งพาไม่ได้ กล่าวถึงภรรยาและคู่รัก ก็มักปรากฎว่า อยู่ด้วยกันได้ไม่ยืด ครั้นเมื่อมาถูกถอดในรัชกาลที่ ๓ เจ้านายและผู้มีบรรดาศักดิ์ก็ไม่มีพระองค์ใดและท่านผู้ใดกล้าชุบเลี้ยงเกื้อหนุนโดยเปิดเผยด้วยเกรงจะเปนฝ่าฝืนพระราชนิยมในพระบาทสมเด็จฯ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว แม้เจ้าฟ้าอาภรณ์ซึ่งเปนศิษย์ก็ต้องทำเพิกเฉยมึนตึง สุนทรภู่ได้กล่าวความข้อนี้ไว้ในเพลงยาว[8] ว่า

“สิ้นแผ่นดินสิ้นบุญของสุนทร

ฟ้าอาภรณ์แปลกพักตร์อาลักษณ์เดิม” ดังนี้

สุนทรภู่ตกยากสิ้นคิด จึงออกบวช ด้วยเห็นว่า พระบาทสมเด็จฯ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเคารพต่อสงฆ์มาก ถ้าบวชเปนพระ ใครจะอุปถัมภ์ ก็เห็นจะไม่ทรงติเตียน ความที่สุนทรภู่คาดนี้ก็มีมูล ด้วยปรากฎในเพลงยาวนั้นว่า เมื่อสุนทรภู่บวชแล้ว พอถึงปีฉลู พ.ศ. ๒๓๗๒ เจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดีก็ทรงฝากเจ้าฟ้ากลาง (คือ สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระยาบำราบปรปักษ์) กับเจ้าฟ้าปิ๋ว พระโอรสพระองค์น้อย เวลานั้นพระชันษาได้ ๑๑ ปีพระองค์หนึ่ง ๘ ปีพระองค์หนึ่ง ให้เปนศิษย์สุนทรภู่ เหมือนอย่างเจ้าฟ้าอาภรณ์ พระโอรสพระองค์ใหญ่ ได้เคยเปนศิษย์มาในรัชกาลก่อน แล้วทรงส่งเสียอุปการะต่อมาในชั้นนั้น มีคำสุนทรภู่ได้กล่าวไว้ในเพลงยาวว่า

“เคยฉันของสองพระองค์ส่งถวาย

มิได้วายเว้นหน้าท่านข้าหลวง” ดังนี้

สุนทรภู่เห็นจะบวชเมื่อราวปีจอ พ.ศ. ๒๓๖๙ เวลานั้นอายุได้ ๔๑ ปี แรกบวชอยู่ที่วัดราชบุรณ อยู่ได้ ๓ พรรษา มีอธิกรณ์เกิดขึ้น (กล่าวกันเปนความสงสัยว่า จะเปนด้วยสุนทรภู่ต้องหาว่าเสพย์สุรา เพราะวิสัยของสุนทรภู่นั้น เวลาจะแต่งกลอน ถ้ามีฤทธิ์สุราเปนเชื้ออยู่แล้ว แต่งคล่องนัก นัยว่า ถ้ามีฤทธิ์สุราพอเหมาะแล้ว อาจจะคิดกลอนทันบอกให้เสมียนเขียนต่อกันถึง ๒ คน ดังนี้) เพราะอธิกรณ์เกิดขึ้นครั้งนั้น สุนทรภู่ถูกบัพพาชนิยกรรมขับไล่ให้ไปเสียจากวัดราชบุรณ เดิมคิดจะออกไปอยู่เสียตามหัวเมือง จึงแต่งเพลงยาวนั้นมีคำคร่ำครวญและถวายโอวาท แต่งเพราะดีหลายแห่ง แห่งหนึ่งว่า

“นิจจาเอ๋ยเคยรองลอองบาท

โปรดประภาษไพเราะเสนาะเสียง

แสนละม่อมน้อมพระองค์ดำรงเรียง

ดังเดือนเคียงแข่งคู่กับสุริยา

จงอยู่ดีศรีสวัสดิ์พิพัฒน์ผล

ให้พระชนม์ยั่งยืนหมื่นพรรษา

ได้สืบวงศ์พงศ์มกุฎอยุธยา

บำรุงราษฎร์สาสนาถึงห้าพัน

เหมือนสององค์ทรงพระนามพระรามลักษณ์

เปนปิ่นปักปกเกศทุกเขตร์ขัณฑ์

ประจามิตร์คิดร้ายวายชีวัน

เสวยชันฉัตร์เฉลิมเปนเจิมจอม

จะไปจากฝากสมเด็จพระเชษฐา

จงรักพระอนุชาอุตส่าห์ถนอม

พระองค์น้อยคอยประนตนิ่งอดออม

ทูลกระหม่อมครอบครองกันสององค”

ในคำโอวาทที่ถวายแห่งหนึ่งว่า

“อันอ้อยตาลหวานลิ้นแล้วสิ้นซาก

แต่ลมปากหวานหูไม่รู้หาย

แม้เจ็บอื่นหมื่นแสนจะแคลนคลาย

เจ็บจนตายนั้นเพราะเหน็บให้เจ็บใจ”

อิกแห่งหนึ่งว่า

“จับให้มั่นคั้นหมายให้วายวอด

ช่วยให้รอดรักให้ชิดพิสมัย

ตัดให้ขาดปราถนาหาสิ่งใด

เพียรจนได้สมประสงค์แล้วคงดี”

อิกแห่งหนึ่งว่า

“อันข้าไทยได้พึ่งเขาจึงรัก

แม้ถอยศักดิ์สิ้นอำนาจวาสนา

เขาหน่ายหนีมิได้อยู่คู่ชีวา

แต่วิชชาช่วยกายจนวายปราณ” ดังนี้

สุนทรภู่ออกจากวัดราชบุรณไปคราวนี้ กลับแต่งนิราศอิก คือ นิราศภูเขาทอง เห็นจะแต่งเมื่อปีขาล พ.ศ. ๒๓๗๓ เมื่อออกเรือไป กล่าวความถึงเรื่องที่จะต้องไปจากวัดราชบุรณว่า

“โอ้อาวาสราชบุรณพระวิหาร

แต่นี้นานนับทิวาจะมาเห็น

หวนรำลึกนึกน่าน้ำตากระเด็น

เพราะขุกเข็ญคนพาลทำรานทาง

จะยกหยิบธิบดีเปนที่ตั้ง

ก็ใช้ถังแทนสัดเห็นขัดขวาง

จึงจำลาอาวาสนิราศร้าง

มาอ้างว้างวิญญาในสาคร”

ในนิราศนี้กล่าวความตอนเมื่อผ่านพระบรมมหาราชวัง ครวญถึงพระบาทสมเด็จฯ พระพุทธเลิศหล้านภาลัย ว่าดีนัก น่าสงสาร ผู้ที่ได้อ่านมักจำกันได้โดยมาก ว่า

“ถึงหน้าวังดังหนึ่งใจจะขาด

คิดถึงบาทบพิตรอดิศร

โอ้ผ่านเกล้าเจ้าประคุณของสุนทร

แต่ปางก่อนเคยเฝ้าทุกเช้าเย็น

พระนิพพานปานประหนึ่งศีร์ษะขาด

ด้วยไร้ญาติยากแค้นถึงแสนเข็ญ

ทั้งโรคซ้ำกรรมวิบัติมาซัดเปน

ไม่เล็งเห็นที่ซึ่งจะพึ่งพา

จึงสร้างพรตอตส่าห์ส่งส่วนบุญถวาย

ประพฤติฝ่ายสมถะพระวัสสา

เปนสิ่งของฉลองคุณมุลิกา

ขอเปนข้าเคียงบาททุกชาติไป

ถึงหน้าแพแลเห็นเรือที่นั่ง

คิดถึงครั้งก่อนมาน้ำตาไหล

เคยหมอบรับกับพระจมื่นไวย

แล้วลงในเรือที่นั่งบัลลังก์ทอง

พระทรงแต่งแพลงบทพจนาท

เคยรับราชโองการอ่านฉลอง

จนกฐินสิ้นแม้น้ำแลลำคลอง

มิได้ข้องเคืองขัดพระหัทยา

เคยหมอบใกล้ได้กลิ่นสุคนธ์ตระหลบ

ละอองอบรสรื่นชื่นนาสา

สิ้นแผ่นดินสิ้นกลิ่นสุคนธา

วาสนาเราสิ้นกลิ่นสุคนธ์”

