ปัญญาสชาดก/ภาคที่ 14/อธิบาย

อธิบาย

หนังสือปัญญาสชาดกนี้ คือ ประชุมนิทานเก่าแก่ที่เล่ากันในเมืองไทยแต่โบราณ ๕๐ เรื่อง พระสงฆ์ชาวเชียงใหม่รวบรวมแต่งเปนชาดกไว้ในภาษาบาลีเมื่อพระพุทธศักราชประมาณราวในระวาง ๒๐๐๐ จนถึง ๒๒๐๐ ปี อันเปนสมัยเมื่อพระสงฆ์ชาวประเทศนี้พากันไปเล่าเรียนมาแต่ลังกาทวีป มีความรู้ภาษามคธแตกฉาน เอาแบบอย่างของพระพิกษุสงฆ์ในลังกาทวีปมาแต่งหนังสือเปนภาษามคธขึ้นในบ้านเมืองของตน แต่งเปนอย่างอรรถาธรรมาธิบาย เช่น คัมภีร์มังคลัตถทีปนี เปนต้นบ้าง แต่งเปนเรื่องสาสนประวัติ เช่น คัมภีร์ชินกาลมาลินี เปนต้น ตามอย่างเรื่องมหาวงศพงศาวดารลังกาบ้าง แต่งเปนชาดก เช่น เรื่องปัญญาสชาดกนี้ เอาอย่างนิบาตชาดกบ้าง โดยเจตนาจะบำรุงพระสาสนาให้ถาวร แลจะให้หนังสือซึ่งแต่งนั้นเปนหลักฐานมั่นคง ด้วยเปนภาษาเดียวกับพระไตรปิฎก แต่หนังสือปัญญาสชาดกนี้เห็นจะแต่งในตอนปลายสมัยที่กล่าวมา เพราะความรู้ภาษามคธดูทรามลง ไม่ถึงหนังสือแต่งชั้นก่อน

หนังสือปัญญาสชาดกนี้ ต้นฉบับเดิมเปนคัมภีร์ลาน จำนวนรวม ๕๐ ผูกด้วยกัน เดี๋ยวนี้เห็นจะมีอยู่แต่ในประเทศสยามกับที่เมืองหลวงพระบางแลที่กรุงกัมพูชา ที่อื่นหามีไม่ มีเรื่องราวปรากฎว่า เคยได้ฉบับไปถึงเมืองพม่าครั้งหนึ่ง พม่าเรียกว่า “เชียงใหม่ปัณณาส” แต่พระเจ้าแผ่นดินพม่าองค์ใดองค์หนึ่งดำรัสว่า เปนหนังสือแต่งปลอมพระพุทธวัจนะ สั่งให้เผาเสีย ในเมืองพม่าจึงมิได้มีหนังสือปัญญาสชาดกเหลืออยู่ คำที่ติว่า แต่งปลอมพระพุทธวัจนะนั้น เพราะพระเจ้าแผ่นดินพม่าองค์นั้นหลงเชื่อว่า หนังสือนิบาตชาดก หรือที่เราเรียกกันในภาษาไทยว่า “เรื่องพระเจ้าห้าร้อยห้าสิบชาติ” เปนพระพุทธวัจนะ ซึ่งที่แท้หาเปนเช่นนั้นไม่ ความจริงเปนดังพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระราชวิจารณ์ไว้ในพระราชนิพนธ์คำนำหนังสือนิบาตชาดก ภาคต้น ซึ่งโปรดให้พิมพ์เมื่อในรัชชกาลที่ ๕ ว่า เรื่องนิบาตชาดกนั้นคงเปนนิทานที่เล่ากันในพื้นเมือง มีมาแต่ก่อนพุทธกาลช้านาน เมื่อพระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนเวไนยสัตว์ ทรงยกเอาเรื่องนิทานมาแสดงเปนอุปมาในพระธรรมเทศนาเนือง ๆ ก็ธรรมดาในเรื่องนิทานย่อมต้องมีตัวดีแลตัวชั่ว ตัวดีจะเปนคนก็ตาม จะเปนสัตว์เดียรัจฉานก็ตาม ย่อมเรียกว่า “มหาสัตว์” มาเกิดสมมตขึ้นต่อภายหลังพุทธกาลว่า มหาสัตว์ในเรื่องชาดกนั้นคือพระพุทธเจ้าในอดีตชาติ ครั้นเมื่อมาตบแต่งร้อยกรองประไตรปิฎกกันในชั้นหลัง ๆ ผู้แต่งประสงค์จะปลูกศรัทธาให้มั่นคงตามความเชื่อถือของตน จึงแต่งประชุมชาดกประหนึ่งว่า พระพุทธองค์ได้ทรงแสดงไว้ชัดเจนว่า มหาสัตว์นั้น ๆ มาเกิดเปนพระพุทธองค์ แลบุคคลหรือสัตว์นั้น ๆ มาเปนผู้นั้นผู้นี้ในปัจจุบันชาติ รูปเรื่องชาดกจึงเปนเช่นปรากฎอยู่ในหนังสือนิบาตชาดก เพราะความเปนดังอธิบายมานี้ ที่พระสงฆ์ชาวเชียงใหม่เอานิทานในพื้นเมืองมาแต่งเปนชาดก เปนแต่แต่งตามแบบอย่างหนังสือเก่าซึ่งพระคันถรจนาจารย์ได้แต่งมาแต่ปางก่อน หาได้ตั้งใจจะหลอกลวงผู้หนึ่งผู้ใดว่าเปนพระพุทธวัจนะไม่ พระเจ้าแผ่นดินพม่าหากเข้าพระทัยหลงไปเอง

นิทานในปัญญาสชาดกเปนนิทานที่ไทยเรารู้กันอยู่ซึมทราบหลายเรื่อง เช่น เรื่องสมุทโฆษ เรื่องพระสุธนนางมโนหรา เรื่องสังข์ทอง เรื่องคาวี เรื่องพระรถเสน เปนต้น เรื่องสุวรรณสิรสาชาดกที่พิมพ์ในสมุดเล่มนี้ก็มีผู้เอามาแต่งเปนกลอนอ่าน เรียกว่า เรื่องสุวรรณเศียร การที่เอาหนังสือปัญญาสชาดกมาแปลพิมพ์จะเปนประโยชน์สอบสวนให้รู้ว่า นิทานเหล่านั้น เรื่องที่เขาเล่ามาแต่โบราณเปนอย่างไร ที่เอามาแต่งเปนโคลงฉันท์แลบทละคอนกลอนอ่าน เอามาแก้ไขเสียอย่างใดบ้าง แลให้รู้เรื่องนิทานเก่าแก่ของประเทศนี้ซึ่งมิได้ปรากฎในที่อื่นก็อีกหลายเรื่อง จึงเชื่อว่า หนังสือปัญญาสชาดกจะเปนของที่พอใจนักเรียนทั้งปวง

ลายมือชื่อของกรมพระยาดำรงราชานุภาพ
ลายมือชื่อของกรมพระยาดำรงราชานุภาพ