เมื่อถึงเมืองปทุมธานี ครวญอิกแห่งหนึ่งว่า

“สิ้นแผ่นดินสิ้นนามตามเสด็จ

ต้องเที่ยวเตร็จเตร่หาที่อาศรัย

แม้กำเนิดเกิดประสบภพใดใด

ขอให้ได้เปนข้าฝ่าธุลี

สิ้นแผ่นดินขอให้สิ้นชีวิตบ้าง

อย่ารู้ร้างบงกชบทศรี

เหลืออาลัยใจกรมระทมทวี

ทุกวันนี้ซังตายทรงกายมา”

ตอนผ่านหน้าโรงเหล้า สุนทรภู่กล่าวถึงเรื่องเสพย์สุรา ก็ว่าดี ว่า

“ถึงโรงเหล้าเตากลั่นควันโขมง

มีคันโพงผูกสายไว้ปลายเสา

โอ้บาปกรรมน้ำนรกเจียวอกเรา

ให้มัวเมาเหมือนหนึ่งบ้าเปนน่าอาย

ทำบุญบวชตรวจน้ำขอสำเร็จ

พระสรรเพชญ์โพธิญาณประมาณหมาย

ถึงสุราพารอดไม่วอดวาย

ไม่ใกล้กรายแกล้งเมินจนเกินไป”

สุนทรภู่ไปพระนครศรีอยุธยาคราวนี้ บุตรชายคนที่ชื่อ พัด ยังเปนเด็ก ไปด้วย แต่ภรรยาเห็นจะร้างกันเสียแต่เมื่อก่อนบวชหมดแล้ว เมื่อสุนทรภู่กล่าวกลอนชมทุ่งในตอนเรือลัดไปทางเชียงรากน้อย ว่า

“ถึงตัวเราเล่าถ้าหากมีโยมหญิง

ไหนจะนิ่งดูดายอายบุบผา

คงจะใช้ให้ศิษย์ที่ติดมา

อุตส่าห์หาเอาไปฝากตามยากตน

นี่จนใจไม่มีเท่าขี้เล็บ

ขี้เกียจเก็บเลยทางมากลางหน”

เมื่อขึ้นไปกรุงฯ เวลานั้น พระยาไชยวิชิต (เผือก) ซึ่งเคยเปนพระนายไวยอยู่เมื่อรัชกาลที่ ๒ ได้เปนผู้รักษากรุงฯ แต่สุนทรภู่กระดาก ไม่แวะไปหา กล่าวในนิราศว่า

“มาทางท่าหน้าจวนจอมผู้รั้ง

คิดถึงครั้งก่อนมาน้ำตาไหล

จะแวะหาถ้าท่านเหมือนเมื่อเปนไวย

ก็จะได้รับนิมนต์ขึ้นบนจวน

แต่ยามยากหากว่าถ้าท่านแปลก

อกมิแตกเสียหรือเราเขาจะสรวล

เหมือนเข็ญใจใฝ่สูงไม่สมควร

จะต้องม้วนหน้ากลับอัปมาน”

จึงเลยขึ้นไปนมัสการพระเจดีย์ภูเขาทอง แล้วจะเปนด้วยเหตุใดไม่ปรากฎ สุนทรภู่ไปกลับใจไม่อยู่หัวเมืองตามความคิดเดิม หวนกลับมากรุงเทพฯ มาอยู่ที่วัดอรุณฯ แต่จะมามีเหตุอันใดเกิดขึ้นอีกหรืออย่างใด สุนทรภู่อยู่วัดอรุณาไม่ช้า ก็ย้ายไปอยู่วัดเทพธิดา

เมื่อสุนทรภู่ไปอยู่วัดเทพธิดานั้น พระยาธรรมปรีชา (บุญ) บวชอยู่วัดเทพธิดา พระยาธรรมปรีชาเล่าว่า สุนทรภู่แต่งคำเทียบเรื่องพระไชยสุริยา (ที่พิมพ์ในหนังสือมูลบทบรรพกิจ) เมื่ออยู่ที่วัดเทพธิดาคราวนั้น และมีหนังสือนิราศเมืองสุพรรณอีกเรื่อง ๑ สุนทรภู่แต่งเมื่อบวชอยู่วัดเทพธิดา นิราศเมืองสุพรรณแปลกที่สุนทรภู่แต่งเปนโคลง โคลงของสุนทรภู่มีปรากฎอยู่เรื่องเดียวเท่านั้น ทำนองเมื่อบวชอยู่วัดเทพธิดา จะถูกปรามาทว่า แต่งเปนแต่กลอนเพลงยาว (หรือที่เรียกกันภายหลังมาว่า กลอนสุภาพ) จึงแต่งกาพย์คำเทียบเรื่องพระไชยสุริยา แลแต่งโคลงนิราศเมืองสุพรรณ พิศูจน์ให้ผู้อื่นเห็นว่า ถ้าจะแต่งโคลงกาพย์ก็แต่งได้ แต่ที่แท้นั้น สุนทรภู่รู้ตัวดีทีเดียวว่า ถึงแต่งได้ก็ไม่ถนัดเหมือนกลอนเพลงยาว ได้กล่าวความข้อนี้ไว้ในเพลงยาวถวายโอวาทว่า

“อย่างหม่อมฉันอันที่ดีและชั่ว

ถึงลับตัวก็แต่ชื่อเขาลือฉาว

เปนอาลักษณ์นักเลงทำเพลงยาว

เขมรลาวลือเลื่องถึงเมืองนคร”

สุนทรภู่จึงไม่แต่งโคลงกาพย์เรื่องอื่นอีก ข้อนี้ไม่แต่สุนทรภู่เท่านั้น ถึงสมเด็จฯ กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ก็รู้พระองค์ว่า ทรงถนัดแต่ลิลิตและโคลงฉันท์ จึงไม่ทรงแต่งหนังสือเปนกลอนสุภาพเลยสักเรื่องเดียว มีพระนิพนธ์กลอนสุภาพแต่เปนของทรงเล่น เช่น เพลงยาวอันปรากฎอยู่ในเรื่องเพลงยาวเจ้าพระนั้น เปนต้น

เหตุที่สุนทรภู่ไปเมืองสุพรรณคราวที่แต่งนิราศนั้น ความปรากฎในเรื่องนิราศว่า ไปหาแร่ ทำนองจะเล่นแปรธาตุ หรือมิฉะนั้น ก็ไปหาแร่ให้ผู้อื่นที่เล่นแปรธาตุ เพราะเชื่อกันว่า ที่ในแขวงจังหวัดสุพรรณมีแร่อย่างใดอย่างหนึ่งทรงคุณวิเศษสำหรับใช้แปรธาตุ พวกเล่นแปรธาตุยังเชื่อกันมาจนทุกวันนี้ สุนทรภู่ไปครั้งนั้นพาบุตรไปด้วยทั้ง ๒ คน แลมีศิษย์ไปด้วยก็หลายคน ลงเรือที่ท่าวัดเทพธิดาผ่านมาทางคลองมหานาค เมื่อถึงวัดสระเกศ กล่าวความว่า ในเวลานั้น มารดาพึ่งตาย ศพยังฝังอยู่ที่วัดสระเกศนั้น แล้วล่องเรือไปออกปากคลองโอ่งอ่าง เมื่อไปถึงเมืองสุพรรณ ได้ขึ้นไปทางลำน้ำข้างเหนือเมือง ไปขึ้นเดินบกที่วังหิน เที่ยวหาแร่ แล้วกลับลงเรือที่บ้านทึง ความที่พรรณนาในนิราศ ดูในเขตรแขวงสุพรรณในสมัยนั้นยังเปลี่ยวมากทั้งข้างใต้และฝ่ายเหนือเมือง ถึงไปปะเสือใกล้ ๆ ลำแม่น้ำ แต่แร่ที่ไปหาจะได้หรือไม่ได้ หาได้กล่าวถึงไม่

เรื่องเมื่อสุนทรภู่บวช เล่ากันมาเปนเรื่องเกร็ดเรื่องหนึ่งว่า ครั้งหนึ่ง สุนทรภู่ไปจอดเรืออยู่ณที่แห่งหนึ่ง มีชาวบ้านนำภัตตาหารมาถวาย แต่ทายกนั้นว่าคำถวายภัตตทานไม่เปน อาราธนาสุนทรภู่ให้ช่วยสอนให้ว่า เวลานั้น ทายกนั่งอยู่บนตลิ่งกับสิ่งของที่เอามาถวาย สุนทรภู่จึงสอนให้ว่าคำถวายภัตตทานเปนกลอนว่า

“อิมัสมิงริมฝั่ง อิมังปลาร้า กุ้งแห้งแตงกวา อีกปลาดุกย่าง ช่อมะกอกดอกมะปราง เนื้อย่างยำมะดัน เข้าสุกข้อนขัน น้ำมันขวดหนึ่ง น้ำผึ้งครึ่งโถ ส้มโอแช่อิ่ม ทับทิมสองผล เปนยอดกุศล สังฆัสสะเทมิ” ดังนี้

เรื่องนี้จะเท็จจริงอย่างไรไม่รับประกัน แต่ได้ฟังเล่ามาถึง ๒ แห่ง จึงจดไว้ด้วย

เมื่อสุนทรภู่กลับจากเมืองสุพรรณแล้ว ย้ายมาอยู่วัดพระเชตุพน เหตุที่ย้ายมานั้น เล่ากันเปน ๒ นัย นัย ๑ ว่า มาพึ่งพระบารมีอยู่กับสมเด็จฯ กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ด้วยทรงปรานีว่าเปนกวี อีกนัย ๑ ว่า เพราะพระองค์เจ้าลักขณานุคุณ พระเจ้าลูกเธอที่พระบาทสมเด็จฯ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดปรานมากนั้น ทรงพระปรานี ชักชวนให้มาอยู่วัดพระเชตุพน คิดดูบางทีก็จะเปนความจริงทั้ง ๒ นัย ด้วยพระองค์เจ้าลักขณานุคุณทรงผนวชพระเมื่อ พ.ศ. ๒๓๗๕ เวลานั้น สุนทรภู่บวชอยู่ได้ราวสัก ๖ พรรษา เจ้านายสมัยนั้นมักโปรดทรงศึกษาการแต่งกลอน อาจจะมีรับสั่งชวนสุนทรภู่มาอยู่วัดพระเชตุพนในเวลาทรงผนวชอยู่ที่วัดนั้น และสมเด็จฯ กรมพระปรมานุชิตชิโนรส อนุญาตโดยทรงพระปรานีสุนทรภู่ก็ได้

เมื่อสุนทรภู่มาอยู่วัดพระเชตุพน บุตรคนใหญ่ที่ชื่อ พัด บวชเปนสามเณร เห็นจะบวชมาแต่บิดายังอยู่วัดเทพธิดา สุนทรภู่มาอยู่วัดพระเชตุพนแล้ว พาเณรพัด กับบุตรคนเล็กที่ชื่อ ตาบ ไปพระนครศรีอยุธยาอิกครั้ง ๑ แต่งนิราศวัดเจ้าฟ้าเมื่อไปคราวนี้ แต่แกล้งแต่งให้เปนสำนวนเณรพัดว่า

“เณรหนูพัดหัดประดิษฐคิดอักษร

เปนเรื่องความตามติดท่านบิดร

กำจัดจรจากนิเวศเชตุพน”

เมื่อเรือถึงวัดระฆัง กล่าวว่า

ถงวัดระฆังบังคมบรมธาตุ

แทบพระบาทบุษบงองค์อับสร

ไม่ทันลับกัปกัลป์พุทธันดร

พระด่วนจรสู่สวรรคครรไล”

ความตรงนี้ (แลยังมีในนิราศพระประธมประกอบอิกแห่ง ๑) บ่งว่า เจ้าครอกข้างในฯ ซึ่งเปนพระอัครชายาของกรมพระราชวังหลัง สิ้นชีพก่อนนั้นไม่ช้านัก และได้พระราชทานเพลิงที่วัดระฆัง

เหตุที่สุนทรภู่จะไปกรุงศรีอยุธยาคราวนี้ว่า ได้ลายแทงมาแต่เมืองเหนือว่า มียาอายุวัฒนฝังไว้ที่วัดเจ้าฟ้าอากาศ จึงพยายามไปหายาอายุวัฒนนั้น เมื่อขึ้นไปถึงกรุงฯ ไปขึ้นบกที่วัดใหญ่ ได้อธิษฐานณที่นั้น กล่าวในคำอธิษฐานแห่งหนึ่งว่า

“อนึ่งเล่าเจ้านายที่หมายพึ่ง

ให้ทราบซึ่งสุจริตพิสมัย

อย่าหลงลิ้นหินชาติขาดอาลัย

น้ำพระทัยทูลเกล้าให้ยาวยืน”

ความที่อธิษฐานนี้แสดงว่า เวลานั้น สุนทรภู่กำลังหมายจะพึ่งพระองค์เจ้าลักขณานุคุณดังได้กล่าวมาแล้ว ครั้นออกจากวัดใหญ่เดินบกต่อไปทางทิศตวันออกคืนหนึ่งถึงวัดเจ้าฟ้า ว่า ไปทำพิธีจะขุด ก็บังเกิดกัมปนาทหวาดไหวด้วยฤทธิ์ปีศาจ ไม่อาจขุดได้ ต้องพากันกลับมา แต่เมื่อขากลับคราวนี้ ได้แวะหาพระยาไชยวิชิต (เผือก) กล่าวในนิราศว่า

“จะเลยตรงลงไปวัดก็ขัดข้อง

ไม่มีของขบฉันจังหันหุง

ไปพึ่งบุญคุณพระยารักษากรุง

ท่านบำรุกรักพระไม่ละเมิน

ทั้งเพลเช้าคาวหวานสำราญรื่น

ต่างชุ่มชื่นชวนกันสรรเสริญ

ทั้งสูงศักดิ์รักใคร่ให้เจริญ

อายุเกินกัปกัลป์พุทธันดร

ให้ครองกรุงฟุ้งเฟื่องเปรื่องปรากฎ

เกียรติยศอยู่ตลอดอย่าถอดถอน

ท่านอารีมีใจอาลัยวรณ์

ถึงจากจรใจมิตร์ยังคิดคุณ

มาทีไรได้นิมนต์ปรนนิบัติ

สารพัดแผ่เผื่อช่วยเกื้อหนุน

ต่างชื่นช่วยอวยกุศลผลบุญ

สนองคุณเจ้าพระยารักษากรุง”

ความที่กล่าวตอนนี้แสดงว่า สุนทรภู่เมื่อบวชได้ขึ้นไปกรุงศรีอยุธยาหลายครั้ง กระดากพระยาไชยวิชิต (เผือก) แต่เมื่อไปครั้งแรกครั้งเดียว ถึงครั้งหลัง ๆ ต่อมาแวะไปหา พระยาไชยวิชิตก็ต้อนรับฉันท์ได้ชอบพอคุ้นเคยกันมาแต่ในรัชกาลที่ ๒

ม่ีคำเล่ากันมาว่า สุนทรภู่เมื่อบวชนั้นได้ไปอยู่วัดมหาธาตุอิกวัดหนึ่ง ข้อนี้ก็เห็นจะเปนความจริง คงไปอยู่เมื่อกลับลงมาจากพระนครศรีอยุธยาคราวนี้ เพราะพระองค์เจ้าลักขณานุคุณลาผนวช เห็นจะทรงชวนให้ไปอยู่ใกล้วังท่าพระอันเปนที่พระทับ เพื่อจะได้สดวกแก่การที่ทรงอุปถัมภ์ คือ ส่งสำรับอาหาร เปนต้น เล่ากันว่า ในสมัยนั้น พระองค์เจ้าลักขณานุคุณโปรดทรงสักรวา เวลาไปทรงสักรวาทีใด ให้นิมนต์สุนทรภู่ลงเรือสักรวาไปด้วยเสมอ ให้ไปเปนผู้บอกสักรวาทั้งยังเปนพระ แต่สุนทรภู่คงสึกกลับออกเปนคฤหัสถ์ในตอนนี้ รวมเวลาที่สุนทรภู่บวชอยู่เห็นจะราว ๗ หรือ ๘ พรรษา

เมื่อสุนทรภู่พึ่งพระบารมีพระองค์เจ้าลักขณานุคุณอยู่นั้น นอกจากเปนผู้บอกสักรวา คงจะได้แต่งหนังสือบทกลอนถวายอิก ได้ยินว่า แต่งเปนกลอนเฉลิมพระเกียรติ์พระองค์เจ้าลักขณานุคุณเรื่อง ๑ ผู้ที่ได้เคยอ่านยังมีตัวอยู่ แต่หนังสือนั้นหาฉบับยังไม่พบ นอกจากนั้น จะได้แต่งเรื่องใดอิกบ้างหาปรากฎไม่ พิเคราะห์ดูโดยสำนวนกลอน เข้าใจว่า เรื่องนิราศอิเหนาสุนทรภู่เห็นจะแต่งในตอนนี้เรื่อง ๑ อนึ่ง เรื่องพระอภัยมณีซึ่งสุนทรภู่ได้เริ่มแต่งแต่ในรัชกาลที่ ๒ นั้น สังเกตเห็นถ้อยคำมีบางแห่งรู้ได้แน่ว่า มาแต่งต่อในรัชกาลที่ ๓ จะยอกตัวอย่างดังคำนางสุวรรณมาลีว่ากับพระอภัยมณีเมื่อแรกดีกันที่เมืองลังกาว่า "ด้วยปีเถาะเคราะห์กรรมเกิดน้ำมาก ขึ้นท่วมปากท่วมลิ้นเสียสิ้นหนอ" อยู่ในเล่มสมุดไทยเล่ม ๓๕ ตรงนี้เห็นได้ว่า ต้องแต่งในรัชกาลที่ ๓ ภายหลัง พ.ศ. ๒๓๗๔ การที่สุนทรภู่แต่งหนังสือพระอภัยมณี เห็นจะแต่งทีละเล่ม ๒ เล่มต่อเรื่อยมา ด้วยเปนหนังสือเรื่องยาว ทำนองพระองค์เจ้าลักขณานุคุณจะได้ทอดพระเนตรเห็นหนังสือเรื่องพระอภัยมณีเมื่อสุนทรภู่ไปพึ่งพระบารมี แลมีรับสั่งให้แต่งถวายอิก สุนทรภู่จึงแต่งเรื่องพระอภัยมณีอิกตอนหนึ่ง แต่จะไปค้างอยู่เพียงใดหาปรากฎไม่ เพราะสุนทรภู่พึ่งพระบารมีพระองค์เจ้าลักขณานุคุณอยู่ได้ไม่ช้า พอถึง พ.ศ. ๒๓๗๘ พระองค์เจ้าลักขณานุคุณก็สิ้นพระชนม์

เมื่อพระองค์เจ้าลักขณานุคุณสิ้นพระชนม์ลง เห็นจะไม่มีใครกล้ารับอุปการะสุนทรภู่อิก เวลานั้น เจ้าฟ้ากุณฑลก็ยังมีพระชนม์อยู่ ชรอยจะทรงขัดเคืองด้วยสุนทรภู่โจทเจ้าไปพึ่งบุญพระองค์เจ้าลักขณานุคุณ จึงทรงเฉยเสีย แต่เล่ากันมาว่า สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระยาบำราบปรปักษ์ นั้นยังทรงสงสารสุนทรภู่ ถ้าไปเฝ้าเมื่อใด ก็มักประทานเงินเกื้อหนุน แต่สุนทรภู่ก็จะออกกระดากเองด้วย จึงไม่กล้าไปพึ่งสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระยาบำราบปรปักษ์ ต้องตกยากอิกครั้งหนึ่ง กลับอนาถายิ่งกว่าคราวก่อน นัยว่า ถึงไม่มีบ้านเรือนจะอาศรัย ต้องลงลอยเรือเที่ยวจอดอยู่ตามสวนหาเลี้ยงชีพด้วยรับจ้างเขาแต่งบทกลอนกับทำการค้าขายประกอบกัน

หนังสือสุนทรภู่แต่งในตอนเมื่อตกยากครั้งนี้มีหลายเรื่อง คือ นิราศพระแท่นดงรัง เรื่อง ๑ กล่าวในกลอนข้างตอนต้นนิราศว่า

"ปีวอกนักษัตรอัฐศก

ชตาตกจะต้องไปถึงไพรสณฑ์

ลงนาวาหน้าวัดพระเชตุพน

พี่ทุกข์ทนถอนใจครรไลจร"

ปีวอก อัฐศกนั้น พ.ศ. ๒๓๗๙ ภายหลังพระองค์เจ้าลักขณานุคุณสิ้นพระชนม์ได้ปี ๑ สุนทรภู่ไปคราวนี้อาศรัยผู้อื่นไปแต่ตัว มิได้ไปโดยลำพังเหมือนเมื่อครั้งยังบวชเปนพระ เรื่องนิราศที่แต่ง ก็ว่าอย่างดาด ๆ ดูไม่มีอกมีใจ มีเรื่องประวัติบอกไว้แต่ว่า ในตอนที่สึกแล้ว ได้ภรรยาอิกคน ๑ ชื่อ ม่วง แต่เมื่อแตงนิราศนั้น ยังไม่ได้เปนสิทธิ์ขาดทีเดียว เปนแต่ไปมาหากัน แลบอกความไว้อิกข้อหนึ่งว่า เวลานั้น อดเหล้าได้ กล่าวไว้ในกลอนว่า

"ถึงนครไชยศรีมีโรงเหล้า

เปนของเมาตัดขาดไม่ปราถนา" ดังนี้

เมื่อถึงท้ายเรื่องนิราศ ได้กล่าวกลอนบอกเจตนาในการที่แต่งนิราศไว้ว่า

"ใช่จะแกล้งแต่งประกวดอวดฉลาด

ทำนิราศรักมิตรพิสมัย

ด้วยจิตต์รักกาพย์กลอนอักษรไทย

จึงตั้งใจแต่งคำแต่ลำพัง

หวังจะให้ลือเลื่องในเมืองหลวง

คนทั้งปวงอย่าว่าเราบ้าหลัง

ถ้าใครเปนก็จะเห็นว่าจริงจัง

ประดุจดังน้ำจิตต์เราคิดกลอน

ขอเดชะถ้อยคำที่ร่ำเรื่อง

ให้ลือเลื่องเลิศลักษณ์ในอักษร

ขอเชิญไทยเทวราชประสาทพร

ให้สุนทรลือทั่วธานีเอย"

ยังหนังสือกลอนสุภาสิตสอนหญิง[9] อิกเรื่อง ๑ ก็ดูเหมือนจะแต่งในตอนนี้ เมื่อก่อนจบ กล่าวกลอนไว้ข้างต้นท้ายว่า

"อย่าฟังเปล่าเอาแต่กลอนสุนทรเพราะ

จงพิเคราะห์คำเลิศประเสริฐศรี

เอาเปนแบบสอนตนพ้นราคี

กันบัดสีติฉินเขานินทา"

ยังมีหนังสือกลอนของสุนทรภู่อิกเรื่อง ๑ บางทีจะแต่งในตอนนี้ คือ เรื่องลักษณวงศ์ พิเคราะห์ดูเห็นเปนสำนวนกลอนสุนทรภู่แต่งแต่ ๙ เล่มสมุดไทย (เพียงม้าตามไปเห็นศพนางเกสร) ต่อนั้นดูเปนสำนวนผู้อื่นแต่งตามกลอนสุภาพอิก ๗ เล่ม แล้วแต่งเปนบทละคอนต่อไปอิก ๒๓ เล่ม รวมเปนหนังสือ ๓๙ เล่มสมุดไทย ในฉบับที่พิมพ์ขาย มีกลอนนำหน้าว่า เปนของแต่งถวายเจ้านาย แต่กลอนนั้นเห็นได้ว่า ตัดเอากลอนที่มีอยู่ข้างต้นเรื่องโคบุตรมาดัดอปลง น่าสงสัยว่า จะเปนของผู้อื่นเอามาเติมเข้าต่อชั้นหลังเพียงจะให้มีชื่อสุนทรภู่ปรากฎในหนังสือนั้น

อนึ่ง มีคำกล่าวกันมาว่า สุนทรภู่แต่งเรื่องพระสมุท กับเรื่องจันทโครบ กับเนื่องนครกาย อิก ๓ เรื่อง และว่า เรื่องพระสมุทนั้น สุนทรภู่แต่งเมื่อกำลังลงอยู่เรือลอย จึงให้ชื่อวีรบุรุษในเรื่องนั้นว่า "พระสมุท" พิเคราะห์ดูสำนวนกลอนในฉบับที่พิมพ์ขาย เห็นว่า มิใช่กลอนของสุนทรภู่ น่าจะกล่าวกันโดยเข้าใจผิด เกิดแต่ในหนังสือมีกลอนข้างตอนต้นว่า

"ข้าพเจ้าชื่อภู่ผู้ประดิษฐ์

ไม่แจ้งจิตต์ถ้อยคำในอักษร

แม้ผู้ใดได้สดับคำสุนทร

ช่วยเอื้อกลอนแถลงกล่าวในราวความ"

ความที่กล่าวในกลอนนี้ผิดวิสัยสุนทรภู่ซึ่งไม่เคยยอมถ่อมตัวว่า ความรู้อ่อน มีตัวอย่างคำสุนทรภู่ในข้อนี้กล่าวไว้ในนิราศพระประธมตอนอธิษฐานว่า

"หนึ่งขอฝากปากคำทำหนังสือ

ให้สืบชื่อชั่วฟ้าสุธาสถาน

สุนทราอาลักษณ์เจ้าจักรวาฬ

พระทรงสารศรีเศวตเกศกุญชร

อนึ่งมนุษย์อุตริติต่างต่าง

แล้วเอาอย่างเทียบคำทำอักษร

ให้ฟั่นเฟือนเหมือนเราสาปในกาพย์กลอน

ต่อโอนอ่อนออกชื่อจึงลือชา"

เรื่องพระสมุทนั้น กล่าวกันอิกนัยหนึ่งว่า มีคนชื่อ ภู่ อิกคน ๑ แต่งเอาอย่างสุนทรภู่ในเวลาชั้นหลังมา เลียนสุนทรภุ่ด้วยความนับถือ จึ่งถ่อมตัวว่า เปนผู้ยังรู้น้อย ความจริงก็เห็นจะเปนเช่นว่านี้ ส่วนเรื่องจันทโครบนั้น ได้พิเคราะห์ดู ไม่พบบทกลอนตอนใดที่จะเชื่อได้ว่า เปนสำนวนกลอนสุนทรภู่สักแห่งเดียว คำที่กล่าวกันก็กล่าวแต่ว่า สุนทรภู่แต่งกับผู้อื่นอิกหลายคน จึงเห็นว่า น่าจะเปนสำนวนผู้อื่นแต่งตามอย่างสุนทรภู่ หากว่าจะเกี่ยวข้องกับสุนทรภู่ ก็เพียงแต่งแล้ว บางทีจะเอาไปให้สุนทรภู่ตรวจแก้ไข จึงขึ้นชื่อสุนทรภู่ว่า ได้เกี่ยวข้อง แต่ที่แท้จะหาได้แต่งไม่ ส่วนเรื่องนครกายนั้น มีกลอนบอกไว้ข้างต้นหนังสือนั้นว่า "นายภู่อยู่นาวาเที่ยวค้าขาย" เห็นจะเปนนายภู่คนที่แต่งเรื่องพระสมุท หาใช่สุนทรภู่ไม่

สุนทรภู่จะตกอยากอยู่สักกี่ปี ข้อนี้ไม่ทราบชัด ปรากฎแต่ว่า พ้นทุกข์ยากด้วยพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อยังดำรงพระยศเปนสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ ทรงพระปรานีโปรดให้ไปอยู่ที่พระราชวังเดิมซึ่งเปนที่เสด็จประทับในสมัยนั้น แลต่อมา กรมหมื่นอับสรสุดาเทพ พระเจ้าลูกเธอที่พระบาทสมเด็จฯ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระเมตตามากอีกพระองค์ ๑ ทรงอุปการะด้วย เหตุที่กรมหมื่นอับสรสุดาเทพจะทรงอุปการะสุนทรภู่นั้น กล่าวกันว่า เดิมได้ทรงหนังสือเรื่องพระอภัยมณี (ชรอยจะได้หนังสือมรดกดของพระองค์เจ้าลักขณานุคุณ โดยเปนพระอนุชาร่วมเจ้าจอมมารดากัน) ชอบพระหฤทัย ทรงเห็นว่า เรื่องที่แต่งไว้ยังค้างอยู่ จึงมีรับสั่งให้สุนทรภู่แต่งถวายให้ทรงต่อไป สุนทรภู่แต่งเรื่องพระอภัยมณีมาได้ ๔๙ เล่มสมุดไทย หมายจะจบเพียงพระอภัยมณีออกบวช (ความตั้งใจของสุนทรภู่เห็นได้ชัดในหนังสือที่แต่งนั้น) แต่กรมหมื่นอับสรฯ มีรับสั่งให้แต่งต่อไปอีก ด้วยเหตุนี้ สุนทรภู่จึงต้องคิดเรื่องพระอภัยมณีตอนหลัง ตั้งแต่เล่มสมุดไทยที่ ๕๐ ขยายเรื่องออกไปจบต่อเล่มที่ ๙๔ แต่พิเคราะห์ดูหนังสือเรื่องพระอภัยมณีตอนหลัง สำนวนไม่ใช่ของสุนทรภู่คนเดียว เล่ากันว่า กรมหมื่นอับสรฯ มีรับสั่งให้แต่งถวายเดือนละเล่ม ถ้าเช่นนั้นจริง ก็จะเปนด้วยสุนทรภู่เบื่อ หรือถูกเวลามีกิจติดขัดแต่งเองไม่ทัน จึงวานศิษย์หาให้ช่วยแต่งก็จะเปนได้ นอกจากเรื่องพระอภัยมณี สุนทรภู่แต่งสิงหไตรภพถวายกรมหมื่นอับสรฯ อีกเรื่อง ๑ หนังสือนั้นจึงขึ้นต้นว่า "ข้าบาทขอประกาศประกอบเรื่อง" ดังนี้ แต่แต่งค้างอยู่เพียง ๑๕ เล่มสมุดไทย ชรอยจะหยุดเมื่อกรมหมื่นอับสรสุดาเทพสิ้นพระชนม์ใน พ.ศ. ๒๓๘๘

ในระยะเวลาเมื่อสุนทรภู่อยู่ในอุปการะของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว แลกรมหมื่นอับสรฯ นั้นได้ไปพระปฐมเจดีย์ จึงแต่งนิราศพระประธมอีกเรื่อง ๑ ไปคราวนี้ บุตรไปด้วยทั้ง ๒ คน สังสธมอิกเรินนิราศ เห็นได้ว่า แต่งโดยใจคอชื่นบานกว่าเมื่อแต่งนิราศพระแท่นดงรัง กล่าวถึงประวัติในเรื่องนิราศพระประธมนี้ว่า แตกกับภรรยาคนที่ชื่อ ม่วง และกล่าวกลอนตอนแผ่สาวนกุศลท้ายนิราศมีครวญถึงพระบาทสมเด็จฯ พระพุทธเลิศหล้านภาลัย ว่า

แล้วลาออกนอกโบสถ์ขึ้นโขดหิน กรวดวารินรดทำคำอักษร ส่งส่วนบุญสุนทราสถาพร ถึงบิดรมารดาครูอาจารย์ ถวายองค์มงกุฎอยุธเยศ ทรงเศวตคชงามทั้งสามสาร เสด็จสู่บุรีนีฤพาน เคยโปรดปรานเปรียบเปี่ยมได้เทียมคน สิ้นแผ่นดินปิ่นเกล้ามาเปล่าอก น้ำตาตกตายน้อยสักร้อยหน ขอพบเห็นเปนข้าฝ่ายุคล พระคุณล้นเลี้ยงเฉลิมให้เพิ่มพูล

ต่อนี้กล่าวถวายพระพรถึงพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวและกรมหมื่นอับสรสุดาเทพว่า

ถึงล่วงแล้วแก้วเกิดกับบุญฤทธิ์ ยังช่วยปิดปกอยู่ไม่รู้สูญ สิ้นแผ่นดินทินกรจรจำรูน ให้เพิ่มพูลพอสว่างหนทางเดิน ดังจินดาห้าดวงช่วงทวีป ได้ชูชีพช่วยทุกข์เมื่อฉุกเฉิน เปนทำนุอุปถัมภ์ไม่ก้ำเกิน จงเจริญเรีองวงศ์ทรงสุธา อนึ่งน้อมจอมนิกรอับสรราช บำรุงสาสนาสงฆ์ทรงสิกขา จงไพบูลพูลสวัสดิ์วัฒนา ชนมาหมื่นแสนอย่าแค้นเคือง

ต่อมา เห็นจะเปนเมื่อกรมหมื่นอับสรสุดาเทพสิ้นพระชนม์แล้ว สุนทรภู่ทูลรับอาสาพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวไปหาของต้องพระประสงค์ที่เมืองเพ็ชรบุรี แต่จะเปนของสิ่งใดหาปรากฎไม่ ได้แต่งนิราศเมืองเพ็ชรบุรีอีกเรื่อง ๑ เปนนิราศสุดท้ายของสุนทรภู่ นับถือกันว่า แต่งดีถึงนิราศภูเขาทองอันเปนอย่างยอดเยี่ยมในนิราศของสุนทรภู่ กล่าวความไว้ในกลอนข้างตอนต้นว่า

อนาถหนาวคราวมาอาสาเสด็จ ไปเมืองเพ็ชรบุรินที่ถิ่นหวาน ลงนาวาหน้าวัด[10] นมัสการ อธิษฐานถึงพระคุณกรุณา ช่วยชุบเลี้ยงเพียงชนกที่ปกเกศ ถึงต่างเขตร์ของประสงค์คงอาสา

เรื่องประวัติของสุนทรภู่ที่ปรากฎในนิราศเรื่องนี้ว่า มีบุตรน้อยไปด้วยอีกคนหนึ่งชื่อ นิล ชรอยจะเปนลูกมีกับภรรยาที่ชื่อ ม่วง บุตรคนใหญ่ที่ชื่อ พัด นั้นก็ไปด้วย ถึงตอนนี้เปนหนุ่มแล้ว แต่บุตรที่ชื่อ ตาบ ไม่ปรากฎในนิราศเรื่องนี้ อนึ่ง ในเวลาเมื่อสุนทรภู่ไปเมืองเพ็ชรบุรีคราวนี้ เปนเวลาอยู่ตัวคนเดียว ไม่มีภรรยา ได้กล่าวความข้อนี้ไว้ในนิราศหลายแห่ง มักจะว่าน่าฟัง จะคัดมาพอเปนตัวอย่าง

ถึงคลองเตยเตยแตกใบแฉกงาม คิดถึงยามปลูกรักมักเปนเตย จนไม่มีที่รักเปนหลักแหล่ง ต้องคว้างแคว้งคว้าหานิจจาเอ๋ย โอ้เปลี่ยวใจไร้รักที่จักเชย ชมแต่เตยแตกหนามเมื่อยามโซ

อีกแห่งหนึ่งว่า

โอ้อกเอ๋ยเลยออกประตูป่า กำดัดดึกนึกหน้าน้ำตาไหล จะเหลียวหลังสั่งสาราสุดาใด ก็จนใจด้วยไม่มีไมตรีตรึง ช่างเปนไรไพร่ผู้ดีก็มิรู้ ใครแลดูเราก็นึกรำลึกถึง จะปรับไหมได้หรือไม่อื้ออึง เปนแต่พึ่งวาสนาพอพาใจ

ตรงเมื่อถึงอ่าวยี่สาร ว่าด้วยหอยจุ๊บแจง เอาคำเห่เด็กของเก่ามาแต่งเปนกลอน ก็ว่าดี

โอ้เอ็นดูหนูน้อยร้องหอยเหาะ ขึ้นไปเกาะกิ่งตลอดยอดพฤกษา ล้วนจุ๊บแจงแผลงฤทธิ์เขาปลิดมา กวักตรงหน้ามาเรียกให้มันได้ยิน จุ๊บแจงเอ๋ยเผยฝาหาเข้าเปียก แม่ยายเรียกจะให้ไปกฐิน ทั้งช้างงวงช้างงาออกมากิน ช่วยปัดริ้นปัดยุงกระทุงราย เขาร่ำเรียกเพรียกหูได้ดูเล่น มันอยากเปนลูกเขยทำเงยหงาย เยี่ยมออกฟังทั้งตัวกลัวแม่ยาย โอ้นึกอายจุ๊บแจงแกล้งสำออย เหมือนจะรู้อยู่ในเล่ห์เสนหา แต่หากว่าพูดยากเปนปากหอย เปรียบเหมือนคนจนทุนทั้งบุญน้อย จะกล่าวถ้อยออกไม่ได้ดังใจนึก

ถึงรัชกาลที่ ๔ พอพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวบวรราชาภิเษกแล้ว ก็ทรงตั้งสุนทรภู่ให้เปนเจ้ากรมอาลักษณฝ่ายพระบวรราชวัง มีบรรดาศักดิ์เปนพระสุนทรโวหาร คงให้ราชทินนามตามที่ได้พระราชทานเมื่อรัชกาลที่ ๒ เวลานั้น สุนทรภู่อายุได้ ๖๖ ปี

หนังสือสุนทรภู่แต่งเมื่อในรัชกาลที่ ๔ มีปรากฎ ๒ เรื่อง คือ บทละคอน เรื่อง อภัยณุราช แต่งถวายพระองค์เจ้าดวงประภา พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เปนหนังสือเล่มสมุดไทย ๑ เรื่อง ๑ กับเสภา เรื่อง พระราชพงศาวดาร พระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ดำรัสสั่งให้แต่งอีกเรื่อง ๑ เปนหนังสือ ๒ เล่มสมุดไทย นอกจากนี้ ยังมีบทเห่สำหรับกล่อมเจ้านายที่ยังทรงพระเยาว์ กล่าวกันว่า บทเห่ เรื่อง จับระบำ กับบทเห่ เรื่อง กากี เรื่อง พระอภัยมณี และเรื่อง โคบุตร เปนของสุนทรภู่แต่ง บทเห่เหล่านี้จะแต่งเมื่อใด ดูโอกาศที่สุนทรภู่จะแต่ง มีอยู่ ๓ คราว คือ แต่งสำหรับกล่อมหม่อมเจ้าในพระองค์เจ้าลักขณานุคุณคราว ๑ หรือสำหรับกล่อมลูกเธอในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อยังเปนกรมอยู่ในรัชกาลที่ ๓ คราว ๑ หรือมิฉนั้น ก็แต่งถวายสำหรับกล่อมพระเจ้าลูกเธอในพระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว อย่างไรก็ดี เมื่อในรัชกาลที่ ๔ บทเห่กล่อมของสุนทรภู่ใช้กล่อมบรรทมเจ้านายทั่วทั้งพระราชวังจนตลอดรัชกาล

ตั้งแต่สุนทรภู่ได้เปนที่พระสุนทรโวหาร รับราชการอยู่ ๕ ปี ถึงแก่กรรมในรัชกาลที่ ๔ เมื่อปีเถาะ พ.ศ. ๒๓๙๘ มีอายุได้ ๗๐ ปี

หนังสือบทกลอนที่สุนทรภู่แต่งมีมาก ที่ได้ยินแตชื่อเรื่องยังหาฉบับไม่พบก็มี ที่สาบสูญไปเสียแล้วไม่ได้ยินชื่อเรื่องมาถึงชั้นนี้ทีเดียวก็เห็นจะมี จะกล่าวถึงแต่ฉเพาะเรื่องที่ยังมีฉบับอยู่ในปัจจุบันนี้ มี ๒๔ เรื่อง คือ

นิราศ ๙ เรื่อง

๑ นิราศเมืองแกลง ๒ นิราศพระบาท ๓ นิราศภูเขาทอง ๔ นิราศเมืองสุพรรณ (แต่งเปนโคลง) ๕ นิราศวัดเจ้าฟ้า ๖ นิราศอิเหนา ๗ นิราศพระแท่นดงรัง ๘ นิราศพระประธม ๙ นิราศเมืองเพ็ชรบุรี

นิราศทั้งปวงนี้แต่งจบในสมุดไทยเล่มเดียวทุกเรื่อง

นิทาน ๕ เรื่อง ๑๐ เรื่อง โคบุตร ๘ เล่มสมุดไทย ๑๑ เรื่องพระอภัยมณี ๙๕ เล่มสมุดไทย ๑๒ เรื่องพระไชยสุริยา (แต่งเปนกาพย์คำเทียบสอนอ่าน) ราวเล่มสมุดไทย ๑ ๑๓ เรื่องลักษณวงศ์ ๙ เล่มสมุดไทย (เปนสำนวนผู้อื่นแต่งต่ออีก ๓๐ เล่ม) ๑๔ เรื่องสิงหไตรภพ ๑๕ เล่มสมุดไทย

สุภาสิต ๓ เรื่อง ๑๕ สวัสดิรักษา ราวเล่มสมุดไทย ๑ ๑๖ เพลงยาวถวายโอวาท ราวหน้าสมุดไทย ๑ ๑๗ สุภาสิตสอนหญิง เล่มสมุดไทย ๑

บทละคอน ๑ เรื่อง ๑๘ เรื่องอภัยณุราช เล่มสมุดไทย ๑

บทเสภา ๒ เรื่อง

๑๙)เรื่องขุนช้างขุนแผน ตอนกำเนิดพลายงาม เล่มสมุดไทย ๑

๒๐)เรื่องพระราชพงศาวดาร ๒ เล่มสมุดไทย

บทเห่กล่อม ๔ เรื่อง

๒๑)เห่เรื่องจับระบำ

๒๒)เห่เรื่องกากี

๒๓)เห่เรื่องพระอภัยมณี

๒๔)เห่เรื่องโคบุตร

บทเห่เปนบทสั้น ๆ รวมกันทั้ง ๔ เรื่อง สักเล่มสมุดไทย ๑

หนังสือบทกลอนของสุนทรภู่ได้เริ่มพิมพ์ในรัชกาลที่ ๕ เมื่อปีมเมีย พ.ศ. ๒๔๑๓ หมอสมิท เจ้าของโรงพิมพ์ที่บางคอแหลม พิมพ์เรื่องพระกอภัยมณีก่อนเรื่องอื่น พิมพ์ขายคราวละเล่มสมุดไทย เรียกราคาเล่มละสลึง (๒๕ สตางค์) คนตื่นซื้อ หมอสมิทได้กำไรมาก นัยว่า ถึงสร้างตึกได้หลังหนึ่ง จนหมอสมิทคิดถึงคุณสุนทรภู่ เที่ยวสืบถามเชื้อสาย หวังจะให้บำเหน็จ เวลานั้น นายพัด กับนายตาบ บุตรสุนทรภู่ ยังอยู่ แต่จะได้บำเหน็จเท่าไรหาปรากฎไม่ ตั้งแต่หมอสมิทรวยด้วยพิมพ์หนังสือพระอภัยมณีต่อมา ทั้งหมอสมิทและเจ้าของโรงพิมพ์อื่น ๆ ก็ค้นคว้าหาหนังสือบทกลอนของสุนทรภู่พิมพ์ขึ้นขายเปนลำดับมา บางเรื่องได้พิมพ์ถึง ๓ ครั้ง ๔ ครั้ง หนังสือบทกลอนของสุนทรภู่ได้พิมพ์เมื่อในรัชกาลชที่ ๕ หมดทุกเรื่อง เว้นแต่เสภาเรื่องพระราชพงศาวดาร หอพระสมุดฯ ก็ได้พิมพ์แต่ในรัชกาลที่ ๕ แต่พิมพ์เพียงเท่าที่จำกัดไว้ได้ เพราะฉบับสูญหาย พึ่งหาได้ฉบับบริบูรณ จึงมาพิมพ์ตลอดเรื่องต่อในรัชกาลที่ ๖ เพลงยาวถวายโอวาทก็พึ่งหาฉบับได้ และได้พิมพ์ต่อในรัชกาลที่ ๖ นี้เหมือนกัน

บรรดาผู้ที่ชอบอ่านบทกลอนไทยดูเหมือนจะเห็นพ้องกันโดยมากว่า สุนทรภู่เปนกวีที่พิเศษสุดคนหนึ่ง ถ้าแลจะลองให้เลือกกวีไทยบรรดาที่มีชื่อเสียงปรากฎมาในพงศาวดาร คัดเอาแต่วิเศษสุดเพียง ๕ คน ใคร ๆ เลือกก็เห็นจะเอาชื่อสุนทรภู่ไว้ในกวี ๕ คนนั้นด้วย ข้อวิเศษของสุนทรภู่ที่แปลกกับกวีอื่นนั้น คือ ในกระบวนกลอนอย่างหนึ่ง กับชสำนวนกระบวนกล่าวความอย่างปากตลาดอิกอย่างหนึ่ง ในกระบวนเหล่านี้ จะหาตัวสู้สุนทรภู่แทบไม่มี แต่บทกลอนของสุนทรภู่นั้น ถ้าว่าโดยหลักฐานในทางอักษรศาสตร์ มีที่ติได้หลายอย่าง เช่น มักใช้ศัพท์ผิด และชอบเขียนแก้ศัพท์ไปตามใจ สุดแต่ให้ได้สัมผัสกลอน แม้แต่งโคลง (นิราศสุพรรณ) ก็มิใคร่เอาใจใส่ในข้อบังคับเอกโท จะเปรียบกับบทกลอนของกวีที่เปนบุคคลชั้นสูง เช่น พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จฯ พระพุทธเลิศหล้านภาลัย นั้น เปรียบกันไม่ได้ ทั้งนี้ ก็เปนธรรมดา ด้วยการที่ได้ศึกษาผิดกัน บุคคลชั้นสูง เมื่อเรียนเขียนอ่านหนังสือแล้ว ได้เรียนแบบแผนกระบวรภาษาและตำราอักษรศาสตร์แล้วจึงหัดแต่งหนังสือ ฝ่ายบุคคลชั้นต่ำเช่นสุนทรภู่ ได้ศึกษาเพียงแต่หัดอ่านและเขียนหนังสือ ไม่มีโอกาศได้เล่าเรียนตำหรับตำราอันใด มีอุปนิสสัยชอบแต่งบทกลอน ก็เริ่มหัดแต่งด้วยช่วยเขาบอกบทดอกสร้อยสักรวาอันต้องคิดกลอนเปนสำคัญ ฝึกหัดมาในทางนี้ ความคุ้นเคยก็ชักจูงใจให้รักและให้ชำนาญในทางกลอน เลยถือกลอนเป็นสำคัญยิ่งกว่าที่จะใช้ถ้อยคำให้ถูกต้องตามแบบแผน จะยกตัวอย่างพอให้เห็นดังเช่นคำขุนแผนในบทเสภาที่ได้คัดมาลงไว้แล้วนั้น สุนทรภู่แต่งว่า "แต่พ่อนี้ท่านเจ้ากรมยมราช" เช่นนี้ กวีที่เปนคนชั้นสูงเช่นพระราชนิพนธ์เปนไม่ทรงเปนอันขาด เพราะคำว่า เจ้ากรม นั้น ผิดกับตำแหน่งของพระยายมราช แต่ฝ่ายสุนทรภู่รักคำนั้นด้วยได้กลอนสัมผัสใน ถือว่า ความก็แปลว่านายเหมือนกัน จึงใช้คำ เจ้ากรม ดังนี้ ความที่กล่าวมาเปนข้อวินิจฉัยในทางวรรณคดี มิใช่ประสงค์จะลดหย่อนคุณวิเศษของสุนทรภู่ ถึงความบกพร่องมีเช่นว่า บทกลอนของสุนทรภู่ยังต้องนับว่าดีอย่างเอกอยู่นั่นเอง แต่ดีฉเพาะแต่งกลอนเพลงยาว หรือที่เรียกกันทุกวันนี้ว่า กลอนสุภาพ กับดีในทางสำนวนกระบวรว่าเปนปากตลาด ข้อนี้ที่สุนทรภู่คุยอวดจนเลยเปนเหตุให้ทรงพระราชนิพนธ์บทละคอนเรื่องไกรทองดังกล่าวมาแล้ว แต่เปนความจริง เพราะฉนั้น ชั้นบุคคลพลเมืองจึงชอบกลอนสุนทรภู่ยิ่งกว่าของผู้อื่น

คุณวิเศษของสุนทรภู่อิกอย่างหนึ่งนั้น นับว่า เปนผู้ตั้งแบบกลอนสุภาพขึ้ันอิกอย่างหนึ่ง ซึ่งผู้อื่นชอบเอาอย่างแต่งกันแพร่หลายมาจนทุกวันนี้ เดิมกระบวรแต่งบทกลอนในสมัยเมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยายังเปนราชธานี หนังสือบทกลอนที่แต่งเรื่องมักแต่งเปนลิลิต โคลง ฉันท์ หรือกาพย์ ส่วนกลอนสุภาพ เดิมใช้แต่งแต่คำขับลำนำ เช่น ร้องเพลง หรือร้องดอกสร้อยสักรวา และแต่งบทมโหรี เสภา และบทละคอน พึ่งมาเกิดใช้กลอนสุภาพแตงเปนเพลงยาวสังวาสเมื่อปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา ถึงนิราศในชั้นเดิม เหมือนเช่น นิราศหม่อมพิมเสนครั้งกรุงศรีอยุธยา และนิราศพระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จฯ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เสด็จปราบพม่าที่ท่าดินแดง เปนต้น ก็นับอยู่ในเพลงยาว สุนทรภู่เปนผู้ริเริ่มเอากลอนเพลงยาวมาแต่งเรื่องนิทานเรื่องโคบุตรขึ้นเมื่อในรัชกาลที่ ๑ สันนิษฐานว่า แต่งเช่นนั้นก่อนผู้อื่นทั้งสิ้น แล้วตัวสุนทรภู่และผู้อื่นจึงแต่งนิทานเรื่องอื่นเปนกลอนสุภาพเอาอย่างเรื่องโคบุตรต่อมา[11]

อิกประการ ๑ ในกระบวรแต่งกลอนสุภาพนั้น แต่ก่อนมาไม่ได้ถือเอาสัมผัสในเปนสำคัญ สุนทรภู่เปนผู้เริ่มเล่นสัมผัสในขึ้นเปนสำคัญในกระบวรกลอน เลยถือเปนแบบอย่างกันมาจนทุกวันนี้ นับว่า สุนทรภู่เปนผู้ชักนำในกลอนสุภาพเพราะพริ้งยิ่งขึ้นด้วยอิกอย่างหนึ่ง ตั้งแต่หนังสือบทกลอนของสุนทรภู่ปรากฎแพร่หลาย บรรดาผู้ที่แต่งกลอนสุภาพในชั้นหลังมาก็หันเข้าแต่งตามแบบกลอนสุนทรภู่แทบทั้งนั้น มีที่สามารถจะแต่งดีได้ใกล้สุนทรภู่ ๒ คน คือ นายมี เดิมบวชอยู่วัดพระเชตุพน ที่แต่งนิราศเดือนและนิราศเมืองถลาง คน ๑ กับหม่อมราโชทัย (ม.ร.ว.กระต่าย อิศรางกูร ณอยุธยา) ที่แต่งนิราศลอนดอน คน ๑ กล่าวกันมาว่า เปนศิษย์ศึกษาที่สุนทรภู่ทั้ง ๒ คน แต่ไม่ปรากฎว่า แต่งหนังสือบทกลอนเรื่องอื่นนอกจากที่ระบุนั้น

ในบรรดาหนังสือบทกลอนที่สุนทรภู่ได้แต่งไว้ ถ้าจะลองให้ผู้อ่านชี้ขาดว่า เรื่องไหนเปนดีกว่าเพื่อน ก็น่าจะเห็นยุติต้องกันโดยมากว่า เรื่องพระอภัยมณีเปนดีที่สุด เพราะเปนหนังสือเรื่องยาว แต่งดีทั้งกลอนทั้งความคิดที่ผูกเรื่อง เรื่องอื่น เช่น เสภาตอนพลายงามถวายตัวก็ดี นิราศภูเขาทองก็ดี นิราศเมืองเพ็ชรบุรีก็ดี แต่งอย่างเอกก็จริง แต่เปนเรื่องสั้น ๆ จะเปรียบกับเรื่องพระอภัยมณีไม่ได้ ถ้าจะลองตัดสินอิกอย่าง ๑ ว่า ในบรรดาบทกลอนของสุนทรภู่ เรื่องไหนจะเลวกว่าเพื่อน ก็ดูเหมือนจะเห็นยุติต้องกันอิกว่า บทละคอนเรื่องอภัยณุราชเปนเลวกว่าเรื่องอื่น เห็นได้ชักว่า เพราะสุนทรภู่ไม่สันทัดแต่งบทละคอน ไปแต่งเข้าก็ไม่ดีฉันใด ก็เหมือนกับที่สุนทรภู่ไปแต่งนิราศเมืองสุพรรณเปนโคลง ถ้าจะเอาไปเปรียบกับโคลงนิราศเรื่องที่นับถือกันว่าแต่งดี เช่น นิราศนรินทรอิน สุนทรภู่ก็สู้เขาไม่ได้ เพราะฉนั้น จึงควรยกย่องสุนทรภู่แต่ว่า เปนกวีวิเศษในการแต่งกลอนเพลงยาว หรือที่เรียกกันว่า กลอนสุภาพ นั้นอย่างเดียว


  1. เดี๋ยวนี้เรียกกันว่า "บางปกง" สันนิษฐานว่า ชื่อเดิมเห็นจะเรียกว่า บางมังกง เช่นสุนทรภู่เรียก ด้วยคำว่า "มังกง" เปนชื่อปลาอย่างหนึ่ง แต่คำว่า ปกง นั้นแปลไม่ได้ความอย่างไร บางทีจะย่อสั้นมาแต่ บางปลา(มัง)กง ก็เปนได้
  2. กล่าวกันมาว่า เพราะเปนพระองค์เจ้าองค์แรกที่ประสูติแต่ประดิษฐานพระราชวงศ์นี้ จึงได้พระนามว่า ปฐมวงศ์ แต่ทรงผนวชอยู่ตลอดพระชนมายุ สิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ ๓
  3. ความข้อนี้กล่าวไว้ในนิราศเมืองสุพรรณ.
  4. ความข้อนี้กล่าวไว้ในนิราศภูเขาทอง
  5. ฉบับหอพระสมุดฯ เล่ม ๒ ตอนที่ ๒๔
  6. ความวรรคหลังมักกล่าวกันว่า “ว่ายแหวกกอบัวอยู่ไหวไหว” ข้าเจ้าเห็นว่า คงเปนคำ “ปลา” มิใช่ “ว่าย”
  7. นายพัดกับนายตาบอยู่มาจนถึงรัชกาลที่ ๕ ทั้ง ๒ คน นายตาบเปนกวีตามบิดา มีสำนวนแต่งเพลงยาวปรากฎอยู่
  8. คือ เพลงยาวถวายโอวาทเจ้าฟ้ากลาง เจ้าฟ้าปิ๋ว
  9. ในฉบับที่พิมพ์ขาย เรียกว่า สุภาสิตไทย
  10. วัดอรุณฯ ริมพระราชวังเดิม
  11. ได้พิจารณาหาหนังสือซึ่งแต่งนิทานเปนกลอนสุภาพบรรดามีฉบับอยู่ในหอพระสมุดฯ เรื่องโคบุตรเปนเก่าก่อนเรื่องอื่น ๆ นิทานที่แต่งเปนกลอนครั้งกรุงศรีอยุธยาแต่งเปนกาพย์ทั้งนั้น